นับตั้งแต่ปี 2012 ที่ผ่านมา ผมมักเจอคำถามจากทั้งคุณผู้อ่าน และผู้คนรอบข้างอยู่เรื่อยๆว่า
“ช่วงนี้ จะมีรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นไหน เปิดตัวในเมืองไทยบ้างหรือเปล่า?”

เป็นคำถามที่ดูเหมือนจะหาคำตอบที่ลงตัวกับความต้องการของครอบครัวคนไทยได้ยากยิ่ง

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์หลายค่าย
เคยพยายามจะหารถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นใหม่ๆ จากเมืองนอก เข้ามาขายให้กับลูกค้าใน
บ้านเรา หลายครั้ง หลายครา

แต่สุดท้าย มันมักจะมีเหตุอะไรสักอย่าง ที่ทำให้รถยนต์เหล่านี้ ขายไม่ค่อยออก แถมยังเป็น
เหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรณีศึกษาอีกด้วย

Chevrolet Zafira ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดกลุ่มนี้ ในเมืองไทย เปิดตัวเมื่อต้นปี 2000 และทำ
ยอดขายได้ในระดับเรื่อยๆ เดือนละหลายร้อยคันอยู่ แต่ก็ยังไม่ถึงกับหวือหวานัก

Honda เห็นว่าตลาดกลุ่มนี้ น่าจะมีอนาคตในบ้านเรา เลยส่ง Honda Stream เข้ามาตอดแย่ง
ลูกค้า ในช่วงปี 2002 แต่ ก็เจอรายการ “รับน้องใหม่สะกัดดาวรุ่ง” จาก GM/Chevrolet ด้วย
กลยุทธ์ “สเต็ก หรือ ซูชิ?” (ตอนนั้น ให้อดีตเจ้าของรายการวิทยุที่ผมเคยเป็นพิธีกรร่วม พูด
ออกสป็อตโฆษณาทางวิทยุ ว่า คุณอยากจะเลือกกินอะไรละ ระหว่าง สเต็ก หรือ ซูชิ) แถม
ในตอนนั้น ยังเจอปัญหาด้านการประกอบจากโรงงานเก่าของตนในอินโดนีเซีย เล่นเอา
ลูกค้าไม่กล้าเฉียดใกล้ แม้ว่าจะออกรุ่น Minorchange มาแก้ภาพลักษณ์ในปี 2005 แต่ก็ยัง
ขายไม่ค่อยออกอยู่ดี กลายเป็น Honda รุ่นหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์
ของบ้านเรา

เวลาผ่านไป Honda อยากลองชิมลางตลาดกลุ่มนี้อีกสักครั้ง เลยสั่ง Freed นำเข้าจากทาง
อินโดนีเซีย มาขายในเมืองไทย ช่วงปี 2009 แต่ดันตั้งราคาแพงไป เลยขายไม่ออก จน
ต้องทำรุ่นย่อยที่ดูคุ้มค่าออกมาสู้ ตามด้วยการปรับโฉม Minorchange เมื่อปลายปี 2012
ที่ผ่านมา ถือว่า แม้จะแก้สถานการณ์ช้าไป แต่ก็ยังพอทันการณ์ และ ยอดขายของ Freed
ก็เริ่มเดิน ถึงจะไปในระดับ ไม่กี่ร้อยคันต่อเดือนก็ตาม

Toyota Wish ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดี ทั้งที่เป็นผลจากความพยายามจากหลายหน่วยงานของ
ทุ่งสำโรง ล็อบบี้บริษัทแม่จนทำให้เมืองไทยกลายเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศในโลกเท่านั้น
ที่สามารถสั่งชิ้นส่วนรถรุ่นนี้เข้ามาประกอบขายนอกญี่ปุ่นได้สำเร็จ ในช่วงปลายปี 2003
และกลายเป็น รถยนต์รุ่นที่ใช้เวลาเตรียมสายการผลิตในบ้านเรา สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือ
เพียง 11 เดือน เท่านั้น แถมยังมีกระแสช่วงเปิดตัวที่แรงใช้ได้ แต่พอขายไปได้สักปีกว่าๆ
ปัญหาไฟบนหน้าปัด โชว์ 3 ตำแหน่งรวดเพราะอ็อกซิเจนเซ็นเซอร์ที่ญี่ปุ่นเซ็ตเอาไว้นั้น
ไวเกินเหตุกับสภาพของประเทศไทย จนต้อง จัดแคมเปญเรียกรถเข้ามาแก้ไข บางคันหาย
บางคันก็ไม่ รวมทั้งการเป็น Minivan 7 ที่นั่ง ที่ออกแบบมาเพื่อโดนใจคนโสด มากกว่าที่จะ
เอาใจครอบครัวอย่างแท้จริง คือเหตุผลที่สำคัญ ซึ่งทำให้ Wish เหลือยอดขายเพียงเดือนละ
100 คันเศษๆ ในวันที่ต้องยุติการผลิตโดยที่ Toyota ไม่คิดจะสั่ง Wish ใหม่มาขายอีกแล้ว



แต่ Toyota ก็รู้ว่า ตลาดกลุ่มนี้ ยังมีความต้องการอยู่ เลยสั่งนำเข้า Avanza และ Innova จาก
อินโดนีเซีย มาขายตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน ในจำนวนที่ พอให้ P.T Toyota Astra ซึ่ง
เป็นตัวแทนจำหน่าย Toyota ในแดนอิเหนา ไม่ต้องถึงกับบ่นว่า “เอาแต่ส่งรถยนต์ผลิตจาก
เมืองไทยไปขายในบ้านเขา แต่ไม่คิดสั่ง รถของเราไปขายในเมืองไทยบ้างเหรอไง” แต่
แน่นอนว่า ยอดขายของทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็เดินหน้าไปอย่างเรื่อยๆ ไม่หวือหวา แต่พอมีลูกค้าที่
ต้องยอมเลือกด้วยความจำใจ เพราะมันไม่มีตัวเลือกอื่นใดที่ดูคุ้มไปกว่านี้แล้ว…

จะให้ไปเลือก Mitsubishi Space Wagon? คันก็ใหญ่กว่าจริง แต่ราคาก็แพงขึ้นไปแตะระดับ
1.6 ล้านบาท แถมตอนนี้ก็เลิกผลิตไปแล้ว เพราะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2004 แล้วก็เลิกขาย
ไปได้แค่ปีเศษๆ

จะให้ไปเลือก Proton Exora? คนไทยก็ยังหวั่นๆ กับรถมาเลเซียอยู่ แม้จะพยายามปรับปรุง
ให้ดีขึ้น แต่บริการหลังการขาย ยังไม่น่าไว้ใจ และคงต้องรออีกพักใหญ่ ทุกอย่างถึงจะดีขึ้น

จะให้เลือก Suzuki APV? รถ 7 ที่นั่ง สร้างจากพื้นแชสซีส์รถกระบะเล็ก Carry เนี่ยนะ? เอ่อ
หลายครอบครัว แค่เห็นหน้าตา เขาก็เปลี่ยนช่องทีวี หนีกันไปแล้วแหละ!

ถ้าให้สรุปจากที่ผมพล่ามมาทั้งหมดก็คือ  ตลาดรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่งในบ้านเรา มันยังมี
โอกาส และที่ว่าง ให้กับผู้มาใหม่เสมอ แต่ที่ผ่านมา รถยนต์ประเภทนี้ ขายไม่ดีในบ้านเรา
เพราะ…

1. รูปลักษณ์ไม่เข้าท่า <—- ต้องสวยไว้ก่อน เรื่องรสนิยม พูดลำบาก
2. ราคาไม่โดนใจ <—-ข้อนี้ประเด็นสำคัญ เลยละ
3. 7 ที่นั่ง นั่งได้ไม่สบายจริง <——บางบ้าน มองเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลัก
4. อุปกรณ์ติดรถ น้อยไป เมื่อเทียบกับค่าตัวที่ต้องจ่าย <—– ทุกเจ้าเป็นเหมือนกันหมด

ครับ มีแค่ 4 ประเด็นนี้แหละ ที่ทำให้หลายๆค่าย ถอดใจกับตลาดกลุ่ม Minivan 7 ที่นั่งกันไป

แต่….ในปีนี้ ประเทศไทย จะมีรถยนต์ 7 ที่นั่ง เปิตตัว ถึง 2 รุ่นด้วยกัน ทั้งจากผู้เล่นหน้าใหม่
กับผู้เล่นรายปัจจุบัน ทั้งคู่ จะถูกสั่งนำเข้ามาจาก อินโดนีเซีย เหมือนกัน

และ 1 ในนั้น คือรถคันที่คุณเห็นอยู่นี้

ว่าแต่…ทำไมต้องเป็น อินโดนีเซีย? เราพูดถึงประเทศนี้กันบ่อย และถี่ยิบในบทความนี้มา
ตั้งแต่บรรทัดแรก จนถึงบรรทัดนี้ มีชื่อ อินโดนีเซีย โผล่แล้วหลายครั้ง

ก็เพราะว่า ที่นั่น คือสวรรค์ของ รถยนต์ Minivan 7 ที่นั่งเลยหนะสิ! ประเทศที่มีประชากร
ถึง 238 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลกแห่งนี้ อุดหนุนรถยนต์ประเภทนี้จนขายดีที่สุด
เป็นอันดับ 1 เรียกได้ว่าครองตลาดส่วนใหญ่ของประเทศกันเลยทีเดียว ผู้คนส่วนใหญ่
คล้ายกับเมืองไทยตรงที่ มีเงินไม่มากนัก แต่ต้องการรถยนต์คันเดียว ที่สามารถพาสมาชิก
ทุกคนในครอบครัว เดินทางไปด้วยพร้อมกันได้ ท่ามกลางสภาพการจราจรในเมืองหลวง
อย่างกรุง จาร์กาตา ที่ติดขัดเป็นบ้า ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า กรุงเทพมหานคร ของเรามากนัก
คนอินโดนีเซียจะต้องทนอยู่กับพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถตัดทางหลวง หรือทางด่วนเชื่อมต่อ
ระหว่างรัฐ แบบ Highway , Toll Way ได้มากนัก เท่าที่มีอยู่บนเกาะชวาหนะ พอรับได้
และสภาพค่อนข้างคล้ายคลึงกับทางด่วนในบ้านเรา  

แต่ถ้าเป็นเกาะอื่นๆ ที่ไกลออกไป แทบไม่ต้องพูดถึง ถนนสวนกันสองเลน เหมือนถนน
สายรอง จำพวกถนน “รพช.” ในบ้านเรา คือถนนแบบมาตรฐานของพวกเขา ในเมื่อภาครัฐ
ไม่อาจสร้างถนน และระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธืภาพสูงได้เต็มที่ ดังนั้น ประชาชน
แดนอิเหนา จึงยังต้องยอมควักเงินในกระเป๋า ที่มีอยู่ไม่มากนัก ซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาขับขี่
ใช้งานกันเองอยู่ดี และในเมื่อพวกเขา มักไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งครอบครัว จึงต้องการ
รถยนต์อเนกประสงค์ นั่งได้เยอะๆ แต่ราคาต้องไม่แพง นี่คือสาเหตุที่ รถยนต์ Minivan
7 ที่นั่ง ราคาประหยัด กลายเป็นรถยนต์ขายดีที่สุด คิดเป็น 60% ของยอดขายรถยนต์
ทั้งหมดในอินโดนีเซีย

ขณะเดียวกัน ในอินเดีย การเติบโตของรถยนต์ประเภทนี้ ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขของ
ยอดขาย Minivan 7 ที่นั่ง ในแดนโรตี พิ่มขึ้นจากเดิมถึง 20% ในปัจจุบันนี้ ตลาดรถยนต์นั่ง
กลุ่มนี้ มีสัดส่วนปริมาณยอดขาย 10% ของตลาดรถยนต์ในอินเดียทั้งหมด โดยคู่แข่งรายอื่น
ในกลุ่มนี้ หนีไม่พ้นบรรดารถยนต์ 7 ที่นั่ง ขนาดเล็ก (Compact Minivan) ที่ผลิตขึ้น สำหรับ
กลุ่มประเทศเอเซีย แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Toyota Avanza , Nissan Grand Livina (Note
รุ่นเก่า ต่อท้ายให้ยาว 7 ที่นั่ง) Chevrolet Spin และ..เอ่อ..Mahindra Quanto (ครับ อ่านไม่ผิด
รถอินเดียชื่อแปลกๆ มีเยอะ!)

Suzuki เฝ้ามองตลาดกลุ่มนี้อย่างเงียบๆมานานแล้ว ปล่อยให้ Toyota Mitsubishi และ Nissan
เก็บกวาดยอดขายไปได้มากมาย จนคิดว่า ได้เวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องทำรถยนต์ Minivan
7 ที่นั่งราคาถูกออกมาขายแข่งกับชาวบ้านเข้าแล้วเสียที จึงเริ่มต้นด้วยการมองหาลู่ทางในการ
สร้างรถยนต์แบบนี้ออกมา โดยต้นทุนต้องไม่สูงเกินไป ไม่เช่นนั้น จะทำราคาขายปลีกแข่ง
กับชาวบ้านเขาลำบาก

ด้วยเหตุนี้ Suzuki จึงใช้พื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรมของ Suzuki Swift รุ่นปัจจุบัน YP5
มาเป็นพื้นฐาน ขยายความยาวระยะฐานล้อ (จุดศูนย์กลางล้อหน้า ถึงจุดศูนย์กลางล้อหลัง)
ให้ยาวออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้การเข้า-ออกจากรถสะดวกขึ้น และโดยสาร
กันได้อย่าง “พอจะสบาย ภายใต้พื้นที่ห้องโดยสารของรถยนต์ขนาดเล็กที่มีอยู่จำกัด” แต่ต้อง
พัฒนาเครื่องยนต์ K-Series ใน Swift ใหม่ ให้ใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้มีเรี่ยวแรงพอที่จะ
ใช้งานได้ แม้จะบรรทุก 7 คน ไปด้วยกัน ตั้งรหัสโครงการของ Minivan รุ่นนี้ว่า YL8

Suzuki เปิดเผยโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่นี้ เป็นครั้งแรก ในฐานะ รถยนต์ต้นแบบสีฟ้า ชื่อ
Suzuki R-III ณ งานแสดงรถยนต์ Auto Expo ที่อินเดีย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2010 ตอนนั้น
โครงการนี้ ยังอยู่ในช่วงกลาง ของการพัฒนากันอยู่เลย แต่ด้วยปฏิกิริยาที่เป็นไปในเชิงบวก
ทำให้ Maruti Suzuki Udyog และหน่วยงานพัฒนารถยนต์สำหรับตลาดอินเดีย ของ Suzuki
ที่ Hamamatsu ในญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการนี้ ต่อไป

ในเมื่อจะทำรถยนต์รุ่นนี้มาขายชาว อินเดีย และอินโดนีเซีย ก็ต้องมีการลงทุนกับสายการผลิต
ในประเทศทั้ง 2 แห่ง ประเด็นนี้ไม่ต้องห่วง เพราะ Suzuki มีโรงงานอยู่แล้วในทั้ง 2 ประเทศ
โดยโรงงาน Suzuki ที่อินโดนีเซียนั้น เริ่มผลิตรถยนต์รุ่นแรก คือรุ่น ST-10 มาตั้งแต่ ปี 1976
ดังนั้น ถ้าเทียบความชำนาญระหว่างแต่ละโรงงานผลิตรถยนต์ในแดนอิเหนาด้วยกัน ก็ถือว่า
อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ยังพอรับได้อยู่

ส่วนตลาดอินเดีย หายห่วงครับ อย่าลืมว่า ตลาดหลักของ Suzuki ทั่วโลกนั้น อยู่ที่อินเดีย! ถือว่า
แปลกกว่าค่ายรถยนต์ยี่ห้ออื่นมากๆ เพราะ Suzuki ไปจับมือกับบริษัท Maruti Udyog มาตั้งแต่
ช่วงราวๆ ปี 1984 ทำให้ Maruti Suzuki กลายเป็นบริษัทที่ขายรถยนต์ได้มากเป็นอันดับ 1 ใน
อินเดีย มาช้านานอยู่แล้ว ดังนั้น การลงทุนทำ Minivan มาขายสักรุ่น จึงเป็นเรื่องที่ “เหมาะสม”
อย่างยิ่งในสายตาของ Suzuki

2 ปีต่อมา ในที่สุด เวอร์ชันพร้อมจำหน่ายจริงของ Ertiga ก็ได้ฤกษ์ เปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศ
อินเดีย ในชื่อ Maruti Suzuki LUV ERTIGA (ชื่อยาวมาก!) เมื่อวันสงกรานต์ บ้านเรา ปีที่แล้ว
(12 เมษายน 2012) ในงาน Indian Auto Expo ก่อนจะเปิดตัวในอินโดนีเซีย อีกเพียง 10 วัน
ถัดมา (22 เมษายน 2012)

คุณอาจคิดว่า มันก็แค่ Minivan 7 ที่นั่งขนาดเล็ก ธรรมดาๆ คันหนึ่ง แต่สำหรับตลาดอย่าง
อินเดีย แล้ว เพียง 2 เดือนหลังการเปิดตัว วันที่ 12 มิถุนายน 2012 Maruti Suzuki ก็ออกมา
ประกาศว่า ยอดสั่งจอง ของ Ertiga พุ่งพรวดขึ้นไปถึง 40,000 คัน แล้ว! และเมื่อถึงวันที่
29 มิถุนายน 2012 ยอดของ ก็พุ่งกระฉูดขึ้นไปเป็น 45,000 คัน!!

ไม่ใช่แค่ในอินเดีย แต่ที่ อินโดนีเซีย กระแสตอบรับ ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ภายใน 1 เดือน
หลังการเปิดตัว Suzuki ก็ประกาศว่า ยอดสั่งจอง Back order ของ Ertiga ในแดนอิเหนา
มีจำนวนมากถึง 13,000 คัน !!

คงไม่ต้องนึกต่อนะครับว่า ยอดสั่งจองหลังจากนี้ มันจะยังคงเหลือค้างส่งลูกค้าอีกกี่คัน!

แต่กว่าที่ Ertiga จะมาเปิดตัวในเมืองไทยได้นั้น อาจใช้เวลาค่อนข้างนานสักหน่อย เหตุผล
ไม่ยากเลยครับ ในช่วงแรกที่เปิดตัว Ertiga ยังไม่มีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และยังไม่มี แอร์สำหรับ
ผู้โดยสารแถวหลัง

อย่างที่คุณผู้อ่านก็คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ในวันนี้ ตลาดรถยนต์นั่ง ของเมืองไทย ยอดขายมากกว่า
90% เป็นรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ขณะเดียวกัน สำหรับรถยนต์ Minivan 3 แถว 7 ที่นั่ง ซึ่งต้อง
ขายในสยามเมืองร้อนตับแลบ เช่นนี้ ถ้าจะสั่งรถยนต์รุ่นใดเข้ามาขายกัน โดยมีให้เลือก แค่
เกียร์ธรรมดาเพียงแบบเดียว ไม่ต้องสืบเดาดูก็รู้ว่า ยอดขายคงจะแย่ ชะตากรรมซี้แหงแก๋ชัวร์ๆ
Suzuki Motor Thailand เลยเลือกที่จะ รอให้ Ertiga รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ออกมาเสร็จเรียยร้อย
เสียก่อน แล้วจึงสั่งนำเข้าจากโรงงาน Suzuki ในอินโดนีเซีย มาขายในบ้านเรา โดยมีกำหนด
เปิดตัวในวันที่ 19 มีนาคม 2013 ก่อนงาน Bangkok International Motor Show ประจำปีนี้
จะเริ่มขึ้นราวๆ 1 สัปดาห์

มิติตัวถังยาว 4,265 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวถึง
2,740 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Tread) 1,480 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างของ
ช่วงล้อคู่หลัง (Rear Tread) อยู่ที่ 1,490 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ
สูงถึง 185 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า มีตั้งแต่ 1,160 – 1,180 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย แต่
น้ำหนักรวมของเหลวในระบบ รวมทั้งผู้โดยสารและสัมภาระทั้งหมด อยู่ที่ 1,760 กิโลกรัม!
แต่ความจุถังน้ำมันนั้น แค่ 45 ลิตร!

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ตัวฉกาจในบ้านเรา ก็คงจะต้องเทียบกับ Toyota Avanza ซึ่งมีตัวถัง
ยาว 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,660 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,655 มิลลิเมตร
เพียงแค่นี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า Ertiga ยาวกว่า 125 มิลลิเมตร กว้างกว่าถึง 35 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า
10 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวสุดในกลุ่ม คือยาวกว่า Avanza ถึง 85 มิลลิเมตร

ต่อให้เปรียบเทียบกับ “รถที่มีขนาดใหญ่กว่า” อย่าง Toyota Innova ซึ่งมีความยาว 4,555
มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร
จะพบว่า ถึง Innova จะใหญ่กว่าในทุกสัดส่วน แบบไม่ต้องคิดมาก ตัวเลขวัดกันเห็นๆ
แต่ระยะฐานล้อของ Ertiga ก็สั้นกว่า Innova แค่ 10 มิลลิเมตร เท่านั้น!!

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมจะต้องขอเรียนให้คุณผู้อ่านทราบกันไว้ก่อนจะอ่านบทความนี้กันต่อ
ก็คือ เนื่องจาก บทความนี้ ถือเป็น ครั้งแรกของ Headlightmag.com ในการทำบทความแบบ
Full Review กันทั้งที่รถยังไม่เปิดตัวออกสู่ตลาด (กว่าจะเปิดตัว ก็ต้องรอกลางเดือนมีนาคม
กันไปแล้ว)

หมายความว่า รถยนต์ล็อตที่เรานำมาทดลองขับนี้ อาจมีออพชันบางอย่างที่แตกต่างจาก
เวอร์ชันจำหน่ายจริง เพราะ Suzuki Motor Thailand จะวางจำหน่าย Ertiga ในเมืองไทย
รวม 3 รุ่นย่อย คือ GA เกียร์ธรรมดา (รุ่น Low Option) รุ่น GL เกียร์อัตโนมัติ และรุ่น GX
เกียร์อัตโนมัติ อันเป็นรุ่นท็อป โดยรุ่น GX คันสีดำ มีออพชันที่ตรงกับเวอร์ชันไทย รุ่นขายจริง

อย่างไรก็ตาม รถที่เรานำมาบันทึกภาพนั้น คันสีน้ำตาล เป็นรุ่น GL เกียร์ธรรมดา ส่วน
คันสีขาว ติดกันสาด ชุด Aero Part รอบคัน รวมทั้งฝาถังน้ำมันแบบ..เอ่อ..เอาเป็นว่า
มันเป็นฝาถังแบบที่ผมจะไม่มีวันยอมให้ใครเอามาแปะรถส่วนตัวของผมเด็ดขาด ก็แล้วกัน
เป็นรุ่น GX เกียร์ธรรมดา ล็อตแรก ของอินโดนีเซีย (ก่อนเพิ่มรุ่นแอร์ แถว 2 ในเดือน
ธันวาคม 2012) จึงยังไม่ตรงกับสเป็กที่ขายในเมืองไทย ซะทีเดียวนัก

กระนั้น เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง เบาะนั่ง โทนสีในห้องโดยสาร สีตัวถัง ลายล้อ และการ
ตกแต่งภายนอกของรถคันสีน้ำตาล GL กับคันสีดำ GX จะเหมือนกับรถที่จำหน่ายในไทย
ทุกประการ จึงอยากจะแจ้งให้ทราบ กันตามนี้ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด หรือสับสน อัน
อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

รูปลักษณ์ภายนอกนั้น พูดกันตามตรงก็คือ เป็นการนำเส้นสายของ Swift รุ่นปัจจุบัน
มาขยายร่าง ให้ยาวขึ้น และปรับสัดส่วนให้ลงตัวยิ่งขึ้น และจงใจขยายความยาวของ
บานประตคู่หลัง ให้ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้า – ออก จากเบาะแถว 3

แต่ต่อให้ทีมออกแบบ ของ Suzuki ทั้งในญี่ปุ่นและ อินเดีย ทำงานกันมาอย่างดีแค่ไหน
ตัวรถออกมา ลงตัว สมบูรณ์ในแบบของมันแค่ไหน แต่..เชื่อหรือไม่ ตลอด 1 สัปดาห์
ที่ผมพา Ertiga แล่นไปตามถนนหนทางย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ด้วยกิจธุระ
จำเป็นนานับประการ

แทบจะไม่มีใครเหลียวมอง หรือจำได้เลยว่า รถคันนี้ มันแปลกกว่าชาวบ้านเขา!
ขนาดผมเลี้ยวเข้า ห้าง สยามพารากอน คนข้ามถนน หรือแม้แต่รถคันข้างๆ ก็ยัง
ไม่มีใครปรายตามอง!!

ก็ดูสิครับ รถคันสีขาว แปะคิ้วกันสาด ชุด Aero Part รอบคัน แถมด้วยฝาถังน้ำมัน
ที่ผมแทบจะเป็นลม เมื่อครั้งที่ได้เห็น ในวันรับรถ เล่นแปะมาเต็มพิกัดซะขนาดนี้
ใครเล่าจะมองออกละครับ ว่านี่ไม่ใช่รถยนต์ที่คุณๆ เคยเห็นกันมาก่อน เป็นใคร
เขาก็เข้าใจผิด คิดว่า เป็น รถบ้านธรรมดาๆ ทั่วไปที่หน้าตาเหมือน Toyota Avanza

นี่ขนาดว่า ไม่แปะสติ๊กเกอร์พรางยี่ห้อด้วยนะ! โห! คนยังจำไม่ได้เลยว่านี่คือ Suzuki!

จะว่าไป นี่ถือได้ว่า เป็น “มิติใหม่ ของการพรางตัว รถทดลองขับ ก่อนการเปิดตัว”
กันเลยนะเออ! ทีหลัง ค่ายรถยนต์ทั้งหลาย ไม่ต้องจ่ายตังค์ ซื้อสติ๊กเกอร์พรางตัว ลาย
ฉวัดเฉวียน น่าเวียนหัว จาก 3M ม้วนละ 8-9 หมื่นบาท มาแปะกับรถทดสอบรอบคัน
ให้เปลืองงบกัน อีกต่อไป ใช้วิธีนี้เลย เทพกว่าครับ! ติดคิ้วกันสาดรอบคัน แปะฝาถัง
น้ำมันให้ดูคล้ายกับฝาหม้ออะลูมีเนียมใส่แกงเขียวหวาน ในร้านข้าวแกง 3 อย่าง
40 บาท ตามใต้ถุนตึกออฟฟิศทั่วไปซะงั้น! นั่นไปเลย! รับรอง ร้อยทั้งร้อย ไม่มีใคร
สังเกตแน่นอนว่า รถของคุณ เป็นรถทดสอบ!

แต่จะว่าไปแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า รถคันนี้ ปรากฎตัวที่ใด

ถ้าจอดอยู่ในสยามเซ็นเตอร์ สยามสแควร์ ไม่มีใครสนใจเลยแม้แต่คนเดียวครับ!
ต่อให้ขับไปจอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถวหน้ากองเทศกิจ ก็จะมีแค่ เจ้าหน้าที่
เทศกิจ มองดูอย่างสงสัยนิดหน่อย แล้วไม่สนใจ

แต่ถ้าคุณลองเอาไปจอดใน IKEA ที่ Mega บางนา ดู ผมเห็นสายตาของผู้ชาย
วัยมีครอบแล้ว ประมาณ 3-4 คน แอบเหลียวมองรถคันสีดำ ขณะแล่นผ่านไป

แสดงว่า ต้องหาที่จอดรถ ให้่ตรงกลุ่มเป้าหมาย พวกเขาถึงจะสนใจ แวะเวียน
เข้ามาดูรถอย่างไม่ขาดสาย!

การเปิดประตูเข้า – ออก จากรถ ใช้กุญแจพร้อมสวิชต์สั่งปลดและล็อก แบบ Keyless Entry แต่
ยังต้องกดปุ่มสั่งการเอาเองอยู่ ยังไม่หรูพอที่จะติดตั้งระบบ Smart Key ใดๆทั้งสิ้น ทุุกรุ่นย่อย
ตั้งแต่ GA GL และ GX จะติดตั้งระบบเดียวกันนี้ มาให้เหมือนกันหมด

การลุกเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า เป็นไปอย่างสบายๆ เหตุผลก็เพราะว่า การจัดวางตำแหน่ง
เบาะนั่งให้สูงขึ้นจากเบาะของ Swift ใหม่ อีกเล็กน้อย ช่วยเพิ่มความสะดวกในการหย่อนบั้นท้าย
แล้วยกหมุนขาเข้าไปวางไว้บนพื้นรถมากขึ้น แถม ขอบเสาหลังคา ก็ยังสูง ดังนั้น การเข้า – ออก
จึงแทบไม่มีโอกาสเจอปัญหาศีรษะโขกกับเสาขอบหลังคาได้เลย

แผงประตูคู่หน้า ตกแต่งด้วยแนวทางเดียวกันกับ Swift แต่มีขนาดใหญ่กว่า ทั้ง 2 รุ่น ต่างมีช่องใส่
แผนที่ และเอกสาร รวมทั้งช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท หรือกระป๋องน้ำอัดลม มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง

การตกแต่งภายใน ใช้โทนสีเบจ เพื่อเน้นบรรยากาศโปร่ง โล่งสบายตา และเพื่อทำให้ภายในรถ
ดูกว้างขวาง โอ่โถงสะดวกสบาย ในสายตาของลูกค้า ผ้าหุ้มเบาะ ใช้เนื้อผ้าแบบเดียวกับ Swift
แต่ต่างสี ต่างลวดลาย ให้สัมผัสที่ดูดี มีระดับกว่าที่คิด และดูเหมือนผ้าสำหรับรถยนต์ราคาแพง
มากกว่าเบาะรถยนต์ราคาถูกจากฝั่งยุโรป

เบานั่ง ดูเหมือนจะมีแต่ ฐานรองเบาะที่ต้องยึดกับพื้นตัวถังเท่านั้น ที่ใช้ร่วมกับ Swift ได้ นอกนั้น
เป็นเบาะรองนั่งที่มีหน้าตาคล้ายกัน ส่วนพนักพิงหลัง แนวเส้นขอบไม่เหมือนกัน ยิ่งพนักศีรษะ
ยิ่งคนละรูปทรงกันไปเลย

เมื่อลองนั่งใช้งานช่วงแรกๆ ก็พบว่า นั่งสบาย และให้สัมผัสที่แทบจะเหมือนกับ Swift เลย แต่
เมื่อนั่งนานๆไป จะเริ่มรู้สึกเมื่อยตรงกลางแผ่นหลัง จนพบว่า จะดีกว่านี้ ถ้า Suzuki จะติดตัง
พนักดันหลัง พร้อมก้านโยกมาให้เบาะคนขับสักหน่อย แต่นอกนั้น ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้าง
สบายสำหรับการเดินทาง

การวางตำแหน่งคันเร่ง อาจทำให้ผู้ที่ขายาว ต้องปรับเบาะถอยหลังไป แต่ก็ได้ในระดับหนึ่ง
อาจเมื่อยหัวเข่าขวาได้นิดๆ ถ้าปรับเบาะให้พอดี ถูกต้องตามสรีระศาสตร์ คุณจะไม่เจอกับ
ปัญหานี้ครับ

พื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วงเหมือนเช่น Minivan ทั่วไป สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารทแถวหน้า
กับ แถว 2 ยังไงๆ หัวของคุณก็ไม่ติดเพดานหลังคาอย่างแน่นอน ต่อให้สูงเกิน 180 เซ็นติเมตร
ด้วยเอ้า! เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง

บานประตูคู่หลัง มีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งร่วมพิกัดเดียวกันทั้งหลาย นัยว่า เพื่อให้สะดวกต่อการ
ขึ้นลง จากทั้งเบาะแถวกลาง และเบาะแถว 3 ถึงกระนั้น กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง
ก็ยังเลื่อนลงมาได้แค่เกือบจะสุด ยังเหลือขอบเศษด้านบนอีกนิดเดียว ส่วนแผงประตูด้านข้าง
เป็นที่อยู่อาศัยของลำโพง และช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท / กระป๋องน้ำอัดลม รวมทั้งช่องใส่
เอกสาร หรือแผนที่ แบบเดียวกับแผงประตูคู่หน้า

ขณะเดียวกัน พื้นที่วางแขน ตกแต่งด้วยผ้า แต่ไม่ได้บุฟองน้ำไว้ในแผงประตู ก็ยังคงวางแขน
ได้ในตำแหน่งพอดีเป๊ะ เสียแต่ว่า ไม่ได้มีความนุ่มสบายให้สัมผัส แค่นั้นเอง

เบาะนั่งแถวกลาง แบ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง ซ้าย เบาะเล็ก ขวาเบาะใหญ่ อัตราส่วน 60 : 40 สามารถ
ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง แยกออกจากกันได้อิสระ พนักพิงศีรษะยังเป็นแบบตัว L คว่ำ
ปรับระดับได้ 3 ตำแหน่ง ซึ่งต้องยกขึ้นมาใช้งาน ไม่เช่นนั้น ขอบด้านล่าง จะทิ่มตำต้นคอ
ไปตลอดการเดินทาง  วางศีรษะได้พอดีๆ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องพูดถึงครับ โล่งสบาย
พอกันกับพื้นที่เหนือศีรษะสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้านั่นแหละ

พนักพิงหลัง ปรับเอนได้มากถึงราวๆ 150 องศา เกือบจะนอนราบ ฟองน้ำนุ่มกำลังดี นั่งสบาย
รองรับแผ่นหลังได้ดี แต่ยังรองรับช่วงไหล่ไม่ถึงกับดีนัก แต่ถือว่านั่งสบายกว่ารถยนต์หลายๆรุ่น
ในพิกัดเดียวกัน พนักวางแขนพับเก็บได้ ตรงกลาง วางแขนได้ในระดับพอดีๆ

ส่วนเบาะรองนั่ง ไม่สั้น ไม่ยาว อาจจะถือว่ากำลังดี สำหรับคนช่วงขาสั้นแบบผม แต่สำหรับ
คนตัวสูง ช่วงขายาว ยังไงก็สั้นไปแน่ๆ แต่ก็จำเป็นต้องมีความยาวเพียงแค่นี้ เพราะไม่เช่นนั้น
การพับเบาะ จะทำได้ยากลำบากว่านี้

พื้นที่วางขา ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลื่อนเบาะแถวกลางขึ้นมา เผื่อพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสาร
แถวหลังสุดด้วยหรือไม่ ถ้าถอยหลังจนสุด คุณจะนั่งสบาย วางขาไขว่ห้างก็ยังได้ แต่คนที่
นั่งอยู่บนเบาะแถว 3 จะเขกกบาลคุณได้ ว่าช่วยเลื่อนเบาะขึ้นไปอีกหน่อย ถ้าเลื่อนมากไป
คุณก็ไม่เหลือพื้นที่วางขาเสียเอง ถือว่า พื้นที่วางขา เลือกปรับระยะได้ตามความต้องการ

ส่วนการเข้า – ออกจาก เบาะผู้โดยสารด้านหลังนั้น สามารถดึงคันโยกข้างพนักพิงเบาะ เพื่อ
โน้มพนักพิงให้เอนไปข้างหน้า แล้วดันเบาะเลื่อนขึ้นไปข้างหน้าตามรางเบาะ เพียงแค่นี้
ก็จะเข้า – ออกจากเบาะด้านหลังได้อย่างง่ายดาย

แต่ถ้าจะพับเบาะ เพื่อวางสิ่งของสัมภาระ ก็ยังทำได้อีก 1 วิธี ด้วยการ ดึงคันโยกที่ฐานรองเบาะ
ซึ่งปกติ เอาไว้ใช้ปรับเอนนอน ขึ้นมา แล้วพนักพิงหลังจะพับโน้มมาเป็นโต๊ะ อย่างที่เห็น
ช่วยให้การเข้า – ออก จากเบาะแถว 3 ยิ่งสะดวกมากขึ้น และ ใช้สำหรับการบรรทุกสัมภาระ
ได้อย่างง่ายดาย แต่จะดีกว่านี้มาก ถ้าชุดเบาะแถวกลาง สามารถ ถอดประกอบยกออกไปเก็บ
ข้างนอกรถได้ เหมือนเช่น Minivan ชั้นดีเขาเป็นกัน

พื้นที่เบาะนั่งแถว 3 นั้น เป็นเบาะม้านั่ง ชิ้นเดียว สามารถพับเก็บราบไปเป็นพื้นห้องเก็บของ
ได้ทั้งชุด แต่ไม่สามารถแบ่งพับได้อ มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดมาให้ 2 ตำแหน่ง และมีพนัก
ศีรศะ แบบ ล็อกได้ 3 ตำแหน่งมาให้ พร้อมผนังด้านข้าง เป็นทั้งพื้นที่วางแขนและวางขวดน้ำ
ในตัวเสร็จสรรพ เบาะรองนั่ง และพนักพิงหลัง มีฟองน้ำ และผ้าหุ้มเบาะ ที่นั่งสบายพอกีๆ

สำหรับใครที่ตัวสูงระดับ 180 เซ็นติเมตร รับประกันได้เลยว่า หัวของคุณ จะชนเพดานอย่าง
แน่นอน เพราะการออกแบบเพดานหลังคา ไม่ได้เผื่อหลุมเว้าให้มีพื้นที่สำหรับศีรษะของ
ผู้โดยสารเอาเสียเลย

แต่ถ้าตัวไม่สูงขนาดนั้น เบาะแถว 3 จะเป็นพื้นที่โดยสารที่พอจะใช้งานแบบฝากผีฝากไข้ได้
ไม่ถึงกับประเสริฐนัก แต่การวางขาก็ไม่ต้องนั่งชันขา และทำได้ดีกว่า Avanza รุ่นใหม่ แน่ๆ
กระนั้น การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 จริงๆ แล้ว ก็ไม่ถึงกับง่ายมากนัก เมื่อเทียบกับ Avanza
ที่สามารถยกชุดเบาะหงายคว่ำไปข้างหน้าได้ และทำให้การเข้า – ออก สะดวกกว่า Ertiga นิดนึง

อีกทั้งยังมีไฟส่องสว่าง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง และสัมภาระด้านหลัง ติดตั้งอยู่บนเพดาน
พร้อมสวิชต์ เปิด – ปิด เชื่อมการทำงานกับชุดไฟส่องสว่างด้านหน้าของรถ มาให้อีกด้วย

บานประตูห้องเก็บสัมภาระ มาในแนวสูงโปร่ง ใช้กลอนไฟฟ้า และมีช็อกอัพไฮโดรลิกค้ำยัน
2 ต้น มีใบปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้ แต่ไม่มีไล่ฝ้ามาให้ ซึ่ง สมควรจะมีมาให้ได้แล้วในรถยนต์
ระดับราคานี้ ขนาด Swift ยังมีมาให้เลย แล้วทำไม Ertiga จะต้องตัดออกไปด้วยละ?

ห้องเก็บของมีขนาดใหญ่พอประมาณ ถ้าปรับเบาะเป็น 7 ที่นั่งครบถ้วน จะยังพอมีพื้นที่
เหือให้ใส่ กระเป๋าเดินทางแบบสะพาย เหมือนของนักกีฬา ได้ราวๆ 4 ใบ ซ้อนกัน แต่ถ้า
จะพับเบาะแถว 3 ลงไปจนแบนราบต่อเนื่องกัน ยิ่งสามารถบรรทุกจักรยาน เสือภูเขา ได้
อีกราวๆ 2-3 คัน โดยอาจต้องถอดล้อหน้าออก

ฝาผนังด้านข้างฝั่งขวามือ เป็นช่องเก็บ แม่แรงยกรถ และเครื่องมือประจำรถ ส่วนยางอะไหล่
ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถ แบบเดียวกับ รถกระบะในบ้านเรา

พื้นที่ในห้องโดยสารหลังพับเบาะทั้ง 2 แถวลงจนสุดนั้น สามารถแปลงสภาพ เป็นห้องนอน
เคลื่อนที่ สำหรับการพักแรม หรือจอดรถรอรับลูกหลาน ในงานรับปริญญา ได้สบายๆ แต่อย่า
ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ด้วยการ ติดม่านรูดรอบคันเชียวละ! เดี๋ยวผู้คนเขาจะเข้าใจผิด!

(นายแบบ คือ ตาเคี้ยง อดีตเจ้าของร้านล้างรถ Wash Planet ย่านพระราม 4 ที่ปิดไปแล้ว เพราะ
เจ้าตัวจะเอาเวลา มาเลี้ยงลูกสาวที่เพิ่งเกิดไม่กี่เดือนนี้เอง)

ทันทีที่เปิดประตูรถขึ้นมานั่งขับ ก็เห็นแผงหน้าปัดที่คุ้นเคย

ใช่ครับ Ertiga ดูเหมือนว่าจะใช้แผงหน้าปัดเดียวกับ Swift ใหม่ ยกชุดยกมาทั้งแผงเลยนั่นแหละ!
กระนั้นความแตกต่าง มันมีอยู่นิดหน่อยตรงที่ การเลือกใช้โทนสีเบจ ช่วยเพิ่มความหรู และเพิ่ม
ความสว่างไสวให้กับภายในห้องโดยสารของ Ertiga ได้อีก รวมทั้ง บริเวณช่องแอร์ฝั่งผู้โดยสาร
ด้านซ้าย ที่จะมีช่องวางแก้ว แบบเลื่อนพับเก็บได้มาให้อีกด้วย

แผงหน้าปัด และแผงประตูด้านข้าง ประดับด้วย Trim สีเงิน ซึ่งดูสอดคล้อง เหมาะสม และเข้าตู่
กันดีกับสีเบจที่พวกเขาเลือกใช้ แน่นอนว่า ดูลงตัวกว่าการเลือกใช้ลายไม้ ไม่ว่าจะเป็นแบบด้าน
หรือแบบเงา ก็ตาม

ถุงลมนิรภัย เป็นแบบ Single-Stage ติดตั้งมาให้ ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร รวม 2 ใบ มีเฉพาะ
รุ่น GX เกียร์อัตโนมัติ เพียงรุ่นย่อยเดียวเท่านั้น

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา ถ้าเป็นรุ่น GA ไฟส่องสว่างภายในเก๋ง ชุดหลัก จะย้ายไปอยู่กลาง
เพดานหลังคา แต่ในรุ่น GL และ GX ไฟชุดนี้ ไม่สามารถแยกฝั่งเปิด-ปิดได้ และจะย้ายมาติดตั้ง
ด้านหน้า ระหว่างแผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีกระจกแต่งหน้า แบบไม่มีฝาพับปิดมาให้เฉพาะฝั่ง
ผู้โดยสารด้านซ้ายเท่านั้น

ไล่จากฝั่งขวา มาด้านซ้าย กระจกมองข้าง ปรับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าอัตโนมัติ แต่ถ้าจะพับกระจก
มองข้าง อาจยังต้องใช้ระบบ อัตโนมือ ซึ่งอันที่จริง ในรุ่น GX อันเป็นรุ่น Top Model น่าจะให้
ระบบพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้ามาด้วยได้แล้ว

สวิชต์ควบคุมกระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีสวิชต์ล็อกกันเปิดหน้าต่างของผู้โดยสาร 3 บาน พร้อมระบบ
Central Lock ที่มี สวิชต์สั่งล็อก – ปลดล็อก กลอนประตูไฟฟ้า มีมาให้ครบ 4 บาน ทั้งในรุ่น GL
และ GX

นี่ก็เป็นอีกจุดหนุึ่งที่ต้องขอติติงกันละ ว่า ในเมื่อให้สวิชต์กระจกไฟฟ้าฝั่งคนขับเป็นแบบ
One-Touch ขาลง แล้ว ทำไมยังต้องดึงกระจกขึ้นด้วยนิ้วของผู้ขับขี่เองละ? ทำตัวเหมือนเจ้า
Swift ใหม่ เวอร์ชันไทย ไม่มีผิด!

อย่าลืมว่าประเทศไทย มันก็เหมือนกับอีกหลายประเทศ ที่มีทางด่วน และเราต้องลดกระจกลง
เพื่อจ่ายค่าผ่านทางอยู่บ่อยๆ การออกรถจากด่านเก็บเงิน โดยที่ยังต้องพะวงกับการหาที่เก็บ
เงินทอน แล้วยังจะต้องใช้นิ้ว ดึงสวิชต์ ยกกระจกขึ้นจนสุดนั้น เป็นเรื่องที่ ไม่ควรเกิดขึ้นใน
รถยนต์ที่ผลิตขาย ในสมัยนี้ได้แล้ว

แค่เพียงฟิวส์ ตัวเดียวเท่านั้นเอง มันคงไม่ทำให้ต้นทุนถึงกับเพิ่มขึ้นมากมายนักหรอกครับ
ในรุ่นปรับโฉมคราวต่อไป ใส่กระจกไฟฟ้าแบบ One-Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง ด้วยเถิด!

ในรถทั้ง 2 รุ่นที่เรานำมาทดลองขับนั้น ไม่มีปุ่มติดเครื่องยนต์มาให้ และการติดเครื่องยนต์
ก็ยังต้องใช้วิธี เสียบกุญแจเข้าไปบิด 3 จังหวะ เหมือนเดิม

พวงมาลัยของทั้งรุ่น GL และ GX ทำจากยูรีเทน สีเบจ ประดับด้วยสีเงิน สามารถปรับระดับ
สูง – ต่ำ ได้ 40 มิลลิเมตร แต่ปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ไม่ได้  รุ่น GX อันเป็นรุ่น Top
จะเป็นเพียงรุ่นเดียว ที่ตกแต่งด้วย Trim สีเงิน บริเวณก้านพวงมาลัย และติดตั้งสวิชต์ควบคุม
ชุดเครื่องเสียง Multi Function มาให้บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย

ส่วนรุ่นอื่น ไม่มีมาให้ และพวงมาลัยก็หุ้มด้วยยูรีเทน ธรรมดา กระนั้น ก็ให้สัมผัสที่ดีมาก
ไม่แตกต่างจากพวงมาลัยขอวง Swift เพียงแต่ว่า อาจจะเลอะเทอะคราบต่างๆง่ายขึ้นนิดนึง
ก็แค่นั้น

ก้านสวิชต์ระบบปัดน้ำฝน ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย มีระบบหน่วงเวลามาให้ แต่ไม่สามารถ
ตั้งเวลาให้หน่วงตามต้องการได้ ส่วนก้านสวิชต์ฝั่งขวา ยังคงเป็นที่อยู่ของตำแหน่งสวิชต์
ไฟหน้า ไฟสูง และไฟเลี้ยวตามปกติ แต่ที่น่าแปลกคือ ไฟตัดหมอกหน้า แทนที่จะจับรวบ
ไปอยู่ในก้านสวิชต์ กลับใช้วิธี ติดตั้ง แยกออกมาต่างหาก เป็นสวิชต์กดปุ่ม โดดๆ ใต้ช่อง
วางเศษธนบัตร เพื่อเตรียมขึ้นทางด่วน ใต้ช่องแอร์ ฝั่งผู้ขับขี่ ขวามือสุด

ชุดมาตรวัดบนแผงหน้าปัด ก็ยังคง ยกมาจาก Swift ใหม่กันทั้งดุ้น จัดวางตัวเลขในแบบ เรียง
ไปตามแนวโค้งวงกลม ซึ่งในมาตรวัดรอบ การแยกตัวเลขให้ห่างกันที่เห็นนี้ อาจจะพอช่วยให้
การมองเห็นในยามค่ำคืน ยังคงสะดวกดี แต่ตัวเลขในฝั่งมาตรวัดความเร็วนั้น ถ้าต้องอ่านใน
ตอนกลางคืน ค่อนข้างยาก และต้องละสายตาจากพื้นถนนข้างหน้านานกว่าปกติ เสี้ยววินาที

ความแตกต่างระหว่าง มาตรวัดของรุ่น GX เกียร์อัตโนมัติ GL เกียร์อัตโนมัติ และ GA เกียร์
ธรรมดา มี 2 จุด นั่นคือ ในรุ่น GX จะมีไฟเตือนระบบ ABS และไฟเตือน Airbag มาให้
เท่ากับว่า รุ่น GX จะเป็นเพียงรุ่นเดียว ที่ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน
ABS (Anti-Lock Braking System) กับถุงลมนิรภัยคู่หน้า มาให้ และหน้าจอแสดง
ข้อมูล MID (Multi Information Display) ยังมีการแสดงข้อมูลต่างกันนิดนึง

เพราะในรุ่น GX จะมีมาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ เพิ่มมาให้ ขณะที่รุ่น GL จะบอกตำแหน่ง
เกียร์แบบ Digital เพิ่มจากรุ่น GA มาให้ ขณะที่ทุกรุ่น ตั้งแต่ GA เกียร์ธรรมดา จะมีมาตรวัด
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real Time และแบบเฉลี่ย รวมทั้งปริมาณน้ำมันในถังที่เหลือ
พอให้รถแล่นต่อไปได้ ต้องกดแท่งสีดำ ฝั่งขวามือ มาให้เหมือนเช่น GL กับ GX

ส่วน Trip Meter สำหรับการวัดระยะทางโดยผู้ขับขี่ตั้งเองได้นั้น มีมาให้ทั้ง Trip A และ Trip B
แต่ต้องกดแท่งสีดำ ฝั่งซ้ายมือ ติดตั้งใกล้กัน

โทนสีที่ใช้ กลางวันจะเป็นตัวเลขสีขาว กลางคืน เมื่อเปิดไฟหน้าจะเป็นเหลืองอำพันบนพื้นดำ  
ซึ่งเชื่อว่า น่าจะช่วยให้สบายตาในการมองตอนกลางคืนมากขึ้น อ้อ มีเข็มวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น
มาให้ด้วยอีกต่างหาก! ของหายากในรถยนต์ยุคใหม่สมัยนี้ เรียกได้ว่า ชุดมาตรวัด ยกจาก Swift
ใหม่ มาทั้งดุ้นเลยจริงๆ

พื้นที่ใส่ของจุกจิกนั้น มีมาให้อยู่บ้าง ไม่ถึงกับมากนัก ลิ้นชักเก็บของ บริเวณผู้โดยสารฝั่งซ้าย
หน้าตาเหมือนใน Swift ใหม่ มีขนาดพอสำหรับการใส่คู่มือประจำรถ และเอกสารทะเบียน กับ
เอกสารกรมธรรม์ ประกันภัย และยังเหลือพอให้ใส่ข้าวของได้อีกนิดหน่อย ไม่มากนัก

ชุดเครื่องเสียง มีมาให้เฉพาะรุ่น GL และ GX เป็นวิทยุ AM/FM แบบ 2 DIN พร้อมเครื่องเล่น
CD / MP3 1 แผ่น และช่องเสียบ USB  พร้อมลำโพง 4 ชิ้น ในรุ่น GL (คู่หน้า และคู่หลัง ติดตั้ง
ณ แผงประตู ทั้ง 4 บาน) แต่ในรุ่น GX จะเพิมลำภโพงทวีตเตอร์ บนแผงหน้าปัดอีก 2 ชิ้น รวม
เป็น 6 ชิ้น เป็นแบบฝังในตัว ออกแบบให้กลมกลืนกับแผงหน้าปัด ที่สำคัญ พื้นผิวของหน้ากาก
วิทยุ จะสากอย่างจงใจ ให้เป็นสไตล์ Premium มากกว่าวิทยุของ Swift แต่สัมผัสจากปุ่มกดต่างๆ
ยังคงนุ่มและแน่น เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น

คุณภาพเสียง จัดอยูในเกณฑ์ดีใช้ได้ พอกันกับ ชุดเครื่องเสียงใน Swift ถือว่า ยอมรับได้ และถ้า
ไม่ใช่นักฟังหูทอง ก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงแต่อย่างใด แค่ปรับเสียงเบส
และเสียง ใส Trebal ให้ดันข้นไปที่เลข +6 ทั้ง 2 อย่าง ก็เรียบร้อย

เครื่องปรับอากาศ ด้านหน้า จะใช้แผงควบคุมเป็นแบบสวิชต์มือบิดธรรมดา การกระจายความเย็น
ถือว่าทำได้เร็วกำลังดี สมกับรถยนต์ที่ควรจะมีแอร์ เย็นทันใจในประเทศเขตร้อน ผมคิดว่า แอร์
ของ Ertiga จะเย็นเร็วทันใจกว่า Swift ในหลายกรณี โดยเฉพาะเมื่อจอดตากแดดไว้ ในสภาพ
อากาศกลางวันแสกๆ ด้วยซ้ำ ในบางครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง

ส่วนใต้ปลั๊กไฟ และช่องเสียบ USB จะมีช่องวางแก้วน้ำ ซึ่งเหมาะจะใส่เครื่องดื่มแบบกระป๋อง
หรือขวดน้ำ ขนาด 7 บาท เท่านั้น และใส่ได้เพียงแค่ ตำแหน่งเดียว หรือก็เอาไว้วาง โทรศัพท์
มือถือ หรือเครื่องเล่นเพลงแบบพกกา เพื่อเสียบชื่อมต่อกับปลั๊ก USB ไปเลย จะดีกว่า

นอกเหนือจากเครื่องปรับอากาศบนแผงหน้าปัดแล้ว หลายคนอาจเป็นห่วงว่า มันจะเย็นไม่พอ
เย็นไม่ทันใจ ในวันที่สภาพอากาศบนถนนในกรุงเทพมหานคร ร้อนอบอ้าวขึ้นมากว่าปกติ

Suzuki เขาทำการบ้านในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ดังนั้น ในรุ่น GL และ GX จะมีเครื่องปรับอากาศ
สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง (เป็นแบบ ไม่มี Heater ทำความร้อน) มาให้เสร็จสรรพ แน่นอนว่า
คราวนี้ ได้เย็นกันสาแก่ใจพระเดชพระคุณ ฯพณฯ ท่าน กันเลยทีเดียว (ผมลองแล้วครับ ยืนยัน
ว่า Ertiga หนาวมาก!)

ข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นเบรกมือ พร้อมแท่นติดตั้งต่อเนื่องยื่นมาจากชุด
แผงควบคุมกลาง เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ อันที่จริงแล้ว
น่าจะมีถาดวางของ หรือกล่องเก็บของอเนกประสงค์ และที่วางแขนสำหรับคนขับแบบพับ
เก็บได้ มาให้สักหน่อย

ทัศนวิสัยด้านหน้า มองเห็นสภาพการจราจรได้ในแบบเดียวกับ Minivan ทั่วๆไป ที่มีเสา
หลังคา A-Pillar ยื่นล้ำไปทางด้านหน้ามากกว่ารถเก๋งทั่วไปนิดนึง แต่ยังไม่มากน่าเกลียด
เท่ากับรถยนต์อีกหลายคันที่ผมเคยเจอมา

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา บดบังรถที่แล่นมาในเลนตรงข้าม ขณะเข้าโค้งขวา บนถนน
แบบ 2 เลนสวนกัน อย่างชัดเจน เสาหลังคาที่หนาขนาดนี้ และวางตำแหน่งเอาไว้แบบนี้ ก็คง
ต้องมีบดบังมุมมองกันบ้างละ ส่วนกระจกมองข้าง ถ้าปรับให้เห็นตัวถังน้อยๆ อย่างที่ผมทำ
จะพบว่า กรอบกระจกมองข้างด้านใน กินพื้นที่ฝั่งขวาสุดของตัวกระจก หายไปพอสมควร
และทำให้บางครั้ มองไม่เห็นรถคันที่กำลังจะตีคู่ขึ้นมาแซงทางฝั่งขวา

ไม่ใช่แค่นั้น แต่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้ายเอง ก็ยังบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่
คุณกำลังจะเลี้ยวกลับรถ บังกันแบบเต็มมิด ต้องขับเลื่อนไปข้างหน้าอีกนิด จึงจะเห็นรถที่
แล่นสวนมา ม่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย ปรับแล้ว จะเห็นทุกมุมของตัวรถพอดี กรอบของ
กระจกมองข้างด้านใน กินพื้นที่เข้ามาบดบังฝั่งซ้ายของกระจก เพียงนิดเดียวเท่านั้น

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น จัดอยู่ในเกณฑ์โปร่งใช้ได้ แต่เสาหลังคาคู่หลังสุด D-Pillar ยังแอบ
หนาไปนิดนึง จังทำให้พื้นที่การทองเห็น ถูกบดบังพอสมควร การเปลี่ยนเลนจากขวาไปซ้าย
หรือขับเบี่ยงเข้าช่องทางคู่ขนาน อาจต้องใช้ความระมัดระวังกันนิดนึง ด้วยการเหลือบมองไป
ทางด้านหลังฝั่งซ้ายเอง ก็จะช่วยได้

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังของ Ertiga เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน
รหัส K14B บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,373 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.0 x 82.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point
Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ ฝั่งไอดี VVT (Variable Valve
Timing)

ซึ่งจริงๆแล้ว เครื่องยนต์ K14B ก็คือ การนำเครื่องยนต์ K12B จาก Swift มาขยายช่วงชัก
เพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อเพิ่มความจุกระบอกสูบไปด้วยในตัวเท่านั้นเอง เป็นเครื่องยนต์ที่เพิ่งจะ
ออกสู่ตลาดครั้งแรกใน Swift รุ่นใหม่ สำหรับตลาดในบางประเทศ เช่น South Africa
แต่ถูกนำมาวางใน Ertiga เพื่อให้มีพละกำลังเพียงพอต่อการขับขี่ใช้งานในเมือง แต่
ต้องมีเรี่ยวแรงในการเร่งแซงขณะขับขี่ทางไกลด้วย

เครื่องยนต์รุ่นนี้ ไม่มี Airflow Sensorอย่าง Swift แต่จะมี Sensor วัดอุณหภูมิอากาศ ติดตั้งใน
ตำแหน่งเดียวกันแทน ส่วน Map Sensor ใช้ BOSCH Japan ขณะที่กล่อง ECU นั้น
หน้าตาคล้ายคลึงกับ กล่อง ECU ของ Swift มากๆ แถมยังติดตั้งบริเวณข้างแบ็ตเตอรี
เหมือนกันอีกต่างหาก เป็นกล่องที่ผลิตใน India

ตัวเลขจากโรงงาน ระบุว่า กำลังสูงสุด 95 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.24 กก.-ม. (130 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ที่มีอัตราทดเกียร์ แตกต่าง
ไปจากเกียร์ของ Swift แค่คันเกียร์ และ Shift Feeling หรือสัมผัสจากคันเกียร์ เหมือนกับ
คันเกียร์ของ Swift รุ่นเกียร์ธรรมดา เป๊ะ และช่วยเมความสนุกในการขับขี่ให้ผมได้มาก
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1               3.909
เกียร์ 2               2.043
เกียร์ 3               1.407
เกียร์ 4               1.064
เกียร์ 5               0.815
เกียร์ถอยหลัง        3.250
เฟืองท้าย             4.687

หรือ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อม Lock-up Torque Converter ที่เพิ่งจะเปิดตัวสู่ตลาดโลก
เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2013 มาหมาดๆนี่เอง อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1               2.875
เกียร์ 2               1.568
เกียร์ 3               1.000
เกียร์ 4               0.697
เกียร์ถอยหลัง        2.300
เฟืองท้าย            4.375

สมมรถนะจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น เรายังคงทำการทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งกันตาม
มาตรฐานดั้งเดิม คือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน และตัวเลขที่ได้
เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Toyota Avanza และ Honda Freed มีดังนี้

*ในตาราง Freed เกียร์ อัตโนมัติ 5 จังหวะนะครับ ไม่ใช่ CVT ผมพิมพ์ผิดครับ

ดูจากตารางแล้ว จะเห็นว่า อัตราเร่งของ Ertiga นั้น ในรุ่นเกียร์ธรรมดา ทำตัวเลขออกมาได้
ดีที่สุดในกลุ่ม Minivan 7 ที่นั่ง ขนาดเล็ก ราคาประหยัด ที่เราเคยทดลองขับกันมา แบบที่
ไม่ต้องสืบเสาะแสวงหาข้อมูลมาหักล้างกันอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อแนวโน้มที่ยอดขายส่วนใหญ่ น่าจะไปจบกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ดังนั้น
ความแตกต่างที่อยากให้คุณสังเกตไว้ก็คือ อัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น Ertiga
ทำตัวเลขอกมาได้ด้อยกว่า Avanza ราวๆ 0.2 วินาที และเร็วกว่า Honda Freed อยู่ 0.9 วินาที
หรือเกือบๆ 1 วินาที ซึ่งเหตุผลก็เพราะว่า เกียร์ 2 นั้น ตัดที่ความเร็ว 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ
พอเข้าเกียร์ 3 เป็นจังหวะที่รอบเครื่องยนต์ หล่นลงไปพอดี ทำให้เสียจังหวะทำความเร็วไป
นิดนึง

ส่วนช่วงเร่งแซง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ก็ด้วยเหตุที่ Ertiga ไปเสียจังหวะช่วงเปลี่ยน
เป็นเกียร์ 3 รอบเครื่องยนต์จากที่ลากกันอยู่ 6,000 รอบ/นาที ตัดเปลี่ยนให้ต้องมาเริ่มลากจาก
3,800 รอบ/นาทีกันใหม่ เหมือนเสียจังหวะในช่วงนี้ไปหน่อย มิเช่นนั้น ตัวเลขคงจะออกมา
ดีกว่านี้ กระนั้น ยังไงๆ งานนี้ Suzuki ก็ยังเอาชนะ Honda Freed ในเกมนี้ได้ และด้อยกว่า
Avanza ราวๆ เพียง 0.05 วินาที เท่านั้น ในค่าเฉลี่ยที่หารออกมา

ส่วนตัวเลขความเร็วสูงสุดนั้น ผมบันทึกภาพไว้แค่ตอนทดลองครั้งแรก แต่ในภายหลัง เมื่อมี
เหตุให้ต้องทดลองกันอีกครั้งหนึ่ง จึงได้พบว่า ถ้าแช่กันยาวๆ และกระแสลมไม่เป็นอุปสรรค
รุ่นเกียร์ธรรมดา จะทำตัวเลขได้ถึง 181 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ ปาเข้าไป 5,900
รอบ/นาที ที่เกียร์ 5 ซึ่งทั้ง 2 รุ่น ก็ต้องเหยียบกันยาวเอาเรื่องกว่าจะที่เข็มบนมาตรวัดจะชี้ที่
ตำแหน่งนี้  

และอย่างที่ต้องเตือนกันไว้เสมอครับ ไม่ขอแนะนำให้ทำการทดลองเองเด็ดขาด นอกจากจะ
ผิดกฎหมายแล้ว ยังอันตรายต่อชีวิตของคุณผู้อ่านอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ความจริง
เพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ไม่ใช่เพื่อเอาความ
คะนองเข้าว่า มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้

ต้องยอมรับว่า Suzuki ตัดสินใจได้ถูกต้อง ที่ส่ง รถรุ่นเกียร์ธรรมดา มาให้เราทดลองขับกันก่อน
ทำให้เราได้เห็นความจริงว่า อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ K14B 1.4 ลิตร มันไม่ได้อืดอาดเลย แถม
ตรงกันข้าม มันกระฉับกระเฉงสมตัว มากกว่าที่คิด และแรงบิด 130 นิวตันเมตร ที่มีมาให้เรียก
ใช้งานนั้น ถือว่า เพียงพอสำหรับการขับขี่เดินทางไกลตามต่างจังหวัด

ยิ่งพอได้เชื่อมกับเกียร์ธรรมดา ที่เซ็ตอัตราทดเกียร์มาค่อนข้างจัดจ้าน ถึงขั้นที่ว่า ขับอยู่ที่เกียร์
5 รอบเครื่องยนต์ยังสูงอยู่จนเลอไปนึกว่า ยังเข้าเกียร์ 4 อยู่ เผลอจะไปสับเกียร์ขึ้นหน้าตาเฉย!

ช่วงจังหวะที่คุณจะพบว่า แรงบิดไหลลื่นต่อเนื่อง พร้อมให้คุณเรียกใช้ได้ทันท่วงที คือช่วงตั้งแต่
3,000 – 5,000 รอบ/นาที ถ้าอยู่ที่เกียร์ 3 แค่แตะคันเร่งลงไป ไม่ต้องถึงครึ่งหนึ่งหรอกครับ เอาแค่
40% ของระยะเหยียบทั้งหมดก็พอ Ertiga เกียร์ธรรมดา จะพาคุณทะยานรูด พุ่งปรู๊ด แซงบรรดา
รถคันอื่นๆ ไปอย่างง่ายดาย พอถึงรอบเครืองยนต์ 6,300 รอบ/นาที กล่อง ECU จะตัด เพื่อไม่ให้
เครื่องยนต์ต้องลากรอบจนเกินจำเป็น และก่อความเสียหายกับไส้ในของตัวเครื่อง ช่วงเกียร์ 3 จะ
หมดลง ที่ความเร็ว 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจังหวะนั้น ต่อให้คุณสับเปลี่ยนขึ้นเป็นเกียร์ 4 ไป
รอบเครื่องยนต์ ก็จะตกลงมาเพียงนิดเดีย และก็ยังอยู่ในช่วง 3,000 รอบ/นาที คุณยังสามารถกด
คันเร่งไล่ความเร็วขึ้นไปได้ต่อ จนสุดเกียร์ 4 ที่ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ตามเข็มวัดความเร็วบน
มาตรวัด) แต่พอเข้าเกียร์ 5 ในเมื่อ อัตราทดเกียร์ มันต่ำกว่า 1.000 : 1 แล้ว ดังนั้น การเร่งแซง
ในช่วงเกียร์ 5 ก็จะเรื่อยๆ ธรรมดา ไม่หวือหวาแล้ว ในจุดนี้ ถ้าอยากแซงรถคันใดที่เกียร์ 5 ไม่ว่าจะ
เป็นช่วงความเร็วเท่าไหร่ เหยียบคันเร่งเต็มมิดตีนขวาไว้ ปล่อยให้ Ertiga พาคุณพุ่งแซงรถยนต์
คันอื่นๆรอบข้างได้ โดยเหลือทิ้งไว้แค่สายตางุนงงจากรถคันอื่นๆ ว่า “ไอ้รถตู้ คันเนี้ย ทำไมมัน
แรงอย่างนี้ มันจะรีบไป……ที่ไหนของมันวะ? “

อันที่จริง ผมก็แอบก่อวีรกรรมนิดหน่อยกับ Ertiga รุ่นเกียร์ธรรมดา ในคืนที่เราถ่ายทำคลิปสำหรับ
Youtube เสร็จ ผมกับตาแพน Commander CHENG น้องบอม Rhino Mango และคุณเคี้ยง
เพื่อนในกลุ่มของเรา เดินทางกลับบ้าน บนทางด่วนช่วงพระราม 6 ใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่่วโมง

ทันใดนั้น Mercedes-Benz W124 ใส่ล้อ 17 นิ้ว สีน้ำเงินหรือเขียวเข้ม ผมจำไม่ได้แน่ชัด กำลัง
จะแซงเราขึ้นไปทางเลนกลาง ทั้งที่ตอนนั้น ด้านหน้าผมในเลนขวา โล่งมาก และรถด้านหลัง
ที่ตามมาก็ไม่มีเลย ปรากฎว่า W124 คันนี้ โดนรถจากเลนซ้ายที่พึ่งขึ้นทางด่วนมาจาก ด่าน อตก.
เบียดเข้ามา W124 จึงต้องมาเบียดผมอีกต่อหนึ่ง ก่อนที่ตนเองจะฉีกแซงขึ้นไป

ตอนแรก ก็ว่าจะปล่อยๆ เขาไป ไม่ยุ่งด้วย แต่พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง ขับได้แว๊นเหลือเกิน
ขนาดอยู่ข้างหน้าผม ยังแอบมี คร่อมเลน ซ้ายที ขวาที เป็นพวกเจ้าชู้ทางช่องจราจร

ผมตัดสินใจสับเปลี่ยนจากเกียร์ 5 ลงเกียร์ 4 แล้วเหยียบเต็มมิด พา Ertiga เกียร์ธรรมดา
พยายามไล่ตาม W124 คันนั้น  ซึ่งก็ถือว่า ใช้ความพยายามพอสมควร พอไล่ตามกวดได้อยู่
แต่คงไม่อาจไล่ชิดไปได้มากกว่านี้แน่ๆ เพราะความแรงของ Ertiga สู้ W124 ไม่น่าได้
หากวัดกันแค่โหงวเฮ้งของรถเพียวๆ

พอถึงทางโค้งขวา เหนือคลองประปาสามเสน มุ่งหน้าไปบางโคล่ ผมตบไฟเลี้ยวซ้าย แล้วฉีก
แซงออกมาทางเลนซ้าย เหยียบเต็มมิด พา เจ้าหนูเผือก แซงโค้งวงนอก และ W124 คันนั้น
ก็ต้องใช้เวลาอีกแป๊บนึง ในการไล่ตามผมมา เพื่อจะแซงเอาคืน ในช่วงทางลงยมราช

แต่สุดท้าย W124 คันนี้ หนีผมไม่ออก ซึ่งก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน จังหวะนั้น Captiva ป้ายแดง
สีขาว เบี่ยงออกมายังเลนขวา จะแซงรถจากเลนกลางพอดี W124 พุ่งเข้าไปเบรกชะลอ อยู่หลัง
เจ้า Captiva ที่ไม่ได้ดูตาม้าตาเรือนั่น

ผมจึงไล่จี้ตูดในแบบที่ปกติผมไม่ทำเด็ดขาด แต่เว้นระยะห่างไว้พอให้เบรกได้ถ้าต้องเหยียบ
เบรกกระทันหัน และ จี้ในระดับที่แค่พอให้ W124 คันข้างหน้า รู้ไว้ว่า ไอ้รถพ่อบ้าน ที่เขาขับ
เบียดมาสักครู่นี้ มันไม่ธรรมดา…

จังหวะนั้น พอมีช่วงจังหวะเปิดทางเลนซ้าย ผมก็ตบออกซ้ายอีก แล้วก็สับลงเกียร์ 3 ไล่ขึ้นไป
จนสุดเกียร์ 4 ก่อนจะตบด้วยเกียร์ 5  ปล่อย ให้ W124 ที่ตัดสินใจไล่กวดเรามา ถึงกับงง และเริ่ม
ทิ้งระยะถอยห่างจากเราไปเรื่อยๆ จนหายไปจากกระจกมองหลัง

ป่านนี้ W124 คันนั้น คงเหวอ ไม่เชื่อสายตาตนมั้งว่ารถพ่อบ้านเนี่ยแหละ ฉีกแซงรถเบนซ์แว๊นๆ
ของเขาได้!!

เหลือบลงมาดูมาตรวัดอีกที..ชิบหาย! 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง!!!  ถอนเท้าขวาจากคันเร่งเลยครับ!
กลับมาอยู่ใน Peaceful Driver Mode ทันที! เข้าโค้งขวาที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วลงทางด่วน
คลานกลับเข้าพระราม 3 ไปอย่างสงบเสงี่ยม

หรือจะเป็นอีกครั้งหนึ่งในคืนถัดมา ด้วยความบังเอิญ ที่ตัดสินใจ จะสั่งสอน Mazda BT-50 PRO
สีดำ ที่ทำสันดานระยำๆ ด้วยการมาไล่จี้ตูด เจ้าหนูเผือก ขณะที่ผมอยู่เลนขวา แซงหน้ารถคันที่อยู่
ในเลนกลาง และกำลังจะตบเข้าเลนซ้าย เพื่อหลบให้ BT-50 คันนี้แซงขึ้นไป

พอเห็นจากกระจกมองหลังว่า มาจี้ติด แบบ Bumper to Bumper ชนิดปราศจากบุพการีอบรมสั่งสอน
คะนองจัด Zoom Zoom เกินเหตุ เลยขอถือวิสาสะสั่งสอน สักรอบ ด้วย วิธี กดคันเร่ง “จมมิด” เพื่อ
หนีให้พ้นจากการตามติดของ BT-50 PRO สีดำคันนั้น

จากความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข็มความเร็วของเจ้า Ertiga เกียร์ธรรมดา ก็เริ่มไหลลื่นต่อเนื่อง
ไปเรื่อยๆ ตามกำลังเครื่องยนต์จะเค้นออกมาได้ BT-50 PRO  คันนั้น คงจะงง เหวอไปเลย ว่า เฮ้ย
ไอ้นี่มันบ้าเว้ย เป็นรถขนผ้าอ้อมอยู่ดีๆ อยากหาที่ตายมั้ง ว่าแล้ว BT-50 PRO สีดำคันนั้นก็พยายาม
ไล่ตามมา เผลอแป๊บเดียว เข็มความเร็วของผมอยุ่ที่ 181 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นความเร็วสูงสุด
ของรถคันสีขาวเผือกนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Ertiga สีขาวเผือก พร้อมชุดแต่งแบบบ้านๆ ทิ้งช่วงจาก BT-50 PRO สีดำ “เดิมๆ”
คันนั้น ไม่เกิน 2 ช่วงคันรถแน่ๆ ว่าง่ายๆคือ หนีเขาไม่ออกนั่นแหละ..

แต่ BT-50 PRO สีดำคันนี้ ก็พยายามจะแซงขึ้นหน้า Ertiga ทว่า เขาก็แซงขึ้นมาไม่ได้เลยเช่นกัน!
ยื้อกันไว้แบบนี้ จนเจอคอสะพาน ทั้งคู่ จึงเริ่มชะลอลงมา เพราะเห็นแล้วว่า ไม่ต้องทำอะไรต่ออีก แค่นี้
ก็เพียงพอแล้ว และ BT-50 PRO คันนั้น ก็เป็นฝ่ายถอนคันเร่งก่อน ทิ้งช่วงห่างจาก Ertiga สีขาวเผือก
คันที่ผมขับ เราเริ่มชะลอรถลงมา ช้าลงเหลือราวๆ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงตามเดิม ก่อนจะแยกย้ายกันไป

ไม่ใช่แค่รุ่นเกียร์ธรรมดา แต่เหตุการณ์นี้ ก็เกิดขึ้นกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เช่นกัน ในคืนที่เราทดลอง
จับเวลาหาตัวเลขกันเสร็จ ผมกำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน มาตาม ถนนบางนา-ตราด ช่วงเที่ยงคืน มี
รถกระบะ Toyota Hilux Vigo ติดไฟ Daytime Running Light พร้อมไฟเลี้ยวสีเหลือง มาจี้ตูด
ตามสันดานเดิมของคนขับ จี้ติดบั้นท้ายทั้งที่เห็นอยู่ว่า ข้างหน้าผม มีรถเก๋งขับช้าแต่อยู่เลนขวา 1 คัน
แถม ข้างหน้ารถคันนี้ โล่งมากกกก แต่พี่แกวิ่งแค่ ราวๆ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฝั่งซ้ายของผม มีรถเก๋ง
สีแดง ขวางอยู่ อีก 1 คัน จนผมกระดิกไปไหนไม่ได้ และคราวนี้ Vigo เกรียนๆคันนั้น ก็จี้ตูดเจ้า
หนูทมิฬ (คันสีดำ) จนแทบอยากจะเปิดกระจก หันไปถามเลยว่า

“พ่อมึงเป็นโจร หรือยังไง จี้ตูดกูอยู่ได้!!”

ในใจตอนนั้น คิดอยู่ว่า จะแตะเบรกเบาๆ ให้ตกใจ กระทืบเบรกจนรถหมุนเป็นลูกข่างเล่น
เหมือนที่ผมเคยทำมาแล้ว เมื่อหลายปีก่อน ดีไหม?

นึกไปนึกมา..อย่าทำเลย ได้ไม่คุ้มเสีย นี่ก็ไม่ใช่รถของเราด้วยเถอะ ยืมเขามาก็ควรจะขับให้ดีๆ
ระวังๆหน่อย…งั้น..สั่งสอนด้วยบทเรียนแบบ พอเหมาะละกันเนาะ….

พอรถคันข้างหน้าผม หลบซ้าย ผมก็กระทืบคันเร่ง จมมิด! ดัง “ป้าก!”

เท่านั้นแหละ เกียร์อัตโนมัติ ก็รีบตบเปลี่ยนลงสู่เกียร์ 2 ลากรอบไปที่ 6,000 รอบ/นาที ก่อนจะ
เปลี่ยนมาเป็นเกียร์ 3 ลากให้ Ertiga สีดำ ทะยานขึ้นไปข้างหน้า และปล่อยให้ Vigo คันนั้น
เหวออ้าปากค้างอยู่ข้างหลัง คราวนี้ พี่ท่าน ไม่เหยียบตามผมมาอีกเลย! จนหายวับลับกระจก
มองหลังไปไหนก็ไม่รู้…ผมกลับมามองเข็มความเร็วอีกที…เฮ้ย! 160 แล้วเหรอ! ถอนๆๆๆๆ
กลับมาขับอยู่ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามเดิม

คำพูดของ ตา จอร์จ จากอู่ Gettuned มิตรสหายของเราที่รับจูน ECU ของรถโมดิฟายอยู่ ผุดขึ้นมา
ในหัวของผมอีกครั้ง

“ถ้ากูขับ รถแต่ง ECO Car หรือว่า รถโมดิฟายบ้านๆ เครื่อง 1.6 ลิตร แล้วจู่ๆ เจอไอ้หนูยักษ์นี่
มันแซงลิ่วปลิวหายไปต่อหน้าต่อตา อย่างที่มึงทำอยู่นี้ กูว่า กลับบ้านไป มีนอนไม่หลับแน่ๆ!”

จอร์จ พูดกับผม ในวันส่งคืนเจ้า Swift 1.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา ที่ติดตั้งกล่อง UNICHIP ที่จอร์จ
ส่งมาให้ผมลองเอากลับมาขับเล่นดู และจอร์จ คือหนึ่งในคนที่ผม ตั้งใจให้ลองมานั่ง Ertiga
ใหม่ มาสัมผัสประสบการณ์จากอัตราเร่งช่วงกลางและปลาย แบบ แอบโหด ของรถ พร้อมกับผม

ผมเชื่อว่า Ertiga เกียร์ธรรมดา เดิมๆ มันแรงพอตัว ด้วยอัตราทดเกียร์อันจัดจ้านของมันนั่นละ
แต่ สถานการณ์ที่เล่าไปข้างต้น จะไม่เกิดขึ้นกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแน่ๆ เพียงแต่ว่า
ความเป็นจริงที่ออกมา ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดไว้เลย

อันที่จริง ผมคาดหวังเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนที่รถจะเปิดตัวในอินเดียแล้วว่า เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร
พละกำลังที่ระดับ 95 แรงม้า (PS) หากเชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแล้วละก็ อย่าหวัง
ว่าจะเห็นตัวเลขอัตราเร่งสวยหรู อย่าหวังว่าจะเจอการตอบสนองที่ฉับไว มันอืดอาดแน่ๆ

ในความเป็นจริง…กลับกลายเป็นว่า นอกจากอัตราเร่งที่ต่างกันแค่ 1 วินาที ในแต่ละเกม
และการตอบสนองในช่วงออกตัวที่อาจจะแอบช้ากว่ากันนิดหน่อยแล้ว ที่เหลือ ในช่วง
ตั้งแต่ 4,500 – 6,000 รอบ/นาที ทุกอย่าง เหมือนกันเปี๊ยบ! ทั้งเสียง แรงดึง และเข็มวัด
ความเร็วที่ค่อยๆกวาดขึ้นช้าๆ แต่ก็ต่อเนื่อง แรงดีไม่มีตก!

สรุปว่า เกียร์อัตโนมัติ แรงอย่างสมเหตุสมผล ด้อยกว่าเกียร์ธรรมดา แค่วินาทีเดียว และ
ไม่ได้ด้อยกว่ากัน มากอย่างที่วิตกกังวลกันไปก่อนหน้านี้เลย! ไม่เลว ครับ ไม่เลว

ถือว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ แรงพอกันกับ Avanza ทั้งที่ Ertiga มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กกว่ากัน
นิดนึง แรงม้าน้อยกว่านิดเดียว

อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกกันไว้ตรงนี้ว่า สิ่งที่อ่านมาทั้งหมดนี้ เป็นประสบการณ์ที่ผม
กับผู้คนรอบข้าง ได้พบเจอใน Ertiga ใหม่ ต่างช่วงเวลากัน เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
และต้องหมายเหตุกันไว้ตรงนี้ว่า คุณกำลังอ่านรีวิวของ Minivan 7 ที่นั่ง สำหรับพ่อบ้าน
ไม่ใช่รถเก๋ง Sport Compact Hi-Performance แต่อย่างใด

เพราะยังไงๆ ตัวเลขอัตราเร่ง ของ Vigo และ BT-50 PRO ที่เราเคยทำการทดลองไว้
บอกชัดเจนว่า Ertiga ทำอะไรทั้ง 2 คันนี้ ในช่วงออกตัวไม่ได้ง่ายๆ เว้นแต่ว่าเป็นรุ่น
เกียร์ธรรมดา และ คนขับชิงออกตัวก่อน ในช่วงเสี้ยววินาที นั่นละพอมีลุ้น

ดังนั้น ความแรงของ Ertiga ถือว่า อยู่ในระดับ ธรรมดา แต่ แอบจี๊ดจ๊าด หลังจาก
4,000 รอบ/นาที ขึ้นไป ต้องเขียนย้ำไว้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดครับ

การเก็บเสียงในช่วงความเร็วปกติ ทำได้ดี ห้องโดยสารเงียบกว่าที่คิดไว้  เสียงกระแสลมยัง
ไม่เริ่มดังเท่าที่ควร จนกว่าคุณจะเริ่มใช้ความเร็วเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นเท่ากับว่า
คุณจะต้องเริ่มลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไป ไต่ที่ระดับเกินกว่า 3,000 รอบ/นาที ซึ่งจะทำให้
คุณเริ่มได้ยินเสียงครางของเครื่องยนต์ในรอบปานกลาง และรอบสูง ดังลอดเข้ามายัง
ห้องโดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วที่มากขึ้น แต่แปลกว่า เสียงกระแสลมที่ไหลผ่าน
ตัวรถ กลับไม่ได้ดังมากอย่างที่คิดไว้แต่แรก

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบไฟฟ้า EPS
(Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ถึงจะดูเหมือนว่าน่าจะยกชุดมาจาก
Swift ใหม่ แต่ความจริงแล้ว พวงมาลัยของ Ertiga ภาพรวมถือว่า ตอบสนองได้ “ไวไปหน่อย”

ในช่วงความเร็วต่ำ ตั้งแต่รถหยุดนิ่ง จนถึงระดับคลานช้าๆ ความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไม่ว่าจะหยุดรถนิ่ง แล้วหมุนพวงมาลัย เพื่อถอยรถเข้าจอด หรือหักหลบจักรยานยนต์ กับแม่ค้า
ขายส้มตำ ในตรอกซอย จริงอยู่ว่า พวงมาลัยมีน้ำหนักเบากำลังดี คล้ายพวงมาลัย Swift มากๆ
ให้ความแม่นยำ และคล่องแคล่ว บังคับทิศทางง่ายดาย ชนิดที่แทบไม่ต้องปรับแก้อะไรในจุดนี้

แต่หลังจากพ้นความเร็ว ช่วง 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป คุณจะสัมผัสได้ว่า น้ำหนักพวงมาลัย
มันต่างจาก Swift ชัดเจน พวงมาลัยยังคงมีอัตราทดที่พอกันกับช่วงความเร็วต่ำ นั่นหมายความว่า
พวงมาลัยจะยังค่อนข้างไว ดังนั้น ในช่วงความเร็วสูง จึงอาจต้องใช้สมาธิในการควบคุมรถเพิ่ม
มากขึ้นเล็กน้อย การเปลี่ยนเลนกระทันหันคือสิ่งที่คุณควรจะใช้ความระมัดระวัง อาจไม่ถึงขั้น
น่ากลัว อย่าง Toyota Avanza หรือ Honda Freed แต่ Ertiga ก็ยังไม่ใช่พวงมาลัยที่เอื้อ
ในการพาคุณมุดลัดเลาะบนทางด่วนด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างใน Swift นัก

จริงอยู่ว่า แม้จะเทียบกับ Toyota Avanza และ Honda Freed แล้ว พวงมาลัยของ Ertiga
แม่นยำ และบังคับเลี้ยวได้เฉียบคมมากที่สุด แต่น้ำหนักของมันในช่วงความเร็วสูง ค่อนข้างเบา 
แถมยังไวไปหน่อย พวงมาลัยแบบนี้ เหมาะกับรถอย่าง Suzuki Swift หรือรถยนต์ในแนวขับสนุก
แต่มันไม่เหมาะนัก กับรถยนต์ครอบครัวอย่าง Ertiga

สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ การปรับปรุงให้พวงมาลัย ลดความไวลงกว่าเดิม และเพิ่มความหนืด
เพิ่มความหนัก ในช่วงที่ใช้ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงขึ้น อีกทั้งปรับการตอบสนองระหว่าง
บังคับทิศทางตรงๆ ให้ลดอาการ Lag ในช่วงระยะฟรี ที่ทำให้สัมผัสได้ว่าเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า
ลงกว่านี้ เพิ่มความ Linear ในจังหวะการเลี้ยว เข้าโค้ง เพิ่มขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่ว่า หมุนพวงมาลัย
ไป 30 องศา รถเลี้ยวในระดับหนึ่ง แต่พอเติมการเลี้ยวพวงมาลัยเข้าไปอีก ไม่กี่มิลลิเมตร กลับ
กลายเป็นว่า พวงมาลัยแอบเลี้ยวเข้าโค้งมากกว่าที่ผมต้องการไปนิดนึง

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็น
แบบทอร์ชันบีม คอยล์สปริง ถูกปรับเซตมาในแนว “นุ่ม แต่แอบหนึบเล็กๆ ” ดังนั้น ใครที่
อยากได้ความนุ่มสบาย และมั่นใจในระดับพอประมาณ สมราคาละก็ คุณจะไม่ผิดหวังแน่ๆ

เพราะขณะขับขี่ในเมือง การซับแรงสะเทือน หลุมบ่อ ลูกระนาดต่างๆนั้น ทำได้ดี ไม่ค่อย
เหลือความตึงตังให้ได้พบอย่างที่เรามักพบในรถยนต์ญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆในระยะหลังๆ

เร่งระดับความเร็วขึ้นมาอีกนิด การขับขี่บนทางด่วนนั้น ถ้าใช้ความเร็วในระดับไม่เกิน
140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจะมีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง แต่ Ertiga จะโคลงนิดๆ เบาๆ
ไม่เบนซ้ายส่ายขวาจนน่ากลัวแต่อย่างใด แต่ถ้าไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้างแล้วละก็
Ertiga ค่อนข้างนิ่ง และไว้ใจได้บนทางด่วน ถ้าจะพาเข้าโค้งรูปเคียวขวา เหนือย่าน
บึงมักกะสัน ก่อนจะตรงมาเข้าโค้งซ้าย หน้าโรงแรมเมอเคียว เพื่อเข้าเชื่อมกับทางด่วน
ขั้นแรก คุรจะใช้ความเร็วในแต่ละโค้งได้ในระดับ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง แบบพอไหว
ยาง GT Radial Champiro ECO พยายามจะยึดเกาะถนนให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะทำได้
อาจไม่เท่ากับ ยางรุ่น Champiro ใน Proton Preve แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมากเมื่อต้อง
เข้าโค้งหนักๆแบบนี้ โดยส่วนใหญ่ โค้งยาวๆ บนทางด่วนขั้นที่ 1 หรือ ขั้นที่ 2 จะ
ใช้ควาเมร็วได้ไม่ควรเกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยกเว้น ทางโค้งจากสนามบินสุวรรภูมิ
บนสะพานข้ามแยก เป็นทางโค้งเข้าขวาสู่ถนนบางนา-ตราด โค้งนั้ ผมใส่เข้าไปที่
90 กิโลเมตร/ชั่วโมง สบายๆ แต่ไม่ควรเกินกว่านี้

แล้วถ้าความเร็วที่สูงกว่านี้ละ? ถ้าวิ่งกันระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไม่มีกระแสลม
ปะทะด้านข้าง ก็ยังถือว่า นิ่งในระดับหนึ่งครับ แต่รถจะพยายามซับแรงสะเทือนจากพื้นถนน
ให้คุณ จนทำให้รู้สึกไปว่า รถแอบโคลงนิดๆ ทั้งที่จริงแล้ว มันเป็นอาการที่เกิดขึ้นไปตาม
สภาพพื้นถนน ก็ขับดีๆ ละกันครับ ท่องเอาไว้ว่า คุณกำลังขับรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง
และขอให้เบรกชะลอ สักหน่อย เมื่อเจอคอสะพาน จริงอยู่ว่าปกติแล้ว รถยังพอจะนิ่งได้อยู่

แต่ถ้าเร็วมากๆ แล้วเจอคอสะพาน เช่นบนถนนกาญจนาภิเษก ช่วงบางนา- อ่อนนุช
ซึ่งจะมีคอสะพาน 3 แห่ง บั้นท้ายก็จะเริ่มส่ายเล็กๆ พยายามถือพวงมาลัยตรงๆ นิ่งๆ
บังคับเลี้ยงรถไว้ให้ดีๆ ก็จะรอดพ้นสถานการณ์นั้นมาได้ อย่างสบายๆ

สรุปเรื่องช่วงล่างก็คือ มั่นใจได้ในระดับหนึ่ง จริงอยู่ ผมยืนยันได้ว่า ระบบกันสะเทือน
ของ Ertiga เซ็ตมาได้ลงตัวดีกว่าคู่แข่ง เมื่อเทียบกับ Toyota Avanza , Toyota 
Innova และ Honda Freed แต่ ก็ยังต้อง รอดูว่า คู่แข่งหน้าใหม่ อย่าง Chevrolet
Spin จะเซ็ตช่วงล่างมาอย่างไรบ้าง?

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็กทั่วไป คือ ดิสก์เบรกแบบมีรูระบาย
ความร้อน ที่คู่หน้า ส่วนคู่หลัง เป็นดรัมเบรก เฉพาะรุ่น GX เท่านั้น ที่จะมีระบบป้องกัน
ล้อล็อก ขระเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) พร้อมระบบกระจายแรง
เบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) มาให้จากโรงงาน
การตอบสนองของแป้นเบรก ยังคงทำได้ดี ไม่ได้แตกต่างไปจาก Swift มากนัก การขับขี่
ในเมือง ยังสามารถ เลี้ยงแป้นเบรก ให้ชะลอรถและหยุดลงได้อย่างนุ่มนวล โดยไม่มี
อาการสะดุด ส่วนในช่วงความเร็วสูงนั้น ถ้านั่งกัน 2 คน ก็ถือว่าหน่วงความเร็วลงมาได้ดี
ใช้ได้เลย กระนั้น การเหยียบเบรกกระทันหันด้วยการ เหยียบลงไปบนแป้นเบรก เกิน
60% อาจต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึง เพราะโอกาสที่รถจะถ่ายน้ำหนักมาไม่ทัน และ
เสียการทรงตัว ก็ยังพอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

แต่ถ้านั่งกันหลายๆคน เมื่อไหร่ ขอแนะนำว่า เผื่อระยะเบรกให้ห่่างจากรถคันข้างหน้า
ทิ้งไว้อีกสักหน่อยจะมั่นใจกว่า และลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้มากกว่าครับ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในเมื่อ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Swift อยู่ในระดับ 17.1 – 18.05 กิโลเมตร/ลิตร คำถามคือ
ถ้าเพิ่มขนาดความจุกระบอกสูบของเครื่องยนต์ให้ใหญ่ขึ้นเป็น 1.4 ลิตร และเพิ่มตัวถังให้มี
ความยาวมากขึ้น เท่ากับว่า น้ำหนักรถต้องมากขึ้น แล้วทีนี้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงละ? จะ
กินน้ำมันเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน?

เราจึงนำ Ertiga ทั้ง 2 รุ่น มาทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ด้วยวิธีการดั้งเดิม
นั่นคือ เติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ใกล้กับ
สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ให้เต็มถัง

แน่นอนว่า ในเมื่อ Ertiga เป็นรถยนต์ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม ซึ่งมีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2.0 ลิตร และมี
ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท  ดังนั้น กลุ่มลูกค้า จะสนใจในอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มากเป็นพิเศษ
ดังนั้น เราจึงทำการทดลอง โดย ใช้วิธีการ เติมไป เขย่ารถไป อัดกรอกน้ำมันลงไปให้เอ่อขึ้นมา
จนถึงปากคอถังอย่างที่เห็น เพื่อให้เต็มถังจริงๆ ไม่มีอากาศในถังเหลืออยู่ ต้องแทนที่ด้วยน้ำมัน
จนหมดสิ้น ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งในฐานะสักขีพยาน และผู้ช่วยของผมในการทดลอง ยังคง
เป็น นายโจ๊ก V10ThLnD จาก The Coup Team ของเรา เช่นเคย

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ ออกรถ บนถนนพหลโยธิน เพื่อ
ไปเลี้ยวกลับ หน้าปากซอยอารีสัมพันธ์ ก่อนจะตรงมาอีกเล็กน้อย เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะ
ไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 6 แล้วเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน จ่ายเงิน
ผ่านด่านประชาชื่น แล้วขับตรงยาวๆ ผ่าน เชียงรากไปจนถึงปลายสุดด่านบางปะอิน จากนั้น
เลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม

ตลอดเส้นทาง ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม ที่เรา
ยึดถือกันมาช้านาน ทั้ง 2 คัน

ลงทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน อีกครั้ง เลี้ยวกลับที่หน้า
โชว์รูมเบนซ์ ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex
ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม เหมือนเช่นเคย

ในเมื่อครั้งแรก เติมน้ำมันแบบเขย่ารถไป ในช่วงทดลองเสร็จ ก็ต้องเติมน้ำมันแบบเขย่ากลับ
เช่นเดียวกัน เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าไปแทนที่อากาศในถังจนเต็มเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้เวลาอยู่
ราวๆ ครึ่งชั่วโมง – 40 นาที ต่อการเติมแบบขย่มรถ 1 ครั้ง

มาดูผลลัพธ์กันดีกว่า เริ่มจากรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ กันก่อน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 95.9  กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 เติมกลับ 6.84 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.02 กิโลเมตร/ลิตร

นับว่าไม่เลว จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลางค่อนข้างดีกว่าที่คิดนิดหน่อย เป็นธรรมดาของรถยนต์
เกียร์อัตโนมัติ ที่อาจมีการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนสูงกว่ารถยนต์เกียร์ธรรมดา ดังนั้น
ได้ตัวเลขเท่านี้ ถือว่าดีถมถืดแล้ว

ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา นั้น
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 95.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 เติมกลับ  6.29 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย  15.10 กิโลเมตร/ลิตร

ต่างกันราวๆ 1 กิโลเมตร/ลิตร กันเลยทีเดียว ก็ต้องถือว่า ตัวเลขทำได้ดีมากๆ เมื่อเปรียบเทียบ
กับคู่แข่งอีก 2 รุ่นที่เราเคยทำการทดลองมาแล้ว ก่อนหน้านี้

ชัดเจนครับว่า ยังไงๆ Ertiga ทั้ง 2 รุ่น ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ประหยัดกว่า Toyota
Avanza ใหม่แน่นอน แต่ เมื่อเทียบกับ Honda Freed แล้ว รุ่นเกียร์อัตโมัติ ของ Ertiga
จะกินน้ำมันกว่ากันนิดนึง ไม่มากนัก เลขทศนิยมห่างกันราวๆ ไม่เกิน 0.1 กิโลเมตร/ลิตร

และถ้าจะถามว่า น้ำมัน 1 ถังจะแล่นใช้งานไปได้นานแค่ไหน จากเท่าที่เราทดลองกันมา
น้ำมันครึ่งถัง ต่อให้คุณขับเหยียบๆ อัดๆ เจอรถติด ผสมเข้าไปด้วย เข็มน้ำมันจะหล่นลงมา
อยู่ที่ครึ่งหนึ่ง เมื่อเลขไมล์อยูี่ที่ราวๆ 290 – 300 กิโลเมตร และถ้าขับกันจนถึงขั้นไฟเตือน
น้ำมันหมด สว่างขึ้นมา ตัวเลข Trip Meter ก็จะปาเข้าไปราวๆ 450 กิโลเมตร ดังนั้น ถ้า
จะขับกันจนน้ำมันหมดถังไปเลย น่าจะทำได้ 500 กิโลเมตร แน่ๆ

********** สรุป **********
Swift 3 แถว 7 ที่นั่ง ที่แอบทำให้ กระบะบ้าพลัง ถึงกับเหวอ! 

ออกจะแปลกใจตัวเองอยู่สักหน่อยว่า การขับ Ertiga ไปไหนมาไหนนั้น แทบจะไม่มีใคร
สนใจปรายตามองเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ช่วงเวลาที่ผมพาเจ้าหนู ทั้ง 3 คัน สลับสับเปลี่ยน
หมุนเวียนกันมาใช้ชีวิตด้วยนั้น รวม 1 สัปดาห์เต็มนั้น ก็เป็นช่วงเวลานานถึง 1 เดือน ก่อน
การเปิดตัวออกสู่สายตาสาธารณชนและพร้อมทำตลาดจริง

คงเปรียบเหมือนกับผู้คนสมัยนี้ ที่มองสรรพสิ่ง และผู้คนรอบตัวของตน เพียงแค่เปลือกนอก
ใครสักกี่คนกันเชียว ที่จะมองลึกเข้าไปถึงเนื้อแท้ข้างใน ใครสักกี่คนกัน ที่จะมีนิสัย ดุจ รจนา
ที่พินิจ เพิ่งพิจารณาเจ้าเงาะ จนพบความดีข้างใน

ความดีที่มาจากการออกแบบรถคันนี้ อยู่บนโครงสร้างพื้นตัวถังของรถเก๋ง ขับล้อหน้า กัน
ตั้งแต่แรก ความดีที่มาจาก การออกแบบ Packaging ของตัวรถ ที่พยายามก้าวข้ามข้อจำกัด
ด้านขนาดตัวถัง จนได้ห้องโดยสาร ซึ่งพอจะนั่งเดินทางได้สบาย สำหรับ 7 คน แถมด้วย
คุณภาพวัสดุที่ ไม่ได้เลวร้าย แต่อย่างใด รวมทั้งช่วงล่างที่เซ็ตมาในแนวนุ่ม เอาใจทุกเพศ
ทุกวัย

เหนือสิ่งอื่นใด คือ อัตราเร่งที่เกินความคาดหมายไปนิดหน่อย

ก็ดู Suzuki เขาสิครับ เซ็ตอัตราทดเกียร์ธรรมดา ซะอย่างกับพร้อมจะให้เจ้าของารถ พาไป
แข่งที่สนามไหนงั้นแหละ! อัตราทดเกียร์แบบนี้ ถึงขั้นทำให้ ตาแพน Commander CHENG!
ของเรา หัวเราะแบบคนบ้า พร่ำบอกแต่ว่า “นี่มันอัตราทดรถซิ่ง Street ชัดๆ”
แถมเปลี่ยนชื่อรุ่นรถให้เสร็จสรรพจาก Suzuki ERTIGA เป็น  
—–> Suzuki EROTICA!!!!!

ฟังแล้ว แทบอยากเอา Neotica Palm มาทาถูๆ ให้หายขัดยอก จากการขำจนตกเก้าอี้!

แต่ถ้าคิดว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ คงอืดแน่ๆเลย ก้คงต้องบอกว่า ถ้าคุณรับได้กับ Avanza ใหม่
ที่เร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิม 2 วินาที ผมเชื่อว่า คุณน่าจะมีความสุขกับ รถที่ทำตัวเลขออกมาด้อย
กว่ากันแค่เพียงเศษเสี้ยววินาที แต่มีท็อปสปีดช่วงปลายมากกว่า แถมการใช้เวลาไต่ขึ้น
ไปจนถึงความเร็วระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่นานเท่า Avanza อีกทั้งยังประหยัด
น้ำมันกว่านิดหน่อย ที่แน่ๆ อัตราเร่งในช่วงปลาย ของทั้ง รุ่นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ
หลังพ้น 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเหยียบเต็มตีน ก็ช่วยให้รถ ทะยานไปข้างหน้า นานพอ
ที่จะปล่อยให้ ทั้ง Vigo และ BT-50 PRO  3.2 ลิตรสีดำ ที่มาจี้ตูดผมแบบทุเรศๆ ไร้
มารยาท ไร้มาดผู้ดี ได้หงายเงิบ อ้าปากค้างเหวอกันไปเลย

“Minivan บ้าอะไรวะเนี่ย! ขนาดกรูจะแซงที่ความเร็วสูงๆ กรูยังแซงมันไม่ได้เลยสักที!

ฟังดูแล้ว เหมือนว่า Ertiga เป็น Minivan 7 ที่นั่งราคาต่ำกว่า 9 แสนบาท ที่สมบูรณ์แบบ…
อันที่จริง มันก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสียทั้งหมดหรอกครับ มันยังมีเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงกันอีก
หลายรายการ

สิ่งที่ควรปรับปรุง หลักๆ แล้วจะอยู่ที่การปรับจูนน้ำหนักของพวงมาลัยให้หนืดขึ้นกว่านี้อีกนิดนึง
เพื่อให้ผู้ขับขี่ มั่นใจได้มากขึ้น ขณะควบคุมรถในช่วงความเร็วเกินกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ่นไป
ปรับการตอบสนองให้ Linear กว่านี้อีกหน่อย ลดความไว ของพวงมาลัยลงอีกนิด

อีกทั้ง ในรถคันทดลองขับ สีดำ ดูเหมือนว่า เวลาเลี้ยวพวงมาลัยฝั่งขวาจนสุด  จะมีเสียงดัง “แก๊ก”
ชัดเจนมาก บอกกันก่อนเลยว่า ทั้งคันสีขาว และคันสีน้ำตาล ที่นำมาลองขับ ไม่มีอาการดังกล่าวนี้
คาดว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะคัน ตามปกติ

ถ้าเป็นไปได้ ขอแนะนำว่า Suzuki Thailand ควรลองตรวจสอบรถยนต์สำเร็จรูป ที่ส่งมาจากอินโดฯ
กันก่อนจะส่งให้ลูกค้าทุกคัน ให้มากกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งับ Swift ล็อตแรก และ SX4 ก่อนหน้านี้ ถ้า
คันไหนที่มีโอกาสเกิดเสียง ก็ให้ตรวจเช็คแก้ไขหรือเปี่ยนอะไหล่ให้ลูกค้ากันไปเลย ก่อนที่จะส่ง
มอบรถ เพื่อความสบายใจของลูกค้าด้วยเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

หรือถ้าไม่สะดวก การเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วน ควรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะทำให้ลูกค้า สบายใจ
และมั่นใจกับแบรนด์ Suzuki ระยะยาว ต่อไป

อีกประการหนึ่ง การที่รถรุ่นเกียร์ธรรมดา ไม่มีระบบห้ามล้อ ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD
รวมทั้งถุงลมนิรภัยมาให้นั้น ผมมองว่าเป็นอีกข้อด้อยหนึ่ง ที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ผู้บริโภคควรมี
ทางเลือก ในรุ่นอย่าง GL หรือ GX เกียร์ธรรมดา ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้ง 2 รายการนี้
เพิ่มมาอีกสักรุ่นหนึ่ง เพราะแม้จะรู้ดีว่า ลูกค้าที่ซื้อรุ่นเกียร์ธรรมดา คงไม่เยอะนัก แต่อย่างน้อย ถ้า
มีให้เลือก ก็จะถือเป็นรายเดียวในตลาด ที่มีออพชันแบบนี้ให้กับลูกค้าที่อยากได้อรรถรสจากรถยนต์
เกียร์ธรรมดา

นอกนั้น ก็จะเป็นเรื่องของ ออพชัน ที่ยังดูเหมือนขาดบางสิ่งบางอย่างไป ไล่ฝ้าหลังน่าจะใส่มาให้
กันได้แล้ว เช่นเดียวกับ สวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้าฝั่งคนขับ แบบ One-Touch ขาลง ควรใส่มา
ให้ครบทั้งขาขึ้น และขาลงด้วย รวมทั้ง การติดตั้ง ที่วางแขน แบบ ยกพับได้ เหมือน captain Seat
สำหรับคนขับ เพื่อให้การขับขี่ในเมือง สบายขึ้น ติดให้เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติก็ได้ และกระจกมองข้าง
ควรจะมีระบบพับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ในรุ่นท็อป มาให้ได้แล้ว!

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัด Compact Minivan ในตอนนี้ละ?

Toyota Avanza คือโจทย์หมายเลข 1 ในสังเวียนนี้ วันนี้ แม้จะมีห้องโดยสารออกแบบใหม่
และมีภายในที่ดูดี งานประกอบเรียบร้อยกว่าเดิม นิดนึง จนกลายเป็นรถขนส่ง อากงอาม่า
ไปหาหมอ เข้าโรงพยาบาล ในเวอร์ชันที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งยังมีเบาะแถวกลางที่สามารถ
ยกค่ำไปข้างหน้า เพื่อให้การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 ทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อ
เทียบกับขนาดตัวรถ แต่สมรรถนะเครื่องยนต์นั้น อยู่ในระดับที่ดีกว่า Ertiga เกียร์อัตโนมัติ
แค่นิดเดียว ยิ่งอัตราเร่งแซงนั้น ต่างกันแค่ 0.05 วินาที แถมอัตราเร่งในช่วงปลายนั้น แผ่ว
กว่า Suzuki อย่างชัดเจน อีกทั้งยังประหยัดน้ำมัน สู้ Ertiga ไม่ได้ แถมยังต้องใช้สมาธิ
ในการขับขี่ทางไกล มากอยู่ดี แม้จะน้อยกว่ารุ่นก่อนนิดนึงก็ตาม

Honda Freed ข้อดีอยู่ที่ความโปร่งสบายของห้องโดยสาร การมีประตูบานเลื่อนไฟฟ้า
ช่วยเพิ่มความ “ไฮโซ” ให้กับตัวรถได้อีกมาก เบาะนั่งแถวกลางและหลัง ก็ถือว่านั่งได้
สบายพอสมควร เหมาะแก่การเดินทางไปไหนมาไหน ในเมืองอย่างมาก เพราะถ้า
ขับออกต่างจังหวัด อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย เนื่องจากตำแหน่งเบาะสูง
ช่วงล่างก็มาในแนวนุ่ม แถมพวงมาลัย ก็เซ็ตมาไวเท่า Honda Jazz คือหมายความว่า
เบาและไว ยิ่งกว่า Ertiga นิดหน่อยด้วยซ้ำ ทำให้การทรงตัวในย่านความเร็วเดินทาง
ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Proton Exora จนถึงวันที่รีวิวนี้ ออกเผยแพร่ ผมยังไม่เคยลองขับรถรุ่นนี้ เพียงแต่ว่า ถ้า
เป็นรุ่นเครื่อยนต์ Turbo แล้ว มีแนวโน้มที่ Ertiga จะโดนสอยร่วงในด้านอัตราเร่ง แหงๆ
แต่ถ้าอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ยังต้องรอการพิสูจน์ กระนั้น วัสดุชิ้นส่วนในห้องโดยสาร
ถือว่า ยังไม่อาจเทียบกับค่ายญี่ปุ่นทั้ง 3 ได้ในตอนนี้ แต่อนาคต รุ่นต่อไป ไม่แน่!

Chevrolet Spin จะเปิดตัวในงาน Bangkok International Motor Show ชนกับ
Ertiga กันแบบประสานงาบนปฏิทิน มีแนวโน้มว่า ช่วงล่าง อาจจะดีกว่า Ertiga นิดหน่อย
แต่ถ้าพละกำลังเครื่องยนต์นั้น มีแนวโน้มว่าอาจอืดกว่า Ertiga ด้วยซ้ำ ตอนนี้ ยังเร็ว
เกินไปที่จะออกความเห็นมากกว่านี้

แล้วถ้าตัดสินใจได้ว่า จะซื้อ Ertiga ละ? รุ่นย่อยไหน ถึงจะคุ้มค่าที่สุด?

แน่นอนครับ รุ่นท็อป GX ให้ข้าวของมาครบกว่ากันเยอะ ทั้งที่ความจริงแล้ว รุ่น GL ก็มีมา
ไม่น้อยหน้ารุ่น GX เพียงแต่ การไม่มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า กับระบบ ABS & EBD ทำให้
ความน่าสนใจของรุ่น GX กลับโดดเด่นเด้งขึ้นมาเป็นธรรมชาติ

ส่วนใครที่อยากได้เกียร์ธรรมดา ดูเหมือนทางเลือกที่ดีที่สุด คือรุ่น GA ซึ่งออพชันนั้น
ถุกตัดออกไปหลายรายการอยู่ เมื่อเทียบกับรุ่น GX ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเห็น รุ่น GL
เกียร์ธรรมดา เข้ามาขายดูบ้าง แต่ใส่ถุงลมนิรภัยมาสัก 1 ใบ คือฝั่งคนขับ เท่านี้ก็น่าจะ
ชวยกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มอยู่

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่บทความนี้คลอด Suzuki Motor Thailand ยังไม่ประกาศราคาขาย
ออกมาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ความคุ้มค่าในแต่ละรุ่นย่อยที่ผมสรุปให้ตอนนี้ จึงเป็น
เพียงแค่การสรุปจากอุปกรณ์มาตรฐาน ที่ทาง Suzuki ส่งมาให้ผมเป็นข้อมูลเท่านั้น

คาดว่าราคาขายปลีก น่าจะอยู่ในช่วง 7 แสน กลางๆ – 8 แสน บาท กลางๆ คงไม่อาจ
แตะขึ้นไปถึงระดับ 9 แสนบาท แน่ๆ เพราะเป้าหมายที่ Suzuki มองไว้คือ ตั้งใจจะ
แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด มาจาก Toyota Avanza ให้จงได้ ด้วยรถที่ดีกว่า สดใหม่
มากกว่า และสมรรถนะก็แอบดีกว่าในหลายประเด็น 

ส่วนตัวผมมองว่า ระดับราคา ของรุ่นท็อป ไม่ควรเกิน 890,000 บาท เพราะถ้าเกินเพดานนี้ไป
บอกเลยว่า ขายไม่ออกแน่ๆ เพราะจากสมรรถนะ และออพชันที่มีมาให้ ราคาที่ลูกค้าส่วนใหญ่
น่าจะยอมรับได้ ควรอยู่แถวๆ 700,000 – 850,000 บาท แต่ถ้าในวันเปิดตัว 19 มีนาคม นี้ ราคา
ป้วนเปี้ยนในช่วงที่ผมคาดการณ์ ก็ถือว่า ราคา เหมาะสมกับตัวรถในภาพรวมแล้ว

ผมเชื่อว่า Suzuki เอง ก็ทำการบ้านในเรื่องราคามาไม่น้อยเหมือนกัน และยังเชื่อว่าไม่น่าจะมา
ตกม้าตายน้ำตื้น เหมือนเช่นคู่แข่งรายอื่นเคยเจอบทเรียนมาแล้ว

หลังจากนี้ เราคงต้องมาดูกันต่อไป ว่า สถานการณ์ยอดขายของ Suzuki Ertiga จะ
สร้างประวัติศาสตร์ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับรถรุ่นนี้มาแล้วในอินโดนีเซีย
และอินเดีย มาแล้ว หรือไม่

ส่วนตัวผม มองไว้ว่า

“อาจไม่ได้บูม ถึงขนาด Swift ใหม่ แต่คงได้ใจลูกค้ากลุ่มครอบครัว ไปไม่น้อยแน่ๆ
และที่สำคัญ Avanza กับ Freed และ Exora เตรียมหนาว ส่วน Spin อาจจะเหนื่อย
กว่าที่คิด”

ผมเชื่ออย่างนั้น!

—————————///—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
Suzuki Motor (Thailand) Co.,ltd
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานต่างๆอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย ทั้งหมด
เป็นผลงานของผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศทั้งหมด เป็นของ Suzuki Motor Corporation.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
4 มีนาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 4th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! / CLICK HERE!