ในตลาดบ้านเกิดของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกอย่างประเทศญี่ปุ่นนั้น แทบจะเป็นตลาดผูกขาดของผู้ผลิตในบ้านตัวเองที่กวาดส่วนแบ่งทางตลาดไปมากกว่า 90% จนเหลือส่วนแบ่งอยู่น้อยนิดที่ผู้ผลิตสัญชาติอื่น แทบเข้าไปแย่งส่วนแบ่งแทบไม่ได้ ทั้งยังมีการวิเคราะห์ด้วยว่าสาเหตุหลักที่ชาวญี่ปุ่นใช้แต่รถยนต์จากผู้ผลิตชนชาติเดียวกัน คือเรื่องบริการหลังการขายด้วยใจ
บริการหลังการขายที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องการ stock ชิ้นส่วน หรือ มีศูนย์บริการครอบคลุมทุกพื้นที่พร้อมช่างผู้ชำนาญการ แต่ Atlantic ได้รายงานว่าผู้จำหน่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น จะพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าหลังการขายโดยติดต่อกับลูกค้าอยู่ตลอด พร้อมอำนวยความสะดวกสบายในหลายๆ ด้านทั้งนำรถยนต์ทดสอบรุ่นใหม่ไปให้ลองถึงบ้าน, บริการล้างรถฟรีตลอดชีพ และ ดูแลเรื่องการประกันอีกด้วย
อีกปัจจัยที่สำคัญคือมาตรการจากภาครัฐทั้ง เรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์ที่เก็บในอัตรา 2.5% หากนำเข้าจากสหรัฐฯและ 10% หากนำเข้าจากยุโรป รวมไปถึงการออกกฎห้ามไม่ให้ผู้จำหน่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว หันไปจำหน่ายรถยนต์จากประเทศอื่น ทำให้ชาวต่างประเทศต้องมาลงทุนเสียเอง
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ผลิตสัญชาติอื่นจะพากันถอนตัวจากตลาดนี้ เนื่องจากการบริการหลังการขายรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่คนนอกประเทศไม่คุ้นชิน ทั้งยังต้องใช้เงินทุนมหาศาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นจะไม่เปิดใจรับรถยนต์สัญชาติอื่นๆ เนื่องจาก Mercedes-Benz และ BMW กลับมียอดขายสูงขึ้นถึง 60% และ 23% ตามลำดับ เมื่อเทียบยอดขายระหว่างปี 2012 และ 2016
BMW ยอมลงทุนเป็นเงิน 675 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 22,349 ล้านบาท) เพื่อปรับปรุงเครือข่ายผู้จำหน่าย โดย Peter Kronschnabl ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ BMW ประเทศญี่ปุ่นระบุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศญี่ปุ่นล้วนเกี่ยวข้องกับการทำด้วยใจ ถ้าคุณไม่เข้าใจจุดนี้ คุณก็แทบจะหมดสิทธิ์ประสบความสำเร็จแล้ว
นับว่าข่าวนี้เป็นการเปิดมุมมองผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่น่าสนใจไม่น้อยเลย แต่จะมีผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นรายใดกล้าทำแบบที่ BMW ทำอยู่นั้น เห็นทีต้องติดตามชม
ที่มา: carscoops