“XC60 อีกแล้วเหรอ?”

“ครับ “

ยอมรับเลยละว่า XC60 คือหนึ่งในรถยนต์ Volvo รุ่นที่ผมได้ทดลองขับ บ่อยสุดๆ
เป็นอันดับ 2 รองจาก S80 โฉมปัจจุบัน เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวในตลาดเมืองไทย
ช่วงต้นปี 2010 แล้ว เราก็เจอกันอยู่เรื่อยๆ ลองขับกันเรื่อยๆ

“แล้วคราวนี้ ทำไมถึงเอากลับมาทำรีวิวอีก เห็นบอกว่าปกติ จะไม่ทำบทความ
รีวิว รถยนต์จำพวก Minorchange ไง?”

จริงอยู่ครับว่า ตามปกติแล้ว หนึ่งในกฎข้อสำคัญ ของการทำบทความรีวิวรถยนต์
ใน Headlightmag.com ก็คือ เราจะไม่ทำบทความรีวิวซ้ำอีก หากเราเคยนำรถยนต์
รุ่นใดมาทดลองขับ และทำรีวิว เผยแพร่ออกสู่สายตาคุณผู้อ่านไปแล้ว และรถยนต์
รุ่นใหม่ที่คลอดออกมานั้น มีการปรับโฉม ในลักษณะ Minorchange ,Facelifted ,
ยกหน้า แต่งหน้าทาปาก โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เครื่องยนต์ หรือระบบส่งกำลัง
ไปจนถึงระบบบังคับเลี้ยว และระบบกันสะเทือน ใดๆทั้งสิ้น

เหตุผลก็เพราะ มันเสียเวลา มีรถยนต์รุ่นใหม่คันอื่นๆ รอคิวให้ทำรีวิวอีกเยอะ
ขืนนั่งทำรีวิวหมดทุกคัน ก็เป็นอันไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นพอดี

แต่คราวนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นกันจริงๆ อีกครั้งหนึ่งละ…

แหงสิครับ การปรับโฉมใหม่แบบ Minorchange  ให้กับ XC60 ในคราวนี้ Volvo
ถึงขั้น ยกขุมพลังบล็อกเดิม ถอดออกทิ้งไปทั้งเครื่องยนต์ ทั้งเกียร์ เปิดทางให้กับ
ขุมพลังเวอร์ชันใหม่ Diesel DRIVE-E 2.0 ลิตร Turbo Common-Rail พร้อม
เทคโนโลยี หัวฉีด i-Art และเกียร์อัตโนมัติ ลูกใหม่ 8 จังหวะ จาก AISIN
ซึ่งจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องเดิมๆ ที่เราเคยลงความเห็นไปในรถรุ่นเดิม เมื่อช่วง
เดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ได้อย่างชะงัด

เรื่องน่าสนุกไปกว่านั้นก็คือ ตัวเลขที่รถคันนี้ทำได้ มันดีขึ้น เหนือกว่าคู่แข่งตัวฉกาจ
อย่าง BMW X3 ที่เราเคยลองขับไปแล้วเสียด้วยซ้ำ! ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ
ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนานๆที เราถึงจะเห็น Volvo ทำเครื่องยนต์ และเกียร์ ที่
ให้ประสิทธิภาพสูงกว่า BMW ได้เสียที

พี่ตุ้ม ฉันทนา วัฒนารมย์ บอสใหญ่แห่ง Volvo Cars Thailand ก็เกรงว่า
ผู้คนที่มองเห็นรถคันนี้ จะไม่รู้ว่า มันมีความเจ๋งเป้ง อยู่ข้างใน ดังนั้น จึงสั่งทำ
สติกเกอร์แปะข้างตัวรถเต็มไปหมด ลวดลายนี่ อย่างกับ ลายแทงแผนที่ระบบ
รถไฟในกรุง Tokyo อันสับสนยุ่งเหยิงปวดกบาลกันเลยละ!

รถยนต์ทดสอบล็อตนี้ ถูกนำไปใช้ในทริปเชิญสื่อมวลชนไปทดลองขับ
ก่อนที่จะมาถึงมือผม มิใยที่ พี่ต่าย PR ของ Volvo ก็บอกพี่ตุ้มไปแล้วว่า
รถทดสอบที่เต็มไปด้วยสิตกเกอร์แบบนี้ J!MMY ไม่ปลิ้ม แต่ทำยังไงได้
พี่ตุ้ม บินไปดูงานปิดตัว XC90 ใหม่ ที่ สวีเดน อยู่ ผมก็ต้องรับรถคันสีขาว
ที่เห็นอยู่นี้ มาลองขับกันทั้งแบบนั้น จะให้ลอกทิ้ง ก็คงทำไม่ได้ง่ายๆ แน่

อ้าว แล้วทำไมในรูปนี้ ถึงไม่เห็นมีสติกเกอร์ที่ว่าเลยละ

อ๋อ ผมก็ลอกมันทิ้ง ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า Photoshop
นั่นเองครับ! นั่งทำตาเหลือกเลยละกว่าจะเนียนออกมาครบ 4 รูป

ถ้างวดนี้ สายตาสั้นหนักกว่าเดิม จะไปเบิกค่าตัดแว่นกับพี่ตุ้มเลย คอยดู! ฮึ่ม!

Volvo XC60 เกิดจากแนวคิดของ Volvo ที่ต้องการสร้าง รถยนต์อเนกประสงค์ 5 ประตู
Crossover SUV ขึ้นมาอีกรุ่น เพื่อทำตลาดในฐานะ SUV ขนาดย่อมเยาว์ กว่าพี่ใหญ่รุ่น
XC90 มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 พวกเขาเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบครั้งแรกในชื่อ
XC60 Concept เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2006 ก่อนจะนำไปอวดโฉมครั้งแรกในโลก ณ
งาน Detroit Auto Show ต้นเดือน มกราคม 2007

1 ปีเต็มหลังจากนั้น XC60 เวอร์ชันขายจริง ก็เผยโฉมครั้งแรกในโลก ผ่านทาง Internet
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2008 ก่อนที่จะ เผยโฉมอย่างเป็นทางการต่อหน้าสื่อมวลชน และ
สาธารณชนครั้งแรก ในงาน Geneva Auto Salon เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2008

แต่ลูกค้าชาวไทย ต้องรอหลังจากนั้นอีกราวๆ 1 ปี กับอีก 3 เดือน XC60 เวอร์ชันไทย จึง
พร้อมเปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2009 ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย สำหรับการ
ติดตั้งระบบช่วยเบรกได้เองอัตโนมัติ City Safety นอกเหนือไปจากระบบ Collision
Warning และระบบ Redar Cruise Control ที่มีมาให้อยู่แล้ว ด้วยเหตุที่ ต้องนำเข้า
สำเร็จรูปทั้งคันจากโรงงาน Ghent ในเบลเยียม ทำให้ค่าตัวพุ่งไปสูงถึง 3,999,000 บาท
และทางเดียวที่จะทำให้ราคาลดลงมาได้ คือต้องนำมาประกอบที่โรงงานในมาเลเซีย เพื่อที่จะ
ได้ใช้สิทธิ์ AFTA ลดภาษีลงมาจนเหลือ 0% (ในปัจจุบัน)

เมื่อโรงงานมาเลเซียพร้อมแล้ว เวอร์ชันประกอบใน มาเลเซีย ก็พร้อมเปิดตัวในไทย ณ งาน
Bangkok International Motor Show เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2011 ด้วยค่าตัวที่ถูก
กว่าเดิม 1 ล้านบาท เหลือแค่ 2,990,000 บาท แต่ต้องยอมแลกกับการถอดออพชัน บาง
รายการ และเปลี่ยนมาวางเครื่องยนต์ D5204T3 แทน เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เดิม

พอทำตลาดมาได้จนถึง 19 กุมภาพันธ์ 2013  Volvo ปรับโฉม Minorchange ให้กับ
XC60 พร้อมกันกับพี่น้องร่วมตระกูล ทั้ง S60 V60 S80 และ V70 ไปในคราวเดียวกัน
แต่บ้านเรา ยังลากขายโฉมเดิมต่อมาอีก จนถึงสิ้นปี

ระหว่างนั้น ในตลาดเมืองไทย ด้วยเหตุที่ เมืองนอก มีการปรับทัพตระกูล XC60 ใหม่
ทำให้ ชื่อรุ่น ของ D3 ถูกลดตำแหน่ง ลงไปใช้กับรุ่นเครื่องยนต์ D5204T7 5 สูบ DOHC
20 วาล์ว 1,984 ซีซี 136 แรงม้า (HP) แทน ส่วนรุ่นขุมพลัง D5204T3 ในบ้านเราเดิม ถูก
ปรับเปลี่ยนตำแหน่งการตลาด ขึ้นมาแปะป้ายชื่อรุ่นว่า D4 นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ Volvo
ในบ้านเรา ต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นตามเป็น XC60 D4 ในตอนนั้น พร้อมกับออกรุ่นตกแต่ง
พิเศษ 6 Packs มาให้ได้จับจองกันในจำนวนจำกัด ราคา 3,149,000 บาท  แพงจากรุ่น
มาตรฐาน 3,050,000 บาท ขึ้นมานิดนึง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2013

17 สิงหาคม 2013 Volvo เผยข้อมูลรายละเอียดขุมพลังตระกูลใหม่ DRIVE-E ออกมา
เป็นครั้งแรก ต่อมา XC60 Minorchange เวอร์ชันไทย ก็พร้อมเปิดตัว ร่วมกันกับทั้ง
S60 V60 S80 Minorchange และ V40 Cross Country เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน
2013 แต่ยังคงใช้ขุมพลังเดิม เหมือนกับรุ่น D4 ที่เรานำมาทำรีวิวไปก่อนหน้านั้น ตั้งราคา
3,099,000 บาท

จนกระทั่ง ในช่วง เดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา ขุมพลัง DRIVE-E จึงถูกสั่งตรง
จากยุโรป มาวางลงใน XC60 D4 Minorchange เวอร์ชันไทย และมาอยู่ในมือผม
อย่างที่เห็นอยู่นี้….

XC60 D4 ยังคงมีขนาดตัวถัง ยาว 4,644 มิลลิเมตร กว้าง 1,891 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจก
มองข้าง แต่ถ้ารวมจะมีความกว้างถึง 2,120 มิลลิเมตร ) ความสูง ถ้าวัดจากพื้นถนนจนถึง
เสาอากาศแบบ ครีบฉลามบนหลังคา จะอยู่ที่ 1,713 มิลลิเมตร แต่ถ้าวัดถึงแค่ รางหลังคา
Roof Rail ก็จะเหลือ 1,672 มิลลิเมตร แต่ถ้าเอาความสูงที่สุด เมื่อรวมการเปิดฝากระโปรง
ท้ายบานกว้างๆนั่นด้วยแล้ว ตัวเลขก็จะหยุดอยู่ที่ 2,131 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกปรับปรุงจนเห็นได้ชัดว่า แตกต่างไปจาก XC60 รุ่นเดิม โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง บริเวณชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า แทบทั้งหมด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ลดทอนความ
โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อันสวยงาม ลงมา ให้กลายเป็นไอ้ตี๋หน้าจืดธรรมดาๆ แต่ดูภูมิฐาน
ไปเสียแทนอย่างน่าเสียดาย หลายคนชื่นชอบใบหน้าของรถรุ่นแรกมากกว่ารุ่นปรับโฉม
แต่บางคนชอบทั้งด้านหน้าแบบใหม่ และด้านหน้าแบบเก่า ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะรสนิยมของแต่ละปัจเจกชน เป็นเรื่องยากจะคาดเดา ยากจะกำกับ

ชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon หักเหได้ตามการหมุนของพวงมาลัย Active Bending
Headlight พร้อมมอเตอร์ช่วยปรับมุมจานฉายหักเหได้ 15 องศา และปรับระดับสูง
หรือ ต่ำอัตโนมัติ Auto leveling ก็ตามมาประจำการในรุ่นใหม่นี้ด้วย

ไฟตัดหมอกหน้า ยังคงไม่มีมาให้ แต่ไฟที่เห็นบริเวณเปลือกกันชนหน้านั้น เป็น
ไฟ LED แบบ Daytime Running Light ส่วนไฟตัดหมอกหลัง ยังคงมีมาให้ครบ
ล้ออัลลอย เป็นลาย Pan ขนาด 7.5 นิ้ว x 18 นิ้ว พร้อมยาง Continental รุ่น
ขนาด 235/60 R18 V เท่ารุ่นเดิม

ชิ้นส่วนกาบด้านล่างรอบคัน จากเดิมเป็นสีดำด้าน เพื่อให้ทำความสะอาดหลังจาก
ลุยโคลน ลุยดิน ได้ง่ายๆ ถูกแทนที่ด้วย กาบล่างออกแบบใหม่ สีเดียวกับตัวถัง

ภายในห้องโดยสาร มีการปรับปรุงอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก

เบาะนั่งคู่หน้า ยังคงปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แต่เฉพาะฝั่งคนขับจะมี
สวิตช์หน่วยความจำตำแหน่งเบาะ พร้อมกระจกมองข้างไฟฟ้า มาให้ รวม
3 ตำแหน่ง แต่ถ้าจะปรับตำแหน่งดันหลัง ยังคงต้องใช้มือหมุนแข็งๆ ติดตั้ง
อยู่ด้านข้างพนักพิง ซึ่งต้องออกแรงหมุนเพิ่มอีกนิดนึงเหมือนเดิมอยู่ดี มี
มาให้ทั้งฝั่งซ้ายและขวา

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า ปีกข้างของเบาะ ออกแบบมาให้หนาขึ้น
เพื่อให้ดูคล้ายกับเบาะนั่งแบบ Bucket Seat เหมือนรถแข่ง ถ้าคุณมีสรีระผอม
มันจะลงล็อกและกระชับกับร่างกายของคุณพอดี แต่ถ้าคุณมีรูปร่างอวบระยะ
สุดท้าย จนถึงอ้วนพี แบบผม ปีกข้าง จะดันบริเวณช่วงสีข้างและบั้นเอว เพิ่ม
มากขึ้นจากรุ่นเดิม เมื่อนั่งขับทางไกล แม้ไม่ถึงกับเมื่อยนัก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้น
นั่งสบายแบบผ่อนคลาย เท่ากับเบาะคู่หน้าของ Volvo รุ่นอื่นๆ ที่เจอมา

ตำแหน่งการเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ตำแหน่งวางแขน ของทั้งแผง
ประตู และพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำแบบมีฝาพับ
ในตัว 2 ตำแหน่ง ก็เหมือนกันกับ XC60 รุ่นก่อนๆ นั่นละครับ

ต่างกันนิดเดียว ตรงที่ เบาะนั่งแถวหลังซึ่งม่หน้าตาเหมือนเดิมนั้น แอบมี
ฟองน้ำเสริมพนักพิงด้านหลัง ที่ดีขึ้นนิดเดียว ลดความแข็งลงมาจากเดิม
นิดเดียว แต่เบาะรองนั่ง ดันตูดกว่าเดิมนิดนึง นี่ขนาดว่า ยังไม่ได้ยกเบาะ
รองนั่ง ขึ้นมาเป็น เบาะนิรภัยสำหรับเด็กวัย 3 ขวบ ขึ้นไป ซึ่งมักเป็น
อุปกรณ์มาตรฐานของ Volvo ทุกรุ่นที่มีตัวถังแบบ Station Wagon และ
SUV ด้วยแล้วนะนั่น

นอกนั้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ความปลอดภัยด้านต่างๆ
ไปจนถึงบานประตูของห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิด – ปิดได้ด้วยสวิตช์
ไฟฟ้า และสั่งล็อกตำแหน่งได้ รวมทั้ง ขนาดของห้องเก็บของด้านหลัง
ตำแหน่งของช่องเก็บของต่างๆ และแม้แต่ยางอะไหล่ ยังคงเหมือนกับ
XC60 รุ่นเดิม ก่อนหน้านี้ เป๊ะ! ชนิดที่ว่า ไปหาอ่าน ในบทความรีวิวของ
XC60 D4 ของปีที่แล้วได้เลย! ต่างกันแค่โทนสีภายใน ที่เปลี่ยนมาใช้สี
เทาดำ แค่นั้น!

ชุดมาตรวัด เปลี่ยนจากหน้าจอวงกลม 2 วง ที่อ่านง่าย สบายตา มาเป็นหน้าจอ
แบบใหม่ Adaptive Digital Display ซึ่งยกชุดมาจาก Volvo V40 รุ่นล่าสุด เน้น
การแสดงผลแบบ Interactive ตามความต้องการของผู้ขับขี่ บนหน้าจอมาตรวัด
แบบ TFT (Thin Film Transistor) พร้อมภาพ Graphic ที่เข้าใจง่าย

ชุดมาตรวัดสามารถเลือกแสดงผลได้ถึง 3 แบบ คือ

Eco แสดงผลด้วยโทนสีเขียว โดยมาตรวัด Eco จะอยู่ด้านซ้ายมือ แสดงปริมาณ
  การใช้เชื้อเพลิงในขณะนั้น (แบบ Real Time) และปริมาณการใช้เชื้อเพลิงสะสม
  หากผู้ขับขี่ ขับประหยัดน้ำมันมากที่สุดก็จะมีไฟเขียวสว่างขึ้นมา  ส่วนด้านซ้าย
  จะแสดง Eco Guide ที่วัดความเร็วรถ ความเร็วรอบเครื่อง ตำแหน่งวาล์วปีกผีเสื้อ
  (Throttle) และการเบรก เพื่อคำนวนข้อมูลร่วมกัน แล้วแนะนำแนวทางให้ผู้ขับ
   ขับขี่ประหยัดมากยิ่งขึ้น  และจะมีกราฟเส้นแสดงว่าประหยัดน้ำมัน รวมทั้งมี
   การคำนวณอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ยใน 2-3 นาทีที่ผ่านมา แสดงเป็นรูปสี่เหลี่ยม
  ขนมเปียกปูนเมื่ออัตราการประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ยิ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวอยู่
  ใกล้ด้านบนมากเท่าไร ไฟเครื่องหมาย e จะสว่าง แสดงว่าคุณขับประหยัดมาก

Elegance แสดงผลด้วยโทนสีดำ ในรูปแบบฟอนท์ตัวเลขดั้งเดิมของ Volvo
   แต่ถูกออกแบบ จัดวางให้อ่านง่ายด้วยภาพกราฟฟิก เช่น มาตรวัดความเร็วจะ
  อยู่ตรงกลาง เหมือนกับ Eco มีสัญลักษณ์แสดงระบบแจ้งเตือนป้ายจราจร
  (Road Sign Information) ทางด้านซ้ายจะเป็นมาตรวัดอุณหภูมิเครื่องยนต์
  อุณหภูมิภายนอก และระดับน้ำมันในถัง ส่วนด้านขวาเป็นมาตรวัดรอบ
  แบบแนวตั้ง เลื่อนขึ้น – ลง เวลา และหน้าจอแสดงตำแหน่งเกียร์ที่ใช้

Performance แสดงผลด้วยโทนสีแดง มาตรวัดตรงกลางจะเปลี่ยนเป็น
  มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ขณะเดียวกัน ความเร็วของรถจะย้ายมาแสดงผล
  เป็นตัวเลข Digital ตรงกลางแทน (เหมือน V40 เป๊ะ) แถบด้านขวาเป็น
  มาตรวัด Power Guide ที่บอกให้ผู้ขับทราบว่า ในแต่ละวินาที ตัวรถนั้นมี
  พละกำลังอยู่เท่าไร และตอนนั้นถูกใช้ไปเท่าไร Power Guide ช่วยให้
  ผู้ขับขี่เร่งได้เต็มที่เพื่อการแซงอย่างปลอดภัย

ด้านความบันเทิง Volvo จัดเต็มให้มากกว่าปกติ นอกจากจะมีชุดเครื่องเสียง
รุ่น High Performance Multimedia แบบ 4×50 วัตต์ ลำโพง 8 ชิ้น เชื่อมเข้ากับ
วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD / MP3 / WMA / DVD 1 แผ่น เล่นภาพยนตร์
DVD หรือ ฉายไฟล์จาก Video ได้แล้ว ยังมี AUX Port สำหรับเชื่อมต่อกับ
เครื่องเล่น MP3 และมี USB Port เพื่อใช้เชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3 และ iPod
หรือ iPhone ได้ ยังมีระบบ Audio Streaming ช่วยให้เปิดเพลงจากโทรศัพท์
มือถือที่มีระบบ Bluetooth ออกทางเครื่องเสียงในรถยนต์ด้วย และเชื่อมต่อ
กับกล้องแสดงภาพช่วยจอดด้านหน้า – หลัง แบบ Panorama 180 องศา แล้ว

คราวนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกของ Volvo ในการติดตั้งระบบนำทางแบบใหม่
SENSUS Connect ซึ่งผสานการใช้งาน Internet เข้ากับการแสดงข้อมูล
สำคัญต่างๆของตัวรถ เข้ามาไว้ในระบบ แสดงผลผ่านหน้าจอขนาดใหญ่
ระบบนำทาง แสดงผลเป็นกราฟิก 3D และสามารถอัพเดตได้ตลอดอายุ
การใช้งาน รวมทั้งสาระบันเทิงในรูปแบบที่ดูและใช้งานง่าย  

Sensus Connect มีระบบสั่งการด้วยเสียง และอ่านข้อความเป็นเสียง หรือ
Text to speech คุณจึงไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยหรือละสายตาจากถนน

Sensus Connect มาพร้อมแอพพลิเคชั่นที่สำคัญ ได้แก่

– Send to Car: ผู้ขับขี่สามารถสมัคร Volvo ID เพื่อล็อกอินเข้าใช้งานระบบต่างๆ
   รวมทั้งเลือกและส่งแผนที่เส้นทางที่ต้องการจาก HERE Location Platform ที่
   ทำงานบนเทคโนโลยี Cloud จากคอมพิวเตอร์หรือ Notebook และกดส่งไปยัง
   ระบบนำทางในรถผ่านแอพพลิเคชั่น Send to Car ทำให้สามารถดูแผนที่จาก
   หน้าจอในระบบ Sensus Connect ได้สะดวก
– TuneIn: ค้นหาและเลือกฟังสถานีวิทยุ Online กว่า 100,000 สถานี ทั่วโลก!
– Local Search:ผู้ขับขี่สามารถเลือกค้นหาสถานที่ต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้าน
  อาหาร ในละแวกใกล้เคียงกับตัวรถในขณะนั้นได้

คุณภาพเสียง ก็ยังถือว่า หายห่วง จัดอยู่ในอันดับ ดี ถึงดีมาก ตามเคย เหมือนเช่น
Volvo รุ่นอื่นๆ เพียงแต่ว่า คราวนี้ ไม่มีสวิตช์ ควบคุมชุดเครื่องเสียง บริเวณด้าน
หลังกล่องคอนโลกลาง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มาให้เหมือนเช่นรุ่นก่อนๆ
การปรับ Equalizer ยังสามารถเลือกปรับแบบละเอียดได้อีกด้วย แต่การเข้าถึง
Menu ของระบบ Sensus ยังแอบนยากนิดๆ ต้องอาศัยความเข้าใจ และคุ้นชิน
จึงจะคล่องมือขึ้นเยอะ

รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ แทบไม่ได้แตกต่างไปจาก XC60 D4 รุ่นเดิมเลย
รวมทั้งทัศนวิสัยรอบคัน ซึ่งสามารถหอ่านได้จากบทความทดลองขับ XC60
ซึ่งมี Link เอาไว้ ใต้บืความนี้

********** รายละเอียดด้านงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในรุ่นปี 2013 ที่ผ่านมา XC60 D4 จะยังยืนหยัดใช้เครื่องยนต์เดิม เหมือนรุ่น D3
ปี 2012 คือ จะยังคงวางเครื่องยนต์รหัส D5204T3 Diesel บล็อก 5 สูบ DOHC
20 วาล์ว 1,984 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 77.0 มิลลิเมตร กำลังอัดอยู่ที่
16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด แบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วงด้วย
Turbocharger พร้อม Intercooler ลำดับจังหวะจุดระเบิดของกระบอกสูบอยู่ที่
1 – 2 – 4 – 5 – 3 รอบเดินเบา 700 รอบ/นาที น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ เป็น Diesel 
ที่มีค่า Cetane เบอร์ 48 กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (BHP) ที่ 2,900 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม.(400 นิวตันเมตร) ที่รอบตั้งแต่ 1,500-2,750 รอบ/นาที

แต่ในรุ่นปี 2014 XC60 D4 เวอร์ชันไทย จะเปลี่ยนมาใช้ขุมพลังใหม่ล่าสุด ในตระกูล
DRIVE-E ที่เพิ่งจะเผยโฉมสู่ตลาดโลก เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2013 หรือ 1 ปีที่แล้ว

โครงการพัฒนาเครื่องยนต์ตระกูลใหม่ DRIVE-E นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2008 โดย Volvo
ใช้เงินลงทุนวิจัยพัฒนาสูงถึง ประมาณ 9,480 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านโครเนอร์
สวีเดน) เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมือง Skovde เพื่อวิจัย พัฒนา และ ผลิต
เครื่องยนต์ตระกูลใหม่โดยเฉพาะ ตามแผนที่จะนำไปติดตั้งกับรถยนต์ Volvo ให้ได้
ครบทุกรุ่นภายในปี 2015

เครื่องยนต์ตระกูล DRIVE-E เกิดจากแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นตัวถังและชิ้นส่วน
ตัวถังแบบ Scalable Product Architecture (SPA) ของ Volvo โดยมีการจัด
กลุ่มประเภทรถที่สามารถใช้โครงสร้างและชิ้นส่วนบางประการร่วมกันได้ เช่น Chassis
เบาะนั่ง ระบบไฟฟ้า และเครื่องยนต์ ดังที่เห็นในรถตระกูล 60 ทั้ง S60 V60 XC60
นอกจากนี้ กว่า 90% ของชิ้นส่วนที่ใช้ในรถยนต์ Volvo จะเป็นชิ้นส่วนที่ถูกออกแบบ
หม่ทั้งหมด ช่วยทำให้เครื่องยนต์ DRIVE-E มีข้อได้เปรียบอื่นๆ เช่นพร้อมรองรับการ
ติดตั้งระบบมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน และระบบ Hybrid การปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ฯลฯ

ภายใต้แนวคิด SPA Volvo ได้พัฒนาเครื่องยนต์ตระกูลใหม่ล่าสุด เรียกว่า Volvo
Engine Architecture หรือ VEA วิศวกรเครื่องยนต์มุ่งวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์
เบนซินและดีเซลใหม่ล่าสุดโดยใช้บล็อกเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
2,000 ซีซี ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด และน้ำหนักเบากว่าเดิมถึง 30-50 กิโลกรัม 
(เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ให้ช่วงพลังใกล้เคียงกัน) แต่ได้สมรรถนะเท่าเครื่องยนต์
ที่มีจำนวนลูกสูบมากกว่า ทั้ง 6 สูบ หรือ 8 สูบ  ในขณะที่ใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมี
ประสิทธิภาพกว่า 10-30%  (ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ที่นำมาเปรียบเทียบ)

Derek Crabb รองประธานบริหารฝ่ายวิศวกรรมเครื่องยนต์ Volvo Car Group
สวีเดน กล่าวว่า “อันที่จริงแล้ว พละกำลังไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ แต่
ขึ้นอยู่กับปริมาณอากาศที่ไหลผ่านเครื่องยนต์ ดังนั้น ถ้าทำให้อากาศมีปริมาณและ
ความหนาแน่นสูงไหลผ่านเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เราก็สามารถได้เครื่องยนต์ขนาด
เล็กที่มีประสิทธิภาพการทำงาน ดีกว่าและได้พลังแรงมากเท่ากับเครื่องยนต์ขนาด
ใหญ่ สมัยที่ผมคลุกคลีอยู่กับรถแข่งสูตรหนึ่ง หรือ Formula-1 นั้น พวกเขาพัฒนา
เครื่องยนต์ขนาดเพียง 1,500 ซี.ซี. ที่สามารถให้พลังมากถึง 900 แรงม้าเลยทีเดียว  
เครื่องยนต์ Volvo Drive-E ใหม่ ผ่านการทดสอบพิสูจน์สมรรถนะมาโชกโชนใน
สังเวียนความเร็วโลกกับรถแข่งประเภททัวริ่ง World Touring Car Championship
(WTCC) นับแต่ปีค.ศ.2011 เป็นต้นมา ล่าสุด คือ สามารถพิชิตสถิติความเร็วสูงสุด
ในสนามแข่งขันได้อย่างน่าทึ่ง”

ขุมพลัง DRIVE-E ใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยครั้งแรกนี้ เป็นรุ่น D4204T5 Diesel
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,969 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82.0 x 93.2 มิลลิเมตร
กำลังอัด 16.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด แบบรางแรงดันสูง Common Rail พ่วง
ระบบอัดอากาศ Turbocharger พร้อม Intercooler ลำดับจังหวะจุดระเบิดกระบอกสูบ
อยู่ที่ 1 – 3 – 4 – 2 รอบเดินเบาตั้งไว้ที่ 825 รอบ/นาที น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ เป็น Diesel
ที่มีค่า Cetane เบอร์ 48 ใช้สายพานไทมม์มิ่ง (Timing-Belt Drive) ทำหน้าที่ขับเพลา
ลูกเบี้ยวทั้งไอดีและไอเสีย นอกจากนี้ สายพานไทม์มิ่งยังขับปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง และ
ปั๊มน้ำระบายความร้อนเครื่องยนต์ รวมทั้งติดตั้งรอกสายพานตัวเดียว ปรับความตึงอัตโนมัติ

จุดเด่นของเครื่องยนต์ตระกูล DRIVE-E นี้ มีหลายประการ ดังนี้

– การลดแรงเสียดทานของชิ้นส่วนกลไกภายในเครื่องยนต์ (Reduced Inner Friction)
  เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง และได้พละกำลังเพิ่มขึ้น เช่น ลดแรงเสียทานระหว่าง
  ชิ้นส่วนกลไกในเครื่องยนต์โดยทำให้ผิวสัมผัสของกระบอกสูบและเพลาข้อเหวี่ยง ลื่นขึ้น
  การนำปั๊มน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ ทำงานแบบแปรผัน มาใช้ ผวกกับการใช้น้ำมันเครื่อง
  “สังเคราะห์ 100%” ซึ่งมีโมเลกุลละเอียดกว่า ทนความร้อนได้สูง โดยไม่เสียคุณสมบัติ
   ด้านหล่อลื่นมาใช้

– การควบคุมความร้อนของเครื่องยนต์ (Smart Heat Management) ด้วยการใช้ปั้มน้ำ
  ระบายความร้อน ทำให้สารหล่อเย็นในหม้อน้ำไหลเวียนได้เร็วขึ้น ทำให้อุณหภูมิของเครื่อง
   อุ่นได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปั๊มน้ำระบายความร้อนเครื่องยนต์
   Diesel ถูกขับโดยสายพานไทม์มิ่ง ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน จะถูกขับด้วยปั๊มน้ำไฟฟ้า
 
– หัวฉีดเชื้อเพลิงพร้อมอุปกรณ์ควบคุมแรงดัน (Fuel Injection with Pressure Control)
   การฉีดเชื้อเพลิงได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้หัวฉีดแบบใหม่ล่าสุด ในชื่อ
   i-ART (Intelligent Accuracy Refinement Technology)

– ระบบควบคุมการเผาไหม้  (Advanced Combustion Control) ห้องเผาไหม้ ที่
  สมบูร์แบบ ท่อไอดีพร้อมอุปกรณ์ควบคุมการไหลวน และหัวฉีดเชื้อเพลิงแรงดันสูงมากถึง
  2,500 บาร์ (หรือเท่ากับ 36,259 ปอนด์ต่อตางรางนิ้วฟุต) ทำงานประสานกันเพื่อให้
  ประสิทธิภาพในการเผาไหม้สูงสุดและปล่อยไอเสียต่ำสุด

– ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงขับเคลื่อนด้วยสายพาน (Belt-Driven Fuel Pump) ในเครื่องยนต์
  Diesel ปั้มเชื้อเพลิงแรงดันสูงต้องการแรงขับเคลื่อนความเร็วสูง เพื่อให้ได้แรงดัน
  เชื้อเพลิงที่ระดับ 2,500 บาร์ ดังนั้น Volvo จึงใช้แรงขับเคลื่อนจากสายพานเส้นเดียว
  ขับเคลื่อนทั้งเพลาลูกเบี้ยว และปั๊มเชื้อเพลิง พร้อมกันไปเลย

นอกจากนี้ เสื้อสูบ-ฝาสูบยังผลิตจากอะลูมิเนียม แต่เน้นกรรมวิธีในการผลิตที่ต่างกัน
ตามหน้าที่ของแต่ละชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ เช่น ฝาสูบอะลูมิเนียมนั้นได้รับการหล่อ
ขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีทุ่นเย็น (chill casting) ในขณะที่เสื้อสูบและอ่างน้ำมันเครื่องยนต์
หล่อขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีอัดแรง (pressed casting) เป็นต้น

เพลาข้อเหวี่ยงในเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลรุ่นใหม่นี้มีขนาดเท่ากัน  Volvo เลือก
ใช้เพลาข้อเหวี่ยงชนิดเดียวกันในเครื่องยนต์แต่ละรุ่น  จะแตกต่างกันเล็กน้อยก็คือ
ขนาดของลูกสูบและก้านลูกสูบเท่านั้น

Hi-Light สำคัญ ของเครื่องยนต์ DRIVE-E Diesel อยู่ที่เทคโนโลยีหัวฉีด i-ART
(Intelligent Accuracy Refinement Technology) ระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงอัจฉริยะ
ในเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลเป็นครั้งแรกของโลก

หลักการทำงานก็คือ กล่องควบคุม ECM (Engine Control Module) จะทำหน้าที่
ตรวจวัดแรงดันและอุณหภูมิของหัวฉีดด้วยเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ในแต่ละหัวฉีด ทำงานแยก
อิสระ โดยจะประมวลผลเพื่อปรับและควบคุมการฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ของแต่ละหัวฉีด ให้
เหมาะสมต่อการเผาไหม้ ซึ่งต่างจากเครื่องยนต์ดีเซลปกติที่ใช้เซ็นเซอร์ วัดแรงดันเพียง
ตัวเดียวเพื่อสั่งการและควบคุมปั๊มเชื้อเพลิง

การฉีดเชื้อเพลิงหลายๆครั้งต่อรอบการเผาไหม้ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ช่วยให้
ประหยัดเชื้อเพลิง และลดเสียงดังที่เกิดจากอาการน็อคของเครื่องยนต์ลงได้มาก  

ระบบ i-ART สามารถฉีดเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึง 9 ครั้งต่อการหมุนของเครื่องยนต์ 1 รอบ
ขณะที่การขับขี่ใช้งานรถยนต์ตามปกตินั้นจะใช้เพียงแค่ 3-4 ครั้งต่อการหมุน 1 รอบ การ
ทำงานผสมผสานกันระหว่างหัวฉีดแรงดันสูงที่ 2,500 บาร์ (มากกว่าแรงดันในเครื่องยนต์
ดีเซลแบบเดิมที่ 1,800 บาร์) และเทคโนโลยี i-ART ส่งผลให้เครื่องยนต์ DRIVE-E
Diesel ปล่อยไอเสียน้อยลง มีพละกำลังเพิ่มมากขึ้น และลดการใช้เชื้อเพลิงได้ดีขึ้นถึง 2%

นอกจากนี้ เครื่องยนต์รุ่นนี้ ยังติดตั้ง Turbocharger 2 ลูก มีทั้งลูกเล็กและลูกใหญ่
เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในรอบความเร็วต่ำ เทอร์โบชาร์จตัวเล็กจะทำงาน เพื่อช่วยเพิ่ม
แรงบิดในรอบต่ำดีขึ้น ออกตัวได้ไว แต่เมื่อเร่งรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น Turbo ลูกใหญ่
จะทำงานต่อ ช่วยเรียกแงบิดได้เร็วขึ้น นุ่มนวลขึ้น และลดอาการรอรอบเครื่องยนต์
จากการหน่วงเวลา (Turbo-lag) น้อยลง

ด้านการควบคุมไอเสีย ยังคงใช้ เครื่องฟอกไอเสีย Catalytic Converter แต่มี 
Filter กรองเขม่าแบบใหม่ติดตั้งในตัว (close-couple catalytic converter)
ทำหน้าที่เหมือน Catalytic Converter แบบเดิมที่ฟอกก๊าซ Hydro Carbon
และ Carbonmonoxide แต่ที่พิเศษกว่าเดิม คือ ยังช่วยกำจัดก๊าซ Nitrogen
ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยใช้ LNT (Lean NOx Trap) ซึ่งประกอบ
ด้วยโลหะหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติดักจับก๊าซ Nitrogenoxide ไว้ในแผ่นกรอง

ทั้งหมดนี้ ช่วยให้ XC60 D4 ใหม่ ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 6 ได้สบายๆ
ขณะที่ กำลังสูงสุดเพิ่มเป็น 181 แรงม้า (BHP) ที่ 4,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
40.76 กก.-ม. หรือ 400 นิวตันเมตร เท่าเดิม แต่มาในรอบเครื่องยนต์สูงขึ้นจากเดิม
นิดนึง เป็น 1,750-2,500 รอบ/นาที รอบเครื่องยนต์สูงสุดอยู่ที่ 5,000 รอบ/นาที

และที่สำคัญก็คือ ปล่อยก๊าซ Carbondioxide แค่เพียง 124 กรัม / 1 กิโลเมตร
เท่านั้น! ตัวเลขนี่ ใกล้เคียงกับรถยนต์พวก ECO Car ในบ้านเรามากๆ!!

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหนัา ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ จาก AISIN SEIKI รุ่นใหม่
AW TG-81SC พร้อมโหมด บวก-ลบ “GearTronic” ให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เล่นได้เอง
หัวเกียร์ เปลี่ยนจากแบบใสๆ เรืองแสง มาเป็นพลาสติกสีดำ ดูคล้ายน้ำหอมปรับอากาศใน
รถยนต์ Glade Sport มากๆ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..5.250
เกียร์ 2……………………..3.029
เกียร์ 3……………………..1.950
เกียร์ 4……………………..1.457
เกียร์ 5……………………..1.221
เกียร์ 6……………………..1.000
เกียร์ 7……………………..0.809
เกียร์ 8……………………..0.673
เกียร์ถอยหลัง………………4.015
อัตราทดเฟืองท้าย………….2.67 – 3.08

ถ้าเปรียบเทียบกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะลูกเดิม จะพบว่า เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ มีอัตราทด
เกียร์ที่กว้างขึ้น เกียร์ 1 อัตราทดอยู่ที่ 5.250 ต่อ 1 เพื่อให้รถพุ่งออกตัวได้เร็ว ส่วนอัตราทดเกียร์
over-drive อยู่ที่เกียร์ 7 และเกียร์ 8 เป็นเกียร์ที่สูงสุด อยู่ที่ 0.673 ต่อ 1 เพื่อให้ปรหยัดน้ำมัน
ในการขับขี่ช่วงความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมขับขี่แบบ ECO+ (อีโค่-พลัส) ที่เน้นการประหยัดเชื้อเพลิง ถ้าผู้ขับขี่
กดปุ่ม ECO+ ฝั่งขวาของแผงควบคุมกลาง จนไฟสีเขียวติดขึ้นมาแล้ว ระบบต่างๆของตัวรถ
จะทำงานดังนี้

– คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ จะหยุดทำงานเพื่อไม่ให้ฉุดกำลังเครื่องยนต์  
– ในช่วงความเร็ว 65-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบ ECO Coast จะทำงาน โดยไม่มีแรงหน่วง
   ความเร็วจากเครื่องยนต์ (Engine Brake)  เมื่อผู้ขับถอนคันเร่ง ตัวรถจะยังคงวิ่งเคลื่อนไป
  ข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อยจากพลังงานจลน์ (Kinetic Energy)
– หากไม่ถอนคันเร่ง การตอบสนองของคันเร่งจะช้าลงทำให้ต้องเหยียบคันเร่งลึกลงกว่าเดิม
– เกียร์จะเปลี่ยนจังหวะ (Shift Up) ขึ้นไปให้เร็วขึ้น
– เปลี่ยนการทำงานของระบบ Start/Stop จากปกติที่เครื่องยนต์จะดับเองเมื่อรถหยุด  โดยสั่ง
   ให้เครื่องยนต์ หยุดทำงาน เมื่อความเร็วรถต่ำกว่า 7 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ตัวรถ ไหลต่อ
   ไปดวยแรงเฉื่อย และเครื่องยนต์จะติดขึ้นเองอีกครั้งเมื่อผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากแป้นเบรก

ทั้งนี้ โหมดการขับขี่ ECO+  จะทำงานเมื่อ
– เกียร์อัตโนมัติอยู่ในตำแหน่ง D (Drive)
– ระดับความเร็วรถอยู่ระหว่างช่วง 65-140 กม./ชม
– ความลาดชันของถนนไม่เกิน 6%
– ไม่ได้ใช้งานระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)
– อุณหภูมิของเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติอยู่ในระดับปกติ

การปลี่ยนเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังครั้งใหม่คราวนี้ จะให้ผลเป็นอย่างไร เรามาลองดูตัวเลข
จากการจับเวลา ตามมาตรฐานของ Headlightmag.com ที่ยังคงจับเวลาตอนกลางคืน ดึกๆ
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามเดิม ตัวเลขออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

(แก้ไข : ความเร็วสูงสุด แต่ละเกียร์ ของรุ่นใหม่ ตารางซ้ายสุด ต้องเป็นเลข 8 ครับ ขออภัยในความผิดพลาด)

จากตัวเลขจะเห็นว่า XC60 D4 มีพัฒนาการด้านอัตราเร่งที่ชัดเจนขึ้นจากรุ่นเดิมมากๆ
โดยเฉพาะตัวเลขในช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ดีที่สุดในกลุ่ม เร่งได้
เร็ว และแรงที่สุดในกลุ่ม Premium Compact Crossover SUV กันเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังทำได้ดีกว่า BMW X3
ประมาณ 0.2 วินาที ซึ่งถือว่า ผิดคาดไปมาก เพราะปกติ Volvo มักทำตัวเลขออกมาได
น้อยกว่า BMW เสมอ

กระนั้น ในเกม 0 – 100 กิดลเมตร/ชั่วโมง ผู้ชนะ กลับกลายเป็น Range Rover Evoque
2.2 SD4 ซึ่งทำตัวเลขได้ไวกว่า XC60 D4 เพียง 0.1 วินาที เท่านั้น!

ต้องยอมรับเลยว่า เทคโนโลยีเครื่องยนต์ DRIVE-E ถือเป็นการก้าวกระโดด ข้ามปัญหา
ดั้งเดิมของเครื่องยนต์ Volvo รุ่นเก่าๆ ไปได้อย่างสวยงาม ในระดับที่เทียบเท่า หรือดีขึ้น
กว่า BMW ไปแล้ว!!

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ตัวเลขจากโรงงานระบุว่าอยู่ที่ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตัวเลข
จากมาตรวัดนั้น สามารถไหลขึ้นไปได้ถึง 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,900 รอบ/นาที
ที่เกียร์ 6 ซี่งในช่วงหลังจากตัดเปลี่ยนจากเกียร์ 5 ไปเกียร์ 6 แล้ว ต้องใช้เวลาไต่ขึ้น
ไปถึงความเร็วสูงสุดบนมาตรวัด นานพอสมควรเลยทีเดียว

ย้ำกันตรงนี้เหมือนเช่นเคยว่า เราทำการทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของ
การให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาว หรือมุดกันจนเสี่ยงอันตรายต่อผู้ร่วมใช้
เส้นทาง เราระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ และเราไม่อยากเห็นใครต้อง
เสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง ดังนั้น อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะหาก
พลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิตคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความ
ปลอดภัยของคุณแต่อย่างใดทั้งสิ้น! อีกทั้งเราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด แบบนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร

ในการใช้งานจริง อัตราเร่งของรถรุ่นใหม่ มันแรงขึ้นกว่าเดิม ตอบสนองได้กระฉับกระเฉง
ดีกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด เริ่มตั้งแต่ออกตัว ถ้าคุณค่อยๆเพิ่มน้ำหนักเท้า ลงบนคันเร่งอย่าง
ค่อยเป็นค่อยไป รถจะยังคงออกตัวอย่างนุ่มนวล เกียร์จะทำงานอย่างราบรื่น ไม่มีอาการกระตุก
หรือกระโชกโฮกฮาก สมกับเป็นรถยนต์ สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ อย่างแท้จริง

แต่ถ้าคุณเหยียบคันเร่งเต็มมิดตีน จนคันเร่งแทบจะทะลุพื้นรถ บอกได้เลยว่า คราวนี้ คุณควร
ถือพวงมาลัยให้นิ่งๆ ไว้สักหน่อย เพราะทันทีที่รถพุ่งออกไปอย่างนุ่มนวล แรงบิดระดับ 400
นิวตันเมตร จะฉุดกระชากตัวรถให้พุ่งพรวดขึ้นไปอย่างต่อเนื่องทันที จนเกิดอาการพวงมาลัย
แอบสะบัดไปมา เล็กน้อย (อาการ Torque Steer) ซึ่งผมไม่ค่อยได้พบอาการนี้จากรถยนต์
อย่าง Volvo กันสักเท่าใดนัก และในจังหวะแรกที่กดเตมตีน อาจเจออาการกระตุกของเกียร์
เพียงครั้งเดียว และเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ในระดับที่ยอมรับได้

ในช่วงเร่งแซง คุณไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งลงไปจนจมมิด แค่เพียงเหยียบราวๆ 30%
อัตราเร่งก็เริ่มโผล่ออกมาทำงานเพิ่มจากปกติแล้ว แต่ถ้าอยากจะแซงอย่างรวดเร็ว แนะนำ
ว่าให้เหยียบคันเร่งลงไปจมมิด ในฉับพลัน สั่งการให้ Torque Converter ทำงานไปเลย
จะยิ่งช่วยลดเวลาในการเร่งแซงลงไปได้ อัตราเร่ง ทันอกทันใจเพิ่มขึ้นจากเดิมชัดเจน

คันเร่งไฟฟ้า ลดอาการ Lag ให้เหลือน้อยลง ตอบสนองได้ไวต่อการรับคำสั่งจากเท้าขวา
ของคนขับมากขึ้น แถมถ้าคุณเหยียบคันเร่งต่อเนื่องอยู่ และมีเหตุให้ต้องเบรก เกียร์จะ
ถูกสั่งให้ล็อกตำแหน่งเดิมไว้  เพื่อลากรอบเครื่องยนต์ค้างไว้ เผื่อในกรณีที่คุณจะเร่งส่ง
เมื่อได้จังหวะแล้ว ถือว่า เกียร์ ฉลาดใช้การได้

แรงดึงของรถ ทำให้ผมนึกถึง บุคลิกของ Mazda CX-5 เบนซิน 2.5 ลิตร ที่เคยขับมา
ก่อนหน้านี้ มันดึงขึ้นแบบที่ XC60 รุ่นก่อนๆ ไม่มีทางให้ความแรงกับคุณได้ขนาดนี้
อัตราเร่ง น่าสนุก ตอบสนองฉับไวขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น และช่วยเพิ่มความสนุกใน
การขับรถทางไกลมากขึ้นอีกพอสมควร และผมอยากได้การตอบสนองแบบนี้ จาก
Volvo มานานแล้ว เพิ่งจะสมหวังเอาก็คราวนี้แหละ!

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ถึงแม้ภาพรวมจะยังทำได้ดีมากเหมือนเดิม แต่ก็ยังพอมี
เสียงลมไหลผ่านตัวรถ ลอดเข้ามาให้ได้ยินเบาๆ อยู่บ้าง จากขอบประตูคนขับ บริเวณเสา
กรอบประตูคู่หน้า แต่ ในภาพรวมแล้ว คุณจะยังไม่ต้องเร่งเสียงพูดคุยกับเพื่อนร่วมทาง
จนกว่าความเร็วจะแตะระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามเดิม

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบ
ไฮโดรลิคธรรมดา อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 16 : 1 หมุนจากซ้ายสุดถึงขวาสุด หรือ
ขวาสุด มาซ้ายสุด ใช้ทั้งหมด 2.9 รอบ เหมือนเดิม ดังนั้น การตอบสนอง จึงเหมือน
รุ่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือ พวงมาลัยหนืด และค่อนข้างหนักนิดหน่อย แต่มั่นใจได้ดีมากๆ
ในช่วงความเร็วสูง แม้จะลองปล่อยมือจากพวงมาลัยช่วง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รถก็ยังแล่นตรงแหน่วไปข้างหน้าตามเดิม ส่วนการเลี้ยวเข้าโค้ง พวงมาลัยก็จะยังคง
ไว้ใจได้ เพียงแต่ยังพอมีอาการเนือยๆอยู่นิดหน่อย ซึ่งก็เหมาะสมแล้วกับ Crossover
SUV แบบนี้ เพียงแต่ว่า ขณะถอยเข้าจอด คุณอาจต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยมากกว่า
รถยนต์ทั่วไป ใช้นิ้วชี้นิ้วเดียวหมุนพวงมาลัยพอได้ แต่คุณต้องเกร็งนิ้วมากๆ หรือไม่
ก็ต้องเป็นนิ้วชี้ของนักเพาะกายทีมชาติถึงจะหมุนพวงมาลัยได้ด้วยนิ้วชี้นิ้วเดียว ฉะนั้น
ขอแนะนำว่า ออกแรงหมุนพวงมาลัยตามปกติไปเถอะครับ

ระบบกันสะเทือนระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง นั้น
เป็นแบบ มัลติลิงค์ โดยยึดพื้นฐาน คอยล์สปริง ช็อกอัพไฮโดรลิก พร้อมเหล็กกันโคลง
มาให้ทั้งหน้า- หลัง : ก็ยังคงเหมือนรุ่น MY 2013 ตามเดิม เป๊ะ!

นั่นคือ ในความเร็วต่ำ ช่วงล่างจะแข็ง คุณจะรับรู้ทุกความรู้สึกได้ถึงพื้นผิวถนนทุก
รูปแบบที่ถ่ายทอดขึ้นมาโดยตรงจากช็อกอัพไม่ว่าหลุมบ่อ หรือลูกระนาดต่างๆ จะ
มีขนาดเท่าใด เล็กหรือใหญ่ ลึกหรือไม่ รู้หมด!แต่ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึง
ความเร็วสูง ช่วงล่าง จะมาในแนวนุ่มแต่ยังหนึบอยู่พอประมาณ ขับทางไกลสบายๆ
นิ่งสนิท รูดเลนซ้ายถนนสายเอเซีย พอได้อยู่ แต่ถ้าสามารถปรับแก้อาการ Rebound
ขณะจัมพ์คอสะพาน ให้นิ่งขึ้นกว่านี้ได้ โดยเปลี่ยนชุดสปริงกับช็อกอัพให้หนึบขึ้น
มากกว่านี้อีกนิดเดียว ก็น่าจะดี

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อกขณะ
ฉุกเฉิน ABS (Anti-Lock Breaking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนัก
บรรทุก EBD (Electronic Brake Distribution) และระบบเสริมแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉินด้วยอีเล็กโทรนิคส์ EBA (Electronic Brake Assistance) เส้นผ่าศูนย์กลาง
จานเบรกหน้า 328 มิลลิเมตร หนา 30 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกหลัง อยู่ที่ 308 มิลลิเมตร
หนา 22 มิลลิเมตร  ตัวเลขจากโรงงานยังคงเคลมว่าระยะเบรก จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถึง จุดหยุดนิ่ง ใช้ระยะทาง 39 เมตร มาพร้อมระบบควบคุมเสถียรภาพ DSTC (Dynamic
Stability and Traction Control with Advanced Stability Control & Sport)

ระบบห้ามล้อ ยังคงตอบสนองเหมือนเดิม คือ ยังคงนุ่มนวลเท้าและมั่นใจได้ดี ความเร็ว
ของรถหน่วงลงมาอย่างรวดเร็ว และชัดเจน ในทุกช่วงความเร็ว ตั้งแต่ขับคลานๆ ไปตาม
สภาพการจราจรในเมืองหรือ ช่วงที่ต้องชะลอรถลงมาอย่างเร่งด่วน จากช่วงความเร็วสูง
พอจะมั่นใจได้ในทุกครั้งที่เหยียบเบรก ตั้งแต่เริ่มสัมผัสกับแป้นเบรกกันเลยทีเดียว

ด้านความปลอดภัยนั้น Volvo ยังคงอัดแน่น สารพัดอุปกรณ์ ไฮเทค มาให้ลูกค้าได้
ใช้งานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกของการ Upgrade ระบบ
City Safety โดยเพิ่ม ระบบตรวจจับผู้ขับขี่จักรยานพร้อมฟังก์ชั่นหยุดรถแบบ
เต็มแรงเบรก (Cyclist Detection with Full Auto Brake)

ระบบนี้จะประกอบด้วย เรดาร์ที่ติดตั้งอยู่บนกระจังหน้าของรถ กล้องที่ติดอยู่ด้านหลัง
ของกระจกมองหลัง และกล่องควบคุมระบบ เรดาร์มีหน้าที่ตรวจจับภาพมุมกว้าง 60
องศาทางด้านหน้ารถว่ามีวัตถุอยู่ในรัศมีหรือไม่ และวัดระยะห่างจากวัตถุนั้น

ส่วนกล้องก็จะยืนยันว่าวัตถุนั้นเป็นโครงสร้างของมนุษย์ คือ มีศีรษะ ลำตัว แขน ขา
หรือไม่ โดยที่เรดาร์สามารถตรวจจับได้กระทั่งคนที่เพิ่งจะก้าวลงมาบนถนน กล้องนี้
มีความละเอียดสูงกว่ารุ่นเดิมมาก ทำให้สามารถตรวจจับรูปแบบการเคลื่อนไหวของ
คนเดินถนนและผู้ขับขี่จักรยานนั้นได้ด้วย ระบบนี้ติดตั้งเป็นมาตรฐานและทำงาน
เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบตรวจจับผู้ขับขี่จักรยานพร้อมระบบเบรกอัตโนมัติจะทำงานเมื่อความเร็วของรถ
ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถหลีกเลี่ยงการชนได้เมื่อ

– รถใช้ความเร็วต่ำกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– จักรยานมีความเร็วสัมพัทธ์ (relative speed) ต่ำกว่า 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง  
– ผู้ขับขี่จักรยานหยุดนิ่งหรือขับขี่จักรยานไปในทิศทางเดียวกันกับรถ
– ผู้ขับขี่จักรยานอยู่หน้ารถ
– จักรยานติดตั้งแผงสะท้อนแสงด้านหลังสูงจากพื้นอย่างน้อย 70 เซ็นติเมตร
– เป็นรถจักรยาน 2 ล้อสำหรับผู้ใหญ่

หากความเร็วของรถยนต์สูงกว่า 50 กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบ
ป้องกันการชนเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำหรือ City Safety จะทำงานร่วมด้วยเพื่อช่วย
ลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุชนจักรยาน   แต่ถ้ารถยนต์วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะทำให้ระบบเบรกอัตโนมัติแบบเต็มแรงเบรกไม่สามารถ
ทำงานได้เต็มที่และถูกปิดการทำงานในที่สุด

ระบบเปิด/ปิดไฟสูงอัตโนมัติใหม่ (Active High Beam) ซึ่งจะเปิดฟสูงตลอดเวลา
แต่เมื่อมีรถสวนมา ระบบจะลดระดับแสงของไฟสูงให้พ้นจากสายตารถที่สวนมา
ขณะเดียวกันก็ยังคงส่องสว่างเป็นไฟสูงในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่ไม่รบกวนสายตารถ
ที่อยู่ด้านหน้าหรือที่สวนมา ระบบดังกล่าวทำงานโดยใช้เทคโนโลยีสะท้อนแสง
ไฟที่ติดตั้งอยู่ในไฟหน้า ซึ่งจะปรับระดับความสว่างของแสงอย่างเหมาะสมกับ
สถานการณ์  เมื่อพ้นไปแล้วก็จะปรับมาเป็นไฟสูงเหมือนเดิมเพื่อให้ผู้ขับขี่มอง
เห็นทางข้างหน้าได้อย่างชัดเจนในยามค่ำคืน

ระบบเปิด/ปิดไฟสูงอัตโนมัติยังสามารถทำงานร่วมกับระบบไฟหน้าแบบหักเห
ตามพวงมาลัย (Active Bending Lights) รวมทั้งเซ็นเซอร์วัดน้ำฝนเพื่อปรับการ
ทำงานของไฟและที่ปัดน้ำฝนไปด้วย

ระบบไฟส่องสว่างเพิ่มมุมมองด้านข้างเมื่อใช้สัญญาณไฟเลี้ยวขณะขับขี่ช่วง
ความเร็วต่ำ (Cornering Light) พัฒนามาจากระบบไฟหน้าแบบหักเหตาม
พวงมาลัยและปรับระดับสูง/ต่ำโดยอัตโนมัติ  โดยจะส่องสว่างในพื้นที่ที่ผู้ขับขี่
จะมองเห็นได้ โดยหักเหมุมส่องสว่างตามพวงมาลัยเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ
เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ยามค่ำในเส้นทางมืดๆ  แสงสะท้อนจาก
ไฟส่องสว่างดังกล่าวจะครอบคลุมมุม 15 องศาจากตัวรถ  ระบบความปลอดภัย
นี้จะทำงานเมื่อรถยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพร้อมกับเปิด
ไฟเลี้ยว และจะปิดการทำงาน เมื่อใช้ความเร็วเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

และ ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีรถวิ่งเข้ามาทางด้านข้างขณะถอยหลังออกจากที่จอด
(Cross Traffic Alert) ใช้เรดาร์เซ็นเซอร์ที่ท้ายรถตรวจจับยานพาหนะที่แล่น
เข้ามาด้านข้าง และเตือนผู้ขับขี่ที่กำลังถอยออกจากที่จอดให้ระวังหรือหยุดรถ  
ระบบนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่และถอยออกจากที่จอดบนถนนที่
คับคั่งจอแจ และมีรถคันอื่น หรือมีต้นไม่ มีอาคารบังอยู่ ทำให้ไม่เห็นด้านข้าง
ชัดเจน

ส่วนระบบ เซ็นเซอร์เรดาร์แจ้งเตือนเมื่อมียานพาหนะอยู่ในมุมอับของสายตา  
(Enhance Blind Spot Information system – BLIS) จะเปลี่ยน
จากกล้อง มาใช้เรดาร์เซ็นเซอร์แทน เพื่อช่วยเฝ้าระวังทั้งสองข้างของรถ

หากมียานพาหนะเข้ามาในโซนจุดบอดหรือระยะประมาณ 70 เมตรจากท้ายรถ
ระบบนี้จะเตือน โดยหลอดไฟที่ติดอยู่กับประตูหน้าด้านซ้ายหรือขวาจะสว่างขึ้น
ระบบนี้ จะทำงานเมื่อความเร็วรถมากกว่า 10  กิโลเมตร/ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนป้ายจราจร (Road Sign Information) ระบบ
เปิด/ปิดไฟหน้าแบบอัตโนมัติเมื่อขับขี่เข้า/ออกจากที่มืด (Tunnel Detection) 
ระบบเตือนเมื่อขับข้ามเลน (Lane Departure Warning: LDW) และ ระบบ
เตือนผู้ขับขี่ เมื่อจับอาการได้ว่า ง่วงนอน (Driver Alert Control: DAC) ระบบ
ควบคุมความร็ว Redar Adaptive Cruise Control ปรับระยะใกล้ – ห่างจาก
รถคันข้างหน้าได้ ด้วยสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ยังคงมีประจำการมาให้จาก
โรงงาน ตามเดิม

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในที่สุด สถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน เยื้องสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์
ก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากเปลี่ยนถังน้ำมันใต้ดินครั้งใหญ่ ไปนาน
ถึง 2 เดือน

เราจึงประเดิมโดยนำ XC60 D4 มาเติมน้ำมันใหม่ Power Diesel Techron ซึ่ง
ได้ยินมาว่า น่าจะช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น โดยเติมแค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว เพราะ
แม้ลูกค้ากลุ่มที่ซื้อรถยนต์ประเภทนี้ อยากรู้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่ได้
ซีเรียส เท่ากับกลุ่มรถเก๋ง เครื่องยนต์ ไม่เกิน 2,000 ซีซี และรถกระบะ จึงไม่ต้อง
ทำการเขย่ารถขณะเติมน้ำมัน

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกปากซอย
โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ
จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะเลี้ยวกลับย้อน
ขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือรักษา
ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน

คราวนี้ เพื่อรักษา ความเร็ว ให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
Cruise Control ซึ่งยังคงรักษาความเร็วรถและความเร็วรอบเครื่องยนต์ได้ดี
อย่างที่คาดหวังได้จากระบบ Cruise Control ในรถยุโรปทั่วไป

เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน Power Diesel Techron ให้เต็มถัง เอาแค่เพียง
ให้หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

มาดูตัวเลขที่ XC60 D4 DRIVE-E ใหม่ ทำได้กันครับ

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 5.47 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.94 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขที่ออกมา ชัดเจนเลยครับว่า ตอนนี้ XC60 D4 DRIVE-E แซงหน้าขึ้นมาเป็น
จ่าฝูงทั้งด้านความแรง และความประหยัดน้ำมัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน
เอาชนะ X3 มาได้ราวๆ 0.5 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์บวกลบ ไล่เลี่ยกัน
ไม่หนีกันมากนัก แต่ การที่ตัวเลข แตะเกือบ 17 กิโลเมตร/ลิตร ได้ ทั้งที่ตัวรถก็อุ้ยอ้าย
กว่าชาวบ้านชาวช่องเขา เราคงต้องยกคุณงามความดีให้กับเครื่องยนต์ และระบบส่ง
กำลังชุดใหม่นี้ ล้วนๆ

แล้วน้ำมัน 1 ถังจะแนได้ไกลแค่ไหน จากการใช้งานราวๆ 5 วัน 4 คืน ในทุกรูปแบบ
พบว่า น้ำมันครึ่งถัง แล่นไปได้ราวๆ 455.7 กิโลเมตร ตามมาตรวัดระยะทาง Trip A
นั่นเท่ากับว่า น้ำมัน 1 ถัง มีสิทธิ์พาคุณไปได้ไกลเกือบ 900 กิโลเมตร ได้เลยทีเดียว
ถ้าขับให้เนียนๆ ประหยัดๆ ไม่เร่งแซงบ่อยครั้ง อาจทำได้ถึง 1,000 กิโลเมตร!

เอาแล้วเว้ยยย แข่งกับ Isuzu D-Max แล้วเฮ้ยย น้ำมัน ถังเดียว เที่ยวถึงดวงจันทร์!

********** สรุป **********
เหลือเหตุผลอะไรอีกที่ทำให้เรายังต้องซื้อ X3?

XC60 ถือเป็นรถยนต์ Crossover SUV รุ่นหนึ่ง ที่ทำเอาผมหลงรักในเรือนร่าง ตั้งแต่
ได้เห็นคันจริงครั้งแรกเมื่อปี 2010 พอขึ้นขับ ความรู้สึกต่างๆ ก็ดร็อปลงไปนิดหน่อย
ตลอดอายุตลาดที่ผ่านมา ผมหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันในทางที่ดีขึ้น แต่
การเปลี่ยนเครื่องยนต์ครั้งล่าสุดของมัน ก็ไม่ทำให้ผมประทับใจมากมาย กลับทำให้
เกิดความรู้สึก “เฉยๆ” กับมันมากกว่า

แต่คราวนี้ การปรับโฉม Minorchange พร้อมกับเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ 2.0 ลิตร
DRIVE-E Common-Rail Turbo ที่กลับมามีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นพอๆกับเดิม ใน
ระดับ 181 แรงม้า (HP) โดยยังคงมีแรงบิดสูงสุดไว้ที่ 400 นิวตันเมคร แม้จะมาถึง
ในรอบที่สูงขึ้นนิดนึง แต่พอเชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ลูกใหม่ ก็ทำให้ผม
กลับมามอง XC60 กันใหม่อีกครั้ง ได้อย่างไม่เคอะเขินหรือตะขิดตะขวงใจอีก

แรงดึงขณะออกตัว ชวนให้ผมระลึกถึงแรงดึงจากอัตราเร่งของ Mazda CX-5 รุ่น
เบนซิน 2.5 ลิตร อย่างไม่ต้องสงสัย มันกระฉับกระเฉง ทรงพลังจนถึงขั้นเกิดอาการ
Torque Steer นิดๆ ชนิดที่ Traction Control ซึ่งเปิดทิ้งไว้ เอาเกือบไม่อยู่
ยิ่งพอจับเวลาออกมาแล้ว XC60 D4 ใหม่ ทำตัวเลขได้ดีกว่า BMW X3 อยู่นิดนึง
เสียด้วยซ้ำ แถมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ประหยัดกว่า X3 อุปกรณ์ด้าน
ความปลอดภัย ก็อัดแน่นจนเต็มคันรถเหมือนเคย ต่อให้พวงมาลัยจะหนักกว่า และ
ช่วงล่าง ตึงตังหน่อยๆ ในความเร็วต่ำ และนิ่ง นุ่ม แน่น ในความเร็วสูง ระบบเบรก
ยังทำหน้าที่ได้ดีดังเดิม กระนั้น อาจต้องทำใจว่า ตัวรถ ออกจะอุ้ยอ้ายไปสักหน่อย
ความคล่องตัวที่มีมาให้ ส่วนใหญ่ เกิดจากแรงบิดของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง
พาให้รถพุ่งออกไปได้ดังใจเรามากกว่า ไม่ใช่พวงมาลัยหรือช่วงล่างเลย

คำถามก็คือ แล้วเรายังจะเหลือเหตุผลอะไรที่จูงใจให้เราควรปันใจไปหา X3?

คำตอบ? ก็คงจะเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และแคมเปญไงละ

เพราะราคาขายปลีก ณ วันที่บทความนี้เผยแพร่

XC60 D4 DRIVE-E คันนี้ อยู่ที่ 3,145,000 บาท ส่วนรุ่น เบนซิน T5 220 แรงม้า
(HP) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร อยู่ที่ 2,919,000 บาท ทั้งคู่ ขับเคลื่อนล้อหน้า
ประกอบที่ มาเลเซีย

ขณะที่ BMW X3 เวอร์ชันไทย แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ xDrive20i 3,099,000 บาท
ส่วนรุ่น xDrive 20d ธรรมดา อยู่ที่ 3,299,000 บาท และ xDrive 20d Highline
อยู่ที่ 3,699,000 บาท ประกอบที่โรงงานในเมืองไทย

ถ้าคิดจะเปรียบเทียบคู่นี้กัน XC60 ในภาพรวมจะดูคุ้มค่ากว่า ยิ่งมีโปรแกรม
Volvo Maintenance 3 ปี 100,000 กิโลเมตร (ซึ่งถ้าคุยกะเซลส์ ดีๆ อาจได้
แถมเพิ่มเป็น 5 ปี) อีกต่างหาก เท่ากับว่า ในช่วง 5 ปีแรก ของ Volvo ก็จะ
ไม่แตกต่างอะไรกับ BMW แล้ว เพียงแต่ว่า ราคาอะไหล่ Volvo นั้น ยังไงๆ
ก็ยังจะแพงกว่า BMW อยู่ดี

แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับ Lexus NX น้องใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไป ความสดใหม่
ของ Lexus รวมทั้งบริการหลังการขายจาก Toyota / Lexus ที่ครอบคลุม
ทั่วไทยมากกว่า ราคาอะไหล่ถูกกว่านิดหน่อย มีเบาะหลังปรับเอนได้ และ
มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาให้ เพียงพอต่อความต้องการ ก็อาจทำให้
คุณลูกค้าทั้งหลาย ไขว้เขวกันได้ไม่ยากเลย

ดังนั้น งานนี้แล้วแต่คนชอบ ถ้าคุณเห็นงานออกแบบของ X3 แล้วกรี๊ดสลบ
(ซึ่งส่วนใหญ่ มักเป็นคุณสุภาพสตรี ที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อรถยนต์
คันใหม่เข้าบ้าน มากกว่าสามี) ก็อาจไปจบลงกับ X3 ถ้าเป็นผู้ชาย ที่ยัง
โสด หรือภรรยาค่อนข้างตามใจสามี (หายากนะ) อาจจะไปจบกับ NX

แต่ถ้า มองเรื่องความปลอดภัย XC60 ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเช่นเคย
ในด้านราคา ความคุ้มค่ากับสิ่งที่คุณจะได้ และการดูแลช่วง 3-5 ปีแรก ที่
พอๆกันกับ BMW X3 แถมยังได้ความแรงและความประหยัดน้ำมัน ที่
เหนือกว่า X3 มาได้แบบ งงๆ แม้เพียงนิดหน่อยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝาก Volvo ต่อไปก็คือ ราคาอะไหล่ มันมีทางไหม?
ที่จะทำให้อะไหล่แท้ของพวกเขามีราคาถูกกว่านี้ หลายรายการ สามารถถอด
แยกชิ้นขายได้ อย่าไปแพ็คขายรวมไปพร้อมกันเลย มันทำให้ลูกค้ากลัวใน
ราคาอะไหล่ของพวกคุณกันหมด ส่วนเรื่องการเคลมชิ้นส่วนต่างๆ ในช่วง
ก่อนหน้านี้ ที่เกิดกับบรรดา Volvo ซึ่งวางขุมพลัง และเกียร์จาก Ford นั้น
น่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกพักใหญ่ และได้แต่หวังว่า ในรถรุ่นใหม่ล็อตนี้
จะลดทอนปัญหาต่างๆลงมาหมดแล้ว…

เพราะจะว่าไปแล้ว ตอนนี้ ก็เข้าสู่ช่วงกลางอายุตลาดของ XC60 แล้วนี่!

—————————///—————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์
และ คุณ ณัฎฐา จิตราคม
บริษัท Volvo Cars (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————————–

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม

– บทความทดลองขับ Volvo XC60 D4 MY 2013
– บทความทดลองขับ Volvo XC60 D5 MY 2010 – 2011
– บทความทดลองขับ รถยนต์กลุ่ม Premium Compact SUV

—————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน 
สหพันธรัฐเยอรมนี ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
4 กันยายน 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

September 4th,2014

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! CLICK HERE!