“หากคุณกำลังมองหา รถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง สักคันหนึ่ง ชื่อที่คุณจะ
นึกถึงก่อน มีอะไรบ้าง?”

ลองโยนคำถามนี้ ใส่วงสนทนาของเพื่อนฝูงพี่น้องที่ทำงาน หรือเพื่อนบ้าน
ญาติโกโหติกา ที่รายล้อมรอบตัวคุณดูสิครับ รับประกันได้เลยว่า แต่ละคน
จะยื่นชื่อต่างๆเหล่านี้ เข้าประกวดเป็นอันดับแรกๆแน่ๆ..

Toyota Fortuner
Mitsubishi Pajero Sport
Ford Everest
Isuzu MU-X

หรือไม่ก็ น้องใหม่ล่าสุด Honda CR-V (ซึ่งมันก็ไม่ใช่รถยนต์ SUV แบบที่
จะเอาไปลุยห้วยหนองคลองบึงหรือป่าเขาลำเนาไพรกับใครเขาได้เท่าไหร่
เพราะมันเป็น SUV ที่สร้างขึ้นบน Platform รถเก๋งอย่าง Honda Civic และ
ไม่ได้สร้างจาก Frame Chassis รถกระบะ หมือนอย่าง 4 ชื่อที่ถูกเอ่ยนามไป
ก่อนหน้านั้นข้างต้นเลย)

เดี๋ยวนะ…รู้สึก / สังเกตไหมครับว่า เราลืมใครไป? ตกหล่นชื่อไหนหรือเปล่า?

ถ้าคนที่ไม่ได้สันทัดเรื่องรถยนต์ ให้นั่งนึกทั้งวันก็คงนึกไม่ออก ต่อให้เป็นคน
ที่เพิ่งเห็นภาพยนตร์โฆษณาของรถคันนี้ ผ่านหูผ่านตาไปหมาดๆ บางทีก็ยัง
อาจจะลืมไปเลยด้วยซ้ำ…

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงรถยนต์สักหน่อย เชื่อว่า
คุณน่าจะนึกออกนะ ว่าลืม “ใคร” ไป…

อย่าว่าแต่คุณผู้อ่านจะลืมเลย ผมเองก็เกือบจะลืมไปแล้วว่าเรายังมีรถยนต์
รุ่นนี้ ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย!

เจ้าช้างเผือกชายกลาง คันข้างล่างนี้ไง!!

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_01

18 กุมภาพันธ์ 2016

ผมยืนอยู่ในศูนย์ออกแบบ GM/Holden ที่ Melbourne ประเทศ Australia
เพื่อไปดูรูปลักษณ์หน้าตาที่เปลี่ยนไปของรถกระบะ Colorado และ SUV /
PPV ร่วมตระกูลอย่าง Trailblazer ร่วมกับสื่อมวลชนคนไทยอีก 3 คน และ
สื่อมวลชน Australia อีก นิดหน่อย

ในวันนั้น ตัวรถต้นแบบทั้ง 2 คัน ยังประกอบไม่เสร็จ แต่ด้วยภาพ Animation
และวัสดุชิ้นส่วนต่างๆที่ผมได้ไปจับต้องของจริงมาแล้ว ต้องยอมรับกันตรงๆ
ด้วยไม่คิดมาก่อนเลยว่า ทีม GM จะแปลงหน้าตา คู่หูสองพี่น้อง ที่เราคุ้นเคย
จนดูหรูหรา ผิดหูผิดตา และน่าเป็นเจ้าของมากขึ้นขนาดนี้

รายละเอียดของการไปเยี่ยมชมในครั้งนั้น อยู่ในบทความนี้ CLICK HERE!

ปลายเดือน มีนาคม 2016 รถต้นแบบ ทั้ง 2 คัน ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมายัง
ประเทศไทย เพื่ออวดโฉมครั้งแรกในโลก ณ งาน Bangkok International
Motor Show ยิ่งได้เห็นคันจริง ยิ่งชื่นชอบ และแอบคาดหวังไว้ว่า เวอร์ชัน
ทำตลาดจริง น่าจะลดทอนความหรูหราลงมาจากรถต้นแบบไม่มากนัก

สิ่งที่ผมคิดไว้ ก็เกิดขึ้นจริง…แม้จะไม่ครบดังใจ แต่ก็ใกล้เคียงละ ตัวรถถูก
เปิดตัวออกจำหน่ายจริง มี 4 จุดหลัก ที่ถูกปรับปรุง คือ หน้าตาที่ดู “หล่อ”
แบบ “Premier” ยิ่งขึ้น ปรับปรุงขุมพลังใหม่ เสียดายว่ารุ่น 2.8 ลิตร ถูกตัด
ออกไป เหลือแต่การนำเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร VG Turbo มาปรับปรุงให้ดีขึ้น
เปลี่ยนแผงหน้าปัดใหม่ และเพิ่มระบบ Active Safety เข้าไปให้สมค่าตัว

มาถึงวันนี้ เกือบ 1 ปีผ่านไป…หลังออกสู่ตลาด….

โชว์รูม Chevrolet ยังเงียบสนิท สต็อกของ Trailblazer จอดกองกันอยู่
บางคันนี่ หยากไหย้ ใยแมงมุม เริ่มมีให้เห็นตามซุ้มล้อ…

ทำไมทุกคน ถึงลืม Trailblazer กันไปแล้วละ?

นั่นสิ ทำไม?

เอาละ โดยปกติ Headlightmag มีนโยบาย ไม่ทำบทความทดลองรถยนต์
รุ่นปรับโฉม Minorchange หากไม่มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง
หรือช่วงล่าง กับพวงมาลัย

แต่ในเมื่อคราวนี้มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ เราจึงต้องนำมาทดลองกัน
อีกรอบ แม้จะรู้ดีว่า หลายๆคน ก็คงเคยเห็นผม ทำรีวิวรถรุ่นนี้ มาหลายรอบ
แล้วละ

คราวนี้ ผมอยากรู้จริงๆแล้ว ว่าทำไม Trailblazer ถึงถูกลืม ยอดขายเงียบ
สนิทนิ่งเป็นเป่าสากขนาดนี้?

คุณผู้อ่านอยากรู้เหมือนผมไหมครับ? ถ้าอยากรู้ ก็เลื่อนลงมาดูข้างล่างเลย!

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_03

Chevrolet Trailblazer เป็นรถยนต์ SUV (Sport Utility Vehicle) ที่ถูก
สร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมและ Frame Chassis ของรถกระบะ
Chevrolet Colorado และพี่น้องร่วมโครงการทั้ง Isuzu D-Max กับ MU-X

Trailblazer เป็นพี่ใหญ่สุดในตระกูล GM ที่มีการประกอบและจำหน่ายใน
ประเทศไทย เผยโฉมครั้งแรกในโลกในฐานะรถยนต์ต้นแบบ ณ งาน Dubai
International Motor Show (10 – 14 พฤศจิกายน 2012) ก่อนที่เวอร์ชัน
จำหน่ายจริง จะเผยโฉมในเมืองไทย ครั้งแรกในโลก เมื่อ 21 มีนาคม 2012
และเริ่มสายการผลิตจากโรงงานของ GM Thailand ณ อำเภอปลวกแดง
จังหวัดระยอง เมื่อ 6 มิถุนายน 2012

ตลอดอายุตลาด 4 – 5 ปีที่ผ่านมา Trailblazer ยอดขายแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ
เฉลี่ยแล้ว ขายในบ้านเราได้แค่เดือนละประมาณแค่ 100 คัน เท่านั้น! ซึ่งน้อย
จนแทบไม่น่าเชื่อ ว่าทำไมตัวเลขมันต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นขนาดนี้?

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ในเมื่อ GM จำเป็นต้องลากอายุตลาด
ของ Colorado และ Trailblazer ต่อไปอีกอย่างน้อยๆ ก็จนถึงปี 2020 ดังนั้น
การปรับโฉมขนานใญ่ Big Minorchange จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างยากจะ
หลีกเลี่ยงได้

รุ่นปรับโฉม Minorchange ถูกเปิดผ้าคลุมในฐานะรถยนต์ต้นแบบก่อน ณ งาน
Bangkok International Motor Show ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2016 ก่อนที่
เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะเปิดตัวตามหลัง รถกระบะ Colorado Minorchange
เมื่อ 20 สิงหาคม 2016 ที่งาน BIG Motor Sales โดยประเทศไทย ยังคงเป็น
ประเทศแรกในโลกที่ รถรุ่นนี้ ออกสู่ตลาด ตามเคย ก็แหงละ ฐานผลิตหลักของ
รถรุ่นนี้ มันอยู่ที่บ้านเรานี่หว่า!

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_04

Trailblazer ใหม่มีความยาวตัวถังเพิ่มขึ้น 9 มิลลิเมตร จาก 4,878 เป็น 4,887
มิลลิเมตร กว้าง เท่าเดิม 1,902 มิลลิเมตร สูงขึ้นจาก 1,831 – 1,847 มิลลิเมตร
เป็น 1,848 และ 1,852 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ระยะฐานล้อยาวเท่าเดิมที่
2,845 มิลลิเมตร ส่วน ความกว้างช่วงล้อหน้า / หลัง (Front & Rear Track)
เปลี่ยนจากเท่ากันหมดทั้งหน้า/หลัง ที่ 1,570 มิลลิเมตร เป็น หน้า 1,570 หลัง
1,588 มิลลิเมตร ระยะห่าง Ground Clearance ระหว่างพื้นใต้ท้องกับพื้นถนน
เพิ่มขึ้น 1 มิลลิเมตร จาก 220 เป็น 221 มิลลิเมตร ในรุ่น LTZ (ส่วน LT จะลด
ลงมาเหลือ 218 มิลลิเมตร)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เกิดขึ้นกับรูปลักษณ์ด้านหน้าทั้งหมด คราวนี้ ยกชุด
ปรับโฉมกันทั้ง ฝากระโปรงหน้าแบบใหม่ เพิ่มรอยเว้าตรงกลาง เพื่อช่วยเพิ่ม
แรงกดขณะอากาศไหลผ่าน ช่วยให้การทรงตัวย่านความเร็วสูง นิ่งขึ้นนิดนึง

กระจังหน้าใหม่ ประดับด้วยพลาสติกชุบโครเมียม ดูสวยหรู Premium มากขึ้น
แบ่งเป็น 2 ชั้น ตามเอกลักษณ์งานออกแบบของ Chevrolet เช่นเดียวกับรุ่นเดิม
ชุดไฟหน้าออกแบบใหม่ แต่ยังใช้หลอดไฟหน้า Halogen ตามเดิม กระนั้น ก็ยัง
เพิ่มระบบเปิด – ปิดไฟหน้า อัตโนมัติ ไฟส่องสว่างขณะแล่นตอนกลางวัน LED
Daytime Running Light และไฟตัดหมอกทั้งด้านหน้ากับด้านหลัง มาให้ครบ
ทั้ง 3 รุ่นย่อย อีกด้วย

กระจกมองข้างของทุกรุ่น เป็นแบบพับและปรับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า มีไฟเลี้ยว
มาให้ แต่รุ่น LT กรอบนอกจะเป็นสีเดียวกับตัวถัง ขณะที่รุ่น LTZ 4×2 และ 4×4
จะให้กรอบนอกแบบพลาสติกชุบโครเมียม

ทุกรุ่น มีบันไดข้าง และราวหลังคามาให้ ส่วนมือเปิดประตูนั้น รุ่น LT 4×2 จะเป็น
สีเดียวกับตัวถัง ขณะที่รุ่น LTZ 4×2 และ 4×4 จะมีแถบพาสติกชุบโครเมียมคาด
เพิ่มความแตกต่างมาให้ เช่นเดียวกันกับ ขอบประตูคู่กลาง ช่วง เสาหลังคากลาง
B-Pillar รุ่น LT จะพ่นสีเดียวกับตัวถัง แต่รุ่น LTZ 4×2 กับ 4×4 จะเป็นแถบสีดำ

ด้านหลังรถ ปรับปรุงนิดหน่อย ไฟเบรกดวงที่ 3 ณ ด้านบนเหนือกระจกบังลมบน
ฝาประตูหลัง เป็นแบบ LED ครบทุกรุ่นย่อย แต่ชุดไฟท้ายรุ่น LT ยังเป็นหลอด
ธรรมดาอยู่ ขณะที่รุ่น LTZ ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะเปลี่ยนเป็นแบบ LED หมดแล้ว

ล้ออัลลอยของรุ่น LT 4×2 มีขนาด 17 นิ้ว สวมด้วยยางขนาด 255/65 R17 ส่วน
รุ่น LTZ 4×2 และ 4×4 จะอัพเกรดเป็นล้ออัลลอยแบบ Two-tone 18 นิ้ว สวมยาง
ขนาด 265/60 R18

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_00_Remote_Start

จุดเด่นของ Trailblazer ใหม่ ยกชุดมาจาก Colorado Minorchange ก็คือ กุญแจ
Remote Control แบบมีดพับ พร้อมสวิตช์สั่งติดเครื่องยนต์ได้เองแม้ยืนอยู่นอกรถ
“Remote Start” พร้อมทั้งสั่งให้เครื่องปรับอากาศภายในห้องโดยสารทำงานโดย
อัตโนมัติตามที่ตั้งค่าไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการเลื่อนขึ้น-ลงของ
กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน ได้อีกด้วย

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_01

ภาพรวมของห้องโดยสาร ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรถรุ่นเดิมมากนัก
มีเพียงแค่การปรับเปลี่ยนหนังหุ้มเบา ทั้งหนังแท้ และหนังสังเคราะห์ ด้วย
โทนสีใหม่ น้ำตาลเข้ม (VDA – Very Dark Atmosphere) และเพิ่มสวิตช์
ไฟฟ้า ปรับระดับสูง – ต่ำ ปรับเอนนอน และปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง ให้
เฉพาะเบาะคนขับ รวม 6 ทิศทาง ส่วนเบาะผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย เพิ่ม
คันโยกปรับระดับสูง – ต่ำมาให้เป็นพิเศษ

ยังคงยืนยันว่า สำหรับ ตระกูล Colorado – Trailblazer แล้ว ผมพึงพอใจ
ในสัมผัสจากเบาะผ้าของพวกเขา มากกว่าเบาะหนังแบบนี้ แม้จะเป็นรุ่น
ปรับโฉม Minorchange แล้ว ก็ยังยืนยันความเห็นเดิม

แผงประตูคู่หน้า ออกแบบขึ้นใหม่ ยกชุดมาจาก Colorado มีสัญลักษณ์สี
เงิน พร้อมตัวอักษร Trailblazer แปะมาไว้ข้างๆ รวมทั้งมี Trim สีดำเงา
ประดับร่วมกันบนแผงประตูทั้ง 4 บาน

ตำแหน่งวางแขนของผู้ขับขี่และผู้โดยสารในทุกตำแหน่งยังอยู่ในเกณฑ์ดี
มีเพียงแค่พนักศีรษะของเบาะหลังเท่านั้นที่แข็งไปหน่อย นอกนั้น แทบจะ
ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเลย รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ห้องเก็บของ
ด้านหลัง และการพับเบาะ รวมทั้งตำแหน่งการนั่ง ทัศนวิสัยรอบคันสามารถ
เข้าไปอ่านได้ในบทความทดลองขับ Trailblazer รุ่นแรก CLICK HERE!

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_02

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึง อยู่ที่การเปลี่ยนแผงหน้าปัดใหม่
ตกแต่งด้วยสีดำ และ Trim พลาสติกชุบโครเมียม กับสีเงิน ยกชุดมาจาก
Colorado Minorchange เพื่อสร้างความแตกต่างจาก Isuzu ให้มากขึ้น

แผงหน้าปัดแบบใหม่นี้ หากอยู่ใน Trailblazer หรือ Colorado รุ่นแพงๆ จะ
ได้ใช้วัสดุตกแต่งค่อนข้างดี ช่วยเพิ่มความสวยงามมากขึ้น แต่ถ้าเป็นรุ่นถูก
การประดับ Trim ตกแต่งก็จะด้อยลง จนทำให้แผงหน้าปัดดูธรรมดาๆ และ
ออกจะเป็นแผงหน้าปัดที่เหมาะกับรถกระบะ มากกว่ามาอยู่ใน SUV / PPV

เสียดายว่า ช่องวางแก้วแบบฝาพับเก็บได้ ที่เคยเป็นจุดเด่น กลับถูกถอดยก
ออกไปเสียอย่างนั้น ทีมนักออกแบบของ GM/Holden เลยแก้ปัญหาง่ายๆ
ด้วยการ เพิ่มช่องเสียบขนาดเล็กใต้ช่องแอร์ แล้วออกแบบแท่นวางแก้วให้
เสียบเข้าไปในรูดังกล่าวเป็นการทดแทน สามารถถอดเข้า-ออกได้แต่ต้อง
ออกแรงสักนิดนึง

อย่างไรก็ตาม หน้าตาของพวงมาลัย 3 ก้าน ก็ยังคงเหมือนเดิม เพิ่มเติมแค่
การประดับ Trim Plastic สีดำ ล้อมกรอบบรรดาสวิตช์ระบบ Cruise Control
ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา และชุดสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง ที่ก้านพวงมาลัยฝั่ง
ซ้ายมือ และหุ้มวงพวงมาลัยด้วยหนังแท้ แค่นั้น

ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัย ก็ยังคงเหมือนเดิม ฝั่งขวา ควบคุมชุดไฟกระพริบ
ไฟสูง และไฟเลี้ยว รวททั้งหน้าจอ MID บนมาตรวัด ก้านสวิตช์ฝังซ้าย ไว้คุม
ระบบใบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ (Auto Rain Sensor) ซึ่งมีเซ็นเซอร์ตรวจวัด
ปริมาณน้ำฝน

ใช้ช่องแอร์ฝั่งขวามือคนขับ ยังคงเป็นสวิตช์เปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ (ไฟหน้า
Auto) และไฟตัดหมอกแต่เพิ่ม สวิตช์ปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้า และสวิตช์
ปรับเพิ่ม-ลดแสงสว่างของชุดมาตรวัดมาให้

ใต้คอพวงมาลัย เป็นคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า และคันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน
ส่วนแผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาพับปิด และไฟส่องสว่างมาให้ครบ
ทั้ง 2 ฝั่ง ตรงกลางเพดาน มีไฟอ่านแผนที่มาให้ 2 ฝั่ง แบบกดเปิด-ปิดได้ทันที
ส่วนกระจกมองหลัง อัพเกรดเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_03

ชุดมาตรวัด ออกแบบขึ้นใหม่ ยกมาจาก Colorado Minorchange แบ่งเป็น
มาตรวัด 2 วงกลม ฝั่งซ้าย เป็นมาตรวดรอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวาเป็นมาตรวัด
ความเร็ว ด้านบนตรงกลาง เป็นมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ และ
มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง แต่ล้อมกรอบด้วย Trim พลาสติกชุบ
โครเมียม

จอแสดงข้อมูลด้านล่าง เป็นแบบ Mult Information Display แสดงผลเป็น
ภาษาไทยได้ เลือก Menu ได้จากปุ่มบนก้านสวิตช์ใบปัดน้ำฝน ฝั่งขวา เพื่อ
เปลี่ยนให้แจ้งข้อมูลได้ครบ ทั้ง Tri Meter 1 หรือ 2 อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
เฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย พร้อมมาตรวัด Odo Meter รวมระยะทางทั้งหมด และ
ไฟแจ้งตำแหน่งเกียร์ อยู่ด้านล่างของหน้าจอ

ส่วนระบบเตือนวัดแรงดันลมยาง Tyre Pressure Monitoring System จะมี
มาให้ในรุ่น 2.5 LTZ 4×2 และ 4×4 ไม่มีในรุ่น 2.5 LT 4×2

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_04

ชุดเครื่องเสียงคราวนี้ เปลี่ยนมาเป็นแบบมีหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen
ให้ครบทุกรุ่น โดย 2.5 LT 4×2 จะได้หน้าจอ 7 นิ้ว พร้อมลำโพง4 ชิ้น ส่วนรุ่น
2.5 LTZ 4×2 & 4×4 จะได้ลำโพง 7 ชิ้น พร้อมจอมอนิเตอร์สี 8 นิ้ว ติดตั้งระบบ
เชื่อมต่อการสื่อสาร และความบันเทิง Chevrolet MyLink  ซึ่งรองรับกับระบบ
Apple CarPlay™ ได้ด้วย มี วิทยุ AM/FM กับเครื่องเล่นเพลงจากไฟล์ระบบ
คอมพิวเตอร์ มาให้เป็นพื้นฐาน พร้อมช่องเสียบ USB ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์
เคลื่อนที่ผ่านสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth) และเฉพาะรุ่น 2.5 LTZ 4×4 จะมี
ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System มาให้เป็นพิเศษด้วย

นอกจากนี้ จอมอนิเตอร์สี ยังเชื่อมกับกล้องมองภาพด้านหลัง เพื่อถ่ายทอด
สัญญาณภาพท้ายรถขณะเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้า – ออกช่องจอด อีกด้วย

คุณภาพเสียงที่ได้นั้น ดีเกินความคาดหมาย ให้ความกลมกลืนกันดีระหว่าง
เสียงใสและเสียงเบส ทำผลงานได้ดีจนคุณแทบจะไม่ต้องไปหาเครื่องเสียง
ชุดใหม่มาเปลี่ยนให้เปลืองเงินเปลืองเวลา

เครื่องปรับอากาศเป็นแบบมือหมุนก็จริง แตมีจอแสดงอุณหภูมิ Digital ฝัง
มาให้ ที่สวิตช์หมุนฝั่งขวา สำหรับเร่งหรือลดอุณหภูมิ ส่วนฝั่งซ้าย เป็นสวิตช์
หมุนเปิด-ปิดพัดลมแอร์ พร้อมจอเล็กๆ แสดงแรงลมที่เปิดใช้งานเป็นแถบ
แสงสว่างเล็กๆ น้ำหนักของสวิตช์ที่กดลงไปนั้น ถือว่าทำได้ดีมากๆ สำหรับ
รถยนต์ประเภทนี้ ระดับราคานี้

ถัดลงไป ไล่จากขวามาทางซ้าย เป็นแผงควบคุม สวิตช์เปิด – ปิด เซ็นเซอร์
กะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด สวิตช์ เปิด-ปิด ระบบควบคุมการออกตัวบน
ทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) ตรงกลางเป็นสวิตช์เปิด – ปิด
ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ที่ย้ายตำแหน่งลงไปอยู่ใต้แผงควบคุมแอร์ จน
ทำให้ใช้งานในยามจำเป็นยากขึ้น ต้องจำตำแหน่ง และคลำหา ยามค่ำคืน
ถัดไปเป็นสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ Traction Control กับ
ESP และระบบช่วยเตือนเมื่อ รถออกนอกช่องจราจร (Lane Departure
Warning มีเฉพาะรุ่น 2.5 LTZ 4×2 กับ 4×4) ถัดลงมาเป็นปลั๊กไฟ 12V
รวม 2 ตำแหน่ง

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_05

นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องเล่น DVD พร้อมหน้าจอมอนิเตอร์สี 10.1 นิ้ว ควบคุม
ด้วย Remote Control แถมชุดหูฟังแบบไร้สาย เชื่อมสัญญาณด้วย Bluetooth
รวมทั้ง เครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ 3 มาให้ครบถ้วน

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Interior_06

ด้านข้างผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า มีกล่องคอนโซล พร้อมฝาปิด เป็น
พนักวางแขนในตัว ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่ต่างจากรถรุ่นเดิม คือวางได้แค่ช่วง
ข้อศอก เท่านั้น พอเป็นร่น LTZ ก็จะตกแต่งดีขึ้นมาเล็กน้อย ด้วยการหุ้ม
หนังสังเคราะห์ทับพื้นผิวเดิมลงไป ขนาดความจุของกล่องด้านใน เพียงพอ
สำหรับใส่ CD เพลง 5-6 กล่อง มีช่องเสียบ USB และ AUX มาให้

ส่วนด้านข้างเบรกมือ มีช่องวางแก้วน้ำด้านนอก วางได้ 2 ตำแหน่ง แต่ขอ
แนะนำว่า ควรใช้วางเครื่องดื่มกระป๋อง ขนาดมาตรฐานเพราะไม่มีตัวล็อก
สำหรับยึดตรึงเครื่องดื่มบรรจุภาชนะใดก็ตาม ที่มีขนาดเล็กกว่าตัวของช่อง
วางแก้วที่เห็นนี้

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ขุมพลังมีการปรับปรุงใหม่ เช่นเดียวกับ Colorado Minorchange น่าเสียดาย
ว่า GM Thailand ตัดทางเลือก เครื่องยนต์ Diesel Duramax 2.8 ลิตร ออกไป
เหลือขุมพลัง 2.5 ลิตร สำหรับจำหน่ายในประเทศไทย เพียงแบบเดียว กระนั้น
ทีมวิศวกรของ GM ยังคงพัฒนาและยกระดับสมรรถนะของเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร
ให้มีเรี่ยวแรงเพิ่มมากขึ้นจากเดิม

ขุมพลังใหม่เป็นรหัส XLD25 LP2 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,499 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่าย
เชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch

ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัดอากาศด้วย Turbocharger แบบมี
ครีบแปรผัน VGT (Variable Geometry Turbocharger) พ่วงด้วยระบบคลาย
ความร้อนของไอดี ก่อนปล่อยเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Intercooler

กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 163 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที เป็น 180 แรงม้า
(PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เพิ่มจาก 380 นิวตันเมตร (38.8 กก.-ม.)
ที่ 2,000 รอบ/นาที เป็น 440 นิวตันเมตร (44.8 กก.-ม.) ที่ 2,200 รอบ/นาที 

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_02

Trailblazer รุ่นปี 2016 – 2018 ยังคงมีระบบขับเคลื่อนให้เลือก 2 แบบ ทั้ง
แบบขับเคลื่อนล้อหลัง มี 2 รุ่นย่อย และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมสวิตช์
เลือกแบบมือหมุน และระบบเลือกระบบขับเคลื่อนได้ขณะรถกำลังแล่นอยู่
Shift-on-the-Fly มีเฉพาะรุ่น Top คันที่เรานำมาลองอยู่นี้

ส่วนระบบส่งกำลัง ตอนนี GM / Chevrolet ตัดเกียร์ธรรมดา ออกไปจาก
แค็ตตาล็อกของ Trailblazer เวอร์ชันไทยไปแล้ว คงเหลือให้เลือกเพียง
แค่ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด บวก/ลบ ลูกเดิม ดังนั้น อัตราทด
ก็ยังคงเหมือนเดิม ดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง ……………..…3.200
อัตราทดเฟืองท้าย ……….…3.420

สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทดลองจับเวลา ในช่วงกลางคืน เปิดแอร์
นั่ง 2 คน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บไซต์ Headlightmag
ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Data_01 chevrolet_trailblazer_compare_table

จากตัวเลขที่ออกมา บ่งบอกชัดเจนว่า การตัดขุมพลัง Duramax Diesel
Turbo 2.8 ลิตร ออกไปจากทางเลือกสำหรับลูกค้าชาวไทย ส่งผลทำให้
Trailblazer ใหม่ มีสถานะเป็น “ชายกลาง” อย่างสมบูรณ์แบบ

ก็ดูตัวเลขที่ออกมาสิครับ อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ตรงกลาง
ระหว่างชาวบ้านชาวช่องเขา ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็อยู่
ตรงกลาง แม้แต่ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็ยังอยู่ตรงกลางเลย!

ตามสภาพครับ เครื่องยนต์ มีความจุกระบอกสูบเล็กลง พละกำลังก็ลดลง
ตัวเลขสมรรถนะที่ทำออกมา ก็ย่อมลดลงตามไปด้วยเป็นเรื่องปกติ ถ้าหาก
เทียบกับรุ่น 2.8 ลิตร 4×4 รุ่นปี 2014 – 2016 แล้ว ตัวเลขที่ออกมาของรุ่น
2.5 VGT 4×4 ปี 2016 – 2018 ถือว่า ไม่แรงเท่ารุ่นก่อน แต่ก็ไม่ได้หล่นลง
มาจนขี้เหร่

ยิ่งถ้าเทียบกับรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ด้วยกัน แล้ว จะพบว่า ขนาดใส่เกียร์
อัตโนมัติ แถมพ่วงด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาให้ ก็ยังทำตัวเลขออกมา
ดีกว่า Trailblazer 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 4×2 ทั้ง รุ่นปี 2012 และรุ่น 2014
ด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาดแล้ว หากเปรียบมวยเฉพาะ รุ่นพิกัดไม่เกิน
2.5 ลิตร และมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อมาให้ Trailblazer ใหม่รุ่น Top จะ
เป็นรองเพียงแค่ Mitsubishi Pajero Sport 2.4 L MIVEC 8AT 4×4
ในเกมอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงแค่ 0.07 วินาที เท่านั้น
และด้อยกว่าแค่ 0.06 วินาที ในเกมอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม นิดหน่อย

ขณะเดียวกัน ความเร็วสูงสุดแต่ละเกียร์ ของรุ่น 2.5 VGT 6AT 4×4 รุ่นปี
2016 – 2018 นั้น แทบไม่ต่างไปจากรุ่น 2.8 L 6AT 4×4 ปี 2014 – 2016
เท่าใดเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเซ็ตอัตราทดเกียร์ ที่ใกล้เคียงของเดิม

การไต่ความเร็วสูงสุด เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เร็วแต่ไม่ช้า และค่อนข้าง
ง่ายต่อการไต่ขึ้นไปแตะระดับ 184 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,650 รอบ/นาที
(ณ เกียร์ 5) หรือ ที่ 2,900 รอบ/นาที (ณ เกียร์ 6) เมื่อถึงจุดนั้น สมองกล
จะสั่งล็อกความเร็วเอาไว้ เท่ากับรถรุ่นเดิม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ซึ่งถือว่า ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว เพราะรถยนต์ทรงสูงขนาดนี้ จะรีบเร่งกัน
ขับขี่ Top Speed ให้มากกว่านี้ไปหาพระแสงของ้าวด้ามยาวปลายแหลม
(หอก) กันหรืออย่างไร?

ย้ำกันอีกทีว่า เราไม่แนะนำให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดเองเด็ดขาด
เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอันตรายต่อชีวิตของคุณผู้อ่าน และ
เพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับใช้
เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_04_Top_Speed

ในการขับขี่จริง ขุมพลัง 2.5 ลิตร VGT เวอร์ชันใหม่รุ่นนี้ ถือว่าให้พละกำลัง
หย่อนลงมาจากเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) ที่ถูกปลดออกจาก
แค็ตตาล็อกสำหรับเมืองไทยไป ราวๆ 20 แรงม้า (PS) ไม่ว่าคุณจะมองจาก
ตัวเลขผลการทดลองในตารางข้างบน หรือลองขับขี่จริง ยังไงๆ ก็แรงไม่เท่า
2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) เดิมหรอกครับ แต่อาจสูสีกับรุ่นขุมพลัง 2.8 ลิตร
180 แรงม้า (PS) ใน Trailblazer รุ่นปี 2012 – 2014

แต่การตอบสนองในช่วงเร่งแซง กลับสัมผัสได้ถึงบุคลิกกระฉับกระเฉง ว่า
คล้ายคลึงกันกับทั้ง Trailblazer 2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) รุ่นเดิมอยู่บ้าง

ไม่แปลกใจเลยว่า ผมยังคงสามารถพา Trailblazer 2.5 VGT มุดลัดเลาะ
และเร่งแซงไปตามสภาพการจราจรบนทางด่วนช่วงหัวค่ำ ได้อย่างสะดวก
ง่ายดาย คล้ายคลึงกับรุ่น 2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) เดิม ส่วนหนึ่งเป็นผล
มาจากการเซ็ตให้ Turbo ติด ฺBoost ได้เร็วกว่า Pajero Sport 2.4 ลิตร
อย่างชัดเจน กระนั้น เมื่อ Boost มาถึงปุ๊บ Pajero Sport จะทำตัวเลขได้
ดีกว่ากันแค่เพียงเศษเสี้ยววินาทีเท่านั้น แปลว่า ถ้าคุณจับทั้ง 2 คันนี้ มา
ออกตัวพร้อมกัน ผลแพ้ชนะ อาจจะขึ้นอยู่กับว่า ใคร กดคันเร่งไวกว่ากัน
แค่นั้นเลย

การเก็บเสียง ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม จากที่เริ่มมีเสียงลมปะทะลอดเข้ามา เมื่อ
ใช้ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตอนนี้ Trailblazer ใหม่ เงียบขึ้น จน
ต้องแล่นด้วยความเร็วเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงกระแสลม ที่
ปะทะเสาหลังคาด้านหน้า และเสียงยางจะเริ่มกลับมาเยือนให้ได้ยินเพิ่มขึ้น
ตามความเร็วรถ

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว Trailblazer ใหม่ เงียบขึ้นกว่า MU-X ใหม่
แต่ยังสู้ Fortuner กับ Everest ไม่ได้ในประเด็นนี้อยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็น พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ตามเดิม แต่สิ่งที่
มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ ทีมวิศวกร GM ถอดระบบผ่อนแรง ด้วยไฮโดรลิก
ออก แล้วแทนที่ด้วยระบบผ่อนแรงแบบ ไฟฟ้า EPS (Electronic Power
Steering) ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ไม่ได้
ตามเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว เพิ่มมากขึ้นจากรุ่นเดิม
ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และย่านความเร็วสูง คุณจะสัมผัสได้ว่า ขณะกำลัง
หมุนพวงมาลัยถอยรถเข้าจอด น้ำหนักมันเบากว่าเดิมชัดเจนมาก คล่องขึ้น
ยิ่งการมีเพลาขับล้อหน้ามาถ่วงด้วย ช่วยให้น้ำหนักของพวงมาลัย กำลังดี
คือ เบากว่าเดิม แต่แม่นยำและมั่นใจขึ้นในย่านความเร็วต่ำ ถ้าไม่บอกผม
ก็แทบจะไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำว่า นี่คือพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS

อย่างไรก็ตาม ในย่านความเร็วสูง น้ำหนักพวงมาลัยอาจยังเบาไปหน่อย
แม้จะยังไม่ถึงขั้นเบาเกินไปอย่าง Colorado 4×2 กระนั้น ถ้าสามารถปรับ
ให้น้ำหนักพวงมาลัยช่วงความเร็วตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เริ่ม
หนืดขึ้นและหนักขึ้นตามความเร็วรถ เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ได้อีกจะช่วยเพิ่ม
ความมั่นใจในการขับขี่ย่านความเร็วสูง มากกว่านี้

ไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไม Chevy กับคู่แข่งทั้ง Ford กับ Mitsubishi ถึง
นัดกันเซ็ตพวงมาลัย มาในแนวเบาไป เมื่อเทียบกับบุคลิกการใช้งานของ
ตัวรถ นี่คงเป็นผลจากวิจัยตลาดอีกเช่นเคยแหงๆ ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้
น้ำหนักพวงมาลัย ที่หนักแน่นไปเลย คงต้องมองไปที่ Toyota Fortuner
ที่ตอนนี้ ถือว่าเซ็ตพวงมาลัยมาได้ดีเหมาะสมกับตัวรถมากสุด หรือไม่ก็
Isuzu MU-X ที่มีน้ำหนักพวงมาลัยเบา อาจไม่แม่นยำเท่ากับ Fortuner
แต่ถ้าขับทางไกล ก็ไม่เหนื่อยมาก

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_05_JIMMY_Drive

ระบบกันสะเทือนยังคงเหมือนรุ่นเดิม ด้านหน้าเป็นแบบ อิสระปีกนกสองชั้น
คอยล์สปริง ช็อกอัพแก็ส ด้านหลังเป็นแบบ 5 จุดยึด (5 LINK) พร้อมคอยล์
สปริง

คราวนี้ ช่วงล่าง ถูกปรับแต่งมาใหม่ เซ็ตมาใช้ได้ ราวกับว่าทีมวิศวกรพยายาม
รักษาสมดุล ระหว่างความนุ่มกับความเกาะ ไว้ให้อยู่ในระดับตรงกลาง เอาใจ
ลูกค้าที่อยากได้ SUV/ PPV ชัดๆ

ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างจะมาในสไตล์เดียวกับ Colorado Minorchange
คือนุ่มนวล เก็บซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นชัดเจนมาก เพิ่มความสบายในการนั่ง
โดยสารมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนต้องขอชมเชย กระนั้น ก็ยังให้ความนุ่มเป็นรอง
Mitsubishi Pajero Sport ใหม่ อยู่ดี

พอใช้ความเร็วสูง ถ้าเกิดอยากจะมุด จะพบว่า แม้ให้ความนิ่งมากกว่าเดิม แต่
ยังแอบติดนุ่มอยู่ และยังไม่ถึงขั้นมั่นคงเท่ากับ Ford Everest ซึ่งต้องยอมให้
เขาไป เพราะรายนั้น น้ำหนักตัวที่กดทับลงบนเฟรมแชสซีส์ และล้อทั้ง 4 นั้น
ค่อนข้างเยอะพอที่จะสร้างเสถียรภาพให้ตัวรถได้ แม้พวงมาลัยจะเบาก็ตาม

ที่แน่ๆ ช่วงล่างของ Trailblazer ใหม่ ลดอาการกระเด้งลงไปได้พอสมควร
ช่วยให้นั่งโดยสารทางไกล สบายขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และภาพรวมคงต้อง
ถือว่า เซ็ตมาดีกว่า MU-X พอสมควร

ส่วนการเข้าโค้งบนทางด่วนนั้น แม้ตัวรถจะเอียงเยอะตามสไตล์ SUV/PPV
แต่ความเร็วในโค้ง ก็สามารถไต่ขึ้นไปได้เยอะกว่าที่คิดนิดนึง

บนทางด่วน โค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้า
ทางด่วนขั้นที่ 1 ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin Trailblazer ใหม่
เข้าโค้งด้วยความเร็วบนมาตรวัด ประมาณ 100 และ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งก็ถึงจุด Limit ของตัวรถและยางติดรถกันแล้ว

ส่วนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง เชื่อมจากทางด่วนขั้นที่ 1
ขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี Trailblzer ใหม่ เข้าโค้งต่อเนื่องทั้ง 3 จุดนี้
ได้ด้วยความเร็ว 100, 110 และช่วงโค้งขวาขึ้นบูรพาวิถี ทำได้ 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง (ตามมาตรวัด) ได้อย่างฉิวเฉียด จนถึง Limit ที่ตัวรถและยางจะรับมือ
ได้ไหวแล้วเช่นกัน

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_06_ESP_TCS_HBA_HDC

ระบบห้ามล้อ ยังคงเป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อน มาให้ครบทั้ง 4 ล้อ!
จานเบรกคู่หน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร ส่วนคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง
318 มิลลิเมตร พร้อม ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบ
เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน HBA & PBA (Hydraulic Brake Assist & Panic
Brake Assist) ทั้ง 4 ระบบนี้ จะติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่นย่อย

นอกจากนี้ Trailblazer ใหม่ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา (รุ่นปี 2017) จะมีทั้งระบบ
ควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งจะรวมตัวช่วยทั้ง
ระบบควบคุมการหมุนฟรีของล้อขณะออกตัว TCS (Traction Control System)
ระบบช่วยเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) ระบบป้องกันรถ
ไหลเมื่อออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) ระบบควบคุมความเร็ว
ของรถขณะขับลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) กับ ระบบควบคุม
เสถียรภาพของรถขณะลากจูง TSC (Trailer Sway Control) และระบบป้องกัน
การพลิกคว่ำ (ARP – Anti Rolling Protection) มาให้ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน

การติดตั้งดิสก์เบรกมาให้ทั้ง 4 ล้อ กลับไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก
ให้กับ Trailblazer ได้มากเท่าที่ควร

การตอบสนองของแป้นเบรก ยังคงไม่แตกต่างไปจาก Trailblazer รุ่นก่อนหน้านี้
ที่เคยผ่านมือผมมา ถือว่า พอๆกับรุ่นเดิม คุณยังคงต้องเหยียบลงไปลึกกว่าระยะ
ปกติที่รถยนต์ประเภทนี้ของคู่แข่งเขาเป็นกัน ถึงจะเริ่มรับรู้ว่า คาลิเปอร์ เริ่มทำงาน
และผ้าเบรกเริ่มจับตัวกับจานเบรกอย่างละมุนละไม

ทันทีที่เหยียบเบรกลงไป ราว 25 – 30% จากระยะเหยียบของแป้น รถจะเริ่มหน่วง
ความเร็วลงแค่เล็กน้อยแค่พอให้จับได้ว่า รถเริ่มช้าลง และต้องเหยียบให้ลึกลงไป
กว่าเดิม รถจึงจะหน่วงมากขึ้น แต่ถ้าเหยียบลึกในทันที อาจต้องใช้ระยะทาง และ
เวลาสักพัก รถจึงกระทั่งหยุดนิ่ง

นิสัยเบรกนุ่มๆแบบนี้ ถ้าเป็นคนชอบขับรถช้าๆ อยากให้เบรกหยุดอย่างนิ่มนวล
น่าจะชื่นชอบ แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบขับรถมุดไปมา ต้องการเบรกทีคมและมั่นใจ
คงจะเกลียดบุคลิกระบบเบรกของ Trailblazer แน่ๆ เพราะดูเหมือนว่าพวกเขา
แทบไม่ได้ปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมไปจากเดิมมากพอ

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Engine_07_Safety

ด้านความปลอดภัย คราวนี้ GM / Chevrolet อัดอุปกรณ์มาให้ ชนิดที่พอจะสูสี
ไม่ขี้เหร่นัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ติดตั้งในโครงสร้างตัวถังนิรภัย พร้อมคานเหล็ก
เสริมในประตูทั้ง 4 บาน มีดังนี้

– ระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตา ที่กระจกมองข้าง (Side Blind Zone Alert)
คล้ายระบบ Blind Spot Monitoring ของ Volvo แต่แตกต่างกันตรงที่ GM ใช้
Redar Sensor ณ มุมกันชนหลังทั้ง 2 ฝั่ง ถ้าเปิดไฟเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนเลน แล้วมี
รถยนต์ จักรยานยนต์ หรือ พาหนะอื่นๆ ตามมาด้านข้างในมุมอับสายตา Redar
Sensor จะสั่งให้ ไฟสัญลักษณ์ LED ที่กระจกมองข้าง กระพริบเตือนผู้ขับขี่ทันที

– ระบบแจ้งเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert)
กล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านบนกระจกบังลมหน้า จะวิเคราะห์และประเมิณระยะห่าง
จากรถคันข้างหน้าตลอดเวลา ถ้าคุณขับจี้ตูดมากไป ระบบจะร้องเตือนทั้งภาพ
กราฟฟิค บนมาตรวัด และเสียงร้องเตือน ให้เลิกขับจี้ตูดชาวบ้านซะ ทำงาน ณ
ความเร็วตั้งแต่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป (แต่ระบบ จะไม่ช่วยเบรกรถให้เอง)

– ระบบช่วยเตือน เมื่อรถออกนอกช่องจราจร (Lane Departure Warning)
ถ้าคุณเผลอเปลี่ยนเลน โดยไม่เปิดไฟเลี้ยว หรือ ขาดสมาธิจนรถเริ่มไหลเข้า
ไปยังเลนข้างๆ ระบบจะส่งสัญญาณภาพเตือนบนมาตรวัด พร้อมกับร้องเตือน
เบาๆ ทันที ทำงาน ณ ความเร็วตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป

– ระบบช่วยเตือนการจราจรด้านหลัง ขณะถอยรถ (Rear Cross Traffic Alert)
เมื่อคุณเข้าเกียร์ถอยหลัง Redar Sensor ที่เปลือกกันชนหลังจะเริ่มตรวจจับ
สิ่งกีดขวางที่บั้นท้ายของรถ ระหว่างนั้น ถ้ามียานพาหนะใด วิ่งผ่าน ตัดท้าย
รถของคุณไป ระบบจะส่งสัญญาณเสียงเตือนให้ทราบ พร้อมกับแสดงภาพ
เตือนภัย บนจอมอนิเตอร์ ที่แผงควบคุมกลาง

– ถุงลมนิรภัย SRS สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย และเพิ่มถุงลม
นิรภัยสำหรับหัวเข่าผู้ขับขี่มาให้อีก 1 ตำแหน่ง รวมเป็น 3 ตำแหน่ง

– เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 7 ที่นั่ง โดยเฉพาะคู่หน้า เป็นแบบปรับ
ระดับสูง-ต่ำได้ พร้อมระบบผ่อนแรง และรั้งกลับอัตโนมัติ (Dual Active Belt
Pretensioner and Load Limiter) สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Fuel_Consumption_1

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

การปรับปรุงขุมพลัง Duramax 2.5 ลิตร นอกจากทำให้เราต้องนำ Trailblazer
มาจับเวลาหาอัตราเร่งกันใหม่อีกครั้งแล้ว เรายังต้องทดลองหาอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงกันใหม่อีกครั้งด้วย เพื่อดูว่า การปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ในครั้งนี้ จะให้
ผลลัพธ์ด้านความประหยัดน้ำมัน ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม มากน้อยแค่ไหน

เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ด้วยวิธีการปกติ โดยนำรถ
ไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนน
พหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นเคย

การเติมน้ำมัน เราเติมแค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเขย่าเหมือนกับกลุ่ม
รถกระบะ Colorado หรือรถเก๋งเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ประกอบในไทย
ที่ผู้บริโภค จะซีเรียสกับผลการทดลองมากกว่า

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Fuel_Consumption_2

พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน
Trip Meter หมวด 1 และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น
ใหม่ ทั้งหมด ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ เลาะ
ไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไป
สุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม ด้วย
มาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ผู้ร่วมทดลองยังคง
เป็น น้อง เติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ จาก The Coup Team ของเราตามเคย น้ำหนัก
รวมผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร 1 คน อยู่ที่ประมาณ 160 กิโลกรัม

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Fuel_Consumption_3

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เราเลี้ยวกลับรถ เข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เติมน้ำมัน Diesel Techron
Power-D กันจนเต็มถัง หัวจ่ายตัด เหมือนเคย ณ ตู้เดิม หัวจ่ายเดิม เป๊ะ!

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Fuel_Consumption_4

มาดูผลงานของเครื่องยนต์ Diesel 2.5 ลิตร Turbo เวอร์ชันใหม่ กันดีกว่า

ระยะทางบน Trip Meter 1 (A) อยู่ที่ 94.4 กิโลเมตร
เติมน้ำมันเชื้อเพลิง Diesel Techron Power D แบบไม่เขย่ารถ 7.61 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.40 กิโลเมตร/ลิตร

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_Data_02

 

chevrolet_trailblazer_compare_tablefacebook_banner_trailblazer

ตัวเลขที่ออกมาดูเหมือนไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ถ้าหากเรามาลอง
พิจารณากันดีๆ จะเห็นพัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้น

ลองย้อนกลับไปดู Trailblazer 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 4×2 รุ่นแรก
ปี 2012 ซึ่งทำตัวเลขได้ 12.26 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งที่ตัวรถเบากว่าใครเพื่อน
แล้วลองเปรียบเที่ยบกับรถที่มีน้ำหนักมากกว่า อย่าง Trailblazer รุ่นล่าสุด
ที่พ่วงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และสารพัดอพชันต่างๆนาๆ เข้ามาพ่วงด้วย ถ้า
ตัวเลขจะออกมาดีขึ้น 0.2 กิโลเมตร/ลิตร ย่อมต้องถือว่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ยังไงๆ Isuzu MU-X 1.9 Ddi ก็ยังคงครอง
แชมป์ด้านความประหยัดน้ำมันในกลุ่ม SUV / PPV กันต่อไปเช่นเดิม กระนั้น
หากเทียบกับบรรดา SUV / PPV รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เราทำการทดลองมา
Trailblazer ใหม่ ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มแถวหน้า เป็นรองก็เพียงแค่ Toyota
Fortuner 2.8 L 4×4 รุ่นปกติ (ไม่ใช่ TRD Sportivo) เท่านั้น

แล้วน้ำมัน 1 ถัง แล่นไปได้ไกลแค่ไหน จากการใช้งานจริง รวมทั้งประมาณ
คร่าวๆ คาดว่า น่าจะทำได้แถวๆ 550 – 600 กิโลเมตร หากขับไม่ดุดันไล่บี้
จี้ตูดชาวบ้านจนเกินไป แต่ถ้าใช้งานในเมือง ตัวเลขอาจหล่นลงไปอยู่แถวๆ
400 – 450 กิโลเมตร ต่อ 1 ถัง ก็อาจเป็นไปได้

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_05

********** สรุป **********
ปรับปรุงให้ดีขึ้น (ในภาพรวม) แต่ก็ยังคงเป็น คุณชายกลาง ของกลุ่มอยู่ดี

อ่านมาถึงตรงนี้ (หรือหลายๆคนก็คงเลื่อนลากนิ้วข้ามผ่านบทความข้างบนกันมา
ละสินะ) คุณคงอยากรู้กันใชไหมว่าสรุปแล้ว Trailblazer ใหม่ มันยังหลงเหลือ
ความน่าสนใจตรงไหน?

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่คุณจะคิดเช่นนั้น เพราะ Trailblazer เปิดตัวมาตั้งแต่ปี
2012 ดังนั้น ในแง่ความสดใหม่ จึงอาจสู้บรรดาคู่แข่งรุ่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวตามมา
ในช่วง 2-3 ปี ให้หลังมานี้ไม่ได้

แต่การปรับโฉมในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามอีกครั้งของ GM / Chevrolet
เพื่อหาทางลบข้อด้อย เสริมจุดแข็ง เพื่อส่งขึ้นไปสู้รบตบตีกับบรรดา SUV/
PPV รุ่นใหม่ๆทั้งหลาย เพื่อประคับประคองไปจนกว่าจะหมดอายุตลาดในอีก
ราวๆ 3-4 ปีข้างหน้า

ข้อดีที่สำคัญของ Trailblazer Minorchange ก็คือ เมื่อกางสเป็ก แล้วเทียบ
ราคา คุณก็ยังพบว่า รถคันนี้ยังคงเป็น SUV / PPV ที่ให้ความคุ้มค่าเมื่อเทียบ
กับค่าตัวที่ต้องจ่ายไป

Option ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยเตือน เมื่อรถออกนอกช่องจราจร
(Lane Departure Warning) ระบบแจ้งเตือนการชนด้านหน้ารถ (Forward
Collision Alert) ระบบแจ้งเตือนจุดอับสายตา ที่กระจกมองข้าง (Side Blind
Zone Alert) ระบบช่วยเตือนการจราจรด้านหลัง ขณะถอยรถ (Rear Cross
Traffic Alert) กล้องมองภาพขณะถอยรถ ระบบเช็คความดันลมยาง รวมทั้ง
ชุดเครื่องเสียง คุณภาพดี ที่เชื่อมต่อการใช้งานกับ Apple Car Play ได้ และ
ช่วงล่าง ที่เซ็ตมาได้กำลังดี ทรงตัวมั่นใจได้ในย่านความเร็วสูง คือจุดขายที่
ช่วยยกระดับให้ Trailblazer ยังคงมีความน่าสนใจอยู่

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_06

แต่ประเด็นที่น่าเสียดาย ยังอยู่ที่ การตัดขุมพลัง Diesel 2.8 ลิตร Turbo 200
แรงม้า (PS) ออกไป ด้วยเหตุผลว่า มันขายไม่ดีเอาเสียเลย ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้
เพราะตัวเลขยอดขายที่ออกมาในแต่ละเดือน ก็ฟ้องอยู่ทนโท่ ว่า ลูกค้ายังคง
เลือกจะหันไปคบรุ่นล่าง ราคาย่อมเยา ออพชันครบพอประมาณมากกว่าจะยอม
จ่ายตังค์เพื่อยกระดับขึ้นไปเล่นรุ่นแพงสุด

ถึงแม้ว่าสมรรถนะของเครื่องยนต์ Diesel 2.5 ลิตร VG Turbo เวอร์ชันล่าสุด
180 แรงม้า (PS) จะให้ความแรงได้ใกล้เคียงกับขุมพลัง 2.8 ลิตร 200 แรงม้า
(PS) ในรุ่นก่อน และประหยัดน้ำมันขึ้นเล็กน้อย แต่ความเร้าใจจากสมรรถนะที่
มีมาให้ ก็ยังไม่อาจทัดเทียมได้อยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยว ถูกเปลี่ยนมาเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เพื่อหวังให้การ
บังคับเลี้ยว แม่นยำขึ้น กลับกลายเป็นว่า น้ำหนักของพวงมาลัยในความเร็วต่ำ
กำลังดี แต่ความเร็วสูง ยังเบาไปหน่อย ส่วนระบบเบรก ยังคงตอบสนองแบบ
“ไหลๆ” แทบจะเหมือนเดิม ไม่ดีขึ้นเท่าใดเลย

อีกประการหนึ่งที่เริ่มมีความสำคัญในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ SUV / PPV นั่นคือ
ถุงลมนิรภัย ที่ให้มาเพียงแค่ คู่หน้า และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข้าผู้ขับขี่รวม 3 ใบ
ทั้งๆที่ คู่แข่งร่วมพิกัด เขาให้ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัยกันหมดแล้ว
ประเด็นนี้ คนมีครอบครัว ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นพอสมควร

แถมโชคยังไม่ค่อยเข้าข้าง GM เท่าไหร่ เพราะในช่วง 3 ปีมานี้ บรรดาคู่แข่งใน
กลุ่ม SUV / PPV ต่างพากัน อัด Option ประโคมขายแข่งกันอย่างดุเดือด กว่า
GM จะออกมาแก้เกมได้ ก็ต้องรอจนถึงปี 2016 ซึ่งค่อนข้างช้ากว่าสถานการณ์
เกือบ 1 ปี

ต้องทำใจครับ องค์กรใหญ่อย่าง GM จะขยับตัวทำอะไรแต่ละครั้ง ต้องยับยั้ง
ชั่งใจ ไตร่ตรอง และขบคิดกันยาวนาน เพราะกลัวโน่น กลัวนี่ กลัวนั่น กันตลอด
เดี๋ยวก็ติด Policy ด้านความปลอดภัยบ้างละ เดี๋ยวก็ติดปัญหาสารพัดสารเพกัน
บ้างละ มัวแต่มะงุมมะงาหรากัน ในที่สุด ก็เป็นอย่างที่เห็น

เมื่อรวมทุกประเด็นมาประมวลเข้าด้วยกัน ผลที่ได้ก็คือ Trailblazer มีสภาพเป็น
“ชายกลาง” ประจำกลุ่ม คือจะแรงก็แรงไม่สุดเหมือนแต่ก่อน ประหยัดน้ำมันขึ้น
แต่ก็นิดหน่อย เกาะกลุ่มกับเพื่อนฝูงเขาไปได้ Option ที่ให้มา แม้จะทัดเทียม
กับชาวบ้านเขาแล้ว แต่ก็ยังให้มาไม่สุดอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รถคันนี้
จะถูกลืมเลือนจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ไปอย่างน่าเสียดาย

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_07

*** คู่แข่งในตลาด มีใครบ้าง? ***

แน่นอนว่า ต้องเปรียบเทียบกับบรรดา SUV ที่สร้างขึ้นบนเฟรมแชสซีส์ของ
รถกระบะ ด้วยกัน PPV (Pick-up Based Passenger Vehicles) ซึ่งเป็นชื่อ
ที่ถูกตั้งขึ้นเรียกใช้โดยภาครัฐของไทย ในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งๆที่ SUV
ประเภทนี้ จะถูกเหมารวมไปเป็น Mid-Sized SUV ในต่างประเทศ แทน

Ford Everest
คู่รักคู่แค้นชาวอเมริกัน หมายมั่นปั้นมือสร้าง Everest ขึ้นมา เพื่อให้เป็น
เจ้าแห่ง SUV/PPV ที่แท้จริง และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ ตัวรถแน่นหนา
หนัก และให้สัมผัสแบบรถคันใหญ่ยักษ์ เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
ซึ่งมาพร้อมกับระบบไฟฟ้าท่วมคันรถ สมรรถนะในภาพรวม ถือว่าขับดีละ
แต่อัตราเร่งและความประหยัดน้ำมัน ยังด้อยกว่าชาวบ้านเขา เพราะตัวรถ
หนักกว่าชาวบ้าน และปล่อยก๊าซ CO2 มากกว่าเพื่อนอีกต่างหาก ทว่า นั่น
ยังไม่เท่าข้อด้อยที่สำคัญ นั่นคือ ศูนย์บริการของ Ford ที่ขึ้นชื่อว่า ย่ำแย่
ไม่ได้แพ้ Chevy เท่าใดเลย การหาศูนย์บริการดีๆ ของ Ford อาจต้องใช้
เวลามากพอกับการงมเข็มในมหาสมุทร Atlantic!

Isuzu MU-X
คู่แฝดร่วมงานวิศวกรรมกับ Chevy ออกรุ่นนี้มาร่วมกันเป็นรุ่นสุดท้ายก่อน
ต่างฝ่ายต่างจะ Say Bye bye แยกทางกันเดินไปเรียบร้อยแล้ว รุ่นปรับโฉม
Minorchange เพิ่งคลอดออกมา ปรับปรุงห้องโดยสารจนน่าใช้ขึ้นนิดนึง
แต่จุดเด่นยังอยู่ที่ เครื่องยนต์ 1.9 ลิตร Ddi ที่ครองแชมป์ความประหยัด
ได้ดีตามเคย แถมยังมีอัตราเร่ง ดีกว่า Fortuner 2.4 ลิตร และ Everest
2.2 ลิตร ด้วยซ้ำ อีกทั้งศูนย์บริการก็แพร่หลายทั่วประเทศ บริการดีระดับ
สุดยอดชนิดค่ายรถ Premium จากยุโรป ยังให้คุณไม่ได้! กระนั้น ข้อด้อย
ก็มีแค่ คุณต้องทำใจยอมรับกับช่วงล่าง ซึ่งยังคงมีอาการเด้งที่ด้านหลัง
อยู่นิดหน่อย และรูปร่างหน้าตา ที่อาจสวยสู้ Trailblazer ไม่ได้ แค่นั้น

Mitsubishi Pajero Sport
สุดหล่อ บั้นท้ายหยาดน้ำตาพระแม่มารี ออกขายมาได้ 2 ปี มีแฟนๆหลงรัก
อุดหนุนไปเยอะมาก เป็นอันดับ 2 และ 3 ในตลาด เพาะคุณงามความดีทั้ง
การออกแบบด้านหน้ารถ และภายในห้องโดยสาร ที่มีเบาะคู่หน้านั่งสบาย
มากสุดในกลุ่ม (แต่แผงประตูก็ใช้งานอึดอัดสุดในกลุ่มเช่นกัน) เบาะแถว
หลังสุด คือ พื้นที่ดีงามสำหรับใครก็ตามที่ตัวสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร
อีกทั้งข้าวของอุปกรณ์ก็ให้มาครบ คุ้มค่า คุ้มราคา ทว่า ต้องมาเสี่ยงดวง
เรื่องบริการหลังการขาย หากคุณอยู่ต่างจังหวัด โอกาสเจอศูนย์บริการดีๆ
จะมีเยอะกว่าลูกค้าในกรุงเทพมหานคร อ้อ ปัญหาแร็คพวงมาลัยหนะ ยัง
ไม่รู้เหมือนกันว่า แก้ไขจบไปแล้วหรือยัง?

Nissan Navara SUV/PPV
จนถึงวันที่บทความนี้ออกเผยแพร่ โครงการดังกล่าวยังคงมีชะตากรรมแบบ
“ลูกผีลูกคน” คือยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเอาเข้ามาประกอบขายในเมืองไทยแล้ว
จะคุ้มค่าต่การลงทุนหรือไม่ เพราะในขั้นตอนพัฒนา ทีมวิศวกรเล่นเอาใจแต่
กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และจีนแผ่นดินใหญ่ โดยแทบไม่สนใจประเทศ
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักอย่างบ้านเราเลย กระนั้น เส้นสายภายนอกเท่าที่มีทีม
วิศวกรไปพบเห็นมาแล้ว ยืนยันว่า ดูใช้ได้ ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด หากจะเข้ามา
ทำตลาดในบ้านเรา ต้องรอให้ถึงปี 2018 เป็นอย่างเร็วที่สุด

Toyota Fortuner
ขาใหญ่ระดับจ่าฝูง ทวงแชมป์ยอดขายคืนจาก Pajero Sport จนนำโด่งเป็น
อันดับ 1 ของกลุ่ม ได้สำเร็จอีกครั้ง แน่นอนว่า ชื่อเสียงความเป็น Toyota ที่
ลูกค้าประเภท “ไม่คิดมาก” หรือ “ฉันไม่สนใจยีห้ออื่นนอกจาก Toyota” และ
กลุ่ม “ซื้อๆไปเหอะ จะใช้งาน ซ่อมง่าย ศูนย์บริการทั่วไทย ราคาอะไหล่ไม่สูง
ซื้อง่าย ขายต่อได้ราคา และขายได้ไว ก็พอแล้ว” นั่นละ จะชื่นชอบกัน แถม
บังเอิญว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ ดันเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทยเสียด้วยเนี่ยสิ!

ข้อดีก็คือ เครื่องยนต์ ทำอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ค่อนข้างดี
ในระดับกลางๆ ของกลุ่ม (รุ่น 2.8 ลิตร) พวงมาลัยเซ็ตอัตราทดและน้ำหนัก
มาได้ดีมาก จนน่าจับตามอง กระนั้น ช่วงล่าง ยังคงเด้งชิบหายวายป่วง จน
ถึงขั้นอาจทำให้คุณนั่งแล้วเวียนหัวก็เป็นได้ ถ้าอยากสบายขึ้นหน่อย ต้อง
ยอมจ่ายเพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท เพื่อรุ่นตกแต่งหลังคา Wrap สีดำ แนวแว๊นๆ
อย่าง TRD Sportivo ที่เปลี่ยนช็อกอัพคู่หลังมาให้ใหม่จนนิ่งขึ้นและโยก
เปลี่ยนเลนกระทันหันได้นิ่งสุดๆ ระดับท้าชนกับ Everest ได้เลย แต่ถ้าคิด
จะจ่ายแพงขนาดนั้น ถ้าไม่รักในแบรนด์ Toyota จริงๆ หาคู่แข่งคันอื่นมา
ใช้งานน่าจะคุ้มค่ากว่าเยอะ

*** ถ้ามั่นใจแล้วว่าจะเลือก Trailblazer รุ่นย่อยไหน คุ้มสุด? ***

Trailblazer Minorchange มีให้เลือกด้วยกัน 3 รุ่นย่อย ดังนี้

2.5 VGT LT 4×2 6AT     1,244,000 บาท
2.5 VGT LTZ 4×2 6AT   1,379,000 บาท
2.5 VGT LTZ 4×4 6AT   1,479,000 บาท

รายละเอียดอุปกรณ์และความแตกต่างของแต่ละรุ่นย่อย สามารถคลิก
เข้าไปอ่านได้ใน กระทู้ “เจาะสเป็ก” ของน้อง Moo Cnoe ทีมเว็บเรา
ได้ที่นี่ CLICK HERE!

รุ่นที่ผมมองว่าคุ้มค่าสุด คือรุ่นกลาง LTZ 4×2 6AT เพราะอุปกรณ์ที่
ติดตั้งมาให้ แทบจะเพียบพร้อมเพียงพอ ใกล้เคียงกับรุ่น Top LTZ
4×4 ขากไปเพียงแค่ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation
System และ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แค่นั้น! แต่ถ้าชีวิตคุณจำเป็นจะ
ต้องบุกป่า่าตะลุยเส้นทางทุระดันดารบ่อยครั้ง การเลือกรุ่น 4×4 ตัว
Top LTZ ไปเลย น่าจะเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_08

การ Upgrade ครั้งนี้ ทำให้ Trailblazer ดูน่าใช้ขึ้นมาในภาพรวมก็จริงอยู่
ทว่า ปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ หลายคน ไม่กล้าตัดสินใจเดินเข้าโชว์รูมของ
Chevrolet ในตอนนี้ มันก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นและหมักหมม
มาช้านาน

ปัญหาที่ GM และ Chevrolet กำลังประสบพบเจอในบ้านเราตอนนี้ ก็คือ
“การยอมรับของสาธารชนต่อแบรนด์” ที่อยู่ในเกณฑ์ต่อนข้างต่ำ ไม่ต้อง
ยกตัวอย่างอื่นใดไกลกว่าตัวเราเอง แค่ทุกวันนี้ เวลามีคำถามส่งเข้ามาใน
รายการวิทยุ DR!VE By J!MMY (FM 105 วันเสาร์ บ่าย 2 – 4 โมงเย็น)
ใครก็ตามที่คิดจะซื้อ SUV / PPV แทบไม่มี Trailblazer อยู่ในทางเลือก
ของเขาเหล่านั้นเลย

มันเกิดอะไรขึ้น?

ไม่ยากครับ ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา GM Thailand เริ่มประสบกับปัญหา
ด้านบริการหลังการขายหนักขึ้นกว่าในอดีตก่อนหน้านั้น คือปัญหานี้หนะ
มันมีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุค Chevrolet Zafira ด้วยซ้ำเถอะ แต่ยิ่งประชากร
ของ Chevy บนถนนเมืองไทยมากขึ้น ศูนย์บริการที่ทำตัวแย่ๆ ก็เริ่มก่อเหตุ
ฉาวโฉ่ ออกมามากมาย

มีตั้งแต่กรณีของรถเก๋ง Cruze กับเกียร์อัตโนมัติเจ้าปัญหา ที่กระตุกชิบหาย
วายป่วง จนลูกค้าทนไม่ไหว หรือแม้แต่คดีใหญ่ในเว็บอย่าง Pantip ที่ลูกค้า
รายหนึ่ง เคยเจอดีลเลอร์บางราย นำ Trailblazer คันเก่าที่ลูกค้ารายเดิมทน
ไม่ไหว ขอคืน เปลี่ยนรถ มาย้อมแมวขายให้ลูกค้าใหม่จนถูกจับได้ กลายเป็น
เรื่องราวดราม่าใหญ่โต ทำเอาชื่อเสียงแบรนด์ที่คนทำงาน GM Thailand รุ่น
บุกเบิก พยายามสร้างปูทางกันมาแทบเป็นแทบตาย ต้องย่อยมลาย สลายยับ
ลงไปในชั่วข้ามคืนเดียว!

ปัญหาก็คือ เมื่อยอดขายรถใหม่ลดลง การประกอบก็ลดลง และเน้นไปที่การ
ส่งออกมากขึ้น ทำให้ รายได้ลดลง GM เลยแก้ปัญหาด้วยวิธีลดขนาดบริษัท
ลงมา หรือ “Downsizing องค์กร” เพื่อให้อยู่รอด แถมยังตัดสินใจสั่งยกเลิก
การทำตลาดรุ่น Sonic (ที่ขายดีพอ แต่ไม่ทำต่อ เพราะคำนวนแล้ว ยิ่งทำขาย
ยิ่งขาดทุนกว่าเดิม!) เหลือไว้แค่ Cruze รุ่น Amazing เพียงรุ่นเดียวที่เหลือ
รอดมาได้ ลากผลิตขายกันไปจนกว่าจะหมดอายุตลาด โดยไม่มีการนำ Cruze
รุ่นใหม่ มาประกอบขายอีกต่อไป เท่ากับว่า ยกเลิกการทำตลาดรถเก๋งไปหมด
เหลือแค่ ลากประกอบ Captiva ขายไปอีกสัก 2-3 ปี จนจบ แล้วก็มุ่งเน้นผลิต
Colorado กับ Trailblazer เป็นหลัก เท่านั้น

สิ่งที่ GM กำลังทำอยู่ คือการปัดกวาดหลังบ้านใหม่ รวมทั้งจัดการกับดีลเลอร์
นิสัยไม่ดี ให้หลุดออกไปจากระบบ เพื่อจะต่อสู้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และ
พยายามดึงยอดขายขึ้นมาให้ได้

กระนั้น ทุกคนก็คงจะทราบดีว่า ยอดขายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมาจากความเชื่อมั่น
ในแบรนด์และตัวรถยนต์ จากมุมของลูกค้าด้วย ในวันนี้ GM ได้ทำอะไรที่จะช่วย
สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเกิดขึ้นในใจของลูกค้าแล้วหรือยัง?

ถ้ายัง ก็สมควรจะได้เวลาทำแล้วเสียที อย่าปล่อยให้ลูกค้าพากันบ่นและ
ก่นด่า
ลงในโลก Social Media อยู่อย่างนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะพูดว่า ได้
ปรับปรุงและแก้
ปัญหาต่างๆ ไปในระดับไหนแล้วบ้าง เพื่อดึงความมั่นใจ
ของลูกค้ากลับคืนมา
ให้ได้

หาไม่แล้ว สถานการณ์ของ GM ในเมืองไทย จะยิ่งหมิ่นเหม่อยู่ใกล้ปากเหว
มากกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่

เรียนเตือนมาด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เหมือนเช่นเคย!

————————–///————————–

2017_02_17_Chevrolet_Trailblazer_Minorchange_09

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย
เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด
ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
24 เมษายน 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 24th, 2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!