ถ้าคุณไม่เคยเห็นภายในโรงงานประกอบเครื่องยนต์มาก่อน ..ให้ลองหลับตา และนึกภาพภายใน
ของโรงงาน นึกถึงภาพคนที่ทำงานในนั้น บางที สิ่งที่คุณนึกก็อาจจะไม่เหมือนสิ่งที่ผมได้พบ..

23 สิงหาคม 2556

ผมนั่งสัปหงกแบบกึ่งหลับกึ่งตื่นอยู่ที่ร้านกาแฟชั้นล่างของอาคารรสา ถ.พหลโยธิน มีแซนด์วิชชิ้นโตๆ
กับกาแฟม็อคค่าเย็น 1 แก้วเป็นมื้อเช้าที่พอจะช่วยให้หายง่วงได้บ้าง

แล้วผมมาทำไมที่นี่? ในเวลา 7 โมงเช้าวันศุกร์? คำตอบมันต้องย้อนกลับไป 2-3 สัปดาห์ในวันที่ตา
J!MMY เจ้าของเว็บผู้ใจดีเหมือนวาฬเพชรฆาตโทรศัพท์มาหาผมกลางวันแสกๆแล้วบอกว่าทางบริษัท
เวเบอร์เขาเชิญเว็บเราไปดูโรงงาน Chevrolet วันศุกร์ที่ 23 สนใจจะไปหรือเปล่า?

ผมตอบปฏิเสธนำไปก่อนเลย “มันวันธรรมดา ไอ้จิม ตูติดงานอยู่แล้ว รู้ใช่มั้ยครับ..แล้วจู่ๆบริษัทผลิต
คาร์บิวเรเตอร์รถยนต์มาเกี่ยวอะไรกับ Chevrolet ด้วยวะครับ?”

เสียงตามสายสวนกลับมา ทำเอาผมนึกว่าตัวเองคุยกับอาจารย์เฉลิมชัยอยู่
 “ไอ่บ้า!ไม่ใช่บริษัทผลิตคาร์บิวโว้ย เวเบอร์แชนวิค ที่เขาดูแลการ PR ให้ Chevrolet ไง! บ้า!
บริษัทผลิตคาร์บิว..ไอ่บ้า!”

ถึงอย่างไรผมก็ปฏิเสธไปอยู่ดี จนกระทั่ง J!MMY หยอดท้ายมาว่า “แน่ใจนะเว่ย..ที่ให้ไปเนี่ย ไม่ใช่ไปโรงงาน
ประกอบรถนะเว้ยย แต่เป็นโรงงานประกอบเครื่อง DURAMAX ที่ Eastern Seaboard ระยองนา..า.า แล้ว
แล้วไม่ใช่ว่าให้ไปเดินๆเล่นเฉยๆนะมึง..เขาจะให้พวกมึงไปลองประกอบเครื่องกันด้วยนาเว้ยย คริคริ”

ตัดภาพมาอีกทีผมก็พบตัวเองนั่งอยู่ในรถ Chevrolet Cruze 1.8 ที่กำลังมุ่งหน้าไปจังหวัดระยอง
เรียบร้อยแล้ว..แหมจะให้พลาดได้ไงของแบบนี้ คุณทราบหรือไม่ว่าขนาดผมช่วยจิมทำเว็บมา 4 ปี โอกาสที่
บริษัทรถยนต์สักบริษัทจะเชิญเราไปดูโรงงานน่ะมันไม่ได้มีมาบ่อยๆนะครับ เท่าที่ลองนับนิ้วดูก็มีแค่
Mitsubishi ที่เคยให้เราและบรรดาคนอ่านไปชมโรงงานที่แหลมฉบังเมื่อก่อนน้ำท่วมใหญ่..และนอกจากนั้น
ก็..ไม่มีใครอื่นอีก..และยิ่งเป็นโรงงานประกอบเครื่องยนต์แถมยังให้พวกเราไปมีส่วนในการประกอบเครื่องยนต์
อีกด้วยนั้น เกิดมายังไม่เคยได้ยินว่ามีใครกล้าพอ Chevrolet แน่ใจแล้วหรือ ที่จะทำแบบนี้? ผมคงต้องบอก
กับทางโรงงานว่า..ถ้าเครื่องที่ผมประกอบไปมันใช้ได้ดี อย่าลืมบอกเจ้าของรถด้วยนะครับว่า Commander
CHENG เว็บ Headlightmag เป็นคนประกอบ

แต่ถ้ามันพังคามือเจ้าของ ช่วยบอกเขานะครับว่า J!MMY เป็นคนประกอบ ไม่ใช่ผม!

เวลา 9.50 น.

กองคาราวาน Cruze พาเรามาถึงเขตนิคมอุตสาหกรรม Eastern Seaboard จังหวัดระยอง และเลี้ยวซ้าย
เข้ามายังโรงงานผลิตเครื่องยนต์ GM Powertrain Thailand เราถูกพาเข้าห้องกรุงเทพ ซึ่งเป็นห้องที่ใช้รับรอง
ใช้บรรยาย และใช้กินข้าวกลางวัน มีเจ้าหน้าที่ของ Chevrolet ยืนเรียงแถวชิดกำแพงด้านหนึ่ง และอีกด้าน
ก็เป็นจอสำหรับฉายสไลด์เพื่อการบรรยาย โดย คุณ เจนนิเฟอร์ บิเกโลว์ ผู้จัดการทั่วไปของ GM Powertrain
Thailand เป็นประธานกล่าวต้อนรับผม และพี่ๆสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆอีกไม่กี่คนที่โชคดีได้มาเจาะลึก
ถึงหัวจิตหัวใจโรงงานของคนไกลในแดนสยามแห่งนี้

โรงงานของ GM Powertrain ณ ที่แห่งนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2553
โดยทาง GM ลงทุนกับการก่อสร้างนี้เป็นเม็ดเงินราว 6,000 ล้านบาท โดยหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็น
ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่สำคัญของ GM ที่ผลิตเครื่องยนต์ตระกูล Duramax ป้อนตลาดประเทศไทย
โดยไม่มีการส่งออกเครื่องยนต์แต่ประการใด มีพี่นักข่าวบางท่านช่วยถามให้แน่ใจอีกว่า ไม่ส่งออกเครื่อง
แน่หรือ คุณเจนนิเฟอร์ตอบอย่างมั่นใจว่าไม่มี..แต่คุณโจ้บอกว่าเราส่งเครื่องไปให้โรงงานประกอบรถยนต์
จากนั้นพอรถประกอบเสร็จนั่นแหละถึงจะส่งออกหรือขายในประเทศก็ว่ากันอีกที ..ผมเห็นคุณเจนนิเฟอร์
แกทำหน้าเฉยๆเลยไม่รู้ว่าแกตอบแบบเล่นตรงคำถามจริงๆหรือแกกำลังเล่นมุขชนิดที่พวกเราเงิบรับประทาน

เครื่องยนต์ที่ผลิตในโรงงานแห่งนี้ ก็แน่นอนว่ามีแบบ 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร โดยที่เครื่องแบบแรก
นั้นจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 58% ส่วนเครื่องปอดโตนั้นจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 54% การผลิตจะทำแบบ
สลับกะ และสามารถเปลี่ยนไลน์การประกอบไป-มาระหว่างเครื่องยนต์ทั้งสองแบบได้ตามความเหมาะสม
โดยที่ไม่ต้องหยุดสายการผลิตเพื่อสับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้เสียเวลาแต่อย่างใด ทำให้โรงงานที่มี
แรงงานไม่ถึง 500 คน สามารถผลิตเครื่องยนต์ได้ปีนึง 120,000 เครื่อง หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 330เครื่อง
แต่โดยปกตินั้นจะไม่ต้องเดินกำลังการผลิตแบบเต็มลูกสูบ เช่นในช่วงเดือน กันยายน 2011 – พฤษภาคม
2013 นั้นทางโรงงานก็เพิ่งจะผลิตเกิน 100,000 เครื่องไปไม่มาก

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆได้เข้ามาบรรยายเรื่องการมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงงาน
คนที่ชอบทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยไอเสียและควันยางอย่างผมกลับมัวเหม่อ นั่งคิดถึงสภาพภายในโรงงาน
..แน่นอนว่าภาพที่ติดตา จากสมัยไปโรงงานแหลมฉบังของ Mitsubishi ช่วยให้ผมนึกมโนสิ่งต่างๆในโรงงาน
ได้ง่ายขึ้นบ้าง หลายๆคนที่ไม่เคยสัมผัสโรงงานประกอบรถยนต์หรือโรงงานประกอบเครื่องยนต์ของจริง
ก็คงจะนึกภาพดังนี้

1. เสียงดัง
2. สกปรก บนพื้นเต็มไปด้วยคราบน้ำมันและฝุ่นละออง
3. ควันต่างๆกระจายเต็มพื้นที่
4. มีเครื่องยนต์เลื่อนไปตามสายพาน มีพนักงานถือประแจถือไขควงประกอบไปทีละส่วน
5. เครื่องยนต์จะถูกประกอบจนเสร็จจากนั้นค่อยส่งให้หน่วยตรวจสอบคุณภาพเช็คอีกที ถ้าเช็คไม่ผ่าน
ก็ค่อยเตะเครื่องยนต์เครื่องนั้นทิ้ง

นี่คือความเข้าใจของผมในตอนแรก และเชื่อว่าหลายท่านก็อาจจะคิดในแบบคล้ายๆกัน

ตามกำหนดการ ช่วงเช้านั้นจะเป็นการพาเดินชมโรงงานและไลน์การประกอบเครื่องก่อน เราถูกกำชับ
ให้ปฏิบัติตามกฏความปลอดภัยโดยเคร่งครัด เช่นไม่เดินซนไปไหนมาไหนคนเดียว ต้องเดินตามหัวหมู่
เหมือนลูกเสือเข้าค่าย ไม่เดินออกจากแนวเส้นสีเหลือง ซึ่งเป็นแนวที่เขาทาสีไว้ให้พวกเราเดิน เวลาจะ
เดินออกนอกเส้นเหลืองเพื่อข้ามไปยังส่วนต่างๆนั้นก็ต้องมองซ้ายขวาให้ดี เพราะจะมีทั้งรถขนอะไหล่
และรถ Forklift วิ่งไปมาอยู่ตลอดเวลา การจะข้ามก็ต้องให้สัญญาณ และคนที่ขับรถก็ต้องยกมือโบก
เป็นการรับทราบว่า “เห็นแล้วโว้ย” ถ้าคนขับไม่ส่งสัญญาณมือให้..ก็อย่าได้ข้าม แปลว่าเขาหยุดไม่ได้
หรือไม่ เขาก็ไม่เห็นคุณ ความเลินเล่อเล็กน้อยแค่ไหนก็อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายได้ ถึงแม้ว่าในโรงงาน
จะมีการจำกัดความเร็วพาหนะทุกชนิดไม่ให้วิ่งเกิน 10 ก.ม./ช.ม. แต่การโดนเหล็กครึ่งตันวิ่งมาชก
เข้ากลางท้องที่ความเร็วดังกล่าว ยังไงผมก็ไม่ขอเอาด้วย

ในเวลาต่อมา ทุกคนก็สวมแว่นตาและหมวกนิรภัย อีกทั้งยังต้องสลับรองเท้ามาใส่รองเท้านิรภัยที่กันกระแทก
เพิ่มด้วย จากนั้น ก็มีการแบ่งทีมชมโรงงานออกเป็น 2 ทีม โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางโรงงานและทีม
PR กับช่างกล้องติดตามไปทีมละชุด พวกเราถูกพาเข้าประตูที่เชื่อมบริเวณที่เป็นสำนักงาน เข้ากับบริเวณ
โรงงาน และ..


ทันทีที่เข้าไป..ผมเริ่มจับบรรยากาศโดยรอบได้..นี่อากาศในนี้ค่อนข้างจะเย็นสบายดีแท้ และอากาศที่คิดว่า
จะอับและเหม็นก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คาด Chevrolet ออกแบบโรงงานนี้ให้มีการถ่ายเทและควบคุม
สภาพอากาศภายในได้ดี เราไม่ต้องใส่หน้ากากกันไอพิษก็สามารถเดินไปมาได้ ยกเว้นว่าถ้าเข้าโซนไหน
ที่มีไอระเหย ทางโรงงานก็จะบังคับพนักงานให้ใส่หน้ากากกันไว้

สำหรับขั้นตอนการประกอบ โรงงาน GM Powertrain นี้จะมีการแบ่งจุดประกอบเครื่องออกเป็น
สถานีต่างๆ รวมทั้งสิ้น 12 สถานี ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


Station 1-Marposs Gauge

Marposs คือชื่อของอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบวัดค่าความแม่นยำต่างๆที่ออกแบบมาสำหรับการผลิต
ภายในโรงงาน (marposs.com) ในที่แห่งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกใช้ในการตรวจสอบและวัดมิติต่างๆ
ของเสื้อสูบและวัสดุต่างๆ โดยใช้เซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง มีระบบแสดงภาพที่ช่วยกำจัดข้อบกพร่องและ
มีการควบคุมลำดับการทำงานด้วยไฟฟ้า บนจอจะมีการแสดงผลการตรวจ ถ้าเป็นสีเขียวคือ “ผ่าน”
ถ้าเป็นสีแดงเมื่อไหร่ “ซวย”

Station 2- Kitting Zone

เป็นโซนที่ใช้ประกอบชุดหัวฉีดน้ำมันเครื่อง (Oil Jets) และตลับลูกปืนข้อเหวี่ยง (Thrust Bearings)
โดยอะไหล่จะถูกส่งมาถึงหน่วยประกอบ ในรูปแบบของถาด (Tray) ซึ่งมีการจัดวางชิ้นส่วนเอาไว้เป็น
ลำดับอยู่แล้วโดยที่บนหน้าจอบอกสถานะ ก็จะมีการแจ้งว่าขณะนี้กำลังผลิตเครื่องรุ่น 2.5 หรือ 2.8 อยู่
แต่ถึงไม่บอก..ก็ไม่เป็นไรเพราะอะไหล่ต่างๆจะถูกจัดเตรียมเอาไว้อย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่ว่าพอผลิตตัว
2.5 พนักงานประกอบต้องหยิบอะไหล่ชิ้นนึง แล้วพอจะผลิตตัว 2.8 ก็ต้องหยิบอีกชิ้นนึง ซึ่งหากเป็นแบบนั้น
โอกาสที่จะหยิบผิดชิ้นส่วนก็จะเกิดขึ้น Chevrolet เลยใช้วิธีจัดชิ้นส่วนที่ถูกต้องฟิตลงถาดมาให้เลย
พนักงานมีหน้าที่แค่หยิบและประกอบเท่านั้น

Station 3- Cam Cap, Cam Shaft Bolt Assembly
สถานีที่ 3 นี้จะรับหน้าที่ในการ Vacuum ฝาสูบ และจัดการขันประกับแคมชาฟท์เข้า เพื่อล็อคแท่ง
แคมชาฟท์ให้อยู่กับที่ หน่วยนี้จะใช้พนักงานกะละ 1 ท่านในการควบคุม โดยใช้ระบบจัดชิ้นส่วนใส่ถาด
มาอย่าง “ตรงรุ่น” เช่นกัน ดังนั้นถ้าหยิบอะไหล่มาใส่ไม่ครบ ก็คือประกอบผิด และถ้ายังขืนดื้อไสๆฝาสูบ
ไปให้เสร็จๆโดยไม่ตรวจสอบ จอแสดงสถานะก็จะโชว์สีแดง และคัดฝาสูบชุดนั้นทิ้งทันที เพราะเซ็นเซอร์
จำนวนมากมายที่อยู่ตรงนั้นจะยิงไปตามจุดต่างๆบนฝาสูบ ถ้ายิงไปแล้วไม่เจอน็อต ไม่เจอประกับ หรือ
ประกอบ..แต่ขันไม่เข้าที่ ก็ถือว่าไม่ผ่านมาตรฐาน แม้แต่น็อตที่ขันยึดประกับนั้นก็ไม่ได้ใช้มือคนบวกประแจ
แต่เป็นเครื่องจักรไขน็อตขนาดค่อนข้างโต ที่มีการกำหนดสเป็คแรงไขมาโดยคอมพิวเตอร์

Station 4- Screw Plug Assembly
สถานีนี้ทำการติดตั้งสกรูตัวหนอนสำหรับน้ำหล่อเย็นและน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ เครื่องมือที่มีความ
แม่นยำถูกใช้ในการควบคุมแรงบิด โดยมีเครื่องยึดจับและเซ็นเซอร์ที่รักษาความถูกต้องและป้องกันการ
ข้ามกระบวนการ พร้อมกับมีการทดสอบการรั่วซึมรอบสกรูตัวหนอนเพื่อคุณภาพที่สมบูรณ์แบบ

Station 5- Front Cover Assembly

เป็นสถานีสำหรับติดตั้งฝาครอบเครื่องยนต์และเตรียมแผ่นรองสำหรับการติดตั้งปั๊มน้ำ ซึ่งแผ่นฝาครอบนั้น
จะทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันเครื่องรั่วออกจากเสื้อสูบ อาจจะดูไม่มีอะไรมาก แต่ก็เห็นพนักงานที่ยืนประกอบอยู่
ต้องหยิบเครื่องมือลักษณะแผ่นใสๆมาทาบ และสอดบล็อคลมไฟฟ้าผ่านรูต่างๆจำนวน 7 รู ..สงสัยเหมือนกัน
ว่าทำไม ที่จริงถ้าเป็นการขันสกรูแบบที่ต้องใช้การขันตามลำดับ ก็น่าจะแค่ติดแผนผังการขันไว้ตรงนั้น แล้ว
พนักงานก็แค่เอาไขควงขันให้แน่นตามลำดับก็พอแล้ว..


Station 6- Flywheel, Flex-Plate Assembly


ด่านนี้ เป็นด่านสำหรับประกอบ Flywheel (ในรถเกียร์ธรรมดา) และ Flex plate (สำหรับรถเกียร์ออโต้)
มีการติดตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบการทำงานในทุกขั้นตอนและสร้างความถูกต้องสมบูรณ์ตามลำดับ
และมาตรฐานที่กำหนด

Station 7- Hot Test

เป็นห้องทดสอบเครื่องยนต์แบบสตาร์ทจริง และทำงานจริง โดยเครื่องยนต์จะถูกสุ่มเลือกมาเพื่อ
ทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องล็อตนั้นมีความสมบูรณ์ในการประกอบ และถ้าหากพบเครื่องใดมีปัญหา
ก็จะต้องทำการสุ่มเครื่องยนต์จากล็อตนั้นเพิ่ม หากพบว่ามีเครื่องยนต์ที่มีปัญหาอีก ขั้นร้ายสุดก็อาจต้อง
ยกเลิกการประกอบเพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะทางโรงงานจะไม่ยอมปล่อยให้เครื่องห่วยๆหลุดออกไปเด็ดขาด

Station 8- Cold Test
การทดสอบแบบไม่จุดระเบิดเป็นกระบวนการซึ่งเครื่องยนต์จะไม่ถูกสตาร์ท แต่จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
หมุนเพลาข้อเหวี่ยง เซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ที่เครื่องยนต์จะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และเครื่องวัดอื่นๆ
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องยนต์

ถ้าถามว่ามี Hot Test อยู่แล้ว ทำไมยังต้องทำ Cold Test อีกล่ะ? คำตอบจากเจ้าหน้าที่ของทางโรงงานคือ
การทดสอบแบบ Cold Test นั้นจะสามารถตรวจสอบการทำงานของเครื่องในสภาวะอากาศเย็นได้ดีกว่า
เพราะเครื่องยนต์ถูกหมุนโดยไม่มีความร้อน สามารถทำได้หลายรอบโดยที่ไม่เสียเวลามากและ
ไม่ก่อควันพิษจากการทดสอบ

Station 9- Crank Load
สถานีนี้จะประกอบตลับลูกปืนเข้ากับเพลาข้อเหวี่ยงในเครื่องยนต์ การเลือกความหนาของตลับลูกปืน
ที่เหมาะสมมีความสำคัญมากและช่วยลดข้อบกพร่องลง กระบวนการนี้จะควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์
และใช้รหัสสีเพื่อระบุชิ้นส่วนได้ง่ายขึ้น

Station 10- Main Bearing Cap Installation
ที่นี่จะเป็นสถานีสำหรับประกอบฝาประกบเพลาหลักที่ช่วยยึดให้เพลาข้อเหวี่ยงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
โดยจะมีการเน้นย้ำให้ฝาประกบเพลามีตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนที่น็อตจะยึดให้แน่นหนาตามมาตรฐานที่กำหนด
เครื่องมือความแม่นยำสูงจะถูกใช้เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาด รวมถึงการไขน็อตติดฝาประกบด้วยแรงบิดที่
ถูกต้องซึ่งควบคุมด้วยโปรแกรมและป้องกันการจัดวางเพลาผิดตำแหน่งซึ่งอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหาย

Station 11- Connecting Rod Cap
ที่สถานีนี้ ฝาประกบก้านสูบจะถูกยึดเข้ากับส่วนล่างของก้านสูบ ซึ่งทำให้ทุกชิ้นส่วนอย่าง
ลูกสูบและก้านสูบถูกประกอบเข้ากับเพลาข้อเหวี่ยง โดยใช้เครื่องมือที่มีหลายหัวจับในการไขน็อตให้
แน่นหนาพร้อมกัน กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกันในทุกลูกสูบเพื่อให้เพลาข้อเหวี่ยงมีความสมดุล
และไม่บิดเบี้ยวหลังจากถูกไขให้แน่น ขณะที่ตลับลูกปืนที่ถูกติดตั้งอยู่นั้น

Station 12- Lower/Upper Oil Pan

เป็นสถานีสำหรับการประกอบอ่างน้ำมันเครื่องส่วนล่างและส่วนบน อ่างตัวบนนั้นจะใช้น็อตยึด 28 ตัว
ส่วนอ่างตัวล่างนั้นจะใช้กี่ตัวก็ขึ้นอยู่กับระบบขับเคลื่อนของรถ ถ้าเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อที่ไม่มีชุดเพลาขับ
หน้า จะมีน็อตยึด 17 ตัว ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อจะมีน็อตยึด 14 ตัว น็อตทุกตัวถูกขันให้แน่นพร้อมกันด้วย
เครื่องมือหลายหัวจับ

นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ GM Powertrain ก็ยังใจดีพาชมห้อง Lab ควบคุมพิเศษสำหรับวิจัย
คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการประกอบเครื่อง ซึ่งเป็นห้องพิเศษที่ต้องปรับทั้งอุณหภูมิ และความดันอากาศ

หลังจากที่ได้ลองเดินดูตามสถานีต่างๆแล้ว พวกเราก็ถูกพาเข้ามารับประทานอาหารกลางวัน
ที่ห้องกรุงเทพอีกครั้ง ซึ่งจะมีเวลาให้ค่อนข้างน้อยไปนิด แต่ต้องทำตามเพราะช่วงบ่าย เราจะไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของสายการผลิตเครื่องยนต์ และทำหน้าที่เป็นเสมือนพนักงานคนนึงใน Line การประกอบเครื่องเลยทีเดียว

+++ลองประกอบของจริง+++

พวกเราทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นทีมละ 2 คน และกระจายไปตามสถานีต่างๆ (เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้าน
เวลาทำให้เราไม่สามารถลองประกอบได้ทุกสถานี)  โดยผมได้ทีมเดียวกับคุณภัทศิรินทร์ กลิ่นจันทร์
จากประชาชาติธุรกิจ และมีพี่สาวใจดี คุณสะเก็ดดาว ที่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมดูและขั้นตอนการผลิต
และมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการผลิตทุกสถานีมาเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลอีกที ผมกับคุณแพร ภัทศิรินทร์
จะได้เข้าไปลองปฏิบัติงานในสถานีที่ 5 – Front cover installation แล้วค่อยกลับไปทำสถานีที่ 3-Cam cap
installation ต่อไป

เราเดินตรงไปยังสถานีที่ 5 ซึ่งมีพนักงานเป็นผู้หญิง กำลังประกอบเครื่องอยู่พอดี พี่ดาว ส่งสัญญาณให้
Supervisor คุมงาน (ผมลืมถามมาว่าชื่ออะไร ผมขอเรียกน้องโก้แล้วกันเพราะแกโก้ที่สุดในสายการผลิต
แถบนั้นแล้ว) น้องโก้ก็มายืนคุยๆกับพนักงานผู้หญิงท่านนั้น แล้วก็เริ่มการบรรยาย สถานีนี้ เครื่องจะมาถึง
ตามสายพาน..จากทางขวา..ในสภาพที่คว่ำเสื้อสูบลงพื้น ฝาครอบเครื่องส่วนหนึ่งถูกปะมาให้แล้วโดย
คนที่ประกอบก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ขันน็อต พี่สะเก็ดดาวให้เรายืนดูพนักงานประจำแท่นนั้นประกอบก่อน
1 รอบ โดยอธิบายขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียด

1. หยิบแท่นกำกับ ซึ่งเป็นดุ้นเหล็กน้ำหนักค่อนข้างมากจากขวามือมา ขันเกลียวเข้ากับรูน็อตบนเสื้อสูบ 4 รู
2. จากนั้นเอามือซ้ายสาวเอาแผ่นพลาสติกหนาๆใสๆที่มีรูและไฟ LED จากด้านซ้ายบน(มันห้อยอยู่)
แล้วเอาเข้ามาทางหน้าเครื่องก่อน จากนั้นจึงดันเข้าไปหาตัวเครื่อง และดึงขึ้นด้านบนเล็กน้อย เจ้าแผ่นนี้
จะสวมเข้าร่องกับแท่นกำกับอย่างพอดี พูดง่ายๆคือไอ้แท่นนี่มีไว้เพื่อให้เราวางตำแหน่งแผ่นพลาสติกไม่พลาด
เท่านั้นเองครับ
3. หยิบเอาบล็อคขันน็อตจากทางขวาบน (ห้อยอยู่เช่นกัน) มาขันน็อตทีละตัว โดยแยงหัวบล็อคเข้าไป
ตามรูต่างๆ โดยแต่ละรู จะมีไฟสว่างขึ้นครั้งละดวง เป็นการบอกให้เราขันรูนั้น เมื่อขันเสร็จ มันก็จะไปสว่าง
ติดที่รูอื่นต่อไปทีละดวงๆ เราก็ตามขันเก็บให้จบ
4. เมื่อขันเสร็จ ก็ดึงเอาแผ่นพลาสติกออกเก็บที่เดิม และขันแท่นกำกับออก และแขวนไว้ที่เดิม
5. กดคันโยกหมุนแท่นวางเครื่อง ให้เครื่องหมุนกลับอีกด้าน
6. เอาจารบีทาบริเวณมูเล่ที่กำหนด

7. สลับแป้นเลือกโหมดบล็อคขันน็อต เป็นโหมดขัน Cover ปั๊มน้ำ
8. เอาแผ่นรองปั๊มน้ำจากถาดอะไหล่ทางซ้ายมือ แล้วขันเข้าที่ โดยการขันส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องมีลำดับ
สามารถขันอันไหนก่อนก็ได้
9. หยิบถาดอะไหล่ที่ว่างเปล่าออกแล้วหยิบอันใหม่วางแทนที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในไลน์คนถัดไป
ดำเนินการประกอบเครื่องต่อ แต่ก่อนหน้านั้นต้องหยิบซีลอันเล็กบางวางเข้าที่ก่อนส่งงานต่อไป

ขั้นตอนอาจจะดูค่อนข้างงงๆ ว่าทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่ประกอบเครื่อง 1 คนทำงานส่วนนี้ให้เสร็จๆไปเลย
ทำไมต้องเหลือพาร์ทบางส่วนไว้ให้คนอื่นทำต่อ? อันนี้เป็นเรื่องของศาสตร์ในการดีไซน์ไลน์การผลิต
โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการกำหนดให้พนักงาน 1 คนไม่ทำหน้าที่หลายอย่างจนเกินไป อันจะก่อให้เกิด
จุดผิดพลาดได้เมื่อมีอาการล้าและสมาธิเริ่มเสีย พนักงาน 1 คนจะต้องรับหน้าที่ไม่มากจนสับสน แต่ก็ต้อง
ไม่น้อยเกินจนทำให้บริษัทต้องเปลืองต้นทุนพนักงาน

เมื่อพนักงานท่านนั้นประกอบเสร็จ คุณโก้ก็เชิญพนักงานท่านนั้นออกมายืนดูอยู่ห่างๆ ส่วนตัวเอง
ก็เข้าไปสาธิตการประกอบให้ดูอีกครั้ง และลองทำให้เห็นว่าถ้าประกอบพลาดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
เช่นถ้าเอาบล็อคลมไปขันน็อตโดยที่ไม่ได้ใส่แท่นกำกับและพลาสติกไกด์รูขัน บล็อคลมก็จะไม่ยอมทำงาน
ที่เห็นเป็นสายไฟใหญ่ๆวิ่งเข้าไปที่ตูดของบล็อคลมน่ะ..มันไม่ใช่แค่สายไฟทั่วไป แต่ยังเป็นสายส่งข้อมูล
ที่เชื่อมต่อกับระบบควบคุมการผลิต เรียกได้ว่าถ้าข้ามขั้นตอนเมื่อไหร่ ระบบจะไม่ยอมทำตามคำสั่ง
เช่นเดียวกันกับการขัน Cover เครื่อง ถ้าสมมติไฟสว่างที่รูหมายเลข 4 แล้วเราแยงบล็อคลมไปขันหมายเลข
7 เลยโดยไม่ทำตามลำดับ บล็อคก็จะไม่ยอมทำตามแม้เราจะกดสวิตช์มันแล้วก็ตาม เป็นต้น

แล้วก็ถึงคิวพวกเราประกอบ ผมกับคุณแพรมองหน้ากันว่าใครจะเริ่มก่อน ตามประสาสุภาพบุรุษ
ผมให้คุณผู้หญิงเริ่มก่อนอยู่แล้วครับ ช่วงแรกๆคุณแพรอาจจะงงๆกับเครื่องมืออยู่บ้าง แต่พอเริ่ม
จดจำหน้าตาและหน้าที่ของอุปกรณ์แต่ละตัวได้ ก็เริ่มคล่องมือขึ้น จะมีปัญหาก็ตรงแค่บล็อคลมตัวแรง
ที่ดีดดิ้นเหลือเกิน ทำให้คุณโก้ต้องช่วยประคองเป็นระยะ

 

จากนั้นก็เป็นทีของผมบ้าง แน่นอน ผมเคยประกอบเครื่องและพังมาแล้ว งานแค่นี้เรื่องเล็กมาก
ผมหยิบเครื่องมือมาสวมบนบล็อค และจัดการขันทีละตัวอย่างคล่องแคล่ว แต่พอขันน็อตแล้วเครื่องกลับ
ขึ้นไฟแดง ผมก็เลยกดบล็อคลมขันเข้าไปอีก เครื่องไม่ยอมทำตามสั่ง พี่ดาวเลยเดินเข้ามาดูให้
“คุณแพนคะ..คุณแพนขันถูกรูค่ะ แต่ขันผิดตัวค่ะ” ผมก็งงว่ายังไงวะขันถูกรูแต่ผิดตัว อ้อ..พอมองผ่าน
แผ่นพลาสติกเข้าไปก็เห็นเลยว่าผมตั้งตัวบล็อคเอียงกระเท่เล่ แยงเข้าถูกรูจริงแต่ข้ามไปขันน็อตบนเสื้อสูบ
อีกตัวเฉย ดีนะมีระบบกันพลาดคอยเตือน ถ้าไม่งั้นผมคงคิดว่าตัวเองขันมันจนแน่นแล้วและปล่อยผ่านแน่ๆ

รอบต่อมา คุณแพรขอลองประกอบอีกรอบ มางวดนี้เรียกได้ว่าอยู่มือแล้ว คุณแพรหยิบจับอุปกรณ์
อย่างคล่องแคล่วมาก เรียกได้ว่าถ้าไม่นับบล็อคลมที่ต้องใช้แรงเกร็งสู้แล้ว ส่วนอื่นคุณแพรล้วนทำเองได้หมด
ชนิดไม่มีพลาด และเอาเข้าจริงสามารถประกอบเสร็จได้ไวกว่าที่ผมลองทำรอบแรกเสียด้วยซ้ำไป

“ลองอีกรอบมั้ยครับ” คุณโก้หันมาถามผมแบบยิ้มๆ ..หุ..มีเหรอจะไม่! ขอแก้มือหน่อยเถอะวะคราวนี้!
รูไหน!รูนั้น! ไม่มีพลาดแน่นอน “ผมขอจับเวลาด้วยเลยแล้วกันนะ” ผมบอกคุณโก้กับพี่ดาวพลางยืน
เตรียมพร้อมหน้าเครื่อง เตรียมกดปุ่มจับเวลา เมื่อคุณดาวให้สัญญาณ “เริ่มได้!” ผมกด ติ๊ด! แล้วก็เริ่ม
ประกอบเครื่องในโหมด Endurance อย่างเร็ว

ผล..? ติ๊ดๆ! กดหยุดนาฬิกาได้ 6 นาที 8 วินาที

แหมมันช่างง่ายอะไรเช่นนี้ สภาพตอนนั้นเหมือนเพิ่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิคกลับเมืองไทยเลยครับ
จนกระทั่งผมถามพี่ดาวว่า “ปกติขั้นตอนนี้เขาใช้เวลาประกอบกี่นาทีครับ”

“เรานับเป็นวินาทีค่ะ ตรงนี้ประมาณ 168 วินาที”

กรรม..แล้วผมล่อเข้าไป 368 วินาที…พอเลย พอเลย..จบ ไม่ต้องคุยละ รับประทานซุปเงิบเข้าไป
เต็มๆถ้วย มิใยที่พี่ดาวจะบอกว่า “สำหรับคนที่เพิ่งประกอบแค่สองเครื่อง คุณแพนก็โอเคนะคะ”

เราพักครึ่งเวลากันที่ลานพักในโรงงาน ดูสภาพสื่อมวลชนแต่ละท่านที่ไปฐานอื่นมาจะเฮฮากันไม่น้อย
พี่ดาวให้เราถอดถุงมือเปลี่ยนเป็นแบบบาง และใส่ผ้ากันเปื้อนเพิ่มอีก เพราะฐานต่อไปนั้นจะมีพวก
ละอองน้ำมันอยู่บ้าง ส่วนแว่นนิรภัยนั้นยังไงก็ต้องใส่เอาไว้เพื่อความปลอดภัย

ฐานต่อมา เป็น Cam Cap Installation ซึ่งอยู่ห่างออกมาจากไลน์การผลิตอื่นๆพอสมควร
ที่สถานีนี้ ฝาสูบจะถูกเอาเข้าเครื่อง Vacuum เพื่อทำความสะอาดเศษผงออกจากฝาสูบก่อน จากนั้น
มันจะถูกเลื่อนออกมา และสิ่งที่เราทำก็เป็นตามลำดับเช่นเคย
1. หยิบสลักขนาดเล็กจากถาดอะไหล่ด้านหน้าออกมาใส่ที่แท่นตอกสลัก มีคันโยกสองคัน จากนั้น
เมื่อใส่สลักเข้าที่ ก็โยกคันโยกทั้งสองนั้นลง ไม่ต้องบ้าพลังมาก สลักสองอันนั้นจะถูกปักเข้าที่ฝาสูบ
2. หยิบฝาครอบแคมชาฟท์ส่วนหน้า (ขนาดประมาณมือแบๆ) มาใส่ ไอ้สลักที่เราตอกเข้าไปตอนแรกนั่น
ทำหน้าที่ ยึดฝาครอบตรงนี้ให้เสียบได้เข้าที่เป๊ะๆ (เป็นการกันพลาดที่ลงทุนไปหน่อยหรือเปล่า)
3. เอามือขันน็อตฝาครอบ หมุนๆแค่พอให้น็อตมันยืนอยู่ได้ ไม่ต้องขันเข้าจนหมด
4. จากนั้นหยิบประกับแคมชาฟท์จากถาดอะไหล่ขึ้นมาครอบแบริ่งและเอามือขันน็อตเข้าแค่ลงเกลียว
ทำแบบนี้ทั้งหมด 8 ชุด
5. กดปุ่มเพื่อให้สายพานเลื่อนฝาสูบไปทางขวา เพื่อให้ตรงกับเครื่องขันน็อต ซึ่งลอยอยู่โตงเตง กดปุ่ม
ด้วยมือเพื่อให้แท่นเลื่อนลงมา เอาหัวขันปักเข้าที่น็อตฝาครอบแคม เมื่อเข้าที่ก็กดอีกปุ่มเพื่อให้ขันสกรู
มี 4 ตัวมันก็ขันทีเดียว 4 ตัวพร้อมกัน และเสร็จพร้อมกัน แรงขันนั้นเซ็ตไว้แล้วด้วยระบบคอมพิวเตอร์
จากนั้นก็เอามือซ้ายไปเลื่อนถาดอะไหล่ลงช่องคืนถาด ซึ่งตัวถาดจะไหลไปตามทาง (เดี๋ยวก็จะมีคนมาเก็บ
และเอาไปใส่อะไหล่ใหม่มาแล้ววางรอป้อนไลน์ไว้อีกที) แล้วก็กดปุ่มเลื่อนฝาสูบไปทางขวาอีกทีนึง
6. ทีนี้ ก็ใช้แท่นขันน็อตแบบเดียวกับในข้อ 5 แต่แท่นอันนี้จะไขน็อต 16 ตัวที่อยู่บนประกับแคมชาฟท์ให้เข้าที่
ขั้นตอนการทำงานเหมือนกัน พอเสร็จแล้วก็กดปุ่มเลื่อนฝาสูบเข้าไปยังแท่นตรวจสอบ หากไม่ผ่านก็จะโดน
เตะทิ้ง (เขาไม่ได้เตะจริงๆนะครับ แต่ผมพูดเอามันส์)

