ในชีวิตของพวกเรา เวลาได้ไปต่างประเทศ คุณจะมีบางครั้ง ที่ได้พานพบกับสิ่งแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของเล่น (ทั้งของเด็ก..และ..ของผู้ใหญ่) เครื่องใช้ไอที รวมถึงรถยนต์ ในวัยเยาว์ การได้ไปเมืองนอกเมืองนาของผมในแต่ละครั้งนั้น ความตื่นเต้นมันอยู่ที่การได้สัมผัสรถแปลกๆที่ผมรู้ว่าคงหาทางเจอตัวจริงได้ยากในประเทศไทย
ประสบการณ์ครั้งล่าสุดของผมนี้ ก็ให้ความรู้สึกคล้ายกับที่ผมเคยพบในวัยเด็ก แต่มันอาจจะซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วม Toyota Media Trip 2017 ซึ่งนอกจากจะพาไปชมงาน Tokyo Motor Show ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีทีเด็ดที่ผมไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้สัมผัสกับเขาด้วย
รถที่ว่านี้ยังไม่ได้จำหน่ายในประเทศไทย แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนอ่าน Headlightmag นับร้อยท่านเคยเห็น และ ถ่ายรูปส่งมาให้ทีมงานมาแล้ว บางคนอาจจะเคยเดินเฉียดมาแล้วก็ได้ !
คุณจำได้ไหมครับ? ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา จะมีหลายท่านถ่ายภาพรถทรงหลังคาสูงๆ ติดสติกเกอร์พรางตัว วิ่งไปวิ่งมาในกรุงเทพโดยที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่ารถคันนั้นน่ะ มันคือรถอะไร และมันมาทำอะไรที่ประเทศไทย..ผมจะเฉลยให้ว่า มันก็คือเจ้า Toyota JPN Taxi คันที่ผมกำลังจะพาท่านไปชมเนี่ยล่ะครับ
Toyota มีประวัติในการทำรถเพื่อนำมาใช้เป็นรถ Taxi ตั้งแต่ปี 1936 ในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้รถ Toyota Crown Comfort เป็นรถ Taxi ซึ่งผลิตออกมาตั้งแต่ปี 1995 มีมิติตัวรถ ยาว 4,560 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร และสูง 1,525 มิลลิเมตร ะยะฐานล้อ 2,680 มิลลิเมตร
รถเหล่านี้จะติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน รหัส 1TR-FPE ขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1ให้กำลังสูงสุด 114 แรงม้า ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 189 นิวตันเมตร ที่ 3,600 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ หรือ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
จากปี 1995 ก็มีการปรับปรุงในเรื่องอุปกรณ์มาตลอด จนถึงปัจจุบัน Toyota Crow Comfort มีอายุมากกว่า 22 ปีแล้ว ใช้เป็น Taxi ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น เห็นกันจนคุ้นตา ทาง Toyota จึงมองเห็นถึงการจัดสร้างรถที่ใช้เป็น Taxi และ ตอบโจทย์ในการขนส่งผู้โดยสารในทุกรูปแบบจึงทำให้มีการพัฒนา JPN Taxi ขึ้น มีการเปิดตัวรถต้นแบบ JPN TAXI Concept Tokyo Motor Show 2013 และ พัฒนามาสู่เวอร์ชั่นจำหน่ายจริง
ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ Toyota ก็มีการนำ JPN Taxi มาวิ่งทดสอบในประเทศไทยด้วย หลายๆท่านคงจะเคยได้เห็น รถทรงสูงที่ถูกพรางตัว วิ่งทดสอบอยู่ตามท้องถนนในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2015 ซึ่งสร้างความสงสัยให้แก่ผู้ที่พบเห็นไม่น้อย มันคือรถอะไรกัน ? ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเราก็ได้ทราบคำตอบว่า มันคือรถ Prototype ของ Toyota JPN Taxi Concept ถูกนำมาจัดแสดงในงาน Tokyo Motor Show 2013 นั่นเอง
ก่อนหน้างาน Tokyo Motor Show 2017 Toyota ก็เปิดตัว และ เริ่มส่งมอบ JPN Taxi อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2017 เป็นวันแรก Mr.Hiroshi Kayukawa Chief Engineer ผู้รับผิดชอบโครงการ JPN Taxi คันนี้ได้บอกเอาไว้ว่า ในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Tokyo Olympics และ Paralympics รวมไปถึงในตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นโจทย์ในการออกแบบรถให้เป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น และ สามารถตอบสนองผู้โดยสารได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้สูงอายุ และ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษที่ใช้ Wheelchair ซึ่งมีปัญหาการใช้งานรถ Taxi ที่วิ่งกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
งานออกแบบภายนอกของ JPN Taxi ในส่วนด้านหน้ารถ ถอดแบบมาจาก Toyota Crown Comfort ที่หดหน้าให้สั้นลง กระจกมองข้างแบบหูช้าง อยู่หน้ารถดูคุ้นตา ส่วนภายในห้องโดยสาร และ ด้านท้ายให้ความรู้สึกเหมือนรถ London Taxi โดยการออกแบบของ JPN Taxi จะเน้นไปที่ผู้โดยสารเป็นหลัก ห้องโดยสารดูโปร่ง มีพื้นที่ทั้ง Headroom และ Legroom ค่อนข้างกว้าง ในขณะที่ตัวรถถ้ามองจากภายนอก จะดูไม่ใหญ่มาก คล้ายกับรถ K-Car ที่ภายนอกคันเล็ก แต่จัดสรรพื้นที่ภายในห้องโดยสารได้กว้างขวาง
การเข้าออกจากตัวรถ ถือเป็นจุดเด่นของ JPN Taxi ที่ผสมผสานประตูทั้ง 2 แบบเอาไว้ในรถคันเดียว ด้านซ้ายจะเข้าออกได้จากประตูสไลด์ เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ พื้นห้องโดยสาร จะเรียบไม่มีขอบพื้นด้านล่างบริเวณธรณีประตู ซึ่งทำให้สะดวกต่อการวางสะพานเชื่อม สำหรับการเข็นรถ Wheelchair เข้าออกตัวรถได้ง่าย คนขับสามารถสั่งเปิด-ปิด ประตูได้ จากสวิตช์ควบคุมบริเวณคนขับ ส่วนด้านขวา จะเป็นประตูบานสวิงเหมือนรถปกติ
ภายนอกตัวรถสำหรับ JPN Taxi จะใช้สีหลักๆ คือ สีน้ำเงิน Koiai Deep indigo ซึ่งสีน้ำเงินเข้มนี้ เป็นสีที่อยู่ในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นมาช้านาน ทั้งเสื้อผ้า ถ้วยชาม จิตรกรรมภาพวาด ดูเป็นมิตร และ ดูเป็นทางการ ไม่ว่าจะในโอกาสใดก็ตาม แต่ก็มีทางเลือก อีก 2 สีให้ด้วยเช่นกัน คือ สีขาว Super White II และ สีดำ
สำหรับขนาด และ มิติตัวถังของ JPN Taxi มีดังนี้
- ยาว 4,400 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 สูง 1,750 มิลลิเมตร
- ระยะฐานล้อ : 2,750 มิลลิเมตร
- ระยะต่ำสุดถึงพื้น ground clearance : 145 มิลลิเมตร
- น้ำหนักตัวรถ 1,390 กิโลกรัม (รุ่น Nagomi) – 1,410 กิโลกรัม (รุ่น Takumi)
ความกว้างของช่องประตูเมื่อเปิดประตูสไลด์ฝั่งซ้าย มีช่องทางเข้าให้ผู้โดยสารกว้างถึง 720 มิลลิเมตร และ สูง 1,300 มิลลิเมตร ส่วนระยะจากพื้นถนนถึงพื้นตัวรถอยู่ที่ 320 มิลลิเมตร โดยเป็นพื้นเรียบทั้งหมด
ทั้ง 2 รุ่นย่อยของ JPN Taxi ใช้ขุมพลังเดียวกัน คือ Toyota Hybrid System II (THS II) และ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้เชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ได้อีกด้วย
เครื่องยนต์เบนซิน รหัส 1NZ-FXP ขนาด 1.5 ลิตร 1,496 ซีซี. Toyota Hybrid System II กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 75.0 x 84.7 มิลลิเมตร ให้กำลังสูงสุด 74 แรงม้า ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 111 นิวตันเมตร ที่ 2,800 – 4,400 รอบ/นาที
ทำงานร่วมกับ มอเตอร์ไฟฟ้า Synchronous AC 2LM ให้กำลัง 61 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 169 นิวตันเมตร เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า รวมพละกำลังได้สูงสุด 100 แรงม้า แบตเตอรี่ Ni-MH ขนาด 6.5Ah จับคู่กับ เกียร์อัตโนมัติ แบบ Electric Continuously Variable Transmission (E-CVT) ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อย CO2 ที่ 87g. / km.
เครื่องยนต์ของ JPN Taxi นั้นมีพื้นฐานมาจากเครื่องยนต์ของ Toyota Sienta Hybrid แต่ไฮไลต์อยู่ที่ ความแตกต่างของเชื้อเพลิง เพราะรถแท็กซี่ Toyota Crown Comfort ในญี่ปุ่น นิยมใช้ก๊าซ LPG ดังนั้น Toyota JPN Taxi จึงได้มีการติดตั้งถังก๊าซ LPG เข้าไปด้วย ความจุถังแก๊ส LPG 52 ลิตร เพื่อเป็นพลังงานให้กับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร มีการปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆให้รองรับเชื้อเพลิงชนิดนี้ได้ดีขึ้นด้วย เช่น บ่าวาล์วที่ทนทานขึ้น แคมชาฟท์, ลูกสูบ รวมถึงแหวนสูบก็ต่างกันด้วย
Toyota เคลมตัวเลขอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงก๊าซ LPG ของ JPN Taxi อยู่ที่ 19.4 km/l (มาตรฐาน JC08)
สำหรับรายละเอียดทางเทคนิคของ Toyota JPN Taxi มีดังนี้
ระบบช่วงล่าง Suspension
- ด้านหน้า แบบ MacPherson strut กับคอยล์สปริง
- ด้านหลัง แบบ Trailing link axle-type กับคอยล์สปริง (3-Links)
ระบบเบรก
- ด้านหน้า แบบ ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน
- ด้านหลัง แบบ ดรัมเบรก
ล้อ และ ยาง
- ล้อกระทะ พร้อมฝาครอบ ขนาด 15 นิ้ว พร้อมยาง 185/65R15
- ล้ออัลลอย ขนาด 15 นิ้ว พร้อมยาง 185/65 R15 (สั่งพิเศษเพิ่มเงินเอง)
ระบบความปลอดภัย
- ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS
- ระบบกระจายแรงเบรก EBD
- ระบบสัญญานไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกกระทันหัน ESS
- สัญญาณเตือนรัดเข็มขัดทุกตำแหน่งที่นั่ง
- เซนเซอร์กะระยะช่วยจอดด้านหน้า – ด้านหลัง รวม 8 ตำแหน่ง
- ระบบควบคุมการหักเลี้ยวขณะพื้นผิวถนนเปียกหรือลื่น S-VSC
- ระบบช่วยควบคุมการทรงตัว VSC
- ระบบป้องกันการลื่นไถล TRC
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย)
นอกจากนี้ยังมีระบบ Active Safety หรือ ป้องกันก่อนเกิดเหตุอย่าง Toyota Safety Sense C ประกอบด้วย
- ระบบความปลอดภัยก่อนการชน และ เบรกอัตโนมัติ Pre-Collision System
- ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมหน่วงพวงมาลัยอัตโนมัติ Lane Departure Warning With Steering Assist
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Automatic High Beam Control
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว Advance Car Launch Notification Function
- ระบบป้องกันการออกตัวผิดพลาดในขณะจอดรถ Intelligent Clearance Sonar
หลังจากพูดถึงสเป็คตัวรถกันเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาได้ลองนั่ง JPN Taxi คันจริงกันแล้ว โดย Toyota จัดให้พิเศษเฉพาะสื่อมวลชนในกลุ่มประเทศ Southeast Asia ได้นั่ง Toyota JPN Taxi รุ่นใหม่จากโรงแรมในโตเกียว (Tokyo) ไปยังสถานที่จัดงาน Toyota Media Trip ที่เมืองโยโกฮาม่า (Yokohama) รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
Toyota JPN Taxi นับสิบๆคัน มาจอดเรียงรายที่หน้าโรงแรม Keio Plaza ดึงดูดสายตาแขกที่มาพักในโรงแรม รวมไปถึงผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา เพราะพวกเราจะเป็นคนกลุ่มแรก ที่ได้ลองนั่ง JPN Taxi รุ่นใหม่นี้ในโตเกียว
มาที่ตัวรถคันจริง ขนาดของตัวรถนั้นมองด้วยสายตา ถือว่าไล่เลี่ยกับ Sienta แต่เมื่อมาดูที่ตัวเลขมิติตัวรถกลับพบกว่า JPN Taxi นั้นยาวกว่า Sienta ถึง 165 มิลลิเมตร และ สูงกว่า 55 มิลลิเมตร จากหลังคาที่เพิ่มความสูงขึ้นมา
เหล่า JPN Taxi นับสิบคันที่มารอรับพวกเราหน้าโรงแรม เป็นเกรดรุ่นย่อย Takumi สีตัวถัง สีน้ำเงิน Koiai Deep indigo ด้านหน้าโดดเด่นมาแต่ไกล ด้วยกระจกมองข้างแบบหูช้างที่ติดตั้งอยู่บริเวณมุมหน้ารถทั้ง 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ให้อารมณ์คล้ายกับ Crown Comfort ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้าโครเมียมก็ดูเสมือนยกมาเช่นกัน ประกบด้วยไฟหน้า Projector Lens แบบ LED พร้อมไฟ Daytime Running Lights
ด้านข้างตัวรถอาจจะดูสัดส่วนแปลกตาไป เพราะมีการเพิ่มความสูงของหลังคา คล้ายๆกับรุ่น Commuter ที่ต่างจาก Hiace เพื่อเพิ่มพื้นที่เหนือศีรษะ หรือ Headroom ภายในห้องโดยสารให้โปร่งสบายกว่ารถทั่วไปในขนาดใกล้เคียงกัน
ไฮไลต์อีกจุดหนึ่งของ JPN Taxi คือ บานประตูด้านหลังทั้ง 2 ข้าง จะแตกต่างกัน ด้านขวาจะเป็นประตูบานสวิงปกติเหมือนรถทั่วไป แต่ด้านซ้ายซึ่งเป็นฝั่งที่ผู้โดยสารจะขึ้นเป็นหลัก (ญี่ปุ่นรถพวงมาลัยขวา ขับรถชิดซ้าย เช่นเดียวกับประเทศไทย) จะเป็นประตูสไลด์ เปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า ซิึ่งคนขับสามารถสั่งเปิด-ปิดได้จากสวิตช์บริเวณคนขับ เหมือนกับ Crown Comfort มีไฟส่องสว่างสีฟ้าอยู่ที่ปลายประตูติดตั้งอยู่ เพื่อความปลอดภัย
ในรุ่นท้อปอย่างรุ่น Takumi มือเปิดประตูภายนอกจะเป็นโครเมียม ส่วนล้อติดรถ ถ้าไม่ได้สั่งเพิ่ม Option จะเป็นล้อกระทะมาตรฐาน ขนาด 15 นิ้ว พร้อมฝาครอบลวดลายสวยใช้ได้ ยางที่ติดรถมาเป็น Dunlop SP TX-01 ขนาด 185/65 R15 แก้มค่อนข้างหนา เน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก
ด้านท้ายรถกระจกบังลมหลังขนาดใหญ่ ติดตั้งใบปัดน้ำฝนจากด้านบน ประตูบานหลังจะเป็นแบบเปิดขึ้นเหมือนรถสไตล์ MiniMPV ทั่วไป ประกบด้วยชุดไฟหรี่ไฟท้ายแนวตั้งแบบ LED พร้อมชุดไฟท้าย ไฟเลี้ยว และไฟถอยหลังด้านล่าง กันชนด้านหลังถูกแยกออกเป็น 3 ชิ้น ได้แก่ มุมกันชนซ้าย มุมกันชนขวา และ กันชนหลัง เพื่อง่ายต่อการซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษา และ เปลี่ยนชิ้นส่วนหากเกิดอุบัติเหตุ
เนื่องจาก JPN Taxi ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซ LPG ดังนั้นจึงไม่ต้องมีถังน้ำมัน แต่มีถังก๊าซติดตั้งอยู่หลังเบาะนั่งด้านหลังแทน (ตรงนี้ทำให้พับเบาะลงมาไม่ได้ แต่พับขึ้นได้) ช่องเติมก๊าซอยู่ด้านข้างตัวรถ เหมือนช่องเติมน้ำมันในรถทั่วไป สามารถดึงคันโยกเปิดได้จากตำแหน่งคนขับ หรือ บริเวณที่เก็บสัมภาระด้านท้าย
ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายขนาด 401 ลิตร (มาตรฐาน VDA) สามารถใส่กระเป๋าเดินทาง 28 นิ้ว ในแนวนอนได้ 2 ใบ โดยปิดแผงบังสัมภาระได้ แล้วยังมีพื้นที่เหลือด้านข้างสำหรับกระเป๋าใบเล็กๆ หรือ สัมภาระอื่นๆได้อีก นอกจากนี้ยังดีต่อใจสำหรับนักกอล์ฟเพราะ สามารถยัดใส่ถุงกอล์ฟได้ถึง 4 ใบ
ด้านล่างของที่เก็บสัมภาระ จะเป็นช่องเก็บของ และ แผ่นอะลูมิเนียมที่พับ และ กางออกมาเป็นพื้นสำหรับรถเข็น Wheelchair เข้า-ออกตัวรถได้ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไม เบาะนั่งด้านหลังถึงออกแบบมาให้ยกพับขึ้นได้นั่นเอง รวมถึงเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าที่พับทบไปข้างหน้าได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น Wheelchair เรียกว่าออกแบบโดยคำนึงถึง Universal Design อย่างแท้จริง
มาดูภายในห้องโดยสารกันบ้าง แผงแดชบอร์ดเน้นการควบคุมตัวรถไปยังคนขับเป็นหลัก โดยปุ่มควบคุมต่างๆ จะไปอยู่บริเวณผู้ขับให้สามารถควบคุมตัวรถได้ทุกอย่าง โดยจะแบ่งแยกสีของเบาะชัดเจน ฝั่งคนขับจะเป็นเบาะนั่งสีดำ ส่วนฝั่งผู้โดยสารจะเป็นสีน้ำตาล แต่ด้วยวัฒนธรรมรถบริการสาธารณะ หรือ แท็กซี่ญี่ปุ่นจะมีผ้าสีขาว หรือ สีอื่นๆหุ้มทับอีกที เพื่อความสะอาด มีการถอดออกไปซัก และ เปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ
ก้าวเข้าไปนั่งเบาะหน้า ที่ปรับระดับด้วยมือ รู้สึกถึงความโปร่งโล่งไม่อึดอัด เบาะหน้าหุ้มด้วยหนังนั่งได้สบายกำลังดี แค่ไม่โอบกระชับตัวเท่าไรนัก ตัวเบาะออกแนวแน่นๆ ไม่นุ่มนวลอย่างที่คิด พนักพิงศีรษะทรงตัว L คว่ำ แตกต่างเบาะฝั่งคนขับที่เป็นแบบเต็มชิ้น สาเหตุที่ต้องปรับเป็นรูปทรง L คว่ำ เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยของผู้โดยสารตอนหลังให้เห็นด้านหน้าชัดเจน โดยภาพรวมถือว่าผ่าน แต่ไม่ถึงกับสบายมากนัก
สิ่งที่น่าชื่นชมคือ แดชบอร์ด และ คอนโซลด้านหน้า ออกแบบมาให้ไม่มีที่เก็บของ ทำให้เป็นแนวตั้งฉาก เพิ่มพื้นที่วางขา และ เพิ่มพื้นที่ในการพับเบาะทบไปด้านหน้า ทำให้มีพื้นที่วางขาขณะนั่งโดยสารอย่างเหลือเฟือ
มาดูที่นั่งสำหรับผู้โดยสารตอนหลังบ้าง ถูกแบ่งเป็น 3 ที่นั่ง รู้สึกถึงความโปร่งโล่งไม่อึดอัดเช่นเดียวกับด้านหน้า พื้นรถราบเรียบ มีมือจับขนาดใหญ่ เติมสีเหลืองให้สังเกตง่าย กับบริเวณของรถทุกๆชิ้นที่ต้องมีการจับ หรือ เปิดออก เวลาเข้า-ออก จากตัวรถ
บริเวณประตูสไลด์ ไม่มีขอบธรณีประตูด้านล่าง เข้า-ออกสะดวก พื้นที่ผู้โดยสารด้านหลังมีช่องเสียบชาร์จไฟ แบบ USB 2.1 A ให้ 2 ตำแหน่ง มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังอยู่บนเพดานเหนือศีรษะ และ สามารถปรับแรงลมได้เองจากสวิตช์ด้านหลัง โดยช่องนี้จะแปลกออกไปสักเล็กน้อย คือ จะรับลมเย็นจากช่องแอร์ด้านหน้ารถ บริเวณกลางแดชบอร์ดหน้า เหนือชุดหน้าจอที่ยิงลมขึ้นสูง
บริเวณชุดสวิตช์ควบคุมด้านหลัง จะมีทั้งไฟ LED ในห้องโดยสาร, ปุ่มเปิด-ปิด ระบบอุ่นเบาะด้านหลัง 2 ตำแหน่ง ซ้าย-ขวา และ สวิตช์ควบคุมแรงลม
เบาะนั่งด้านหลัง แบบ 3 ที่นั่งติดกัน หุ้มด้วยหนังสีน้ำตาล รองรับสรีระได้ดีมาก รองรับทั้งแผ่นหลังได้ดี ส่วนของเบาะรองนั่งยาวกำลังดี ก็รองรับต้นขาได้ดี และนั่งได้ผ่อนคลาย สมแล้วที่ออกแบบมาเพื่อเป็น Taxi เอาใจผู้โดยสารด้านหลังจริงๆ ต่างจากเบาะหน้าที่นั่งแล้วไม่ได้สบายมากนัก ดังกล่าวไปเมื่อสักครู่ แต่เสียดายที่ไม่มีพนักวางแขนใดๆมาให้เลย
บริเวณประตูทั้ง 2 ข้าง มีไฟส่องสว่างดวงเล็กๆที่พื้นมาด้วย สำหรับเวลากลางคืน ก็มีไฟสลัวๆให้เห็นพื้นอยู่
อุปกรณ์ภายในแตกต่างกัน แล้วแต่บริษัทเจ้าของรถจะติดตั้งใน Taxi แต่ละคัน เช่น ระบบเครื่องเสียง มิตเตอร์ ระบบนำทาง Navigation System และ GPS
พวงมาลัยคุ้นหน้าคุ้นตายกมาจาก Sienta แต่มีการเพิ่มสวิตช์ไฟฉุกเฉินเอาไว้ที่ก้านด้านขวา ด้านซ้ายเป็นปุ่มควบคุมหน้าจอ MID
แดชบอร์ดฝั่งคนขับ ด้านขวาสุดออกจะแปลกตาไปสักนิด ติดตั้งชุดควบคุมระบบปรับอากาศในรถ แบบอัตโนมัติ หน้าตาคล้ายเครื่องคิดเลข ส่วนด้านล่างเป็นปุ่มเปิด-ปิด ระบบป้องกันการชน, ระบบเตือนรถออกนอกเลน ,ระบบเปิดไฟสูงอัตโนมัติ, ปุ่มเปิดฝาถังเติมแก๊ส LPG และ ปุ่มเปิด-ปิดประตูสไลด์ไฟฟ้า
ชุดมาตรวัด แบ่งออกเป็น 2 จอ โดยส่วนแรกบอกความเร็ว เป็นแบบดิจิตอล ขนาดใหญ่สีขาวอ่านง่ายชัดเจน อีกหน้าจอจะบอกสถานะต่างๆ ของตัวรถ ทั้งระบบไฮบริด และ ข้อมูลการขับขี่ต่างๆของตัวรถ
ด้านซ้ายมือของคนขับ เป็นเกียร์อัตโนมัติเหมือนในทั่วๆไป P – R – N – D – B และ มีปุ่มเปิด-ปิดไฟในห้องโดยสารส่วนหน้า, เปิด-ปิดไฟส่องสว่างในรถ, เปิด-ปิดระบบความคุมเสถียรภาพ, EV Mode และ ปุ่มปิดเสียงสังเคราะห์เตือนคนเดินถนน ขณะรถวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Vehicle Proximity Notification System) ส่วนด้านล่างจะเป็นปุ่มปรับระบบอุ่นเบาะผู้โดยสารตอนหน้า, เปิด-ปิดระบบปรับอากาศส่วนด้านหลัง และ ปุ่มเซนเซอร์กะระยะช่วยจอด
เอาล่ะ ดูตัวรถทั้งภายนอก และ ภายในกันจนเต็มอิ่มแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะได้ลองนั่งกัน แน่นอนครับ ในเมื่อเป็นรถแท็กซี่ เราจึงไม่ได้ลองขับ มีโอกาสได้ลองนั่งกันอย่างเดียว คันของผมเป็นพี่ๆน้องๆรวมตัวผม 3 คน พี่นับจาก Z-On TV และ น้องโค้กจาก Autospinn คนขับอีก 1 รวม 4 คน กำลังสบายๆ ผมอาสานั่งด้านหน้าก่อน ส่วนพี่นับ และ น้องโค้กนั่งด้านหลัง
ขึ้นรถกันเสร็จสรรพ คาดเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ครบทุกตำแหน่งแล้ว รถก็เริ่มเคลื่อนตัวออกไป สถานที่ปลายทางถูกเซ็ตไว้แล้วจากระบบนำทาง คนขับเริ่มกดมิตเตอร์โดยสาร เมื่อรถวิ่งออกไปบนถนน ค่อนข้างเป็นที่จับตามองของผู้คนแถวๆนั้นอยู่ไม่น้อย เคลื่อนตัวออกไปด้วยความเงียบ ในช่วงแรกตัวรถทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เหมือนรถ Hybrid ทั่วไป ค่อนข้างนุ่มนวล วิ่งไปได้สักระยะ เครื่องยนต์ก็เริ่มทำงาน ช่วงส่งต่อกำลัง ระหว่างมอเตอร์กับเครื่องยนต์ ทำได้เรียบเนียนดี ได้ยินแค่เสียงเครื่องยนต์ที่ติดขึ้นมาเบาๆ ช่วงในตัวเมืองวิ่งได้อย่างสบายๆ ด้วยขนาดรถที่ไม่ใหญ่ ทำให้ดูคล่องแคล่วเวลาเปลี่ยนเลน
เมื่อขึ้นทางด่วน เข้าช่อง ETC Card ที่มีอยู่ประจำรถ (คล้ายๆกับ Easy Pass บ้านเรา แต่เป็นการ์ดเสียบกับช่องในรถที่มีรอเอาไว้แล้ว ส่วนเซนเซอร์ของระบบ ETC Card ติดอยู่บริเวณกระจกบังลมหน้า)
คนขับเริ่มใช้ความเร็วมากขึ้น ช่วงขึ้นเนินสังเกตได้ว่าคนขับมีการเหยียบคันเร่งมิด เสียงเครื่องดังออกมาประมาณนึง ตัวรถรถก็พุ่งออกไปแบบเรียบๆ ไม่มีแรงกระชาก ไปแบบเรื่อยๆ คิดในใจไม่แรงเลย ! ก็แน่ล่ะครับ น้ำหนักตัวรถพร้อมผู้โดยสาร และ คนขับรวม 4 คนราวๆ 1,700 กิโลกรัม ก็เอาเรื่องพอสมควร สำหรับเครื่องยนต์ขนาดนี้ อัตราเร่งคงพอๆกับ MiniMPV เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรทั่วไป ด้วยประเภทของรถไม่ใช้รถเอามาซิ่งอยู่แล้ว ขับในเมืองสบายๆ วิ่งทางไกลพอเอาตัวรอดได้ เน้นประหยัดไม่ต้องแรง แม้แต่ปุ่ม Power Mode / Sport Mode ยังไม่มีมาให้ !
ช่วงล่างเท่าที่พอจำความรู้สึกได้ ก็เหมือนๆรถ MiniMPV นุ่มนวลดี จะมีอาการตึงตังเวลาผ่านรอยต่อถนนบ้าง แต่ช่วงล่างด้านหลังจะไม่ดีดเด้งเท่า MiniMPV ในบ้านเรา เพราะมีน้ำหนักของถังก๊าซ LPG ถ่วงอยู่ด้วย รวมถึงถนนในญี่ปุ่น เรียบเนียนกว่าบ้านเรามาก
วิ่งด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถก็มั่นคงดี ไม่มีอาการวูบวาบของตัวรถ แต่ความเร็วสูงกว่านี้ก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าย่านความเร็วเกินกว่านี้ คงไม่ได้ใช้บ่อยมาก เพราะมีการจำกัดความเร็วในเขตเมือง และ บนทางด่วนอยู่เรีื่อยๆ
ส่วนการเก็บเสียง วิ่งในเมืองเงียบดี เสียงภายในห้องโดยสารก็เงียบใช้ได้ โดยเฉพาะเสียงจากพื้นถนน จะมีเสียงยางบดถนนนิดๆหน่อยๆ แว่วเข้ามาบ้าง แต่ไม่เยอะ ไม่น่ารำคาญ เสียงลมตามขอบหน้าต่าง หรือด้านหน้ารถมีน้อย อาจจะเป็นเพราะกระจกมองข้างที่ถูกย้ายไปหน้ารถ เลยช่วยลดเสียงลมไปได้เยอะ
นั่งรถไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงที่หมาย ระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 40 กิโลเมตร แอบมาดูค่าโดยสารถึงกับสะดุ้งเลยทีเดียว ถ้าหากเป็นการนั่งโดยสารปกติ ทั้งค่าโดยสาร และ ค่าทางด่วน ETC Card สิริรวม 15,690 เยน (ประมาณ 4,707 บาท)
รวบรวมจุดเด่นต่างๆของ JPN Taxi ที่สัมผัสได้ว่าออกแบบมาเพื่อทุกคน และ รองรับการโดยสารสำหรับรถรับจ้างสาธารณะ
- ประตูด้านหลังฝั่งซ้าย เป็นแบบประตูสไลด์ พื้นที่เข้าออกกว้าง รองรับรถเข็น Wheelchair
- พื้นตัวรถด้านหลัง เรียบเป็นชิ้นเดียวกัน รองรับการจอดรถเข็น Wheelchair
- มีอุปกรณ์แผ่นอะลูมิเนียมที่กางออกมาเป็นพื้น สำหรับเข็นรถ Wheelchair จากทางเท้ามาบนรถได้สะดวก
- เบาะหน้าพับทบไปด้านหน้าได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร รถเข็น Wheelchair
- เบาะนั่งด้านหลัง ยกพับขึ้นได้ ทำให้รองรับรถเข็น Wheelchair
- เบาะหุ้มหนัง พร้อมระบบอุ่นเบาะ ผู้โดยสารตอนหน้า 1 ตำแหน่ง และ ด้านหลัง 2 ตำแหน่ง
- สวิตช์ควบคุมแรงลม จากที่นั่งผู้โดยสารด้านหลัง
- ที่จับโหนสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เป็นแบบห่วง แข็งแรง
- สีเหลืองที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ให้สังเกตง่ายในบริเวณต่างๆที่ผู้โดยสารต้องเปิด-ปิด หรือจับ
- ช่องชาร์จไฟ USB 2.1 A สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง 2 ตำแหน่ง
- ไฟส่องสว่างบริเวณสลักเข็มขัดนิรภัย สะดวกต่อการมองเห็นเวลากลางคืน
***สรุปหลังลองนั่ง****
สั้นๆง่ายๆ น่าเอามาทำแท็กซี่ไทยเป็นอย่างยิ่ง !
JPN Taxi เป็นรถที่ออกแบบมา เพื่อความสะดวกสบายในการโดยสาร ทั้งการขึ้น-ลง และการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ การออกแบบมาเพื่อการใช้งานได้ครอบคลุมของทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ผู้พิการที่ใช้รถ Wheelchair ในการเดินทาง ก็ขึ้น-ลงจากรถได้อย่างสะดวก
วัสดุที่ใช้อาจจะดูไม่หรูหรา แต่น่าจะทนทาน และ ดูแลรักษาง่าย เบาะที่นั่งด้านหลังออกแบบได้ดี จัดวางอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม เอาใจผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังอย่างแท้จริง
เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ให้มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน รวมถึงระบบเครื่องยนต์ Toyota Hybrid System II (THS II) ของทาง Toyota ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงก๊าซ LPG ได้ ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมัน และ ทำตัวเลขความประหยัดระดับ 19.4 km/l (ก๊าซ LPG)
ทีนี้เห็นสเป็ค และ ตัวรถคันจริงไปกันหมดเปลือกแล้ว หลายคนคงอยากทราบว่า Toyota ทำรถมาขายคนทั่วไปหรือไม่ แล้วสนนราคาอยู่ที่เท่าไหร่ เผื่อจะมีคนไทยใจกล้าไปสั่งมาเป็นรถแท็กซี่ในบ้านเราบ้าง
Toyota JPN Taxi มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย (ราคาที่ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่รวมภาษีของประเทศไทย)
- Nagomi ราคา 3,277,8oo เยน (ประมาณ 983,340 บาท)
- Takumi ราคา 3,499,200 เยน (ประมาณ 1,049,760 บาท)
Toyota บอกว่า JPN Taxi ไม่ได้เอาไว้ทำแท็กซี่อย่างเดียว แต่มีจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วไปด้วย แต่ก็นั่นแหละครับ ใครกันอยากจะซื้อรถที่พัฒนามาเป็นรถแท็กซี่โดยเฉพาะ มาใช้งานเป็นรถส่วนตัวกัน เพราะในญี่ปุ่นรูปแบบรถที่มีจำหน่ายค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถเล็ก K-Car ยัน รถ Microbus ก็มีให้เลือกแทบจะทุกรูปแบบ
ระบบ LPG + Hybrid System อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในอนาคต ถ้ามันจะสามารถมาลงในรถรุ่นอื่นๆได้ ซึ่งในช่วง Q&A Mr.Hiroshi Kayukawa Chief Engineer ได้กล่าวไว้ว่า ระบบนี้ก็ไม่ยากที่จะนำไปใช้ในรถยนต์รุ่นอื่นๆ ! เลยแอบมีความหวังเล็กๆว่าระบบ LPG + Hybrid system อาจจะมีโอกาสได้มาใช้ในรถที่ขายในบ้านเราเช่นกัน ถ้า Toyota ใจกล้าพอ
ปัญหาสำคัญคือ ถ้าเอามาประกอบขายในไทย ราคาจะถูกจนถึงผู้ซื้อจาก Altis เดิมๆไปาหาเจ้า JPN Taxi ได้หรือเปล่า และถ้าทำแบบนั้นไม่ได้ แล้วใช้วิธีนำเข้าจากญี่ปุ่น ก็จะโดนภาษีและสรรพสามิตอีกหลายต่อ ทำให้ราคาของตัวรถแพงแบบรถ D-Segment ซึ่งก็คงจะมีแต่แท็กซี่ระดับโรงแรมสี่ห้าดาวเท่านั้นที่ใจถึงพอจะซื้อ
ดังนั้น แม้ว่าจะมีสิทธิ์เป็นความจริง แต่ตราบใดก็ตามที่ผู้ซื้อ ผู้ผลิต และรัฐบาลไม่ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในการผลักดันให้ประเทศไทยเรามีแท็กซี่ดีๆแล้วล่ะก็
รถดีๆแบบเจ้า JPN Taxi ก็จะมาบ้านเราได้แค่ในฐานะเดี๋ยวเหมือนที่มันเป็นมา..ซึ่งก็คือรถทดสอบนั่นล่ะครับ
—///—
ขอขอบคุณ / Special Thanks
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
Sirisak Setpattanachai
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นผลงานของผู้เขียน และ car.watch.impress.co.jp
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 ธันวาคม 2017
Copyright (c) 2017 Text and Pictures.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
14 December 2017
แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> community.headlightmag.com/62732.0