Just-auto.com ได้เผยบทวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ของ Toyota ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าเป็นห่วง ถึงแม้ว่า Toyota ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดในภูมิภาคนี้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นเคย แต่ถ้าหากเจาะลึกถึงลงในรายละเอียดถึงการแข่งขันแล้วจะพบว่า Toyota เริ่มสูญเสียฐานยอดขายไปพอสมควร เนื่องจากคู่แข่งเองก็ทิ้งไพ่เด็ดอย่างไม่ลดละ
ในปีที่ผ่าน ถึงแม้แบรนด์รถยนต์อเมริกันอย่าง Chevrolet และ Ford อยู่ในสภาวะชะลอตัวทั้งการลดจำนวนรุ่นที่จำหน่ายและลดกิจกรรมการตลาดในภูมิภาคนี้ลง แต่ Toyota ก็ยังประสบปัญหายอดขายรวมในภูมิภาคนี้ลดลงอยู่ดี ยอดขายรถยนต์ Toyota ประจำไตรมาส 1 ของปี 2018 มีตัวเลข 207,000 คัน หดตัวลงถึง 14% เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายประจำไตรมาส 1 ของปี 2017 ที่มียอดถึง 240,000 คัน สวนทางกับยอดขายรถยนต์รวมทั้งภูมิภาคประจำไตรมาส 1 ของปี 2018 ที่มียอดถึง 798,000 คัน เติบโต 2.3%
Toyota ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดในภูมิภาคนี้ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 26% ของยอดขายรถยนต์รวมทุกประเภท ประจำไตรมาส 1 ในปี 2018 (ไม่นับรวมแบรนด์ในเครืออย่าง Daihatsu, Lexus และ Hino) แต่ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดก็น่าเป็นห่วง เพราะ Toyota เคยครองส่วนแบ่งการตลาดในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2017 ถึง 31%
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ แบรนด์รถยนต์ที่เล็กกว่า Toyota เริ่มประสบความสำเร็จในการเปิดตัวท้าชนในกลุ่มตลาดรถยนต์ที่มียอดขายสูง โดยเริ่มจาก Honda ที่สามารถแย่งส่วนแบ่งจาก Toyota ได้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน Mitsubishi คือผู้เล่นล่าสุดที่ส่ง Xpander มาเจาะตลาดมินิแวนในอินโดนีเซียได้สำเร็จ และรวมถึงรถกระบะหลาย ๆ เจ้าก็มียอดขายเติบโตขึ้นด้วย
ตลาดที่ Toyota มียอดขายตกจนน่าเป็นห่วงคือ ตลาดอินโดนีเซีย ที่มียอดขายประจำไตรมาส 1 ของปี 2018 หดตัวลงถึง 21% หรือมียอดขาย 84,000 คัน เมื่อเทียบกับยอดขายประจำไตรมาส 1 ของปี 2017 ที่ขายได้ถึง 107,000 คัน นั่นเป็นเพราะว่าความต้องการ Toyota Avanza ลดต่ำลงมาก โดยยอดขายประจำไตรมาส 1 ของปี 2018 ทำยอดได้แค่ 21,000 คันหดตัวลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2017 หรือมียอดขาย 36,000 คัน
(Mitsubishi Xpander ศัตรูร้ายทำลายยอดขาย Toyota Avanza ในอินโดนีเซีย)
ผลกระทบจากการเปิดตัว Mitsubishi Xpander ไม่เพียงทำให้ Toyota ต้องเสียศูนย์เท่านั้น แต่ Honda ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกันจนทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดประจำไตรมาส 1 ปี 2018 ในอินโดนีเซียเหลือเพียงแค่ 12.4% จากเดิมที่เคยมีถึง 18.6% ในช่วงเดียวกันของปี 2017
กลยุทธ์ที่สำคัญของ Mitsubishi Xpander ที่ทำให้บัลลังก์คู่แข่งสั่นสะเทือนก็คือดีไซน์ภายนอกฉีกแนวดึงดูดใจ, ภายในห้องโดยสารมีคุณภาพและราคากระแทกใจ จึงทำให้ Xpander ขึ้นแท่นรถ MiniMPV ที่มียอดขายอันดับ 1 ในไตรมาส 1 ปี 2018 ด้วยยอดขาย 22,000 คัน เหนือกว่า Toyota Avanza ที่มียอดขาย 21,000 คันไปเรียบร้อย
การยกระดับคุณภาพและการออกแบบของ Mitsubishi Xpander คือสิ่งที่ทำให้ Toyota Avanza รุ่นปัจจุบันต้องหนักใจ เพราะตัวรถทั้งคันไม่มีทางที่จะเทียบชั้น Xpander ได้ ดังนั้น สิ่งเดียวที่ Toyota ทำได้ในตอนนี้ คือเลื่อนแผนการเปิดตัว All NEW Avanza ไปยังปี 2019 (แผนเดิมคือเปิดตัวในปี 2018) เพื่อให้มีเวลาปรับปรุงดีไซน์ภายนอก-ภายในให้สามารถต่อกรกับ Mitsubishi Xpander ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อมากกว่านี้
ดังนั้น ในระหว่างที่รอ Toyota จึงฝากความหวังไปยัง All NEW Toyota Rush : SUV เบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่งและ C-HR เพื่อดึงยอดขายกลับมาก่อนในปีนี้
เมื่อสำรวจตลาดรถยนต์ในอาเซียนทุกประเทศพบว่า Toyota ก็ยังส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง เนื่องแบรนด์ที่อ่อนล้าลงเรื่อย ๆ และคู่แข่งก็รุกตลาดเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
Toyota ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดไตรมาส 1 ในปี 2018 ลดลงเหลือ 27% จากเดิมที่เคยได้ 28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2017 สวนทางกับตลาดรถยนต์โดยรวมที่มียอดขายเติบโต 13% หรือ 237,061 คัน นั่นเป็นเพราะตลาดรถกระบะของ Toyota ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญยังมียอดขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ Ford, Mitsubishi, Nissan และ Chevrolet มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
สำหรับตลาดฟิลิปปินส์ Toyota ก็ประสบปัญหาส่วนแบ่งการตลาดไตรมาส 1 ของปี 2018 ลดลงเหลือแค่เพียง 38% จากเดิมที่เคยครองตลาดถึง 44% ในช่วงเดียวกันของปี 2017 มียอดขายเหลือ 34,000 คันหรือ ลดลง 21% ในขณะที่ยอดขายรถยนต์รวมภายในประเทศลดลงแค่เพียง 9% หรือมียอดขาย 89,000 คัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดขาย Toyota ฟิลิปปินส์ลดลงมาก คือ Vios, Corolla Altis, Innova, Avanza มียอดขายที่ไม่ดี มีเพียงแค่ Agya ที่จำหน่ายในชื่อ Wigo และรถกระบะ Hilux ที่ยังมียอดขายน่าพึงพอใจ และภายในเดือนพฤษภาคม Mitsubishi ก็ได้ส่งออก Xpander ยังฟิลิปปินส์ ก็ถือเป็นอีก 1 ตัวแปรที่สร้างแรงกดดันให้ Toyota ได้ไม่น้อย
สำหรับตลาดมาเลเซีย Toyota มีส่วนแบ่งการตลาดในไตรมาสแรก ปี 2018 ไม่ถึง 11% จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 13% เนื่องจากยอดขายรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์หดตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนในตลาดเวียดนามส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 23% เหลือ 20% เนื่องจากยอดขายรถกระบะ Hilux ที่ลดลง
ที่มา : Just-Auto