คุณแพรลองก่อนเช่นเคย มาที่สถานีนี้ดูเหมือนว่าเธอจะคล่องกว่าผมมาก เพราะการหยิบสลักอันเล็กนั้น
คนนิ้วเล็กจะทำได้รวดเร็วมาก การขันน็อตด้วยมือก็ดูเธอจะหยิบจับอะไรได้ถนัดมือ สถานีนี้ไม่มีอะไรที่
ต้องใช้แรงร่างกาย ใช้แค่ความแม่นกับสมาธิซึ่งผู้หญิงสามารถทำได้สบายมาก อันที่จริง คนประกอบเครื่อง
ประจำสถานีนี้ก็เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกับสถานีแรกครับ และทางคุณเจนนิเฟอร์ ผจก.ประจำโรงงานก็บอก
ว่าอัตราส่วนพนักงานเพศชายกับหญิงในโรงงานนี้ อยู่ที่ 65 ชายต่อ 35 หญิง และพยายามจะเพิ่มจำนวน
คนงานที่เป็นผู้หญิงขึ้นเรื่อยๆเพราะเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีเท่าผู้ชาย
และเพื่อความเท่าเทียมแบบไม่มีกีดกันทางเพศ

พอถึงตาผม ครั้งแรกขอลองประกอบแบบไม่จับเวลา ก็พบปัญหากับการพยายามเอานิ้วที่นอกจากใหญ่
แล้วยังพิกลพิการจากการใช้งานคีย์บอร์ดและสมาร์ทโฟนเกินเหตุ หยิบสลักชิ้นเล็กๆกับน็อตแต่ละตัว
ผมจึงตัดสินใจทำแบบช้าๆค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าที่จะปล่อยน็อตร่วง เพราะถ้าร่วงพื้น อะไหล่ชิ้นนั้นคือ
“ทิ้ง” อย่างเดียวนะครับ ตอนผมอยู่สถานี Front cover ผมทำน็อตร่วงพื้นไปตัวนึง ผมจะหยิบน็อตตัวนั้น
กลับมาใส่ในถัง คุณโก้ห้ามในทันที “ที่นี่ถ้าตัวน็อตหล่นพื้นคือทิ้งครับ มันอาจจะไม่เป็นไร ดูแล้วไม่มีรอย
แต่เราจะฝึกพนักงานให้มีนิสัยแบบนี้ไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นชิ้นส่วนที่โตกว่านี้เวลาหล่น เราไม่รู้หรอกว่า
โครงสร้างข้างในมันจะยังดีอยู่หรือเปล่า”

นอกนั้นผมไม่มีปัญหากับการใช้แท่นขันทั้งสองแต่ประการใด ถ้ากดเลื่อนแท่นลงแล้วหัวขันมันไม่ตรง
ตัวน็อต ผมก็แค่ขยับโยกไปมานิดหน่อย หัวขันก็จะเข้าที่เข้าทางเองอย่างง่ายดาย

หลังจากประกอบไป 1 ฝาและผ่านการตรวจสอบว่า OK ผมยื่นคิวให้คุณแพรลอง แต่คุณแพรบอกว่า
ยกให้คุณแพนแล้วกัน งานนี้ก็เลยขอทางเจ้าหน้าที่ประกอบอีก 3 ฝาไปเลยเพื่อความมันส์ และในฝา
หลังสุด ผมขอให้พี่ดาวช่วยจับเวลาให้ ปรากฏว่าใช้เวลาไป 253 วินาที ซึ่งใกล้เคียงมากสำหรับเวลา
มาตรฐานของสถานีนี้ซึ่งอยู่ที่ 225 วินาที

เมื่อได้ประกอบฝาสูบจนพอใจ (พี่ดาวเหลือบดูนาฬิาแล้วบอกว่ายังมีเวลาเหลือนะคะ คุณแพน
อยากจะลองอีกมั้ย ผมบอกว่าได้สี่ฝานี่ก็พอใจแล้ว) ต่อมาเราก็ถูกพากลับเข้ามานั่งในห้องกรุงเทพ
อีกครั้ง ผมกับคุณแพรกลับมาเป็นกลุ่มท้ายๆ ส่วนคนอื่นก็กำลังนั่งเล่าให้ฟังว่าไปเจอฐานอะไรมาบ้าง
รู้สึกว่าฐานของคุณกอล์ฟ Autospinn นั้นจะหนักที่สุดเพราะเจอตอเป็นสถานีประกอบ Lower/Upper
Oil pan ซึ่งต้องเล็งขันน็อตกันหลายสิบตัวที่เดียว งานนี้ผมฟังดูแล้วยังเมื่อยแทนเลยครับ

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอบอกว่าการเยี่ยมชมโรงงาน GM Powertrain ในวันนี้ เปลี่ยนทัศนคติของผม
เกี่ยวกับโรงงานประกอบเครื่องยนต์ไปพอสมควร จริงอยู่ว่าเรื่องความสะอาด และการรักษาอุณหภูมิ
ภายในโรงงานมันเป็นเรื่องปกติในวงการไปแล้ว แต่ที่นี่ได้ข่าวว่าฝุ่นน้อยกว่าห้องนอนผมเองด้วยซ้ำ
(J!MMY ที่เคยมาช่วยจัดเรียงโบรชัวร์ให้ผมสามารถเป็นพยานได้) และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ
ความพยายามในการ “กันพลาด” ในจุดต่างๆ

จริงอยู่ผมทราบดีว่าทุกโรงงานต้องมีวิธีกันความผิดพลาดในการประกอบตามแบบฉบับของตัวเอง
(แต่เราไม่เคยรู้ เพราะไม่เคยมีใครยอมให้เราเข้าไปดู) แต่การที่เอา Sensor มากมายร้อยแปดมาคอย
ตรวจสอบจุดต่างๆ การใช้เครื่องมือกันพลาดในระดับที่น่าตกใจ (โดยเฉพาะสถานีแรกที่ต้องขันน็อต
ตามลำดับ ใส่แท่นกำกับกันเอียงและอะไรต่อมิอะไรเนี่ย) มันเป็นเม็ดเงินลงทุนที่ไม่ใช้น้อยๆนะครับ
อย่างที่เรียนให้ทราบไว้ว่าโรงงานทั้งโรงงาน 6,000 ล้านบาท เฉพาะไลน์ที่สร้างเสื้อสูบอย่างเดียวก็
เกิน 1,000 ล้านบาทไปแล้ว เจ้าเครื่องไม้เครื่องมือกันผิดกันพลาดพวกนี้แต่ละตัวก็หลักล้าน..สิบล้าน..

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าเอาเครื่องมือเหล่านี้ออกจากสายการผลิต ต้นทุนการก่อตั้งโรงงานจะถูกลงกว่านี้
แต่ถ้าพวกเขาเอามันออก โอกาสที่เครื่องจะมีปัญหาก็จะสูงขึ้นตาม แล้วในฐานะเจ้าของรถ คุณอยากได้
รถที่ถูกลงไม่กี่หมื่น หรืออยากได้รถที่เครื่องยนต์มีปัญหากันล่ะครับ

ถ้าเราสามารถเอาเทคนิคการป้องกันในลักษณะนี้มาใช้กับรถทั้งคัน และทำแบบเดียวกันทุกคันได้
ปัญหาต่างๆที่พวกเราต้องมานั่งปวดหัวกับรถแต่ละคันทุกวันนี้คงน้อยลงมาก มันคงเป็นได้แค่ฝันกลางวัน

++9 FACTS ABOUT NEW 2014 DURAMAX ENGINE!!++

ระหว่างช่วงสุดท้ายของกิจกรรมนั้น ทาง Chevrolet มีการเผยสเป็คเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่น่าจะมาให้เรา
ได้ใช้กันในเวลาอันใกล้นี้ แถมมีการบอกด้วยว่าเครื่องยนต์สำหรับรถโมเดลปี 2014 นี้ได้ถูกเริ่มประกอบ
แล้วที่โรงงาน GM Powertrain แห่งนี้ในเดือนสิงหาคม..

อุ้ต๊ะ!!! วันนี้วันที่ 23 สิงหาคม แล้ว..งั้น?.ไอ้เครื่องที่เราไปขันๆไขๆปะๆกดๆอยู่เมื่อกี้ล่ะ!!?!! แหม!!
คุณโจ้คุณดาวคุณๆทั้งหลายไม่บอกให้รู้กันล่วงหน้าเล่า จะได้ตั้งใจสังเกตเครื่องใหม่ตั้งแต่ฝาสูบ
ยันน็อตก้านข้อพับยันซับในเลยว่าเครื่องใหม่นี่เป็นยังไงบ้าง..แต่ก็..ถ่ายรูปมาไม่ได้อยู่ดี ตามที่บอกไว้ว่า
เราถูกห้ามไม่ให้ถ่ายรูปใดๆด้วยตนเองเด็ดขาด

เอ้า! แล้วเครื่องยนต์ใหม่ของ Chevrolet Colorado/Trailblazer ที่ว่านั่นเป็นอย่างไรกัน
อ่านได้จาก 9 ข้อต่อไปนี้เลยครับ!

1. มีความจุให้เลือกสองแบบเหมือนเดิม คือ 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร
2. ระบบหัวฉีด Common-rail เป็นของใหม่ เพิ่มแรงดันน้ำมันจากเดิม 1,600 เป็น 2,000 บาร์
เอาให้ฉีดโดนนิ้วเท้าทีกระเด็นไปเลย
3. ฝาสูบไม่เหมือนรุ่นเดิม
4. ท่อร่วมไอดี เปลี่ยนจากวัสดุโลหะเป็นพลาสติกเพื่อให้มีน้ำหนักเบาลง
5. ระบบควบคุมการจ่ายน้ำมันเป็นแบบใหม่ ECU ของ GM รหัส D1P
6. รุ่น 2.8 ลิตรจะได้เทอร์โบแบบใหม่ที่มีการต่อน้ำวนเข้ามาระบายความร้อนแกนเทอร์โบ
(อ้าว..รุ่นเดิมไม่มีเหรอ..ไม่เคยสังเกตนะเนี่ย)
7. มีการปรับปรุงให้มีเสียงและความสั่นสะเทือนในการทำงานน้อยลงกว่าเดิม
8. รุ่น 2.5 ลิตร จะมีแรงม้า 120kW (163 แรงม้า) และให้แรงบิดสูงสุด 380Nm
9. รุ่น 2.8 ลิตร จะมีแรงม้า 147kW (200แรงม้า) และให้แรงบิดสูงสุด 500Nm

จดมาได้ประมาณ 9 อย่างนี้ สังเกตได้ว่ารุ่น 2.5 ลิตรนั้นเรี่ยวแรงไม่เลว แม้ว่าจะไม่ได้แรงม้ามากมาย
อย่างเครื่อง 2.5 ลิตรของ Navara รุ่นสูงหรือ Mitsubishi VGT Turbo ก็ตาม ส่วนรุ่น 2.8 ลิตรนั้นอ่านแรงม้า
กับแรงบิดดูก็รู้แล้วว่ากะจะทำมากำราบเครื่อง 3.2 ลิตรของ Ford และ Mazda แน่นอน เราจะเข้าสู่ยุค
ที่กระบะ 200 ม้าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ต่อมาในช่วงเย็น ก่อนที่จะส่งพวกเรากลับบ้าน ก็มีการถ่ายรูปกันพอเป็นพิธี และที่ประหลาดใจมากคือ
ทางคุณเจนนิเฟอร์และคุณโจ้ บอกว่ามีการเตรียมของที่ระลึกเอาไว้ให้พวกเราสื่อมวลชนได้ถือกลับบ้านกัน
“แต่อาจจะหนักหน่อย”

ของหนัก? จะให้อะไรฟระเนี่ย..เห็นแววตายิ้มกรุ้มกริ่มของทั้งสองท่านแล้วเสียวชะมัด..

หนัก? หืม?

มันคือลูกสูบและก้านสูบของเครื่อง A9L 2.8 ลิตรดีเซล!!!
 โอ้ย! ความคิดใครฟระเนี่ย หลุดโลกดีแท้!!


ขอขอบคุณ ทุกท่านทุกหมู่เหล่าที่ร่วมกันจัดทริปเยี่ยมชมโรงงานนี้ให้เป็นไปด้วยดี

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โรงงาน จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ประเทศไทย
บริษัท เวเบอร์ แชนวิค แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป

Commander CHENG
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน (ภาพภายในโรงงาน
เป็นของทาง GM และ GM Powertrain Thailand)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
1 ตุลาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
October 1, 2013