หลังจากที่มีกรณีกลุ่มผู้บริโภครวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และ การชดเชยอย่างเป็นรูปธรรมจาก Ford ประเทศไทย จากกรณีปัญหาการใช้งานรถที่ใช้ระบบส่งกำลังคลัตช์คู่ Dual Clutch PowerShift ของ Ford โดยมีสมาชิกผู้ร่วมยื่นฟ้องจำนวน 308 ราย เป็นระดับ Class Act และ ได้ต่อสู้กันในชั้นศาลยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ในที่สุด เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 21 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาให้มีการจ่ายค่าชดเชยแค่ผู้ยื่นฟ้อง 291 ราย เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 24,700,000 บาท
(ภาพจาก thaipost.net)
โดยก่อนหน้านี้ ตามที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องบริษัทที่เกี่ยวข้อง คือ Ford Motor Company (Thailand), Ford Operations (Thailand), Ford Services (Thailand) และ Ford Sales and Service (Thailand) ต่อมาได้มีการถอนฟ้อง 3 บริษัทแรก เหลือจำเลยเพียง Ford Sales and Service (Thailand) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการประกอบ และ จัดจำหน่ายรถยนต์รุ่นที่มีปัญหา
ในการยื่นฟ้องครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2017 มีสมาชิกเข้าร่วมยื่นฟ้องแบบ Class Act จำนวน 421 ราย ซึ่งศาลได้เปิดโอกาสให้มีการเจรจาจนมีผู้ยินยอมรับข้อเสนอการแก้ไข และ ยกเลิกการยื่นฟ้องไป 113 ราย แต่ยังเหลืออีก 308 รายที่ยืนยันฟ้องต่อ ทำให้ต้องมีการพิจารณาคดีความ จนนำมาซึ่งบทสรุปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
โดยรายละเอียดของคำพิพากษา สามารถสรุปความได้ดังนี้
รถของสมาชิกกลุ่มผู้ยื่นฟ้องที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ประกอบไปด้วย
- Ford Fiesta ที่ใช้เกียร์ PowerShift
- Ford Focus รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ที่ใช้เกียร์ PowerShift
- Ford EcoSport
ประการที่ 1
จากจำนวน 308 รายที่ยื่นฟ้อง มีจำนวน 12 รายที่ศาลไม่สั่งให้ Ford Sales and Service ต้องชดใช้ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ได้ทำการดัดแปลงเครื่องยนต์ไปใช้ระบบ LPG จำนวน 6 คัน และอีก 6 คันไม่ได้นำรถเข้าเปลี่ยนชิ้นส่วนที่มีปัญหาตามที่ Ford กำหนดให้มีการตรวจสอบ/เปลี่ยนชิ้นส่วน
ประการที่ 2
สำหรับการประเด็นการยื่นฟ้องด้วยข้อสังเกตว่ารถของ Ford ที่ใช้เกียร์ PowerShift เป็นสินค้าที่ไม่มีความปลอดภัย และ/หรือ ไม่ได้มาตรฐานนั้น ศาลพิพากษาว่า ด้วยการที่ Ford ผลิต และ จำหน่ายรถยนต์รุ่นที่ใช้เกียร์ดังกล่าวเป็นจำนวนประมาณ 90,000 คันต่อปี แต่จำนวนรถที่มีปัญหานั้นมีแค่ประมาณ 500 คัน ประกอบกับยังไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และส่วนของเกียร์ที่มีความบกพร่องนั้น สามารถซ่อมหรือแก้ไขได้ ดังนั้นศาลจึงไม่มีอำนาจพิพากษาให้ Ford Sales and Service ซื้อรถคืน และ/หรือ สั่งให้เรียกรถทั้งหมดกลับเข้าทำการตรวจสอบ และ/หรือ สั่งยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์รุ่นที่เกี่ยวข้อง
ประการที่ 3
สำหรับการชดเชยลูกค้ากลุ่มที่ยื่นฟ้อง และ ทางศาลได้พิพากษาให้ Ford Sales and Service ดำเนินการชดเชยนั้น จะได้รับการชดเชย
- ค่าเสื่อมราคาของตัวรถเนื่องจากการที่ต้องถูกยกเกียร์ออกมาซ่อม
- ค่าชดเชยจากการที่ผู้ยื่นฟ้องเดือดร้อนจากการไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อม ทำให้สมาชิกผู้ยื่นฟ้องแต่ละราย มีโอกาสได้รับค่าชดเชยดังกล่าว ตั้งแต่ 20,000 ถึงประมาณ 200,000 บาท (โดยขึ้นอยู่กับดีกรีของความเดือดร้อนที่ได้รับ และ คำพิพากษาของศาล) พร้อมทั้งดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ทั้งนี้ ศาลได้สั่งให้ Ford ดำเนินการตามผลการพิพากษา ภายใน 7 วัน พร้อมกันนี้ต้องชำระค่าทนายความฝ่ายโจทก์ 150,000 บาท และ ค่ารางวัลแก่ทนาย 800,000 บาทตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
โดยหลังจากการอ่านคำพิจารณาคดีเสร็จสิ้นลงในช่วงกลางวัน Ford ได้ออกจดหมายไปยังสื่อมวลชน โดยมีข้อความว่า
” ฟอร์ดเคารพต่อคำพิพากษาของศาล ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าระบบเกียร์พาวเวอร์ชิฟท์ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยแต่อย่างใด และคดีนี้ศาลได้พิพากษาโดยพิจารณาปัญหาของลูกค้าแต่ละรายที่มีต่อเกียร์พาวเวอร์ชิฟท์ จากประสบการณ์ลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยคำพิพากษาได้กำหนดกระบวนการแก้ไขปัญหาและยุติข้อพิพาทของลูกค้าซึ่งพิจารณาจากปัญหาของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงฟอร์ดที่ผ่านมา ฟอร์ดต้องขออภัยต่อความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากปัญหาเกียร์พาวเวอร์ชิฟท์ และ ขอย้ำว่าเรามีความมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบ และ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามกระบวนการดูแลลูกค้าของฟอร์ดต่อไป ”
จากการแถลงของ Ford นั้น ทางผู้เขียนไม่สามารถสรุปได้ว่า Ford มีเจตนารมย์ที่แท้จริงอย่างไรเนื่องจากไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่า ” เคารพและจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ” แต่ด้วยการที่ศาลได้สั่งให้ Ford ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วัน อย่างน้อยก็น่าจะมีกลุ่มผู้ใช้บางส่วนยอมรับผลการวินิจฉัย
ทางด้านทนายความจิณณะ แย้มอ่วม และ นายกอปศักดิ์ นุ่มน้อย หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย มองว่าการฟ้องแบบ Class Act ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ และจะมีการเดินหน้าเพื่อผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต สำหรับผลการพิพากษานั้น ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยหลังจากนี้จะมีการจำแนกแยกเอากรณีลูกค้ารายตัว เฉพาะรายที่ยังรู้สึกว่าผลการพิจารณาไม่ยุติธรรมมา และ อาจมีการดำเนินเรื่องอุทรณ์ต่อไป
ก่อนหน้าที่จะมีการพิพากษาคดีความในไทย เคยมีตัวอย่างการฟ้องร้องแบบกลุ่มเช่นนี้ในออสเตรเลีย ” Ford Australia ถูกทางการปรับเงิน 10,000,000 AUD (ราว 238 ล้านบาท) กรณีเกียร์ PowerShift ” (อ่านข่าวได้ที่นี่ >> http://www.headlightmag.com/news-ford-australia-fined-10-million-aud-for-powershift-gear/)
ศาล Federal Court ได้ตัดสินปรับเงิน Ford ออสเตรเลีย เป็นจำนวนเงินดังกล่าว หลังคณะกรรมการเพื่อผู้บริโภคออสเตรเลีย หรือ Australian Competition and Consumer Commission (ACCC) ได้ฟ้องร้องในกรณีที่พบมีผู้ใช้งาน Ford Fiesta, Focus และ EcoSport จำนวนมาก พบปัญหาเกียร์ PowerShift