“180 ม้าก็เหลือพอแล้ว เราไม่ได้จะไปแข่งโดด Baja”
นี่คือประโยคบอกเล่าจากพี่ริชชี่ (Richard Leu) แห่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post หลังจากที่ได้ลองขับ Ford Ranger Limited 4×4 2.0 ลิตร ในระหว่างการออกทริปทดสอบของ Ford ที่เชียงราย และบอกไว้ก่อนเลยว่าถ้าคุณคิดว่าพี่ริชชี่เป็นนักทดสอบสายน้ำเย็นขับอะไรก็รู้สึกเร็วไปหมด ขอให้เลิกคิดได้ นี่คือสื่อมวลชนรุ่นพี่ (อาจจะนับเป็นวัยพ่อสำหรับใครหลายคน) ที่หลงใหลในรถสมรรถนะสูง ชอบรถแรง อะไรก็ตามที่มีแรงดึงดีๆและลากรอบได้เฉียดหมื่น
ผมเห็นประเด็นที่พี่ริชชี่บอกเหมือนกันครับ ในขณะที่พวกเราในโลกรถยนต์กำลังหลงใหลไปกับกระแส Ranger Raptor รถกระโดดโหดเบียดจิงโจ้ที่ราคาล้านเจ็ด ช่วงล่างระดับเทพและเครื่องยนต์เทอร์โบ 2 ลูกครั้งแรกในวงการกระบะไทย ประชากรส่วนใหญ่ที่จะซื้อหารถแบบนี้ใช้ ก็มักเป็นคนฐานะปานกลาง หยุดรวยเมื่อหยุดทำงาน พวกเขาเหล่านี้อาจจะชื่นชมรถพิเศษอย่าง Raptor แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็จะเลือกซื้อรถรุ่นที่ธรรมดากว่าด้วยเหตุผลด้านการควบคุมงบประมาณ พวกเขาอาจไม่ได้ต้องการ King of The Road ที่แรงและเด่นสุด แต่ต้องการ Truck of The House ที่แรงพอดี หล่อพอไปงานและแม่บ้านอนุมัติ (ข้อหลังนี้สำคัญสุด)
จุดนี้ทำให้ผมสนใจรถกระบะโมเดลปกติมากกว่ารุ่นที่มีความพิเศษ เพราะแม้คนจะไม่สนรถพวกนี้ในยามปกติ แต่เมื่อจำเป็นต้องซื้อจริงๆ กลับหาข้อมูลไม่ค่อยได้เพราะคนส่วนใหญ่เขียนถึงแต่รถโมเดลดาราประจำค่าย ซึ่งชื่อเสียงดัง แต่ยอดขายไม่ได้เยอะ
อย่าว่าแต่รถซูเปอร์สตาร์อย่าง Raptor เลยครับ ขนาดรุ่น Wildtrak ที่ราคาใกล้พื้นโลกมากกว่า ก็ไม่ใช่รุ่นย่อยที่ขายดีที่สุดของ Ranger ซึ่งจากข้อมูลที่ทาง Ford บอกมา ตำแหน่งนั้นตกเป็นของรุ่น XLT ซึ่งนับเป็นรุ่นที่หรูปานกลาง มีอุปกรณ์มาให้แบบเพียงพอ แต่ราคาน่าคบหา หลายคนก็มองว่าซื้อมาแล้วค่อยๆเก็บเงินแต่งรถให้สวยไปเรื่อยๆ มันช่วยให้เขาบริหารการเงินได้ดีกว่าการต้องผ่อนรถกระบะราคาทะลุล้าน ถ้าเป็นเงินผมเอง ผมก็จะต้องยั้งคิดเหมือนกันเพราะเงิน 1 ล้านเป็นเงินที่เยอะมากสำหรับรถ 1 คัน และผมเองก็กำลังสองจิตสองใจว่ารถคันป้ายแดงคันต่อไปในชีวิต จะไปทางอีโคคาร์ หรือจะมารถกระบะดีเพราะทนไม่ไหวกับสภาพถนนและระบบระบายน้ำอันห่วยแตก
สมมติว่าผมอยากหันมาเล่นรถกระบะ ฐานะอย่างผม เงิน 1.265 ล้านสำหรับการซื้อ Ranger Wildtrak ต่อให้ผ่อนสิบปีดอกเบี้ยฟรีสิบชาติ ผมก็ยังรับไม่ได้ถ้าต้องใช้เงินจำนวนมากขนาดนั้น ทางออกก็คือไปซื้อรถยี่ห้ออื่น หรือหันไปจับ Ranger XLT Hi-Rider ซึ่งมีค่าตัว 869,000 บาท ..ก็ยังกระอักเลือดอยู่แต่กระอักน้อยกว่าล้านสองแล้วกัน
ปัญหาสำหรับคนเรื่องมากแต่งบดันน้อยอย่างผมก็คือ แม้รุ่น XLT จะมีอุปกรณ์ภายในและภายนอกมาให้จนผมพอใจในระดับหนึ่งแล้วไม่ว่าจะเป็นล้ออัลลอย 17 นิ้ว (หายางง่าย ไม่แพง ตัวเลือกเยอะ) มีระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ มี Cruise Control และกระจกมองข้างพับไฟฟ้า แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือพวกระบบกันล้อหมุนฟรี (Traction Control) และระบบควบคุมการทรงตัว (Stability Control) ซึ่งผมตั้งใจไว้ว่าถ้าชีวิตนี้ต้องซื้อปิคอัพใช้จริง รถที่ผมซื้อจะต้องมีอุปกรณ์ 2 อย่างนี้เป็นภาคบังคับ
หลายคนชอบบอกว่า “ไม่มีก็ไม่เห็นเป็นไร ใช้ฝีมือช่วยเอาได้” เคยเจอใครที่พูดแบบนี้ คุณลองบอกให้เขาอธิบายหลักการทำงานของระบบให้คุณฟังหน่อย เชื่อว่าส่วนมากก็จะตอบไม่ได้แต่แค่รู้ว่าข้าเนี่ยแหละไอร์ตั้นเซนน่ากลับชาติมาเกิด ฝนตกก็ไม่กลัว วิ่ง 140-150 รถหมุนก็เอาอยู่ได้แบบเทพๆ ไอ้ผมก็ไม่แน่ใจครับว่าเทพคนไหนบ้างสามารถเอาเท้าขวาเหยียบเบรกแล้วสามารถสั่งให้เบรกจับล้อซ้ายล้อขวาแยกกันเพื่อดึงรถกลับเข้าไลน์ได้ หรือกะคันเร่งได้แม่นกว่าคอมพิวเตอร์ และทำทุกอย่างนี้ได้พร้อมกันในขณะที่มือคุมพวงมาลัยไปด้วย เรื่องแบบนี้ คนที่พูดว่าแน่จริง จาก 10 คนน่าจะทำได้จริงไม่ถึง 3 คน
อาจารย์ที่สอนผมขับ Porsche ในสนามแข่งเคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณอยู่บนแทร็ค อยากสนุก อยากเรียนรู้รถ ปิดระบบขับก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าออกถนนเมื่อไหร่ คำแนะนำของผมนะ..รักโลก รักต้นไม้ เปิดระบบมันไปเถอะ มันช่วยเซฟต้นไม้ข้างทางจากการที่คุณจะหมุนรถไปฟาดมันได้และในขณะที่คุณรักษาธรรมชาติไว้ได้ คุณก็สามารถรักษารถและชีวิตตัวเองไว้ได้ด้วย”
นั่นคือเหตุผลที่ผมมองหา และให้ความสำคัญกับระบบนี้ในรถคันต่อไปของชีวิต และก็เป็นเหตุผลที่ผมยังไม่โอเคกับ Ranger รุ่น XLT แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทีม Ford จะดูออกว่ามีลูกค้าชาวไทยหลายคนที่มีความคิดแบบผม แล้วก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่รู้จัก Traction Control แต่รู้จักไฟ Daytime Running Light รู้จักปุ่มสตาร์ท รู้จักเบาะหนัง และอยากได้อุปกรณ์มาตรฐานเหล่านี้ในรถตัวเอง แต่เช่นเดียวกับผม.. Wildtrak เป็นคำตอบที่พวกเขาเอื้อมไม่ถึง
และนี่ก็คือคำตอบของ Ford ในการแก้ปัญหานั้น..รุ่นย่อยใหม่ที่มาสอดตรงกลางระหว่าง XLT และ Wildtrak ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ Ranger Limited
มิติตัวถังภายนอกของ Ranger Limited นั้น ผมยังไม่สามารถหาตัวเลขจากข้อมูล เอกสาร และเว็บไซต์ของ Ford มาได้ แต่อ้างอิงจากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่คุณ Moo Cnoe (อ่านว่าหมู คโนเอะ – เพิ่งรู้หลังจากทำงานกับมันมา 4 ปี) เขียนไว้ในบทความ First Impression-Ford Ranger Wildtrak Bi-Turbo มาดังนี้
ตัวรถยาว 5,362 มิลลิเมตร กว้าง 1,860 มิลลิมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,220 มิลลิเมตร ระยะห่าง (Track width) ของล้อคู่หน้าและหลังเท่ากันที่ 1,560 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น (Ground Clearance) 230 มิลลิเมตร ทั้งนี้ด้วยรายละเอียดของตัวรถเวอร์ชั่น 2018 ที่มีการดีไซน์ใหม่บางจุด อาจทำให้มิติรถเพี้ยนจากเดิมไปเล็กน้อย
น้ำหนักตัวถัง ของรถทดสอบเราเป็นรุ่นขับสี่เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งตามสเป็คที่แจ้งสรรพสามิตไทย อยู่ที่ 2,084 กิโลกรัม ส่วนรุ่น Limited Hi-Rider ขับหลังจะอยู่ที่ 2,028 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆของบรรดา Ranger หลากหลายรุ่นย่อย เพราะรุ่นพิเศษอย่าง Raptor หนัก 2,324 กิโลกรัม ส่วนรุ่น 2.0 Wildtrak Bi-turbo 4×4 หนัก 2,156 กิโลกรัม และรุ่น 2.2 XLT Hi-Rider ขุมพลัง 2.2 ลิตรบล็อคเก่าอยู่ที่ 1,988 กิโลกรัม
อาจจะฟังดูเหมือนเจ้า Limited 4×4 ตัวหนักใช่เล่น แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ขนาดนั้นครับ Hilux Revo 2.8G 4×4 เกียร์อัตโนมัติก็อยู่ที่ 2,070 กิโลกรัม และ Chevrolet Colorado High Country 4×4 อยู่ที่ 2,062 กิโลกรัม อาจจะฟังดูแปลกแต่นี้คือตัวเลขจาก EcoSticker กรมสรรพสามิตจริงๆครับ รถที่จะเบาสุดในคลาสนี้ก็คือ Mitsubishi Trition ที่เบาโหวงแค่ 1,870 กิโลกรัม
รูปลักษณ์ภายนอกของรุ่น Limited นั้น จะได้กระจังหน้าและกันชนแบบธรรมดาเหมือน XLT แต่เพิ่มไฟหน้าแบบ HID Projector (XLT เป็น Projector หลอดฮาโลเจน) มีไฟ Daytime Running Light มาให้ หน้าตาโดยรวมจึงดูบึกแบบเรียบๆ ไม่มีชุดแต่งของดำ (Black trim) และแร็คหลังคาแบบ Wildtrak
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีใน Wildtrak แต่มีใน Limited แถมยังไม่มีบอกในโบรชัวร์ก็คือ Weather guard กันสาดที่ขอบกระจกนั่นเอง เรื่องนี้ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม เจ้าหน้าที่ของ Ford บอกว่าสมัยก่อน Wildtrak มีกันสาดมาให้ แต่ปัจจุบันเอาออกเพราะลูกค้าหลายคนบ่นว่าวิ่งแล้วเสียงลมตีดัง..ที่งงคือถ้ามันดัง แล้วใส่มาทำไมในเจ้า Limited??
ล้ออัลลอยของรุ่น Limited เป็นขนาด 18 นิ้ว โขกจากแม่พิมพ์เดียวกับล้อของ Wildtrak แต่พ่นสีเงินแบบธรรมดา ไม่ได้มี Effect ขอบดำปัดหน้าเงา ความโดดเด่นเลยดูลดลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามยางติดรถก็ยังเป็น Bridgestone Dueler H/T 684 II ขนาด 265/60R18 ซึ่งเหมือนกับที่ใช้ใน Wildtrak นั่นล่ะครับ
ฝากระบะท้ายมีระบบ Easy Lift Tailgate มาให้เหมือน Wildtrak เช่นกัน..ฟังดูเหมือนเป็นระบบซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วมันก็คือการเอาเหล็กท่อนเล็กลักษณะคล้ายเหล็กกันโคลงมายัดซ่อนไว้ในฝาท้าย เวลาฝาท้ายปิดอยู่ เหล็กชิ้นนี้จะอยู่ในตำแหน่งปกติ ไม่มีการบิดตัว แต่พอเราเปิดฝากระบะออก ก็เหมือนเป็นการง้างบิดท่อนเหล็กนี้ ทำให้มีแรงดีดคืนตัวแฝงอยู่ เมื่อเรายกฝาท้ายปิดกลับ ก็เลยใช้แรงน้อยกว่าฝาท้ายแบบปกติ แค่นั้นเลยครับ
สำหรับการล็อคและปลดล็อครถ ต้องขอแสดงความยินดีด้วยว่าหลังจากที่ปล่อยให้ค่ายญี่ปุ่นเขามีใช้กันมานาน ในที่สุด Ford ก็มี Smart Key มาให้ในชื่อ “ระบบกุญแจ My Key” ซึ่งแค่สอดมือเข้าที่มือจับเปิดประตูในขณะที่กุญแจอยู่กับตัว ก็เปิดล็อคได้ และเมื่อลงจากรถ ต้องการจะล็อค ก็กดปุ่มสีดำที่มือจับเปิดประตูได้ ตัวกุญแจหน้าตาธรรมดา มีปุ่ม Lock/Unlock มาให้ และสามารถดึงดอกกุญแจออกมาไขที่รูตรงมือจับเปิดประตูได้ในกรณีฉุกเฉิน สะดวกดีครับ ไม่ต้องทำฝาปิดมาให้แงะกันเหนื่อยเปล่าๆแบบรถหลายรุ่น
รถรุ่น Limited และ Wildtrak ที่มาพร้อมกับระบบนี้ ก็จะมีปุ่มสตาร์ทมาให้ เหยียบเบรก และกดปุ่มสตาร์ทเหมือน…รถกระบะของคู่แข่ง..ได้สักที
เบาะนั่งของรุ่น Limited จะหุ้มด้วยวัสดุหนังสีดำ ไม่มีโลโก้และไม่มีการเดินตะเข็บด้ายส้มแบบรุ่น Wildtrak แต่เมื่อคุณลองนั่งไปบนเบาะ ความรู้สึกที่ได้ก็เหมือนกันกับรุ่น Wildtrak นั่นล่ะครับ สำหรับเบาะหน้านั้นมีขนาดกำลังพองามสำหรับไซส์เฉลี่ยของลูกค้าชายส่วนใหญ่ ความแข็ง/นุ่มของฟองน้ำอยู่ในระดับที่กำลังดีสำหรับการขับทางไกล ผมลองทั้งตำแหน่งคนนั่ง และคนขับตลอดทริปของเรา ไม่รู้สึกว่าเมื่อยล้าแต่ประการใด พนักพิงหลังมีลักษณะโอบข้างปานกลาง และหมอนรองศีรษะจะดันหัวแบบนิดๆ ใกล้เคียงกับ Mitsubishi Triton ในขณะที่ Isuzu จะแทบไม่ดันหัว และ Navara จะดันมาข้างหน้าเยอะสุด
รุ่น Limited นี้ ทั้งเบาะฝั่งคนขับและคนนั่งจะปรับด้วยมือและคันโยกแบบธรรมดา ซึ่งอาจจะเสียเปรียบคู่แข่งบางเจ้าที่มีเบาะไฟฟ้าให้แล้วในราคาใกล้เคียงกัน
เบาะหลัง ทำมาสบายแบบ 7.5/10 กล่าวคือ มีพื้นที่วางขาและพื้นที่เหนือศีรษะมาให้มากพอ ความสูงของเบาะรองนั่งจากพื้นรถก็รองรับคนได้หลายขนาด คนตัวสูงนั่งแล้วทิ้งเข่าลงไปแบบธรรมชาติๆ ไม่ต้องชันเข่าขึ้น แต่พนักพิงหลังนั้นจะยังมีลักษณะตั้งชันใกล้เคียงมุมฉาก ในขณะที่เบาะของ Mitsubishi Triton นั้น ดูเผินๆเหมือนชันเท่ากันแต่พอนั่งจริงๆแล้วกลับอนุญาตให้คนนั่งเอนหลังได้มากกว่ากันนิดๆ ไม่ใช่ว่า Ford แย่นะครับ แต่ถ้าต้องนั่งเบาะหลังรถกระบะสักคันนานเกิน 2 ชั่วโมง ผมก็ยังเลือก Triton มากกว่า Ranger ในขณะที่ Navara นั้นถ้าใครให้ผมไปนั่งหลัง ผมขอเลิกคบแล้วกัน
การตกแต่งภายในของรุ่น Limited ทำให้ผมนึกถึงความขรึมสง่าแต่ขาดชีวิตชีวา..แบบบอดี้การ์ดนักการเมืองระดับหัวแถวของไทยที่ใส่ชุดซาฟารีเข้มดูดุ ทะมึน จริงจัง สวมแว่น Ray Ban และนาฬิกา TAG โลหะสีเงินที่เจ้านายให้เป็นของขวัญวันเกิด นั่นล่ะคือ Ranger Limited ถ้าไม่ใช่ว่ามีแถบพลาสติกพ่นสีเงินคาดบนแดชบอร์ด และขลิบขอบช่องแอร์ด้วยโครเมียมก็คงดูจืดสนิท มันก็เหมือนกับการเอารุ่น Wildtrak มาแล้วเอาพวกวัสดุสีส้ม วัสดุเงาสีเข้มออก แดชบอร์ดตอนบนของรุ่น Wildtrak ที่เป็นวัสดุกดแล้วนุ่ม ก็เอาออก กลายเป็นพลาสติกแข็งธรรมดา โชคดีที่ทีมออกแบบภายในเลือกใช้ดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย เล่นกับรายละเอียดตามจุดเล็กๆ เช่นร่องบากบริเวณใต้ที่เท้าแขนตรงประตู สันมุมและกรอบแอร์โครเมียม กับวิธีการที่ส่วนต่างๆถูกนำมาประกบเข้าด้วยกัน สร้างบรรยากาศให้รู้สึกเหมือนยกแดชบอร์ดมาจาก SUV ชั้นดีได้อยู่
หลังคาและเสา บุด้วยวัสดุสีครีมอ่อน ซึ่งถึงแม้จะเลอะง่าย แต่ช่วยสร้างความรู้สึกโปร่งสบายเวลาทอดสายตามองไปในห้องโดยสาร แผงบังแดดนี้น่าชมเชย ผมเดาว่าคนขับ Ford มักจะมีแฟนนั่งด้วยมั้งครับ เลยให้กระจกแต่งหน้าพร้อมไฟส่องสว่างมาทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่คู่แข่งบางรายอย่าง Triton ขนาดตอนเปิดตัวราคาทะลุล้านยังให้กระจกมาแค่ด้านเดียว ส่วนช่องเก็บแว่นตากันแดด ก็มีมาให้ด้านบน ในขณะที่ช่องวางเครื่องดื่ม มีมาให้ทั้งที่บานประตูและคอนโซลข้างเบรกมือ พร้อมทั้งมีกล่องเก็บของใต้ที่เท้าแขน
สำหรับสวิตช์ต่างๆจากมุมมองคนขับนั้น ทางขวาสุดตรงที่วางแขนจะเป็นชุดควบคุมกระจกไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch ทั้งขาขึ้น/ลงที่ฝั่งคนขับ ส่วนบริเวณใกล้มือจับเปิดประตูจะเป็นสวิตช์สำหรับล็อค/ปลดล็อคประตู ถัดมาบนแดชบอร์ดฝั่งขวาจะมีชุดปรับกระจกส่องข้างและสวิตช์พับกระจกอยู่ด้านซ้ายของช่องแอร์ ในขณะที่ด้านล่างช่องแอร์จะเป็นสวิตช์สำหรับไฟหน้าพร้อมโหมดไฟหน้าเปิดปิดอัตโนมัติ (มีมาให้ตั้งแต่รุ่น XLT) และไฟตัดหมอก ส่วนไฟส่องสว่างกระบะท้าย จะแยกสวิตช์มาอยู่ต่างหากด้านซ้าย
บนก้านพวงมาลัย ด้านซ้ายจะเป็นชุดควบคุมระบบความบันเทิงและการทำงานของเครื่องเสียง ส่วนปุ่มบนก้านด้านขวา จะมีทั้งปุ่มควบคุมการแสดงผลของจอ TFT บนหน้าปัด และปุ่มสำหรับ Cruise control พร้อมระบบตั้งค่าการจำกัดความเร็ว (Speed Limit)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้รุ่น Limited ดูไฮโซกว่า XLT ก็คือหน้าจอกลางระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว เครื่องเสียง วิทยุ AM/FM สามารถเล่นแผ่น CD / MP3 ได้ 1 แผ่น รองรับ Apple Car Play / Android Auto ซึ่งเครื่องเสียงกับหน้าจอชุดนี้ จะเกือบเหมือนกับของที่อยู่ในรุ่น Wildtrak รวมถึงมี 6 ลำโพงเช่นเดียวกัน มีระบบสั่งการด้วยเสียง SYNC3 ซึ่งรองรับการพูดสั่งเป็นภาษาไทย และแสดงผลบนหน้าจอเป็นภาษาไทยได้ รับ และทำตามคำสั่งเบื้องต้นเช่น ปรับอุณหภูมิแอร์ เพิ่มความดังเครื่องเสียง ปรับเปลี่ยนคลื่นวิทยุ และทำได้อีกหลายอย่าง และสามารถฉายภาพจากกล้องมองหลังได้
สิ่งที่ Limited จะต่างจาก Wildtrak ก็คือ ชุดจอจะไม่มีฟังก์ชั่นระบบนำทาง ไม่มีเมนูตั้งค่า Settings สำหรับสีไฟตกแต่งห้องโดยสาร (ก็เพราะ Limited ไม่มี Ambient Light) และไม่มีระบบตัดเสียงรบกวนในห้องโดยสารด้วยคลื่นเสียง (Active Noise Cancellation) ซึ่งจะมีเฉพาะใน Wildtrak ตัวท้อปขับสี่เท่านั้น
ด้านล่างจากจอลงมาเป็นปุ่มไฟฉุกเฉิน ตามด้วยปุ่มสำหรับเครื่องเสียง และสวิตช์ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยก 2 โซนซ้าย/ขวา มีปุ่มตัด A/C มาให้ แต่ถ้าจะปรับเอาลมแอร์เป่าเท้าหรือเป่ากลางลำตัว ต้องไปกดบนจอทัชสกรีนเอา (ก็ยังดี จอพังก็ยังพอทำอะไรกับแอร์ได้บ้าง) ด้านล่างมีช่องวางของและจุดสำหรับเสียบ USB ให้สองแห่งและช่องเสียบ Power Socket 12V 1 จุด
