หลังจากที่รีวิว MG 6 ของเราออกสู่สายตาคุณผู้อ่าน Headlightmag.com
ไปเมื่อช่วง เดือนสิงหาคม 2014 สารพัดเสียงตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
จากคุณผู้อ่าน หลั่งไหลเข้ามา ในรูปแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไหร่
ส่วนใหญ่ มาพร้อมคำถามที่ว่า ทำไมมันช่างมีบุคลิกครบถ้วนของการเป็น
รถยนต์ที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องเอาเสียเลย “เครื่องก็อืด คันเร่งก็เพลีย เกียร์ก็ห่วย”
เปิดตลาดเมืองไทยมาครั้งแรก ก็โดนรับน้องไปหนักอยู่ นอกจากศูนย์บริการ
จะทะยอยเปิดล่าช้ากว่ากำหนดไปพักใหญ่แล้ว เจอรีวิวจาก J!MMY เข้าไป
ได้ยินว่าถึงกับตื่นระเบิดลงกันไปทั้งบริษัท เห็นว่ารีบนำ MG 6 ไปปรับปรุง
เรื่องการตอบสนองของคันเร่ง เกียร์ และ สวิตช์ติดเครื่องยนต์กันแล้ว
แต่…MG ยังไม่ยอมแพ้ครับ ด้วยสายเลือดนักสู้แดนมังกร พวกเขาฮึดสู้อีกครั้ง!
ตามแผนการเดิมที่วางกันไว้
(กรุณานึกภาพ บรูซ ลี ใส่เสื้อยืดสีแดง แปะโลโก้ MG สีขาว ตั้งท่าพร้อมรบ!)
ถ้าใครได้ไปเดินเล่นดูรถชมพริตตี้ ในงาน Motor Expo เมื่อเดือนพฤศจิกายน
2014 ที่ผ่านมา น่าจะต้องเคยเห็น รถยนต์ท้ายตัดคันกระทัดรัดทั้ง 2 คันนี้มาก่อน
อย่างแน่นอน
ใช่ครับ MG 3 รวมทั้งหมด 3 คัน ถูกนำไปจอดอวดโฉมอยู่บนพื้นที่บูธของ MG
อันสุดแสนจะโปร่งโล่งโจ้งนั้นเอง เป็นการประกาศอย่างอ้อมๆ ให้เมืองไทยรู้ว่า
ไม่นานแล้วพี่จะมา จะไปซบหน้ากับอกลูกค้าเอย….
เวลาผ่านมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ผู้บริหาร MG บอกว่า พร้อมแล้วที่จะให้เรา
ได้ลองสัมผัส กับ เวอร์ชันก่อนการผลิตจริง หรือที่เรียกว่า Pre-Production
ของ MG 3 น้องเล็กรุ่นใหม่ จากตระกูล MG กันเสียที
และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้วันนี้ ผม ต้องมาที่สนาม BRC หลังห้างสรรพสินค้า
Seacon Square ซึ่งแต่เดิม เป็นสนามแข่งรถ Go-Kart แต่ในวันนี้ ถูกปรับ
สภาพให้เป็นพื้นถนนเรียบๆ เพื่อรองรับพ่อค้าแม่ค้า ที่มาเปิดท้ายขายของกัน
จนกลายเป็นตลาดนัดแห่งใหม่ ย่านบางนา – ศรีนครินทร์ เย็นวันเกิดเว็บปีนี้
ตั้งแต่เราเข้าไปใช้สนามแห่งนี้ จัดกิจกรรมลองขับรถยนต์ Skoda ให้กับคุณผู้อ่าน
เมื่อช่วงวันเกิดเว็บ เมื่อหลายปีก่อน ในฐานะ งานกิจกรรม งานสุดท้ายที่ได้ใช้
สนาม BRC ในรูปแบบเดิม วันนี้ ผมกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อจะมาลองขับผลผลิต
ใหม่ของ MG-SAIC ที่หมายจะเปิดศึกรถยนต์นั่งขนาดเล็ก B-Segment ในไทย
เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ให้กับใครก็ตามที่เบื่อรถญี่ปุ่น และอยากลองของใหม่ ที่
ออกจะแปลกตาแปลกหูไปสักหน่อย….
ด้วยเวลาในการลองขับที่มีอยู่จำกัดมากๆ ดังนั้น การถ่ายภาพเอง จึงทำได้แค่
บางรูปเท่านั้น ที่เหลือ ผมจำต้องยอมใช้รูปภายนอกรถบางส่วนจากทาง PR
ของ MG ที่จัดเตรียมไว้ให้เราเรียบร้อย เพื่อความรวดเร็วในการทำบทความนี้
ออกมาให้คุณๆได้อ่านกัน
บทความที่ จะบอกคุณได้ในเบื้องต้นว่า ควรไปลองขับ MG 3 กันสักหน่อยหรือไม่?
