สถานการณ์ของแบรนด์ SAAB ที่ยังซุ่มเสี่ยงระหว่างความเป็นและความตายอยู่จนร้อนรนไม่ติดที่นั่ง ส่วนอีกฟากโลกหนึ่งกลับดูจะคึกครื้นสวนกระแสเมื่อ Beijing Automotive Industry Holding Corp หรือ BAIC กลายเป็นตาอยู่คว้าพุงเพียว ๆ ไปกินตามสำนวนไทยยอดนิยมที่เปรียบเปรยบุคคลที่ฉวยโอกาสภายใต้ภาวะความวุ่นวายได้
BAIC บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนรายใหญ่อันดับ 5 ได้ซื้อเทคโนโลยีเก่าของ SAAB รุ่น 9-3 และ 9-5 รวมไปถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตรถรุ่น 9-5 จาก GM อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ BAIC นำทรัพย์สินเหล่านี้ไปพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่แรกนั่นก็คือการพัฒนาแบรนด์รถยนต์เป็นตัวของตัวเองเสียทีหลังจากเป็นหุ้นส่วนหรือมือปืนรับจ้างผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติมานานแสนนาน
การปั้นแบรนด์ใหม่ที่เป็นแบรนด์สัญชาติจีน 100% คือความฝันของ BAIC มานานและทะเยอะทะยานดอดเข้าไปเจรจาและเข้าร่วมประมูลซื้อกิจการรถยนต์ที่ล้มเหลวด้านการเงินอยู่บ่อยครั้ง และครั้งนี้ก็ทำสำเร็จเสียทีโดยไม่ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวมากนัก
BAIC จึงทุ่มงบจัดตั้งหน่วยพัฒนาและวิจัย (R&D) เป็นของตนเองจำนวน 4,800 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ซื้อเทคโนโลยีเก่า ๆ จาก SAAB มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ รวมไปถึงได้สิทธิ์ในการผลิตรถยนต์บนพื้นฐาน Platform 3 ชุด และเทคโนโลยีเครื่องยนต์อีก 2 ชุด
นาย Xu Heyi ประธานบริษัท BAIC ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว Reuters ว่าการซื้อสินทรัพย์และเทคโนโลยีของ SAAB จะช่วยทำให้ BAIC ลดขั้นตอนการพัฒนารถยนต์ด้วยตนเองลงเหลือ 4-5 ปี ซึ่งนักข่าวก็เห็นด้วยกับประโยคนี้
BAIC ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ของตนเองที่ใช้เทคโนโลยีของ SAAB มากถึง 1 แสนคันภายในปี 2011 ขณะนี้กำลังลงทุนก่อสร้างโรงงานรถยนต์แห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตสูงสุด 150,000 คันต่อปีแล้วเสร็จภายในปี 2011
คุณ Tan Kunyuan นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ Changjiang แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการปลุกปั้นแบรนด์รถครั้งแรกของ BAIC ว่า BAIC ควรต้องให้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้ตลาดจดจำแบรนด์สินค้าเสียก่อน และจำเป็นต้องปรับปรุงรูปร่างหน้าตารถให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าชาวจีนด้วย
ความฝันของ BAIC ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เชื่อว่าน่าจะเติมเต็มความต้องการของ BAIC ได้เพียงแต่เราอย่าไปคาดหวังว่า BAIC จะพัฒนารถที่ถูกใจชาวโลกมากนักเพราะ BAIC ได้กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของ SAAB พวกเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะปู้ยี่ปู้ยำมันได้ ไม่เหมือนกรณีของ Roewe และ MG ที่ยังมีชงักปักหลังโดยฝรั่งเมืองผู้ดีที่ยังถือกรรมสิทธิ์ในการดูแลและบริหารบริษัทในเครืออยู่