[สำหรับท่านที่ต้องการโหลดรูปภาพ ขอเชิญลิงค์ที่ท้ายบทความได้เลยครับ]
ความเป็นมาของกิจกรรม
“ความเชื่อ คือสิ่งที่อันตราย เพราะเมื่อความเชื่อแข็งแกร่งกว่าประสบการณ์ ความเชื่อจะกลายเป็นความจริง”
ไม่ต้องไปเปิดหาคำพูดนี้จากหนังสือเล่มไหนหรอกครับ มันคือสิ่งที่ผมพูดให้ท่านผู้อ่านลองคิด โดยอาศัยจากประสบการณ์ชีวิตหลังจากที่เปิดเว็บ Headlightmag กับคุณ J!MMY มานาน 9 ปีกว่าๆ การได้ลองรถมากรุ่น ทำให้ผมได้รู้จักการสัมผัสของจริงก่อนแล้วค่อยเชื่อตามที่ตัวเองได้รับรู้
คุณจะพบกับความเชื่อเหล่านี้ได้ในโลกรถยนต์โดยทั่วไป
- เชื่อว่ารถเครื่องเล็ก = ไม่มีแรงออกตัว ไม่มีแรงขึ้นเนิน
- เชื่อว่ารถเล็กๆจากญี่ปุ่น ไม่มีทางเกาะโค้งได้ดีเท่ารถใหญ่ๆจากเมืองฝรั่ง
- เชื่อว่า รถที่แรงม้าน้อยลง จะต้องมีอัตราเร่งและการตอบสนองด้อยลงเสมอ
นี่คือตัวอย่างความเชื่อที่พบได้ง่ายๆ นั่นคือสาเหตุที่พวกเราจริงจังกับการทดลองรถยนต์ที่ได้มาในแต่ละคัน เก็บรายละเอียดยาวเฟื้อยเพื่อมาให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ มันคือการพยายามพิสูจน์ความเชื่อว่าจริงหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักดีว่า รีวิวของเราบางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความเชื่อเสียเอง..ซึ่งนั่นก็ไม่ดีเช่นกัน ทั้งผมและ J!MMY ไม่ได้มีความสุขนัก เวลามีใครบอกกับเราว่า “ผมซื้อรถโดยไม่ได้ลอง ผมซื้อเพราะอ่านรีวิวพวกพี่”
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแม้เราจะเขียนรีวิวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็ยังต้องหมั่นบอกให้คุณผู้อ่านได้ลองขับรถเองสักครั้งก่อนซื้อ เพื่อความแน่ใจ มันมีหลากเหตุผลครับ คำว่านั่งสบายของเรา อาจจะต่างกัน คำว่าช่วงล่างนุ่มของเรา อาจจะต่างกัน คำว่าเร็วของเราก็อาจจะต่างกัน
เราอยากให้พวกคุณได้มีโอกาสลองรถกันถ้วนหน้า แต่ถ้าจะให้ลองทั้งประเทศ คงทำได้ยาก แต่หากถ้าเราเริ่มกับคนบางกลุ่มก่อน มันก็พอมีวิธีที่เราจะทำได้! ในเมื่อ Suzuki เองก็อยู่ในช่วงที่กำลังตักน้ำจากคลอง Swift ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น และเราเองก็เพิ่งจะออก Full Review ของ Suzuki Swift ไป ทำให้เกิดข้อกังขาบางประการ เช่น เรื่องพลังแรงม้าที่ลดลงแต่กลับเร่งได้ไวขึ้น หรือขนาดตัวที่เล็กลงแต่ห้องโดยสารกลับมีภาพรวมการนั่งสบายขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้บางคนคิดว่าเราอวยแบรนด์นี้หรือไม่ (โดยที่ไม่ได้อ่านในบทความเดียวกันว่าข้อเสียก็มี และเขียนอย่างชัดเจนทุกอย่างตามที่เราคิด)
การตอบปัญหาทั้งสองกรณี บวกกับการที่เราเองก็อยากจะมีกิจกรรมกับคุณผู้อ่านในแต่ละปีให้บ่อยขึ้น ทำให้พี่วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาดของทาง Suzuki ผุดไอเดียขึ้นมาว่า “ก็ให้คนอ่าน Headlightmag มาลองซะเลยสิ”
เมื่อบอส Suzuki เขาบอกมาอย่างนี้ และทางเราเองก็คิดว่ามีประสิทธิภาพและกำลังพลพอที่จะจัดกิจกรรมแบบนี้ได้ อย่างที่เราเคยได้จัดมาแล้วเมื่อครั้งงาน MG5 Driving Experience เมื่อเดือนธันวาคม 2016 เราจึงตกลงที่จะจัด โดยคัดเลือกจากสมาชิกเว็บบอร์ดและผู้อ่านที่ติดตามเราบน Facebook Page จำนวน 100 ท่าน จากจำนวนที่ส่งเข้ามาเกือบ 300 ท่าน
คุณวัลลภ ให้ความสำคัญกับแนวคิดการจัดกิจกรรมของ Headlightmag ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์อยู่ที่การเป็น Advertorial หลังพวงมาลัย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนอ่านได้ค้นพบข้อดีข้อเสียจากการลองขับลองนั่งด้วยตัวเอง อีกทั้งตัวคุณวัลลภเองก็ได้ให้เกียรติมาร่วมงาน และยืนฟังความคิดเห็นทั้งสองแง่มุมจากผู้อ่านที่เข้ามาร่วมทดลองขับเพื่อนำไปพิจารณาในการปรับปรุงรถครั้งต่อไป
เรามีทีมงาน Instructor ของคุณกรณ์พิทักษ์,พี่ใหญ่, คุณโจอี้ จาก Win Win Win มาช่วยในการเลือกสนาม วางคอร์สการวิ่ง ควบคุม/อบรมการขับให้กับผู้ร่วมงาน และยังพานั่งวนรอบสนามด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ จากฝีมือขับของ Instructor ซึ่งมีผลงานทั้งการเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ และการแข่งขันในสนามความเร็วทางเรียบ
เราเลือกสนาม Motorsport Park สุวรรณภูมิ ซึ่งแม้จะมีทางวิ่งค่อนข้างแคบและไม่มีระยะให้ทำให้ความเร็วสูงๆเหมือนสนามแข่งขนาดกลางและใหญ่ แต่ด้วยการคิดคอร์สของทีมคุณกรณ์และพี่ใหญ่ ทำให้สนามนี้มีความยากพอสมควร ใครคิดว่าขับกันแบบไม่เร็ว บอกได้เลยว่ามีทั้งกรวยกระเด็น กรวยแบนและหลุดออกนอกแทร็ค แต่แน่นอนว่าไม่มีการทดสอบถุงลมนิรภัย!
ลักษณะของการทดสอบ
สิ่งที่ครอบคลุมในการทดสอบครั้งนี้
- การใช้งานระบบช่วยออกตัวบนเนินชัน Hill Hold Control
- การทดสอบพละกำลังของรถในการไต่เนินชัน
- ความคล่องตัวในการตอบสนองของรถ
- การตอบสนองและน้ำหนักของพวงมาลัย
- การเข้าโค้งที่ความเร็วปานกลาง หักพวงมาลัยเยอะ
- ความสะดวกสบายในการนั่ง และภาพรวมของอุปกรณ์ต่างๆในห้องโดยสาร
สิ่งที่ไม่ได้ครอบคลุมในการทดสอบครั้งนี้
- การทดสอบด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- การทรงตัวที่ความเร็วสูง
- การกระโดดจัมพ์สะพานแบบมอเตอร์เวย์ด้วยความเร็วสูง
- การทดสอบแบบถนนขรุขระมากกว่าปกติ
เราให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้มีโอกาสขับรถตามกันไปรอบสนาม โดยที่มี Instructor มืออาชีพคอยอธิบายการเข้าโค้งกับความเร็วที่ควรใช้ในช่วงต่างๆก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นจึงขับกลับเข้ามาพิท เพื่อตั้งแถวเตรียมตัวเข้าสู่การทดสอบจริง ซึ่งผู้กำกับสนามจะปล่อยรถให้วิ่งเพียงครั้งละ 1 คัน เพื่อลดความกดดันกรณีคันหน้ากับคันหลังมีทักษะการขับขี่ต่างกัน และลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ
สถานีแรก เป็นการทดสอบ Hill Hold Control ซึ่งแม้ว่าดูจากในภาพเหมือนเนินจะไม่ชัน แต่ของจริง ดูชันกว่าในภาพมาก เพราะทีม Instructor เลือกที่จะทำเนินให้โหดน้องๆเนินจำลองที่เอาไว้ใช้ทดสอบรถปิคอัพ/PPV ขับเคลื่อนสี่ล้อ
Instructor จะสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถระหว่างทางขึ้นโดยที่ตัวรถชี้คาหน้าชี้ฟ้าอยู่อย่างนั้น แล้วให้ผู้ขับขี่ยกเท้าออกจากเบรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบป้องกันการไหลลงเนินจะช่วยล็อคไม่ให้รถเคลื่อนถอยหลังได้จริง จากนั้นก็จะให้กดคันเร่งแบบค่อยๆป้อนน้ำหนัก เพื่อที่ผู้ขับขี่จะได้สังเกตเห็นว่ารถมีแรงบิดมากพอที่จะไต่ขึ้นเนินแบบนี้ได้โดยไม่ต้องตะบี้ตะบันตอกคันเร่ง ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ถ้าไม่ใช่ว่าชันขั้นเทพจริงๆ Swift ใหม่สามารถเอาตัวรอดได้แม้มีเหตุจำเป็นต้องเบรกจนหยุดระหว่างทางขาขึ้น
หลังจากผ่านด่านเนิน Hill Hold Control มาได้ Instructor จะจัดให้ผู้ขับขี่ แล่นรถเข้าในเขตสนาม ซึ่งคุณวัลลภและทีม Instructor ตกลงกันว่าแต่ละคนจะได้ขับกันคนละ 3 รอบ ซึ่งจะกินเวลามาก และเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถรับคนได้เกิน 100 ท่าน แต่เราเชื่อว่ามันดีกว่าการรับมา 300 คน แต่ได้ขับกันคนละรอบ ซึ่งคนขับยังไม่ทันได้รู้จักรถดีก็ต้องเลิกเสียแล้ว พวกเราต้องการให้เวลากับการทำความคุ้นชิน จนกล้าซัดชนิดเสียงยางออก
ลักษณะของเส้นทางที่ผู้ขับขี่จะต้องเจอ ประกอบไปด้วย การทดสอบเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรง (คล้าย Moose Test) ซึ่งหากกล้าใช้ความเร็วสูงพอตามที่ Instructor แนะนำ จะต้องทำให้เป็นจังหวะ ขวา-ซ้าย-ขวาแล้วตบเบรกตามด้วยเข้าโค้งขวายาวในทันที ซึ่งเราออกแบบโค้งลักษณะนี้มาให้รถมีแรงเหวี่ยงสะสมต่อเนื่องหลายครั้ง และให้ซัดจนเห็นการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ซึ่ง Instructor จะพิจารณาจากฝีมือการขับของแต่ละคน ในกรณีของบางท่านที่ฝีมือคมกริบจริงก็จะอนุญาตให้ลองความต่างระหว่างการเปิด/ปิด ESP วิ่ง
จากนั้น ก็จะเป็นการเข้าโค้งวนแบบ U-Turn ขนาดใหญ่ ตามด้วยการเข้า Skid Pan เป็นครึ่งวงกลม ก่อนหักรถกลับเข้าสู่ด่านสลาลอม หักรถวนกลับเป็น Skid Pan ขนาดเล็ก แล้วต่อด้วย U-Turn วงแคบ จากนั้นจะให้กดคันเร่งเต็มเพื่อดูอัตราเร่งช่วงตีนต้น ทิ้งโค้งกว้าง 2 โค้งก่อนกลับมาถึงด่านเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรงอีกครั้ง
เพื่อให้คุณผู้ชมเห็นภาพลักษณะของสนามว่าต้องเจอโค้งอย่างไรบ้าง ผมขอให้น้องวิน กิตติสุวรรณ นักขับตีนโหดผู้เป็นเพื่อนและรุ่นน้องของผม (ซึ่งสามารถเอา Revo Prerunner เดิมทั้งคันวิ่งทำเวลาชนะ Tiida เซ็ตโบยาง R888 ของผมที่แก่งกระจานได้) มาช่วยขับติดกล้อง GoPro ให้ ฝีมือน้องวินนี่ขนาด Instructor เจอหน้าปุ๊บก็บอกเลยว่าจะทำอะไรก็ทำ
น้องวินเลยพาคนนั่งไปอีก รวมแล้วในรถทั้งหมดเป็น 4 คน เอา Swift ที่ผ่านการซัดมาแล้วทั้งวันจนยาง Ecopia EP150 ลากลับปรโลกไปแล้ว แถมยังปิด ESP อีกต่างหาก ผลจะเป็นอย่างไร มาลองดูคลิปได้ ผมอัพโหลดสดแบบไม่มีการตัดต่อ เพราะเราต้องการให้เห็นของจริง ไม่ต้องตัดต่อให้ออกมาดูแล้วมีแต่ข้อดี
นอกจากการเปิดโอกาสให้ทดลองขับแล้ว ทางทีมงานของเราเข้าใจดีว่า ในบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น จะมีแค่เพียงไม่กี่คนที่มั่นใจในฝีมือตัวเองมากพอที่จะพารถไปถึงขีดจำกัด เราจึงมีการจับสลากชื่อผู้โชคดีกลุ่มหนึ่งขึ้นมา แล้วพานั่งรอบสนามโดยทีม Instructor ของ Win Win Win เพื่อให้ได้รู้กันว่า “รถบ้าน CVT พันสอง เดิมๆจากโรงงาน” น่ะ..จริงๆแล้วมันทำอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้ คนที่พลาดหวังจากการขับพาทัวร์ของ Instructor ก็จะยังมีลุ้นอีก 1 สิทธิ์ กับทริปรอบสนาม ขับโดย…ไม่ใช่ใครอื่นไกล คุณ J!MMY ของแรานั่นแหละครับ
***FEEDBACK จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม***
เช่นเดียวกับที่ผมเคยทำสมัยงาน MG5 Driving Experience นั่นก็คือการขอความร่วมมือ (บางครั้งก็ขู่นิดๆ) ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยออกความเห็น ทั้งในแง่ดี และส่วนที่ Swift ยังไม่น่าพอใจในสายตาของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องไปอ้างอิงอะไรจากรีวิวของ Headlightmag
ถ้าให้ออกมาพูดชมอย่างเดียว ผมเชื่อว่าไม่มีประโยชน์… Product ใดๆก็ตามที่ออกมาแล้วมีข้อตำหนิ แต่ไม่มีใครยอมพูด Feedback ที่จะกลับไปยังบริษัทก็คือ “เราทำมาดีแล้ว” ซึ่งถ้าคิดและพูดวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ต่อไป มันก็ไม่มีใครเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ต่อไปนี้ ผมจะนำเสนอสิ่งที่เป็นความคิดและคำพูดของบรรดาผู้เข้าร่วมงาน Swift Standout โดยนำเสนอเป็นความเห็นกระแสหลัก แล้วค่อยตามด้วย Comment จากผู้ที่ได้ลองขับ/ลองนั่งรถ ถ้าคุณพบว่าความเห็นบางข้อย้อนแย้งกัน ก็อย่าได้แปลกใจเพราะมันอาจจะมาจากคนละคนกันก็ได้
สิ่งที่รู้สึกดีกับตัวรถ
- อัตราเร่งช่วงออกตัวดีกว่าที่คิด เกียร์ทำงานดีขึ้น
- การตอบสนองของพวงมาลัยดี น้ำหนักและความไว
- ตัวรถเกาะถนนดีกว่าที่คิดเมื่อเทียบกับยาง
- ภายในรถ นั่งสบาย ขับถนัดกว่ารุ่นเดิม
- ช่วงล่างไม่ได้แข็งกระด้างอย่างที่คาดไว้
- การออกแบบภายในดูดีขึ้น
สิ่งที่รู้สึกว่ายังปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
- ลายล้ออัลลอยไม่สวย ดูเหมือนฝาครอบราคาถูกๆ
- บรรยากาศภายใน เรื่องของวัสดุยังสู้ Mazda 2 ไม่ได้
- ราคาขนาดนี้ ถ้าไม่มีกล้องหลังอย่างน้อยก็น่าจะมีเซ็นเซอร์ถอยจอดมาให้
- ความมั่นใจของช่วงล่าง ยังไม่เท่าคู่แข่งบางเจ้า
- เกียร์ CVT ยังมีอาการเย่อเบาๆในความเร็วต่ำบางช่วง
- หน้าตาของรถมีเสน่ห์น้อยลง
- ยางที่ใช้น่าจะเกรดดีกว่านี้จะช่วยให้รถเกาะโค้งดีขึ้น
ตัวอย่าง Comment อย่างทางผู้อ่าน
(ปรับเล็กน้อยเพื่อลดความยาวและลบคำหยาบไม่เป็นทางการออก-ขออนุญาต)
“คันเร่งเซ็ตมาค่อนข้างทันใจ อาการหน่วงที่สัมผัสได้ถือว่าน้อยมาก กระทืบแรงๆมันไป ขนาดผมฟัง Instructor บอกให้ค่อยๆหยอดขณะออกตัวบนทางชัน เผลอกดคันเร่งนิดเดียวรถยังพรวดขึ้นเนินจนท้องแอบกระแทกกับมุมเนิน ส่วนยางติดรถ EP150 นั้น ถ้าผมซื้อรถไปจริงๆ ผมจะทนใช้มันไปสัก 30,000 กิโลเมตร โช้คอัพเซ็ตมาแนวนิ่ม ฟีลลิ่งรถดูเบาเหมาะกับการเดินทางในเมือง ส่วน Mazda 2 (ที่ผมใช้อยู่) จะหนักแน่นแต่ตึงตังกว่า วันนนี้ยังไม่มีโอกาสลองบนถนนผิวขรุขระ ส่วนพวงมาลัยถือว่าโอเคมากแล้ว แต่ถ้าเป็นผม ขอเพิ่มความหนืดอีกนิดดียยวแล้วพอเลย”
“ข้อที่อาจนำไปปรับปรุงต่อ ..กล้องมองหลังขณะถอย ไหนๆรุ่นท้อปก็มีจอกลางมาขนาดนั้น ก็น่าจะให้มา ระบบเตือนมุมอับต่างๆก็เช่นกัน แล้วก็ถ้าได้ล้อแม็กลายที่ดูเข้ากับความชิคของรถสักหน่อยคงจะสมบูรณ์กว่านี้”
“พวงมาลัยตอนหมุน ฟีลเป็นธรรมชาติขึ้น ช่วงล่างหนืดขึ้น เทโค้งแล้วรู้สึกเกาะถนนกว่าเดิม เป็นรถที่ขับแล้วอยากจะเลี้ยวไปเรื่อยๆ อัตราเร่งตอนเหยียบลึกๆ ไหลลื่นกว่ารุ่นเเดิม ออกตัวอาจจะอืดๆหน่อยแต่ลอยลำแล้วโอเค ตอนเหยียบแบบแตะๆเหมือนขับทั่วไปก็ใกล้เคียงเดิม พุ่งกว่าเดิมนิดหน่อยเพราะเกียร์ส่งกำลังดีกว่าเดิม งานออกแบบภายนอกดูเฉยๆแต่เห็นตัวจริงนานๆกลับดูลงตัวมีเอกลักษณ์ แต่ไม่ชอบการออกแบบภายในที่ดูสะเปะสะปะ จอก็จอ แอร์ก็แอร์ รู้สึกชอบภายในรุ่นที่แล้วมากกว่า”
“สนุกมาก ลงจากรถมา ใจเต้นตูมตาม คือมันลุ้น..ว่ารถอีโคคาร์นี่ จะรองมือรองเท้าเราเอาอยู่ในทุกโค้งไหม เฮ้ย มันไหวแฮะ ขนาดยางก็ยางติดรถง่อยๆธรรมดา แต่ช่วงล่างเซ็ตมาดี ”
“พูดในฐานะที่ใช้ Mazda 2 ดีเซล รู้สึกประหลาดใจว่าตอนแรกรถเข้าไปแล้วน่าจะเล็กมาก แต่เบาะนั่งคู่หน้าจริงๆกว้างกว่า Mazda 2 แต่อาจเป็นเพราะไม่ได้มีปีกเบาะที่โอบตัวคนนั่งมากเท่า Mazda คนตัวเล็กนั่ง Mazda เลยสบาย วัสดุภายในจริงๆ Swift ไม่แย่นะ จริงๆถ้าโลกนี้ไม่มี Mazda 2 มันคงดีที่สุดไปแล้ว ลวดลายบางส่วนของพลาสติกนั่นแหละที่ทำให้ยังดูสู้ Mazda ไม่ได้ พวงมาลัยยังมีความเป็น Robot ในบางจังหวะ แต่อัตราทดดีงามมากคล้ายพวงมาลัยไฮดรอลิกสมัยก่อนมากขึ้น ผู้ชายขับสนุกได้ ผู้หญิงขับง่าย”
“เรื่องอัตราเร่ง ถ้าบอกว่าเป็นรถ 1.2 ลิตรคุณจะรู้สึกเกินความคาดหมาย แต่ถ้าสมมติว่านี่เป็นรถ 1.5 ลิตร คุณจะบอกว่าเออโอเคออกตัวหน่วงนิดๆเหมือน Subaru XV แต่ลอยลำไปแล้วก็ได้อยู่ซิ่งได้ แต่อย่าหวังไปรบกับรถเครื่องใหญ่กว่า เกียร์ CVT ยังมีนิสัยน่าเบื่อในตอนแรกแต่เมื่อรอบเครื่องอยู่ในช่วงหวานแล้วก็ใช้ได้ ช่วงล่างนุ่มกว่า Mazda 2 ตัวรถเอียงเวลาเข้าโค้งหนักๆใกล้เคียงไม่หนีกัน ขอตั้งขอสังเกตว่ารุ่นท้อปบางคนอยากได้เบาะหนัง แต่พอมีถุงลมที่เบาะ ลูกค้าไปทำเองก็ไม่ได้ Suzuki น่าจะทำรุ่นที่มีเบาะหนังจากโรงงานมาให้เลือก หรือไม่ก็ทำรุ่นที่ตัดถุงลมเหลือ 2 ใบแล้วขายถูกลง ลูกค้าเอาไปหุ้มหนังเบาะเองได้”
“อัตราเร่งถือว่าดีมากสำหรับรถเครื่องพันสอง ผมขับ Mazda 3 1.6 ยังรู้สึกเลยว่าดีไม่ดี Swift จะพุ่งกว่า แต่พวงมาลัยที่ว่าคมที่ว่าเป็นธรรมชาติ ช่วงล่างที่ว่าดี ผมขับแล้วยังรู้สึกว่า MG3 (ที่เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก) ขับแล้วให้ฟีลเป็นธรรมชาติกว่า น้ำหนักโดนใจกว่า ช่วงล่างก็ดีกว่า”
“ผมไม่เคยขับอีโคคาร์มาก่อนเลย และส่วนตัวเชื่อว่ารถพวกนี้แรงไม่น่าจะพอ แต่พอได้ขับจริง เห้ย มันก็พอนะ กดแล้วมันไปดีกว่าที่เราคิด ก็ดี ถือว่าได้รับรู้ว่ามันไปได้นะ มันมีแรงพอนะ”
บทสรุปของกิจกรรม Headlightmag presents SWIFT Standout
ถ้าหากบริษัทรถสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้โดนใจผู้บริโภคเมื่อไหร่ พวกเขาก็จะสามารถขายรถได้โดยไม่ต้องใช้คำโฆษณามากมายก่ายกอง ไม่ต้องพูดหลายสิ่งให้ฟังดูดีเกินจริง และนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจผู้บริโภคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ลองสัมผัสรถของพวกเขา
และการได้ลองแบบจัดเต็มจนถึงจุดที่สามารถเห็นประสิทธิภาพรถในยามวิกฤติได้ ยิ่งช่วยให้ผู้คนรับรู้มากขึ้นว่าราคาของรถที่พวกเขาต้องจ่าย มันไปอยู่ตรงไหนบ้าง เป็นการรับรู้ที่มีประสิทธิผลมากกว่าแค่อ่านจากรีวิวของเราแล้วเชื่อตาม Headlightmag โดยที่ไม่ได้ลองรถก่อนซื้อจริงตามกระแส
ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าได้มีส่วนร่วมนั้น น้อยคนมากที่ได้สัมผัสรถคันจริงแล้วจะรู้สึกแย่ลง พวกเขาส่วนมาก ค้นพบข้อดีมากขึ้น แต่ก็เป็นธรรมดาเหมือนกับการคบใครสักคนเป็นแฟน เราพบข้อดีมากขึ้น และพบข้อเสียมากขึ้นตามไปด้วย แต่นั่นก็จะเป็นจุดที่ช่วยให้ผู้ซื้อรถมีโอกาสได้ฉุกคิด ว่าความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างรถคันนั้นกับพวกเขาควรเกิดขึ้นหรือไม่
เราก็จะยังเชื่อต่อไปว่า “มันต้องให้ลองกันเองแบบนี้ล่ะ!” ดีกว่าการยัดข้อความต่างๆผ่านตัวหนังสือเข้าสมองคนอื่นเป็นไหนๆ
เราอาจไม่เจ๋งพอที่จะมอบประสบการณ์แบบนี้ให้กับทุกคนที่อยากลอง แต่ Headlightmag ก็ยินดีที่จะทำเมื่อมีโอกาสตามความเหมาะสม ตามกำลังคนที่เรามี ตามเวลาที่เรามี
เพราะเราเชื่อว่าประสบการณ์ดีๆ บางครั้ง คุณก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อ!
—-////—-
***LINK ดาวน์โหลดรูปภาพกิจกรรม***
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 1 ช่วงเช้า วันที่ 10 มีนาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 2 ช่วงบ่าย วันที่ 10 มีนาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 3 ช่วงเช้า วันที่ 11 มีนาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 4 ช่วงบ่าย วันที่ 11 มีนาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
** รูปทั้งหมด สงวนสิทธิ์โดยคุณแบงก์ กาญจนวิลัย / Suzuki Motor ประเทศไทย / Headlightmag อนุญาตให้โหลดไว้ดูเล่นได้ แต่ไม่ยินยอมให้มีการนำไปใช้ในเชิงการค้าขาย พาณิชย์ ธุรกิจอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สงวนสิทธิ์ทั้งสามฝ่าย **