September 17th, 2017
Frankfurt , Germany
การเดินทางไปชมงาน Frankfurt Motor Show กับทาง Mercedes-Benz (Thailand) เป็นครั้งแรกในชีวิต ช่วยเปิดหูเปิดตา เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผมได้อย่างมาก
จากที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิตว่า งานนี้ คืองานแสดงรถยนต์ที่มีขนาดพื้นที่จัดงานใหญ่สุดในโลก ผมได้ประจักษ์แล้วครับว่า เป็นความจริง!…ผมกับน้อง Prince คุณผู้อ่านของเราซึ่งกำลังศึกษาต่อในเยอรมนี ที่มาร่วมเดินชมงานด้วยกัน เดินกันขาลากจนถึงกับร้องจ๊าก…
การจะเดินจาก อาคารจัดแสดง Hall 1 ไปจนถึง Hall 11 ปลายสุดงานนั้น คุณอาจจำเป็นต้องเรียกรถยนต์บริการรับส่ง Shuttle จากทางผู้จัดงาน ร่วมกับบรรดาค่ายรถต่างๆ มิเช่นนั้น คุณอาจต้องเดินไกลถึง 2 กิโลเมตร เลยทีเดียว และถ้าจะต้องเดินกลับมายังจุดนัดพบ อาจต้องเดินไปกลับ 4 กิโลเมตร ไม่รวมกับการเดินชมตาม Hall ต่างๆ ที่อาจทำให้ตัวเลขการเดิน บนนาฬิกา สำหรับออกกำลังกาย พุ่งพรวดไปหยุดแถวๆ 15,000 ก้าว โดยง่ายดาย!
ระหว่างที่เราเสร็จภาระกิจในหลายๆบูธแล้ว กำลังเดินต่อไปยังอาคารจัดแสดงที่อยู่ลึกเข้าไป ผมพบว่า นอกเหนือจาก Mercedes-Benz , BMW , Volkswagen Group (รวม Audi) และ Toyota จะขนบรรดา รถยนต์รุ่นแพงๆในสายการผลิตของตน มาร่วมให้บริการขนส่งสื่อมวลชน ระหว่างแต่ละอาคารจัดแสดง ในแบบ Press Shuttle Vehicles กันฟรีๆ แล้ว Kia ก็เป็นอีกค่ายที่ส่งรถยนต์ของตนรุ่น Optima (พิกัดเดียวกับ Hyundai Sonata) เข้าร่วมให้บริการด้วยเช่นกัน และด้วยความสวยของ Optima ทำให้ผมตั้งใจว่า จะแวะไปดูบูธ Kia สักหน่อย….
แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ…!! อลังการงานสร้าง เสียเหลือเกิน!
ท่ามกลางการจัดแสดงของผู้ผลิตจากฝั่งเยอรมัน (ที่เล่นยึดอาคารจัดแสดงไปเป็นของแบรนด์ตนเองและแบรนด์ในเครือ ครบทั้ง 3 บริษัทใหญ่) รวมทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน ที่พากันขนรถยนต์ของตนมาประชันกันคับคั่ง ยังมีผู้ผลิตจากเกาหลีใต้อีก 2 แบรนด์ ทั้ง Hyundai และ Kia ที่มาร่วมออกบูธในงานครั้งนี้…เพียงแต่ว่า ความอลังการของบูธ Kia นั้น ดูจะข่มรัศมี พี่ชายร่วมสัญชาติกันไปเลย…
อันที่จริง Kia ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมจัดแสดงในงานนี้ก็ได้ เพราะ สำนักงานใหญ่ของ Kia Motor Europe ตั้งอยู่ที่อาคารขนาดใหญ่ ติดกับ Frankfurt Messe สถานที่จัดงาน Frankfurt Motor Show อยู่แล้ว ห่างกันแค่เพียง รั้วรอบขอบชิดติดกันด้วยซ้ำ แถมด้านล่างก็ยังมี Showroom จัดแสดงที่สามารถเนรมิตให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ได้เลย แต่…ตามประสาชาวเอเชีย บางทีก็จำต้องอวดศักดาบารมี ให้บรรดาฝรั่งหัวสีทองได้เคารพยำเกรงกันบ้าง จึงไปเช่าพื้นที่จัดแสดงขนาดใหญ่โตมโหฬาร ในงานดังกล่าว ชนิดไม่หวั่นรัศมีเจ้าถิ่นกันเลย
ผมถึงกับรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ว่านับจากวันแรกที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับแบรนด์ Kia ในประเทศไทย เมื่อครั้งที่ กลุ่มพรีเมียร์ (บริษัท Premier Kia Motor จำกัด) เป็นตัวแทน นำเข้ารถเก๋ง Sephia และ SUV รุ่นเล็ก Kia Sportage มาขายในบ้านเรานั้น พวกเขาเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปรวดเร็วมาก โดยเฉพาะ รถเก๋งคันใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุด Kia Stinger เข้าไปนั่งครั้งแรก ถึงขั้นต้องถามเลย ตกลงว่า นี่คือ Kia หรือ Audi? บรรยากาศภายในรถนี่เหมือนกันเปี๊ยบ! แถมตัวรถก็สวยกระชากใจเสียเหลือเกิน
ยิ่งพอเดินไปดูรถต้นแบบ Pro Cee’d ซึ่งเป็นว่าที่ รถเก๋ง Compact Class คันต่อไปของพวกเขา ยิ่งเห็นถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดดขึ้นไปมากในด้านงานออกแบบ พวกเขาเริ่มจับทางถูกแล้วว่า บางทีเส้นสายที่เรียบง่าย ถ้าจัดวางให้ดีๆ มันจะดูลงตัว และดึงดูดใจกว่า คู่แข่งจากญี่ปุ่นเป็นไหนๆ หรือต่อให้เป็น B-Segment Crossover SUV รุ่นล่าสุด ที่เปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรกในโลก อย่าง Kia Stronic ถึงแม้ว่าพนักศีรษะจะดันกบาลไปหน่อย แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Seat Arona และ Volkswagen T-Roc ซึ่งเปิดตัวในงานเดียวกันนี้ด้วยแล้ว ผมก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะไปอุดหนุน Seat ทำไม ในเมื่อ Kia ทำรถออกมาได้น่าใช้กว่า!?
ไม่แปลกครับ Peter Schreyer อดีตนักออกแบบจาก Audi ผู้เคยฝากผลงานไว้กับรถปอร์ตรุ่น TT คือผู้ที่เข้ามาพลิกโฉมงานออกแบบของ Kia จนทำให้ยอดขายเจริญเติบโต กลายเป็นตำนานบทสำคัญในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์โลก ไปโดยปริยาย
แล้ว Kia ในเมืองไทยละ…?
นับตั้งแต่ Headlightmag ของเรา ได้มีโอกาสทดลองขับและทำบทความรีวิว Kia Soul รุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เมื่อปี 2011 จากนั้นมา ดูเหมือนว่า เราจะขาดหายการติดต่อกับทาง Yontrakit Kia Motor ผู้นำเข้าและจำหน่าย รถยนต์ Kia ในบ้านเรา กันไปเลย เหตุผลคาดว่า มาจากการลาออก และเปลี่ยนทีมงานในฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ่อยครั้ง ทำให้การติดต่อต่างๆ ขาดหายไปพอสมควร
คุณผู้อ่าน จำนวนไม่น้อย ทะยอยถามไถ่กันเข้ามาเรื่อยๆว่า เมื่อไหร่เราจะทำ Full Review ของรถตู้ Grand Carnival กันเสียที หลายๆคนอยากรู้ว่า มันคุ้มค่าพอที่จะถอยมาใช้สักคันหรือไม่ ผมเองได้แต่ตอบไปว่า ทาง Yontrakit Kia Motor ไม่ได้ส่งรถทดสอบมาให้เราเลย จึงไม่สามารถทำบทความให้อ่านกันได้ เราตั้งคำตอบไว้สำหรับคำถามนี้ ไว้เช่นนี้ เรื่อยมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรมากไปกว่านี้
เวลาผานไปจนถึงงาน Meeting ของ Headlightmag ในเดือนสิงหาคม 2015 น้องตอยด์ พิธีกรรายการ The Coup Channel ของเว็บเรา ก็ขับ Kia Grand Carnival สีขาว เข้ามาจอดที่ร้าน Sortel ย่านพระราม 3 อันเป็นสถานที่จดงาน อย่างสงบ ผมออกจะฉงนว่า ตกลงแล้ว ทางเราไปมีดีลกับทาง Yontrakit Kia Motor เขาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ตอนนั้น ตอยด์ยืมรถมาเพื่อถ่ายำรายการ เรนเดียร์ เกียร์ 5 เพื่อออกอากาศทางช่อง Voice TV 21 ดังนั้น ผมจึงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับรถสีขาวคันนั้นอีกเลย
นี่คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางทีม PR ของ Yontrakit Kia Motor เข้าใจผิดว่า ทาง Headlightmag ยืมรถทดสอบไปแล้ว ทั้งที่จริงๆคือ ในการทำงานของทีม Headlightmag และทีม เรนเดียร์ เกียร์ 5 แยกออกจากกัน ตัวรายการไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น แม้ว่าคนทำงานจะเป็นคนเดียวกันก็ตาม ด้วยเหตุนีั้ ผมจึงยังไม่ได้ลองขับ Grand Carnival เสียที
เวลาล่วงเลยมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2017 ในงาน BIG Motor Sales ที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคุณปลา ผู้ซึ่งมารับหน้าที่เป็น PR Co-ordinator ให้กับ Yontrakit Kia Motor จึงได้นัดแนะกันว่า จะส่ง Grand Carnival มาให้ผมทำบทความรีวิวกันเสียที ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มา ของบทความ Full Review รถยนต์รุ่นที่ สื่อมวลชนในไทยแทบจะทั้งหมด ได้ลองขับกันไปจนเกลี้ยงหมดแล้ว เหลือแต่ผมคนเดียวนี่ละครับ ที่ยังไม่ได้แตะต้องรถคันนี้เลย นอกเหนือจากไปผุดลุกผุดนั่ง ตอนที่ดีลเลอร์เขาเอามาจัดแสดงในห้าง Mega Bangna เมื่อช่วงปี 2016 เท่านั้นเลยจริงๆ
พอได้ลองขับจริง…เฮ้ย..สโลแกน Power to Surprise ของ Kia Global นี่ มันไม่ใช่แค่คำพูดเล่นๆแล้วนะ วันนี้ Minivan คันนี้ มันพาผม ข้ามขอบเขตของรถตู้แบบเดิมๆที่เราทั้งหลายเคยรู้จักกันมา ไปสู่รถตู้ที่ให้ชีวิตชีวาในการขับขี่ มุดได้มุดดี ท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด จะซัดโค้งเล่น ก็ทำได้สบายๆ ไม่แพ้รถเก๋งยุโรปชั้นดี เรี่ยวแรงก็มีมาให้ใช้ แถมยังประหยัดน้ำมันเกินความคาดหมายไปด้วยอีกต่างหาก!
เฮ้ย…Kia มันทำรถดีขึ้นได้ขนาดนี้จริงๆเหรอ?
แบบนี้..ก็ต้องพิสูจน์กันหน่อยละว่า จากครั้งสุดท้ายที่ผมได้ลองขับ Kia ในปี 2011 จนถึงวันนี้ รถยนต์ของ Kia มีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง และ Grand Carnival เอง จะมีดีขึ้นจากรุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน มีจุดเด่นจุดด้อย ประการใดบ้าง เพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาเลือกซื้อ รถตู้โดยสาร มาใช้งานในบ้านเรือนของคุณ
แน่นอนครับ ตามธรรมเนียมของ J!MMY ผมคงต้องพาคุณย้อนกลับไปแนะนำ ประวัติความเป็นมาของรถตู้รุ่นนี้กันสักหน่อย เพื่อให้เห็นกันตรงนี้ชัดเจนเลยว่า 20 ปีที่ผ่านมา Grand Carnival ถูกพัฒนาไปไกลเกินกว่าจุดเริ่มต้นดั้งเดิมที่มันเคยเป็น…ใครจะเชื่อว่า ครั้งหนึ่ง รถตู้รุ่นนี้ คือ อัศวินม้าขาวที่ช่วยให้ Kia Motor รอดพ้นจากหายนะจากวิกฤติเศรษฐกิจทั่วเอเซีย มาแล้ว…!
วิกฤติเศรษฐกิจทั่ว Asia ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 1997 ทำให้ Kia Motor ประสบปัญหาการเงินอย่างมาก ขาดทุนถึง 9.57 ล้านล้านวอน จนถึงขั้นประกาศล้มละลาย หลังพยายามแก้ปัญหามาทุกวิถีทาง จากสภาพปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้เจ้าหนี้ต้องประกาศจัดการประมูล เพื่อหาผู้ซื้อกิจการของ Kia ทั้งหมด ในที่สุด Hyundai Motor คู่แข่งรายใหญ่ ก็เอาชนะ Ford Motor และ Daewoo Motor ในการประมูลดังกล่าว โดยเข้ามายื่นมือช่วยเหลือด้วยวิธี ซื้อหุ้น เพื่อเข้าควบรวมกิจการกัน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1998 และเปลี่ยนชื่อใหม่ กลายเป็น กลุ่มบริษัท Hyundai-Kia Automotive Group มาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งลดทอนสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือเพียงแค่ ร้อยละ 34 แล้ว)
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ลดระดับเหลือเพียง การใช้ทรัพยากรด้านการออกแบบ วิจัย และพัฒนาร่วมกัน ณ ศูนย์ วิจัยเทคโนโลยี Hyundai-Kia Automotive ที่ Namyang รวมทั้งใช้พื้นที่ของตึกแฝด หรืออาคารสำนักงานใหญ่ในกรุง Seoul ร่วมกัน แต่ในด้านการผลิต การทำตลาด การขาย การบริการหลังการขาย จะถูกแยกออกจากกัน ปราศจากความเกี่ยวเนื่องกันโดยแทบจะสิ้นเชิง
อนาคตของ Kia ในตอนนั้น แทบไม่เหลือรุ่นไหนที่จะทำยอดขายได้เลย เพราะรถเก๋งรุ่นเล็ก Kia Rio รถเก๋ง C-Segment ยอดนิยม Kia Sephia กับ Kia Credos ยังขายดีสู้ Hyundai Sonata ที่ครองแชมป์อันดับ 1 ในตอนนั้น ไม่ได้เลย พวกเขาฝากความหวังเอาไว้กับรถยนต์นั่ง เพียงไม่กี่รุ่นที่ยังเหลือทำตลาดอยู่ ทั้ง Kia Pride รถยนต์นั่ง Sub-Compact 3 , 4 และ 5 ประตู ขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานร่วมกับ Mazda 121 รุ่นแรก และ Ford Festiva รวมทั้ง Kia Avella ฝาแฝดของ Ford Festiva Generation 2 ซึ่งทำตลาดควบคู่กันไป ไปจนถึงรถตู้เล็ก รุ่น Besta กับ Pregio และ…รถตู้รุ่นใหม่ล่าสุดในตอนนั้น อย่าง Kia Carnival
เหตุผลในการพัฒนา Carnival รุ่นแรกนั้น เกิดขึ้นจากการขยายตัวของตลาดรถยนต์นั่ง Minivan ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ในช่วงปี 1983 – 1993 ได้ลุกลามมาถึง เกาหลีใต้ ต้องยอมรับว่า Chrysler Voyager คือรถตู้ Minivan ขนาดใหญ่ รุ่นบุกเบิก ที่สร้างปรากฎการณ์ในตลาดรถยนต์ฝั่งอเมริกาเหนืออย่างมาก จนเกิดกระแสความต้องการ Minivan 7 ที่นั่ง จากผู้ผลิตค่ายอื่นๆ บ้าง
ขณะนั้น Kia ยังไม่มีรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง มาก่อน ไหนๆก็ไหนๆ พวกเขาตัดสินใจ ทุ่มงบประมาณพัฒนา Minivan ออกมา ถึง 3 รุ่นรวด เพื่อออกจำหน่ายในช่วงปี 1998 – 1999 แบ่งเป็นน้องเล็กรุ่น Caren 5 ที่นั่ง รุ่น Carstar / Joice (สร้างขึ้นจากพื้นฐานวิศวกรรมร่วมกันกับ Hyundai Santamo ซึ่งก็คือ Mitsubishi Chariot / Space Wagon รุ่นที่ 2 ปี 1991 – 1997 ที่ Hyundai ไปซื้อลิขสิทธิ์มาทำขายในแดนกิมจินั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงคู่แข่งในตลาดตอนนั้น Hyundai ยักษ์อันดับ 1 ในเกาหลีใต้ มีรถตู้แบบ Minivan ขายอยู่ 2 รุ่น คือ Santamo (ซึ่งไปซื้อ Mitsubishi Space Wagon ปี 1991 – 1997 มาผลิตขายในแบรนด์ตนเอง) กับ รถตู้ Hyundai Starex บรรพบุรุษของ รถตู้ H-1 ซึ่ง Hyundai ก็ไปซื้อ Mitsubishi Delica Space Gear ปี 1995 มาผลิตขายในชื่อตนเองอีกเช่นกัน!) ปรากฎว่า ยังมีช่องว่างทางการตลาด สำหรับกลุ่มลูกค้าที่อยากได้ Minivan ขนาดใหญ่กว่า Santamo แต่ไม่ต้องการรูปลักษณ์ ที่ยกมาจากรถตู้ เหมือน Starex ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินไป ดังนั้น เมื่อ Kia เห็นช่องว่างทางการตลาดดังกล่าว จึงพัฒนา Carnival ออกมาเอาใจลูกค้ากลุ่มนี้ในที่สุด
ผู้บริหารของ Kia Motor เปิดไฟเขียว อนุมัติหลักการ ในการพัฒนาและออกแบบ โครงการรถตู้ Minivan ขนาดใหญ่ เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 1994 หลังจากนั้น Kia ได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 1,300,000 ล้านวอน ซุ่มพัฒนารถตู้รุ่นนี้ นานถึง 3 ปี กับอีก 5 เดือน จึงได้ส่ง รถยนต์คันต้นแบบ ไปอวดโฉม สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1997 ก่อนที่เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะพร้อมออกสู่ตลาดเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 1998 ภายใต้ชื่อ Kia Carnival 1st Generation รหัสรุ่น KV-II ก่อนจะเริ่มเปิดตัว ในตลาดต่างประเทศ เดือนสิงหาคม 1998 ตามด้วยการเปิดตัวในตลาดยุโรป ช่วงเดือนธันวาคม 1998
ทันทีที่เปิดตัว Carnival ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะกลุ่มลูกค้าที่อยากได้รถตู้ Minivan แบบนี้ มีจำนวนมาก จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้ตัวรถ มีขนาดใหญ่ เป็น Minivan ที่มีราคา เท่าๆกับรถเก๋งซีดานขนาดกลาง มีรูปลักษณ์โค้งมน ดูเป็นสากลมากขึ้น ราวกับได้แรงบันดาลใจมากจาก Minivan ฝั่งอเมริกาเหนือ อย่าง Chrysler Voyager ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.32
นอกจากนี้ Kia ยังพยายามเน้นเรื่องความปลอดภัย ทั่งการเสริมคานรับแรงในประตูทุกบาน ติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้ ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร ตามแต่ละรุ่นย่อย แต่ละตลาด เป็นครั้งแรก ครบครันด้วยอุปกรณ์ทำงานด้วยสวิตช์ไฟฟ้า รวมทั้งซันรูฟเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า และการออกแบบให้ห้องโดยสาร สามารถเดินทะลุถึงกันได้แบบ Walk Through ในรุ่น 7 ที่นั่ง รวมทั้งยังสามารถปรับเบาะแถวกลาง ให้หมุนกลับด้าน 180 องศา ได้ เพื่อเปลี่ยนภายในรถให้เป็นห้องพักผ่อนของครอบครัว ลูกค้าชาวเกาหลีใต้ สั่งซื้อรุ่นเครื่องยนต์ Diesel เป็นจำนวนมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงนั้น เริ่มถีบตัวพุ่งขึ้นสูง
ตัวถังยาว 4,890 มิลลิเมตร กว้าง 1,895 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,910 มิลลิเมตร มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ 2 ระดับความแรง
-K5 (KR) เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 2,497 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ 175 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
– J3 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,902 ซีซี Turbo 135 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 31.5 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที
ทั้ง 2 เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ อัตโนมัติ 4 จังหวะ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ Multi-Link (5-Link) พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง ระบบห้ามล้อแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม หรือดิสก์ ขึ้นอยู่กับแต่ละตลาด เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS
การปรับปรุงครั้งแรก สำหรับเวอร์ชันเกาหลีใต้ เริ่มขึ้นเมื่อ 27 เมษายน 1999 ด้วยการเพิ่มรุ่น LPG ติดตั้ง เครื่องยนต์ K5M สเป็กเหมือน K5 ปกติ แต่เติมก๊าซ LPG มีขายเฉพาะเกาหลีใต้ ลดกำลังลงเหลือ 150 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดลดเหลือ 22.0 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที)
11 กุมภาพันธ์ 2001 รุ่นปรับโฉม Minorchange เปิดตัวในเกาหลีใต้ ในชื่อ Kia Carnival II เปลี่ยนกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า ชิ้นส่วนตัวถังด้านท้ายรวมทั้งแผงไฟท้ายใหม่ เพิ่มคิ้วกันกระแทกรอบคัน เปลี่ยนแผงหน้าปัดเป็นแบบใหม่ เบาะนั่ง การบุแผงประตูด้านใน ปรับปรุงใหม่ กระจกกรองแสงรอบคัน Solar Control Glass ปรับปรุงการเก็บเสียงและลดการสั่นสะเทือน NVH (Noise Vibration Harshness) เสริมโครงสร้างด้านหน้า ประตูหน้า และกันชน ให้แข็งแรงขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังถือเป็นรุ่นแรกที่ KIA ส่งเข้าไปบุกตลาดอเมริกาเหนือ โดยผ่านมาตรฐานทดสอบความปลอดภัยจากการชนในระดับ 5 ดาว จาก หน่วยงานด้านความปลอดภัยยานยนต์และทางหลวงของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา NHTSA เมื่อเดือนธันวาคม 2001
21 มกราคม 2002 ปรับปรุงเครื่องยนต์ J3 Diesel 2,902 ซีซี ให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro III ทำให้กำลังสูงสุด ลดเหลือ 130 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 33.0 กก.-ม. ที่ 1,800 รอบ/นาที รวมทั้งยังปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ภายในใหม่เล็กน้อย ต่อมา 29 มิถุนายน 2003 อัพเกรดอุปกรณ์ เพิ่มแผงกันความร้อนใต้ฝากระโปรงหน้า เปลี่ยนมาใช้โคมไฟหน้าพร้อมไฟเลี้ยวที่ถูกปรับปรุงให้มีความสว่างยิ่งขึ้น รวมทั้งยกเลิกการผลิตและจำหน่ายรุ่น 6 ที่นั่ง ไปโดยถาวร
15 มกราคม 2004 ได้มีการเพิ่มแผงควบคุมที่พวงมาลัย และเพิ่มลายไม้ให้ดูหรูหรา และได้ออกแบบล้ออัลลอยด์ใหม่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มชดเครื่องเสียงแบบมีหน้าจอระบบการนำทาง GPS Navigation System ในตัว และระบบเซ็นเซอร์ที่กันชนหลัง จากนั้น วันที่ 5 มิถุนายน 2005 Carnival-II ถูกปรับโฉมครั้งสุดท้าย โดยมีการเปลี่ยนกระจังหน้าให้เป็นแบบ ซี่นอน เปลี่ยนฝาครอบไฟหน้าอลุมมิเนียมสีดำ และล้ออัลลอยแบบปัดเงา กระจกด้านอกเคลือบสารกันน้ำแบบพิเศษ และกระจกมองหลังแบบ ECM เพิ่มความหรูหราด้วยพนักพิงแบบหนังธรรมชาติ
Carnival เวอร์ชันไทย เปิดตัวในบ้านเราครั้งแรก พร้อมกับการประกาศเปิดตัว Yontrakit Kia Motor ในฐานะผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ Kia อย่างเป็นทางการรายใหม่ ณ งาน Motor Expo เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1999 โดยมีให้เลือกเพียงรุ่น เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 2,398 ซีซี 170 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.5 กก.-ม.ที่ 4,250 รอบ/นาที ขับล้อหน้า เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เพียงแบบเดียว ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานครบครัน ทั้งเบาะนั่งแบบ 2-3-2 รวม 7 ที่นั่ง เบาะแถวกลางปรับหมุนได้ 180 และปรับเป็นโต๊ะวางของได้ แผงหน้าปัดประดับลายไม้ (ทำในประเทศไทย) ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และระบบปรับตั้งผ้าเบรกอัตโนมัติ ฯลฯ ตั้งราคาไว้ที่ 1,460,000 บาท
จากนั้น 30 พฤศจิกายน 2001 Kia Carnival Minorchange รุ่นปี 2001 ก็ถูกเปิดตัว ณ งาน Motor Expo ตามออกมา ในระยะเวลาราวๆ 1 ปีเศษ มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ V6 DOHC 24 วาล์ว 2,398 ซีซี เดิม ให้ผ่านมาตรฐานมลพิษในบ้านเรา กำลังสูงสุดลดลงมา เหลือ 163 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดลดลงนิดเดียว เหลือ 21.1 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที เครื่องยนต์ลูกนี้ ขึ้นชื่อลือชาว่า เรี่ยวแรงพไหว แต่กินน้ำมันเอาเรื่อง จุกจิก ซ่อมโน่น นี่ นั่น ตลอด แต่ด้วยความนิยมที่มีมาอย่างต่อเนื่องทำให้ Yontrakit ตัดสินใจ นำ Carnival มาขึ้นสายการประกอบในประเทศไทย ณ โรงงาน Y.M.C General Assembly ที่บางชัน ในปี 2004 และทำตลาดจนถึงปี 2006
Carnival รุ่นแรก ทำตลาดในเกาหลีใต้ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2005 แต่ยังคงผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดนอกเกาหลีใต้จนถึงเดือนตุลาคม 2005 ตลอดอายุตลาด Kia Carnival รุ่นแรก ทำยอดขายไปได้ 219,400 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอเมริกาเหนือ Carnival ขายได้ 15,069 คัน ในปีแรกที่ออกจำหน่าย ก่อนจะเพิ่มเป็น 39,088 คันในปี 2002 แล้วพุ่งทะยานขึ้นเป็น 50,628 คันในปี 2003 ก่อนจะขึ้นสู่จุดสูงสุด 61,149 คัน ในปี 2004 และปิดท้ายปี 2005 ด้วยตัวเลข 52,837 คัน
จุดด้อยสำคัญของ Carnival รุ่นแรก อยู่ที่ ฝาถังน้ำมัน ติดตั้งใกล้กับบานประตูเลื่อนมากไป ทำให้ผู้โดยสารเบาะแถวกลาง ไม่สามารถเปิดประตูฝั่งซ้ายเพื่อลงจากรถได้ ในขณะเติมน้ำมัน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องความทนทานของชิ้นส่วนอะไหล่ในเครื่องยนต์ และด้านความปลอดภัยที่ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น VQ ถูกสร้างขึ้นในเวลา 26 เดือน ด้วยเงินลงทุนกว่า 250 พันล้านวอน เปิดตัวครั้งแรกในโลก ณ งาน Chicago Auto Show เมื่อ 14 เมษายน 2005 แต่กว่าจะเริ่มผลิตออกสู่ตลาดได้จริง Kia เลือกที่จะทุ่มกำลังการผลิตรุ่นตัวถังยาว LWB ในช่วงแรกไปให้กับสหรัฐอเมริกาก่อน ลูกค้าชาวอเมริกัน เริ่มรับรถได้ตั้งแต่เดือน กันยายน 2005 ขณะที่ลูกค้าชาวเกาหลีใต้เอง ก็ต้องรอจนถึง 12 มกราคม 2006 จึงจะได้อุดหนุนเป็นเจ้าของรุ่นตัวถังสั้น SWB กัน
Carnival รุ่นที่ 2 ถูกสร้างขึ้นมาให้มีตัวถัง 2 ขนาดความยาว คือรุ่นช่วงสั้นมาตรฐาน Short Wheelbase (SWB) มีความยาว 4,810 มิลลิเมตร และรุ่นช่วงยาว Long Wheelbase (LWB) ซึ่งเพิมขนาดตัวถังให้ยาวขึ้นอีก เป็น 5,130 มิลลิเมตร ทั้ง 2 ตัวถัง กว้างเท่ากันที่ 1,985 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,760 – 1,830 มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับรางหลังคา) ระยะฐานล้อรุ่นช่วงสั้น 2,890 มิลลิเมตร รุ่นช่วงยาว 3,020 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง เท่ากันหมดที่ 1,685 มิลลิเมตร ภาพรวมแล้ว ตัวรถมีเส้นสายตัวถังที่เน้นเหลี่ยมสันมากขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน จนอาจดูเชยไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับบรรดาคู่แข่งชาติอื่นๆในขณะนั้น
จุดเด่นของ Carnival VQ คือ การติดตั้งบานประตูคู่หลังเลื่อนได้แบบไฟฟ้า รวมทั้งฝาท้ายเปิด – ปิดได้ด้วยไฟฟ้า Auto tailgate รวมทั้งแร็คพวงมาลัยแบบเลือกปรับรัศมีวงเลี้ยวได้ VRS (Variable Rack Stroke system) เป็นระบบควมคุมรัศมีวงเลี้ยว ในกรณีที่สวมโซ่ไว้ขับขี่ในฤดูหนาว ช่วยเพิ่มหรือลดรัศมีวงเลี้ยวจาก 6.3 เหลือ 5.51 เมตร พัฒนาโดย Hyundai-Kia Automotive Research Institute เป็นครั้งแรก
เวอร์ชันเกาหลีใต้ มีเครื่องยนต์ที่มีให้เลือก 2 แบบ
– L6EA LPG 4 สูบ 16 วาล์ว 2,656 ซีซี 161 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 25.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
– J3 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,902 ซีซี CRDi Turbo พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT 170 แรงม้า (PS) ที่ 3,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 36.0 กก.-ม.ที่ 2,000 – 3,000 รอบ/นาที
สำหรับเวอร์ชันส่งออก และสหรัฐอเมริกา จะไม่มีรุ่น LPG แต่จะมีเครื่องยนต์ เบนซิน ไซส์ใหญ่ 2 แบบ ดังนี้
– เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 2,656 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT 189 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 25.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที (รุ่น SWB) พ่วงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ
– เบนซิน V6 DOHC 32 วาล์ว 3,778 ซีซี 247 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที (รุ่น LWB) พ่วงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 5 จังหวะ
– Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,902 ซีซี CRDi Turbo 160 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35 กก.-ม.ที่ 2,000 – 3,000 รอบ/นาที พ่วงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 5 จังหวะ
ทุกขุมพลัง มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 หรือ 5 จังหวะ พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ Multi-Link ระบบห้ามล้อ เป็นแบบหน้าดิสก์หลังดรัม หรือดิสก์เบรก 4 ล้อ ตามแต่ละตลาดและรุ่นย่อย เสริมระบบ ABS และ EBD กับถุงลมนิรภัย 2-4 หรือ 6 ใบ ตามแต่ละรุ่นย่อยและแต่ละประเทศ
การปรับโฉมสำหรับตลาดเกาหลีใต้ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2006 Kia เพิ่มรุ่นย่อยระดับหรู Kia Grand Carnival Limousine 11 ที่นั่ง ตกแต่งหรูพิเศษ ด้วยสีขาวและสีดำ เพิ่มออพชันไฟฟ้า และเบาะหนังเข้าไปเต็มพิกัด จากนั้น 5 กุมภาพันธ์ 2007 จึงเพิ่มเครื่องยนต์ Diesel 2,902 ซีซี CRDi 160 แรงม้า (PS) สำหรับรุ่น 11 ที่นั่ง เข้ามาให้เลือก ตามด้วยการเสริมทัพขุมพลัง L6EA LPG 161 แรงม้า (PS) ในเดือนตุลาคม 2007
6 มกราคม 2010 รุ่นปรับโฉม Minorchange ออกสู่ตลาดเกาหลีใต้ ในชื่อ Kia Carnival R เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ มาเป็นแบบ Tiger Nose เหมือนบรรดา Kia รุ่นอื่นๆ ที่เปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกัน วางเครื่องยนต์แบบใหม่ ยกชุดมาจาก SUV รุ่น Sorento R มีทั้งรหัส D4HB Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,199 ซีซี Common-Rail-Turbo CRDi 197 แรงม้า (PS) ที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด มีทั้งแบบ 43.0 และ 44.5 กก.-ม.ที่ 1,800 – 2,500 รอบ/นาที ตามสเป็กของแต่ละรุ่นย่อย ส่วนเครื่องยนต์ L6EA เติมก๊าซ LPG 161 แรงม้า (PS) ยังคงทำตลาดควบคู่ไปด้วย
2 ธันวาคม 2010 เพิ่มอุปกรณ์ใหม่ เสริมถุงลมนิรภัยด้านข้าง และระบบควบคุมการทรงตัว ESP จากนั้นเดือนมิถุนายน 2011 Kia ได้เพิ่มเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สุด G6DC เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 3,470 ซีซี 275 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 34.3 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที เข้ามาให้ลูกค้าได้เลือกใช้ ต่อมา รุ่นเครื่องยนต์ L6EA LPG ยุติการผลิตในเดือนธันวาคม 2011 และการกระตุ้นตลาดครั้งสุดท้าย มีขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม 2013 โดยเพิ่มล้ออัลลอยด์ขนาด 17 นิ้ว ลายใหม่ และ เพิ่มช่องใส่ Tablet ใต้แผงคอนโซลด้านหน้า และเข็มขัดนิรภัย 3 จุด ครบทุกที่นั่ง สำหรับรุ่นช่วงสั้น รวมทั้ง 16 สิงหาคม 2013 ได้ปรับปรุงระบบล็อกความเร็วคงที่ไว้ให้ทำงานได้ ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Carnival รุ่นที่ 2 เคยถูก Hyundai สั่งเข้าไปประกอบขาย ที่โรงงานของตนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งร่วมกับ Kia โดยเปลี่ยนกระจังหน้า เปลี่ยนโลโก้รอบคันแล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น Hyundai Entourage เพื่อหวังอุดช่องว่างในตลาดรถตู้ Minivan ของตนที่นั่น ตามแผนเดิมคือ ยกเลิกไปในเดือน สิงหาคม 2005 แต่จู่ๆ Hyundai กับ Kia ก็รื้อแผนนี้ กลับมาอีกครั้ง โดยยึดกำหนดเปิดตัวเดิมไว้คือ งาน Chicago Auto Show เดือนกุมภาพันธ์ 2006 ก่อนส่งขึ้นโชว์รูมในเดือนเมษายน 2006 มีให้เลือกเฉพาะรุ่นตัวถังยาว LWB เท่านั้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับ Hyundai Verucruz Crossover SUV 7 ที่นั่ง สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ โดยวางเครื่องยนต์ Lambda V6 DOHC 24 วาล์ว 3.8 ลิตร จาก Canival / Sedona แต่กลับกลายเป็นว่า ขายไม่ดี เพราะลูกค้าชาวอเมริกันไม่โง่ พวกเขาเดินเข้าโชว์รูม Kia และยังคงสั่งซื้อ Carnival ในชื่อ Kia Sedona กันต่อไป ทำให้ Hyundai ต้องประกาศในเดือนเมษายน 2009 ว่าจะยุติการทำตลาด Minivan รุ่นนี้ ภายในสิ้นปี โดยจะไม่มีรุ่นปี 2010 อีกต่อไป
ฝั่ง Kia เอง ก็เหนื่อยไม่แพ้กัน ตัวเลขยอดขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงเป็นตลาดหลัก กลับลดลง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี 2008 และการแข่งขันที่รุนแรง เพราะคู่แข่งพากันทะยอยเปิดตัวรถตู้รุ่นใหม่ ที่ไฉไลกว่า ทำให้ ตัวเลขยอดขายของ Sedona ไม่สวยงามนัก ปี 2006 ขายได้ 57,018 คัน พอถึงปี 2007 ตัวเลขลดลงเหลือ 40,493 คัน ปี 2008 ตัวเลขดิ่งลงเหลือ 26,915 คัน ปี 2009 ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 27,398 คัน พอปี 2010 ก็หล่นเหลือ 21,823 คัน ปี 2011 เพิ่มเป็น 24,047 คัน ปี 2012 ร่วงเหลือ 17,512 คัน และปี 2013 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อรการมาถึงของรุ่นปลี่ยนโฉม ขายได้แค่ 7,079 คัน
เวอร์ชันไทย ทำตลาดด้วยรุ่นช่วงยาว LWB เปิดตัวครั้งแรก ในงาน Motor Expo 2006 เปลี่ยนจากขุมพลังเบนซิน มาวางเครื่องยนต์ J3 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,902 ซีซี CRDi พ่วง Turbo 185 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 36.0 กก.-ม.ที่ 2,000 – 3,000 รอบ/นาทีระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 12.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 197 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้น ในงาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายน 2008 จึงเพิ่มรุ่นพิเศษ Grand Carnival CEO 08 ออกมาในราคา 1,764,000 บาท
ในตลาดโลก Carnival รุ่นช่วงสั้น ยุติการผลิตลงในเดือนกันยายน 2013 คงเหลือไว้แต่รุ่นตัวถังยาว 7-8 และ 11 ที่นั่ง ทำตลาดกันแบบเรื่อยๆ ยาวๆ จนถึงเดือนมิถุนายน 2014
เมื่อปฏิทิน เดินทางมาถึงปี 2014 Kia Carnival ทั้ง 2 Generation มียอดขายสะสมรวม 570,000 คัน เฉพาะในตลาดเกาหลีใต้ และ 890,000 คัน ในตลาดส่งออกทั่วโลก แม้ยอดขายรายปีจะลดลงไป แต่ตัวเลขสะสมที่มากมายขนาดนี้ ย่อมง่ายต่อการตัดสินใจเปิดไฟเขียวของผู้บริหาร Kia ในการพัฒนา Carnival รุ่นต่อไป
การพัฒนา Carnival 3rd Generation เริ่มต้นขึ้น ราวๆ เดือนมกราคม 2010 ใช้เวลาไปรวมทั้งสิ้น 52 เดือน (หรือ 4 ปี กับอีก 4 เดือน) กับเงินลงทุนอีกมากถึง 350 พันล้านวอน เพื่อพลิกโฉมให้กับ Grand Carnival ใหม่ แบบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลย
การพัฒนารุ่นใหม่ มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปยังตลาดอเมริกาเหนือ โดยเจาะกลุ่มลูกค้า ผู้ชาย หัวหน้าครอบครัว วัย 35 – 44 ปี ที่มีบุคลิกของความเป็นพ่อ และความเป็นเพื่อนที่ดี ของลูก ในคนคนเดียวกัน (Friend + Daddy)
อย่างไรก็ตาม Kia กลับตัดสินใจ ไม่ส่ง Grand Carnival ใหม่ ไปทำตลาดในยุโรป โดยให้เหตุผลว่า ในอดีต Carnival รุ่นที่ 2 มีให้เลือกทั้งรุ่นช่วงสั้น และช่วงยาว แน่นอนว่า ตลาดอเมริกาเหนือ และทั่วโลก นิยมรุ่นช่วงยาวเป็นหลัก ขณะที่รุ่นช่วงสั้น ทำยอดขายในยุโรปได้ดีกว่า แต่ก็ยังไม่ถึงกับมากนัก เมื่อเทียบกับยอดขายจากรุ่นฐานล้อยาว
ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาด Minivan 5 และ 7 ที่นั่ง ในยุโรป รุนแรงมาก ท่ามกลางความต้องการที่เริ่มหดตัวลง และผู้ผลิตชาวยุโรป ทั้งในเยอรมนี และฝรั่งเศส ต่างเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งมาก ยากต่อการเจาะตลาดเข้าไป ดังนั้น ในเมื่อ Carnival ทำยอดขายในตลาดอเมริกาเหนือ ได้ดีกว่า ดังนั้น การพัฒนารถยนต์จึงต้องมุ่งเอาใจลูกค้ากลุ่มใหญ่สุดอย่างชาวอเมริกัน ไว้ก่อน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทีมวิศวกรของ Kia จึงเลือกเอใจลูกค้าชาวอเมริกัน ด้วยการพัฒนารถรุ่นใหม่ ออกมาแค่รุ่นฐานล้อยาวเพียงแบบเดียวเท่านั้น ทำให้ขนาดตัวถังของ Carnival ใหม่ ใหญ่โตขึ้นมาก จนทำให้มีแนวโน้มว่าอาจไม่ได้รับความนิยมในตลาดยุโรป ซึ่งต้องการ Minivan ขนาดเล็กกว่ามาก ต่อให้เป็น Minivan ของกลุ่ม PSA Peugeot / Citroen ก็ยังมีขนาดเล็กกว่า Carnival ใหม่
เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว รุ่นที่ 3 ของ Carnival จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น Grand Carnival เนื่องจากตัวรถถูกเพิ่มขนาดตัวถังให้ใหญ่โตบ้านบึ้ม เกินกว่า Carnival รุ่นเดิมไปไกลโขนั่นเอง
เมื่อการพัฒนา สุกงอมจนได้ที่ Kia Motor จึงเริ่มปล่อยภาพ Teaser ด้านหน้ารถของ Minivan รุ่นใหม่นี้เป็นครั้งแรก เมื่อ 3 เมษายน 2014 จากนั้น ตามด้วยภาพ Teaser ด้านข้างของตัวรถ เมื่อ 10 เมษายน 2014 ก่อนจะนำไปเปิดผ้าคลุมต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ณ งาน New York Interntional Auto Show เมื่อ 15 เมษายน 2014
จากนั้น เป็นคิวของลูกค้าชาวเกาหลีใต้ ที่ได้สัมผัสกับ Grand Carnival เป็นประเทศที่ 2 งานแถลงข่าว Media Preview มีขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014 พร้อมกับเปิดรับจองจากลูกค้าชาวเกาหลีใต้ ไปพร้อมกัน Kia ฝากความหวังและทุ่มโฆษณา Grand Carnival ใหม่อย่างถี่ยิบ ด้วยสารพัดแคมเปญการตลาด ที่เน้นสื่อถึงการตั้งคำถามกับพ่อบ้านชาวเกาหลีใต้ทั้งหลาย ในทำนองว่า “คุณพาลูกไปเที่ยวครั้งสุดท้าย เมื่อไหร่?”
เพียง 2 วันหลังการเปิดตัว 27 พฤษภาคม 2014 Kia ออกมาประกาศถึงยอดสั่งจองเฉพาะในตลาดบ้านเกิดของตนเอง คือเกาหลีใต้ ว่า สูงถึง 5,000 คัน ทำลายสถิติ Kia K7 Saloon ที่เคยทำไว้ได้ในระดับ 3,100 คัน ถือว่า ทะลุเป้าจำหน่าย 4,000 คัน/เดือน ที่วางไว้ไปเรียบร้อย ไม่เพียงเท่านั้น ยอดสั่งจองยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 12,000 คัน ในเวลา 1 เดือนหลังเปิดตัว และเมื่อผ่านไปอีก 2 สัปดาห์ จนถึง 14 กรกฎาคม 2014 ยอดจองก็พุ่งขึ้นไปเป็น 17,000 คัน (เฉพาะยอดจองวันที่ 1 – 15 กรกฎาคม 2014 ก็ปาเข้าไปแล้วถึง 4,700 คัน!) ทั้งๆที่ Kia วางกำลังการผลิต Grand Carnival ใหม่ ทั้งเพื่อรองรับตลาดในประเทศ และเพื่อตลาดส่งออกไว้ที่ระดับ 5,000 คัน/เดือน ทำให้ในที่สุด Kia ต้องตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 8,000 คัน/เดือน โฆษกของ Kia Motor ที่เกาหลีใต้ ให้เหตุผลว่า “ยอดขายที่สูงพรวดพราดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในกิจกรรมสันทนาการ ตั้งแคมป์ ตามต่างจังหวัดของชาวเกาหลีใต้ เพิ่มสูงขึ้น”
สำหรับประเทศไทย Yontrakit Kia Motor สั่งนำเข้ารถตู้รุ่นนี้ มาเปิดตัวเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2015 พร้อมกับ Kia Soul Full Modelchange 2.0 ลิตร ก่อนจะนำไปจอดโชว์ในงาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2015 โดยมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือ LX ราคา 1,595,000 บาท และรุ่น EX 1,928,000 บาท ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดีเกินคาดหมาย ก่อนที่รุ่น 7 ที่นั่ง Option จัดเต็ม จะตามมาเปิดตัวในงาน Bangkok Internatinal Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา โดยติดป้ายราคา 2,999,000 บาท ซึ่งแพงขึ้นเนื่องจากเหตุผลด้านภาษี
Grand Carnival ใหม่ มีขนาดตัวถังใหญ่โตอลังการมากกว่ารุ่นเดิมชัดเจน ด้วยความยาวถึง 5,115 มิลลิเมตร กว้าง 1,985 มิลลิเมตร (หรือเกือบ 2 เมตร!!) สูง 1,755 มิลลิเมตร (รวมแร็คราวหลังคา) ระยะฐานล้อ ยาวถึง 3,060 มิลลิเมตร ซึ่งยาวพอๆกับรถกระบะ Toyota Hilux Tiger X-Tra Cab ปี 2001 กันเลยทีเดียว! ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,740 / 1,747 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ Gross weight อยู่ที่ 2,770 กิโลกรัม ระยะห่างจาพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) อยู่ที่ 171 มิลลิเมตร
หากเปรียบเทียบกับ Kia Grand Carnival รุ่นที่ 2 รุ่นตัวถังยาว LWB ซึ่งมีความยาว 5,130 มิลลิเมตร กว้าง 1,985 มิลลิเมตร สูง 1,830 มิลลิเมตร (รวมแร็คหลังคา) ระยะฐานล้อ 3,020 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า รถรุ่นใหม่ สั้นกว่าเดิม 15 มิลลิเมตร กว้างเท่าเดิม แต่เตี้ยลง 75 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้นถึง 40 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง เพิ่มขึ้น 50 มิลลิเมตร
แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งตรงๆตัวในบ้านเรา อย่าง Hyundai H-1 ซึ่งมีความยาว 5,120 มิลลิเมตร กว้าง 1,920 มิลลิเมตร สูง 1,925 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,200 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า Grand Carnival ใหม่ สั้นกว่า H-1 แค่ 5 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่า H-1 ถึง 60 มิลลิเมตร เตี้ยกว่าถึง 170 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า H-1 ถึง 140 มิลลิเมตร
และถ้าลองเปรียบเทียบกับ 2 คู่แฝดมหาประลัย Toyota Alphard / Vellfire รุ่นล่าสุด ซึ่งมีความยาว 4915 – 4,930 มิลลิเมตร กว้าง 1,890 มิลลิเมตร สูง 1,895 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,000 มิลลิเมตร แล้ว คุณจะพบว่า Grand Carnival ใหม่ ยาวกว่า Alphard/Vellfire ถึง 185 มิลลิเมตร กว้างกว่า 95 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 140 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 60 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอกถูกออกแบบให้เน้นความเรียบง่าย แต่ดูโอ่อ่า หรูหรา ทรงภูมิ ทรงพลัง อย่างภูมิฐาน ในแบบ Modern Premium ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ Peter Schreyer อดีต Chief Designer ของ Kia ผู้เคยฝากผลงานไว้กับ การออกแบบ รถสปอร์ตอย่าง Audi TT และเป็นผู้กำหนดแนวทางงานออกแบบของ Kia ตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงปัจจุบันนี้
เห็นครั้งแรก ผมมองว่า สวย! มันดูสวยงามกว่าบรรดาคู่แข่งที่แท้จริงของมันในตลาดอเมริกาเหนือ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Toyota Sienna , Nissan Quest , Honda Odyssey หรือ Chrysler Pacifica ด้วยเส้นสายที่เรียกง่ายแต่ใหญ่โต น่าเกรงขามแบบนี้ ทำให้ Grand Carnival สามารถยืนยันฟัดเหวี่ยงกับคู่ต่อสู้ทั้ง 4 รุ่นดังกล่าวได้อย่างไม่น้อยหน้าใครเขาเลย
กระจังหน้าเป็นแบบ Tiger Nose เอกลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ Kia ถูกออกแบบมา 2 เวอร์ชัน คือ แบบซี่นอน สำหรับตลาดเกาหลีใต้ และแบบตาข่ายวงรี ที่ใช้ทำลาดต่างประเทศ รวมทั้งในเมืองไทย ล้อมกรอบด้วยโครเมียม และมีสัญลักษณ์ของ KIA อยู่ด้านบนสุด เหนือกระจังหน้าขึ้นไป
Grand Carnival ใหม่ เวอร์ชันไทย ยังคงให้ชุดไฟหน้าแบบ Projector แต่ใช้หลอด Halogen พร้อมกับไฟหรี่ด้านหน้า และไฟ Daytime Running Light แบบ LED กรอบกระจกมองข้าง ติดตั้งไฟเลี้ยวแบบ LED ส่วนรุ่น EX จะเพิ่ม ไฟตัดหมอกหน้าแบบ Projector พร้อมโครเมียมล้อมกรอบ มาให้โดยเฉพาะ
ส่วนด้านหลัง กระจกหน้าต่างขนาดใหญ่ ถูกออกแบบให้ยกระดับขอบสะเอวขึ้นมาจากบานประตูคู่หลังเล็กน้อย แถมยังลากยาวต่อเนื่องไปยังบานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ในแบบ Wrap around
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง มีสปอยเลอร์เหนือกระจกบังลมหลัง ติดตั้งไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ไว้ในตัว บนหลังคามีเสาอากาศวิทยุแบบครีบฉลาม (Shark Fin) ตามสมัยนิยม ใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก กับไล่ฝ้า และแผงทับทิมสะท้อนแสงยามค่ำคืน ที่เปลือกกันชนหลัง ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ของทกรุ่นย่อย
ส่วนรุ่น EX จะเพิ่ม ชุดไฟท้ายพร้อมไฟเบรกแบบ LED แร็คหลังคา สำหรับเชื่อมติดตั้ง Rack Rail ไว้บรรทุกสัมภาระ จักรยาน หรือกล่องเก็บของบนหลังคา รวมทั้งมีขอบโครเมียม ประดับอยู่เหนือขอบกระจกหน้าต่างรอบคัน มาให้เป็นพิเศษ
รุ่น LX จะให้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว สวมยางขนาด 235/65R17 แต่ในรถคันที่เราทดลองขับ ซึ่งเป็นรุ่น EX จะติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว สวมยางขนาด 235/60R18 จาก Kumho รุ่น
ระบบกลอนประตู เปลี่ยนมาใช้กุญแจ Remote Control แบบ Keyless Entry มีสวิตช์สั่งล็อกประตูทุกบาน อยู่บนวงกลมด้านบนสุด ถัดลงมาเป็นสวิตช์ปลดล็อกบานประตูทุกบาน ตามด้วยสวิตช์สั่งเปิด – ปิด บานประตูเลื่อนทั้งฝั่งซ้าย และขวา รวมทั้งสวิตช์เปิดฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลังด้วยไฟฟ้า ซึ่งต้องกดปุ่มนี้แช่ค้างไว้ราวๆ 2-3 วินาที บานฝาท้ายถึงจะปลดล็อกและเปิดยกขึ้นให้
แม้ว่าตัวกุญแจจะออกแบบมาสวย และใช้วัสดุที่ให้น้ำหนักกำลังดี ดุจรีโมทกุญแจของรถยนต์ระดับ Premium แถมยังมีระบบกางกระจกมองข้างไฟฟ้า ในทันทีที่คุณเดินเข้าใกล้ตัวรถ ทว่า Grand Carnival เวอร์ชันไทย ยังคงไม่มีระบบ Smart Entry ดึงมือจับเปิดประตูรถได้ทันทีมาให้แต่อย่างใด หากต้องการจะปลดล็อก หรือสั่งล็อกรถ คุณยังคงต้องกดปุ่มสีดำ Smart Key Lock บนมือจับประตูฝั่งคนขับ เหมือนเช่นรถเก๋งประกอบในประเทศหลายๆรุ่น อยู่ดี แถมสวิตช์นี้ ยังมีเฉพาะรุ่นท็อป EX เท่านั้นอีกต่างหาก!
มือจับประตูพ่นสีเดียวกับตัวถัง มีรูกุญแจให้ แต่เฉพาะรุ่น EX จะเพิ่มอุปกรณ์พิเศษก็คือ หากกดปุ่มปลดล็อกแล้ว จะมีไฟเรืองแสงที่มือจับฝั่งคนขับมาให้ เพื่อเพิ่มการมองเห็น ในยามค่ำคืน คล้ายกับมือจับเปิดประตูของ BMW หรือ Mercedes-Benz บางรุ่น
ช่องทางเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า มีขนาดใหญ่โต และกว้างเอาเรื่อง ช่วยทำให้การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะคู่หน้า สะดวกสบาย หากปรับเบาะนั่งในระดับต่ำสุด ตำแหน่ง Hip-Point (บั้นเอว) ของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า เบาะคู่หน้าของบรรดารถตู้ที่ขายกันอยู่ในบ้านเรา ทั้ง Hyundai H-1 รวมถึง Toyota Alphard / Vellfire กระนั้น ความสูงจากพื้นถนนจนถึงตำแหน่งเบาะรองนั่ง ยังใกล้เคียงกับ Nissan Elgrand / Quest รุ่นล่าสุด
อย่างไรก็ตาม การเข้า – ออกจากรถ จำเป็นต้องก้มหัวลงเล็กน้อย เพราะมิเช่นนั้น โอกาสที่ศีรษะคุณอาจไปโขกกับเสาโครงหลังคา บริเวณกรอบช่องประตู ก็ยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งด้วยวัสดุบุนุ่ม ตั้งแต่แผงสีเทาดำท่อนบน จนถึงพื้นที่ด้านข้างพนักวางแขน ซึ่งออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม ดังนั้น ท่อนแขนของคุณจะวางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม สบายกำลังดี
บริเวณมือจับ และแผงสวิตช์กระจกไฟฟ้า เป็นวัสดุแบบแข็ง เหมือนเช่นท่อนล่างของแผงประตู ซึ่งออกแบบให้เป็นช่องใส่ของขนาดยักษ์ สามารถวางขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ ได้สบายๆ รวมทั้งใส่เอกสาร หรือข้าวของจุกจิกได้เหลือเฟือ ด้านล่าง มีแผงทับทิมสีแดง สำหรับส่องสว่างให้รถคันที่แล่นตามมาในยามค่ำคืน ได้เห็นชัดว่าคุณกำลังเปิดประตูรถอยู่
เบาะนั่งคู่หน้า หุ้มด้วยหนังสีเบจ ที่มีพื้นผิวดีขึ้นกว่า Grand Carnival รุ่นก่อน ให้ความสว่าง สวยงาม และดูมีราคาแพง สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน หรือตั้งชัน รวมได้มากถึง 8 ทิศทาง ครบทั้งฝั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านซ้าย เสียดายว่า ไม่มีระบบหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ-กระจกมองข้าง-พวงมาลัย มาให้เลย
ตัวเบาะ ออกแบบมาในสไตล์ “แน่น – นุ่ม” ดุจนั่งอยู่บนโซฟาหนาๆ พนักพิงหลัง รองรับแผ่นหลังรวมไปถึงช่วงหัวไหล่ได้ดี ปีกเบาะด้านข้าง โอบกระชับสรีระด้านข้างได้อย่างพอดีตัว ไม่แน่นหรือไม่กางออกจนเกินไป ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่งก็ยังหนาแน่น-นุ่มกำลังใช้ได้ ไม่นิ่มเกินเหตุ ไม่ย้วยเกินไป สำหรับสรีระร่างของผมแล้ว เบาะรองนั่งมีความยาวเหมาะสม กำลังดี ยาวจนถึงขาพับ ภาพรวมถือว่าให้ความสบายได้ดีมากกว่าบรรดารถตู้หลายๆรุ่นในตลาดบ้านเรา
ข้อที่ควรปรับปรุง แน่นอนครับ พนักศีรษะ ออกแบบตามเทนด์ของรถยนต์สมัยใหม่หลังปี 2013 เป็นต้นมา คือยังคงดันกบาลไปสักหน่อย แม้ว่า จะเสริมฟองน้ำมาไม่มาก ทำให้ตัวพนักศีรษะนุ่มจนค่อนข้างจะนิ่มสบายเสียด้วยซ้ำ ทางแก้คือ อาจต้องปรับพนักพิงหลังเอนลงนิดนึง เพื่อช่วยลดการปวดเมื่อยบริเวณท้ายทอย หรือกระดูกต้นคอ
ด้านข้างพนักพิงเบาะโดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย จะมีสวิตช์ไฟฟ้าปรับเบาะ เพิ่มความสะดวกให้คนขับ สามารถปรับเบาะหน้าฝั่งซ้ายเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง หรือ ปรับพนักพิงเอนนอน และตั้งขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเอื้อมมือ หรือลงจากรถไปปรับเบาะ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสาร แถว 2 ได้อย่างง่ายดาย
ด้านหลังพนักพิงเบาะหน้าฝั่งซ้าย มีช่องขอเกี่ยวสำหรับแขวนถุงช้อปปิ้ง หรือถุงพลาสติกเล็กๆมาให้ด้วย ใครอยากจะกินกล้วยปิ้ง หรือถั่วต้มระหว่างทาง ก็ซื้อขึ้นรถ แล้วแขวนไว้กับตะขอดังกล่าวได้เลย
บานประตูคู่หลัง เลื่อนเปิด – ปิดได้ด้วยไฟฟ้า จาก 3 วิธี ทั้งการกดสวิตช์จากรีโมทกุญแจ สวิตช์บนเพดาน บริเวณแผงไฟอ่านหนังสือคู่หน้า มือจับเปิดประตูด้านนอก และด้านใน เพียงแค่ดึง 1 ครั้งแล้วปล่อย หรือกดปุ่มบริเวณ พลาสติกบุเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ด้านในรถ มีระบบ Jam Protection ดีดตัวเลื่อนกลับเองอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งของหรือวัตถุมากีดขวาง
บานประตูขนาดใญ่ และความยาวของรางเลื่อนที่มากโขอยู่ ทำให้ช่องทางเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลังกว้างขึ้นกว่าบรรดารถตู้ทั่วไปที่ผมเคยเจอมานิดหน่อย ให้ความสะดวกทั้งการขึ้นลงจากเบาะแถว 2 หรือ แถว 3 ได้ดีทีเดียว
แผงประตูด้านข้าง ออกแบบมาอย่างดีจนเกินคาดคิด ประดับด้วยแถบ Trim Piano Black พร้อมพลาสติกเจาะช่องวงรี ในตัว ด้านล่าง เป็นช่องใส่ของจุกจิก และช่องวางขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ ระดับขวดลิตรได้สบายๆ
กระจกหน้าต่าง เลื่อนเปิด – ปิด ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ซึ่งถูกติดตั้งในช่องที่เจาะขึ้นรูปให้เว้าลึกเข้าไปในแผงประตูนิดหน่อย ทว่า ไม่สามารถเลื่อนลงจนสุดขอบรางได้ หน้าต่างทั้ง 2 ฝั่ง มีม่านลดแสง แบบดึงยกขึ้นมาเกี่ยวกับตะขอด้านบน ติดตั้งมาให้ ต้องใช้ความระมัดระวังในการยกขึ้นใช้งาน เพราะแรงดีดค่อนข้างมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือได้ หากไม่ระมัดระวัง
เบาะนั่งแถว 2 ไม่ได้หนานุ่มแบบเบาะคู่หน้าสุด ตัวพนักพิงหลังออกแบบมาให้แน่นเกือบแข็งนิดๆ คล้ายกับรถยุโรประดับเริ่มต้น รองรับแผ่นหลังและช่วงหัวไหล่ ได้เกือบเต็มพื้นที่ ทั้ง 2 ฝั่ง มีพนักวางแขนแบบยกพับเก็บ และล็อกตำแหน่งที่ต้องการไว้ มาให้เฉพาะด้านข้างพนักพิงหลัง ฝั่งที่ติดกับบานประตู ใช้งานได้ดี แต่หนังและฝีเย็บแอบแข็งไปนิดนึง ตัวพนักพิงหลังสามารถปรับเอนนอนได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่อาจเอนลงไปจนแบนราบได้ เพราะด้านหลังจะติดกับแผงผนังพลาสติกเหนือซุ้มล้อคู่หลัง
พนักศีรษะ เป็นรูปตัว L ต้องยกขึ้นใช้งาน มิเช่นนั้น ขอบล่างจะทิ่มตำต้นคอ ยังดีที่พอยกขึ้นใข้งานแล้ว จะพบความแน่นแอบนุ่มนิดๆ พอยอมรับได้ ส่วนเบาะรองนั่ง ค่อนข้างสั้น และเสริมฟองน้ำไว้ค่อนข้างแน่นเกือบแข็ง แม้จะมีปีกข้างมาโอบอุ้มช่วงด้านข้างต้นขาให้พอสบายกว่าเบาะแถว 3 อยู่บ้าง ก็ตาม
เบาะนั่งตรงกลาง ถูกออกแบบมาให้เป็นเบาะสำรองมากกว่าจะนั่งเดินทางเป็นเวลานานๆ พนักศีรษะ หากไม่ยกขึ้นใช้งาน ขอบล่างก็จะทิ่มตำช่วงต้นคอ พอยกใช้งาน ก็ได้แค่ 1 ตำแหน่ง เท่าน้้น พนักพิงหลัง แบนราบ รองรับแผ่นหลังได้ไม่มาก ส่วนเบาะรองนั่ง สั้นกว่า และมีมุมเงย พอกันกับเบาะรองนั่งแถว 2 ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา หากจะพับพนักพิงหลัง ให้เอื้อมมือไปที่ด้านหลังพนักพิง ตรงกลาง ใต้พนักศีรษะ จะมีคันโยก ดึงเพื่อพับพนิกพิงลงมาใช้เป็นโต๊ะวางของ พร้อมช่องวางเครื่องดื่ม 2 ตำแหน่ง หรือถ้าจะยกพับเก็บเพื่อทำทางดินทะลุถึงเบาะหลังแบบ Walk Through ให้พับพนักพิงหลังก่อน แล้วจับด้านล่างเบาะตรงกลางให้มั่นคงแล้วพับเข้าหาเบาะนั่งหลักฝั่งซ้าย ก็เป็นอันเรียบร้อย
พื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งโล่งสบาย ส่วนพื้นที่วางขา ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะใช้คันโยกใต้เบาะรองนั่ง ปรับเบาะเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง แยกได้อิสระทั้งฝั่งซ้าย – ขวา มากน้อยแค่ไหน จะมีจิตใจเมตตากรุณากับผู้ร่วมเดินทางแถว 3 (หรือ 4) บ้างหรือไม่…
เบาะนั่งแถว 3 ดูผิวเผินอาจเข้าใจว่า มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเบาะแถว 2 เปี๊ยบ แต่ความจริงแล้ว เบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย และขวา จะมีขนาดเล็กกว่า เบาะนั่งตำแหน่งเดียวกันของ ชุดเบาะแถว 2 อยู่เล็กน้อย ทั้งความสูงของพนักพิงหลังที่เตี้ยกว่านิดนึง ไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ รวมทั้งความกว้างของเบาะรองนั่งที่จำเป็นต้องเล็กลง เนื่องจากโดนผนังซุ้มล้อคู่หลัง เบียดบังพื้นที่เข้ามา เท่านั้นเอง
เบาะแถว 3 น่าจะเหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 12-13 ปี ขึ้นมาจนถึงไม่เกิน 19 ปี หรือผู้มีสรีระร่างผอมบาง แบบคุณเติ้ง Kantapong Somchana จาก The Coup Team ของเรา เหมือนที่เห็นในภาพนี้ มากกว่าจะให้คนตัวใหญ่นั่งโดยสาร เพราะพนักพิงหลังมาในสไตล์เดียวกับเบาะแถว 2 คือ แน่นเกือบแข็ง แม้จะรองรับแผ่นหลังรวมทั้งช่วงหัวไหล่ได้เกือบเต็มพื้นที่ก็ตาม ตัวพนักพิงหลังสามารถปรับเอนนอนจนแบนราบ หรือยกพับโน้มมาข้างหน้า
พนักศีรษะ เหมือนกับเบาะแถว 2 คือเป็นแบบตัว L คว่ำ ต้องยกขึ้นใช้งาน เพื่อที่ขอบด้านล่างจะได้ไม่ทิ่มตำต้นคอผู้โดยสารจนเกิดความรำคาญ ตัวพนักศีรษะเองแม้จะบุฟองน้ำ แต่ค่อนข้างแข็ง ไม่ดันท้ายทอย แต่ก็ยังไม่ถึงกับสบายนัก ส่วนเบาะรองนั่ง สั้นกว่าและแคบกว่าเบาะแถว 2 อีกนิดนึง มีมุมเงยเท่ากัน แต่นั่งไม่สบายเท่าไหร่
เบาะนั่งสำรองแบบพับเก็บได้ตรงกลาง ก็เหมือนกับเบาะแบบเดียวกันของแถว 2 ไม่มีผิดเพี้ยน คือ ทำหน้าที่เป็นเบาะชั่วคราวหนะพอได้ เพราะพนักพิงหลังแบนราบ และมีขนาดเล็ก เช่นเดียวกับตัวเบาะรองนั่ง ที่สั้นกว่าเบาะแถว 3 แบบปกติไปอีก เหมาะกับคนตัวเล็ก หรือเด็กน้อย อายุ 9 – 12 ขวบ นั่งชั่วคราวพอได้ แต่ไม่เหมาะกับการนั่งเดินทางไปไกลๆ พนักศีรษะก็เกือบจะแข็ง แถมยกต้องขึ้นเพื่อไม่ให้ขอบล่างทิ่มต้นคอ อีกทั้งยังยกขึ้นได้แค่ตำแหน่งเดียว ยังดีที่สามารถพับเป็นโต๊ะวางของ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ใช้งานได้จริง ผมว่า พับเป็นโต๊ะไปแบบนี้จะดีกว่า หรือถ้าจะพับเป็นทางเดินทะลุไปยังเบาะแถว 4 ก็ต้องพับพนักพิงหลังด้วยคันโยกด้านหลังพนักพิง ใต้หมอนศีรษะก่อน แล้วจึงจับด้านล่างเบาะตรงกลางให้มั่นคงแล้วพับเข้าหาเบาะนั่งหลัก เหมือนกัน
พื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วง เหลือเยอะพอกันกับเบาะนั่งแถว หน้าสุด และแถว 2 ส่วนพื้นที่วางขา ขึ้นอยู่กับการปรับเลื่อนเบาะของผู้โดยสารแถว 2 เป็นหลัก ถ้ารู้สึกว่าไม่สบาย ก็สามารถปรับเลื่อนเบาะแถว 3 ขึ้นหน้า-ถอยหลัง ได้จากคันโยก ใต้เบาะรองนั่ง ทั้ง 2 ฝั่ง เหมือนเบาะแถว 2
แผงพลาสติกขนาดใหญ่ครอบทับซุ้มล้อคู่หลัง ออกแบบให้เป็นพื้นที่ติดตั้งลำโพง และเล่นระดับเป็นพื้นที่วางแขน ซึ่งวางได้ระดับกำลังดี มีช่องวางแก้วฝั่งละ 2 ตำแหน่ง วางแก้วแบบทั่วไปได้ แต่วางขวดน้ำ 7 บาทได้ไม่ดีนัก นอกจากนี้ กระจกหน้าต่างคู่หลังสุด สำหรับผู้โดยสารแถว 3 และ 4 ยังมีม่านบังแดด แบบยกขึ้นเกี่ยวกับตะขอด้านบน เหมือนหน้าต่างของบานประตูเลื่อน
Grand Carnival เวอร์ชันไทย มีจำหน่ายเฉพาะรุ่น 11 ที่นั่ง หมายความว่า ต้องมีเบาะแถวหลังสุดเพิ่มเข้ามาอีก 1 แถว งานนี้ Kia ตัดสินใจ ออกแบบและพัฒนา เบาะแบบม้านั่งยาว Bench Seat ให้สามารถพับเก็บซ่อนลงไปแบนราบกับพื้นห้องโดยสารได้ เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขนคน และขนของ
การพับเก็บ ไม่ยากเย็นเลย แต่อาจต้องออกแรงเยอะสักหน่อย แค่ดึงสลักปลดล็อกด้วยเชือกผ้า ที่ติดตั้งบริเวณกลางพนักพิงหลัง แล้วใช้มืออีกข้าง ดันพนักพิงหลังพับลงไป ตัวเบาะจะถูกดันลงไปเก็บที่พื้นรถได้อย่างง่ายดาย หรือถ้าจะยกเบาะแถว 4 ขึ้นมาใช้งาน ก็ให้ดึงสลักปลดล็อกด้วยเชือกผ้า อีกครั้ง พนักพิงจะถูกดึงให้กางออกขึ้นมา พร้อมกับตัวเบาะทั้งหมดจะยกตัวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนั่งปกติ จนเข้าล็อกเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม การนั่งโดยสารบนเบาะแถว 4 นั้น เหมาะสำหรับผู้โดยสารตัวเล็ก แม้พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่เป็นปัญหา อาจจะพอเหลือ สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร แต่พื้นที่วางขาจะมีเหลือมากแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารบนเบาะแถว 3 และ 2 ว่าพอจะเอื้อเฟื้อความสบายให้กับผู้โดยสารแถวหลังสุดได้หรือไม่
ตำแหน่งที่ น้องเติ้ง Kantapong Somchana แห่ง The Coup Team ของเว็บเรา นั่งให้ดูอยู่นี้ ถูกปรับตั้งเบาะเอาไว้ในระดับที่ผู้โดยสาร ทั้งแถว 2 3 และ 4 พอจะเหลือพื้นที่วางขาให้กับตนเอง คนละนิดคนละหน่อยแล้ว เท่านั้น จะเห็นได้ว่า หัวเข่านี่ แนบชิดกับ้านหลังของพนักพิงเบาะแถว 3 กันเลยทีเดียว
ตัวเบาะนั่ง ยิ่งไม่เหมาะกับผู้ใหญ่หนักเข้าไปอีก ตัวพนักพิงปรับเอนมากไม่ได้ เพราะจะติดบานประตูห้องเก็บสัมภาระ ต้องนั่งหลังตรง ซึ่งทำให้ศีรษะคุณจะไปติดกับเพด้านหลังคา แถมเบาะรองนั่ง ที่สั้นเอาการ ก็มีมุมเงยสูงพอกับเบาะแถว 3 ทำให้นั่งไม่สบายเอาเสียเลย พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ก็ต้องยกขึ้นใช้งาน มิเช่นนั้น ขอบล่างจะทิ่มตำกึ่งกลางแผ่นหลังอีก ดังนั้น ควรสงวนเบาะแถว 4 เอาไว้ให้พี่เลี้ยงเด็ก คนใช้ หรือบรรดา น้องหมาน้องแมว จะดีกว่า
ด้วยระบบรางเลื่อนของเบาะแถว 2 และ 3 ทำให้ ทุกคนสามารถแบ่งพับปรับเปลี่ยนการใช้งานเาะนั่งทั้ง 11 ตำแหน่ง ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการยกขึ้นมาใช้งานครบ 11 ที่นั่ง การพับเบาะแถว 4 ลงไปกับพื้นรถ เพื่อใหสามารถนั่งโดยสารได้ 8 คน แล้วยังมีพื้นที่วางกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารทั้งหมด หรือจะพับเบาะแถว 3 เพิ่ม เพื่อให้มีพื้นที่มากพอสำหรับขนจักรยานเสือภูเขา หรือจะพปรับเลื่อนเบาะแถว 2 ขึ้นไปอีก เพื่อเพิ่มพื้นที่จนสัมภาระชิ้นใหญ่ยักษ์ ได้มากขึ้น
จุดขายสำคัญของ Grand Carnival อยู่ที่ บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิดยกขึ้น และปิดได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้งจากรีโมทกุญแจ (กดปุ่มบนรีโมท แล้วแช่ไว้ 2 วินาที ) หรือกดสวิตช์ไฟฟ้า เหนือกรอบช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง และสวิตช์บนเพดานหลังคา ใกล้กับไฟอ่านหนังสือคู่หน้า มาพร้อมระบบ Jam Protection ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง อีกทั้งยังสามารถตั้งความสูงของฝาท้าย ให้เปิดยกขึ้นในระดับที่คุณต้องการได้
ฟังก์ชันพิเศษที่ไม่อาจหาได้ในรถตู้ระดับเดียวกันนั่นคือ ถ้าคุณต้องการเปิดฝาท้ายขณะหิ้วถุงช้อปปิงพะรุงพะรัง ง่ายมากครับ แค่พกกุญแจรีโมท Keyless Entry แล้วเดินไปใกล้กับฝาท้าย ตัวรถจะส่งสัญญาณตอบกลับเป็นเสียง ปี๊บๆ พร้อมกระพริบไฟฉุกเฉิน ภายใน 5 ครั้ง ฝาท้ายจะยกเปิดขึ้นมาให้เอง โดยไม่ต้องเหวี่ยงเท้าไปหาเซ็นเซอร์ใต้เปลือกกันชนหลังแบบ BMW หรือ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ แต่ประการใดทั้งสิ้น!
หากยังไม่ได้พับเบาะลงเลยแม้แต่แถวเดียว ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง จะมีขนาดแค่ 33 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี แต่ถ้าพับเบาะลงเมื่อไหร่ ไม่ต้องถามแล้วละครับว่า ขนาดความจุหนะเท่าไหร่ เปลี่ยนมาตั้งคำถามใหม่ว่า คุณอยากบรรทุกอะไรเข้าไป น่าจะง่ายกว่า ด้านบนเพดานตรงกลาง เหนือปากทางเข้า – ออก ด้านหลัง มีไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน พร้อมสวิตช์เปิด – ปิด เชื่อมการทำงานกับระบบล็อกประตูรถมาให้
ยางอะไหล่ ยังมีมาให้ แต่ไม่ต้องไปยกพรมท้ายรถหานะครับ ไม่เจอหรอก เพราะเขาย้ายตำแหน่งไปไว้ใต้ท้องรถ บริเวณใต้เบาะคนขับนั่นเอง! ส่วนแม่แรง และเครื่องมือประจำรถ ซ่อนเก็บอยู่หลังแผงพลาสติกบุผนังห้องเก็บของฝั่งซ้ายมือ
แผงหน้าปัดออกแบขึ้นใหม่ จนเปลียนไปจากรถเกาหลีแบบเดิมที่ผมคุ้ยเคยตลอดช่วง 10 ปีที่ผานมา ไปมากโข ครึ่งท่อนบนเป็นสีดำ ส่วนท่อนล่างเป็นสีเบจ เหมือนสของห้องโดยสารในภาพรวม แผง Trim ล้อมรอบชุดเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งแผง Trim ประดับชุดเครื่องเสียงเป็นสีดำ Piano Black ขนาบข้างด้วยช่องแอร์คู่กลาง ล้อมกรอบด้วยพลาสติกชุบโครเมียมอย่างดี
พูดกันตรงๆเลยว่า การออกแบบและประดับตกแต่งด้วยวัสดุที่ดีเทียบเท่ารถเยอรมันขนาดนี้ ทำให้ผมคิดว่ากำลังนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับของ Volkswagen Golf Mk7 หรือ Polo รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งเปิดตัวใน Frankfurt Motor Show 2017 มากกว่าคิดว่ากำลังนั่งอยู่ในรถเกาหลี!!
มองขึ้นไปข้างบน คุณจะพบว่า เพดานหลังคาบุด้วยวัสดุผ้านุ่ม สีเบจ ดุจรถยุโรปชั้นดีจากเยอรมนี แผงบังแดดมีขนาดใหญ่โตมาก
ฝังกระจกแต่งหน้าพร้อมบานเลื่อนเปิด – ปิด ขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน พร้อมไฟแต่งหน้า ฝังบนฝ้าเพดานข้างบน ถ้ายังบังแดดไม่มิด Kia เขาก็แถมแผ่นพลาสติกหดซ่อนเก็บไว้ข้างใน เพื่อให้คุณดึงกางออกมาเพิ่มพื้นที่บังแสงแดดให้สะใจกันไปเลย
ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ติดตั้งคู่กับไฟอ่านแผนที่ การใช้งาน ออกจะงงงวยสักหน่อย ถ้าคุณต้องการเปิดไฟอ่านหนังสือจากเบาะหน้า นั่นย่อมได้ แต่ถ้าคุณอยากเปิดไฟเพดาน เหนือเบาะแถวกลาง คุณอาจต้องเปิดไฟทั้งคันรถ เพราะเราลองพยายามดูแล้ว มันแยกเปิดอิสระไม่ได้เสมอไป
สวิตช์เปิด – ปิด ประตูบานเลื่อนไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง และฝาท้ายไฟฟ้า รวมตัวกันอยู่ติดกับไฟอ่านแผนที่คู่หน้า นอกจากนี้ ยังมีฝาพับเก็บกระจก Mini-Panoramic ขนาดเล็ก สำหรับผู้ขับขี่ ไว้สอดส่องดูแลบุตรหลาน ขณะนั่งโดยสารบนเบาหลังได้ ส่วนกระจกมองหลัง เป็นแบบตัดแสดงอัตโนมัติ จากโรงงาน
ดูเหมือนว่า แผงหน้าปัดจะได้รับอิทธิพลจาก รถยนต์ในเครือ Volkswagen มาไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่ไฟเรืองแสงบนแผงหน้าปัด ไล่จากฝั่งขวา มาทางซ้ายบนแผงประตูด้านข้างฝั่งคนขับ จะมีแผงสวิตช์ควบคุมกระจกมองข้าง ทั้งปรับและพับเก็บได้ด้วยระบบไฟฟ้า ตัวสวิตช์เป็นแป้นวงกลม กดใช้งานง่ายดาย ไม่ค้องเสียเวลาเรียนรู้ทำความเข้าใจ
สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ 4 บาน พร้อมสวิตช์ล็อกกันเด็กเปิดเล่น แต่จะมีแ่ค่หน้าต่างฝั่งคนขับเท่านั้น ที่มีระบบ One-Touch เลื่อนอัตโนมัติ มาให้ แถมยังมีเฉพาะตอนเลื่อนหน้าต่างลงเท่านั้น ไม่มีขาขึ้นมาให้ด้วย ทั้งที่อุตส่าห์ออกแบบตัวสวิตช์ ให้มีแถบโครเมียมประดับไว้นิดๆจนดูสวยงามแล้วสิน่า!
ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ เป็นสวิตช์ปรับระดับความสว่างของชุดมาตรวัดในตอนกลางคืน เสียดายว่า เวอร์ชันไทย ไม่มีสวิตช์ปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้ามาให้ ถัดลงมาเป็นสวิตช์เปิดฝาถังน้ำมัน ตามด้วยฝาปิดแผง Fuse ระบบไฟในรถ ส่วนคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า ติดตั้งไว้ที่ฐานเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา
ก้านสวิตช์ฝั่งขวา ใช้ควบคุมชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง และระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ Auto รวมทั้งสวิตช์ไฟตัดหมอกหน้า ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ไว้ใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝนคู่หน้าและด้านหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า – หลัง (ไม่มีใบปัดน้ำฝนแบบ Auto มาให้เลย) ปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ติดตั้งไว้บริเวณด้านข้างช่องแอร์คู่หน้า ฝั่งซ้ายของมาตรวัดความเร็ว
พวงมาลัยของทกรุ่น เป็นแบบ 3 ก้าน ออกแบบข้นใหม่ ตามปกติรุ่น LX จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ แต่รุ่น EX จะหุ้มด้วยหนัง ตัดสลับกับลายไม้ที่ขอบวงพวงมาลัยด้านบน ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) ได้ เพียงแต่ว่า คุณควรระวังคันโยกเพื่อ ปลดล็อกพวงมาลัยสักหน่อย เพราะจังหวะดึงลงมา อาต้องใช้แรงนิ้วงัดค่อนข้างนาน ทำให้อาจปวดเมื่อยนิ้ว หรือเป็นแผลเกิดขึ้นได้
ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นแผงสวิตช์ควบคุม หน้าจอ MID กับ ระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และการสั่งการโทรศัพท์
คันเกียร์อัตโนมัติ หน้าตาดูราวกับว่าได้แรงบันดาลใจจาก Volkswagen อีกเช่นกัน บริเวณฐานคันเกียร์ เป็นสถานที่สิงสถิตย์ของสวิตช์ต่างๆ ได้แก่ สวิตช์ Heater อุ่นเบาะคู่หน้า แยกฝั่งเบาะซ้าย – ขวา เลือกปรับความร้อนได้ 3 ระดับ ทั้งคู่ รวมทั้งสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ Heater อุ่นพวงมาลัย ระบบโปรแกรมการขับขี่ Active ECO System เน้นความประหยัดน้ำมัน โดยควบุคมการทำงานของลิ้นคันเร่ง ระบบเกียร์และระบบปรับอากาศ (ซึ่งอัตราความสิ้นเปลืองจะเปลี่ยนตามลักษณะการขับขี่และสภาพถนน) และสวิตช์เปิด – ปิด เซ็นเซอร์ช่วยกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด ทั้งด้านหลังรถ (มีมาให้ทั้ง 2 รุ่นย่อย) และด้านหน้า (มีเฉพาะรุ่น EX)
ชุดมาตรวัด เปลี่ยนจากการออกแบบที่น่าเบื่อหน่าย มาเป็นเป็นแบบ 2 วงกลม ใช้ฟอนท์ตัวเลขที่มีขนาดเหมาะสม อ่านง่าย แม้ในย่านความเร็วสูงๆหน้าจอเรืองแสงสีขาว แต่มีเข็มสีแดง มีมาตรวัดน้ำมันในถัง และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ด้วย ตรงกลางเป็นจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display) แสดงข้อมูลทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time และแบบเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้รถแล่นไปได้อีก มาตรวัดความเร็วแบบ Digital ไฟบอกตำหน่งเกียร์ มาตรวัดอุณหภูมิอากาศภายนอกรถ มาตรวัดระยะทาง ทั้ง Odo Meter , Trip Meter A กับ B ฯลฯ นอกจากนี้ จอ MID ยังสามารถตั้งค่าการทำงานของระบบต่างๆภายในระได้ ผ่านทางสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา
จากฝั่งซ้าย เข้ามายังฝั่งขวา
ช่องเก็บของ Glove Compartment มี 2 ชั้น คือ ด้านบน สำหรับใส่แว่นกันแดด หรือโทรศัพท์ มือถือ ชั่วคราว การ เปิด-ปิด ค่อนข้าง ก๊องแก๊งแบบพลาสติกราคาถูกไปหน่อย แต่พอเป็นช่องเก็บคู่มือและเอกสารประจำรถ ชั้นล่าง กลับออกแบบให้เปิดอย่างนุ่มนวลแบบ Soft-Opener แถมยังมีไฟส่องสว่างในลิ้นชักมาให้อีกด้วย
ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 เชื่อมต่อกับช่องเสียบ AUX,USB,iPod และระบบเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth พร้อมจอ Monitor สี LCD Touch Screen ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ Andriod Kit Kat 4.4 และมีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ของ Hood Dood ฝังมาให้ พร้อมลำโพง 4 ชิ้น
หน้าจอ และ Human Interface ใช้งานง่าย เลื่อนด้วยนิ้วค่อนข้างคล่องมือ แต่คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์แค่พอฟังได้ ไม่ถึงขั้นเทพอะไรนัก อย่าคาดหวังมาก ส่วนระบบนำทาง Hood Dood ที่แถมมากับรถนั้น ยืนยันว่า เปิด Google Map ในโทรศัพท์มือถือของคุณ ใช้งานไปดีกว่าครับ แม่นยำกว่า ไม่ต้องมารอจับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งก็บอกตำแหน่งผิดเพี้ยนไปไกลโข
ถัดลงไปเป็น สวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ติดตั้งในตำแหน่งที่พอจะใช้งานได้ง่ายอยู่ ด้านข้างเป็นนนาฬิกา Digital สีแดง ด้านล่างลงไป เป็นสวิตช์ควบคุมเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ (Auto Air-condition) แยกฝั่งปรับความเย็นอิสระ ซ้าย – ขวา และมีสวิตช์ เปิด – ปิด ควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารแถวหลังอีกด้วย เย็นเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน แม้ในสภาพอากาศร้อนจัดก็ตาม
สำหรับรุ่น EX จะเพิมอุปกรณ์ด้านความบันเทิงสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง เป็นจอ Monitor สี LCD ขนาด 14 นิ้ว รับสัญญาณภาพจาก ชุดเครื่องเสียงด้านหน้า ติดตั้งในประเทศไทย มาให้เสร็จสรรพ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศ แบบ Digital บริเวณเหนือเสาหลังคา B-Pillar ฝั่งขวา พร้อมช่องแอร์ และไฟอ่านหนังสือ สำหรับผู้โดยสารแถว 2-3 และ 4 มาให้ครบถ้วนทั้งฝั่งซ้าย และขวา
ถัดจากคันเกียร์ ก็เป็นช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ประดับ Trim ล้อมรอบด้วยสีดำ Piano Black เช่นเดียวกับแผงควบคุมสวิตช์แอร์ และเครื่องเสียง ตรงกลาง
กล่องเก็บของด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า มีขนาดใหญ่โตมโหระทึกมาก! ฝาด้านบน หุ้มหนัง เป็นพื้นที่พักแขน สามารถเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เพื่อความสะดวกในการวางแขนซ้ายของผู้ขับขี่ได้สบายๆ
พอเปิดยกขึ้นมา จะพบว่า มีถาดรูปตัว L เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ สำหรับใส่ของจุกจิก แต่ถ้าคุณอยากเก็บของมีค่าไว้ในรถ โดยไม่อยากให้มันเตะตาขโมยขโจร ก็เพียงแค่ เลื่อนถาดตัว L ขึ้นมาด้านหน้าจนสุด คุณก็จะใส่ของลงไปในกล่องคอนโซลได้แล้ว พอปิดฝาพื้นที่พักแขนลงมา คนข้างนอกรถ ก็มองไม่เห็นแล้ว
ด้านในกล่องคอนโซล มีช่องปลั๊กไฟ 12V 1 ตำแหน่ง ช่องเสียบ USB แบบชาร์จไฟได้ 1 ตำแหน่ง ส่วนด้านหลังของกล่องคอนโซล ก็ยังมีช่องเสียบ USB สำหรับผู้โดยสารแถว 2 อีก 1 ตำแหน่ง พร้อมช่องวางของจุกจิก ปูด้วยยางกันลื่น รวมทั้งยังมีลิ้นชักด้านล่าง แปรสภาพเป็นถังขยะขนาดจิ๋วได้ชั่วคราว
ด้วยเหตุที่ตำแหน่งเบาะนั่งอยู่ในระดับเดียวกับ SUV/PPV ทั้งหลาย ทำให้ ตำแหน่งการมองเห็นรถคันข้างหน้า จึงอยู่ในระดับไม่แตกต่างไปจาก SUV / PPV เหล่านั้น มากนัก เมื่อเทียบกันแบบคร่าวๆ ตำแหน่งเบาะนั่งคนขับของ Grand Carnival จะเตี้ยกว่า เบาะนั่งของ Toyota Hiace / Commuter / Ventury รวมทั้ง Hyundai H-1 อยู่เล็กน้อย
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ถูกออกแบบให้มีกระจก Opera สามเหลี่ยม ขนาดเล็กกว่า Toyota Alphard/Vellfire แต่ตัวเสา แอบหนากว่านิดหน่อย ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะมีปัญหา เสาบดบังรถที่แล่นสวนมาตามทางโค้งขวาไดบ้าง แต่ก็ไม่เยอะนัก
กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่ กรอบด้านนอก ยังแอบมีพื้นที่ขอบฝั่งนอก บดบัง กินพื้นที่มุมล่างและฝั่งขวาของตัวกระจกพอประมาณ
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่เรากำลังเตรียมเลี้ยวกลับรถอยู่บ้าง อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกสักหน่อย
กระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย ก็เป็นเช่นเดียวกันกับฝั่งขวา คือมีขนาดใหญ่โตกำลังดี และอาจมีขอบเปลือกกระจกมองข้างด้านใน แอบกินพื้นที่เข้ามานิดๆ ถ้าปรับให้กระจกมองเห็นตัวถังรถน้อยๆ
ทัศนวิสัยด้านหลัง แม้ว่าเสาหลังคาแต่ละตำแหน่ง จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหนา ทว่าพอมองจากตำแหน่งคนขับ กลับพบความโปร่งโล่งสบายตา เกินคาดหมายไปพอสมควร ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ในการทำรถยนต์แบบ Station Wagon ,Minivan หรือ SUV ที่ควรจะดูภาพนี้ไว้เป็นแบบอย่าง
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ **********
ในตลาดโลก Kia Grand Carnival ใหม่ จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด เท่านั้น โดยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลัก จะวางเครื่องยนต์ Lambda II เบนซิน V6 DOHC 24 วาล์ว 3,342 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 83.8 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6:1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ MPI (Multi-Point Fuel Injection)
กำลังสูงสุด 270 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 318 นิวตัน-เมตร (32.4 กก.-ม.) ที่ 5,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 8.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ CO2 257 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐาน EURO 5 อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ใน Mode Combined ของ EPA สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 11.1 ลิตร / 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 9.009 กิโลเมตร/ลิตร
แต่สำหรับ เวอร์ชันไทย และในอีกหลายๆประเทศทั่วโลก Grand Carnival จะมีขุมพลังทางเลือก เป็นเครื่องยนต์ Diesel รุ่น “R” บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,199 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 85.4 x 96.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.0:1 ลำดับการจุดระเบิด 1-3-4-2 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตามราง Common-Rail แรงดันในระบบ 1,800 bar (26.1 ksi) ด้วยหัวฉีดความละเอียดสูง Piezoelectric Injectors จาก BOSCH พร้อมระบบ Turbo แบบแปรผันครีบ VGT (Variable Geometry Turbocharger) ฝาครอบเครื่องยนต์ และท่อทางเดินไอดี ทำจากพลาสติก
เครื่องยนต์รุ่นนี้ เปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2009 ในงาน Advanced Diesel Engine Technology Symposium ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนา Hyundai-Kia Namyang R&D Center ใกล้กับกรุง Seoul โดย ทีมวิศวกร 150 คน ใช้เวลา 42 เดือนในการพัฒนา ออกแบบ รวมทั้งสร้างเครื่องยนต์ต้นแบบเพื่อการทดสอบไปมากกว่า 500 เครื่อง และใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 250 พันล้านวอน
Seong-Hyon Park, Senior Executive Vice President ของศูนย์วิจัยพัฒนา ระบบส่งกำลัง Power Train R&D center กล่าวว่า เหตุผลที่พวกเขาต้องพัฒนาเครื่องยนต์ ตระกูล R รุ่นนี้ เป็นเพราะความต้องการรถยนต์ Diesel ในตลาดฝั่งยุโรป (ในขณะนั้น) สูงขึ้น อีกทั้งมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ที่สูงมาก กดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต้องทุ่มบประมาณมหาศาลในการปรับปรุงสมรรถนะเครื่องยนต์ จนอาจไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ดังนั้น Hyundai-Kia จึงเลือกทำเครื่องยนต์ R ออกมา เพื่อให้รองรับมาตรฐาน Euro 5 แทนไปก่อน
กำลังสูงสุด ขึ้นอยู่กับมาตรฐานไอเสีย และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจำหน่ายในแต่ละประเทศ หากเป็นรุ่นที่ Tune ให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 4,5 และ 6) ตัวเลขจะอยู่ที่ 200 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แต่ถ้าเป็นประเทศที่ต้องเซ็ตให้ผ่านมาตรฐานไอเสียแค่ระดับ Euro 2 กับ 3 ตัวเลขจะลดลงเล็กน้อย เหลือเพียง 193 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดสูงสุด จะเท่ากัน คือ 440 นิวตัน-เมตร (44.83 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750-2,750 รอบ/นาที
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 8.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ CO2 199 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐาน EURO 5 อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ใน Mode Combined ของ EPA สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 11.1 ลิตร / 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 9.009 กิโลเมตร/ลิตร
สำหรับเวอร์ชันไทย นั้น ตัวเลขจาก Yontrakit Kia Motor ระบุว่า กำลังสูงสุด คือ 197 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 441 นิวตัน-เมตร (44.9 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ ตั้งแต่ 1,750 – 2,750 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 4 โดยตัวเลขจาก ECO Sticker ของรัฐบาลไทย Grand Carnival ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ต่ำเพียง 154 กรัม/กิโลเมตร เท่านั้น!?
