เค้าคิดได้ยังไงเนี่ย!!!!

นั่นละคำถามแรก ที่ผุดขึ้นมาในหัว ทันทีที่ได้ยินสโลแกนโฆษณา ของรถกระบะอีซูซุ ดีแมกซ์
รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ รอบสุดท้าย (หวังว่านะ) ภายใต้ชื่อที่หลายคนคาดไม่ถึงว่า
“Super Platinum” ในงานเปิดตัว อย่างเป็นทางการ ค่ำวันที่ 17 กันยายน 2009 ณ อิมแพ็ค
ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี

บรรยากาศการจัดงานเปิดตัวของอีซูซุ ก็เหมือนๆกับทุกครั้งที่ผ่านๆมา คือ เวทีจะใหญ่โตบานเบอะ
จอมอนิเตอร์สำหรับฉายวีดีโอพรีเซ็นเตชัน มี 5 จอ

เพียงแต่ รู้สึกว่า การจัดโซนนิ่งมันแปลกๆ คือ จุดที่คนควรจะเดินเข้าไปดูรถ ได้เต็มที่ ฝั่งขวา จะถูกกั้นขวาง
ด้วยบรรดาบูธข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ข้ามต้มปลา ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ซูชิ และ เทมปุระ จาก Nippon Tei อันเป็น
ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมานานพอสมควร ในหมู่ องค์กรญี่ปุ่น (ดันไปตั้งสาขาใน นิคมอมตะ ชลบุรี)

คราวหน้า ตอนเปิดตัว RT-50 ในปี 2011 ขอรบกวนจัดวางพื้นที่ดีกว่านี้อีกนิดนึงนะครับ (^_^’)
เพราะ การเดินผ่านบูธเหล่านี้ เข้าไปดูรถ นั้น มันให้ความรู้สึกแปลกๆ พิลึกเลยทีเดียว!

คือสโลแกน “นำทางรวย” เนี่ย รู้เลยว่า มีที่มาจาก การชูจุดขาย ไฮไลต์สำคัญของการปรับโฉมครั้งนี้
ซึ่งอยูที่ การติดตั้งระบบนำร่องผ่านดาวเทียม Navigation System เป็นครั้งแรกในวงการรถกระบะ
และใช้ชื่อว่า ไอ-จินนี่ (i-GENii – Genius Exploring Network Interactive Intelligence) ระบบ
เพื่อนนำทางอัจฉริยะ…!! (เอ่อ เข้าใจตั้งชื่อเนาะ กำลังนึกอยู่ว่า ไม่ตั้งชื่อ Aladdin ไปเลยละ!!)

ที่มาของการติดตั้งระบบนี้ คือความคิดที่อยากจะหาจุดขายอะไรสักอย่างมาติดใส่รถนั่นละ คิดกันไปกันมา
ก็คิดกันได้ว่า เออ น่าจะเอาระบบนำทาง มาติดใส่ดีแมกซ์กันซะทีเนาะ เพื่ออ้างอิงเหตุผล ว่าทำไมควรจะติด
ก็เลยไปจ้าง ดุสิต โพลล์ ให้ทำสำรวจ และได้พบตัวเลขว่า 52% ของคนขับรถในเมืองไทย “เคยหลงทาง”
(เออสิฮะ อันนี้ไม่ต้องทำสำรวจก็ได้มั้ง ฮ่าๆๆ) แต่ สิ่งที่การสำรวจล้วงลึกไปกว่านั้นคือ การหลงทางแค่ละครั้ง
ของแต่ละคน มักใช้เวลา เฉลี่ย ขั้นต่ำ 30 นาที และ แน่นอนว่า ผลาญน้ำมันไปโดยเปล่าประโยชน์ นับล้านๆบาท

ดังนั้น การติดตั้งระบบนำทางในคราวนี้ โจทย์ ก็คือ ทำอย่างไรให้ระบบนี้ มีประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุด
แสดงผล แจ้งเตือน และสอนคนขับ ให้ขับประหยัดในตัว อีกทั้ง ต้องใช้งานง่ายๆ!! (แน่ละ กลุ่มลูกค้า
ของอีซูซุ นั้น ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะชำนิชำนาญ ในอุปกรณ์อีเล็กโทรนิคส์ทั้งหลาย ดังนั้น ขืนทำระบบออกมา
ให้ใช้ยากๆ แบบ รถเก๋งทั่วไป รับประกันเลย งงแตกตายห่าน! โดนลูกค้าด่าจนหูยานแหงๆ)

งานนี้ อีซูซุ ได้พันธมิตรที่ดีมากๆ อย่าง KENWOOD ที่ไปดีลติดต่อกับ Garmin ผู้ผลิตอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์
ระบบนำทาง อันดับต้นๆของเมืองไทย งานนี้ อีซูซุ ขออะไร KENWOOD กับ Garmin จัดการให้เสร็จสรรพ

ผลลัพธ์ ที่ออกมา คือสิ่งที่ เหนือความคาดหมายในสายตาผม เพราะการทำงานทุกอย่างนั้น ใช้ หน้าจอ Touch-Screen
ซึ่งใช้งาน ง่ายเหลือเชื่อ ระบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน แผนที่ กราฟฟิค ยังไม่ถึงกับสวยงาม หน้าตาก็เหมือนๆกับ
ซอฟต์แวร์แผนที่ จาก Garmin ทั่วไปนั่นละ แต่ มันใช้งานง่ายมากๆๆๆๆ ง่ายมากกว่าที่คิดไว้เยอะ!!!
ทุกอย่าง ก็ใช้นิ้ว รูดเอาบนจอ เหมือน iPhone กันเลยทีเดียว! แถมเมนู ก็เป็นภาษาไทย และมีระบบเสียงนำทางด้วย

ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ ในด้าน ช่วยประหยัดน้ำมัน  โดยระบบจะคำนวณเลือกเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อการขับขี่
ที่ประหยัดน้ำมันกว่า ช่วยประหยัดเวลา ลดปัญหาเรื่องหลงทาง  สามารถคำนวณระยะทางและเวลาในการเดินทาง  
ช่วยวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ และมั่นใจอีกระดับ  แม้จะขับไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย  ด้วยหน้าจอแสดง
ลักษณะถนนล่วงหน้าที่อาจเป็นอันตราย เช่น ทางโค้งหักศอก อีกทั้งช่วยหาสถานที่สำคัญที่ใกล้ที่สุด ได้ตามต้องการ

ชุดเครื่องเสียงพร้อมระบบนำทางของ KENWOOD รุ่นนี้ จะมีเครื่องเล่น DVD ที่คอนโซลหน้าขนาด 7 นิ้ว (2 Din)
หน้าจอระบบสัมผัส (Touch Screen) พร้อมรีโมทคอนโทรล เล่นได้ทั้ง DVD/VCD/MP3/WMA และ DivX เชื่อมต่อ
อุปกรณ์ความบันเทิงได้ทั้ง iPod, iPhone  และเครื่องเล่น MP3 อื่นๆ ผ่านทางช่องเสียบ USB ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์
เคลื่อนที่แบบไร้สาย Built-in Bluetooth สามารถโทรออกได้เพียงกดหมายเลขโทรศัพท์จากหน้าจอ ทั้งยังสามารถกด
เพื่อรับสายสนทนาได้โดยไม่ต้องถือโทรศัพท์ เพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยในการขับขี่   

และยังเชื่อมต่อกับPlatinum Vision Camera กล้องมองภาพขณะถอยจอด จาก Kenwood กล้องจะส่งสัญญาณภาพ
มุมมองด้านหลังของรถมายังจอ LCD ที่คอนโซลหน้าขณะเข้าเกียร์ถอย อีกด้วย

 Isuzu D-Max Super Platinum Cab4 4×4 LS 3.0 Ddi VGS Turbo 

 ทีนี้ เราจะมาดูตัวรถกันดีกว่า ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ใน D-Max Super Platinum

– กระจังหน้าโครเมี่ยม พร้อมการ์ดกันชนหน้า (Front Bumper Guard) สีเงินเมทาลิก ในรุ่นไฮแลนเดอร์  
  และการ์ดกันชนหน้า สีเทาเมทาลิก ในรุ่นโรดีโอ และแค็บโฟร์ LS  
– กระจังหน้าโครเมี่ยมพร้อม U-Shape Under Grille ใหม่ ในรุ่นสเปซแค็บ SLX และ แค็บโฟร์ SLX

Isuzu D-Max Super Platinum Cab4 4×2 SLX
 

–  สคูปฝากระโปรงขอบสีเงิน  เสริมความโดดเด่นและโฉบเฉี่ยว
–  บันไดข้างแบบโครเมี่ยม ก้าวขึ้น-ลงมั่นคงแข็งแกร่ง
–  ล้ออะลูมินั่มอัลลอยด์ ขนาด 16 นิ้ว ลายก้านคู่ (Twin-spoke) ดีไซน์ปัดเงา เน้นสไตล์ที่โฉบเฉี่ยวให้สวยโดดเด่นยิ่งขึ้น
–  พร้อมชุดไฟหน้าแบบ Projector และกระจกมองข้างแบบโครเมี่ยม พร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED

 
Isuzu D-Max Super Platinum Hi-Lander 4 Door 3.0 Ddi VGS
 

ทางเลือกรุ่นย่อยนั้นมีให้เลือกมากมายหลายหลาก
– Cab 4 Super Platinum  ปิกอัพ 4 ประตู มีทั้งรุ่นแค็บโฟร์ LS  ขับเคลื่อน 4 ล้อ, แค็บโฟร์ SLX และ SX ขับเคลื่อน 2 ล้อ
– Hilander Super Platinum  ปิกอัพยกสูง มีทั้งรุ่น 4 ประตู และ 2 ประตู

Isuzu D-Max Super Platinum Hi-Lander 4 Door 3.0 Ddi VGS
 
Isuzu D-Max Super Platinum Hi-Lander Space Cab 3.0 Ddi VGS

Isuzu D-Max Super Platinum Rodeo 4×4 3.0 Ddi VGS

Rodeo Super Platinum  ปิกอัพออฟโรด ล้ำหน้าด้วยระบบ TOUCH-ON-THE-FLY  ระบบเลือกการขับเคลื่อนควบคุม
  ด้วยไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ เฟืองท้ายแบบมีลิมิเต็ดสลิป ลดปัญหาล้อหมุนฟรีขณะวิ่งในทางวิบาก มีทั้งรุ่น 2.5 และ 3.0 ลิตร

 

 
 

Space Cab Super Platinum ปิกอัพรุ่นยอดนิยม มีพื้นที่ห้องโดยสาร กว้างขวาง และเหมาะกับการบรรทุก ในคราวเดียวกัน
  มาพร้อมความหรูหรา เหนือคู่แข่ง อย่างชัดเจน

 

Isuzu D-Max Super Platinum Space Cab 4×2 S:X

 

นอกจากนี้ยังเพิ่มทางเลือกใหม่ D-Max Super Platinum รุ่น SLX สมาร์ท เครื่องยนต์ 2500 Ddi เกียร์ธรรมดา
เน้นความคุ้มค่าทุกการใช้งาน  ที่มีให้เลือก 2 สี สุดสมาร์ท ได้แก่ ใหม่! สีเงินแพลททินั่ม (Platinum Silver) และ
สีบรอนซ์เงินเมทาลิค (Sterling Silver Metallic)

 
 
 Isuzu D-Max SPARK-EX Super Platinum 2.5
 

และ SPARK Super Platinum ปิกอัพ ยอดประหยัด เพื่อการพาณิชย์ ที่แข็งแกร่ง และทนทาน

 
Isuzu D-Max Super Platinum Cab 4
 

การออกแบบภายในห้องโดยสาร
–  เพิ่มโทนสีการตกแต่งห้องโดยสารใหม่  เป็นโทนสีเบจ ในรุ่น 4 ประตู ให้ความรู้สึก
   ผ่อนคลายตลอดการเดินทาง โดยรุ่นท็อปๆ จะหุ้มเบาะด้วยหนัง

 
 

ขณะที่รุ่นรองลงไป จะหุ้มด้วยผ้าเบาะ ที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น มาตั้งแต่รุ่น แพลตินั่ม เดิม แล้ว

 
 

– ส่วนรุ่น Rodeo หรือ Hi-Lander 2 ประตู ก็ยังมีโทนสีเบาะ ดำมาให้ตามเคย
แต่ รุ่น Hi-Lander จะมีเบาะผ้าลายพิเศษ ทูโทน มาให้โดยเฉพาะ

 
 

– ขณะที่รุ่นสเปซแค็บ SLX ก็จะมีลายผ้าเบาะอย่างที่เห็น
  เป็น เบาะผ้าลายสปอร์ตสีเทาเข้ม

 
 

แผงคอนโซลสไตล์ “แบล็คโมเดิร์นกราไฟท์” (Black Modern Graphite) ตกแต่งด้วย
ขอบวงแหวนโครเมี่ยม Platinum Package สวยโฉบเฉี่ยวเต็มอารมณ์สปอร์ต
ช่องแอร์ เป็นแบบวงกลม สไตล์รถยุโรป  มาตรวัดเรืองแสง Super Vision พร้อมจอ
แสดงข้อมูลการใช้งานแบบ Multi-information Meter ช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมลักษณะ
การขับขี่ให้ประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้น

 
 

– และรุ่น กระบะส่งของ สปาร์ค จะยังมีเบาะนั่ง แบบม้านั่ง ซึ่งมีพนักพิงหลัง แยกชิ้น ปรับเอนได้เล็กน้อย

 
 
ขุดมาตรวัดของรุ่น SPARK-EX
 
 

นอกเหนือจากการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ให้กับ ดีแม็กซ์ แล้ว อีซูซุ ยังปรับโฉม ให้กับรุ่น MU-7 ไปในคราวเดียวกัน
โดยใช้ชื่อ เหมือนๆกันว่า MU-7 Super PLATINUM งานนี้ อีซูซุ เลือก น้องๆหนูๆ ว่าที่ศิลปินตัวจ้อย จากรายการ
เรียลลิตี โชว์ ทางโทรทัศน์ The Trainer (เดอะ เทรนเนอร์) มาเป็น พรีเซ็นเตอร์ ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา และ มา
แสดงในงานเปิดตัว…ซึ่ง…รู้สึกว่า จะขโมยซีน พี่ก๊อต จักรพรรณ์ พรีเซ็นเตอร์หลัก ไปได้เยอะแยะเลย เพราะพี่ก๊อตหนะ
ร้องแค่เพลงเดียว (แหงละ เพลงนึง กี่แสน บาทเข้าไปละนั่น)  แต่น้องๆ เดอะเทรนเนอร์นั้น ร้องเข้าไปกี่เพลงละนั่น
ไม่ได้นับ แต่จำได้ว่าเยอะ แถมมีเพลง NoBody กับ HERO ของ Mariah Carey เสียอีกด้วยแหนะ!

 
 

การเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้จากภายนอก ซึ่งก็ต้อง เพิ่งมองเยอะเอาเรื่องเลย ได้แก่
– สปอยเลอร์ เปลือกกันชนหน้า ดีไซน์พิเศษ เฉพาะรุ่น
– Scoop บนฝากระโปรงขอบสีเงิน เหมือน D-Max
– ล้ออะลูมินั่มอัลลอยด์ปัดเงา ขนาด 16 นิ้ว แบบ 6 ก้าน ก็ายเดียวกับ D-Max อีกนั่นแหละ
– แปะตราตราสัญลักษณ์ Super Platinum ไว้ด้านหลังรถ
– กระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED
– สปอยเลอร์กันชนท้าย  พร้อมแถบสะท้อนแสง  
– ไฟท้ายขนาดใหญ่  พร้อมไฟตัดหมอกหลัง
– จุดยึดราวหลังคา Roof Garnish ดีไซน์ Built-in ออกแบบให้สามารถติด Roof Rack ได้อย่างลงตัว

 
 

ทางเลือกรุ่นย่อยมีดังนี้
– MU-7 Super Platinum Activo 4×4 3.0 Ddi VGS Turbo Intercooler
– MU-7 Super Platinum Primo 4×2  3.0 Ddi VGS Turbo Intercooler
– MU-7 Super Platinum Primo 4×2  3.0 Ddi Turbo Intercooler

มาพร้อมสีตัวถังใหม่ Nautilus Blue Mica พิเศษเฉพาะ มิว-เซเว่น เท่านั้น  
และสีใหม่! Platinum Silver หรู ทันสมัย ล้ำสไตล์  พร้อมสีพิเศษยอดนิยม
Omega Pearl White สง่างาม สูงค่า และยังมีสี Starry Black Mica กับสี Sterling
Silver Metallic ให้เลือกอีกด้วย

 

ภายในห้องโดยสาร ปรับปรุง ความประณีตในการประกอบ ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจน
เบาะนั่งยังรองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่งเช่นเดิม

เบาะนั่งแถวหลังยังสามารถพับได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง อย่างไรก็ตาม
การพับเบาะนั้น ต้องพับทั้งชุดเบาะหลังกันเลย แบ่งพับครึ่งต่อครึ่งไม่ได้ หมายความว่า
ต้องเลือกเอา ว่าจะเดินทางกัน 5 คน พร้อมสัมภาระ หรือเดินทาง 7 คน และพื้นที่
วางสัมภาระน้อยลง

 
 

แผงคอนโซลหน้าแบบ Flush Surface พร้อมลายไม้ใหม่ Giallo Walnut ซึ่งพยายามจะทำออกมา
ให้ดูเข้าท่ากว่ารุ่นก่อน ติดตั้ง ชุดโครเมี่ยม Platinum Package ที่บริเวณกรอบไฟตัดหมอก ช่องแอร์  
คอนโซลเกียร์ และขอบลำโพง 

 
 

แน่นอนว่า ติดตั้งระบบนำทาง i-GENii โดย Garmin พร้อมเครื่องเสียง KENWOOD และระบบ
เชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth และกล้อง Rear-View Camera มาให้ ชุดเดียวกับ D-Max Super
Platinum (ย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดเอาได้ที่ด้านบนของบทความนี้)

แต่ที่เพิ่มมาเป็นพิเศษ ไม่มีใน D-Max ก็คือ จอ LCD ขนาดใหญ่ 8 นิ้วบนเพดานห้องโดยสาร  
มีช่องรับสัญญาณ AV สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ความบันเทิงอื่น ๆ เช่น เครื่องเล่นเกมส์  
หูฟังไร้สายแบบอินฟาเรด สามารถแยกฟังก์ชั่นการทำงานให้เหมือนหรือแตกต่างจากเครื่องเล่น
DVD ที่คอนโซลหน้า ให้ความบันเทิงเป็นส่วนตัวได้สมบูรณ์แบบ

 
 

ด้านขุมพลัง ใครก็ตามที่รอคอยว่า จะมีเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เทอร์โบแปรผัน VGS หรือไม่
ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย ว่า งานนี้ ไม่มีการปรับปรุง เรื่องเครื่องยนต์กันแต่อย่างใด
ยังคงยืนหยัดกับ เครื่องยนต์ 3 แบบ ที่เพิ่งปรับปรุงกันไปเมื่อการปรับโฉมคราวก่อนๆ ดังนี้

– เครื่องยนต์ดีเซลรุ่น 4JK1-TC บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.4 x 87.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 18.3 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ คอมมอนเรล Ddi พ่วง Turbo ธรรมดา และ
อินเตอร์คูลเลอร์ 115.6 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร
(28.5 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800 – 2,200 รอบ/นาที

เชื่อมได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4/5 ดังนี้ 4.008 / 2.301 / 1.427 / 1.000 / 0.745 เกียร์ถอยหลัง 3.651

หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4 ดังนี้ 2.785 / 1.545 / 1.000 / 0.694 เกียร์ถอยหลัง 2.272
อัตราทดเฟืองท้าย 3.727 (เท่าเฟืองท้าย Hi-Lander และ Rodeo 2 ประตู เกียร์ธรรมดา)

วางในรุ่น Space Cab และ Spark มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา อัตราทดเฟืองท้าย 3.583 (43/12)
วางในรุ่น Rodeo 4×4 มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา อัตราทดเฟืองท้าย 3.909 (43/11)
วางในรุ่น Cab 4 4×2 มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา อัตราทดเฟืองท้าย 3.583 (43/12)
วางในรุ่น Hi-Lander Cab 4  มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา อัตราทดเฟืองท้าย 3.909 (43/11)

 
 

– เครื่องยนต์รุ่น 4JJ1-TC บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,999 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.4 x 104.9 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 17.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ คอมมอนเรล Ddi พ่วง Turbo และ InterCooler
145.52 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตันเมตร
(29.95 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,400 – 3,400 รอบ/นาที

เชื่อมได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4/5 ดังนี้ 4.008 / 2.301 / 1.427 / 1.000 / 0.745 เกียร์ถอยหลัง 3.651

หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4 ดังนี้ 2.785 / 1.545 / 1.000 / 0.694 เกียร์ถอยหลัง 2.272

วางในรุ่น Space Cab SLX เฉพาะเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดเฟืองท้าย 3.727 (41/11)
วางใน MU-7 Primo 4×2 รุ่นเกียร์ธรรมดา และ รุ่นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดเฟืองท้าย
เท่ากันที่ 4.300 (43/10)

 
 

– เครื่องยนต์ดีเซล รุ่น 4JJ1-TCX บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,999 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.4 x 104.9 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 17.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ คอมมอนเรล Ddi พวง Turbo แปรผันครีบ VGS
และ InterCooler  163.2 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
360 นิวตันเมตร (36.64 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800 – 2,800 รอบ/นาที

รุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4/5 ดังนี้ 4.326 / 2.557 / 1.490 / 1.000 / 0.790 เกียร์ถอยหลัง 3.942

รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
อัตราทดเกียร์ 1/2/3/4 ดังนี้ 2.804 / 1.532 / 1.000 / 0.705 เกียร์ถอยหลัง 2.394

วางในรุ่น Rodeo (Space Cab 4×4) จะมีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเท่านั้น
อัตราทดเฟืองท้าย 3.727 (41/11)

วางในรุ่น Hi-Lander 4 ประตู และ Cab 4  4×2
อัตราทดเฟืองท้ายเกียร์ธรรมดา 3.727 (41/11)
อัตราทดเฟืองท้ายเกียร์อัตโนมัติ 4.100 (41/10)
เท่ากันทั้ง 2 รุ่น

วางในรุ่น MU-7 Primo 4×2 เกียร์ธรรมดา อัตราทดเฟืองท้าย 3.727 (41/11)
อัตราทดเฟืองท้ายเกียร์อัตโนมัติ 4.100 (41/10)

 
 

ด้านความปลอดภัย
ความปลอดภัยในเชิงป้องกัน : Active Safety

– ไฟหน้าแบบ Projector ส่องสว่าง ไม่รบกวนสายตาของผู้ขับขี่รถยนต์ที่วิ่งสวนทางมาอีกด้วย
– ระบบเบรกพื้นฐานมั่นใจกว่า ด้วยหม้อลมเบรกสุญญากาศ 2 ชั้น ขนาด 8 นิ้ว + 9 นิ้ว เบรกหยุดมั่นใจ  
  พร้อมดิสก์เบรกหน้าคาลิปเปอร์แบบ 2 ลูกสูบ (2-Pot Caliper) 

ความปลอดภัยเชิงปกป้อง ขณะเกิดอุบัติเหตุ : Passive Safety
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS Airbag ในรุ่นสูงๆ หลายๆรุ่น ช่วยลดแรงกระแทก
  ต่อผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้า
– โดยทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR คู่หน้า ทุกคัน
  ส่วนเบาะด้านหลังในรุ่น Cab 4  จะเป็นแบบ ELR 3จุด 2 ตำแหน่ง และ 2 จุด 1 ตำแหน่ง
– โครงสร้างตัวถังและประตูเสริมคานเหล็ก (Door Beam)
  เสริมความแข็งแกร่ง และช่วยรองรับแรงกระแทกขณะเกิดการชน
– และพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน แกนพวงมาลัยยุบตัวได้ อัตราทด เฟือง 47.00:1 รัศมีวงเลี้ยว 6.1 เมตร
– โครงสร้างห้องโดยสารแบบมีเสากลาง (Safety Pillar Cab) ในรุ่นสเปซแค็บ
– โครงสร้างกระบะท้ายแบบชิ้นเดียว โดยมีพื้นที่หน้าตัดแชสซีส์ใหญ่สุด ขนาด 145 x 70 มม.

 

ผลงานที่ผ่านมา Isuzu D-Max ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งในด้านสมรรถนะและความทนทานให้เป็นที่ประจักษ์
แก่ผู้ใช้รถชาวไทยและนานาประเทศ  ด้วยการคว้าชัยอันอับ 1 ในสมรภูมิการแข่งขัน
รถขับเคลื่อนสี่ล้อระดับนาชาชาติ “เอเชียครอสคันทรีแรลลี่”  ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่ปี 2007 – 2009  
และล่าสุดได้กวาด 4 รางวัล คือ แชมป์อันดับ 1 โอเวอร์ออล  อันดับ 1 รุ่นโมดิฟาย  อันดับ 1 รุ่นโปรดักชั่นคาร์  
และอันดับ 1 ประเภททีมมาครองอย่างเต็มภาคภูมิ หลังฝ่าฟันเส้นทางสุดวิบากและหฤโหดจากกรุงเทพฯ
เลาะสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และพุ่งขึ้นเหนือไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางรวม 2,470 กม.  
นอกจากนี้ยังคว้าชัยในการแข่งขันแรลลี่สุดหฤโหดระดับโลก “ดาการ์แรลลี่ 2009” โดยได้อันดับ 1
รุ่นรถปิกอัพดีเซล T 1.2 (Amateur)  และเป็นอันดับที่ 11 จากรถยนต์ที่เข้าแข่งขันทั้งหมด  
นอกจากนี้ยังเป็น 1 ในรถเพียงไม่ถึง 20 คันที่สามารถขับฝ่าอุปสรรคทั้งหลายมาได้ครบทั้งหมด 14 สถานี  
จากรถยนต์ที่เข้าแข่งขันทั้งหมดถึง 177 คัน  นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่พิสูจน์สมรรถนะ
และความทนทานของรถปิกอัพสัญชาติไทย 

รายละเอียดที่กล่าวมาข้างบน สุดแสนจะเยอะแยะมากมาย ตามสไตล์อีซูซุ ในแทบทุกครั้งที่เปิดตัวรถรุ่นใหม่

แต่ถ้ายังคิดว่า ข้างบนนี้ อ่านแล้ว ยังไม่จุใจพอ ขอแนะนำให้เดินเข้าไปพบ รถคันจริงที่ โชว์รูม อีซูซุ ทั่วประเทศ
ไปขอทดลองขับรถคันจริงเลย ก่อนตัดสินใจซื้อ จะเป็นการดีที่สุด

———————————————///———————————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.headlightmag.com
18 กันยายน 2009