ถ้าใครไปเดินเล่นในงาน Motor Expo ปีนี้มาแล้ว ก็อาจจะสังเกตว่า มีรถหน้าตากะปุกลุกคันหนึ่ง
ตัวถังสีแดงขาว ราวกับว่ารถคันนี้ สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน
แต่อย่างใด

บางครั้ง คุณอาจเห็นรถคันนี้จอดหลบมุมอย่างน่าสงสาร ด้านหลังบูธ Mitsubishi Motors
บางครา มันก็จะถูกพามาเดินเล่นไปตามทางเดิน ในฐานะ “รถตรวจการณ์” ซึ่งก็ไม่รู้ว่า
ตรวจการณ์จริง หรือว่า ด้วยเหตุผลประการอื่นกันแน่?

แต่อย่างไรก็ตาม รถคันนี้ มันมีความพิเศษกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วไป ไม่หรอกครับ ไม่ใช่แค่ว่า
ตัวถังมันเล็กกว่ารถยนต์คันอื่นๆ หากแต่ ระบบขับเคลื่อนของมัน ก็ยังแตกต่างไปจากรถคันอื่นๆ
บนท้องถนนเมืองไทย อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย!…

บ่ายวันหนึ่ง พี่จิม PR ของทาง Mitsubishi Motors (Thailand)
ผู้มีชื่อเล่นเหมือนผมเปี๊ยบ ส่งเสียงมาตามสายว่า…

“จิมมี่ เคยบอกว่า อยากลองขับ i MIEV ใช่ไหม?”

เสี้ยววินาทีนั้น ผมย้อนนึกถึงความทรงจำไปว่า เคยเอื้อนเอ่ยกับพี่แตน
ผกามาศ ผดุงศิลป์ Senior PR ของ Mitsubishi Motors Thailand  
เมื่อไม่นานมานี้เท่าใดนักว่า…

“พี่แตนครับ ผมว่านะพี่ เจ้า i MIEV เนี่ย เอามาทำประโยชน์กันบ้างเถอะ
จอดตากฝุ่นอยู่หลังโกดังแบบนี้ มันน่าเสียดายนะพี่ มันน่าจะเอามาใช้
ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ หรือสร้างการรับรู้ เรื่องเทคโนโลยีรถยนต์
เพื่อสิ่งแวดล้อม ของบริษัทพี่หน่อยก็ยังดี เอามาให้ผมลองขับเล่นๆ
แล้วทำรีวิวก็ยังได้เลย นะนะนะนะนะ”…..

นึกถึงได้ตามนี้ ปากผมก็เลยส่งเสียงกลับไปยังต้นสายปลายโทรศัพท์ ว่า
“ใช่ครับพี่ มีอะไรหรือครับ?”

“งั้น เดี๋ยวพี่จะให้เราได้ขับ i MIEV นะ ในงาน Motor Expo เนี่ยแหละ”

ใจนึงก็อยากจะกรี๊ดดดดด แต่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด! เพราะตอนที่พี่จิม
โทรมาบอกข่าวดีนั้น ผมนั่งอยู่กลาง แผนก ประชาสัมพันธ์ ของ
Toyota Motor Thailand…!! (คือ รอสลับรถ Altis จาก 1.8 เป็น 2.0 ลิตร นั่นเอง)
ถ้าขืนหลุดโพล่งออกไป ก็ไม่ดีไม่งามหนะสิครับคุณผู้อ่าน (เอิ๊กๆๆๆ)

แต่นั่นก็ทำให้ในที่สุด ผมต้องรีบถ่อเอาร่างอวบระยะสุดท้าย ขับรถตรงดิ่งจากบ้านที่บางนา
มาถึง อาคาร Challenger Hall ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม IMPACT เมืองทองธานี
ช่วง 11 โมงกว่า ของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2010 ที่ผ่านมา เพื่อมาลองขับเจ้าหนูแดงขาว
พลังไฟฟ้า คันนี้…

และ….ไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้น ที่จะได้มีโอกาสลองขับ เจ้า i MIEV เพราะยังมีสื่อมวลชน
อีกรวมแล้ว 13 ราย ที่ได้สัมผัสประสบการณ์นี้ ร่วมกันกับผม….

รวมถึง…ผู้ชาย…(แท้ๆ จริงๆนะ) คนนี้…..

Commander CHENG!: ก็แท้น่ะสิเฟ้ย เล่นเอารูปมาลงแบบนี้ประเดี๋ยวเก็บค่าลิขสิทธิ์ซะหรอก

J!MMY : จะเก็บไม่เก็บ ก็จะเอามาลงแบบนี้แหละ เพราะตูถ่ายมาแค่รูปนี้รูปเดียว ที่เหลือ
ไม่มีจังหวะให้จอดถ่ายได้เลย ก็ต้องถ่ายกันแบบนี้แหละ เอาน่า ออกมาดูดีแบบนี้ แล้วยัง
จะมาเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์อีก ชิส์!

Commander CHENG!: เออ จะช่วยฟรีค่าธรรมเนียมให้ละกัน จะนึกซะว่าเห็นแก่ลูกช้าง
ตัวขาวๆตาดำๆ ว่าแต่เข้าเรื่องกันดีกว่าว่าวันนี้ iMIEV กับเรามันยังไงกัน?

J!MMY : เน่! ไม่ต้องเอามุข ฟรีค่าธรรมเนียม ของธนาคารเอ็ง มาใช้เลย
เพราะยังไง ข้าพเจ้า ก็ไม่จ่ายอยู่แล้ว อิอิ

มาเข้าเรื่องกันก่อนดีกว่า…

ควาเมป็นมาของ i MIEV มิได้สลับซับซ้อนเท่าใดนัก รถรุ่นนี้ ถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
คันแรกของ Mitsubishi Motors ที่ถูกนำมาขึ้นสายการผลิตจริง โดยสร้างขึ้น บนพื้นฐานของ
โครงสร้างตัวถัง และงานวิศวกรรมของ Mitsubishi i รถยนต์นั่ง ขนาดเล็ก พิกัด Kei-Jidosha
(K-Car) ตามกฎหมายของญี่ปุ่น

ถ้าคุณผู้อ่านยังงง ก็คงต้องขอเสริมกันว่า K-Car นั้น ตามกฎหมายแล้ว จะมีการกำหนดขนาด
ตัวถังเอาไว้ แต่ถ้าจะให้จำง่ายๆจริงๆ ก็คือ เป็นรถยนต์นั่ง หรือรถเพื่อการพาณิชย์ ที่มีขนาด
เครื่องยนต์ความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 660 ซีซี มีกำลังสูงสุด ไม่เกิ 64 แรงม้า (PS) นั่นเอง
ปกติ รถยนต์ขนาดจิ๋วกลุ่มนี้ จะมีขายเฉ่พาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ รถยนต์ K-Car
บางรุ่น ก็มีหลุดออกมาขายกันนอกญี่ปุ่นก็มี เช่น Subaru R1 และ R2 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังถือเป็นรถยนต์นั่ง ส่วนบุคคล 4 ที่นั่งคันแรของ Mitsubishi Motors ตั้งแต่ปี 1960
เป็นต้นมา ที่ใช้ระบบขับเคื่อนในลักษณะ Rear Midship หรือวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลังรถ
แต่เยื้องล้ำขึ้นมาทางด้านหน้านิดหน่อย และขับเคลื่อนล้อหลัง

Mitsubishi i นั้น เปิดตัวครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบ กลุ่ม  K-Car 660 ซีซี เมื่องาน Frankfurt
Motor Show เดือนกันยายน 2003 ในชื่อ Mitsubishi “i” Concept ด้วยรูปทรงแบบ ไข่ผ่าครึ่งทั้งคัน
ทำให้ผู้คนทั่วไป ไม่คาดคิดว่า 2-3 ปีต่อมา รถคันนี้ จะพร้อมออกสู่ตลาดจริง ในญี่ปุ่น เมื่อเดือน
มกราคม 2006

ต่อมา Mitsubishi Motors เริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า บนพื้นฐานของ
รถยนต์ i และนั่นจึงทำให้มีการ ถอดเอาเครื่องยนต์ และถังน้ำมันออก เพื่อแทนที่ด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า
แบ็ตเตอรี และระบบขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องเข้าไป โดยมีการทดลอง การใช้งานในสภาพต่างๆกัน รวมทั้ง
การร่วมมือกับบริษัทผลิตไฟฟ้า และหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจของญี่ปุ่น มากถึง 8 แห่ง ในการ
นำรถ i MIEV ไปใช้งาน และเก็บข้อมูล ที่ได้ากการใช้งานจริง มาปรับปรุงข้อด้อยต่างๆ ของตัวรถ อย่าง
ต่อเนื่อง

และเมื่อทุกอย่างสุกงอมได้ที่ Mitsubishi Motors ก็พร้อมจะเปิดตัว i MIEV เวอร์ชันสำหรับจำหน่ายจริง
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2009 ในวันสิ่งแวดล้อมโลก แต่กำหนดการเริ่มทำตลาดจริงๆ นั้น สำหรับหน่วยงาน
องค์กรต่างๆ เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2009 แต่กว่าจะพร้อมปล่อยขายในแบบเช่าซื้อ ให้ลูกค้าสามัญชน
เวลาก็ล่วงมาถึงเดือนเมษายน 2010

นอกจากจะทำตลาดในญี่ปุ่นแล้ว Mitsubishi Motors ยังตั้งใจทำรถ i MIEV ส่งขายทั้งใน สหรัฐอเมริกา
(ตัวถัง Wide Body เปิดตัวไปหมาดๆ ในงาน L.A Auto Show 2010) ในยุโรป ทังเวอร์ชันแปะโลโก้
3 เพชรของตนเอง กับ เวอร์ชัน Peugeot ION และ Citroen C Zero ตามความร่วมมือกับกลุ่ม PSA
Peugeot Citroen Group นอกจากนี้ ยังเริ่มทำตลาดในฮ่องกง แล้วอีกด้วย ปี 2010 ถือเป็นปีที่ ค่าย
Mitsubishi Motors พยายามจะส่ง i MIEV ไปบุกตลาดในระดับสากล ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูล
ที่ได้จากการใช้งานจริง มาใช้ในการพัฒนาและปรับรุงรถไฟฟ้า รุ่นต่อๆไป หลังจากนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ตัวถังมีความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,600 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร
เท่ากับ Toyota Vios รุ่นปัจจุบันกันเลยทีเดียว ส่วนน้ำหนักตัวนั้น 1,100 กิโลกรัม พอดี

การเข้าออกจากรถ ใช้กุญแจ Smart Key แบบ Keyless Go แค่พกรีโมทนี้เอาไว้กับตัว
คุณก็เดินมาเปิดประตูขึ้นรถ หรือ ปิดประตู แล้วกดปุ่มสีดำ เพื่อสั่งล็อกรถ ก็ได้….
แบบเดียวกับที่คุณเคยทำกับ Toyota / Lexus และ Nissan รุ่นใหม่ๆ นั่นแหละครับ

พอเปิดประตูออกมา ผมก็ย้อนนึกถึงสัมผัสแรกของผม ที่ได้ลองนั่งใน Mitsubishi i
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในงาน Motor Show บ้านเรา …..

ตอนนั้น ผมจำความคิดตัวเองได้ว่า “ถึงจะเป็นรถเล็ก K-Car แต่ช่องทางเข้าดูเหมือนว่า
ไม่ต่างจากรถยนต์ Sub-Compact B-Segment 1.3 – 1.6 ลิตร ทั่วไปเลยแต่อย่างใด

ยกเว้นเรื่องเดียว เสาหลังคา ที่มันลาดเป็นแบบ One Motion Form เนี่ย มักก่อปัญหา
กับหัวผม เข้าไปนั่งใน i ทีไร หัวผมต้องโขก โป๊ก กับกรอบประตู้านบน ทุกครั้งไป
เฮ้อ..ตกลง รถมันเล็กไปหรือหัวผมใหญ่ไปเนี่ย?

แต่ภายในของ i คันที่ผมเคยเจอ มันต่างจาก i MIEV คันนี้ ชัดเจน ตรงที่สีของเบาะนั่ง
ผมเคยเจอทั้ง i เบาะนั่งสีแดง และสีอื่นๆ แต่ออกจะไม่คุ้นนัก กับ ภายในของ i MIEV
ซึ่งเป็นเบาะนั่งสีดำมะเมี่ยม ใช้ผ้า ลักษณะคล้ายกับ Honda City คันที่บ้านผม กันเลย
เบาะรองนั่ง สำหรับผม แม้ว่า จะสั้นไปนิดนึง แต่ ก็พอยมอรับได้ เพราะว่ารถคันนี้
คือรถเล็ก K-Car การปรับเลี่อนเบาะขึ้นหน้า หรือถอยหลัง Mitsubishi Motors เลิกใช้
สวิชต์ กดเลื่อนแบบเก่า แต่หันมาใช้ คันโยกใต้เบาะรองนั่ง มาได้หลายปีแล้ว และนั่น
ก็ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นพอสมควร  

เบาะรองนั่งสำหรับผม ก็ถือว่า พอสบายในระดับที่รถเล็กคันหนึ่งพึงจะมีให้
แผงประตูด้านข้าง วางแขนได้จริงอยู่ ไม่มีที่วางแขน คั่นกลางระหว่างคนขับ
กับผู้โดยสารแต่อย่างใด พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องเป็นห่วงครับ โปร่งแน่นอน
ตามรูปแบบของแนวหลังคารถกันเลยทีเดียว

ส่วนทางเข้าด้านหลังนั้น..แม้จะดูเหมือนต้องก้มหัว เข้าไปในรถ นิดนึง
แต่อยากจะบอกว่า พื้นที่วางขาหนะ เหลือเฟือ และวางขาได้เยอะกว่า
Mazda 2 เสียอีก! ก็แน่ละ ระยะฐานล้อยาวกว่ากัน 100 มิลลิเมตร นี่ก็
มีผลเยอะอยู่นา

กระจกหน้าต่าง บานประตูคู่หลัง สามารถเลื่อลงได้จนสุด ไม่มีขอบกระจก
โผล่พ้นบานประตูขึ้นมาแต่อย่างใด

เบาะนั่งนั้น แม้ในครั้งนี้ ผมไม่ได้นั่ง แต่ด้วยความที่เคยนั่งเบาะของ i มาก่อนแล้ว
ก็เลยบอกได้ว่า มันเพียงพอกับการเดินทางในระยะสั้นๆ อย่างสบายๆ พื้นที่วางขา
ถือว่าเยอะอย่างที่บอกไปแล้วข้างต่น ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ก็ไม่ต้องกลัวว่าหัว
จะติดเพดาน เพราะมันไม่เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด ส่วนแผงประตูด้านข้าง ก็วางแขน
ได้กำลังดี แต่เสียดายที่ว่า พลาสติกที่ใช้ทำแผงประตู ดู Look Cheap ไปหน่อย อย่างว่า
แหละครับ รถเล็กระดับ K-Car แถมยังมีพื้นฐานที่มาแปลกกว่ารถธรรมดา ดังนั้น
ต้นทุนการผลิต ถ้าลดลงได้เพียงนิด ก็จะช่วยให้อยู่รอดได้ยาวๆ

เบาะคนขับ มีก้านปรับระดับ สูง – ต่ำ มาให้ การปรับเอน ก็ใช้ก้านโยก
แบบเดียวกับรถทั่วไป

แต่…คุณผู้อ่านครับ เห็นรถคันกระเปี๊ยกเดียวขนาดนี้ อย่าคิดว่า คนตัวเท่ากล้วย…
(เอ่อ ผมหมายถึง ก้านกล้วยหนะนะ ไม่ใช่เจ้ากล้วย The Coup Team ของเรา)
อย่าง ตาแพน จะเข้าไปนั่งไม่ได้….

เห็นไหมครับคุณผู้อ่าน Size doesn’t matter จริงๆ ว่าไหมแพน?

Commander CHENG!: สำหรับรถที่มีขนาดตัวแค่นี้ การที่ผมสามารถนั่งได้สบาย
ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด แต่พิจารณาจากรูปทรงของตัวรถที่เหมือนขนมปังโรตีบอย
ก้อนป้อมๆ ก็จะหายสงสัย เพราะรถทรงแบบนี้คือดีไซน์ที่ออกแบบมาเพื่อเน้น
พื้นที่ใช้สอยอยู่แล้ว

ตอนแรกที่เข้าไปนั่งค่อนข้างจะติดขัดกับการปรับเบาะเล็กน้อย แต่พอถอยฐานเบาะ
ให้ยาวจนพอรับกับขาผมได้ สิ่งที่เหลือก็คือความสบายที่ผมบอกได้ว่าชนะ C-Segment
จากเมื่อ 15 ปีก่อนได้ด้วยซ้ำไป

แต่ก็นะ ผมยังยืนยันว่า “Size really DOES matter” เพราะทันทีที่ตาจิมนั่งลงข้างๆผม
ความสะดวกสบายที่เคยมีก็หายไปอย่างรวดเร็วเหมือนอาหารตรงหน้าตาจิมไม่มีผิด

J!MMY : อ่ะ แต่อย่างน้อย ตอนที่เราเข้าไปนั่งในรถด้วยกัน ก็ไม่เห็นว่าเอ็งจะบ่นเลยนี่หว่า
แถมดูเข้าสิ ตอนที่เรากำลังฟังพี่………..จาก Mitsubishi เขาอธิบายรายละเอียดของเจ้าแดงขาว
คันนี้ อย่างตั้งอกตั้งใจ…แต่ดูเข้าเสะ ทำหน้าอย่างกับโดนใครเอา “บาจา” มากระทืบ “ปิกะจู๊”
ซะขนาดนั้น…

 

Commander CHENG!: เอ้า นี่ล่ะเว้ยหน้าเอกลักษณ์ประจำตัวฉัน ส่วนจะกระทืบปิกะจู๊
คาดว่ามันคงเป็นของแกล่ะมั้งจิมที่จะโดนกระทืบก่อน

J!MMY : จากใคร จากแกหนะเหรอ โอ้ย เชื่อว่า ไม่มีทางหรอกที่แกจะกระทืบฉันได้
แค่ แกยกอุ้งเท้าขวาขึ้น ฉันก็วิ่งไปไกลถึงอุบลราชธานีแล้วละ ว่ะฮ่าๆๆๆๆๆๆๆ

ว่าแต่ มีความเห็นยังไงเกี่ยวกับเบาะนั่ง ของ i MIEV?

Commander CHENG!: เรื่องเบาะนี่ก็โอเคนะ เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจว่ามันเป็นรถเล็ก
จะเอาเบาะขนาดใหญ่มากๆมาใส่มันก็กินที่เยอะ แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นเบาะที่
ดีไซน์มาสำหรับคนตัวไซส์ปกติ..ผมเดาว่า Mitsubishi ไม่คาดคิดมาก่อนว่าคนอ้วนใหญ่
จะมาซื้อ i MIEV ใช้ พอผมนั่งปั๊บ เลยรู้สึกว่าเบาะมันรองรับได้ไม่เต็มตัว ถ้าให้นั่ง
ขับในเมืองสักชั่วโมงนี่ก็พอไหวนะ แต่ถ้าให้ขับสักสี่ชั่วโมง อันนี้ก็ไม่ไหว

J!MMY : ส่วนแผงหน้าปัดนั้น ยกชุดมาจาก Mitsubishi i รุ่นมาตราน ทั้งยวง
พวงมาลัย 3 ก้าน หน้าตาคุ้นๆ เหมือนที่เคยพบเจอกันแล้วใน Lancer EX
กับ Pajero Sport ไม่ผิดเพี้ยน ไม่มีสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงมาให้
เพราะเครื่องเสียงนั้น ควบคุมได้ง่าย จากตำแหน่งคนขับกันอยู่แล้ว

ในเวอร์ชันญี่ปุ่น คุณสามารถเลือกติดตั้งอัพเกรดชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ Hi-Grade
Sound System 8 ลำโพง MMES (Mitsubishi Multi Entertainment System) หรือจะ
เลือกติดตั้ง ระบบนำทาง ผ่านดาวเทียม GPS Navigation System พร้อมหน่วยความจำ
8 GB เล่นได้ทั้ง DVD / CD / AM / FM เสียบต่อกับ USB และ iPod ก็ย่อมได้

เครื่องปรับอากาศ มีสวิชต์หน้าตาคุ้นๆ เหมือนเคยเห็นอยู่ใน Lancer X เวอร์ชันไทย
เอ่อ มันคล้ายกันชอบกลแหะ

การติดเครื่อง เพื่อออกรถ แค่ บิดสวิชต์ตรงคอพวงมาลัย ไปทางขวา ค้างไว้ 2 วินาที
จนกว่าจะมีคำว่า READY สีเขียว ขึ้นมาบนมาตรวัด เพียงเท่านี้ คุณก็ขยับคันเกียร์
ออกรถได้เลย ไม่ยาก..จะเปิดฝากระโปรงด้านหน้า ก็มีสวิชต์ฝั่งขวาล่าง อย่างที่เห็น
มีสวิชต์ เปิด ข ปิด ระบบควบคุมการทรงตัว Traction Control  สวิชต์ เปิด-ปิด ไล่ฝ้า
สวิชต์พับและปรับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า และ..สวิชต์ ปิดเสียงรถ ขณะขับขี่

อีกทั้งยังมี ช่องใส่ของขนาดเล็ก ใต้คอพวงมาลัยเอาไว้อีกด้วย

แต่จุดที่ทำให้ภายในของ i MIEV แตกต่างจาก i รุ่นเครื่องยนต์สันดาป ปกติ อยู่ที่
ชุดมาตรวัด Combination Meter ประกอบด้วย มาตรวัด 3 วงกลม วงกลมใหญ่ตรงกลาง
จะมีมาตรวัด บอกความเร็วของรถ เป็นตัวเลขดิจิตอล มีเข็มวัด ECO / Power Zone
เข็มบนมาตรวัดจะกวาดมาที่โซนนี้ ขึ้นอยู่กับว่า เราเหยียบคันเร่ง มากน้อยเพียงใด
ใช้พลังงานประหยัดหรือไม่ ถ้าขึ้นที่ ECO แสดงว่าขับดี ขับเรื่อยๆ ประหยัดไฟ
แต่ถ้าเข็มกวาดไปที่ Power แสดงว่า คุณขับเร็วอยู่ ระวังไฟในแบ็ตเตอรี จะไม่เหลือ
ให้กลับถึงบ้าน…

มาตรวัด ฝั่งซ้ายบน จะเป็น ปริมาณไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในแบ็ตเตอรี เปรียบกับรถยนต์
ทั่วไป ก็เหมือน เกจ์วัดน้ำมัน นั่นแหละครับ ส่วนมาตรวัดฝั่งขวาบน จะบอกทั้ง
ระยะทางที่ไฟฟ้าในแบ็ตเตอรี เหลือพอให้คุณแล่นได้อีกกี่กิโลเมตร มาตรวัด
ระยะทาง ทั้งแบบ ODO Meter Trip Meter A และ Trip Meter B ปรับความสว่าง
ของหน้าจอ มีระบบแจ้งเตือนให้นำรถเข้ารับบริการตรวจเช็ค อีกต่างหาก

Commander CHENG! :
หน้าปัด..สำหรับคนที่ไม่เคยชินกับรถไฟฟ้าและเทคโนโลยี ผมงงกับมันมากพอดู
ไฟอะไรเป็นไฟอะไร มันต้องเอาคู่มือมานั่งกาง อ่านแล้วจดจำกันหน่อย ไม่เหมือน
รถเครื่องเบนซินหรือดีเซลทั่วไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมต้องขอเรียนตามตรงคือเมื่อมองจากภายนอก ผมคิดว่าภายในของรถ
มันจะมีอะไรที่ล้ำยุคสู่อนาคตได้มากกว่านี้นะ คอนโซลมันดูค่อนข้างจะธรรมดามาก
ไม่ได้ทันสมัยเหมือนข้างนอก

J!MMY : เอ๋า ก็ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นไงว่า i MIEV หนะ ดัดแปลงมาจาก i รุ่นธรรมดา
K-Car 660 ซีซี หนะ จะให้มันล้ำยุคกว่านี้ก็คงยากแล้วละ เพราะงานออกแบบของรถคันนี้
มันก็คลอดออกมาตั้งแต่ราวๆ 2005 แล้ว กว่าที่รถจะออกขาย ก็ปาเข้าไปปี 2008 ดังนั้น
การที่นักออกแบบเขามองอนาคตล่วงหน้ามาได้ 5-6 ปีขนาดนี้ ก็ ถือว่า โอเคแล้วนา

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของ i MIEV อยู่ที่ การจัดการ และวางตำแหน่งอุปกรณ์ รวมทั้งเบาะนั่ง
ภายในห้องโดยสาร ได้สบายๆ สำหรับผู้ใหญ่ 4 คน เหตุผลหนึ่ง มาจากการสร้างรถไฟฟ้าคันนี้
บนพื้นฐานของ Mitsubishi i รุ่นปกติ ซึ่งมีเครื่องยนต์วางอยู่ด้านหลัง บริเวณ ล้อคู่หลัง ใต้ห้อง
เก็บสัมภาระอยู่แล้ว

ทีมวิศวกร อาจจะเหนื่อยหน่อย ก็คงเป็นช่วงที่ต้องพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้า และระบบขับเคลื่อนต่างๆ
ให้สามารถติดตั้งลงไป แทนตำแหน่งของเครื่องยนต์เดิมได้อย่างง่ายดาย ซึ่งพวกเขาก็ทำสำเร็จ

ระบบขับเคลื่อนของ i MIEV จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

– มอเตอร์ขับเคลื่อน เป็นแบบ Y4F1 Permanent Magnet กระแสสลับ กำลังสูงสุด 47 กิโลวัตต์
หรือ 64 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตร หรือ 18.4 กก.-ม.
ที่ รอบเครื่องยนต์ ตั้งแต่ 0 -2,000 รอบ/นาที แสดงให้เห็นเลยว่า แรงบิดสูงสุดนั้น
มีให้คุณใช้ในทันทีที่ออกรถกันเลยทีเดียว

– ระบบส่งกำลังเป็นแบบ single-speed reduction gear transmission ที่ออกแบบให้มี
ขนาดเล็กและเบา ช่วยให้มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ โดยเฉพาะในช่วงออกรถ

– มีตัว Inverter ที่คอยควบคุมการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้า จากกระแสตรง เป็นกระแสสลับ

– แบ็ตเตอรีที่ใช้ เป็นแบบ Lithium Ion ผลงานร่วมกันของ Mitsubishi Motors รวมทั้ง Mitsubishi
Corporation และ GS/Yuasa จากความร่วมมือกัน ตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2007 ในการจัดตั้ง บริษัท
Lithium Energy เพื่อพัฒนา และผลิตแบ็ตเตอรี สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า

ผลผลิตของทั้ง 3 บริษัท ออกมาเป็นรุ่น LEV50 วางกันในแบบ Module แรงดันไฟฟ้า 330 Volt
กำลัง 16 kWh / 20 kWh แต่ละ Module มี 3.7 Volt Cell หรือเท่ากับ 14.8 Volt ใน 1 Modelr
ติดตั้งอยู่ที่พื้นรถ ซึ่ง Mitsubishi Motors ระบุว่า จะส่งผลให้ ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง และช่วยให้
การบังคับควบคุม และการทรงตัวของรถดีขึ้น

การชาร์จไฟครั้งนึง จะแล่นได้ในระยะทาง 160 กิโลเมตร แม้จะดูเหมือนน้อย แต่จากผลสำรวจ
พฤติกรรมการใช้รถยนต์ในญี่ปุ่น และเมืองใหญ่ๆ พบว่า 90% จะใช้รถยนต์ เพียงวันละไม่เกิน
60 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า พิสัยทำการของแบ็ตเตอรี ในตอนนี้ ถือว่า เพียงพอกับความต้องการ
ของผู้คน

การทำงานของระบบขับเคลื่อน ก็คือ แบ็ตเตอรีขับเคลื่อน จะดึงไฟฟ้าที่มีอยู่ ส่งต่อให้กับ
Inverter ส่งต่อไปยัง Motor สู่ระบบส่งกำลัง เพื่อขับเคลื่อนล้อคู่หลัง ดันให้รถแล่นไปข้างหน้า
เมื่อไหร่ที่เหยียบเบรก หรือถอนคันเร่ง จะมีระบบ Re generative Brake เพื่อจะนำพลังงาน
จากการเบรก มาเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า กลับเข้าไปเก็บในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน
ไว้ใช้งานต่อไป

นอกนั้น งานวิศวกรรมอื่นๆ ก็ใช้ร่วมกันกับ Mitsubishi i รุ่นธรรมดา ทั้งหมด ระบบกันสะเทือนหน้า
แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ De Dion 3 จุดยึด ระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์ จานใหญ่
พิกัด 14 นิ้ว มีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ดรัมเบรก ดุมใหญ่ 8 นิ้ว มีระบบควบคุม
การทรงตัวทางตรง TCL Traction Control มาให้ เพียงอย่างเดียว

การขับรถคันนี้ ก็ไม่มีขั้นตอนอะไรวิลิศมาหรา แค่คุณขับรถเกียร์อัตโนมัติเป็น
คุณก็กระโดดขึ้นขับรถคันนี้ไปไหนต่อไหนได้แล้วละ เพราะคันเกียร์ ก็มี
ลักษณะเหมือนเกียร์อัตโนมัติ ทั่วไป แตต่างกันเล็กน้อยตรงที่ เกียร์ D มีไว้
สำหรับการขับขี่ทั่วๆไป ECO คือเกียร์เดินหน้า เอาไว้เน้นความประหยัด
ยิ่งเวลาที่คุณกำลังพาเจ้า i MIEV คลานในเมือง หรือว่า แบ็ตใกล้หมด
ก็ลากคันเกียร์เข้าโหมด ECO ให้เรียบร้อย ส่วน เกียร์ B ก็เหมือนกับเป็น
Engine Brake กลายๆ แบบเดียวกับใน Toyota Camry Hybrid นั่นแหละ!

ส่วนเบรกมือ ก็ยังคงเป็นแบบสาย มาตรฐาน พร้อมคันโยกข้างลำตัวผู้ขับ เหมือนรถทั่วไป

การชาร์จไฟเข้ารถนั้น i MIEV ถูกออกแบบมาให้สามารถ ชาร์จไฟได้ 2 วิธี

1. เสียบปลั๊กชาร์จกับไฟบ้าน ถ้าใช้ไฟบ้านแบบ 100V ในญี่ปุ่น ก็ต้องใช้เวลานาน
14 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ไฟบ้านแบบ 200V ก็จะใช้เวลาในการชาร์จ 8 ชั่วโมง เลือกเอา

2. เสียบปลั๊กชาร์จ เข้ากับ สถานีชาร์จไฟ Quick Charger 200V 3 Phase จะใช้เวลาประมาณ
ครึ่งชั่วโมง แต่ ปริมาณไฟก็จะถูกเติมเข้าไปในแบ็ตเตอรี เพียง 80% ที่ตัวแบ็ตเตอรีรองรับได้เท่านั้น
โดยในส่วนของตู้ชาร์จแบตเตอรี่นั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง
Mitsubishi Motors และบริษัทผลิตไฟฟ้า Tokyo  Electric Power Company

สำหรับการใช้่งาน i MIEV ในเมืองไทย เนื่องจากยังไม่มีการสร้าง สถานีชาร์จไฟ Quick Charger
เอาไว้รองรับ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า กันเลย ดังนั้น ทีมคนไทย ที่ Mitsubishi Motors Thailand
ก็เลยยังต้อง ชาร์จไฟ ด้วยวิธีการดั้งเดิม นั่นคือ เสียบปลั๊กชาร์จ เข้ากับไฟบ้าน โดยเปิดฝาช่องเสียบ
ด้านหลังรถ ฝั่งขวามือ ข้างใน หน้าตาก็จะเป็นอย่างนี้

จากนั้น ก็เสียบชุดปลั๊กชาร์จ ที่แถมมาให้กับรถ (แหงสิ! ขืนไม่แถมมา ประชาชนตาดำๆ
จะไปหาซื้อหัวชาร์จแบบนี้ ที่ร้าน “ล้งเล้งการไฟฟ้า” หรือยังไงละเนี่ย)

ส่วนกล่องที่คุณเห็นอยู่ด้านล่างนั้น ทาง Mitsubihi Motors Thailand เขาทำขึ้นมาเอง
เป็นฝีมือคนไทย กล่องนี้ จะวัดปริมาณกระแสไฟที่มีอยู่ และกำลังเติมเข้าไปในรถได้
โดยต้องมีการแปลงหัวปลั๊กนิดหน่อย เพียงเท่านี้ ชาวทุ่งรังสิต ก็สามารถ แบกเจ้า i MIEV
ไปไหนต่อไหน ในประเทศไทย ก็ได้แล้ว หายห่วง

J!MMY: ว่าแต่ แพนรู้สึกยังไงบ้าง ที่เปิดฝาเติมน้ำมันมา แล้วเจอเต้าเสียบปลั๊กแบบนี้?