ชุดมาตรวัด..ข่าวดีครับ Limited ได้จอชุดเดียวกับ Wildtrak มาใช้ มีมาตรวัดความเร็วแบบเข็มปกติตรงกลาง ขนาบข้างด้วยจอสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงข้อมูลได้หลากหลาย เช่นระดับอุณหภูมิน้ำ, ความเร็วแบบดิจิตอล, On-board/Trip computer, เข็มทิศ, ไฟล์มีเดียที่เล่น เป็นต้น ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าให้ด่า..ยกเว้นมาตรวัดรอบซึ่งดูเล็กมากเหมือนออกแบบทรวดทรงหน้าปัดกับจอเสร็จแล้วค่อยนึกได้ว่าลืมวัดรอบ แม้หลายคนจะบอกว่ารถเกียร์ออโต้อยู่แล้วจะใช้วัดรอบไปทำไมก็ตามทีเถอะ
อันที่จริง หากเนื้อที่จำกัดแบบนี้ น่าจะลองทำจอให้สามารถ Configure ได้ว่าจะโชว์เป็นมาตรวัดทรงกลม หรือให้ตีเป็นวงโค้งคล้ายสะพานแบบวัดรอบของ Mazda 3 รุ่นล่างๆ ผมว่าน่าจะใช้พื้นที่จอได้เต็มและมองง่ายกว่า ผมไม่เถียงหรอกครับว่ามาตรวัดแบบนี้ สวยและทำให้รถดูมีราคาแพงขึ้นมาก แต่เราอย่าลืมหน้าที่พื้นฐานสำคัญของหน้าปัดกันเลยครับ เวลาขับบนเขาแบบรีบๆ ผมพบว่าหน้าปัดอันแสนธรรมดาอย่างของ Navara ที่เป็นแบบเข็มอันโตๆเนี่ยล่ะมองง่ายสุดแล้วก็มีจอสีตรงกลางให้ไม่น่าเบื่อเกินไป
****รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ****
สิ่งที่เป็นจุดสนใจของ Ford Ranger Minorchange ปี 2018 ประการหนึ่งก็คือเครื่องยนต์ ซึ่งมีการตัดเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร “PUMA” TDCi 5 สูบ 200 แรงม้าออกจากประเทศไทย และเปิดตัวเครื่องยนต์ EcoBlue Series ที่มีชื่อเล่นว่า “PANTHER” ขนาด 2.0 ลิตร 16 วาล์ว ซึ่งเป็นผลงานการสร้างจากทีม Ford อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งจุดประสงค์ในการออกแบบ ก็เพื่อเดินไปตามเทรนด์ Downsizing ซึ่งแม้จะมีข้อกังขาในเรื่องความทนทานจากการพยายามเค้นพลังมากๆจากความจุกระบอกสูบรวมเท่าเป๊บซี่ขวดโต แต่มันก็คือทางรอดทางเดียวสำหรับบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซล ถ้าต้องการควบคุมต้นทุน ดึงดูดลูกค้า และทำเครื่องให้ผ่านมาตรฐานมลภาวะของนานาประเทศ
สรุป Highlight คร่าวๆ ให้ฟังได้ดังนี้
- ทั้งเสื้อสูบ และฝาสูบ ออกแบบใหม่หมด ไม่ได้อิงจากเครื่อง PUMA เดิม ใช้ครั้งแรกใน Ford Transit รถตู้พาณิชย์ของ Ford ยุโรป ในเดือนกันยายน 2016
- ออกแบบโดยเน้นการลดมลภาวะ CO2 10-13% และไนโตรเจนอ็อกไซด์ (NoX) ลดลงได้มากถึง 55% (ในยุโรป)
- ข้อเหวี่ยงติดตั้งแบบเยื้องศูนย์จากกระบอกสูบ 10 มิลลิเมตร
- ขับเคลื่อนแคมชาฟท์ด้วยสายพาน ซึ่งจะมี 2 ชุด แยกบนและล่าง โดยชุดล่างจะเป็นสายพานเส้นที่จุ่มในอ่างน้ำมันเครื่องและมีหน้าที่ในการวักน้ำมันเครื่องขึ้นมาหล่อเลี้ยงสายพานชุดบนซึ่งขับเคลื่อนแคมชาฟท์
- หัวฉีดแบบ Piezo Electric Crystal แบบเดียวกับรถระดับพรีเมียม มีรูหัวฉีด 8 รู (เครื่อง PUMA มี 6 รู) เพื่อให้ฉีดน้ำมันได้เป็นฝอยละเอียดยิ่งขึ้น
- ขนาดความจุระดับเดียวคือ 1,995 ซี.ซี. จากขนาดปากกระบอกสูบ 84 มิลลิเมตร และช่วงชัก 90 มิลลิเมตร
- รูปแบบของเครื่องยนต์ ทำมารองรับการจูนตั้งแต่ 140-240 แรงม้าได้โดยที่ติดอุปกรณ์ลดมลพิษครบและผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO6 ทุกระดับการจูน
- เครื่องยนต์มีขนาดสั้นลง และติดตั้งในตำแหน่งที่ต่ำ และถอยร่นชิดผนังห้องเครื่องมากกว่าเดิม
- ลดความสั่นสะเทือนในการทำงาน และลดเสียงรบกวนที่รอบเดินเบาลง 4dB เมื่อเทียบกับเครื่อง 2.2 TDCi
- Ford ตั้งใจออกแบบเครื่องยนต์นี้ให้ใช้กับรถเก๋งดีเซลได้ สามารถหันขวางประกบเกียร์ขับหน้าได้ จึงเน้นเรื่องความเงียบในการทำงานมากกว่าแต่ก่อน
สำหรับสเป็คประเทศไทย Ford ได้นำเครื่อง PANTHER มาให้ใช้ 2 รุ่นสำหรับ Ford Ranger
- 2.0 Bi-turbo รหัส YN2Q ใช้เทอร์โบแบบขนาดไม่เท่า 2 ลูก ทำงานแบบไล่ลำดับ ลูกเล็กเป็นเทอร์โบแบบ Variable Nozzle ลูกโตเป็นโข่งปกติ ลูกเล็กรับหน้าที่ช่วงก่อน 1,800 รอบต่อนาที และเปิดทำงาน 2 ลูกพร้อมกันที่ 1,800-3,000 รอบต่อนาที เกินจากนั้นไปปล่อยเข้าเทอร์โบลูกใหญ่อย่างเดียว ให้แรงม้าสูงสุด 213 แรงม้าที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที เมื่อวางในรุ่น 2.0 Wildtrak 4×4 ปล่อย CO2 200 กรัม/กิโลเมตร (3.2 ลิตรเดิม 239 กรัม/กิโลเมตร)
- 2.0 VG Turbo รหัส YM2Q ใช้เทอร์โบแปรผันเดี่ยว ให้กำลัง 180 แรงม้าที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที เมื่อวางในรุ่น Limited 4×4 เกียร์อัตโนมัติ จะปล่อย CO2 189 กรัม/กิโลเมตร (2.2 XLT 4×4 เดิมปล่อย 197 กรัม/กิโลเมตร)
และตัวหลัง โบเดี่ยวเนี่ยล่ะครับ ที่อยู่ใน Ford Ranger Limited ทุกรุ่น และ Ranger Wildtrak ที่เป็นรุ่นขับหลัง Hi-Rider
หลายคนอาจสงสัยว่าการเอาเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาเค้นกำลังระดับนี้ แล้วมันจะทนหรือ? ถ้าบอกว่าไม่ทนแน่นอนก็คงเก่งไปหน่อยครับ ขนาดนอสตราดามุสยังไม่เคยขับ Ranger เลย แต่ถ้าถาม “ความเชื่อ” แบบผม ผมมองว่าถ้าขับแบบปกติก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่ถ้าจะเอามาทำรถแรง ผมยังเชื่อในความจุ 3.2 ลิตรของเครื่องบล็อคเก่าที่รองรับม้าได้ 260-270 สบายๆ แต่เอามาเค้นแค่ 200 ม้า เครื่องทำงานโหลดแบบสบาย แถมมีน้ำมันเครื่องระบายความร้อนให้ตั้ง 9.8 ลิตร ในขณะที่เครื่องตัวใหม่มี 7 ลิตร ถ้าเค้นม้าเท่ากัน สร้างความร้อนจากการทำงานเท่ากัน รถมีน้ำมันเครื่องเยอะก็ได้เปรียบ แต่น้อยคนคงจะรีดเครื่องกันถึงขนาดนั้น
เกียร์อัตโนมัติของ Ranger รุ่นที่ใช้เครื่อง 2.0 “PANTHER” จะเป็นรุ่นใหม่ เพิ่มจาก 6 จังหวะเป็น 10 จังหวะ รหัส 10R80 ซึ่งใช้กับ Ford F150, F150 Raptor และ Mustang เกียร์อัตโนมัติเวอร์ชั่น 2018 มีอัตราทดดังนี้
- เกียร์ 1 4.696
- เกียร์ 2 2.985
- เกียร์ 3 2.146
- เกียร์ 4 1.769
- เกียร์ 5 1.520
- เกียร์ 6 1.275
- เกียร์ 7 1.000
- เกียร์ 8 0.854
- เกียร์ 9 0.689
- เกียร์ 10 0.636
- เกียร์ถอยหลัง 4.866
- อัตราทดเฟืองท้าย 3.740
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ของ Ranger Limited 4×4 เป็นแบบ Part-time 4WD เหมือนกับรุ่น Wildtrak ในมีโหมดขับเคลื่อนล้อหลังปกติ (2L) โหมดขับเคลื่อน 4 ล้อปกติ (4H) ซึ่งไม่ได้ทำมาไว้ใช้วิ่งถนนยางมะตอยแห้งยาวๆ และ 4L ที่เอาไว้ลุย เฟืองท้ายเป็นแบบลิมิเต็ดสลิปที่สามารถปันกำลังบางส่วนจากล้อข้างที่หมุนฟรีไปข้างที่ไม่ฟรีได้ แต่กระนั้น ก็ยังไม่มี Rear Diff-Lock ที่ล็อคการหมุนของล้อคู่หลังให้ไปพร้อมกันได้แบบ Wildtrak
ความแปลกมันอยู่ที่..พอเป็น Wildtrak ขับสอง ดันมี Rear Diff-Lock ให้ ผมว่าไหนๆก็จะเอาใจลูกค้าขับสี่แล้ว ก็น่าจะใจถึงให้มาในรุ่น Limited ด้วย คนที่เขาซื้อรถเน้นลุย แต่ไม่เน้นหรูหรือเท่ เขาก็คงอยากให้มีโดยไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม
การทำงานของเกียร์ จะมีตรรกะที่แปลกประหลาดคาดเดายาก เช่นบางจังหวะ เกียร์จะเปลี่ยนข้ามช็อตจาก 1 ไป 3 ไป 5 แต่บางทีก็ 1, 3, 4 แล้วค่อย 5 ซึ่งระบบจะใช้หลักการคิดโดยคำนึงถึงลักษณะการขับเป็นสำคัญ ถ้ากดคันเร่งมาก แปลว่าคนขับอยากได้ความเร็ว เกียร์ก็จะคิดให้ว่าไล่จังหวะเกียร์ไหน หรือต้องข้ามเกียร์ไหนบ้างถึงจะได้อัตราเร่งที่เร็วที่สุด หรือถ้าขับแบบปกติ มันก็จะพยายามเลือกจังหวะเกียร์ที่ไม่เปลี่ยนบ่อยเกินไป หรือทำยังไงก็ได้ให้เกียร์เปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล
นอกจากนี้ฟังก์ชั่นพิเศษอีกอย่างของเกียร์ใน Ranger ใหม่นี้คือ “SelectShift” ซึ่งมีปุ่ม +/- อยู่ที่หัวเกียร์
- ถ้าคุณใส่เกียร์ไว้ที่ D แล้วกดปุ่ม – หรือ + ให้มองที่จอ TFT ด้านซ้ายของหน้าปัด (อย่างในภาพข้างบน) มันจะเป็นการสั่งเกียร์ว่า ให้ใช้เกียร์ไหนเป็นเกียร์สูงสุด เช่นถ้าผมกดปุ่ม – จนเลขเกียร์บนจอ เหลือแค่ 3-2-1 อย่างในภาพ รถก็จะมีเกียร์ให้ใช้แค่ 3 เกียร์ และไม่เข้าเกียร์ 4 หรือมากกว่านั้นโดยเด็ดขาด ถ้าเทียบกับรถเกียร์ออโต้สมัยก่อนที่แป้นเกียร์มี P-R-N-D-3-2-1 ก็เหมือนกับการเลื่อนมาที่ 3 นั่นล่ะครับ
- แต่ ถ้าคุณใส่เกียร์ S ล่ะก็ ปุ่ม +/- จะทำหน้าที่เป็นสวิตช์เลือกเกียร์ ว่าจะเอาเกียร์ไหน เหมือนโหมด Manual ของเกียร์ออโต้สมัยใหม่หลายตัว
ที่น่าเสียดายคือ เมื่อต้องผสานฟังก์ชั่นหลายอย่างแบบนี้เข้าด้วยกัน และไม่มี Paddle shift ให้อย่างที่ Raptor เขามี คุณต้องอาศัยความชินในการวางตำแหน่งมือและนิ้ว ถ้าต้องการขับให้ได้ไวและเล่นเกียร์ให้ได้ทัน ซึ่งผมว่ามันไม่ถนัดและง่ายเท่าการเล่นเกียร์แบบรถเกียร์อัตโนมัติยุคเก่า หรือรถที่มี Paddle ให้เล่น ครั้นจะใส่ร่องเกียร์ +/- แล้วให้มี Pattern ร่องแบบ P-R-N-D-9-8-7-6-5-4-3-2-1 หน้าตาเกียร์คงน่ากลัวพิลึก
หลังจากร่ายสเป็คกันมายาวยืด ก็ถึงเวลาขับของจริงกันล่ะครับ ในการเดินทางครั้งนี้ Ford เลือกจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีถนนหลากหลายแบบ ทั้งทางตรงยาว ทางในเมืองที่รถติด ทางโค้งพื้นราบ และโค้งแคบลาดชัน วิ่งกันตั้งแต่ตัวเมือง-เชียงของ-ทางดอยตุงเส้นเก่า และแม่สลอง เอากันให้ครบรสชาติ แถมยังให้โอกาสผมได้ลองทั้งรุ่น 213 แรงม้า Bi-turbo ขับสี่ รุ่น 180 แรงม้า Limited ขับสี่ และ Wildtrak ขับหลัง (แต่ผมเลือกเขียนตัว Limited เป็นหลัก ไม่งั้นบทความคงยาวครับ)
พลัง 180 แรงม้าของรุ่น Limited บวกกับเกียร์ 10 จังหวะ บอกได้เลยว่าถ้าคุณไม่วางแผนจะเอาไปไล่แซงกระบะบ้าพลังคันอื่น “โบเดียวก็เปรี้ยวพอแล้ว”
ผมลองนั่งจับเวลาคนเดียว (แต่ตัวหนักกว่า J!MMY+เติ้ง) วิ่งตอนสายอากาศค่อนข้างร้อน Ranger Limited ยังทำตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ประมาณ 11.5-11.7 วินาที (ทดลอง 3 ครั้ง) และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงจบใน 8.4-8.6 วินาที (ทดลอง 4 ครั้ง) ซึ่งถ้าเอามาวิ่งจับเวลาตามมาตรฐานเว็บเราตอนกลางคืนที่อากาศเย็น น่าจะออกมาในระดับใกล้เคียง Hilux Revo 2.8G 4×4, Ranger Wildtrak 3.2 โฉมแรก และลืม Ranger เครื่อง 2.2 ลิตร 160 แรงม้าไปได้เลยครับ แรงดึงต่างกันคนละเรื่องแบบไม่น่าเชื่อว่านี่ม้าต่างกันแค่ 20 ตัว!
