แม้แสงแดดยามบ่ายจะร้อนแรงแค่ไหน แต่ด้วยสายลมพริ้วไหวในช่วง
กลางเดือนมกราคม อย่างนี้ ก็ยังทำให้การยืนอยู่ท่ามกลางบรรยากาศ
ของสนาม Bonanza เขาใหญ่ ยังคงเย็นสบายพอดีๆ
ชาวญี่ปุ่น 3 คน ยืนอยู่ริมสนาม จับจ้องมองดูผลงานชิ้นใหม่ที่พวกเขา
เฝ้าฟูมฟักมาเป็นเวลานาน ทั้ง 4 คัน กำลังแล่นทะยานไปรอบๆ ทางวิ่ง
ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร
ผมยืนดูพวกเขา และรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดทั้ง 4 คัน อยู่ไม่ห่างไปไกลนัก
ข้างหลังผม มีกลุ่มสื่อมวลชนสายรถยนต์ รวม 29 ชีวิต และทีมงานของทั้ง
Mazda ทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่ง พูดคุยกันอยู่
ครับ ถ้ามีชื่อ Mazda มาโผล่กันอย่างนี้ เรื่องราวที่รอให้คุณค่อยๆ คลิกเมาส์
หรือรูดนิ้วผ่านหน้าจอ เลื่อนลงไปอ่าน มันคงจะเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้ นอกจาก
รถยนต์นั่งพิกัด C-Segment Compact Class ที่หลายๆคน เฝ้ารอ
งานในวันนี้ ถูกจัดเตรียมการมาตั้งแต่ปลายปี 2013 แล้ว ไม่ได้เพิ่งมาจัด
เพื่อเกทับ การเปิดตัวของคู่แข่งร่วมพิกัดอย่าง Toyota Corolla Altis ใหม่
หรือ ตัดหน้าการมาถึงของ Honda Civic Minorchange แต่อย่างใด เพราะ
กิจกรรมการตลาดแบบนี้ ต้องวางแผนล่วงหน้ากันนานแล้วดำเนินงานไป
ตามกำหนด ไม่ใช่ว่ามาถึงปุ๊บ เห็นคู่แข่งจะขยับตัวปั๊บ ค่ายรถยนต์จะเสก
เนรมิตทุกสิ่งให้ได้ดังใจปราถนาตามลูกค้า และสื่อมวลชนต้องการ นั่น
ก็ดูจะต้องถามกันเลยว่า ตกลงแล้ว เป็นบริษัทรถยนต์ หรือโรงเรียนสอน
เวทย์มนต์?
แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่า การเปิดโอกาสให้บรรดาสื่อมวลชนสายรถยนต์ ได้
ทดลองขับ ผลงานในตระกูล SKYACTIV ลำดับ 2 ในเมืองไทย ก่อนจะ
ออกสู่ตลาดจริงเป็นเรื่องที่ หลายๆคน ก็ไม่ได้คาดคิดไว้ เนื่องจากว่า
Mazda เพิ่งเปิดตัว CX-5 ใหม่ รถยนต์คันแรกของพวกเขา ในไทย ที่ใช้
เทคโนโลยี SKYACTIV ไปหมาดๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ผ่านมา
และที่ไม่คิดมาก่อนก็คือ Mazda ญี่ปุ่น จะทุ่มทุนสร้าง ถึงขนาดส่งรถยนต์
Mazda 3 สเป็กสำหรับตลาดญี่ปุ่น JDM (Japanesse Domestic Market)
ในชื่อ Mazda Axela Sport Hatchback เข้ามาบ้านเรามากถึง 6 คัน โดย
แบ่ง 2 คัน ไว้สำหรับให้สื่อมวลชน ได้ยลโฉมกันทั้งภายในและภายนอก
ส่วนอีก 4 คันที่เหลือ จะถูกติดสติ๊กเกอร์พรางตัวเอาไว้ รอบคัน สำหรับ
การแล่นในสนาม
เหตุผลในการพรางตัว ทั้งในงานนี้ และครั้งที่ผ่านๆ มา ก็เพราะว่า Mazda
ตั้งใจให้ สื่อมวลชนชาวไทย ได้เป็นคนกลุ่มแรกจริงๆ ที่เห็นรูปลักษณ์ของ
รถยนต์แต่ละรุ่น พร้อมๆกัน ในวันเปิดตัว จึงจำเป็นต้องพรางตัว สำหรับ
กลุ่มสื่อมวลชน และดีลเลอร์ ที่จะได้สัมผัสตัวรถกันก่อนใคร อย่างพวกเรา
มิเช่นนั้น งานเปิดตัว ก็จะไม่มีความหมาย ทำออกมาแล้ว เสียเงินไปเปล่าๆ
การทุ่มทุนสร้างเช่นนี้ มีผลมาจาก ยอดขายของ Mazda ในเมืองไทยตอนนี้
ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก จนบ้านเราติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่ Mazda
เลือกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง กันเสียที ต้องถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่
Mazda ญี่ปุ่น เริ่มใส่ใจในความต้องการของลูกค้าคนไทยกันมากขึ้น
ถึงขั้นที่ยอมส่ง Mazda 3 ใหม่ ให้มาเปิดตัวในเมืองไทย เป็นประเทศที่ 5
ต่อจาก การเผยโฉมครั้งแรกในโลก พร้อมกัน ที่ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่
26 มิถุนายน 2013 ตามด้วย การเปิดตัวในงาน Frankfurt Motor Show
เมื่อ เดือนกันยายน ตลาดญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2013 ออสเตรเลีย
ช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2014 ก่อนจะตามด้วย เมืองไทย ในช่วงเดือน
มีนาคม 2014 นี้
ถึงจะเหลือเวลาอีก 2 เดือน กว่าที่ Mazda 3 SKYACTIV ใหม่ รุ่น
ประกอบในเมืองไทยจากโรงงาน Auto Alliance ระยอง จะพร้อมส่ง
ถึงมือลูกค้า แต่ตอนนี้ ก็ได้เวลาที่เราจะมาปูพื้นฐาน ทำความรู้จักกับ
น้องนุชสุดท้องคันใหม่ ที่หลายๆคนเฝ้ารอกันเสียที
เพื่อจะรู้กันตรงนี้ในเบื้องต้นว่า คุณ ควรจะอดใจรอการมาถึงของ 3 ใหม่
หรือจะปันใจไปหาคู่แข่งจากค่ายอื่นกันดี?
นับตั้งแต่ Mazda 3 รุ่นแรก ออกสู่ตลาดโลก เมื่อปี 2003 (เข้ามาเปิดตัว
ในบ้านเรา เมื่อช่วงเดือน พฤศจิกายน 2005) ด้วยบุคลิกที่เน้นภาพลักษณ์
ของ รถยนต์นั่ง แบบ Sport Compact Sedan และ Hatchback 5
ประตู ที่ โดนใจกลุ่มลูกค้าอายุ 20 – 35 ปี ให้การขับขี่ที่สนุก เพลิดเพลิน
มั่นใจได้บนเส้นทางโค้งคคเคี้ยว รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย ทั้ง
ต่อผู้ขับขี่และสิ่งแวดล้อม ทำให้ Mazda 3 ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วย
ยอดขายรวมตลอดระยะเวลา 10 ปี เกินกว่า 3,700,000 คัน จาก 120
ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของยอดขาย Mazda
ทั่วโลกในแต่ละปี ทั้ง 2 รุ่น คว้ารางวัลจากทั่วโลกรวมกันถึง 136 รายการ
นั่นจึงทำให้ Mazda 3 กลายเป็นรถยนต์รุ่นหลักที่มีความสำคัญต่อ
Mazda มากที่สุด
ดังนั้น Kenichiro Saruwatani : Program Manager C-Segment ,
Product Division ของ Mazda Motor Corporation จึงวางเป้าหมาย
ให้ Mazda 3 ใหม่ ยังต้องรักษา บุคลิกดั้งเดิมที่ทุกคน ชื่นชอบ นั่นคือ รถยนต์
ที่ผสานความสัมพันธ์กันระหว่าง ผู้ขับขี่และตัวรถยนต์ ตามปรัชญา Jinba-ittai
แต่ยังต้องมี เส้นสายอันโฉบเฉี่ยวบนพื้นฐานแนวทางการออกแบบใหม่ล่าสุด
KODO : Souls of Motion หรือจิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหว และต้อง
อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีลดน้ำหนัก ลดแรงเสียดทาน เพิ่มศักยภาพของทั้ง
เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง โครงสร้างตัวถัง ระบบกันสะเทือน พวงมาลัย และ
ความปลอดภัย จากกลุ่มเทคโนโลยี ที่ชื่อ SKYACTIV
Mazda 3 ถูกพัฒนาขึ้นในแนวคิด “Energizing Sports Compact”
หรือ” รถยนต์สปอร์ตคอมแพ็คที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังเร้าใจ” ด้วยเหตุผลที่
Saruwatari-san เล่าให้พวกเราฟังว่า
“เราได้วิเคราะห์ตรวจสอบความต้องการของลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อ
พัฒนารถยนต์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ยานพาหนะที่ใช้เดินทางเท่านั้น แต่
ต้องเป็นรถยนต์คู่ใจ ที่นำความเร้าใจสนุกสนานกับสมรรถนะอันเต็มพลัง
มาสู่ผู้เป็นเจ้าของได้เพลิดเพลินกับการขับขี่ในทุกๆวัน รถยนต์ที่สร้าง
ความประทับใจทันทีเพียงเมื่อเหลียวมอง และลองเข้าไปนั่งอยู่ใน
ตำแหน่งของผู้ขับขี่ พร้อมที่จะทะยานออกไปอย่างใจจดใจจ่อ และ
นั่นยังเป็นการเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า ตลอดเวลาที่ครอบครอง
เราต้องทำให้ได้เกินกว่าความคาดหมายของลูกค้าทั่วโลก เพื่อให้
Mazda 3 ใหม่ กลายเป็น เพื่อนคู่ใจในชีวิตผู้เป็นเจ้าของ”
มิติตัวถัง Hatchback มีความยาว 4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,795
มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ส่วน
ตัวถัง Sedan จะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 4,580 มิลลิเมตร กว้างเท่ากัน สูง
1,455 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวเท่ากัน ถ้าเปรียบเทียบกับ
Mazda 3 รุ่นก่อน จะพบว่า ตัวถังสั้นลง 10 มิลลิเมตร แต่เพิ่มระยะ
ฐานล้อ ให้ยาวขึ้นจากเดิม 60 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอก ยังคงออกแบบขึ้นตามแนวทาง Kodo หรือจิต
วิญญาณแห่งการเคลื่อนไหว (Souls of Motion) ประกอบด้วย
3 องค์ ประกอบสำคัญ ได้แก่การประยุกต์แนวทาง Kodo ลงในรถ
C-Segment การขยายตัวถังให้แบน และกว้างขึ้นกว่าเดิม รวมทั้ง
การนำความประณีตในทุกรายละเอียดของวัสดุ มาใส่ในห้องโดยสาร
ห้องโดยสารถูกออกแบบเน้นเอาใจผู้ขับขี่เป็นหลัก ตำแหน่งการขับขี่
และสวิชต์ควบคุมต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และ
ลดความเครียดขณะขับขี่ แต่ยังมีความสบายเหลืออยู่สำหรับผู้โดยสาร
ด้านหลัง ความสูงของเพดานหลังคาด้านใน ลดลง 20 มิลลิเมตร แต่มี
การออกแบบเพดาน ให้มีพื้นที่เว้า รองรับศีรษะของผู้ขับขี่ ,ผู้โดยสาร
ทั้งด้านหน้า และหลัง เพื่อให้พื้นที่เหนือศีรษะ ยังคงโปร่งสบายที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้
เสาหลังคาคู่หน้า ถูกย้ายถอยหลังลงมาอีก 100 มิลลิเมตร ขณะที่ซุ้มล้อ
คู่หน้า ถูกย้ายเลื่อนขึ้นไปข้างหน้าอีก 50 มิลลิเมตร เพื่อให้มีพื้นที่ใน
การจัดวางตำแหน่งแป้นคันเร่งแบบ Organ Type และแป้นเบรก ได้
อย่างสมดุลย์ เพื่อให้ตำแหน่งนั่งขับ อยู่ตรงกลาง ได้อย่างแท้จริง
เบาะนั่ง และโครงสร้างสปริงภายใน ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด จุด
รองรับน้ำหนัก ถูกออกแบบให้อยู่กึ่งกลางของเบาะมากที่สุด เพื่อ
รองรับน้ำหนักของผู้ขึ้นมานั่งได้อย่างดี และจุดต่ำสุดของเบาคนขับ
อาจจะเตี้ยกว่า ตำแหน่งเบาะฝั่งซ้าย นิดหน่อย ส่วนพนักพิงหลัง
ถูกออกแบบให้รองรับการกระจายน้ำหนักของคน เท่าๆกันในทุก
พื้นที่เพื่อให้เกิดการกระจายน้ำหนักตัวผู้ขับขี่อย่างสม่ำเสมอ
เบาะนั่งคู่หน้า มีเบาะรองนั่งสั้นไปหน่อย แต่การรองรับแผ่นหลัง
โดยเฉพาะหัวไหล่ และด้านข้างของสรีระร่าง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ตำแหน่งวางแขน ทั้งบนแผงประตูด้านข้าง และฝากล่องเก็บของ
ก็มากันแบบ ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ จริงๆ
การเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า ยังทำได้สบายใจอยู่เหมือนเคย แต่สำหรับ
ประตูคู่หลัง แล้ว การเข้าไปนั่ง ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่โตไปตามขนาดของ
กรอบประตูที่ดูเหมือนจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ไม่ได้ช่วยอะไร
มากนัก
เบาะนั่งแถวหลัง มีพนักพอิงหลัง ที่แน่นและแข็งกำลังดี ไม่นิ้ม ไม่นุ่ม
และไม่แข็งโป๊ก จนเกินเหตุ แต่เบาะรองนั่ง มีมุมเงยไม่มากนัก สำหรับ
คนขายาว คาดว่า อาจต้องนั่งชันขากันได้นิดๆ แต่โดยรวม ถือว่า พื้นที่
การเดินทางบนเบาะหลัง ยังพอจะยอมรับได้ การวางแขนบนแผงประตู
และพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ ทำได้ดี ไม่ต่างจากตำแหน่งนั่ง คู่หน้า
ภายในตกแต่งทั้ง สี ดำล้วน และ สีดำ ตัดสลับกับสีครีมพร้อมขลิบด้วย
ด้ายสีแดง อย่างที่เห็นอยู่ในรูปนี้ เดาไว้ได้เลยว่าเวอร์ชันไทย เจอกันได้
กับภายในสีดำล้วนตามเคย
ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถของรุ่น Hatchback มีปริมาตรความจุ 572 ลิตร
แต่ถ้าพับเบาะหลังแถวที่ 2 ลง ปริมาตรความจุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1334 ลิตร
ส่วนห้องเก็บสัมภาระท้ายรถของรุ่น Sedan มีปริมาตรความจุ 351 ลิตรฃ
แผงหน้าปัด อาจดูละม้ายคล้ายคลึงกับ BMW 3-Series F30 ใหม่
ชุดมาตรวัด แบ่งเป็น 3 ช่อง คล้าย Volvo V40 ใหม่ (แต่อ่านง่าย
สบายตากว่ากันเยอะ) รวมมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และแสดงเลข
ความเร็ว แบบ Digital ที่เหลือ ปีกข้างทั้ง 2 ฝั่ง ไป
จอ LCD 7 นิ้ว Touch Screen วางอยู่ตรงกลาง เหนือช่องแอร์คู่กลาง
หน้าตาคล้ายจอของ Mercedes-Benz A-Class ใหม่ แต่ใช้สวิชต์
ควบคุมการทำงาน อยู่ด้านข้างลำตัว คล้าย BMW และ Audi และ
มีสวิชต์ เปิด – ปิ ด เร่งหรือหรี่เสียง แบบหมุน ติดตั้งอยู่ข้างๆด้วย
เพื่อควบคุมการทำงานของ ระบบสื่อสารบันเทิง Infotainment
ของ Mazda ที่เรียกว่า ระบบ MZD Connect ประกอบด้วยวิทยุ
AM/FM พร้อมเครื่องล่น CD 1 แผ่น ช่องเสียบ USB และ AUX
ในกล่องเก็บของด้านข้างลำตัว ระบบ MZD Connect จะเชื่อมต่อ
กับโทรศัพท์ Smart Phone ผ่าน Bluetooth สามารถ Update
ระบบ Apps และ โปรแกรมได้ง่ายดาย
นอกจากนี้ ยังสามารถเล่นแอบพลิเคชั่นบน Internet ได้นั่นคือ Aha
โดย HARMAN ให้ผู้ขับขี่สามารถ เลือกฟังคลื่นวิทยุจาก Internet
Radio ได้มากถึง 40,000 สถานี สามารถอ่านข้อความที่ได้รับ ให้
ผู้ขับขี่ ฟัง โดยผ่านเทคโนโลยี Text-to-voice
แถมยัง สามารถรับและส่งข้อความสั้น SMS ผ่านการแสดงผลบนจอ
Touch Screen (แตะสัมผัสได้เฉพาะเมื่อหยุดรถ หากรถแล่นอยู่
ต้องใช้สวิชต์มือหมุนตามเคย) การเขียนปรับแต่งข้อความที่จะส่ง
ทำได้บนหน้าจอ แถมยังเลือกใช้ หรือตั้งค่าข้อความ หรือวลีที่
