สมัยยังเด็ก ยุคที่ยังพอจะตามข่าวคราวในแวดวง Motorsports อยู่เนืองๆนั้น ผมยังจำได้เสมอว่า โลกนี้ เคยมีการแข่งรถรายการทางฝุ่นที่ใหญ่สุด ผู้เข้าร่วมเยอะสุด และมีจำนวนนักแข่งเสียชีวิตในงาน มากสุดในโลกอย่าง Paris Dakar ซึ่งจะต้องขับรถข้ามผ่านทะเลทราย Sahara อันโหดร้ายทั้งในด้านสภาพอากาศ และภูมิประเทศ

สมัยนั้น จำได้ว่า Mitsubishi Motors มักจะส่ง SUV รุ่นดังของตน อย่าง Pajero เข้าชิงชัย และคว้าแชมป์ในรายการนี้ได้แทบจะทุกปี ผลที่ได้ ก็เอามาโฆษณา​ไปทั่วโลก รวมทั้งในไทย อย่างสนุกสนาน

มาถึงวันนี้ โลกก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปไกลมาก Mitsubishi Motors ก็ถูก Nissan ซื้อหุ้นไปรวมกิจการกันกับตนเองและ Renault ฝรั่งเศส ล่าสุด ลุง Carlos Ghosn ก็โดนคนหมั่นไส้ แจ้งทางการญี่ปุ่น​ จับกุมข้อหา แจ้งเงินเดือนเท็จต่อทางการมาหลายปีเข้าให้เสียอย่างนั้น

บริษัทนี้ การเมืองในองค์กร แรงชิบหาย!! แม้แต่ CEO ยังโดนเล่นงาน!!… เฮ้อ….!

ส่วนผมเองก็ได้มีโอกาสมาทำงานในฐานะสื่อมวลชนสายรถยนต์ ครบ 20 ปีพอดี ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ไปลองขับรถมาก็หลายประเทศ หลายสนามแข่งชื่อดังๆ แม้แต่ลานน้ำแข็งอันขึ้นชื่อว่าลื่นสะบัดช่อ ก็ผ่านมือผ่านเท้ามาแล้ว

แต่… ยังมีอีกที่หนึ่ง ซึ่งผมยังไม่เคยลองมาก่อนในชีวิต… นั่นคือ การขับรถในทะเลทราย!

Nissan Motor แผนก LCV (Light Commercial​ Vehicles) ร่วมกับ Nissan Europe เขาก็เลยประสานงานกับ Nissan Motor​(Thailand) เชิญชวนผม และสื่อมวลชนไทยอีก 4 คน รวมกับ ตาโป่ง ชยภัค ลายสุวรรณ (อดีต PR ที่ Ford แต่ย้ายไปอยู่ MG, BMW แล้วก็วกมาทำงานในฐานะ PR อีกครั้งที่ Nissan)​ เป็น 5 คน มาร่วมกิจกรรมทดลองขับรถยนต์ SUV และรถกระบะ 4 รุ่นลัก สำหรับบุกตลาดทั่วโลก ในทะเลทราย Sahara ที่เมือง Er-Rachidia (เออราชิเดีย)​ ประเทศ​ Morocco ซะเลย!!

 

ทริปของเรามีวิธีการเดินทางซึ่งแปลกไปจากปกติสักหน่อย ทุกอย่างเริ่มต้นจาก สนามบิน สุวรรณภูมิ​ โดยเครื่องบิน Boeing 777-300 ER ของสายการบิน Swiss Air เที่ยวบิน LX181 ใช้เวลา 12.05 ชั่วโมง มาเปลี่ยนเป็นเครื่องบิน Bombardier ของ Swiss Air เที่ยวบิน LX2030 ณ สนามบิน Zurich ใช้เวลาอีก 2.20 ชั่วโมง มุ่งหน้าต่อมาถึง Madrid ประเทศ สเปน ตอนเที่ยงคืน ตามเวลาท้องถิ่น​ เพื่อพักผ่อน 1 วันเต็ม ที่โรงแรม Vincci​ Hotele Soho และรอคอยบรรดาสื่อมวลชนจาก Australia (ซึ่งในทริปนี้ สื่อฯจากประเทศนี้กวนผมไว้เยอะมาก)​,Dubai,Indonesia. Morocco, Philippines, Lebanon จะตามมาสมทบ และร่วมพบปะกันตอนมื้อค่ำ ที่ภัตตาคารใกล้โรงแรมชื่อ Zahara Osborne

เช้าวันรุ่งขึ้น​ 17 พฤศจิกายน​ 2018 เราก็ออกเดินทางมายังสนามบิน Madrid ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่มีคิวแน่นขนัด ปริมาณเจ้าหน้าที่ ตม.ไม่พอ ถึงขั้นต้องให้ รปภ.มาช่วยประทับตราขาออกนอกประเทศให้!! ใครที่เคยก่นด่ากองตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินสุวรรณภูมิ​ อยากบอกว่า ไม่ใช่แค่บ้านเราที่เลวร้าย แต่ที่ Madrid และสนามบินในยุโรปกับแอฟริกาใต้หลายๆแห่ง ก็เลวร้ายไม่แพ้กันเท่าไหร่ โดยเฉพาะในวันที่คลาคล่ำไปด้วยผู้โดยสารที่กำลังจะตกเที่ยวบิน

เราเร่งเดินอย่างกระหืดกระหอบ ขึ้นเครื่องบิน Canadair CRJ-200 เช่าเหมาลำ Charter Flight YW 5132 ของสายการบิน Air-Nostrum ในเครือของ Iberia Airline ใช้เวลาบิน 2 ชั่วโมง เราก็มาถึง สนามบิน Er-Rachidia Mulay Ali Cherif ซึ่งเคยเป็นสนามบินทางทหารเก่า แต่ทุกวันนี้ เปิดรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์

เมื่อเราเดินทางมาถึง Morocco เข้าห้องพักรับรองเพื่อรับฟังบรีฟเบื้องต้น ออกมารับกระเป๋า ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองอันแสนจะยืดยาดอืดอาดราวกับจะรอให้รากงอก จะดู Passport ทุกหน้า หาพระแสงของ้าวอันใดก็ไม่รู้ (ดูแม้กระทั่งหน้าเปล่าๆ ที่ไม่มีตราสแตมป์! แช่อย่างนั้นราวๆ 10 วินาที เพื่อ!!? จะส่องหาหวย?)​ และ X-ray กระเป๋าตามมาตรการรักษาความปลอดภัย​มาตรฐานแล้ว รถยนต์ ทั้ง 4 รุ่น ก็จอดรอเราอยู่ข้างนอกสนามบิน

รถยนต์ที่ Nissan จัดให้เราได้ลองขับกันในทริปนี้ มีทั้งรถกระบะ Navara N-Guard (European Version) กับ SUV/PPV รุ่น Terra (Philippines version) รวมทั้งรถกระบะ Full Size Truck รุ่น Titan V8 Pro 4X สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ และ SUV สุดหรู อย่าง Patrol V8 ที่เน้นทำตลาดตะวันออกกลางเป็นหลัก สิ่งที่เราต้องทำ มีแค่เพียงเลือกรถคันไหนก็ได้ที่อยากลอง จากนั้น ขับออกจากสนามบิน ผ่านตัวเมืองเล็กๆ เข้าเส้นทาง Off Road กันก่อน เพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงแรมที่พัก ใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมง (พี่เค้าพาอ้อมโลก)

 

ผมเดินขึ้น Nissan Patrol V8 ก่อนเลยหมายมั่นปั้นมือจากประเทศไทยมาแล้วว่า นี่คือ 1 ใน 2 รุ่นรถยนต์ Nissan ที่อยากลองมากที่สุดในทริปนี้ แต่ไม่ต้องห่วง ทีมงานเขาจะมีจุดแวะพักให้เราคอยสลับเปลี่ยนคนขับ หรือเปลี่ยนรถ ตลอดเส้นทางนั่นแหละครับ

Morocco เป็นประเทศที่วางกฎจราจรให้ ขับรถด้วยพวงมาลัยซ้าย ขับชิดขวา แถมเลนถนนสวนกันในเขตนอกเมือง ค่อนข้างแคบ ส่วนในตัวเมืองก็จะเต็มไปด้วยผู้คน สิงสาราสัตว์ ที่ลงมาเดินกันบนถนนเลยละ ดังนั้น ก็ต้องปรับสภาพความเคยชินกันสักพัก ความเร็วบนถนนหลวง ตามป้ายมีตั้งแต่ 60 80 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีกล้องจับความเร็วบ้าง ในเขตชานเมือง หลังจากเข้าเขตทะเลทรายแล้ว อยากจะกดเท่าไหร่ก็กด อยากจะเหยียบเท่าไหร่เหยียบไปเลย ตราบเท่าที่ถนนแบบสวนกันสองเลน มันโล่งพอ

ขับไปก็ลุ้นไปว่า นักข่าว Indonesia คันข้างหน้าเรา มันจะเอา Navara ไปลง ข้างทางหรือไม่ เพราะมาทราบภายหลังว่าเป็นสื่อมวลชนสายธุรกิจ ซึ่งไม่ค่อยมีประสบการณ์​ในการขับรถต่างแดนมาก่อน ผมออกจะแปลกใจเอาเรื่อง ว่า ไม่ชินกับรถพวงมาลัยซ้ายในบ้านตัวเองหรืออย่างไร

บัดดี้และผู้โดยสาร วันแรก เป็น พี่จั้ม จาก Grand Prix และ Chris หนุ่มลูกครึ่งฝรั่งเศส กับญี่ปุ่น นักออกแบบจาก Nissan Design Studio ใน London มาร่วมเดินทางกับเราด้วย คริสทำงานให้ Nissan มาตั้งแต่ราวๆปี 2002 เคยมีส่วนร่วมในงานออกแบบรถยนต์สารพัดรุ่น รวมทั้ง Altima หรือ Teana L33 ด้วย ปัจจุบัน เขามารับงานออกแบบรถยนต์เพื่อการพาณิชย์​สำหรับตลาดฝั่งยุโรป

ตลอด 2 ชั่วโมงแรก ทีม Instructor ของผู้จัดงาน พาเราขับรถผ่าน เมือง Er-Rachidia ซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่ ปลูกสร้างทั้งจากดิน และปูนฉาบสมัยใหม่ มีร้านขายของชำ ซึ่งต้องมีถังก๊าซ ขนาดประมาณ ถังปิคนิค วางขายซ้อนกันเรียงรายอยู่ ที่นี่นิยมใช้ถังขนาดเล็ก เพื่อความสะดวกในการขนส่ง หรือแบกกลับบ้านเอง

รถยนต์ที่ประชาชนชาว Morocco ใช้งานกัน ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองจากฝรั่งเศส! คิดถึงรุ่นใด มองไปตามท้องถนนได้เลย มีให้เห็นครบ ตั้งแต่ Peugeot, Citroen, Renault จากยุค 80’s และ 90’s รวมไปถึงรถยุโรปอย่าง Volkswagen, Fiat, Ford (Europe พวก Escort, Focus) และที่เห็นเยอะไม่เบาเลยคือ Dacia แบรนด์ในเครือ Renault Nissan Mitsubishi นั่นเอง

ส่วนรถญี่ปุ่น ที่เห็นเยอะมาก แน่นอนครับ บรรดาสิงห์ทะเลทราย ทั้ง Toyota Land Cruiser (ซึ่งมักจะเป็นรุ่น Prado เพราะตัว VX Limited นั้น แพงโคตรๆ ต้องรวยจริงถึงจะซื้อได้) ไปจนถึง Mitsubshi Pajero ทั้งรุ่นเก่า และ Pajero Sport มีครบทั้งเก่าและใหม่ ส่วน Nissan ที่เห็นวิ่งเยอะหน่อย มักเป็นรถตู้ NV200 Evalia ที่พัฒนามาจาก Nissan Vannette ในยุคโบราณ นอกนั้น ก็เป็นรถกระบะ ซึ่งมี Toyota Nissan Mitsubishi Isuzu เป็นหลัก ส่วนรถยนต์ Premium จากยุโรปนั้น Mercedes-Benz พอเห็นอยู่ประราย BMW เห็นแค่ 2 คัน และจู่ๆ ก็มี Audi TT โผล่มาจากไหนไม่รู้ อีก 1 คัน ป้ายทะเบียนท้องถิ่นซะด้วย แบรนด์อื่นนอกนั้น ไม่เห็นเลยแม้แต่เงา!

ส่วนปั้มน้ำมันเท่าที่เราขับรถผ่านเจอ มีทั้ง Shell, Ziz, Afriquia , Esso, Reddington Morocco, OiLibya, Winxo แม้กระทั่ง TOTAL ของฝรั่งเศส ยังมาตั้งปั้มน้ำมันที่นี่ด้วย ราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน (Gasoline) และ Diesel อยู่ที่ราวๆ 10 Dirham Morocco + เศษนิดๆ หรือประมาณ 30 – 31 บาทไทย (อัตราแลกเเปลี่ยนเงินตรา 1 Dirham อ่านว่า ดีแรม เท่ากับ 3.48 บาท)

จากถนนราดยางมะตอยสวยงามเนียนกริ๊ป ในเมือง ที่เต็มไปด้วยบรรดาเด็กๆ มา Hitch hiking (โบกมือขอติดรถไปด้วย) เยอะในระดับ ยั้วเยี้ย คนขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อกเลย นึกจะโผล่ก็โผล่ นึกจะขี่ช้าก็ช้ายืดยาด แซงยากเย็น อย่างกับประเทศไทย เข้าสู่เส้นทางทุระกันดารอันเป็นถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดขนาดใหญ่พอสมควร

หลังผ่านเส้นทางตามแนวเขา เราเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางเมืองเล็กๆชื่อ Ksar Tarda หน้าปากซอย มีเด็กชายหญิงยืนโบกรถอยู่ 2 คน เราไม่รู้ว่า น้องมาทำอะไรตรงนี้ บ้านน้องอยู่ไหน ที่น่าแปลกใจคือ น้องมายืนอยู่โดดๆ อย่างนี้เลย มันอันตรายมากกกก!!

ไม่ใช่แค่นั่น ระหว่างที่เราขับลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ เราเจอฝูงเด็ก ขอย้ำว่า “มากันเป็นฝูง” วิ่งพุ่งเข้าหารถในคณะเรา ถ้าคันไหนเป็นรถกระบะ พวกก็จะวิ่งตามท้ายแล้วกระโดดขึ้นกระบะหลังกันเลย!! ต้องคอยระมัดระวังนั่งลุ้นตัวโก่งว้าเราจะขับไปทับหัวเด็กเข้าหรือไม่ อยากจะตะโกนบอกให้หลีกไป แต่เราก็ไม่รู้ว่า ภาษา Morocco ต้องพูดว่าอย่างไร ทำได้เพียงแค่ ขับคลานๆไปตามเนินเขา ให้ช้าที่สุด แต่ต้องผ่านกลุ่มเด็กน่ารักๆและเด็กเปรตที่รวมอยู่ด้วยกันพวกนี้ไปให้เร็วที่สุด

 

เราเริ่มต้นเข้าสู่ ทางฝุ่นและก้อนกรวดอันแสนทุระกันดาร สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น ระหว่างทาง นอกจากจะแวดูสถาปัตยกรรมที่ศิลปินชาวเยอรมัน มาสร้างทิ้งไว้กลางทะเลทรายทำไมก็ไม่รูู้ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ Stadt des Orion (Orion Constellation) และ Stair to Heaven (บันไดสู่สวรรค์…?)​ ความยาว 52 ขั้น เป็นสถาปัจกรรม ที่ว่ากันว่า ชาวเยอรมัน มาสร้างทิ้งไว้…(ทำไมก็ไม่รู้)

ณ Stair to Heaven นั้น เขามี Guard (หรือที่บ้านเราเรียกว่า รปภ.) เฝ้าสถานที่อยู่ ห้ามไม่ให้ใครบุกขึ้นไปบนบันไดนั้น ความเป็นอยู่ของเขา สุดยอดมาก เขาพักอยู่ในเพิง…ที่เห็นในรูปข้างบนนี้แหละ ในนั้น มีเตาทำอาหาร ถังแก้สปิคนิค น้ำดื่ม ของใช้ เท่าที่จำเป็น วิทยุรับฟังเพลง-ข่าวสาร แค่นี้เท่านั้น…!!! สภาพเต๊นท์นี่ ล้มแหล่ไม่ล้มแหล่

ตลอดเส้นทาง เราสลับรถกันจนครบทั้ง 4 คัน เป็นการเริ่มต้นเรียนรู้และทักทายกับยานพาหนะที่เราต้องใช้ลุยทะเลทรายในวันรุ่งขึ้น โดยแวะกันตาม สถาปัตยกรรมแปลกๆพวกนี้ นี่ละครับ
ขับๆไป ท่ามกลางทะเลทรายที่เวิ้งว้าง จู่ๆ เราก็จะพบ มนุษย์​ 1 คน… ใช่แน่ๆครับ เป็นคนจริงๆนี่แหละ มึงมาเดินอะไรอยู่ตรงเน้!? โบกมือให้เราอีกต่างหาก บางทีก็หลอนนะเว้ย ว่าไอ้ที่เห็นเนี่ย คือมนุษย์​จริงๆ หรือเป็นคลื่นพลังงาน (วิญญาณ)​ กันแน่!! แล้วพี่เค้าเดินมาจากไหน บ้านอยู่ตรงไหน เดินมาไกลขนาดนี้ทำไม พี่ว่างมากเหรอฮะ หรือพี่จะเดินเข้าเมือง แล้วพี่จะไปยังไง กลับยังไง ค่ำนี้นอนไหน ฯลฯ สารพัดคำถามในหัวอีกมากมาย

ช่างเค้า! ขับรถต่อไปเหอะ! บรื๋อวส์!!!

 

ก่อนตะวันชิงพลบ เราเดินทางถึงโรงแรมที่พัก Xaluca Hotel ที่นั่นมีรถยนต์ต้นแบบ Nissan Navara Dark Sky ซึ่งเป็นความร่วมมมือกับองค์กรอวกาศนานาชาติ แห่งยุโรป ในการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ราคา 30,000 Euro ไว้ที่รถพ่วงด้านหลัง รวมทั้งตกแต่ง รถทั้งคันให้ดูดุดันและสวยงาม จอดอยู่ รถคันนี้ เพิ่งเผยโฉมครั้งแรกในงานแสดงยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ ที่ Hanover สหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อเดือนกันยายน 2018 ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ ตัวรถสวยมากจนอยากให้นำบางส่วนของงานออกแบบ มาปรับประยุกต์กับ Navara Minorchange ที่มีกำหนดเปิดตัวในตลาดโลก ช่วงปลายปี 2019 – 2020 (มาถึงตลาดเมืองไทยเมื่อไหร่ รอดูต่อไป)

เอาข้าวของเข้าห้องพักแล้ว เราลงมาร่วมรับฟัง บรรยายสรุปเกี่ยวกับ กิจการของ แผนก Nissan LCV และฟังสรุปจุดเด่นของรถยนต์ทั้ง 4 รุ่น จากตัวแทนผู้ดูแลรุ่นรถยนต์ (Product Specialist) แต่ละคน ตามด้วยการร่วมประทานมื้อค่ำ แบบบุฟเฟต์ สไตล์ Morocco ซึ่งจะมีไก่ หรือเนื้อบาร์บีคิวเสียบไม้ ขนมปังชิ้นหนามากๆ เนย แล้วก็ขนมหวาน ที่อาจไม่ถูกปากคนไทยเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเดินทางในทริปลักษณะนี้ คุณอาจเจออาหารที่มีรสชาติแปลกปากไปมาก จนอาจถึงขั้นกินไม่ได้ และบางคนก็จำเป็นต้องหาทางอยู่รอดกับสภาพที่เป็นอยู่ให้ได้…

( ด้วยมาม่า ที่แพ็คไปจากเมืองไทย…)

เช้าวันรุ่งขึ้น 18 พฤศจิกายน​ 2018 อุณหภูมิ 9 องศาเซลเซียส และมีฝนพรำๆ (ใช่ครับ ฝนตกในทะเลทรายนี่แหละ) เราตื่นมาเพื่อพบว่า โรงแรม Xaluca แห่งนี้ แปลกไปจากโรงแรมแห่งอื่นที่เคยเจอมา นั่นคือ ไลน์อาหารเช้า ไม่มีแฮม เนื้อ หมู ไก่ ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เบเกอรี่ ขนมอบต่างๆ

ทว่า ความประเสริฐ​ก็คือ เชฟที่นี่ ทำไข่คน Omelet ออกมาได้เหมือนไข่เจียวบ้านเรามาก! อร่อยขนาดว่านักข่าวชาวต่างชาติ ซึ่งคุยโทรศัพท์​กับภรรยาอยู่ ยังต้องเอ่ยปากบอกปลายสายเลยว่า ไข่ที่นี่ อร่อยมาก! แต่สุดท้าย….ปกติแล้ว ผมมักกินอาหารของทุกชาติได้เกือบหมด แต่ พอมาเจอ Morocco แล้ว ผมคิดว่า อย่างน้อยๆ คงต้องพึ่งพา มาม่า คัพ ที่ ตาโป่ง แบกหิ้วมาจากเมืองไทย สักหน่อย กันเหนียว ก็ยังดี กินกับไข่คนที่เหมือนไข่เจียวนั่นไปแหละ ดีงาม!

รถแข่ง ที่คุณเห็นจอดอยู่ ริมสระน้ำโรงแรม เป็น Prop ประกอบฉาก นั้น คือ รถแข่ง Nissan Patrol Fanta Lemon ปี 1987 เครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ OHC 2,800 ซีซี 146 แรงม้า (PS) ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักรถ 1,600 กิโลกรัม สร้างขึ้นสำหรับลุยในรายการ Paris Dakar Rally ที่ถูกบูรณะกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ความเป็นมาของรถคันนี้ก็คือ ปี 1986 Nissan Europe นำ SUV รุ่น Patrol ขับโดย Miguel Prieto ลงแข่งในรายการต่างๆ ทั้ง Tunis Rally (เข้าเส้นชัยอันดับ 4) , Baja Aragón (เข้าเส้นชัย อันดับ 3) และ Raid Pharaons (คว้าแชมป์ อันดับ 1) ทุกรายการทั้งหมด Patrol คันนี้ คว้าแชมป์อันดับ 1 ในรุ่นเครื่องยนต์ Diesel มาเรียบร้อย

Nissan Europe เลยคิดการณ์ใหญ่ว่า อยากส่ง Patrol คันนี้เข้าร่วมการแข่งขันแรลลีสุกหฤโหด Paris-Dakar ซึ่งมีเส้นทางแข่งขัน ผ่านเมืองต่างๆ และทะเลทราย ใน 4 ประเทศ ได้แก่ France, Algeria, Niger, Mali, Mauritania และ Senegal รวมระยะทางกว่า 13,000 กิโลเมตร! พวกเขาตัดสินใจติดต่อ จาก Coca-Cola ซึ่งกำลังจะโปรโมท เครื่องดื่ม Fanta Lemon ที่เพิ่งจะออกวางจลาดในเวลานั้นพอดี ให้มาร่วมเป็นพันธมิตรสปอนเซอร์ กับทีมของ Nissan

การแข่งขันเริ่มขึ้นวันที่ 1 มกราคม 1987 (วันปีใหม่) จากรถที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 312 คัน Nissan Patrol Fanta Lemon เข้าร่วม 2 คัน (เบอร์ 212 กับ เบอร์ 211 คันที่จอดโชว์นี้ ขับโดย Miguel Prieto และ Navigator ชื่อ Ramón Termens) และรถบรรทุก Service อีก 1 คัน กระนั้น สถานการณ์ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด รถบรรทุก Service พัง ระหว่างการแข่งขัน Stage ที่ 2 แถมรถเบอร์ 212 ก็ยังพลิกคว่ำในทะเลทรายอีก กลายเป็นว่า รถเบอร์ 211 เป็นคันเดียวที่แล่นได้จนถึงเส้นชัย ในตำแหน่งที่ 9 Overall (รวมทุกประเภท) แต่คว้าแชมป์ อันดับ 1 ในรุ่นเครื่องยนต์ Diesel)

จากนั้น ตัวรถ ถูกมอบการครอบครองต่อไปยัง Salvador Claret นักสะสมรถยนต์อิสระ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ยานยนต์ ในเมือง South of Girona ประเทศ Spain และอยู่ที่นั่นมาตลอด 30 ปี! จนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เจ้าหน้าที่ของ NTCE ไปพบรูปรถคันนี้ใน Internet แล้วพบว่า เหลืออีก 3 ปี ที่จะครบรอบ 30 ปีในการนำรถคันนี้ลงแข่งรายการดังกล่าว จึงติดต่อขอรับรถคืนจากพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำกลับมาบูรณะใหม่ โดยทีมวิศวกร Nissan European Technical Centre (NTCE) ซึ่ง Pedro Diaz Illan ผู้จัดการฝ่ายระบบไฟฟ้า และ Electronics ของ Nissan Europe ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกทีมแข่งในปี 1987 เพียงรายเดียว ที่ยังทำงานอยู่ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะรถคันนี้ด้วย! ส่วนงบในการบูรณะ เป็นกองทุน Performance Innovation ของ Nissan เพื่อใช้ในการบูรณะรถเก่าๆของ Nissan ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบัน รถคันนี้ อยู่ในสภาพ แล่นใช้งานได้ ตามปกติ!

เช้าวันที่ 2 นี้ เส้นทางที่เราจะขับรถกัน คือจาก โรงแรม Xaluca ไปวนรอบใหญ่ รวมระยะทาง 182 กิโลเมตร ใช้เวลา 5 ชัวโมง 5 นาที! เราเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการขับรถ Patrol เลี้ยวขวาออกจากโรงแรม ผ่านเมืองเล็กๆ อันเป็นเมืองสุดท้ายก่อนเข้าเขตทะเลทราย Sahara ช่วงแรกยังคงเป็นถนนยางมะตอย สวนกัน 2 เลน บางช่วงทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร​/ชั่วโมง ขับไปได้พักใหญ่ รถนำขบวนก็เริ่มพาเราเลี้ยวเข้าไปในเขตทะเลทราย แล่นดมฝุ่นกันไปสักพัก ก็มาถึงจุดแวะพักเปลี่ยนคนขับ ทีมงานเริ่มแนะนำบทเรียนแรกในการขับรถบนทะเลทรายให้เราได้เรียนรู้กัน

ปกติแล้ว เวลาเราเดินทางไปไหนมาไหนที่มีแดดจ้า จนรู้สึกร้อน เมื่อเราเจอต้นไม้ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านโดดเดี่ยว เรามักจะเข้าไปหลบแดดกันตรงนั้น นักแข่งในรายการ Paris Dakar แทบทั้งหมดก็ทำเช่นนั้น

แต่ในความเป็นจริง ต้นไม้นั้น มักจะมีหนามแหลมคม ซึ่งสามารถหล่นลงมาในบริเวณรายรอบโคนต้น หากใครจอดรถใต้ร่มไม้ ก็มีโอกาสเจอปัญหายางแตกรั่วซึมได้ คำแนะนำก็คือ เวลาอยากหยุดพัก ควรจอดให้ห่างไกลจากต้นไม้เหล่านี้ อย่างต่ำๆ 10 ฟุต

หลังจากนั้น เราออกเดินทางกันต่อขับข้ามลำน้ำ ทราย ทางฝุ่น ลูกรัง ร่องน้ำแห้งๆ แต่แข็งจนรถเกือบกระโดด ถ้ามาเร็วๆ รวมระยะทาง 65 กิโลเมตร เพื่อไปแวะพักยังจุดชมวิว ที่ Jbel Medouar ทีมงานจัดเต๊นท์เครื่องดื่ม และเต๊นท์ห้องน้ำไว้รับรองแขกเหรื่อ รวมทั้งมีทีมช่างภาพ Video สำหรับนักข่าวที่อยากถ่ายทำ Footage เพื่อนำไปตัดต่อรายการตนเอง

จากนั้น เราออกเดินทางกันต่อยาวๆ บนทางฝุ่นและทางก้อนกรวด การขับรถบนเส้นทางเหล่านี้ ควรใช้ความระมัดระวัง อย่าไปทับก้อนหินขนาดใหญ่ รวมทั้งก้อนหิน Green rocks ซึ่งดูไกลๆ ก็เหมือนพุ่มไม้สีเขียวขนาดเล็กๆ เพราะอาจมีโอกาสทำให้ยางแตกได้

ใกล้ถึงจุดพัก รับประทานมื้อเที่ยง เราพบคนขี่จักรยานยนต์ สวนมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่นั่นไม่เท่ากับการขับผ่านหมู่บ้านเล็กๆ เตี้ยๆ ชั้นเดียว สร้างด้วยดิน อันเป็นรูปแบบบ้านเรือนที่พบได้ทั่วไปใน Morocco

เราเจอเด็กน้อย 3 คน วิ่งเข้ามาที่ขบวนรถของเรา เพื่อขอของจากนักท่องเที่ยว​ มีนักข่าวบางคน แวะจอดรถ โยนขวดน้ำดื่มให้เด็กๆ สต๊าฟทีมงาน รีบ พูดออก วิทยุสื่อสารในรถให้ได้ยินพร้อมกันทุกคันว่า…

“ไม่ต้องจอดรถหรือยื่นสิ่งของให้กับเด็กๆเหล่านี้หรอกครับ แม้ว่าจะดูเหมือนพวกเขาดูยากจน แต่ความจรืงแล้ว พวกเขาไม่ได้ขาดแคลน พวกเขามีเสื้อผ้า มีอาหารกิน เขาแค่อยากเข้าหานักท่องเที่ยว เผื่อได้ของฟรี บางคนก็ปีนขึ้นมาบนกระบะหลังระหว่างที่รถกำลังแล่น ดังนั้น ไม่ต้องให้ก็ได้ครับ”

พอขับรถผ่านบ้านของเด็กๆพวกนี้ เออ จริงหวะ บ้าน 4-5 หลังตรงนั้น ทุกหลังมีจานดาวเทียม กับ Solar cell ตั้งตระหง่านสลอนอยู่ข้างๆบ้าน ไม่ใช่แค่นั้น หน้าบ้านพวกเขา ถ้าไม่มีจักรยานยนต์จอดอยู่ ก็มี Toyota Land Cruiser Prado จอดอยู่กันเลยทีเดียว!!!

โห น้องครับ มึงดูรวยกว่าพี่อีกครับ ไอ้เด็กเวร!

1 ชั่วโมง 30 นาที หรืออีก 49 กิโลเมตร ให้หลัง เรามาถึงจุดรับประทานอาหารมื้อเที่ยงที่ Tisserdmine (Oasis Lunch) ซึ่งทีมงาน ให้ทางโรงแรม Xaluca ของเรานั่นแหละ มาตั้งเต๊นท์จัดเตรียมการให้อย่างดี และมีอาหารที่เราพอกินได้ไม่อดตาย อย่าง ไก่ย่าง เนื้อผัดเครื่องแกงกะหรี่ท้องถิ่น เนื้อ Kaffir ซึ่งมีกลิ่นสาบนิดๆ ข้าวท้องถิ่น เย็นชืดมาเลยทีเดียว และเฟรนช์ฟราย…กับซอสมะเขือเทศ (อ่านไม่ผิดครับ นำเข้าทั้งนั้น)​ มื้อนี้ถือว่าเป็นอาหารใน Morocco ที่พวกเรากินได้มากที่สุด เพราะมีรสชาติที่ค่อนข้างดี สำหรับการกินอยู่ในทะเลทรายแบบนี้

เราก็ออกเดินทางมุ่งหน้ากันต่อไปยังโรงแรม Kasbah Sahara Garden อันเป็นจุดเริ่มต้นการขับรถบนทางทรายร่วนของเราในวันนี้ ทีมงานนำรถในขบวนทุกคันไปปล่อยลมยางใหม่ จนหน้าจอ Multi Information Display ของรถทุกคันขึ้นข้อความแจ้งเตือนแรงดันลมยางต่ำกว่ากำหนดกันหมด

การเตรียมพร้อมเพื่อขับรถลัดเลาะไปในทะเลทรายนั้น มีวิธีปฏิบัติ​ดังนี้

  1. ต้องใช้ลมยางแค่ 1 bar หรือ 14.5 ปอนด์/ตางรางนิ้ว เพื่อให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นได้ดี
  2. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย​
  3. เปิดไฟหน้า หรือ Daytime Running Light
  4. ปิดกระจกหน้าต่างเสมอ เพราะในกรณีที่เจอแรงสะเทือนซ้าย-ขวา หากปิดกระจก ศีรษะ​คุณยังโขกกระจกได้ แต่ถ้าเปิดหน้าต่างไว้ แรงเหวี่ยงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกช่วงคอได้ เพราะหัวยังโขกกระจกได้
  5. ใช้เกียร์ 4 Low (ขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วต่ำ)​ เสมอ
  6. ฟังเสียงรอบเครื่องยนต์​ พยายามเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งและสม่ำเสมอเข้าไว้

 

วิธีการขับรถบนพื้นทราย มีดังนี้

  1. ขับช้าๆ นุ่มนวลๆ
  2. หมุนพวงมาลัยช้าๆ เว้นเสียแต่ว่า รถยังเลี้ยวน้อยไป ก็ให้หมุนเพิ่มขึ้น แต่อย่าเร็วเกินไป ควรตีวงเลี้ยวกว้างๆไว้
  3. เบรกให้นุ่มๆ มิเช่นนั้น หน้ารถอาจจะกดทิ่มลงไปในทราย จนอาจติดหล่มทรายได้
  4. เลี้ยงคันเร่งให้นิ่ง ถ้าต้องเพิ่มความเร็ว ให้ค่อยๆเหยียบคันเร่งเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง อย่าช้าหรือเร็วเกินไป ท้ายรถอาจติดหล่มทรายได้
  5. ควรขับเป็นคู่ขนาน ไปกับรอยร้องล้อของรถคันที่แล่นไปก่อนหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการติดหล่มทราย
  6. เว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้าให้เยอะกว่าการขับรถบนถนนปกติไว้ก่อน เพราะ ถ้าคันข้างหน้าเกิดติดหล่ม หรือจอดบนเนินทราย เรายังพอจะหักหลบได้ทัน อย่าลืมว่า ควรหลีกเลี่ยงการเบรกกระทันหันบนทราย เพราะรถอาจติดหล่มทรายได้

วิธีการเร่งส่งขึ้นและขับข้ามเนินทราย มีดังนี้

  1. เหยียบส่งเต็มตีนจากพื้นราบ เพื่อสร้าง Momentum ส่งรถขึ้นเนิน
  2. เมื่อถึงกลางเนิน หรือใกล้ยอดเนิน ถอนคันเร่ง เพื่อให้รถขึ้นไปถึงยอดเนินด้วย Momentum​
  3. เมิ่อถึงยอดเนิน ควรชะลอรถ เพื่อประเมินความสูงของทางลง
  4. เมื่อประเมิน​เสร็จแล้ว ปล่อยรถไหลลงเนิน อาจจะเลียเบรกเบาๆพอได้ แต่…
  5. ช่วงกลางของทางลงเนิน ต้องกดคันเร่งต่อทันที เพื่อส่งรถขึ้นสู่เนินถัดไปข้างหน้า
  6. ระลึกไว้เสมอว่า พยายามถือพวงมาลัยตั้งล้อตรง ให้รถพุ่งขึ้นเนินทรายไปตรงๆ อย่าขึ้นเนินทรายในแนวเฉียง เพราะรถอาจพลิกคว่ำได้ ทั้งในระหว่างเร่งขึ้นเนิน หรือลงเนิน

ส่วนการขึ้นเนินทรายนั้น ต้องอาศัยแรง Momentum ช่วย โดยต้องเร่งส่งตั้งแต่อยู่บนพื้นราบ  ถอนคันเร่งโดยรถพุ่งไปของมันเอง จนถึงยอดเนิน จึงค่อยถอนเท้า หรือชะลอรถ หรือหยุดรถ เพื่อดูความชันของเนินที่เราจะขับลงไป  หยุดตรงกลางเนิน ก่อนปล่อยไหล  เล็กน้อย แล้วกดคันเร่งส่งลงเนิน เพื่อให้มีแรงทะยานขึ้นไปยังเนินทรายลูกถัดไป ตอนลงเนิน ต้องเลี้ยงคันเร่งกำลังดี มิเช่นนั้น รถจะเร่งส่งขึ้นเนินต่อไปไม่ได้ และติดหล่มทราย

ข้อสำคัญคือ พยายามขับตรงทางเสมอ ดูตามรอยล้อรถคันก่อนหน้า เมื่อขึ้นเนินแล้ว ถ้าติดอยู่บนเนินทราย อย่าพยายามเร่งต่อเพราะจะจมทรายหนักกว่าเดิม ให้ลองถอยหลัง ไหลลงกลับทางเก่า ถอยลงไปอยู่ที่ด้านล่างสุดของเนินทราย ก่อนจะเหยียบคันเร่งเต็มตีน ส่งรถให้พุ่งขึ้นเนินกลับไปใหม่ บางกรณีอาจต้องบังคับพวงมาลัยช่วยให้รถไปตามทิศทางที่ต้องการ

และถ้าต้องหยุดรถในลักษณะที่บั้นท้ายเอียงลงไปจากยอดเนินทรายฝั่งไหน ให้หมุนพวงมาลัยไปในทิศตรงกันข้าม แล้วกดคันเร่งส่งให้เต็มตีน จนกว่ารถจะกลับมาอยู่ในตำแหน่งปลอดภัย จึงจะตั้งล้อตรง แล้วกดคันเร่งส่งผ่านเนินลงสู่พื้นราบต่อไป

บรรยากาศที่เห็นนี้ คุณอาจจะนึกว่าน่าจะร้อนตับแตก เปล่าเล้ย….ย…..หนาวชิบหายยยยย อุณหภูมิที่เห็นนี่คือ ประมาณ 10 องศาเซลเซียส บวกลบนิดๆนะครับ ขับๆไป คุณก็จะเจอ บรรดาน้องอูฐ ทำตาหน้ายื่น ทำตาพริ้ม เดินพาเหรดอยู่ กลางทะเลทรายเสียอย่างนั้น…

หลังจากสนุกกับเนินทรายกันเต็มที่แล้ว เรากลับไปยังโรงแรม Sahara Garden อีกครั้ง เพื่อเติมลมยางกลับให้ได้ตามค่ามาตรฐาน ก่อนจะเดินทางผ่านทางก้อนกรวดทะเลทราย ตัดตรงไปยังถนนราดยางมะตอย กลับถึงโรงแรม Xaluca เพื่อรับประทานมื้อค่ำ สไตล์ โมร็อกโค มีทั้งข้าวเย็นๆ กับผักดอง ที่เอามากองขนาดเท่าภูเขาเลากา แล้วก็ไก่ขนาดเล็ก ซึ่งแม้ว่ารสชาติจะเป็นเนื้อไก่ แต่เราก็ไม่แน่ใจว่ามันคือไก่จริงหรือเปล่า เพราะมันชวนให้นึกว่าน่าจะเป็นนกอะไรสักอย่างมากกว่าไก่ ซึ่งเอาจริงๆก็คือ กินแทบไม่ได้เลย นอกจากแทะขนมปังที่เหนียวแข็งราวกับลูกหนี้เบี้ยวแม่ยายคนปล่อยเงินกู้นอกระบบ แต่พอทาเนยไป ก็พอกล้อมแกล้มได้อยู่

วันสุดท้าย 19 พฤศจิกายน​ 2018 เส้นทางของเรา ออกจากโรงแรม Xaluca เพื่อไปรับประทานมื้อเที่ยง ที่ ณ โรงแรม Salma Palm Ferme d’Hotes รวมระยะทาง 103 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที

เราออกเดินทางจากโรงแรม Xaluca ด้วยอารมณ์อันแสนจะหงุดหงิด จากการกระทำของ PR และนักข่าวจาก Australia ที่ เข้าใจผิด และมาใช้คำพูดกับน้ำเสียงขึงขัง ไล่พวกเราเราลงจากรถในกลุ่ม A ที่เราเข้าไปนั่งจับจองไว้ก่อนแล้ว โดยอ้างว่า Staff ของงาน จัดมาอย่างนี้ ทั้งที่พอมาถามไถ่ภายหลัง Staff ของงาน ทาง Staff กลับบอกว่าไม่เคยพูดแบบนั้น และแถมบอกว่าปล่อยให้ทุกคนเลือกขับรถได้อิสระเต็มที่ สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับผมและกลุ่มนักข่าวคนไทย ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมารยาทของนักข่าว Australia กลุ่มนี้ เป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ต้องมีใครสักฝ่ายนั่นแหละ ที่พูดไม่จริง ถ้าไม่ใช่สต๊าฟ ชาว Spain ก็ทีม Australia นั่นแหละ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง! แม้ภายหลัง ช่วงมื้อเทียง จะมีการเรียกประชุม และทาง PR ป้าอ้วนผมทอง จะขอโทษกับคุณโป่ง แล้ว แต่ผมก็ยังไม่พอใจอยู่ดี เพราะไม่ได้มาขอโทษด้วยตัวของเธอเอง ตามมารยาท ที่ควรเป็น

อย่างไรก็ตาม ช่างแม่งเถอะ เราก็เริ่มออกเดินทาง ไปตามถนนราดยางมะตอย ก่อนทะลุเข้าเส้นทางก้อนกรวด ลุยไปบนทรายเปียกลื่นเกือบๆจะเป็นโคลน บังคับควบคุมรถที่ดิ้นไปดิ้นมาให้อยู่หมัด โดยไม่ควรถอนคันเร่งจนหมด ต้องเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ไว้ตลอด มิเช่นนั่น อาจติดอยู่ในหล่ม พอพ้นจากจุดนั้นมาได้ เราก็เจอ มนุษย์ ยืนโดดเดี่ยวกลางทะเลทราย ให้ชวนคิดและขนลุกเล่นๆกันอีกตามเคย

เราเดินทางขึ้นไปบนเนินทรายสูงชัน ถ่ายรูป แล้วขับกลับลงมา วิ่งต่อบนถนนราดยางมะตอย ถึงจุดหมาย ณ โรงแรม Salma Palm Ferme d’Hotes เพื่อรับประทานมื้อเที่ยง ก่อนเดินทางโดยรถบัส กลับมายังสนามบิน Errachidia​ ขึ้นเครื่องบิน Charter Flight ของสายการบิน Air Nostrum (Iberia Service)​ เที่ยวบิน YW 5135 กลับมายังสนามบิน Madrid นอนค้างที่โรงแรม Vincci​ Soho อีก 1 คืน ก่อนกลับมายังสนามบิน Madrid อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น​ เพื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน Airbus A321 ของสายการบิน Lufthansa เที่ยวบิน LH1115 ใช้เวลา 2.35 ชั่วโมง ไปเปลี่ยนเป็นเครื่องบิน Airbus A380-800 เที่ยวบิน LH772 ที่สนามบิน Frankfurt ใช้เวลา 10.45 ชั่วโมง เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร​ เป็นอันจบการเดินทางอันแสนยาวไกลตั้ง 3 ประเทศรวด

ข้างบนทั้งหมดนั้น คือเรื่องราวของการเดินทางในทริปนี้ ที่พอจะรวบรวมมาให้รับชมกันได้บ้าง ในบางส่วน สิ่งสำคัญที่สุดอันเป็นหัวใจหลักของทริปนี้ คือการทดลองขับ รถยนต์ Nissan ในกลุ่ม LCV (Light Commercial Vehicles) ทั้งหมด 4 รุ่น รวม 12 คัน ให้พอจะจับ Feeling ของตัวรถ ทั้งบนถนนราดยางมะตอย ทางลูกรัง ก้อนกรวดขนาดใหญ่ หลุมบ่อ แอ่งน้ำ ไปจนถึงทางฝุ่น และเนินทราย ตลอดทริป เราถูกจัดให้สลับสับเปลี่ยนรถ ทั้ง 4 รุ่น กันจนงุนงง บางทีก็สับสนว่า ทำไมขับแค่แป๊บเดียว ก็เปลี่ยนรถแล้ว แต่ทำไมบางช่วง ก็ปล่อยให้ขับนานเหลือเกิน กระนั้น ผมก็ได้ลองขับ ครบทั้ง 4 รุ่น เพียงพอจะนำมาเล่าให้คุณได้อ่านกัน

Nissan TERRA 4×4​ 

SUV/PPV รุ่นล่าสุดที่ Nissan เพิ่งเปิดตัวไปทั้งใน Philippines จีน และ ไทย แต่รถคันที่เราได้ลองขับกัน ถูกจัดส่งมาจาก Philippines ซึ่งใช้เครื่องยนต์เดียวกับ Navara ในบ้านเรา คือ YD25DDTi Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.1 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด พร้อมระบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ลูกเดียว พร้อมระบบระบายความร้อนให้กับไอดี Intercooler 190 แรงม้า (PS)​ ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ( 45.85 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที พ่วงด้วย เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีให้เลือกทั้งรุ่นขับล้อหลัง และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เราได้ลองขับกันในทริปนี้

ดังนั้น จึงแตกต่างจากเวอร์ชันไทย ซึ่งเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ YS23DDTi (หรือ OM699 จาก Mercedes-Benz!! และรหัส M9T จาก Renault)​ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,298 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 85.0 x 101.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.4 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด พร้อมระบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Twin-Turbocharger และระบบระบายความร้อนให้ไอดี Intercooler 190 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ( 45.85 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง และ 4 ล้อ วางลงในตัวถังที่ ยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร

เหตุผลที่จัดส่งมาจาก Philippines​ เพราะถ้าส่งมาจากโรงงานในประเทศไทย​โดยตรง จะมีปัญหาเรื่องการจดทะเบียนล่าช้า และเรื่องการดำเนินงานด้านภาษีกับเอกสารศุลกากรต่างๆ นั่นเอง

บรรยากาศภายในห้องโดยสาร ก็ไม่แตกต่างจาก Terra เวอร์ชันไทยมากนัก ยกเว้นชุดเครื่องเสียงที่ถูกเปลี่ยนจาก Kenwood มาเป็นจอ TouchScreen จาก Blaupunkt ที่ทำงานได้ดีกว่า เลื่อนนิ้วได้ลื่นกว่า นอกนั้น ออพชันต่างๆ ก็เหมือนกับเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบ Blind Spot Monitoring รวมทั้งกระจกมองหลังแบบ Intelligent Rear-view Mirror (i-RVM) ซึ่งในยามปกติก็ส่องเหมือนกระจกเงาธรรมดา แต่เมื่อดึงคันโยกใต้กระจกมองหลัง เพื่อเปิดระบบกล้องมองภาพที่กระจกบังลมหลังใช้งาน กระจกมองหลังจะแสดงภาพจากกล้องแทน พร้อม Function Around View Monitor และกล้องมองภาพจากด้านข้างตัวรถ มาให้เสร็จสรรพ

ด้านสมรรถนะ พอดีจังหวะว่า ก่อนหน้าวันเดินทาง และวันกลับจากทริปนี้ Nissan ส่ง Terra เวอร์ชันไทย ทั้งรุ่น 4×4 และ 4×2 มาอยู่กับผม รวม 14 วันเต็มๆ ทำให้เห็นความแตกต่างด้านอัตราเร่ง เพราะดูเหมือนว่า เวอร์ชันไทย จะเรียกพละกำลังออกมาได้ทันอกทันใจกว่าชัดเจน และมีแรงบิดช่วงออกตัวที่ดีกว่าเวอร์ชัน Philipines พอสมควร ส่วนเกียร์อัตโนมัติ ทำงานได้ดี ราบรื่น และแทบไม่พบอาการกระตุกในขณะเปลี่ยนเกียร์เลย

นอกนั้น พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ก็ยังเหมือนเวอร์ชันไทย คือ เซ็ตมายานๆ ขับไม่สนุก ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยลูกปืนหมุนวน ในรถกระบะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่จุดเด่นของ Terra คือ มีช่วงล่างที่ดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งทุกคันในตลาด ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องลุยทางลูกรัง ก้อนกรวดแข็งๆ พบว่า Terra ส่งแรงสะเทือนขึ้นมา แค่ในระดับหนึ่ง แต่ช่วยลดความเมื่อยล้าสะสมหลังขับขี่ลงได้มากกว่าที่คิด ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างของ Terra เป็นรองแค่ Ford Everest (รุ่น 3.2 ตัวท้อปก่อนไมเนอร์เชนจ์) เพียงรุ่นเดียว และแค่นิดเดียวเท่านั้น รวมทั้งแป้นเบรกที่ ตั้งไว้สูง แต่มีระยะเหยียบปานกลาง ไม่ต่างจากเมืองไทยเลย ลุยน้ำได้ลึก 600 มิลลิเมตร (60 เซ็นติเมตร) พอกัน

รายละเอียดของ Terra เวอร์ชัน Philippines สามารถอ่านต่อได้จากบทความ Exclusive First Impression​ (First Report in Thailand) โดยพี่   Pan Paitoonpong​ ได้ Click Here! หรือถ้าใครอยากอ่านบทความ First Impression ของ Terra เวอร์ชันไทย พี่ Pan Paitoonpong ก็มีให้อ่านแล้วเช่นกัน Click Here!

 

————————-

Nissan Navara N-Guard

ไม่ต้องแนะนำก็คงรู้จักกันดี ว่านี่คือรถกระบะของ Nissan ที่ทำตลาดอยู่ในเมืองไทย และถูกส่งออกจากโรงงานย่านบางนา -​ตราด ไปยังทั่วโลก ทั้งในรูปชิ้นส่วน หรือรถประกอบสำเร็จรูปทั้งคัน

แต่สำหรับ Navara ที่ทำตลาดในยุโรป และอีกหลายประเทศในเขตแอฟริกา ถูกผลิตจาก โรงงาน Nissan Iberica ใน Spain นี่เองโดยชิ้นส่วนจำนวนมากที่ใช้ประกอบรถ มาจากประเทศไทย

ปัจจุบัน​ ตลาดรถกระบะกำลังขยายตัวในยุโรป ลูกค้ามี 2 ประเภทหลัก คือกลุ่มที่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์​ และกลุ่มที่ใช้รถเพื่อสันทนาการ มักเป็นเจ้าของกิจการ ขนาดเล็กหรือกลาง ซึ่งอยากได้รถกระบะไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือบรรทุกลากจูง ในวันพักผ่อน ตัวรถต้องตกแต่งมาดี มีอุปกรณ์​ความปลอดภัย​ไม่น้อยหน้ารถเก๋งระดับ Premium

ผู้นำในตลาดรถกระบะของสหภาพยุโรป โดยรวมทุกประเทศ ตอนนี้คือ Ford Ranger ด้วยส่วนแบ่งตลาด 29% โดยประมาณ​ ตามมาด้วย Toyota Hilux, Nissan Navara, Mitsubishi Triton / L200, Volkswagen และ Isuzu DMax ตามลำดับ

Nissan Navara N-Guard รุ่นที่เราทดลองขับกันนี้ เป็นรุ่นตกแต่งพิเศษ ในลักษณะ​เดียวกับ Toyota Hilux Revo Rocco แต่ไม่ได้ปรับปรุงกันโหดๆ แบบ Ford Ranger Raptor ดังนั้น อย่าเข้าใจผิด

ความแตกต่างจาก Navara N-Guard ที่ต่างจากเวอร์ชันไทย ก็คือ

  1. วางเครื่องยนต์ YS23DDTi Twin Turbo 190 แรงม้า (PS)​ เหมือน Terra เวอร์ชันไทย
  2. มี SunRoof เปิด-ปิด และยกขึ้น -​ ลง ด้วยสวิตช์​ไฟฟ้า
  3. ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์​ใหม่ เช่นกระจังหน้าสีดำ จากรุ่น Black Edition ผลิตจากเมืองไทย รวมทั้งกาบข้าง
  4. เพิ่มสติ๊กเกอร์​คาดข้างบริเวณชายล่าง
  5. เปลี่ยนสปริง และยกรถให้สูงขึ้นอีก 25 มิลลิเมตร พร้อมเปลี่ยนล้ออัลลอยสีดำ และยางสำหรับลุย Off Road โดยเฉพาะ
  6. เปลี่ยนหนังหุ้มเบาะ สีดำ เดินด้ายเย็บตะเข็บสีเหลืองเป็นพิเศษ เฉพาะรุ่น N-Guard
  7. สัญญาณ​เตือนปิดถุงลมนิรภัย​ เหนือสวิชต์ไฟฉุกเฉิน คั่นระหว่างช่องแอร์คู่กลาง
  8. เปลี่ยนช่วงล่างด้านหลัง จากแหนบ เป็น 5 link พร้อม Coil Spring

การเปลี่ยนช่วงล่างด้านหลังนี่แหละ คือ ไฮไลต์ สำคัญ ที่ทำให้ Navara Europe ให้การขับขี่ในภาพรวมที่ดีกว่า เวอร์ชัน​ไทยอย่างชัดเจนมาก การซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำบนถนนยางมะตอย ทำได้ดีขึ้น แต่นั่นยังไม่น่าประทับใจเท่า การขับขี่บนทางกรวดลูกรังและทางทราย เห็นได้ชัดเลยว่า แรงสะเทือน และอาการเด้งจากด้านท้าย ลดลงชัดเจนมาก ความเมื่อยล้าสะสมในการขับขี่ลดลงอย่างมาก Body control ดีขึ้น และช่วยเพิ่มความสนุกในขณะแก้อาการ Understeer บนพื้นทรายและก้อนกรวดลื่นๆ ได้ดีขึ้นมากๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคาดหวังอัตราเร่ง อาจต้องทำใจ เพราะการเปลี่ยนยางขนาดใหญ่ กลับเพิ่มน้ำหนักล้อมากขึ้น รวมที้งคุณภาพน้ำมันในประเทศ Morocco แถมยังมีกระแสลมปะทะด้านข้างเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขอัตราเร่งที่ผมกับ ตาโป่ง จับเวลาตอนนั่งด้วยกัน 2 คน ไม่ดีเท่าที่ควร ด้อยกว่า Terra  เวอร์ชันไทยด้วยซ้ำ แม้จะจับตัวเลข ขณะอุณหภูมิ​ 19 องศาเซลเซียส​ก็ตาม

0 -​ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 13.62 วินาที
80 -​120
กิโลเมตร/ชั่วโมง 9.95 วินาที

พูดง่ายๆว่า Navara รุ่น 163 แรงม้าล้อเล็กสเป็คบ้านเราอาจยังไล่ฆ่ามันได้เลยด้วยซ้ำ

Navara N-Guard อาจเป็นตัวเลือกที่ดีของลูกค้าที่อยากได้รถกระบะแบบแต่งครบๆ พร้อมลุยประมาณหนึ่ง พร้อมออพชันที่เรียกได้ว่าจัดเต็มพอสมควร ทั้งระบบ Blind Spot Monitoring กล้อง Around view monitor ฯลฯ แต่อาจต้องทำใจกับอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองกันสักหน่อย

Navara เป็นรถกระบะที่มีคุณงามความดี พอฟัดเหวี่ยงกับเจ้าตลาดในยุโรป อย่าง Ford Ranger (Market share ประมาณ 29%) และ Toyota Hilux ได้อยู่ เพียงแต่ว่า ถ้าจะอยู่รอดในระยะยาว นอกเหนือจากการให้ความสำคัญด้านงานวิศวกรรมเชิงลึก อันเป็นจุดเด่นที่ Nissan แอบให้ความสำคัญมาโดยตลอดแล้ว งานออกแบบภายนอก คืออีกปัจจัย​สำคัญที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ…

————————-

Nissan Patrol​ V8

Full Size SUV รุ่นใหญ่สุดในสายการผลิตของ Nissan คันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากรถจิ๊ปเพื่อการทหารสัญชาติญี่ปุ่น รุ่น 4W40 ในช่วงปี 1951 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่า Patrol (ชื่อเดิมในญี่ปุ่น​คือ Safari)​ ถือเป็นคู่แข่งหลักของ Toyota Land Cruiser 200 ในตลาดตะวันออกกลาง

เรื่องน่าอัศจรรย์​ก็คือ แม้ว่ารุ่นปัจจุบัน​ของ Patrol จะเปิดตัวมาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์​ 2010 ที่ Abu Dhabi แต่ทุกวันนี้ ยอดขายของ Patrol ก็ยังนำโด่งเป็นอันดับ 1 อยู่ในหลายประเทศที่ทำตลาด เช่น Saudi Arabia, UAE, Kuwait, Oman, Qatar และ Bahrain ไม่เพียงเท่านั้น โรงงานใน Kyushu ที่ประเทศญี่ปุ่น​ ยังผลิต Patrol ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อทำตลาดเป็น Nissan Armada Gen.2 อีกด้วย (รุ่นแรก ของ Armada ใช้พื้นฐานมาจาก Nissan Titan รุ่นแรก พอเปลี่ยนโฉม เลยมีการจับยุบรวม Patrol กับ Armada มารวมกันไว้เป็น SUV รุ่นเดียวกันไปเลย

ตัวถังมีความยาว 5,130 -​5,165 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย กว้าง 1,995 มิลลิเมตร (รวมกระจกมองข้าง 2,265 มิลลิเมตร)​ สูง 1,940  มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวสะใจถึง 3,075 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นรถถึงพื้นถนน Ground Clearance 273 มิลลิเมตร น้ำหนักลากจูงสูงสุด 2,000 กิโลกรัม มุมไต่ และมุมจาก 45 องศา เท่ากัน มุมเอียง 48.5 องศา ถังน้ำมันความจุ 100 + 40 ลิตร!!

การก้าวขึ้นลง จากบานประตู ทั้งคู่​หน้าและหลัง ไม่มีปัญหา​เลย เพราะช่องทางเข้า -​ ออก ใหญ่โตมาก แค่ต้องออกแรงเหยียบบันไดข้างขนาดใหญ่ แล้วยกตัวขึ้นโหนมือจับ ทั้งบริเวณ​เสาหลังคา​คู่หน้า A-Pillar และ B-Pillar แค่นั้นเลย ถือเป็น SUV ที่ขึ้น-ลงง่ายที่สุดเท่าที่เจอมา พนักวางแขนที่บานประตูทั้ง 4 ตำแหน่ง วางแขนได้สบายในระดับพอดีทั้งสิ้น กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เลื่อนขึ้นลงด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบ One-Touch เช่นเดียวกับกระจกมองข้าง ปรับและพับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เชื่อมกับ

เบาะคู่หน้าปรับพนักพิงเอน-ตั้งชัน เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง และปรับตัวดันหลัง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ Memory Seat ทั้งตำแหน่งเบาะ พวงมาลัยปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และกระจกมองข้างปรับ/พับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เชื่อมต่อกัน รวม 2 ตำแหน่ง พร้อมระบบ Comfort Access เลื่อนเบาะถอยหลังให้อัตโนมัติ เมื่อเปิดประตูก้าวขึ้นนั่ง ตัวเบาะ ดีงามมาก นุ่มแน่นสบาย ดุจโซฟา SB Furniture ราคา​ราวๆ 2 หมื่นบาทขึ้นไป พนักพิงหลังคือ จบข่าว ไม่มีอะไรให้ต้องตำหนิเลย พนักศีรษะก็ไม่ดันกบาล แต่แค่ว่า แน่นและแข็งไปหน่อยเท่านั้นเลย ส่วนเบาะรองนั่ง ยาวมาก ยาวพอดีในแบบที่ผมคาดหวัง มีสวิตช์พัดลมและ Heater อุ่นเบาะ มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง อีกด้วย

พนักพิงเบาะหลัง หนา นุ่ม เหมือนโซฟาที่แน่นนิดเดียว ในแบบที่รถยนต์ประเภทนี้ควรเป็น รองรับแผ่นหลังได้ถึงช่วงหัวไหล่ แต่ไม่ถึงบ่า แต่ด้วยการที่คุณสามารถปรับพนักพิงหลังเอนลงนอนได้มาก ก็ช่วยเพิ่มความสบายได้เยอะ ส่วนพนักศีรษะหลัง จะแน่นแข็งไปไหน แต่ไม่ดันกบาล ส่วนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วแบบมีฝาพับ 2 ตำแหน่ง อยู่เตี้ยไปเยอะ วางข้อศอกไม่ได้ ขณะที่เบาะรองนั่ง แน่นแต่นุ่มแบบโซฟา SB Furniture ราคาไม่เกินหมื่นกว่าบาท ยาวพอๆกับ Mercedes-Benz E-Class W212

พูดให้ง่ายคือ สั้นนิดหน่อย ส่วนเบาะแถว 3 ผมไม่ได้เปิดยกขึ้นลองนั่ง แต่ที่แน่ๆ มันสามารถพับเก็บได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ที่ถูกเคลมว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดา Full-Size SUV ด้วยกัน

ภายในตกแต่งหรูหรามาก มีให้เลือก 3 สี ทั้ง เบจ ดำ และ แทน (สีที่เห็นในบทความนี้เป็นสีแทน) หนังที่ใช้หุ้มเบาะและแผงประตู เนียนลื่นมือมาก คล้ายกับเบาะของ Lexus หรือ Volvo มีระบบเครื่องปรับอากาศแยกฝั่งซ้าย – ขวา และด้านหลัง แบบอัตโนมัติ หน้าจอมอนิเตอร์ สี ขนาด 8 นิ้ว แสดงผลระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System รวมทุกการควบคุม จากแป้นสวิตช์ที่ติดตั้งถัดลงมา รวมทั้งมีระบบสั่งการด้วยเสียง Voice Recognition System ลูกค้าตะวันออกกลางสามารถเลือกติดตั้ง ชุดเครื่องเสียงแบบ Premium Sound System 12 ลำโพง 2 Channel จาก BOSE พร้อมช่องเสียบ HDMI USB ได้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีระบบติดเครื่องยนต์ด้วยสวิตช์ ทั้งบนแผงหน้าปัด หรือ บนรีโมทกุญแจ Smart Keyless Entry พร้อม Remote Engine Starter System ระบบ Intelligent Cruise Control ทำงานร่วมกับ ระบบ Intelligent Distance Control ที่ช่วยรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้า เร่งหรือชะลอรถให้เองโดยอัตโนมัติตามความเหมาะสม พร้อม หน้าจอ Off-Road Monitor (เข็มทิศและหน้าจอวัดระยะมุมเอียง หรือมุมไต่ มุมจาก ของรถแบบ Digital Graphic หน้าจอ Performance Monitor และกระจกมองหลังแบบ Intelligent Rear View Monitor ตัดแสงอัตโนมัติ และมีจอขนาดเล็ก รับภาพจากกล้องมองหลังรถ ปรับเปลี่ยนมุมได้ (ออพชันนี้ มีใน Terra เวอร์ชันไทยด้วย) และในรุ่น Platinum จะมี SunRoof เปิด-ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งเสริมมาให้อีกด้วย

ออพชันที่เด่นกว่าชาวบ้านเขาอีกประการหนึ่งคือ กล่องตู้เย็นตรงคอนโซลตรงกลาง ระหว่างคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า สามารถเปิดยกได้ทั้งจากผู้โดยสารด้านหน้า หรือแถวกลาง เป็นครั้งแรกในโลก (World First Reversible Open-type Cool-Box )

อุปกรณ์​ความปลอดภัย​ มีมาให้ครบทั้ง ถุงลมนิรภัย​ 6 ใบ (คู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย อย่่างละ 2 ฝั่ง)​ เข็มขัดนิรภัย​ทุกตำแหน่ง แบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ Pretensioner and Load Limiter พนักศีรษะ Active Headrest ไฟฉุกเฉินกระพริบเมื่อเบรกกระทันหัน และระบบปลดล็อกประตูทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสริมเทคโนโลยีใหม่ ทั้งระบบเตือนก่อนการชน Forward Collision Warning ระบบเตือนรถที่แล่นตามมาทางกระจกมองข้าง Blind Spot Intervention ระบบเตือนเปลี่ยนเลน Lane Intervention และระบบป้องกันรถไหล Backup Intervention

ขุมพลังมีให้เลือกทั้ง รุ่นพื้นฐาน รหัส VQ​40DE เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 3,954 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.5 x 92.0  มิลลิเมตร หัวฉีด Multi-point Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ CVTCS กำลังสูงสุด 275 แรงม้า (PS)​ ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 40.2 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที

ส่วนรุ่นที่เราได้ลองขับกัน เป็นรุ่น Platinum V8 วางเครื่องยนต์รหัส VK56VD เบนซิน V8 DOHC 32 วาล์ว 5,552 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 98.0 x 92.0  มิลลิเมตร หัวฉีด DIG (Direct Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ทั้ง CVTCS กับ VVEL แรงขึ้นเป็น 405 แรงม้า (PS)​ ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 57.1 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที

ทั้ง 2 เครื่องยนต์ พ่วงด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ลูกเดียวกัน อัตราทดเหมือนกันทั้งคู่ แต่อัตราทดเฟืองท้ายแตกต่างกัน ตามแต่ละเครื่องยนต์ ดังนี้

  • เกียร์ 1 ………….5.500
  • เกียร์ 2………….3.520
  • เกียร์ 3………….2.200
  • เกียร์ 4………….1.720
  • เกียร์ 5…………..1.317
  • เกียร์ 6…………..1.000
  • เกียร์ 7…………..0.823
  • เกียร์ R…………..0.640
  • เฟืองท้าย……….3.692 (VQ40DE) และ 3.357 (VK56VD)

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นแบบ Part Time เปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยสวิตช์แบบหมุน ถัดจากคันเกียร์ ทั้ง Auto (จะขับล้อหลัง หรือขับ 4 ล้อ แล้วแต่ระบบจะเลือกตามสภาพพื้นถนน) 4H (ขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วสูง) และ กดลงไป หมุนทางขวา เป็น 4L (ขับเคลื่อน 4 ความเร็วต่ำ) มีโปรแกรมการขับขี่ให้เลือก มาพร้อมเฟืองท้าย Rear Differential Lock Helical LSD และระบบ Active Brake Limited Slip

เนื่องจาก หาเวลาจับอัตราเร่งไม่ได้ จึงหาทางจับมาได้แค่เพียง อัตราเร่งแซง 80-120​ กิโลเมตร​/ชั่วโมง​ ภายใต้ข้อจำกัด ตอนกดจับเวลา ด้วยอุณหภูมิ​ 11 องศาเซลเซียส​ มีผม กับคุณโป่ง ชยภัค PR ของ Nissan และคุณ Chris นักออกแบบจาก Nissan Design Center London รวม 3 คน ซึ่งก็ต่างจากมาตรฐานการจับเวลาตามปกติของเว็บเรา (เปิดแอร์ ตอนกลาคืน นั่ง 2 คน เปิดไฟหน้า) ถึงกระนั้น Patrol ก็แบกร่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อีก 3 คน รวมทั้งกระเป๋าถือ และเป้สะพายของทั้ง 3 คน ทะยานข้างหน้าไปด้วยตัวเลขอัตราเร่งแซงทำได้ 6.89 วินาที

แม้ขุมพลังจะเป็นบล็อก V8 แต่เมื่อต้องแบกน้ำหนักตัวรถมากเอาเรื่อง ดังนั้น อย่าคาดหวังว่า Patrol จะพุ่งทะยานแบบรถสปอร์ต เพราะในความจริงแล้ว มันก็ให้สัมผัสการออกตัวแบบ V8 คือมีพละกำลังแรงตื่นตาตื่นใจประมาณหนึ่ง จนถึงช่วงประมาณ 3,000 รอบ/นาที ก็เริ่มเหี่ยวลงนิดๆ แต่ตัวเลขในช่วงเร่งแซงนั้น ถือว่าทำได้ดีอย่างที่ควรเป็นแล้ว

พวงมาลัยแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ในช่วงความเร็วต่ำ กำลังดี ติดเบาและเนือยๆ ตามประสาพวงมาลัยรถใหญ่ คล้าย Mercedes Benz S Class รุ่นเก่าๆ คล้ายๆพวงมาลัยลูกปืนหมุนวนของ Toyota Century Gen 3 ที่เพิ่งตกรุ่นไป มันเป็นพวงมาลัยในแบบที่ผู้สูงอายุ ซึ่งคุ้นเคยกับพวงมาลัยรถแบบโบราณจะชื่นชอบ

ระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของทุกรุ่น เป็นแบบ อิสระ ปีกนกคู่ Double Wishbone แต่เฉพาะรุ่น V8 จะมาพร้อมกับระบบ HBMC (Hydraulic Body Motion Control) ถือเป็นรายแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ติดตั้งอยู่บนเฟรมแชสซีส์ของ Patrol รุ่นก่อนหน้านี้ แต่นำมาดัดแปลงใหม่

ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างซับแรงสะเทือนได้นุ่มนวลดีมากในช่วงความเร็วต่ำ แต่ด้วยขนาดล้ออัลลอยที่ใหญ่ จึงอาจมีอาการตึงตังเข้ามานิดๆ แต่พอเจอทางลูกรัง อาจเจออาการตึงตังจากล้อและยางขนาดใหญ่ นิดนึง.กระนั้น ช่วงล่างก็พยายามดูดซับไว้ได้ดีมากๆ อากัปกิริยาของรถในภาพรวม ก็คือ ยักษ์คันใหญ่ ดูหรู อุ้ยอ้าย แต่บังคับควบคุมง่ายกว่าที่คิด ถ้าคุณคุ้นเคยกับการกะระยะรอบคันได้เรียบร้อยแล้ว

ระบบห้ามล้อของทุกรุ่น เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้าเป็น Caliper แบบ 4 ลูกสูบ ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ 2 ลูกสูบ พร้อมตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist) นอกจากนี้ยังเสริมด้วยระบบควบคุม​เสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control) พร้อม Traction Control รวมทั้งระบบช่วยออกตัวทั้งตอนขึ้นเนิน Hill Start Assist และตอนลงเนิน Hill Descent Control

แป้นเบรกมามาในสไตล์ นิ่ม แบบรถเก๋ง ระยะเหยียบเบรกปานกลาง ไม่ยาว ไม่สั้น แต่อาจต้องเหยียบเบรกลึกสักหน่อย และต้องเผื่อระยะเบรกจากรถคันข้างหน้าประมาณหนึ่ง หากต้องการจะเบรกชะลอจอดติดไฟแดงให้นุ่มๆ ทำได้สบายมากๆ แต่ถ้าเบรกกระทันหัน หน้ารถจะกดลงไปเยอะมากๆ จนต้องใช้ความระมัดระวังขณะขับบนพื้นทราย

 

 

***** สรุป PATROL*****

พี่เบิ้มประจำตระกูล ที่รักษาความดีงาม นุ่มนวลแน่นหนา มาได้ยาวนาน

แม้จะเปิดตัวออกมาจวนจะเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว ทว่า Nissan Patrol ก็ยังคงครองบรรลังก์ในฐานะ Full Size SUV ที่มีขนาดใหญ่สุด หรูสุด แรงสุด จากบรรดาคู่แข่งค่ายญี่ปุ่นด้วยกัน จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ Patrol ยังคงครองใจลูกค้าชาวตะวันออกกลาง ก็คือ ห้องโดยสารขนาดใหญ่ ให้ความสะดวกสบาย เหมาะกับครอบครัวชาวอาหรับ ที่มักเดินทางไปไหนต่อไหน กันยกครัวเรือน 7 คน ไม่เพียงเท่านั้น พละกำลังจากเครื่องยนต์ VK56VD V8 สูบ ก็ยังมีเรี่ยวแรงเกินพอที่จะฉุดลากตัวรถที่หนักอึ้ง พร้อมผู้โดยสาร ลุยไปได้ใทุกสภาพเส้นทาง อย่างนุ่มนวล ด้วยช่วงล่าง HBMC ซึ่งดูดซับแรงสะเทือนได้ดีงามมากๆๆ ในระดับที่ SUV จาก ยุโรป ถึงกับต้องมองค้อนเหลียวหลังที่สำคัญก็คือ รูปลักษณ์อันล้ำสมัยไปล่วงหน้าพอสมควร

PR ของ Nissan Middle East บอกกับผมว่า ถ้าคิดว่า Patrol รุ่นนี้ดีงามแล้ว ให้รอดูรุ่นใหม่ ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดี เพราะตัวรถจะยิ่งดูล้ำสมัยมากขึ้นไปกว่ารุ่นปัจจุบัน อีกทั้งจะยังคงรักษาคุณสมบัติเด่นๆ ทั้งพละกำลัง ความแรง และความนุ่มนวล รวมทั้ง การใส่ใจในงานประกอบ หรือ Perceived Quality อันเป็นจุดเด่นอีกประการหน่งของ Nissan ไว้ได้อย่างดี ขณะเดียวกัน รุ่นต่อไป มีแนวโน้มว่า ต้องประหยัดน้ำมันขึ้น และต้องปล่อยมลพิษลดลงจากเดิมด้วย นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อยเลยทีเดียว กว่าที่เราจะได้เห็น Patrol รุ่นต่อไป อาจต้องรอกันจนถึงปี 2020 ขึ้นไป

น่าเสียดายว่า Patrol จะยังคงไม่มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจาก ลูกค้าในบ้านเราส่วนใหญ่ ยังคำนึงเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นประเด็นสำคัญ พวกเขายังเชื่อว่า เครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเยอะ ย่อมกินน้ำมันมาก จึงหันไปหา Toyota Land Cruiser จากญี่ปุ่น ซึ่งมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กกว่าให้เลือก อีกประการหนึ่งนั่นคือ เนื่องจาก Patrol รุ่นนี้ ถูกยกเลิก ไม่ทำตลาดในญี่ปุ่น บ้านเกิดของตัวเอง ทำให้โอกาสที่พ่อค้าอิสระรายย่อย ที่มักนิยมสั่งนำเข้ารถยนต์ใหม่จากญี่ปุ่นมาขาย ถึงกับไม่รู้จะทำอย่างไร ครั้นจะเบนเข็ม ไปเจรจากับดีลเลอร์ชาวตะวันออกกลาง ก็ดูจะวุ่นวาย และเรื่องเยอะเกินกว่าที่พวกเขาจะกล้าเสี่ยง เราจึงไม่ค่อยเห็น Patrol ใหม่ ในเมืองไทยนัก

————————-

 

Nissan TITAN V8 PRO 4X Crew Cab

สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว รถกระบะ Full Size Truck เป็นตลาดสำคัญที่มีลูกค้าอุดหนุนกันเป็นจำนวนมาก หากวัดกันตามส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ผู้ผลิตชาวอเมริกัน ึรองส่วนแบ่งมากถึง 90% นำโดยจ่าฝูงอย่าง Ford F-150 ตามมาด้วย Chevrolet Silverado และ RAM Truck จาก Fiat Chrysler Automotive Group

นอกจากนี้ ยังผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น อีก 2 รายที่ตัดสินใจขอเข้าร่วมชิงก้อนเค้กส่วนแบ่งการตลาดที่มีเหลืออยู่น้อยนิดราวๆ 10% นั่นคือ Toyota Tundra ออกสู่ตลาดครั้งแรก ช่วงปี 1992 ในชื่อ Toyota T100 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Tundra ในรุ่นถัดมา

อีกรุ่นหนึ่งนั่นคือ Nissan Titan รหัสรุ่น H61 สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังและ Frame Chassis : Nissan F-Alpha Platform ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรถกระบะ และ SUV ขนาดใหญ่ โดย Titan จะใช้ แชสซีส์ โดยเฉพาะของตัวเอง แยกออกมาจาก Nissan Armada รุ่นที่ 2 ซึ่งหันไปใช้โคงสร้างวิศวกรรมทั้งคัน ร่วมกับ Patrol รุ่นปัจจุบันแทน คลอดจากสายการผลิตวันแรก เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2015 ในฐานะรถยนต์รุ่นปี 2016 ของสหรัฐอเมริกา (การนับรุ่นปีของรถอเมริกัน เริ่มต้น ทุกวันที่ 1 ตุลาคม เช่น รุ่นปี 2019 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2018 สิ้นสุด 30 กันยายน 2019 ถ้าขายไม่ออกก่อนวันดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นรถรุ่นปีเก่า ค้างสต็อกกันไป)

Brent Hagen ชายหนุ่มหุ่นหมี ซึ่งชื่นชอบในแบรนด์ Nissan ถึงขนาดที่ว่า มี Patrol ปี 1961 อยู่ที่บ้านเขาเป็นรถสะสม ร่วมกับ Titan และ Armada รุ่นก่อน รวม 3 คัน ผู้ซึ่งรับหน้าที่เป็น Senior Manager , Product Planning , Nissan North America INC. ผู้รับผิดชอบดูแล Nissan Titan ตลอดช่วงวงจรอายุการทำตลาด (Product Life Cycle) ตั้งแต่ การวางแนวคิด ความสามารถในการแข่งขัน ไปจนถึงคุณสมบัติของตัวรถในด้านต่างๆ และเพิ่งเข้ามารับหน้าที่นี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2017 ที่ผ่านมา หลังจากขลุกอยู่กับแผนก Product Planning มานาน เล่าว่า

“Titan ใหม่ ผลงานอันน่าภูมิใจของทีมวิศวกร และผู้เกี่ยวข้อง จาก Nissan North America INC. เพราะนี่คือรถกระบะที่ถูกสร้างขึ้นและ ออกแบบโดยชาวอเมริกัน ที่ ศูนย์ Nissan Design Center ใน California พัฒนางานด้านวิศวกรรมที่ Michigan ทดสอบที่สนามของ Nissan ในเมือง Arizona โดยฝีมือคนอเมริกัน และผลิตขึ้นที่โรงงานในเมือง Canton มลรัฐ Mississippi เพื่อลูกค้าชาวอเมริกันโดยเฉพาะ”

Titan ใหม่ มีตัวถังให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ Single Cab กระบะตอนเดียว ,King Cab กระบะตอนครึ่ง แบบมีห้องโดยสารขยายออกไปทางด้านหลัง (Space Cab นั่นแหละ) โดยชื่อ King Cab นั้น Nissan ใช้มาตั้งแต่ Datsub 620 King Cab รุ่นปี 1977 และ Crew Cab 4 ประตู

ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว สวมยาง P275/70 R18 น้ำหนักรถเปล่า 2,632 กิโลกรัม! แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุดเข้าไป จะหนักถึง 3,362 กิโลกรัม! เริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมรถกระบะแบบนี้ ถึงเข้ามาขายเมืองไทยไม่ได้ เพราะถ้าคุณต้องการจะขับ คุณต้องไปทำใบขับขี่รถบรรทุก 6 ล้อ จากกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน!

ที่สำคัญคือ มีให้เลือกทั้ง Titan แบบปกติ ธรรมดา และ Titan XD ซึ่งถูกเปลี่ยนไปใช้เฟรมแชสซีส์ขนาดใหญ่และยาวกว่า ทนต่อการบิดตัวได้ดีกว่า ร่วมกับรถตู้รุ่นยักษ์ Nissan NV ในตลาดอเมริกาเหนือ (คนละคันกับ NV กระบะเล็กในบ้านเรา) ปรับปรุงให้รองรับงานบรรทุกได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ Diesel จาก Cummins รายละเอียดต่างๆ คลิกดูได้จาก Video Clip ต่อไปนี้

การเข้า -​ออกจาก​บานประตู​คู่หน้าและหลัง แทบไม่มีปัญหาอะไรกับขนาดของช่องทางเข้า – ออก เพราะมันมีขนาดใหญ่โตมโหฬารอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า รุ่น Pro 4 X จะไม่ติดตั้งบันไดข้าง มาให้ อย่างรุ่น Platinum ด้วยเหตุผลว่า รุ่น Pro 4 X เน้นสำหรับการลุยและปีนป่าย หากติดบันไดข้างเข้าไป ตัวบันไดข้างเอง ก็อาจไปครูด หรือเป็นอุปสรรค เวลาขับปีนขึ้นเนิน หรือลงเนินได้บ้างในบางกรณี อย่างไรก็ตาม หากมีบันไดข้าง น่าจะช่วยให้การปีนขึ้น – ลง จากรถ สะดวกสบายกว่านี้มาก กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เปิด – ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เลื่อนลงได้จนสุดขอบราง แต่เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบ One-Touch Auto

ภายใน หุ้มด้วยวัสดุหนังสีดำ เบาะคู่หน้า มีขนาดใหญ่ ประดับด้วยลาย Pro 4 X เป็นพิเศษเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น เบาะคนขับ ปรับเอน เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับดันหลัง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ Memory Seat เฉพาะตัวเบาะเท่านั้น 2 ตำแหน่ง

พนักพิงหลัง มาในสไตล์ แน่นแข็งกว่า Patrol นิดหน่อย ตามประสารถกระบะแนวสปอร์ต แต่พอเจอทางโหดๆกลับกลายเป็นว่า เบาะรองนั่ง ซึ่งมีความยาวพอดีนั้น ดูดซับรับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนนได้ดีมากๆ ขณะที่พนักพิงศีรษะ แข็งแต่​ไม่ดันกบาลมากนัก

เบาะหลัง แข็ง แต่มีมุมเอียงของพนักพิงหลังที่อยู่ในระดับเหมาะสม พนักศีรษะ แข็ง พนักวางแขนพร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พับลงมา พอวางท่อนแขนได้ ส่วนเบาะรองนั่ง หนาและแน่น ใกล้เคียงกับเบาะหน้า แต่สั้นกว่าชัดเจน สั้นจนนึกถึงเบาะรองนั่งของ Honda Accord G7 อันแสนสั้นนั่นเอาเรื่องอยู่ กระนั้น ก็ยังมีมุมเงย รองรับช่วงท้องน่องได้ดีเลย ถ้าถามว่า แล้วคน Asia อย่างเราๆ นั่งเบาะหลังแล้วเป็นอย่างไร ดูได้จากคุณโป่ง ชยภัค PR ของ Nissan ที่นั่งให้เราดูอยู่นี่ พอจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นกันนะครับ

แผงหน้าปัด Dashboard ออกแบบมาได้ร่วมสมัย การตกแต่งด้วยสีเงิน ตัดสลับกับ สีดำ และพลาสติกชุบโครเมียม ช่วยเพิ่มความหรูหรา ดุจแผงควบคุมเรือยอชต์ชั้นดี ชุดมาตรวัด บอกวามเร็วเป็นไมล์/ชั่วโมง ก็จริง แต่ยังมีเลข กิโลเมตร/ชั่วโมงมาให้เผื่อไว้ด้วย  ชุดมาตรวัด Multi Information Display ตรงกลาง เพิ่ม ลูกเล่นต่างๆเข้าไปอีกนิดหน่อย หนึ่งในนั้นคือ หน้าจอ Offroad วัดองศาการเอียงของตัวรถ ตามจุดต่างๆ และมีไฟแจ้งตำแหน่งเกียร์ รวมทั้งระบบขับเคลื่อน มาให้พร้อมสรรพ

พวงมาลัยหุ้มหนัง วงใหญ่พอประมาณ พร้อมสวิตช์ Multi-Function ควบคุมการทำงานได้ทั้งชุดเครื่องเสียง ไปจนถึงระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ส่วนเครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา บอกอุณหภูมิเป็น ฟาเรนไฮต์ อาจจำยากสักหน่อย ต้องปรับความคุ้นชินเล็กน้อย มาพร้อมช่องแอร์คู่ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ติดตั้งฝังกับกล่องคอนโซลกลาง ที่ออกแบบมาให้มีฝาปิด ไว้เป็นข่องวางแก้ว เพิ่มขึ้นได้อีก 2 ตำแหน่ง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น Nissan ยังติดตั้งระบบ Around View® Monitor, ระบบสื่อสาร NissanConnectSM เชื่อมต่อกับระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ,ควบคุมผ่านหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว / 17.8 เซ็นติเมตร ซึ่งมาพร้อมกับวิทยุ AM./FM และ ภาครับจากดาวเทียม SiriusXM® ดูข้อมูลการจราจร และ (Sirius Traffic) และระบบแจ้งและประสานงานข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยว Sirius Travel LinkTM (ซึ่งต้องแยกสมัครสมาชิกต่างหากในแบบรายเดือน) นอกจากนี้ ยังมีระบบสั่งการด้วยเสียง Siri® Eyes Free, ระบบสั่งการด้วยเสียง Nissan Voice Recognition สำหรับระบบนำทางและชุดเครื่องเสียง จาก Rockford Fosgate (ซึ่งให้คุณภาพเสียงดีใช้ได้เลย) รวมทั้งระบบแจ้งเตือนรถที่แล่นตามมาทางด้านข้าง Blind Spot Warning, ระบบแจ้งเตือนเมื่อมียานพาหนะหรือคน ตัดผ่านท้ายรถขณะกำลังถอยหลัง Rear Cross Traffic Alert และกระจกมองหลัง แสดงผลจากล้องท้ายรถ พร้อมกล้อง 360 องศารอบคัน RearView Monitor เพื่อช่วยให้การขับขี่เจ้ายักษ์บ้านบึ้มคันนี้ สะดวกง่ายดายขึ้น

เครื่องยนต์ ของ Titan มีให้เลือก 2 แบบโดยรุ่น Titan XD จะมีเครื่องยนต์ Diesel V8 DOHC 32 วาล์ว 5.0 ลิตร พ่วง ระบบอัดอากาศ Turbocharger 310 แรงม้า (HP) ที่ 3,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 555 ฟุต-ปอนด์ (76.59 กก.-ม.) ที่ 1,600 รอบ/นาที จาก Cummins ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ Diesel สำหรับรถบรรทุกหนักขนาดใหญ่ โดยตัวเครื่องยนต์จะผลิตจากโรงงานในเมือง Columbus มลรัฐ Indiana เชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง หรือ 4×4 แบบ Part Time ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ จาก AISIN

สำหรับรุ่นมาตรฐาน ทุกรุ่น รวมทั้ง Pro 4X ที่เราลองขับกัน จะวางเครื่องยนต์ตระกูล Endurance รหัส VK56VD เบนซิน V8 DOHC 32 วาล์ว 5,552 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 98 x 92 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.2 : 1 หัวเทียน Iridium พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTCS (Continuous Variable Valve Timing Control System) สำหรับวาล์วฝั่งไอดี และ VVEL (Variable Valve Event and Lift) สำหรับวาล์วฝั่งไอเสีย กำลังสูงสุด 390 แรงม้า (PS)​ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 394 ฟุต-ปอนด์ (54.37 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที เพียงแบบเดียวเท่านั้น

เกียร์ อัตโนมัติ​ 7 จังหวะ ติดตั้งคันเกียร์ไว้ที่คอพวงมาลัย แบบ Column shift แถมมีปุ่ม บวก/ลบ อยู่ที่คันเกียร์ แทนที่จะติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle shift มาให้ ทดเฟืองท้ายไว้ที่ 2.937 : 1 พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part Time 4WD มีสวิตช์เปลี่ยนระบบขับเคลื่อน แบบมือหมุน อยู่ที่ ใต้สวิตช์ติดเครื่องยนต์ บนแผงคอนโซลกลาง หากจะเปลี่ยนจาก 4H ไป 4L หรือ 4L กลับมา 4H ต้องกดมือบิดลงไปก่อน เหมือนเช่นรถกระบะหลายๆรุ่น และระบบ Electronics Locking Rear Differential

Brent บอกผมว่า เหตุผลที่ทำคันเกียร์แบบ Column Shift เพราะ Titan รุ่นก่อน Nissan เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ใช้คันเกียร์แบบปกติ Floor Shift (เหมือนรถทั่วไป)​ มาให้ แต่ผลวิจัยตลาด ระบุว่า มีลูกค้าที่อยากได้เกียร์ Column Shift เปรียบเทียบกับแบบ Floor shift ในอัตราส่วน ถึง ครึ่งต่อครึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาวอเมริกัน ต้องการพื้นที่ช่องวางของจุกจิกเยอะมากๆ และคันเกียร์ Floor shift ทำให้พื้นที่วางของ หดหายไป ดังนั้น Titan ใหม่ จึงเปลี่ยนมาใช้เกียร์ Column Shift ดู และผลตอบรับ ก็พอกันกับเดิม คือมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ราวๆครึ่งต่อครึ่งอยู่ดี

การวางเครื่องยนต์ขนาดใหญ่โตแบบนี้ แน่นอนว่า เรื่องอัตราเร่ง คือสิ่งที่หลายคนคงอยากรู้ ว่ามันจะแรงแค่ไหน แน่นอนว่า Titan ทำผลงานได้น่าตกใจมาก จากการจับเวลาของผมกับ ตาโป่ง นั่งกัน 2 คน อุณหภูมิ​แถวๆ 22 องศาเซลเซียส​ ผลลัพธ์​ที่ได้ มีดังนี้

0 -​ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 8.50 วินาที

80 -​120 กิโลเมตร/ชั่วโมง 7.10 วินาที

สำหรับรถกระบะคันใหญ่ยักษ์เท่าบ้าน และใหญ่กว่ารถกระบะแทบทุกคันในเมืองไทย การทำตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกมาได้เท่าๆ Toyota Camry Hybrid​ รุ่นปี 2009 เป็นเรื่องที่ทำเอาผมอ้าปากค้างไปเลย ส่วนอัตราเร่งแซงนั่น ได้ระดับนี้ก็ถือว่าดีถมถืดเหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักตัวรถแล้ว ดังนั้น เรื่องพละกำลัง ไม่ใช่ปัญหาของ Titan เลย มันพร้อมจะทะยานแซงขึ้นหน้าบรรดารถกระบะและ SUV/PPV บ้าพลังทุกคันในเมืองไทย ไปได้อย่างสบายๆ ชนิดที่ว่า หากเป็นรถเดิมๆ ไม่ได้โมดิฟายมา น่าจะตาม Titan ไม่ทันแน่ๆ

ถึงแม้ว่า พวงมาลัย Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค จะถูกเซ็ตมาให้มีแคแรคเตอร์แนวเดียวกันกับ Patrol คือเบา และยานนิดๆ เนือยหน่อยๆ  เอาใจลูกค้าชาวอเมริกัน หมุนจาก Lock-to-Lock ซ้ายขวาสุด ไปซ้ายขวาสุด ได้ 3 รอบ แต่ความหนืดในช่วงความเร็วต่ำจะลดลงจาก Patrol แค่นิดเดียวเท่านั้น ส่วนช่วงความเร็วเดินทาง ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยยังคงรักษา บุคลิกของพวงมาลัยสำหรับรถใหญ่ไว้ตามเดิม ถึงจะหนืดขึ้นแต่ก็แค่นิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะมองว่าพวงมาลัยเบาไปหน่อย แต่ยอมรับได้ถ้าคิดในมุมของชาวอเมริกัน และถือว่ากำลังดี สำหรับการบังคับควบคุมเจ้ายักษ์นี่ แต่ Brent บอกกับผมว่า จากผลวิจัยตลาดลูกค้า หลังปล่อยรถออกสู่ตลาด ลูกค้าชาวอเมริกัน จำนวนไม่น้อย บ่นว่า พวงมาลัยหนักเกินไป…

หา!! นี่หนักของพวกมึงแล้วเหรอ ชาว American แถว Thailand บ้านกูนี่เรียกว่า เบาเลยนะเว้ยเฮ้ย!

Brent ครับ ฝากบอกทีมวิศวกรของ Nissan USA ด้วยเลยนะครับว่า น้ำหนักพวงมาลัยหนะ Titan รุ่นต่อไป เอาแบบนี้เลย แบบรุ่นปัจจุบันนี่แหละ ไม่ต้องปรับแล้วนะเว้ย ถ้าปรับมากกว่านี้ มันจะไม่เหลือความเป็นพวงมาลัยใดๆทั้งสิ้นแล้วนา มันจะเบาหวิวระดับควงสว่านได้ แบบพวงมาลัยรถเด็กเล่นในสวนสนุกแล้วนาเฮ่ย!

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ อิสระ ปีกนกคู่ Double Wishbone ส่วนด้านหลัง เป็นแหนบ! ช่วงล่าง อัพเกรดจากรุ่นปกติด้วยช็อกอัพจาก Bilstein ตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำได้นุ่มนวลกว่าที่คิดไว้ บาลานซ์ระหว่างด้านหน้ากับด้านหลัง ดีมาก ในช่วงความเร็วเดินทาง ก็ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่ารถกระบะเกือบทุกคันที่ผมเคยเจอมา ขับสบาย นุ่มนวล

แต่คุณค่าที่แท้จริงของช่วงล่าง Titan Pro 4X มันอยู่ที่การซับแรงสะเทือนขณะลุยไปบนทางลูกรัง ก้อนกรวดเยอะๆ และมีจังหวะที่ต้องลงหลุมบ่อ หรือ ร่องน้ำแห้งๆ จนรถเหินขึ้น จังหวะที่กดกลับลงมาในระดับปกติ แทบไม่รีบาวนด์เลย ลงมาจังหวะเดียวอยู่หมัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะน้ำหนักตัวที่เยอะ กดลงมาบนช็อกอัพกับสปริงที่เซ็ตมาดี ทำให้บุคลิกในภาพรวม หนึบมาก มั่นใจมาก ในแบบรถกระบะ พูดง้ายๆคือ ดีเกินความคาดหมาย

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ มีตัวช่วยมาตรฐานทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist) นอกจากนี้ยังเสริมด้วยระบบควบคุม​เสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control) พร้อม Traction Control รวมทั้งระบบช่วยออกตัวทั้งตอนขึ้นเนิน Hill Start Assist และตอนลงเนิน Hill Descent Control

จานเบรกคู่หน้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 350 มิลลิเมตร หนา 30 มิลลิเมตร ลูกสูบคาลิปเปอร์คู่ ส่วนคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 345 มิลลิเมตร หนา 20 มิลลิเมตร ลูกสูบคาลิปเปอร์เดี่ยว แป้นเบรก มาในสไตล์เดียวกับ Patrol เพียงแต่ว่า ให้ความมั่นใจในการเบรกดีกว่านิดหน่อย และถ้าจะพยามหยุดรถให้นุ่มนวลเนียนกริ๊ป ก็เลี้ยงแป้นเบรกได้ไม่ยากเย็น

***** สรุป (TITAN) *****
รู้ว่าใหญ่ไปสำหรับเมืองไทย แต่ให้ทำไง ใจมันรักไปแล้ว!

ในบรรดารถกระบะที่เคยขับมาทั้งหมด Nissan Titan V8 Pro 4 X ได้พาตัวเองแซงขึ้นหน้า กลายมาเป็นรถกระบะสุดโปรดที่อยู่ในใจผมไปเรียบร้อยแล้ว ไม่เพียงแค่เป็น Nissan ที่ผมชอบมากสุดในบรรดาทั้ง 4 รุ่น ซึ่งได้ลองขับในทริปนี้ หากแต่มันยังทำให้ผมปันใจจาก Ford Ranger Raptor ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นรถกระบะที่ขับดีสุดในเมืองไทยตอนนี้ ไปได้สบายๆ

จุดเด่นของ Titan ไม่ได้มีเพียงแค่พละกำลังที่แรงจากเครื่องยนต์ Endurance เบนซิน V8 5.6 ลิตร ที่พาคุณทะยานขึ้นไปอย่างนุ่มนวล เท่านั้น หากแต่ช่วงล่าง ที่มาพร้อมช็อกอัพจาก Bilstein กลายมาเป็น Benchmark ใหม่ ที่ผมอยากให้บรรดา วิศวกรผู้ผลิตรถกระบะทุกค่าย ทุกยี่ห้อ หาโอกาสไปเที่ยวในสหรัฐอเมริกา แล้วลองขับ รถรุ่นนี้ให้ได้! มันคือช่วงล่างในแบบที่ผสานความต้องการของลูกค้าทั้งสายลุย และสายขับสบาย เอาไว้ได้อย่างลงตัวมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ทั้งที่ช่วงล่างด้านหลัง ก็ยังคงเป็นตับแหนบ แบบรถกระบะบ้านเรานั่นแหละ! ทีมวิศวกร Nissan เขาทำได้อย่างไร ลองไปศึกษากันดู

สิ่งที่ควรปรับปรุงนั้น มีแค่น้ำหนักพวงมาลัยที่เบาไปหน่อย แต่ในเมื่อ Brent จาก Nissan USA ยืนยันว่า ลูกค้าชาวอเมริกัน ยังเห็นว่า พวงมาลัยรุ่นนี้ หนักไป ผมก็คงได้แต่ยืนยันกับ Brent ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องปรับอะไรแล้ว ปล่อยใหมันเบาประมาณนี้ และพอมีน้ำหนักลงเหลืออยู่บ้างสักนิดนึงก็ยังดีเถอะ ไม่เช่นนั้น มันจะเบาโหวงเกินไป อาจคุมง่ายในความเร็วต่ำ แต่มันอาจจะโหวงไปหน่อย ถ้าต้องใช้ความเร็วเดินทาง ช่วง 55 – 75 ไมล์/ชั่วโมง (หรือไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง) นอกนั้น ค่อนข้างลงตัวมากๆ แล้ว สำหรับรถกระบะที่ Nissan จะใช้ต่อกรกับ เจ้าตลาดทั้ง Ford F-150 , Chevy Silverado ,Ram Truck และ Toyota Tundra

 

————————–

 

********** สรุป **********

อย่าเก็บของดีๆ เอาไว้ให้แต่ลูกค้าเมืองนอก
ช่วยเอาของดีๆ เหล่านั้น มาขายคนไทยทีเถอะ!

 

การเดินทางไปทดลองขับรถกระบะ และ SUV ของ Nissan กันไกลถึงทะเลทราย Sahara ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นอกจากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการขับรถท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังทำให้ผมได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงว่า ถ้า Nissan จะทำรถดีๆ ออกมา ให้ลูกค้าได้ใช้ พวกเขาทำได้ และทำได้ดีกว่าคู่แข่งในหลายประการด้วย

เพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ Nissan เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีกฎระเบียบ ข้อบังคับ (Policy) ต่างๆนาๆ มากมาย ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด นี่ยังไม่นับเรื่องการเมืองภายในองค์กร ทั้งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่นกับต่างชาติ ทั้งฝรั่งเศส อินเดีย ฯลฯ อีกนับไม่หวาดไหว

เอาง่ายๆ แค่เรื่อง “การปั้นแบรนด์เน้นสมรรถนะสูงๆ อย่าง Nismo ให้เปิดกว้างสู่ตลาดสากล” นี่ก็เป็นตัวอย่างของความน่าปวดเศียรเวียนกบาลเป็นที่สุด เพาะในขณะที่ Nissan ญี่ปุ่น อยากทำของแรงๆ ดีๆ ออกมาขาย พวกเขากลับกลัวไม่มีคนซื้อ เพราะต้นทุนการพัฒนามันสูง เลยจำเป็นต้องตั้งราคาแพง เพื่อชดเชยกันไป และเอากำไรกันหน่อยๆ พอให้โครงการเล็กๆแบบนี้ มันไปรอด

จริงอยู่ว่า Nissan มี รถยนต์รุ่นหลักที่ถูกนำไปพัฒนาออกมาเป็นเวอร์ชัน Nismo แล้ว อย่าง Note Nismo, Juke Nismo, Fairlady Z (370Z) Nismo , GT-R Nismo 600 แรงม้า (PS) หรือ Elgrand Nismo นี่คือ 5 รุ่นหลัก สำหรับตลาดญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม Nissan ก็ยังเปิดกว้างให้ตลาดอื่นๆ ที่มีความสำคัญ และทำยอดขายได้ดี ลองหาทางเจรจากับญี่ปุ่น ขอให้ช่วยทำเวอร์ชัน Nismo ออกมาสำหรับตลาดของตนบ้าง อย่างในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ Sentra Nismo มาเลเศีย ก็มี Teana Nismo ตลาดตะวันออกกลาง ก็มี Patrol Nismo (!!)

ส่วนเมืองไทยนั้น ด้วยสารพัดข้อจำกัดมากมาย ทีม Nissan บ้านเรา ทำได้แค่เพียง ยก Almera มาใส่ชุดแต่งให้ดูดุ แล้วออกขายในชื่อ Almera Nismo…(-_-‘) ซึ่งพอออกสู่ตลาด กลับกลายเป็นว่า มันไปดึงให้ลูกค้าเดินเข้าโชว์รูม แล้วเซ็นใบจอง Almera Sportech ซึ่งเป็นเวอร์ชันแต่ง เกือบครบ จากโรงงาน มากกว่า เสียอย่างนั้น

ผมรู้ว่า คนข้างใน ก็พยายามจะดันอย่างหนัก ขนาดได้ยินมาลอยๆ จากไหนสักแห่งไม่รู้และจำไม่ได้แล้ว ว่า ประธานฝรั่งเศส คนปัจจุบัน อย่าง “อองตวน บาร์เตส” ที่ผมแอบตั้งความหวัง ก็ยังเคยพยายาม ขอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาขายคนไทยแล้ว  และพยายามอย่างหนักมากด้วย แต่สุดท้าย…พวกคนที่สำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงยืนยันวิธีการคิดแบบเดิมๆว่า “ถ้าขายรถยนต์รุ่นที่ผลิตอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ดี แล้วฉันควรจะเสี่ยงลงทุนทำรถรุ่นใหม่ ให้คุณเอาไปขายไหม?

เอ้า! แล้วเมื่อไหร่มันจะมีวันที่ Nissan ไทยได้เฉิดฉายล่ะครับ ก็เพราะพวกคุณทั้งหลายขายแต่ของเก่ากันอยู่แบบนี้ ถ้าเป็นแม่ทัพ ก็เป็นแม่ทัพประเภทส่งทหารไปสู่ศึกครั้งใหญ่ แต่ไม่ให้ปืนผาหน้าไม้สักกระบอกด้วยเหตุผลว่าพวกแกยังพิชิตสมรภูมิมาไม่มาก เอาดาบไปก็พอ แต่ให้เอาดาบไปสู้กับปืน โถ..เวรกรรม คู่แข่งเขาไปถึงไหนต่อไหนกันหมดแล้ว Nissan ในไทยจะเอาอะไรไปสู้เขาได้ ถ้าพวกยู ไม่เอาของที่ขายดีมาให้แล้วไอจะสร้างยอดขายให้ยูได้ยังไง ยอดขายเพิ่มขึ้น มันไม่อาจใช้ปาฏิหาริย์จากไหนมาช่วยได้นะว้อย

หรือประเด็นเรื่องช่วงล่าง 5 Link คอยล์สปริง ที่ยังขายในบ้านเราไม่ได้ เพราะติดเรื่องภาษีที่สูงมาก จนทำให้ราคาขายปลีก กระโดดไปไกล ถึงวันนี้ NMT คงเห็นแล้วว่า ขนาด Ford Ranger Raptor ปาเข้าไปคันละ 1.ุ69 ล้านบาท ก็ยังมีคนอุดหนุนกัน พรึบเดียว หมดเกลี้ยงเรียบร้อย นั่นหมายความว่า มันยังมีนะ กลุ่มลูกค้าเขามองอะไรลึกกว่านั้น คุณต้องตีโจทย์ให้แตกกว่านี้ และเอาเข้าจริง การทำ ถ้าคุณทำรถที่มันหล่อจริง ของครบจริง หรือลองทำ Navara NISMO ก็ได้ ทำให้มันสวยจนคนเห็นแล้วต้องอยากได้ นี่ล่ะคือความท้าทายสำคัญ ซึ่งมันจะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ Nissan ในสายตาคนไทยได้อย่างจริงจังกันเสียที

แต่เชื่อเถอะ ผมเขียนไปขนาดนี้ พวกญี่ปุ่นที่ Yokohama ก็ไม่ฟังหรอก สนใจอย่างเดียว “ยอดขายอ่ะ ทำได้ไหม? Commit ยอดขายไว้กี่คัน ต้องขายให้หมดนะ ไม่งั้น คุณโดนเด้งนะ” ก็คิดกันได้แค่นี้จริง..เฮ้อ…..

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งในปัญหาที่ Nissan Motor Thailand กำลังเผชิญอยู่ และผมอยากจะเรียกร้อง…”ให้คนญี่ปุ่นที่ Yokohama HQ ทั้งหลาย” ช่วยปล่อยของดีๆ มาขายคนไทยด้วยบ้างเถอะ! อยากให้ Nissan ขายดีในเมืองไทย ก็ช่วยเอาของดีๆ มาขาย ไม่ใช่เอาแต่เก็บกักไว้ ขายแต่ในตลาดอื่นๆ เพียงอย่างเดียว ขนาด Terra ยังมีลูกค้าทวีปอื่น นอกเหนือจาก Asia สนใจอยากได้เลย แล้วทำไมถึงไม่ขยายการส่งออก ไปเปิดตลาดที่อื่นกันเสียบ้างเล่า? จะสงวนไว้ให้แค่ Asia กันอย่างเดียว เพื่ออะไร? เพื่อให้ยอดขายมันลดลงๆ รอวันแห้งเหี่ยวเฉาตายกันหรืออย่างไร?

หรือจะเป็นเรื่องที่พยายามโหมประชาสัมพันธ์เหลือเกินกับไอ้ “Nissan Intelligent Mobility” ทำมาทำไป คนไทยก็ไม่รู้ว่ามันคือ ปรัชญาประจำค่าย เพราะเล่นเอาไปแปะกับเครื่องนั่นนี่ กับกล้องรอบคัน จนบางคนคิดว่ามันคือระบบไฟฟ้าอะไรสักอย่างในรถ อันนี้ไม่ใช่ว่าทางไทยสื่อสารไม่ดี แต่เจ้านายทั้งจากแดนฝรั่งและญี่ปุ่นต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่ข้อความแบบที่ติดหูและเข้าใจได้ง่ายโดยคนไทยโว้ยครับ

พี่แพนเขาขอฝากบอกว่า “คนไทยไม่ได้อินกับคำว่า Intelligent และ Mobility แต่ถ้าคุณอยากจะให้เจริญในภายภาคหน้า ก็ทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้น Intelligent = ฉลาด Mobility = การไปไหนมาไหนหรือยานพาหนะ สิ่งที่คนไทยต้องการจาก Nissan ไม่ใช่รถที่มีอะไรเยอะแยะในเชิงปรัชญา ไฟฟ้า หรือจอรอบคันรอบโลก Nissan Intelligent Mobility ต้องถูกปฏิบัติตามอย่างจริงจังโดยการสร้างหรือส่งรถที่เป็น New & Inspiring Move มา หารถใหม่ให้กับเรา รถใหม่สด ที่จะบันดาลใจให้คนเห็นแล้วก็อยากได้โดยไม่ต้องดูโบรชัวร์เหมือนสมัยก่อนที่เรามี Cefiro A31 กับ 200SX S13 ซึ่งมันจะสร้างยอดขายและขวัญกำลังใจ เป็นชีวิตใหม่ที่ชาว Nissan ในไทยสมควรได้รับเสียที!”

ที่เขียนมานี้ เพราะหลายๆคน ก็รู้เป็นการส่วนตัวว่า ผมรักแบรนด์ Nissan มาก จนรู้สึกทนไม่ไหวอีกต่อไป ที่จะเห็น Nissan มีสภาพเป็นมนุษย์ป้า ถือไม้เท้าเดินหลังค่อม ตามบรรดาคู่แข่ง อยู่ห่างๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น กันต่อไปแบบนี้

ผมรัก Nissan มาก ยิ่งรักมาก ยิ่งรู้สึกว่า ต้อง “ด่า” ให้มากขึ้น

และจะด่าต่อไป ด้วยความรักและปราถนาดี เป็นห่วงจากใจจริงๆ

ด่าจนกว่า อะไรๆมันจะดีขึ้นกว่านี้เสียที

เอาวะ ถ้าเราเคยด่า Toyota จนในที่สุด พวกเขา ทำรถออกมาดีขึ้นได้จริงจังขนาดนี้ ก็ลองใช้วิธีนี้กับ Nissan ดูซะที เผื่ออะไรๆมันจะดีขึ้นบ้าง…หวังไว้ลึกๆ ทั้งที่รู้ว่า ยากเกินเป็นไปได้…

จาก…ลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งมีรถ Nissan ทั้งเก่าหงำเงอะ

และรถใหม่อายุ 2 ปี จอดตากฝุ่นอยู่ในบ้าน 5 คัน (รวมกระบะส่งของ 2 คัน)

 

———————///———————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
คุณชยภัค ลายสุวรรณ และทีม ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
รวมทั้ง LCV Division
Nissan Motor Co.,ltd
และ Nissan Europe รวมทั้งทีม Organizer ผู้จัดงานชาว Spain
เอื้อเฟื้อการเดินทาง และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ อย่างดี
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย มีทั้งของ ผู้เขียน และทีมงาน Nissan Europe
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
3 ธันวาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 3rd,2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!