นับวันพื้นที่ยืนแบรนด์ Daihatsu ในตลาดโลกเริ่มลดน้อยถอยลงเข้าไปทุกวัน หลังจากตัดสินใจปิดกิจการในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2005 ด้วยเหตุผลด้านยอดขายที่ต่ำมากและตลาดออสเตรเลียยังไม่ตอบรับรถขนาดเล็กมากนัก

สาเหตุส่วนหนึ่ง เราพอเข้าใจได้ว่า Toyota คงไม่ต้องการให้แบรนด์ Daihatsu แข็งแกร่งในตลาดโลกเท่าไรนัก Toyota ไม่จำเป็นต้องพึ่งประโยชน์ชื่อเสียงจาก Daihatsu ในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เพียงแค่ Toyota ให้ทีมวิศวกร Daihatsu ร่วมพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็กร่วมกันก็น่าจะหล่อเลี้ยงจนมีกำไรนอกเหนือจากตลาดญี่ปุ่น

 

 

แม้มีเหตุผลหลายประการที่จะต้องทำให้แบรนด์ Daihatsu ปิดตัวลงหลาย ๆ ประเทศแต่ก็คงไม่ร้ายแรงเท่ากับการตัดสินใจของ Toyota ที่ต้องการยุติบทบาทแบรนด์ Daihatsu ลงในตลาดยุโรปภายใน 2 ปีข้างหรือปี 2013  !!

ไพ่ตายสุดท้ายที่ทำให้ Toyota ถึงขั้นตัดหางปล่อยวัด Daihatsu ในตลาดยุโรปดื้อ ๆ ก็เพราะ Toyota ทนรับความผันผวนระหว่างค่าเงินเยนและค่าเงินยูโร/ปอนด์/ดอลลาร์ไม่ไหวแล้ว รถ Daihatsu แทบทุกรุ่นที่ขายในตลาดยุโรปล้วนนำเข้ามาจากฐานการผลิตประเทศญี่ปุ่นแทบจนมีผลกระทบต่อกำไรทั้งนั้น

เมื่อพิจารณาจากยอดขาย Daihatsu 10 ประเทศประจำปี 2010 ก็พบว่ามียอดขายเพียงแค่ 19,300 คัน ตกต่ำจากปี 2007 ที่ทำยอดขายได้ถึง 58,600 คัน ก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจครั้งนี้

แล้วยิ่งพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ยูโร ณ ปัจจุบันมีค่าแค่เพียง  110 เยน ถือว่าค่าเงินแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 9 ปีนี้ ไม่ต้องเปรียบเทียบอื่นไกล แค่นำไปเทียบกับปี 2008 เงิน 1 ยูโรก็ยังมีค่ามากถึง 170 เยน ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานไอเสียอันเข้มงวดในยุโรปก็ทำให้รถยนต์ทุกค่ายยิ่งต้องเพิ่มต้นทุนพัฒนารถยนต์ให้มีไอเสียสะอาดเข้ากฏเกณฑ์สูงขึ้น แต่ Daihatsu มิได้พัฒนารถยนต์สำหรับตลาดยุโรปเลย เพราะ Daihatsu จำเป็นต้องตอบโจทย์ตลาดญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก หากยิ่งพัฒนารถให้มีไอเสียมากขึ้น ต้นทุนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แต่กำไรจะยิ่งหดตัวลงตามการแลกเปลี่ยนและต้นทุนที่สูงขึ้น

ผลกระทบค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น กลายเป็นจุดพลิกผันของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง เสมือนเป็นเกมที่ทำให้ต้องเร่งปรับตัวกับการแข่งขันและท้าท้ายยิ่งกว่าเดิม