MG 3 เผยโฉมครั้งแรก ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ MG Zero Concept ณ งาน
Beijing Auto Show ปี 2010 ภายใต้การพัฒนาของทีมวิศวกร MG ที่อังกฤษ
เวอร์ชันจำหน่ายจริง เริ่มออกขายในประเทศจีน ช่วงปีฤดูไบไม้ผลิ ปี 2011
ก่อนจะเริ่มผลิตออกขายในสหราชอาณาจักร ช่วงปี 2013 มานี้เอง
MG 3 ถือเป็นผลผลิต รุ่นที่ 2 นับตั้งแต่ SAIC ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของ จีน
เข้าซื้อกิจการ ในรูปลักษณ์ของ รถยนต์นั่งแบบ Sub-Compact Hatchback
พิกัดเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี ที่หมายจะ เข้ามาท้ารบกับบรรดาคู่แข่งจากทั้งญี่ปุ่น
และอเมริกัน
MG 3 จะถูกประกอบในประเทศไทย ณ โรงงานที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช
เพื่อจำหน่ายในบ้านเรา โดยมีให้เลือกทั้งรุ่น Hatchback สำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป
เน้นหนักไปที่วัยรุ่น วัยทำงาน หรือ First Jobber ที่คิดจะซื้อรถยนต์เป็นคันแรก
มักใช้ชีวิตเป็นคนโสด มีปาร์ตีสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนเรื่อยๆ
ขณะที่ MG 3 Cross จะพุ่งเป้าไปทีลูกค้าในกลุ่มครอบครัว ซื้อทดแทนรถยนต์
คันเก่า หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นกลุ่มผู้หญิง ซึ่งต้องการรถยนต์คันเล็ก ไว้ขับใช้งาน
ในเมือง ออกต่างจังหวัด เช่นไปหัวหิน ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนชอบทำกิจกรรม
ยามว่างมากมายตั้งแต่ออกกำลังกาย ขี่จักยาน หรือปลูกต้นไม้ในสวนหลังบ้าน
ถ้าเทียบกันแล้ว คู่แข่งที่ตรงพิกัดมากสุด สำหรับรุ่น Hatchback คือ Mazda 2
Ford Fiesta และ Chevrolet Sonic แต่ถ้าจะเหมารวมกลุ่ม ECO Car 1,200 ซีซี
เข้ามาด้วย (อย่างไม่ค่อยตรงกลุ่มนัก) ก็ต้องรวม Nissan March , Suzuki Swift
Mitsubishi Mirage , Toyota Yaris และ Honda Brio 5 ประตูเข้าไปด้วย
ส่วน MG 3 Cross นั้น คู่แข่งโดยตรง ตอบได้เลยว่า ไม่มี เพียงแต่ว่าถ้าจะต้อง
เทียบให้ใกล้เคียงที่สุด เห็นจะได้แก่ Ford EcoSport และ Nissan Juke เท่านั้น
ตัวรถมีความยาว 4,018 มิลลิเมตร กว้าง 1,729 มิลลิเมตร ถือว่ากว้างกว่าบรรดารถยนต์
ในกลุ่ม B-Segment เกือบทุกคันในตลาด (แต่ถ้ารวมกระจกมองข้างด้วยแล้ว ตัวรถจะ
มีความกว้างอยู่ที่ 1,912 มิลลิเมตร) ความสูง 1,507 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,520
มิลลิเมตร ทั้งหมดนี้ เป็นตัวเลขของรุ่น Hatchback
เส้นสายภายนอก บอกเลยว่า เรียบๆ ง่ายๆ สิ่งที่เป็นจุดเด่นด้านงานออกแบบของ
MG 3 คือชุดไฟท้าย และแผงประตูห้องเก็บของด้านหลัง ซึ่งออกแบบมาเข้าท่า
ดูดี แต่แอบคล้าย บั้นท้ายของ รถยนต์ Fiat บางรุ่น ในช่วง 5 ปีมานี้เหมือนกัน
รวมทั้ง การทาสีดำ บรเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar คล้ายกับรถยนต์แนวสปอร์ต
อย่าง Lancia Stratos ,Mazda Savanna RX-7 รุ่นแรก Suzuki Swift
รุ่นปัจจุบัน ชุดไฟหน้า มีสัญลักษณ์ MG อยู่ด้านในโคม และมีไฟ DRL เกือบทุกรุ่น!
การออกแบบให้ตำแหน่งติดตั้งกระจกมองข้าง อยู่บนแผงประตู ทำให้ต้องทำ
กระจก Opera สามเหลี่ยม หูช้าง เพิ่มขึ้นมา ซึ่งมันทำให้ตัวรถแอบดูโบราณ
ขึ้นนิดนึง แต่ช่วยไม่ได้ครับ เทรนด์นี้ มีมาตั้งนานแล้ว และมันยังพอจะดู
กลมกลืนเข้ากับภาพรวมของรถในรุ่น Cross ไปได้บ้าง
สีที่ใช้ในการโปรโมท คือ ทั้ง 2 สีที่คุณเห็นอยู่ รุ่น Hatchback จะเป็นสีเหลืองดำ
แบบ Two-Tone ขอย้ำว่า ไม่ใช่การเอาสติกเกอร์มา Wrap หลังคานะครับ แต่เป็น
การพ่น “สีจริงๆ” เท่ากับว่า ต้องมีกรรมวิธีในการพ่นสีเป็นพิเศษอีกขั้นหนึ่ง
ส่วนรุ่น Cross จะเป็น สีขาว มาพร้อมออพชันจัดเต็ม เสริมความทะมัดทะแมง
ออกแนว คุณแม่บ้านลุยสวน…เสริมเปลือกกันชนหน้า กาบข้าง และเปลือก
กันชนท้าย ออกแบบขึ้นใหม่เป็นพิเศษเฉพาะรุ่น แถม Rack บนหลังคา ไว้
บรรทุกจักรยาน ไปขี่เล่นรอบสนามบินสุวรรณภูมิได้อีกด้วย
ล้ออัลลอย ในรุ่น Cross เป็นขนาด 16 นิ้ว สวมยาง Maxxis ขนาด 195/55 R16
ส่วนรุ่น Hatchback นั้นเป็นล้อ 15 นิ้ว สวมยาง Maxxis เช่นกัน ขนาด 185/60 R15
การเข้า – ออกจาก เบาะคนขับ ทำได้ดีพอกันกับรถยนต์ในพิกัดเดียวกัน แต่อาจต้อง
ก้มหัวนิดๆ หากคุณมีหัวกบาลโตเป็นลูกแตงโม เพื่อลดโอกาสที่ศีรษะจะไปโขกกับ
ขอบหลังคา
ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หน้า พอกันกับ Honda City รุ่นก่อน คือ วางแขนได้
แต่วางข้อศอกยังแค่เกือบจะพอดี ขณะที่ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง จะวาง
ได้พอดีเป๊ะเลย
เบาะนั่งของรุ่น Hatchback หากเป็นรุ่น Top จะเป็นเบาะหนังสีดำ อย่างที่เห็น แต่
ถ้าเป็นรุ่นกลาง และรุ่นพื้นฐาน จะเป็นเบาะผ้าสีดำ ส่วนรุ่น Cross นั้น รุ่น Top จะ
หุ้มด้วยหนัง ตัดสลับสีของนม UHT หนองโพ รสกาแฟ อย่างที่เห็นในรูปนี้
เบาะนั่ง มีพนักพิงหลังที่ชวนให้นึกถึง MG 6 อยู่นิดหน่อย มันโอบรับสรีระของ
ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าเอาไว้จนกระชับตามแนวรูปตัว U คว่ำ คล้าย MG 6
แต่ แผ่นหลังจะแนบสนิทกับพนักพิงได้สบายกว่า
เบาะรองนั่ง ของทั้ง 2 รุ่น มและนั่งสบาย ราวกับเบาะรองนั่งของโซฟา พนักศีรษะ
อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ไม่ดันกบาล เหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จากอีกหลายยี่ห้อใน
ช่วง 2 ปีมานี้ ยิ่งพื้นที่เหนือศีรษะ ยิ่งหายห่วง โปร่งกว่าที่คิดไว้พอสมควร
ส่วนการลุกเข้า – ออกจากบานประตู คู่หลัง แม้จะทำได้สะดวกดีกว่าบรรดา
คู่แข่งอย่าง Ford Fiesta แน่นอน แต่ถ้าเทียบความกว้างของช่องทางเข้าแล้ว
Toyota Yaris น่าจะยังกว้างสุดในกลุ่มอยู่ดี กระนั้น ขอแค่ว่า คนหุ่นหมี
อย่างผม ลุกเข้า – ออกจากรถได้สบาย โดยไม่บ่น นั่นก็เพียงพอแล้ว
เบาะนั่งแถวหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของ
ด้านหลัง ตัวพนักพิงหลัง ติดตั้งเอนตัวค่อนข้างมาก พอกันกับ Honda City รุ่นปี
2008 – 2014 ที่ปรับเบาะหลังเอนลงสุด ดังนั้น ผู้โดยสารจะพิงหลังได้สบาย
เว้นเสียแต่ว่า คุณอาจโดนพนักศีรษะซึ่งแม้จะมีการรองรับที่นุ่มกำลังดี แต่จะมี
ขอบด้านล่าง มาทิ่มตำส่วนต้นคอให้ระคายเคืองอยู่บ้าง ต่อให้ยกพนักศีรษะขึ้น
จนสุด ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมาเลย
เบาะรองนั่ง แบน Flat ราบ ไปหน่อย น่าจะออกแบบให้มีมุมเงยเพิ่มกว่านี้อีก
แม้จะนั่งนุ่มกำลังดี แต่ถ้าเสริมขอบเบาะฝั่งที่ใกล้บานประตู ให้มีฟองน้ำหนา
มากกว่านี้อีกนิดจะดีมาก แต่ก็เข้าใจว่า เบาะรองนั่งจะยาวไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว
แค่นี้ ขาก็เหวี่ยงถูกเสาหลังคากลาง B-Pillar ขณะก้าวเข้า – ออก จากรถแล้ว
พื้นที่วางขา เหลือเฟือชนิดที่ว่า ถ้าเป็นคนตัวผอมๆ ขาเล็กๆละก็ นั่งไขว่ห้าง
ได้แน่ๆ ขณะเดียวกัน พื้นที่เหนือศีรษะ ก็เหลือเยอะ ไม่อัตคัตคับแคบ เมื่อ
เทียบกับคู่แข่งหลายรุ่นเขาเป็นกัน ต้องยอมรับเลยว่า พื้นที่ห้องโดยสาร
ก็เป็นอีกจุดขายสำคัญของ MG 3 ที่น่าจะทำให้ลูกค้าชื่นชอบกันได้เลยละ
เสียดายนิดเดียว เข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารแถวหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด แค่
ฝั่งซ้าย และขวา ส่วนตรงกลาง เป็นแบบ ER 2 จุดคาดเอว ทั้งที่บางรายเขา
ให้แบบ ELR 3 จุดตรงกลางมาด้วย แต่นั่นก็พอรับได้ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
เอาวะ ให้มา ก็ยังดีกว่าตัดออกละกัน
แผงหน้าปัดออกแบบในสไตล์ Minimalism ชัดๆ ดูจากรูป อาจรู้สึกว่า ไม่สวย
แต่พอลองเข้าไปสัมผัสจริง ก็พบว่า งานออกแบบ ทำได้ดีมากกว่าที่คิดไว้จริงๆ
ตำแหน่งวิทยุ สวิตช์เครื่องปรับอากาศ ติดตั้งไว้อย่างเหมาะสม มีช่องเก็บของ
จุกจิก เหนือช่องแอร์ คู่กลาง ซึ่งออกแบบมาให้เหมาะกับการเสียบเชื่อมกับ
โทรศัพท์มือถือพวก Smart Phone ชัดๆ หรือจะเอาไว้เป็น ช่องวางพระเครื่อง