ใช้บ่อยได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
มีระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Command สามารถสั่งให้เล่น
เพลงซ้ำหรือเลือกเพลงให้แบบ Shuffle รวมถึงการสั่งให้ค้นหา
หรือเลือกอัลบัมเพลง หรือเล่น Facebook โดยสามารถเลือกให้
ระบบอ่านข้อความที่รับมาให้ฟังได้เอง ค้นหาตำแหน่งสถานที่ผ่าน
Internet เพื่อหาแผนที่ ของระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS
Navigation System ผ่าน SD card เป็นอุปกรณ์เสริมให้
เลือกในประเทศญี่ปุ่น
แต่ทั้งหมดที่ร่ายมานี้ มีความเป็นไปได้สูงมากๆ ที่อาจมาโผล่
ในเมืองไทย
พวงมาลัย 3 ก้าน ทรง Sport ขับกระชับมือ ยิ่งกว่าเดิม ถึงจะดูคล้าย
พวงมาลัยของ CX-5 แล Mazda 6 แต่มีการออกแบบ แผง Trim
ประดับ รอบๆ สวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง และระบบล็อกความเร็ว
คงที่อัตโนมัติ Cruise Control ให้เป็นพลาสติกสีดำ กัดลายคล้าย
Carbon Fiber มี Texture เป็นผิวนูน เหตุผลที่ไม่ทำให้เป็นสีเงิน
ไปเลย Ken-san ระบุว่า เพราะ ไม่ต้องการให้เกิดการสะท้อนของ
แสงแดด แยงตาผู้ขับขี่ แม้แต่ Trim ที่ใช้ประดับแผงหน้าปัด หาก
เป็นสีเงิน หรือโครเมียม เขาและทีมวิศวกร จะต้องมั่นใจว่า เมื่อ
ใช้งานจริง มันจะต้องไม่สะท้อนแสงแดด แยงตาเลยแม้แต่น้อย
ไม่เพียงเท่านั้น Mazda ยังติดตั้งระบบด้านความปลอดภัยเชิงป้องกัน
รุ่นใหม่ ในชื่อกลุ่มระบบ i-ACTIVSENSE โดยในรถยนต์ที่นำมาให้เรา
ทดลองขับกันนั้น จะติดตั้ง 3 ระบบสำคัญ ได้แก่
– ระบบแสดงข้อมูล บนกระจกหน้า Head Up Display ในชื่อใหม่
Active Driving Display นำมาติดตั้งใน Mazda 3 เป็นครั้งแรก
เป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ โดยไม่ต้องละสายตาจากพื้นถนน เมื่อ
ติดเครื่องยนต์ แผ่นจอพลาสติกใสขนาดเล็กที่พับเก็บอยู่เหนือมาตรวัด
ความเร็ว จะยกตัวขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลต่างๆทั้ง ความเร็วรถ สัญญาณ
ไฟเลี้ยว หรือ ข้อมูลจากระบบนำทางผ่านดาวเทียม โดยสามารถปรับ
ระดับการแสดงผลได้ จากหน้าจอ LCD Touch Screen และเมื่อ
ดับเครื่องยนต์ หน้าจอจะพับเก็บลงไปเอง
เหตุผลที่ ไม่ออกแบบให้ยิงข้อมูลเหล่านี้ ขึ้นกระจกบังลมหน้ารถไปเลย
เหมือนเช่น Nissan Silvia S13 , Toyota Prius , BMW หรือ
ผู้ผลิตรายอื่นๆ นั้น Ken-san อธิบายว่า ระบบเหล่านั้น ต้องใช้อุปกรณ์
ที่มีน้ำหนักมากกว่า และมีต้นทุนแพงกว่า การเลือกใช้ระบบที่ Mazda 3
ติดตั้งอยู่นี้ ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า และมีต้นทุนถูกกว่า
แต่แสดงข้อมูลได้ดีเหมือนกัน
– ระบบเตือนภัยจากวัตถุที่เคลื่อนเข้ามาด้านหลัง Rear Vehicle Monitoring
(RVM) ระบบจะช่วยเตือนภัยจากวัตถุที่เคลื่อนเข้ามาด้านหลังและด้านข้าง
ที่เป็นจุดบอดจากการมองเห็นในขณะขับขี่ (คล้ายกับระบบ Blind Spot
Monitoring ของ Volvo)
– ระบบช่วยหยุดรถอัจฉริยะ Smart City Brake Support (SCBS) ในขณะ
ขับขี่ที่ความเร็ว 4-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบ SCBS จะช่วยป้องกันโอกาส
ในการชนเมื่อ ชุดเลเซอร์เซนเซอร์ด้านหน้าตรวจจับวัตถุสิ่งกีดขวาง ระบบ
จะคำนวณความเสี่ยงในการเกิดการชนปะทะ ถ้าผู้ขับขี่ไม่ยอมเหยียบเบรก
ระบบจะสั่งการไปที่แป้นเบรกให้กดตัวลงอัตโนมัติทันที เพื่อสั่งหยุดรถ
(เป็นระบบที่คล้ายคลึงกับ City Safety ใน Volvo S60 , XC60 นั่นเอง)
ด้านรายละเอียดทางเทคนิคนั้น ในตลาดโลก Mazda 3 จะใช้เทคโนโลยี
SKYACTIV เต็มรูปแบบ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง โครงสร้างตัวถัง
และระบบบังคับเลี้ยว เพื่อผลในการลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และเค้น
สมรรถนะจากตัวเครื่องยนต์เอง ออกมาได้เต็มที่ รวมทั้ง ลดแรงเสียดทาน
ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทุกระบบทั่วทั้งคันรถ แถมยังมีการรีดน้ำหนักเพิ่มเติม
เพื่อเพิมประสิทธิภาพ ให้กับตัวรถเพิ่มมากขึ้น
โดยขุมพลัง จะเป็นตระกูล SKYACTIV-G ในตลาดโลก มีให้เลือกกัน
ทั้งหมด 4 แบบหลักๆ เริ่มจาก P5-VPS 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,496 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้
Direct Injection 111 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 14.7 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที
รวมทั้งขุมพลัง รหัส SH-VPTR Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,188
ซีซี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ Common-Rail พ่วงด้วย Turbocharger
แบบ 2-Stage 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 42.8
กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที
และในญี่ปุ่น จะมีขุมพลัง HYBRID ให้เลือก ในรหัส PE-VPH บล็อก 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ กำลังอัด 14.0 : 1
14.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้ Di (Direct Injection)
พร้อมระบบ Miller Cycle ลดกำลังลงเหลือ 99 แรงม้า (PS) ที่ 5,200
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เชื่อมกับ
มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ MG 82 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 21.1 กก.-ม.
มาให้โดยเฉพาะ
แต่ขุมพลังหลัก ซึ่งจะมีขายทั้งในญี่ปุ่น และเมืองไทย นั่นคือเครื่องยนต์
ใหม่ SKYACTIV-G รหัส PE-VPR บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1997 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงแบบฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ Di พร้อมระบบ
แปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟท์ทั้งฝั่งไดดีและไอเสีย Dual S-VT
ในเมื่อ เวอร์ชันที่ลองขับกัน เป็นสเป็กญี่ปุ่น ดังนั้น ตัวเลขอัตราส่วน
กำลังอัด จึงถูกลดลงมากอยู่ในระดับ 13.0 : 1 ทำให้ กำลังสูงสุด
ก็จะจำกัดไว้แค่เพียง 155 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 21.4 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
แต่สำหรับ เวอร์ชันไทย จะถูกปรับอัตราส่วนกำลังอัดกลับมาอยู่ที่
อยู่ที่ 14.0 : 1 และ มีการปรับจูนให้เติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ E85
ได้จากโรงงาน หมายความว่า ตัวเลขกำลังสูงสุด จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น
165 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.4
กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
เวอร์ชันญี่ปุ่นทั้ง 6 คัน เป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ
6 จังหวะ พร้อม Lock-up Torque Converter SKYACTIV-
Drive อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1…………………………..3.552
เกียร์ 2…………………………..2.022
เกียร์ 3…………………………..1.452
เกียร์ 4…………………………..1.000
เกียร์ 5…………………………..0.708
เกียร์ 6…………………………..0.599
เกียร์ถอยหลัง……………………3.893
อัตราทดเฟืองท้าย……………….4.325
ในช่วงแรกนั้น ได้รับทราบมาว่า Mazda จะเลือกเปิดตัว เครื่องยนต์
2,000 ซีซี เพียงแบบเดียวก่อน เพราะ ตัวเลขความประหยัดน้ำมัน
ทำได้ดีกว่า เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ใน Mazda 3 รุ่นเดิม อย่างมาก
แต่ ในระยะต่อไป ขุมพลัง SKYACTIV-G 1,800 ซีซี มีแนวโน้มสูง
มากๆ ว่าจะมาทำตลาดแทนเครื่องยนต์ MZR 1,600 ซีซี เดิม เพราะ
จากการสำรวจตลาดพบว่า ตัวเลขยอดขายของรถยนต์กลุ่ม Compcat
C-Segment ในตอนนี้ กว่า 60 – 65% เป็นขุมพลังพิกัด 1,800 ซีซี
ในขณะที่ รุ่น 1,600 ซีซี นั้น หากไม่นับตลาด Taxi แล้ว Toyota
Corolla Altis CNG จะกวาดต้อนลูกค้าไปจนเกือบหมดสิ้น ฉะนั้น
ในเมื่อ แนวโน้มของตลาดเป็นเช่นนี้ Mazda จึงเลือกจะเปลี่ยนแนว
การทำตลาด Mazda 3 ออกไป โดยจะหันไปวางขุมพลัง 1,800
ซีซี แทน 1,600 ซีซี รวมทั้งจะมีเครื่องยนต์ ที่ใช้พลังงานทางเลือก
อย่าง SKYACTIV CNG ให้เลือกในอนาคต เพียงแต่ในช่วงเปิดตัว
จะเริ่มจากรุ่น 2,000 ซีซี กันไปก่อน
เพียง 3 รอบสนาม ระยะทาง 8.4 กิโลเมตร ก็เพียงพอให้จับสัมผัสได้ชัดเจน
ว่า รถรุ่นใหม่ ให้การตอบสนองที่ดีขึ้นกว่ารุ่นปัจจุบันในทุกๆด้าน
เริ่มจาการตอบสนองของเครื่องยนต์ บอกเลยครับว่า ขอให้คุณผู้อ่าน จง
ลืมนิสัยดั้งเดิม ในเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรทุกตัวที่ Mazda เคยทำมา ทิ้งไปซะ
เพราะการยกขุมพลัง CX-5 มาวางลงใน ตัวถังที่เบากว่า เตี้ยกว่า และลู่ลม
มากกว่า ช่วยให้ผมได้เห็นถึงศักยภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
อัตราเร่ง กระฉับกระเฉงขึ้นกว่าเดิมชนิดสัมผัสได้ชัด ไม่อืดอาดยืดยาด
แรงดึงที่เกิดขึ้น มีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอาการสะดุดจากการเปลี่ยนเกียร์
เสียงเครื่องยนต์ ที่แผดคำรามอย่างไพเราะเพราะได้รับการปรับแต่งเสียง
มาอย่างดี ไม่ว่าจะเหยียบคันเร่งลงไปเต็มมิด หรือแค่ครึ่งเดียว เกียร์
อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE ก็ช่วยประสานงานได้อย่างดี ไม่กระตุก
อีกทั้ง อาการ Torque Slip (เหยียบคันเร่งจากจุดหยุดนิ่ง แล้วมาตรวัด
รอบเครื่องยนต์ กระตุกขึ้นไปที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ รถยังไม่เคลื่อน
ออกจากจุดหยุดนิ่งในทันที) ลดน้อยลงจนแทบจะไม่เหลือให้เห็นอีก
เกียร์ลูกใหม่นี้ ฉลาดขึ้นกว่าเกียร์อัตโนมัติของ Mazda รุ่นเก่าเยอะมาก
แถมยังทำงานได้ไว ถ้าคุณตบแป้น Paddle Shift ลง 2 จังหวะรวดเดียว
เช่น จากเกียร์ 5 ไป เกียร์ 3 มันก็จะทำงานอย่างฉับไว ทันที ไม่หน่วง
ไม่อืดอาด การเปลี่ยนเกียร์ เกิดขึ้นไวกว่าเดิมมากๆ จนแทบใกล้เคียง
กับ เกียร์อัตโนมัติ DSG ของรถยนต์ในกลุ่ม Volkswagen Group
Skoda และ Audi เลยละ! นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนใน
Mazda 3 ทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา
การเก็บเสียง คงไม่สามารถบอกอะไรได้มากนัก เพราะการขับอยู่ใน
สนามท่ามกลางขุนเขา มีเพียงตัวเรา และรถยนต์ อีก 3 คัน ที่แล่น
กระจายๆ กัน ห่างๆในสนาม มันก็แทบไม่มีเสียงรบกวนอะไรให้คุณ
รำคาญใจอยู่แล้ว ยาง Toyo Proxes T1 จะกรีดร้องเอี๊ยดอ๊าด
เฉพาะ เมื่อตอนเข้าโค้งเร็วกว่าปกติ จนถึงช่วงที่ ยางถูกใช้งาน
หลายรอบสนามไปจนเริ่มร้อนได้ที่เท่านั้น เสียงรบกวนจากพื้นถนน
ก็ไม่ได้ดังเข้ามามากมายอย่างที่เจอใน Mazda 3 รุ่นเดิม
แต่ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า หากคุณคาดหวังรถยนตฺที่ขับขี่เล่นโค้งได้
มั่นใจ และสนุกสนาน Mazda 3 ใหม่ ยังคงบุคลิกเดิมๆ และเติม
ความสนุกในโค้งให้คุณได้อย่างดีเหมือนเคย แถมยังเก็บอาการ
ไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้นมากๆ อีกด้วย
แต่ถ้าคุณคาดหวังความดิบเถื่อน แข็งๆ สะใจๆ ต้องบอกเลยว่า มัน
อาจจะไม่ได้ดิบเหมือน Mazda ในสมัยก่อนแล้ว เพราะรถรุ่นใหม่
แน่น หนึบ แต่ ซับแรงสะเทือนดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อเอาใจลูกค้าทั่วไป
กลุ่มใหญ่ทั่วโลกมากขึ้น เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากรุ่นก่อนๆ
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พิเนียนไฟฟ้าพร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง EPS
ในชื่อ Mazda Mechatronic Column-type Electric Power
Assist Steering System ที่มีกลไก ขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา
ด้วยอัตราทด 14.1:1 รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.1 เมตร หมุนง่ายมากกว่า
Mazda 6 และ CX-5 ในย่านความเร็วต่ำ แต่ก็ยังหนืดกว่า พวงมาลัยของ
ทั้ง Toyota Corolla ALTIS รุ่นที่แล้ว กับ Honda Accord G9 (ซึ่ง
ทั้งคู่นั่นก็เซ็ตมาไวไปหน่อย) อยู่นิดนึง แต่ถึงแม้จะเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ทว่า
การตอบสนอง ก็ไม่ได้ทื่อเป็นหุ่นยนต์ Robocop อีกต่อไป คราวนี้มันกลับ
มามีชีวิตชีวาในการควบคุม มีน้ำหนักเบาในช่วงความเร็วต่ำและนิ่งดีขึ้น
เมื่อใช้ความเร็วแถวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อถึงช่วงต้องหักเลี้ยว
ซิกแซก แบบสลาลอมตามกรวยไพลอน ถ้าคุณหมุนพวงมาลัยในทันที
ล้อก็จะพยายามทำงานให้คุณตามสั่ง ไวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แทบไม่มี
อาการหน่วงเนือย อิดออดแต่อย่างใด เป็นพวงมาลัยค่อนข้างไว เลี้ยวได้
คล่องแคล่ว ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้การบังคับควบคุมขึ้นชัดเจน และมี
น้ำหนักหน่วงมือ รวมทั้ง On center feeling ดีขึ้นจากพวงมาลัยของ
รถรุ่นเดิม
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์
พร้อมคอยล์สปริงทั้งหน้าและหลัง ถูกปรับเซ็ตใหม่ ย้ายตำแหน่งจุดยึด ของแขน
เทรลลิงอาร์ม ด้านหลังใหม่ ทำให้มีบุคลิกแบบ แน่น หนึบ แต่เบา และไม่แข็ง
กระด้างอย่างไร้เหตุผล การควบคุมอาการโยนตัว ขณะเข้าโค้ง ถือว่าทำได้ดีและ
มั่นใจได้มากกว่าที่คิดไว้ แถมยังขับสนุก คล่องแคล่วขึ้นมาก ลดความอุ้ยอ้าย ลง
อากัปกิริยาของรถขณะเข้าโค้งนั้น ถ้าคุณหักเลี้ยวฉับพลัน อาจพบอาการบั้นท้าย
ออกด้านข้างนิดๆ กำลังดี ซึ่งเป็นบุคลิกของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังในแบบที่
ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว มีการควบคุมอาการโคลง (Yaw) ได้ดีขึ้นมาก แต่ถ้า
ไม่เข้าโค้งเร็วเกินไป ล้อหลังไม่หลุดออกจากโค้งหรอกครับ เพราะมีระบบควบคุม
เสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control) ทำงานร่วมกับ ดิสก์เบรก
ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
และ ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)
ช่วยทำงานเอาไว้อยู่ อันที่จริงแล้ว นิสัยในการเข้าโค้ง ก็แทบจะคล้ายๆกับพี่ใหญ่
อย่าง Mazda 6 อยู่พอสมควร (โดยส่วนตัว ผมชอบรถที่บั้นท้ายออกนิดๆในโค้ง)
แต่ถ้าคุณจงใจเติมคันเร่งในโค้งให้มากขึ้น หน้ารถขณะเข้าโค้งก็จะบานออก
เป็นปกติ ของรถขับเคลื่อนล้อหน้านั่นเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ระบบเบรกตอบสนองดีมาก หน่วงความเร็วได้ฉับไว หนักแน่น แต่นุ่มนวล
สุภาพ แอบมั่นใจได้กว่า เบรกของ CX-5 นิดนึงด้วยซ้ำ ถ้าคุณเหยียบเบรก
กระทันหัน ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light จะติดสว่างขึ้นมา เพื่อแจ้งรถคันที่
ขับตามหลังคุณ ให้ทราบ และหาทางเตรียมรับสถานการณ์ ไม่ให้พุ่งชนคุณ
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
3 ปีที่ผ่านไป 3 ใหม่ ยิ่งดีขึ้น…หนึบแน่นขึ้น แต่เบาขึ้น และขับสนุกยิ่งกว่าเคย
ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า จากวันที่ได้มีโอกาสลองขับ Mazda 3 Hatchback 2.0 ลิตร
คันสีแดง พรางตัว วนขึ้นๆ ลงๆ รอบๆ ทางด่วนวงแหวนกาญจนภิเษก เมื่อช่วง
เดือนมีนาคม 2011 เพียง 3 ปีให้หลัง Mazda ก็พาผมมาพบกับ พัฒนาการใหม่่
ล่าสุดของ Mazda 3 ใหม่ กันอย่างทันใจ ส่งผลให้ รุ่นปัจจุบัน เจเนอเรชันที่ 2
ต้องมีอายุตลาดเหลืออยู่เพียง 3 ปี เท่านั้น สั้นที่สุดในบรรดา Mazda ทุกรุ่นที่
เคยถูกผลิตออกสู่ตลาดเมืองไทย
แต่การตัดสินใจนำรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน มาเปิดตัวฉับไว ตามเกาะติด
ตลาดโลกในคราวนี้ ถือเป็นการเดินเกมอย่างถูกต้องตามครรลองกันเสียที
เพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคทั้งหลาย เขารับรู้การมาถึงของรถยนต์รุ่นใหม่กัน
รวดเร็วผ่านทาง Internet และ สังคม Social Media หมายความว่า ยิ่ง นำ
รถยนต์รุ่นใหม่ๆเข้ามา ผลิตและเปิดตัวในเมืองไทย ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะ
ยิ่งรักษาระดับเปลวไฟแห่งกิเลสในใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ลดโอกาส
ปัญหาลูกค้ารอคอยนาน จนไฟมอดดับ เก็บพับโครงการซื้อ แล้วหันไปหา
รถยนต์ค่ายอื่นมาใช้แทน ลดโกาส ชวดลูกค้าและรายได้ไปหลายขุม
แถมคราวนี้ เจเนอเรชันที่ 3 ของ Mazda 3 ถูกยกระดับขึ้นไปให้ดีกว่าเดิม
ในทุกจุด ด้วยกลุ่มเทคโนโลยี SKYACTIV จึงทำให้ สมารรถนะของ
รถรุ่นใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดในรอบด้าน ชนิดที่ต้องพูดกัน
ตรงนี้เลยว่า..หากใครบอกคุณว่า SKYACTIV เป็นแค่ราคาคุย เชื่อเถอะ
ว่าไอ้คนที่พูดหนะมันยังไม่เคยลองขับ Mazda ยุคใหม่ๆ เหล่านี้แน่ๆ!
อัตราเร่งที่กระฉับกระเฉงกว่าเดิมจนสัมผัสได้ ความคล่องแคล่ว กระชับ
และทะมัดทะแมงขณะขับขี่ การปลี่ยนเกียร์ที่ทำได้นุ่มนวลขึ้นแถมยัง
ฉับไวใกล้เคียงกับเกียร์อัตโนมัติคลัชต์คู่ DSG ของค่าย VW พวงมาลัย
ที่เบาแต่ไม่หวิวในความเร็วต่ำ กระชับฉับไวในการหักเลี้ยว และมั่นคง
ยิ่งขึ้นในช่วงความเร็วสูง ช่วงล่างที่แน่น หนึบ แต่มีการให้ตัว และ
ยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความสนุกในการขับขี่ สิ่งเหล่านี้
ล้วนมีอยู่ครบใน Mazda 3 ใหม่ทั้งสิ้น
เพียงแต่ คุณต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่า มันอาจจะไม่ได้ดิบเถื่อน
สะเทือนตึงตัง อย่างที่คนรักช่วงล่าง Mazda แนวดิบๆ โปรดปราน
อีกทั้ง ยังต้อง ทำใจกับการลุกเข้า – ออก จากเบาะแถวหลัง ซึ่งแม้
จะมีช่องทางเข้าใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังต้องก้มหัวหลบเยอะขึ้นอยู่ดี
นี่ยังไม่นับกับประเด็นใหม่ ที่เรายังต้องรอดูกันต่อไปจนกว่าจะถึง
วันเปิดตัว ในช่วงเดือนมีนาคม และหลังจากนั้น ว่า จะเป็นไปตาม
สิ่งที่ผมพูดเอาไว้ ข้างล่างนี้หรือไม่…
1. ในช่วงแรกที่เปิดตัว Mazda 3 ใหม่ จะมีเฉพาะเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
SKYACTIV-G เท่านั้น
2. จะไม่มีรุ่นเครื่องยนต์ Diesel 2.2 ลิตร Common Rail Turbo ให้เลือกแน่นอน
3. แต่ที่น่าสนใจก็คือ จะไม่มีขุมพลัง เบนซิน 1.6 ลิตร อีกต่อไป
4. เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร จะถูกแทนที่ด้วย ขุมพลังใหม่ SKYACTIV-G
1.8 ลิตร ที่ยังไม่เปิดตัวออกสู่ตลาดแห่งใดในโลกมาก่อน
5. หลังจากนั้นไปพักใหญ่ๆ ทำใจได้เลยว่า เราอาจได้เห็นการเปิดตัว
Mazda 3 SKYACTIV-CNG ในเมืองไทย กันแน่ๆ แต่ตอนนี้ ยัง
ไม่มีการยืนยันสเป็กเครื่องยนต์ที่แน่นอนนัก รู้แต่ว่า อาจไม่ใช่
พิกัด 2.0 ลิตร เหมือนอย่างที่จัดแสดงใน Tokyo Motor Show
เดือนตุลาคม 2013
6. และในช่วงเปิดตัวนั้น มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ที่เราอาจได้เห็น ราคาเริ่มต้นของ รุ่น 2.0 ลิตร อยู่ที่ระดับ 6 หลัก
โดยมี เลข 8 ขึ้นต้นนำหน้า ไม่ว่ามันจะเป็น หลักต้นๆ หรือปลายๆ
ก็ตามเถอะ (ส่วนรุ่นท็อป ยังไงๆ ทะลุหลักล้านไปพอสมควรแน่ๆ)
ประเด็นเหล่านี้ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำตอบทั้งหมด อาจยังไม่เกิดขึ้น
ในวันเปิดตัว ช่วงเดือนมีนาคม 2014 แต่อาจจะมีให้คุณได้อ่านกันจนหาย
ข้องใจ ในบทความ Full Review…
ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะคลอดได้เมื่อไหร่..แต่ที่แน่ๆ ไม่เกินสิ้นปี 2014 นี่ละ!
————————-///————————–
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณสุรีย์ทิพย์ ละอองทอง
คุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธุ์
คุณอุทัย เรืองศักดิ์
บริษัท Mazda Sales (Thailand) จำกัด
Mr.Ken Saruwatani : Mazda 3 Program Manager
& Mr.Kengo Fukushima : Deputy Program Manager, Vehicle Development
Mazda Motor Corporation , Hiroshima , Japan
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้ อย่างดียิ่ง
คุณพีรพงษ์ กลั่นกรอง
และทีมงาน บริษัท i-inspire จำกัด
สำหรับการจัดงานและดูแลความปลอดภัยอย่างเป็นเยี่ยม
และ คุณ Pao Dominic สำหรับการจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้น
—————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นของ คุณ ขวัญชัย (พี่นก)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
18 มกราคม 2014
Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 18th,2014
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE