สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รัก
ที่จริงผมอยากเขียนบทความลักษณะนี้มาสักพักแล้ว แต่ก็กลัวแฟนๆประจำ Headlightmag
จะเกิดคำถามว่า “เฮียจะเขียนทำไมครับ” เพราะสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับรถยนต์
ซึ่งคนเล่นรถน่าจะรู้กันอยู่แล้ว และหนังสือกับนิตยสารหลายเล่มก็เขียนไปแล้ว..จนกระทั่ง
ในช่วงหลังมานี้เองครับที่ผมเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเราหลายคนในแฟนเพจ Facebook
ของ Headlightmag มากขึ้นและได้คุยกับคนอ่านรุ่นน้อง (อันที่จริงก็น่าจะเรียกว่ารุ่นหลานแล้ว)
อายุอานามมีตั้งแต่วัยทำงานไล่ย้อนไปจนถึงวัยเด็กชนิดยังไม่มีใบขับขี่ด้วยซ้ำ ในการพูดถึงรถ
หลายโอกาส ผมมักเขียนตอบ Chat ด้วยตัวย่อเช่น FR, MR, หรือ FF แล้วก็จะโดนถามกลับมาว่า
“FF คืออะไรครับพี่แพน?”
ถ้าเป็นผมในโหมดปกติอาจจะตอบไปว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง” พลางแอบคิดว่าเห้ย
เอาจริงดิน้อง น้องเล่นรถคุยกับพี่ได้เยอะขนาดนี้ไม่รู้จัก FF,FR อะไรทำนองนี้หรือ?
แต่แทนที่จะมานั่งโทษเด็กว่าทำไมไม่รู้จักหาความรู้ ผมมองว่าถ้างั้นเราก็มานั่งจับไข่คุยกัน
อีกรอบดีกว่า ผมคิดเช่นนั้นล่ะครับ โลกนี้มันมีผู้ใหญ่ฉลาดที่นั่งบ่นนั่งว่าเด็กโดยไม่ทำอะไร
มากไปกว่านั้นเยอะพอแล้ว ดังนั้นถ้าคุณท่านที่กำลังอ่านอยู่เป็นคอรถที่รู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว
ผมบอกเลยว่าปิดบราวเซอร์นี้ลงเลยก็ได้ ชีวิตคุณไม่ต่างจากเดิมแน่นอน ขอให้พื้นที่ตรงนี้
เป็นเสมือนโรงอาหารใต้ตึกให้ผมนั่งดื่มแฟนต้าน้ำเหลืองคุยกับน้องๆและเพื่อนๆคนที่เขายัง
ต้องการความรู้ในจุดนี้ก็แล้วกันนะครับ
โชคดีอีกอย่าง ในจังหวะเดียวกันนี้ทาง Chevrolet ประเทศไทยก็ส่งเอกสารทาง e-Mail
มายัง J!MMY โดยมีการกล่าวสรุปเรื่อง “การทำงานของระบบขับเคลื่อนแบบต่างๆ” ที่สั้น
และได้ใจความ J!MMY ฟอร์เวิร์ด e-Mail นั้นมาให้ผม “ขอวันนี้ ไม่ก็พรุ่งนี้” (Sardddd)
ผมจึงขออนุญาตที่จะนำบทความต้นฉบับของ Chevrolet มาดัดแปลง ทำซ้ำ และส่งตามสายเคเบิ้ล
ในถ้อยคำของผมพร้อมทั้งเพิ่มเนื้อหาเข้าไปอีกที เพื่อที่วันนี้ และวันหน้า เราจะได้รู้เท่ากันไงครับ
อ้อ แล้วก็คุณผู้หญิงที่มีแฟนบ้ารถ ฟังเขาพูดแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง พอให้อธิบายก็ไม่ว่าง
อธิบาย มัวแต่กดมือถือหรือหนีไปตี Snooker ..คุณก็อ่านบทความนี้ได้เช่นกัน อ่านจบเสร็จ
อย่าลืมเอาไปพูดบ่อยๆให้แฟนเหวอไปเลยนะ เอาใจช่วย
– – – – – –
เมื่อพูดถึงคำว่า “รูปแบบของรถ” หลายท่านอาจจะนึกถึงคำว่า 4 ประตู, 5 ประตู, SUV, PPV,
ซีดาน ซาลูน ซาเล้ง ซึ่งนั่นก็ถูก มันคือการจำแนกประเภทรถตามจำนวนประตูหรือรูปทรงกับ
ประเภทการใช้งานของตัวรถ แต่หากมองในเชิงกลยุทธ์การเลือกวางระบบขับเคลื่อน อันเป็น
ที่มาของตัวย่อ FF, FR, MR เหล่านี้ จะจัดประเภทโดยมองจาก 2 สิ่งได้แก่
1) ตำแหน่งและลักษณะการวางเครื่อง
2) ระบบขับเคลื่อน
ซึ่งเราจะมาดูทีละหัวข้อดังนี้
1. ตำแหน่งและลักษณะการวางเครื่อง
ซึ่งก็หมายถึงจุดที่วิศวกรเลือกที่จะติดตั้งเครื่องยนต์ลงไปโดยวัดเทียบกับบอดี้ของรถและ
แนวแกนล้อหน้าหรือหลัง ถ้านึกไม่ออกว่าแนวแกนล้อตามขวาง (Track) คืออะไร ให้ลองนึกถึง
รถไม้ติดล้อลากที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้เราลากเล่นตอน 2-3 ขวบครับ แกนที่เป็นแท่งยาวยึด
ระหว่างล้อซ้ายกับขวาเข้าด้วยกัน นั่นแหละครับคือ Track ที่จริงจะพูดในเชิงทฤษฎีให้เยอะ
กว่านั้นก็ได้ แต่สำหรับความเข้าใจหลัก ว่ากันเท่านี้ก่อน
1.1 วางเครื่องไว้ข้างหน้า (Front-Engine)
เป็นรูปแบบสามัญประจำโลกที่สุดมาหลายทศวรรษแล้ว การวางเครื่องข้างหน้านั้น
มีความง่ายในการออกแบบ เหมาะสมกับรถใช้งานทั่วไปเพราะส่งผลให้มีเนื้อที่ข้างในรถ
เหลือเฟือ สามารถออกแบบให้มี 4-5 ที่นั่งแบบรถทั่วไปหรือยิงยาวไปจนสุดท้ายรถแบบพวก
สเตชั่นแวก้อนเลยก็ได้ เครื่องวางหน้าในปัจจุบันจะมี 3 ลักษณะคือ
A) ตามแนวขวาง – แบบเดียวกับรถ EcoCar และรถญี่ปุ่นทั่วไปตามท้องถนน
B) วางตามยาว – มักพบได้ในซาลูนยุโรปหลายรุ่นเช่น BMW และ Mercedes-Benz
1.2 วางเครื่องไว้ด้านหน้า แต่อยู่หลังแนว Track ล้อหน้า (Front-Midship)
เรามักไม่พบการวางเครื่องลักษณะนี้ในรถทั่วไปเพราะการจะวางเครื่องทั้งตัวให้อยู่หลัง
แนวแกนล้อหน้าได้นั้น ตัวเครื่องจะต้องสั้นมาก ถ้าไม่สั้นมาก หน้ารถก็จะต้องยาวมากจน
อาจทำให้เสียความคล่องตัวในการขับ หรืออาจทำให้ผู้ขับทั่วไปขับแล้วรู้สึกไม่ถนัด แต่การวาง
เครื่องในลักษณะนี้ ช่วยให้ตัวรถมีการกระจายน้ำหนักที่ดี เวลาซัดแบบโหดๆก็จะมีการแสดง
อาการตัวรถอย่างเป็นธรรมชาติ รถอย่าง AMG GT, GT-R R35, Ferrari F12 Berlinetta และ
Mazda RX-8 ล้วนแต่เป็นรถวางเครื่องแบบ Front-Midship
ไม่ต้องถามหารถ Front-Midship เครื่องวางตามขวางนะครับ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ารถอะไร
เพราะ Front-Midship ส่วนมากต้องส่งกำลังผ่านเพลากลางไปสู่ล้อหลัง จึงต้องวางเครื่องตาม
แนวยาว (Longtitutional) กันหมดอยู่แล้ว
1.3 วางเครื่องไว้กลางลำ (Mid-Engine, หรือ Midship)
รูปแบบดังกล่าวนั้นเริ่มฮิตกันจริงๆตั้งแต่การปรากฏตัวของเจ้า Lamborghini Miura เมื่อราว
50 ปีก่อน โดยในเชิงวิศวกรรมนั้นเขาว่าถ้าคุณเอาของที่หนัก (เครื่องนั่นแหละ) ไปไว้ตรงกลางรถ
มันจะเป็นจุดที่ให้บาลานซ์ดีที่สุดเพราะน้ำหนักอยู่ที่จุดหมุนของตัวรถ แต่พอเอาเข้าจริง มันก็
ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปหรอกครับ รถเครื่องวางกลางลำหลายรุ่นขับไม่ง่ายเพราะที่ความเร็วต่ำ
มันเลี้ยวตามสั่งได้ดี เวลาเบรกหัวทิ่มน้ำหนักตกหน้าก็ไม่เยอะเท่าพวกเครื่องวางหน้า แต่ก็
ต้องระวังการกดคันเร่ง โดยเฉพาะบนพื้นเปียกหรือฝุ่น เพราะเวลามันหลุดทีนึง มันไปทั้งคันนะครับ
ผมนี่แหละทำ MR2 SW20 หมุนมาแล้ว รถ 2 คัน หมุน 2 ครั้ง
รถเครื่องวางกลางลำนั้นก็มีทั้งแบบวางตามขวาง (MR2 ทั้ง 2 รุ่นและ MR-S รวมถึง NSX โฉมแรก)
และวางกลางลำตามยาว (Ferrari 355,360,430,458, 488, F40, Lamborghini Gallardo,
Aventador) โดยพวกที่วางขวางนั้นมักจะเป็นรถเครื่อง 4 สูบหรือ V6 ที่มีขนาดเล็ก พอจับมาวาง
แล้วหันขวาง ทำให้กินพื้นที่น้อย ออกแบบรถให้เล็กและสั้นลงได้ (รู้สึกว่าจะมี Lamborghini
Miura นั่นล่ะที่เป็น V12 แล้วยังทะลึ่งวางขวาง กับ Ferrari 308, Mondial ที่เป็น V8 วางขวาง)
1.4 วางเครื่องไว้ท้ายรถ (Rear-Engine)
เป็นรูปแบบที่วิศวกรยานยนต์หลายคนบอกว่าอันตราย เพราะเหมือนเอาลูกตุ้มหนักๆไปแขวน
ไว้ท้ายรถ เวลาจัดทรงรถเพื่อเข้าโค้งต้องกระทำอย่างระมัดระวัง รถเครื่องวางหลังนี้หน้ารถ
มักจะเบา (ก็มันไม่มีเครื่องอยู่นี่หว่า) หากกดคันเร่งเข้าโค้ง ยางหน้าจะสัมผัสพื้นไม่เต็ม
ดังนั้นต้องกดเบรกในระดับที่พอเหมาะแค่เพื่อให้หน้ารถมีน้ำหนักกดลงไปและยางแนบกับพื้น
ได้ดี แต่ถ้าคุณเลี้ยวมากหรือเบรกแรงไป รถก็จะเริ่มท้ายออก ความบรรลัยจะเกิดก็เพราะ
ไอ้ตุ้มน้ำหนัก (เครื่อง) ที่แขวนอยู่ท้ายเนี่ยล่ะครับมันพาตัวรถกวาดไปทั้งคัน รถอย่าง Chevrolet
Corvair สมัยก่อนที่ลงข้างทางกันเยอะเพราะแบบนี้ และช่วงล่างหลังก็ไม่ดีพอ รถเครื่องวางหลัง
ที่มีชื่อเสียงอย่าง Porsche 911 ในยุคแรกๆก็ได้ชื่อว่ารักต้นไม้ รักสองข้างทางเหมือนกันจน
Porsche ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ปรับปรุงรถมาจนเริ่มพยศน้อยลงในสมัยบอดี้ 993
ต้องใช้ยางหลังที่โตกว่าด้านหน้าและช่วงล่างหลังมัลติลิงค์ดีๆมาช่วย ในปัจจุบันนี้มีระบบ
อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยอีกจึงทำให้รถเครื่องวางหลังอย่าง 911 ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป
แถมยังน่ารักตรงที่พอเครื่องอยู่ท้ายปุ๊บ ห้องโดยสารก็ออกแบบให้กว้างได้มากกว่ารถเครื่อง
วางกลางลำ มีที่ให้เอนเบาะหรือวางกระเป๋าเอกสารข้างหลังได้
2. ระบบขับเคลื่อน
จากเรื่องตำแหน่งและลักษณะการวางเครื่องแล้วก็มาถึงระบบขับเคลื่อน หรือ “ล้อไหนที่ทำ
หน้าที่หมุนๆผลักหรือดึงให้ตัวรถเคลื่อนที่ได้” นั่นล่ะครับ
2.1 ขับเคลื่อนล้อหน้า (Front-Wheel Drive หรือ FWD)
ปราดตามองไปยังบรรดารถเก๋งด้านหน้าคุณเวลาขับบนถนนเมืองไทย (ไม่นับกระบะและPPV)
พนันได้เลยว่าอย่างน้อย 70% ของรถที่เห็นจะเป็นรถขับหน้าครับ รถขับหน้าก็คือใช้ล้อคู่หน้า
เนี่ยแหละรับภาระทั้งการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา และยังรับกำลังจากเครื่องยนต์มาหมุนล้อ
ดึงให้ตัวรถเลื่อนไปข้างหน้าด้วย ข้อดีคือเครื่องก็มักจะอยู่หน้า เกียร์ก็มักจะอยู่ข้างหน้า
ชุดขับเคลื่อนมักมีขนาดเล็ก น้อยชิ้น และเบา ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงและมีอัตราเร่งออกตัว
ว่องไวเพราะไม่ต้องเปลืองแรงส่วนหนึ่งไปกับเพลากลางชิ้นโตไงครับ
2.2 ขับเคลื่อนล้อหลัง (Rear-Wheel Drive หรือ RWD)
เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับข้อ 2.1 ระบบขับเคลื่อนแบบนี้จะส่งกำลังไปที่ล้อคู่หลัง
รถขับหลังนั้นเป็นรูปแบบที่มีมาช้านานมาก ถือว่าเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนที่คลาสสิค ถ้าคุณ
หยิบหนังสือรถยุค 60-70s มาอ่านเล่น รถส่วนใหญ่จะเป็นรถขับหลังครับ ข้อดีของรถขับหลัง
ก็คือความสนุกบันเทิงในการขับขี่ เพราะในขณะที่รถขับหน้านั้นมีการใช้ล้อหน้าทำหน้าที่ทั้ง
เลี้ยวและส่งแรงขับเคลื่อน บางครั้งแรงขับเคลื่อนนั้นจะมารบกวนอาการของพวงมาลัยได้
ในขณะที่รถขับหลังนั้น ล้อขับเคลื่อนก็ขับไป ล้อที่เลี้ยวก็เลี้ยวไป ฟีลลิ่งที่ได้จากพวงมาลัยจึง
เต็มเม็ดเต็มหน่วยและเป็นธรรมชาติมากกว่า ที่สำคัญคือการที่ล้อหลังเป็นตัวดันรถ เมื่อกด
คันเร่งมากๆในรถที่พลังสูง จะเกิดอาการท้ายกวาดออก (Oversteer) ซึ่งมักทำให้เราได้
ฉากแอ็คชั่นงามๆเช่นการดริฟท์แบบในหนัง หรือการทำโดนัท ..รถขับหน้าทำให้เนียนแบบนี้
ได้ยาก หรือทำได้ก็ทำไม่เหมือน
2.3 ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบตลอดเวลา (Full-time 4WD หรือ All-Wheel Drive: AWD)
อันว่าขับสี่ตลอดเวลากับขับสี่แบบบางช่วงเวลาต่างกันอย่างไร วิธีจำแนกง่ายสุดเลยก็คือ
ดูจากตอนที่รถวิ่งด้วยความเร็วคงที่ครับว่ามีการถ่ายแรงขับเคลื่อนไปที่ล้อทั้งสี่หรือไม่
ถ้าจะให้พูดถึงรถที่เป็น AWD อย่างนี้ ตัวอย่างที่เหมาะที่สุดก็คงนี้ไม่พ้น Quattro ของ Audi
หรือระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างที่พบใน Subaru ซึ่งไม่ว่าจะวิ่งช้า วิ่งเร็ว เข้าโค้ง หรืออะไร
ก็ตามแต่ จะมีการส่งพลังไปที่ล้อทั้งคู่หน้าและหลังอยู่เสมอ เป็นรูปแบบการขับเคลื่อนที่
ทำมาเพื่อเน้นการเกาะถนน แรลลี่ การขับขี่แบบรุนแรงและรวดเร็วในทุกสภาพอากาศ
แต่แน่นอนว่าพอต้องถ่ายกำลังไปลงล้อทั้งสี่ มีทั้งเพลากลาง และเพลางข้าง 4 เส้น
มันจึงเป็นระบบที่กินแรงเครื่องพอสมควร อย่าแปลกใจถ้านำรถขับหน้า 300 แรงม้า
กับขับสี่ 300 แรงม้ามาวิ่งเทียบกันแล้วจะพบว่าในช่วงความเร็วสูงๆ รถขับหน้าวิ่งทิ้งหาย
นั่นล่ะครับคือผลจากกำลังที่เสียไปในระบบขับเคลื่อน
รถขับสี่แบบตลอดเวลานั้นจะต้องมีเฟืองช่วยทดความต่างระหว่างการหมุนของล้อหน้า
และล้อหลัง (Center Differential) เพราะในขณะที่เราขับแล้วหักเลี้ยวพวงมาลัยนั้น
ล้อคู่หน้าจะหมุนเร็วกว่าล้อคู่หลังนะครับ ถ้าไม่มี Center Diff. ก็แปลว่าล้อหน้ากับล้อหลัง
ต้องหมุนด้วยความเร็วเท่ากันตลอด เวลาเข้าโค้งรถจะบานออก พวงมาลัยจะขืนมือ
2.4 ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบเฉพาะบางเวลา (Part-time 4WD, Real-time 4WD)
ต่างจากพวก AWD ตรงที่ในเวลาขับเคลื่อนปกติ (ถนนไม่ลื่น คันเร่งไม่เต็ม) รถจะขับเคลื่อน
แค่ 2 ล้อเท่านั้น ทำให้การขับขี่ทั่วไปมีความประหยัดน้ำมันใกล้เคียงกับรถขับสองแท้
มีอัตราเร่งแซงที่ดี และในยามที่ต้องการแรงยึดเกาะขับเคลื่อนนั้นก็สามารถกลายเป็นรถ
ขับสี่ได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดและวิธีการทำงานแตกต่างกันไปตามรุ่นของรถ เช่น
Chevrolet กับ Mitsubishi จะใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังในยามปกติ แต่คนขับสามารถ
บิดสวิตช์สิ่งให้ส่งกำลังไปล้อหน้าได้ ในขณะที่ Honda CR-V นั้นในยามปกติจะเป็นรถ