ข้อมูลการบำรุงรักษา : น้ำมันเครื่องที่ ผู้ผลิตแนะนำคือ เกรด ACEA B4 หรือ SAE 5W-20 ( API SM, ILSAC GF-4 ) ปริมาณ 6.3 ลิตร
ถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด +/- เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เองตามต้องการ โดยเฉพาะเวลาขึ้น – ลง ทางลาดชัน หรือแนวเขาแถบภาคเหนือ ถ้าต้องจอดขวางชาวบ้านเขาในแบบ Pararell Parking ด้วยเหตุจำเป็น คุณสามารถปลดเกียร์ P ไปยังตำแหน่งเกียร์ N (Neutral เกียร์ว่าง) ได้ด้วยการกดปุ่ม Shift Lock บริเวณเหนือฐานรองคันเกียร์ แล้วลากคันเกียร์ไปยังเกียร์ N ก็ย่อมได้
อัตราทดเกียร์ ของรุ่นเครื่องยนต์ Diesel กับ เบนซิน นั้น มีความแตกต่างกันอยู่ ตัวเลขมีดังนี้
…………………………2.2 CRDi……..3.3 MPI
1…………………………..4.651…………..4.252
2…………………………..2.831…………..2.654
3…………………………..1.842…………..1.804
4…………………………..1.386…………..1.386
5…………………………..1.000…………..1.000
6…………………………..0.772…………..0.772
Reverse (R)……………3.393…………..3.393
อัตราทดเฟืองท้าย…….3.320…………..3.195
ข้อมูลการบำรุงรักษา : น้ำมันเกียร์ ควรใช้ SK ATF SP-IV หรือ Kia Genuine ATF SP-IV ปริมาณการเปลี่ยนถ่าย 7.7 ลิตร
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองจับเวลาหาอัตราเร่ง ตามมาตรฐานดั้งเดิมที่เราใช้กันมาตลอดตั้งแตปี 2002 โดยทำในเวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน โดยมีผม (น้ำหนัก 110 กิโลกรัม) กับน้อง Joke V10ThLnD สมาชิก The Coup Team ของเว็บเรา (น้ำหนัก 65 กิโลกรัม) มาร่วมทดลองกัน ตามปกติ ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดที่เราเคยทำตัวเลขกันไว้ มีดังนี้
เห็นตัวเลขแล้ว ต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาเลย แถมยังทำผลงานได้ดีกว่าตัวเลขที่ทางโรงงานแจ้งไว้เสียอีก!
ทุกท่านครับ ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่า ด้วยเครื่องยนต์ Diesel 2.2 ลิตร CRDi ของ Grand Carnival จะทำให้มันกลายสภาพเป็น รถตู้มหาประลัย พุ่งปรู๊ดแซงหน้าชาวบ้านชาวช่องเขามาจนขึ้นแป้นตำแหน่ง ที่ 2 ในบรรดารถตู้ทั้งหมดที่เราเคยทำรีวิวมา จะเป็นรองก็เพียงแค่ Toyota Alphard V6 3.5 ลิตร เท่านั้น!!!
และที่บ้าไปกว่านั้นคือ ตัวเลขอัตราเร่ง ทั้ง 0 – 100 และช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Grand Carnival ยังเอาชนะบรรดา SUV / PPV ทุกคันที่ขายกันอยู่ในเมืองไทย เวลานี้ ไปหมดจนเกลี้ยงตารางเลยละ! น้องหมู Moo Cnoe แห่ง The Coup Team ของเว็บเรา ถึงขั้นเอ่ยปากเลยว่า
“นี่มันเป็น Suprise MPV สำหรับคุณแม่บ้านตีนผี ที่ตั้งใจตามไล่ล่าสามีหนีเที่ยวชัดๆ”!!
พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าคุณคิดจะหนีเที่ยว โดยเอา Fortuner (เดิมๆ ไม่แต่ง ไม่ดันราง) หรือ Everest ออกจากบ้านแล้วละก็ อย่าหวังว่าจะรอดพ้นเงื้อมือคุณแม่บ้านใจกล้าที่คว้ากุญแจ รถตู้คันเท่าบ้าน วิ่งออกไปไล่กวดคุณ ได้ง่ายๆเลย ยังไงก็แพ้ หาข้อแก้ตัวดีๆละกัน
ส่วนการไต่ขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุดนั้น ในช่วงจากจุดหยุดนิ่ง 0 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ทำได้ไวจนเกินความคาดหมาย แต่เมื่อผ่านพ้น ระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปแล้ว เป็นธรรมดาของเครื่องยนต์ Diesel Turbo ซึ่งออกแบบมาให้มีแรงบิดสูงสุดในรอบต่ำๆ ดังนั้น พอพ้นจากช่วงหลัง 3,000 รอบ/นาที ขึ้นไป เข็มความเร็วจะเริ่มไต่ขึ้นไปช้าลง แม้จะยังคงความต่อเนื่องไว้อยู่ประมาณหนึ่ง จนกระทั่งถึงช่วงหลังจาก 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป รถจะไต่ความเร็วขึ้นไปช้าลงอีก กว่าจะขึ้นไปถึง Top Speed ก็ต้องแช่คันเร่งไว้นานพอๆกับการแช่ผ้าที่เปื้อนสิ่งสกปรกไว้ในน้ำผสมผงซักฟอก เพื่อรอคราบไคลค่อยๆสลายตัว
การทำความเร็วสูงสุด เราทำการทดลองในช่วงเวลากลางคืนและใช้ระยะเวลาสั้นๆ เราคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเราเอง รวมทั้งผู้ร่วมใช้เส้นทางอย่างเข้มงวด ด้วยเหตุผลของการให้ข้อมูลอ้างอิง เพื่อเป็นข้อมูลองค์ความรู้แก่มวลชนเท่านั้น โปรดอย่าไปทดลองด้วยคนเอง โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายถึงชีวิต ทั้งต่อตนเองและผู้บริสุทธิ์อื่นๆอีกด้วย! และหากเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น เราจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี ! เพราะถือว่านำไปทำกันเอง ทั้งที่เราก็ได้เตือนและห้ามปรามกันแล้ว
ในการขับขี่จริง ผมถึงขั้นตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่า นี่เราขับรถตู้กันอยู่จริงๆใช่ไหมเนี่ย?
เพราะทันทีที่กดคันเร่งออกตัว หากค่อยๆเดินคันเร่งทีละนิดๆ Grand Carnival ก็จะค่อยๆไต่ความเร็วขึ้นไปในแบบสุภาพ นุ่มนวล เหมือนคุณแม่ชาวเกาหลีใต้ยุคใหม่ ที่มาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆคุณ นางจะโอภาปราศรัยด้วยดี สุภาพ มีมารยาท แต่ถ้าคุณกดคันเร่งเต็มตีนตั้งแต่ออกตัว นางก็จะกลายร่างเป็น หญิงอารมณ์ร้อน กราดเกรี้ยว พุ่งพรวดขึ้นไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆทั้งสิ้น
ถูกแล้วครับ อัตราเร่งของ Grand Carnival ใหม่ ทำได้ดีเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะในช่วงรอบแรงบิดสูงสุด 2,750 รอบ/นาที นั่นคือช่วงที่มีพละกำลังมากพอ มารอให้เรียกใช้งานอยู่ใต้เท้าขวาเลยละ! แต่พอพ้นจากช่วงดังกล่าวไปแล้ว เป็นธรรมดาที่จะเริ่มมีอาการ “ปลายเหี่ยว” หลังจากผ่านรอบเครื่อยนต์ ระดับ 3,000 รอบ/นาที ขึ้นไป
ภาพรวมแล้ว บุคลิกของเครื่องยนต์ 2.2 CRDi บล็อกนี้ เน้นให้สมรรถนะในช่วงรอบต่ำและรอบกลางๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบแล้ว ต้องบอกว่า ตอบสนองพอกัน และแรงพอๆกันกับ Chevrolet Colorado 2.8 ลิตร เลยนะ เพียงแต่ว่า เครื่องยนต์ของ Grand Carnival เนี่ย มันมีขนาดแค่ 2.2 ลิตร! แถมยังต้องลากน้ำหนักตัวกว่า 2 ตันเข้าไปอีกแหนะ! อัตราเร่งที่ทำได้ดีขนาดนี้ แรงขนาดนี้ ผมว่า เหลือเฟือแล้ว สำหรับการใช้งานในประเทศไทย ถ้าใครอยากแรงกว่านี้ มีทางเดียว คือ ไปซื้อเครื่องยนต์จาก Ferrari มาวางเองซะ! (ถ้ามันวางได้หนะนะ)
การเก็บเสียงรบกวนในห้องโดยสารนั้น หากเป็นช่วงจอดนิ่ง เสียงเครื่องยนต์ Diesel ค่อนข้างเงียบกว่า Mercedes-Benz Diesel หลายๆรุ่น แต่ยังไม่ถึงขั้นเงียบเท่าเครื่องยนต์ของ Mazda 2 Diesel ขณะเดียวกัน การเก็บเสียงในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชัวโมง ทำได้ดีมาก เสียงเครืองยนต์เล็ดรอดเข้ามาในห้องดดยสารไม่มากนัก แต่พอพ้น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป แม้จะยังไม่มีเสียงกระแสลมที่กระจกบังลมหน้า กับขอบหน้าต่างของบานประตูคู่หน้าเท่าใดนัก แต่บริเวณกรอบหน้าต่างด้านบนของบานประตูเลื่อนคู่หลัง และบริเวณซุ้มล้อหลัง เริ่มส่งเสียงลมไหลผ่าน และเสียงยางบดกับพื้นถนนเข้ามาให้ได้ยินอยู่ประมาณหนึ่ง
ภาพรวมด้านการเก็บเสียงนั้น ค่อนข้างเงียบ แม้จะยังทำได้ไม่ถึงขั้น Toyota Alphard/Vellfire แต่แน่นอนว่า เหนือกว่า Hyundai H-1 กับ Honda Odyssey แน่ๆ
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค รัศมีวงเลี้ยว 5.6 เมตร พอๆกับรถเก๋งทั่วๆไป!!
ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัย เหมือนจะหนืดและหนักปานกลาง แต่พอเริ่มออกรถไปแล้ว น้ำหนักจะเบาขึ้นเล็กน้อย จนใกล้เคียงกับ พวงมาลัยของ Volvo S90 ใหม่ ในโหมด Sport กล่าวคือ น้ำหนักขืนมือกำลังดี ให้ความมั่นใจในการบังคับควบคุมที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีมากๆ จนน่าชมเชย แถมยังช่วยให้ผม หมุนพวงาลัยเลี้ยวลัดเลาะไปมา ท่ามกลางสภาพการจราจรติดขัด ได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงความเร็วเดินทาง เกินกว่า 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป สัมผัสได้ว่า พวงมาลัยจะเบาขึ้น ในระดับที่ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของ Chevrolet Colorado / Trailblazer รุ่นล่าสุด 2016 – 2017 และ Ford Ranger กับ Everest รุ่นปี 2017 เอาไว้ เพราะ น้ำหนักในช่วงดังกล่าว เบาพอกัน เพียงแต่ว่า On-Center Feeling ทำได้ดีมาก ถือตรงได้ง่ายดาย น้ำหนักกำลังดี ไม่ต้องคอยเลี้ยงพวงมาลัยซ้ายทีขวาที ให้ปวดขมับ
การบังคับเลี้ยว ให้ความแม่นยำในระดับปกติของรถที่เซ็ตพวงมาลัยมา “กลางๆ” พวงมาลัยไม่ยาน และไม่ไวจนเกินไป มีอัตราทดเฟืองค่อนข้างเหมาะสมดีแล้ว โดยไม่ต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติม มากไปกว่า การเพิ่มน้ำหนักในช่วงความเร็วสูง ให้มากขึ้นอีกว่านี้อีกเพียงนิดเดียว ก็่เพียงพอที่จะทำให้พวงมาลัยของ Grand Carnival ประเสริฐและลงตัวกว่ารถตู้คู่แข่งคันอื่นๆในตลาดแล้ว
ข้อมูลการบำรุงรักษา : น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ : PSF4 ปริมาณในการเปลี่ยนถ่าย 1.0 – 1.5 ลิตร
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต คอยล์สปริง ช็อกอัพแก้ส HPD (High Performance Damper) ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Multi-Link คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้าและหลัง คือจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ Grand Carnival โดดเด่นขึ้นมาเหนือชาวบ้านชาวช่องเขาแทบทั้งหมด เพราะมันถูกเซ็ตมาเอาใจคุณแม่บ้านตีนผี ที่อยากจะซิ่ง แต่ยังต้องการความมั่นใจได้ดีอยู่
การเซ็ตช่วงล่าง มาในสไตล์ “นุ่มและแน่น แบบรถที่มีน้ำหนักมาก กดทับลงบนช่วงล่างน้ำหนักเบา ไม่นิ่มแบบไร้สาระ” ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Grand Carnival พาคุณเดินทางไปตามสภาพพื้นผิวตรอก ซอก ซอย ที่เต็มไปด้วยฝาท่อ เนินสะดุด ลูกระนาด และผิวขรุขระ ได้อย่างนุ่มนวล เนียนๆนิ่งๆ สมดังคาดหวัง แต่ยังคงสัมผัสได้ถึงความแน่นอันเกิดจากน้ำหนักที่กดทับลงบนช่วงล่างด้วยอีกทางหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงย่านความเร็วสูง ตั้งแต่ 100 – 204 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด ตัวรถพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างนิ่งสนิท! ผมลองปล่อยมือจากพวงมาลัยดู ราวๆ 5 วินาที รถก็ยังไม่เสียการทรงตัวใดๆทั้งสิ้น อาจมีบ้างที่จะออกอาการกินซ้ายนิดๆ อันเป็นการปรับตั้งตามค่ามาตรฐานจากโรงงาน แต่ภาพรวมถือว่า ทรงตัวได้ดีเกินความคาดหมาย ไม่หวั่นแม้กระแสลมปะทะด้านข้างจะพัดเข้ามาแรงแค่ไหนก็ตาม
สำหรับการเข้าโค้งนั้น Grand Carnival ค่อนข้างได้เปรียบจากตัวรถที่กว้าง และมีความกว้างช่วงล้อซ้าย – ขวา มากกว่ารถตู้ทั่วไป แถมจุดศูนย์ถ่วงยังถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้ตัวรถให้ความมั่นใจในขณะสาดเข้าโค้ง จนสร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้โดยสาร ที่แวะเวียนมาลองนั่งรถคันนี้ไปได้หลายคนแล้ว แม้จะยังมีอาการหน้าดื้อโค้งนิดๆไปก่อน ซึ่งมีเหตุผลมาจากน้ำหนักด้านท้ายรถที่เยอะจนส่งผลมายังการเข้าโค้งในช่วงเริ่มต้น แต่พออยู่ในโค้งแล้ว หากเร่งความเร็วเพิ่มขึ้น ตัวรถจะยังรับมือไหวได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่บั้นท้ายจะเริ่มสไลด์ออกด้านข้างนิดๆ แต่ไม่มากเลย
มาดูความเร็ว จากโค้งบนทางด่วนเฉลิมมหานคร ทั้ง 5 ตำแหน่ง ที่ผมมักใช้เป็นมาตรฐานในการทดลองดูแล้วกันครับ ในโค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน อันเป็นโค้งที่สูงและแคบสุดในระบบทางด่วนของกรุงเทพฯ) ต่อเนื่องไปยังโค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin เพื่อเชื่อมเข้าระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ผมพา Grand Carnival ใหม่ เข้าทั้ง 2 โค้ง ต่อเนื่องกันได้ โดยความเร็วบนมาตรวัดอยู่ที่ 100 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามลำดับ
ส่วนโค้งขวา ซ้าย ขวา รูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระบบูรพาวิถี Grand Carnival ใหม่พุ่งเข้าโค้งไปได้สบายๆ ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 100 , 110 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับรถเก๋งทั่วไปชัดๆ!
ยิ่งการเปลี่ยนกระทันหันที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น แม้ว่าจะมีอาการบั้นท้ายค่อยๆสไลด์ออกทางด้านข้าง ตามปกติของรถตู้ที่มีลำตัวและฐานล้อยาว แถมยังมีน้ำหนักตัวมากโข แต่การจัดระเบียบตัวถัง ทั้งในจังหวะที่เริ่มเปลี่ยนเลน จนกระทั่งกลับเข้ามาอยู่ในเลนถัดไป ทำได้เนียนมาก และไว้ใจได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว! ตัวรถจะค่อยๆเคลื่อนไปในเลนที่เราเลือกก่อน จากนั้นโครงสร้างตรงกลางจะประคับประคองและช่วยดึงบั้นท้ายให้เปลี่ยนเลนตามมา มีอาการสไลด์ออกด้านข้าง แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเลนที่ต้องการแล้ว บั้นท้ายก็จะนิ่งสนิททันที! สารภาพว่าผมไม่กล้าทำเช่นนี้กับรถตู้รุ่นอื่นๆ เพราะโอกาสที่จะพลิกคว่ำ ณ ความเร็วระดับนี้ เป็นไปได้สูงมาก แต่ Grand Carnival ผ่านการทดลองในประเด็นนี้มาได้อย่างไม่ยากเย็น
ระบบห้ามล้อเป็นแบบ ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ จานคู่หน้าและหลัง มีเส้นผ่าศนย์กลาง 320 และ 340 มิลลิเมตร เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุด EBD (Electronics Brake Force Distribution)
จริงอยูว่า แป้นเบรกถูกเซ็ตมาให้มีความหนืดและน้ำหนักเบาอย่างเหมาะสม กับเท้าของทั้งผู้หญิง และผู้ชาย รวมทั้งมีระยะเหยียบที่ยาวประมาณหนึ่ง ทว่า ทันทีที่คุณเหยียบเบรกลงไปประมาณ 20 – 30% แรก รถจะเริ่มหน่วงความเร็วลงมานิดหน่อย พอเติมน้ำหนักเพิมอีกเพียงนิดเดียว เบรกจะทำงานเยอะขึ้นมากจนทำให้รถมีอาการเบรกจิกหัวทิ่ม
ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ในเมือง การเหยียบแป้นเบรกแบบเลียๆ อาจจะเพียงพอสำหรับการชะลอรถในสภาพคลานๆหยุดๆ ไปตามสภาพการจราจร แต่ในช่วงความเร็วสูง เบรกที่จิกเกินไปค่อนข้างน่าเป็นห่วงต่อคนที่ขับรถที่มีประสบการณ์ไม่มากนัก อาจเหยียบลงไปลึกจนทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายๆ
ผมอยากให้มีการปรับปรุงเรื่องการตอบสนองแป้นเบรก ให้มีความต่อเนื่อง (Linear) ดีกว่านี้ คือถ้าจะต้องเซ็ตเบรกให้เอาใจคุณแม่บ้านขี้ตกใจ มี 2 ทางเลือก คือ เซตให้เบรกทำงานมากกว่านี้ในช่วงระยะเหยียบ 20 – 30% แรก ไปเลย หรือไม่เช่นนั้น ก็เพิ่มความต่อเนื่อง ลดทอนการทำงานในช่วงระยะเหยียบที่ 40% ลงมานิดหน่อย แต่อาจต้องแลกกับเสียงบ่นของลูกค้าที่เข้าใจผิดว่า เบรกทำงานช้าไป คงต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง
อีกข้อด้อยที่สำคัญของ Grand Carnival คือ พอเห็นว่าคู่แข่งอย่าง Hyundai H-1 ไม่มีระบบช่วยควบคุมการทรงตัวใดๆมาให้ ทาง Yontrakit Kia Motor ก็เลยสั่งไปทางเกาหลีใต้ว่า ไม่ต้องติดตั้ง ระบบควบคุมการทรงตัว หรือระบบตัวช่วยป้องกันการลื่นไถลใดๆมาให้รุ่น 11 ที่นั่ง เลย!!
นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง รถตู้ 11 ที่นั่ง ราคาคันละตั้ง 1.9 ล้านบาทเศษ กลับไม่มีระบบนี้มาให้ ถ้าอยากได้ คุณต้องปีนขึ้นไปเล่น Grand Carnival รุ่น 7 ที่นั่ง ราคา 2.99 ล้านบาท จึงจะได้อุปกรณ์เหล่านั้นติดมาครบคัน ทั้งที่ Option แบบนี้ เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ที่รถยนต์ระดับราคาตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป เขาติดตั้งกันมาให้หมดแล้ว
ด้านความปลอดภัย โครงสร้างตัวถังของ Grand Carnival ใหม่ ไดรับการออกแบบให้แข็งแกร่งและกระจายแรงปะทะจาการชนได้ดียิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้เหล็กแบบ AHSS (Advanced High Strength Steel) จาก Hyundai Steel มากถึง 52% จากโครงสร้างตัวถังทั้งหมด
การออกแบบยังคำนึงไปถึงการใช้งานจริงในรูปแบบต่างๆ ทำให้มีการออกแบบโครงสร้างเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar แบบ Multi-Road Pass ซึ่งถูกจดสิทธิบัตรเอาไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งเพิมการใช้เหล็กแบบ Hot Stamping เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างบริเวณห้องเครื่องยนต์ และคาน Side member และการออกแบบโครงสร้างเสากลาง B-Pillar เพื่อรองรับการพลิกคว่ำ พร้อมคานกันกระแทกในประตูทุกบาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเวอร์ชันเกาหลีใต้ และรุ่นส่งออกไปยังประเทศต่างๆ จะอัดแน่นด้วยถุงลมนิรภัย 6 ใบ ระบบเตือนว่ามีรถกำลังจะเร่งแซงขึ้นมาทางด้านข้าง บนกระจกมองข้าง Blind Spot Monitoring ระบบเตือนเมื่อมีรถแล่นผ่านตัดหลังขณะกำลังถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบช่วยเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ฯลฯ
แต่สำหรับ Grand Carnival เวอร์ชันไทย กลับมีเพียงแค่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง มาให้ แค่นั้น! นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่อุปกรณ์ความปลอดภัยสมัยใหม่ กลับถูกตัดออกไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะเหตุผลว่า ต้องทำราคาขายให้ได้ เนื่องจากเสียภาษีนำเข้ามาแพงมากแล้ว
มันเหมือนกับบริกร กำลังนำอาหารมาเสริฟให้คุณตรงหน้าแล้ว พอคุณกำลังจะยกช้อนตักเข้าปาก บริกรคนเดิมกลับยกจานอาหารนั้นออกไป และบอกเพียงแต่ว่า “มันไม่ใช่ของพี่ครับ ผมเสริฟผิดโต๊ะ!”
เซ็งวะ!
ในตลาดต่างประเทศ Kia Grand Carnival (ในชื่อ Kia Sedona) ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากการทดสอบชน ของหน่วยงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration โดยได้คะแนน 5 ดาว ในหมวดทดสอบการชนด้านหน้า ทั้งเต็มพื้นที่ และ 40% ของพื้นที่ Offset Crash การชนด้านข้าง และ 4 ดาว จากการทดสอบพลิกคว่ำ
รวมทั้งได้รับเลือกให้เป็น 2017 Top Safety Pick จาก สถาบันประกันภัย เพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง IIHS (Insurance Institute for Highway Safety ซึ่งขยันคิดค้นการทดสอบประเภทแปลกๆขึ้นมา เพื่อหาทางให้ผู้ผลิตรถยนต์ใส่ใจกับความปลอดภัยมากขึ้น มิเช่นนั้น รถของพวกเขา จะถูกหาเรื่องจัดเรตค่าประกันภัยแพง จนทำให้ส่งผลต่อการขายรถใหม่ได้
อีกสถาบันที่ให้การรับรองคือ ANCAP (Australia New Car Assesment Program) คณะกรรมการประเมิณความปลอดภัยรถยนต์รุ่นใหม่ ในออสเตรเลีย ที่อิงมาตรฐานของ EuroNCAP แต่ปรับให้เข้มงวดขึนอีกนิดหน่อยให้เข้ากับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ให้คะแนน Grand Carnival ใหม่ไว้ที่ระดับ 5 ดาว เช่นเดียวกัน
รายละเอียดต่างๆ เข้าไปดูได้ที่
https://www.nhtsa.gov/vehicle/2018/KIA/SEDONA/VAN/FWD
http://www.iihs.org/iihs/ratings/vehicle/v/kia/sedona-minivan/2017
https://www.ancap.com.au/safety-ratings/kia/carnival/f19b4b
กระนั้น ต้องหมายเหตุด้วยดอกจัน ตัวโตๆ ว่า ถึงแม้ Grand Carnival จะใช้โครงสร้างตัวถังเดียวกันหมดทั่วโลก และให้ผลการทดสอบชนด้านหน้า ทั้งแบบเต็มและไม่เต็มพื้นที่ด้านหน้ารถ ดีเยี่ยม แต่สำหรับการทดสอบชนด้านข้าง รถยนต์ที่เข้าร่วมทดสอบในต่างประเทศ ถูกติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย ซึ่งไม่มีในรถยนต์รุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เมื่อได้เห็นสมรรถนะจากเครื่องยนต์ Diesel Common-Rail Turbo รุ่นใหม่แล้วว่า ให้อัตราเร่งดีเกินคาดขนาดนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วความประหยัดน้ำมันละ Grand Carnival ใหม่ จะทำตัวเลขออกมาได้ดีเพียงใด?
เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ซื้อรถตู้แบบนี้ มักไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจเติมน้ำมัน แค่ให้หัวจ่ายตัดการทำงาน ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ ให้ปวดเมื่อยไปทั้งตัวโดยไม่จำเป็น
สักขีพยานและผู้ช่วยทดลอง ยังเป็นคนเดิม น้อง Joke V10ThLnD จากกลุ่ม The Coup Team ของเรานั่นเอง น้ำหนักตัว 65 กิโลกรัม
เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 80 ลิตร เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ เซ็ต Trip Meter : 0 ออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ โผล่ออกปากซอย โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 เพื่อเลี้ยวขวาขึ้น
ทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง
เรายังคงเดินทางโดยยึดมาตรฐานการทดลองดั้งเดิมคือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน คราวนี้ เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เพื่อรักษาความเร็ว ให้ นิ่งยิ่งขึ้น ซึ่งระบบ Cruise Control ของ Kia ถูกปรับปรุงให้รักษารอบเครื่องยนต์ กับความเร็วในแบบเดียวกับรถยุโรป หมายความว่า เครื่องยนต์จะมีกำลังฉุดลากมากพอ เมื่อขึ้นทางชัน จึงไม่ต้องลดเกียร์ลงมาช่วยทดรอบเครื่องยนต์ แต่อย่างใด
เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ให้เต็มถัง เอาแค่เพียงให้หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง
มาดูตัวเลขที่ Grand Carnival ใหม่ ทำได้กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน Diesel Techron Power D เติมกลับ 6.17 ลิตร
คำนวณแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 14.97 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าคิดเสียว่า นี่คือรถตู้คันใหญ่เท่าบ้าน ตัวเลขที่ออกมา ต้องถือว่า ประหยัดใช้ได้แล้ว ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งทั้งหมด ก็พบว่า Grand Carnival ใหม่ ทำตัวเลขได้ประหยัดน้ำมันมากสุดในกลุ่ม อย่างแทบไม่น่าเชื่อ
แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกล แค่ไหน?
จากตัวเลขบนมาตรวัด ในวันที่เราส่งคืนรถ สรุปได้ว่า น้ำมัน 1 ถัง หากขับประหยัดๆ ก็จะแล่นได้ไกลถึง 650 – 700 กิโลเมตร ไดสบายๆ ต่อให้คุณจะซัด จะมุด แถมไปด้วย อย่างเก่งก็ต้องมี 500 กิโลเมตร ขึ้นไปแน่ๆ
********** สรุป **********
คุณแม่บ้านตีนผี! ขับดี แรงเกินคาด นิ่ง นุ่ม แน่น ประหยัด มั่นใจ
แต่ด้อยเรื่องออพชันความปลอดภัย เบาะแถวหลัง กับบริการหลังการขาย
ครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับ Kia Carnival รุ่นแรก นั่นคือปี 2007 ตอนนั้น ยังทำงานอยู่ในรายการวิทยุเดิม มีคุณผู้ฟังเป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ชื่อคุณ ริน เดินทางมาหาเจ้าของรายการ เพื่อจะร้องเรียนเรื่องคุณภาพของตัวรถ เพราะว่า เบาะนั่งมีกลิ่นเหม็นสารเคมีอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อผมได้นำรถออกไปทดลองขับ ก็พบว่า มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ในตอนนั้น เบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ถูกนำมาถอดประกอบกันในประเทศไทย ผ่านทางซัพพลายเออร์ การเลือกใช้หนังคุณภาพไม่ดี ทำให้เกิดกลิ่นฉุนดังกล่าว จำได้ว่า กว่าจะเจรจาจนลูกค้าได้รับการชดเชย ก็ใช้เวลาประมาณหนึ่ง
ยอมรับครับ ว่าในตอนนั้น ภาพลักษณ์ของ Kia และ Yontrakit ในสายตาผม คือ “แย่”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 10 ปีผ่านไป จาก Carnival รุ่นแรก ซึ่งเปรียบเสมือน “พ่อบ้านใจกล้า ที่หวั่นใจค่าซ่อม” ถูกพัฒนามาไกลโข จนกลายเป็น Grand Carnival รุ่นใหม่ ที่มีบุคลิกเป็น Surprise MPV สำหรับแม่บ้านตีนผี…!
บอกเลยครับว่า ผมประทับใจ ไม่คิดมาก่อนเลยว่า รถตู้คันใหญ่โตบ้านบึ้ม ขนาดนี้ จะถูกปรับเซ็ตมาให้คล่องแคล่วขณะมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรติดขัดอย่างไม่น่าเชื่อ การเซ็ตช่วงล่าง พวงมาลัย และเครื่องยนต์มาอย่างลงตัว ทำให้การโดยสารขณะเดินทางไปในเมือง นุ่มสบาย แทบไม่ค่อยเด้ง ความรู้สึกนี้จะยิ่งดีขึ้นไปอีกเมื่อต้องเดินทางไกล การขับขี่ที่ นิ่ง แน่น มั่นใจได้ เข้าโค้งไว้ใจได้ในแบบที่เกินความคาดหวังไปจาก Minivan ทั่วไป กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ Grand Carnival เข้ามาอยู่ในใจผมได้ไม่ยากเลย
ด้านเครื่องยนต์ ถือว่า เกินความคาดหมายไปมาก ผมไม่เคยเห็น และไม่คาดคิดว่า วิศวกรชาวเกาหลีใต้ จะทำเครื่องยนต์ออกมาให้ทั้งแรงและประหยัดน้ำมันได้ดีขนาดนี้มาก่อน นั่นยิ่งช่วยเพิมความสนุกในการขับขี่ขึ้นไปอีก ทั้งที่เป้าประสงค์ของคนพัฒนาเครื่องยนต์ น่าจะต้องการแค่ให้มีกำลังฉุดลากที่ดีขึ้น และมีอัตราเร่งที่ไวเพียงพอ แถมมีมลพิษต่ำ เพียงเท่านั้น
อย่างที่น้อง Moo Teerapat แห่ง The Coup Team ของเว็บเรา ตั้งฉายาเอาไว้นั่นหละครับ รถคันนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นรถคันที่ 2 หรือ 3 ในบ้าน โดยเฉพาะคุณภรรยา ที่มักพบปัญหา #พ่อบ้านใจกล้า แอบแว๊บหายช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินอยู่เนืองๆ ถ้าคุณติดมือถือที่เปิดระบบ GPS แอบไปหย่อนไว้ในรถของคุณสามี แล้วพบว่า เขากำลังเดินทางไปที่ อาบอบนวด บ้านของกิ๊ก หรือชู้ คุณก็สามารถคว้ากุญแจ แล้วก็เหยียบบึ่งถมึงทึง พุ่งไปยังจุดหมายได้ทันท่วงที…และเชื่อแน่ว่า ผู้คนทั้งถนน เขาคงต้องพากันหลบให้คุณกันหมดแน่ๆ
แหงละ รถคันเท่าบ้าน พุ่งมุดซ้ายป่ายขวาทะลวงโลกขนาดนั้น เชื่อว่าแม้แต่ตำรวจจราจร ก็น่าจะยอมปล่อยคุณผ่านไปแต่โดยดี เพราะไม่อยากมีปัญหา ในยามที่คุณกำลังโกรธจัดขนาดนั้น!!
อย่างไรก็ตาม แน่นอนครับ ไม่มีรถคันใดในโลกนี้ ที่มีแต่ข้อดี โดยไม่มีข้อด้อย สิ่งที่วิศวกรชาวเกาหลีใต้ ควรจะไปปรับปรุง Grand Carnival นั้น มีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อหลักๆ ดังนี้
1 เบาะนั่งแถวที่ 3 และ 4 เข้าใจดีว่า การทำเบาะ 2 แถวหลังนี้ออกมา เพื่อให้เสียภาษีในประเภทรถยนต์ 11 ที่นั่ง เพื่อจะทำราคาให้เหมาะสม แต่เอาเข้าจริง ตัวเบาะ พอจะนั่งได้แค่ในระยะทางใกล้ๆเท่านั้น หรือไม่ ก็ต้องปล่อยให้ลูกเด็กเล็กแดง เป็นผู้โดยสารกันไป
2 การเซ็ต Feeling แป้นเบรก ผู้ใช้ Carnival รุ่นก่อนๆ อาจมองว่า รถรุ่นใหม่ เซ็ตแป้นเบรกมาดีขึ้นแล้ว เพราะรุ่นเดิม เบรกแทบจะไม่ค่อยอยู่ ขณะเดียวกั ผมเข้าใจว่า การเซ็ตแป้นเบรกนั้น คำนึงถึงลักษณะการขับขี่ของบรรดาคุณแม่บ้านทั่วไป ซึ่งอาจจะขี้ตกใจ และต้องการแป้นเบรกที่เหยียบปุ๊บ เบรกจึ๊ก! ทันที แต่ผมมองว่ายังไม่ดีพอ เพราะทันทีที่เหยียบลงไป ไม่เกิน 30% เบรกทำงานเพียงนิดหน่อย แต่พอเพิ่มแรงกดลงไปอีกนิดเดียว เป็น 40% รถเบรกหัวทิ่มหัวตำเลยทีเดียว ดังนั้น ผมมองว่าแป้นเบรกควรจะให้การตอบสนองอย่างต่อเนื่อง (Linear) กว่านี้อีกสักหน่อย
3 พวงมาลัย ดีใจที่ยังรู้ว่า Grand Carnival คือรถยนต์หนี่งในไม่กี่รุ่นที่ยังใช้แร็คแบบไฮโดรลิคอยู่ On Center feeling ดีงามแล้ว และเข้าใจว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนที่ขับรถเร็วนัก แต่ผมมองว่า พวงมาลัยควรมีน้ำหนักมากกว่านี้อีกนิดนึง ในช่วงความเร็วเดินทางตั้งแต่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เพื่อเพิ่มความเสถียรในการบังคับควบคุม
4 ชุดเครื่องเสียง จากฝั่งจีน ที่ติดมาให้กับรถนั้น ชอบตัดเสียงเพลงทิ้ง ขณะถ่ายทอดสัญญาณภาพจากท้ายรถ เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลังซึ่งความจริงแล้ว มันไม่ควรเป็นเช่นนี้
5 อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสมัยใหม่ จำพวก ระบบควบคุมการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program) กับ Traction Control หรือระบบแจ้งเตือนรถที่แล่นมาขนาบข้าง Blind Spot Monitoring System รวมทั้งระบบเตือนเมื่อมีรถตัดหลังขณะกำลังถอยออกจากช่องจอด Rear Cross Traffic Alert ควรจะถูกติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น Top EX ได้แล้ว
***** คู่แข่งในตลาด? *****
ด้วยเหตุที่ Kia Grand Carnival ใหม่ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจตลาดสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก ดังนั้น คู่แข่งที่แท้จริง จึงเป็น Minivan ไซส์ยักษ์ จากผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นและอเมริกัน ที่มีจุดหมายเดียวกัน คือ ออกแบบ พัฒนา และผลิตขาย เพื่อตลาดอเมริกาเหนือโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Toyota Sienna (อ่านว่า เซียนน่า ไม่ใช่เจ้า Sienta ซึ่งเป็นรองเท้าเดินป่าติดล้อ จากอินโดนีเซีย) ไปจนถึง Honda Odyssey U.S.Version คันใหญ่กว่ารุ่นที่ขายในบ้านเรา รวมทั้ง Nissan Quest ซึ่งรุ่นล่าสุด ก็ใช้วิธี นำ Nissan Elgrand จากญี่ปุ่น มาปรับเปลี่ยนหน้าตา เอาใจอเมริกันชน เสียใหม่ รวมทั้ง เจ้าถิ่นดั้งเดิมชาวอเมริกัน ที่เหลือเพียงรายเดียว อย่าง Chrysler Voysger ที่เพิ่งเปลี่ยนโฉมใหม่ กลายเป็น Chrysler Pacifica ทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน PentaStar 3.6 ลิตร และขุมพลัง Hybrid
ทว่า พอย้อนกลับมาดูบ้านเราแล้ว พบว่า ในประเทศไทยไม่มีบรรดา Minivan ไซส์บ้านบึ้ม เหล่านั้นให้เลือกอุดหนุนได้เลย จึงมีเพียงแค่ คู่แข่งชาติเดียวกัน แถมอยู้ในร่มเงาเครือเดียวกันอย่าง Hyundai H-1 และ เพื่อนร่วมแดนโสม อย่าง Ssangyong Stavic เพียงแค่ 2 รุ่นเท่านั้น ที่ดูจะสูสีพอฟัดเหวี่ยงกับ Grand Carnival ได้ไม่เช่นนั้นก็คงต้อง จับเอา Toyota Alphard / Vellfire 2 ศรีพี่น้องฝาแฝดจากแดนอาทิตย์อุทัย เข้ามารวมอยู่ตรงนี้ด้วย
–Hyundai H-1 อยู่ในตลาดมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2008 จนหลายคนเริ่มสงสัยว่า เมื่อไหร่จะเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันกันเสียที มัวแต่เอารุ่นปัจจุบันมาแต่งหน้าทาปากกันอยู่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ตัวรถเองมันก็มีคุณงามความดีมากพอที่จะทำให้หลายๆคนซึ่งำลังมองหารถตู้ไว้ใช้งานในครอบครัว ยังคงเก็บ H-1 เอาไว้เป็นตัวเลืกจนถึงทุกวันนี้
Full Review Hyundai H-1 (Click Here)
First Impression Hyundai H-1 Elite & Grand Starex (Click Here)
–Ssangyong Stavic
เรื่องน่าแปลกก็คือ พอถึงงานแสดงรถยนต์อย่าง Bangkok International Motor Show ช่วง มีนาคม หรือ Motor Expo ช่วงพฤศจิกายน ทีไร บูธ Ssangyong นี่เงียบเหงาจนพนักงานขายแทบจะนั่งนับจำนวนยุงที่ตบเล่นกันได้เลย แต่ถึงกระนั้น Ssangyong ก็ยังคงประคับประคองตัวอยู่ในตลาดรถยนต์บ้านเราไปได้แบบเรื่อยๆ ไม่หวือหวา ชูจุดเด่นว่า ถึงศูนย์บริการจะน้อย แต่ก็ขยัน มีบริการรับ-ส่งรถ ถึงบ้านหรือออฟฟิศ ให้อีกด้วย เรียกได้ว่า พยายามเอาใจลูกค้าเก่ากันทุกรูปแบบ จนบางคน ไม่ยอมหนีไปไหน แม้ว่าหลายคนส่วนใหญ่จะทะยอยขายรถทิ้งไปเพื่อเปลี่ยนรถใหม่เป็นยี่ห้ออื่นกันบ้างแล้วก็ตาม
–Toyota Ventury
มันคือการนำ Hiace Commuter รุ่นตัวถังกว้าง ช่วงสั้น มาดัดแปลงให้หรูขึ้นนั่นเอง ดังนั้น อย่าคาดหวังเรื่องคุณภาพการขับขี่ หรือการบังคับควบคุมใดๆทั้งสิ้น มันเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าประเภทเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว อยากหารถตู้ไว้รับรองแขก และแค่นั้น
–Toyota Alphard / Vellfire
ยอดรถตู้ในฝันของหลายๆครอบครัวที่พอมีเงินเอื้อมถึง ข่าวร้ายก็คือ ในช่วงนี้ ผู้ค่ารายย่อย ต่างพากันทะยอยเคลียร์สต็อกรถล็อตเก่ากันจนหมดเกลี้ยง เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กันอีกระลอก ในเดือนตุลาคม 2017 ดังนั้น ใครที่คิดจะเป็นเจ้าของ 2 รถตู้ระดับพระกาฬจาก Toyota ไม่ว่าคุณจะซื้อผ่าน Toyota Motor Thailand หรือพ่อค้ารายย่อย คุณก็จะต้องทำใจกับการจ่ายเงินเพิมอีกมากถึง 300,000 บาท โดยประมาณ เป็นค่าภาษี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเอาไปถลุงเล่นกันเหมือนเช่นเคย
ถ้าอยากอ่าน Full Review ของ Alphard / Vellfire คลิกที่นี่
http://www.headlightmag.com/fullreview_toyota_alphard_vellfire/
***แล้วถ้ายืนยันจะซื้อ Kia Grand Carnival แล้ว รุ่นย่อยไหนคุ้มกว่ากัน?***
ปัจจุบัน Grand Carnival มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย และเป็นแบบ 11 ที่นั่ง ทั้งคู่ มาพร้อมกับการรับประกันคุณภาพ 5 ปี 150,000 กิโลเมตร
พร้อมประกันภัยชั้น 1 ฟรี 1 ปี ทุกรุ่น
Grand Carnival LX ราคา 1,595,000 บาท
Grand Carnival EX ราคา 1,928,000 บาท
รายการอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ น้อง Moo Cnoe แห่ง The Coup Team ของเว็บเรา เจาะสเป็คไว้ให้หมดแล้ว สามารถคลิกอ่านเพื่อศึกษาเพิมเติมได้ ที่กระทู้นี้ (Standard Equipment list : Click Here)
เมื่อลองคำนวนดูแล้ว ถ้าคุณไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก การกัดฟันเพิมเงิน 333,000 บาท ขึ้นไปเล่นรุ่น Top EX ไปเลย น่าจะเปนทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว เพราะบรรดา ออพชันที่ถูกตัดออกไปนั้น หลายรายการ ไม่สามารถสั่งซื้อมาติดเพิ่มเติมข้างนอกได้ อีกทั้งส่วนต่างค่าผ่อนรถที่คุณจะต้องจ่ายเพิ่ม อยู่ที่ 4,000 – 5,000 กว่าบาท / เดือน (ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย และเงินดาวน์ในวันออกรถ 20 หรือ 25%) อีกทั้ง อุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้น อาจจะช่วยเพิ่มมูลค่าของรถคุณในวันที่คิดจะขายต่อเข้าสู่ตลาดรถมือสองอีกต่างหาก
ส่วนรุ่น LX เหมาะเอาไว้ใช้เป็นรถตู้สำหรับรับส่งแขกบ้านแขกเมือง หรือทำธุรกิจรถโดยสารนำเที่ยวประเภท Hi-So ในกรณีที่เจ้าของบริษัท เกิดอยากหารถที่แปลกใหม่ นอกเหนือไปจาก Hyundai H-1 กับ Toyota Ventury กันบ้าง ถ้าคิดว่า ทำใจรับได้กับชื่อเสียงของ “ยนตรกิจ” หนะนะ
และนั่นอาจจะเป็นคำถามที่หลายคนคาใจ ว่า ทุกวันนี้ บริการหลังการขายของ Yontrakit Kia จะแย่เหมือนอย่างในอดีตหรือเปล่า?
วันนี้ ทุกคนที่ Yontrakit Kia Motor รู้ตัวดีว่า สิ่งที่เคยเป็นปัญหา ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา คือ ภาพลักษณ์ของชื่อ ยนตรกิจ มันเสียหายไปมาก จากเรื่องบริการหลังการขาย ทั้งประเด็นราคาอะไหล่ที่แพงหูดับตับไหม้ ฟันหัวลูกค้าแบะกระจุย หรือความไม่ซื่อสัตย์ของช่างในสมัยโบราณ ที่เคยถึงขั้นสลับอะไหล่ของรถคันที่จอดอยู่ในศูนย์บริการ ไปใส่ให้กับลูกค้าอีกราย ก็มีมาแล้ว ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งทำให้ลูกค้าวัยผู้ใหญ่จำนวนมาก ต่างพากันเข็ดขยาด ชนิดที่ว่า ไม่เอาอีกแล้ว ยนตรกิจ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ คุณปลา PR คนใหม่ของ Yontrakit Kia Motors ยอมรับกับผมว่า พวกเขามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเหล่านี้อยู่จริง แต่กำลังอยู่ในระหว่าง เข้ามาแก้ไขปัญหา ในระยะยาว ตอนนี้ หลายๆคนที่เข้ามาใหม่ ก็พยายามที่จะศึกษาเรื่องราวเก่าๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วดูกันว่า จะแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง
เท่าที่ลองเช็คกระแสในโลก Internet และ Social Media ก็ยังมีเสียงบ่นจากลูกค้าเรื่องอะไหล่แพงให้ได้ยินอยู่ รวมทั้งปัญหาจากคุณภาพชิ้นส่วนในรถรุ่นเก่าๆ ซึ่งยังพอจะแวะเวียนมาให้หวั่นใจเล่นกันอยู่บ้าง แต่เท่าที่ลองลาดตระเวณมา ลูกค้าที่ใช้ Grand Carnival รุ่นล่าสุด ยังไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ หรือระบบส่งกำลังกันมากนัก อาจมีบางเคส ที่เจอท่อน้ำมันรั่ว ทางศูนย์บริการก็เคลมให้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเดินเอกสารภายในองค์กรกันอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งนั่นก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว
อย่างน้อย สัญญาณที่ดี ก็ยังปรากฎให้เห็นขึ้นมาบ้าง เพราะดีลเลอร์ รายใหม่ๆ ก็มีเปิดตัวขึ้นมาบ้าง บางรายก็เป็นคนคุ้นเคยในธุรกิจยานยนต์ อย่าง คุณอภิเชต ศีตะกลิน กรรมการผู้จัดการบริษัท โคเรีย มอเตอร์เซลส์ จำกัด (Kia กรุงเทพ สาขารังสิต) นั่นผมก็รู้จักกันดี ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักน่าเคารพพมากๆ และพอจะฝากผีฝากไข้ฝากเคสกันได้ หรือไม่ก็ไปที่ศูนย์เทียนร่วมมิตร นั่นก็ยังพอไว้ใจได้อยู่ ส่วนดีลเลอร์รายอื่น ผมไม่รู้
คุณ Yam ฝ่ายขายที่ โชว์รูม เทียนรวมมิตร เล่าให้ฟังว่า “ส่วนใหญ่ ลูกค้า Kia ในปัจจุบัน จะมีทั้งกลุ่มลูกค้าเดิม พอมาลองขับรุ่นใหม่ แล้วชอบ ก็เปลี่ยนเทิร์นเป็นคันใหม่ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่บอกต่อกันแบบปากต่อปาก ข้อดีอย่างหนึ่งของ Kia คือ ลูกค้าที่ซื้อรถไป ยังมีไม่เยอะนัก ช่าง และ SA (Service Assistance) หรือเจ้าหน้าที่รับรถ จะรู้จักกับลูกค้าทั่วถึง มีอะไรคุยกันได้ ขอแค่ลูกค้าอย่าไปเยอะใส่เขาก่อน มีอะไรเขาจะพยายามช่วยให้เต็มที่”
“เรื่องสต็อกอะไหล่เก่า ทุกวันนี้ Yontrakit Kia ยังคงสำรองชิ้นส่วนอะไหล่ของรถรุ่นเก่าไว้ประมาณ 70% ของยอดขายทั้งหมด อย่างเช่น มือจับประตูของ Carnival รุ่นปี 2004 ราคาอยู่ที่ชิ้นละ 1,500 บาท (เบิกศูนย์ฯ ของใหม่) แต่ถ้าลูกค้าอยู่ต่างจังหวัดห่างไกล และไม่สะดวกขึ้นมารับของ ก็สามารถโอนเงินเข้ามา แล้วเราก็จะจัดส่งอะไหล่ให้ถึงบ้านทางไปรษณีย์ไทย ให้ลูกค้านำไปให้ช่างแถวบ้านซ่อมได้เลย!”
หรือต่อให้ใช้รถจนหมดระยะรับประกัน ก็เห็นว่ามีคลับผู้ใช้รถยนต์ Kia อยู่ ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่องอู่ซ่อม (เท่าที่มีคุณผู้อ่านรายงานมาว่าซ่อมจบ ก็มี ยุทธจริญยนต์ แถวรังสิต) แหล่งอะไหล่มือสอง จากเซียงกงเกาหลีใต้ แถวปิ่นเกล้า ก็น่าจะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้ประมาณหนึ่ง ยกเว้นราคาหัวฉีด Common-Rail ที่อาจจะแพงเท่ากับ บรรดารถกระบะประกอบในประเทศตอนนี้ ซึ่งก็คงต้องทำใจกันไว้ก่อนนะครับ
ถ้าคุณกำลังจะตัดสินใจเลือกระหว่าง H-1 กับ Grand Carnival ผมคงสรุปให้ได้เลยว่า ถ้าอยากเอาเรื่องความมั่นใจในเรื่องปริมาณของศูนย์บริการ และการสต็อกอะไหล่ รวมทั้งพื้นที่ภายในห้องโดยสาร และความอุ่นใจ ซึ่งวัดค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ งานนี้ คงต้องหันไปจบกับ Hyundai H-1 กันอย่างแน่แท้
แต่สิ่งที่ Kia จะได้เปรียบกว่า H-1 คือ ตัวรถสดใหม่กว่า มาตรฐานของชิ้นส่วนในตัวรถ ถูกอัพเกรดขึ้นมาจนแตกต่างจาก Kia ในยุคก่อนๆที่หลายๆคนร้องยี้ กันแล้ว เท่าที่รถอยู่ในมือผมมา 10 วัน ยังไม่มีชิ้นส่วนอะไร แตกหักหรือหลุดติดมือขึ้นมาเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ซึ่งถือว่าดีกว่าสมัยก่อน (ผมจับมือเปิดประตู รถตู้ Kia Pregio เมื่อปี 2001 จู่ๆ มันหลุดติดมือออกมาเฉยเลย)
ดังนั้น ถ้าคิดว่าอยากจะวัดดวง ลองแลกเงิน 1.9 ล้านบาท กับความสดใหม่ ของตัวรถ และคุณภาพการประกอบที่ดีขึ้นกว่า Kia ในยุคอดีตราวฟ้ากับเหว รวมทั้งศูนย์บริการ ของยนตรกิจ ที่เค้าบอกกับผมเองว่า เค้าจะพยายามปรับปรุงกันอยู่ ก็ลองดู…
ลองแล้วเป็นอย่างไร มาเล่าให้ผมฟังกันบ้างนะครับ!
—————————–///——————————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Yontrakit Kia Motor จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดี
และ Jirath Thanasedhkitti (Jeayong) สำหรับความช่วยเหลือด้านภาษาเกาหลี
บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับรถตู้ Full Size Minivan / Van (Click Here)
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค เป็นของ Kia Motors Corporation)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
17 ตุลาคม 2017
Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 17th,2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!!