แม้ในกราฟแรงบิดเหมือนพละกำลังจะมาเร็ว แต่ในชีวิตจริงถ้าใช้เกียร์ 3 พลังเสริมจากเทอร์โบจะมาให้รู้สึกที่ 1,800 รอบต่อนาที ในขณะที่รุ่น Bi-turbo จะเริ่มดึงตั้งแต่ประมาณ 1,600 รอบต่อนาที แน่นอนครับว่า Bi-turbo พลังมาเร็วกว่าแต่รุ่นเทอร์โบเดี่ยวจะมีช่วงรอบูสท์ให้รู้สึกเหมือนรถเทอร์โบสมัยเก่าบ้าง แต่ที่ว่ารอรอบนี่ก็ยังรู้สึกมีเรี่ยวแรงเหมือน Colorado เครื่อง 2.5VGT และเหนือกว่า D-Max 1.9 หลายขุม ทั้งความเร็วในการมา และการตอบสนองของคันเร่ง
ในการขับแบบปกติ แม้จะมีความรู้สึกหน่วงๆบ้างเมื่อคลานที่ความเร็วต่ำในเมือง และถ้าคุณลังเลกับการกดคันเร่งในช่วงออกตัว (กดๆแล้วแต่ปล่อย หรือปล่อยแล้วแต่เปลี่ยนใจกดเพิ่ม) มันจะกระตุกแรงเวลาเปลี่ยนเกียร์ แต่ถ้าไม่นับสองจุดนี้ ผมว่าการเปลี่ยนเกียร์ทำได้นุ่มนวลและว่องไวสมกับที่เป็นเกียร์โลกใหม่ของรถกระบะ เวลาคิดจะบู๊ก็คิกดาวน์ลงไป มันจะหน่วงแค่ช่วงออกตัว แต่ถ้าลอยลำแล้วค่อยกด เกียร์สนองเท้าได้ไวจนน่าพอใจ
และดูเหมือนว่ามันจะดีที่สุด ถ้าปล่อยให้อยู่เกียร์ D ไปอย่างนั้น เพราะเมื่อลองใช้โหมดเล่นเกียร์เอง..อยากบอกว่ารำคาญสุดๆครับ เพราะเวลาขับบนเส้นทางดอยตุงเก่า บางทีพ้นโค้งมาก็เจอทางลาดลง เราอยากจะเข้าเกียร์ 2 ก็ต้องเอามือควานหัวเกียร์ให้เจอแล้วกดปุ่ม กดเสร็จกว่าเกียร์จะเปลี่ยนลงให้ ก็ช้าเกินไปแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเกียร์ที่อยู่โหมด D แล้วทำตัวน่ารัก พอเล่นเกียร์เองกลับเฉื่อนชาเหมือนเด็กประถมไม่ยอมตื่น
ครั้นใช้โหมด D และจำกัดจังหวะเกียร์ไว้ที่ 4-3-2-1 ก็พบว่าบางครั้งเกียร์จะเลือก 4 ในเส้นทางที่คุณอยากจะใช้ 2 ก็ต้องเอื้อมมือมากด – แบบต่อเนื่อง และเช่นเคย มันคิดนานมากกว่าจะทำตามที่เราต้องการ ดังนั้นถ้าจะขับบนเขา ก็เล่นโหมด Manual แล้วหักดิบคาเกียร์ต่ำไว้นั่นแหละปลอดภัยสุด
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า ซึ่งในโลกกระบะไทย ณ ปัจจุบัน จะมีแค่ค่ายอเมริกันอย่าง Ford และ Chevrolet เท่านั้นที่ใช้ ที่ความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนักเบาชนิดน้องๆวง BNK48 ก็ขับได้สบาย แต่ที่ความเร็วสูงก็จะค่อยๆปรับน้ำหนักให้หนืดขึ้น รุ่นโมเดล 2015 เซ็ตมาดีอย่างไร รุ่นนี้ก็มาในอารมณ์เดียวกัน ซึ่งเอาใจทั้งคนรักสบายและคนชอบขับทางไกล แรงดีดกลับ และการส่งอาการ เป็นธรรมชาติกว่าพวงมาลัยของ Chevrolet ชัดเจน แต่ถ้าคุณเป็นสายกระบะยุคเก่า คุณอาจจะชอบน้ำหนักที่เป็นไฮดรอลิกธรรมชาติและส่งอาการถนนได้ชัดเจนแบบ Hilux Revo มากกว่า
ระบบเบรก เป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ตามวิสัยกระบะทั่วไป มีระบบป้องกันล้อล็อค ABS มาให้ อุปนิสัยของแป้นเบรก ดูเหมือนจะต่างจากรุ่นปี 2015 เพราะแต่เดิมนั้น Ranger เป็นรถที่ต้องกดเบรกลึกผ้าเบรกถึงจะจับจานเบรกแล้วหน่วงความเร็ว รุ่นใหม่นี้รู้สึกได้ว่าไม่ต้องกดลึกเท่าเดิมและสามารถกำหนดความหนัก/เบาในการลงแรงเบรกได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังติดนิสัยหนืดๆเท้าแบบเบรกรถฝรั่งอยู่หน่อย บางท่านขับแล้วอาจจะไม่รู้สึกแบบผมก็ได้
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ อิสระ Double Wishbone with Coil Spring ส่วนช่วงล่างด้านหลัง แหนบซ้อน Leaf Spring มีการเช็ตช่วงล่างใหม่ เพื่อรองรับกับเครื่องยนต์ที่น้ำหนักเบาลง รวมถึงความตั้งใจที่จะเช็ตมาเอาใจคนส่วนใหญ่มากขึ้นด้วย
ช่วงล่างด้านหน้า เป็นแบบอิสระปีกนกคู่ รับน้ำหนักรถด้วยคอยล์สปริงและมีเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแหนบแผ่นซ้อนกับช่วงล่างคานแข็งแบบปกติ ทีนี้ ตามที่คุณหมูเคยเล่าให้ฟังตอนไปลองขับ 2.0 Bi-turbo เขาบอกว่านุ่มขึ้นมาก ความจริงก็คือ Ford ลงทุนเซ็ตช่วงล่างใหม่เกือบหมดให้กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ PANTHER
- โช้คอัพหน้า และหลัง เป็นของใหม่ เซ็ตขึ้นมาใหม่
- สปริงหน้า ใหม่ ต่างจากตัว 2.2 เดิม
- เหล็กกันโคลงหน้า ลักษณะการเดินเส้น ต่างจากเดิม
โดยเป้าหมายในการเซ็ตนั้น เขาบอกว่า “เพื่อให้เข้ากับน้ำหนักและศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์ใหม่” แต่ความจริงเมื่อลองขับ ผมพบว่าจากเดิมที่เคยขับ 140-150 แล้วยังนิ่งแน่นแบบข้าไม่มีวันตาย มาคราวนี้ เริ่มมีอาการโยกไหวนิดๆ หรือถ้าเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูงระดับหาพระแสงแล้ว อาการยวบจะมากกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นการโยนเข้าโค้งแรงๆและใช้ความเร็วไม่เกิน 80 อาการจะคล้ายเดิม มีสิ่งที่ต่างคือหากเทียบกับรุ่น 3.2 ซึ่งบอดี้หนัก 2,220 กิโลกรัม จะรู้สึกว่าแม้ 2.0 จะหน้ายวบกว่านิดๆ แต่ล้อกลับยึดเกาะและดึงหน้ารถไปตามสั่งได้ไวและคล่องกว่า
ผลดีอีกประการที่ได้มาคือความนุ่มนวล ผมอาจจะไม่ถึงกับบอกว่านุ่มมาก แต่มันทำให้ Ranger ใหม่สามารถวิ่งบนถนนขรุขระได้สบายขึ้น สบายจนรู้สึกว่าผมยินดีที่จะใช้รถคันนี้รับคุณแม่วัย 75 เที่ยวต่างจังหวัดแล้วไม่สงสารท่าน ซึ่งถ้าเป็น Ranger T6 โฉมแรก ผมจะไม่คิดแบบนี้ และเมื่อลองไปวิ่งบนถนนแบบขรุขระ ยิ่งสัมผัสได้ว่าการเก็บแรงสะเทือนทำได้ดีกว่าเก่า กลายเป็นว่าชั่วโมงนี้ Ranger คือรถกระบะที่สามารถเอาดีได้ทั้งเรื่องความเกาะถนน ความมั่นใจ และความสบาย ทุกอย่างภายในคันเดียวจบๆแบบไม่มีใครเหมือน
เรื่องการเก็บเสียงนั้น ถ้าเป็นเสียงจากเครื่องยนต์ และพื้นล่างของรถ Ranger ใหม่ในตัว Limited ทำได้ดีจนผมว่าไม่ต้องปรับปรุงอะไรเพิ่ม แต่ถ้าวิ่งเร็วๆระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงจากขอบประตู และเสียงลมกรีดจากชุดกันสาดกระจกนั่นล่ะที่จะดังเข้ามาให้รู้สึกรำคาญนิดๆ ส่วนรุ่น Wildtrak นั้น มีระบบ Active Noise Cancellation ที่หลอกหูให้รู้สึกว่าเสียงรบกวนน้อยกว่า ก็พอจะสัมผัสได้ แต่ที่แปลกก็คือ เสียงเครื่องยนต์และเสียงคำรามจากท่อไอเสีย รถ Bi-turbo 213 แรงม้ากลับรู้สึกเงียบกว่ารถเทอร์โบเดี่ยวนิดๆ
ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองนั้น เราไม่มีโอกาสในการทดสอบวิ่งแบบนิ่งๆที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงยาวๆเลย เพราะใครได้ขับ Ranger ก็อยากจะซัดหนักกันเท่าที่จะไม่ชนใครตาย เราจึงใช้ความเร็วกันสูงกว่าปกติ บางช่วง 120 และเมื่อขับบนเขา พวกเราในรถทั้งสามคน พี่ริชชี่ พี่สินชัย และผม ไม่มีใครอยากเล่นเกมประหยัดน้ำมันกัน ดังนั้นจึงขับกันตามสบาย เร็วบ้างช้าบ้าง ในการขับแบบนี้ Ranger Limtied 4×4 ทำได้ 10.8 กิโลเมตร/ลิตรตามตัวเลขบนหน้าปัด ซึ่งถ้ามาตรวัดมันซื่อสัตย์จริง ผมถือว่าประหยัดไม่เลวทีเดียว ยิ่งถ้าเป็นตัว Wildtrak ขับหลังที่น้ำหนักเบากว่า พวกเราทำได้ 11.1-11.3 กิโลเมตรต่อลิตรเลยด้วยซ้ำ
เชื่อว่าถ้าได้ลองนำมาทดสอบตามมาตรฐานของเว็บเรา ตัวเลขระดับ 12 กิโลเมตรต่อลิตร น่าจะมีให้ลุ้นกันได้ แต่ไม่น่าจะข้ามไปหลัก 15 กิโลลิตรแบบ D-Max ยกสูงขับหลังตัว 1.9 ที่เราเคยทดสอบ
ส่วนระบบความปลอดภัยนั้น ประกอบไปด้วย
- ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
- เบรก ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD
- กล้องมองหลัง
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP)
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัด HLA
- ระบบช่วยทรงตัวขณะลากจูง (TSC ) และระบบป้องกันความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ (ROM)
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (HDC) * มีเฉพาะ Limited 4×4
ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ค่อนข้างดีสำหรับกระบะไทยราคา 900,000-1,000,000 ต้น โดยของ 6 อย่างหลังนั้นคือสิ่งที่คุณจะได้เพิ่มมาจากรุ่น XLT ผมถึงบอกไงครับว่ารุ่น Limited นี้คือตัวเลือกที่เหมาะเลย กับนักขับเท้าหนักที่ไม่ได้สนเรื่องความเท่แบบ Wildtrak
อย่างไรก็ตาม คุณจะไม่ได้อุปกรณ์ความปลอดภัยขั้น Advance อย่างใน Wildtrak 4×4 นะครับ ไม่มีถุงลมข้างและม่านนิรภัย ไม่มีระบบตรวจจับคนเดินถนน ระบบ Adaptive Cruise Control ระบบเตือนการชนด้านหน้าและเบรกอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ ระบบ Lane Keeping Assist ระบบจอดเทียบทางเท้าอัตโนมัติ และไฟสูงอัตโนมัติ ถ้าอยากได้พวกนี้ เชิญเป็นหนี้แล้วไปขี่ Wildtrak และต้องรุ่น 4×4 ครับ
****สรุป*****
****เรี่ยวแรงใช้ได้ ขับดี ลดความเก๋ลงจาก Wildtrak แต่มาในราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่า****
สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการเอื้อมมือไปแตะซูเปอร์สตาร์อย่าง Ford Ranger Raptor ค่าตัว 1.7 ล้าน คุณอาจจะพบว่า Wildtrak 4×4 มีทุกอย่างที่คุณต้องการ และลดความเท่เก๋ไก๋ลงมาหน่อย แต่ประหยัดเงินไปอีกเยอะ และในขณะเดียวกัน เมื่อคุณนำ Ranger Limited 4×4 ไปเทียบกับ Wildtrak 4×4 คุณก็จะได้ข้อสรุปที่มีแนวทางใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะยอมไหมกับการขับรถที่หน้าตาธรรมดาติดดินมากขึ้น ภายในดูธรรมดา วัสดุบางจุดดูราคาถูกลง แต่ก็ยังถือว่าดูดีเมื่อเทียบกับปิคอัพรุ่นอื่นๆในตลาด?
เครื่องยนต์ Panther 180 แรงม้าบล็อคนี้มีพละกำลังดีตั้งแต่ 1,700 รอบต่อนาทีเป็นต้นไป แม้ไม่ติดบูสท์และพุ่งไวเท่ารุ่น Bi-Turbo แต่ไม่หนืดและเหนื่อยเหมือน Isuzu 1.9 ลิตรแน่นอน ถ้าจะให้พูดจริงๆ มันมีนิสัยการแสดงออกที่คล้ายเครื่อง 2.5 ลิตรมาก ขนาดผมเป็นคนขับรถเร็ว มาลองขับดูก็ไม่รู้สึกหงุดหงิด ถ้าเทียบกับปิคอัพยอดนิยม ผมว่ามันเร่งได้เร็วใกล้เคียง Hilux Revo 2.8 ลิตรและกระทั่ง Ranger Wildtrak 3.2 T6 โฉมแรก ซึ่งนั่นก็น่าจะพอแล้วสำหรับคนใช้รถกระบะส่วนใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้นระบบส่งกำลัง 10 จังหวะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าคุณใส่เกียร์ D แล้วปล่อยให้มันทำงานของมัน ไม่ว่าจะใช้ความเร็วเท่าไหร่ พ่อคุณมีอัตราทดที่เหมาะสมมาคอยรองรับได้ตลอด อาการงงเกียร์จนเปลี่ยนกระตุกก็มีบ้างแต่โอกาสเกิดไม่เยอะส่วนการขับแบบเล่น Manual Mode บอกเลยว่าไม่ประทับใจ เพราะนอกจากปุ่ม +/- จะใช้งานยากแล้ว เกียร์ก็ตอบสนองชักช้าไม่ทันใจ จนไม่อยากเชื่อเลยว่านี่คือเกียร์ลูกตะกี้ที่ใส่ D วิ่งแล้วดีเป็นบ้า
ช่วงล่าง..น่ารักน่าเทิดทูนราวรักแรกของชีวิตมหาวิทยาลัย การที่ Ford ลงทุนเซ็ตใหม่ยกชุด ทำให้มันเป็นรถที่วิ่งบนถนนขรุขระแล้วสบายขึ้น อาจจะไม่ต่างจากรถปี 2015 แบบชัดเจนแต่ถ้าเทียบกับ Ranger 4 สูบโฉมแรกจะพบว่ารถรุ่นล่าสุดนี้นุ่มสบายกว่า เมื่อหักเลี้ยวโค้งอย่างรุนแรงก็เอาอยู่หมัด แต่ช่วงความเร็วสูงเกิน 140 ขึ้นไปจะมีอาการหน้าเบากว่ารุ่นที่แล้ว กระนั้นก็เถอะ ในโลกของปิคอัพประเทศไทย ถ้านับทั้งเรื่องช่วงล่าง เบรก และพวงมาลัยรวมกัน ยังไม่มียี่ห้อใดรุ่นไหนที่ให้ความมั่นใจบนความเร็วระดับหาพระแสงได้มากเท่า Ranger อยู่ดี
