มหากาพย์ถุงลมนิรภัย Takata ที่ส่งผลกระทบต่อรถยนต์หลายล้านคันทั่วโลก ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด หลังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัยมรณะนี้ อาจเป็นเพียงการยืดระเบิดเวลาออกไปเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคยังตกอยู่ในอันตรายอยู่
(ภาพจาก REUTERS / Joe Skipper)
เราจะมาทำความรู้จักกับถุงลมนิรภัย Takata กันก่อน ซึ่งแบรนด์นี้เป็นเจ้าเดียวในตลาดที่ใช้สาร Ammonium Nitrate ในการจุดระเบิดถุงลม ความอันตรายอยู่ที่ว่า ถ้าหากมีความชื้นเข้าไปในสารตั้งต้น ถุงลมนิรภัยจะระเบิดอย่างรุนแรง จนส่งชิ้นส่วนโลหะภายในออกมา ระหว่างที่ถุงลมทำงานด้วย และ ถือได้ว่าเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ในเมื่อความชื้น ทำให้สารจุดระเบิดทำงานแรงเกินเหตุ Takata จึงเลือกที่จะเติมสาร Drying Agent เข้าไป เพื่อช่วยลดความชื้น แต่มีการตั้งข้อสงสัยว่าแนวทางดังกล่าว อาจจะป้องกันความชื้นไม่ได้ในระยะยาว เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ความเสี่ยงที่สารจุดระเบิดจะเป็นอันตราย จะกลับมาหลอกหลอนผู้ใช้งานถุงลมนิรภัย Takata อีกครั้ง
Keiichi Hori จาก Japan Explosive Society เปิดเผยว่าการเติมสาร Drying Agent เข้าไปไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำได้เพียงลดความเสี่ยงของการระเบิดอย่างรุนแรงเท่านั้น
But Upham ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่า Takata จะต้องทำการ recall อีกเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากสาร Ammonium Nitrate เป็นสารระเหย
แม้แต่อดีตพนักงานของ Takata ผู้ที่ไม่ระบุชื่อ ยังกล่าวกับ Reuters ด้วยซ้ำว่า การแก้ไขปัญหานี้ทำได้เพียงแค่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น และ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่าถุงลมนิรภัยที่ระเบิดอย่างรุนแรงในกรณีที่ผ่านมา ล้วนมีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี
ล่าสุด NHTSA หน่วยงานด้านความปลอดภัยในสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งให้ Takata เรียกถุงลมนิรภัยรุ่นใหม่ที่ติดตั้งในรถยนต์จำนวน 2.7 ล้านคัน กลับมาเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีหลักฐานยืนยันถึงความปลอดภัย แต่ NHTSA ขอไม่แสดงความเห็นต่อข้อสังเกตในกรณีที่เรารายงานอยู่นี้ ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าข้อสันนิษฐานนี้ยังเป็นอะไรที่คลุมเครือ ซึ่งบทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
รถยนต์ในไทยที่ถูกเรียกไปเปลี่ยนชิ้นส่วนถุงลม Takata ก่อนหน้านี้ จะได้รับผลกระทบนี้ด้วยหรือไม่ ต้องรอติดตามข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง