ตั้งแต่ปลายปีจนถึงปัจจุบันน่าจะเป็นเทศกาลแห่งการเรียกรถคืนเพื่อกลับมาแก้ไขจุดบกพร่องที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดอุบัติเหตุของค่ายยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายดังจากญี่ปุ่นอันได้แก่ Toyota,Honda และ Nissan กันไม่หยุดหย่อนผิดปรกติจนเสียน่าสงสัยว่ารถยุคใหม่นั้นทนกว่ารถสมัยก่อนจริงหรือ
เดือนมกราคม 2010 เป็นเดือนแห่งการเรียกรถคืนที่มากที่สุดจนต้องจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อ Toyota มียอดเรียกรถคืนสะสมกว่า 8 ล้านคันในแถบสหรัฐอเมริกา,ยุโรป และจีน เพื่อตรวจสอบสาเหตุแป้นคันเร่งค้างให้แน่ใจเสียก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ข่าวดังกล่าวได้ทำลายความมั่นใจของผู้ใช้รถ Toyota ไปเสียแล้วโดยเฉพาะลูกค้าในสหรัฐอเมริกา
ล่าสุด Honda ก็เกาะติดกระแสเรียกรถคืนในเดือนนี้ตาม Toyota เช่นกันแต่จำนวนของรุ่นรถและจำนวนรถที่เรียกกลับคืนน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับ Toyota
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2009 Honda ประกาศเสียงดังว่าจะเรียกรถยอดนิยม 2 รุ่นได้แก่ Honda Jazz และ City จำนวน 646,000 คัน รุ่นปี 2007 -2008 ที่ผลิตจำหน่ายทั่วโลกจากฐานการผลิต 6 แห่งได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น,จีน,บราซิล,อินเดีย,มาเลย์เซียรวมไปถึงประเทศไทย
ขอบเขตของการเรียกรถคืนครั้งนี้มีผลต่อตลาดเอเชีย,ตลาดยุโรป,ตลาดละตินอเมริกา,ตลาดแอฟริกาและโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาจะต้องเรียก Honda Jazz รุ่นปี 2007-2008 คืนมากถึง 1.4 แสนกว่าคัน
สาเหตุสำคัญที่ Honda จำเป็นต้องเรียกรถกลับคืนก็เพราะ Honda พบว่าหากน้ำ,ไอน้ำ หรือของเหลวไหลเข้าสู่กระจกด้านคนขับอาจกระทบต่อวงจรทำให้สวิตช์กระจกหน้าต่างทำงานไม่ได้จนก่อให้เกิดความร้อนสะสมจนท้ายที่สุดกลายเป็นเพลิงไหม้รถได้
Honda สงสัยว่าความผิดปกติดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้รถ Honda Jazz ในแถบอาฟริกาใต้เกิดเพลิงลุกไหม้คร่าชีวิต วานิลลา เนิร์ส หนูน้อยวัย 2 ขวบขณะนอนหลับอยู่ในรถเมื่อปลายปีที่แล้ว และรวมไปถึงอุบัติเหตุเพลิงไหม้ในสหรัฐอเมริกาอีก 2 ราย
การประกาศเรียกรถคืนเพื่อตรวจสอบความผิดปกติครั้งนี้ทำให้ Honda ทั่วโลกต่างพากันประกาศเรียกรถเจ้าปัญหาที่ขายในท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนส่วนกระจกหน้าต่างไฟฟ้ากันถ้วนหน้าโดยไม่รีรอแต่อย่างใด
ประเทศอินเดียนับเป็นประเทศที่มียอดขาย Honda City สูงเป็นอันดับ 2 ต่อจากประเทศไทยก็ออกมาประกาศให้ลูกค้าที่ใช้รถ Honda City เจเนเรชั่นที่สอง (โฉมที่แล้ว) ที่ผลิตล๊อตตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นไปจำนวน 8,532 คันเข้ารับการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระจกหน้าต่างไฟฟ้าเจ้าปัญหานี้ แม้ว่ายังไม่มีลูกค้าคนใดร้องเรียนก็ตาม
ส่วนรถ Honda City โฉมใหม่ล่าสุดที่เริ่มผลิตปลายปี 2008 และ Honda Jazz ที่เพิ่งผลิตกลางปี 2009 ในโรงงานประเทศอินเดียนั้นลูกค้าหมดห่วงได้แน่นอน เพราะไม่มีการใช้ชิ้นส่วนกระจกหน้าต่างไฟฟ้าเจ้าปัญหาแน่นอน
ประเทศไทยก็เป็น 1 ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการผลิต Honda Jazz และ City อย่างเป็นล่ำเป็นสันและมียอดขายสูงลำดับต้น ๆ ของตลาดโลกไม่แพ้ใครก็ไม่นิ่งนอนใจรอให้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้แต่อย่างใด จึงรีบเรียกคืนรถ Honda City ปี 2008 จำนวน 2,700 คัน
นายอดิศักดิ์ โรหิตศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ยืนยันว่า บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมประกาศเรียกรถ Honda City ปี 2008 จำนวน 2,700 คันเพื่อเข้ารับการเปลี่ยนชิ้นส่วนสวิตช์กระจกไฟฟ้าชุดใหม่ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เหตุที่ต้องรอถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก็เพราะว่าชิ้นส่วนดังกล่าวยังต้องรอรับชิ้นส่วนที่กำลังเดินทางมาถึงประเทศไทย
ส่วน Honda Jazz ในประเทศไทยไม่ได้ใช้แผงวงจรชุดเดียวกันจึงไม่จำเป็นต้องเรียกรถกลับคืนมาปรับปรุง
หากท่านผู้อ่านเป็นลูกค้า Honda City ปี 2008 ก็สามารถนำรถดังกล่าวเข้าไปตรวจเชคที่ศูนย์บริการ Honda ทั่วประเทศตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเพื่อความสบายใจในการใช้รถครับ