การผลิต และถ่ายทำ ภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายมาแล้วทั่วโลก หรือแม้แต่ละคร
ที่ฉายทางโทรทัศน์ทั้งไทย และต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นฉากที่นักแสดงนำ และนักแสดงประกอบ
ต่างพากันขยาด หวาดกลัว และมักหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆ ที่มีความเสี่ยง หรือก่อให้เกิดอันตราย
ไม่ว่าจะเป็นฉากที่มีอาวุธในการดำเนินเรื่อง ฉากตกบันได ตกจากที่สูง เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่ผู้กำกับเองต้องให้ความสำคัญ และระมัดระวังอย่างยิ่ง คือ การแสดงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
ร้ายแรง เช่น การขับรถผาดโผนในภาพยนตร์ หรือละครเรื่องนั้นๆ เพราะไม่เพียงแต่ความสูญเสีย
จะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน ยังอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตก็เป็นได้
บทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักแสดงหลักในภาพยนตร์ หรือละครเรื่องต่างๆ
คงหนีไม่พ้นผู้ที่มีใจรักในความท้าทาย ความผาดโผน และหนึ่งในหลายๆ ประเภทของผู้ที่รัก
ในอาชีพผาดโผนและมีความเสี่ยงสูงนี้คงต้องยกให้กับสตันท์ (แมน) หรือนักแสดงแทน
ที่ภาพยนตร์แนวแอ๊คชั่นส่วนใหญ่มักจะได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก เมื่อใดที่มีฉากไล่ล่า
ระหว่างพระเอกกับผู้ร้ายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ และความเร็ว ในรูปแบบต่างๆ
ฉากการขับขี่ที่ส่วนใหญ่มักใช้สตันท์ ได้แก่ การขับรถยนต์แบบยกสองล้อ โดยอีกสองล้อสัมผัสพื้น
การบังคับรถให้หมุน 180 องศาในสถานที่ขนาดเล็กถึงเล็กมาก (J-Turn) การเข้าที่จอดรถโดยใช้
การดึงเบรกมือ (Parallel parking) การหมุนรถให้เป็นวงกลม (Donut) หรือการเหินแบบนกโดยรถทั้งคัน
เป็นต้น ซึ่งเทคนิคดังกล่าวต้องใช้ทักษะ ความสามารถเฉพาะตัว และเทคนิคพิเศษที่ได้รับการฝึกฝน
อย่างถูกต้อง และสิ่งเหล่านี้ถือเป็นงานหนักของนักขับรถผาดโผน หรือสตันท์ ไดร์เวอร์ ที่ต้องอาศัย
องค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการขับรถผสมผสานกับการแสดง
ได้อย่างลงตัว เพื่อให้คนชมสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจไปกับการขับขี่ผาดโผนนั้นๆ ด้วย
การขับขี่แบบสตันท์ ไดร์วิ่งได้รับการพัฒนารูปแบบให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นจากเดิมที่เรียกว่า
”สตันท์” ได้เปลี่ยนเป็น “ดิสเพลย์ ไดร์วิ่ง” หรือการขับรถเพื่อการแสดงเพราะ 99% ของการขับขี่
ประเภทนี้เราจะเห็นได้ในภาพยนตร์หรือในโชว์เพื่อการสันทนาการและเพื่อความตื่นเต้นของ
ผู้ชมทั่วไปเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการฝึกฝนเพื่อให้มีความสามารถในการเป็นสตันท์ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป
เพราะต้องหมั่นเรียนรู้และฝึกฝนเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังต้องมีความมุ่งมั่น อดทนในการฝึกซ้อม
เพื่อให้บรรลุในแต่ละเทคนิคของแต่ละแอ๊คชั่นอย่างสมบูรณ์แบบ นักขับต้องแสดงให้เห็นถึงความ
สมจริง ทำทุกอย่างให้น่าทึ่ง และอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ปลอดภัยอยู่เสมอ
หนึ่งในนักขับผาดโผนระดับโลก “รัสส์ สวิฟท์“ คือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการ
สตันท์ ไดร์เวอร์ โดยเขาเริ่มต้นจากการเข้าวงการนักขับแรลลี่ และเริ่มหันมาให้ความสนใจลงแข่งขัน
“จิมคาน่า” จนกลายเป็นที่หนึ่งหรือสุดยอดนักขับจิมคานาในประเทศอังกฤษ และในที่สุด “รัสส์ สวิฟท์”
ได้เข้าสู่วงการ สตันท์ ไดร์เวอร์ และยังเป็นผู้ที่ได้บันทึกลงใน กินเนส บุ๊ค เวิล์ด เรคคอร์ ติดต่อกันถึง 3 สถิติ
โดยสถิติแรกคือ การทำโดนัท 10 รอบในระยะเวลา 14.59 วินาที ซึ่งเป็นเวลาน้อยที่สุดของการทำโดนัท
สองคือ การเข้าจอดระหว่างรถสองคันโดยการสไลด์รถ หรือเรียกว่า “พาราเรล พาร์คกิ้ง” ในพื้นที่
ที่ยาวกว่ารถเพียง 33 เซนติเมตร และสาม คือการถอยกลับรถที่เรียกว่า เจ-เทิร์น (J-Turn) โดยใช้
พื้นที่น้อยสุดคือ เพียง 172 เซนติเมตร
หลายคนสนใจขับรถผาดโผน ไม่ได้เอาไว้ขับแสดงแต่แค่ขับสนุก มีคำแนะนำสำหรับการขับขี่แบบนี้
หากใครต้องการเป็นหนึ่งในนักขับ สตันท์ ไดร์เวอร์ รัสส์ สวิฟท์ บอกว่า “การเป็นสตันท์ ไดร์เวอร์
ไม่ใช่งานง่ายสำหรับคนที่ขาดความมุ่งมั่น หรือขาดการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
รัสส์ สวิฟท์ บอกว่า ความปลอดภัยของผู้ชมคือ สิ่งสำคัญที่เป็นสุดของการเป็น สตันท์ ไดร์เวอร์
และต้องมีวินัยในการขับคือ ต้องหมั่นฝึกซ้อมสม่ำเสมอ จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่
จะมองเพียงความสนุกสนานของการแสดง แต่สำหรับ รัสส์ สวิฟท์ ความสนุกสนานของผู้ชมนั้น
จะต้องอยู่ในการควบคุมเรื่องความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบ และเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก
อย่างยิ่งสำหรับการขับรถที่มีความเสี่ยงสูง
อีกทั้งร่างกายของสตันท์ ไดร์เวอร์ ต้องมีความพร้อม มีความแข็งแรงเพียงพอเพื่อรองรับแรงกระแทก
และแรงเหวี่ยงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในขณะแสดง “ผมเองต้องเข้าพบหมอกระดูก
เป็นประจำเกือบทุกเดือนเพราะผมต้องเอี่ยวตัวเพื่อมองทางบ่อยครั้งโดยเฉพาะการขับแบบ
กลับรถ 180 องศา” รัสส์ สวิฟท์กล่าว
สตันท์ ไดร์เวอร์ที่ดีและจะประสบความสำเร็จได้นั้นควรมีบุคลิกที่เป็นมิตรเพราะเขาเปรียบเสมือน
นักแสดงที่ต้องพบปะผู้คน และเชิญชวนให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับการขับเพื่อให้เกิดความตื่นเต้น
เร้าใจเสมอ รัสส์ สวิฟท์ กล่าวเสริม “ในขณะที่ผมขับรถในแบบพาราเรล พาร์คกิ้ง ผมบอกไม่ได้เลยว่า
ทำอะไรในขณะขับบ้าง เพราะว่าผมทำหลายอย่างนอกจากดึงเบรก ผมต้องคำนวณตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นระยะจอด กะระยะความเร็วรถ ช่วงเวลาที่จะดึงเบรกมือ พื้นผิวถนน ขนาดและน้ำหนัก
ของรถ และที่สำคัญที่สุดคือ พยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาดเพราะนี่คือการโชว์” แต่ผมยังคงย้ำเสมอว่า
“ความปลอดภัยของผู้ชม และผู้ร่วมทีมยังจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นสตันท์ ไดร์เวอร์
รัสส์ สวิฟท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนใหญ่คนที่เข้าสู่วงการนักขับผาดโผนมักเป็นคนที่รักรถเป็นทุนเดิม
และเข้าไปในวงการเพราะต้องการใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันอยู่กับรถ อีกทั้งยังต้องทำงานเกือบทั้งวัน
กับทีมงานถ่ายทำเพียงแค่ช็อต 1 นาที
“งานนี้สนุกนะครับ แต่ว่าไม่ง่าย”
————————————————————————————————
หนังดังกับ สุดยอด “สตันท์ ไดร์เวอร์”
ภาพยนตร์ที่ใช้สตันท์ หรือนักแสดงแทนเรื่องที่โดดเด่นของการใช้ สตันท์ ไดร์วิ่ง เช่น เรื่อง “Bullitt”
ของ Steve McQueen ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสตันท์ ไดร์วิ่ง ที่ได้รับความนิยมสูงมาก ผู้ชมมองว่าพระเอก
ในเรื่องทำสตันท์ ไดร์วิ่งเอง แต่ไม่ได้เป็นเช่นที่ผู้ชมเห็น เพราะมันเป็นเพียงตัวแสดงแทนเท่านั้น
Nicolas Cage นักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง “Gone in 60 seconds” ใช้เวลาแรมเดือนในการฝึกฝน
สตันท์ ไดร์เวอร์ เทรนนิ่ง เพื่อไม่ใช้ตัวแสดงแทนและเพื่อความสมจริง
ฉากหนึ่งที่โด่งดังที่สุดของภาพยนตร์เรื่อง ”Man with the Golden Gun” หนึ่งในภาพยนตร์ของเจมส์บอนด์
ครั้งแรกที่นักขับผาดโผนขับรถหมุนเป็นเกรียวในอากาศ ซึ่งเป็นการขับรถโดยสตันท์ ครั้งแรกในโลก
ที่มีการคำนวณก่อนถ่ายทำด้วยคอมพิวเตอร์ โดยรถพุ่งสูงไปในอากาศ 12 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 3 ชั้น
และหมุน 360 องศากลางอากาศ และถ่ายทำในประเทศไทย…
สตันท์ที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เหล่านี้ต้องมีความเชี่ยวชาญและแม่นยำ เพราะส่วนใหญ่แล้วระยะการขับ
ในแต่ละฉากของภาพยนตร์มีระยะห่างจากกล้องที่ใช้ในการถ่ายทำเพียง 20 – 100 เซนติเมตรเท่านั้น
“สตันท์” จึงเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง และมีอันตรายทั้งตัวนักขับเอง และตัวผู้ชม จัดเป็น
อันดับต้นๆ ของอาชีพที่มีความเสี่ยงที่สุดของโลก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อได้ฟังค่าตอบแทน ค่าความเสี่ยง
ของนักแสดงผาดโผนฝีมือระดับโลกเช่นนี้แล้วค่าเหนื่อยแต่ละครั้งเกิน 6 หลักก็ถือเป็นงานที่น่าเสี่ยงอยู่ทีเดียว
…………………………………………………………………
และถ้าคุณสนใจ อยากจะดู ฝีมือของ รัสส์ สวิฟท์ ในเมืองไทย เขาจะบินมาโชว์ การขับรถ ในแบบผาดโผน
เป็นโชว์พิเศษ “รัสส์ สวิฟท์ สตั๊นท์ ไดรฟ์” ใน ช่วงระหว่าง งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 26 เฉพาะวันที่
4 -7 ธันวาคม 2552 ที่ลานจอดรถ P9 เมืองทองธานี โดยวันที่ 4 ธันวาคม เป็นรอบสื่อมวลชน และบุคคลสำคัญ
ในเวลา 16.00 น. และวันที่ 5 -7 ธันวาคม เป็นรอบบุคคลธรรมดา จัดแสดงวันละ 3 รอบ คือ รอบ 14.00 น.
16.00 น. และ 18.00 น.
…………………………………………………………………