ไม่คิดมาก่อนว่า ชีวิตผมจะต้องเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร
ไม่คิดมาก่อนว่า จะมีผู้ผลิตรถยนต์รายใด เชิญให้ร่วมทริปเพื่อ
เดินทางไปยังประเทศนี้
ไม่คิดมาก่อนว่า จู่ๆ ปี 2014 นี่แหละ มีเหตุให้ผมต้องเดินทางไปยัง
อังกฤษ ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ในเวลา ห่างกันแค่เพียง 1 เดือนพอดีๆ!
ไม่คิดว่า ผู้ที่เชิญไปอังกฤษครั้งที่ 2 คราวนี้ จะเป็น BMW Thailand !!
ไม่คิดว่าจะได้ไปขับรถชิลๆ บนถนนตามชนบท และทางด่วนของอังกฤษ
(นี่ยังไม่นับกับอีกทริปหนึ่ง ซึ่งได้ไปขับรถในสนาม Silverstone ที่จะ
เล่าให้อ่าน โอกาสต่อไปอีกนะ!!)
ไม่คิดว่าจะได้ไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์ของ Rolls Royce
แถมไม่คิดว่าจะได้ไปเยี่ยมชม Fawley Court พื้นที่ทางประวัติศาสตร์
ที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1065 !!!
ที่สำคัญก็คือ ไม่คิดมาก่อนว่า จะได้มีโอกาส มาขับรถยนต์คันเล็กจิ๋ว
สุด Chic อย่าง MINI กันถึงถิ่นกำเนิด ในประเทศบ้านเกิดกันอย่างนี้
แถมยังเป็น MINI ตัวถังใหม่ล่าสุดในประวัติศาสตร์ฃของพวกเขา
นั่นคือ รุ่น Hatchback 5 ประตู….
ดีใจยิ่งกว่าได้โชคทองจากซองมาม่า!
แต่ วินาทีนี้ คนที่ดีใจยิ่งกว่า ก็คงจะเป็น พี่จอน คุณกฤษฎา อุตตโมทย์
ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร BMW Group Thailand สุดแสน
Nice หัวหน้าทริปของเราครั้งนี้ และผู้ที่ส่งเทียบเชิญมาให้ผมนั่นละครับ
แหงละ พี่จอน ผู้น่าร้ากของพวกเรา ได้ VISA เข้าประเทศอังกฤษ ใน
ช่วง 5 โมงเย็น วันก่อนเดินทางตามตารางบิน ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด!
ลุ้นกันใจหายใจคว่ำ นี่ขนาดว่า ไปทำ VISA ล่วงหน้า 1 เดือนแล้วนะ
ยังล่าช้าอืดอาดเป็นหอยทากบิดขี้เกียจกันเลยทีเดียว!
VISA ของประเทศอังกฤษ ช่วงนี้ ไม่รู้เป็นอะไร กว่าจะได้มา ล่าช้า
จนหลายคน รวมทั้งผม ต้องผ่านประสบการณ์ลุ้นระทึกยิ่งกว่าลุ้น
โชครหัสลับใต้ฝาขวด อิชิตัน ชาเขียว กันเสียอีก ลุ้นว่า VISA จะได้
คลอดออกมาทันหรือไม่ จนคนรอบข้างผม บางคนถึงกับเอ่ยออกมาว่า
“ขนาด สหรัฐอเมริกา ที่ว่าขอ VISA ยาก ยังไม่ลำบากตรากตรำในการรอ
นานเท่า อังกฤษในช่วงนี้เลย!”
ผมเอง เคยลุ้นระทึกมาแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม ในช่วงที่มีเหตุต้องเดินทาง
ไปกับ Nissan เพื่อไปร่วมงาน GT Academy ที่ อังกฤษ ตอนนั้น กว่าที่
VISA ของผมจะมาถึง ก็เหลือเวลาอีกแค่ 1 วัน ก่อนเดินทาง เช่นเดียวกัน
นี่ดีแต่ว่า ทริป MINI คราวนี้ ไม่ต้องขอ VISA อีกครั้ง เพราะจากการยื่นขอ
ไปในครั้งแรก ผมได้รับ VISA แบบ Multiple คือสามารถเดินทางเข้า – ออก
จากอังกฤษ ได้เลย ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งถือเป็น
ความกรุณาของทางสถานฑูตอย่างยิ่ง (สงสัยว่า คงจะขี้เกียจให้ VISA แบบ
Single คือเข้าได้ครั้งเดียว เพราะไม่เช่นนั้น ต้องมาทำ VISA ใหม่หลายรอบ
เสียเวลา เพิ่มคิวงานให้เจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น)
ดังนั้น ผมขอแนะนำนะครับว่า ถ้าใครมีเหตุธุระจำเป็นในการไปเยือนอังกฤษ
ช่วงระยะนี้ (ช่วงกันยายน 2014 เป็นต้นไป) อาจจำเป็นต้อง ยื่นขอ VISA
ล่วงหน้า นานราวๆ 1 เดือนครึ่ง!!
อย่าชะล่าใจว่าใช้เวลา 15 วันทำการ น่าจะทัน เพราะนั่นอาจไม่ทันกาล และ
พาลทำให้คุณตกเครื่องบิน พลาดทริปสำคัญของคุณกันไปได้อย่างที่เคยมีคน
รอบข้างของผม เจอมาแล้ว แม้แต่การจ่ายเงินเพิ่ม Fast Track ก็อาจไม่พอ
ได้ยินว่า ก่อนหน้านี้ บางราย ต้องไปจัด Event ที่อังกฤษ ทำ VISA กันเป็น
หมู่คณะ ขนาดจ่ายเงินเข้าช่อง Fast Track อีกราวๆ 5,000 บาท เพื่อประกัน
ความเสี่ยง ให้ประหยัดเวลา สุดท้าย เจ้าหน้าที่อนุมัติ VISA ไม่ทัน กำหนด
แผนการต่างๆ ที่อังกฤษต้องถูกยกเลิกทั้งหมด เกิดความเสียหายใหญ่โตนั้น
มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ดังนั้น อย่าเสี่ยงครับ ไปยื่นขอ VISA เข้าอังกฤษ ล่วงหน้าเกินกว่า “1 เดือนครึ่ง”
ไปเลย จะดีกว่า!
เหตุผลของการมาเยือนอังกฤษ ครั้งนี้ ก็เพราะทาง BMW Thailand เชิญให้ผม
มาร่วมงานเปิดตัว สู่สายตาชาวโลก อย่างเป็นทางการ และงานทดลองขับ MINI
5 Door เป็นครั้งแรก ร่วมกับสื่อมวลชนจากทั่วโลก งานครั้งนี้ จัดขึ้น ณ เมือง
Henley-on-Thames เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำ Thames ในแคว้น Oxfordshire
ดินแดนบ้านเกิดของ MINI นั่นเอง
ในทริปนี้ มีสื่อมวลชนจาก ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย รัสเซีย
มาเก๊า ไต้หวัน สิงค์โปร์ มาเลเซีย ประเทศละ 1-2 คน ยกเว้นญี่ปุ่น ที่มากัน
เป็นฝูง ยกโขยงกันมา 6-7 คน แถม ล่ามแปลภาษามาให้อีก 1 คน!
ความพิเศษของทริปนี้ก็คือ ผมกับ น้องอู๋ อติชาญ เชิงชวโน เจ้าของเว็บไซต์
คนรัก MINI ที่ชื่อ www.MINI-TH.com และรายการโทรทัศน์ DigiLIVE
ทาง Nation Channel เป็นเพียง สื่อมวลชนจากเมืองไทย 2 คนเท่านั้น ที่
ได้มีโอกาสร่วมทริปนี้ ถือเป็นทริป Exclusive แสนสบายเป็นที่สุด! สบาย
และเป็นกันเองมาก จนพี่จอน กฤษฎา บอกว่า
“รู้สึกเหมือนไม่ได้พาสื่อมวลชนมาลองรถ แต่เหมือนพาเด็กๆ มาเที่ยวเล่น
มากกว่า”
เอิ๊กๆๆๆๆๆ!
สายการบิน EVA Air เที่ยวบิน BR067 จาก ไทเป มาแวะจอดที่กรุงเทพฯ
ให้เราขึ้นเครื่องบินกันที่ สนามบินสุวรรณภูมิ สายการบินนี้ แอบประหลาดกว่า
ชาวบ้านเขาอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่ ไม่มีที่นั่งชั้น First Class แต่เลือกจะปรับ
ให้ที่นั่งชั้น Bussiness Class เป็นชั้นสูงสุดของสายการบิน พวกเขาเรียก
ที่นั่งแบบนี้ในชื่อ Royal Laurel Class โดยคั่นกลางระหว่างเบาะนั่งชั้น
Economy Class ด้วยเบาะแบบ Elite Class ซึ่งมันก็คือ Premium
Economy หรือ เบาะนั่งชั้นประหยัด แต่เพิ่มความ Premium ขึนมาอีก
นิดนึงด้วยพื้นที่วางขาที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความสบายมากขึ้นอีกนิดนึงเท่านั้นเอง
ผมโดยสารอยู่บนเบาะแบบปรับเอนนอนได้ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมจอภาพ
มอนิเตอร์ Touch Screen ขนาดยักษ์ เดินทางอย่างเป็นสุข ด้วยบริการ
อย่างดีเยี่ยม อาหารจาก ครัว Cattering ของเมืองไทย ที่บริการเสริฟบน
เที่ยวบิน ถือว่า อร่อย และทำให้พอจะหายคิดถึงอาหารไทยได้เยอะ เพราะ
มี ลาบหมู กับทอดมันปลากรายมาให้กินด้วย! แม้จะนอนไม่ค่อยหลับสนิท
แต่ก็ได้ดูหนังที่อยากดูไปสองสามเรื่อง ภาพรวมถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ลอง
ใช้บริการ สายการบิน EVA Air และค่อนข้างประทับใจ แถมยังสะสมไมล์
กับ Royal Orchid Plus ของการบินไทย ในกลุ่ม Star Alliance
ด้วยกันได้อีกด้วย
ทันทีที่มาถึง สนามบิน Heathrow ตอน 19.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น (1.15 น.
ตามเวลาในประเทศไทย) ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองทาง Fast Track (ซึ่ง
เป็นสิทธิพิเศษ สำหรับผู้โดยสารชั้น Bussiness Class ขึ้นไป) อย่างง่ายดาย
เหมือนเมื่อเดือนที่แล้ว คนขับรถ ที่ทาง MINI ว่าจ้างมารอรับ ก็พาพวกเรา ออกจาก
อาคารTerminal 2 ที่เพิ่งเปิดใช้งาน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ ไปยัง
อาคารจอดรถ…พาหนะของเราจอดรออยู่แล้วครับ…
Mercedes-Benz Vito สีเงิน….!
พี่จอน กุมขมับ…”ผมว่าแล้วววว”
ไม่แปลกหรอกครับพี่จอน เมื่อครั้งที่ผมมาเยือนอังกฤษทริปก่อน เดือนก่อน ไป
ร่วมงาน Nissan GT Academy พาหนะที่มารับเราจากสนามบิน ก็เป็นรถตู้
Volkswagen Transporter รถบัส เป็น Mercedes-Benz กับ Volvo
ส่วนรถตู้ที่พาพวกเราไปส่งยังสนามบิน Heathrow ก็เป็น Mercedes-Benz
Viano นี่แหละ เหมือนกันเปี๊ยบ ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับ
ช่วยไม่ได้จริงๆฮะ บริษัทพี่ไม่ยอมทำรถตู้ขายเองให้ผิดประเพณี ผิดผี นี่นา (ฮา)
เราออกเดินทาง มุ่งหน้าไปบนทางด่วนสาย M25 และมาถึงโรงแรมที่พักที่ชื่อว่า
Hotel du Vin & Bistro , Henley on Thames ในอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา
มาถึงตอนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนเช็คอิน ก็ต้องหาของกินใส่พุง
เหลียวซ้าย แลขวา ร้านอาหารชั้นล่างของโรงแรมนี่เลยแล้วกันวะ! น้องอู๋ บอกว่า
ถ้าจานนึง ราคาไม่เกิน 20 ปอนด์สเตอร์ริง ถือว่า พอยอมรับได้….
ครับ ยอมรับได้ ยอมรับว่าแพงสาดดดด ครับ (T_T) เมื่อเทียบกับรสชาติของสเต็ก
เนื้อติดกระดูก Beef Bourguignon On the bone (Braise Beef Short
Short ribs, Portobello mushroom,Shallots & smoked pancetta)
จานละ 18.95 ปอนด์สเตอร์ริง ที่ผมลองสั่งมา ตามคำแนะนำของน้องบริการสาว
ผมบลอนด์ นางบอกว่า นางชอบเมนูนี้ เลยอยากลองแนะนำให้ผม….
เศร้าครับ ผมผิดหวัง รสชาติมัน…เต็มไปด้วยมัน เนื้อมีนิดหน่อย แถมซอสราด
ก็ชวนให้คิดได้ว่า ข้าวสตูว์เนื้อ ของร้านข้าวแกง ริมถนนในกรุงเทพฯ ยังอร่อยกว่า!
สุดท้าย ต้องยอมจบกับ ปลา Roast Cod, Lentils du puy (Braise Puy
lentis,button onion and pancetta ) ก้อนเบ้อเร่อ จานละ 16.95 ปอนด์ฯ
ไปแทน พออิ่มท้องก็ต้องไปเดินวนรอบถนนละแวกย่านโรงแรม เพื่อย่อยก่อนเข้านอน
บรรยากาศเมือง Henley on Thames ตอนกลางคืน ค่อนข้างเงียบมากกกก อาจ
มีชาวอังกฤษบางส่วน เดินประคองร่างเพื่อนสาวที่เมาแอ๋กลับบ้านให้เห็นอยู่แค่
นิดหน่อย เพียงประปราย
ค่ำคืนที่ไปถึงนั้น เป็นคืนวันลงประชามติ ว่า Scotland จะแยกตัวจาก UK หรือไม่
การนับคะแนนเป็นไปอย่างเข้มข้น ข่าวโทรทัศน์ทุกสถานี ทั้ง BBC , Sky ฯลฯ
ต่างพากันถ่ายทอดสด พร้อมการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย คล้ายกับช่วง
ที่บ้านเราเคยมีการเลือกตั้งกันนั่นละครับ แบบเดียวกันเปี๊ยบ…
เช้าวันที่ 19 กันยายน ผมนอนไปได้แค่ 3 ชั่วโมง กึ่งหลับกึ่งตื่นไปอีก 1 ชั่วโมง
ทนไม่ไหว ตื่นมาตอน ตี 5 เพื่อได้พบความจริงว่า ผลการลงประชามติ สรุปว่า
คนที่ยังอยากให้ Scotland อยู่กับ UK ต่อไป เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก แต่ก็มากกว่า
ฝ่ายที่อยากให้แยกตัวออกไป แค่เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ เท่านั้น
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด แคเมรอน เดินออกมาจากบ้านพักหมายเลข 10
ถนน Downing แถลงการณ์สรุปว่า “เอาละ ทุกท่าน นับจากนี้ เราจะก้าวเดิน
ต่อไปด้วยกันเสียที”
เมือง Henley-on-Thames เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ
เมือง Reading 7 ไมล์ ตั้งอยู่ในแคว้น Oxfordshire ใกล้กับแคว้น Berkshire
และแคว้น Buckinghamshire.ใช้เวลาเดินทางจากกรุง London และ สนามบิน
Heathrow แค่เพียงครึ่งชั่วโมง เมืองนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1179
เมืองนี้แม้จะสงบเงียบ แต่ก็มีร้านรวงมากพอที่จะรองรับประชากรราวๆ 10,646 คน
(สำรวจเมื่อปี 2001) ได้อย่างดี มีร้านกาแฟ Starbucks ร้านขายยา,เวชสำอางค์
Boots ขายยา และเวชสำอางค์ รวมทั้ง ร้านสะดวกซื้อ Sainsbury ร้านรวงต่างๆ
และ Supermarket White Wall บริวเณใจกลางเมือง เรียกว่า High Street
เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชุนเมืองนี้ มีร้านอาหารไทย 2 ร้าน ตั้งอยู่บนถนนสายหลัก
ของเมือง ที่มุ่งหน้าไปยังจตุรัสกลาง (ดูได้ในภาพถ่าย)
รายละเอียดเพิ่มเติมของเมืองนี้ สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ทาง Website
http://www.henleytowncouncil.gov.uk
ส่วนโรงแรม Hotel du Vin Henley-on-Thames นั้น เดิมเป็นโรงเบียร์เก่า
ของบริษัท WH Brakspear & Sons Ltd ที่ดำเนินกิจการผลิตเบียร์ท้องถิ่น
มาตั้งแต่ ค.ศ. 1711 ก่อนจะย้ายมาอยู่บริเวณใกล้ริมแม่น้ำ Thames ต่อมา
เมื่อ 17 ตุลาคม 2002 กิจการโรงเบียร์ ถูกขายทิ้ง เปลี่ยนมือไปให้กับผู้ผลิต
เครื่องดื่ม Refresh UK ตัวอาคารถูกปล่อยทิ้งร้าง ก่อนจะถูกขายให้กับกลุ่ม
เครือข่ายโรงแรม Boutique Hotel ชื่อ Hotel du vin เอามาบูรณะใหม่ใน
ปี 2004 ก่อนจะเปิดให้บริการ ช่วงปี 2006 รายละเอียดเพิ่มเติม หาอ่านได้ที่
https://www.hotelduvin.com/locations/henley-on-thames/
พี่จอน ในฐานะ ทีมงานของ BMW / MINI ถูกกำหนดให้ไปพักที่โรงแรม
ใกล้กับพวกเรา ชนิดที่ว่า แค่เดินไป ก็ถึงกันแล้ว มีชื่อว่า Red Lion โรงแรม
เก่าแก่ ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามันก่อตั้งมาเมื่อใด เชื่อกันว่ามันถูกสร้างขึ้นมา
ตั้งแต่ ค.ศ.1531 รายละเอียดเพิ่มเติม ลองคลิกเข้าไปดูได้ที่
http://www.redlionhenley.co.uk
ถ้านั่นยังไม่เก่าพอ หันมาดูข้างโรงแรมครับ Red Lion ตั้งอยู่ติดกับ โบสถ์เก่าแก่
ชื่อ The Parish Church of Saint Mary the Virgin ตั้งอยู่บนหัวมุมถนน
Hart Street กับถนน A4130 ที่ตัดมาจากโรงแรม Hotel du vin โบสถ์แห่งนี้
ถือเป็นโบสถ์เก่าแก่ ประจำเมือง ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1204 !!!
เดินเล่นรอบเมือง Henley-on-Thames ได้สัก 1 รอบ ท่ามกลางอาการเย็นสบาย
หลังฝนตกเมื่อช่วงกลางดึกคืนก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะต้องเดินไปขึ้นรถตู้
โดยสาร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงเต็มๆ ฝีมือการขับอันแสนคล่องแคล่ว ของพี่พลขับ
ผิวเข้มสุดหล่อ พี่เค้าคงกำลังนึกว่า ขับ MINI อยู่ ทั้งที่เราต่างนั่งกันอยู่ในรถตู้ขนคน
Mercedes-Benz Sprinter ดัดแปลงแบบ 13 ที่นั่ง ไซส์ฝรั่ง แต่ใช้ช่วงล่างเป็น
แหนบ ผมต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ ก็เลยเกิดอาการมึนๆ วิงเวียน Motion
sickness…เมารถ นั่นเอง!
ผมไม่ได้เมารถแบบนี้ มา 10 ปีแล้วมั้งเนี่ย! ครั้งสุดท้าย ที่เมารถจนอ้วก คือนั่ง
บนเบาะหลังของ Mazda Lantis ของป้าเอื้อย พี่สาวสุดเลิฟของผม ขึ้นเหนือ
ป้าผมแกเป็นพวกนักซิ่ง เล่นโค้งอย่างเมามันส์ ผมถึงขั้นต้องขอให้ป้าแกจอดแล้ว
วิ่งเข้าปั้มน้ำมัน ไปอ้วกในห้องน้ำเลยทีเดียว!…นั่นคือช่วงปลายปี 2004
ตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน หลังเดินทางมา 2 ชั่วโมง ผมก็มาถึงจุดหมายด้วย
ความมึนเมา(รถ) ใช้ได้เลย นี่ดีนะ ลงจากรถตู้ปุ๊บ ผมยังเก็บอาการได้อยู่…
ไม่งั้น คงได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะ คนไทยคนแรก ที่มาอ้วกเละเทะ
หน้าโรงงาน Rolls Royce!!
เรามาทำอะไรที่นี่?
พี่จอน เล่าว่า ทาง Rolls Royce ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ระดับ Ultra Luxury
ในเครือเดียวกันกับ BMW เขาทราบว่า ทางฝั่ง MINI จะจัดพาสื่อมวลชนมา
ประเทศอังกฤษ ทีนี้ ในทริปที่เรามาถึงนั้น เราอาจจะไม่ได้เข้าชมโรงงาน
MINI ใน Oxford เพราะมันติดช่วงวันหยุดปลายสัปดาห์ ทาง Rolls Royce
ก็เลยส่งเทียบเชิญมาว่า สนใจมาเยี่ยมดู โรงงาน Rolls Royce กันไหม?
ใครละจะปฏิเสธ!!
บรรยากาศจะเป็นอย่างไร ไว้จะเล่าให้อ่าน แยกเป็นบทความเดี่ยวๆ ออกไป
ในคราวหน้า เพียงแต่ ขอสรุปรวมรัดตัดความไว้ว่า ตั้งแต่เกิดมา และมีโอกาส
ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์ต่างๆ ในโลก ผมชอบโรงงานแห่งนี้มากๆ
ถึงขั้นมากที่สุด มันไม่ใช่แค่ ติดแอร์เย็นสบาย ไม่มีกลิ่นมลพิษรุนแรง….
แต่เป็นเพราะพวกเขา ไม่ได้รีบร้อนที่จะประกอบรถยนต์ พวกเขาใส่ใจในทุกสิ่ง
ที่ทำ ใส่ใจในทุกรายละเอียดบนตัวรถ ยอมเสียเวลา ร้อยสายเคเบิล ทีละเส้นๆ
บนฝ้าเพดานหลังคา เพื่อให้ได้บรรยากาศภายในรถยามค่ำคืน เรืองรองคล้ายกับ
หมู่ดาวบนฟากฟ้า ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาเรื่องที่ว่า ทำอย่างไร ให้ระบบ
ม่านถุงลมนิรภัย สามารถติดตั้งได้ ริมเพดานหลังคา โดยไม่กระทบกับบรรดา
สายเคเบิลทั้งหลาย อีกทั้งยังต้องแก้ปัญหาไม่ให้สายเคเบิลไปครูดกับผิวเหล็ก
แผ่นหลังคา จนเกิดเสียงรบกวนอันน่ารำคาญใจ
พวกเขาทุ่มเท แม้กระทั่ง การเปิดโอกาสให้ ลูกชายอายุ 8 ขวบ ของช่างฝีมือ
ผู้ชำนาญการเขียนลากเส้นคาดข้างตัวถังรถด้วยมือ และพู่กัน ได้มาฝึกฝนวิชา
จากบุพการี เพื่อเตรียมฝึกเป็นพนักงานเขียนลากเส้นด้านข้างตัวถังรถ รุ่นต่อไป!!
นี่ละคือเหตุผลที่ทำให้ Rolls Royce จะยังคงความเป็นที่สุดแห่งอัครยานยนต์
แสนประณีต ครองใจทั้งในฝันและในความจริงของผู้คนทั่วโลก ไปอีกนานเท่านาน
หลังเยี่ยมชม แวะซื้อสินค้า และเข้าห้องน้ำ ในห้องรับโรงของโรงงาน (ซึ่งบุด้วย
กระเบื้องบุผนังเพลนๆ หน้าตาอย่างกับ ห้องน้ำ ห้าง IKEA ที่ Mega บางนาเป๊ะ)
เราออกเดินทาง กลับโรงแรม ด้วยรถตู้คันเดิม และพี่คนขับคนเดิม คราวนี้ผมรู้แกว
เลยรีบแย่งชิงเบาะนั่งที่หันหน้าไปทาง ด้านหน้าของรถ ตามปกติมาสำเร็จ อาการ
เมารถ หายไป แต่สิ่งที่ปรากฎตรงหน้า เมื่อรถแล่นมาถึงทางด่วน M4 นั้น ทำให้
ผมต้องนั่งนึกดีๆว่า แน่ใจนะ..ว่าเรายังอยู่ในอังกฤษ ไม่ใช่ทางด่วนมอเตอร์เวย์
ช่วงพระราม 9 ยามเย็นวันฝนตก ในบ้านเรา?
รถติดเป็นแตงโม..เอ๊ย..ตังเม!
เปิดเช็คใน Google Now แล้ว แอบเซ็งนิดๆ มีอุบัติเหตุ 2 จุด บนเส้นทางที่
เราจะมุ่งหน้ากลับโรงแรม ทำให้การจราจร เคลื่อนตัวได้ช้าๆ สลับหยุดนิ่ง จาก
กำหนดเดิมที่เราจะใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง มันกลายเป็น 3 ชั่วโมง
ใครว่าบ้านเรารถติดที่สุดในโลก ไม่จริง! ขอเถียง และขอให้ไอ้คนที่พูดหนะ
มาเจอรถติด บนทางด่วนอังกฤษ ช่วงผ่านสนามบิน Heathrow ตอนเย็นๆ
Rush hours ก่อนเถอะมึ๊งงงง! ขี้คร้าน จะรีบถอนคำพูดแทบไม่ทัน!
ตามกำหนดการ เราควรกลับมาถึงโรงแรม ราวๆ 17.00 น. เพื่อพักผ่อน ก่อนจะ
เข้าสู่รายการต้อนรับในช่วงหัวค่ำ แต่ด้วยการจราจรอันหนักหน่วงของทางด่วนใน
อังกฤษ เรากลับมาถึงโรงแรม 18.00 น. และมีเวลาสั้นๆ 15- 20 นาที จัดแจง
ตัวเองให้เรียบร้อย เพราะทีมงาน MINI จะพาเราเดินลัดเลาะจากโรงแรมที่พักใน
ระยะ 50 หลา มายัง ท่าเรือเล็กๆ ริมแม่น้ำ Thames ซึ่งมีทั้งเรือขนาดเล็กแบบ
Speed Boat และ เรือขนาดเล็กแบบ ล่องลำน้ำ Boat Shuttle ที่ตกแต่งด้วย
ตุ๊กตาน้องหมา สัญลักษณ์ประจำของ MINI ยุคใหม่ มาพร้อมกับกระเช้าแซนด์วิช
และเครื่องดื่มเย็นๆ และการต้อนรับโดย Mr.Oliver วิศวกรด้านระบบขับเคลื่อน
ของ MINI จาก BMW AG. เยอรมัน และเพื่อนร่วมทีมของเขา
Boat Shuttle พาพวกเราล่องลำน้ำ Thames ขึ้นไปทางเหนือเพียงเล็กน้อย
ไปตีวงเลี้ยวซ้าย ย้อนกลับมาเทียบท่ายัง Fawley Court สถานที่จัดงานใน
ค่ำคืนนี้
Fawly Court มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกกกกกกกกกกกกกกก ไม่แพ้
เมือง Henley on Thames เลย มันเป็นบ้านขนาดใหญ่ในชนบท หรือที่เรียก
ว่า Country House พร้อมสวนขนาดยักษ์ ซึ่งน่าจะใหญ่พอกันกับขนาดของ
“พุทธมณฑล” ในบ้านเรา! ประวัติของมันย้อนกลับไปไกลถึงปี ค.ศ. 1065 !!!
และผมคงจะไม่ขอเล่าเรื่องราวตรงนั้นที่นี่ เพราะมันจะยาวเกินเหตุ!
ตัวบ้านหลังใหญ่ สร้างมาแล้ว 360 ปี และถูกจัดขึ้นทะเบียนอยู่ในกลุ่มอาคาร
Grade 1 ที่ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้ของอังกฤษ ในานะ English Heritage
ก่อนหน้านี้ ในช่วง ศตวรรษที่ 19 จนถึงปี 2008 มิชชันนารี ชาวโปแลนด์ ใช้
อาคารแห่งนี้ เป็นสถานที่ประชุมของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ จาก โปแลนด์
แต่เมื่อขาดงบประมาณในการดูแล ทำให้ มีคดีความกัน จนต้องถูกบังคับขาย
ปัจจุบัน เศรษฐีนี ชาวอังกฤษ เข้ามาซื้อไปด้วยมูลค่า สูงถึง 16.5 ล้านปอนด์ฯ
ที่นี่ ถูกเนรมิต ให้กลายเป็นสถานที่จัดงาน Event ต่างๆ และ MINI 5 ประตู
จัดเป็น รถยนต์รุ่นแรก ในโลก ที่มาใช้สถานที่แห่งนี้ จัดงาน Event เปิดตัว
การตกแต่งภายนอก ใช้ไฟประดับ ให้บรรยากาศ หลอนน่ากลัว อีกนัยหนึ่ง
แสงสีของไฟ ดูคล้ายกับ ร้านอาหารแบบเพิ่งคาราโอเกะ ริมข้างทางตาม
ต่างจังหวัดในบ้านเรา!!
มีการนำ Mini รุ่นดั้งเดิม ทั้ง Cooper และ Kensington มาจัดแสดงด้วย
ทั้ง 2 คัน อยู่ในสภาพดีเยี่ยม ยังขับขี่ได้ทั้งคู่ ส่วนด้านนอกอาคาร เมื่อเดินขึ้น
มาถึงระเบียงใหญ่แล้ว จะมีบริการเสริฟบรรดาเครื่องดื่ม และอาหารว่างจำพวก
Fusion Food พร้อมให้ชม MINI รวม 4 Generation คาดตัวถังด้วยลาย
ธงชาติอังกฤษ ทั้งคัน รอกันสักพัก จึงเปิดโอกาสให้เข้าไปยลโฉม MINI รุ่น
5 ประตู สีน้ำเงิน Lapis Luxury Blue ตกแต่งเต็มยศด้วยชุดออพชันแบบ
MINI YOURS พวงมาลัยซ้าย ข้างในอาคารที่ย้อมแสงห้องโถงด้วยสีน้ำเงิน
เสียงของนักร้องสาวผิวเข้ม สุด Sexy เปิดตัวด้วยเสียงอันทรงพลัง กับเพลง
Diamonds are forever จากภาพยนตร์เรื่อง James bond 007 ในปี
1971 ตามด้วยผู้บริหารของ MINI สรุปข้อมูลของตัวรถ ดีที่ว่า คราวนี้เป็น
การแนะนำรุ่นตัวถังใหม่ Hatchback 5 ประตู ของ MINI เป็นครั้งแรก จึง
ใช้ข้อมูลไม่เยอะนัก และเป็นชุดเดียวกับ MINI 3 ประตู F56 ซึ่งเผยโฉม
ไปก่อนหน้านี้
ผู้บริหารกล่าวแนะนำรถเสร็จแล้ว เราต่างแยกย้ายไปนั่งตามห้องต่างๆ ของ
คฤหาสน์ Fawler Court ที่ประดับด้วย Theme แตกต่างกันตามยุคสมัย
ทั้ง 1960 , 1970 , 1980 และ 1990 ห้องที่เรานั่ง จะมีโปสเตอร์ยักษ์
รูป Pacman จากเกมกดอันโด่งดังสมัยเรายังเด็ก แปะหราไว้กลางผนัง ตู้
วางของ จะมีทั้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ McIntosh รุ่นแรก ไปจนถึงแผ่นเสียง
ของ Simply Red กับ Michael Jackson ชุด Thriller อันเป็นชุดที่
โด่งดังสุดๆเป็นพลุระเบิดไปทั่วโลกของ MJJ เขา
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี รถ MINI ผลิตโดย LEGO ซึ่งเพิ่งอกวางจำหน่าย
เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ในกรอบใสโชว์ให้ดูทั้งแบบ
3 ประตู ที่ขายกันจริงๆ และแบบ 5 ประตู ที่ทาง LEGO ทำออกมาให้
ทาง MINI เป็นพิเศษ เพียงคันเดียว
น้องอู๋ ถึงกับกรีดร้องด้วยความปรีดา รุ่น 3 ประตู เจ้าตัวเพิ่งซื้อหามาได้
จากสหรัฐอเมริกา หมาดๆ 2 กล่อง แต่รุ่น 5 ประตู นั้น ดูเหมือนว่าจะ
ไม่มีขายนะครับ
อาหารแนว Fusion Food ถูกนำมาเสริฟ ขับกล่อมด้วยเสียงเพลงจาก
นักร้องสาวคนเดิม ที่ร้องมาเพลงไหน ก็แทบจะกรี๊ดลั่น เพราะล้วนมีแต่
เพลงที่ผมชื่นชอบ เกือบทั้งนั้น เช่น Stop! in the name of Love
ของ Diana Ross & The Supreams หรือTrue Colors ของ
Cyndy Laupers, Virtual Insanity ของ Jamiroquai ฯลฯ รวม
ทั้งเพลงที่เปิดคลอ ผ่านลำโพง อย่าง Time after time ของคุณป้า
Cyndy Lauper อีกนั่นแหละ หรือเพลง Thrillers ของ MJ เป็นต้น
เป็นค่ำคืนที่มีความสุข และไม่ได้รู้สึกว่า มาลองรถแต่อย่างใด เหมือนมา
นั่งเล่นปาร์ตี ในคฤหาสน์หรู ไกลถึงอังกฤษมากกว่า
งานเลี้ยง ย่อมมีเลิกรา MINI Countryman John Cooper Works
211 แรงม้า คือ Shuttle Car ที่พาเรากลับไปส่งยังโรงแรม เพื่อให้
เราได้พักผ่อนเข้านอน เก็บแรงไว้ทดลองขับรถตลอดทั้งวันพรุ่ง อันใกล้
จะมาถึง
เช้าวันที่ 20 กันยายน 2014
นอนไป 3 ชั่วโมง ตื่นแบบกลัวสาย แพ็คกระเป๋าเดินทาง แล้วลากลงบันไดเหล็ก
มาเจอมื้อเช้า จากทางโรงแรม ที่ MINI เขาเตรียมไว้ พิมพ์เป็น Menu ให้เลือก
ได้ไม่กี่อย่าง แต่ดีที่ว่า มีทางเลือกอื่น นอกเหนือจาก English Breakfast
พี่จอน เดินจากโรงแรม Red Lion ลากกระเป๋ามาเจอพวกเรา ไหนๆก็ไหนๆ ขอ
กินกาแฟสักแก้ว และแซลมอนสดๆ สักหน่อย…
“พี่จอน ผมว่าจะเตือนพี่ แต่คงไม่ทันแล้วละ พี่ตักมาครึ่งจานแล้ว แซลมอน ผมว่า
มันแปลกๆอะพี่ มันมีกลิ่นสาบๆ อะครับ ไม่สดแหงๆ ลองชิมดูละกัน”
พอแซลมอนเข้าปากปุ๊บ ผมก็เพิ่งเคยเห็นพี่จอน สีหน้าปุเลี่ยนๆ ก็วันนี้แหละ!
ไข่ดาว Back Bacon และขนมปังปิ้ง ยังคงเป็นที่พึ่งของคนไทยเรากันต่อไป อัด
กระหน่ำเข้าพุง ราวกับเดาทางได้ว่า มื้อเที่ยง น่าจะเจอ Fusion Food อีกแหงๆ
8.00 น. ได้เวลามาไปรถกันแล้วละ!
เจ้าหน้าที่ จะไม่ยอมยื่น กุญแจรถให้ หากคุณไม่แสดงใบขับขี่สากลให้เขาดู ดีที่
พกมาด้วย ทำมาเผื่อเอาไว้ จากเมืองไทย ที่กรมการขนส่งทางบก จตุจักร เสีย
ค่าทำ ไม่ถึง 1,000 บาท และใช้เวลาสั้นมาก แค่ 5 นาที เดินไปฉี่ กลับมาก็
ทำเสร็จแล้ว!! (เตรียมแค่รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 ใบ ใบขับขี่ 1 ใบ พาสปอร์ต 1 เล่ม
และแค่นั้น)
เดินออกมานอกโรงแรม MINI ทั้ง 2 รุ่น คือ Cooper S เกียร์อัตโนมัติ และ
Cooper SD เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด บวกลบ ทั้งคู่ จอดเรียง
กันเป็นตับอยู่หน้าโรงแรมแล้ว
ถ่ายรูปเสร็จ ล้อหมุนกันเป็นคันท้ายๆ บอกแล้วครับ เราไม่รีบ คนอื่นเขาจะขับขี่
บนเส้นทางอย่างไร เราไม่รู้ เพราะเราตั้งใจจะไม่ขับไปตามเส้นทางที่เขาจัดไว้
แต่เราจะมุ่งหน้าไปถ่ายรูป ถึงหน้าโรงงาน BMW Manufacturing (MINI
Plant) ที่ Oxford กันเลย
ระหว่างทาง แวะปั้มน้ำมัน BP เข้าห้องน้ำ และหาของกิน จะบอกว่า หากเจอ
ร้านสดวกซื้อ M&S Food ของ Mark & Spencer เมื่อไหร่ บรรดาขนมปัง
เบเกอรี หรือแซนด์วิช สำหรับรองท้องนั้น รสชาติ ไม่เลวเลยทีเดียวครับ พอจะ
กินได้ ถึงขนาดกินเอาอิ่มยังได้เลยเถอะ! แซนด์วิช BLT (Bacon, Lectuce
Tomato) ราคาราวๆ 2 ปอนด์ฯ เศษๆ เกือบ 3 ปอนด์ฯ แต่อยู่หมัด! ขนาด
ใหญ่แบบฝรั่งกินชัดๆ อิ่มท้องเลยทีเดียว
พอถ่ายรูปเสร็จ เรามุ่งหน้าไปตามเส้นทางต่างๆ เซ็ตระบบนำทาง GPS แบบ
ตามใจฉัน ตามแต่มันจะนำทางไปกันสุดๆ ไม่มีเป้าหมายอะไรล่วงหน้า แค่ว่า
พอถึง เที่ยงครึ่ง หรือบ่ายโมง เราควรไปถึงร้านอาหาร อันเป็นจุดนัดหมาย
สำหรับมื้อเที่ยง แค่นั้นเลย
เราจึงขับเข้าเมือง Readings ระหว่างที่เราเดินทางไปบนถนน Bath Road
พอเจอปั้ม Esso ถัดไป เป็นโชว์รูม MINI ไวเท่าความคิด ตาอู๋ พาเราเลี้ยว
เข้าไปทันที!
จุดประสงค์ ก็คือ เราอยากดูโชว์รูม MINI ในอังกฤษอยู่แล้วพอดี ก็เลยแวะ
เข้ามาดูให้เห็นแล้วก็ ขอ โบรชัวร์ MINI Hatchback ติดมือกลับเมืองไทย
คนละเล่ม แค่นั้นแหละ อิอิ
พอเลี้ยวเข้ามาจอด เห็นรถ MINI จอดอย่เต็มลาน พนักงานขายหนุ่มอังกฤษ
ผมทอง ร่างกำยำ เดินกล้ามผายไหล่ผึ่ง ตรงเข้ามา แววตาถลน ทักทายจับมือ
กันใหญ่ พร้อมถามว่า “Nice cars!! รถคันนี้มาได้ยังไงเนี่ย?” ก็เลยบอกว่า
เป็นสื่อมวลชน เป็น Media จากเมืองไทย มาร่วมกิจกรรม Test drive event
ที่ Henley on Thames เขาก็เชื้อเชิญ ให้เรา นำรถเข้ามาเลี้ยวกลับในศูนย์ฯ
กันก่อน แล้วหาที่จอดให้
ระหว่างที่เราเดินดูโชว์รูม Cooper Reading MINI ซึ่งเป็นหนึ่งในโชว์รูม
เครือข่ายของบริษัท Inchcape ในอังกฤษ (ปกติ Inchcape ก็เป็น Dealer
รถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกกันอยู่แล้ว) บรรดาพนักงานขาย กับ
ช่างในศูนย์บริการ และลูกค้าที่มาดูรถในวันนั้น ต่างพากันมามุงดู ขอถ่ายรูป MINI
5 ประตู Cooper S คันสีแดง Blazing Red กันอย่างสนุกสนานมากๆ
แน่ละครับ วันที่เราไปเยือนโชว์รูมของพวกเขานั้น MINI 5 ประตู ยังไม่ถึงเวลา
ออกจำหน่ายในอังกฤษเลย ต้องรอหลังจากวันที่ 23 กันยายน 2014 กันก่อน
รถล็อตแรกจึงจะถูกส่งมาถึงโชว์รูมทั่วเกาะอังกฤษ ดังนั้น การปรากฎตัวของเจ้า
MINI 5 ประตู ในโชว์รูม ที่เมือง Readings วันนั้น จึงเป็นเรื่องประหลาดมากๆ
เราลาจาก และเซ็ตระบบนำทาง ให้ลัดเลาะมาตามถนนสายรองแบบ B-Road
ซึ่งเป็นถนนสายรองส่วนใหญ่ที่พบได้ทั่วไปทั่วเกาะอังกฤษ มีสภาพพื้นผิว คล้าย
ถนนสวนกันสองเลนตามต่างจังหวัดของไทย แต่ผิวถนนดีกว่านิดหน่อย ไม่ค่อย
มีหลุมบ่อดาวอังคารอย่างที่เจอในบ้านเรา
ในทีุ่สด เราก็ย้อนเข้าเมือง Henley on Thames ลัดเลาะมาถึงร้านอาหารชื่อ
สไตล์ English Pub ชื่อ Luscombes The Golden Ball Brakspear
(http://www.luscombes.co.uk) และแน่นอนครับ เรามาถึงเป็นคันสุดท้าย….
รายการอาหารเที่ยงของเรานั้น MINI จัดพิมพ์เตรียมไว้ ด้วยเมนูพื้นสีดำ ขนาด
เท่ากับ Brochure MINI มาตรฐานปกติ นั่นละครับ อยากกินอะไร ก็แล้วแต่
เราจะเลือกจาก Set Menu ที่เขาจัดไว้ให้แล้ว เท่านั้น
ทางทีมงาน เตรียม Mini MOKE หนึ่งใน Mini ยุคเก่า รุ่นหายาก มาจอดโชว์
นี่คือ เวอร์ชันดัดแปลงพิเศษ เดิมที BMC บริษัทเก่าของ Mini ตั้งใจผลิตรถยนต์
ขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการทหาร แต่ด้วยพื้นเตี้ย และล้อขนาดเล็ก จึงไม่เหมาะใน
การใช้ในยุทธวิธีของกองทัพ มันเลยถูกสร้างขึ้นแล้วขายให้กับพลเรือน บุคคล
ธรรมดาทั่วไป ผลิตออกขายที่อังกฤษในช่วง 1964 – 1968 รวมทั้งออสเตรเลีย
ช่วงปี 1966 – 1981 และยุติการผลิตเมื่อปี 1993 ที่โปรตุเกส
เมื่อพร้อมแล้ว เราเปลี่ยนมาขับ MINI Cooper SD สีฟ้า Electric Blue อันเป็น
สีฟ้าที่เคยมีขายใน MINI รุ่นปี 2001 อันเป็นรุ่นแรกที่พัฒนาขึ้นใต้ชายคาของ
BMW Group แล้วหายไป ก่อนจะนำกลับมาให้เลือกซื้ออีกครั้ง ในรุ่นใหม่
ล่าสุดของ MINI F55 และ F56 นี้
สภาพภายในของรถคันที่เรารับมา มันเขรอะมากๆ ไม่รู้ว่า นักข่าวชาติไหน ทำ
สกปรกขนาดนี้ เราได้เจ้าหน้าที่ Staff ของ ผู้จัดงาน มาทำความสะอาดจนใหม่
เอี่ยมอ่องอีกครั้ง ค่อยยังชั่ว ไม่งั้น คงนั่งเบาะหลังไม่ได้แน่ๆ
คราวนี้ ผมขับไปก่อนตามเคย เซ็ตระบบนำทาง GPS ไปเรื่อยเปื่อย อยากไปไหน
ก็ไปกันเลย ลัดเลาะไปตามถนน B-Road โผล่ออกทางด่วนสาย M40 แล้วไปพัก
เข้าห้องน้ำ กันที่ Bicester Outlet Mall อันเป็นสถานที่รวบรวมร้านรวงระดับหรู
สำหรับคนบ้า Brandname ซึ่งได้รับความนิยมในหม่นักท่องเที่ยว ชาวจีน ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ แขกอาหรับ และไทย อย่างมาก
ผมเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง เมื่อทริปอังกฤษ เดือนสิงหาคม แต่ราคาข้าวของต่างๆก็ยัง
ถือว่าแพงจนซื้อไม่ค่อยลง เพราะเสียดายตังค์ เลยได้แต่เดินดูผู้คนเขามะรุมมะตุ้ม
แห่กันซื้อสินค้า Brandname กันอย่างสนุกสนาน ครั้งนี้ก็เช่นกัน แค่แวะพักเพื่อ
เข้าห้องน้ำ แล้วเปลี่ยนมาให้น้องอู๋ ขับย้อนกลับไปยังทางด่วน M40 แล้วลัดเลาะ
ไปบนถนนสนาม B-Road เพื่อกลับไปถ่ายรูป และส่งคืนรถ ที่ Fawley Court
ให้ทัน 16.30 น. เป็นอันเสร็จสิ้นทริปในคราวนี้
เราขึ้นรถตู้ Mercedes-Benz Viano มุ่งหน้าออกจาก Fawley Court มาจอดรอ
ตรงประตูไม้โบราณดั้งเดิม ให้เจ้าหน้าที่ มาไขกุญแจ เปิดประตุให้เราได้ออกเดินทาง
มุ่งหน้ามาเข้าสู่ ทางด่วน M40 (เส้นทางสำหรับเข้าเมือง Central London หรือ
Hammersmith) เพื่อไปยัง สนามบิน Heathrow…
ข้อมูลสำหรับผู้ที่จะต้องเดินทางมายังประเทศอังกฤษ คงจะต้องอัพเดทกันตรงนี้
นั่นคือ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา การบินไทย รวมทั้งพันธมิตรใน
เครือ Star Alliance (แน่นอนว่า รวมทั้ง EVA Air ที่เราใช้บริการกันในครั้งนี้
เข้าไปด้วย) ได้ย้ายจุดจอดเครื่องบิน มายังอาคารหลังใหม่ Terminal 2 หรือ
ใช้ชื่อว่า The Queen’s Terminal แล้ว ดังนั้น ถ้าจะเดินทางกลับเมืองไทย
กรุณาอย่าจำ Terminal ผิด เป็นอันขาด
ย้ำอีกทีว่า การบินไทย และ Star Alliance ย้ายมาอยู่ที่ Terminal 2 แล้ว! จบข่าว!
การเช็คอิน รวมทั้ง ตรวจสแกนสิ่งของ สัมภาระ เป็นปกติของสนามบิน Heathrow
คือ เข้มงวดอย่างหนักในช่วงขาออก พอพ้นเข้าไปถึงในตัวอาคารผู้โดยสารแล้ว
ร้านอาหารที่ เราลองชิม และเห็นว่า พึ่งพาได้ คือร้าน The Perfectionist อยู่บน
ชั้น 2 (นับจาก โถงรับรองผู้โดยสาร แต่น่าจะถือเป็นชั้น 5 ของอาคาร) เมนูที่ลอง
สั่งมาชิมแล้ว ผู้ร่วมทริปพยักหน้า มีทั้งสเต็ก เนื้อ Rib Eye (ราคา 22 ปอนด์ฯ)
Hamburger (13.95 ปอนด์ฯ) และ Fish & Chips (14 ปอนด์ฯ) ส่วนพิซซ่า
ที่ย่างด้วยเตาถ่าน เราลองสั่งแบบเบสิก มากาเร็ตตา (10 ปอนด์ฯ) รสชาติพอได้
กว่าจะเดินไปถึง Gate ขึ้นเครื่อง ต้องลงบันไดเลื่อนขนาด”ยาวนรก” ต่อด้วยการ
เดินไปยัง ทางเชื่อมอาคารที่ “ยาวไม่มีวันจบ” ชนิดที่ว่า ถ้าใครจะบ่นถึงทางเดิน
ในสนามบินสุวรรณภูมิว่าโคตรไกลละก็ ขอให้ลองมาเจอทางเดินของอาคารใหม่
Terminal 2 ที่ Heathrow นี้ก่อน คุณแทบอยากจะ Throw ไอ้คนออกแบบ
ทางเดิน เขวี้ยงมันออกนอกวงโคจรโลกไปเลยแน่ๆ
ท้ายสุด เรามาถึง Lounge ที่พักผู้โดยสาร Bussiness และ First Class ของ
Air Canada ที่ทาง EVA Air และ Singapore Airline ไปขอพ่วงให้บริการอยู่
แม้จะมีห้องอาบน้ำให้ ข้างในดู Luxury เหมือนสนามบินฮ่องกงเปี๊ยบ แต่มีแค่ 2 ห้อง
และถ้าจะใช้บริการ ต้องจองคิว กว่าผมจะได้อาบน้ำ ก็เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 15 นาที
ก็จะต้องขึ้นเครื่องบินแล้ว แถมอาหารว่าง ก็มีให้เลือกน้อยชะมัด
สุดท้าย กลับมาพึ่งพา เบาะไฟฟ้าปรับเอนนอนยาวๆ พร้อมอาหารและบริการของ
EVA Air เที่ยวบิน BR068 ที่สบายตลอด 10 ชั่วโมง 48 นาที กลับถึงกรุงเทพฯ
โดยสวัสดิภาพ และแสนสบาย
ไม่ต้องมานั่งลุ้น รอเปลี่ยนอะไหล่ ECU เครื่องยนต์ตัว ที่ 3 เหมือน การบินไทย
London-BKK ในทริปก่อนหน้านี้ จนต้องนอนค้างที่ โรงแรมในสนามบิน เพิ่มอีก
1 คืนเต็มๆ เสียงานเสียการขั้นมโหฬารมากๆ!!…ไว้จะเล่าให้อ่านในโอกาสต่อไป
—————————————
ครึ่งท่อนบนที่คุณเพิ่งอ่านจบไป เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอด 3 วัน 2 คืน ในการ
เดินทางไปลองขับ MINI 5 ประตูรุ่นใหม่ ถึงอังกฤษ
อ่านมาจนถึงตรงนี้ ทุกท่าน ก็คงจะเบื่ออีกตามเคย แอบก่นด่าว่า รีวิวบ้าอะไรวะ
เลื่อนลงมา เจอแต่โรงแรม ของกิน และอะไรก็ไม่รู้ ตูจะอ่านเรื่องรถโว้ยยย
ใจเย็นๆครับ ข้างล่างนี้ ต่อจากนี้ จะเป็นเรื่องราวของ MINI 5 ประตู 2 รุ่นย่อย
จากประสบการณ์ที่ผม และน้องอู๋ ไปลองขับจริงกันมา ก่อนสื่อมวลชนรายอื่นๆ
ในเมืองไทย
รอช้าอยู่ใย? เลื่อนเมาส์ หรือ แตะนิ้วลากเลื่อนผ่านหน้าจอ มือถือ / Tablet
ของคุณสิครับ!
MINI Hatchback 5 ประตู รหัสรุ่น F55 ถือเป็นพัฒนาการลำดับล่าสุด ในแผน
การเพิ่มทางเลือกตัวถังอันหลากหลายให้กับตระกูล MINI โดยถูกสร้างขึ้นเป็น
โครงการคู่ขนานกับ MINI Hatchback 3 ประตู รหัสรุ่น F56 ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวสู่
สาตาชาวโลกไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2013 และเพิ่งจะเปิดตัวในเมืองไทย
ณ งาน Bangkok International Motor Show เมื่อช่วง ปลายเดือนมีนาคม
2014 ที่ผ่านมา
เหตุผลของการสร้าง MINI 5 ประตู ออกมา ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความพยายาม
เอาใจผู้บริโภค เพราะลูกค้าจำนวนไม่น้อย อยากได้ MINI ที่มีตัวถัง 5 ประตู เพื่อ
ขยายการใช้งานในชีวิตประจำวันให้อเนกประสงค์ยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นแค่
รถยนต์สำหรับ คนขับ และเพื่อนอีก 1 คน ก็จะกลายเป็น MINI สำหรับเพื่อน
และครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้นมีลูกกันได้ด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้ ยังพอใจกับความเตี้ย
ของตัวรถ และไม่ได้สนใจ Crossover SUV ยกสูงอย่างรุ่น Countryman
หรือ Paceman แต่อย่างใด
BMW เคลมว่า MINI ใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมแบบใหม่
แทบจะทั้งหมด คราวนี้ จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ MINI ยุคปัจจุบัน
ในการครอบครองของ BMW ที่จะได้เครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด บล็อก 3 สูบ DOHC
12 วาล์ว Direct Injection Twin Power Turbo มาประจำการในตระกูล
แถมมาครบทั้งเบนซิน และ Diesel นอกเหนือจาก ขุมพลัง 4 สูบ DOHC 16
วาล์ว ที่ถูกปรับปรุงใหม่ สำหรับรุ่น Cooper S และ Cooper SD โดยเฉพาะ
BMW AG. เยอรมันี เผยภาพถ่ายชุดแรกอย่างเป็นทางการของ MINI 5 ประตู
ออกสู่สายตาชาวโลก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2014 และเปิดตัวสู่สื่อมวลชนทั่วโลก
ในแบบ Golbal Media Launch & Test drive เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2013
ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ
การเผยโฉมครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ โรงงาน MINI ใน Oxford
เพิ่งจัดงานฉลอง ยอดผลิต MINI ครบ 3,000,000 คัน และยอดส่งออก MINI
จากอังหฤษ ไปทั่วโลก ครบ 2,000,000 คัน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2014 และ
ถือเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปี ของการผลิตรถยนต์ใน โรงงาน Oxford
นับตั้งแปี 1913 เป็นต้นมา
MINI 5 ประตู รุ่น One มีตัวถังยาว 3982 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่น Cooper ไม่ว่าจะเป็น
Cooper S หรือ Cooper SD จะยาวเพิ่มเป็น 4,005 มิลลิเมตร กว้าง 1,727 มิลลิเมตร
สูง 1,430 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,567 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน 146 มิลลิเมตร
ถ้าจะถามว่า มันแตกต่างจาก MINI 3 ประตู รุ่นล่าสุด F56 อย่างไร คำตอบก็เห็นกันอยู่ชัดๆ
ตาคากันนี่ละครับว่า ตัวถังมันยาวขึ้นกว่าเดิม ทำให้ระยะฐานล้อยาวขึ้นกว่าเดิม เพิ่มพืนที่ภายใน
ห้องโดยสารให้ยาวขึ้น และถ้าก้มมุดดูใต้ท้องรถ จะพบท่อทางเดินไอเสีย ที่ยาวขึ้น…แค่นั้น!!!!
เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับ Mini Cooper S 3 ประตู จะพบว่ามันมีความยาวเพิ่มขึ้นถึง
184 มิลลิเมตร ความกว้างและความสูงเพิ่มขึ้น 11 มิลลิเมตร ฐานล้อยาวกว่าเดิมถึง 72
มิลลิเมตร ทำให้มีพื้นที่ Headroom เพิ่มขึ้น 15 มิลลิเมตร และมีพื้นที่ Legroom เพิ่ม
ขึ้น 72 มิลลิเมตร อีกทั้งยังมีพื้นที่เก็บสัมภาระ 278 ลิตร มากกว่ารุ่น 3 ประตูถึง 67 ลิตร
กระจังหน้า มาในสไตล์ ร่วมสมัย รวมชิ้นกระจังหน้า กับช่องรับอากาศสำหรับหม้อน้ำเข้าไว้
ด้วยกัน ล้อมกรอบด้วยแถบโครเมียม คั่นกลางด้วยแถบสีดำ สำหรับติดตั้งกรอบป้ายทะเบียน
มือจับเปิดประตูโครเมียม และกาบซุ้มล้อสีดำ เพิ่มบุคลิกให้ตัวรถดูเท่ ส่วนการขยาย กระจก
บังลมด้านหลังออกไป พร้อมเจาะช่องทะลุเป็นกระจกโอเปรา ที่เสาหลังคา D-Pillar ทำให้
เพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นรถที่แล่นมาจากด้านหลัง ได้โปร่งตาดียิ่งขึ้นกว่ารุ่น 3 ประตู เสียอีก!
รองเท้าของ Mini Cooper S และ Cooper SD ในรุ่นมาตรฐานเป็นล้ออัลลอยขนาด 16
นิ้ว แบบ 16 ก้านคู่รูปตัว V สวมยาง ขนาด 195/55 R16 87W ทั้งคู่หน้าและคู่หลัง
แต่ในรถทุกคันที่เราลองขับ จะสวมยาง 17 นิ้ว และ 18 นิ้ว แตกต่างกันไป
ตามปกติ MINI ยุคใหม่ มักถูกออกแบบบานประตูมาให้เป็นแบบ Frameless
Door หรือไม่มีเสากรอบประตู แต่สำหรับรุ่น 5 ประตูนั้น วิศวกรเขามองว่าจำเป็น
ต้องมี ดังนั้น เมื่อเปิดประตูออกมา คุณจะเห็นเสากรอบประตูอย่างชัดเจน เสริม
ด้วย ยางขอบประตูที่ค่อนข้างแน่นหนาขึ้น
ข้อดีที่เกิดขึ้นคือ เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ ที่เล็ดรอดเข้ามาขณะขับขี่ จะ
ลดน้อยลง แม้ต้องแลกกับความเท่ ที่โดนบั่นทอนลงไปบ้าง ก็คงต้องทำใจ
แต่ทีมออกแบบของ MINI ก็ยังอุตส่าห์ เอาใจลูกค้า ด้วยการ ติดตั้งไฟส่องสว่าง
บนพื้น ขณะเปิดประตู ซึ่งคุณจะเห็นเป็นสัญลักษณ์ MINI ส่งลงบนพื้น หรือจะเลือก
เป็นลายธงชาติอังกฤษด้วยก็ได้ (มามุขเดียวกับ Range Rover Evoque)
การเข้า – ออก อาจต้องทำใจว่า ช่องประตู จะถูกหดสั้นกว่ารุ่น 3 ประตู และ
รุ่นอื่นๆ ของ MINI นึกให้ง่ายๆคือ ขนาดของช่องทางเข้า ก็ไล่เลี่ยกับพี่ชาย
ร่วมสายพันธุ์ อย่าง Countryman นั่นแหละ ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนผอม จะ
ไม่มีปัญหาเลย ทว่า ถ้าคุณตัวใหญ่อย่างผม ก็ขอแนะนำว่า ปรับเบาะนั่งให้
กดลงต่ำสุดก่อน ถ้าเอาให้ชัวร์ ต้องปรับตำแหน่งของ พวงมาลัยปรับระดับ
สูง – ต่ำ และ ใกล้ – ห่าง (Telescopic) ให้หดสั้น ชิดกับชุดมาตรวัดกัน
ไปเลย แบบนั้น รับประกันว่า ตัวใหฯแค่ไหน ก็เข้าไปนั่งได้แน่ๆ
เรื่องที่ผมหวั่นใจที่สุดคือ ความสบายของเบาะนั่งคู่หน้า เพราะเมื่อครั้งที่ได้ลอง
นั่ง MINI F56 รุ่น 3 ประตู ในวันที่พวกเขาเผยโฉม ต่อชาวโลกครั้งแรกๆ ที่งาน
Tokyo Motor Show เดือนพฤศจิกายน 2013 ผมพบว่า เบาะนั่งคู่หน้ามันช่าง
แย่มาก แข็งมากๆ นั่งไม่สบายเอาเสียเลย
แต่สำหรับ MINI 5 ประตู รุ่นนี้ ผมกลับพบว่า มี 2 สิ่งที่จะต้องเล่าให้คุณได้อ่าน
ไว้ตรงนี้
หากเป็นเบาะหนัง ในรุ่น MINI YOURS หรือรุ่นตกแต่งพิเศษ ตามสไตล์คุณ
บอกเลยว่า เบาะนั่งคู่หน้า สบายมากๆ ทำมาดีกว่ารุ่นก่อนๆ พนักพิงหลัง กระชับ
ฟองน้ำเสริมด้านหลัง แน่นแต่แอบนุ่มกำลังดี ให้สัมผัสที่ Premium ขึ้นกว่าเดิม
ชัดเจน ส่วนเบาะรองนั่งเอง ยังคงมีปีกเล็กๆ มากระชับ บริเวณต้นขาด้านข้าง
คล้ายกับรุ่นเดิม แต่เบาะรองนั่ง แน่นและแอบนุ่มพอกันกับพนักพิงหลัง ถือว่า
สอบผ่านไปอย่างใจหายใจคว่ำเลยละ!
แต่ถ้าเป็นรุ่น เบาะผ้า (รุ่นพื้นฐาน MINI ONE จนถึง MINI Cooper ขึ้นอยู่กับ
การเลือกของลูกค้า ในต่างประเทศ) หรือ เบาะหนังแบบมาตรฐาน เช่นที่ผม
พบเจอใน Cooper SD (ซึ่งจะมีมาให้ในเวอร์ชันไทย) มันยังคงเป็นเบาะนั่ง
ที่แข็งเกินไป นั่งไม่สบายเท่าที่ควรเหมือนเช่นรุ่น 3 ประตู ที่เปิดตัวไปก่อน
ล่วงหน้าอยู่ดีนั่นแหละครับ พนักพิงแข็ง ปีกด้านข้างกระชับสีข้าง พนักศีรษะ
ยังพอจะมีฟองน้ำที่นุ่มแบบพอเหมาะอยู่บ้าง เบาะรองนั่ง มีมุมเงยเพิ่มขึ้น
จากเดิม แต่ด้วยฟองน้ำบุด้านในที่บาง ทำให้เบาะค่อนข้างแข็ง นั่งขับไปสัก
ครึ่งชั่วโมง จะสัมผัสได้ถึงความไม่สบาย แต่ยังไม่ถึงขั้นปวดหลัง ต้องรอ
ให้ผ่านไปอีกสัก ครึ่งชั่วโมง จึงจะเริ่มพบอาการปวดหลังบ้างนิดๆ
ตำแหน่งวางแขน บนแผงประตู ทำได้ดี และวางได้จริง แผงประตูทั้ง 4 บาน
มีลูกเล่น เป็นไฟ Ambient Light Illumination เปลี่ยนสีได้ เช่น เขียว
เหลือง แดง ฟ้า น้ำเงิน ส้ม ม่วง เหมือนเช่นรุ่นก่อน แต่คราวนี้ มีมาให้เป็นแถบ
เรืองแสงกันเลยทีเดียว แถมยังเห็นได้ชัดแม้ในตอนกลางวัน
การเข้า – ออกจากบานประตคู่หลัง เป็นไปตามคาด ช่องทางเข้า เล็กและแค็บสำหรับ
คนที่มีหุ่นระดับน้องหมีอย่างผม ขนาดของทางเข้านั้น ใกล้เคียงกับช่องทางเข้าออก
บานประตูคู่หลังของ Nissan Juke เลยทีเดียว ข้อนี้ ต้องทำใจว่า จะให้กว้างกว่านี้
คงเป็นไปไม่ได้ เพราะยิ่งขยายตัวรถให้ยาวออกไปมากกว่านี้ Propotion ของตัวรถ
ก็จะยิ่งยาวไปกว่านี้ และทำให้ บุคลิกภาพรวมของ MINI ที่เคยมีขนาดกระทัดรัด
กำลังดี ต้องสูญเสียไป
ทว่า ทันทีที่หย่อนก้นเข้ามานั่งได้สำเร็จ เรื่องที่ผมคาดไม่ถึงก็คือ เบาะนั่งด้านหลัง
หากเป็นรุ่นเบาะผ้า มันยังคงแข็งไปสักหน่อย ดีกว่าเบาะหน้านิดเดียว พนักศีรษะ
ยังคงต้องยกขึ้นใช้งาน ไม่เช่นนั้น จะดันต้นคออยู่ดี เมื่อยกขึ้นแล้ว ก็รองรับหัว
ได้ในระดับหนึ่ง
หากเป็นรุ่นเบาะหนังแล้ว ขอยืนยันว่า นั่งสบายใช้ได้ ทั้งพนักพิงเบาะ และเบาะ
รองนั่ง จะแน่น กำลังดี พอมีความนุ่มหลงเหลืออยู่นิดหน่อย กระชับกับสรีระพอดี
การรองรับแผ่นหลัง ของพนักพิงหลัง ทำได้ดี แม้กระทั่งส่วนหัวไหล่ ขณะที่เบาะ
รองนั่งนั้น หุ่นขนาดผม ตัวเบาะยังซัพพอร์ตได้ดีกว่าที่คิดไว้ แถมตัวเบาะรองนั่ง
ยังมีมุมเงย ที่เหมาะสมอีกต่างหาก แม้ว่าเบาะรองนั่ง จะสั้น ด้วยความจำเป็นต้อง
ออกแบบให้สั้น เพื่อให้มีพื้นที่ในการก้าว ขึ้น – ลงจากบานประตูคู่หลัง ได้เต็มที่
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กระนั้น ก้าวขาออกไปอย่างไร ก็ต้องเฉี่ยวเข้ากับ
แผงพลาสติกปิดเสาหลังคากลาง B-Pillar จนเป็นรอยรองเท้าอยู่ดี เลี่ยงไม่ได้!
อย่างไรก็ตาม ตำแหนงนั่งตรงกลาง นั่งไม่สบายแน่ๆ เพราะบริเวณพื้นที่วางเท้า
มีช่องวางแก้วพร้อมฐานรอง มาคั่นอยู่ตรงกลาง แถมบริเวณเบาะรองนั่งตรงกลาง
ก็ยังนูนขึ้นมา นั่งแทบไม่ได้ คนตัวเล็กๆ อาจพอโดยสารไปด้วย ได้ในระยะทาง
สั้นมากๆ ไม่เช่นนั้น ปวดไข่ดันแหงๆ มาในสไตล์คล้ายกับ Countryman ไม่มีผิด
หากประเมินจากสายตา คุณอาจพบว่า พื้นที่ด้านหลังของ MINI 5 ประตู อึดอัด
เพราะทุกอย่างที่คุณเห็น มันจะดูแน่น กระชับไปเสียหมด ทว่า หากหลับตา แล้ว
พิจารณากันโดยละเอียดแล้ว พื้นที่วางขายังพอมีเหลืออยู่บ้างระยะห่างจากหัวเข่า
ถึงด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้า ยังเหลืออีก 2 ฝ่ามือเป็นอย่างน้อย! อีกทั้งยัง
สามารถสอดขาเข้าไปใต้เบาะรองนั่งคู่หน้าได้ด้วย
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ถูกขยายเพิ่มเติมออกมา เป็น 278 ลิตร ตามมาตรฐาน
VDA เยอรมัน ความจุของมัน มากพอที่จะใส่กระเป๋าเดินทางได้ถึง 4 ใบ อย่าง
ที่คุณเห็นในภาพข้างบนนี้ สาเหตุที่ทำได้ ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ
การไม่ติดตั้งยางอะไหล่มาให้ โดยออกแบบ พื้นห้องเก็บของ ให้สามารถยกขึ้น
แล้วพับสอดเก็บไว้ด้านล่างได้ ทำให้พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อยู่ที่ การออกแบบแผงหน้าปัดใหม่
มาตรวัดความเร็ว ถูกย้ายจากตำแหน่งเดิมที่เคยแปะไว้บนหน้าจอวงกลมขนาด
ใหญ่ยักษ์ มาแปะไว้รวมกันกับมาตรวดรอบ ขนาดกำลังพอดี ติดตั้งไว้บริเวณ
ด้านบนสุดของคอพวงมาลัย อ่านข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น ต่อให้มาตรวัดเป็นแบบ
ไมล์/ชั่วโมง รวมทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ ไมล์/แกลลอน ก็ยังสามารถ
ตั้งค่าให้อ่านเป็น กิโลเมตร/ชั่วโมง และ กิโลเมตร/ลิตร ได้ แต่จะแสดงผลเป็น
ตัวเลข Digital ทั้งบนมาตรวัด และระบบ Head-up Display แสดงข้อมูล
ทั้งตัวเลขความเร็ว และการนำทางของระบบ Navigation System ยิงขึ้น
แสดงบนแผ่นพลาสติกใส มาในสไตล์คล้ายกับ Mazda 3 ใหม่ มากๆ!
ขอยืนยันให้ BMW Thailand สั่ง ออพชันนี้ แปะมาให้กับ MINI 5 ประตู
เวอร์ชันไทยด้วยเถิด! มันมีประโยชน์มาก ใช้งานได้ดีจริงๆ และไม่รบกวน
สายตา เหมือน ระบบ HUD แบบเก่า ที่ยิงขึ้นกระจกหน้ารถอย่างเดียวนั่นเลย
เป็นออพชันที่สมควรติดตั้งมาให้คนไทยอย่างยิ่ง!!
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำ และใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ แบบ
Telescopic ได้เยอะพอประมาณเลยทีเดียว นอกจากจะหุ้มหนัง และเย็บด้วยด้าย
ตามสีที่สามารถเลือกให้สอดคล้องกับการตกแต่งภายในรถได้แล้ว ยังติดป้าย Plate
แสดงรุ่นย่อย มาให้ ที่ก้านพวงมาลัยด้านล่างอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีชุดสวิตช์ ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ฝั่งขวามือ
สวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง แสดงผลบนหน้าจอมอนิเตอร์สี ขนาดยาว 8 นิ้ว พร้อม
ระบบนำทางผ่านดาวเทียม ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบมาตรฐาน MINI Navi
system แบบไฮโซ Professional navigation system พร้อมเครื่องเสียง
ทั้งแบบมาตรฐาน MINI Radio Visual Boost เล่น CD/MP3 1 แผ่น พร้อม
ช่องเสียบ USB และ AUX รวมทั้งรับสัญญาณ Bluetooth จากโทรศัพท์มือถือ
หรือจะยกระดับคุณภาพเสียง ด้วยระบบลำโพง Hi-Fi จาก Harman Kardon
ซึ่งเท่าที่ลองฟังแล้ว ผมว่า ยังธรรมดาไปสักหน่อย ยังไม่ถึงขั้นประทับใจมากนัก
อีกทีเด็ดที่สำคัญก็คือ แป้นสวิตช์มือหมุน กดและโยกได้ สำหรับควบคุมสั่งการ
ระบบนำทาง (เหมือน BMW i-DRIVE นั่นแหละ) เป็นแบบใหม่ ตรงกลาง
ด้านบนของแป้นสวิตช์มือหมุน สามารถลากนิ้ว เพื่อใส่ข้อมูลเป็นตัวอักษร
เรียงไปทีละตัวได้!! สะดวกขึ้นมาก สำหรับใครที่ไม่คุ้นชินกับการกดๆจิ้มๆ
หน้าจอแบบ Touch Screen คราวนี้ จะได้ไม่ต้องปวดกบาลกันเสียที!
หน้าจอวงกลมตรงกลาง ล้อมรอบด้วย แถบวงแหวน ไฟ LED ที่สามารถเปลี่ยนสี
ได้เอง ตามการขับขี่รถยนต์ในขณะนั้น เลือกได้ว่าจะให้แสดงผลเป็นแสงและสี
Ambient ที่คุณเลือก ให้สว่างค้างไว้ เหมือนกับแถบ Ambient Light บริเวณ
แผงประตูทั้ง 4 บาน หรือ ให้เปลี่ยนสีตามการใช้งานรถยนต์ตอนนั้นได้เลย เช่นถ้า
เข้าเกียร์ถอยหลัง วงแหวนจะเปลี่ยนสี เป็น เขียว / เหลือง / แดง ตามระยะห่าง
จากวัตถุ ที่อยู่ด้านหลังของรถ แต่ถ้าเปลี่ยนอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ไฟ LED
จะเปลี่ยนโทนสี เป็นฟ้า หรือแดง ตามการปรับเปลี่ยนของคุณ ไปจนถึงการ
เปลี่ยนไปเป็นสีม่วง ฯลฯ อีกมากมาย
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ในตลาดทั่วโลก Mini 5 Doors ใหม่ จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกทั้งหมด 6 แบบ 6 รุ่นย่อย
แบ่งเป็นเบนซิน Turbo 3 ขนาด และแบบ Diesel Turbo 2 ขนาด 3 แบบ บนพื้นฐาน
ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าทั้งหมด
– Mini One 5 Doors เครื่องยนต์บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1 หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ Direct Injection พ่วง Twin Power Turbo 75 กิโลวัตต์ / 102
แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 180 นิวตันเมตร /18.35 กก.-ม. ที่
1,400 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 10.1
วินาที เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 10.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตรา
สิ้นเปลืองเชื่อเพลิงเฉลี่ยใน รุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 4.8 – 4.9 ลิตร/100 กิโลเมตร เกียร์
อัตโนมัติอยู่ที่ 4.9 – 5.0 ลิตร/100 กิโลเมตร รองรับมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 112 – 114 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 114 ถึง
116 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่น เกียร์อัตโนมัติ
– Mini Cooper 5 Doors ขุมพลังบล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 1,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 หัวฉีด
อีเล็กโทรนิกส์ Direct Injection พ่วง Twin Power Turbo 100 กิโลวัตต์ / 136
แรงม้า (HP) ที่ 4,500 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร / 22.43
กก.-ม. ที่ 1,400 รอบ/นาที แต่สามารถ Overboost ได้ถึง 230 นิวตันเมตร หรือ
23.45 กก.-ม. อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 8.2 วินาที
เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 8.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 207 กิโลเมตร/ชั่วโมง สิ้นเปลืองเชื่อเพลิง
เฉลี่ยในรุ่นเกียร์ธรรมดา 4.7 – 4.8 ลิตร/100 กิโลเมตร เกียร์อัตโนมัติ 4.8 – 4.9 ลิตร/
100 กิโลเมตร รองรับมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 109 ถึง
111 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดาและ 111 – 114 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
– Mini Cooper S 5 Doors ขุมพลังบล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์
Direct Injection พ่วง Twin Power Turbo กำลังสูงสุด 141 กิโลวัตต์ / 192 แรงม้า
(HP) ที่ 4,700 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร /28.55 กก.-ม.ที่
1,400 รอบ/นาที และสามารถ Overboost ได้ถึง 300 นิวตันเมตร / 30.59 กก.-ม.
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 6.9 วินาที เกียร์อัตโนมัติ
อยู่ที่ 6.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 232 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 230
กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ อัตราสิ้นเปลืองเชื่อเพลิงเฉลี่ย ในรุ่นเกียร์ธรรมดา
อยู่ที่ 5.9 – 6.0 ลิตร/100 กิโลเมตร เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 5.4 – 5.5 ลิตร/100 กิโลเมตร
รองรับมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 136 – 139 กรัม/กิโลเมตร
ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 125 – 128 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
(ภาพ รถคันสีแดง เป็นขุมพลัง Cooper S เบนซิน 192 แรงม้า (HP)
ส่วนเครื่องยนต์ Diesel Common Rail Turbo มีให้เลือก 3 แบบ
– Mini One D 5 Doors เครื่องยนต์บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 1,496 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 จ่ายเชื้อ
เพลิงด้วยระบบหัวฉีด Direct Injection แบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงด้วย
Twin Power Turbo กำลังสูงสุด 70 กิโลวัตต์ / 95 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร /22.43 กก.-ม. ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที อัตราเร่ง
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 11.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 187 กิโลเมตร/ชั่วโมง
สิ้นเปลืองเชื่อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 – 3.6 ลิตร/100 กิโลเมตร รองรับมาตรฐานไอเสีย
Euro 6 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 92 – 94 กรัม/กิโลเมตร
– Mini Cooper D 5 Doors เครื่องยนต์บล็อก 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว 1,496 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยระบบหัวฉีด Direct Injection แบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงระบบ Twin
Power Turbo แรงเพิ่มขึ้นเป็น 85 กิโลวัตต์ / 116 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร /27.53 กก.-ม. ที่ 1,400 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0 – 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 9.4 วินาที เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 9.5 วินาที ความ
เร็วสูงสุด 203 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาและ 202 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์
อัตโนมัติ สิ้นเปลืองเชื่อเพลิงเฉลี่ยในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 3.6 – 3.7 ลิตร / 100 กิโลเมตร
เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 3.8 – 3.9 ลิตร/100 กิโลเมตร รองรับมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 95 – 97 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 99 – 102 กรัม/
กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
– Mini Cooper SD 5 Doors ขุมพลังบล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยระบบหัวฉีด Direct Injection แบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงระบบ Twin
Power Turbo 125 กิโลวัตต์ / 170 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
360 นิวตันเมตร /36.70 กก.-ม. ที่ 1,500 – 2,750 รอบ/นาที ส่วนอัตราเร่ง 0 – 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดาอยู่ที่ 7.4 วินาที เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 7.3 วินาที ความ
เร็วสูงสุด 225 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 223 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นเกียร์
อัตโนมัติ สิ้นเปลืองเชื่อเพลิงเฉลี่ยในรุ่นเกียร์ธรรมดา 4.1 – 4.3 ลิตร / 100 กิโลเมตร และ
เกียร์อัตโนมัติอยู่ที่ 4.1 – 4.2 ลิตร/100 กิโลเมตร มาตรฐานไอเสีย Euro 6 ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดออกไซด์ 109 – 112 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 107 – 109 กรัม/
กิโลเมตร ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
(รถคันสีฟ้า ที่เราลองขับ เป็นรุ่น Cooper SD 170 แรงม้า (HP)
ทุกขุมพลัง มีให้เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ Steptronic
6 จังหวะ หรือ Steptronic Sport 6 จังหวะ สำหรับ Mini Cooper S และ Mini
Cooper SD ยกเว้น Mini One D 5 Doors ที่จะมีแค่เกียร์ธรรมดาเท่านั้น
แต่คันที่ผมได้ทดลองขับเป็นรุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล คือ Mini
Cooper S และ Mini Cooper SD ทั้ง 2 รุ่งส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อล้อหน้าด้วย
เกียร์อัตโนมัติ Steptronic 6 จังหวะ ใช้อัตราทดเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นอัตรา
ทดเฟืองท้ายที่จะต่างกันเล็กน้อย ตัวเลขมีดังนี้
เกียร์ 1…………………………..4.459
เกียร์ 2…………………………..2.508
เกียร์ 3…………………………..1.555
เกียร์ 4…………………………..1.142
เกียร์ 5…………………………..0.851
เกียร์ 6…………………………..0.672
เกียร์ถอยหลัง……………………3.185
อัตราทดเฟืองท้าย……………….3.502 (Cooper S)
อัตราทดเฟืองท้าย……………….3.234 (Cooper SD)
เหตุผลที่ วิศวกรยังใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เพราะ มันเพียงพอกับรูปแบบ
และขนาดของตัวรถ รวมทั้งห้องเครื่องยนต์ ยิ่งเพิ่มจังหวะเกียร์มากขึ้น ก็ต้อง
เพิ่มชุดเฟืองเข้าไปมากขึ้น ขยายขนาดเสื้อเกียร์ให้ใหญ่ขึ้น และยิ่งทำให้
น้ำหนักของเกียร์ทั้งลูก เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
********** สมรรถนะจะเป็นอย่างไรบ้าง? **********
จากการลองจับเวลาคร่าวๆ โดยที่ รถยนต์ทั้ง 2 คัน มีผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร รวม
3 คน พร้อมสัมภาระ เป็นกระเป๋าสะพายเป้ หรือกระเป๋าใส่กล้อง อีกคนละ 1 ใบ
น้ำหนักรวมกันแล้ว คาดว่าประมาณไม่เกิน 300 กิโลกรัม ที่เพิมเข้ามา ไม่ทราบ
ชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติม ตัวเลขที่ได้จากการจับเวลา มีดังนี้
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Cooper S 5 Door : เข้าเกียร์ D โหมดปกติ 8.53 วินาที /
Launch Control 8.10 วินาที
Cooper SD 5 Door : เข้าเกียร์ D โหมดปกติ 9.64 วินาที /
Launch Control 9.57 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Cooper S 5 Door : เข้าเกียร์ D โหมดปกติ 5.86 วินาที
Cooper SD 5 Door : เข้าเกียร์ D โหมดปกติ 6.39 วินาที
ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมาย ตัวเลขแรงม้า พอจะบอกให้ผมรับรู้
อยู่แล้วว่า แม้แรงบิดของรุ่น Diesel Turbo อย่าง Cooper SD จะมากกว่า
แต่เมื่อจับเวลาเข้าจริง ยังไงๆ รุ่นเบนซิน Cooper S ที่มีแรงม้ามากกว่า ย่อม
ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่าแน่ๆ ไม่ใช่เรื่องประหลาดใดๆ
แต่ที่ชวนให้แปลกใจคือ ในการขับขี่จริง หากตัดเอาผลตัวเลขจับเวลาออกไป
การตอบสนองของเครื่องยนต์ ในแต่ละย่านความเร็ว แทบไม่แตกต่างกันนัก
รุ่นเบนซิน Cooper S และ Diesel Cooper SD ให้แรงดึงในระดับกำลัง
สนุก ไม่ถึงขั้นกระชากหลังติดเบาะอย่างรุนแรงแบบรถสปอร์ต แต่ก็พุ่งทะยาน
ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง และให้
ในช่วงที่ลองไต่ความเร็วขึ้นไปถึงระดับ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งคู่ ก็ยังคง
ถ่ายทอดแรงบิดลงสู่ล้อขับเคลื่อนคู่หน้า ได้อย่างไหลลื่น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง
หลังจาก 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว แน่นอนว่า รุ่นเบนซิน Cooper S
จะยังไต่ความเร็วขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่องกว่า ในขณะที่รุ่น Cooper SD จะ
เริ่มแผ่วลงในช่วงรอบปลายๆ ความเร็วจะเพิ่มขึ้นช้าลง เพิ่มขึ้นแบบไปเรื่อยๆ
มากกว่า (ณ วันที่ผมลองขับ เราไต่ขึ้นไปได้ถึง 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
ช่วงสั้นๆ แล้วต้องรีบถอนลงมาอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัย และลด
ความเสี่ยงต่อการบันทึกภาพของกล้องจับความเร็วบนทางด่วนในอังกฤษ)
ความแตกต่างของทั้ง 2 รุ่น ในการขับขี่จริงจะอยู่ที่ประเด็นนี้เท่านั้น นั่น
หมายความว่า ถ้าคุณไม่ได้แคร์เรื่องรอบเครื่องยนต์ช่วงปลายๆ และยังมอง
หาความประหยัดน้ำมันเป็นที่ตั้ง Cooper SD น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า ส่วน
ใครที่ยังรักความสนุก และความร้อนแรงในแบบที่คุ้นเคย Cooper S เบนซิน
จะยังเป็นตัวเลือกที่น่าจะทำให้เท้าขวาของคุณมีความสุขได้มากกว่า เฉพาะ
ในกรณีที่คุณเป็นคนชอบขับรถเร็วอยู่เป็นกิจวัตร
แป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift ที่แถมมาให้ ถูกปรับเปลี่ยนจาก
เดิม มาเป็นแป้นแบบ “ซ้าย-ลบ , ขวา-บวก” เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาซะที
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับแป้น Paddle Shift ในรถยนต์คันอื่น นี่คือสิ่งที่พวกเขา
ควรจะทำกันมาตั้งนานแล้ว แต่ถ้าใครที่คุ้นเคยกับแป้น Paddle Shift จาก
MINI รุ่นก่อนๆ อาจต้องทำความคุ้นเคยกันใหม่สักหน่อยนึง
กระนั้น การทำงานของแป้น Paddle Shift ก็ยังทำหน้าที่ได้ดี มีช่วง Lag
สั้นมากๆ เพียงกระจึ๋งเดียวจริงๆ และแน่นอนว่า ทำงานได้ไวขึ้นกว่า
Paddle Shift ของ MINI รุ่น R56 เดิม ชัดเจน
ระบบ Auto Start / Stop ดับเครื่องยนต์เองเมื่อเหยียบเบรก ติดไฟแดง
และจะสั่งติดเครื่องยนต์ขึ้นมาให้ใหม่เอง เมื่อถอนเท้าจากแป้นเบรก แล้วไป
เหยียบคันเร่ง เพื่อออกตัว ถูกนำมาติดตั้ง ใน MINI 5 ประตู เหมือนเช่นในรุ่น
3 ประตู เวอร์ชันไทย F56 ก่อนหน้านี้
หากเป็นรุ่นเบนซิน Cooper S ยอมรับเลยว่า การทำงานของระบบดังกล่าว
เป็นไปอย่างราบรื่น การตัดต่อ ระหว่างติดเครื่องยนต์ เนียนดีใช้ได้ ไม่สั่นมาก
แต่ถ้าเป็นรุ่น Cooper SD อาจยังมีอาการกระตุกมากกว่ารุ่นเบนซิน นิดนึง
แม้จะยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ แต่คาดว่า ถ้าขับไปสักพัก หลายคนอาจรำคาญ
ยิ่งถ้ารถค่อยๆเคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรอย่างในบ้านเรา ขอแนะนำว่า
ปิดระบบทิ้งไป ด้วยการกดปุ่มฝั่งซ้าย ของสวิตช์ติดเครื่องยนต์ สีแดง ตรงกลาง
ของแผงควบคุม นั่นละครับ
จุดเด่นของ MINI ใหม่ คราวนี้ อยู่ที่ ความพยายาม รักษาบุคลิกการขับขี่แบบ
ดิบๆ สนุกๆ ตามสไตล์ Go-Kart Feeling ควบคู่ไปกับการเพิ่มทางเลือก ให้
กลุ่มลูกค้า ที่อยากได้ความสบายในการควบคุมรถเพิ่มขึ้นอีกนิด สำหรับการ
ขับขี่ในชีวิตประจำวัน
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อน
แรง แบบไฟฟ้า EPS (Electromechanical Power Steering) พร้อม
ระบบ Servotronic ช่วยปรับน้ำหนักอัตโนมัติตามความเร็ว
พวงมาลัย น้ำหนักดีแล้ว ใครที่ชอบรุ่นเดิม จะชอบพวงมาลัยรุ่นใหม่ เพราะ
ยังคงหนืดกำลังดี หนักกำลังเหมาะทั้งในความเร็วต่ำ และในความเร็วสูงมากๆ
ตอบสนองได้เฉียบคม แต่ยังพอมีระยะฟรี และอาการเนือยนิดเดียว เพราะนี่
ไม่ใช่รถแข่ง แต่ยังเป็นรถบ้านอยู่
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์
ช่วงล่าง ในโหมดปกติ จะยังคงความแข็งดิบอยู่ แต่ช็อกอัพพยายามดูดซับ
แรงสะเทือนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน หากเพิ่มเป็นโหมด Sport ช่วงล่างจะ
แข็งสะเทือนขึ้นชัดเจน ไม่ว่าจะอยู่ในโหมดไหน ก็ยังมั่นใจได้ในการ
เข้าโค้ง ตามสไตล์ MINI แบบเดิมที่หายคนคุ้นเคยกันดีมาแล้ว
ทั้ง พวงมาลัย และช่วงล่าง จะเชื่อมการทำงานเข้ากันกับโปรแกรมการขับขี่
Dynamic Damper Control ที่ผู้ขับขี่ สามารถเลือกเปลี่ยนโหมดได้จาก
สวิตช์บริเวณฐานรองคันเกียร์ ใช้นิ้วผลักซ้าย – ขวา
มีให้เลือก ทั้งโหมด Green เน้นการขับขี่แบบรักโลก คันเร่งจะหน่วง ต้อง
เหยียบลึกๆ รถถึงจะเริ่มเคลื่อนตัว เครื่องปรับอากาศ ก็จะทำงานเท่าที่จำเป็น
การเปลี่ยนเกียร์ ก็จะ “รีบๆเปลี่ยน” เพื่อให้ใช้รอบเครื่องยนต์ ต่ำที่สุด เน้น
ความประหยัดเต็มที่
โหมด MID คือค่ากลางของรถ พวงมาลัยจะยังคงหนืดพอประมาณ หมุนได้
คล่องแคล่ว แต่คันเร่งจะกลับมา ตอบสนอง แบบรถยุโรปปกติ คืออาจต้องมี
อาการ Lag หลังจากเหยียบลงไป เกือบๆ 1 วินาที นอกนั้น เหมาะกับการ
ใช้งานในเมืองตามปกติ เพราะช่วงล่าง จะถูกปรับให้ดูดซับพื้นผิวรอยต่อของ
ถนน ลดความตึงตังลงมาจากช่วงล่างของ MINI รุ่นก่อนๆ ชัดเจน (ผมกำลัง
หมายถึง ก่อน R56 Minorchange) ได้ดีขึ้น ขับขี่ได้นุ่มนวลกว่า MINI
Coupe Cooper S ที่ผมเคยลองขับ ลงไปนิดเดียวจริงๆ
แต่ในโหมด Sport ความแข็งสะเทือนจะกลับมาให้คุณได้สัมผัสกันอย่าง
เต็มที่ แม้จะยังไม่ตึงตังบ้าบอคอแตก ระดับนั่งเกวียน เหมือน Cooper S
R56 รุ่นปี 2008 แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก ช่วงล่าง พยายามจะตึงตังใน
แบบ “Premium” คือ แข็งดิบ แต่ช็อกอัพยังพอจะยอมยุบตัวนิดๆอยู่บ้าง
ขณะเดียวกัน พวงมาลัยก็จะหนักขึ้นชัดเจน หนืดขึ้นกว่าเดิม เหมาะอย่างยิ่ง
กับการรักษาความเร็วสูงๆ บนทางหลวงข้ามจังหวัด หรือแม้แต่ การขับขี่
ลัดเลาะไปตามถนนแนวทิวเขา ที่ต้องการน้ำหนักของพวงมาลัยให้เหมาะสม
ระบบห้ามล้อ ยังคงเป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ มีระบบตัวช่วยมากมายดังนี้
– ระบบ ป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking Sysgtem)
– ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
– ระบบควบคุมแรงเบรคขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brak Control)
– ระบบควบคุมการทรงตัวของรถ DSC (Dynamic Stability Control)
– ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรคในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assistance)
– ระบบช่วยเหลือเบรคเมื่อเกิดอาการ Fade FBS (Fade Braking Support)
– ระบบป้องกันการลื่นไถล DTC (Dynamic Traction Control)
– ระบบควบคุมเฟืองท้าย EDLC (Electronic Differential Lock Control)
– ระบบควบคุมกำลังขับเคลื่อน PC (Performance Control)
การตอบสนองของเบรก ทำได้แม่นยำขึ้น หน่วงรถได้ดี ในทุกช่วงความเร็ว
ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่ต้องชะลอลงมาจาก 190 เหลือ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็ยังสัมผัสได้ถึงอาการหน่วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้ารถไม่ได้ทิ่มจิกมากนัก
ขณะขับขี่ในเมือง ถ้าจะพยายามเบรกให้นุ่ม จนรถหยุดนิ่ง ก็ทำได้ง่าย
ไม่ยากเย็น และไม่เจออาการรถหยุดแล้ว”ชะงัก” ไปทั้งคัน อย่างที่ผม
เคยเจอมาในรถรุ่นก่อนๆ ถือว่า ปรับปรุงระบบเบรกได้ดีขึ้น
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ขับสนุก ติดดิบตามเคย แต่แอบซับแรงสะเทือนดีขึ้น และมีพื้นที่เยอะขึ้น
สิ่งที่ผมชื่นชอบ MINI ในรุ่นก่อนๆ นั่น อยู่ที่บุคลิกการขับขี่ในแบบ Go-Kart Feeling
ซึ่งให้ความสนุก แบบดิบๆ สัมผัสทุกพื้นผิวถนนและก้อนกรวด ขึ้นมาให้ผมได้รับรู้
ผ่านทางพวงมาลัย พื้นตัวถัง ช่วงล่าง และเบาะนั่ง รวมทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์
ที่แรงสั่งได้ แรงกำลังดี ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป
สิ่งที่ผมไม่ชอบใน MINI รุ่นก่อนๆ ก็คือ ความกระเด้งกระดอนที่มากเกินเหตุ ใน
วันที่ผมต้องขับรถใช้งานไปตามสภาพถนนของกรุงเทพมหานคร และไม่ต้องการ
ความสนุกในการขับขี่มากขนาดนั้น
วันนี้ MINI รุ่นใหม่ 5 ประตู F55 พยายามจะผสานเอาความชื่นชอบของผม กลับมา
ใส่ไว้ในแพ็คเก็จจิงขนาดเล็กกำลังดี และพยายามแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ เพื่อให้เจ้า
MINI ใหม่ เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตในเมือง มากขึ้น โดยยังไม่ทิ้งบุคลิกรถขับสนุก
สำหรับทุกวันออกไป แค่เพิ่มพื้นที่ด้านหลังให้อเนกประสงค์ขึ้นอีกนิดหน่อย
ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องขอบอกว่า ความสนุกในการขับขี่ ยังอยู่ครบ และ
ยังไม่หนีหายไปไหน อัตราเร่งจากขุมพลัง 4 สูบ ทั้ง Cooper S กับ Cooper SD
ยังคงเร่งได้แรง แซงได้ทันใจ อัตราเร่ง เป็นไปตามตัวเลขแรงม้า แรงบิด ที่เคลมไว้
จับเวลาแล้ว รู้เลยว่าแตกต่าง แต่ถ้าลองขับเฉยๆ มันแทบไม่ต่างกันมากนัก จะไป
เห็นความต่างกันอีกที ก็ต้องช่วงปลาย หลังจาก 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป รุ่น
เบนซิน จะยังไต่ความเร็วขึ้นไปอย่างไหลลื่น ขณะที่ Cooper SD จะเริ่มแผ่ว
ไต่ความเร็วขึ้นไปได้เหมือนกัน แต่ช้าลง ตามสไตล์ ขุมพลัง Diesel Turbo
เกียร์ทำงานได้กระชับ ฉับไว ตอบสนองได้ดังใจมากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเกียร์
อัตโนมัติ ก็ตาม พวงมาลัย ในโหมด MID น้ำหนัก หนืดกำลังดี หมุนใช้งาน
ในเมือง คล่องแคล่วพอประมาณ คล้ายกับรถรุ่นก่อนๆ ส่วนโหมด Sport
พวงมาลัยก็หนืดและหนักขึ้นชัดเจน เหมาะกับการขับขี่ทางไกลเป็นหลัก
ช่วงล่างแม้จะยังแข็งกระด้างอยู่ แต่ในโหมด MID และ Green จะเน้นดูดซับ
แรงสะเทือนได้ดีขึ้น ขณะที่โหมด Sport ก็จะแข็งสะเทือน ดิบๆ กันไปเลย
ระบบห้ามล้อ ทำงานได้ดี หน่วงความเร็วได้ตามสั่ง ชะลอรถลงให้หยุดอย่าง
นิ่มนวล ได้ง่ายขึ้น
แน่นอนครับ มันอาจจะลดทอนความดิบลงมาจาก MINI แข็งโป๊ก ในยุคก่อน
แต่การปรับเซ็ตให้ “ศิวิไลซ์ ขึ้น” จะช่วยเรียกความนิยมจากกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่
ที่อยากเป็นเจ้าของ MINI ให้เดินเข้าโชว์รูมมาได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน แฟนๆ
ของ MINI ที่มีอายุสงขึ้น ก็ยังจะสนุกกับการขับขี่แบบดิบๆ ได้ตามเดิม แต่จะ
ลดความสะเทือนลงไปนิดนึง เพื่อให้เป็นไปตามวัยของผู้ขับขี่มากขึ้น
ตัวเลขอย่างเป็นทางการ รวมทั้ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะเป็นอย่างไร
รุ่นเครื่องยนต์ 3 สูบ จะน่าสนใจหรือไม่ แล้วเมื่อนำมาขับขี่ในเมืองไทย
MINI ใหม่ จะยังคงความน่าสนใจในสายตาผมหรือไม่
รออ่านได้ใน Full Review ซึ่งคาดว่าจะมีมาให้เห็น ในปี 2015 ในวันที่ พี่จอน
พร้อมจะส่ง MINI ทั้ง 3 และ 5 ประตู ให้กับเราได้ทดลองขับแบบเต็มๆ ครับ
———————————–///———————————-
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณ กฤษฎา อุตตโมทย์
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร
คุณ พิศมัย เตียงพาณิชย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางอันแสนสนุก สงบ สบาย และน่าประทับใจในครั้งนี้
คุณ อติชาญ เชิงชวโน
เจ้าของรายการ Digi LIVE และ เว็บไซต์ http://www.MINI-TH.com
สำหรับข้อมูลสนับสนุนการเขียนบทความในครั้งนี้
Pao Dominic
สำหรับ การเตรียมข้อมูลด้านเทคนิก รายละเอียดของตัวรถ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่าย โดยผู้เขียน
(ยกเว้นภาพแผงหน้าปัด และภาพรถกำลังแล่น ทั้งหมด เป็นของ BMW AG.)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
30 สิงหาคม 2014
Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part
or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September, 30th,2014
แสดงความเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!