ขับเคลื่อนล้อหน้า แต่เมื่อล้อหน้าเกิดอาการหมุนฟรี จึงจะส่งผลให้คลัตช์ส่งกำลังล้อหลัง
จับตัวแล้วกลายเป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (Honda เรียกว่า Real-time 4WD)
Mercedes-Benz ในยุค 80 ก็เคยทำระบบ 4MATIC ที่มีหลักการคล้ายของ CR-V เพียงแต่
เวลาปกติมันจะเป็นรถขับหลัง
รถสมัยก่อนที่เป็น 4WD แบบ Part-time เกียร์ธรรมดา จะมีคันเกียร์แยก 2 ชุด คันเกียร์หนึ่ง
ก็คือคันเกียร์ปกติ ส่วนคันเกียร์เล็กเอาไว้เลือกระบบขับเคลื่อน 2H = ขับหลัง 4H = ขับสี่
4L = เกียร์ชุด Low ขับสี่
ส่วนรถ Crossover และ SUV พื้นฐานรถเก๋งสมัยใหม่นั้น จะเอาแนวคิดพื้นฐานมาจาก
Real-time 4WD แล้วปรับปรุงเพิ่ม อย่างเช่น CR-V Gen 4 นั้นมีการเพิ่มสมองกล
คำนวณจากความลาดชันของพื้นที่เพื่อส่งแรงขับเคลื่อนไปที่ล้อหลังบางส่วน และรถอย่าง
Nissan X-Trail สามารถสั่งล็อคให้รถกลายเป็นขับสี่ได้ แต่ใช้ได้เฉพาะที่ความเร็วต่ำ
ผมเห็นหลายคนเข้าใจไปเองว่า รถ Crossover และ SUV บางรุ่นที่ติดตั้งระบบขับสี่ประเภท
“เอาไว้ใช้เฉพาะเวลาจำเป็น” แบบนี้ เวลาเข้าโค้งแล้วจะเกาะถนนดี เพราะมีขับสี่..ซึ่งไม่ใช่
แบบนั้นครับ รถขับสี่ที่ทำมาเน้นวิ่งเร็วและเกาะในเชิง Performance Driving นั้นจะเป็น
ขับสี่ตลอดเวลาอย่างของ Subaru, Quattro และพวก Mitsubishi EVO มากกว่า
รถ 4WD Part-time หลายรุ่น จะไม่มี Center Differential แบบพวกรถ AWD ที่มาคอยช่วยทด
ความต่างความเร็วการหมุนของล้อคู่หน้ากับหลัง ดังนั้นมันจะมีอาการขืนมือที่พวงมาลัย
และถ้าไปวิ่งบนถนนแห้งๆแล้วเลี้ยวพวงมาลัยหรือกลับรถ ก็จะมีอาการรถดื้อโค้งด้วย และถ้า
ยังขืนทำไปมากๆ ก็จะมีเสียงแก๊ง หรือแคล๊ง! ดังจากเพลา เพราะระบบขับเคลื่อนกำลังขืน
พื้นถนนอยู่และขืนกับตัวมันเองด้วย แต่เนื่องจากระบบขับสี่ลักษณะนี้ มีไว้เน้นการช่วยลุยโคลน
เอาตัวรถจากหล่ม ไม่ได้เน้นการทำความเร็วบนสนาม BRIC นี่ครับ จึงไม่จำเป็นต้องใช้
Center Diff เพราะพอหลุดจากหล่มได้ ก็ใส่เกียร์ขับสองวิ่งตามปกติ หรือถ้าเป็นการวิ่งบนโคลน
ซึ่งถนนมีแรงยึดเกาะไม่มาก ก็ไม่ได้ทรมานอะไรเพลากับเกียร์อยู่แล้ว เขาจึงไม่ใส่มาให้
สรุปความ
จากที่อ่านกันมาเรื่อง 1) ตำแหน่งและลักษณะการวางเครื่อง ซึ่งมีตัวย่อเป็น วางหน้า =F
วางหน้าแต่อยู่หลัง Track ล้อหน้า = FM วางกลาง = M และวางท้าย = R
และ
2) ระบบขับเคลื่อน ซึ่งมีตัวย่อเป็น ขับหน้า = FWD ขับหลัง = RWD ขับสี่ = 4WD
มันจึงนำมาผสมกันเป็นตัวอักษร 2-3 ตัว ที่สามารถแทนที่การพูดลักษณะทางกายภาพ
ของรถเป็นคำยาวๆได้ สะดวกปากนักเลงรถ แต่เป็นที่งุนงงกับคนอื่นที่ไม่ได้เล่นรถ ดังนี้
FF – Front Engine และ Front-Wheel Drive
มันก็คือรถขับหน้าที่คุณ ผมและเพื่อนๆส่วนมากขับกันอยู่นั่นเองแหละครับ หาชมได้ตาม
ห้างสรรพสินค้าทั่วไป (ในลานจอด) รถ FF มักมีห้องเครื่องไม่โต แต่ห้องโดยสารกว้าง
อุโมงค์เกียร์ไม่ใหญ่โตจนเบียดบังขาเพราะเกียร์อยู่หน้ารถกับเครื่อง แต่เวลาเอาไปทำรถซิ่ง
จะมีปัญหาตรงที่หน้ารถหนัก เวลาเข้าโค้งมาแรงมากๆหน้าจะดื้อพุ่งตรงไม่ไปตามแนวโค้ง
ในรถ FF ที่มีพละกำลังสูงมากๆ จะเสียเปรียบเวลาออกตัวเพราะเกียร์ 1-2 ล้อหน้าจะฟรีทิ้ง
เนื่องจากเวลาออกตัว น้ำหนักรถจะถ่ายไปด้านหลัง มีแรงกดหน้าน้อย นอกจากนี้เพลาขับ
ที่ใช้ยังต้องแข็งแรงมาก
FR- Front Engine และ Rear-Wheel Drive
รถขับหลังที่เป็นที่นิยมกันมากในวงการดริฟท์นั่นเองครับ หรือรถยุโรปอย่าง BMW, Mercedes
สองยี่ห้อนี้ยังมีรถหลายรุ่นเป็นขับหลังอยู่ รถขับหลังนั้นเกียร์มักจะอยู่ถัดมาจากเครื่อง ทำให้
อุโมงค์เกียร์ใหญ่กว่ารถ FF และเบียดขามากกว่า ถ้าตัวรถยาวเท่ากัน รถ FR มักจะมีส่วนหน้า
ที่ยาวกว่าและมีเนื้อที่วางขาในห้องโดยสารน้อยกว่า แต่ข้อดีคือเวลาเล่นบทโหด กวาดท้ายเล่น
ทำโดนัท หรือเล่นซนสร้างหมอกควัน เบิร์นยาง วิ่งควอเตอร์ไมล์ รถขับหลังจะมีภาษีดีกว่าขับหน้า
พูดง่ายๆคือถ้าคุณไม่สนเรื่องในเชิงมอเตอร์สปอร์ตแบบนี้เลย รถ FF น่าจะดีกว่า
ส่วนพวกที่เป็น Front Midship แล้วขับเคลื่อนล้อหลัง บางทีแทนที่จะเรียกว่า FR เขาก็เรียกว่า
FMR – Front Midship Rear-Wheel Drvie ซึ่งก็คือรถอย่าง AMG GT และ AMG SLS นั่นเอง
MR- Mid Engine และ Rear-Wheel Drive
รถเครื่องวางกลางลำ และส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลัง เช่น Porsche Boxster/Cayman
หรือที่ราคาเป็นมิตรหน่อยก็ MR-S, MR2 AW15, SW20 ซึ่งรถเหล่านี้ ความที่เครื่องต้องวางกลางรถ
ทำให้มีที่นั่งแค่ 2 ที่ด้วยความจำเป็น ดังนั้นจึงมักไม่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
ของคนส่วนใหญ่ มันสามารถเล่นซนได้เหมือนพวกรถ FR แต่ให้ระวังความต่างที่เกิดจาก
การไม่มีเครื่องคอยกดข้างหน้า พี่แมน มานิตย์ สอนผมไว้ว่า รถวางกลาง ให้วางแผนการยิงโค้ง
อ่านโค้งให้ขาด ยิงเป็นลูกยาวทีเดียว แตะเบรกบางๆให้น้ำหนักถ่ายมาหน้า พอเห็นทางตรงปลาย
โค้งแล้วค่อยกด (โชคร้ายวันนั้นที่ผมขับ Porsche Cayman กับแก ผมขับด้วยวิธีการขับรถ FF
คือพยายามแตะคันเร่งไว้เพื่อกันไม่ให้น้ำหนักถ่ายมาหน้ารถ)
RR-Rear Engine และ Rear-Wheel Drive
ถ้าเป็นสมัยนี้ มันก็คือ Porsche 911 แหละครับ แต่เฉพาะรุ่น Carrera, Carrera S, GTS
และ GT3 เท่านั้น อย่าลืมว่า 911 ก็มีรุ่นขับสี่ ซึ่งถ้าเป็นรถเครื่องวางหลังแล้วขับสี่ก็จะเรียก
ว่า R4 (Rear Engine Four-Wheel Drive)
F4 – Front Engine และ Four Wheel Drive
ก็คือรถเครื่องวางหน้าแล้วขับเคลื่อนสี่ล้อ ..เยอะครับ Subaru XV, WRX, STi, Mercedes-AMG
A45 ล้วนเป็นรถเครื่องวางหน้าแล้วขับเคลื่อนสี่ล้อ (Fortuner ถ้าจะนับจริงๆก็..ใช่) GT-R
R32,33,34 ที่เครื่องวางหน้าแล้วขับสี่ ก็เป็น F4 เช่นกัน
ส่วน GT-R R35 ที่ตัวเครื่องเป็น V6 วางไว้หลังแนวแทร็คล้อหน้านั้น ก็จะเรียกว่า FM4
Front-Midship Four Wheel Drive ครับ
M4 – Mid Engine และ Four Wheel Drive
อันนี้ก็ตัวอย่างเช่น Lamborghini Aventador ที่วางเครื่องไว้กลางลำแล้วขับเคลื่อนสี่ล้อ
Audi R8 และ Lamborghini Gallardo พวก LP560 นั่นก็ใช่ครับ
R4- Rear Engine และ Four Wheel Drive
ก็คือรถที่เครื่องวางข้างหลังและขับเคลื่อนสี่ล้อ ในเมืองไทยสมัยนี้ รถที่เป็น R4 ก็รู้สึกว่า
จะมีแต่ Porsche 911 Carrera 4, Carrera 4S, Turbo, Turbo S นั่นแหละครับ
ทีนี้ คงหายสงสัยกันแล้วในเรื่องตัวย่อต่างๆกับสารพัดการวางระบบขับเคลื่อนและเครื่องยนต์
ดังนั้น คราวหน้า ถ้าคุยกับพวกคนในบอร์ดที่รู้เรื่องรถกันอยู่แล้ว แทนที่จะพิมพ์ “รถเครื่องวางหน้า
ขับเคลื่อนล้อหลัง” ก็เขียนว่า FR สั้นๆ ง่ายๆเข้าใจกัน เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร
แต่ถ้ารู้สึกไม่มั่นใจเวลาใช้ตัวย่อ หรือใช้ภาษาอังกฤษต่างๆ ก็ขอแนะนำว่า ไม่ต้องคิดมากครับ
อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของการสื่อสารก็คือ “รู้เรื่อง และเข้าใจตรงกัน” ถ้าผมไม่สามารถเขียนบทความ
นี้ให้คุณอ่านแล้วเข้าใจได้ดีพอ ก็ให้ลืมบทความผม แล้วสื่อสารกันอย่างครบถ้วน เสียเวลาพิมพ์
หน่อยแต่ก็ดีกว่าเข้าใจผิดเอง หรือทำให้คนอื่นเข้าใจเราผิด
ผมเริ่มต้นด้วยเรื่องรถ ลงท้ายด้วยเรื่องความเข้าใจ จบง่ายๆดื้อๆแบบนี้ล่ะครับ
ขอขอบคุณ เนื้อหาบางส่วนจาก General Motors Thailand
ภาพ : จากบทความทดลองขับโดย J!MMY