ในด้านอื่นๆนอกเหนือจากสมรรถนะและการขับขี่ Ranger Limited ใหม่อาจจะไม่มีจุดอื่นที่นับว่าโดดเด่นมากสำหรับราคา 1,029,000 บาท เบาะคนขับไม่ได้ปรับด้วยไฟฟ้า แดชบอร์ดไม่ได้บุนุ่ม ไม่มีระบบนำทาง เรื่องความสบายในห้องโดยสารนั้น หากเป็นผู้โดยสารตอนหน้า ก็ถือว่าฟัดกับคู่แข่งได้อยู่ ส่วนความสบายสำหรับคนนั่งเบาะหลัง ในเรื่องพื้นที่เหนือศีรษะ กับที่วางขา ไม่มีอะไรให้ติแบบแรงๆถ้าเทียบกับรถคลาสเดียวกัน แค่ยังไม่สบายสุดเท่า Triton เวลานั่ง
นอกจากนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า Ford พลาดโอกาสดีๆ คือการให้ถุงลมนิรภัยมาแค่ 2 ลูก เท่ากับ Ranger ตอนเดี่ยวรุ่นถูกสุดราคา 559,000 บาท ซึ่งถ้าเพิ่มถุงลมด้านข้างหรือม่านถุงลมให้ครบๆ ก็จะถือว่ามีระบบความปลอดภัยคุ้มค่ากับราคาของรถมากขึ้นของดีอีกอย่างที่ไม่น่า..ไม่น่าเอาออกเลยคือระบบ Rear Diff-Lock ซึ่งรุ่น Limited 4×4 ไม่มี แต่ Wildtrak ทั้งรุ่นขับหลังและขับสี่ดันมีให้ครบ กลายเป็นว่าแทนที่ Limited 4×4 จะตอบโจทย์คนรักการลุยโหดๆที่ไม่สนเรื่องออพชั่นเท่ได้ 100% ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะเพิ่มเงินอีกสองแสนกว่าบาทไปจับ Wildtrak เพียงเพื่อ Diff-Lock อย่างเดียว
แต่ถ้ามองในแง่การมองหารถกระบะชนิด “Sensible Buy” สำหรับการใช้งาน ไม่ใช่การขับไปโชว์เพื่อน อัปเป็นรูปอวาตาร์ใน Facebook หรือเว็บบอร์ดไว้ข่มคนอื่น ปรินท์เป็นภาพมาติดไว้เชิดชูบนฝาผนัง หรือเอาไปกระโดดเนินไล่จิงโจ้จิ้งจอกที่ไหน Ford Ranger Limited 4×4 เทอร์โบเดี่ยวคือทางเลือกใหม่ที่ Ford นำมาสอดแทรกระหว่าง XLT กับ Wildtrak ได้อย่างเหมาะสมแล้วในความคิดของผม มันมีเรี่ยวแรงที่ “พอ” ช่วงล่างที่ “พอ” อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ “พอ” เมื่อเทียบกับงบประมาณที่คุณจ่าย มีระบบช่วยเหลือด้านการเกาะถนนและการทรงตัว ซึ่งผมมองว่าคนใช้ปิกอัพ และขับรถเร็ว “ต้องมี”
ดังนั้น ว่ากันที่ตัวรถแบบเพียวๆ ผมกล้าบอกเลยว่า Ranger Limited เป็นกระบะจากค่าย Ford รุ่นแรกที่ผมรู้สึกโอเค และมีความรู้สึกอยากจะซื้อไว้ใช้งานเองจริงๆ! ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์อย่าง Wildtrak หรือ Raptor หรอกครับ มันมีทุกอย่างที่ผมต้องการแล้วในงบประมาณขนาดนี้ กับรถกระบะประเภทที่ไว้ใช้วิ่งไกลๆด้วยความเร็วสูงแล้วไม่เหนื่อยกายเหนื่อยจิต
ตัวเลือกเดียวที่ดูจะน่าสนใจไม่แพ้กันจากบรรดาค่ายกระบะอินดี้ก็เห็นจะมีแต่ Ranger Wildtrak Hi-Rider ขับหลัง ซึ่งใช้เครื่อง 180 แรงม้าเหมือนกัน รถเบากว่า อัตราเร่งเร็วกว่า ประหยัดน้ำมันกว่านิดๆ มีอุปกรณ์ติดรถมากกว่า มีถุงลมหกใบ ตกแต่งมาสวย ราคา 1,029,000 บาท เท่ากันกับ Limited เป๊ะๆ แค่ไม่มีระบบขับสี่ (แต่มี Rear Diff-lock มาให้) หรือ..ถ้าจะเน้นความพอเพียง ไม่ต้องใช้ขับสี่ ไม่ต้องมี Diff-lock และไม่เน้นเท่ ก็ยังมีรุ่น Limited Hi-Rider ขับหลัง ราคา 949,000 บาทให้เลือกอีก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมยังต้องขอให้คุณผู้อ่านคิดเผื่อไว้อยู่บ้าง ก็คือเรื่องของการใช้งานในระยะยาว รวมถึงบริการหลังการขาย ซึ่งมีความสำคัญสัมพันธ์กับอัตราส่วนในการใช้รถและความรู้ความเข้าใจในรถยนต์ของผู้ใช้ คนที่ต้องใช้งานรถปีละ 50,000 กิโลเมตร ต้องเจอช่าง เจอบิลค่าบริการบ่อยและหนักกว่าคนที่ใช้รถปีละ 20,000 กิโลเมตร ก็ควรจะต้องเลือกรถและทีมบริการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นเดียวกับ คนที่ใช้อย่างเดียวโดยไม่มีความรู้เรื่องรถ ก็ไม่ควรอยู่กับรถที่มีความซับซ้อนหรือมีโอกาสเสียบ่อย แต่ถ้าคุณเป็นคนที่หาเพื่อนมาช่วยซ่อมได้ มีความรู้ ใช้รถปีละไม่เยอะ กระบะสายอินดี้ก็จะน่ากลัวน้อยลงถ้าคิดจะซื้อ
นอกจากนี้ความน่าเชื่อถือ และความคงทนของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ซึ่งทาง Ford เองก็บอกว่าก่อนที่จะนำมาขายในไทย ก็ได้นำไปใช้ในรถ Ford Transit มาก่อนแล้ว ส่วนเกียร์ 10 จังหวะนั้นก็มีทั้งใน Ford F-150 และ Mustang ดังนั้น ไม่ต้องห่วง
แต่ท้ายสุด เวลา บวกกับส้นเท้าของชาวไทยเท่านั้นที่จะช่วยตอบคำถามข้อนี้ได้ เพราะเชื่อผมเถอะ ไม่มีบริษัทรถเจ้าไหนพูดว่าของตัวเองเปราะ ไม่ทน มันเป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ และเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อจะต้องบริหารความเสี่ยงกันเอาเองระหว่าง “ซื้อก่อนโก้ก่อน” กับ “รอดูเพื่อความชัวร์” หรือถ้าใครมาถาม ผมก็ไม่สามารถฟันธงได้หรอกครับว่าระหว่างเครื่องบล็อค Puma ที่จุกจิกแต่อยู่มานานจนคนรู้นิสัยรู้จุดอ่อนกันหมด กับ Panther บล็อคแต่เค้นแรงได้มาก ระยะยาวใครจะจ่ายค่าซ่อมถูกกว่ากัน ถามนอสตราดามุส เขาก็คงบอกว่าตูไม่เคยขับ Ranger แล้วจะตอบได้ไงฟระ
มันมีหลายเรื่องครับที่พวกเรานักรีวิวรถตอบได้ไม่หมด เรื่องนี้ก็คงเป็นหนึ่งในนั้น
—–////——
ขอขอบพระคุณ บริษัท Ford Sales (Thailand) จำกัด สำหรับการเชิญเข้าร่วมทริปทดสอบ
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 23 สิงหาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 23 August 2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE !