กรุงเทพฯ – General Motors หรือ GM ต้นสังกัดค่ายเชฟโรเลตในประเทศไทย ได้เปิดเผยการพัฒนา
เบาะนั่งภายในรถยนต์ ซึ่งใช้ทีมวิศวกรและหลักวิทยาศาสตร์ขั้นสูง โดยฟังเสียงตอบรับจากการใช้งานจริง
ของลูกค้า เพื่อพัฒนาเบาะของรถยนต์ ซึ่งเจเนอรัล มอเตอร์สพบว่าเป็น 1 ใน 10 ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ
รถยนต์เอสยูวี หรือรถยนต์คอมแพคท์
ในประเทศไทยนั้น การจราจรที่หนาแน่นในหลายๆส่วนของประเทศ ทำให้ความสะดวกสบายของเบาะนั่ง
มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ข้อมูลของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครประจำปี 2555 ระบุว่า มีรถจำนวน
มากกว่า 7 ล้านที่วิ่งบนท้องถนน โดยถนนสามารถรองรับได้เพียง 1.6 ล้านคันเท่านั้น (ในพื้นที่ กทม.)
ส่งผลให้มีความเร็วเฉลี่ยช่วงชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงเทพฯเหลือเพียง 16.5 กม./ชม.เท่านั้น ทำให้การเดินทาง
เพียง 30 กม. ต้องใช้เวลามากถึง 2 ชม.(ในบางพื้นที่)กันเลยทีเดียว
กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 8 โดยมีการวิจัยพบว่า
รถยนต์ในกรุงเทพฯต้องจอดติดเครื่องยนต์อยู่กับที่เฉลี่ยมากถึง 36% ในการเดินทาง
นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ GM ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างเบาะนั่งในรถยนต์เชฟโรเลต ซึ่งทีมวิศวกร
ของจีเอ็ม ได้มุ่งใช้หลักวิทยาศาสตร์และเครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูง ร่วมด้วยการประเมินจากการขับขี่จริง
และการฟังเสียงลูกค้าเพื่อออกแบบเบาะและโครงสร้างที่นั่งให้ดีที่สุด โดยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น
แต่ละประเภทรถ
ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเบานั่ง วิศวกรจะใช้ ‘Oscar’(ออสการ์) อันเป็นเครื่องมือจำลองแบบสามมิติ
รูปทรงคล้ายมนุษย์ สำหรับการกำหนดมิติในภาพรวมของห้องโดยสารรถยนต์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีพื้นที่กว้างขวาง
และสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง
การวิจัยจากเชฟโรเลตพบว่า ลูกค้ารถยนต์รุ่น Colorado กว่า 95% ในไทย ให้ความสำคัญอย่างมากกับ
พื้นที่ช่วงขาและความสะดวกสบายของเบาะนั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของรถกระบะ
ทีมวิศวกรที่พัฒนาเบาะนั่งของเชฟโรเลต จึงพยายามพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีร่างแผนผังแรงกด
ในรูปแบบดิจิตอล สามารถวัดการกระจายแรงกดด้านหลังของมนุษย์บนแผ่นเบาะนั่งได้มากถึง 4,600 จุด
ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบันทึกลงคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถสร้างภาพกราฟิกให้เห็นว่าผู้โดยสารนั่งอยู่บนเบาะเป็นอย่างไรบ้าง
ในขณะขับขี่
ต่อมาจึงมีการใช้หุ่นยนต์ทดสอบ ซึ่งสามารถจำลองผลกระทบจากแรงกดและแรงหักเหที่กระทำบนเบาะที่นั่ง
ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยประเมินว่าเบาะที่นั่งมีความแข็งหรือนุ่มมากเกินไปหรือไม่
นอกจากนี้ ทีมวิศวกรยังได้ทำการทดสอบและทดลองนั่งจากการใช้งานจริง ซึ่งทำหน้าที่โดยกลุ่มอาสาสมัคร
โดยต้องนั่งรถยนต์บนการขับขี่รวมระยะทางหลายพันกิโลเมตร และใช้ระยะเวลาทดสอบอย่างยาวนานเพื่อให้
แน่ใจว่าได้ข้อมูลมากเพียงพอต่อการพัฒนาเบาะที่นั่งตัวต้นแบบ
แม้จะยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าการพัฒนาเบาะนั่งให้สบายขึ้นนี้ ถูกนำไปใช้กับรถยนต์รุ่นใดของเชฟโรเลตแล้วบ้าง
แต่แน่ใจได้ว่า รถยนต์ที่ใกล้เปิดตัวในอนาคตจะถูกเน้นการปรับปรุงเบาะนั่งให้ดีขึ้นอีกแน่นอน ในระหว่างนี้
ผู้ใช้เชฟโรเลตมีความเห็นกับเบาะนั่งรถยนต์ของตนเองอย่างไรบ้าง อย่าลืมมาแบ่งปันเรื่องราวให้ฟังกันบ้างนะครับ