GM ขายแบรนด์ Saturn ดาวดวงเก่าที่เคยต่อกรกับรถแบรนด์ญี่ปุ่นในอดีตจะถูกขายทิ้งคงไม่แปลกใจนักที่จะต้องตัดแขนและขาที่อ่อนล้าทิ้ง
แต่แปลกใจผู้ซื้อต่อกลับไม่ใช่บริษัทรถยักษ์ใหญ่แต่เป็น Penske Automotive Groupผู้ซึ่งไม่มีชื่อเสียงด้านการผลิตรถ
แล้วเป็น Penske เป็นใครยิ่งใหญ่จากไหนกันถึงมีเงินซื้อแบรนด์ Saturn ได้ขนาดนี้
มาทำความรู้จักกันคร่าว ๆ
Penske Corporation คือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ทั้งหมดดำเนินโดย Roger Penske ประธานบริษัท แบ่งเป็นบริษัทลูกรับหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-Penske Motor Group ดำเนินธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์สหรัฐอเมริกาและแคนาดาบางพื้นที่มีแบรนด์ที่ถือทั้งหมด 7 แบรนด์ โชว์รูมที่เป็นหน้าเป็นตาแก่บริษัทคือ Longo Toyota มีเนื้อที่มหึมาถึง 29 เอเคอร์ใหญ่ที่สุดในโลก และรับรางวัลดีลเลอร์ที่ทำยอดขายได้ดีที่สุดจากนิตยสาร Ward
Toyota ไว้วางใจให้ดีลเลอร์แห่งนี้มากเพราะทำยอดขายมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี!!
-Penske Racing ดำเนินกิจกรรมแข่งรถเกือบครบทุกประเภท
ส่วนบริษัทที่แยกอิสระแต่ Penske Corporation มีหุ้นส่วนด้วยคือ
-Penske Truck Leasing บริษัทร่วมทุนระหว่าง Penske Corp. และ GE ทำให้จำเป็นต้องตั้งบริษัทลูกรองรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกคือ Penske Logistics
-VM Motori ที่ Penske เข้าไปถือหุ้นมากถึง 49% แทนที่ Daimler-Chrysler ในอดีตส่วนที่เหลือ GM ถือหุ้นใหญ่
-Penske Automotive Group บริษัทนี้ที่จะซื้อแบรนด์ Saturn เข้าอยู่อ้อมอก มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นบริษัทดีลเลอร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้วยสาขามากถึง 253 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา,เปอโต ริโก้,เม็กซิโก,เยอรมณี และอังกฤษ ถือกรรมสิทธิ์ค้าขาย 40 แบรนด์ ศูนย์บริการอิสระอีก 40 แห่ง ครบวงจรที่สุดตลอดอายุการใช้งานรถ
แบรนด์รถยนต์ที่สร้างเกียรติประวัติมากที่สุดคือ Smart ที่ได้รับความไว้วางใจจาก Daimler Chrysler ในการบุกตลาดสหรัฐอเมริกาแทนที่จะลงทุนด้วยตนเองตามแผนดั้งเดิม
ประวัติสังเขปเกี่ยวกับ Penske ทำให้เราทราบว่าพวกเขาเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อวงการดีลเลอร์สหรัฐอเมริกามาก เงินทุนหมุนเวียนจากการดำเนินงานจึงไม่ใช่อุปสรรคจะซื้อแบรนด์ Saturn แต่ปัญหาหลักคือไม่มีรถใหม่ขาย
ถึงแม้ว่า Penske ซื้อแบรนด์ Saturn เพื่อรักษาชื่อเสียง ดีลเลอร์ และพนักงาน 13,000 ชีวิตไว้ได้ แต่สถานะของ Saturn ตอนนี้คือแบรนด์รถอิสระ มิใช่ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีศูนย์วิจัยและพัฒนาหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลแบรนด์ที่สามารถนำรถยี่ห้ออื่นมาประทับตราหรือใช้เครือข่ายจำหน่ายของ Saturn เท่านั้น
วิธีแก้ปัญหาหลักคือว่าจ้างให้ GM ผลิตรถยนต์ Saturn รุ่นปัจจุบันต่อไปจนกว่าจะหมดอายุตลาดอย่างน้อยอีก 2 ปี ส่วนวิธีที่สองเป็นวิธีที่ได้ประโยชน์มากที่สุดและดูมีอนาคสดใสกว่าคือ Penske เจรจาผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่สนใจเป็นพันธมิตรที่อยากจะรุกตลาดอเมริกาโดยอาศัยความแข็งแกร่งของ Saturn ทั้งสถานะแบรนด์ที่ยังพอได้รับการยอมรับและจำนวนดีลเลอร์ที่ครอบคลุม ถึงแม้ตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงขาลง หากอนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นตลาดรถยนต์ก็ยังน่าจะสดใสอยู่
ผู้ผลิตรถยนต์ที่คาดว่าน่าจะเป็นพันธมิตรคือ Renault ที่คิดหวนกลับบุกตลาดสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหลังจากเคยบุกตลาดแห่งนี้ตั้งแต่ 1977-1987 บนความร่วมมือกับ American Motor Corporation ก่อนที่ Chrysler จะเข้ามาซื้อกิจการต่ออีกที
การหวนกลับมามิใช่มาตั้งโรงงานเพื่อบุกตลาดแต่อย่างใด Renault ใช้ความได้เปรียบจากฐานการผลิตต้นทุนต่ำที่ประเทศเกาหลีใต้ส่งรถ Renault-Samsung ประทับตรา Saturn ขายจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็น หากใช้แบรนด์ Renault อีกครั้งก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังตรงกับกลยุทธ์ Renault-Nissan Alliance ที่อยากมีพันธมิตรในตลาดสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าการเจรจาดังกล่าว แต่ถ้าลงตัวกันเมื่อไรคาดว่าแบรนด์ Saturn น่าจะกลับมาลุยตลาดในอเมริกาอย่างสนุกสนานอีกครั้ง