ก็ย่อมได้ มาพร้อมฝาแบบบานเลื่อนปิด
ขอชมเชยว่า เพดานหลังคา บุด้วยวัสดุชั้นดี แบบเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน
บรรดารถยุโรประดับ Premium หลายๆรุ่น เลยละ! ไม่เชื่อ ลองไปหาเทียบ
กันเอาเอง
ชุดมาตรวัด อ่านง่าย วางตัวเลขกันไว้ห่างกันอย่างเหมาะสม บอกข้อมูลชัดเจน
ดีใช้ได้ พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ขนาดเส้นรอบวง เหมาะสมแล้ว แต่การออกแบบ
สวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ชวนให้นึกถึงสวิตช์ของ
เครื่องเล่น iPod กันจริงๆ พวงมาลัยปรับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับระยะใกล้ – ห่างไม่ได้
สวิตช์เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ (Auto-Aircon) มาแปลกกว่าใครเพื่อน
สวิตช์หมุนทางซ้าย เลือกระดับความเย็น มีแสงสีน้ำเงินเรืองรองออกมาเป็น
Indicator บอกระดับด้วย ขณะที่สวิตช์ฝั่งขวา จะใช้ควบคุมตำแหน่งทิศทางลม
จากช่องแอร์ในแต่ละจุด ความเย็น ในขณะอากาศร้อนกลางแดด บ่าย 3 โมง
กลางลานจอดรถหลัง Seacon Square ถือว่า ทำได้ไม่เลวครับ
วิทยุ สำหรับเวอร์ชันจำหน่ายจริง จะมาพร้อมระบบ Bluetooth เหมือนคัน Cross
ซึ่งจะมีสวิตช์ เปิด – ปิด อยู่ทางขวา การใช้งาน ค่อนข้างง่าย หน้าตาของจริงดูดี
ชวนให้นึกถึงวิทยุ ติดรถยนต์ Sony Xplod แต่ออกแบบมาดูดีและกลมกลืนกับ
ชุดแผงหน้าปัดมากกว่า ผมยังไม่ได้ลองฟังคุณภาพเสียง จึงยังไม่สามารถระบุ
ได้ในตอนนี้ ว่ามันดีหรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ MG 3 มีจุดขายสำคัญ ที่หวังจะดึงดูดบรรดา Hipster งบน้อยทั้งหลาย
นั่นคือ มี Sunroof เปิด – ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า มาให้ ทั้งรุ่น Hatchback และ รุ่น
Cross!!!
ใจป้ำมากๆ! ถือเป็นรถยนต์นั่งพิกัด B-Segment รายแรกในเมืองไทย ที่ติดตั้ง
Sunroof พร้อมแผงบังแดดมาให้จากโรงงาน!
อย่างไรก็ตาม MG 3 ทั้ง Hatchback และ Cross ยังคงมีเรื่องควรปรับปรุง
ทั้งหมด 4 ประการ ด้วยกัน ดังนี้…
1. ทำไมไม่ให้เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบปรับระดับสูง – ต่ำ ?
ออพชันนี้ ควรจะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาตั้งนานแล้ว จู่ๆ พอเห็นบางค่าย
เช่น Honda ถอดออกในรุ่น City และ Brio ทีมงานชาวจีนของ MG ก็เลย มองว่า
จะถอดบ้าง เช่นนั้นหรือ? อุปกรณ์ความปลอดภัยที่จะอัดประโคมเข้ามาให้ในรถ
มัน พอใช้ได้ แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานกลับถอดออก เพียงเพราะแค่
ต้องการประหยัดต้นทุน ??
ใส่กลับมาให้ ในรุ่นปรับอุปกรณ์ หรือรุ่นปรับโฉม Minorchange ด้วย!
2. สวิตช์ เซ็นทรัลล็อก ถ้าเห็นครั้งแรก จ้างให้ก็ทายไม่ถูกหรอก ว่ามันติดตั้งอยู่ที่
แผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศแบบ Digital !!!
รถยนต์ทั่วๆไปนั้น สวิตช์ปลดล็อกประตู มักติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับสวิตช์
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า บนแผงประตูฝั่งคนขับ แต่ MG 3 มาแปลกเกิน เล่นติดตั้ง
ไว้บน แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ คำถามก็คือ จะย้ายสวิตช์ชุดนี้ไปไว้บนแผง
ควบคุมแอร์ กันทำไม?
ถ้าใครไม่รู้ หรือต้องสลับรถยนต์ในบ้านกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นอยู่เรื่อยๆ
กำลังจะขับไปรับ เพื่อนฝูง หรือลูกหลาน จากหน้าห้างสรรพสินค้า หรือจาก
สถานีรถไฟฟ้า BTS / MRT ในจังหวะที่ต้องจอดแวะรับกันสั้นๆ ถ้าต้องมานั่ง
คลำหาปุ่มปลดล็อกประตู ในช่วงเวลารีบเร่งแบบนั้น มันใช่เรื่องแล้วหรือ? ถ้า
เป็นแบบนี้ รถคันที่แล่นตามมาข้างหลัง คงได้ก่นด่าอากงอาม่า จนสะดุ้งโหยง
จามฮัดเช่ยๆ ข้าวต้มกระจาย กันพอดี
3. น้ำหนักของบานประตูนั้น เหมาะสมดีแล้ว คือ หนักกำลังดี ให้สัมผัสแบบ
รถยุโรป แต่มือจับเปิดประตู ที่เพียงแค่ใช้นิ้วก้อยเกี่ยว ก็เปิดประตูได้ เนี่ยสิ!
มันสวนทางกับน้ำหนักของบานประตูอย่างยิ่ง น้ำหนักหรือความหนืด ของ
มือจับเปิดประตู ควรเพิ่มกว่านี้อีกนิดนึง เพื่อเพิ่มสัมผัส Perceived quality
ในใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
4. น้ำหนัก และความหนืดของคันเกียร์ ก็เช่นเดียวกัน ควรเพิ่มจากนี้อีกนิด
เพราะในรถ Pre-Production นี่ยัง ออกจะคลอนๆ ง่ายไปหน่อย เรื่องนี้
แก้ไขปรับปรุงง่าย ไม่ยากเลย
5. ย้าย คันโยก เปิดฝาประโปรงหน้า จากฝั่งซ้าย มาไว้ทางฝั่งขวาด้วย! อย่า
ขี้เกียจ ย้ายซะ จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน (ที่นั่งข้างๆ ต้องคอยช่วยเปิด
เพื่อเช็ครถตอนก่อนออกจากบ้าน)
MG 3 ทุกรุ่นที่ขายทั้งในอังกฤษ จีน หรือเมืองไทย จะวางขุมพลังเดียวกันทั้งหมด
เป็นเครื่องยนต์เบนซิน บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
75 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด Multi-Point Injection
พละกำลังสูงสุด 106 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร
(13.96 กก.-ม.) ที่ 4,750 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 136 กรัม/กิโลเมตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ตามมาตรฐานการวัด EU เฉลี่ย 5.8 ลิตร / 100 กิโลเมตร
ในตลาดต่างประเทศ MG3 จะมีระบบส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
แต่สำหรับเมืองไทย MG3 ทุกคัน จะมาพร้อมเกียร์อัตโนมัติ
สำหรับระบบส่งกำลัง ไปยังล้อคู่หน้านั้น ในต่างประเทศ MG 3 จะมีเกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ ให้เลือก แต่เวอร์ชันไทย จะไม่มีเกียร์ธรรมดา เพราะคราวนี้ พวกเขาเลือก
แนะนำเกียร์แบบใหม่ มาให้คนไทยได้ใช้งานกัน ภายใต้ชื่อ “SeleMatic”.
ถ้าต้องทำความเข้าใจกับคนที่ไม่รู้เรื่องรถยนต์เลย ก็ต้องบอกว่า มันคือ เกียร์ธรรมดา
นั่นแหละ แต่มีสมองกลควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ ให้เหมือนกับเกียร์อัตโนมัติ ดังนั้น
ในการขับขี่ปกติ คุณก็ขับเหมือนรถยนต์ เกียร์อัตโนมัติทั่วไปได้เลย
แต่ถ้าต้องพูดให้คนบ้ารถ หรือคนที่มีความรู้เรื่องรถยนต์ เข้าใจได้ง่าย คงต้องบอกว่า
มันก็คือ เกียร์แบบ Selespeed ของ Alfa Romeo เกียร์ Sensonic ของ Saab หรือ เกียร์
AMT ของ Proton Savvy นั่นเอง!
วิธีใช้งาน ต้องเรียนรู้กับมันนิดนึงครับ แต่ถ้าเข้าใจ และลองขับวนไปมาสักรอบสองรอบ
ก็จะใช้งานได้คล่องปรื๋อเลยทีเดียว
1. ในเมื่อคันเกียร์ ไม่มีตำแหน่ง P เหมือนเกียร์อัตโนมัติ (แหงสิ มันเป็นเกียร์ธรรมดา
นี่หว่า) ดังนั้น ตำแหน่งเกียร์ จึงมีหลักๆ ดังนี้
1.1 “N” (เกียร์ ว่าง ผลักขึ้นบนขวา เหมือนเกียร์ 5 ของรถยนต์ทั่วไป) จอดรถเมื่อไหร่ ให้
เข้าเกียร์ N เสมอ ก่อนดับเครื่องยนต์
1.2 “D” เกียร์ขับเคลื่อน สำหรับ ออกรถไปข้างหน้า ให้โยกคันเกียร์ลงมาตรงกลาง (ใน
ตำแหน่งเกียร์ว่างของรถยนต์ทั่วไป)
1.3 “M” หรือ Manual Mode เอาไว้เล่นเกียร์ในโหมด บวก/ลบ เพื่อเลือกเปลี่ยนตำแหน่ง
เกียร์เอาเองตามใจชอบ ในโหมดนี้ ถ้าลากเกียร์และรอบเครื่องยนต์จนสุด แตะระดับ
Red Line ที่ 6,200 รอบ/นาที เกียร์จะตัดเปลี่ยนตำแหน่งขึ้น (Shift up) ให้เอง เพื่อลด
ความเสี่ยงต่อความเสียหายของเกียร์
1.4 “R” เกียร์ถอยหลัง ให้ผลักเกียร์มาทางขวาสุด แล้วตบลงล่างสุด เหมือนเกียร์ถอยหลัง
ของรถยนต์ทั่วไป
1.5 สวิตช์ Mode ที่ฐานรองคันเกียร์ กดเข้าไป จะเปลี่นยนเกียร์ เป็น Mode S เพื่อให้คุณ
ยังคงปล่ยเกียร์ให้ทำงานไปแบบเกียร์อัตโนมัติ แต่ยอมให้คุณลากรอบเครื่องยนต์ได้
นานขึ้นอีกนิด แล้วก็จะเร่งรอบสูงๆไว้ให้ก่อน เพื่อให้เรียกใช้แรงบิดได้ในยามจำเป็น
2. ทุกครั้งที่เปลี่ยนเกียร์ ขณะรถหยุดนิ่ง ต้องเหยียบเบรก ก่อนเปลี่ยนเกียร์ทุกครั้ง
แต่ถ้าขับๆ อยู่ คิดจะเปลี่ยนเกียร์ สามารถเปลี่ยนได้เลย ยกเว้นเกียร์ถอยหลัง….
(แหงเสะ! ขับไปข้างหน้าอยู่ จู่ๆ เข้าเกียร์ถอยหลัง สมองกลมันคงได้ด่าบุพการี
สะเทือนบ้านกันหรอก)
3. ถ้าบานประตูรถยังเปิดอยู่ แต่คุณเผลอเข้าเกียร์ D แล้ว รถจะไม่เคลื่อนที่นะครับ
เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้า ใส่เกียร์ D ออกรถจนเคลื่อนตัวไปแล้ว หากเปิดประตู
รถจะไม่หยุดให้นะ
รายละเอียดอัตราทดเกียร์ต่างๆ นั้น ไม่แน่ใจว่าจะเหมือนกับเวอร์ชันต่างประเทศ
เลยหรือไม่ จึงยังไม่ขอพูดถึงในตอนนี้
เห็นตัวเลขแรงม้า และแรงบิดแล้ว พอจะเดาได้ใช่ไหมครับว่า อัตราเร่งน่าจะออกมา
ในแนวทางใด ใช่แล้ว มันเป็นไปตามที่คิดนั่นละครับ คือ เกาะกลุ่ม B-Segment ฝั่ง
ญี่ปุ่น อย่าง Mazda 2 รุ่นปี 2009 – 2012 กันไปเรื่อยๆ ตามประสา ไม่จี๊ดจ๊าด
ไม่แรง แต่ก็มีอัตราเร่งมาให้ “พอใช้งานได้”
ใช้ไปไหนดี? ใช้ไปซื้อโอเลี้ยง ใช้ไปจ่ายกับข้าว หน้าปากซอย ขับไปทำงานจาก
บ้านแถวราชพฤกษ์ ไปยังสีลม ตอน 7 โมงเช้า ได้สบายๆแน่ๆ ใครที่เป็นคนขับรถ
แบบเรื่อยๆ ช้าๆ ไม่รีบร้อน น่าจะแฮปปี้ กับเครื่องยนต์ลักษณะนี้
เอาเป็นว่า ถ้าคุณ รับได้กับอัตราเร่งของ ECO Car 1,200 ซีซี คุณใช้ชีวิตกับ
หมอนี่ ได้ชัวร์ๆ! มันก็มีเรี่ยวแรง (เท่าที่สัมผัสเบื้องต้น ยังไม่จับเวลา) พอๆกันนั่นละ
แต่ถ้าคุณเป็นคนขับรถเร็ว บอกได้เลยว่า มองข้าม MG 3 ไปจะดีกว่า เพราะเกียร์
SeleMatic นั้น ในรถ Pre Production ทั้ง 2 คันที่ผมลองขับ ยังแอบมีอาการ
เปลี่ยนเกียร์ช้ากว่าความต้องการของคนขับ มาให้ได้พบเจอ
เช่น ถ้าอยู่ในโหมด เกียร์ D (Auto ตามปกติ) ถ้าเหยียบคันเร่งจมมิด ลากรอบจนสุด
6,200 รอบ/นาที ในจังหวะต้องเปลี่ยนเกียร์ 2 จะเกิดอาการกระตุก จนตัวรถหัวทิ่ม
เล็กน้อย สั้นๆ ราวๆ 0.5 – 0.7 วินาที ก่อนที่เกียร์จะเปลี่ยนขึ้นไปให้ และเป็นเช่นนี้
จนถึงเกียร์ 3 (ยังไม่รู้ว่า หลังจากเกียร์ 3 ขึ้น 4 หรือ 4 ไป 5 นั้น จะเป็นหรือเปล่า)
ถ้าคิดว่า โหมดอื่นคงไม่เป็น…คุณคิดผิดครับ พอเข้าเกียร์ M แล้วลองลากรอบใน
แบบเดียวกันจนสุด เกียร์ ก็ยังมีอาการเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน ต่อให้ลองเปลี่ยน
ไปเป็นโหมด S มันก็ยังคงมีอาการเดียวกัน
อีกประเด็นถัดมา ก็คือ การเปลี่ยนเกียร์ ยังทำได้ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่กำลัง
เผชิญอยู่ อาการนี้ เป็นในทุกโหมดเกียร์ เช่นเดียวกัน ทั้ง D M และ S ในจังหวะที่
ผมต้องการจะลดเกียร์ จาก 3 ลง 2 พอตบคันเกียร์ลงปุ๊บ ยังต้องรออีกราวๆ เกือบๆ
1 วินาที เกียร์ถึงจะยอมเปลี่ยนลงมาให้ และนั่นก็เกือบจะสายไปแล้ว เพราะได้เวลา
ถึงจังหวะที่ผมต้องเลี้ยวรถเข้าโค้งพอดี ชนิดที่ว่า ล้อหน้าเริ่มเข้าโค้งไปแล้วนิดๆ
สมองกลถึงเพิ่งจะสั่งลดเกียร์ลงมาให้
อาการนี้แม้คุณจะเห็นได้ชัด ตอนเล่นโหมด บวก/ลบ แต่ในโหมดปกติ ก็ยังมีให้เจอ
เช่นเดียวกัน จังหวะที่ต้องการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น ก็เป็นเหมือนกัน คือต้องใช้เวลาเกือบ
1 วินาที ในการเปลี่ยนเกียร์
ถ้ามองให้เป็นธรรม เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติ ใช่ มันช้าเกินไป แต่ถ้ามองเทียบกับ
การขับรถเกียร์ธรรมดา ก็ต้องถือว่า เปลี่ยนเกียร์ได้เร็วแค่ในระดับที่มนุษย์ จะเหยียบ
แป้นคลัชต์ และโยกคันเกียร์ด้วยตัวเอง ในขณะขับรถในเมือง (ไม่ใช่ในสนามแข่ง)
เพียงแต่ว่า เมื่อคุณพยายามเซ็ตระบบให้เป็นเกียร์กึ่งอัตโนมัติ มันก็ควรจะทำงานได้
เร็ว ฉับไว ไม่แพ้เกียร์อัตโนมัติ แบบนี้
กระนั้น เนื่องจากรถที่ผมทดลองขับ เป็นรุ่นทดลองประกอบ Pre-Production
นั่นแปลว่า ยังสามารถจะแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ได้อีก ดังนั้น ผมจึงยังขอ
ปล่อยผ่านไปก่อน รอดูว่า วิศวกร เซ็ตโปรแกรมสมองกลเกียร์ของ MG จะแก้อาการ
เปลี่ยนเกียร์ช้า ให้ดีกว่านี้ ได้มากน้อยแค่ไหน ไว้รอให้ ถึงเวลาที่ต้องทำบทความ
Full Review เราค่อยมาดูกันอีกที น่าจะเป็นธรรมกับ MG เขามากกว่า
แต่สิ่งที่ผมบอกเลยว่า ไม่ต้องปรับแก้อะไรอื่นอีกแล้ว (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) นั่นคือ
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบ HPAS (Hydraulic
Power Assist Steering wheel) รัศมีวงเลี้ยว เต็มรอบวง อยู่ที่ 10.4 เมตร
แต่ถ้าแบบครึ่งวงกลม ตามวิธีวัดของรถญี่ปุ่น จะอยู่ 5.2 เมตร ที่ถือว่ายังเป็นหนึ่งใน
รถยนต์ยุคใหม่เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่ยังคงใช้ระบบเพาเวอร์ แบบ ไฮโดรลิก อยู่ จึง
ไม่น่าแปลกใจที่การควบคุมพวงมาลัย จะเป็นไปอย่างหนักแน่น เป็นธรรมชาติมาก
น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ มาในสไตล์รถยุโรป รุ่นปี 1990 – 2000 คือ
หนืดกำลังดีแล้ว แต่เสียดายว่า พื้นที่ลองขับค่อนข้างจำกัด จึงยังไม่รู้ว่า น้ำหนัก
ของพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูง จะเป็นอย่างไร
ความคล่องแคล่วในการบังคับเลี้ยว หักหลบซ้าย – ขวา ไปมา มีพอประมาณ
เพราะอัตราทดเฟืองพวงมาลัย ทดมาค่อนข้างปานกลาง ไม่ได้ทดให้ไวมากนัก
การขับรถซิกแซกไปตามกรวย สลาลอม เห็นได้ชัดเลยว่า ในช่วงความเร็วต่ำ
จากรถยนต์ปกติที่เคยเลี้ยวได้แค่ไหน อาจต้องหมุนพวงมาลัยเพิ่มช่วยอีกสัก
เล็กน้อย แต่ถ้าเข้าโค้งในช่วงความเร็วสูงขึ้น พวงมาลัยก็ถือว่า ทำได้ตามสั่ง
กำลังดี ไม่ได้ถึงกับเฉียบคมทันใจแบบรถแข่ง
พูดง่ายๆคือ ฟีลลิง ประมาณ พวงมาลัยของรถยุโรปบ้านๆ ยุคก่อนปี 2000 นั่นละ!
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง ยังคงเป็นแบบ
Torsion Beam ตามมาตรฐานของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก B-Segment ทั่วไป
ปรับเซ็ตมาค่อนข้างดี ซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ ใช้ได้เลย การเข้าโค้ง
ยาวๆ ต่อเนื่อง ก็ยังมั่นคง ให้ความมั่นใจที่ดี แต่พอจะสัมผัสได้ว่า น้ำหนักตัวของ
รถน่าจะหนักพอสมควร
ขณะอยู่ในโค้ง ตัวรถเอียงก็จริง และตำแหน่งเบาะนั่งสูงนั้น ปกติแล้วควรจะ
แอบเสียวหน่อยๆ แต่ MG 3 กลับ ค่อนข้างมั่นใจได้ ผมสาดเข้าโค้งไปด้วย
ความเร็ว 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปตามแนวกรวยไพลอนบังคับ ได้อย่าง
สบายๆ ช่วงล่างมาในแนวนุ่มแต่หนึบ
ส่วนรุ่น Cross จะมีการปรับค่าของช็อกอัพให้ต่างจากรุ่น Hatchback เล็กน้อย
ถ้าถามว่า ช่วงล่าง ของ รุ่น Cross ต่างจากรุ่น Hatchback อย่างไร ตอบเลย
ว่า รุ่น Cross จะแอบนุ่มกว่าเพียงนิดเดียวเท่านั้นจริงๆ นอกนั้น การตอบสนอง
เหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ถ้าชอบนุ่มหน่อย ไปหารุ่น
Cross แต่ถ้าอยากได้ความมั่นใจ ก็ไปหา Hatchback ปกติ
ระบบห้ามล้อด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก ส่วนด้านหลัง เป็นดรัมเบรก เสริม
การทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake force Distribution)
และยังมีสารพัดตัวช่วยอีกมาก ที่ MG บอกว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
แต่ที่พอจะยืนยันให้ได้เลยในตอนนี้คือ MG 3 จะเป็น Sub-Compact
Hatchback รายแรกในเมืองไทย ที่ติดตั้งระบบ CBC (Cornering Brake
Control) ช่วยเพิ่มและปรับสมดุลแรงเบรกในโค้ง มาให้จากโรงงาน!
ยอมรับเลยว่า การตอบสนองของระบบเบรก ทำได้ค่อนข้างจะดีเป็นอันดับ
ต้นๆ ในกลุ่ม B-Segment เลยทีเดียว แม้ว่าจะเป็นดรัมเบรกด้านหลัง แต่ก็
เบรกนุ่มตามสไตล์ของมัน ให้ความมั่นใจได้ดี ระบบ ABS นั้นทำงานได้ฉับไว
กำลังดี พอๆกันกับ ระบบ ABS ของ Honda City รุ่นก่อน นั่นละครับ ถือว่า
เป็นอีกจุดขายที่พอจะประมือชาวบ้านเขาได้อยู่
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ความพยายามครั้งที่ 2 ของมังกรพันธ์อังกฤษ
เหลือแค่ปรับปรุงเรื่องเกียร์ และรอดูวันประกาศราคาขายจริง
“ถ้าผมไม่เห็นอะไรดีๆ ผมไม่ลาออกจากบริษัทเก่า ย้ายมาอยู่ MG หรอกครับ”
สีหน้าและแววตาของ ชาว MG ที่พูดคุยอยู่กับผม ในวันที่เราลองขับ MG 3 กัน
มันบ่งบอกถึงความพยายามในการทำงานอย่างหนัก ภายใต้ปัญหา และแรงกดดัน
ต่างๆนาๆ
พวกเขายังดูมีแรงใจในการทำงาน อย่างมีความหวังกันอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี
ในการช่วยการนำพาแบรนด์ MG ให้แจ้งเกิดในบ้านเราได้ดีกว่าปัจจุบัน
SAIC – MG หมายมั่นปั้นมือจะให้ MG 3 เป็นทางเลือกใหม่ สำหรับลูกค้าที่
อยากลองเปลี่ยนรสชาติจำเจจากบรรดา B-Segment Hatchback ทั้งจากแดน
ปลาดิบ และเมืองเบอร์เกอร์ ให้มาลิ้มลองบรรยากาศ การขับขี่ รถเก๋งคันเล็ก
ท้ายตัดสไตล์อังกฤษ (ลูกครึ่งจีน) ดูบ้าง
ในเบื้องต้น แม้จะยังไม่มี ข้อมูลใดๆ ให้กับสื่อมวลชนชาวไทย เลย แต่
เท่าที่ดูจากตัวรถคันจริง ก็พอบอกได้ว่า ทีมงานคนไทย ใน MG ก็ต้องใช้
วิทยายุทธ งัดค้านกับฝั่งจีน กันอย่างหนักหน่วงเอาเรื่อง ทำให้ ผลลัพธ์
ของ MG 3 ออกมา ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมการตลาด MG ยังงัดอออพชันเด็ดมาสู้กับชาวบ้านเขา ด้วย
การนำ Sunroof รวมทั้งระบบกระจายแรงเบรกขณะเข้าโค้ง CBC มาติดตั้ง
ให้เป็นครั้งแรกของรถยนต์ 1,500 ซีซี ที่วางจำหน่ายในเมืองไทยอีกด้วย!
กระนั้น ตัวรถ ก็ยังต้องรอการปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อย อีกบางจุด
รวมทั้งการปรับปรุงสมองกลของเกียร์ ให้ทำงานได้ฉับไวยิ่งกว่านี้ เพื่อ
ลดอาการ Lag และอาการกระชากในขณะเปลี่ยนเกียร์ ให้น้อยยิ่งกว่านี้
เท่าที่จะเป็นไปได้
ที่เหลือ เราๆท่านๆในฐานะคนดู ก็คงจะต้องมารอฟังกันว่า ราคาขาย ที่จะ
ประกาศออกมา ในวันเปิดตัว จะทำได้ ถูกอย่างที่ สต๊าฟคนไทย ใน MG
เขากำลังพยายามผลักดันกันชนิดสุดแรงเกิด ได้หรือเปล่า
กำหนดการเปิดตัว ของ MG 3 จะเกิดขึ้นในช่วงงาน Bangkok Motor Show
เดือนมีนาคม 2015 และคาดว่าน่าจะพร้อมส่งมอบได้จริง หลังจากนั้นเล็กน้อย
โดยจะเปิดตัวก่อน MG GT ในช่วงปลายปีนี้ (ส่วนปีหน้า SUV จะเปิดตัวตามมา)
จะเห็นได้ว่า พวกเขายังคงเตรียมแผนบุกตลาดรถยนต์ในบ้านเรากันต่อไป
อย่างไม่ยอมแพ้ต่อเสียงวิจารณ์ของ J!MMY
ซึ่งนี่แหละ คือเรื่องที่ผมอยากเห็น น่าเอาใจช่วย เพราะรู้ดีว่า การงัดข้อกับความ
ดื้อรั้น ของผู้บริหารชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ฝรั่ง หรือจีน แม่งไม่ง่ายเลย
ละครับคุณผู้อ่าน
แต่อย่างว่า มาตรฐานของ Headlightmag คือการวิพากษ์วิจาร์รถยนต์แต่ละค่าย
แต่ละคัน อย่างตรงไปตรงมา ตามแบบที่มันเป็น โดยไม่มีอคติอื่นใดเคลือบแฝง
ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า MG จะทำรถออกมาได้ดีแค่ไหน ด้อยตรงไหน จะได้
เอาไปปรับปรุงกัน เพื่อที่ลูกค้าจะได้แฮปปี้ ไม่ต้องมีเสียงก่นด่าขว้างปาไข่ไก่
หรือรองเท้าแตะฟองน้ำตามมาให้ต้องวิ่งหลบกันจ้าละหวั่นเหมือนเช่นตอน
MG 6
โชคดีว่าในเบื้องต้น MG 3 ก็มีหลายจุดที่น่าชมเชย ควบคู่ไปกับจุดที่ยังต้อง
ปรับปรุงกันอยู่ดี เป็นธรรมดา ของรถยนต์ ทุกรุ่นที่ออกขายในประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบอกว่า ผมยังไม่อยากจะสรุปเรืองราวของ MG 3 ไว้เพียง
แค่นี้เพราะมันยังมีบางประเด็นที่ผม ควรจะต้องค้นหากันต่อไป ในวันที่รถ เปิดตัว
ออกสู่ตลาด อีกไม่นานเกินรอนับจากนี้
เมื่อถึงเวลานั้น มั่นใจได้เลยว่า Full Review เวอร์ชันจัดเต็ม จาก J!MMY
จะมีให้คุณได้อ่านกันแน่ๆ
ถ้า MG ยังคงใจกว้าง และเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในตอนนี้
———————————–///————————————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายการตลาด
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
—————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่ายรุ่น Cross โดยผู้เขียน
นอกนั้น ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของ MG
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
26 กุมภาพันธ์ 2015
Copyright (c) 2015 Text and Pictures Except some historic pictures from MG
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
Febuary 26th,2015
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!!