Commander CHENG! : ใครเอาลูกโม่ .38 ไปยัดไว้ในรูเติมน้ำมัน?
เปล่าหรอกที่จริงก็คงไม่แปลกใจอะไร ก็มันรถไฟฟ้านี่นา แต่พวกปลั๊กพวกเต้าเสียบ
อะไรทำนองนี้จะใช้งานยากหรือง่ายแค่ไหน ถ้ามันซับซ้อนมากลูกค้าที่เป็นผู้หญิง
อาจจะเบือนหน้าหนีได้นะ

J!MMY : ไม่เห็นจะยากเลย!! แพน มันง่ายมากกกกกกกกก แค่ เสียบปลั๊กชาร์จ
ที่ติดมาให้กับรถแบบนี้ เข้ากับไฟบ้าน ก็จบ! แค่นั้นเลย!!! แล้วรอไปเลยนะ 7 ชั่วโมง

Commander CHENG! อ้าว แล้วอย่างนี้ ถ้าขับๆ ไปทำงาน หรือไปซื้อของ แล้วเกิด ไฟในแบ็ตเตอรี
มันเหลือน้อยลงแล้วละ จะทำยังไง?

J!MMY : ก็หาสถานี Quick Chrge สิ เสียบปลั๊ก เข้าไปได้เลย เข้าโหมด Quick Charge
แล้วรอไป ครึ่งชั่วโมง เท่านั้นเอง ระหว่างนี้ ก็ไปซื้อของ จับจ่าย หรือว่า ไปทำอะไรต่อมิอะไร
ได้อีกตั้งเยอะแยะ

Commander CHENG! : ก็จริง ชะนีไทยส่วนใหญ่สามารถใช้เวลา 2 ช.ม.ในการช้อปปิ้งในสิ่งที่พวกหล่อน
อยากได้ ขณะที่พวกผู้ชายอย่างเรา ใช้เวลาแค่ 10 นาที ได้อยู่แล้วนี่หว่า ถ้าอย่างนั้น นี่น่าจะเป็นรถที่เหมาะสม
กับ Metro gibbon (ชะนีน้อยในเมืองใหญ่) นะ เพราะผู้หญิงส่วนมากก็คงไม่ชอบขับรถติดแก้สกันด้วยความกลัว
ไอ้รถคันนี้น่ะ มันทั้งน่ารักน่าหยิก แถมใช้ไฟฟ้า ปลอดภัย ไม่มี วศิน มีปรีชา

J!MMY : อะไรวะ? วศิน มีปรีชา

Commander CHENG! : ก็ตูมตามไงมรึง…เกิดทันนิ…

J!MMY : ไอ้บ้าาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาาา ! มรึงก็อุตส่าห์เล่นได้เนาะ!
เอาละ ทันทีที่ออกรถ ด้วยเกียร์ D สิ่งที่เราเจอก็คือ ในระหว่างที่เรา ขับออกไป
ตามลานโหลดของ ด้านหลัง Challenger Hall เราเจอปัญหาหนึ่งของรถคันนี้แล้วละ!

J!MMY :เอาละ ทันทีที่ออกรถ ด้วยเกียร์ D สิ่งที่เราเจอก็คือ ในระหว่างที่เรา ขับออกไป
ตามลานโหลดของ ด้านหลัง Challenger Hall เราเจอปัญหาหนึ่งของรถคันนี้แล้วละ!

เปล่าหรอก รถหนะมันไม่ผิดปกติ แต่ไอ้ที่ผิดปกติหนะ..คนที่เดินอยู่นอกรถต่างหาก!

Commander CHENG! : เอออออออออเว้ยยยย! ขอกด Like ใน Facebook 100 ที
จะบอกว่าการขับรถคันนี้มีเรื่องที่เราวิตกจริตอยู่อย่างนึง คือไอ้ความเงียบของรถนี่ล่ะนะ
มันก็เป็นดาบสองคม บางทีผู้คนเขาเดินอยู่ข้างหน้าเราเขาก็ไม่รับรู้หรอกว่าเรามา
นี่ไงคือเหตุผลที่ Mitsubishi เขาเลือกที่จะทำให้มันมีเสียงการขับเคลื่อนบ้าง ไอ้ที่เดินอยู่
ข้างหน้าเรา แต่หันหลัง ให้ตัวเรา ถ้าเขาจะไม่รู้ตัวนี่มันก็พอจะเข้าใจได้นะ…

แต่ไอ้ที่ฉันไม่มีวันเข้าใจเลยคือ เพราะเหตุใด บางครั้งคนที่เดินพยายามจะข้ามตัดหน้ารถเราน่ะ
ถึงแม้เขาจะเห็นรถเรากำลังขับมาในทางอยู่แล้ว ไอ้คนพวกนั้นก็ยังดันทะลึ่งเดินเข้ามาจนเกือบ
จะชนรถเรา ไม่สนใจว่าไอ้เหล็กหนักน้องๆ 1 ตันน่ะมันช่วยทำหมันถาวรให้เขาได้เลยนะ

J!MMY : แปลก…

Commander CHENG!: เออแปลกสิ ฉันล่ะสงสัยจริงๆ เป็นเพราะรถมันดูเล็กน่ารักเบาๆบางๆ เขาเลย
คิดกันไปเองหรือเปล่าว่าต่อให้วิ่งชนพวกเขา ก็คงไม่บาดเจ็บ นี่ไม่ใช่เจอคนเดียวนะ แต่เจอแบบนี้
เป็นสิบคน ไม่ว่าชาย หญิง ทอม กะเทย ต่างไม่มีใครหวั่นเกรงยามรถรุ่นนี้วิ่งมาหาเลย

เรื่องแบบนี้ไม่ยักกะเกิดกับคนขับ Prius หรือ Camry Hybrid กันเลยหรือไงหว่า?

J!MMY : อย่างไรก็ตาม  ทันทีที่ทางข้างหน้าโล่ง และปลอดภัยพอ เราก็เหยียบคันเร่งจมมิด
และสิ่งที่รถตอบสนองกลับมา คือความน่าประทับใจ ด้วยอัตราเร่งที่ดี ไม่แพ้รถขนาด 1.6 ลิตร เลยทีเดียว
และที่สำคัญ อัตราเร่งที่เราพูดถึงนี้ มันเกิดขึ้น ทั้งที่ในรถ มีผม แพน และ เจ้าหน้าที่ของ Mitsubishi
Motors Thailand นั่งอยู่ด้วยกันอย่างที่เห็นนี้ด้วยนะ!!

Commander CHENG : ใช่ ถ้าคุณพยายามคาดคะเนแรงของรถด้วยการมองที่หน้าตาของมัน 
คุณตกใจแน่ๆ แต่ถ้าคุณทราบอยู่แล้วว่ามันมีแรงบิดระดับ 180 นิวตันเมตร  ให้ใช้ กับบอดี้เล็กแค่นี้ 
ก็คงไม่แปลกใจหรอก ผมเองก็ได้มีโอกาสลองสมรรถณะในช่วงสั้นๆ แรงดึงที่ได้ชวนให้นึกถึงรถยนต์
ที่วางเครื่องยนต์ 1.6 – 1.8 ลิตร จริงๆ แถมยังมารับใช้ได้ว่องไว ทันใจ เพราะมอเตอร์ไฟฟ้านั้น
สร้างแรงบิดสูงสุดได้ทันทีตั้งแต่ออกตัว

ดังนั้น การใช้งานในเมือง โดยเฉพาะช่วงเร่งทำความเร็ว รับรองว่าสบายบรื๋อ

J!MMY : พละกำลังจากแรงบิดของ i MIEV ไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องเป็นห่วง เพราะอย่างที่บอกไปว่า
แรงบิดสูงสุดนั้น 180 นิวตันเมตร แต่อย่าลืมว่า มอเตอร์ไฟฟ้า นั้น แรงบิดสูงสุด มันเกิดขึ้นทันที
ที่มอเตอร์ไฟฟ้า ถูกสั่งให้ทำงาน ไม่ต้องรอให้ถึงช่วงแรงบิดสูงสุดเหมือนเครื่องยนต์สันดาป ดังนั้น
แรงบิด ก็พร้อมที่จะหมุนล้อคู่หลัง อันเป็นล้อขับเคลื่อนได้ทันที และตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่
คุณอยู่บนทางลาดชัน ผมกับแพน ทดลองกันว่า ถ้าจอดค้างอยู่บนทางลาดชัน อะไรจะเกิดขึ้นกับ i MIEV

ผลก็คือ ตัวรถก็ยังคงจอดนิ่งอยู่บนทางลาดชันนั่นแหละ ตัวรถจะมีอาการสั่นนิดหน่อย เพราะมอเตอร์
พยายาม ส่งแรงบิดให้รถพุ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา แต่เมื่อเราเห็นแล้วว่า ขืนปล่อยรถให้สั่นต่อไป
เห็นทีจะไม่ดีแน่ แพนก็เลยค่อยๆเหยียบคันเร่ง ส่งรถขึ้นทางลาดชันอย่างช้าๆ และ i MIEV ก็พาเรา
ขึ้นสู่ยอดเนิน ได้อย่างสบายๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเลย

Commander CHENG :
พวงมาลัยของรถคันนี้ค่อนข้างเบาตามสไตล์รถเมือง โดยเฉพาะช่วงที่กดคันเร่งเต็มๆนั้น
เหมือนหน้ารถจะลอย และทำให้พวงมาลัยเกิดความเบาโหวงไปบ้าง แต่เฮ้ย เรากำลังพูดถึง
รถคนเมือง ใช้ในเมือง และขับทางไกลปานกลาง ไม่ใช่ Evolution X ซะหน่อย ที่จริง
ผมพบว่าความต่อเนื่องในการแปรผันน้ำหนักพวงมาลัย ทำได้ดีกว่า Nissan March อีกนะ

J!MMY : คือ อย่างที่แพนบอกหนะครับ เราต้องทำใจกันล่วงหน้านิดนึงว่า รถคันนี้ ไม่ได้ทำมา
เพื่อให้คุณเอาไปแข่ง 100 เมตร กับนักวิ่งเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ชาวจีน ดังนั้น การบังคับเลี้ยว
ของมัน ก็พอๆกันกับรถยนต์ K-Car 660 ซีซี รุ่นทั่วๆไป ที่มีขายอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม
การที่พวงมาลัยค่อนข้างไว และด้านหน้ารถค่อนข้างสั้นมาก กอปรกับ ไม่มีเครื่องยนต์สันดาป
กับระบบส่งกำลังมาถ่วงน้ำหนักด้านหน้าอยู่เลย นั่นก็อาจทำให้คุณรู้สึกว่ารถมันเบาโหวงๆ
คล้ายกับว่า คุณกำลังขับรถ Tuk Tuk ตามตรอกซอกซอย ในกรุงเทพฯ นั่นเลย

แต่ผมก็เห็นด้วยกับแพนเช่นกันว่า อยากได้พวงมาลัยแบบนี้ แต่ขอความหนืดมากกว่านี้อีกนิด
ไปอยู่ใน Nissan March แล้วผมจะเลิกบ่นกับเจ้า March ใหม่ไปอีกนานเลย อย่างน้อย ก็จนกว่า
มันจะหมดอายุตลาดนั่นแหละ!

********** สรุป **********
รถไฟฟ้า (กำลังจะ) มาหา นะเธอ!

J!MMY : 3 รอบหลังลานโหลดของ ที่ Challenger Hall ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ผมละออกจะเสียดาย
เพราะอยากลองขับบนถนนใหญ่อีกสักนิด เอาแค่รอบๆ ตัวอาคาร Challenger Hall ก็ยังดี กระนั้น
เพียงแค่นี้ i MIEV ก็ทำให้ผมได้เห็นแล้วว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ นี้ มันไม่ได้น่าเบื่อ อย่างที่
พวกสื่อมวลชนสายรถยนต์ คร่ำครึ ชาวยุโรป ทั้งหลาย เขาจะหวาดกลัว และคอยเขียนกัดเขียนโจมตีกัน
แต่ประการใด ตรงกันข้าม รถยนต์พลังไฟฟ้า ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้ามีการพัฒนามอเตอร์ ให้มี
แรงบิดสูง แต่ใช้กำลังไฟฟ้า ให้เหมาะสม ประหยัดไฟกำลังดี และ เซ็ตรถให้ออกแนวสอร์ตสักหน่อย
เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้า ก็สามารถสร้างความสนุกในการขับขี่ให้คุณได้ เทียบเทียมเท่ากับรถยนต์ ซึ่งใช้
เครื่องยนต์สันดาป กันเลยทีเดียว! เพียงแต่ว่า มันอาจจะไม่ค่อยมีเสียงเครื่องยนต์มาเร้าโสตสัมผัส
ของคุณ ก็เท่านั้นเอง

แต่ก็จริงอีกเช่นกันว่า เพราะเสียงเครื่องยนต์ กับกลิ่นน้ำมัน รวมทั้ง กลิ่นยาง ที่บดไปกับถนนนี่ละ
คือเสน่ห์ อย่างหนึ่ง ของการขับรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป มันเปรียบได้กับการที่คุณ กิน
ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ด้วยมือเปล่าๆ กินกันแบบ “เปิบ” มันให้รสสัมผัสของอาหาร และช่วยเพิ่ม
อรรถรสในการรับประทานอาหารมากขึ้น (คล้ายกับทัศนคติของ ชาวอินเดีย ที่มีต่ออาหารประจำชาติ
ของพวกเขา) แต่จู่ๆ มีใครสักคน มาบอกว่า กินแบบเดิม มันสกปรก เลอะมือ แล้วพลางเอาจาน
มาให้คุณใส่ข้าวเหนียว กับหมูปิ้ง แล้วก็ให้ช้อนกับส้อม มาตักพวกมันเข้าปาก โอเค ไม่เถียงละ
ว่ามันถูกสุขอนามัยกว่า แต่ รสสัมผัสของมัน ที่ชวนให้คุณน้ำลายสอ ก็อาจถูกลดทอนลงตามไปด้วย

ตอนนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า คุณมอง ประเด็นนี้ ในมุมมองของใคร?
ถ้าคุณมองในมุมของ นักวิชาการ และนักสิ่งแวดล้อมวิทยา แน่นอน คุณก็คงมองเห็นว่า การใช้
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แม้ว่าจะยังมีข้อกังขา ในเรื่องของการกำจัดแบ็ตเตอรี ที่เสื่อมสภาพ ในอีก
10 ปีข้างหน้า แต่อย่างน้อย มันก็ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากไอเสีย สู่โลก ได้อย่าง
เห็นผลทันตา ไม่ต่างอะไรกับ ความสะอาดที่คุณจะได้รับ จากการหยิบช้อนส้อม ตักข้าวเหนียวหมูปิ้ง
เข้าปากกันจะจะ

ถ้าคุณมองในมุมของ คนที่ชอบรถ หรือพวกชอบความเร็ว แน่นอน คนกลุ่มนี้ อาจบ่นว่า พวกเขา
จะยังขอกินข้าวเหนียว หมูปิ้ง ด้วยมือของเขากันต่อไป โดยไม่สนใจสุขลักษณะ เท่าใดนัก
เพราะ คนกลุ่มนี้ จะเลือกอรรถรส จากการสัมผัสมากกว่าจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

แต่ ถ้าคุณมองในมุมของผู้ใช้รถทั่วไป ซึ่งยังใหม่กับเรื่อง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แม้ว่าพวกเขาจะเคยชิน
กับการเปิบข้าวเหนียวหมูปิ้ง ด้วยมือ แต่ ถ้าพวกเขาได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ มามาก และอย่างดีพอ โอกาสที่
พวกเขา จะเปลี่ยนไปกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง ด้วยช้อนส้อม ก็มีความเป็นไปได้สูงอยู่ ถึงเวลานั้น พวกเขา
ก็คงจะไม่ซีเรียสมากนัก ว่า ควรจะใช้ช้อนส้อม หรือใช้มือ เปิบข้าวเหนียวหมูปิ้ง

กระนั้น การที่พวกเขาจะรับรู้ข้อมูลมากเพียงพอนั้น มันไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนหนึ่งคนใด ระหว่างสื่อมวลชน
อย่างเรา หรือ บริษัทรถยนต์ อย่าง Mitsubishi Motors แต่ผมอยากเห็นภาครัฐ ออกมาเดินหน้า ให้การศึกษา
กับประชาชน ในเรื่องของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า กันให้มากขึ้นกว่าแค่เพียงการส่งเสริมกันเอง
อยู่ในกลุ่มวิชาการ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

อีกทั้ง ตอนนี้ ผมมองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ภาครัฐ จะต้องเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ ในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งสถานีชาร์จไฟ โรงงานกำจัดและนำแบ็ตเตอรีเก่า กลับมา Recycle ใช้ใหม่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เอาไว้รองรับ
การมาถึงของยุครถยนต์ไฟฟ้า ที่น่าจะมาถึงในอีกไม่นานเกินรอนี้ได้แล้ว อย่าเพิ่งมัวคุยกันว่า ใครจะได้ประโยชน์
แต่ขอให้คุยกัน เพื่อวางรากฐาน เป็นแนวทาง ที่จะต่อยอด ไปสู่อนาคต กันตั้งแต่วันนี้

ท้ายสุด ผมว่า ความเห็นของ ตาแพน จะสรุปสิ่งที่ ผมและเขา มองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เอาไว้ ได้อย่างสั้น
กระชับ และลงตัวอย่างที่สุด…..ข้างล่างนี้

Commander CHENG!:
จะว่าไปแล้ว i MIEV ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมประทับใจที่สุดสำหรับงาน MotorExpo ในปีนี้
เพราะมันเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าคันแรกที่ผมได้มีโอกาสขับด้วยตัวเองจริงๆ และมันทำให้ผมได้
เห็นอนาคตในการสัญจรของพวกเราแล้วว่าเมื่อโลกต้องเปลี่ยนมาใช้พลังไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
มันจะเป็นสิ่งที่คุณสามารถ enjoy ได้ ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด

เราคนไทยควรเปิดใจยอมรับได้แล้วว่าพลังไฟฟ้าในรถยนต์มันจะมาเร็วกว่าที่เราคิด
และเราก็ควรจะทำสาธารณูปโภคให้เตรียมพร้อมรองรับมันได้แล้ว นับตั้งแต่วันนี้ไปเลย
ลองนึกภาพถนนที่รถติด การจราจรหนาแน่น ควันพิษลอยโขมง ถ้าเราเปลี่ยนรถ 25% จาก
จำนวนเหล่านั้นเป็นรถพลังไฟฟ้า คุณก็คงเห็นความต่างแล้ว

i MIEV พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ณ วันนี้น่ะ เทคโนโลยีกับตัวรถมันพร้อมแล้วล่ะ
แต่ทัศนคติของคนไทย กับการเตรียมสาธารณูปโภครองรับต่างหากล่ะ ที่ยังไม่พร้อม

——————–///———————–

ขอขอบคุณ
– คุณผกามาศ ผดุงศิลป์ และ คุณธิราภร ย้อยแสง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท MITSUBISHI MOTORS (THAILAND) จำกัด
เอื้อเฟื้อ รถทดลองขับ
——————————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่ายทั้งหมด โดยผู้เขียน
ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เป็นลิขสิทธิ์ของ Mitsubishi Motors Corporation
ประเทศญี่ปุ่น และ Chrysler Corporation ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด
ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต / เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
6 ธันวาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text & Pictures (Some Illustration is own by Mitsubishi Motors Corporation)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 6th,2010

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่