Yamaha เปิดตัว Yamaha YZF-R3 อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยการกระทบไหล่นักแข่ง MotoGP ระดับโลก จากทั้ง
Yamaha Factory Team และ Yamaha Tech 3 มากับครบครัน ทั้ง Valentino Rossi, Jorge Lorenzo,
Bradley Smith และ Pol Espargaro พร้อมเตรียมเปิดตัวรถใหม่อีก 7 รุ่น

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ได้แถลงถึงนโยบายการตลาดประจำปี 2558
ณ สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต (CIC) โดย นายประพันธ์ พลธนะวสิทธ์ รองประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ในปีที่แล้วยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในปี 2557 โดยรวมอยู่ที่ 1,695,797 คัน
ลดลงจากปีที่ผ่านมา 15% จากสภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังชะลอตัว เป็นยอดจดทะเบียนของรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
อยู่ที่ 220,549 คัน คิดเป็นสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 13% ซึ่งปีนี้คาดว่าตัวเลขของตลาดน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม
รถจักรยายนต์สไตล์สปอร์ต และบิ๊กไบค์ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง

และในปีนี้ ได้เตรียมเปิดตัวรถจักรยานยนต์ใหม่อีก 7 รุ่น เป็นส่วนของบิ๊กไบค์ 3 รุ่น ซึ่งยอดขายในปีที่แล้วอยู่ที่ 1,153 คัน
และปีนี้คาดการณ์ว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 1,800 คัน คิดเป็น 30% ของส่วนแบ่งการตลาดบิ๊กไบค์ และได้คาดการณ์ว่า
ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมปีนี้อยู่ที่ 1.75 ล้านคัน และเราจะมีส่วนแบ่งประมาณ 270,000 คัน หรือ 15.3% ของส่วนแบ่งการตลาด

นอกจากนี้ ยามาฮ่า ได้เปิดตัวรถในตระกูล R-Series โดยไฮไลท์เด็ดของงานนี้ คือการเปิดตัว Yamaha YZF-R3 สไตล์สปอร์ต
เครื่องยนต์ 321 ซีซี DOHC 4 วาล์ว มีให้เลือก 3 สี คือ สีน้ำเงิน, สีดำ และ สีแดง เปิดตัวที่ราคา 185,000 บาท เริ่มวางจำหน่าย
เดือนมีนาคม 2558 และยังมี 4 นักแข่งระดับโลกของทีมยามาฮ่า นำโดย วาเลนติโน่ รอสซี่, ฮอร์เก้ ลอเรนโซ่, พอล เอสปากาโร่, แบรดเลย์ สมิธ
และทีมนักแข่งไทย ดีกรีแชมป์และรองแชมป์ MFJ All Japan เฉลิมพล ผลไม้ และ เดชา ไกรศาสตร์ มาร่วมเปิดตัวอีกด้วย
 

เสร็จจากงานเปิดตัวแล้ว ทีมงานของเรายังได้มีโอกาสได้ทดลองขับขี่ YZF-R3 ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็พอจะจับอารมณ์
ของการขับขี่บนสไตล์สปอร์ตขนาดย่อมของ Yamaha ได้เป็นอย่างดี โดยขอแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

– รูปลักษณ์ทั่วไป
– รายละเอียดทางเทคนิค
– นิสัยรถ / พื้นฐานของเครื่องยนต์
– การขับขี่ในสนามฝึกซ้อม
– ข้อดี/ ข้อเสียต่างๆ
– สรุป

รูปลักษณ์ทั่วไป
หลังจากที่รอคอยกันมานานตั้งแต่ที่มี Spyshot ของ R25 ล่วงเลยมาจน R3 เข้ามาจริง ก็ปาไปราวๆ 8 เดือน เราเริ่มมาดูตัวรถรอบๆ
ความรู้สึกคือ ครั้งแรกที่ได้เห็นดูเหมือนจะใหญ่โต แต่จริงๆแล้วกระทัดรัดดี มิติรถ เส้นสายดูลงตัวดี ความกว้างขนาดของรถ
ดูบางๆ น่าจะคล่องตัวใช้ได้เลย องศาแฮนด์จับโช็คออกไปทางกว้างนิดๆ น่าจะเอื้อให้ดึงรถเข้า-ออก โค้งได้เร็ว และสนุกทีเดียว

พอได้ลองคร่อมเท่านั้นแหล่ะ รู้สึกได้เลยว่า เป็นรถที่เกิดมาเพื่อลงสนามเลยชัดๆ การวางน้ำหนักรถทำได้ดี ยกรถขึ้นตรงได้สบายๆ
ช่วงถังน้ำมันที่ค่อนข้างแคบๆ เหมือนจะหลวมๆกับเข่าไปนิดนึง แต่เดี๋ยวมาลองจริงกันดีกว่า ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน

รายละเอียดทางเทคนิค

กับพื้นฐานเครื่องยนต์ 321 ซีซี DOHC 4 วาล์ว แม้จะสองสูบแต่ก็สืบทอด Crossplane มาจากรุ่นพี่ YZF-R1 จานเบรคหน้าให้มาข้างเดียว
แอบแลดูขาดๆ ไปนิด แต่ในการขับขี่ทั่วไปพอเลยครับ ถ้าใช้เบรคถูกวิธีนี่ stoppie เอาง่ายๆ เลยเหมือนกัน เพียงแต่บนสนาม CIC
การจิกเบรคหน้าหนักๆ อาจจะออกอาการตื้อนิดๆ เบรคหลังผมว่าเซทมากำลังดีๆ ช่วยให้ประคองรถได้ดีขึ้น

ระยะยุบโช็คหน้า 5.1 นิ้ว หลัง 4.9 นิ้ว ตามปกติของรถสปอร์ต ที่ให้ระยะยุบหน้าเยอะกว่า เพื่อการเบรคลงน้ำหนักหน้าเต็มๆ
ช่วยให้ใช้แรงกดกะรถได้เต็มที่เลยครับ ความสูงเบาะกำลังดี 78 ซม. ชิวๆเลยทีเดียวสำหรับสัดส่วน 163 ซม. ยางหลัง 140 มิลลิเมตร
ส่วนขนาดความจุของถังน้ำมัน จะได้ประมาณ 14 ลิตร ถือว่าค่อนข้างเยอะมาก เรียกว่าเติมทีขี่กันลืมเลยทีเดียวกับรถขนาดนี้ วิ่งกันยาวๆไปเลยครับ

นิสัยรถ/ พื้นฐานของเครื่องยนต์
ดังที่ Yamaha วางไว้กับ YZF-R3 ว่ามันคือรถสปอร์ต เท่าที่มีโอกาสได้ลอง มันก็เป็นรถสปอร์ตเลยครับ ผสมกับการวาง crankshaft
แบบ crossplane ที่ได้มาจาก R1 ทำให้ R3 เป็นรถที่ขี่ได้สนุกมาก อีกคันนึง ทอร์คช่วงต้นอาจจะตื้อๆ มือสักนิด แต่พอรอบ
เริ่มขึ้นประมาณ 5,000-6,000 rpm แล้วจะเริ่มเป็นช่วงที่รถมีกำลังไหลมาเรื่อยๆ จนไปถึงราวๆ 10,000 rpm เลยทีเดียว !!!

แหม่ นิสัยมาเหมือนรุ่นใหญ่ทั้งหลาย ที่เหมือนจะเนิบๆ แต่ไปไหลกลางปลายยาวๆ ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ บนสนามทดสอบ
อาจจะยังไม่สุดความสามารถดี แต่ก็ไต่ไปได้ถึง 140-150 km/hr ได้ง่ายๆ (แต่ผลทดสอบของทีมงาน สามารถไต่ความเร็วได้
ถึง 180 km/h)

การขับขี่ในสนามฝึกซ้อม
การขับขี่ในสนามฝึกซ้อมทำได้ดีมาก มิติรถที่เหมือนจะกว้าง แต่ตัวถังค่อนไปทางบางนิดๆ เอื้อให้สามารถกดรถพลิกโค้งไป
มาได้อย่างคล่องตัวแบบไม่ขัดขืนมากนัก แม้ว่าท่านั่งจะออกไปทางกึ่งทัวร์ริ่งนิดๆ แต่ก็สามารถกดให้ เซนเซอร์เข่า เช็ดพื้นไป
ได้แบบไม่ยากเย็นส่วนเบรคหน้าแม้จะให้มาด้านเดียว แต่ก็สั่งได้ดั่งใจ การจิกหน้าเพื่อเข้าโค้งทำได้ดี การเร่งส่งออกจากโค้งแรงๆ
บนโช้คเดิมๆ อาจจะย้วยๆไปเล็กน้อยถ้าปรับพรีโหลดน่าจะดีขึ้นครับ

ข้อดี
* ท่านั่งสบายมากครับ ขี่ระยะทางกลาง ไกล น่าจะทำได้ดีเลยทีเดียว
* ทอร์คมาไว เร่งส่งได้ดี บิด ยก ให้กำลังที่ต่อเนื่อง
* มิติรถดูกว้าง แต่ตัวจริง ค่อนข้างเพรียวๆ คล่องตัวสูงครับ
* มี ABS

ข้อติ
* โช้คหลังยวบๆไปนิด ส่งโค้งแรงๆ แล้วมีย้วยหน่อยๆ (บนถนน ถ้าใช้งานปกติ ก็สบายดีครับ)
ส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะเซทน้ำมันโช็คเพิ่มหน้าหลัง และปรับพรีโหลดให้เหมาะสม น่าจะขี่ได้สนุกขึ้น
* เบรคหน้าให้มาด้านเดียว แต่ใช้งานได้พอดีๆครับ
* ระยะการเกลี่ยน้ำหนักเบรคหน้าไม่ค่อยละเอียด

สรุป
สำหรับ YZF-R3 จะไปเทียบกับเพื่อนๆในระดับเครื่องยนต์ 300cc ด้วยกันอาจจะเอาเปรียบไปสักนิด ด้วยความจุที่มากกว่า 20cc และการวาง
เครื่องยนต์ใน 180 องศา พร้อม balancer ช่วยให้เครื่องยนต์และรถ ยังคงนุ่มนวล แม้จะลากรอบไปแตะๆ 10,000 rpm ก็ตาม  
ส่วนช่วงล่าง ระบบกันสะเทือนต่างๆ ทำออกมาเพื่อการขับขี่บนถนนได้อย่างดี แต่บนสนาม หรือการขับขี่เพื่อเดินทางระยะกลางๆ (200-400 km)
อาจจะต้องปรับตั้งพอสมควร เช่นการปรับน้ำมันโช็ค พรีโหลด น่าจะช่วยได้ระดับนึง

เบรค หน้าหลัง โอเคดีครับกับการใช้งานทั่วไป  จิกหน้าแรงๆนี่หน้าทิ่มเลยทีเดียว ติแค่ตรงระยะคลอในการเกลี่ยน้ำหนักเบรคหน้ามันน้อยไปหน่อย

สุดท้ายก็ต้องขอขอบคุณทาง Yamaha Thailand / Yamaha Riders Club สำหรับการทดลองขับขี่ YZF-R3 ได้เล่นกับความสนุก
ของรถสปอร์ตในพิกัด 320cc ที่เรียกว่า ทำได้ดีมากคันนึง ถ้าคนขับมีทักษะดีๆ พลิกโค้งได้ไว ในสนามแคบๆ ทั่วไป อาจจะไล่
600cc / 1000cc ในทางโค้งได้เลยทีเดียว เพื่อนๆที่รอรถกันอยู่ก็มาทดสอบต่อกันได้ มีข้อเสนอแนะอะไรก็ชี้แนะมาได้นะครับ

หวังว่าคงจะช่วยให้เห็นภาพของ R3 ได้ดีขึ้น…

เขียนและเรียบเรียง ทีมงาน Motorbike : Headlightmag