ข้ามปีเก่า เศรษฐกิจ มหาโหด ไม่ทันไร บริษัทยักษ์ใหญ่ ว่าที่อันดับ 1 ของโลกอย่าง Toyota เปิดเผยตัวเลขการขาดทุน หนักหนาที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา ถึงแม้ Toyota จะคาดหวังว่าปี 2010 นี้น่าจะเป็นปีแห่งวันฟ้าใหม่ ที่จะทำให้ตนเองขึ้นเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 ของโลกแทนที่ GM อย่างเป็นทางการเสียที แต่ด้วยบุญกรรมหนใดก็มิทราบ ทำให้ Toyota ต้องเผชิญวิบากกรรมด้านคุณภาพรถยนต์ ครั้งสำคัญในประวัติการณ์ ทั้ง ๆ ที่แบรนด์ Toyota มีชื่อเสียงด้านความน่าเชื่อถือของสินค้าลำดับต้น ๆ ของตลาดทั่วโลก
ช่วงปลายปี 2009 Toyota ประสบปัญหา พรมปูพื้นที่ติดตั้งจากโรงงาน อาจจะทำให้คันเร่งไม่สามารถคืนตัวกลับตำแหน่งเดิมได้ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ คันเร่งค้าง โดยที่เราไม่ได้เหยียบแป้นคันเร่งแต่อย่างใด ความเสียหายของแป้นคันเร่งค้าง มีรายงานในต่างประเทศแล้วว่า ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า 100 ครั้ง และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยสาเหตุนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ราย และมีรายหนึ่งแป้นคันเร่งค้างที่ความเร็ว 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง !! จัดว่าน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
Toyota เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงประกาศเรียกรถที่ต้องสงสัยกลับคืนเข้ารับการแก้ไขพรมปูพื้นที่เลื่อนไปติดขัดแป้นคันเร่งในช่วงปลายกันยายน 2009 จำนวนมหาศาล 4.3 ล้านคัน นับเป็นจำนวนรถเรียกกลับที่ทำลายสถิติมากที่สุดในประวัติของ Toyota โดยมีรถต้องสงสัยดังต่อไปนี้
Toyota Camry รุ่นปี 2007 – 2010
Toyota Avalon รุ่นปี 2005 – 2010
Toyota Prius รุ่นปี 2004 – 2009
Toyota Tacoma รุ่นปี 2005 – 2010
Toyota Tundra รุ่นปี 2007 – 2010
Lexus ES 350 รุ่นปี 2007 – 2010
Lexus IS 250 และ IS 350 รุ่นปี 2006 – 2010
เรื่องราวมีทีท่าว่าจะจบลงได้ด้วยดี แต่ก็ยังไม่จบลงอย่างง่าย ๆ เมื่อ Toyota ยังพบว่า ปัญหาพรมปูพื้นขัดแป้นคันเร่ง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คันเร่งค้างนั้น ยังพบกับรถยนต์ Toyota รุ่นอื่น ๆ อีกด้วย จน Toyota ต้องประกาศเรียกรถอีก 2.3 ล้านคันซี่งมีทั้งหมด 8 รุ่นในช่วงวันที่ 21 มกราคม 2010 จากนั้น Toyota จึงประกาศสั่งห้ามให้ดีลเลอร์ทั่วสหรัฐอเมริกาจำหน่ายรถรุ่นดังกล่าวในวันที่ 26 มกราคม 2010 และ Toyota ระงับการผลิตรถยนต์ทั้ง 8 รุ่นจากโรงงานในสหรัฐอเมริกาทั้ง 6 แห่ง รวมถึงโรงงานในแคนาดาอีกด้วย
รถยนต์ที่ Toyota ขอเรียกคืนเพื่อนำไปแก้ไข และระงับการขาย กับระงับการผลิตทั้ง 8 รุ่น ได้แก่
RAV4 รุ่นปี 2009-2010
Corolla รุ่นปี 2009-2010
Matrix รุ่นปี 2009-2010
Avalon รุ่นปี 2005-2010
Camry รุ่นปี 2007-2010
Highlander รุ่นปี 2010
Tundra รุ่นปี 2007-2010
Sequoia รุ่นปี 2008-2010
รถทั้ง 8 รุ่นส่วนใหญ่เป็นรถรุ่นขายดีที่มีส่วนให้ Toyota ผงาดขึ้นอันดับ 2 ในตลาดสหรัฐอเมริกาแทบทั้งนั้น หากรถเหล่านี้หยุดจำหน่ายสักระยะหนึ่งแล้วล่ะก็ คงไม่ต้องคิดไปกันไกลเลยว่า Toyota จะได้รับผลกระทบกับความผิดพลาดนี้มากมายเพียงใด
ผลจากความผิดพลาดยังส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดดำดิ่งต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน และลูกค้าที่ใช้รถยนต์ Toyota สูญเสียความเชื่อมั่นเข้าขั้นรุนแรง และนักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าปรากฏการณ์นี้จะทำให้แบรนด์ Toyota ความเชื่อมั่นและตราสินค้าระยะยาวได้
เพราะสถานการณ์ล่าสุดในสหรัฐฯ ลูกค้าที่ใช้ Toyota ทั่วเมืองลุงแซม ต่างหวาดผวากันถ้วนหน้า หนำซ้ำบริษัทรถเช่าชื่อดัง ทั่วสหรัฐอเมริกา ขอถอนรถยนต์ Toyota ออกจากรายชื่อรถเช่าเกือบทั้งหมด
ในเมื่อยักษ์อันดับ 2 สะดุดขาตนเอง ล้มดังตึงส่งผลความเชื่อมั่นในแบรนด์ Toyota อย่างหนักหน่วง ค่ายรถอเมริกัน จึงถือโอกาสนี้ถล่ม Toyota ให้สิ้นซากอย่างไร้ความปราณีชนิดที่ว่าเวลานี้ขอเอาคืนให้หนัก
เริ่มจาก GM เจ้าตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกามอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า Toyota ปัจจุบันที่คิดจะซื้อรถยนต์ในเครือ GM ด้วยการมอบสิทธิผ่อน 0% นาน 60 เดือน นอกจากนี้ GM ยังมอบเงินสด 1,000 ดอลลาร์สำหรับลูกค้าที่เช่าซื้อ และส่วนลด 1,000 ดอลลาร์สำหรับลูกค้าที่ซื้อด้วยเงินสด โปรแกรมนี้สิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้
Ford ผู้ผลิตรถยนต์ชาวมะกันอีกรายที่ถูก Toyota แซงไปต่อหน้าต่อตา ก็ขอร่วมวงศ์ไพบูลย์ ถล่ม Toyota ให้สิ้นซากด้วยแคมเปญ Trade-in สำหรับลูกค้า Toyota ที่อยากจะหันมาซื้อรถ Ford ตลอดจนลูกค้า Honda ที่จะหันมาซื้อ Ford ก็จะได้รับสิทธิ์เงิน 1,000 ดอลลาร์ แต่ Ford ออกแนวใจเด็ดกว่าเล็กน้อยเพราะ Ford ต้อนรับลูกค้าที่ขับ Toyota และ Honda ตั้งแต่รุ่นปี 1995 – 2005
คงจะขาดเพียงแต่แบรนด์ Chrysler เท่านั้นที่ ยังนิ่งเงียบ แต่เชื่อว่าคงจะออกโปรแกรมฉกฉวยโอกาสทอง อย่างแน่นอนในเร็ว ๆ นี้
แม้คู่แข่งต่างสัญชาติ ต่างเชื้อชาติรุมสะกรัม Toyota อย่างไม่ใยดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง คู่แข่งสัญชาติเดียวกัน และเชื้อชาติเดียวกัน ต่างมีสปิริตไม่ฉกฉวยโอกาสนี้รุมโทรม Toyota เพื่อเหยียบหัวขึ้นไปมียอดขายอย่างไร้มารยาท
ทั้งค่าย Honda,Nissan และรวมไปถึงรถเชื้อชาติเดียวกันแต่ต่างสัญชาติ Hyundai ขอย้ำจุดยืนไม่ซ้ำเติมความตกต่ำของ Toyota ด้วยการฉกลูกค้าที่วิตกกังวลด้านความปลอดภัยของ Toyota มาเป็นลูกค้าของตนเองอย่างแน่นอน
โฆษกค่าย Honda ยืนยันว่า Honda จะไม่ทำกิจกรรมการตลาดเพื่อแย่งยอดขายจาก Toyota เป็นอันขาด ส่วนโฆษกค่าย Nissan ก็ขอประกาศว่าบริษัทจะยังไม่ทำตลาดในช่วงที่ Toyota เกิดวิกฤต และ Hyundai ก็ขอย้ำจุดยืนของตนเองว่า Hyundai ยังยึดราคาขายคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพและคุณค่าของรถ
นี่คือการแสดงน้ำใจนักกีฬาอย่างที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน และจะว่าไป ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะนี่เป็นบุคลิกการดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันเองอยู่แล้ว แม้เกมการตลาดจะรุนแรงแทบจะเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง แต่ในเมื่อผู้เล่นรายหนึ่งบาดเจ็บก็คงทดเวลาต่อให้คู่แข่งพอมีแรงบ้างมิใช่เหยียบให้จมดิน ก็น่าคิดนะครับ เพราะหากคู่แข่งเชื้อชาติเอเชียร่วมรุมสกรัม Toyota ไม่ยั้ง ก็ยิ่งจะทำให้ Toyota บาดเจ็บได้มาก และหาก Toyota ฟื้นและมีโอกาสจู่โจมไม่คิดชีวิตเมื่อนั้นความพินาศน่าจะบังเกิด
ใช่ว่าวิกฤติการครั้งนี้จะมีผลเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อตลาดยุโรปและจีนอีกด้วย เมื่อ Toyota เพิ่งประกาศเรียกรถรุ่น Rav4 ในประเทศจีนกลับคืนตรวจสอบถึง 75,552 คันด้วยอาการคันเร่งค้าง เช่นเดียวกับตลาดยุโรปที่ต้องเรียกรถคืนมากถึง 2.3 ล้านคันที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2005
วิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญของ Toyota ที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ผู้ที่ต้องรับมือกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาอีกจะต้องเป็นคุณ Akio Toyoda ที่รับบทหนักอึ้งมาตั้งแต่รับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์นี้เราคงอยากจะถามคำถามหนึ่งกับ Toyota ว่า Toyota Way นั้นดีจริงสำหรับการอยู่รอดในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกแล้วหรือ?