ตลาดญี่ปุ่นประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์และคมนาคมกลายเป็นตลาดปราบเซียนของแท้ (ประเทศไทย และตะวันออกกลางยังไม่ใช่ตลาดปราบเซียนขั้นสุดท้ายแน่นอน) สำหรับบริษัทข้ามชาติอย่างแท้จริง เพราะการบริโภคของคนญี่ปุ่นถูกเอื้อหนุนจากรัฐบาลที่สนับสนุนอุตสาหกรรมให้กับเอกชนญี่ปุ่น,การเร่งให้เกิดนวตกรรมใหม่สำหรับคนท้องถิ่นจากบริษัทเอกชนญี่ปุ่น และพฤติกรรมผู้บริโภคคนญี่ปุ่นเอง จนยากที่บริษัทข้ามชาติวิเคราะห์ให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้ หนำซ้ำยอดขายที่ไม่สูงนัก ทำให้บริษัทข้ามชาติไม่กล้าลงทุนปรับตัวขนานหนักเพื่อตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ยิ่งเป็นบริษัทข้ามชาติแล้วด้วยอย่าไปหวังการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเลย
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพให้เข้าใจตรงกัน ได้แก่ ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ Nokia พลัดถิ่นจากฟินแลนด์มาปักหลักในตลาดญี่ปุ่นด้วยความเชื่อว่า Nokia เป็นเจ้าแห่งมือถืออันดับ 1 ของโลกก็น่าจะทำให้คนญี่ปุ่นยอมรับเข้ามาอยู่ในใจได้ แต่ปรากฏว่าผู้ควบคุมเครือข่ายหรือที่เรียกว่า Mobile Operator ของประเทศญี่ปุ่นมีบริการประเภทไม่ใช้เสียงพูด หรือ Non-Voice ล้ำสมัยเกินกว่ามือถือ Nokia จะรองรับได้ ครั้นจะพัฒนามือถือของตนให้รองรับฟีเจอร์ล้ำสมัยสำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะก็ไม่ใช่เรื่องที่ฝรั่งมังค่าในฟินแลนด์จะต้องกระทำเลยต้องถอนทัพไปในที่สุด
หรือแม้แต่มือถือที่ล้ำสมัยสุดยอดอย่าง Iphone ซึ่งเป็นผลิตผลของความล้ำหน้าจากค่าย Apple ก็ยังต้องสะดุดกึกเพราะชาวญี่ปุ่นไม่ตอบรับมือถือจอสัมผัสที่ไวสุดยอดแต่ไม่รองรับบริการอันล้ำสมัยสำหรับชาวญี่ปุ่นเลย ทำให้ Softbank เครือข่ายมือถือชื่อดังในญี่ปุ่นและเป็นตัวแทนจำหน่าย Iphone อย่างเป็นทางการต้องนอนก่ายหน้าผาก และคิดสรตะแล้วว่าขืนปล่อยทิ้งไว้รังแต่จะเสียหาย ฉะนั้นเลยแจก Iphone ให้คนญี่ปุ่นใช้กันฟรี ๆ ไม่เสียสักบาท แต่มีข้อแม้ว่าลูกค้าที่รับเครื่องฟรีแล้วจะต้องผูกมัดให้ใช้บริการกับ Softbank นานถึง 2 ปี
สาเหตุสำคัญคือความเป็นชาตินิยมของชาวญี่ปุ่นเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ยากจะฝ่าด่านเข้าไปได้ หากสินค้าและบริการนั้นมีเจ้าตลาดเป็นบริษัทของคนญี่ปุ่น
ปัญหาเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์นับครั้งไม่ถ้วนเช่นกันครับ เพราะลูกค้าชาวญี่ปุ่นไม่ไว้วางใจหรือให้การยอมรับรถยนต์ต่างชาติมากนัก หากไม่สามารถฉีกแนวแตกต่างจากค่ายรถญี่ปุ่นที่ทั้งประเทศเทใจให้เกือบ 100% นัก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมยอดขายรถยนต์แปลก ๆ หรือค่ายรถจากยุโรป เช่น Porsche,Volvo,Mercedes-Benz,BMW หรือแม้แต่ Volkswagen ที่ฉีกตัวไปยังตลาด Niche เต็มตัวยังคงขายได้ขายดีในเกาะญี่ปุ่น ขณะที่แบรนด์ระดับ Mass กลับทำยอดขายเอื่อยเฉื่อยราวกับท่อประปาที่รั่วซึมระหว่างการก่อสร้างถนนลูกรัง
Hyundai ก็ประสบชะตากรรมไม่แพ้กัน แม้พยายามจะเข็นแบรนด์นี้กันเหนื่อยอ่อนตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังทำยอดขายสะสม 8 ปีได้เพียง 15,000 คันเท่านั้น หรือคิดเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 100 คันต่อเดือนขณะที่ Volkswagen ทำยอดขายในญี่ปุ่นเฉพาะปี 2008 ได้มากถึง 61,996 คัน
จุดด้อยสำคัญของ Hyundai คือการเป็นค่ายรถที่มีตำแหน่งแบรนด์เฉกเช่นเดียวกับ Toyota,Honda และ Nissan เจาะผู้ใช้ระดับ Mass ที่มอบความคุ้มค่าสูงสุด ในเมื่อ Hyundai ไม่อาจสร้างความแตกต่างจากผู้นำตลาดที่เป็นค่ายรถญี่ปุ่นมากนัก หนำซ้ำราคาของ Hyundai ก็ยังสูงกว่าเจ้าบ้านเสียด้วยเพราะ Hyundai ไม่สามารถตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในญี่ปุ่นได้เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงเลือกค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ดี และปราการด่านสำคัญที่สุดจนยากที่ Hyundai จะเจาะฐานลูกค้าได้ก็คือความเป็นชาตินิยมของชาวญี่ปุ่นที่ไม่อาจยอมรับความเป็นเกาหลีได้นัก
ฟางเส้นสุดท้ายที่บอบบางนั้นได้ขาดลงแล้ว เมื่อ Hyundai ตัดสินใจยุติการขายรถยนต์นั่งในตลาดญี่ปุ่นถาวร (และไม่แน่ใจว่าจะกลับมาขายอีกเมื่อไร) และเน้นทำตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ยังสดใสมากกว่า
อย่างน้อย ๆ ชื่อของ Hyundai ในญี่ปุ่นก็ยังพอให้เห็นบ้างไม่ได้ทิ้งตลาดญี่ปุ่น 100% แต่โอกาสที่จะกลับเข้ามาทำตลาดรถยนต์นั่งอีกครั้งนั้นคงยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรล่ะครับ
แต่บนความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีเข้ามาเมื่อ Hyundai สามารถเพิ่มยอดขายเดือนพฤศจิกายน 2009 จากปีที่แล้วได้มากถึง 45.91% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่แรงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คิดเป็นยอดขาย 28,045 คัน เห็นอย่างนี้แล้วลุยตลาดสหรัฐอเมริกาไปได้สวยกว่าบุกญี่ปุ่นยิ่งนัก