นี่เราต้องบินมาถึงสหรัฐอเมริกาจริงๆเหรอ?

สาบานว่า ไม่เคยคิดมาก่อน ว่าผมจะได้มาเหยียบดินแดนลุงแซมจนได้ในที่สุด

ท่ามกลางช่วงเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดในการเตรียมตัว ขอ VISA ในทันทีที่กลับมาจากทริป Lexus UX ที่สวีเดน การต้องแหกขี้ตาตื่นนอนตั้งแต่ ตี 5 เพื่อมานั่งสงสัยตัวเองอยู่ที่ร้านกาแฟ Starbucks ชั้นล่าง อาคาร All Seasons ตอน 6.30 น.​ด้วยความงุนงงผสมง่วงนอนหาวหวอดๆ ว่าเวลานัดกับสถานฑูตสหรัฐ​ฯ ก็ตั้ง 8.30 น. กรูจะรีบมาช่วยเค้าเปิดร้านทำไมตั้งแต่ไก่โห่

ท่ามกลางแถวยืนคอยรอเรียกสัมภาษณ์​จากเจ้าหน้าที่สถานฑูต ที่ดูจะงุนงงกับอาชีพการงานของผม จนต้องถามกันยกใหญ่ ว่า Headlightmag​ คืออะไร? แถมยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก 510 บาท ให้เจ้าหน้าที่สถานฑูต อย่างน่าแปลก และท่ามกลางบรรยากาศอันชวนอึดอัด ที่ต้องเห็นคนโดนปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ VISA กันสดๆตรงหน้า แบบ Realtime!! และด้วยน้ำเสียงที่แข็งกร้าวของเจ้าหน้าที่ ดุจพญาอินทรีย์อันเป็นสัญลักษณ์​ประจำชาติของเขา

เอาเถอะ ในที่สุด…ผมก็ได้ VISA และก็นั่งอยู่บน เครื่องบิน Boeing 737-300 ของ Korean Air เที่ยวบินที่ KE658 จากสนามบินสุวรรณภูมิ​ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 45 นาที มาแวะที่สนามบิน Inchoen​ เกาหลีใต้ เพื่อเปลี่ยนเที่ยวบินเป็นเครื่องบิน Boeing 747-8 ไฟลต์ KE035 ใช้เวลา 13 ชั่วโมง มุ่งหน้าสู่ สนามบิน Heartfield Jackson Atlanta International Airport จนได้

19 ชั่วโมง (รวมเวลา Transit) ข้ามฟากมายังอีกซีกโลกหนึ่ง แถมถ้านับขากลับจาก Atlanta มาเปลี่ยนเครื่องบินที่ Incheon ก่อนบินกลับกรุงเทพมหานคร รวมเวลา Transit อีก 20 ชั่วโมงแล้ว บอกเลยว่า นี่เป็นการโดยสารเครื่องบินที่ไกลสุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในชีวิต ขนาดว่านั่งและนอนบนเบาะชั้น Prestige (Bussiness Class) ของ Korean Air ที่ดีติดอันดับต้นๆของโลกแล้ว ผมยังเหนื่อยล้าสะสม ต่อเนื่องมาอีกถึง 3-4 วัน ระยะทางที่ห่างไกลถึงขนาดนี้ ผมคงไม่ยอมเดินทางมา ถ้ารถคันที่คุณกำลังจะได้​อ่านรีวิวต่อจากนี้ มันไม่ได้น่าสนใจมากพอ…

ถ้าพูดถึงเมือง Atlanta มลรัฐ Georgia คุณคงมองว่า เมืองทางใต้ของสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ มันไม่น่ามีอะไรให้เที่ยวมากนัก และมองข้ามมันไป แต่อันที่จริงแล้ว Atlanta เป็นเมืองที่มีประวัติ​ศาสตร์​อันยาวนานมากๆ เดิมทีเคยเป็นพื้นที่ของชาวอินเดียนพื้นเมือง (Creek Indians) จนกระทั่งมีการย้ายถิ่นฐานของชนผิวขาว ในระหว่างปี 1802 – 1825 ผลักดันชาวอินเดียนท้องถิ่นให้อพยพออกไปในปี 1821 จนกระทั่งเริ่มเกิดเป็นเมืองต่อมา J.Edgar Thomson หัวหน้าวิศวกรสร้างทางรถไฟ Georgia Railroad ได้เปลี่ยนชื่อจากเมือง Marthasville ในปี 1843 มาเป็นชื่อ Atlanta-Pacifica และเรียกโดยย่อว่า Atlanta เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1847

Atlanta เคยเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบในช่วงสงครามกลางเมือง Civil War หลังเหตุการณ์ยุติในปี 1865 ก็มีการบูรณะเมืองขึ้นมาใหม่ วางทางรถไฟ และขยายชุมชนโดยรอบ เมืองนี้ เคยได้รับเลือกให้จัดการแข่งขันกีฬา Olympic ฤดูร้อน เมื่อปี 1996 ปัจจุบัน จากการสำรวจและคาดการณ์ในปี 2017 Atlanta มีประชากรประมาณ 486,290 คน (แต่เมื่อรวมตัวเลขผู้อยู่อาศัยจากต่างถิ่น จะอยู่ที่ราวๆ 5.8 ล้านคน!)

คงจะพอมีหลายคนที่น่าจะทราบบ้างว่า Coca Cola หรือ Coke ถือกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกจากการค้นพบของ Dr.​John Pemberton ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1886 ที่ Atlanta และสำนักงานใหญ่ของ Coca Cola พิพิธภัณฑ์ World of Coca Cola รวมทั้ง สูตรลับในการทำ Coke ที่มีคนรู้เพียง 7 คนในโลก ก็ยังคงอยู่ในเมืองนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ย้อนกลับไปไม่ไกลนัก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1980 มหาเศรษฐี​ Ted Turner ได้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์​ที่นำเสนอแต่ข่าวล้วนๆ จากรอบโลกตลอด 24 ชั่วโมง เป็นแห่งแรกในอุตสาหกรรม​โทรทัศน์​ ที่ชื่อว่า Cable News Network หรือที่เราทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ CNN ที่ใจกลางเมือง Atlanta แห่งนี้ด้วยเช่นกัน! ทุกวันนี้ ยังมีการจัดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมการทำงานในห้องข่าวแบบ Studio Tour คนละ 15 เหรียญสหรัฐฯ กันอยู่เลย

Atlanta กลายเป็นเมืองที่ BMW AG. เลือกจัดกิจกรรมทดลองขับ The All New X5 ใหม่ รุ่นที่ 4 รหัสรุ่น G05 รถยนต์ Premium Mid-Size Sport Utility Vehicle หรือ SUV.. (ที่พวกเขาเรียกมาตลอดว่า SAV หรือ Sport Activities Vehicle) ดังนั้น เป็นธรรมเนียมเหมือนเช่นทุกครั้งที่ ผู้ผลิตรถยนต์ Premium Brand เขากำลังจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในเมืองไทย ก็ต้องพาสื่อมวลชนจากเมืองไทย ไปร่วมทดลองขับกันสั้นๆ เป็นการชิมลาง คราวนี้ BMW Thailand ชวนผม, พี่ Richard Leu จาก Bangkok Post ,พี่แมน ทัศไนย ไรวา จาก Luxman และ พี่ตั้ม Buddhi Pharsuk จาก Grand Prix บินมาไกลมากๆ เพื่อมาร่วมงานในครั้งนี้

เส้นทางที่เราใช้ในการทดลองขับกัน เริ่มต้นจากโรงแรม Mandarin Oriental ย่าน Buckhead ซึ่งถ้าเทียบกับกรุงเทพฯของเรา ก็ให้นึกถึงถนนวิทยุ อันเป็นย่านธุรกิจระดับ Hi-End อันสงบเงียบ มีห้างสรรพสินค้า Lennox ซึ่งเต็มไปด้วยสารพัดสินค้า Brand Name ชั้นดี (รวมทั้งโชว์รูม Tesla) อยู่ใกล้แค่ข้ามถนน เราเลือกเส้นทางที่ยาวมากสุด เพื่อให้รับรู้รสสัมผัสจากการขับขี่อย่างเต็มที่ ท่ามกลางสภาพถนนรูปแบบต่างๆ ทั้งขึ้นทางหลวงแผ่นดิน Free way ลงทางออกไปยังถนนในตัวเมือง ถนนชนบทสวนกัน 2 เลน กลับเข้ามาวิ่งบนเส้น 278 ซึ่งเป็นทางหลวง ช่วงสั้นๆ ก่อนจะเลี้ยวขวา ลัดเลาะมาตามเส้นทางเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยทางโค้งสารพัดรูปแบบ จนถึง Painted Rock Farm อันเป็น เต๊นท์พักผ่อน รับประทานมื้อเที่ยง เข้าร่วม Lecture ระบบต่างๆของ X5 ใหม่ ปิดท้ายด้วยการทดลองขับรถแบบ Off-Road ก่อนจะมุ่งหน้ากลับมายังโรงแรม ที่พักอีกครั้งในช่วง 18.30 นซ ตามเวลาท้องถิ่น

พอกลับถึงโรงแรม เราก็พบ Surprise เล็กๆ จอดรออยู่หน้าโรงแรม นั่นคือ การเผยโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรกของ BMW X2 M35i ซึ่งเป็นรุ่นย่อยใหม่ที่แรงสุด ในตระกูล X2 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา ความแตกต่างของรถรุ่นนี้ อยู่ที่ ขุมพลังใหม่ 306 แรงม้า (HP) รายละเอียดเพิมเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here

เราคงยังไม่ต้องพูดถึง X2 M35i เพราะยังไงๆ มันจะยังไม่โผล่มาให้คนไทยได้เห็นกันแน่ๆ แต่สำหรับ X5 ใหม่นั้น ลูกค้าในบ้านเรา จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของกันอย่างแน่นอน ดังนั้น การทำความรู้จักมักจี่กันไว้ก่อน ย่อมช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ว่าคุณควรจะยอมรับ X5 ใหม่ เข้ามาเป็นสมาชิกในโรงรถที่บ้านอีกคันหนึ่ง หรือไม่…

แต่ก่อนอื่น ก็ต้องท้าวความย้อนอดีตถึงความเป็นมาของ X5 กันสักเล็กน้อย…สั้นๆก็พอเนาะ

ทศวรรษ 1990 เป็นช่วงเวลาที่ BMW สร้างความฮือฮาให้กับโลกด้วยการประกาศซื้อกิจการรถยนต์อังกฤษ ทั้ง Rover MG Mini และ Land Rover จากกลุ่ม British Aerospace เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1994 ก่อนจะพบว่า ขุนยังไงก็ขุนไม่ขึ้น แล้วก็ต้องแยกขาย Land Rover ออกไปให้กับ Ford (ในตอนนั้น) ตามด้วยการขาย Rover กับ MG ให้กลุ่มนักลงทุน Phoenix Group ในเดือนพฤษภาคม 2000 (ก่อนที่จะถูก SAIC จากจีน ซื้อไปครอบครองจนถึงปัจจุบัน)

ท่ามกลางความไม่เข้าใจของทั้งลูกค้า และผู้ร่วมงานว่า BMW จะซื้อหน่วยธุรกิจรถยนต์จากอังกฤษ ที่ไม่ว่าจะต้องถมเงินทุ่มลงไป ก็ไม่มีทางเงยหัวฟื้นขึ้นมาได้เลย ไปทำไมนั้น…เหตุผลเบื้องลึกก็คือ นอกเหนือจาก BMW จะอยากได้แบรนด์ MINI มาปลุกปั้นใหม่ด้วยตนเองแล้ว BMW ยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จาก Land Rover มามากพอสมควร แล้วนำมาใช้กับโครงการพัฒนา X5 รุ่นแรก (E53) เพื่อเปิดตัวในงาน North American International Auto Show เมื่อ 4 มกราคม 1999 BMW เรียกมันว่า SAV (Sports Activity Vehicle) นัยว่าพยายามจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งเพื่อนร่วมชาติอย่าง Mercedes-Benz M-Class หรือคู่แข่งจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Lexus RX ตลอดอายุตลาด X5 รุ่นแรก ทำยอดขายไปได้ถึง 617,029 คัน แสดงให้เห็นถึงการตอบรับของลูกค้าทั่วโลก ต่อ SUV คันแรกของ BMW อย่างดี และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาร ตัดสินใจเปิดไฟเขียวอนุมัติการผลิต X5 รุ่นต่อๆมา

X5 รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น E70 ซึ่งเป็นรุ่นที่ผมมองว่าขับขี่บนถนน On-Road ได้ดีที่สุด เปิดตัวตามออกมาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2006 ทำยอดขายได้ 728,640 คัน ก่อนจะหลีกทางให้กับ X5 รุ่นที่ 3 รหัสรุ่น F15 ซึ่งถูกปรับปรุงให้ใหญ่ขึ้น หรูขึ้น ไฮเทคขึ้น แต่ขับง่ายขึ้นเพื่อเอาใจคุณแม่บ้านชาวอเมริกัน เปิดตัวเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 สามารถทำยอดขายตลอดอายุตลาดได้ถึง 759,894 คัน (ทั้งที่มีอายุตลาดรวม น้อยกว่าถึง 2 ปี) รวมแล้ว BMW ผลิต X5 ออกสู่ตลาดทั่วโลกไปทั้งหมดถึง 2,105,563 คัน!!

แต่เรื่องประหลาดก็คือ BMW เลือกที่จะผลิตและจำหน่าย X5 รุ่นที่ 3 รหัส F15 เพียงแค่ 5 ปี เท่านั้น ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่ามาตรฐานปกติในการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ของ BMW ซึ่งมักอยู่ที่ 7 – 8 ปี ตามความเหมาะสม แสดงให้เห็นถึงการกล้าตัดสินใจ เปลี่ยนรูปแบบของตัวรถยนต์ ตามแนวโน้มความต้องการของตลาด แม้ว่าการจะปล่อยลากขายออกไปอีก 2 ปี ตามปกติ น่าจะช่วยเพิมตัวเลขยอดขายได้อีกนิดหน่อยก็ตาม ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว หากการยอมเจ็บตัว ทุ่มทุน กัดฟันเปลี่ยนโฉมใหม่ไปเลย ก็น่าจะมีโอกาสเก็บกวาดยอดขายจากทั่วโลก เพิ่มขึ้นได้มากกว่า

X5 ใหม่ มีรหัสรุ่น G05 เผยโฉมครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา โดย X5 รุ่นที่ 4 นี้ จะเป็นหนึ่งใน BMW รุ่นใหม่ ที่จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังแบบ Modular Platform ใหม่ ที่ชื่อ CLAR (มาจาก Cluster Architecture) ร่วมกับ BMW 7-Series (รหัสรุ่น G11) และ 5-Series (รหัสรุ่น G30)

X5 ใหม่ มีขนาดตัวถังยาว 4,922 มิลลิเมตร กว้าง 2,004 มิลลิเมตร สูง 1,745 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,975 มิลลิเมตร ระยะห่างล้อหน้า / ล้อหลัง (Front & Rear Track) 1,666 / 1,685 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 83 ลิตร (รุ่น xDrive 45e Plug-in Hybrid จะลดเหลือ 69 ลิตร) ระยะห่างจากพื้นใต้ท้องรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance) 214 มิลลิเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน Aerodynamic ต่ำเพียง cd 0.32 ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับ SUV ในพิกัดเดียวกัน

เมื่อเทียบกับ X5 รุ่นเดิม (F15) ซึ่งมีความยาว 4,886 มิลลิเมตร กว้าง 1,938 มิลลิเมตร สูง 1,762 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,933 มิลิลเมตร แล้ว จะพบว่า X5 ใหม่ G05 จะยาวขึ้น 36 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 66 มิลลิเมตร สูงขึ้น 19 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 42 มิลลิเมตร

หากคุณแยกความแตกต่างระหว่าง X5 รุ่นเดิม กับรุ่นใหม่ล่าสุด ไม่ออกแล้วละก็ ขอแนะนำว่า ให้สังเกตดู 7 จุดดังนี้

  • การแบ่งแยกเส้นสายภายนอก ให้ดูเส้นคาดข้างตัวถัง รุ่นใหม่ จะมีการไล่เส้นจากซุ้มล้อคู่หน้ามาจนถึงบานประตูคู่หลัง แล้วยกระดับขึ้นไปพาดผ่านมือจับประตูคู่หลัง ยาวต่อเนื่องจรดชุดไฟท้าย เพิ่มพื้นที่เหนือซุ้มล้อคู่หลัง ให้โป่งพอง ดูทรงพลังขึ้น
  • ชุดไฟหน้ามาตรฐานเป็นแบบ LED ส่องสว่างได้ไกล 300 เมตร แต่สามารถเลือกไฟหน้าแบบ Laser Light เพิ่มระยะการส่องแสงให้ไกลขึ้นเป็น 500 เมตร! พร้อมระบบ Selective Beam ปรับไฟสูงแหวกออกด้านข้าง เมื่อมีรถแล่นสวนทางมา ลดปัญหาไฟสูงแยงตา ตอนกลางดึก
  • กระจังหน้าแบบใหม่ Active Air Flap มีครีบ สามารถเปิด – ปิดเองได้ ในกรณีที่เซ็นเซอร์ตรวจพบว่า รถต้องลุยน้ำท่วมลึกๆ
  • เปลือกกันชนหน้าแบบใหม่ที่ดูดุดันมากขึ้น
  • เพิ่มช่องระบายอากาศด้านข้างซุ้มล้อคู่หน้า ประดับไว้เก๋ๆ ในสไตล์เดียวกับ 7-Series G11 และ 5-Series G30
  • ชุดไฟท้าย LED แบบใหม่ มีขนาดเล็กลง แถบไฟเลี้ยว และไฟถอยหลัง จะอยู่ตรงกลาง ล้อมกรอบด้วยไฟเบรกสีแดง
  • ปลายท่อไอเสียในรุ่น M Sport จะถูกออกแบบให้ดุดันเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

ล้ออัลลอย มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 18 – 22 นิ้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นย่อย และทางเลือก Option ของลูกค้าในแต่ละประเทศ

ระบบกุญแจ เป็นแบบ BMW Display Key เหมือนกับ 7-Series และ 5-Series ใหม่ สามารถแสดงสถานะของตัวรถได้ตลอดเวลา ทั้งปริมาณน้ำมันในถัง สถานะการล็อกรถ เตือนระยะเวลาที่ควรจะนำรถเข้าตรวจเช็ค ณ ศูนย์บริการ เตือนลืมปิดไฟในรถ หรือเตือนมีผู้บุกรุก ฯลฯ พูดง่ายๆก็คือ อะไรก็ตามที่แสดงผลอยู่บนจอมาตรวัด ก็สามารถเรียกดูได้ผ่านกุญแจรีโมทชุดนี้เช่นกัน กระนั้น คุณจำเป็นต้องปฏิบัติกับกุญแจแบบนี้ เหมือนโทรศัพท์มือถือ ด้วยการชาร์จไฟให้มันทุกคืนเมื่อคุณกลับถึงบ้าน

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ไม่ค่อยแตกต่างไปจาก X5 และ X6 รุ่นก่อนๆ สักเท่าใดนัก เนื่องจาก ช่องทางเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า มีขนาดที่ไล่เลี่ยกับรถรุ่นเดิม จะต่างกันก็เพียงแค่ความลาดเอียงของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ที่ต่างกันไม่กี่องศาเท่านั้น อาจต้องปรับเบาะลงต่ำสุด และถอยหลังไปเล็กน้อย เพื่อให้ก้าวขึ้น – ลงจากเบาะคู่หน้า ได้สะดวกกว่านี้

ประเด็นเล็กๆน้อย แต่ผมมองว่าสำคัญมากๆ และยังคงตามมากวนใจต่อเนื่องจาก X5 ทั้ง 2 รุ่นก่อน รวมทั้งญาติพีน้อง อย่าง X3 X4 และ X6 ทั้ง 2 รุ่น ด้วย เหมือนเดิมเป๊ะ นั่นคือการออกแบบชายล่าง เป็นชิ้นพลาสติกสีดำยื่นออกมามากพอจะรับเอาเศษดินโคลนจากการลุยได้เยอะมาก ดังนั้น ในจังหวะก้าวลงจากรถ ต่อให้พยายามระมัดระวังแล้ว แต่ถ้าคุณไปลุยดินลุยโคลนมา และบริเวณชายล่างดังกล่าว เลอะเทอะเปรอะเปื้อนมากๆ ยังไงๆ ขากางเกงหรือกระโปรงของคุณ จะต้องเปื้อนเศษโคลนที่ติดอยู่แน่นอน ล่าสุด ขากางเกงของผมก็โดยเข้าไปเต็มๆเช่นกัน สำหรับพวกฝรั่งมังค่าตัวใหญ่ขายาวหนะ ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่บรรดาคนเอเซียขาสั้นตัวเล็กอย่างเราๆท่านๆ ก็ยังคงต้องเผชิญปัญหานี้กันต่อไป เพราะเห็นได้ชัดว่า ทีมออกแบบของ BMW ไม่คิดจะแก้ไขปัญหานี้เลย แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วถึง 10 กว่าปี ก็ตาม!!!

แผงประตูคู่หน้า คราวนี้ออกแบบมาได้ดีมากๆ พนักวางแขนบนแผงประตูด้านข้าง มีความสูงเพียงพอให้ วางแขนได้สบายมากๆ เช่นเดียวกับพนักวางแขนบนคอนโซลกลาง ช่องมือจับสำหรับดึงประตูปิดเข้ามา คราวนี้ สามารถเป็นช่องใส่ของจุกจิกเล็กๆน้อนๆก็ได้ หรือจะวางโทรศัพท์มือถือก็ย่อมได้ ด้านล่าง มีช่องวางของจุกจิก และช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ได้เหลือเฟือ

ส่วนสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้านั้น เป็นแบบ One Touch พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง Jam Protection ทั้ง 4 บาน ก็จริง แต่ถ้าคุณเปิดประตูกางออก มันจะไม่ยอมทำงาน ต้องให้คุณยกสวิตช์เลื่อนขึ้นไปปิดด้วยตัวเอง ออกจะเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่ก็พอเข้าใจว่าเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย

เบาะคู่หน้าของทุกรุ่น ปรับตำแหน่งเอน เลื่อนขึ้นหน้า -​ ถอยหลัง รวมทั้งปรับตำแหน่งตัวดันหลัง และยืดความยาวเบาะรองนั่ง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งคนขับ พวงมาลัย และกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า มาให้ 2 ตำแหน่ง รวมทั้งระบบเลื่อนเบาะคนขับถอยหลัง และยกพวงมาลัยขึ้นอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับขี่ได้เปิดประตูขึ้นนั่งบนเบาะคนขับ และมี Heater อุ่นเบาะมาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง ทุกคัน

เบาะนั่งคู่หน้า ของรุ่น xDrive 30d คันที่เราขับ ซึ่งเป็นรุ่นตกแต่งแบบมาตรฐาน จะตกแต่งภายในด้วยเบาะหนังแบบ Vernasca สีดำมีเจาะรู ระบายอากาศ พื้นผิวสัมผัสจะเนียนกว่าหนัง Dakota ยุคก่อนๆที่เน้นแต่ความทนทานต่อสภาพอากาศและการใช้งาน จนลูกค้าคนไทยหลายคนคุ้นเคยแกมเบื่อหน่าย อย่างชัดเจน

ส่วนเบาะของรุ่น M50d คันสีดำที่เราลองขับ จะเป็นเบาะ BMW Individual ใช้หนัง Merino สีขาวครีม Ivory white ที่ให้ผิวสัมผัสเนียนมือมากๆ นั่งสบายมาก แต่คาดว่า ถ้าเจอสภาพอากาศร้อนอย่างเมืองไทย คงมีอายุการใช้งานไม่ยาวนานนัก

พนักพิงหลังมาในสไตล์นิ่ม คล้ายกับ 5-Series F10 รองรับได้เต็มแผ่นหลัง เพียงแต่ว่า ปีกข้าง อาจจะไม่ใหญ่นัก เน้นรองรับฝรั่งหุ่นหมีมากกว่า นั่งแล้วเหมือนว่า ปีกข้างของเบาะ อาจจะไม่ซัพพอร์ตร่างกายคนเอเชีย ขณะเข้าโค้ง เท่าไหร่เลย

เรื่องที่น่าชมเชยก็คือ พนักศีรษะ​นิ่มสบาย แถมยังไม่ดันกบาลเลยอีกด้วย นี่คือพนักพิงศีรษะแบบที่ผมอยากให้ผู้ผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาศึกษาดูเป็นแบบอย่าง อย่ามาอ้างแค่ว่า European Safety Regulation เข้มงวดขึ้น เลยต้องทำพนักศีรษะให้ดันกบาล จะได้ใกล้หัวคนขับมากขึ้น เพราะคุณคิดแค่ต้องการให้คนขับปลอดภัยจากการชนที่เกิดขึ่นเพียงเศษเสี้ยววินาที แต่เหมือนไม่นึกเลยว่า ผู้ขับขี่ต้องทนกับอาการปวดต้นคอตลอดเวลาที่ใช้รถนานกี่ปี ดังนั้น การที่พนักศีรษะของ X5 ใหม่ ทำออกมาให้สบายหัวแบบนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ

เบาะรองนั่งมาในสไตล์ แน่นปานกลางแต่ผิวด้านบน ค่อนข้างนิ่มสบายพอใช้ได้ สามารถปรับระยะความยาวรองรับช่วงต้นขาได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง เหมือน BMW รุ่นใหม่ๆในปัจจุบันเกือบทุกรุ่น

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ก็ยังคงมีปัญหาเหมือนบานประตูคู่หน้า คือ ต้องใช้ความระมัดระวังเรื่องดินโคลนที่ติดมากับพลาสติกตกแต่งชายล่าง จะเปื้อนกางเกงหรือกระโปรง แต่นอกนั้น ถือว่าทำได้ดีพอๆกับ X5 รุ่นที่ 3 ก่อนหน้านี้  การก้าวขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 2 ต้องออกแรงนิดนึง ก้าวขาเยอะนิดนึง และอาจต้องเขยิบตัวบนเบาะนิดนึงถึงจะได้ตำแหน่งที่ต้องการ

กระจกหน้าต่างบนบานประตูคู่หลัง สามารถเปิดเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง วางได้สบายเหมือนด้านหน้าไม่มีผิด มีช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ด้านล่างของแผงประตูคู่หลัง วัสดุ บุเหมือนกับแผงประตูคู่หน้า

เพดานด้านบน ของรถทุกคันที่เราเห็นในทริปทดลองขับครั้งนี้ บุด้วยวัสดุผ้าสีดำ มีมือจับศาสดาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้ครบทั้ง 4 ตำแหน่ง และมีไฟส่องอ่านหนังสือมาให้สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง ทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย

เบาะนั่งแถวหลัง ถูกปรับปรุงให้นั่งได้สบายขึ้น พนักพิงเบาะหลัง มีจุดเด่นเรื่องความแน่นแอบนุ่ม และรองรับแผ่นหลังทั้งผืน ตั้งแต่ช่วงไหล่ไปจนถึงสะโพกได้ดีมาก โอบล้อมแผ่นหลังไว้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม พนักศีรษะค่อนข้างแข็งมาก ต้องยกขึ้นตั้ง เพื่อใช้งานซึ่งก็จะยังพบความแข็งอยู่ดี

พนักวางแขนบนเบาะหลัง อยู่ตรงกลาง มาพร้อมกับช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พับเก็บได้ และฝาปิดช่องใส่ของจุกจิกแอบซ่อนไว้ได้ ตำแหน่งวางแขน อยู่ในระดับพอดีๆ วางท่อนแขนได้สบาย สามารถแบ่งพับลงมาได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ด้วยสวิตช์ปลดล็อกบริเวณบ่าของพนักพิงเบาะหลัง

เบาะรองนั่ง ด้านหลัง ความยาวกลางๆ ไม่ยาว แต่ก็ไม่สั้นจนเกินไปนัก ฟองน้ำค่อนข้างแน่น ความนุ่มน้อยหน่อย และมีมุมเงยกลางๆ ไม่มากนัก อาจต้องนั่งชันขานิดๆ แต่ยังพอยอมรับได้ และในภาพรวมแล้ว ถือว่า เบาะนั่งแถวหลัง ของ X5 รุ่นใหม่ ดีขึ้นกว่ารุ่นที่แล้วนิดนึง

พื้นที่วางขา มีเหลือเยอะพอประมาณ ให้คุณนั่งไขว่ห้างแบบพอได้ (ถ้าไม่กลัวว่าภายในรถจะเลอะ) ขณะเดียวกัน พื้นที่ Headroom ด้านหลัง ถือว่าไม่มีปัญหาเลย ต่อให้คุณจะมีสรีระร่างสูงถึง 195 เซ็นติเมตร ก็ตาม

ด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง จะเป็นระบบปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มีทั้งแบบสวิตช์ธรรมดา หรือแบบ Digital Tri-Zone ขึ้นอยู่กับ Option ที่ลูกค้า (ในต่างประเทศจะเลือกได้) ส่วนด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า สามารถเลือกสั่งติดตั้ง จอ Entertainment แบบ Touch Screen ขนาด 10.2 นิ้ว (เริ่มออกขายธันวาคม 2018) หรือ ไม้แขวนเสื้อสูท อย่างที่เห็นในภาพ ก็ได้ทั้งสิ้น

สิ่งที่คุณควรรู้ไว้สักหน่อยก็คือ คราวนี้ X5 รุ่นใหม่ G05 มีเบาะนั่งแถว 3 มาให้สั่งติดตั้งเป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษได้ในบางตลาด แต่อย่าคาดหวังพื้นที่โดยสารหรือความสบายขณะเดินทางมากนัก เพราะตัวเบาะพับเก็บได้ มีขนาดเล็ก อีกทั้ง การก้าวเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 ค่อนข้างลำบากมาก ต่อให้มีสวิตช์ไฟฟ้าที่เบาะแถวกลางเสริมมาให้ อย่างที่คุณเห็นในเวอร์ชัน Prototype ข้างบนนี้ มันก็ยังคงเหมาะกับเด็กอนุบาล มากกว่าจะเหมาะกับผู้ใหญ่ท้องมา 30 ปีแล้วก็ยังไม่คลอด อย่างผม

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เป็นกลอนไฟฟ้า มีสวิตช์ปิดและล็อกฝาท้ายด้วยระบบไฟฟ้ามาให้ พร้อมระบบสั่งเปิด-ปิดอัตโนมัติ ด้วยไฟฟ้า ด้วยวิธีเอาเท้าเตะเหวี่ยงอากาศ ใต้เปลือกกันชนหลัง  ฝาท้ายเป็นแบบแยกชิ้น บน-ล่าง เหมือน X5 รุ่นก่อนๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกเวลขนสิ่งของเข้าไปยังท้ายรถ แต่รุ่นใหม่นี้ ฝาท้ายชิ้นล่าง จะเปิด – ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับชิ้นบน ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค รวมถึง 4 ต้น!

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาด 650 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี แต่ถ้าพับเบาะแถว 2 ทั้งหมด แล้ว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,870 ลิตร (VDA) แต่รุ่น xDrive 45e จะถูกแบ็ตเตอรี กินพื้นที่ลดลงไป 150 ลิตร เหลือ 500 ลิตรตามมาตรฐาน VDA เมื่อยังไม่พับเบาะ และ  1,716 ลิตร VDA ถ้าพับเบาะแถว 2 ลงมา

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ค้ำยันด้วยตัวล็อกได้ จะพบช่องว่างสำหรับใส่อุปกรณ์ประจำรถ แต่จะไม่มียางอะไหล่มาให้ รวมทั้งมีแผงบังสัมภาระติดตั้งมาให้ทุกคัน สามารถยกถอดออกได้

แผงหน้าปัด ดูเหมือนว่า BMW รุ่นใหม่ๆ หลังจากนี้ จะเปลี่ยนมาใช้ช่องแอร์แบบใหม่ ที่มีหน้าตาคล้ายกับช่องแอร์ในรถสปอร์ตพลัง Hybrid ไฟฟ้า BMW i8 กันหมดแล้ว เพราะแม้กระทั่ง 3-Series ใหม่ รหัสรุ่น G20 ที่เพิ่งเผยโฉมมาหมาดๆ ก็ยังใช้ช่องแอร์แบบเดียวกันนี้เลย ส่วนช่องแอร์นแผงหน้าปัด ติดกับประตูทั้ง 2 ฝั่ง แยกชั้นบน-ล่าง แต่รวมออกมาเป็นดีไซน์รูปตัว L ล้อมกรอบด้วยพลาสติกขึ้นรูปสีเงิน Aluminium

แผงหน้าปัด มี Trim ประดับการตกแต่งให้เลือก ตามแต่ละ Package ที่เลือก หากเป็นรุ่น X Line จะตกแต่งด้วยลายไม้ ส่วนรุ่น M Sport จะใช้อะลูมีเนียม พร้อมลายกราฟฟิค มาช่วยเสริมความหรูร่วมยุคสมัยมากขึ้น มองไปด้านบน แผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาเลื่อนปิด และไฟแต่งหน้ามาให้ กระจกมองหลังตรงกลางเป็นแบบตัดแสดงได้โดยอัตโนมัติในทุกรุ่น

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนัง ดีไซน์ใหม่ ดูน่าใช้ขึ้น ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง Telescopic ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ในรุ่น M Sport จะหุ้มด้วยหนังแท้อย่างดี ขนาดกำลังเหมาะมือ และเหมาะสมกับตัวรถ

เครื่องปรับอากาศ สามารถเลือกติดตั้งได้ทั้งแบบ Dual Zone สำหรับลูกค้าที่ใช้รถกันตามลำพังไม่เกิน 1-2 คน และ Tri Zone สำหรับลูกค้าประเภทครอครัวที่มีผู้โดยสารนั่งบนเบาะหลังเป็นประจำ โดยสวิตช์ปรับอุณหภูมิ จะอยู่ตรงกลางระหว่าง ช่องแอร์คู่กลาง และมีลูกเล่นขณะกดหรือยกปรับความเย็นได้เก๋ไม่เบา แต่ถ้าอยากปรับแอร์ให้ละเอียด ก็คงต้องเปลี่ยนไปใช้หน้าจอมอนิเตอร์ ขนาด 12.3 นิ้ว พร้อมระบบปฏิบัติการณ์ iDrive OS7 ซึ่งจะแสดงผลระบบต่างๆ ภายในรถแทน (รายละเอียด อยู่ข้างล่าง)

ใต้สวิตช์ชุดเครื่องเสียง ตรงแผงควบคุมกลาง เป็นฝาปิด ซ่อน ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ที่สามารถ อุ่น หรือเปิดช่องทำความเย็นให้เครื่องดื่มที่คุณโปรดปราน นอกจากนี้ ในยามค่ำคืน คุณยังสามารถเลือกปรับเปลี่ยนไฟสร้างบรรยากาศภายในรถ (Ambient Light) ได้ 6 สี รวมทั้งไฟส่องสว่างบนพรมปูพื้น Welcome Light Carpet และการแสดงสีแบบเปลี่ยนเองได้โดยอัตโนมัติ Dynamic Interior Lighting

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญ นั่นคือ ชุดมาตรวัดแบบใหม่ล่าสุด BMW Live Cockpit Professional ซึ่งเกิดจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนมาตรวัดให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ ย้ายมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ไปไว้ริมฝั่งขวาของหน้าจอ และออกแบบให้เข็ม (Digital) กวาดขึ้นมาจากฝั่งขวา แทนที่จะกวาดขึ้นมาจากฝั่งซ้ายในทิศทางเดียวกันกับมาตรวัดความเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่การแสดงแผนที่ และการแจ้งเตือนข้อมูลของระบต่างๆในตัวรถให้มากยิ่งขึ้น เช่น สามารถเซ็ตให้แสดงตัวเลขความเร็วแบบ Digital บริเวณฝั่งซ้ายของจอ ตรงกลาง ไว้แสดงข้อมูลแผนที่ระบบนำทาง GPS Navigation System แบบ Real Time ส่วนฝั่งขวา ไว้แสดงชื่อเพลงและอัลบั้มที่คุณกำลังเปิดฟังอยู่ในขณะนั้น ชุดมาตรวัดนี้ แม้ถูกเปิดตัวพร้อมๆกันทั้งใน X5, Z4, 8-Series และ 3-Series ใหม่ แต่เมื่อดูจากกำหนดการออกสู่ตลาดจริงแล้ว ต้องถือว่า X5 เป็นรถยนต์แบบแรกที่ถูกติดตั้งแผงมาตรวัดแบบนี้

หลายคน เบ้ปากร้องยี้ กับชุดมาตรวัดแบบ Live Cockpit นี้ไปพอสมควร ด้วยความไม่คุ้นเคยกับแนวคิดของมาตรวัดแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแพทเทิร์นเดิมๆเสมอไป ผมไม่แปลกใจครับ ที่หลายคนอาจไม่ชอบ เพราะผมเอง เอาเข้าจริง ก็ไม่ชอบเท่าไหร่นัก อาจเพราะผมยังเคยชินกับมาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบปกติมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีระบบแสดงข้อมูลบนกระจกบังลมหน้า HUD (Head-up Display) ที่ไม่เพียงแค่ขยายพื้นที่การแสดงผลมากขึ้น เป็นขนาด 7 x 3.5 นิ้ว รวมทั้งปรับระดับสูง – ต่ำ และความสว่าง ได้แล้ว ยังสามารถ แสดงภาพแผนที่ และภาพการแจ้งเตือนของระบบต่างๆ เป็นแบบ 3 มิติ ได้อีกด้วย

ระบบ HUD ทำงานได้ดี ยกเว้นตอนแจ้งให้เข้าช่องทางจราจร หากมีช่องให้สามารถเลือกเข้าได้เยอะๆ แล้วคุณต้องการรับรู้ว่า ควรเข้าช่องไหน ลูกศรในทิศทางที่เราควรจะมุ่งไป น่าจะมีแสงไฟกระพริบขึ้นมาสักหน่อย เพราะภาพเลนช่องจราจรในรูปนั้น ขณะขับขี่จริง ก็แอบอ่านแล้ว มึนหัวเหมือนกัน ไม่รู้จะขับเข้าเลนไหนดี ก็มีมาแล้ว

ด้านระบบปฏิบัติการณ์สำหรับควบคุม อุปกรณ์ต่างๆภายในรถ iDrive ถูกอัพเกรดขึ้นมาเป็น BMW OS 7 ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การปรับย้ายตำแหน่งการแสดงผลโหมดต่างๆบนหน้าจอ ให้สะดวกต่อการอ่าน เหลือบมอง และเน้นความสะดวกในการเปิดโอกาสให้ปรับเลือกการใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ขับขี่แต่ละคน มากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพิ่มขนาดหน้าจอให้เป็นแบบ 12.3 นิ้ว รองรับการแสดงผลต่างๆ รวมทั้งระบบสั่งการด้วยนิ้วมือ กลางอากาศ Gesture Control (ซึ่งผมพยายามจะลองเล่นดู แต่มันก็ไม่สำเร็จสักที)

ชุดเครื่องเสียง มีให้เลือกทั้งแบบมาตรฐาน และแบบพิเศษ Diamond 3D Surround 20 ลำโพง 1,500 Watt จาก Bower & Wilkins ซึ่งเมื่อทดลองฟังกันจริงๆแล้ว แม้ว่า X5 จะสามารถปรับระดับเสียง ทุ้ม แหลม ต่างๆ ได้ละเอียดกว่า ชุดเครื่องเสียง B&W ที่ติดตั้งใน Volvo XC90 แต่จากการได้ลองนั่งฟังอย่างจริงจัง พบว่า คุณภาพเสียงที่ออกมา ยังแอบด้อยกว่า XC90 อยู่นิดนึง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องแปลก แต่มันเป็นเช่นนี้จริงๆ

ระบบ Operation System 7

นอกจากนี้ ตัวรถยังมี เซ็นเซอร์ และกล้องรูปแบบต่างๆ รอบคัน เพื่อใช้ทำงานร่วมกับบรรดาระบบตัวช่วยสารพัดต่างๆนาๆ เช่น ระบบช่วยถอยหลังเข้าช่องจอดอัตโนมัติ ระบบช่วยถอยเข้าจอดแบบ ขนานทางเท้า อัตโนมัติ (Parallel Parking) กล้องมองหลัง กล้องมองภาพ 360 องศา ระบบ Automatic Stop&Go ช่วยเบรกและปล่อยรถไหลตาม รถคันข้างหน้าได้เอง โดยอัตโนมัติ ระบบ City Braking สั่งเบรกเองอัตโนมัติ เมื่อมีพาหนะ หรือคน สัตว์ สิ่งของ กระโดดขวางตัดหน้ากระทันหัน ระบบ ควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ แปรผันได้ตามรถคันข้างหน้า Adaptive Radar Cruise Control ระบบเตือนและช่วยเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ ระบบช่วยขับขี่กึ่งอัตโนมัติ Semi-Automated Driving System ทำงานที่ความเร็ว ไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อควบคุมให้รถ ไหลไปตาม ทางหลวง Freeway หรือ Highway โดยที่คุณไม่ต้องขับเอง แต่อาจต้องคอยแตะพวงมาลัยเป็นระยะๆ เพื่อให้ระบบรู้ว่า คุณยังนั่งควบคุมอยู่ อันเป็นข้อจำกัดทางกฎหมายของหลายๆประเทศในปัจจุบัน (ระบบหลังสุดนี้ มีเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน เท่านั้น)

สำหรับใครที่ถามไถ่ถึง หลังคากระจก Panoramic Glass Roof งานนี้ BMW ก็นำมาติดตั้งให้ โดย เป็นแบบ Sky Lounge ซึ่งมีรูปแบบ Graphic มากถึง 15,000 แบบ ให้เลือกในระหว่างชมท้องฟ้ายามค่ำคืน กันอีกด้วย กะว่าจะสร้างบรรยากาศห้องโดยสารให้สว่างไสว ราวกับแสงไฟในผับหรูชั้นดีเลยทีเดียว

มือจับศาสดา (สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ) ถูกติดตั้งมาให้ 4 ตำแหน่งครบถ้วน เหนือช่องทางเข้า-ออกประตูคู่หลัง มีไฟอ่านหนังสือมาให้ รวมทั้ง จุดยึดสำหรับแขวนร้อยเชือกเพื่อกั้นพื้นที่คนขับกับห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมาให้ด้วย เพดาน ด้านบน บุด้วยผ้าสีดำ ตามมาตรฐานของ BMW

X5 ใหม่ มีรูปแบบการตกแต่ง ให้เลือก 2 สไตล์ ทั้งแบบมาตรฐาน X Line และแบบ M Sport รายละเอียดและความแตกต่างอื่นๆ สามารถดูได้ จากภาพข้างบนนี้

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ช่วงแรกที่เปิดตัว X5 ใหม่ G05 จะมีทางเลือกเครื่องยนต์รวมทั้งสิ้น 5 แบบ แบ่งเป็น เบนซิน 2 รุ่น Diesel Turbo 2 รุ่น และรุ่น Plug-in Hybrid ซึ่งประกาศเผยโฉมก่อนจะเริ่มออกจำหน่ายจริงในปี 2019 โดยทุกรุ่นจะมาพร้อมระบบ Auto Stop & Go ดับเครื่องยนต์เอง เมื่อเหยียบเบรกจอดติดไฟแดง และติดเครื่องยนต์เอง เมื่อถอนเท้าจากแป้นเบรก เพื่อออกรถเมื่อได้สัญญาณไฟเขียว

รายละเอียดเครื่องยนต์ ทุกรุ่น มีดังนี้

X5 xDrive 40i

เครื่องยนต์ เบนซิน 6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 2,998 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 94.6 x 82.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 พ่วง Turbocharger แบบแปรผันครีบ (Twin Scroll) 1 ลูก 340 แรงม้า ที่ 5,500 – 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.85 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ปล่อย CO2 193 – 200 g./km.จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 5.5 วินาที Top Speed 227 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 193 – 200 กรัม/กิโลเมตร

X5 xDrive 50i (์Not Available in Europe : ไม่มีจำหน่ายในยุโรป)

เครื่องยนต์ เบนซิน V8 สูบ DOHC 32 วาล์ว 4,395 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 88.3 x 89.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ แบบฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ High Precision Direct Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC กับระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ VANOS และ TurboCharger แบบ TwinScroll 2 ลูก (Twin Turbo) 462 แรงม้า ที่ 5,250 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 650 นิวตันเมตร (66.2 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 4,750 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 4.7 วินาที Top Speed 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 264 กรัม/กิโลเมตร

X5 xDrive 30d

เครื่องยนต์ Diesel 6 สูบแถวเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,993 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Piezo ผ่านราง Common-Rail ด้วยแรงดัน 2,500 Bar พ่วง Turbocharger แบบแปรผันครีบ variable geometry) กำลังสูงสุด 265 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 620 นิวตันเมตร (62.55 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 2,500 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.5 วินาที Top Speed 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 158 – 179 g./km.

X5 M50d

เครื่องยนต์ Diesel 6 สูบแถวเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,993 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Piezo ผ่านราง Common-Rail ด้วยแรงดัน 2,500 Bar พ่วง Turbocharger มากถึง 4 ลูก!! (Quad Turbo) ประกอบด้วย Turbo แรงดันสูง (พร้อมระบบแปรผันช่องรับอากาศเข้า) และแรงดันต่ำ อย่างละ 2 ลูก กำลังสูงสุด 400 แรงม้า ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร (77.66 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 3,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 5.2 วินาที Top Speed 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 179 – 190 g./km.

X5 xDrive 45e

เป็นรุ่นย่อยล่าสุด ที่เพิ่งประกาศเพิ่มเข้ามาในวันที่ 7 กันยายน 2018 สดๆร้อนๆ แต่ยังไม่พร้อมจะทำตลาด จนกว่าจะถึงช่วงต้นปี 2019 จึงยังมีการเปิดเผยตัวเลขคร่าวๆ เพียงแค่ วางเครื่องยนต์ เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว 2,998 ซีซี. จากรุ่น xDrive 40i แต่ปรับจูนกำลังลงมาเหลือ 286 แรงม้า (HP) พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า 82 กิโลวัตต์ / 112 แรงม้า (HP) รวมกำลังทั้งระบบอยู่ที่ 394 แรงม้า (HP) เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 5.6 วินาที เร็วขึ้นกว่ารุ่นก่อนนิดหน่อย Top Speed 235 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากขับขี่ด้วยระบบไฟฟ้าอย่างเดียว สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้ระยะทางไกลถึง 80 กิโลเมตร และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลงเหลือแค่ 49 กรัม/กิโลเมตร!!

ทุกรุ่น ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน ทั้งแบบล้อหลัง (เฉพาะ M50d) และขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมโหมด +/- Steptronic จาก ZF พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ด้านหลังวงพวงมาลัย มาพร้อมกับหัวเกียร์แบบ Craft Clarity มีสัญลักษณ์ X อยู่ด้านใน การใช้งาน แค่เหยียบเบรก กดปุ่มปลดล็อก แล้วกระดิกคันเกียร์ไปตามตำแหน่งที่ต้องการ เหมือน BMW รุ่นอื่นๆ ในรอบหลายปีมานี้

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

 

รุ่น xDrive40i

  • เกียร์ 1 ………….5.250
  • เกียร์ 2………….3.360
  • เกียร์ 3………….2.172
  • เกียร์ 4………….1.720
  • เกียร์ 5…………..1.316
  • เกียร์ 6…………..1.000
  • เกียร์ 7…………..0.822
  • เกียร์ 8…………..0.640

เกียร์ถอยหลัง 3.712 อัตราทดเฟืองท้าย 3.385

รุ่น xDrive50i/M50d/xDrive30d

  • เกียร์ 1 ………….5.500
  • เกียร์ 2………….3.520
  • เกียร์ 3………….2.200
  • เกียร์ 4………….1.720
  • เกียร์ 5…………..1.317
  • เกียร์ 6…………..1.000
  • เกียร์ 7…………..0.823
  • เกียร์ 8…………..0.640

เกียร์ถอยหลัง 3.993 อัตราทดเฟืองท้ายรุ่น 50i/M50d = 3.154 รุ่น xDrive30d = 2.929

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Rack & Pinion ผ่อนแรงด้วยระบบเพาเวอร์ แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) เซ็ตอัตราทดเฟืองพวงมาลัยไว้ที่ 18.7 : 1 มาพร้อมกับระบบ Integral Active Steering ถ้าจะอธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็ให้นึกถึงการนำระบบพวงมาลัยแบบแปรผันอัตราทด (Variable Gear Ratio Power Steering) และน้ำหนักของพวงมาลัย (Active Steering) เข้ากับระบบเลี้ยว 4 ล้อนั่นเอง ระบบนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไรนัก เพราะ 5-Series รหัสรุ่น F10 ก็มีให้ใช้กันแล้วตั้งแต่ปี 2010

การเลี้ยวที่ล้อหน้า มอเตอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง สามารถแปรผันน้ำหนักได้ และอัตราทดเฟืองพวงมาลัยก็สามารถแปรเปลี่ยนไป ตามลักษณะการหมุนพวงมาลัยกับความเร็วที่ใช้ หากขับไปข้างหน้าตรงๆ พวงมาลัยจะถูกโปรแกรมให้มีน้ำหนักต้านมือและอัตราทดไม่ไว เพื่อให้คุณสามารถใช้ความเร็วสูงได้อย่างมั่นคง แต่เมื่อคุณหักเลี้ยว ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วว่าสูงหรือต่ำ โดยมากจะปรับให้มีแรงต้านมือน้อยที่ความเร็วต่ำเพื่อให้ขับสบายในเมือง และถ้าใช้ความเร็วสูงก็จะตึงมือขึ้น เพื่อให้ควบคุมรถในโค้งได้ง่าย ส่วนอัตราทดเฟืองพวงมาลัยนั้น ยิ่งหักเลี้ยวมาก ก็จะแปรผันให้ไวขึ้น

ส่วนที่ล้อคู่หลังนั้น จะถูกออกแบบให้สามารถเลี้ยว (ผมว่าใช้คำว่ากระดิกน่าจะเหมาะกว่า) ไปมาเป็นระยะ +/- 3 องศา ซึ่งไม่ได้เยอะ แต่ส่งผลต่อการขับขี่แบบรู้สึกได้ หากความเร็วต่ำกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเราหักพวงมาลัย ล้อหลังจะกระดิกในทิศสวนทางกับล้อหน้า ซึ่งส่งผลให้ทำวงเลี้ยวได้แคบ และให้ความรู้สึกเหมือนพวงมาลัยไวขึ้น โดย BMW เคลมว่าระบบนี้ทำให้รัศมีวงเลี้ยวแคบลงได้ 1 เมตร แต่ถ้าใช้ความเร็วเกิน 60 ขึ้นไป จะกลายเป็นว่าล้อหลังจะกระดิกในทิศทางเดียวกันกับล้อหน้า เพื่อช่วยให้การเลี้ยวเป็นไปอย่างมั่นคงขึ้น มีอาการวูบวาบน้อยลงเวลาใช้ความเร็วสูง

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ Double wishbone axle ผลิตจาก aluminium ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Five link axle ผลิตจาก เหล็กกล้าน้ำหนักเบา เลือกได้ทั้งแบบช็อกอัพกับคอยล์สปริงธรรมดา และ ช็อกอัพแบบ Two-axle Air-Suspension พร้อมทั้งระบบปรับระดับสูง – ต่ำของช่วงล่างอัตโนมัติ Automatic Self Leveling ซึ่งเป็น Option สั่งติดตั้งพิเศษ

Two-axle Air Suspension
เป็นช่วงล่างแบบถุงลม ซึ่งสามารถปรับความสูงและความแข็ง/นุ่มของช่วงล่างได้ ระบบจะมีฟังก์ชั่นปรับชดเชยความสูงของช่วงล่างได้อัตโนมัติ โดยคำนวนจากน้ำหนักบรรทุก, ปริมาณน้ำมันในถัง และความเร็ว ไม่เพียงเท่านั้น ตามปกติแล้ว ช่วงล่างถุงลม เมื่อใช้งานหนักมากๆ แรงดันภายในจะเปลี่ยนซึ่งส่งผลต่อความสูงของรถ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ช่วงล่างของ X5 ใหม่ก็จะสามารถชดเชยค่าความสูงได้ด้วยตัวมันเอง

นอกจากนี้ ระบบ Two-axle Air Suspension ยังสามารถตรวจจับการลุยน้ำของรถได้อีกด้วย โดยเมื่อคุณขับรถลุยน้ำท่วม ระบบจะสั่งปิด flap กระจังหน้า เพื่อลดโอกาสที่น้ำจะทะลวงเข้ามาและผ่านเข้าไปในชุดท่อดูดอากาศ นอกจากนี้ยังตัดการทำงานของการปรับช่วงล่างไฟฟ้าโดยคงความสูงและความแข็งเอาไว้เท่าเดิม เพราะถ้าไปปรับช่วงล่างตอนที่อยู่ในน้ำ ความชื้นอาจทำให้ระบบทำงานผิดพลาดได้

Touch down Detection
ฟังชื่อแล้ว บอกก่อนว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ American Football แต่นี่คือระบบตรวจจับลักษณะการลอยของล้อแต่ละข้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับการลุยแบบออฟโรดที่บางครั้งจะมีล้อลอยจากพื้นมากกว่า 1 ข้างพร้อมๆกัน ซึ่งจะทำให้โอกาสในการสร้างแรงยึดเกาะหรือการขับเคลื่อนลดลง ระบบ Touch down Detection จะช่วยแก้สถานการณ์โดยสั่งยืดความสูงของช่วงล่าง จากในโหมด xOffroad ปกติที่ยืด 40 มิลลิเมตร ให้เพิ่มได้สูงสุดถึง 70 มิลลิเมตร เพื่่อช่วยให้ล้อมีโอกาสแตะพื้นดินได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

โหมดนี้เป็นระบบอัตโนมัติ เราไม่สามารถไปสั่งให้รถยืดช่วงล่างเองได้ มันจะทำงานต่อเมื่อสถานการณ์เรียกหาเท่านั้น และถ้าใช้ความเร็วเกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันก็จะลดความสูงกลับมาเหลือเท่าเดิม

แม้จะปรับได้หลายอย่างหลายท่า แต่ต้องจำไว้ด้วยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพ่วงรถลากจูงต่อเข้ากับท้ายรถ X5 มันก็จะฉลาดพอที่จะตัดการทำงานของสวิตช์ปรับความสูงของรถเพื่อไม่ให้เจ้าของเผลอปรับแล้วจะมีผลต่อสิ่งที่ลากจูงอยู่ เมื่อคุณพ่วงรถ Trailer ข้างท้ายแบบนี้ ระบบจะตัดการทำงานเหลือเพียง Normal Mode นอกนั้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะควบคุมต่อเอง

ELECTRIC ACTIVE ROLL STABILISATION (EARS)
เป็นเหล็กกันโคลงแบบปรับความแข็งได้ ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ติดตั้งทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวรถ การปรับความแข็งของเหล็กกันโคลง ให้ผลลัพธ์เกือบคล้ายกับการปรับความแข็งของโช้คอัพหรือถุงลม แต่มีแรงขืนและแรงกระทำจากจุดยึดที่แตกต่างกัน ยิ่งถ้าเหล็กกันโคลงหน้าและหลังสามารถปรับแรงขืนให้ต่างกันได้ ก็จะส่งผลต่อลักษณะการเลี้ยวของรถ และช่วยลดอาการหน้าดื้อตอนเข้าโค้งได้อีกด้วย ถ้าคุณอยากได้ระบบนี้ ต้องสั่งซื้อพร้อมกับ Package ช่วงล่าง Adaptive M Suspension เท่านั้น

สำหรับลูกค้าที่เลือกสั่งติดตั้ง xOFFROAD Package ก็จะได้รถที่เซ็ตมาเผื่อการลุย เพิ่มขึ้นมาด้วย โดยมีสวิตช์ Off-road ที่ท้ายเกียร์เพิ่มมา (อยู่ข้างๆสวิตช์ปรับความสูงของช่วงล่าง)

ในโปรแกรมนี้ ระบบช่วงล่าง Two-axle Air Suspension จะถูกปรับให้สามารถเลือกโหมดความสูงได้มากกว่า X5 คันที่ไม่มีแพ็คเกจนี้ รวมถึงระบบ Traction Control และโปรแกรมการตอบสนองของคันเร่ง จะเพิ่มโหมดสำหรับการลุยที่แตกต่างจากรถทั่วไป เฟืองท้ายและระบบขับเคลื่อน xDrive จะมีโหมดการทำงานเฉพาะสำหรับการลุยแบบออฟโรด แม้แต่แผ่นกันกระแทกใต้ท้องรถก็จะถูกเปลี่ยนเป็นแบบที่ทนทานต่อแรงกระแทกมากขึ้น ปิดท้ายด้วยกล้องรอบคัน Off-road Camera ซึ่งจะมีให้ในกรณีที่คุณสั่ง
xOFFROAD Package ควบคู่กับระบบ Parking Assistant Plus

สวิตช์ Off-road ที่มากับ Package นี้จะเปิดโอกาสให้คุณเลือกปรับลักษณะโหมดที่เหมาะสมกับการลุยได้ 4 แบบ

xSnow – สำหรับการขับบนพื้นลื่นมากๆ ทั้งหิมะ หรือลานน้ำแข็ง ปรับช็อกอัพให้สูงขึ้นจากปกติ 4 มิลลิเมตร
xSand – สำหรับการลุยบนพื้นที่แรงยึดเกาะต่ำเช่นทรายร่วนๆ ปรับช็อกอัพให้สูงขึ้นจากปกติ 20 มิลลิเมตร ใช้ความเร็วได้ถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสั่งตัดระบบ DSC
xGravel – สำหรับการขับขี่บนพื้นถนนลูกรัง ไม่ลาดชัน ใช้ความเร็วสูงได้ระดับหนึ่ง ปรับช็อกอัพให้สูงเท่ากับโหมด xSand ใช้ความเร็วได้เท่ากับ xSand
xRocks – สำหรับการลุยบนพื้นที่ทุระดันดาน ลาดชันมาก เต็มไปด้วยก้อนหิน ปรับช็อกอัพให้สูงขึ้นจากปกติ 40 มิลลิเมตร และสั่งตัดระบบ DSC

นอกจากนี้ ผู้ขับยังสามารถเลือกปรับความสูงของช่วงล่างได้ตามต้องการ ดังนี้

ปรับความสูงเพิ่มสูงสุด – ยกช่วงล่างขึ้นสูงกว่าระดับปกติ 40 มิลลิเมตร ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีเฉพาะใน X5 คันที่ติดตั้ง xOFFROAD Package ซึ่งจะมีสวิตช์กดเลือกโหมด xRocks ได้ และให้ผลในลักษณะเดียวกัน

xSand และ xGravel – ในโหมดนี้ ช่วงล่างจะถูกยกสูงกว่าระดับปกติ 20 มิลลิเมตร และใช้ความเร็วได้ถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

Normal level – ความสูงระดับปกติ

Dynamic level – ลดความสูงลงเองอัตโนมัติ 10 มิลลิเมตร เมื่อใช้ความเร็วตั้งแต่ 140 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ไม่มีปุ่มให้เลือกความสูงระดับนี้)

Sport level – ลดความสูงลงเองอัตโนมัติอีก 10 มิลลิเมตร เป็น 20 มิลลิเมตร เมื่อใช้ความเร็วเกิน 200 กิโลเตร/ชั่วโมงขึ้นไป หรือผู้ขับสามารถกดเลือก เพื่อวิ่งแบบเตี้ยๆไปตามชอบ หรือในกรณีที่เข้าที่จอดรถใต้ถุนอาคารที่เตี้ยมากๆ

Loading level – ลดความสูงลงจากระดับปกติ 40 มิลลิเมตร ซึ่งเตี้ยกว่าตำแหน่ง Sport level เพื่อให้ขึ้นลงจากรถหรือขนถ่ายสัมภาระได้สะดวก โหมดนี้ จะใช้งานได้ต่อเมื่อรถจอดนิ่งสนิท เท่านั้น

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน ทั้ง 4 ล้อ พร้อม Calliper แบบลูกสูบเดียว (Single piston) โดย จานเบรกคู่หน้า จะเป็นแบบ Fixed Callipper ส่วนคู่หลังจะเป็นแบบ Floating Calliper มาพร้อมกับ เบรกมือแบบสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto-Hold รวมทั้ง สารพัดตัวช่วยมาตรฐาน ซึ่งติดตั้งมาให้ทุกรุ่น ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control) ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ประกอบด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว DTC (Dynamic Traction Control) ระบบควบคุมแรงเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ระบบควบคุมแรงเบรก DBC (Dynamic Brake Control) ระบบ Dry Braking function, Fading Compensation, ระบบช่วยออกตัว Start-Off Assistant, ระบบ ADB-X (Active Differential Brake), ระบบช่วยคลานลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control), ระบบ Dynamic Damper Control นอกจากนี้ยังสามารถเลือกติดตั้งระบบป้องกันการพลิกคว่ำ Active roll stabilisation และเฟืองท้ายหลัง differential lock ควบคุมด้วย electronically ได้อีกด้วย

DSCi – Dynamic Stability Control Integrated
X5 เป็นรถรุ่นแรกของ BMW Group ที่ติดตั้งระบบ DSCi ซึ่งมันก็คือการนำระบบ DSC ที่ BMW มี และพัฒนามาด้วยตลอด เข้ากับระบบเบรกแบบไฮดรอลิกกึ่งไฟฟ้า ซึ่งจะไม่มีท่อสุญญากาศกับหม้อลมอย่างเบรกในรถปกติ

ในสภาวะทั่วไป เมื่อคุณเหยียบเบรก แรงเหยียบของคุณจะถูกส่งไปที่ชุดควบคุมไฟฟ้าและชุดมอเตอร์เสริมแรงเบรกไฟฟ้า ซึ่งจะคำนวณและสั่งการระบบเบรกให้คุณเอง การเหยียบของคุณ ไม่ได้ส่งผลต่อระบบไฮดรอลิกโดยตรง

ประโยชน์ของการใช้ระบบเบรกแบบนี้คือเมื่อระบบ ABS หรือ DSC ทำงาน แป้นเบรกจะไม่มีอาการสั่นหรือกระตุกให้รำคาญ อีกต่อไป เหมาะกับบุคลิกของลูกค้าที่อุดหนุน X5 ซึ่งต้องการความนุ่มนวลในการขับขี่มากกว่า BMW ปกติรุ่นอื่นๆ ดังนั้น บรรดานักนิยมรถสปอร์ตและนักขับอาจไม่ชอบระบบนี้ เพราะไม่อาจรับรู้ผ่านเท้าขวาที่เหยียบแป้นเบรกว่าระบบ ABS หรือ DSC ทำงานอยู่หรือไม่

เรามีโอกาสได้ทดลองขับ X5 ใหม่ 2 รุ่น นั่นคือ M50d อันเป็นรุ่นท็อปในตอนเปิดตัวช่วงนี้ และ xDrive 30d ซึ่งเป็นรุ่นที่คาดหมายว่าจะถูกเปิดตัวในประเทศไทย เพื่อเปรียบเทียบกันว่า พละกำลังนั้นแตกต่างกันมากน้อยเพียงแค่ไหน เราจึงแอบจับเวลาหาอัตราเร่งเท่าที่พอจะมีจังหวะเอื้ออำนวย และทำได้เพียงรายการละครั้งเดียวเท่านั้น สภาพอากาศขณะจับเวลา อยู่ในช่วงราวๆ 20 องศาเซลเซียส ไม่ทราบประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้ง ขณะจับเวลา รุ่น M50d เรามีคนขับและผู้โดยสารรวมกัน 3 คน แต่รุ่น 30d เหลือผมกับพี่ริชชี่ เพียง 2 คน เท่านั้น ตัวเลขที่ได้มา มีดังนี้

X5 xDrive M50d (นั่ง 3 คน)​

0 -​ 100 กิโลเมตร​/ชั่วโมง

Comfort mode : 7.58 วินาที

Sport mode : 6.76 วินาที

80 -​ 120 กิโลเมตร​/ชั่วโมง

Comfort mode : 5.40 วินาที

Sport mode : 4.50 วินาที

X5 xDrive 30d (นั่ง 2 คน)​
0 -​ 100 กิโลเมตร​/ชั่วโมง

Comfort mode : 8.95 วินาที

80 -​ 120 กิโลเมตร​/ชั่วโมง

Comfort mode : 6.57 วินาที

อันที่จริง ผมรู้สึกคาดหวังกับอัตราเร่งของ M50d ไว้ในตอนแรกว่าน่าจะแรงพอสมควร แต่พอเอาเข้าจริง ถึงแม้แรงดึงจะนำพาตัวถังอันใหญ่โต พุ่งไปข้างหน้าอย่างทันอกทันใจ แต่กลับไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอันใดให้มากมายเท่าที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อดูตัวเลขใน Sport Mode แล้ว ก็พบว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ทำได้ระดับ 6.76 วินาที นี่ก็ถือว่า แรงเอาการแล้ว ยิ่งช่วงเร่งแซงนี่ เหลือแค่ 4.5 วินาที ใกล้เคียงกับบรรดา Performance Car หลายๆคันที่เราเคยจับตัวเลขกันมาเลยทีเดียว

แต่ผมมองว่า น่าจะมีแรงดึงเพื่อเพิ่มรสชาติมากกว่านี้อีกสักนิดนึง แต่ก็อย่างว่าละครับ เครื่องยนต์ Diesel Turbo ทำผลงานออกมาได้ขนาดนี้  ในวันที่พวกฝรั่งเขากำลังถูกบีบให้เลิกใช้กันอยู่นี้ ก็ต้องถือว่าดีถมถืดแล้วละ

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมามองดูการตอบสนองของรุ่น xDrive 30d แล้ว กลับพบว่า เรี่ยวแรงที่มีมาให้นั้น เพียงพอและไม่น่าเกลียดเลยสำหรับลูกค้าชาวไทย พูดกันตรงๆว่า ตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดไว้ แม้จะลองจับเวลาได้แค่ Comfort Mode อันเป็นมาตรฐานของเว็บเราสำหรับรถยนต์ในกลุ่ม ที่สามารถปรับ Mode การขับขี่ได้ ก็ตาม พละกำลังที่สัมผัสได้ มันมีมาต่อเนื่อง และพร้อมจะให้คุณเรียกใช้ได้ตลอดเวลา และแทบจะในทันที อีกทั้ง คันเร่งไฟฟ้า แบบ Piano Pedal เองก็มีอาการ Lag น้อยมาก หรือต่อให้แตะคันเร่งเบาๆเลี้ยงความเร็วไว้ ในช่วงรอบต่ำๆ ขณะขับขี่ไปตามชุมชนเมืองเล็กๆ เครื่องยนต์ก็ค่อนข้างนิ่ง เสียงครางไม่ได้น่าเกลียดนัก พอรับได้ เสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร น้อยมาก

การเก็บเสียง ทำได้ดี ไม่มีอะไรให้ต้องห่วงมากนัก ยกเว้นในช่วงเดินทาง ระดับ 62 ไมล์/ชั่วโมง (หรือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พอจะมีเสียงกระแสลมแทรกมาอย่างแผ่วเบา ระหว่างขอบหน้าต่างด้านบนของบานประตูคู่หน้า นิดนึงก็ตาม

พวงมาลัยถูกเซ็ตมาให้มีลักษณะเบา หมุนได้ง่าย คล่องแคล่ว ในสไตล์เดียวกับ X5 รุ่น F15 เดิม เซ็ตอัตราทดมาไม่หนีจากเดิม คือ กลางๆ ไม่คมจัดเกินไป และไม่ไวเกินไป อยู่ในระดับกำลังดี เหมาะกับรถยนต์ไซส์ใหญ่อย่างนี้ แต่ให้ความแม่นยำขึ้นนิดนึง

น้ำหนักพวงมาลัย มี 2 แบบ คือ ในโหมดปกติ จะเบาแต่ไม่ถึงขั้นโหวงไร้น้ำหนัก ยังพอมีแรงขืนที่มือหลงเหลือนิดเดียว แบบแม่บ้านขับได้ พ่อบ้านอาจบ่นนิดๆ ว่าเบาไปหน่อย กับแบบ Sport ที่จะทีแรงขืนที่มือเพิ่มเข้ามาอีกนิดนึง ไม่มากนัก

ช่วงล่างให้การตอบสนองนุ่มนวล การซับแรงสะเทือนจากผิวถนน ทำได้ดีตามปกติที่รถยนต์ระดับนี้ควรเป็น ไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ตื่นเต้นหรือหวือหวา ช่วงแรกที่ผมรับบทเป็นผู้โดยสาร สัมผัสได้ว่า บุคลิกมันคล้ายกับ Mercedes Benz รุ่นเก่าๆ ที่ช่วงล่างยังแน่นอยู่ และเปลี่ยนไปใส่ล้อใหญ่ๆ กับยางแก้มเตี้ย มากกว่าที่จะเป็น BMW ในแบบที่ผมคุ้นเคยมาจาก X5 รุ่นที่ 2 ซึ่งนั่นคือบุคลิกที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัวมากกว่า

แต่พอสลับมาเป็นคนขับดูบ้าง ก็พบว่า เฮ้ย มันไม่เลวนะ แม้ตัวรถจะกว้างใหญ่แอบอุ้ยอ้าย ถ้าขับขี่ในเมือง อาจจะลำบากต่อการกะระยะในซอยแคบๆอยู่บ้างเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากความนุ่มสบายที่คุณจะได้รับแล้ว บุคลิกการบังคับควบคุมของพวงมาลัยกับช่วงล่าง ที่ให้ความมั่นใจได้ในแบบ BMW ก็ยังคงมีหลงเหลือให้สัมผัสกันได้อยู่

ถ้าคิดว่า วิศวกรจะต้องเซ็ตช่วงล่าง มากับพวงมาลัย เพื่อลูกค้าส่วนใหญ่ทั่งโลกที่ไม่ได้บ้าขับรถแบบผมอย่างนี้ รวมทั้งต้องผสานความต้องการก็คงต้องบอกว่า กำลังดีแล้ว แม้ในใจผมจะยังคงยกให้ X5 รุ่นที่ 2 เป็นรุ่นที่ขับขี่ดีงามมากสุดตลอดกาล ก็ตาม

คุณอาจสงสัยว่า พวงมาลัยแบบนี้ อาจเบาไปหรือเปล่า ช่วงล่างแบบนี้ มันนุ่มสบาย ผิดวิสัย BMW ไปหรือเปล่า..? แต่เมื่อผมลองขับบนเส้นทาง Off Road ผมก็เริ่มเข้าใจตัวตนในอีกด้านหนึ่งของ X5 ใหม่นี้ เสียที

สนาม Offroad ที่ BMW จัดให้เราได้ลองขับกันนั้น ทาง Organizer ผู้จัดงาน วางเส้นทางเดียวกันกับที่เคยใช้ในกิจกรรมทดลองขับ Land Rover ใน Atlanta เมื่อหลายปีก่อน รูปแบบสนาม เป็นเส้นทาง เลนเดียว รถวิ่งผ่านได้แค่คันเดียว ตลอดทางเป็นป่าชื้นอุดมสมบูรณ์ มีแนวโขดหิน เนิน และอุปสรรคต่างๆ ที่เหมาะสำหรับคนเพิ่งเริ่มหัดขับขี่รถยนต์ Off-Road ใหม่ๆ ได้เริ่มต้นทดลองเป็นครั้งแรก มากกว่าจะเหมาะกับผู้รักการลุยเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว

ตลอดระยะเวลาราวๆ 40 นาที ที่ต้องนั่งบังคับควบคุมรถ ไปามสภาพเส้นทางรูปแบบต่างๆ ชนิดที่ต้องหักเลี้ยวเร่งส่งเบาๆเพื่อปีนป่ายเนินเขา ลงลำธาร แล้วก็ใช้ระบบ HDC ช่วยลดความเร็วตอนลงเนินลาดชัน ยิ่งพบเลยว่า น้ำหนักพวงมาลัยที่เซ็ตมาแบบนี้ มันกำลังดี ไม่ต้องแก้ไขแล้ว ขับใช้งานได้ทั้ง On Road หรือ Off Road ช่วยให้ปีนป่ายไปตามเส้นทางทุระกันดานได้อย่างคล่องแคล่วกว่าที่คิดไว้

ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงล่างของ X5 ยังซับแรงสะเทือนได้เข้าขั้นดีมาก ไม่ว่าคุณจะเคลื่อนตัวไปตามหินก้อนกรวดต่างๆ หรือแม้แต่การขับผ่านเส้นทางลูกรังด้วยความเร็วสูงราวๆ 40 ไมล์/ชั่วโมง (ประมาณ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ตัวรถยังคงนิ่ง การควบคุมอาการของตัวถังทำได้ดีมาก และแทบไม่ค่อยรู้สึกถึงอาการสะเทือนเลื่อนลั่นมากมายเลย

เมื่อพวงมาลัยและช่วงล่าง ทำงานร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจนผู้ขับขี่จะรู้สึกได้คือ การบังคับควบคุมรถจะง่ายดายขึ้นกว่าเดิมนิดนึง ทั้งบนถนนแบบปกติ และเส้นทาง Off-Road ทำให้คนที่ไม่ค่อยได้ลุยบนเส้นทางลักษณะนี้บ่อยนักแบบผม สัมผัสได้เลยว่า ขับไม่ยาก และตัวรถก็ช่วยเหลือให้เราผ่านพ้นสภาพเส้นทางเหล่านั้นมาได้อย่างแทบไม่ต้องคิดมาก

ส่วนการตอบสนองของแป้นเบรกนั้น หากขับขี่ตามปกติ ก็จะแน่นและนุ่มเท้าดี มีระยะเหยียบเบรกพอประมาณ คล้ายกับรถรุ่นเดิม สามารถกะระยะให้จอดสนิทนิ่งได้อย่างนุ่มนวล แต่อย่างไรก็ตาม ฟีลลิงแป้นเบรกนั้น ยังคงพอให้สัมผัสแบแป้นเบรกไฟฟ้าอยู่ แม้จะเนียนใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้แป้นเบรก ไฮโดรลิค มากแล้วก็ตาม รองรับการขับขี่ทั่วๆไปได้ตามปกติ

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ขับคล่องขึ้นนิดหน่อย ลุย Off-Road ง่ายดาย แถมสบายขึ้นชัดเจน
เจอกันเมืองไทยต้นปี 2019

20 ปีหลังจาก X5 รุ่นแรกออกสู่ตลาด BMW ได้เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และพยายามนำมาปรับปรุง X5 ใหม่ ให้ “Hi-Tech” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งกลายมาเป็น G05 อันเป็น เจเนอเรชันที่ 4 ใหม่นี้

ความยากของการพัฒนา X5 ใหม่ก็คือ คุณจำเป็นต้องทำรถออกมาให้เอาใจกลุ่มสุภาพสตรี ชาวอเมริกัน และชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักและกลุ่มเป้าหมายสำคัญของรถรุ่นใหม่นี้ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาอยากได้รถคันใหญ่เท่าบ้าน แต่ต้องขับขี่บังคับควบคุมง่ายดาย พวงมาลัยต้องมีน้ำหนักเหมาะสม ไม่หนักเลย ช่วงล่างก็ต้องเน้นความนุ่มนวลในการขับขี่ แม้แต่แป้นเบรก ก็ต้องมีน้ำหนักเหมาะสม หนืด และนุ่มเท้า สำหรับขับไปรับ-ส่งลูก และไปช้อปปิงยามบ่าย

ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องเอาใจลูกค้า X5 กลุ่มผู้ชายที่ใช้รถแบบสมบุกสมบัน ถึงจะไม่โหดขนาด Off-Road ขนานแท้ แต่มันต้องมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ดีและฉลาดพอจะพาให้พวกเขา ผ่านพ้นทุกอุปสรรค บนสภาพเส้นทางที่ไม่ควรถูกเรียกว่าถนน ไปพร้อมๆกัน เพื่อไว้ไปตรวจงานตามไร่นา หรือไซต์งานก่อสร้าง

ด้วยข้อจำกัดอันโหดร้ายจากความแตกต่างกันของกลุ่มลูกค้าที่สุดขั้วขนาดนี้ ทีมวิศวกรของ BMW ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วในการพัฒนา X5 ใหม่ ให้ผสานความต้องการอันหลากหลาย ทั้งความสบายในการขับขี่ พื้นที่ใช้สอยต้องอเนกประสงค์ และความสามารถในการปีนป่าย รวมเข้าไว้ในรถคันเดียว โดยยังหลงเหลือบุคลิกการบังคับควบคุมในแบบฉบับของ BMW ไว้ ให้สัมผัสกันอยู่

ด้วยเหตุที่ตัวรถมีขนาดใหญ่โต และหนักเอาเรื่อง เฉกเช่นรุ่นพี่ก่อนหน้านี้ บวกกับการตอบสนองของล้อและยางขนาดยักษ์ 20 – 21 นิ้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะยังคงพบเห็น บุคลิกอันอุ้ยอ้าย ตามสไต์ SUV คันเขื่อง ก็ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ตามปกติ เหมือนเช่น X5 ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นมา ทว่า อัตราเร่ง ก็ดีใช้ได้ ไม่ขี้เหร่ ตอบสนองได้ดี ให้การบังคับควบคุมบนทางโค้งที่ยังหลงเหลือความเป็น BMW มาให้สัมผัสอยู่ ขณะที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ก็โชว์ผลงานได้ดีพอสมควร หากนำไปใช้ในการลุยแนวร่องท้องทุ่งหรือป่าเขาไม่โหดมากนัก โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยางเป็นแบบ Hi-Terrain เลยทั้งสิ้น เอายางแก้มเตี้ยมาใช้เหมือนในคอร์สที่เราลองขับกันก็ได้เลย!

สำหรับลูกค้า BMW ที่อุดหนุน X5 มาไว้ในครอบครองทั้ง รุ่นแรก และรุ่นที่ 2 การเปลี่ยนมาใช้ X5 G05 รุ่นใหม่ อาจทำให้คุณได้เห็นถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากรุ่นเดิมอย่างมาก แม้ว่าหลายคนอาจจะติดใจในบุคลิกการขับขี่ของ รุ่น 2 ซึ่งถือได้ว่า ให้ความมั่นใจรองรับคนชอบขับรถมากสุดในบรรดา X5 ทั้ง 4 รุ่น ก็ตาม

แต่ถ้าคุณมี X5 รุ่นเดิม (Generation ที่ 3) แล้วเกิดความสงสัยว่า ควรจะ Trade-in ขายคันเก่า เปลี่ยนเป็นคันใหม่หรือไม่ ก็ต้องตอบกันตามตรงว่า หากรถของคุณ ยังมีอายุไม่ถึง 5 ปี โปรแกรมบำรุงรักษา BSI ยังไม่หมดอายุ คุณยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ X5 รุ่นใหม่หรอกครับ เพราะความแตกต่างจากรุ่นเดิม มันอาจดูเยอะ หากมองเฉพาะเรื่อง เทคโนโลยีใหม่ๆที่อัดแน่นเข้ามาให้จนท่วมคันรถ แต่ถ้าในแง่บุคลิกการขับขี่แล้วละก็ รถรุ่นใหม่ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเก่ามากมายจนถึงขั้นต้องรีบจับจองเป็นเจ้าของให้ได้ถึงขนาดนั้น

สำหรับคนที่รอการมาถึงของ X5 ใหม่ อาจต้องบอกว่า ปลายปี 2018 นี้ มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ทันอวดโฉมในงาน Motor Expo และคงต้องรอกันจนถึงช่วง ไตรมาสแรกของปี 2019 เพราะกว่าจะรอเข้าคิวผ่านการอนุมัติผลทดสอบค่าไอเสียกับทางภาครัฐบาลไทย ก็น่าจะนานอยู่  และในช่วงแรก จะยังคงเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน จากโรงงาน Spartanburg สหรัฐอเมริกา

ที่แน่ๆ BMW เล็งว่า จะใช้โรงงานที่จังหวัดระยอง ในประเทศไทย เป็นฐานการประกอบ X5 ใหม่ สำหรับส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศจีน เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทวีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น การส่งสินค้าจากสหรัฐฯ ไปขายในจีนโดยตรง อาจเจอกำแพงภาษีที่โหดร้ายจนทำให้ตัวรถมีราคาแพงขึ้นเกินกว่าผู้บริโภคชาวจีนจะยอมรับ ไทยเราจึงได้รับอานิสงค์ผลพลอยได้จากเหตุนี้ไปด้วย เพราะการนำเข้าชิ้นส่วนจากโรงงานในสหรัฐฯ มาประกอบในประเทศไทย ก็เท่ากับว่า ช่วยลดปัญหาด้านภาษีไปได้เปราะหนึ่ง ดังนั้น X5 ใหม่ จึงมีรุ่นประกอบในประเทศไทยแน่ๆ เพียงแค่ว่า อาจต้องรอกันอีกสักระยะหนึ่ง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019

ถ้าคุณรอได้ ก็น่าจะรอครับ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะมีผลทดสอบของ X5 เวอร์ชันไทย ตามมาให้คุณได้อ่านกันอีกครั้ง

ในรูปแบบของ Short Review!

————————///————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์
คุณ โอภาส นพพรพิทักษ์
BMW Thailand Co.,ltd
เอื้อเฟื้อทริปการเดินทางในครั้งนี้

Pan Paitoopong : สำหรับการเตรียมข้อมูลด้านงานวิศวกรรมช่วงล่าง

————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในต่างประเทศ เป็นของ J!MMY และ BMW AG.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
15 ตุลาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 15 th,2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE