บทความนี้ เป็น 1 ใน Series ของ ” แหวกม่าน งานสร้างรถ “ ที่จะแนะนำเด็ก และ เยาวชนรุ่นใหม่ ที่รัก และ ชื่นชอบรถยนต์ จนอยากจะทำงานในสายอุตสาหกรรม​ยานยนต์​ ว่า ต้องเรียนทางไหน ทำอย่างไร จะเจอกับอะไรบ้าง รวมไปถึงข้อมูลเบื้องหลังในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้าจะมาไทยเมื่อไหร่ การพัฒนา​รถยนต์ ทุกวันนี้ ทำกันอย่างไร เวลาที่วิศวกรเราต้องบินไป Survey ตลาดอื่นๆ เช่น มาเลย์ อินโดนิเซีย ไปจนถึง อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ นั้น มีเรื่องโหด มันส์ ฮา เยอะขนาดไหน ฯลฯ อีกมากมาย ที่ทยอยตามมาให้คุณผู้อ่านได้ชมกัน โดย เซนเซแป๊ะ วิศวกรคนไทย ที่ึคลุกคลีกับวงการรถยนต์ และ ทำงานเป็นวิศวกรสายยานยนต์ในบริษัทรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทย

ภาพไลน์การผลิตโรงงาน BMW Manufacturing Thailand ถ่ายโดย Headlightmag.com (resource link)

 


แหวกม่าน งานสร้างรถ (ตอนที่ 1) : From Zero to One กว่าจะเป็นรถหนึ่งคัน ต้องทำอะไรบ้าง ? 


Soichiro Honda ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮอนด้าอันโด่งดังกล่าวไว้ว่า

” The value of life can be measured by how many times your soul has been deeply stirred. ”

คุณค่าของชีวิตวัดได้จากจำนวนครั้งที่จิตวิญญาณของคุณถูกเคี่ยว

Shoichiro Honda


Henry Ford เจ้าของ ฟอร์ด ค่ายรถยนต์ที่เป็นผู้บุกเบิกวงการรถยนต์ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า

” Obstacles are those frightful things you see when you take your eyes off your goal. ”

อุปสรรคเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว ยามที่คุณละสายตาออกจากเป้าหมาย

Henry Ford


คำพูดจากสองผู้ก่อตั้งค่ายรถยนต์อันโด่งดันสะท้อนเป็นนัยว่า การทำรถยนต์ออกมาสักรุ่นออกมาให้ลูกค้าได้ใช้งานนั้น ” ไม่ง่าย ” ต้องใช้ความพยายามทุ่มเท ร่วมมือ ความรู้ ทักษะหลายร้อยอย่างใช้คนเป็นพันๆคน จำนวนชั่วโมงทำงานรวมกว่า ล้านชั่วโมง กว่าจะได้รถยนต์สักคัน

ว่าแต่ว่าคนหลักพัน ชั่วโมงทำงานรวมเป็น ล้าน เขาทำงานอะไร นานแค่ไหนเพื่อให้รถยนต์ออกมาโลดแล่นในถนนได้ เซนเซ แป๊ะ จะมาบอกเล่า แบ่งปันประสบการณ์ให้อ่านกันครับ

ทำไมบทความนี้จึงเกิดขึ้น ?

ทีมงาน Headlightmag เล่าให้ผมฟังว่าตลอด 9 ปีที่สร้างชุมชนนี้ขึ้นมา มีคนจำนวนมากอยากรู้ว่าเบื้องหลังการได้มาซึ่งรถยนต์ให้ใช้งาน นั้น คนที่ทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ดีลเลอร์ เขาทำงานร่วมกันอย่างไร

ภาพไลน์การผลิตโรงงาน BMW Manufacturing Thailand ถ่ายโดย Headlightmag.com (resource link)

 

โดยเฉพาะน้องๆที่สนใจ อยากจะก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพด้านนี้ มีงานอะไรให้พวกเขาทำบ้าง รูปแบบเส้นทางการเติบโตในวิชาชีพเป็นแบบไหน ต้องเตรียมทักษะอะไรบ้าง รักรถชอบรถมาก ออกแบบรถได้ไหม

มีคำถามมากมาย แต่หาคนตอบไม่ได้ ถ้ามีบทความที่เป็นกระบอกเสียง เล่าเรื่องพวกนี้ โดยไม่ผิดจรรยาบรรณกับค่ายต่างๆได้ก็คงดี เด็กๆจะได้เข้ามาด้วยเข้าใจทำงานด้วยความสุข บริษัทผู้ผลิตทุกค่ายก็ได้ผู้ร่วมงานที่ตอบโจทย์ ลูกค้าก็จะได้รถยนต์ที่มีคุณภาพ วินๆกันทุกฝ่าย และ มีอีกมุมหนึ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านรับทราบว่า การทำรถยนต์นั้น “ไม่ง่าย” จริงๆ

คนสร้างรถยนต์ทุกค่ายต่างรู้ดีว่าทุกๆการกระทำ ทุกๆการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับสังคม มีผลกระทบกับชีวิตของผู้คน (ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต) พวกเขาจึงทุ่มเททำงานในส่วนของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ

หลายคนร้องไห้ไปทำงานไป หลายคนเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อให้ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า หลายคนทั้งคนไทยคนต่างชาติต้องย้ายถิ่นฐาน จากครอบครัวอันเป็นที่รัก เพื่อเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน สร้างรถให้คนทั่วโลกใช้งาน

ถ้ามีบทความที่สามารถบอกเล่าความทุ่มเทของคนเหล่านั้น ให้ผู้ใช้รถยนต์อย่างเราๆเข้าใจ “ชื่นชม” พวกเขาบ้างผ่านสื่อต่างๆ น่าจะเป็นกำลังใจชั้นยอดให้คนทำงานด้านรถยนต์ทุกคน ^^ หากเข้าใจและพร้อมแล้ว ก็เชิญขึ้นรถได้เลยฮะเดี๋ยวผมจะพาไปทำความเข้าใจกัน

ภาพไลน์ผลิตชิ้นส่วนประตู MG 3 ภาพโดย MG Thailand (resource link)

 

รถยนต์หนึ่งคันใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะผลิตวางขายได้ ?

“ เฮียๆ เมื่อไหรค่ายนั้นจะออกรุ่นใหม่เสียที ”

“ รอนานแล้วนะ ช้ากว่านี้ พ่อผมจะไปซื้อค่ายอื่นแล้วนะ ”

“ แล้วถ้าพ่อผมยกให้ผมตอนผมเข้างาน ผมก็อดใช้รถที่อยากได้ดิ ”

เผือก ถามรัวๆ

“ เผือก ” หนุ่มน้อยผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจ ยามว่างจากการส่อง Facebook คนที่แอบชอบ, Instagram ของเหล่า BNK48 เขาก็มักจะเข้าเว็บ Headlightmag มาดูข้อมูลรถยนต์ เวลาสงสัยเขาก็มักจะมาที่ร้านกาแฟของเฮีย ผู้ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรออกแบบรถยนต์ที่ผันตัวมาเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูก

“ ของมันต้องใช้เวลา ” เฮีย อัน ตอบอย่างเย็นใจไม่เดือดร้อน

เผือกรู้ไหมว่าในรถยนต์หนึ่งคันมีชิ้นส่วนมากกว่า 1,000 ชิ้น แต่ละชิ้นก็ต่างมีกระบวนการขั้นตอนการออกแบบทดสอบประเมิน หลายรอบจนมั่นใจว่า สามารถวางขายในแต่ละประเทศได้ โดยไม่เกิดปัญหา ปกติ การจะทำรถยนต์ออกมาวางขายในตลาดหนึ่งๆได้ มักใช้เวลาตั้งแต่ 18 – 72 เดือน พูดให้เผือกเข้าใจง่ายๆก็ ปีครึ่ง ถึง 6 ปี ” เฮีย อัน พูดพลางจิบกาแฟ

ภาพการปั้น Clay Model ที่ Design Center Holden Australia ภาพถ่ายโดย Headlightmag.com (resource link)

 

“ โห ไรว้า ทำไมนานงี้ แถมช่วงระยะเวลาถึงได้กว้างเกิ๊น เฮีย ” เผือกกระวนกระวายกับคำตอบของเฮีย

มันก็มีหลายปัจจัยอ่ะนะ เผือก อยากให้นึกภาพอย่างนี้นะ ถ้าเฮียจะสร้างบ้านใหม่ เริ่มจากซื้อที่ดิน กับ เฮียจะ renovate บ้านเปลี่ยนแค่เฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้นอันไหนจะเสร็จเร็วกว่า

ถามง่ายไปปะฮะเฮีย ก็ต้อง renovate สิครับ เผือกตอบ แล้วอะไรทำให้เผือกคิดว่าสร้างบ้านใหม่ถึงนานกว่า เฮีย อันถามต่อ ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่ทำเลที่ดิน ราคา สถาปนิก ต้นทุนก่อสร้าง ผู้รับเหมา กฏหมายต่างๆ มั้งฮะ เผือกคิดตาม

แล้วสมมุติว่าบ้านเฮียหลังใหม่ปลูกเสร็จแล้ว มีคนบอกว่าสวย จะขอลอกทั้งแบบบ้าน ทั้งขอเบอร์ สถาปนิก ช่างทั้งหมดไปทำเลย เผือกว่ามันจะเร็วขึ้นไหม เฮีย อัน ถาม

ก็ต้องเร็วกว่าดิเฮีย เพราะลองทำมาแล้วรู้ว่าตรงไหนมีปัญหา ต้องแก้ยังไง วัสดุเอาจากที่ไหนราคาเท่าไหรก็รู้ เผือกตอบอย่างไว

ศูนย์การออกแบบรถยนต์ ที่ Design Center Holden Australia ภาพถ่ายโดย Headlightmag.com (resource link)

 

ถ้าเผือกเข้าใจตรงนี้ เผือกก็น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมรถยนต์บางคันมันใช้เวลาแค่ 18 เดือน บางคันก็ 72 เดือนโน่น

ตัวเลข 18 เดือน – 24 เดือน เป็นตัวเลขคร่าวๆของรถยนต์ที่มีระดับการเปลี่ยนแปลงน้อยๆ ระดับแค่เปลี่ยนชิ้นส่วนนิดหน่อย เรามักเรียกมันว่า เปลี่ยนลุคประจำปี ปรับอุปกรณ์ Model Year (MY201x) เป็นต้น

ตัวเลข 24 เดือน – 36 เดือน เป็นตัวเลขคร่าวๆ ของรถยนต์ที่เปลี่ยนระดับเยอะกว่าอันแรก เช่น มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังบางส่วน ที่เรียกกันว่า Minor change

ตัวเลข 36 เดือน  – 48 เดือน รถยนต์ที่ใช้เวลาประมาณนี้ มักเป็นรถที่เปลี่ยนเกือบทั้งคัน แต่ก็ยังคงสามารถดึงเอาชิ้นส่วนจากรถยนต์รุ่นก่อนมาใช้ได้ ที่เข้าใจกันว่า Model Change

ตัวเลข 48 เดือนขึ้นไป รถยนต์กลุ่มนี้จำง่ายๆว่า ไม่เคยมีใครใช้ชื่อเดียวกับมันมาก่อน รูปทรงก็แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ไม่เหมือนกับที่มีมาก่อน พวกนี้เรียกว่า NEW MODEL

สมการง่ายๆในเรื่องของระยะเวลาสร้างรถยนต์ก็คือ เปลี่ยนชิ้นส่วนเยอะ

  • เปลี่ยนกลุ่มลูกค้า = นานมาก
  • เปลี่ยนชิ้นส่วนน้อย ไม่เปลี่ยนลูกค้า = ไว

 

ระยะเวลาวางขายรถยนต์กำหนดจากอะไร ?

ในโลกธุรกิจสินค้าจะขายดีต้องตอบโจทย์ลูกค้า 3 ข้อ

  1. ประสิทธิภาพ/คุณภาพ (Qualiy)
  2. ราคา (Price)
  3. ระยะเวลาส่งมอบ (Delivery)

รูปภาพ จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Quality,_cost,_delivery

 

ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะทำเกิดภาพนี้

“ คุณภาพสูง + ราคาถูก + ระยะเวลาส่งมอบเร็ว ”

ถ้าเป็นรถยนต์ก็

“ อัตราเร่งดีขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ระบบความปลอดภัยเต็มคัน option ล้น แต่ราคาถูกลง ”

พอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับ ว่ามันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก หากจะให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ย่อมต้องใช้เวลา วิจัยพัฒนานานขึ้น นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น ระยะเวลาส่งมอบที่ช้าลง หากจะให้ราคาถูกลง แต่คงประสิทธิภาพไว้เช่นเดิมก็ต้องการเวลาในการศึกษาทดลองวิจัยนาน วลาส่งมอบก็จะช้าไปไม่ทันกระแส

การรักษาสมดุลทั้ง 3 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเลยเป็นที่มาของการทำงานอันหนักหน่วงของคนอยู่เบื้องหลัง พวกเขาจะได้รับเส้นตายอันท้าทาย ตารางทำงานเป็นรายวัน ย่อยลงไปบางทีก็เป็นรายชั่วโมง ส่งมอบงานช้า 1 วัน ก็เป็นอาจจะเป็นเรื่องได้

พูดถึงอีกหนึ่งธุรกิจที่แข่งขันกันหนักหน่วงมาก และ ความเครียดของคนทำงานเบื้องหลังก็สาหัสไม่น้อยกว่ากันคือ ธุรกิจ มือถือ มีคนพูดให้ฟังเสมอว่า คนของค่ายมือถือดังๆในเกาหลี กลับบ้านกันหลังห้าทุ่มเป็นเรื่องปกติ อัตราการเสียชีวิต จากการทำงานของคนเกาหลีก็สูงมากขึ้น (อาจจะเพราะวงจรของมือถือ สั้นกว่ารถยนต์ก็มีส่วน)

ส่วนญี่ปุ่นที่ยังคงติดอับดับคนฆ่าตัวตายอันดับต้นๆของโลกก็พยายามจะ สร้างสังคมให้ work life balance มากขึ้นหลังเจอว่าคนทำงานเสียชีวิตระหว่างนั่งรถไฟกลับบ้านเยอะมากในช่วง 30 ปีหลัง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก เช่นสภาพเศรษกิจ สัดส่วนประชากร นโยบายของแต่ละประเทศในช่วงเวลาที่รถยนต์จะวางขาย ก็มีผลต่อแผนการวางขายเช่นกัน

รูปภาพ คนญี่ปุ่นบนรถไฟฟ้า via Flickr user ​lu_lu

 

จะวางขายได้ต้องทำอะไร และ คนไทยมีส่วนร่วมตรงไหนบ้าง ?

รถยนต์น่าจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงรองจากที่พักอาศัย ซื้อทีหนึ่งก็มักจะใช้งานกัน 5 – 10 ปีขึ้นไป ระยะเวลาซื้อซ้ำนาน งบประมาณไม่น้อย ทำยังไงให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะยินดีนำเงินโบนัส หรือ เงินรายรับจากหยาดเหงื่อ น้ำพักน้ำแรงที่พวกเขาเก็บหอมรอมริบมายาวนาน มาซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา มีคำถามเป็นร้อยข้อที่ คนทำงานต้องตอบให้ได้

เช่น

  • สำรวจความต้องการว่ามีไหม ถ้ามี มันเยอะแค่ไหน ?
  • คนเหล่านั้นมีกำลังซื้อในช่วงเวลาที่รถยนต์จะวางขายไหม ?
  • พวกเขาต้องการรถยนต์ประมาณไหน ?
  • รูปร่างแบบไหนที่พวกเขาน่าจะชอบ ?
  • รถยนต์รุ่นก่อนๆที่พวกเขาใช้พวกเขาชอบอะไร ?
  • อยากให้มีอะไรเพิ่มอีก ?
  • คู่แข่งมีกำหนดวางขายรถยนต์เมื่อไร และ ประสิทธิภาพ ราคาขายพวกเขาเป็นยังไง ?
  • ถ้าต้องวัดกันจุดขายหลักของรถยนต์รุ่นนี้คืออะไร ?
  • ราคาขาย สเป็ค ของแต่ละรุ่นย่อยเป็นแบบไหน ?
  • จะใช้ชิ้นส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนเจ้าไหน ?
  • โรงงานไหนบ้างจะผลิต ?
  • วิธีการประกอบชิ้นส่วนเป็นอย่างไร ?
  • มีเครื่องจักรหรือเครื่องมืออะไรบ้างที่ต้องใช้เพื่อผลิต ?
  • จะตรวจสอบคุณภาพในแต่ขั้นตอนได้อย่างไร ?
  • มีวิธีการขนส่งรูปแบบไหนบ้าง (บก เรือ อากาศ) ?
  • จะเอาใครมาเป็น พรีเซนเตอร์ ต้องใช้หรือไม่ ?

เรื่องเหล่านี้กว่า 90% เกิดขึ้นในหน้ากระดาษแผนงาน ก่อนที่จะมีรถยนต์ขายอย่างน้อย 18 – 72 เดือน

อีกหนึ่งงานที่หลายๆคนอาจจะไม่ทราบ คือข้อกำหนดด้านกฏหมายในแต่ละประเทศ


Regulations about environments are going to get tougher and tougher. Carlos Ghosn

ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความเข้มข้น และ เข้มข้นยิ่งขึ้น

Carlos Ghosn CEO คนปัจจุบันของ Nissan เคยกล่าวไว้


รถยนต์ส่วนใหญ่มักทำเพื่อตอบสนองคนทั่วโลก หรืออย่างน้อยก็ระดับภูมิภาคมุ่งหวังยอดขาย จากกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใส่ไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว

แต่การจะวางขายในประเทศนั้นๆได้ รถยนต์รุ่นที่อยากจำหน่ายจำเป็นจะต้องได้รับการรับรองจากประเทศที่วางขายด้วย เป็นเหตุผลนึงว่าทำไมรถยนต์รุ่นเดียวกัน ถึงมีรายละเอียด สเป็คบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน ทำไมประเทศนี้ ถึงยังใช้เครื่องยนต์เก่าหรือชิ้นส่วนที่บ้านเราเรียกว่าล้าสมัย ในรถยนต์รุ่นใหม่

คำตอบอาจจะเป็นนโยบายด้านกฏหมาย สิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ หรือแม้กระทั่งมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เอื้อต่อการนำชิ้นส่วนบางชิ้น ไปใช้งานในประเทศของเขา นั้นเอง

ตารางข้อกำหนด Ecocar Phase 1 และ Phase 2 โดย Headlightmag.com (resource link)

 

แล้วคนไทยล่ะ ได้มีส่วนรวมในขั้นตอนไหนบ้าง ?

คำตอบก็คือ ตอนนี้ ณ ปี 2561 คนไทยเก่งๆของเราหลายคน ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เดือนที่ 0 เลยครับ พวกเขานั่งเคียงข้างทำงานร่วมกับกับหัวหน้าวิศวกรสนับสนุนข้อมูลระดับภูมิภาคให้กับบริษัทแม่ เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะได้รับสิ่งที่เหมาะสมที่สุด จากพื้นฐาน 3 ข้อที่กล่าวไว้ก่อนหน้า และ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นประกาศจากค่ายรถยนต์ว่าเรามีคนไทยเป็นหัวหน้าวิศวกรสำหรับรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียของเราฮะ

เส้นทางเดินของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังครับ^^

ถ้ารุ่นนี้มาไทย ขายได้แน่ๆ แต่ทำไมไม่มา (ว่ะ) ?

หลายคนมักจะสงสัยหรือมีคำสบถในใจว่า รุ่นนี้นะ มาเมืองไทย ขายปังแน่ๆ ตรูเก็บตังค์รอในธนาคารแล้ว รอมาตั้งแต่มันออก Gen 1 ตอนนี้มัน Gen 3 รอตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ จนตอนนี้แต่งงานมีลูกแล้ว ปัดโถ่ววว จนป่านนี้ ก็ยังไม่มา คิดอะไรอยู่(ว่ะ) ฮะผู้ผลิต

ถ้าเราตามกันมาตั้งแต่หัวข้อด้านบน เราจะพบว่าการเลือกนำรถยนต์มาวางขายรุ่นหนึ่งนั้น มีเงื่อนไขหลายอย่างมากไม่ใช่แค่เชิงวิศวกรรม แต่ยังรวมไปถึง นโยบายรัฐบาล ความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ ต้นทุนการผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค ไปจนถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในแต่พื้นที่ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ค่ายนั้นๆ

เรื่องจริงคือ

ถ้าผู้บริโภครู้ ผู้ผลิตก็รู้ครับว่า ถ้ามาได้มันขายดีแน่ แต่ในแง่ธุรกิจ ข้อกฎหมาย นโยบายบางอย่าง มันยังไม่คุ้มจะเสี่ยงจริงๆ พวกเขาจึงไม่ได้นำมันมาให้คุณได้เชยชมซะที ทั้งที่ใจอยากมากมาย (คนอยู่เบื้องหลังกว่าครึ่งก็เป็นคนรักรถยนต์เปิดเว็บไซด์ Headlightmag อ่านตอนพักเที่ยงเหมือนกัน อยากให้คนไทยใช้รถที่ถูกใจมากที่สุด แต่ด้วยเงื่อนไขข้างบน ทำให้รถยนต์หลายๆคัน อาจจะไม่ได้มาพบกับเราในเวลาที่รวดเร็ว)

อาจจะเปรียบเหมือนคนที่ติดตามดาราในดวงใจสักคู่ อยากให้พวกเขาเป็นแฟนกันนอกจอด้วย แต่ทำไมคู่ที่ดูแล้วน่าจะไปด้วยกันได้ดี ในความเห็นของคนทั่วไปกลับไม่เลือกจะคบหาใช้ชีวิตร่วมกัน จิ้นให้คู่กันแล้วไม่ได้ดั่งใจ จริงๆก็ไม่ได้ความว่าเขาไม่มีใจให้กันนะฮะ แต่มันอาจจะมีเหตุผลบางอย่าง ที่ทำให้ไปกันต่อไม่ได้จริงๆ

ซึ่งก็แค่เขาไม่ได้บอกเหตุผลนั้นให้เราฟังเท่านั้นเอง หรือต่อให้บอก ก็ไม่แน่ว่าเราจะยอมเข้าใจเหตุผลของเขาไหม ^^

Nissan IMx Concept เปิดตัวครั้งแรกที่งาน Tokyo Motor Show 2017

 

ตอนหน้าจะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของรถยนต์ต้นแบบ Concept Car กันครับ

#จากหัวใจคนสร้างรถ

#SenseiPae


สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com

2 เมษายน 2561

SenseiPae // Copyright (c) 2018

Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com

2 April 2018