Mercedes-Benz EQC

เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กันยายน 2018 ที่กรุง Stockholm ประเทศสวีเดน โดยทาง Mercedes-Benz ได้ตั้งจุดมุ่งหมายให้ EQ เป็นแบรนด์ย่อยที่มุ่งนำเสนอแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน (BEV-Battery Electric Vehicle) โดยให้ Crossover SUV อย่าง EQC เป็นรุ่นที่ชิมลางการทำตลาดเป็นรุ่นแรก ก่อนจะตามมาด้วย EQA ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กกว่า และ EQE ซึ่งจะมีขนาดเทียบได้กับ Mercedes-Benz GLE และปิดท้ายด้วย EQS ซึ่งจากตัวอักษรที่ลงท้ายพวกท่านคงเดาได้ว่าพิกัดขนาดตัวจะอยู่ระดับไหน

แม้ว่า PR ของ Mercedes-Benz จะบอกว่า EQ เปรียบได้กับแบรนด์ย่อยของค่าย แต่เวลาเรียกชื่อรถแบบเต็มๆ ก็ยังใช้คำว่า “Mercedes-Benz EQC” อยู่ เช่นเดียวกับ BMW ที่มองรุ่น “i” เป็นแบรนด์ย่อยแต่ก็ยังให้ใช้ชื่อเต็มว่า BMW i3 หรือ i8 รวมถึงยังใช้โลโก้ดาวสามแฉกแบบมาตรฐานบนตัวรถ

ในครั้งนี้ ผม Pan Paitoonpong ได้รับเชิญจากทาง Daimler AG เพื่อร่วมเดินทางไปงานเปิดตัว EQC 400 4MATIC ร่วมกับรุ่นพี่สื่อมวลชนไทยอีก 3 ท่าน พวกเราได้มีโอกาสเป็นสักขีพยานการก้าวเข้าสู่โลกของรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัวของ Mercedes-Benz ในครั้งนี้

แม้จะยังไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการทดลองขับ แต่ก็ได้ภาพจากงานเปิดตัวที่พิพิธภัณฑ์ Artipelag และ Session การบรรยายก่อนหน้านั้นที่ศูนย์ประชุม Nackastrandmassen โดยที่ผมได้คัดย่อรายละเอียดจากการบรรยายมาเพื่อเป็นข้อมูล สำหรับท่านที่ชอบดูภาพ..ดูภาพแล้วเลื่อนๆไปครับไม่ต้องบ่น ถ้าบทความมันจะยาวมันก็ต้องยาว

ในช่วงเปิดตัว จะมีรุ่นย่อยให้เลือกเพียงรุ่นเดียวคือ EQC 400 4MATIC 2 มอเตอร์ 408 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อ Part-time Electric

Dimension & Specification มิติตัวถังและตัวเลขต่างๆ

  • Dimension มิติตัวรถ
    • ยาว x กว้าง x สูง : 4,761 x 1,884 x 1,624 มิลลิเมตร
    • ระยะฐานล้อ wheelbase 2,873 มิลลิเมตร
    • ระยะความกว้างแทร็คล้อหน้า 1,625 หลัง 1,615 มิลลิเมตร
    • น้ำหนักรถ 2,425 กิโลกรัม
  • พลังสูงสุด 408 แรงม้า/765 นิวตันเมตร
  • สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายใน 5.1 วินาที
  • ความเร็วสูงสุด จำกัดด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า 22.2 kWh ต่อ 100 กิโลเมตร
  • ปล่อย CO2 0 กรัม/กิโลเมตร (วัดจากตัวรถ ไม่ได้รวมปัจจัยเรื่อง CO2 จากขั้นตอนการผลิตหรืออื่นๆ)
  • พิสัยทำการ 450 กิโลเมตร*

*หมายเหตุ – การวัดตามมาตรฐาน NEDC – New European Drive Cycle จะแล่นทดสอบเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วเฉลี่ยตลอดการทดสอบอยู่ที่ 34 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่โหดเท่ามาตรฐาน EPA สหรัฐอเมริกา และ WLTP ใหม่ของยุโรป)

Exterior ภายนอก

มีการตกแต่งให้เลือกตามรสนิยม 2 แบบคือ Electric Art (คันสีเงิน) และ AMG Line (คันสีขาว)

Electric Art

อุปกรณ์ภายนอกของรุ่น Electric Art

  • กระจังหน้าแบบ Electric Art
  • กันชนแบบธรรมดา
  • กระจกมองข้างสีดำ
  • ล้ออัลลอยลายมาตรฐาน แถบสีฟ้า ขนาด 20 นิ้ว

AMG Line

อุปกรณ์ภายนอกของ AMG Line ที่เพิ่มเข้ามา

  • กระจังหน้าสปอร์ต AMG Line
  • กันชนแบบ AMG Line
  • กระจกมองข้างเป็นสีเดียวกับตัวรถ
  • ล้ออัลลอยของ AMG Line มีให้เลือกขนาด 20-21 นิ้ว

DESIGN IDEAS

การออกแบบตัวรถของ EQC นั้น เป็นไปตามแนวคิด “Progressive Luxury” ซึ่งเริ่มเห็นกันตั้งแต่สมัยรถ EQ Concept ปี 2016 รวมถึงใน A-Class เจนเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งแนวคิดแบบใหม่จะเลิกใช้เส้นสายด้านข้างที่ดูซับซ้อนเหมือนมัดกล้าม มาเป็นผิววัสดุแบบเรียบๆที่ดูต่อเนื่องกลมกลืนและเรียบง่ายทั้งคัน

ส่วนกระจังหน้านั้น แม้ว่าทางเทคนิคแล้วรถยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องมีกระจังหน้าใหญ่โตเพื่อเอาลมเป่าหม้อน้ำใบโต ผู้ออกแบบ EQC ก็ลงความเห็นว่าอย่างไรเสีย รถก็ยังต้องมีกระจังเพื่อให้ดูแล้วมีเอกลักษณ์ของ Mercedes-Benz หลงเหลืออยู่ แถบสีน้ำเงินตัดกับวัสดุแบบสีดำเงาที่ด้านหน้าจะเป็นเอกลักษณ์ประจำของ EQ Brand ต่อจากนี้ไป

นอกจากนี้สาเหตุที่ EQC ยังไม่ดูล้ำอนาคตมากนัก เพราะผู้ออกแบบต้องการอนุรักษ์สัดส่วนหน้า/กลาง/หลังที่เหมาะสมเอาไว้ โดยนำเส้นสายของ GLC กับ GLC Coupe บวกกับความพยายามที่จะผสานแนวคิด ดิจิตอลผสมอนาล็อก ที่ดูแล้วคุ้น ง่ายต่อการมองแต่เอารายละเอียดที่ดูเป็นรถอนาคตไปซ่อนไว้ตามซอกหลืบต่างๆ เช่นเส้นไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงที่ด้านหน้า ลักษณะการจัดวางดวงไฟหน้า Multibeam LED เป็นต้น

EQC ไม่มีแร็คหลังคา เพราะต้องการให้เส้นสายของรถดู “Clean” กว่า SUV รุ่นอื่นๆของค่าย


Interior ภายใน

แบ่งการตกแต่งตามธีม Electric Art และ AMG Line เช่นเดียวกับภายนอก

Electric Art

ลักษณะเฉพาะของภายในรุ่น Electric Art (รายละเอียดยึดตามรถที่โชว์ – เปลี่ยนได้ตามคำสั่งและเงินของลูกค้า)

  • พวงมาลัยหุ้มหนังแบบสปอร์ต ทรงกลม
  • เบาะนั่งแบบหนัง หรือเลือกสั่งหนังสลับผ้า/Alcantara
  • แป้นเหยียบแบบธรรมดา
  • ผ้าบุหลังคาสีเทา
  • ชุดหน้าปัด MBUX จอเชื่อม 2 จอ ขนาดจอละ 10.25 นิ้ว
  • เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า พร้อม Memory 3 ตำแหน่งทั้ง 2 ฝั่ง
  • เครื่องเสียง + ลำโพง Burmester

AMG Line

ลักษณะเฉพาะของภายในรุ่น AMG Line (รายละเอียดยึดตามรถที่โชว์ – เปลี่ยนได้ตามคำสั่งและเงินของลูกค้า)

  • พวงมาลัยหุ้มหนังแบบสปอร์ต ทรงท้ายตัด
  • เบาะนั่งแบบหนัง Artico เย็บลายข้าวหลามตัด AMG Line หรือเลือกสั่งหนังสลับผ้า/Alcantara
  • แป้นเหยียบแบบสปอร์ต ทำจากสแตนเลส
  • ผ้าบุหลังคาสีดำ
  • ชุดหน้าปัด MBUX จอเชื่อม 2 จอ ขนาดจอละ 10.25 นิ้ว
  • เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า พร้อม Memory 3 ตำแหน่งทั้ง 2 ฝั่ง
  • เครื่องเสียง + ลำโพง Burmester

DESIGN IDEAS

แนวคิด Progressive Luxury ยังถูกถ่ายทอดมาถึงข้างในรถ โดยที่หน้าตาของสวิตช์ต่างๆยังดูเป็น Mercedes-Benz ทุกกระเบียดนิ้ว แต่เปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนให้ล้ำยุคแบบหลบๆซ่อนๆไม่โฉ่งฉ่าง คนออกแบบได้ลองทำแบบสอบถามวิจัยและพบว่า แม้ทัชสกรีนจะเป็นสิ่งที่ทุกคนบอกว่า “ชอบและอยากได้” แต่ลูกค้าที่ใช้เบนซ์จริงๆส่วนมากบอกว่า “ขอให้เหลือสวิตช์ให้กดให้แตะบ้างดีกว่า”

ช่องแอร์บนแดชบอร์ด ที่อาจจะดูไกลๆแล้วเป็นเหลี่ยมธรรมดาแต่ออกแบบซี่ตะแกรงให้คล้ายแผงวงจรไฟฟ้า ฝาโครเมียมครอบลำโพง Burmester ย้ายไปอยู่ตรงมุมกระจก แล้วตีวัสดุตรงจุดเดิมให้เป็นเหมือนลำโพงวิทยุ Retro ซึ่งจะเด้นเส้นเป็นตะแกรงไปรับกับแผงแดชบอร์ด ที่ต่างจากเบนซ์รุ่นอื่น แต่เหมือนกันแค่ชุดจอหน้าปัดกับจอกลาง และสวิตช์ต่างๆ

Touchpad ที่คอนโซลกลาง ออกแบบใหม่ เปลี่ยนจากวัสดุดำเงาที่เป็นรอยนิ้วง่าย เป็นวัสดุสีทำด้านคล้ายผิวของคอมพิวเตอร์ Laptop มีพื้นสัมผัสเรียบและขยายขนาดให้โต ใช้งานได้สะดวกขึ้น หน้าปัดต่อเป็นแนวยาวกับจอกลาง จอทั้งคู่มีขนาด 10.25 นิ้ว

 

EQC ไม่มีที่นั่งแถวที่สาม เนื่องจากต้องเผื่อที่ไว้สำหรับโมดูลแบตเตอรี่และระบบระบายความร้อน, มอเตอร์ และปลั๊ก แต่กระนั้น มันยังมีความจุได้ถึงประมาณ 500 ลิตร ซึ่งถือว่าใหญ่พอตัวสำหรับรถประเภทนี้

 


Interface/Application ระบบจัดการรถและแอพพลิเคชั่น

  • ระบบปฏิบัติการ MBUX แบบใหม่ บนหน้าปัดและจอกลาง ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ EQ ที่ไม่เหมือนรถสันดาปภายในปกติของค่าย
  • มีระบบสื่อสารเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟน โดยผ่าน Mercedes ME App ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะของรถ ไฟในแบตเตอรี่ที่เหลือ และระยะทางที่สามารถวิ่งได้
  • มีระบบสั่งการด้วยเสียง Linguatronic เวอร์ชั่นใหม่ที่สามารถรับฟังคำสั่งที่เป็นภาษามนุษย์พูดทั่วไปได้มากขึ้น โดยเริ่มนำประโยคก่อนว่า “Hey Mercedes” จากนั้นก็ตามด้วยชุดคำสั่ง เช่น “Charge my car to 80%”, “Have a battery fully charge before 8.00AM”, “I am HOT”, “I feel cold”, “Where’s next charging station?” ไม่นับคำสั่งง่ายๆเช่นค้นหาสถานที่ต่างๆหรือเปิดเล่นเพลงซึ่งระบบปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว
  • มีระบบปรับอุณหภูมิภายในรถให้พร้อมก่อนออกเดินทาง (Pre-climatization) สั่งการที่จอกลาง หรือผ่านสมาร์ทโฟนโดยแอพพลิเคชั่น Mercedes ME
  • Rescue Assist App เป็นแอพพลิเคชั่นที่เบนซ์ทำขึ้นมาเพื่อป่อเต๊กตึ๊งยุโรปใช้กัน โดยเมื่อมีรถ EQ เกิดอุบัติเหตุ คณะกู้ภัยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นนี้เพื่อสำรวจว่าจะต้องตัดเสารถตรงจุดไหน หรือจะต้องกดหรือตัดระบบไฟฟ้าที่จุดไหนบ้างเพื่อที่จะเอาคนในรถออกมาได้อย่างปลอดภัย (ระบบไฟฟ้ามีตัวตัดการทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุอัตโนมัติ แต่มีระบบ Backup ในกรณีที่ตัวตัดอัตโนมัติบกพร่องไว้เผื่อ)

 


Drivetrain & Charging ระบบขับเคลื่อนและการชาร์จไฟ

EQC ใช้พลังขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า Asynchronous motors  2 ตัว (หน้า 1 และหลัง 1 ตัว) หมุนได้เร็วสูงสุด 13,000 รอบต่อนาทีโดยมอเตอร์ตัวหน้าจะทำงานเป็นตัวหลัก ถูกจูนมาให้เน้นการทำงานในช่วงการขับแบบปกติหรือปานกลาง ส่วนมอเตอร์ตัวหลังจะถูกปรับจูนมาโดยเน้นสมรรถนะ จะทำงานเมื่อจำเป็นต้องใช้ เมื่อต้องการใช้พละกำลังในการแก้อาการของระบบช่วยเหลือด้านการทรงตัว หรือเมื่อเริ่มกดคันเร่งหนัก กลายเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Electric 4 MATIC ที่ไม่มีเพลากลาง

พละกำลังสูงสุดเมื่อมอเตอร์ทั้งสองทำงานพร้อมกัน จะได้เท่ากับ 300kW (408 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 765 นิวตันเมตร ส่วนการปรับกำลังขับกระจายระหว่างหน้ากับหลังนั้น จะขึ้นอยู่กับระบบคอมพิวเตอร์ Intelligent Torque Distribution ซึ่งถูกปรับจูนมาให้มีคาแร็คเตอร์เป็นกลางแบบรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่เกาะถนนและปลอดภัย

ส่วนแบตเตอรี่ Lithium-Ion ความจุ 80kWh สร้างโดยบริษัทลูกของ Daimler AG ชื่อ ACCUMOTIVE โดยในชุดแบตเตอรี่จะประกอบด้วยโมดูลแบตเตอรี่ (ก้อนสี่เหลี่ยมสีเงิน) 6 โมดูล ในแต่ละโมดูลก็จะมี Battery Cell (ดูเหมือนซองเล็กๆสีเงิน) อยู่ โดยจะมี 2  โมดูลที่จุ 48 เซลล์ และอีก 4 โมดูลบรรจุ 72 เซลล์ เมื่อรวมกันหมดจะมี Cell 384 ซองในแบตเตอรี่ทั้งชุด

ตัวแบตเตอรี่ระบายความร้อนด้วยของเหลว มีระบบควบคุมอุณหภูมิให้ร้อน/เย็นเพื่อให้ได้สถานภาพที่ส่งพลังไฟได้ดีที่สุด

  • Maximum voltage = 408V
  • ชาร์จไฟฟ้า AC charging แบบปกติ 7.4 kW
  • ชาร์จไฟฟ้าผ่าน Wallbox DC Charging up to 110 kW จาก 10 – 80% ภายใน 40 นาที
  • หัวชาร์จไฟฟ้าเป็นแบบ Combined Charging System – CCS และสามารถรองรับหัวชาร์จแบบ Type II ของยุโรปได้
  • ในรถสเป็คญี่ปุ่นจะใช้หัวชาร์จแบบ CHAdeMO
  • ตัวแบตเตอรี่หนัก 650 กิโลกรัม

Drive Mode (Dynamic Select)

ผู้ขับสามารถเลือกโหมดการตอบสนองของรถได้ 5 แบบ คล้ายมากกับ Mercedes-Benz รุ่นปกติ

  • COMFORT – คันเร่งสุภาพ นุ่มนวล ช่วงล่างเอาสบาย พวงมาลัยเบามือ
  • ECO – เน้นความประหยัดไฟฟ้า และขับขี่แบบปกติ ควบคุมระบบปรับอากาศให้ใช้พลังอย่างเหมาะสม
  • MAX RANGE – เป็นพ่อของ ECO MODE สำหรับกรณีต้องการหนีเมียให้สุดขอบฟ้าโดยไม่ชาร์จไฟ
  • SPORT – ปรับการทำงานของช่วงล่างให้แข็งขึ้น พวงมาลัยหน่วงมือขึ้น คันเร่งดุดันขึ้น
  • INDIVIDUAL – เลือกปรับแยกการทำงานของคันเร่ง/พวงมาลัย/ช่วงล่าง ตามใจชอบ เช่นอยากได้พวงมาลัยหนัก ช่วงล่างเฟิร์ม แต่คันเร่งสุภาพ ก็ทำได้

ในโหมด ECO กับ MAX RANGE รถจะเปิดโหมดคันเร่งแบบ Haptic Pedal ซึ่งจะคันเร่งช่วงแรกจะเบาและเข้าช่วงกลางจะหนืดฝืนเท้า เพื่อช่วยให้ผู้ขับสามารถรู้ได้ว่า “ถ้ากดคันเร่งมากกว่านี้ จะเปลืองพลังงานนะ”

Recuperation Mode (โหมดปรับความหน่วงของคันเร่ง)

คนขับสามารถใช้แป้น Paddle shift หลังพวงมาลัย ในการควบคุมระบบ Energy Recuperation (ระบบหน่วงการเคลื่อนที่ของรถที่แปลงแรงหน่วงเป็นพลังงานไฟฟ้ากลับไปป้อนให้รถ) ซึ่งสามารถปรับได้ 5 แบบ

  • D Auto คือให้รถเลือกโหมดให้เองตามสถานการณ์การขับ
  • D + คือ แรงหน่วงน้อย ใส่เกียร์ D ไม่ต้องกดคันเร่งรถจะออกตัวได้ ถอนคันเร่งแล้วรถจะไหลต่อได้ไกลกว่าปกติ
  • D คือ เพิ่มแรงหน่วงระดับปกติ ใส่เกียร์ D ปล่อยเบรกรถออกตัวได้ ถอนคันเร่งชะลอลง จูนเหมือนรถสันดาปภายในปกติ
  • D – คือเพิ่มแรงหน่วง ต้องกดคันเร่งช่วยตอนออกตัวมากขึ้น ถอนคันเร่งหมดรถตื้อลง แต่ได้พลังงานชาร์จกลับมากขึ้น
  • D – – (เครื่องหมายลบ 2 อัน) คือหน่วงแบบสุดๆ ตอนออกตัวถ้าไม่กดคันเร่ง รถจะไม่เขยื้อน และถ้าขับแล้วถอนคันเร่ง รถจะหน่วงเหมือนกดเบรกประมาณ 30-50% หรือพูดง่ายๆก็คือถ้าขับในเมือง มันจะเป็นการขับแบบใช้แป้นเดียวเหมือนโปรแกรม e-Pedal ของ Nissan LEAF แต่วิธีนี้จะได้ไฟฟ้าชาร์จกลับแบตเร็วมากที่สุด

Engineering รายละเอียดทางวิศวกรรม

โครงสร้างตัวถังของ EQC นั้น เนื่องจากต้องเน้นมาตรฐานความปลอดภัย ที่ว่างตรงที่เคยเป็นจุดสำหรับติดตั้งเกียร์ จึงต้องมีคานเสริม (ในภาพ – คานสีน้ำเงิน) ลักษณะคล้ายท่อสเปซเฟรม ซึ่งมีหน้าที่ช่วยรับและซับแรงกระแทกในการชนจากด้านหน้า (ซึ่งในรถสันดาปภายใน เกียร์ และแท่นเกียร์ทำหน้าที่ช่วยซับแรงกระแทกได้ส่วนหนึ่งด้วย)

เพื่อลดเสียงและความสั่นสะเทือนจากการทำงาน มอเตอร์ขับเคลื่อนของ EQC จะถูกติดตั้งลงบนยางแท่นมอเตอร์ 2 ลูกแล้วนำไปยึดเข้ากับซับเฟรม ก่อนที่จะติดตั้งซับเฟรมนั้นเข้ากับรถอีกที

ช่วงล่างของ EQC นั้น ด้านหน้าแบบดับเบิลวิชโบน คอยล์สปริงและโช้คอัพไฟฟ้า ด้านหลังแบบมัลติลิงค์ ถุงลม และ โช้คอัพไฟฟ้า

การปรับเซ็ตช่วงล่างของ EQC นั้น มาในแนวเน้นการขับขี่ที่สนุกและมั่นใจ โดยอาศัยประโยชน์จากการมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำเพราะแบตเตอรี่ไปอยู่ที่พื้น ทำให้ไม่ต้องเซ็ตโช้คให้แข็งเกินเหตุก็สามารถควบคุมอาการโย้ของตัวรถได้ ยังผลให้เกิดความมั่นคงเวลาหักเลี้ยวแรงๆ และในขณะเดียวกันก็ให้ความสบายพอสำหรับการขับบนถนนที่ขรุขระ เช่นทางลูกรังได้สบาย ทั้งนี้ แม้จะเป็น Crossover SUV แต่ระยะห่างระหว่างจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นก็ไม่ได้สูงมากนัก Mercedes-Benz มองว่าคนที่ใช้รถแบบนี้ ขนาดตอนเป็น GLC เครื่องสันดาปภายในยังไม่ค่อยมีใครเอาไปลุยหนักๆ ดังนั้น EQC ก็ไม่ได้ทำมาเพื่อการลุยออฟโรดแบบพวก Land Rover Defender


Safety & Assist ระบบความปลอดภัย และ ช่วยเหลือการขับขี่

  • การที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ระบบช่วยเหลือการทรงตัว (ESP) สามารถตอบสนองได้ไวกว่ารถสันดาปภายในของเบนซ์รุ่นอื่นถึง 4 เท่าตัว เนื่องจากไม่ต้องสั่งการผ่านกลไกหรือระบบไฮดรอลิกใดๆ
  • นอกจากระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานแล้ว EQC ยังมีระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ Active Distance Assist DISTRONIC เวอร์ชั่นใหม่ที่เพิ่มซอฟท์แวร์ปรับปรุงลักษณะการชะลอความเร็วเมื่อรถแล่นมาด้วยความเร็วสูงแล้วมีท้ายแถวรถติดอยู่ข้างหน้า
  • ระบบจะลดความเร็วลงเหลือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพยายามเบี่ยงรถไปชิดด้านใดด้านหนึ่งของเส้นแบ่งเลน เผื่อกรณีมีรถฉุกเฉินต้องผ่าน
  • ในกรณีที่รถหยุด หากไม่เกิน 30 วินาที ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติจะสั่งการให้รถเดินหน้าต่อเองได้
  • แบตเตอรี่มีความแข็งแรง และติดตั้งอยู่ระหว่างวัสดุซับแรงกระแทกที่บริเวณตรงกลางรถ พร้อมระบบ Auto Shutdown ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และมีสวิตช์ตัดไฟแบบ Manual เป็นมาตรการสำรองถ้าระบบอัตโนมัติไม่ทำงาน

 

ความเห็นหลังสัมผัสตัวจริง (ยังไม่ได้ขับ) by Pan Paitoonpong

นับเป็นก้าวใหม่สำหรับ Mercedes-Benz ในการเข้าสู่โลกของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วน

ถ้าเอาด้านหน้าและท้ายของ GLC ตัวธรรมดามา Photoshop ใส่ คุณก็จะได้ Crossover SUV ที่ดูธรรมดา ส่วนที่แปลกจริงคือด้านหน้าของรถที่ไม่เหมือนเบนซ์รุ่นอื่นๆ และด้านท้ายรถที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าเหมือน Porsche Cayenne มากไป..ไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อน แต่ Porsche ทำขายก่อนนี่สิ แต่ถ้าคุณไม่มองว่า เกิดเป็นรถไฟฟ้าต้องล้ำยุคกว่ารถปกติ สิ่งที่ดีก็คือสัดส่วนทรวดทรงของ EQC นั้น เมื่อมองด้านข้างแล้วลงตัวพอดี สปอร์ตกว่า GLC ธรรมดา แต่ไม่ดูค่อมพิกลพิการแบบ GLC Coupe

ผมรู้สึกดีกับภายในของ EQC400 4 MATIC เพราะดูแล้วเหมือน Mercedes-Benz ในไลน์อัพปกติ นั่นคือคำชม เพราะเบนซ์สมัยใหม่ก็ขึ้นชื่อว่าทำภายในมาได้ดีมาก ชอบการออกแบบซี่ลำโพงตรงประตูหน้า การเลือกใช้วัสดุสีเงินกับสีดำเงาได้ลงตัว มีแสงสีให้บรรยากาศสวยงาม ช่องแอร์เหลี่ยม ดูในภาพแล้วไม่สวยแต่ของจริงเป็นสี Gold rose ดูแปลกเก๋ไก๋ ชอบความคิดที่ยังทำรถให้มีสวิตช์แบบกดแล้วดังแก๊ก ไม่ใช่ Touch Capacitive Switch หน้าเรียบๆหรือ Touch Screen ไปเสียทุกส่วนจนกลายเป็นคลำหาหรือใช้ยาก เบาะหน้า นั่งสบายและตำแหน่งการขับใกล้เคียง GLC ส่วนเบาะหลังนั้นเสียพื้นที่เหนือศีรษะไปบ้างเพราะความลาดของหลังคา

ราคาจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของรถคันนี้ ถ้าหากสามารถนำเข้ามาขายในไทย แล้วทำราคาไม่ให้แพงเท่า Tesla Model X ได้ ก็จะมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนที่ชอบรถทรงคล้ายปกติ วิธีหนึ่งที่จะทำราคาได้คือลดประสิทธิภาพลงให้อยู่ในระดับที่พอดีต่อการใช้งาน คุณอาจไม่ต้องการ 0-100 5 วินาที ผู้คนอาจไม่ได้ต้องการระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ดังนั้นถ้าใช้บอดี้รถทรงนี้ อุปกรณ์แบบนี้ ใช้มอเตอร์ที่พอสำหรับ 0-100 ในราว 8 วินาที ตัดมอเตอร์ออกชุดหนึ่ง (เหมือนจะให้ทำ EQC250) โอกาสที่จะขายได้ย่อมมีสูงขึ้น

แม้ประเทศไทยจะยังไม่พร้อมสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มพิกัด แต่เราก็ควรที่จะมีตัวตายตัวแทนไม่ว่าจะจากค่ายไหน เข้ามาเริ่มปลูกต้นกล้าในตลาดนี้เสียที การวัดความสัมฤทธิ์ผลของเทคโนโลยี ต้องการกลุ่มคนที่จะเปิดโอกาสรับเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในชีวิตจริง ให้ได้ข้อมูล ให้เกิดคำถาม ไม่เช่นนั้นสังคมการขับเคลื่อนเราก็จะไม่ก้าวไปไหน เช่นเดียวกับเมื่อกว่าศตวรรษก่อน หากเรามัวกลัวว่ารถยนต์สันดาปภายในจะสร้างมลภาวะมากกว่าขี้ม้า แล้วก็ไม่มีคนเจอปัญหาจริงแล้วพยายามแก้ไขเรื่องมลภาวะ ป่านนี้เราจะไม่มี “ทางเลือก” มีแต่ “ทางตัน”

ผมไม่ได้ชอบรถพลังไฟฟ้า ผมชอบเสียงเครื่องสันดาปภายในมากกว่า แต่ยิ่งคนขยับไปหาเทคโนโลยีไฟฟ้ามากขึ้น ผมมองว่าก็ดีนะ มันเหลือน้ำมันให้ผมเติมมากขึ้น และกว่าประเทศไทยจะไม่มีน้ำมันขาย ถึงเวลานั้นผมน่าจะตายไปแล้ว

 

 

 



 

ขอขอบพระคุณ บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) , Mercedes-Benz (Sweden) และ Daimler AG

สำหรับการประสานงาน และ เชิญเข้าร่วมงานเปิดตัว