ยังไม่ทันที่ฝักบัวในห้องน้ำจะปิดสนิทดีนัก
เสียงโทรศัพท์ มือถือ ก็ร้องซะดังลั่นระงมบ้าน…
เสียงจากปลายสาย อันคุ้นเคย ออกจะทำให้ประหลาดใจเล็กน้อย
ก็แน่ละ ผมกำลังคิดถึง “เจ้าหนึ่ง” อยู่พอดี ว่าทำไม หายหัวหายตัวไปนานแล้ว
หนึ่ง เป็นเพื่อนเก่าแก่ แห่งสำนักงาน Hutch ณ เดอะมอลล์บางกะปิ
หมอนี่เคยมาช่วยผมจับเวลาทดลองรถ กันในยุคแรกๆ ที่ผมเริ่ม
นำรถมาทำบทความรีวิวกัน นอกจากนี้ หนึ่งยังครองตำแหน่งเป็น
“นายช่างซ่อมจักรยานประจำตัว” ของผม อีกด้วย
อะไรกัน แค่จักรยาน จิมมี่ มันยังซ่อมไม่เป็นเลยเหรอ?
ใครว่าไม่เป็น?? เป็นครับ แต่ มือผมไม่เที่ยง และไม่ได้ละเอียดละออ
ในการปรับตั้งมากเท่ากับความสามารถของ หนึ่ง เลยต่างหาก
เพราะ เจ้า เมาเทนไบค์ คันถูกๆ ที่ผม..(จอดทิ้งไว้ และกำลัง
จะปัดฝุ่นเอาออกมา) ขี่ประจำ (อีกรอบ) นั้น ที่ผ่านมา หนึ่งคือคนแนะนำ
พาไปซื้อ จัดแจง จัดการสารพัดอย่าง ให้จนหมด ในวันที่เขาว่าง
เพียงแต่ว่า การกลับมาของ หนึ่ง คราวนี้
เปิดเรื่องด้วยบทสนทนา ที่แปลกมาก
“เฮ้ย จิมมี่ หวัดดี ไม่ได้คุยกันตั้งนาน”
“มึงเชื่อปะ เมื่อกี้นี้ กูกำลังคิดถึงมึงอยู่พอดีเลย ว่าหายไปไหน เออ มีอะไรว่ามา”
“คืองี้ มึงเคยเห็นโฆษณาในหนังสือรถ ของ Honda FREED ใหม่หรือเปล่า?”
“อืมม เคยเห็น ทำไมเหรอ?”
“กูรู้สึกแปลกๆวะมึง คือ สิ่งที่กูเห็นตอนนี้ มันเป็น รถ Freed คันสีขาว
ถ่ายออกมาตอนจอดอยู่หน้าตรง แล้ว ทั้ง 2 ฝั่ง มี พ่อแม่ลูก และอีกฝั่งหนึ่ง
มีพี่ชาย น้องสาว ใส่ชุดดำ ยืนหน้าบึ้ง ไม่ยิ้มเลย กูว่า มันเหมือนเป็น
รถสำหรับคนตาย เลยวะ”
อ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!!
กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด
@#$%^&*(*0*)(>_<‘)(T_T’)*&^%$#@!!! (ขออภัย ต้อง Censored จริงๆ)
bla bla bla ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
เอาแล้วไง เปิดบทสนทนาขึ้นมา เจ้าเพื่อนวาจามหาประลัย
ก็เริ่มต้นพาให้ผมเสียวไส้ กันแบบไม่ให้ตั้งท่ารอ เลยทีเดียว!
ผมทำได้แต่เพียง ด่าออกไปซะดังลั่นสนั่นบ้าน จำไม่ได้หรอกว่า ด่ามันไปอย่างไรบ้าง
แต่เท่าที่นึกออก บางส่วน ผมว่าคงจะไม่ได้หมดแค่เขาดินแน่ๆ แต่ยกมาหมดครบทุกตัว
จากสวนสัตว์ทุกแห่ง ขององค์การสวนสัตว์ แห่งกระทรวงเกษตรฯ แหงๆ!
และทำได้แค่นั้นจริงๆ เนื่องจาก เราคุยโทรศัพท์กันอยู่ นี่ถ้าเจ้าตัวมันอยู่ใกล้ๆ
ผมอยากจะรีบ เอามืออุดปาก และบีบคอมันอย่างด่วนซะเลยเชียว!!
ทำไมหนะเหรอครับ?
เอาตรงๆเลยนะ
ผมจะไม่ว่ามันสักคำเลย ถ้าเช้าวันรุ่งขึ้น (8 มกราคม) รถที่ผมจะต้องไปรับมา
ทดลองขับ ทำรีวิวให้คุณๆ ได้อ่านกัน มันจะไม่ใช่ รถคันสีขาว คันเดียวกับ
ที่คุณเห็นหน้าค่าตาของมันอยู่ตอนนี้…หนะเสะ!!
“ไอ้บ้าเอ้ยยย แก๊ๆๆๆๆๆ ถ้าฉันเกิดเป็นอะไรไป ขึ้นมาในรถคันนี้
แกรอได้เลย ฉันจะตามไปบีบคอแกถึงบ้านเลยคอยดู๊ๆๆๆๆๆ!!!”
“อ้าว จริงเด่ะวะ แหะๆๆๆๆ ฮ่าๆๆๆๆๆๆ”
นั่นละครับ เจ้าหนึ่งในตอนนั้น มันได้แต่หัวเราะเฝื่อนๆ
เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมา ของผม สิ่งใดที่เจ้าหนึ่ง พูดออกมา
สิ่งนั้นมักจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างแม่นยำราวกับจับวางไปเกือบจะทุกครั้ง
ราวกับวาจาศักดิ์สิทธิ์ของพระร่วงยังไงยังงั้นเลยทีเดียว!!!
เล่นเอาผมได้แต่ภาวนาว่า ขอให้ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืนต่อไป
จะต้องเรียบร้อยดีทุกประการ จนสามารถส่งรถคืนกลับทาง Honda ได้
โดยที่ไม่บุบสลาย อยู่ครบ 32 กันทั้งคนทั้งรถ ด้วยเถิดดดดดดดดด!!
จนถึงตอนนี้ เจ้า Freed น้อย คันสีขาวมุก ถูกนำไปจอดนอนหลับ
อยู่หลังออฟฟิศสำนักงานใหญ่ของ Honda ย่านบางนาเรียบร้อยนานแล้ว
ท่ามกลางความดีใจ ที่เราต่างเอาตัวรอดจากความวุ่นวายสับสนอลหม่าน
หลังบ้านทรายทอง..เอ้ย! สภาพการจราจร ของ กรุงเทพมหานคร ที่เห็นแล้ว
ใจจะขาดรอนรอน จนไม่อยากลืมตาตื่นนอน มาได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีอะไร
เสียหาย รถไม่เป็นรอยขูดขีดอะไรทั้งนั้น แถมเจ้าหนึ่ง ก็ยังอุตส่าห์โทรมาเช็คถาม
ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ว่า ทั้งผม และเจ้า FREED น้อยสีขาว ยังปลอดภัยดีอยู่
พูดถึงสีขาว ขอพล่ามอีกสักนิดนึงเถอะ ไหนๆ อารัมภบทมันก็ยาวเกินกว่าตั้งใจ
มาตั้งหลายย่อหน้าแล้วละ เพราะผมเพิ่งเริ่มสังเกตเหมือนกันว่า นับตั้งแต่
ปลายปีที่แล้ว จนถึง ต้นปีนี้ รถที่เรานำมาทดลองขับ ทำรีวิวกันนั้น ดูเหมือนจะมีแต่
สีขาวทั้งนั้นเลย ไล่ตั้งแต่ Subaru Legacy Wagon Mercedes-Benz SLK จนถึง
Volvo S40 รวมทั้ง FREED ทั้ง 4 คันนี้ ล้วนเป็น สีขาวทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกดี
ใจหนึ่งก็อยากจะถาม บริษัทรถยนต์ต่างๆ ว่า พี่ไม่คิดตัดรถสีอื่น มาเป็น
รถ Demo ให้ทดลองขับกันบ้างเลยเหรอ แต่พอถึงเวลาที่จะเลือกดูสีอื่น
ขึ้นมาจริงๆ กลับกลายเป็นว่า พอเวลาถ่ายรูปออกมา มันไม่สวย และ
สะดวกง่ายดาย ในการเล็งมุม เท่ากับรถสีขาวเลยแหะ ท้ายที่สุด แม้แต่
FREED เราก็ยังต้องขอรบกวนทาง Honda ว่าช่วยเลือกคันสีขาวมา ให้ทางเรา
ซึ่งเมื่อถ่ายรูปออกมา ก็พบว่า คิดถูกเป็นอย่างยิ่งจริงๆเลย
เอาละ อารัมภบทไร้สาระที่ยาวเฟื้อยบ้าเลือดเกินเหตุข้างบนทั้งหมดนี้ ก็จบลงซะที
ได้เวลาแล้วละครับ ที่เราจะเริ่มมาค้นหาข้อดี ข้อเสีย จากรถคันหนึ่ง ซึ่งหายไปจาก
กระแสความสนใจของผู้คนในสังคมเรียบร้อยแล้ว
เพียงเพราะ ราคาเปิดตัวอันดุเดือดของมัน เท่านั้นเลย…(จริงเหรอ?)
สิ่งที่ Honda เอง กลุ้มใจมาตลอด สำหรับตลาดในญี่ปุ่น บ้านของตัวเอง อยู่เรื่องหนึ่ง
คือจะทำรถยนต์ออกมาอย่างไร ให้ตอบโจทย์ กลุ่มลูกค้า ที่ต้องการมินิแวน
แบบ 5-7 ที่นั่ง ซึ่งต้องมีความอเนกประสงค์ เอาเรื่อง ไม่ใช่แค่ขนเพื่อนเที่ยว
แบบ Honda Stream หากแต่ว่างบประมาณไม่มากพอที่จะยกระดับขึ้นไป
อุดหนุน มินิแวนรุ่นใหญ่กว่า ทั้ง Honda STEPWGN Odyssey และ Elysion
เพราะตลาดกลุ่มนี้ แม้เป็นตลาดที่ Nissan จะเคยบุกเบิกเอาไว้ ด้วย Nissan Prarie
ตั้งแต่ปี 1982 ยาวจนถึงปี 2004 แต่ Honda เอง ก็เพิ่งจะเริ่มทำตลาดรถยนต์แนว
อนเกระสงค์ Minivan กับเขาบ้างเป็นครั้งแรก ก็เมื่อปี 1994 กับรุ่น Odyseey มานี้เอง
นั่นหมายความว่า ก่อนหน้านี้ Honda ไม่เคยมีรถมินิแวน ที่มีขนาดเล็ก
ไปกว่า Stream ขายแข่งกับใครเขาเลยสักที จะหวังพึ่งการนำรถตู้ขนาด K-Car
660 ซีซี รุ่น ACTY STREET มาตกแต่งเพิ่มเติม เหมือนแต่ก่อน ก็ไม่เข้าท่านัก
จนกระทั่ง ปี 2001 Honda ได้เปิดตัว Mobilio มินิแวน 7 ที่นั่ง ขนาด 1.5 ลิตร 88 แรงม้า (PS)
ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของ Fit / Jazz รุ่นแรก ถังน้ำมันอยู่ตรงกลางเหมือนกันเป๊ะ เผยโฉม
ครั้งแรก ในฐานะรถต้นแบบ S.U.U ณ งาน Tokyo Motor Show ตุลาคม 2001 และออกขาย
หลังจากนั้นแค่ 2 เดือน ด้วยรูปทรงที่เอาโบกี้รถรางไฟฟ้าของยุโรปมาเป็นแรงบันดาลใจ
ในการพัฒนา ให้รถมีกระจกโปร่งสว่างรอบคัน และเน้นความอเนกประสงค์สุดขีด ตามแนวทาง
Man Maximum , Machine Minimum อันเป็นแนวทางการออกแบบของ Honda ขนานแท้
แต่กลับไม่อาจดึงดูดใจลูกค้าได้มากมายนัก เป็นเรื่องแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะต่อให้พยาม
กระทุ้งตลาด ด้วยเวอร์ชันเอาใจวัยรุ่น อย่าง Mobilio Spike ก็ยังไม่เห็นจะมียอดขายดีขึ้น
เท่าที่ตั้งใจไว้เลย
เหตุผล มีมากมายหลายประการ ตั้งแต่ รูปร่างที่ยังดูแข็งทื่อไปหน่อย จนถึงเครื่องยนต์ที่ยังแรงไม่พอ
แม้ว่าจะเพิ่ม ขุมพลัง L15A เวอร์ชัน 110 แรงม้า (PS) เข้าไปในระยะหลังๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
จะช่วยกระตุกยอดขายให้ดีขึ้นได้แต่อย่างใด
กระนั้น Honda เองก็ยังไม่ยอมแพ้ และดำริจะสร้างรถยนต์รุ่นต่อไป ให้ดีกว่านี้ เพราะ
เล็งเห็นแล้วว่า ตลาดกลุ่ม Compact Minivan นั้น มีช่องว่างให้เติบโตได้อีกเยอะ
Hiroshi Yasuda วิศวกรของ Honda จึงถูกเลือกมาให้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมพัฒนา
หรือ Develpment Director ของโครงการสร้างรถยนต์ มินิแวน ขนาดเล็กรุ่นใหม่ ซึ่ง
จะต้องทำตลาดแทน Mobilio ทั้ง 2 รุ่น โดยยังคงจะต้องใช้ประโยชน์จากโครงสร้าง
พื้นฐานงานวิศวกรรม ร่วมกันกับทั้ง Honda Fit / Jazz และ City ใหม่ ให้ได้ประโยชน์
สูงที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งการใช้เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน
ระบบเบรก และ พื้นตัวถัง ที่จะต้องถูกนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับประเภทและ
รูปแบบการใช้งานของรถรุ่นนี้ และนี่ละ คือที่มาของ FREED
สิ่งที่ Yasuda กำหนดเอาไว้ ให้เป็น แนวคิดหลักของการพัฒนา FREED ก็คือ
“Freedom to create the perfect lifestyle” และนั่นคือที่มาของชื่อรุ่น FREED
ซึ่งก็คือการนำเอาคำว่า Freedom แปลว่า อิสระ มาบวกกับคำว่า Do ที่แปลว่า ทำ นั่นเอง
ทีมออกแบบ FREED ของ Honda R&D ได้แรงบันดาลใจ ในการออกแบบรถตู้รุ่นนี้
จากบรรยากาศของร้านกาแฟ แบบ Open Cafe ในเขต Setagaya กลางนคร Tokyo ของญี่ปุ่น
ลองนึกถึงภาพที่ สองแม่ลูก หยอกเอินกันในบรรยากาศแบบนั้นดูสิครับ แสงแดดอันอ่อนละมุนยามเช้า
หรือบ่าย ที่ตกกระทบกับ แก้วกาแฟ อย่างพอเหมาะ ความรื่นรมณ์แบบนั้นแหละ ที่เป็นแรงบันดาลใจ
ในการออกแบบรถตู้ เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าผู้เป็นแม่บ้าน ผู้มีรสนิยม ในการใช้มินิแวน
ขนาดพอเหมาะ เพื่อรับส่งบุตรหลานของตน ในเมืองใหญ่ๆ
แต่ด้วยแรงบันดาลใจแค่นั้น ยังไม่พอ ทีมออกแบบของ FREED จึงบินไปยัง ประเทศ Italy
พวกเขาไปยัง สตูดิโอออกแบบของ Honda ใน Milan เพื่อจะค้นหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติม
จนได้พบว่า อิตาลี อันเป็นเมืองที่โดดเด่นด้านศิลปะนั้น ตึกรามบ้านช่องส่วนใหญ่หนะ
ก่อร่างสร้างขึ้นจากก้อนอิฐ ในลักษณะที่แข็งทื่อ แต่มีเสน่ห์ ดังนั้น ถ้าจะสร้างรถสักคัน
ที่เหมาะแก่การขับใช้งานในเมือง รถคันนั้น จะต้องมีแนวเส้นสายที่ ทั้งดูโดดเด่นออกมา
จากตึกรามบ้านช่องเหล่านั้น ทว่า ยังต้องมีความโค้งมนที่กลมกลืน และสามารถร่วมเป็น
ส่วนหนึ่งของภาพเมืองในลักษณะนั้นได้
โห! จะสร้างแค่ Compact Minivan สักรุ่น ยังต้องคิดกันมากมายขนาดนี้เชียวเหรอเนี่ย!?
เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ Honda ก็เริ่มแคมเปญเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
เมื่อ 23 พฤษภาคม 2008 โดย มี Sean Ono Lennon ลูกชาย พยานรัก ของ John Lennon
อดีตสมาชิกของวง The Beatles (ที่เสียชีวิตไปอย่างไม่ควรจะเป็น) และ Lisa Ono
มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับรถรุ่นนี้ ภายใต้แคมเปญ “Tri-angle + Square” หรือ
การนำรูปสามเหลี่ยม มาประกบกับ กล่องสี่เหลี่ยม
รูปสามเหลี่ยมนั้น ถูกแทนความหมายถึงสิ่งที่ พุ่งไปข้างหน้า อย่างโฉบเฉี่ยว
แต่ กล่องสี่เหลี่ยมด้านหลังนั้น สื่อถึงความอเนกประสงค์ ของห้องแห่งหนึ่ง
เมื่อ สามเหลี่ยมมุมฉาก ถูกจับประกบกับ สี่เหลี่ยม ก็จะทำให้เกิดเป็น รถตู้แบบ
1 BOX and a half ซึ่งก็คือ FREED นั่นเอง
และในช่วงเวลาไม่กี่วันหลังเปิดตัวในญี่ปุ่น กระแสของ Freed ก็แรงเข้าขั้น
สถานการณ์พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ Minivan รุ่นใหม่ มีกระแสตอบรับ
ดีเกินคาด งานนี้ Honda คว้าทั้งกล่อง คว้าทั้งรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ตั้งแต่การคว้ารางวัล 2008-2009 CAR OF THE YEAR ของญี่ปุ่น ในประเภท “BEST VALUE”
เป็นรางวัลพิเศษ ที่มอบให้กับรถยนต์ที่ คณะกรรมการเล็งเห็นแล้วว่า คุ้มค่าที่สุด ในปีนั้นๆ
รองลงมาจากรางวัลหลัก
ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ ยอดขายของ FREED พุ่งขึ้นแรงมาก จนกลายเป็น Best seller Minivan
หรือ รถมินิแวนที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ช่วงเดือน กรกฎาคม – ธันวาคม 2008 แบบที่
ทิ้งห่าง พี่ใหญ่รุ่น StepWGN ไปหลายช่วงตัว
และนับจากเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2008 จนถึงเดือนตุลาคม 2009 หรือประมาณ
1 ปี กับอีก 5 เดือน ผ่านไป Honda ผลิตและจำหน่าย FREED ออกไปแล้ว มากถึง 113,005 คัน!!!
ทีนี้ ทันทีที่เปิดตัวในญี่ปุ่น กระแสเรียกร้องจากชาวอินโดนีเซีย และชาวไทยบางส่วน
ที่อยากได้ มินิแวน อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง คันเล็ก ก็เริ่มเกิดขึ้นทั่วไป ในสังคมอินเตอร์เน็ต
ที่เชื่อมถึงกัน อย่างฉับไวในแทบจะทันที ที่งานเปิดตัวในกรุงโตเกียว จบลง
Honda ก็เริ่มพิจารณาอย่างจริงจัง จนพบว่า กระแสความนิยมของรถยนต์ Minivan
ในตลาดอินโดนีเซียนั้น ค่อนข้างรุนแรง (กว่าในบ้านเรา) เยอะมาก เอาเฉพาะแค่ปี 2008
เพียงปีเดียว ยอดขายรวมทั้งตลาดของรถ Minivan ในหมู่เกาะนี้ ปาเข้าไปถึง 231,000 คัน!!
หรือคิดเป็น 40% ของยอดขาย รถยนต์ทั้งหมด ใน อินโดนีเซีย!!
และที่ผ่านมา Honda เคยพยายามส่ง Stream เข้าไปผลิตในดินแดนตากาล็อก มาแล้วหนหนึ่ง
แต่สุดท้าย ด้วยการประกอบที่ไม่ได้เรื่อง อย่างที่รถใหม่ป้ายแดงควรจะเป็น ก็เล่นเอาหลายคน
เข็ดกับงานประกอบจากอินดนีเซียไปพักใหญ่ ขนาด Honda อินโดฯ ย้ายการผลิต Stream
รุ่น Minorchange ไปไว้ยังโรงงานแห่งใหม่แล้ว ก็ยังมีภาพเก่าๆ โผล่มาตามหลอกหลอนกัน
อยู่บ้าง และนั่นคือประเด็นสำคัญ อีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้ Stream ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ในตลาดอาเซียน
แน่นอนว่า Honda เอง ก็อยากจะหารถ Minivan 7 ที่นั่งคันเล็กๆ มาทำตลาดในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว
ดังนั้นพวกเขา ก็เลย ยอมให้ P.T. Honda Prospect Motor นำ Freed ไปประกอบขาย ณ
โรงงานของตน และออกสู่ตลาดอินโดนีเซียครั้งแรก เมื่อ วันที่ 11 มีนาคม 2009 ซึ่งแน่นอนว่า
จะต้องมีการประกอบส่งขายให้ได้ทั่วละแวกเขตอาเซียน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน
ขึ้นไลน์ประกอบ รถรุ่นนี้ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นก็เลยทำให้ ประเทศไทย
กลายเป็นอีกเป้าหมายสำคัญ ในการส่งรถรุ่นนี้เข้ามาเปิดตลาด
Honda เอง ก็เงื้อศรเล็ง มาพักใหญ่แล้ว ว่าอยากจะนำ FREED เข้ามาขายในบ้านเรา ทั้งด้วยการ
สั่งนำเข้ารถสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น มาทดลองตลาด ขับทดสอบ เก็บข้อมูล ต่างๆนาๆ เต็มไปหมด
ก่อนการเปิตตัวตั้งนาน เป็นปี ยังจำได้เลยว่า เมื่อใดที่แวะไปทำธุระอะไรก็ตาม ที่สำนักงานใหญ่
ของ Honda Automobile Thailand ปากซอยอุดมสุข ย่านบางนา ก็มักจะได้พบเห็นกับเจ้า FREED
วิ่งเข้าออก หรือจอดอยู่ อย่างน้อย 1 คันเสมอ จนกลายเป็น เรื่องชินตาไปเสียแล้ว ณ ตอนนั้น
และ นั่นจึงทำให้ผม กล้าพูดได้เต็มปากว่า ใครก็ตามที่บอกว่า FREED อาจจะไม่มาบ้านเราในตอนนั้น
อย่าไปเชื่อ และนั่นคือเรื่องหวาดวิตก ไปเอง…วางแผนกันมานานขนาดนั้น เตรียมการกันไม่รู้เท่าไหร่
จู่ๆ จะมา ยกเลิกกัน ในเวลา 2 เดือนสุดท้าย ก่อนการเปิดตัวเนี่ยนะ? บ้าหรือเปล่า? ไม่มีทางเป็นไปได้
แต่พอได้เห็นราคาขายปลีก ผมว่า ก็ไม่แปลกใจแล้วละ ที่จะมีใครสักคนใน Honda
แสดงความเป็นห่วง ออกมาด้วยวิธีออกมาพูดอ้อมๆ แนวโยนหินถามทาง แบบนั้น
เพราะด้วยค่าตัวที่สูงลิ่วไปจากความตั้งใจเดิม ทำให้ ฝ่ายการตลาดของ Honda ต้องหาทางออก
ด้วยการวางตำแหน่ง มินิแวน คันนี้ ไว้เป็นรถยนต์ สำหรับกลุ่มลูกค้า หัวคิดสมัยใหม่ นำเทรนด์
อายุ 20-30 ปี (เหอ??) ที่เรียกว่า Urbanista
หลังๆนี่ ฮิตกันจังเลย ในหมู่นิตยสารทั่วไปทุกประเภทในบ้านเรา ขยันไปสรรหาศัพท์ใหม่ๆ
มาใช้กันอย่าง น่าปวดเศียรเป็นที่สุด Urbanista ก็เป็นคำหนึ่งในนั้น มันเป็นคำจำกัดความของ
ชนชั้นกลาง รสนิยมดี รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่งมีครอบครัว ที่ใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก
แต่อาจจะหาเวลาแวะไปพักผ่อนต่างจังหวัดอยู่บ้าง กระนั้น สถานที่ ที่คนกลุ่มนี้จะเลือกไป
ก็มักต้องเป็น บูติครีสอร์ต หรูๆ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สัญญาณอินเตอร์เน็ต Wi-fi
ก็ต้องมี พร้อมให้เช็ค e-mail ไปจนถึง การแช็ตคุยกับเพื่อนฝูงที่เยอะแยะมากมายก่ายกอง
ผ่านเครื่อง BlackBerry ได้อย่างสะดวกโยธิน…เผลอๆ ก็ชวนมาร่วมทริปของตนกันซะเลย
FREED เวอร์ชันไทย และเวอร์ชันญี่ปุ่นนั้น แม้จะใช้โครงสร้างที่มีหน้าตาเหมือนกัน
แต่ขนาดจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยในเวอร์ชันญี่ปุ่นนั้น สเป็กระบุว่า ยาว 4,215 มิลลิเมตร
กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,715 มิลลิเมตร แต่ในเวอร์ชันไทย และอินโดนีเซียนั้น จะมี
ความยาวเพิ่มขึ้นอีก 100 มิลลิเมตร จากกันชนหน้า และหลังเป็น 4,315 มิลลิเมตร
ความกว้าง 1,700 มิลลิเมตร (อันที่จริง ห่างกันแค่ 5 มิลลิเมตร ก็ไม่ได้มีผลอะไรเท่าไหร่หรอก)
ส่วนความสูงนั้น เนื่องจากมีการปรับแต่งระบบกันสะเทือน เพื่อเพิ่มความสูงของระยะห่าง
จากพื้นถนนจนถึงพื้นตัวถังอีก 20 มิลลิเมตร ทำให้ ความสูงของรถ เพิ่มขึ้นเป็น 1,735 มิลลิเมตร
โดยยังคงมี ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร (ยาวกว่า Civic FD 40 มิลลิเมตร และสั้นกว่า Toyota Wish
แค่ 10 มิลลิเมตร) เหมือนกันทั้งเวอร์ชันไทย และญี่ปุ่น
ในระหว่างกำลังนั่งค้นหาเรื่องราวของ FREED ในอินเตอร์เน็ต นั้น ผมพบว่า
สิ่งหนึ่งที่ Honda ในญี่ปุ่น พยายามสื่อสาร เป็นหลัก อยู่ที่ งานออกแบบของตัวรถ
ทั้งภายในและภายนอก พวกเขาพยายามอธิบาย ถึงที่มาที่ไปของมัน ไปจนถึง
แรงบันดาลใจ ความยากในการจัดพื้นที่ห้องโดยสารให้ลงตัว ทั้งที่ตัวรถก็มีขนาด
ไม่ใหญ่โตนัก
เส้นสายภายนอก มาในแนวทางใหม่ โค้งมน และพลิกโฉมไปจาก ตระกูล Mobilio รุ่นเดิม
ไปกันคนละเรื่อง กระจังหน้าในรุ่น S จำเป็น สีดำ แบบ 3 ชั้น เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น ส่วนรุ่น E
จะเป็นแบบเดียวกัน แต่เพิ่มแถบคิ้วโครเมียม คาดกลาง แต่ถ้าในรุ่น E Sport และ E Sport NAVI
จะใช้กระจังหน้า แบบใหม่ ออกแบบพิเศษ สีเดียวกับตัวรถ อย่างที่เห็นในรูปชุดนี้
ขณะที่ แนวเส้นตัวถังด้านข้าง ออกแบบให้มีลวดลายโค้งมน คม และเด่นชัด เมื่อสะท้อนกับแสงแดด
จะเกิดมิติบนพื้นผิว ทำให้ตัวรถดูหนา แปลกตา และ สวยงามกว่าการทำพื้นผิวตัวรถให้แบนราบ
ในแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมา และยิ่งมองตัวรถ ในมุมที่แตกต่างกัน ก็จะพบความสวยงาม และลงตัว
ในมุมที่ไม่เหมือนกันเลย
แนวเส้น Shoulder Line พาดผ่าน ตั้งแต่ ซุ้มล้อคู่หน้า โค้งเว้าขึ้นไป ต่อเนื่องจรดกับรางประตูคู่หลัง
และกลายเป็นแนวเส้นหลักสำหรับขอบด้านบนของชุดไฟท้าย ลากผ่านไปถึง ฝากระโปรงด้านหลัง
เพื่อเน้นให้ตัวรถดู โฉบเฉี่ยว ในแบบของตัวเอง และมีกลิ่นของรถยุโรป ลอยเข้ามาให้ระลึกถึงกันบ้าง
ผมมอง FREED ทีไร สมอง ก็มักจะคอยร้องเตือนบอกผมว่า มันเหมือนงานออกแบบของ
Mercedes-Benz VANEO มินิแวน ขนาดเล็ก ที่มีแพทเทิร์น คล้ายๆกับ FREED แต่ เลิกทำตลาด
ไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ รถสองรุ่นนี้ มีความเหมือนที่คล้ายคลึงกันอยู่
นอกเหนือจากเส้นสายตัวถังภายนอกแล้ว กรออกแบบภายใน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่
Honda ให้ความสำคัญ ผลจากการส่ง ทีมออกแบบ ไปดื่มด่ำบรรยากาศ เพื่อสร้าง
แรงบันดาลใจ กันไกลถึง ประเทศ Italy ทำให้พวกเขาได้พบบรรยากาศ อันรื่นรมณ์
ในเมือง Florence จนได้มาซึ่งแนวคิดการออกแบบ ภายในของ FREED ที่เรียกว่า
Open Cafe
พื้นที่ห้องโดยสารของ FREED จะต้องมีเบาะนั่ง 3 แถว ที่สามารถเดินทะลุถึงกันได้
และจะต้องมีเบาะแถว 3 ที่สามารถนั่งได้จริง และต้องมีบรรยากาศ ที่ผ่อนคลาย และโปร่งโล่ง
สบายเพียงพอสำหรับผู้โดยสาร ทั้ง 5 7 หรือ 8 คน ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันอย่างหลั่นล้า
ตัวรถนั้นจะต้องถูกออกแบบให้สะดวกต่อการเข้า-ออก จากทุกทิศทาง ทั้ง ซ้าย-ขวา หน้า- หลัง
เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดดังกล่าว ทีมออกแบบจึง กำหนดให้ บานประตูคู่หน้า สามารถ
เปิดกางออกได้กว้างอย่างที่เห็น ส่วนบานประตูคู่หลัง จะเป็นแบบ บานเลื่อน เพื่อเพิ่มความ
สะดวกสบายในการขึ้นลงจากรถ ในทุกรูปแบบ เพราะผลวิจัยตลาดญี่ปุ่น พบว่า ผู้ซื้อ
รถตู้ Minivan อยากได้ประตูคู่หลังเป็นแบบบานเลื่อน เนื่องจากสะดวกต่อการขึ้นลง
หากต้องจอดในพื้นที่คับแคบ ก็สามารถ ลุกออกจากเบาะคนขับ มุดตัวเดินออกมาใช้
ประตูบานเลื่อนได้ แถมเวลาเปิดประตู ก็ยังไม่ต้องห่วงว่า จะเปิดไปโดนรถคันข้างๆ
เพราะคนญี่ปุ่นนั้น ค่อนข้างจะเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น และรักษาสิทธิ์ของตัวเองอย่างเคร่งครัด
บานประตูในรุ่นล่างสุด จะเปิด-ปิด ด้วยระบบอัตโนมือ ซึ่งจะว่าไป ก็เพียงพอต่อการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รุ่น E ขึ้นไป บานประตู “ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา” จะเปิดปิดด้วยระบบไฟฟ้า
ซึ่งควบคุมการทำงาน ได้จากทั้งรีโมทคอนโทรล อย่างที่เห็นอยู่นี้…
หรือจะใช้การควบคุม จากแผงสวิชต์ ข้างพวงมาลัย ฝั่งขวา ติดตั้งร่วมกับสวิชต์ปรับและพับกระจก
มองข้างแบบไฟฟ้า (ยกมาจาก City) เพียงกดแค่ ครั้งเดียว แล้วปล่อยมือ ทั้งจาก ปุ่มที่เห็น หรือ
บนรีโมทคอนโทรล บานประตู จะเลื่อน เปิด-ปิดได้เอง อย่างไฮโซจริงนะเธอ เลิศเลอเป็นที่สุด…
เป็นของเล่นชิ้นสำคัญ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับรถคันนี้ขึ้นมาได้เยอะอยู่
ที่สำคัญ ประตูแบบบานเลื่อนไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง สามารถดีดกลับได้เองทันที เมื่อมีสิ่งกีดขวาง
จากที่ผมลองไปยืนขวางทางดู แค่เพียงประตูพบว่า มีสิ่งกีดขวางอยู่ ก็จะหยุดและดันตัวเอง
ถอยหลังกลับไปทันที ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่า ประตูจะหนีบสรีระส่วนใหญ่ๆ ของเด็กซุกซนคนไหน
จะเว้นเสียก็แต่ ถ้าใครเอานิ้วไปขวางบานประตูเข้า อันนี้ ข้าพเจ้า ไม่รับประกันความปลอดภัยเน่อ!
ประตูคู่หน้า เปิดกางออกสุดแล้ว จะพบว่า บานประตูจะโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย
อย่าตกใจ เป็นเรื่องปกติ มาตั้งแต่ Honda Mobilio รุ่นก่อนหน้านี้แล้ว เหตุผลก็เพื่อ
เพิ่มความรู้สึกโปร่งกว้าง เวลาย่างก้าวขึ้นไปนั่งบนรถ
แม้ว่า Honda จะบอกว่า พยายามใส่ใจในการออกแบบมากขนาดไหน แต่ทันทีที่เปิดประตูมา
ผมว่า ผมก็เจอเรื่องแรกที่ต้องติติงกันแล้วละ…แผงประตูคู่หน้าเนี่ย แม้ว่ามันจะออกแบบมา
สอดรับกับสรีระ และวางแขนใช้การได้ดี
แต่ ได้โปรด ช่วยตกแต่งให้มันดูดี สมกับชิ้นงานออกแบบสักหน่อยไม่ได้หรือยังไง?
ทำไมถึงปล่อยให้เราได้สัมผัส แต่ พลาสติกรีไซเคิล โล่งเปล่าเล่าเปลือยกันอย่างนี้
ไม่มีผ้า หรือวัสดุอะไรสักอย่าง หุ้มประดับไว้นิดๆ ให้มันดูสอดคล้องกับงานออกแบบ
มากกว่านี้ไม่ได้เลยหรืออย่างไร? ขนาด City ยังมีการประดับด้วยผ้าสักกระหลาดเล็กๆ
ที่แผงประตู มาให้เลย…
ถ้าจะอ้างว่า ประเทศในโซนอาเซียน นั้น ฝนตกเยอะ ดังนั้น แผงประตูด้านข้าง ไม่ควรมีผ้า
เนื่องจากว่า เวลาเปิดประตูแล้ว อาจโดนสายฝน กระเซ็นซับซึมลงไปที่ผ้าบุแผงประตูได้
ฟังดูก็มีเหตุผล แต่ มันเป็นเหตุผลแบบเดียวกับที่ แผงประตูของ รถกระบะ Mitsubishi Triton
เขาอ้างไว้ เวลาที่มีใครถามถึงเนี่ยนะ? แล้วทำไม ถึงหุ้มผ้า ให้กับแผงประตูของ City กันละ
ถ้าเหตุผลมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ?
แน่ใจแล้วเหรอครับ?
นี่เท่ากับว่า พื้นผิวอันแข็งกระด้าง ของวัสดุพลาสติกรีไซเคิล
ลบคุณค่า งานออกแบบชั้นดี ของแผงประตู จนด้อยลงไปอย่างน่าเสียดายมากๆ!!
รถที่ออกแบบให้มีดีไซน์ ดีๆ แบบนี้ แค่ตกแต่งเพิ่มเติมมาให้อีกนิ้ดดด นึง
มันคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรอกครับ จริงไหม?
เรื่องต่อมา ที่เห็นทีจะต้องติติงกัน ก็คือ เบาะนั่งคู่หน้า
เปล่า ไม่ใช่ว่ามันนั่งไม่สบายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม สำหรับผมแล้ว
การนั่งขับเจ้า FREED ตะลอนๆไปในเมืองทั้งวัน เป็นเรื่องที่
รื่นรมณ์พอประมาณเลยทีเดียว เพราะว่า เบาะนั่ง ก็นั่งสบายดี
ยกงานดีไซน์ มาจากเวอร์ชันญี่ปุ่นกันเลย พื้นที่เหนือศีรษะก็โปร่งโล่ง
สบายหัวใช้การได้ เฉพาะฝั่งคนขับมีที่วางแขน แบบพับเก็บได้
เหมือนกับ Jazz มาให้
ซึ่ง ที่วางแขนชุดนี้ ผมอยากได้เอาไปติดใน City ใหม่ คันที่จอดอยู่ในบ้านผมนี้
เป็นอย่างมากกกกก! แต่ ประเด็นนี้ประเด็นเดียว สามารถแตกหน่อออกไปได้
ถึง 3 คำถามที่คาใจ
1. Honda ก็กลับไม่ยอมติดตั้งที่วางแขนที่ว่านี้ มาให้ City จากโรงงานเลย ทั้งที่
มีให้ใน Jazz และใน FREED
2. นอกจากนี้ ก็ยังสงสัยต่อว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ทำไม ไม่ติดตั้งมาให้กับเบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย
มาด้วยให้สิ้นเรื่องเลยละ อย่างน้อย มีมาให้ในรุ่นท็อป ก็ยังดี ทีเบาะแถว 2 ยังมีมาให้ครบ
ทั้ง 2 ฝั่ง เลยนี่นา
และข้อ 3 อันถือเป็นไฮไลต์ของผม ในประเด็นเบาะคู่หน้า ก็คือ
ในขณะที่ Jazz และ City มีก้านโยกปรับระดับสูง-ต่ำ ของเบาะคนขับ
ให้เหมาะกับสรีระ ที่แตกต่างกันไปของลูกค้าแต่ละราย
แต่ รถที่มีราคาแพงกว่า ทั้ง 2 คันดังกล่าวอย่าง Freed คุณกลับไม่สามารถ
ปรับเบาะนั่ง ให้สูง-ต่ำ ตามใจตัวเอง ได้เลย แม้แต่รุ่นเดียว!
ถึงตำแหน่งนั่งขับจะสูงโปร่ง และขับสบาย ขึ้นลงง่ายดาย
แต่ ก็ใช่ว่ามันจะพอดีไปกับทุกคนเสมอไปสักหน่อย
คำถามนี้ ผมสงสัยจริงๆครับว่า “ทำไม?”
เนี่ย พักนี้ Product Planning ของ Honda Automobile Thailand กับ Asian Honda Motor
ทำงานหนักไปหรือเปล่า ถึงได้ เบลอหนักหนากันมากมายก่ายหน้าผาก ขนาดนี้
เพราะถ้ากางสเป็ก อุปกรณ์มาตรฐานของ Honda ทั้ง 3 รุ่นในเมืองไทย คุณจะพบว่า
แต่ละรุ่น มันจะมีอะไร ขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง อย่างที่เห็นนี่แหละครับ ไม่รู้่ทำไม…
ตุ้ม (เม้ง) ไม่เข้าใจจริงๆ ง งู เกลี้ยงโลกกกกก !
แต่ใช่ว่า FREED จะมีแต่เรื่องให้ต้องตั้งคำถามกันไปเสียหมด
ประตูบานเลื่อน เปิด-ปิดได้ด้วยไฟฟ้า นี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้รถคันนี้
ดูแปลก เจ๋ง และมีคุณค่า ในราคาน้ำอัดลม (เหมายกล็อตทั้งโกดัง)
คิดดูสิครับ ขับไปจอดที่ไหนๆ ไม่ต้องลงจากรถ แค่กดสวิชต์ บานประตูฝั่งซ้าย
ฝั่งซ้าย หรือขวา ในฝั่งที่เราต้องการ ก็จะเลื่อนเปิดอย่าง สโลว์โมชัน
ประมาณ 600 มิลลิเมตร ให้ผู้โดยสารแถวกลาง ค่อยๆย่างเท้า ก้าวลงจากรถ เป็นคุณนาย
เดินนวยนาด ลงมาวางท่าสวยๆ ไปเดินตลาด บอง มาเช่ ได้อย่างสบายๆ ซึ่ง บานประตู
แบบนี้ โดยปกติแล้ว ถ้าอยากได้ คุณมักจะต้องจ่ายเงิน 3-4 ล้าน ไปซื้อ Toyota Alphard
หรือ Vellfire จาก Grey Market แต่นี่ Honda เขาจับยกมาติดตั้งไว้ให้ใน Comapct
Minivan แนวคิดใหม่ ในราคาแค่คันละ” 9 แสนบาทปลายๆแก่ๆ” เท่านั้นเอง (ประชด)
ไฮโซ ซะไม่มีละ!
เอาจริงๆ นะ ผมชอบมันมากเลย เพราะในวันส่งคืนรถ ผมต้องจำใจ พาเจ้าเผือกแสนแพงคันนี้
ไปจอดด้านหลังสำนักงานของ Honda Automobile Thailand ที่บางนา ซึ่งการหาที่จอด
ณ พื้นที่แห่งนั่น โอกาสเจอช่องจอดว่างๆ ตำแหน่งถูกใจ ผมว่า ให้รอถูกหวยรัฐบาลรางวัลที่ 1
ยังจะง่ายซะกว่า เพียงแค่ซอกรูเล็กๆ คุณก็ควรจะต้องรีบแทรกตัว มุดเข้าไปจอดให้ได้แล้วละ
ซึ่งตอนลาจากรถ ในเมื่อ เปิดประตูคนขับ แทบไม่ได้ เพราะจะไปติดรถคันที่จอดอยู่ข้างๆ
ก็ได้ระตูบานเลื่อนนี่แหละ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ ผมก็แค่ พยายามลุกเดิน ก้มหัวต่ำๆ
มุดออกมายังนอกรถ แล้วก็กดรีโมท ปิดประตู….
โอ้ยยย ชีวิตมันจะเหนือระดับอะไรเช่นนี้!!
แถม ถ้าอยากจะต่อราคา “หมอนทองริมทาง(หลวง)” กับแม่ค้า แต่ขี้เกียจลงจากรถ
คุณก็เปิดกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ได้จากสวิชต์ ที่แผงประตู เพียงแต่ต้องทำใจหน่อยนะครับ
ว่า มันสามารถเลื่อนลงมาสุด ได้แค่เพียงที่เห็นในภาพนี้ เท่านั้น!
นอกจากนี้ แผงประตูด้านข้าง แม้จะวางแขนไม่ได้ แต่ก็มีช่องใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่ ได้อีกด้วย
เบาะแถว 2 สามารถปรับเอนได้ และเลื่อนขึ้นหน้า- ถอยหลังได้
คือพื้นที่ นั่งสบายสำหรับผมก็จริง แต่ ก็มีเสียงบ่นจากผู้การแพน
Cmmander CHENG และ เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเราว่า
ถ้านั่งนานๆ อาจเมื่อยหลังได้ ซึ่งผมก็ออกจะงงอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าดูไม่ผิด
เบาะคู่หน้า และเบาะแถวกลาง เป็นเบาะนั่ง ชุดเดียวกันเป๊ะ ต่างกันแค่
รายละเอียดตรงฐานรองเบาะนิดหน่อย เท่านั้นเลย
ข้อสรุปที่ได้ก็คือ ถ้าคุณจะนั่งรถคันนี้ ให้นานๆ อย่างรื่นรมณ์ และไม่ปวดหลัง
ขอให้นั่งจนแผ่นหลัง แนบชิดติดฟองน้ำพนักพิงเบาะ เพราะนั่นละครับ คือ
ตำแหน่งที่ วิศวกร เขาออกแบบมาให้คุณนั่งแล้วสบายที่สุด เมื่อยน้อยที่สุด
เบาะรองนั่ง นั่งได้ไม่ถึงกับเต็มก้นนัก เป็นเรื่องปกติของรถประเภทนี้
และมีตัวถังพิกัดประมาณนี้ ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะต้องออกแบบให้
มีพื้นที่ว่างพอประมาณ สำหรับ ผู้โดยสารทั้ง 3 แถว จะต้องเดินทางไปด้วยกัน
ให้ได้ครบถ้วน
ที่วางแขน มีมาให้ ทั้ง เบาะฝั่งซ้าย และขวา รวมแล้ว เบาะละ 1 ตำแหน่ง
และมีเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดมาให้ ทั้ง คู่ ตัวเข็มขัดติดยึดกับผนังตัวถังรถ
เหมือนเบาะคู่หน้า ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าคุณสามารถเข้าไปนั่งใน
รถตู้รุ่นใดในโลกก็ตาม ได้ รถคันนี้ ก็มีพื้นที่ด้านบนโปร่งโล่งสบายให้คุณแน่ๆ ครับ
เบาะแถว 2 นั้น นอกจากจะปรับเอนนอนลงไปได้ แล้ว ก็ยังสามารถปรับพนักพิงโน้มตัว
มาข้างหน้า พร้อมกับเลื่อนฐานรองเบาะ ขึ้นมาข้างหน้าจนสุดรางเลื่อน ได้ทั่ง 2 ฝั่ง
เพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสาร สามารถก้าวขึ้น เบาะแถว 3 ได้ เป็นช่องทางหลัก
(นอกเหนือจากวิธี ขึ้นนั่งบนแถว 2 แล้วลุกเดินเข้าไปยังเบาะแถว 3 อันเป็นช่องทางเสริม)
ส่วนเบาะแถว 3 นั้น สามารถแบ่งพับ 50 : 50 เก็บได้ พนักพิงในภาพนี้ ถูกปรับเอาไว้
ในตำแหน่งที่ตั้งชันหลังตรงที่สุด และ ปรับเอนลงไปได้มากที่สุด ทำไม่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว
ตำแหน่งเหนือศีรษะ ก็โปร่งดีอยู่ พนักศีรษะ ก็เป็นแบบสมัยนิยม คือ เป็นรูปตัว L คว่ำ
สะดวกในการพับเก็บ และใช้งานชั่วคราว แต่อย่าหวังเรื่องความสบายในการรองศีรษะ
ด้านข้าง มีช่องวางของ และเป็นตำแหน่งติดตั้งของลำโพงคู่หลัง พอนั่งได้
มีเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด มาให้ ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ส่วนผู้โดยสารตอนกลาง
มีเข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 2 จุด คาดเอวติดตั้งไว้แทน
ถ้าจะถามว่า แล้วกรรมวิธีการพับเบาะ ต้องทำอย่างไร เดี๋ยวค่อยสาธิตให้ดู
สิ่งที่วิศวกรและทีมออกแบบของ Honda คำนึงถึงและใส่ใจเป็นหลัก
ในการออกแบบ FREED ก็คือ เจ้า Compact Minivan คันนี้ จะต้องมีพื้นที่
ห้องโดยสาร สำหรับคนที่นั่ง แถว 2 และ แถว 3 ร่วมกันได้ อย่างเพียงพอ
นั่งโดยสารได้จริงๆ ไม่ใช่แค่มีเบาะแถว 3 เอาไว้โฆษณา หรือเพื่อพาลูกหลาน
ไปเล่นซนบนเบาะหลังกันเท่านั้น
เรามาดูกันดีกว่า ว่า พวกเขาจะทำออกมาได้ผลเป็นอย่างไร
จากที่ได้ผุดลุกผุดนั่ง อยู่ หลายรอบ ทำให้ได้พบความจริงที่ว่า
หากปรับเลื่อนเบาะนั่ง แถว 2 ให้นั่งสบายเป็นหลัก คนที่นั่ง เบาะแถว 3
ก็จะแทบไม่มีพื้นที่วางขากันเลย หัวเข่าจะชนเบาะ อย่างที่เห็นในรูป
จากเบาะฝั่งขวา
แต่ถ้า จะต้องปรับเลื่อนเบาะนั่งขึ้นมา เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขา ให้คนนั่งแถว 3
เบาะแถวกลาง ก็จะมีพื้นที่วางขาลดลง อย่างที่เห็นในภาพเดียวกัน
แต่เป็นเบาะฝั่งซ้าย และ กลายเป็นว่า ทั้ง แถว 2 และ แถว 3
จะนั่งโดยสารกันไปได้อย่างไม่ค่อยจะสบายตัวนัก อาจมี
ปวดเมื่อยกันบ้าง พอเป็นกระสัย
นั่นหมายความว่า ห้องโดยสารของ FREED เหมาะมาก สำหรับการเดินทาง
ในตัวเมือง ในระยะที่ไม่ไกลนัก เพราะหากคิดจะเดินทางไกล คนที่นั่งบน
เบาะแถว 3 ควรเป็นเด็ก วัยประมาณ มัธยมต้น ก็ยังพอได้ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่
จะหวังหาความสบายมากกว่านี้ ผมว่า รถตู้ขนาดใหญ่กว่าบางรุ่น ก็ยัง
ไม่อาจจะให้คุณได้เลย มันเป็นข้อจำกัดด้านพื้นที่ห้องโดยสาร ที่ต้องสัมพันธ์
กับความยาวระยะฐานล้อ และตัวรถทั้งคันหนะครับ เท่าที่เห็นนี้ Honda
พยายามออกแบบพื้นที่ ภายใต้แนวคิด Man Maximum : Machine Minimum
จนเต็มที่ และสุดความสามารถ เท่าที่เทคโนโลยีในวันนี้ จะดลบันดาลให้เป็นจริง
ได้แล้วละครับ
แต่สิ่งหนึ่ง ที่ผมว่า Honda ทำได้ดีเลยคือ พื้นที่เหนือศีรษะ
ไม่เชื่อ ก็ดูรูปข้างล่างนี้เอาแล้วกัน
เห็นไหมครับ ขนาดตัวใหญ่อย่างผม พื้นที่เหนือศีรษะ ก็ยังเหลือพอ สบายๆ
เมื่อเปิดฝากระโปรงหลังขึ้นมา จะพบว่า ช่องทางเข้าพื้นที่ด้านหลังรถนั้น มีขนาดใหญ่กว่าที่คิด
ทางเข้ามีความกว้าง 1,160 มิลลิเมตร สูง จากขอบล่างสุด จนถึงขอบบนสุดของช่องทางเข้า
อยู่ที่ 1,120 มิลลิเมตร ส่วนความสูงจากพื้นดิน จนถึงขอบล่าง สุดของพื้นห้องเก็บของ
อยู่ที่ 500 มิลลิเมตร หากยังไม่พับเบาะแถว 3 พืนที่เก็บของจะมีเพียง 142 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA
แต่ถ้าพับเบาะแถว 3 ลงไป ทั้ง 2 ฝั่ง แล้วแขวนห้อยเอาไว้อย่างที่เห็นนั้น
พื้นที่ห้องเก็บของจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 672 ลิตร
การพับเบาะแถว 3 นั้น ไม่ยากเย็นเลยแต่อย่างใด แค่กดคันโยกปรับตำแหน่งพนักพิง
ทั้งซ้าย หรือ ขวา ลงไป พับพนักพิงลงไปให้ราบ ดึงสายล็อก ที่ใต้เบาะรองนั่ง เพื่อปลดล็อก
ขาตั้งเบาะ กับสลักล็อกที่ติดอยู่กับพื้นรถ ยกเบาะขึ้น เอาสายรั้ง ขึ้นไปแขวนกับตะขอเหล็ก
ที่ทำออกมาได้เรียบร้อยดีมาก บนขอบเพดาน ทั้ง 2 ฝั่ง เสร็จแล้ว อย่าลืม พับขาตั้งเบาะเข้าไป
เพียงเท่านี้ เป็นอันเรียบร้อย วิธีการพับเบาะ หรือ ใช้งานเบาะแถว 3 นั้น คล้ายคลึงกับ
Toyota Fortuner อยู่บ้างเหมือนกัน
ขนาดของห้องเก็บของนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งๆนอนๆ ถ่างแข้งถ่างขา
ให้คุณเห็นภาพกันเหมือนหลายๆรีวิวที่ผ่านมา เพราะคราวนี้ เรามีภาพถ่าย ยืนยัน
ถึงความใหญ่โตของ FREED ให้เห็นได้อย่างดี
เรื่องความจุของพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังนั้น ผมว่าสำหรับ FREED แล้ว
ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะจากภาพที่เห็นนี้ ชัดเจนอยู่แล้วว่า วิศวกรของ Honda
ถึงขนาด ลงทุนพยายามเอาจักรยานยนต์แบบวิบาก ใส่เข้าไปในพื้นที่ห้องเก็บของ
อย่างที่เห็น
เพียงแต่ว่า
1. จะมีแม่บ้านที่ไหน เอา มอเตอร์ไซค์วิบาก ขนาดนี้ แบกกระเต็งๆ ไปกับลูกบ้างละเนี่ย?
2. Mock up สีขาว ที่คุณเห็นใกล้ๆ กันนั้น มันคือ Interior Mock up ของ Honda City
รุ่นใหม่ รูปชุดนี้ ทาง Honda เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ในญี่ปุ่น มาตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2008
ก่อนที่ City จะเปิดตัวในบ้านเรา….
(อ๊ากกกกกกกกก ทำไม ตอนนั้น ฉันถึงไม่เอะใจ กับ Mock up คันนั้นเล้ยยยยย
นั่น Spyshot แบบ Official Leak เลยนะ!!!! ย๊ากกกกกกกกกกกกกก!!!)
ในขณะที่ภายในห้องโดยสาร ออกแบบในแนวทาง Open Cafe
แผงหน้าปัดเองก็จะต้องถูกสร้างขึ้น ให้มีแนวทางที่สอดคล้องกัน
เห็นได้ชัดเลยว่า ทีมออกแบบ ตั้งใจจะแบ่งแยกพื้นที่การใช้งาน
ออกเป็น 2 ส่วน ตั้งแต่แรก คือส่วน Upper และ Lower เล่นระดับ
ให้ดูคล้ายกับเป็น โต๊ะ ในร้านกาแฟ
พอออกมาสำเร็จรูป เป็นคันขายจริง น้องริน ว่าที่ นักออกแบบสาว
ผู้ซึ่งตอนนี้ เรียนต่อด้านออกแบบแฟชัน และออกแบบรถยนต์ ในอิตาลี
เคยให้คำจำกัดความเอาไว้ เมื่อครั้งที่เธอเห็น รถคันจริงครั้งแรก เมื่อตอนที่
ยังมาจอดอวดโฉม ในงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ มีนาคม 2009 อยู่ว่า
“เนี่ย พี่กล้วย พี่จิมมี่ รินว่า รถคันเนี้ย แผงหน้าปัดของ FREED มันมีสวิชต์แอร์
ที่เหมือนกับ เตาแก้ส Lucky Frame มากๆ แถม ตรงแผงควบคุมวิทยุ ที่มีช่องแอร์ขนาบข้าง
มันก็คล้ายกับ แผงจอ Touch Screen รับออรเดอร์อาหาร ที่พนักงานของร้าน The Pizza
หรือ Sizzler เขาใช้กันเลย รินว่า FREED เนี่ย เป็นรถที่ Inspired by Kitchen ware!!
นี่ถ้าดีไซน์เนอร์ ของ Honda เขามาอ่าน คาดว่าคงจะกรี๊ดสลบ และคงบ่นโอดโอย
อย่างแสนเซ็งว่า “อีเด็กเปรตพวกนี้ มันเห็นรถที่ฉันทำ เป็นเครื่องครัวติดล้อไปหมดแล้วใช่ไหม?”
ผมละไม่อยากสำทับเลยว่า “ใช่ ก็ไม่เชื่อ ลองมองบั้นท้ายรถตรงๆ ดูสิ
มันเหมือน ด้านข้างของ เครื่องปิ้งขนมปังยุค 1950 ไหมละ?”
