เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2017 ที่ผ่านมา ทาง Nissan Motor (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดห้องให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารคนใหม่จากฝรั่งเศส คุณ อันตวน บาร์เตส โดยได้มีการเผยถึงแผนการในอนาคตสำหรับ Nissan และตอบคำถามผู้สื่อข่าวในหลายข้อที่มีความสงสัย

ผลประกอบการ – อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจในสายตาผู้บริหาร

ตามปีงบประมาณระบบของญี่ปุ่น จะนับช่วงเวลาเริ่มต้นไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่ามีอัตราการเจริญเติบโตของส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 1.4% โดยทางบริษัทมีเป้าหมายว่าเมื่อครบปีงบประมาณ 2017 ส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์ Nissan จะเพิ่มขึ้น 7% และ มีจำนวนยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2016

โดยรถที่สามารถสร้างยอดขายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่รถอีโคคาร์อย่าง Nissan March และ Almera ซึ่งสามารถคงกระแสยอดขาย หรือเพิ่มจำนวนยอดได้มากกว่าปกติเป็นบางช่วง ส่วนรถรุ่นอื่นๆเช่น Navara หรือ Nissan Note นั้น แม้จะไม่ได้เป็นดาวเด่นด้านยอดขายของเซกเมนต์ แต่ก็ได้ตัวเลขซึ่งคุณอันตวนบอกว่า “ดีพอแล้ว” ในความคิดของเขา

เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่า “เราจะมีโอกาสได้เห็นตัวเลข Market share ที่เพิ่มขึ้นในระดับเลข 2 หลักหรือไม่” คุณอันตวนและผู้บริหารตอบว่า นั่นคงยังไม่ใช่ภายในปีนี้ (2017) แน่นอน เพราะตัวเลขการเจริญเติบโตจะต้องเป็นไปตามหลักความจริง ซึ่ง Nissan ยังไม่สามารถโตได้เร็วขนาดนั้นภายในข้อจำกัดที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ Nissan ยังมองเห็นโอกาสในการเจริญเติบโต ในสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2018 เพราะสิ่งที่มีส่วนผลักดันการเติบโตทางธุรกิจครั้งนี้ คือ ภาพรวมตลาดรถในประเทศไทยที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2560  เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ที่ 3.5 %*(ที่มา EIU กรกฎาคม 2560) รวมถึงความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ทดแทนรถเก่าของลูกค้าที่เข้าร่วมนโยบายรถคันแรก

สรุปยอดขาย Nissan ครึ่งปีแรก 2017 (มกราคม – มิถุนายน 2560)

ยอดขายรวม 28,170 คัน ส่วนแบ่งตลาด 6.9% อยู่ในอันดับที่ 5 ของตลาด

  • อันดับ 1 Toyota : 27.4%
  • อันดับ 2 Isuzu : 18.8%
  • อันดับ 3 Honda : 15.0%
  • อันดับ 4 Mitsubishi : 7.9%
  • อันดับ 5 Nissan : 6.9%

โดยยอดรวมของ Nissan 28,170 คัน แบ่งออกเป็นสัดส่วนรุ่นต่างๆดังนี้

  1.  Navara  9,467 คัน  (33.61%)
  2.  Almera  8,040 คัน  (28.54%)
  3.  March  4,508 คัน  (16.00%)
  4.  Note  2,675 คัน  (9.50%)
  5.  X-Trail  1,311 คัน  (4.65%)
  6.  Juke*  876 คัน  (3.11%)
  7.  Sylphy  598 คัน  (2.12%)
  8.  BigUrvan  470 คัน  (1.67%)
  9.  Teana  205 คัน  (0.73%)
  10. (Pulsar* + Livina* + Leaf**)  20 คัน  (0.07%)
  • *Juke / Pulsar / Livina ยุติทำตลาด จำหน่ายรถที่มีอยู่ในสต๊อก
  • **Leaf จำหน่ายให้เฉพาะกลุ่มองค์กรเท่านั้น ไม่ได้ขายปลีกให้ลูกค้าทั่วไป

การวางแผนเพื่อความก้าวหน้าของบริษัท

Nissan ประเทศไทย ได้ปรับแผนการทำตลาดและนโยบายการบริหาร โดยมีภารกิจสำคัญที่ทางบริษัทจะมุ่งเน้น ดังนี้

ประการที่ 1 : เพิ่มความหลากหลายของรถยนต์รุ่นที่ขายในประเทศไทย

ที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดตัว Nissan Navara Black Edition, Nissan Note และมีการอัปเดตให้กับ Sylphy ไปเรียบร้อยแล้ว และนับจากนี้เป็นต้นไป ทาง Nissan จะพยายามเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลใหม่, รุ่นย่อยใหม่ หรือรถรุ่นพิเศษที่สามารถตอบสนองทางเลือกของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น

ประการที่ 2 : ปรับวิธีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา Nissan พยายามเก็บข้อมูลเรื่องคุณภาพการบริการจากลูกค้า และเข้าไปมีบทบาทในการช่วยให้ศูนย์บริการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงอาจมีการปรับวิธีการบริหารงานและการสื่อสารระหว่างตัวบริษัทแม่ และผู้แทนจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการใช้รถ Nissan ที่ดีขึ้น

ประการที่ 3 : ใช้ศูนย์วิจัยของ Nissan ในประเทศไทยเพื่อการพัฒนารถยนต์ที่เหมาะสม

Nissan ได้ลงทุนเป็นพันล้านบาทไปกับศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และคุณภาพในประเทศไทย โดยเริ่มทำการตั้งแต่ปี 2006 ปัจจุบัน พวกเขาพยายามใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯ นี้ให้มากขึ้น นอกจากจะเป็น Hub ในการพัฒนาของภูมิภาค ASEAN และมีส่วนช่วยในการวิจัยรถที่จะนำไปจำหน่ายยัง 90 ประเทศแล้ว อันตวน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า Nissan ต้องการให้ศูนย์วิจัยมีเป้าหมายในการช่วยปรับปรุงรถยนต์ ให้มีคุณลักษณะจำเพาะเหมาะสม และสอดคล้องกับรสนิยมของคนไทยมากขึ้น

นอกจากเสาหลักแห่งการพัฒนาทั้ง 3 ประการแล้ว สิ่งที่ Nissan พยายามที่จะปรับปรุงอย่างมากสำหรับในอนาคตคือความรู้สึกที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ โดยพยายามให้แผนการหรือนโยบายใดๆที่มีผลหลังจากนี้ ต้องให้ผลในแง่ของการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับลูกค้าที่เลือกใช้รถของ Nissan ดังจะเห็นได้จากการปรับวิธีการบริหาร การสื่อสารกับผู้แทนจำหน่าย และคุณภาพของรถยนต์ที่ผลิต

นอกจากนี้ บาร์เตสย้ำว่าบริษัทฯ เป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของนิสสัน โดยมีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกันถึง 228,250 คัน และประมาณ 57% เป็นรถยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก

Intelligent Mobility – ก้าวต่อไปในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้คือเทคโนโลยี Intelligent Mobility ซึ่งดูเหมือน Nissan ประเทศไทยจะโปรโมตสิ่งนี้อย่างเข้มข้นในปีถัดไป โดยคำว่า Intelligent Mobility นี้จะขยายครอบคลุมพัฒนาการของรถใน 3 ด้าน ได้แก่

  • Intelligent Driving – ซึ่งหมายถึงระบบความปลอดภัยในการขับขี่ เช่น ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ รวมถึงระบบช่วยเหลือคนขับ และ ระบบขับเคลื่อนรถโดยอัตโนมัติ
  • Intelligent Power – ซึ่งได้แก่การพัฒนาขุมพลังขับเคลื่อนที่ประหยัดเชื้อเพลิง มลภาวะต่ำ และให้แรงขับเคลื่อนที่ดีพอ ซึ่งจากการนำเสนอในครั้งนี้ พบว่าทางผู้บริหารดูจะเน้นย้ำเรื่องความสามารถในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Nissan และ ยังได้จำแนกความต้องการหลักของลูกค้าในไทยออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เดินทางใกล้ๆเฉพาะในเมือง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าล้วน มีความเหมาะสม และ กลุ่มที่ต้องเดินทางไกลประจำ หาที่ชาร์จยาก ซึ่งรถไฮบริด เติมน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วใช้เครื่องยนต์สร้างพลังไฟฟ้าส่งไปแบตเตอรี่ แล้วใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ส่งให้มอเตอร์ขับเคลื่อน (Note e-Power) จะมีความเหมาะสมมากกว่า
  • Intelligent Integration – ในอนาคต Nissan มองว่าผู้ซื้อรถต่างต้องการให้รถของตัวเองมีความสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารกับโลกภายนอกได้ จึงจะมีการปรับชุดมัลติมีเดียภายในรถให้รองรับ Apple CarPlay กับ Andriod Auto พร้อมทั้งนำเสนอลูกเล่นใหม่ๆ ที่จะปูทางไปสู่สังคมยานยนต์ทศวรรษหน้า ซึ่งคนที่นั่งในรถ อาจจะไม่ต้องขับรถเองอีกต่อไป

คำถามและคำตอบ – ถามได้ทุกอย่างยกเว้นรถรุ่นไหนเปิดตัวเมื่อไหร่

นอกจากการนำเสนอผลงานที่ผ่านมา และนวัตกรรมใหม่ๆของ Nissan แล้ว คุณอังตวน ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เกิดบนหน้าข่าวเกี่ยวกับ Nissan โดยคุณอังตวน ตอบเองทุกข้อ

หมายเหตุ : คำถามเหล่านี้มาจากสื่อมวลชน ผู้เขียนไม่ใช่ผู้ตั้งคำถาม (ยกเว้นข้อสุดท้าย)

Nissan มีแผนที่จะยุบดีลเลอร์บางส่วนที่ให้บริการไม่ดีทิ้ง จริงหรือไม่?

ตอบ : เราไม่ได้ต้องการที่จะกำจัดใครทิ้ง อันที่จริงที่ผ่านมา เราอยู่ในช่วงที่ต้องทำการวิจัยเก็บข้อมูล ว่าที่ไหนมีประสิทธิภาพการบริการที่ดี หรือว่าที่ไหนมีคนร้องเรียนเยอะ และถ้าที่ไหนมีจุดอ่อน เราก็ไม่ได้ต้องการกำจัดทิ้ง แต่ต้องให้โอกาสในการปรับปรุง ซึ่งทาง Nissan สำนักงานใหญ่นี่ล่ะต้องเข้าไปช่วยให้เขาปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น เราไม่ต้องการจะทิ้งดีลเลอร์ที่ยังสามารถพัฒนาตัวเองได้

Note e-Power มีจุดเด่นตรงไหน และเมื่อไหร่จะมาขายในไทย?

ตอบ : เราไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะมันก็เป็นความลับของบริษัท แต่ถ้ามาได้จริง เรามองว่า Note e-Power เหมาะกับคนไทย เพราะแม้จะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ แต่พลังไฟฟ้าก็มาจากเครื่องยนต์ (โดยที่ตัวเครื่องยนต์จะหมุนรอบคงที่เพื่อปั่นไฟ ไม่ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเลยแม้แต่น้อย) ดังนั้น เราจึงตัดความเสี่ยงเรื่องสาธารณูปโภคเช่นแท่นชาร์จไฟไม่พอ ที่ชาร์จไฟไม่มี พิสัยทำการน้อยออกไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้คนกลัวรถยนต์ไฟฟ้า แต่กับ Note e-Power ที่ไหนมีปั๊มน้ำมัน คุณก็ขับเข้าไปเติม มันไม่มีปลั๊กให้เสียบ ..ใช้มันเหมือนรถทั่วไปได้เลย คุณได้พลังขับเคลื่อนแบบรถยนต์ไฟฟ้า ปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถสันดาปภายใน และใช้ง่ายเหมือนรถสันดาปภายใน

Nissan ประเทศไทยมองอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างไร?

ตอบ : เราต้องการเป็นเจ้าแรกที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าในจำนวนมากๆ ในประเทศไทย แต่ถ้าจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐประกอบไปด้วย เช่น มีสิทธิพิเศษทางภาษีสรรพสามิต, มีข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้คนอยากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และที่สำคัญคือเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าทวีจำนวนมากขึ้น สถานีชาร์จ แท่นชาร์จ และสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าเราต้องพร้อมกว่านี้

Nissan Teana ยังเหลืออนาคตในการทำตลาดในประเทศไทยอีกหรือไม่?

ตอบ : เรื่องนั้นยังเร็วเกินไปที่จะตอบ แต่เราบอกได้ว่าในปัจจุบัน โฟกัสหลักของเราอยู่ที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กมากกว่ารถขนาดใหญ่

ยังคิดที่จะทำตลาดรถ NISMO อยู่หรือเปล่า หรือว่าทิ้งชื่อนี้ไปแล้ว?

ตอบ : เราคิดว่า NISMO ก็คือส่วนหนึ่งของ Nissan ที่มีความสำคัญ เราไม่ควรแยกมันออกจากกัน ดังนั้นพูดได้เลยว่าขณะนี้ เรายังไม่ทิ้ง NISMO แต่ที่ผ่านมา เรารู้ตัวดีว่าหลังจากเปิดตัว Almera NISMO มาแล้ว เราก็ไม่ได้มีรถรุ่นใหม่ๆออกมาอีกเลยนานเป็นปี มันจึงเกิดความไม่ต่อเนื่องในการพยายามสร้างแบรนด์ เรื่องนี้เราก็พยายามแก้ไขกันอยู่ แต่ต้องดูด้วยว่าในสถานการณ์ของบริษัท อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วอยู่รอดก่อน เมื่อรอดแล้วเราก็จะมีโอกาสขยายไปทำตลาดส่วนอื่นให้เจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงใจพวกเขามากขึ้น