นับตั้งแต่ Headlightmag.com ถือกำเนิดมา จนถึงวันนี้ สิริรวม ก็
5 ปีแล้ว เราทำบทความรีวิวทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มานับร้อยๆคัน
และยังคงได้รับความนิยมจากคุณผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง

แต่มีบทความรีวิวประเภทหนึ่ง ซึ่งผมเคยหวั่นใจ ว่าเราจะทำออกมาได้
เป็นอย่างไร…นั่นก็คือ รีวิวยางรถยนต์…

แน่นอนครับ มันเป็นของคู่กัน ต่อให้ผู้ผลิตรถยนต์จะทุ่มเทวิจัย พัฒนา
และทดสอบรถยนต์ของพวกเขาให้มีสมรรถนะดีเลิศประเสริฐศรีแค่ไหน
ถ้าสวมยางรถยนต์ห่วยๆ เข้าไป การเกาะถนน ก็จะด้อยลง การลุยน้ำใน
ช่วงฝนตก ก็อาจไม่มั่นใจ เพราะลื่นแพรดๆ ควบคุมรถยาก การเข้าโค้ง
ที่เคยซัดเข้าไปได้สบายๆ ก็อาจไถลแถแถกแหกหลุดโค้งลงข้างทาง 
จนสีข้างรถและคนขับถลอกปอกเปิกพังยับเยิน ทั้งที่ใช้ความเร็วเท่าๆกัน
ไม่ผิดเพี้ยนเลยนั่นแหละ!

ยิ่งทุกวันนี้ ตลาดยางรถยนต์ในประเทศไทย เมื่อปี 2013 มียอดขายรวม
สูงถึงประมาณ 10 ล้านเส้น การแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้ ค่อนข้างรุนแรง
ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ ทั้งแบรนด์เก่าชื่อดังในต่างประเทศ และแบรนด์
ใหม่ถอดด้าม ชื่อไม่กระดิกหูคนไทย พากันยกทัพมาเปิดสำนักงานขาย
ยางรถยนต์ของพวกเขาในบ้านเรา อย่างเป็นล่ำเป็นสัน บางรายถึงขั้น
มาเปิดโรงงาน แถมด้วยการเปิดศูนย์วิจัยคุณภาพ หรือบางค่าย ทุ่มสุดๆ
ยอมเปิดสนามทดสอบยางให้ใช้กันเต็มที่เลยทีเดียว

ในเมื่อการแข่งขันมันสูงมากเช่นนี้ ผู้ผลิตยางรถยนต์บางราย จึงเลือก
จะหาช่องทางในการทำตลาด หรือสื่อสารข้อมูล ยางที่พวกเขาทำ ให้
เข้าถึงผู้บริโภคเช่นคุณผู้อ่านมากขึ้น และหนึ่งในสื่อที่พวกเขาเริ่ม
กันมาให้ความสนใจ นั่นคือ Internet

ในอดีต ผมเคยได้รับการติดต่อ ทาบทาม ด้วยวิธีอะไรก็ตามแต่ ให้ลอง
ทำรีวิวยางรถยนต์ ดูสักที ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่มีมาเรื่อยๆ หลายๆครั้ง

ไม่ใช่ว่าไม่เคย แต่ ผมและ The Coup Team เคยคิดเรื่องการทำ
บทความ รีวิวยางรถยนต์ ขึ้นมา แต่ต้องยอมรับกันตรงๆว่า การทดลอง
หรือถึงขั้นทดสอบยางรถยนต์ มันยากกว่าการทำบทความรีวิวรถยนต์
อย่างมาก จากเหตุผลในเรื่องข้อจำกัดอันแสนวุ่นวาย

เพราะ คุณจะต้องหารถยนต์ รุ่นที่เหมาะสม ทั้งในด้านสมรรถนะการ
ขับขี่ การเกาะถนน การเข้าโค้ง ต้องอยู่ในระดับต้นๆของกลุ่มตลาด
เป็นรถยนต์ Standard ในการทดลอง ชนิดที่ว่า อาจต้องสละรถยนต์
กัน 1 คัน ให้เป็นรถยนต์ที่ใช้ทดลอง หรือทดสอบยางกันอย่างเดียว

จะหารถยนต์คันนั้นจากไหน? ถ้าให้ซื้อมาเลย ต่อให้เป็นรถมือสอง
งบประมาณที่เว็บไซต์เล็กๆแห่งนี้ มีอยู่ มันก็ไม่พอหรอกครับ หรือ
ถ้าจะไปติดต่อขอยืม จากค่ายรถยนต์ จะมีใครเขายอมปล่อยรถมา
ให้เรายืมไปเปลี่ยนยางแบบนี้กันบ้างละ?

ยางรถยนต์ที่จะนำมาทดลองนั้น ก็ต้องมีขนาด เท่ากันกับยางที่ติดตั้ง
มาพร้อมกับรถยนต์ จากโรงงาน ลมยางก็ต้องเท่ากัน

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ แล้วเราจะใช้มาตรฐานอะไรมาวัดกันละ?
จะวัดออกมาว่า ค่าการรีดน้ำ ต้องแตกกระเซ็นออกมากี่เซ็นติเมตร
หรือค่าการเข้าโค้งต้องทำแรง G-Lateral Force ถึง 1G ไหม?
วัดระยะเบรก จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจุดหยุดนิ่ง เราจะใช้
ถนนเส้นไหน เป็นสถานที่ทดลอง ค่าความเสียดทานเท่าไหร่
จะต้องทดสอบในเวลากลางวัน หรือกลางคืน ฯลฯ

ข้อจำกัดมันวุ่นวายมาก จนผมตัดสินใจ เลิกคิดเรื่องนี้ไปนานเป็นปี
จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณแมน ติดต่อมา…

ผมเจอ แมน ครั้งแรก สมัยยังทำเพลงอยู่กับกลุ่ม Monotone Group
ช่วงแรกที่เราเริ่มโปรโมทอัลบั้มกัน ตอนต้นปี 2002 (12 ปีมาแล้ว!)
เราเดินทางไปแสดงสด กันที่ MUIC หรือ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาค
International ที่ศาลายา ในตอนนั้น แมน และกลุ่มเพื่อนๆ ที่นั่น
ก็เพิ่งออก อัลบั้มเพลง ทำกันเองมาชุดหนึ่ง พวกเรารู้จักกันที่นั่น

และในอีกหลายปีต่อมา แมน ก็เข้ามาทำงาน อยู่ในฝ่ายการตลาดของ
GoodYear

แมน เป็นหนึ่งในผู้ที่เพียรพยายามติดต่อให้ผม มาทำรีวิวยางรถยนต์ พยาม
เสนอรูปแบบการทดลองต่างๆนาๆ มาให้ ถึงขั้นว่าจะขอลงบทความโฆษณา
Advertorial กันเลย

แน่นอนครับ ผมปฏิเสธไป เพราะ Headlightmag.com ของเรามีนโยบาย
ไม่รับ การลงโฆษณาแบบ Advertorial หรือ บทความเชิงโฆษณา เด็ดขาด
เพราะนั่นจะทำให้ความเชื่อถือของคุณผู้อ่านที่มีต่อเรา เหือดแห้งหายไปใน
ทันที และมองภาพเรากลายเป็น สื่อทั่วๆไปที่หิวกระหายเงิน

แมน เป็นหนึ่งในคนที่เข้าใจจุดยืนนี้ของผมมาโดยตลอด เราก็เลยยังคบหาใน
สถานะเพื่อนกันได้ แต่ในเรื่องการรีวิวยาง ก็ยังค้างเติ่งมาเรื่อยๆ

จนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา…เจ้าตัวอยากหาทางให้ผมได้ลองยางรุ่น
Eagle F1 Directional 5 ถึงขั้น พยายามประสานงานกันทุกทาง

ในที่สุด เราได้รับความอนุเคราะห์ จาก Ford Sales (Thailand) ให้ยืม
Ford Focus Hatchback 5 ประตู 2.0 GDi สีน้ำเงินที่เห็นอยู่นี้มา 1 คัน
ทาง Goodyear จึงจับเปลี่ยนยางรุ่น Directional 5 ใหม่ๆ 4 เส้น สวม
เข้าไป แล้วนำมาส่งมอบให้ผมได้ลองใช้งานกันฟรีๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์
จนถึง สิ้นเดือน เมษายน เป็นเวลาราวๆ 3 สัปดาห์เต็มๆ ถือเป็นรถยนต์ทดสอบ
ที่ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันยาวนานที่สุดเท่าที่เคยทำมา

นั่นจึงเป็นที่มาของ บทความรีวิวยาง ครั้งแรก ของ Headlightmag.com
ในรูปแบบของการนำรถยนต์กลับมาทดลองด้วยตนเอง มิใช่การไปร่วมทริป
ทดลองขับ ของผู้ผลิตยาง ในวันเปิดตัว นอกสถานที่ แต่อย่างใด

เพียงแต่ว่า ถ้าคาดหวังจะเห็นการทดสอบยางแบบเต็มพิกัด อุดมไปด้วย
ตัวเลขและเครื่องมือบ้าบออะไรไม่รู้ คงต้องบอกว่า อย่าเพิ่งครับ ใจเย็นๆ
อย่าเพิ่งเพ้เเจ้อเร่อ มโนไปไกลขนาดนั้น บทความรีวิวยางของผมในช่วง
แรกเริ่มต้นนี้ คงจะเน้นสัมผัสจากประสบการณ์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่า อาจ
ตรง หรือไม่ตรงกับสิ่งที่คุณผู้อ่านเจอมา จากยางรุ่นเดียวกันก็เป็นไปได้
ทั้งสิ้น “เข้าใจตรงกันนะ”

ในเมื่อคุณกำลังอ่านบทความรีวิวยางรถยนต์ เราก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการ
ทำความรู้จักกับยางรถยนต์รุ่นนี้ซักหน่อย เสียก่อน

Goodyear Eagle F1 Directional 5 เป็นยางรถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้น
เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า ผู้ชายวัย 25 – 35 ปี ที่ใช้รถยนต์ญี่ปุ่น หรือรถยุโรป
รุ่นเก่าๆ ซึ่งมีสมรรถนะในระดับปานกลาง หรือกลุ่มรถยนต์นั่ง C-Segment
2.0 ลิตร ลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ว่าจะชอบขับรถในแบบเดิมๆ หรือตกแต่งเพิ่มเติม
โมดิฟาย สาแก่ใจ พวกเขาเหล่านี้ย่อมต้องการยางรถยนต์ที่รองรับได้ทั้ง
วันเบาๆ และวันมามาก

เปล่า ผมไม่ได้หมายถึงผ้าอนามัย แต่หมายถึงอารมณ์เจ้าของรถที่ต้องการ
ยางซึ่งให้ความสบายในการขับขี่ในเมือง แต่ต้องเกาะหนึบเอาเรื่อง เมื่อ
สาดโค้งเล่นบนทางด่วน และต้องการความมั่นใจขณะลัดเลาะไปตามทาง
คนเคี้ยว บนทิวเขาแถวภาคเหนือ และในบางครั้งก็อยากฝากบทเรียนให้
กับพวกชอบขับรถจี้ตูด ด้วยการมุดหนีด้วยความเร็วสูงๆ ยางจะต้องรองรับ
ทั้งการบิดตัวอย่างฉับพลัน ไปพร้อมๆกับการหมุนด้วยรอบจัดๆได้อย่าง
มั่นใจ และคนกลุ่มนี้ยังคาดหวังความเงียบในการขับขี่ (แม้พวกเขาจะ
ลืมไปว่ายางที่ตอบโจทย์ของพวกเข้าทั้งหมดข้างบนนั้น มันถูกเรียกว่า
“ยางแนวสปอร์ต” ซึ่งมักจะ “ได้อย่างเสียอย่าง” คือ ได้ความหนึบแน่น
แต่ต้องทนฟังเสียงโหยหวนบ้างในบางครั้ง ก็ตาม)

วิศวกรของ Goodyear ได้พยายามผสมผสานความต้องการอันแสนจะ
เรื่องมากของผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยี Sport Grip ด้วยการผสมผสาน
วัสดุโพลิเมอร์กับสารประกอบชนิดเดียวที่ใช้กับในยางรถแข่ง ร่วมกับการ
ออกแบบลายดอกยางส่วนกลางให้หนาขึ้น เป็นรูปต้นไม้แตกกิ่งก้าน ขนาบ
ด้านข้างด้วยแถบดอกยางแบบเส้นตรง ช่วยลดการเสียรูปทรงและช่วยเพิ่ม
การยึดเกาะถนนในขณะเข้าโค้ง นอกจากนี้การออกแบบไหล่ยาง แบบปิด
ทำให้ลายดอกยางมีความลึกเพิ่มขึ้น ช่วยลดแรงต้านกับผิวถนน และส่งผล
ไปถึงเสียงรบกวนที่ลดลง

สิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์คาดหวังจากการเปลี่ยนยางแต่ละครั้ง มันมีอยู่เพียง
แค่ 5 ประการด้วยกัน นั่นคือ การเกาะถนน การเข้าโค้ง การรีดน้ำ
ความเงียบ หรือเสียงยางขณะบดกับถนน และราคา

เมื่อต้องนำมาจัดแบ่งหัวข้อกันให้ชัดเจนขึ้น เราสามารถแยกออกมาได้
รวมแล้วเพียง 3 หัวข้อ นั้นคือ สมรรถนะบนพื้นแห้ง สมรรถนะบนพื้น
เปียกลื่น และการเก็บเสียง

สมรรถนะบนพื้นแห้ง และการเข้าโค้ง :

ในช่วงความเร็วต่ำขณะขับขี่ในเมือง หากสูบลมไว้ประมาณ 32 – 34
ปอนด์/ตารางนิ้ว ยางจะแข็งแต่ยังพอมีความยืดหยุ่นให้ได้สัมผัสกัน
อยู่บ้าง ขณะขับผ่านเนินลูกระนาดหรือรอยต่อพืนปูนซีเมนต์ตาม
ตรอกซอกซอย แต่ถ้าเจอหลุมฝาท่อ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้รถอะไร
ในตอนนั้น แต่สำหรับ Focus 2.0 คันนี้ พาลงหลุมและขึ้นจากหลุม
ด้วยสัมผัสที่พอจะรู้ว่าแก้มยางหลงเหลือการ Supportไว้นิดนึง และ
ลดอาการตึงตังได้กระจึ๋งนึง

แต่ถ้าเป็นช่วงความเร็วสูงถึงระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยางรุ่นนี้ให้
ความมั่นใจได้ ในการยึดเกาะถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะขับผ่าน
รอยต่อ บนพื้นผิวทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งผมมักเจอ อาการแฉลบจากยาง
รถยนต์ห่วยๆ บางรุ่นอยู่เรื่อยๆ เอาเข้าจริง มันนิ่ง แน่น และหนึบจน
ผมกล้าปล่อยมือจากพวงมาลัยของ Focus 2.0 GDi คันนี้ ณ ความเร็ว
ระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้นานถึง 10 วินาที!

แต่ข้อดีที่เด่นเด้งจนฝังหัวผมไปแล้วอยู่ที่การยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง
ผมสามารถพา Focus 2.0 GDI เข้าและออกจากทางโค้งขวารูปเคียว 
เหนือมักกะสันได้สูงถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งที่รถรุ่นเดียวกัน แต่
ใส่ยางติดรุรถจากโรงงาน (Michelin Primacy LC) ทำได้ราวๆ 100
ถึง 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง นากจากนี้ผมยังพารถคันสีน้ำเงินนี้ พุ่งเข้าและ
ออกจากโค้งต่างๆ ของระบบทางด่วนในกรุงเทพยามค่ำคืน และทางโค้ง
ขวา รูปเคียว ที่เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งทางโค้งขวาจากสนามบิน
แห่งดียวกัน ลงสู่ ถนนบางนา – ตราด ด้วยความเร็วสูงถึง 105 และ 115
กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามลำดับ โดยตัวรถไม่มีอากัปกริยาดีดดิ้นใดๆทั้งสิ้น

สมรรถนะบนพื้นเปียกลื่น :

โชคไม่ดี ที่ผมไม่ค่อยมีโอกาสเจอพื้นลื่นๆ ในระหว่างการใช้ชีวิตอยู่กับเจ้า
Focus คันนี้ จึงยังไม่มีจึงหวะได้ทดลองการควบคุมบนพื้นถนนลื่นๆ อย่าง
จริงจังนก บอกได้แพียงว่า ถ้าต้องเจอแอ่งน้ำบนถนน และใช้ความเร็วอยู่
แถวๆ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง สิ่งที่คุณต้องทำ ก็แค่ถือพวงมาลัยตรงๆนิ่งๆไว้
ยางก็จะรีดน้ำออกทางด้านข้างไปตามปกติที่มันควรจะเป็น

เสียงรบกวน :

คงต้องทำใจกันไว้ล่วงหน้า เพราะธรรมชาติของยางแนว Sport คือต้องออกแบบ
ให้ดอกยาง เน้นการยึดเกาะถนนมากเป็นพิเศษ ดังนั้น คุณสมบัติในการลดเสียง
ขณะที่ล้อถูกบดไปกับพื้นถนน จะทำได้ไม่ดีเท่ากับยางในแนว Comfort

ต้องยอมรับว่า ในช่วงความเร็วเดินทาง ราวๆ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ทั้งบน
ทางด่วน บนพื้นผิวยางมะตอย หรือจะเป็นพื้นผิวแบบปูนซีเมนต์ ยังพอมีเสียง
ดังขึ้นมาจากยาง ให้ได้ยินดังอยู่ แม้จะน้อยลงกว่า ยางแบบ Sport ในช่วงราวๆ
10 ปีที่ผ่านมา หลายๆรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีเสียงดังอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับ
ยางติดรถของ Focus จากโรงงานในเมืองไทย อย่าง Michelin Premacy LC
แล้ว Eagle F1 Directional 5 ก็ยังดังกว่าอยู่สักหน่อย

แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือ บนพื้นผิวแห้ง ยางมะตอย ต่อให้คุณพารถสาดเข้าโค้ง
ด้วยความเร็วสูงราวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นิ่งๆ Eagle F1 Directional 5 กลับ
ไม่มีเสียงร้องเอี๊ยดอ๊าด หลุดมาให้ได้ยินเลยสักแอะ! จนกว่าคุณจะเริ่มเข้าโค้ง
ด้วยความเร็วที่สูงเกินลีมิทที่กฎทางฟิสิกส์จะอนุโลมไหวนั่นแหละ ยางจึงจะ
เริ่มมีเสียงร้อง “อี๊ดๆ” มาให้ได้ยินนิดๆหน่อย พอให้รู้ว่า “พี่เริ่มโหดเกินเหตุ
ไปแล้วนะพี่ ผมพยายามยึดเกาะอยู่ นี่เริ่มจะมากไปแล้วนะ”

ต่อให้ออกตัวบนพื้นยางมะตอยแห้งๆ แต่มันแผล็บ เสียงที่คุณจะพอได้ยินนั้น
มีแค่ “อี๊ด!” นิดเดียวเท่านั้น โอกาสจะออกตัวล้อฟรีทิ้งค่อนข้างยากอยู่

********** สรุป **********
ยางกึ่งสปอร์ต ดีครบทุกเรื่อง ถ้าคุณไม่ขี้รำคาญเรื่องเสียง

3 สัปดาห์ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับรถยนต์นั่ง C-Segment ที่ถูกออกแบบให้มี
พวงมาลัยและช่วงล่างตอบสนองดีที่สุดในตลาดเมืองไทย สวมยางกึ่งสปอร์ต
ที่มีประสิทธิภาพดีเหมาะสมกับตัวรถ มันทำให้การขับขี่ในชีวิตประจำวัน
ของผมช่วงตั้งแต่สงกรานต์จนถึงวันนี้ วันที่ต้องส่งคืนรถให้กับทาง Ford
และ Goodyear เต็มไปด้วยคความมั่นใจในการแท็กทีมทำงานร่วมกัน
ระหว่างรถกับยาง

แม้ว่าอาการเกียร์กระตุกและคลัทช์ลื่น จากสภาพของตัวรถ ซึ่งแอบโทรม
ฝังในจะชวนให้หงุดหงิดใจแทบทุกครั้งที่ต้องพุ่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง
หรือจะเป็นการเร่งแซงเพื่อให้พ้นภาวะคับขัน แต่นั้นก็เป็นปัญหาอันเกิด
จากตัวรถและไม่ได้เกี่ยวข้องกับยางแต่อย่างใด

ถ้าจะให้สรุปข้อดีและข้องเสียของ Eagle F1 Directional 5 อย่างสั้นๆ
ก้คงจะมีเพืองแค่ไม่กีบรรทัดข้างล่างนี้

ข้อดี : พาคุณเข้าโค้งได้อย่างหนึบแน่น เนียน และมั่นใจได้อย่างดีมากๆ
จนควรจะเรียกว่า อยู่ในระดับดีเยี่ยม เกาะโค้งได้อย่างสบายๆ ไม่ว่าคุณ
จะใช้ความเร็วในโค้งแบบยาวๆ สูงถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือโค้ง
รูปตัว S บนทางด่วน ด้วยความเร็วสูงราวๆ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า
ช่วยผลักดันศักยภาพของตัวรถให้พาคุณเข้าและออกจากทางโค้งได้
ด้วยความเร็วที่สูงกว่ายางติดรถเดิมจากโรงงานอย่างชัดเจน

ข้อด้อย : ยังพอมีเสียงดังขึ้นมาให้ได้ยินกันอยู่บ้าง แม้จะเบากว่าบรรดา
ยางสปอร์ตรุ่นเก่าๆ ที่ผมเคยเจอมาในช่วง 10 ปีมานี้ แต่มันก็ยังคงพอจะ
มีเสียงยางบดถนนเล็ดรอดขึ้นมาให้คุณได้ยิน

ขนาดที่มีให้เลือก

     ขนาด      ดัชนีความเร็ว
215/40R17     83W
225/40R18     92Y
235/40R18     95W
245/40R17     91W
245/40R18     93Y
205/45R16     83W
205/45R17     84W
215/45R17     91W
215/45R18     89W
225/45R17     94W
225/45R18     91W
235/45R17     94W
235/45R18     98W
245/45R17     95Y
245/45R18     100W
275/45R20     110Y
195/50R15     82W
205/50R16     87W
205/50R17     93W
215/50R17     91W
225/50R16     92W
225/50R17     98W
195/55R15     85W
205/55R16     91W
225/55R16     95W
225/55R17     101W

ในฐานะคนที่รักการขับรถเป็นชีวิตจิตใจ Goodyear Eagle F1 Directional 5
เป็นยางรถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่ทำให้ผมยิ้มออกเพราะนานทีปีหน ไม่บ่อยครั้งนัก
ที่ผมจะได้เจอ ยางรถยนต์ที่ให้การยึดเกาะขณะเข้าโค้งได้ดีไม่น้อยหน้า
ยาง Pirelli หรือ Continental รุ่นแพงๆ แต่มีราคาที่ไม่โหดจนกระเป๋าฉีก
เหมือน 2 ยี่ห้อดังกล่าว เพียงแต่ว่าอาจต้องยอมรับกับเรื่องเสียงรบกวนที่ยัง
หลงเหลืออยู่บ้าง

แหงสิ จ่ายแค่นี้ ได้คืนมาประมาณนี้ ก็ดีถมถืดแล้ว

————————–///————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
บริษัท Ford Sales (Thailand) จำกัด
บริษัท GoodYear (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ Goodyear
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
2 พฤษภาคม 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures Except some studio shot from Goodyear
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 2nd,2014

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!