” Tough & Caring – ความแกร่งกล้าที่มาพร้อมกับความอบอุ่นเอาใจใส่ ”

ผมเห็นคำนี้ เมื่อครั้งที่ได้รับเชิญร่วมกับสื่อมวลชนจาก ASEAN ไปฟังบรรยายเรื่องราวและสรรพคุณของ Nissan Terra ที่สำนักงานใหญ่ของ Nissan ในเมือง Yokohama เมื่อช่วงปลายเดือนกันยนยนที่ผ่านมา

คุณ Pedro Deanda ผู้บริหาร Chief Product Specialist ที่ดูแลโครงการพัฒนาของ Terra บรรยายให้ฟังถึงแนวคิดที่ใช้กำกับแนวทางการสร้างรถรุ่นนี้ โดยมี “Tough & Caring” เป็นหนึ่งในแนวคิดนั้น กล่าวว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกเดียว รถก็เช่นกัน “เราพยายามทำให้รถสามารถผสาน 2 บุคลิกที่น่าจะขัดแย้งกันเข้าไว้ได้ ลองมองให้รถเป็นคน จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเป็นคนที่แข็งแกร่ง ดุดัน จริงจัง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นคนที่ให้ความอบอุ่นกับความปลอดภัยแก่คนรอบข้าง? นั่นคือบุคลิกในแบบที่เราอยากให้ Terra เป็น”

โอ้ พระเจ้า ผมรอแรงบันดาลใจแบบนี้มานานละ (ผมนั่งคิดและหัวเราะเบาๆกับตัวเองในตอนนั้น) เพราะในใจผมเริ่มเบื่อกับการที่ SUV/PPV สักคันจะต้องมีภาพลักษณ์แบบ ลุย! บึก! แกร่ง! ห้าว! ทั้งที่ความจริงส่วนหนึ่งของคนที่ใช้รถแบบนี้จะขับรถเรียบร้อยในสันติสุขโหมด มีภรรยาคอยเป็น Speed limiter อยู่ข้างๆและมีเด็กแดงนั่งดู MV เบบี้ชาร์คดุ๊ดดูดุ๊ดๆดู บนเบาะหลัง

Tough & Caring ทำให้ผมนึกถึง คุณเคี้ยง เพื่อนสนิทของผมที่บางคนอาจจะรู้จักอยู่แล้วจากกิจการคาร์แคร์ขัดเคลือบคิวจองยาวข้ามเดือนชื่อ Crystal Point เคี้ยงเป็นคุณพ่อที่มีลูกเล็ก 2 คน ตัวสูง 6 ฟุต หุ่นของเขาอาจจะไม่บึกดุจนักมวยปล้ำ แต่มีลักษณะของคนแข็งแรง มีพุงนิดๆตามวัย เคี้ยงตอนหงุดหงิดหน้าตาจะเหมือน Nissan Terra มากจนผมเองยังแอบขำ แต่ถ้าใครเจอเขาในโหมดโหด..ผมบอกได้เลยว่าสถานีตำรวจยังแทบแตกมาแล้วเมื่อครั้งที่เขาถูกมอเตอร์ไซค์ขับมาชนจนรถของเขาได้รับความเสียหาย แต่กลับถูกพยายามยัดเยียดให้เป็นฝ่ายผิดเพราะคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์รู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคน

เขาไม่ใช่นักเลง แต่รังเกียจความอยุติธรรม และไม่ลังเลที่จะโต้ตอบกลับอย่างเด็ดขาดแยบยลถ้าเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อน

แต่ใน 99% ของชีวิต เพื่อนๆและลูกค้าจะรู้จักแต่ร่างที่ 1 ของเคี้ยงซึ่งเป็นหนุ่มแว่น หัวเราะนิ่มๆ ยิ้มรับลูกค้า มีจิตใจโอบอ้อมอารี ยิ่งมีภรรยาที่มีนิสัยคล้ายกัน (แน่นอนว่าภรรยาดุกว่า) ยิ่งทำให้คนรอบข้างรักใคร่ ในปี 2011 ที่น้ำท่วมกรุงเทพและผมติดแหงกอยู่ในชั้นสองของบ้าน เผชิญกับน้ำเน่าเสียและภาวะโรคจิตในวันเกิดของตัวเอง เคี้ยงกับภรรยาขับรถจากพระราม 3 มาจอดที่สะพานข้ามแยกพงษ์เพชรและเดินลุยน้ำลึกระดับเข็มขัด 2 กิโลเมตร แบกเค้ก 1 ก้อนกับเทียนวันเกิดเข้ามาหาผมถึงบ้านตอนห้าทุ่ม เพื่อมา Happy Birthday และนั่งอยู่ชั่วโมงเดียวก่อนจะถูกผมไล่กลับไปด้วยความเป็นห่วงว่าดึกแล้วจะยิ่งไม่ปลอดภัย ยิ่งมีข่าวโจรขี่เรืออาละวาดอยู่แถวนั้นด้วย

แล้วยิ่งพอมีลูก เคี้ยงก็ยิ่งต้องใช้แรงเยอะ ทำงานหนัก แต่ก็ยังได้เห็นเขาในบทบาทของความเป็นพ่อ ผู้ซึ่งเริ่มต้นด้วยการมีแรง แต่กลัวเด็ก เริ่มหัดช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ผมยังจำภาพที่เขาทาแป้งและหยอกล้อกับลูกน้อยอย่างสนุกสนาน แล้วอุ้มลูกไว้ในแขนอย่างอบอุ่น แขนคู่เดียวกันนี้ที่จับเครื่องขัดสีและผ้า ล้าง เช็ดและเคลือบรถอย่างเหน็ดเหนื่อยไม่เว้นแต่ละวัน มันคือแขนและมือของพ่อที่สามารถเป็นได้ทั้ง “Tough” และ “Caring” เพื่อปกป้องและมอบความอบอุ่นให้คนรอบข้าง

ถ้าสิ่งนี้จะถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งเป้าพัฒนา Terra ผมว่ามันก็กินใจดีไปอีกแบบ พูดก็พูดเหอะผมยินดีจะโปรโมทคำนี้มากกว่า “Nissan Intelligent Mobility” ที่ผมรู้สึกว่าเป็นกลุ่มคำที่เฝือดาษดื่น แม้ว่าความหมายและรายละเอียดจริงๆของมันจะมีดีอยู่บ้างก็ตาม

จบกับเรื่องการตลาดบนคำพูดเอาไว้ก่อน…แต่ Nissan เองก็คงเห็นว่าในทวีปเอเชีย มี “คุณพ่อคนเก่ง” หลายคนที่กำลังมองหารถอเนกประสงค์ไว้ใช้งาน เป็นรถที่ต้องแกร่ง ทนต่อสภาพถนนที่ไม่มีวันพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับรองรับชีวิตครอบครัว ลูกค้าเหล่านี้จำนวนมาก ซื้อรถเพียงคันเดียวเพื่อใช้งานไป 5-10 ปี แม้ว่า Nissan จะมี SUV พื้นฐานรถเก๋งอย่าง X-Trail ขายอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าบางกลุ่มอยากได้รถที่เป็น “Real SUV” ซึ่งมีความทนกร้านต่อโลกแบบรถกระบะ ลุยได้ดีกว่า โดยอาจจะเสียเรื่องความคล่องตัวไปบ้าง

หลายค่ายตีโจทย์ข้อนี้แตกไปนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Toyota, Mitsubishi, Ford หรือแม้กระทั่ง Chevrolet ซึ่งมีรถอเนกประสงค์แบบตัวถัง Chassis on frame สำหรับตลาดเอเชียขายมานาน แล้ว Nissan จะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไรในเมื่อนี่คือตลาดที่กำลังโตอย่างรวดเร็ว มีความสามารถในการสร้างกำไร และมีโอกาสในการเซฟต้นทุนจากการแชร์ชิ้นส่วนบางชิ้นกับรถกระบะที่ผลิตขายอยู่แล้ว?

Ashwani Gupta รองประธานอาวุโสที่ดูแลกลุ่มรถพาณิชย์ขนาดเล็ก (LCV-Light Commercial Vehicle) ตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายใน 4 ปีนับจากนี้ ตลาดรถยนต์พาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงรถกระบะ 1 ตัน, SUV พื้นฐานรถกระบะ (PPV), รถตู้ และ รถบรรทุกขนาดเล็ก จะต้องโกยยอดขายเพิ่มจากปัจจุบันให้ได้ถึง 40% หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุผลก็คือ Nissan Terra

ซึ่งหากพูดถึงการสร้างรถแบบ Frame-based SUV (SUV ที่มีแชสซีส์บนเฟรมตัวถังคล้ายรถกระบะ ต่อไปนี้ขอเรียกแบบไทยๆว่า PPV) นั้น Nissan มีประสบการณ์มายาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ Nissan Patrol/Safari ที่กำเนิดมานานกว่า 50 ปี ซึ่งต่อมา ความรู้และทักษะจากการทำรถลุย ก็ส่งทอดต่อไปยังรถรุ่นใหม่กว่า เช่น Nissan Pathfinder หรือ Terrano ซึ่งก็คือ Nissan Big M ที่นำมาทำเป็นทรง SUV

ต่อมา Pathfinder เกิดอาการสับสนในตัวเอง อยากลองใช้ชีวิตแนวใหม่รุ่น R50 กลายเป็น SUV พื้นฐานจากรถเก๋ง ตัวถังแบบชิ้นเดียวขายอยู่เจนเนอเรชั่นหนึ่ง ก่อนที่จะค้นหาตัวเองเจอ แล้วกลับใจมาเป็นรถแบบ PPV เหมือนเดิมในภายหลังโดยเอา Navara D40 มาเป็นพื้นฐาน ปรับลุคให้กลายเป็นรถลุยแบบไม่แคร์สื่อ เน้นการขายให้กับลูกค้าอเมริกัน ก่อนจะกลับไปเป็นรถตัวถังชิ้นเดียวอีกครั้งในรุ่น R52 ปี 2013

ในระหว่างการสลับแนวคิดการสร้างไปๆมาๆของ Pathfinder (เรียกว่า Terrano ในญี่ปุ่น) แล้วก็ยังมีการเอา Big M (Frontier) มาทำเป็นรถอเนกประสงค์สำหรับวัยรุ่นอย่าง Xterra ในตลาดอเมริกาช่วงปี 1999 รถรุ่นนี้จะต่างจาก Pathfinder ตรงที่ระดับทางการตลาดต่ำกว่า เน้นลุยไม่เน้นหรู แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แล้วก็ไม่เข็ด ทำออกมาอีกรุ่น (N50) ในปี 2005 และเพิ่งเลิกขายไปเมื่อปี 2015 นี้เพราะยอดขายไม่เดินเช่นกัน

Terra ของยุคนี้ จึงน่าจะเป็นลูกหลานสายตรงของ Terrano/Pathfinder/Xterra รุ่นที่เป็นตัวถังแบบมีแชสซีส์บนเฟรม แต่ในเมื่อต้องมาขายลูกค้าชาวเอเชียซึ่งมีความต้องการในการเลือกรถซับซ้อนกว่าอเมริกัน จะมาทำรูปทรงเหลี่ยมๆแปลกๆ หรือทำหน้าตาลุยๆแบบไม่แคร์สื่อ รับรองว่าขายได้ 500 คันก็ม้วนเสื่อกลับ Yokohama ดังนั้นหน้าที่ในการรังสรรค์และขัดเกลาดีไซน์จึงตกมาอยู่กับคุณ Masato Takahashi ผู้บริหารที่ควบคุมด้านการออกแบบให้กับโครงการ Terra

จากการได้ไปเยือน Nissan Global Design Center ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ฟังสื่อมวลชนสัมภาษณ์ชายผู้นี้ ทำให้ผมได้ทราบว่าที่จริงการบอกว่า Terra คือ Navara ในร่าง PPV นั้นออกจะถ่อมตัวไปสักหน่อย “ถ้านับเฉพาะภายนอก ส่วนที่ Terra ใช้ร่วมกับ Navara ก็จะมีแค่ประตูคู่หน้า มือจับเปิดประตู และฝากระโปรงหน้า นอกนั้นเราต้องออกแบบใหม่ขึ้นหมด ส่วนในด้านวิศวกรรมนั้นก็ใช้เฟรมตัวถังที่มีพื้นฐานจาก Navara แต่ด้วยจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างทำให้เราต้องปรับใหม่หลายจุด เพื่อให้ได้รถที่นั่งสบายขึ้น ระยะฐานล้อก็สั้นลง”

“ส่วนเรื่องของการออกแบบภายนอก เราพยายามทำให้มันดูบึกบึน แต่ไม่แข็งกร้าวจนเกินไป เรารู้ว่านี่เป็นรถครอบครัว และในวัฒนธรรมเอเชียและตลาดของพวกคุณ (ASEAN) คนในครอบครัวมีผลต่อการซื้อรถ ดังนั้นมันจะต้องมีจุดที่ดูอ่อนช้อยและสุภาพอยู่บ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิด Tough & Caring ที่คุณอาจจะได้ยินมาจากผู้บริหารท่านอื่นๆเขาบรรยาย”

ในกลุ่มสื่อมวลชนที่ไปงานวันนั้น มีนักข่าวจากอเมริกาท่านหนึ่งที่พยายามถามว่าเมื่อไหร่จะมาขายในอเมริกาบ้าง เพราะหน้าตาน่าจะถูกใจคนอเมริกันพอสมควร (ตัวเขาเองก็ชอบ) คุณ Masato ตอบว่า “เรื่องนั้นบอกเลยว่าไม่อยู่ในแผน Terra เป็นรถที่สร้างมาเพื่อคนเอเชีย..ไม่ใช่อเมริกา สิ่งที่คุณเห็นแล้วรู้สึกชอบ อาจจะเป็นเรื่องดีไซน์ที่ดูบึกบึนแข็งแรงซึ่งชาวอเมริกันจะชอบแบบนั้น แต่ผมขอเรียนตามตรงว่าในขั้นตอนการออกแบบนั้น ระหว่างการวิจัย เราไม่เคยทำวิจัยเรื่องดีไซน์ของ Terra กับลูกค้าชาวอเมริกันแม้แต่คนเดียว”

ถือเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก เพราะน้อยครั้งมากในชีวิตของผมที่จะเจอรถสเป็คเอเชีย สร้างให้คนเอเชีย แต่ดันมีหน้าตาถูกใจคนอเมริกัน ผมเดินไปถามนักข่าวท่านนั้นแล้วคุยเพิ่มเติม เขาก็บอกว่ามีเพื่อนๆหลายคนฝากมาถามว่า Terra จะมาขายที่อเมริกามั้ย ถ้ามาก็จะซื้อ

ในขณะที่อเมริกาพลาดหวัง แต่ไทยกลับได้ใช้ เท่านั้นยังไม่พอ ผมทราบมาว่าทีมผู้บริหารไทย (ซึ่งหมายถึงทั้งชาวไทยและฝรั่ง) พยายามเจรจาเรื่องสเป็ครถให้ได้ของมากที่สุด จนทำให้ไทย เป็นตลาดเดียวของ Terra ที่ได้ลูกเล่นต่างๆมาใช้ครบครัน มี 7 ที่นั่ง และเด็ดสุดคือเป็นประเทศเดียวในขณะนี้ที่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ YS23DDTT

Nissan Terra มีความยาวตัวถัง 4,885 มิลลิเมตร  กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ความยาวระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร ระยะแทร็คล้อหน้า/หลัง 1,565/1,570 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดที่ต่ำสุดของใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 215 มิลลิเมตร (ลดลงจากเวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ 10 มิลลิเมตร – และทำให้เตี้ยกว่าใต้ท้องของ Ford Everest 10 มิลลิเมตรเช่นกัน) น้ำหนักตัวถัง รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ หนัก 2,043 กิโลกรัม รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อหนัก 2,118 กิโลกรัม

เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งมีขนาดมิติตัวถังดังต่อไปนี้

  • Nissan Terra : ยาว 4,885 กว้าง 1,865 สูง 1,835 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร
  • Ford Everest : ยาว 4,893 กว้าง 1,862 สูง 1,837 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร
  • Chevrolet Trailblazer : ยาว 4,887 กว้าง 1,902 สูง 1,852 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร
  • Isuzu MU-X : ยาว 4,825 กว้าง 1,860 สูง 1,860 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร
  • Mitsubishi Pajero Sport : ยาว 4,785 กว้าง 1,815 สูง 1,805 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร
  • Toyota Fortuner : ยาว 4,795 กว้าง 1,855 สูง 1,835 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร

ถ้าพิจารณาในเรื่องของการออกแบบนั้น ดูบึกบึนมีมัดกล้ามจริง แต่ไม่ล้ำยุคอย่างเปิดเผยเหมือน Fortuner หรือ Pajero Sport ไฟหน้าแบบ LED Projector พร้อม Daytime Running Light แม้ดูเผินๆจะคล้าย Navara แต่ส่วนบนที่ชิดฝากระโปรงกลับดูดุ และล้ำสมัยกว่า กระจังหน้า V-Motion ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Nissan ก็ถูกออกแบบให้ดูนูนเด่นออกมามากขึ้น เวอร์ชั่นไทยจะได้กระจังหน้าส่วนที่เป็นตาข่ายพ่นสีเงิน ในขณะที่เวอร์ชั่นจีนเป็นสีเทาเข้ม..ดูแล้วอยากสั่งกระจังหน้าจีนเข้ามาขาย เพราะทำให้รถดูหนุ่มแน่นกว่า

ส่วนด้านท้ายรถนั้น ทีมออกแบบเลือกใช้ไฟหรี่ไฟท้ายแบบ LED ทรงแนวนอน ซึ่งช่วยให้รถดูมีความกว้างมากขึ้น ส่วนไฟเบรกจะเป็นหลอดธรรมดา เส้นสายของไฟท้ายจะสัมพันธ์กับลักษณะของไฟหน้าที่มีลักษณะเส้นหล่น ลดระดับลงมาในส่วนปลายเพื่อไม่ให้ดูแล้วจืดจนหน้าเบื่อเกินไป สำหรับด้านข้างรถนั้น เมื่อมองจากกระจกบานหลังสุดมาประตูหน้าก็มีการเล่นแบบเส้นหล่นลงมาเช่นกัน

ภาพรวมออกมา ในความเห็นส่วนตัวของผม Terra ใหม่ดูเหมือนจะมีดีไซน์ที่สอดอยู่ตรงกลางระหว่างความบึกบึนราวนักมวยปล้ำ WWE ของ Ford Everest กับความเพรียวลม แอบดูกระโย่งนิดๆของ Pajero Sport อย่างไรก็ตาม Nissan ดูเหมือนจะเลือกสไตล์อนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะมาพร้อมไฟหน้าบูมเมอแรงแบบสุดกู่ หรือไฟท้ายแบบหางปลายี่สกที่เราเห็นกันมาใน Nissan เก๋งหลายรุ่น แต่ความอนุรักษ์นิยมของด้านท้ายแบบนี้ น่าจะเหมาะกับตลาดลูกค้าชาวไทยซึ่งชอบรถที่ไร้ข้อกังขาด้านรูปทรงมากกว่าที่จะหลงใหลดีไซน์แปลกแหวกมิติ

การเข้าไปนั่งใน Terra นั้น สำหรับการเข้าออกประตูคู่หน้าถือว่าไม่ยาก เพราะขนาดบานประตูใหญ่แบบรถกระบะอยู่แล้ว ความสูงของรถที่มากกว่า Navara อยู่นิดหน่อยอาจจะทำให้รู้สึกต่างได้ถ้าคุณเป็นคนที่ขับ Navara อยู่ประจำ แต่สำหรับคนทั่วไปที่สูง 170 เซนติเมตรขึ้นไป คงไม่มีปัญหา

เบาะหน้าของ Terra สเป็คไทยทุกรุ่นย่อย ด้านคนขับจะปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทางพร้อมปรับดันหลังได้ ส่วนฝั่งคนนั่ง จะเป็นแบบปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง (หมายเหตุ: Fortuner เป็นเบาะไฟฟ้าคู่นะครับ) ขนาดเบาะรองนั่งไม่ใหญ่นัก ไม่ได้ตีปีกขึ้นกันตัวคนนั่งไหลไปทางซ้าย/ขวามากเท่าไหร่ ซึ่งพอจะอภัยได้เพราะเป็นรถประเภทอเนกประสงค์ที่เน้นความสบายเวลานั่งกับตอนขึ้นลง ฟองน้ำมีความแข็งพอประมาณ ไม่ยู่ตัวง่ายแต่เลือดลมไหลเวียนจากทวารหนักไปถึงขาได้ไม่ติดขัด พนักพิงหลังให้ความรู้สึกหนา และ นุ่มพอควร อย่างไรก็ตามพนักพิงศีรษะก็ยังออกแบบมาเน้นการดันศีรษะเช่นเดียวกับ Navara ซึ่งน่าจะเป็นจุดเดียวที่ทำให้ยังนั่งไม่สบายเท่าเบาะของ Fortuner แต่สำหรับคนที่นั่งแบบไม่พิงหัว คุณก็จะไม่มีปัญหาอะไรกับมัน

สิ่งที่ต่างกันระหว่างเบาะของรุ่น 2.3VL 4×4 ตัวท้อปกับรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง ก็คือสีของเบาะ ซึ่งรุ่น 4×4 จะได้สีน้ำตาล ส่วนรุ่นอื่นๆจะเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ)

สำหรับการขึ้นนั่งด้านหลังนั้น ความที่เสา B-pillar อยู่ชิดกับเบาะ ทำให้คนตัวสูง (และอ้วน) ตวัดเท้าเข้ายากหน่อย แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ MU-X และ Trailblazer

ส่วนเบาะหลังนั้น  Nissan เขาบอกว่าทีมออกแบบเน้นความสบายของที่นั่งแถวสองมาก และมีเนื้อที่สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมากที่สุดในบรรดารถระดับเดียวกัน ..ก็อยากจะบอกว่าจริงแท้ทีเดียว! เพราะแม้ส่วนเบาะรองนั่งจะสั้น แต่ก็มีฟองน้ำแน่นกำลังดี พนักพิงหลังดุนแผ่นหลังตอนล่างขึ้นมามาก แรกๆอาจจะน่ารำคาญแต่พอนั่งนานๆกลับรู้สึกสบาย พนักพิงศีรษะไม่มีการดันหัวแม้แต่น้อย ตัวเบาะสามารถปรับเอนได้ (ในภาพคือตำแหน่งเอนสุด เทียบกับตำแหน่งปกติ) เวลาเอนเบาะกึ่งนอนรู้สึกว่าต้องหลุนหัวไปข้างหลังเยอะ ปรับเบาะตั้งขึ้นมาอีกหน่อยสบายกว่า

นอกจากเอนได้แล้ว ฐานเบาะรองนั่งก็ยังสามารถเลื่อนสไลด์หน้า/หลังได้อีกเช่นกัน

ฐานของเบาะรองนั่งแถวที่สอง สามารถปรับเลื่อนหน้า/หลังได้ โดยล้วงเหนี่ยวเหล็กคันโยกผอมๆด้านหน้าค่อนใต้ของเบาะ พนักพิงหลังสามารถเอนได้พอสมควร และ เมื่อต้องเปิดให้คนเข้าไปนั่งบนเบาะแถวสาม ก็สามารถใช้คันโยกปรับเอนเบาะกดทีเดียวแบบ One-Touch ตัวเบาะรวมถึงฐานรองนั่งก็จะพับตลบมาข้างหน้าให้ทั้งตัว โดยแบ่งซีกการพับเบาะออกเป็นแบบ 60 : 40

นอกจากนี้ถ้าไม่ชอบออกแรงดันคันโยก ก็สามารถกดสวิตช์พับเบาะแบบ One-Touch ที่อยู่แถวๆเบรกมือเอาก็ได้ นับว่าให้ความสะดวกในกรณีที่จะให้พี่เลี้ยงเด็กขึ้นเบาะแถวสาม แต่คุณยายเก้ๆกังๆ หาคันโยกเบาะไม่พบ ก็กดจากปุ่มนี้ได้โดยไม่ต้องลุกจากที่นั่งคนขับ


เบาะแถวสามนั้น สามารถปรับเอนหลัง (โดยดึงที่สลักเชือกที่อยู่ริมสุดบริเวณข้อพับเบาะนั่ง) และ แยกพับแบบ 50 : 50 ได้ เมื่อพับลงแล้วจะอยู่ในแนวเกือบราบไปกับพื้นห้องบรรทุกสัมภาระ เวลาเปิดท้ายรถแล้วจะพับเบาะแถวสามลง ให้ดึงเชือกอันที่อยู่ด้านล่าง (ต่อเข้ากับเชือกสำหรับเอนเบาะแต่โผล่หางออกมาด้านหลัง) ส่วนเชือกอันบนเอาไว้ให้เหนี่ยวและดึงเบาะขึ้นมาได้ง่ายเฉยๆ

เรื่องความสบายของเบาะแถวสาม อาจจะอธิบายยากสักนิดเพราะคนไซส์ผมไม่ใช่ประเภทที่จะต้องเข้าไปนั่งตรงนั้นอยู่แล้ว แต่ก็พอจะบอกได้ว่าเบาะรองนั่งมันเตี้ยติดพื้นมากครับ เอาคนตัวผอมแต่สูงมานั่งก็จะต้องชันเข่าขึ้นมาก แต่ยังดีที่มีที่ให้เหยียดขาได้ยาว ในขณะที่ถ้าเป็น Pajero Sport ที่เหยียดแข้งขาจะสั้นกว่า แต่ตัวเบาะวางสูงจากพื้นทำให้ไม่ต้องชันเข่ามากเท่า ลำบากชีวิตกันคนละแบบ ทางที่ดีกรุณาเก็บไว้ให้คนตัวเล็กๆนั่งจะดีกว่า

การนั่งแบบกางเบาะทั้ง 3 แถว จะทำให้มีที่เก็บสัมภาระเหลือน้อยลง แต่มีขนาดพื้นที่เทียบกับกระเป๋าเดินทางยาว 54 มิลลิเมตรดังเห็นได้ในภาพ

พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น แม้ Nissan เคลมว่ากว้างที่สุดในคลาส แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขความจุเป็นหน่วยลิตรออกมา ถ้าพับเฉพาะเบาะแถวสามลง จะได้พื้นที่บรรทุกยาว 975 มิลลิเมตร กว้าง 1,148 มิลลิเมตร และ ถ้าพับเบาะแถวสองลงด้วย จะได้เพิ่มเป็น 1,900 มิลลิเมตรเลยทีเดียว และได้พื้นที่การบรรทุกที่เป็นระนาบเดียวกัน

สำหรับบรรยากาศในห้องโดยสาร เมื่อมองออกไปจากมุมนี้ จะเห็นได้ว่าแผงแดชบอร์ดแทบจะลอก Navara มายกแผง ด้านบนของแดชบอร์ดจะเว้าลงไปเป็นแอ่งวางพระเครื่องหรือสมาร์ทโฟนและมีช่อง Power outlet มาให้เหมือนที่เราเห็นใน Navara สัมผัสของวัสดุ และ ความหรูหราเมื่อวัดด้วยมือ และสายตา ผมรู้สึกว่ามันยังขาดความเรียบแต่แอบเฉียบของ Everest หรือ ความมีลูกเล่นของ Fortuner

แม้ว่าการใช้แดชบอร์ดร่วมกับรถกระบะจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Everest และ Trailblazer ก็ทำ..แต่แดชบอร์ดของทั้ง 2 เจ้านี้นับว่าทำมาได้หรูล้ำ ในขณะที่แดชบอร์ดของ Navara ดูค่อนข้างธรรมดา จะว่าเรียบง่ายก็ไม่ใช่เพราะหน้าตาของช่องแอร์กลางออกจะดูขัดๆ (ความเห็นส่วนตัว) ไหนๆจะมาทั้งทีทำไมไม่ออกแบบแดชบอร์ดใหม่ให้มันดูล้ำกว่านี้ หรือเปลี่ยนแค่บางจุดเพื่อยกระดับให้สมราคาบ้าง?

คำตอบหรือครับ..ก็เพราะผู้บริหาร Nissan ที่คุมโครงการ (บางคน) บอกว่าของ Navara มันก็ดูดีอยู่แล้ว อันที่จริงฝ่ายออกแบบได้เสนอคณะกรรมการเพื่อขออนุมัติการออกแบบแดชบอร์ดใหม่ไปแล้ว แต่โดนปฏิเสธ..เพราะอะไร ผมว่าคุณคงเดาได้

(หมายเหตุ: ภาพแดชบอร์ดเป็นของรุ่น 2.3VL 2WD เนื่องจากภาพของรุ่นขับสี่ที่ถ่ายไว้ แสงแดดจ้าจนภาพดูไม่สวย จุดที่แตกต่างกันมีแค่สีของเบาะและสวิตช์ควบคุมระบบขับสี่)

บนแผงประตูมีชุดสวิตช์กระจกไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch กดครั้งเดียวลงหมดที่ฝั่งคนขับ และ สวิตช์สำหรับล็อคประตู ในบริเวณใกล้กันก็จะมีสวิตช์สำหรับปรับกระจกมองข้าง และ สวิตช์พับกระจกมองข้างไฟฟ้า

ถัดมา ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา จะมีที่วางแก้วแบบชักออกมาได้ และด้านข้างที่วางแก้ว จะมีสวิตช์ Trip Reset กับปุ่มปรับความสว่างไฟหน้าปัด ซึ่งทำมาแบบแอบหรู เพราะใช้แบบปุ่มกด -/+ ซึ่งการทำเป็นปุ่มแบบนี้เข้าใจง่าย ดูสวยงาม อาจจะปรับได้ไม่เร็วเท่าสวิตช์หมุน แต่ก็ดีกว่าของคู่แข่งบางค่ายที่ต้องกดๆๆๆเข้าไปในเมนูย่อยบนจอ MID แล้วปรับ

ด้านล่างลงมาเป็นสวิตช์ฝาถังน้ำมัน อยู่ในตำแหน่งที่เอื้อมถึงง่ายไม่ต้องควักต้องล้วง สวิตช์ปิดระบบแทร็คชั่นคอนโทรล กับลูกบิดสำหรับปรับองศาสูงต่ำของไฟหน้าก็อยู่บริเวณใกล้กัน ส่วนบนพวงมาลัยนั้น ปุ่มบนก้านด้านขวา จะมีไว้สำหรับ Cruise Control ส่วนก้านด้านซ้าย จะมีปุ่มสำหรับควบคุมเครื่องเสียงและปุ่มสำหรับกดเลือกฟังก์ชั่นบนจอ MID ที่หน้าปัด ส่วนปุ่มสตาร์ท จะหลบมาอยู่ด้านซ้ายของพวงมาลัย

ผมใช้เวลามองหาสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดระบบ Lane Departure Warning นานเท่าไหร่ก็ไม่พบ มีวิธีเดียวที่จะปิดมันได้คือต้องเข้าจาก Menu การปรับตั้งค่าของจอ MID บนหน้าปัด ตรงนี้คือส่วนที่ไม่สะดวกนัก น่าจะทำสวิตช์ให้เปิด/ปิดได้ง่ายๆสักอัน

หน้าปัดของ Terra เป็นแบบเรืองแสง มีจอกลาง MID เป็นจอสี สามารถแสดงผลเป็นภาษาไทย หน้าตาแลดูเหมือนของ Navara ไม่มีผิดเพี้ยน สามารถปรับโชว์ค่าอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองแบบ Real-time, แสดงระยะทางที่เหลือซึ่งสามารถวิ่งได้ด้วยน้ำมันในถังเหมือน Navara แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือหน้าจอสำหรับโหมด Off-road ทั้งเรื่ององศาเอียงของตัวรถและระบบขับเคลื่อน (มีทั้งในรุ่นขับสี่และขับหลัง) นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง 4 ล้อมาให้ด้วย และสามารถเข้าเมนูปรับตั้งค่าเพื่อเลือกได้ว่าจะแสดงผลเป็นบาร์, PSI หรือ kPa เวลาจะสลับหน้าจอระหว่างฟังก์ชั่นต่างๆ ก็กดปุ่มที่มีรูป 4 เหลี่ยมบนก้านพวงมาลัยทางซ้าย

และถ้าจะ Reset ค่าของ Function ไหน ก็ให้กดปุ่มที่เป็นรูปลูกศรวนกลับค้างเอาไว้ ส่วนมาตรวัดระยะทาง (Trip Meter) นั้นจะแยกสวิตช์สำหรับ Reset เป็น 0 มาอยู่ตรงด้านขวาล่างของหน้าปัด ใกล้กับสวิตช์ปรับความสว่างไฟส่องหน้าปัดนั่นล่ะครับ

นอกจากนี้ ลูกเล่นอีกอย่างของ Terra คือกระจกมองหลังแบบ Intelligent Rear-view Mirror (i-RVM) ซึ่งจะมีคันโยกข้างใต้กระจก ในยามปกติก็ส่องเหมือนกระจกเงาธรรมดา แต่เมื่อดันคันโยกเปิดระบบกล้องใช้งาน กระจกมองหลังจะแสดงภาพจากกล้องมองหลังแทน นั่นหมายความว่าต่อให้คุณบรรทุกต้นไม้เต็มคัน เมื่อมองกระจกส่องหลัง ก็จะยังเห็นวิวข้างหลังได้แบบเต็มๆ ซึ่งช่วยได้มากในแง่ความปลอดภัย

เมื่อกดปุ่มด้านล่างของกระจกมองหลัง ก็จะสามารถเปลี่ยนมุมมองภาพได้ 3 แบบ ด้วยระบบกล้องรอบคัน 360 องศา Around View Monitor ทำให้ขับผ่านที่แคบๆ รวมถึงช่องทางรางแก่งแบบออฟโรดที่ขนาบด้วยหินสูงๆได้สบาย

แต่ส่วนที่ยังต้องปรับปรุงคือความคมชัดของภาพ เวลาจอดหันหลังให้ต้นไม้กับภูเขา บางทีเห็นแล้วนึกว่ากำลังนั่งดูภาพเขียนสีน้ำมัน และไอ้ความไม่ชัดนี้ บวกกับการแสดงผลของกล้องรอบคันที่ต้องถูกจำกัดในพื้นที่ขนาดเล็กของกระจกมองหลัง ทำให้ต้องเพ่งนานมาก เวลาวิ่งไปมองไป กว่าจะรู้เรื่องก็อาจจะขับลงท่อไปกับทาคุมิแล้ว และนอกจากนี้ สิ่งที่พี่ริชาร์ด ลอย จาก Bangkok Post เจอก็คือ ทุกครั้งที่คุณเข้าเกียร์ถอยหลัง คุณจะต้องกดปุ่มใต้กระจก มันถึงจะโชว์ภาพกล้องหลังในมุมกว้างให้คุณเห็น

เอาจริงๆผมแนะอะไรให้อย่างนะ..ต่อสายให้ภาพจากกล้องมองหลังมุมกว้างมันขึ้นที่จอวิทยุเหมือนรถทั่วไปด้วยก็น่าจะดีนะครับ

และเมื่อพูดถึงชุดเครื่องเสียง ก็น่าเสียดายนิด ที่ทางฟิลิปปินส์เขาได้เครื่องเสียงหน้าตาทันสมัย แต่ของเรานั้นยังเป็นชุด Head Unit หน้าตาคุ้นเคยกันดี ยี่ห้อ Kenwood จอขนาด 7 นิ้ว ซึ่งสามารถใส่แผ่นได้ เล่นเพลงจาก USB และต่อ Bluetooth ได้ง่าย ปกติโทรศัพท์ของผมจะ Pair กับเครื่องเสียงในรถยี่ห้ออื่นยากมาก แต่ของ Terra นี่ต่อแป๊บเดียวก็สำเร็จ คุณภาพเสียงที่ได้ไม่ถือว่าเด่น รายละเอียดเสียงจะขาดๆเกินๆแม้ว่าจะพยายามปรับ Equalizer เองหลายแบบแล้วก็ตาม

ชุดเครื่องเสียงนี้ถ้าเป็นรุ่น VL และ VL 4×4 จะมีระบบนำทางด้วย ซึ่งการค้นหาสถานที่ต่างๆนั้นทำได้ง่าย ผมลองใช้นำทางจากดอยช้างมูบมาโรงแรมเอ สตาร์ ภูแลร์ โดยเปิด Google Map ไปพร้อมกัน ก็ได้ผลและความไวที่ดีพอกัน

สำหรับความบันเทิงของหนูๆเบบี้ชาร์คดุ๊ดๆดุ๊ดๆด๊ะดูว์ดูว์ทั้งหลาย ก็จะมีจอบนเพดานขนาด 11 นิ้วมาให้ ช่องแอร์อยู่บนเพดานให้ความเย็นได้ค่อนข้างดี สวิตช์ปรับแรงลมจะอยู่ค่อนไปด้านหลัง อาจจะดูแปลก แต่เขาจงใจติดตั้งในตำแหน่งนี้เพราะต้องการให้คนบนเบาะแถวสามสามารถเอื้อมมาปรับได้ด้วย

***** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ *****

เวอร์ชั่นไทยถือว่าโชคดี เพราะเป็นตลาดเดียวของ Terra ที่มีโอกาสได้ใช้เครื่องยนต์ 2.3 ลิตรตัวใหม่

เครื่องยนต์รหัส YS23DDTT ขนาด 2.3 ลิตร 2,298 ซีซี. DOHC Twin-Turbo Intercooler (เทอร์โบคู่) กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 85.0 x 101.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.4 : 1 กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที โปรแกรมเครื่องยนต์ปรับจูนให้เข้ากับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 4

หลายคน เห็นว่าเป็นเครื่องทวินเทอร์โบก็อาจจะซู้ดปากอยากแรงกันเต็มพิกัด แต่อันที่จริง เครื่องยนต์รุ่นนี้มีแรงม้าและแรงบิดสูงสุดเท่ากันกับเครื่องยนต์ YD25 ที่อยู่ใน Navara นั่นล่ะครับ เพียงแต่ว่าอาศัยการใช้เทอร์โบคู่ต่อแบบไล่ลำดับ ทำให้สามารถเรียกแรงบิดมาใช้ได้เร็วขึ้น แต่เวลาขับแบบปกติ ก็สามารถประหยัดเชื้อเพลิง ปล่อยมลภาวะน้อยลง และมีเสียงการทำงานที่เงียบขึ้น

ด้านระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ พร้อม Manual Mode +/- ดันข้างหน้าเพิ่มเกียร์ ดึงข้างหลังเพื่อลดเกียร์ แต่ไม่มี Paddle shift มาให้เล่น เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับ Navara โดยอัตราทดเกียร์มีดังนี้

  • เกียร์ 1……….4.886
  • เกียร์ 2………3.169
  • เกียร์ 3……….2.027
  • เกียร์ 4………1.411
  • เกียร์ 5………1.000
  • เกียร์ 6………0.864
  • เกียร์ 7………0.774
  • เกียร์ถอยหลัง 4.041 อัตราทดเฟืองท้าย 3.357

ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น เป็นแบบ Part-time มีสวิตช์ปรับโหมดที่คอนโซลกลาง เลือกได้ระหว่างโหมด 2WD (ขับหลัง) – 4H (ขับสี่ทดปกติใช้บนถนนฝุ่นหรือลูกรัง) และ 4Lo ซึ่งเป็นเฟืองทดสำหรับการลุยแบบเต็มขั้น

ทั้งนี้ระบบขับเคลื่อนของ Terra นั้นจะไม่มี Center diff เพื่อทดความต่างในการหมุนระหว่างล้อคู่หน้ากับหลัง ดังนั้นจะใส่ 4H วิ่งบนถนนยางมะตอยไปทั่วประเทศแบบระบบ Super Select II ของ Mitsubishi นั้น ยังไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม Terra ก็มีระบบ Rear diff Lock ล็อคล้อหลังซ้ายและขวาให้หมุนไปพร้อมกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการส่งกำลังลงพื้นได้ดีเมื่อต้องลุยบนทางลื่นแบบออฟโรด

Rear diff Lock จะเปิดใช้งานเฉพาะในเกียร์ 4Lo ซึ่งการเข้าเกียร์นี้ คุณต้องจอดรถนิ่ง ปลดเกียร์ว่างก่อนที่จะบิดสวิตช์ไป 4Lo ส่วนลักษณะการแบ่งถ่ายกำลัง จะกระจายหน้า/หลัง 50 : 50 ทั้งในเกียร์ 4H และ 4Lo

นอกจากนี้ รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อจะมีระบบช่วยลงทางลาดชัน Hill Descent Control (HDC) ซึ่งเมื่อกดปุ่มแล้วปล่อยให้รถไหลลง ผู้ขับจะไม่ต้องควบคุมเบรก รถจะจัดการทั้งหมดเอง ที่เหลือเอาสมาธิไปเพ่งกับการคุมพวงมาลัยก็พอ

ลองขับเสร็จ บอกได้เลยว่า PPV เท้าไฟทั้งหลายครับ..

คุณควรระวังตัวกันได้แล้วล่ะ

เพราะพลังจากเครื่องยนต์ 2.3 ลิตรทวินเทอร์โบตัวใหม่นี้ไม่ธรรมดาเลย ผมนั่งอยู่บนรถกับพี่เจ หนุ่มร่างใหญ่จากเดลินิวส์ น้ำหนักตัวพี่เขารวมกับผมยังไงก็ต้องมี 250 กิโลกรัมแน่นอน แต่ Terra 4×4 ใส่เกียร์โหมดขับเคลื่อนสองล้อ เปิดแอร์ ยังสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายในเวลาแค่ประมาณ 11.69 วินาที และทำอัตราเร่งแซงจาก 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายใน 8.71 วินาที

หลายคนที่ความจำดี นึกตัวเลขรถ PPV รุ่นต่างๆที่พี่ J!MMY เคยทดสอบไปได้ ก็จะบอกว่าแล้วไง? ก็ไม่เห็นแรงกว่ารถรุ่นอื่นๆ..น้องอย่าลืมดิครับว่าการทดสอบตามมาตรฐานพี่จิมเขานั้น น้ำหนักบรรทุกแค่ 170-180 กิโลกรัมแถมวิ่งตอนดึกมากๆที่อากาศเย็นนะครับ แต่ Terra คันที่ผมขับ บรรทุกหนัก สัมภาระอีกราว 10-15 กิโลกรัมและวิ่งตอนหัวค่ำ

คิดดูแล้วกัน Trailblazer VGT 180 แรงม้า ทดสอบโดยพี่ J!MMY ก็ยังทำตัวเลข 0-100/80-120 ได้ 11.61/8.49 วินาที Pajero Sport 4WD ทำได้ 11.54/8.44 วินาที Fortuner 2.8 ทำได้  11.17/8.43 วินาที ถ้าเปลี่ยนมาให้พี่จิมขับ Terra ทดสอบตามเงื่อนไขปกติของเขา Terra ก็มีลุ้น 0-100 ในระดับ 11 วินาทีและอัตราเร่งช่วงแซงอาจไม่เกิน 8 วินาทีก็เป็นได้ นั่นก็น่าจะพอทำให้ Terra เป็นรถที่ทำอัตราเร่งดีระดับหัวกลุ่มของบรรดารุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อที่ยังมีขายอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ยังเหลือ Everest Bi-Turbo อีกนะครับที่ผมยังไม่ได้ลอง

เวลาตอกคันเร่งเต็มเรียกพลังเต็มพิกัด เครื่องยนต์จะมีแรงบิดดี ดีดตัวออกได้ตั้งแต่รอบต่ำและดึงหนักไปจนถึง 3,000 รอบต่อนาที และยังมีแรงส่งให้ไปแตะเลข 4,000 ได้ ออกตัวดีเหมือน Fortuner 2.8 และรอบปลายลากได้ลื่นๆคล้าย Pajero Sport แต่ความที่แรงบิดมันมาหนักอยู่ตลอด คุณอาจไม่รู้สึกว่ามันมีจุดไหนที่ดึงแรงเป็นพิเศษ หลอกความรู้สึกเหมือนรถไม่แรง แต่นาฬิกาไม่โกหกหรอกครับ

ที่ชอบมากคือในการขับบนภูเขา เมื่อเจอเนินชัน ผมลองพยายามแกล้งโง่ ใช้เกียร์สูงพยายามดันรถขึ้นเขาโดยเริ่มจาก 1,200 รอบต่อนาทีที่เกียร์ 2 ปรากฏว่าที่ 1,400 รอบ เครื่องก็มีแรงดึงให้สัมผัสอย่างชัดเจน ขึ้นเนินไปง่ายๆราวกับไม่ใช่เครื่อง 2.3 ลิตร..ความรู้สึกเหมือนได้เครื่องยนต์บล็อคโตๆ 3.0-3.2 ลิตรมากว่า นี่คือผลดีจากการใช้ทวินเทอร์โบที่มีการต่อลำดับแบบ Sequential ทำให้เรียกแรงได้ไว..ไวชนิดที่คุณจะลืมทุกเทอร์โบเดี่ยวแปรผันที่คุณเคยเจอมาในรถกระบะ/PPV ทั้งหมด

การทำงานของเกียร์ 7 จังหวะ ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมีอัตราทดรองรับในทุกช่วงความเร็ว เกียร์เปลี่ยนได้นุ่มเร็วและนุ่มเมื่อเทียบด้วยมาตรฐานเกียร์รถกระบะและ PPV ในตลาด  นุ่มจนบางทีเวลาบี้คันเร่งเต็มแล้วเปลี่ยนเกียร์ผมอยากให้มีแรงกระชากมาเสริมความมันส์มากกว่านี้ด้วยซ้ำ โดยทั่วไปเกียร์ทำงานได้ฉลาด จะมีช่วงที่งงๆบ้างก็แค่เวลาคนขับไม่มั่นใจกับการกดคันเร่ง กดไปครึ่งนึงแล้วเปลี่ยนใจเป็นกระแทกเต็ม กับอีกช่วงหนึ่งคือการไต่ขึ้นเนินด้วยเกียร์ D ที่ดูเหมือนว่าสมองกลจะชอบเลือกเกียร์ 3 หรือ 4 บนเนินที่ควรใช้เกียร์ 2

ปัญหานี้ แก้ได้ด้วยการสลับมาใช้ Manual Mode +/- เอาเอง ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ หากเทียบกับเกียร์ 10 จังหวะของ Ford ซึ่งผมลองขับมาแล้วใน Ranger ที่จังหวัดเชียงรายนี้ เส้นทางนี้ เกียร์ของ Ford จะฉลาดกว่าเมื่อใช้เกียร์ D แต่พอเล่น +/- เองกลับช้า หน่วงไม่ทันใจ แต่ของ Nissan เมื่อเราชิฟท์เกียร์เอง คุณจะควบคุมรถได้ง่าย เกียร์ตอบสนองได้ไวตามที่ควรเป็น

ส่วนพวงมาลัยยังเป็นแบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยระบบไฮดรอลิกเหมือนกับเพื่อนญี่ปุ่นร่วมชาติทุกคัน ในขณะที่กระบะฝั่งอเมริกันอย่าง Everest กับ Trailblazer ในขณะนี้ หนีไปใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS กันหมดแล้ว สำหรับ Terra นี้ ทีมวิศวกร Nissan เลือกใช้อัตราทดเฟืองพวงมาลัยที่ไวกว่า Navara พร้อมทั้งปรับน้ำหนักพวงมาลัยให้เบาลง เพราะต้องการให้เน้นเรื่องการโดยสารและการขับขี่มากขึ้นโดยไม่ต้องเผื่อเรื่องการบรรทุกหนักแบบรถกระบะ

แต่น่าเสียดายครับ การตอบสนองของพวงมาลัยใน Terra นั้นยังสู้คู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะความนิ่ง แน่น ในทางตรงและที่ความเร็วสูง คุณสามารถปล่อยมือขยับขึ้นลงตามความสะเทือนของถนนได้โดยที่รถยังไม่เสียอาการ แต่มันขาดน้ำหนักหน่วงกลางที่ช่วยลดการเกร็งมือ แถมเมื่อมาเจอถนนเส้นดอยตุงสายเก่า ดอยช้างมูบและผาฮี้ ที่เป็นโค้งพับสลับไปมาวงแคบ..ผมต้องบอกตามตรงว่าผมเหนื่อยกับการสาวพวงมาลัย Terra มากกว่าใน Trailblazer อย่างชัดเจน รู้สึกว่าต้องหมุนพวงมาลัยเยอะกว่าที่จะพาให้รถเลี้ยวไปตามโค้งได้ ขาดความคล่องตัวและทำให้ใช้ความเร็วสูงในโค้งไม่ได้เพราะหมุนพวงมาลัยไม่ทัน

แม้จะบอกว่าปรับให้ไวขึ้นกว่า Navara แล้ว แต่มันก็ยังเฉื่อยกว่า PPV ของยี่ห้ออื่นทั้งหมด

ช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกคู่พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังแบบ 5-Link Suspension เลือกรูปแบบโช้คอัพกับสปริงที่มีระยะยุบและยืดค่อนข้างยาว เพื่อหวังผลทั้งเรื่องความนุ่มนวลในการขับ และช่วยให้ล้อมีโอกาสยืดไปแตะพื้นส่งแรงขับเคลื่อนได้มากขึ้นเวลาลุยแบบออฟโรดแล้วเจอด่านล้อยก

การทำงานของช่วงล่างที่ความเร็วต่ำบนถนนขรุขระ ถือว่าทำได้ดี ให้ความรู้สึกหนักแน่น สะเทือนแบบดอกเดียวแล้วอยู่หมัด ไม่มีอาการดีดดึ๋งดั๋งแบบ Navara เวลากระแทกหลุมด้วยความเร็วจะมีเสียงตึงตังดังลั่น แต่ตัวคนนั่งไม่ได้ถูกโยนไปมาแบบ Fortuner ความรู้สึกเวลานั่ง Terra บนถนนลูกรัง จะคล้ายรถเก๋งโช้คอัพแข็งๆมากกว่ารถกระบะ แต่ถ้าถามหาความนุ่มนวลสบายก้น เรื่องนี้ Pajero Sport ทำได้ดีกว่า

ส่วนการขับแบบเล่นโค้งที่ความเร็วต่ำ ตัวรถสามารถคุมอาการยวบได้อยู่หมัด ให้ความมั่นใจได้ดี ส่วนที่ความเร็วสูงวิ่งตรงๆ 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาการของรถจะนิ่ง เวลาผ่านถนนที่ไม่เรียบด้วยความเร็วระดับนี้ ท้ายรถไม่มีอาการดีดดุดๆแบบ Fortuner (ที่ไม่ใช่รุ่น TRD) และให้ความมั่นใจได้มากกว่าคู่แข่งทุกตัวยกเว้น Everest (สมัยที่เป็น 3.2 ลิตร-เพราะผมยังไม่ได้ลองตัว Bi-Turbo) การหักเปลี่ยนทิศทางแรงๆ อาจทำให้ตัวรถยวบบ้าง แต่เป็นการยวบในลักษณะที่ไปหนืดๆ ค่อยเป็นค่อยไป จังหวะหักกลับก็จะคืนตัวมาเกือบตรง ไม่มีดราม่าโยกซ้ายขวาเกินเหตุแบบ Isuzu MU-X หรือ Pajero Sport

ถ้าให้สรุปด้วยมุมมองของผม Terra คือรถจากค่ายญี่ปุ่นที่ทำช่วงล่างได้สูสี Ford Everest 3.2 มากที่สุดแล้ว และตีคู่กันไปกับ Fortuner TRD โดยที่ TRD มุดและเปลี่ยนเลนได้มั่นคงกว่า แต่ Terra ซับแรงกระแทกได้ดีกว่า

ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรก มาพร้อมระบบ ABS ป้องกันล้อล็อค (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)

เมื่อลองเหยียบเบรกดู พบว่าแป้นเบรกจะมีระยะฟรีช่วงแรกนิดหน่อย แต่พอกดไปสักพักแรงเบรกจะเริ่มมา และ มาแบบค่อยเป็นค่อยไป เบรกแล้วหัวไม่ทิ่ม แล้วก็ไม่ได้เบรกลึกจนต้องกดเยอะๆแบบ Everest 3.2 กับ Trailblazer 2.5VGT แต่พูดตามตรงว่าถ้าดูเรื่องน้ำหนัก และ การตอบสนองของแป้นเบรกโดยรวมๆแล้ว วินาทีนี้ Fortuner คือรถที่เซ็ตมาได้เป็นกลาง และ เป็นธรรมชาติ ให้การควบคุมแรงเบรกที่ง่ายที่สุด แต่ผมยังไม่มีโอกาสลองจนเบรกเฟด

การที่ยังใช้ดรัมเบรกหลังอยู่นั้น ดูเหมือนหลายคนจะไม่ชอบ เพราะคู่แข่งปรับเป็นดิสก์เบรกกันหมด ตอนผมไปเยือนสำนักงาน Nissan ที่ญี่ปุ่นก็มีสื่อมวลชนชาวฟิลิปปินส์ถามว่าทำไมยังไม่ใช้ดิสก์เบรกหลัง คำตอบคือ “เราสามารถเซ็ตระบบเบรกให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่เราคาดหวังได้ด้วยดรัมเบรกหลัง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้”

อันที่จริง คนที่ขับรถซิ่งมานานระดับหนึ่งอย่างผม รู้ดีว่าปัจจัยในประสิทธิภาพการเบรกจริงๆต้องโฟกัสที่เบรกหน้า เพราะเวลาเบรก น้ำหนักที่ถ่ายไปลงตรงนั้นก็มากถึง 60-70% แล้ว เบรกหลังไม่ได้รับภาระเยอะขนาดนั้น (ถ้าไม่ใช่รถแข่งแบบคลาส GT) แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเราอยู่ในสังคมที่คนส่วนมากพิจารณาว่า “เราได้อะไร” มากกว่า “เราได้ใช้อะไร” ในเมื่อคู่แข่งเขาให้ แล้ว Nissan ไม่มี ก็ไม่แปลกและไม่ผิดที่จะโดนครหา

ในช่วงการขับขี่ทริปนี้ ยังมีโอกาสได้ลุยแบบออฟโรด (เป็นออฟโรดจริงจัง ที่รถขับหลังใส่ยาง All-terrain ก็ไม่รอดอย่างแน่นอน) ก็พบว่าระบบขับเคลื่อนต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะจังหวะเนินชันชนิดหน้ารถจะชี้ฟ้านั้น ผมได้คิวขับเป็นคนท้ายๆ พอผมมาถึงด่านนั้น คันอื่นเขาฝากรอยน้ำและความลื่นเอาไว้บนทางวิ่งเรียบร้อยแล้ว แต่ผมก็สามารถใส่เกียร์ 4Lo + Diff Lock เข้าจูบเนินอย่างช้าๆ และเร่งส่งที่ 1,500-1,800 รอบต่อนาทีโดยไม่พยายามกดคันเร่งลึกจนล้อหมุนฟรี Terra 4×4 สามารถผ่านด่านนั้นไปได้ มีช่วงกลางเนินที่ล้อเริ่มฟรีบ้าง ผมก็ยึกพวงมาลัยช่วย ดิ้นจนผ่านมาได้ใน Take เดียว

อุปกรณ์อีกอย่างที่ Terra มี และผมชอบมากคือ B-LSD (Brake-Limited Slip Differential) ซึ่งจะบริหารการถ่ายพลังขับเคลื่อนระหว่างล้อซ้ายกับขวาโดยใช้เบรกจับทีละข้าง เมื่อล้อข้างซ้ายฟรีทิ้งขว้าง รถก็จะสั่งให้เบรกทำงานที่ล้อนั้นแล้วส่งพลังกลับไปที่ล้ออีกข้าง สิ่งนี้ทำให้การขับ Terra บนถนนหลากหลายรูปแบบสนุกขึ้น ตัวรถคุมอาการและเลี้ยวได้ตามสั่งมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อสภาพถนนชื้นแฉะจนยางไม่สามารถยึดเกาะได้ดีพอ..ข่าวดีอีกอย่างคือ ในขณะที่ Navara จะใส่ B-LSD ให้เฉพาะรุ่นขับสี่ แต่ Terra “ทุกรุ่นย่อย” จะได้อุปกรณ์นี้มาเลยจากโรงงาน

ส่วนเรื่องการลุยน้ำ แฮ่..ผมว่าหลายท่านน่าจะอยากรู้ วิศวกร Nissan เขาบอกว่า ถ้าอยากลุยน้ำลึกล่ะก็ จำไว้ว่าถ้าลุย 450 มิลลิเมตร..สบาย ไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน แต่ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ไทย และเมื่อครั้งงานลองขับที่ฟิลิปปินส์ก็จะพูดแค่นี้แล้วจบ แต่ผมได้มีโอกาสพบวิศวกรระดับบอสตอนไปญี่ปุ่น เขานำภาพและคลิปจากการลุยน้ำมาให้ดู พบว่าเมื่อเพิ่มความสูงเป็น 600 มิลลิเมตร รถก็ยังสามารถลุยผ่านไปได้ แต่ถ้าระดับน้ำในบ่อทดสอบสูงถึง 700 มิลลิเมตรเมื่อไหร่ น้ำจะเริ่มเข้าที่พื้นตัวถังเมื่อลุยน้ำไปได้สักพัก

ผมจึงคิดว่าลิมิตที่เซฟที่สุดก็คงอยู่ที่ 600 มิลลิเมตร ซึ่งก็ไม่ได้สูงอะไรมาก พูดไปแล้วก็โดนสื่อฯถามกลับว่าแล้วมันจะสู้ Fortuner กับ Everest ได้เหรอ แต่พูดจริงๆนะ ผมกลับชื่นชมเสียด้วยซ้ำที่บอสวิศวกรท่านนั้นพูดตรงๆให้รู้ว่าแดงคือแดง ดำคือดำ ไม่อมพะนำแล้วปล่อยให้ผู้บริโภคไปลุ้นที่ปลายทางเอาเอง นี่คือคนจริงแบบที่ผมชอบ

การเก็บเสียงนั้น สิ่งที่น่ายินดีก็คือ ดูเหมือนว่า Nissan จะให้ความใส่ใจเรื่องการเก็บเสียงมากกว่า Navara มาก ผนังห้องเครื่องใช้วัสดุแบบบุ 3 ชั้น  พื้นใต้ท้องรถก็บุวัสดุซับเสียงหนา ยางขอบประตูก็มีความหนาแน่น กระจกบานหน้าก็เป็นแบบ Acoustic Glass ที่สอดชั้นซับเสียงไว้ตรงกลางกระจก

นั่นก็ทำให้ Terra เงียบแบบคนละเรื่องกับ Navara ตัวเครื่อง YS23 ก็เงียบกว่า YD25 รุ่นเก่าในระดับหนึ่งอยู่แล้ว มาเจอมาตรการกรองเสียงแบบนี้อีก ทำให้ Terra มีความรู้สึกแน่นหนา เสียงจากด้านหน้า กระจกบานหน้า และใต้ท้องเข้ามาน้อยในระดับที่ผมคิดว่าดีพอแล้วสำหรับรถ PPV แต่ยังเหลือแค่เสียงที่มาจากกระจกบานข้างที่ดังเข้ามาหลัง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ยังดังเท่าคู่แข่งอยู่

ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น เนื่องจากเราไม่ได้มีโอกาสนำรถไปเติมน้ำมันกลับเต็มถังเพื่อจับตัวเลข ก็คงต้องใช้มาตรวัด Consumption Meter ของรถดูเอา ในช่วงที่ขับรถในเมือง และมีการจอดติดเครื่องนานๆ ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองจะลงไประดับ 7.5 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนการวิ่งทางไกลและทางภูเขา มีการกดคันเร่งลึกบ่อยๆ ก็จะได้ตัวเลขประมาณ 8.5 กิโลเมตรต่อลิตร

ดูเหมือนว่าการที่เครื่องยนต์เรียกพละกำลังได้ไวมาก เทอร์โบติดบูสท์ไวมาก อาจจะทำให้ต้องใช้น้ำมันเยอะกว่าปกติเมื่อมีการกระแทกคันเร่งบ่อยครั้ง แต่ถ้าวิ่ง 90-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงแบบนิ่งๆ ผมเห็นตัวเลข 12.5 กิโลเมตรต่อลิตรบน Meter ครับ

สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือทัศนะวิสัยในการขับ เพราะเสา A-pillar มีขนาดค่อนข้างโต ทำให้เวลาขับบนถนนภูเขา โค้งแคบๆ มันบดบังสายตามากจนนึกถึง Civic FD จากเมื่อ 13 ปีก่อน ตรงนี้ก็คงทำอะไรเพื่อแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ต้องรอจนกว่าจะมีเจนเนอเรชั่นใหม่

สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้น เวอร์ชั่นไทยจะมีอุปกรณ์เหล่านี้มาให้

  • ระบบเบรก ABS / EBD / BA
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (VDC)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist (HSA)
  • ระบบตรวจจับวัตถุและบุคคลรอบคัน Moving Object Detection (MOD)
  • กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา Around View Monitor (AVM)
  • กระจกมองหลังแบบใช้กล้องแสดงภาพ Intelligent Rear View Mirror (i-RVM)
  • ระบบเตือนแรงดันลมยาง Tire Pressure Monitoring System (TPMS)
  • ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย)

ส่วนรุ่น VL ขับหลัง และ VL 4×4 จะเพิ่มอุปกรณ์เหล่านี้มาให้

  • ระบบช่วยลงทางลาดชัน Hill Descent Control (HDC) – เฉพาะรุ่น VL 4×4
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา Blind Spot Warning (BSW)
  • ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง Lane Departure Warning (LDW)
  • ระบบตรวจจับวัตถุและบุคคลรอบคัน Moving Object Detection (MOD)
  • กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา Around View Monitor (AVM)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีระบบ Radar Cruise Control หรือระบบช่วยเบรกอัตโนมัติอย่าง Pajero Sport และ Everest Bi-Turbo

********** สรุป **********

รถครอบครัวสำหรับคุณพ่อคนเก่ง ให้มากเมื่อเทียบกับค่าตัว แต่ยังขาดจุดเด่นที่ปัง

Nissan Terra ถือว่าเป็นก้าวแรกสู่ตลาด PPV ยุคใหม่ที่สร้างผลงานได้ค่อนข้างดี

สิ่งที่น่าประทับใจคือการแสดงออก และพละกำลังจากเครื่องยนต์ YS23 2.3 ลิตรเทอร์โบคู่รุ่นใหม่ ที่ต้นจัด กลางดึงหนัก และปลายไหลแบบมีพลัง จับคู่กับเกียร์ 7 จังหวะที่ยกมาจาก Navara ทั้งดุ้น และสร้างผลงานจนเป็นที่รู้กัน ทำงานได้ดี เปลี่ยนเกียร์นุ่ม ไม่ค่อยมีจังหวะเย่อหรืองงเกียร์ เว้นเสียแต่ว่าไปใส่เกียร์ D ขับขาขึ้นเขา บางทีรถจะชอบเลือกเกียร์สูงกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนเรื่องช่วงล่างและการบังคับควบคุม ผมมีความคาดหวังที่ดีหลังจากขับมาในเวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ และกล่าวได้ว่าเวอร์ชั่นไทยก็เซ็ตโช้คและสปริงมาได้ดีพอกัน มันมีความตึงตังให้สัมผัส แต่เป็นความตึงตังแบบแบบที่ดังแค่เสียง ตัวคนนั่งไม่เด้ง เมื่อเจอหลุมขนาดใหญ่บนเส้นทางออฟโรดก็สามารถซับแรงกระแทกได้ดีเกือบเท่า Ford Everest แต่ถ้าถามหาเรื่องความนุ่มนวล ยังพ่ายต่อ Pajero Sport อยู่ ส่วนบทจะบู๊นั้น ก็ให้ความมั่นใจได้ดี การยวบตัวถังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นรถญี่ปุ่นที่มีภาพรวมของช่วงล่างใกล้เคียง Everest 3.2 มากที่สุด

เสียแต่พวงมาลัย..จะเฉื่อยไปไหน ถ้าตั้งอัตราทดเฟืองให้ไวได้เท่า Fortuner หรือ Everest ล่ะก็ Terra จะขับได้มันส์และคล่องกว่านี้อีก

 

เรื่องการโดยสาร ก็มีความสบายในระดับที่ดี เบาะหน้าจะมีพนักพิงศีรษะออกแนวดันหัวนิดๆ ส่วนเบาะแถวสองผมมองว่ามีพื้นที่และความสบายในอันดับต้นๆของกลุ่ม ในขณะที่เบาะแถวสามนั้น ตัวเบาะวางเตี้ยติดพื้น คนตัวสูงจะต้องนั่งชันขามาก เรื่องการเก็บเสียง ทำได้ดีสมกับที่โฆษณา แต่ยังไม่ถือว่าเงียบกว่าคู่แข่งจนชัดเจน เสียงลมจากกระจกบานข้างยังมีเข้ามาอยู่

ถ้ามอง Terra เป็นยานพาหนะสำหรับการขับ มันจะเป็นรถที่ดี แต่ถ้าคุณต้องการ Technological Showcase หรือรถที่มีของเล่นเยอะๆ Terra จะทำหน้าเหงาแล้วก็บอกว่าเขามีก็แค่ไอ้กระจกมองหลังแสนกลนั่นแหละที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่ตัวกระจกเองก็ไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจนนักและกล้องรอบคันที่ไปฝังอยู่กับกระจกมองหลังก็มีขนาดเล็กมากจนคนวัยผมต้องเพิ่งนานกว่าจะเห็นว่าอะไรเป็นอะไร

ดูเหมือนว่า Nissan ถนัดทำรถสำหรับขับ แต่ทำบุญไม่ค่อยขึ้นกับลูกเล่น ในขณะที่ Benchmark ของกลุ่มอย่าง Everest และ Pajero Sport จะมีของอย่างหลังคา Panoramic, ฝาท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า, Radar Cruise Control, ระบบช่วยเบรกแบบอัตโนมัติ Terra กลับไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ประกอบกับการที่หน้าตาของรถออกมาค่อนข้างธรรมดา ไม่ได้ล้ำยุคไปกว่าคู่แข่ง ภายในก็ดูเหมือน Navara ซึ่งยังขาดความหรูหราเมื่อเทียบกับ PPV รายอื่น แดชบอร์ดของ Fortuner ยังดูอลังการเสียกว่า ทั้งหมดนี้ทำให้ Terra ขาด WOW Factor ที่จะทำให้ลูกค้าตกใจแล้วหันมามอง และให้ความสนใจอย่างจริงจัง

แต่…

ก็อย่าลืมนะครับว่า ราคาของ Terra 2.3 VL 4×4 ตัวท้อป จบที่แค่ 1,427,000 บาท ถ้าไม่นับ Chevy ที่กำลังขายแบบลดแลกแจกแถม คุณจะพบว่าค่าตัวของมันถูกมากถ้าเทียบกับรถทั้งคันที่ได้ และอย่างน้อยก็ยังมีระบบความปลอดภัยอย่าง Blind Spot Warning และ Lane Departure Warning มาให้ แม้ว่า Ford Everest Bi-Turbo ดูจะเป็นรถที่มีอุปกรณ์และพรสวรรค์ครบที่สุดใน Segment นี้ แต่ราคาของมันก็แพงกว่า Terra ตัวท้อปอยู่ 372,000 บาท หรือถ้าไปมองคู่แข่งรายอื่นๆ Pajero Sport 2.4 GT Premium 4WD ก็ยังแพงกว่า Terra อยู่ประมาณแสนนึง ส่วนเจ้าตลาดอย่าง Fortuner ไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้ากำเงินไม่เกิน 1.45 ล้านบาท คุณจะไม่มีทางได้แตะรุ่นขับสี่แม้แต่รุ่นเดียว อย่างดีสุดก็ได้รุ่น 2.4V 2WD ที่ราคา 1,419,000 บาท

ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะครับ ว่ามีงบประมาณมากน้อยแค่ไหน และใส่ใจกับเรื่องใดในการพิจารณาซื้อรถสักคัน เพราะ Nissan เลือกที่จะทำราคารถของตัวเองให้ถูก มันจึงเป็นไปไม่ได้หรอกถ้าคุณจะคาดหวังให้มันมีของเล่นเท่า Everest ในราคานี้

สำหรับผม มุมมองที่มีต่อ Terra มันก็เหมือนกับคุณพ่อลูกอ่อนคนนึง ที่พอชีวิตมีภาระมากขึ้น บางทีก็จะลืมดูแลตัวเอง พุงเริ่มมา ตาเริ่มเหี่ยว เสื้อผ้าเนี๊ยบๆที่เคยใส่ ก็เปลี่ยนเป็นชุดสีมอซอ มีผ้าเช็ดตัวพาดไหล่ไปไหนมาไหนคอยเช็ดนู่นเช็ดนี่ให้ลูก ถ้ามองว่าเราเปรียบลูกค้าผู้ซื้อรถเป็นคนที่กำลังมองหาคู่เดท แน่นอนว่ามนุษย์พ่อแบบนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของสาวส่วนใหญ่ เพราะไม่มีอะไรให้ว้าว

คนที่จะว้าวกับพ่อ ก็คงมีแต่ลูกๆ ที่จะมองคุณพ่อคนนึงเป็นทั้งของเล่น เพื่อนเล่น และเป็นผู้ปกป้องที่ฝากชีวิตไว้ได้ เช่นเดียวกับ Nissan ซึ่งบางทีทำรถออกมา ก็จะมีแต่คนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับแบรนด์เท่านั้นที่จะเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก

Terra เป็นพ่อที่ดี แต่ถ้าถามผม ในโอกาสหน้า ผมว่า Nissan น่าจะลองหาเสื้อผ้า รองเท้าเจ๋งๆให้คุณพ่อคนนี้ใส่บ้าง

จะได้เป็นทั้ง Tough & Caring & Cool ไงครับ

—–/////—–

ปล.

เคี้ยงครับ คุณพ่อที่พี่เปรียบในย่อหน้าหลังๆ นี่ไม่ได้หมายถึงแกนะครับ อย่ามาต่อยพี่ละกัน

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

Communications Department, NISSAN MOTOR (THAILAND) CO., LTD.

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นของ Nissan Motor และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com  2 ตุลาคม 2561

Copyright (c) 2018 Text and PicturesUse of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 2 October 2018


แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE !