Subaru XV 2.0i-P AWD ราคา 1,259,000 บาท (ณ วันที่ 17 เมษายน 2018)
- Likes: เกาะถนนไม่แพ้เดิม แต่นุ่มกว่าเดิม ภายในสวยขึ้นกว่าเดิม ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม
- Dislikes: อัตราเร่งช่วงออกตัวหน่วงกว่ารุ่นเดิม เบาะหลังพนักพิงหัวแข็ง
รถทดสอบของเราเป็น 2.0i-P เป็นรุ่นท้อป ซึ่งแพงกว่ารุ่นธรรมดาอยู่ 100,000 บาท ภายนอกนั้นสิ่งที่ต่างจากรุ่นปกติจะสังเกตได้ยากมาก แค่มีไฟหน้ากระดิก SRH ที่เปลี่ยนจากฮาโลเจนเป็น LED และมีไฟ Daytime Running Light ทรงวงเล็บมาให้ ส่วนอื่นที่ต่างคือราวหลังคา และแค่นั้น เม็ดเงินส่วนต่าง 100,000 บาทจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อก้าวเข้ามาภายใน เพราะหน้าปัดของรุ่น i-P จะเป็นแบบเรืองแสงสวยสมศักดิ์ศรีรถราคาล้านขึ้นมากกว่า อีกทั้งยังมีจออเนกประสงค์ส่วนบนสุดของแดชบอร์ดที่เป็นจอสี ขนาดโตกว่าที่ใช้ใน Subaru รุ่นอื่นๆที่ผ่านมาและอยู่ในตำแหน่งที่สังเกตค่าได้ง่าย แผงระบบปรับอากาศดูมีชาติตระกูลกว่าและเป็น Dual-zone นอกจากนี้วัสดตกแต่งบางจุด ต่างกันเล็กน้อย เช่นแผงตกแต่งสีดำเงา ลักษณะคันเกียร์ การเย็บด้ายตะเข็บสีส้มเป็นต้น
เรียกได้ว่า ถ้าเป็นคนแบบไม่แคร์แสง สี เสียง สนแต่เรื่องสมรรถนะการขับขี่ล้วนๆ คุณไม่จำเป็นต้องเพิ่มแสนนึงไปเล่นรุ่นท้อป
ภายในของ XV ใหม่ ถือว่าทำได้ดีขึ้นในแง่ของการเลือกวัสดุ มีดีไซน์ที่ฉีกไปจากรถรุ่นเดิม ตำแหน่งจอเครื่องเสียงอยู่ใกล้ระดับสายตา มีขนาดใหญ่และส่งผลให้แดชบอร์ดดูทันสมัยขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับให้บรรยากาศพรีเมียมหรือ D-Segment เบาะนั่งคู่หน้าทำมาได้ดี สามารถปรับได้หลายท่า เมื่อรวมเข้ากับพวงมาลัยที่ปรับได้ 4 ทิศทาง ทำให้สามารถฟิตขนาดกับคนขับได้หลายไซส์ เลือกตำแหน่งการขับที่ถนัดได้ถูกใจ พนักพิงศีรษะค่อนข้างแข็ง และยิ่งแข็งสำหรับเบาะหลัง..ให้พูดตามตรงมั้ย ถ้าวัดกันเบาะหลัง กับความนุ่มเวลานั่ง MG ZS ยังสบายซะกว่า แต่เรื่องพื้นที่นั้นถือว่าสอบผ่าน บรรยากาศความปลอดโปร่งในการโดยสารดีกว่าเพื่อนร่วมรุ่นเพราะพื้นที่กระจกเยอะ
สมรรถนะอัตราเร่งนั้น มีทั้งจุดที่ชอบ คือเวลาเร่งแซง เกียร์ CVT ที่เซ็ตมาใหม่ เวลากดคันเร่งปานกลางหรือไล่คันเร่งเต็มจะมีการไล่จังหวะรอบ โหมด Manual เพิ่มจาก 6 เป็น 7 จังหวะ ทำให้ช่วงลอยลำสามารถจับพลังและถีบรถส่งไปได้ไวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน Subaru ตั้งใจเซ็ตคันเร่งกับเกียร์มาให้ถนอมพลังในตอนออกตัว ดังนั้นการพุ่งออกจากจุดหยุดนิ่ง จึงดูเอื่อยกว่ารุ่นเดิม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขยับมาใช้ยางวงโตขึ้น จาก 225/55 เป็น 225/60 อัตราเร่ง 0-100 จึงช้ากว่าเดิมราววินาที และการพยายามใส่โหมด M1 รอแล้วค่อยตบเข้า D หลัง 60 หรือเล่น Manual Mode เพียวๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้รถออกตัวเร็วขึ้น 0-1,700 เมตร ทำความเร็วเข้าเส้นได้ 173-174 ซึงตามหลัง HR-V, CX-3 (183-184) และ C-HR 1.8 เบนซิน (180)
ช่วงล่างและการบังคับควบคุม คือจุดที่ยอดเยี่ยมที่สุด Subaru Global Platform ซึ่งเป็นโครงสร้างกับช่วงล่างแบบที่พัฒนามาใหม่นั้น ให้ความนุ่มนวลบนถนนขรุขระมากขึ้น สามารถเก็บความสะเทือนบนถนนที่เป็นปูดเล็กๆได้ดีขึ้น แต่ถ้าเจอกับเหลี่ยมคอสะพานชันและใหญ่ มันก็จะยังมีอาการเหมือนรถรุ่นเดิม เวลาหักเลี้ยวอย่างรุนแรง ดูเหมือนโช้คจะยุบง่ายในจังหวะแรก บวกกับน้ำหนักพวงมาลัยที่เบาลงจากรุ่นเก่า (รุ่นเดิมเป็นไฮดรอลิกสำหรับสเป็คไทย รุ่นใหม่เป็นเพาเวอร์ไฟฟ้า) ทำให้คนขับเหวอบ้างในช่วงแรก แต่เล่นกับมันไปเถอะ เพราะเมื่อเอาจริงมันก็ยังเกาะถนนเหมือนเดิม ใส่เต็มๆได้เหมือนเดิม
การที่ทำตลาดอยู่ในระดับที่สับสน ทำให้ไม่รู้จะเปรียบคู่แข่งตรงรุ่นอย่างไร XV ใช้พื้นฐานเดียวกับ Impreza ซึ่งเป็นรถ C-Segment แต่ในบรรดา C-SUV ก็มี Forester ทำตลาดอยู่แล้ว ลูกค้าจำนวนมากจึงนำไปเปรียบเทียบกับ B-SUV/Crossover ซึ่งก็เป็นตลาดที่กว้างมาก ในขณะที่ HR-V เป็นรถแม่บ้านที่มีอัตราเร่งว่องไว ช่วงล่างย้วย เซ็ตทุกอย่างมากลางๆ CX-3 เป็นรถที่ไม่แคร์การบรรทุก แต่รุ่น 2.0 เบนซิน เร่งแรง ขับสนุก และรุ่นท้อปมีออพชั่นครบครัน (หมายถึงรุ่นท้อปเบนซิน..ไม่ใช่ดีเซล ซึ่งขับไม่สนุก และยังน่ากังวลกับปัญหาเครื่องยนต์) ยิ่งตอนหลัง มี C-HR หน้าแปลกแหวกม่านประเพณีแถมยังมาจากค่ายใหญ่อีกต่างหาก
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่แคร์ที่จะต้องจ่ายเงินแพงๆเพื่อมาซื้อ XV
กลุ่มลูกค้าที่จะรัก XV คือกลุ่มที่ 1) ชื่นชอบ และอยากขับ Subaru อยู่แล้ว หรือ 2) เน้นเรื่องเสถียรภาพ และความมั่นใจจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ กับช่วงล่างที่น่าจะจัดว่าดีที่สุดในคลาส หรือ 3) ไม่ได้เน้นอะไรพิเศษ แต่รู้ตัวว่าต้องวิ่งผ่านเส้นทางทุรกันดาร มีโคลนลื่น มีหลุมหล่ม แต่ก็ไม่ชอบเล่นกระบะขับสี่หรือ PPV ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ตกหนึ่งในสามข้อนี้ มันอาจจะคุ้มที่จะเซฟเงินไปเล่นครอสโอเวอร์ขับหน้าของคู่แข่งมากกว่า
——/////——