Hahaha
แผงไฟอ่านแผนที่ กระจกมองหลัง และแผงบังแดดทั้ง 2 ชิ้น ซ้าย-ขวาหนะ ยกชุดมาจาก
City รุ่นใหม่เป๊ะ ส่วนแผงหน้าปัดนั้น จุดที่ทำให้งานออกแบบดูน่าสนใจขึ้น คือการใช้
แผงลายโครเมียม ประดับเป็นแถบ ต่อเนื่องกัน จนดูน่าใช้ และสัมผัสได้ว่า มีรสนิยมที่ดี
(แต่จะดีกว่านี้ ถ้าช่วยตกแต่งแผงประตูทั้งซ้าย-ขวา ให้ดูดีแบบที่ผมเขียนติติงไปข้างบน
ให้ดูดี ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเถิด)
พวงมาลัย 3 ก้าน ยูรีเทน น่าแปลกว่า ไม่ตกแต่งด้วยลายสีเงิน อย่างที่ City / Jazz มี
ทำให้ดูด้อยค่าลงไปนิดหน่อย เหมือนรถราคาถูก ไปนิดนึง ดังนั้น ในรุ่น Minorchange
ปรับปรุงงานอกแบบพวงมาลัยอีกนิด ด้วยการเพิ่มแถบสีเงิน แปะไว้ข้างๆ แป้นแตร
ก็จะช่วยเพิ่มสัมผัสอันหรู และดูดีให้กับรถขึ้นได้อีกเยอะ
ยังครับ เรื่องพวงมาลัยหนะยังไม่จบ เวอร์ชันญี่ปุ่นนั้น พวงมาลัย แบบ 3 ก้าน
นอกจากจะปรับตำแหน่ง สูง -ต่ำ ได้แล้ว ยังสามารถปรับระยะห่าง เลื่อนเข้า- ออกห่าง
จากตัวผู้ขับขี่ได้อีกด้วย
แต่พวงมาลัยของ Freed เวอร์ชันไทย กลับทำได้แค่เพียงการปรับระดับสูง-ต่ำ เท่านั้น
ไม่อาจปรับระดับใกล้-ไกลห่างจากตัวผู้ขับขี่ได้เลย ทั้งที่ Jazz กับ City
ซึ่งมีราคาถูกกว่า ยังสามารถปรับตำแหน่งได้ทั้งหมดที่กล่าวมา อย่างน้อย
ถ้ารุ่น Minorchange จะเพิ่มมาให้ ในรุ่น ท็อป และรองท็อป ก็ยังดี
ในเมื่อ พื้นที่ห้องโดยสาร ออกแบบให้เดินทะลุถึงกันได้ ดังนั้น เบรกมือ จึงถูกย้าย
ไปเป็น เบรกจอด แบบใช้แป้นเหยียบ ที่ฝั่งซ้ายของแป้นเบรกแทน อย่างที่เห็น
ในรูปข้างบนๆ ใช้งานไม่ยาก ถ้าต้องการขึ้นเบรกมือ ก็ใช้วิธี เหยียบลงไป
จนแป้นเบรกจอดจมมิด แค่นี้ ก็เรียบร้อย ถ้าจะปลดล็อก ก็แค่เหยียบซ้ำลงไป
จนแป้นจมสุด แล้วถอนเท้าออกมา เบรกจอดก็ยกเลิกการทำงานแล้ว
แป้นแบบนี้ Honda CR-V ดูเหมือนจะมีใช้เป็นรุ่นแรกๆ ของ Honda ในบ้านเรา
แต่รถที่ใช้ แป้นแบบนี้ ในไทยครั้งแรก ดูเหมือนจะเป็น Nissan Cefiro A31 ต่างกันแค่ A31
ถ้าจะปลดล็อกเบรกจอด ก็สามารถปลดได้ที่มือจับตรงแผงคอนโซลที่คั่นกลางผู้ขับขี่
และผู้โดยสารนั่นละ
ตำแหน่งของชุดมาตรวัดนั้น ถูกออกแบบ ให้เน้นลดการละสายตาจากพื้นถนน มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ ในสไตล์เดียวกับ มาตรวัดของ Honda Civic FD ไปจนถึง Insight
และ FCX Clarity เลยติดตั้งชุดมาตรวัดกันซะใกล้กับกระจกบังลมหน้าเลยทเดียว ตัวเลขความเร็ว
อ่านง่าย ในความเร็วต่ำ และสูง แบ่งแยกเอาไว้ชัดเจน แต่ถ้าจะอ่านแบบละเอียดเป๊ะๆ เลยนั้น
ต้องเพ่งหน่อย ความเร็ว ถูกแบ่งเอาไว้ ขีดละ 2 กิโลเมตร/ชั่วโมง
กระนั้น มาตรวัดรอบ แบบ แถบขีดดิจิตอล อ่านยากไปนิด เล็กไป และต้องเพ่งมอง หากต้องการ
อ่านอย่างละเอียด แบ่งเป็น ขีดละ 250 รอบ/นาที มีสวิชต์ปรับระดับความสว่างของชุดมาตรวัดมาให้
หน้าตาเหมือนพบได้ใน Civic FD พร้อมแถบมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบ Real Time
ติดตั้งอยู่บนแถบ โครเมียม ที่เอาเข้าจริงแล้ว ดูดีกว่า เวอร์ชันญี่ปุ่นนิดหน่อย
การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีเสียบกุญแจบิดเอาตามปกติ เสียดาย ไม่มีออพชัน Smart Entry แบบในญี่ปุ่น
แผงควบคุมตรงกลางนั้น ถูกจับแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างชุดเครื่องเสียง
และสวิชต์ เครื่องปรับอากาศ ดูเหมือนเป็นพื้นที่โล่งๆ มีช่องวางของจุกจิก อยู่ด้านใต้
แผงควบคุมเครื่องเสียง และช่องแอร์ ที่ขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งใช้งานได้ดีจริง หากเป็นเพียง
ที่วางเหรียญ โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ บัตรต่างๆ ปากกา และของจุกจิกอีกนิดหน่อย
ลิ้นชักเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ก็มีขนาดอย่างที่เห็นละครับ ใส่เอกสารและคู่มือประจำรถ
กับกรมธรรม์ ประกันภัย ก็ยังมีเนื้อที่ให้วางสิ่งของอื่นใดต่อไปได้อีกพอสมควร
ช่องวางแก้วน้ำ แบบลิ้นชัก เปิดปิดได้ 1 ตำแหน่ง สามารถวางกระป๋องน้ำอัดลมขนาดมาตรฐาน
ได้พอดีๆดูหน้าตาแล้ว ชวนให้นึกถึง ช่องวางแก้ว ของรถ BMW ซีรีส์ 3 และ 5…เปล่าหรอก
ไม่ใช่ว่าดีนะ แต่ว่า มัน คลอน และไม่ค่อยมั่นคง เหมือนกันทั้งของ BMW และ Freed เลยต่างหาก
นอกจากนี้ ยังมีช่องใส่แก้วน้ำ หน้าช่องแอร์ ทั้ง 2 ฝั่ง ที่คล้ายกับ ช่องวางแก้วในร้าน บ้านไร่กาแฟ
ที่ปากซอยเอกมัย ซึ่งสามารถอุ่นกาแฟได้ด้วย (แน่นอน Freed ทำไมได้ แลไม่ควรจะทำได้)
ใต้แผงควบคุมกลาง เป็นช่องเก็บของ เอาไว้ใส่ CD ซึ่งจะวางได้ทั้งหมด ประมาณ 4 กล่อง
มีช่องเสียบเชื่อมไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า อื่นใดที่อยากจะติดตั้งเพิ่มเติมเช่นสายชาร์จ
โทรศัพท์เคลื่อนที่
ในรุ่น E Sport NAVI คันที่เราทดลองขับ ติดตั้งชุดเครื่องเสียง พร้อม จอมอนิเตอร์
หน้าตา คุ้นๆ ว่ายกชุดมาจาก Honda Civic FD Minorchange ทั้งรุ่น 1.8 และ 2.0
หน้าตาตัวเครื่อง ขอยืนยันความเห็นเดิมว่า ช่างคล้ายกับพวก จอ DVD จาก ZULEX
หรือสะพานเหล็ก ราวกับยกมาวางกันเลยทีเดียว
วิทยุ เป็นแบบ AM/FM เล่น CD หรือแผ่น MP3 ได้ครั้งละ 1 แผ่น เท่านั้น มีช่องเชื่อมต่อ AUX
และช่องเสียบสาย USB ส่วนลำโพงหนะ มีมาให้แค่ 4 ชิ้น เท่านั้น
คุณภาพเสียง? สำหรับผม ถือว่าพอให้ผ่านได้สบายๆครับ บางท่านอาจบอกว่า เสียงยังไม่ดีเท่าที่ควร
ซึ่งก็จริง แต่ ในภาพรวมแล้ว เสียงที่ออกมา ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ ค่อนข้างดีพอรับได้ ละครับ แต่เสียงเบส
จะบวมไปนิด ถ้าปรับขึ้นไปจนสุด เอาเป็นว่า ผมเองก็แปลกใจที่ตัวเองไม่บ่นอะไร ในเรื่องคุณภาพเสียง
มากไปกว่า การใช้งานอันแสนงุนงง ของป้าขมิ้น (เราแผลงมาจาก ป้า Garmin) ที่ฝังตัวอยู่ในระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม GPS ซึ่งติดตั้งมาให้ จาก..เอ่อ ไม่อยากจะเรียกว่าโรงงานเลยแหะ ต้องเรียกว่า
สำนักงานใหญ่ของ Honda ที่ นิคมอุตสาหกรรม โรจนะ อยุธยา ถึงจะถูก
คุณเคยดู ถ่ายทอดสดการจับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลไหมครับ?
เคยได้ยินเสียง โฆษกหญิง ที่ประกาศ รางวัลเลขท้ายสองตัว สามตัว
หรือเลขที่ออก ในแต่ละงวดไหมครับ?
ถ้าคุณนึกไม่ออก ว่าเป็นอย่างไร ให้ลองมาฟังเสียง ยายเจ๊
ในระบบนำทางของ FREED ดูได้ครับ เสียง บอกทาง คล้ายกันจนขนลุก
ทั้งเจ้ากล้วย และ ผู้การแพน Commander CHENG จาก The Coup Team
ของเรา ตั้งฉายา ระบบนำทาง NAVI รุ่นนี้ไปแล้วว่า เป็น “เจ๊กองสลากฯ!”
การจะค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายที่ตั้งใจ สำหรับระบบนำทางชุดนี้
เมื่อใช้งานจริง ก็ไม่ถึงกับง่ายดายนัก…เอาเป็นว่า เราพยายามจะเดินทางไป
ทำธุระยัง ซอย สายไหม 55 โดยอนู่ที่ หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
น้องอุ๋ย พยายามคลำหาว่าจะต้องใส่ข้อมูลเข้าไปอย่างไร และมันไม่ง่ายเลย
ทั้งผมและอุ๋ย ต่างคนต่างช่วยกันจิ้มหน้าจอ Touch Screen นั่น จนหน้าจอ
แทบจะทะลุเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ จนผมต้องตัดสินใจจอดรถชิดริมขอบทาง
แล้วมาช่วยคลำหาอีกแรง
ถ้าเป็นระบบนำทาง ของรถคันอื่นๆ บางที แค่ใส่ชื่อเข้าไป ก็มีรายชื่อที่เกี่ยวข้อง
ปรากฎขึ้นมา แต่กับระบบนำทางของ FREED นั้น ผมจะต้องรู้ก่อนว่า ซอย สายไหม 55
อันเป็นจุดหมายของเราเนี่ย มันอยู่ในเขตไหน ของกรุงเทพมหานคร!!
โห แล้วใครมันจะไปตรัสรู้กันละวะเนี่ย!! นี่ถ้าตาสีตาสาที่ไหน จะขับรถเข้ามาหา
ญาติในเมืองหลวง มีหวังเครียดแน่ ถ้าลืมโทรหาญาติตัวเอง…
ในที่สุด กว่าจะรู้ว่า อยู่ในเขตสายไหม นั่นแหละ โอยย คลำอยู่ตั้งนาน
ทีนี้ละ หาเจอแล้ว ระหว่างนั้น เราก็ทนเสียง เจ๊กองสลากฯ นำทางไปเรื่อยๆ
ซึ่ง ก็ถือว่า ทำงานได้ดีพอสมควร การแสดงผลบนหน้าจอ เลือกได้ว่า จะให้
แสดงผลแบบ 2 มิติ หรือ แบบ Bird Eye View 3 มิติ
แต่ถ้า คุณกำลังติดไฟแดง น้ำมันจะหมด หรือปวดปัสสาวะ ขึ้นมา
อันนี้ละง่าย กดเข้าไปที่ หมวด สถานที่ ได้เลย หาปั้มน้ำมัน
ระบบจะแสดงปั้มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด ขึ้นมา เรียงตามด้วยปั้มที่ไกลห่างออกไป
ตามปกติที่ระบบนำทาง ที่ดีควรจะเป็น โอเค ข้อนี้ ถือว่า ทำงาน ผ่าน
แต่ อีกฟังก์ชันการทำงาน ก็คือ ทำตัวเป็นมอนิเตอร์ รับภาพจากกล้องส่องภาพ
จากด้านหลังรถ ติดตั้งที่เหนือป้ายทะเบียนหลัง ช่วยกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด
ได้อย่างดี เห็นภาพชัดเจน มีคำเตือนภาษาไทยอยู่ด้านบน และจะทำงานทุกครั้งทันที
ที่เข้าเกียร์ถอยหลัง (R) อย่างที่เห็นอยู่นี้
เครื่องปรับอากาศ ในรุ่นล่างสุด คือ รุ่น S ยังคงเป็นสวิชต์บิดหมุน
หน้าตาเหมือน เตาแก้ส Lucky Frame ที่สมาชิกใน Headlightmag.com
ของเราท่านหนึ่ง ถึงกับตั้งสโลแกนให้เลยว่า “จุดประกายความสุขทุกการเดินทาง”
เออ เนาะ เค้าคิดได้ยังไงเนี่ย!
กระนั้น เสียใจด้วยนะครับ Honda เขารู้แกว เลยไม่ปล่อยรถรุ่นล่างสุดแบบนั้น
มาให้ผมลองขับแน่นอน เพราะพวกเขาทราบดีว่า ถ้าขืนปล่อยรถรุ่นนั้น มาให้ผม
คิดเหรอว่า จิมมี่ จะปล่อยโอกาสทอง ในการทำเรื่องรั่วๆ ฮาๆ ให้หลุดลอยไป
นี่อุตส่าห์คิดเอาไว้แล้ว ล่วงหน้าตั้ง 4 เดือน เชียวนะครับว่า ถ้า FREED รุ่นล่างสุด
แอร์มือบิดมาถึงเมื่อไหร่ ผมจะจับ ผู้การแพน Commander CHENG ของเราเนี่ยแหละ
ผูก ผ้ากั้นเปื้อน หาหมวก Chef สีขาวมาสักใบ ให้พี่ท่านสวมไว้บนหัว หาชุด
หม้อข้าวหม้อแกง ของเล่น หรือไม่ก็ เครื่องปั้นดินเผา รูปหม้อเล็กๆ เอาไปวางไว้
เหนือสวิชต์แอร์ ของ FREED คันนั้น…
แล้วก็ให้ตาแพน ถือตะหลิว ทำหน้ายิ้มแป้น เป็น กอลลิลาดีใจ ตอนได้ครองโลก
ยื้มเผล่ ร้องเพลงโฆษณา เตาแก้ส..”โอ้วว Lucky Frameee ของเขาหนะ ไม่ใช่ธรรมดานะ”
โพสต์ท่า ให้ผมถ่ายรูป แชะ!…แล้วก็เอามาโพสต์ลงรีวิว…
แหม! เสียดายจริงๆ PR ของ Honda เขารู้ทัน ผมก็เลยอดทำภาพรั่วๆ แบบนั้น
มาให้คุณผู้อ่านได้ขำกลิ้งกัน จนได้…เพราะในรถรุ่น E ขึ้นมา สวิชต์ จะเป็นแบบ
Digital ซึ่งดูศิวิไลซ์ กว่ากันเยอะมากกกกกกกกกกกกกกกกกกก ก.ไก่หมดโลก
แม้จะไม่มีระบบแยกฝั่ง อุณหภูมิซ้าย-ขวา แต่ว่า เย็นเร็ว และเย็นเพียงพอ
สำหรับผู้โดยสารทั้ง ด้านหน้า และแถว 2 ก็ตาม
คราวนี้ก็เลยมีแต่ภาพ ผู้การแพน กับ กล้วยน้อย BnN แห่ง The Coup Team
มานั่งยิ้มแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก อย่างที่เห็น เพื่อจะตอบคำถามคุณๆที่ว่า
แอร์แถวหลัง? ถ้าไม่มีมาให้ แล้วจะร้อนไหมเนี่ย?
ในฐานะคนขับ ผมเลยยังไม่เจอปัญหาว่ามันร้อนจนรับไม่ได้แต่อย่างใด
เพราะจากที่นั่งอยู่บนเบาะหน้า มันก็ทำงานได้ไว เย็นได้เร็วเพียงพอ สำหรับผม
(แหงละสิ อีจิมมี่หอยหลอด! นั่งซะหน้าแทบจะติดกับช่องแอร์ขนาดนั้น ถ้ามันยังเย็นไม่พอ
ก็ ควรจะรีบแพ็คร่างแก ลงกล่อง DHL ส่งไปนอนเล่นที่แอนตาร์ติกาได้แล้ว!)
สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง น้องกล้วย และ พี่ชายของเขา คือน้องอุ๋ย ซึ่งงวดนี้
มีโอกาสมาร่วมใช้ชีวิตกับเราบนรถคันนี้ เข้าไปลองนั่งกันมาแล้ว ทั้งคู่มองว่า
ไม่ถึงกับร้อนมากนัก และยังพอมี กระแสลมเย็น มาทางด้านหลังอยู่บ้าง
แม้ว่า จะมีคนนั่งแถว 2 อยู่ด้วยก็ตาม
แต่…ส่วนหนึ่ง อานิสงค์ ที่ทำให้ภายในรถ ไม่รู้สึกร้อนมากมายอย่างที่คิด
นั่นเพราะ ในรถคันที่เรายืมมาทดลองขับนั้น ทาง Honda ติดตั้ง ฟิล์ม LAMINA
รอบคัน!! เลยไม่ได้สัมผัสไอร้อนจากภายนอกรถแต่อย่างใด
แล้วทัศนวิสัยรอบคันละ เป็นอย่างไรบ้าง
มาดูด้านหน้ากันก่อน เสาหลังคาที่ยื่นล้ำออกมาข้างหน้า
ดูเหมือนจะยังไม่มีปัญหา ถ้ามองจากมุมด้านหน้าตรงแบบนี้
พอมองไปทางฝั่งขวามือ กระจกมองข้าง ขนาดกำลังดี แต่เสาหลังคาเนี่ยสิ
พอมีการบดบัง รถที่เลี้ยวโค้งมาจากทางฝั่งขวามือ อยู่บ้างนิดหน่อย
นี่ยังมีเรื่องของ ขอบนอกกระจกมองข้าง ที่บดบังการมองเห็นรถในเลนขวาสุดอีกต่างหาก
มองไปทางฝั่งซ้าย ดูเหมือนเสาหลังคา น่าจะมีขนาดเล็ก
และไม่น่าจะบดบังทัศนวิสัยอะไรได้ง่ายดายนัก
แต่พอจะต้องเลี้ยวกลับรถ ค่อนข้างชัดเจนเลยครับว่า มีการบดบังรถจากเลนกลาง
ของถนนฝั่งที่สวนมา เล่นบังซะมิดหายไปทั้งคันเลยทีเดียว ดังนั้น การกลับรถ
ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นนิดนึงนะครับ
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น แม้ว่ากระจกบังลมด้านหลังจะโปร่ง แต่หากคุณคิด
จะถอยหลังเข้าจอดในช่อง หรือเปลี่ยนเลนขณะขับขี่ ไปทางซ้าย ต้องระวังให้ดีครับ
กระจกโอเปรา บานหลัง หรือ D-Pillar ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว ยังจะถูกบดบัง ด้วย
พนักศีรษะขนาดใหญ่ จาก City นั่นอีก เรียกได้ว่า บังกันเต็มจอเลยทีเดียว
กระจกมองข้าง พอจะช่วยได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ขุมพลังที่อยู่ใต้ฝากระโปรงของ Freed นั้น หน้าตาคุ้นเคยกับความจำ
ของหลายๆคน ที่ใช้ Honda Jazz และ City ใหม่ อยู่ในตอนนี้ กันแน่ๆ
มันไม่ใช่เครื่องยนต์ที่แปลกตาอะไรกันมากมายนัก แถมยังเป็นเครื่องยนต์
ตัวเดียวกับที่วางใน FREED เวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ
ถูกเผงเลย มันคือ L15A 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.4 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC
และใช้หัวเทียนแบบ Platinum หน้าตาเหมือนกันกับ เครื่องยนต์ที่พบได้ใน Jazz และ City ใหม่ เปี๊ยบ
แต่มีการปรับปรุง ให้มีแรงบิดดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย เพราะกลัวว่า ถ้านั่งอัดกันเต็มที่ 7 คน เวอร์ชันเดิมๆ
มันอาจจะลากไปไม่ไหว
ตัวเลขออกมาอย่างที่เห็น กำลังสูงสุด ลดลงเล็กน้อย 2 ตัว เหลือ 118 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด เพิ่มเป็น 14.9 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ตัวนี้ ยังคงมี ระบบกำจัดมลพิษจากไอเสีย Catalytic Converter ถึง 2 ตัว เช่นเดียวกับ
เครื่องยนต์ใหม่ๆของ Honda ในระยะหลังๆมานี้ โดย ตัวฟอกไอเสีย (ด้วยวิธีการเผา ย้ำนะครับ
Catalytic Converter ไม่ได้ “กรองมลพิษ” แต่ “เผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมาก เพื่อลดปริมาณก๊าซมลพิษ” กันเลย)
ตัวแรก ติดตั้งเอาไว้ที่ ปลายท่อร่วมไอเสีย หรือเขาควาย ซึ่งถูกออกแบบให้ รวบทุกปากไอเสีย
รวมเข้ากันเป็นชิ้นเดียว มีตัววัด A/F Sensor ติดตั้งอยู่ด้านบน ทำงานร่วมกับ อ็อกซิเจน เซ็นเซอร์
ซึ่งจะถูกติดตั้ง อยู่ ในตำแหน่งปากทางเข้าของ Catalytic Converter ตัวที่ 2 ติดตั้งอยู่ใต้พื้นห้องโดยสาร
ต่อเชื่อมกับชุดท่อไอเสีย
ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ควบคุมด้วยระบบเปลี่ยนเกียร์อิเล็กทรอนิกส์
Grade Logic Control พร้อม Direct Control และ Shift Hold Control ซึ่งก็เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับ
ที่ติดตั้งอยู่แล้วใน Jazz และ City อีกนั่นละ แต่ มีการปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ 3 เล็กน้อย ดังนี้
เกียร์ 1 2.995
เกียร์ 2 1.678
เกียร์ 3 1.136 <— Jazz และ City ทดไว้ที่ 1.066 : 1 ต่างกันแค่นี้เลย
เกียร์ 4 0.760
เกียร์ 5 0.551
เกียร์ถอยหลัง 1.956
เฟืองท้าย 4.562
ไม่มีแป้น Shift Padel ให้เปลี่ยนเกียร์บนพวงมาลัย เพราะรถแบบนี้ คนขับจะเร่ง
เอาความเร้าใจ มันก็ใช่ที่ Honda เลยไม่ได้ติดตั้งมาให้ ทั้งที่ Jazz กับ City มีแล้ว
แต่ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนัก เมื่อเทียบกับตัวเลขอัตราเร่งที่เกิดจาก การทดลองจับเวลา
ตามมาตรฐานเดิมของเรา ก็คือ นั่งกัน 2 คน ทั้งผู้ขับ หนัก 95 กิโลกรัม และน้องกลัวย BnN
จาก The Coup Team ของเรา น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม เปิดแอร์ และทดลองในยามวิกาล
บนถนนที่โล่งมากๆ แห่งหนึ่ง
ตัวเลขที่ออกมา ก็เป็น เช่นนี้
ตัวเลขที่เห็นในตารางนี้ ชัดเจนมากพอที่จะทำให้เราได้เห็นความจริงว่า ถ้าจะต้องเปรียบเทียบกันกับ
เพื่อนพ้องน้องพี่ ร่วมแพล็ตฟอร์ม ที่ใช้เครื่องยนต์ L15A เหมือนกัน อัตราเร่งของ FREED หนะ จะ
“อืดกว่าเพื่อน”
แต่ ตัวเลข ก็ไม่อาจเป็นข้อสรุปให้กับทุกสิ่งได้เสมอไป เพราะบุคลิกการขับขี่จริงของ FREED นั้น
คล่องตัว มากกว่าที่คิด การออกตัว และเร่งแซง เพื่อเปลี่ยนเลนต่างๆ ทำได้ว่องไว ตามสมควร อัตราเร่ง
จากในช่วง 0-60 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น แม้จะเหมือนอืดกว่า ทั้ง Jazz และ City จนเห็นได้ชัดว่าตัวเครื่องยนต์
L15A7 นั้น ได้พยายามเต็มที่แล้ว ที่จะฉุดลากตัวรถอันสูงโย่ง ให้พุ่งไปได้เท่าที่กำลังของมันจะพึงมี แต่
มันก็ไม่ได้อืดอาดมากมายหนักหนา เท่า Toyota Avanza และเอาเข้าจริง ก็ยังถือว่า พอยอมรับได้ หาก
ไม่ลืมนำรูปแบบของรถ มาประกอบการพิจารณา กระนั้น ถ้าได้อัตราเร่ง ที่ดีกว่านี้สักหน่อย ขอตัวเลข
โดยรวม 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่แถวๆ 13.5 – 13.9 วินาที ผมว่า นั่นจะยิ่งทำให้ FREED น่าสนใจ
ขึ้นมาได้อีกนิดนึง
เอ แต่จะว่าไป ตอนที่เราจับเวลากันนั้น ก็มีอยู่ถึง 2 ครั้ง ที่มีตัวเลข 13.8 และ 13.9 วินาที หลุดออกมา
ให้ได้เห็นกันแล้วนี่หว่า? แต่เมื่อเราทดลองเพิ่มเติม ก็พบว่า ตัวเลขทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
อยู่ในค่าประมาณ 14 วินาทีต้นๆทั้งหมด หมายความว่า อัตราเร่งของ FREED เมื่ออยู่ในมือของเรา
มันไม่น่าจะเป็นตัวเลข 13 วินาทีปลายๆ อย่างที่อยากให้เป็น ก็คงต้องใช้ตัวเลข 14 วินาทีต้นๆ
เรียงตามกันไปอย่างที่เห็นนั่นละครับ
จากการขับขี่ใช้งานจริง พบว่า อัตราเร่ง ของ FREED ขณะแล่นในเมือง ก็ไม่ถึงกับเลวร้าย
เมื่อคิดรวมเรื่องขนาดของตัวรถเข้าไปให้คิดคำนึงตลอดเวลาที่ต้องนั่งหลังพวงมาลัย
การเร่งแซง หรือมุดนั้น คล่องตัวในระดับหนึ่ง พอทำได้ แต่ไม่ควรทำ เพราะทัศนวิสัยด้านหลัง
บริเวณเสาหลังคา D-Pillar ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย ให้เกิดความมั่นใจเวลาเปลี่ยนเลนมากเท่าที่ควร
มันเป็นรถที่เหมาะจะพาคุณและครอบครัว เดินทางไปอย่างเรื่อยๆ สบายๆ ท่ามกลางการจราจร
ติดขัดในเมือง มากกว่าจะเอาไว้ขับไปเที่ยวต่างจังหวัด ไกลๆ สุดขอบชายแดนประเทศ
แม้ว่า ตัวรถหนะ ยังไงๆ ก็ขับไปได้ ก็ตามเถอะ แต่คนขับก็คงต้องใช้สมาธิในการควบคุมรถ
มากขึ้นพอสมควร ซึ่งจะยิ่งก่อความเครียดให้กับคนขับ มากกว่า คนนั่ง ที่ยังคงนั่งสบาย
เป็นคุณหญิงคุณนาย นั่งกันสวยๆ เป็น Lady GaGa อยู่บนเบาะหลัง
เหคุผลที่ FREED แม้จะใช้เครื่องยนต์ เดียวกับ Jazz และ City แต่ทำอัตราเร่งออกมาได้ “อืดกว่า”
ก็เพราะว่า FREED เป็นรถที่มีความสูงกว่า ทั้ง 2 คันที่เอ่ยถึง ซึ่งต่อให้ออกแบบโดยเน้นความลู่ลม
มากแค่ไหนก็ตาม แต่ ถ้าตัวรถจะต้องมีความยาว มากกว่า ทั้ง 2 รุ่น แถมยังจะต้องมีเบาะนั่งเพิ่มเติม
การออกแบบสารพัดอุปกรณ์ที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไป ย่อมทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และนั่นจะส่งผล
ให้อัตราเร่ง อืดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้ ทีมวิศวกรจะพยายามอย่างถึงที่สุด ในการเค้นพละกำลัง
ออกมาจากเครื่องยนต์ ก็ทำได้ดีที่สุด แค่นั้น เพราะอย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า เครื่องยนต์เดียวกัน ถ้าวาง
ลงในตัวถังที่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักรถทั้งคันก็เบากว่า รถคันเล็กกว่านั้น ย่อมจะแล่นได้เร็วกว่า อีกทั้ง
ยังประหยัดน้ำมันมากกว่า
การตอบสนองของ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering)
ซึ่งผมเคยมองว่า น้ำหนักเบาในความเร็วต่ำ และหนืดกำลังดีในความเร็วสูง หลังจากที่เราได้พบกันมาแล้ว
ในทั้ง Jazz และ City มาคราวนี้ เมื่อมาติดตั้งอยู่ใน ตัวรถที่มีหลังคา สูงกว่าเดิม มีการยกความสูงเบาะคนขับ
ขึ้นไปมากว่าเดิม แถมยังมีระยะห่างจากด้านหน้ารถ จนถึงล้อคู่หน้า ค่อนข้างสั้น หรือเรียกว่า Short Front
Overhang ก็กลายเป็นว่า การตอบสนองของพวงมาลัย แม้จะเบาแรง ถูกใจคุณสุภาพสตรีในความเร็วต่ำ แน่ๆ
ทว่า พอใช้ความเร็วสูงๆแล้ว พวงมาลัย เบาเกินไปและต้องการความหนืด มากกว่านี้ ในย่านความเร็วตั้งแต่
40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้นไป ดังนั้น เวลาเลี้ยวรถ หรือเปลี่ยนเลน FREED จึงตอบสนอง ให้เราได้พบอาการ
หักเลี้ยว ในแบบของรถตู้ ที่ดูน่าหวาดหวั่นเล็กๆ ให้สัมผัสที่คล้ายคลึงกับรถตู้ มากกว่ารถเก๋งอยู่ไม่น้อย
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า ยังคงเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ที่มีการปรับเพิมมุม Castor
ให้มากขึ้น หรือ เอาง่ายๆคือ ทำมุมช็อกอัพ ให้เอียงมากขึ้นเล็กน้อย โดยให้ล้อหน้า
ยื่นไปด้านหน้ารถนิดหน่อย
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ คานบิด ทอร์ชันบีม แถมมีแขน เทรลลิงอาร์ม มาให้เห็น ซึ่งก็โผล่มา
แค่กระจึ๋งเดียว ไม่ยักทำแขนออกมาให้มันยาวกว่านี้สักหน่อย และมีการติดตั้ง ช็อกอัพ กับสปริง
แกส่วนออกจากกัน โดยย้ายตำแหน่งของสปริง ให้อยู่ใกล้กับ จุดศูนย์กลางของ ล้อคู่หลัง ให้มากที่สุด
การตอบสนองในภาพรวมของระบบกันสะเทือนนั้น ถ้าเป็นช่วงความเร็วต่ำ ก็ยังมีบุคลิก
ในแบบ Honda หลายๆรุ่นให้รู้สึกอยู่บ้าง โดยเฉพาะเวลาขับคลานขึ้นไปบนลูกระนาด
ในซอยอารีย์ 2 ที่ความเร็ว ไล่ระดับขึ้นไป ตั้งแต่ 20 30 และ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในซอยเล็ก
เดินรถทางเดียวแห่งนั้น
ถ้าถามถึงการเดินทางในเมือง หากเป็นถนนราดยางมะตอย ใหม่ๆ ไม่นานนัก แน่นอนครับ
นุ่มเงียบ เก็บเสียงเก็บอาการ ได้อย่างดี แต่พอเป็นการแล่นบนถนนปูน ที่มีรอยต่อถนน
ไม่ค่อยดีนัก เสียงและการสะเทือน ก็จะเหมือนกับ ทั้ง Honda Jazz และ City โดยทั่วๆไป
คือ ถ้าจะเรียงลำดับความแข็ง นุ่มของช่วงล่าง ของ Honda ในกลุ่ม พิกัด B-Segment ด้วยกัน
ทั้งหมดแล้ว ช่วงล่างของ Jazz จะแข็งสุด โดยมี City ติดสอยห้อยตามมา และ Freed จะนุ่ม
กว่าเพื่อน ส่วนหนึ่งมาจากน้ำหนักตัวรถที่กดลงไปบนระบบกันสะเทือน ส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า
Honda ที่ประกอบใน อินโดนีเซีย และส่งมาขายในบ้านเรานั้น ช่วงล่างจะนุ่ม กำลังดี นั่งสบาย
มาตั้งแต่รุ่น Stream ผู้น่าสงสารนั่นแล้ว
กระนั้น ที่ผมเคยบอกว่า น่าจะนุ่มถูกใจคนไทยนั้น ขอถอนคำพูด เพราะมีคนไทย 2 คนแล้ว
เป็นอย่างน้อย บอกว่า มันยังไม่โอเค นั่นคือผมและ ตาแพน Commander CHENG ของเว็บเรานั่นเอง
เพราะว่าเมื่อได้ขับใช้งานต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้ผมค้นพบเพิ่มเติมว่า ในการเดินทางไกล
บนทางหลวงแผ่นดิน ด้วยความเร็วระดับ 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Freed จะมีอาการค่อนข้างโคลงนิดหน่อย
แต่พอเพิ่มความเร็วขึ้นไปเป็น 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง Freed กลับจะนิ่งกว่าช่วงความเร็วที่ต่ำกว่านั้น
อย่างชัดเจน..ซึ่งอันที่จริง ตามหลักแล้ว มันควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสลับกัน
ถามว่า บุคลิกแบบนี้ เราเคยเจอในรถอะไรมาแล้ว?
คำตอบก็ยังเหมือนเดิม คือ Ssangyong Stavic
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ทำได้ดีในระดับปานกลาง และจะเริ่มมีเสียง
กระแสลมปะทะเข้ามามากขึ้น เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
คุณอาจจะต้องค่อยๆเพิ่มระดับเสียงพูดคุย หรือ เสียงวิทยุ ให้ดังขึ้น ตามความเร็ว
ของรถ ที่เพิ่มขึ้น
ด้านระบบห้ามล้อ เป็นระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS
และระบบกระจายแรงเบรก EBD ยังทำหน้าที่ ได้สมเหตุสมผล เพียงพอต่อการใช้งาน
แม้ว่าจะมีเหตุให้ต้องเบรกกันมากกว่าปกติ จากความเร็วสูงๆ การหน่วงความเร็ว ทำได้ดีสมตัว
แต่ว่า ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้อีก
และเมื่อรวมกับบุคลิกของเครื่องยนต์ และระบบกันสะเทือนในภาพรวมทั้งหมดแล้ว
ผมได้ข้อสรุปว่า บุคลิกการขับขี่ของ FREED = Jazz + รถตู้
ส่วนด้านความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง นั้น Honda บอกว่า ยังคงมั่นใจได้
ตามมาตรฐานโครงสร้างนิรภัยแบบ G-CON ที่ตน ออกแบบขึ้น มีตั้งแต่การออกแบบ
คาน Cross-Member เพิ่มเติมเข้ามา บริเวณ้านบนสุด ของผนังกั้นห้องเครื่องยนต์
กับห้องโดยสาร (อันเป็นตำแหน่งติดตั้งแผงหน้าปัด)
สังเกตไหมครับว่า ในระยะหลังๆ รถ Honda รุ่นใหม่ๆทุกรุ่น ตั้งแต่ Civic FD
เป็นต้นมา คานหน้า ท่อนบน ของห้องเครื่องยนต์ จะมีเพียงโครงสร้างเหล็กบางๆ กั้นขึ้นมา
พอเป็นพิธีเท่านั้น
เหตุผลที่ก็คือ ทีมวิศวกร ด้านความปลอดภัยของ Honda มองว่า จุดที่รถปะทะเข้าไปนั้น
คานกันชนหน้า มักเป็นด่านแรกที่รองรับ และกระจายแรงปะทะ สู่โครงสร้างอื่นๆ
การออกแบบด้านหน้ารถให้สั้นลงนั้น ถ้าออกแบบคานโครงสร้าง บริเวณซุ้มล้อหน้า
ที่จะต้องลากยาวจรดขึ้นไปถึงเสาหลังคาคู่หน้า ในแนวเฉียง ให้สามารถรองรับ
และกระจายแรงปะทะจากการชน ได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้อง ออกแบบ คานหน้าด้านบน
ของห้องเครื่องยนต์ ให้มีขนาดใญ่โตเกินจำเป็น จนอาจจะกลายเป็นการส่งผลลบ
ต่อภาพรวมด้านความปลอดภัยตามมา
ดังนั้น ทีมวิศวกรของ Honda ก็เลย มุ่งเน้นไปที่การเสริมความแข็งแรง ของโครงสร้างด้านหน้า
บริเวณที่เป็นจุดยึด และต่อเชื่อมต่างๆให้แน่นหนา และแข็งแรงขึ้น แต่ต้องมีการยุบตัวที่ดี
อย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกัน ยังมีการเสริมโครงสร้างบริเวณฐานของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
และเสาคู่กลาง B-Pillar รวมทั้ง จุดยึดแขน เทรลิง อาร์ม ของระบบกันสะเทือนหลัง
รวมทั้งจุดยึดเบ้าช็อกอัพ ให้แน่นหนาขึ้น เสริมคานกันชนหลังให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
(ชิ้นนี้ ไม่แน่ใจว่า รถในเวอร์ชันไทย จะมีมาให้หรือเปล่า?) แต่ ที่ต้องมีมาให้แน่ๆคือ
การเพิ่มความหนา ให้กับบริเวณ โครงสร้างกรอบประตูห้องเก็บของด้านหลัง
เมื่อเกิดการชน คานหน้าสุด สีเขียว จะรับและส่งกระจายแรงปะทะ ไปยังคานโครงสร้างต่างๆ
บริเวณด้านหน้าของตัวรถ โดยจะส่งต่อให้ Lower Member อันเป็นคานตัว Y แนวนอน
ถ่ายทอดแรงชน ไปยัง คานบน Upper Frame ซึ่งจะรับและกระจายแรงชนไปยังด้านหลังของตัวรถ
ขณะที่แรงปะทะ ส่วนหลักๆ จะถูกส่งไปยัง คานสีแดง Main Frame ที่จะต้องดูดซับ และส่งต่อ
ไปยังพื้นห้องโดยสาร
และนั่นก็ทำให้โครงสร้างตัวถ้งของ FREED ปลอดภัยพอ เมื่อต้องเข้าปะทะกับรถที่มีขนาดใหญ่กว่า
หรือมีน้หนักมากกว่า ภาพนี้ ถ่ายโดย Honda ทดสอบกันในอาคารทดสอบความปลอดภัย ขนาดประมาณ
3-4 สนามฟุตบอล ชนปะทะ แบบไม่เต็มพื้นที่ด้านหน้า Offset-Crash ด้วยความเร็ว ประมาณ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
คงพอจะทำให้อุ่นใจได้บ้าง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ชิ้นส่วนของ FREED ที่ขายในไทย ประกอบโดยอินโดฯ นั้น
ทำในญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะอยู่
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
Honda บอกว่า เจ้าฟรี๊ด นั้นมีความประหยัดน้ำมันอยู่พอสมควร
เราก็เลยต้องจับมาพิสูจน์กัน ด้วยมาตรฐานดั้งเดิมกว่า 7 ปีที่ผ่านมา
ทันทีที่รับรถจากสำนักงานใหญ่ สามแยกอุดมสุข ถนนสุขุมวิท บางนา
เราก็บึ่งขึ้นทางด่วนมา ลงดินแดง ลัดเลาะมาออกถนนพหลโยธิน
เลี้ยวเข้าไปเติมน้ำมันเบนซิน V-Power 95 ที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์
ปากซอยอารีย์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เจ้าประจำนั่นละครับ
คราวนี้ผู้ร่วมทดลอง ยังคงเหมือนเดิมคือผม (95 กิโลกรัม) และ
น้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team (48 กิโลกรัม)
โดยปกติแล้ว สำหรับรถยนต์ ที่มีเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 2,000 ซีซี
เป็นรถตลาด หรือรถกระบะ ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
เราจะจับเขย่ารถ เพื่อให้สามารถเติมกรอกน้ำมันลงไปได้มากท่สุด
ลดการเกิดฟองอากาศภายในถัง และท่อทางเดิน ให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ เนื่องจาก Freed ติดตั้งถังน้ำมันพลาสติก เอาไว้ ใต้เบาะคนขับ
และผู้โดยสารคู่หน้า เช่นเดียวกับรถร่วมแพล็ตฟอร์ม ทั้ง Jazz
และ City ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องอนุโลม ให้เติมน้ำมันลงไป
แค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ มิเช่นนั้น รับประกันได้เลยว่า ตัวเลข
จะออกมาเพี้ยนเกาะสยอง ไปจากที่รถในกลุ่มนี้ ควรจะทำเอาไว้
ได้เป็นอันมาก
เติมน้ำมันเสร็จ ก็เซ็ต 0 ที่ Trip Meter ซึ่งให้มาแค่ Trip A อย่างเดียว
ไม่มี Trip B มาให้แต่อย่างใด ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกเดินทาง
ไปด้วยกัน 2 คน กับ น้องกล้วย BnN ในทีม The Coup ของเรา
มุ่งหน้าลัดเลาะไปยังทางด่วนพระราม 6 ซึ่งมีการจราจรติดขัดในซอยเล็กน้อย
นานประมาณ ฟังเพลงจบไปแล้ว 1 เพลง จากนั้น มุ่งหน้าขึ้นทางด่วน
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซึ่งจะคุมให้อยู่ในระดับนี้ได้
ค่อนข้างยาก แต่ถ้าไป 120 เลย กลับง่ายกว่า…)
เราเดินทางไปจนถึงปลายทางด่วนสายเชียงราก ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับ
ในช่วงปลายสุดทางด่วน ย้อนกลับมา ตามเส้นทางเดิมอีกครั้ง ตามมาตรฐานเดิม
คือ วิ่ง 110 เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน รวมคนขับ
ถ้าเราเหยียบด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วจากที่ GPS วัดได้
จะอยู่ที่ 108 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็มีเพี้ยนไปบ้างนิดหน่อย ตามปกติของ
Honda และรถญี่ปุ่นทั่วๆไป ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถบนทางด่วน ในช่วงปลายทางของเรา ค่อนข้างหนาแน่น
แต่ยังพอเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ สลับหยุดนิ่ง ดูจากการจราจรแล้ว เราพบว่า
ที่ติดๆกันเนี่ย เพราะว่ามี Toyota Celica ไฟกลม สีเหลือง ติดสปอยเลอร์ด้านหลัง
เป็นของรุ่น GT-Four จอดเสียอยู่บนไหล่ทางฝั่งซ้ายสุด รถส่วนใหญ่ ก็หลบกัน
หรือไม่ก็ชะลอดูกัน เลยทำให้ติขัดอยู่บ้างนิดหน่อย
เราเลี้ยวลงไปที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยความโล่งอก เพราะก่อนหน้านี้
ตำรวจทางด่วนนายหนึ่ง จะโบกให้เราจอด เพื่อเปิดทางให้ รถที่มาจากฝั่งยมราช
เคลื่อนตัวได้สะดวกขึ้น แต่ ผมตัดสินใจ โบกไม้โบกมือว่า ไม่รอแล้ว!
แล้วก็ขับผ่านเลยไป เพราะถ้าต้องหยุดตามที่ตำรวจโบกจริงๆ งานนี้ ได้ยกเลิก
การทดลองที่ทำมาทั้งหมดแน่ๆ ลำพังแค่รถติดช่วงปลายๆ นี่ ก็อาจก่อความสิ้นเปลือง
ให้เกิดขึ้นได้มากแล้ว เพียง 5 นาที ตัวเลขจะเพี้ยนไปจากความจริงพอสมควรกันเลย
นี่ถ้าจอดรถตามที่คุณตำรวจแกโบกละก็ คงได้จอดติดกันอีกนาน ต่อให้ดับเครื่อง
ก็ไม่คุ้มกับตัวเลขที่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากตัวเลขที่เราประเมินไว้ในเบื้องต้นไกลโข
แล้วเราก็เลี้ยวมาจอดยังปั้มเชลล์ แห่งเดิม เติมน้ำมัน เบนซิน V-Power
ณ หัวจ่ายเดิม แม้แต่ เด็กปั้มที่เติมให้ ก็ยังเป็นคนเดิม
มาดูสรุปตัวเลขกันดีกว่า…ระยะทางที่ชุดมาตรวัดแจ้งไว้นั้น เราแล่นไป 91.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับทั้งหมด 6.49 ลิตร
และผลลัพธ์ที่ออกมาคือ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.16 กิโลเมตร!
เมื่อเปรียบเทียบกับทั้ง Toyota Avanza และ Honda City กับ Jazz ซึ่งใช้เครื่องยนต์
และระบบส่งกำลังเดียวกัน คุณคงจะเห็นตัวเลขแล้วนะครับว่า การที่ตัวรถ มีหลังคาสูง
แม้จะพยายามออกแบบให้ลู่ลมอย่างใดแล้ว แต่ตัวเลขก็อาจจะทำได้ไม่ดีเทียบเท่า
รถยนต์ซึ่งมีหลังคาเตี้ยกว่า ไม่ต้านลมเท่า และใช้พื้นที่ตัวถังในการแหวกอากาศ
ไม่มากเท่า
กระนั้น ตัวเลขที่ออกมา ชัดเจนแล้วนะครับว่า ไม่จำเป็นจะต้องไปเปรียบเทียบกับ
Toyota Avanza แต่อย่างใด เพราะยังไงๆ งานนี้ FREED ก็ประหยัดกว่า Avanza ชัดเจน
และขาดลอย!
แต่ถ้าคุณอยากจะรู้ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพาเจ้า FREED น้อย แล่นได้ในระยะทางประมาณเท่าใด
ลองดูจากรูปข้างล่างนี้เอาแล้วกันนะครับ…
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดนั้น มีทั้ง การถ่ายทำคลิป ในคืนวันศุกร์ กดเข้าไปเต็มที่ 2-3 ครั้ง
ทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งนั่นทำให้มาตรวัด
ปริมาณน้ำมัน หล่นลงมา อยู่ในระดับ 2 ใน 3 ตามประสา Honda ได้รวดเร็วมาก
(ปกติ รถ Honda นั้น เข็มน้ำมันตอนเต็มถัง จะขยับลดลงช้ามาก แต่เมื่อใดที่ขยับลงมา
จะค่อนข้างหล่นเร็วจนลูกค้าใจหาย ทั้งที่จริงๆแล้ว มันก็แล่นได้ระยะทางที่พอกัน
หรือดีกว่ารถทั่วไปนิดนึงนั่นละ
วันรุ่งขึ้น อันเป็นวันเสาร์ ก็ขึ้นทางด่วนไป 2 รอบ ไปทำธุระแถวๆ สายไหม
ลัดเลาะไปตามย่าน สะพานใหม่ดอนเมือง ไปยังแจ้งวัฒนะ เซ็นทรัล งามวงศ์วาน
แล้วก็ ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้ากลับบางนา พอวันอาทิตย์ ก็ขับรถไปล้างที่ซอยลาซาล
ร้าน McGuire ของ น้อง ใหม่ อันเป็นร้านที่เราใช้บริการกันเป็นประจำ ไปวนออก
สุวรรณภูมิ ลัดเลาะออกลาดกระบังอันไกลโข แล้วเลี้ยวขึ้น มอเตอร์เวย์ วกกลับมายัง
ด่านทับช้าง มุ่งไปยังทางออก ถนนเสรีไทย เลี้ยวลัดเลาะไปตามเส้นทางคู่ขนาน
ของมอเตอร์เวย์ ไปยังถนนเส้นตัดใหม่ ที่ใกล้จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
ออกมาจนถึงสี่แยก เกษตรนวมินทร์ นั่นละครับ ไฟน้ำมันถึงได้เริ่มสว่างเตือนขึ้นมา
ถ้าว่ากันตามจริง หากไม่มีการขับแบบเหยียบมิดติดเหล็กรถ กันบ่อยๆ เชื่อว่า
ด้วยน้ำมัน 1 ถัง FREED จะพาคุณเดินทางไปได้ไกล ประมาณ 450-500 กิโลเมตร
กันได้อย่างสบายๆ แต่ ขอย้ำว่า ขับแบบเรื่อยๆ ชิลๆ ทางไกล นะครับ ไม่ใช่ในเมือง
เพราะเครื่องยนต์ L15A7 บล็อกนี้ ถ้าใช้งานในเมืองยังไง ให้ตาย ก็ไม่มีทางดีเกิน
13.5-14 กิโลเมตร/ลิตร แน่ๆ
********** สรุป **********
MINI-ALPHARD คันนี้ ถ้าไม่แพงเกินเหตุ ก็คงจะขายดีถล่มทะลายกว่านี้
ระยะหลังๆมานี้ เรามักพบว่า รถที่มีแนวคิดริเริ่มดีๆ ในการทำออกมาขายหลายคัน
ตกม้าตายในตลาด ด้วยเหตุผที่ ไม่เข้าท่าบ้างละ ตายน้ำตื้น บ้างละ เต็มไปด้วย
ความขาดๆเกินๆ ของอุปกณ์ประจำรถ ที่ใส่มาให้ ด้วยความคำนึงถึงต้นทุน ที่ต้อง
สอดคล้องกับราคาขายปลีกกันบ้างละ
ถ้าจะต้องให้นึกกันตอนนี้ Toyota YARIS คือ ตัวอย่างแรกในกรณีนี้ ที่พอจะนึกออก
ยังจำได้เลยว่า Product Planning ของ Toyota ก็หวังดี อยากให้คนไทย ได้ใช้รถที่
มีออพชันเยอะพอกับเวอร์ชันญี่ปุ่น กันซะที เลยยัดโน่นใส่นี่ มาซะเต็มไปหมด
สุดท้าย ราคามันแพงเกิน ก็ต้องตัดโน่นตัดนี่ ออก จนกระทั่่งถึงวันเปิดตัวขายจริง
เดือนมกราคม 2006 ราคาตั้ง ก็ยังแพงหูฉี่ จน ตอนนั้น Toyota ก็โดนทั้งลูกค้า
และดีลเลอร์ ด่าซะหูชา ต้องทำแคมเปญกระตุ้นตลาดกู้ยอดขายที่ตกต่ำ
แล้วหลังจากนั้น สถานการณ์ ก็เป็นอย่างที่เห็น คือ ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่มีการอัดฉีดแคมเปญ
ก็อย่าหวังว่ายอดขายจะดีกว่า 800 คันเศษๆ ต่อเดือนไปได้เลย
ตัวอย่างต่อมา ที่นึกออกอย่างรวดเร็ว ก็คงจะเป็น Volvo XC60 SUV ที่ผมประทับใจมากๆ
ทั้งที่เป็นคนไม่ชอบ SUV เลยเป็นการส่วนตัว ขับแล้ว ก็ได้แต่บอกกับตัวเองเลยว่า นี่แหละ
Volvo ในแบบ SUV ที่ฉันเฝ้ารอมานาน แต่สุดท้าย ราคาปาเข้าไป 4 ล้านบาท โอ้ แม่เจ้า!
แถมถ้าอยากได้ออพชัน ต้องจ่ายเพิ่มอีกเยอะ จบเห่กันพอดี ลูกค้าหนีไปถอย XC90 กันเพิ่มอีกพอสมควร
Nissan TIIDA เอง ก็เคยเจอปัญหาเรื่องการตั้งราคา ที่ สูงไปหน่อย จนต้องมีการลดราคาลงมา
และแม้ว่ายอดขายจะดีขึ้นมาบ้าง กระเตื้องบ้าง แต่ก็เป็นเพียงแค่ ในระดับหนึ่งเท่านั้น คงไม่อาจ
ปรู๊ดปร๊าด เปรี้ยงปร้างได้เกินกว่านี้ อีกแล้ว
แต่ที่น่าตกใจคือ Honda ผู้ผลิตซึ่งเราเชื่อกันมาตลอดว่า รู้นิสัย และพฤติกรรมการซื้อรถของคนไทย
มาอย่างดี ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ กลับกลายเป็นว่า พลัดหลงเข้ามาอยู่ในวังวนของกลยุทธ์การตั้งราคา
ที่สูงเกินลูกค้ารับได้ จนต้องพลัดตกม้า ลงมานอนบาดเจ็บเสียเอง
ก็ลองดูราคาตั้งขายหน้าโชว์รูม ของ FREED เอาก็แล้วกันครับ
รุ่น S ล่างสุด ก็ปาเข้าไป 894,000 บาท เข้าไปแล้ว
รุ่น E อันเป็นรุ่นที่น่าเล่นที่สุด ก็ล่อไปซะ 974,500 บาท
รุ่น E Sport ราคาทะลุขึ้นไปเป็น 1,014,500 บาท
และรุ่นท็อป E Sport NAVI แพงสุด ที่ 1,074,500 บาท
ตั้งเอาไว้แพงกว่าที่ลูกค้าคาดคิดแบบนี้ แล้วใครที่ไหนจะยอมซื้อ?
สาเหตุที่สำคัญ ก็คือ FREED มีต้นทุน ที่ค่อนข้างสูง เนื่องจาก ชิ้นส่วนที่ถูกส่งเข้าไปยัง
ไลน์ประกอบ ณ โรงงานของ Honda ในอินโดนีเซีย นั้น เป็นชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น
ในปริมาณสัดส่วนเยอะกว่า ชิ้นส่วนที่ทำในประเทศอินโดนีเซียเอง เสียอีก มันเลยส่งผล
ให้ต้องตั้งราคาขาย สูงไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ ต้องเจ็บตัวหนักหนาจนเกินไป
นอกจากนี้ ต่อให้พยายาม ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ ร่วมกันกับทั้ง Jazz และ City เพื่อช่วย
ลดต้นทุนในการผลิตลงไปให้ได้มากที่สุดแล้วก็ตาม แต่ หลายชิ้นส่วนของ FREED
ไม่สามารถกดราคาลงไปได้มากกว่านี้ ลำพังการขึ้นรูปชิ้นส่วนตัวถังด้านข้าง ที่เห็น
แนวโค้งมน สวยอย่างนั้น ขนาดฝ่าย วางแผนเตรียมการผลิต ของ Honda ในญี่ปุ่น
ยังบอกว่า ขึ้นรูปยากกว่า Body Panel ของรถทั่วไป อยู่เหมือนกัน
และนั่นก็เลยทำให้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ เข็น FREED เข้ามาทำตลาดในไทย
ตกอยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้า บ้วนไม่ได้ คายไม่ออก ทนรับสภาพกันไปอย่างแสน
จะตรอมตรม และ ต้องพยายาม ใช้ทางเลี่ยง ด้วยการทำแคมเปญโฆษณา เน้นไปที่
การใช้ชีวิต หรู ทันสมัย ไลฟ์สไตล์ ในเมือง เหมาะกับพวก Urbanista ซึ่งก็เข้าทาง
เอเจนซีโฆษณา ในบ้านเรา ที่ส่วนใหญ่ ที่มีความรู้เรื่องรถกันน้อย แถมยังไม่ชอบ
ทำการบ้านอีก ก็เลยพยายามเน้นทำโฆษณา ออกมาในแนว ขายบุคลิกรถ ให้เหมาะ
กับรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หรือ Life Style กัน
นั่นจึงทำให้พวกเขาพลาดที่จะมองเห็นข้อดีของ FREED ในด้านอื่น ที่มีไม่น้อยเลย
มาขยายต่อ จนทำให้ลูกค้า มองข้ามราคาที่แสนแพงแบบนั้นได้ พวกเขาจะรู้บ้างไหมว่า
FREED เป็นรถที่มีคุณงามความดีด้านต่างๆไม่น้อยเลย
ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามในการออกแบบพื้นที่ห้องโดยสาร ให้ใหญ่โตโอ่โถง
ในรูปแบบ Packaging ตัวรถที่มีขนาดเหมาะสม ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป ตำแหน่ง
เบาะนั่ง ค่อนข้างทำได้ดี อาจจะมีอะไรขาดๆเกินๆไปบ้าง แต่ ถือว่าพอรับได้
ทั้งหมดนั้น ช่วยสร้างความสบาย ในการ เดินทางไปตามสภาพการจราจร
กลางเมือง อันอลหม่าน ได้อย่างรื่นรมณ์ ชนิดที่ เพียงพอให้คุณหญิง คุณนาย
ซื้อไปนั่งเบาะ Captain Seat เดินทางไป เก็บแชร์ ทวงค่าเช่า หรือไม่ก็ให้ อากง อาม่า
ไว้ใช้เดินทาง ไปโรงพยาบาล ได้สบายกว่า Avanza เยอะเลย แถมพอเสร็จแล้ว
ยังพอจะแวะรับ ลูกหลาย ที่โรงเรียนย่านสีลม สาทร ได้อีกสบายบรื๋อ! นอกจากนี้
การใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เหมือน Jazz กับ City นอกจากจะทำให้อัตราสิ้นเปลือง
อยู่ในเกณฑ์ ประหยัด เท่าๆกับ รถยนต์ Sub-Compact B-Segment ทั่วๆไปแล้ว
ก็ยังได้ชื่อว่า มีค่าบำรุงรักษาที่ถูกมาก และที่สำคัญ ประตูบานเลื่อนไฟฟ้า แม้จะถือเป็น
ของเล่นไม่จำเป็น แต่ก็เป็นไม้ตาย ที่น่าจะช่วยมัดใจลูกค้าไว้ได้บ้าง
ส่วนข้อที่ควรปรับปรุง หนีไม่พ้น เรื่องพวงมาลัย ควรจะหนืดในความเร็วสูงมากกว่านี้
การปรับจูน ต้องแตกต่างจาก Jazz กับ City ขึ้นไปอีก ระบบกันสะเทือน ควรจะหาทาง
ลดอาการโคลง ในการเดินทางด้วยความเร็ว 80 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่
เพราะบุคลิกการขับ อย่างที่เคยเขียนไปแล้วใน บทความ Exclusive First Impression ว่า
มันคือ Jazz + รถตู้ นอกจากนี้ อัตราเร่ง และการตอบสนองของคันเร่ง ในช่วงที่เหยียบลงไป
ปานกลาง ประมาณ ครึ่งหนึ่ง หรือ 2 ใน 3 ควรจะดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อีก ขณะเดียวกัน ด้านการ
ตกแต่งภายในห้องโดยสาร ก็ยังมีบางสิ่งที่ไม่ลงตัว วัสดุแผงข้างประตู ขอได้โปรด ช่วยบุผ้า
หรือวัสดุอะไรก็ตาม ให้มันดูดีกว่านี้ น่าสัมผัสกว่านี้ ถ้าคิดจะขายในราคานี้ต่อไป ไม่เพียงแค่นั้น
ออพชันบางอย่าง ที่มีอยู่แล้วใน Jazz กับ City หรือแม้แต่ FREED เวอร์ชันญี่ปุ่น ช่วยใส่เพิ่มเข้ามา
สักหน่อย ก็จะดีกว่านี้ อะไรที่ขาดๆเกินๆ เก็บงานเสียให้หมด ในรุ่น ไมเนอร์เชนจ์
ที่สำคัญ คือ ราคา…ซึ่งแพงเกินเหตุไปมากกว่าที่ลูกค้าเขาคิดกัน
เลยทำให้ FREED กลายเป็น MINI-ALPHARD ไปในสายตาของคุณ P_Wut สมาชิกเว็บเรา
ผมเห็นด้วยกับฉายานี้นะ
เพราะ เรื่องนี้แหละ คือประเด็นเดียว ที่ทำให้ลูกค้า ที่เคยคิดและตั้งใจจะซื้อ FREED
ต่างพากันถอดใจ ใส่เกียร์ถอยหลัง หันหัวหนีกันไปเป็นทิวแถว พวกเขารับได้ กับ
สิ่งที่มีอยู่ใน FREED เวอร์ชันไทย ทุกวันนี้ เพียงแต่ว่า ราคาเริ่มต้น มันควรถูกกว่านี้ อยู่แถวๆ
ต่ำกว่า 8 แสนบาท และรุ่น E มันไม่ควรจะเกิน 850,000 บาท ที่เหลือ ถ้าใส่ของเล่น
ประเภทระบบนำทางเข้าไป ราคาก็ไม่ควรเกิน 9 แสนบาท บวกได้อีก ไม่เกิน 1-2 หมื่นบาท
แต่นี่เล่นตั้งราคากัน บานปลาย เกินงบที่ลูกค้าส่วนใหญ่ ซึ่งจ้องจะซื้อ เตรียมใจไว้ มากขนาดนี้
เห็นทีว่า เป้าหมายยอดขายของ FREED ที่ตั้งเอาไว้ 5,000 คัน ตลอด 1 ปีแรก
คงจะเป็นจริงได้ยากแหงๆ เสียแล้วละ….
————————————–///———————————————
ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
————————————————
บทความของรถยนต์ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ที่ควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับ Toyota Avanza 1.5 ลิตร 4AT
ทดลองขับ Nissan Cube 1.5 ลิตร CVT (By TSL)
————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ภาพวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ Honda Motor Co.
ประเทศญี่ปุ่น ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
15 มกราคม 2010
Copyright (c) 2010 Text and Pictures (All Illustration is own by Honda Motor Co.)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 15th,2010