หลายคนยังคงมีความเชื่อว่ารถยนต์ที่เก่ากว่า อย่างไรก็แข็งกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ แต่ในวันนี้เราจะนำผลทดสอบการชน Car-To-Car Crash Test ที่นำรถยนต์ในอดีตจากยุค 90 มาทดสอบการชนกับรถยนต์รุ่นล่าสุด จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการทำให้สังคม ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ที่มีอยู่ในรถยนต์ ซึ่งสามารถช่วยชีวิตเราได้ในเวลาที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน
สำหรับคู่ชกที่เรานำมาเสนอในวันนี้มี 2 คู่ด้วยกัน คู่แรกเป็น 1998 Toyota Corolla และ 2015 Toyota Corolla ทั้งคู่เป็นรถยนต์เวอร์ชั่นออสเตรเลีย ทำการทดสอบโดย ANCAP ส่วนอีกคู่เป็น 2015 Nissan Tsuru หรือ Nissan Sunny / Sentra B13 เวอร์ชั่นเม็กซิโก และ 2016 Nissan Versa หรือ Nissan Almera เวอร์ชั่นอเมริกา จัดการทดสอบโดย IIHS
คู่ที่ 1
รถยนต์ทดสอบ : 1998 Toyota Corolla และ 2015 Toyota Corolla (เวอร์ชั่นออสเตรเลียทั้ง 2 คัน)
ทดลองโดย : ANCAP
เมื่อ : 10 พฤษภาคม 2017
การทดลองครั้งนี้มีขึ้นระหว่างสัปดาห์การส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนถนนทั่วโลกโดย UN (United Nations’ Global Road Safety Week) โดยมีการระบุว่า จากการประมวลข้อมูลรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศออสเตรเลียพบว่ารถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2000 นั้นคิดเป็น 20% ของรถยนต์ทั้งหมด แต่กลายเป็นว่ารถยนต์เหล่านี้กลับมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 33% จากอุบัติเหตุร้ายแรงทั้งหมด
เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยจะพบว่า อายุของรถยนต์ที่ยังใช้งานอยู่ในประเทศออสเตรเลียโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14.3 ปี ส่วนอายุของรถยนต์เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 15.6 ปี ทั้งยังมีรายงานด้วยว่านักขับมือใหม่ที่อ่อนประสบการณ์และนักขับอาวุโส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนักขับที่มีความเสี่ยงมักจะใช้รถเก่า จึงนำไปสู่การจัดการทดสอบการชน เพื่อให้นักขับได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์นั่นเอง
สำหรับการทดสอบการชนระหว่าง Toyota Corolla จากคนละยุค เป็นแบบการชนหน้าเฉียงแบบประสานงาที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง และผลที่ได้คือ 1998 Toyota Corolla ไม่สามารถปกป้องผู้โดยสารได้เลย เนื่องจากโครงสร้างตัวถังผิดรูปไปหมดหลังการปะทะ ส่งผลให้หุ่นจำลองที่อยู่ภายในได้รับความเสียหายทั้งบริเวณศีรษะ หน้าอก และขา ซึ่งเมื่อคิดเป็นคะแนนแล้วรถยนต์คันนี้ได้คะแนนความปลอดภัยเพียง 0.40 คะแนนจาก 16 คะแนนเต็ม เทียบเท่าระดับความปลอดภัย 0 ดาว
ส่วน 2015 Toyota Corolla นั้นกวาดคะแนนไปได้ 12.93 คะแนนจาก 16 คะแนนเต็ม เทียบเท่าระดับความปลอดภัย 5 ดาว ซึ่งพิสูจน์ได้จากโครงสร้างตัวถังที่แทบไม่ผิดรูปเลย โดยเฉพาะในส่วนของห้องโดยสาร นอกจากนี้ ยังมีถุงลมนิรภัยทั้งด้านหน้า, เข่าคนขับ และม่านนิรภัยที่ให้การปกป้องคนขับ ต่างจาก 1998 Toyota Corolla ที่ไม่มีถุงลมนิรภัยแม้แต่ใบเดียว
James Goodwin CEO ของ ANCAP ระบุว่า เขาหวังให้การทดสอบครั้งนี้ ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของความหรูหรา และเขาอยากให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่พวกเขาจะจ่ายไหว นอกจากนี้ เขายังหวังไว้ให้อุตสาหกรรมรถยนต์, การเงิน และประกันภัย ร่วมมือกันกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์รุ่นใหม่ ที่ปลอดภัยกว่าอีกด้วย
คู่ที่ 2
รถยนต์ทดสอบ : 2015 Nissan Tsuru หรือ Sunny / Sentra (เวอร์ชั่นเม็กซิโก) และ 2016 Nissan Versa (เวอร์ชั่นอเมริกา)
ทดลองโดย : IIHS (ของสหรัฐฯ)
เมื่อ : 27 ตุลาคม 2016
การทดสอบในครั้งนี้เกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ หยุดจำหน่ายรถยนต์ที่ได้ความปลอดภัยระดับ 0 ดาวเสียที และหนึ่งในรถยนต์ป้ายแดงที่มีความปลอดภัยในระดับดังกล่าวคือ Nissan Tsuru หรือ Nissan Sentra B13 ที่ยังทำตลาดอยู่ในประเทศเม็กซิโก ส่วนคู่ชกที่นำมาทดสอบคือ Nissan Versa สเปคอเมริกา หรือที่เรารู้จักในไทยว่า Nissan Almera นั่นเอง
การทดสอบเป็นการชนครึ่งหน้าแบบประสานงา โดยใช้ความเร็วตอนปะทะที่ 124 กิโลเมตร/ชั่วโมง และผลที่ได้นั้นไม่ต่างจาก Toyota Corolla เท่าใดนัก เนื่องจากโครงสร้างห้องโดยสารของ Nissan Tsuru เสียหายทั้งหมด ทั้งยังไม่มีถุงลมนิรภัยด้วย ซึ่งความร้ายแรงนั้นมากพอที่จะทำให้ผู้โดยสารภายใน Nissan Tsuru เสียชีวิตได้ ส่วน Nissan Versa สามารถปกป้องผู้โดยสารได้ในเกณฑ์ดี หรือเทียบเท่ากับระดับ 5 ดาว
มีการระบุด้วยว่าหลังจากที่รายงานการทดสอบการชนครั้งนี้ถูกเผยแพร่ (ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา) Nissan ได้ประกาศหยุดผลิต Nissan Tsuru ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากแคมเปญของ Global NCAP นั่นเอง ทั้งนี้ David Ward เลขาธิการของ Global NCAP ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด Nissan ถึงยังไม่หยุดผลิตรถยนต์ในทันที แต่ยังกลับผลิตขายต่อไปอีกเป็นระยะเวลาใหญ่ ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาอีก
สุดท้ายเราขอสรุปว่า จริงอยู่ที่อุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์สามารถช่วยชีวิตคุณได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนหันมาขับรถยนต์อย่างระมัดระวัง เพราะไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่า คุณจะไม่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แม้ว่าคุณจะอยู่ในรถยนต์ที่ขึ้นชื่อว่ามีอุปกรณ์ความปลอดภัยมากแค่ไหนก็ตาม
ที่มา: ancap, globalncap