การเรียกรถคืนกลับเพื่อเข้ารับการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์หรือซ่อมแซมชิ้นส่วนใดส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารอันเกิดจากความบกพร่องจากผู้ผลิตในประเทศพัฒนาแล้วถือเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก ๆ มากเสียจนประเทศกำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย ต่างพากันอิจฉาว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ได้สิทธิ์เช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่การเรียกรถคืนเข้าเพื่อปรับปรุงนั้นเริ่มกระทำกันแพร่หลายในประเทศไทยในช่วง 10 ปีนี้แล้วครับ
ความหมายของการเรียกรถคืนกลับมาปรับปรุงก็เปรียบเสมือนสปิริตของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะไม่ละเลยความปลอดภัยของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างเรียกร้องกัน
แต่หากการเรียกรถคืนกลับมาปรับปรุงนั้นถี่เกินไปหรือบ่อยเกินไป ก็ใช่ว่าจะมีแต่ผลดี เพราะการเรียกรถมาปรับปรุงแต่ละครั้งก็เท่ากับว่า ผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับความผิดพลาดอย่างจนว่าออกแบบหรือผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่พึงจะกระทำ ยิ่งเรียกบ่อยเท่าไรก็ยิ่งประกาศตนเองกลาย ๆ ว่าเป็นบริษัทที่ไม่เอาไหนในการออกแบบรถให้ปลอดภัยนั่นเองครับ
และในปีนี้การเรียกรถกลับเพื่อปรับปรุงหรือ Recall ในสหรัฐอเมริกานั้นเยอะมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ไล่ตั้งแต่ Toyota Ford และ Nissan ที่รวมจำนวนรถเรียกเพื่อมาปรับปรุงจะมีมากถึง 7 ล้านกว่าคัน!!! จนทำให้เราไม่แน่ใจว่าฐานการวิจัยพัฒนา โรงงานผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นน่าไว้วางใจได้ขนาดไหนกัน?
รวมไปถึงค่าย Honda ที่เพิ่งประกาศเรียกรถยอดนิยมทั้ง 2 รุ่นเพื่อรับการปรับปรุงได้แก่ Honda Accord และ Honda Civic รุ่นปี 2002-2003 รวมไปถึง Acura TL รุ่นปี 2001 จำนวน 444,000 คัน ในเดือนกรกฎาคม 2009 เพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบถุงลมนิรภัยที่มีปริมาณแก๊ซอัดมากเกินไปจนทำอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
แต่ก่อนหน้านั้น Honda ก็เคยเรียกรถทั้งสองรุ่น รุ่นปี 2010 เพียง 3,940 คันมาตรวจสอบในเดือนพฤศจิกายน 2008 แล้วเช่นกันจนทางหน่วยงานดูแลความปลอดภัยท้องถนนสาธารณะหรือ NHTSA ข้องใจมากว่าทำไมทาง Honda สหรัฐอเมริกาและ Takata Corp ซัพพลายเออร์ที่รับผิดชอบการผลิตถุงลมนิรภัยให้ Honda ถึงต้องเรียกคืนรถถึง 2 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นรุ่นเดียวกันปีเดียวกัน
NHTSA เปิดเผยความข้องใจนี้ผ่านเว็บไซต์ของตนเองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนไม่นานมานี้นัก ขณะนี้ทาง Honda เองยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลดังกล่าว
คริส มาร์ติน โฆษกประจำ Honda ภูมิภาคอเมริกาเหนือกล่าวว่าการ Recall ครั้งแรกนั้นเขาพบปัญหาแค่กลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น แต่หลังจากนั้นลูกค้าก็เริ่มรายงานการปัญหาถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้รู้ว่าน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว
Takata Corp ผู้รับผิดชอบการผลิตถุงลมนิรภัยให้ Honda ยอมรับกับ NHTSA โดยส่งเอกสารอธิบาย 36 หน้า ที่สามารถสรุปใจความว่า ตนเองประเมินความผิดพลาดของชิ้นส่วนน้อยเกินไป อันเกิดจากการตั้งสมมติฐานกลุ่มลูกค้าน้อยเกินไปนั่นเอง