และแล้ว สิ่งที่เรา ไม่เคยคิดกันเลยมาก่อนตลอดช่วงชีวิตของผู้คนในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เกิดขึ้น…จนได้
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม บริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ้ที่สุดของสหรัฐอเมริกา
ตัดสินใจ ยื่นเรื่องเพื่อเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างภายใต้การกำกับดูแลของศาล ตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
Chapter 11 ของสหรัฐ กับศาล สหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว
มร. ฟริตซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีเอ็ม กล่าวว่า
“วันนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งในการปฏิรูปจีเอ็ม ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้ามากกว่าเดิม และมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างมาก
ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็สร้างโอกาสสำคัญให้เราปฏิรูปธุรกิจของเราในอีก 100 ปีข้างหน้า
เราเดินมาถูกทางแล้ว และจะเร่งเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่”
“การเข้าสู่กระบวนการของศาล สร้างช่องทางสำคัญให้เราเร่งการปฏิรูปให้สำเร็จโดยเร็ว
พร้อมกับการรักษาลูกค้าและธุรกิจของเรา ผลิตภัณฑ์คืออนาคตของเรา รถยนต์และรถครอสโอเวอร์รุ่นใหม่
เป็นหมุดหมายแห่งความสำเร็จ จีเอ็ม ใหม่จะยังคงเป็นผู้นำในการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
และยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด อย่าง Chevrolet Volt ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
ก็จะเปิดตัวในประเทศจีน ในปี 2554”
ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า แถลงที่ทำเนียบขาวว่า เขาเห็นใจที่ จีเอ็ม ต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย
ซึ่งเป็นทางเลือกที่โหดร้าย แต่เขาเชื่อว่าเป็นมาตรการที่เป็นธรรมและสามารถเข้าใจได้ อีกทั้งยังจะช่วยเปิดโอกาส
ให้จีเอ็ม ซึ่งเป็นเหมือนบริษัทรถยนต์ประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับชาวอเมริกันมาอย่างยาวนาน ฟื้นกลับมาดำเนินธุรกิจต่อ
ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
กล่าวโดยสรุปคือ จากนี้ไป จีเอ็ม จะจำหน่ายทรัพย์สินทั้งหมดของตนไปสู่ บริษัท “จีเอ็ม ใหม่”
(New GM เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ที่ใช้ในระหว่างนี้ไปก่อน จนกว่าจะมี
ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศได้ราวๆ 1 กันยายน 2009)
บริษัทแห่งใหม่นี้ จะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ รวมทั้ง รัฐบาลแคนาดา และออนตาริโอ
ไปจนถึงสหภาพแรงงานยานยนต์ UAW และผู้ถือหุ้นที่ไม่มีการค่ำประกันของจีเอ็ม ดำเนินการบริหารโดย
ทีมผู้บริหารของจีเอ็มชุดปัจจุบัน และจะมีเฉพาะ แบรนด์ที่ทำกำไรให้ อย่างงดงาม ทั้ง Chevrolet Buick Cadillac
และ GMC โดยจะยุติบทบาทของแบรนด์เก่าแก่อย่าง Pontiac และแบรนด์ใหม่สุดอย่าง Saturn ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนแบรนด์ที่ตนไปซื้อมา อย่าง Saab จากสวีเดน และ Hummer ก็อยู่ในระหว่างการเจรจาขายออกไปให้พ้นมือ
คาดการณ์ว่า จีเอ็ม ใหม่ จะเปิดตัวออกสู่สาธารณชน ในฐานะของบริษัทที่เป็นอิสระ และไม่เกี่ยวข้องกับจีเอ็ม
ในปัจจุบัน ภายในเวลาประมาณ 60 ถึง 90 วัน ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของศาล
ดังนั้น ในวันนี้ จีเอ็ม จึงตกอยู่ในสภาพของ “รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (ชั่วคราว) ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ”
ประธานาธิบดีโอบาม่ายืนยันว่า รัฐบาลไม่เต็มใจนักที่จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจีเอ็ม ตามแผนฟื้นฟูโครงสร้างองค์กร
และรัฐบาลไม่มีเจตนายึดกิจการของจีเอ็ม หากแต่ต้องการช่วยให้จีเอ็มมีความแข็งแกร่งและฟื้นตัว ซึ่งเขาหวังว่าจะเกิดขึ้น
อย่างรวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างของจีเอ็ม ต้องแลกกับการที่บริษัทจะต้องปลดคนงานกว่า 20,000 คน
จากที่มีอยู่ทั้งหมด 173,000 คนทั่วอเมริกาเหนือ และปิดโรงงานรวมถึงตัวแทนจำหน่ายอีก รวมแล้วอาจมากถึงราวๆ 1,000 ราย
จากทั้งหมด 1,200 ราย ที่มีอยู่
ส่วนปฏิกิริยา จาก บริษัทรถยนต์ ที่เกี่ยวข้อง กับ จีเอ็ม นั้น
นาย โอซามุ ซูซูกิ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
ออกมาแถลงเมื่อวานนี้ (2 มิถุนายน 2009) ว่า จะคงความเป็นหุ้นส่วนในการผลิต และแบ่งปันเทคโนโลยี
กับทาง จีเอ็ม กันต่อไป หลังจากจีเอ็มยื่นเรื่องขอล้มละลาย และเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจีเอ็ม
เป็นเพราะเน้นผลิตแต่ยานยนต์ขนาดใหญ่ที่ไม่ประหยัดน้ำมัน และเขาเห็นว่า จีเอ็มจะต้องเปลี่ยนแปลง
ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่า จีเอ็มจะฟื้นตัวจากการฟื้นฟูกิจการและการล้มละลายโดยเร็ว
ด้านนายนิค ไรล์ลี ประธานจีเอ็มเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ขณะนี้รถยนต์ขนาดเล็กมีความสำคัญอย่างมากต่อจีเอ็ม
และการดำเนินงานในเอเชียจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนายานยนต์ขนาดเล็ก เพราะปัจจุบันมีความต้องการ
รถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้นในตลาดทุกแห่ง รวมทั้งในสหรัฐ พร้อมย้ำว่า จีเอ็มยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซูซูกิ
ซูซูกิ และจีเอ็ม เป็นหุ้นส่วนกันตั้งแต่ปี 1981 และมีโรงงานที่ลงทุนร่วมกันในรัฐออนแทรีโอ ของแคนาดา
นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทยังแบ่งปันเทคโนโลยีร่วมกัน แต่เมื่อปี 2006 จีเอ็มลดการถือหุ้นในซูซูกิลงเหลือร้อยละ 3
จากร้อยละ 20
ปัญหาที่ยังรอการแก้ไขก็คือ ซูซูกิเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีมียอดเงินที่ให้สินเชื่อ การลงทุน และการค้ำประกันหนี้
แก่ทางจีเอ็มและบริษัทในเครือรวม 71,600 ล้านเยน (ราว 25,364 ล้านบาท). โดยในจำนวนนี้ เป็นวงเงินกู้ยืม
29,400 ล้านเยน ซูซูกิ เองกังวลว่า อาจไม่ได้รับชำระคืนหรืออาจชำระคืนล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งทำให้ซูซูกิอาจต้อง
กันสำรองหนี้สูญส่วนนี้ แต่คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะยังไม่ขาดทุน เนื่องจากตลาดในอินเดียยังไปได้ดีมาก
ขณะเดียวกัน ทางด้านอีซูซุ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ในการพัฒนารถยนต์นั่ง
และรถกระบะ กับจีเอ็ม มาตั้งแต่ปี 1970 แถลงว่า อาจไม่สามารถเรียกเก็บเงิน 1,650 ล้านเยนในบัญชีเงินค้างรับจากลูกหนี้
ที่ปล่อยให้แก่จีเอ็ม ได้เช่นเดียวกัน
และในเวลาเพียงช่วงข้ามคืนจากนั้น ด้วยการทำงานอย่างหนักของฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเอเจนซีที่เกี่ยวข้อง
ทำให้ งานแถลงข่าว ประกาศจุดยืน ของ จีเอ็ม ประเทศไทย และ จีเอ็ม อาเซียน ที่จัดขึ้น ช่วงเช้า วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
ณ โรงแรม โฟว์ซีซัน ราชประสงค์ (รีเจนท์ เก่า) ผ่านพ้นไปด้วยดี งานนี้ มร. สตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
และมร. อันโนนิโอ ซาร่า รองประธานฝ่ายขาย การตลาด และบริการหลังการขาย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง
เนื้อหาใจความหลักๆ ในการแถลงข่าว นั้น มีอยู่ไม่กี่เรื่อง โดยหลักแล้ว เป็นการตอกย้ำ ให้มั่นใจกันอีกว่า
กระบวนการฟื้นฟูกิจการ Chapter 11 เกี่ยวเนื่องกับจีเอ็มคอร์ป ในสหรัฐฯเท่านั้น และไม่มีผลใดๆกับ
กิจการ จีเอ็ม ในไทย และในอาเซียน
อีกทั้งยังมีการ ระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัท “จีเอ็ม ใหม่” นี้ ยังมีสถานะเป็นบริษัทแม่แห่งใหม่
ของจีเอ็ม เอเชีย แปซิฟิก ซึ่งก็รวมถึงจีเอ็ม ประเทศไทย และจีเอ็ม อาเซียนด้วย
ที่สำคัญ ทาง จีเอ็ม ประเทศไทย ยังพยายาม จะอธิบาย ให้สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไปได้เข้าใจตรงกันเสียใหม่
ให้ถูกต้อง เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย Chapter 11 ของสหรัฐฯว่า ไม่ได้หมายถึง บริษัทฯจะต้องชำระบัญชี
ล้มละลาย หรือจะต้องปิดกิจการ อย่างที่ มักเกิดขึ้นกับการล้มละลายขององค์กรธุรกิในบ้านเรา แต่ภายใต้ Chapter 11
บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจไปตามปกติ และบริหารงานโดยทีมผู้บริหารของจีเอ็ม ถึงแม้ว่ากฎหมายข้อนี้
จะไม่มีในหลายประเทศ แต่ถือว่ามีความสำคัญมากในสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมา มีบริษัทอเมริกันหลายแห่ง
ที่ประสบความสำเร็จหลังจากเข้าสู่กระบวนการ chapter 11
นอกจากนี้ จีเอ็มยังประกาศว่า เชฟโรเลต ะยังเป็นแบรนด์หลักในการทำตลาด ภูมิภาคอาเซียนต่อไป
โดยยังคงมีแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ในปีนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆเปิดตัวเพิ่ม
แต่ ในช่วงต้นปีหน้า ราวๆ เดือนมีนาคม 2010 คนไทย จะได้เห็น Chevrolet Cruze คอมแพกต์ซีดานรุ่นใหม่
จากฐานการวิจัยและพัฒนา GM Daewoo (GMDAT) ในเกาหลีใต้ เข้ามาขึ้นสายการผลิต ที่โรงงานของจีเอ็ม
ณ ปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยจะทำตลาดแทน Chevrolet Optra ที่เดินทางมาถึงปลายอายุตลาดแล้ว
โดยจะยังมีเครื่องยนต์ให้เลือกทั้ง 1.6 ลิตร 1.8 ลิตร และ อาจจะมี 2.0 ลิตร ดีเซล คอมมอนเรล ตามมาในระลอกหลัง
(ยังไม่มีในช่วงแรกที่เปิดดัว)
จากนั้น จึงจะเป็นคิวของ รถกระบะ Chevrolet Colorado รุ่นใหม่ เปลี่ยนโฉมทั้งคัน ซึ่งจะเปิดตัวราวๆ ปี 2011
รถกระบะรุ่นนี้จะใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร ซูเปอร์ชาร์จ ที่ผลิตขึ้นโดย โรงงานผลิตเครื่องยนต์
อันเป็นการร่วมทุนระหว่าง จีเอ็ม และ VM.Motori บริษัทผลิตเครื่องยนต์ตากอิตาลี ที่ตนไปซื้อหุ้นมา
เพื่อร่วมเป็น พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระยะยาว การลงทุนครั้งนี้ มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดย 1 ใน 3
จะลงทุนกับโรงงาน ส่วนที่เหลือ จะลงทุนกับการพัฒนาตัวรถ และสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง เงินจำนวนนี้
บางส่วนจะต้องต่อท่อ ไปยัง GM Brazil ซึ่งเป็นฐานการพัฒนาหลักของรถกระบะรุ่นใหม่นี้ และจะยังคง
ร่วมงานกับ Isuzu Motor ต่อไปเช่นเดิม เพียงแต่ จะลดสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกันลงไปจาก
รถรุ่น D-Max และ Colorado รุ่นปัจจุบัน
มร. สตีเฟน คาร์ไลส์ กล่าวว่า “ลูกค้าของจีเอ็ม ประเทศไทย สามารถเชื่อมั่นได้ในรถยนต์
รถกระบะ การบริการ รวมถึงการรับประกันได้ตามปกติ ขณะที่พนักงาน และซัพพลายเออร์ของจีเอ็ม ประเทศไทย
ก็จะได้รับเงินเดือน และค่าตอบแทนตามปกติ และจะไม่มีการปลด หรือปรับลดพนักงานเพิ่มเิติมจากนี้อีก”
กระนั้น ความสงสัย และคลางแคลงใจ ของสาธารณชน ก็จะยังมีอยู่ต่อไปในบางประเด็น
การใช้คำว่า “ประกาศเร่งปฏิรูปองค์กรผ่านกระบวนการศาลในสหรัฐฯ” เป็นคำที่จีเอ็ม เลือกใช้ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น
กับบริษัทแม่ของตัวเองในสหรัฐฯ แน่นอนว่า เป็นถ้อยคำที่สวยหรูมาก
แม้ว่า จีเอ็มเอง จะพยายามปฏิเสธ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบใดๆกับ จีเอ็ม ในเมืองไทย
แต่เอาเข้าจริงแล้ว น้ำเสียงของ สตีฟ คาร์ไลส์ ผู้บริหารสูงสุด ของ จีเอ็ม ประเทศไทย ก็ยังคง ไม่กระจ่างนัก
จนนักข่าวหลายๆคน ยังพากันบ่นอุบ ว่า “คุณคาร์ไลส์ พูดมาเนี่ย เขียนข่าวยากจัง จับประเด็นไม่ได้เลย”
ถ้า บริษัทแม่ที่สหรัฐฯ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดจริงๆ ตามที่เขียนลงในเอกสารข่าวแจก
แล้วที่ผ่านมา ทำไมถึงได้ขาดทุนบักโกรกมากมาย อย่างที่มีรายงานข่าวออกมาเต็มไปหมดกันอยู่เนี่ยละ?
ขณะเดียวกัน การแถลงว่า “เรามีการดำเนินงานที่เป็นอิสระจากจีเอ็ม คอร์ป เรามีศักยภาพ ทรัพยากร
และเทคโนโลยีพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปด้วยตนเอง” นั้น จริงหรือ?
งั้น การเข้าพบนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วละ มันหมายความว่าอย่างไร?
ก็หมายความว่า ตอนนี้ จีเอ็ม ประเทศไทย เอง ก็กำลังดิ้นรน หาแหล่งเงินกู้ มาใช้เดินหน้าธุรกิจของตนเองต่อไปนั่นเอง
เพราะ ตอนนี้ เงินทุนที่ต่อท่อน้ำเลี้ยง มาจากบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ถูกตัดขาดลง ไปในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สารพัดโครงการ ชะลอ
และถึงขั้นหยุดชะงักกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะ โครงการ J300 หรือ เชฟโรเลต ครูซ รวมทั้ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล
ที่เพิ่งแถลงข่าวกันไปเมื่อ ปลายปีที่แล้ว 2 โครงการนี้ถึงขั้นต้องหยุดพักชะงักงันกันกลางคัน
อย่างไรก็ตาม มร.คาร์ไลส์ แถลงเอาไว้ อย่างชัดเจนนั่นเองว่า จีเอ็ม ไม่ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลไทย
แต่ ขอให้ช่วย สร้างความเชื่อมั่นกับสถาบันการเงิน ที่จีเอ็มกำลังเจราจาอยู่ ว่ายังไงๆ ก็จะยังทำธุรกิจในบ้านเราต่อไปแน่ๆ
สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ไป ถ้าจะมองเฉพาะผลที่จะต้องเกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภคเมืองไทย มีเพียงไม่กี่ประเด็น นั่นคือ
– จีเอ็มจะหาแหล่งเงินทุนจากไหน มาเป็นสายป่านต่อยอดธุรกิจของตนที่ยังคั่งค้างอยู่ ให้ดำเนินต่อไป?
ในประเด็นดังกล่าว คาดว่า อีกไม่นานหลังจากนี้ น่าจะมีการประกาศ จากสถาบันการเงินชั้นนำของไทยบางแห่ง
ที่จะ อนุมัติเงินกู้ให้กับ จีเอ็ม ได้เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในไทยต่อไป เพียงแต่ตอนนี้ ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา
และได้แต่หวังเพียงว่า เงินทุนก้อนนี้ น่าจะเพียงพอในการยืดอายุ จีเอ็ม ในบ้านเรา ได้อีกพักหนึ่ง จนกว่าจะถึงเวลา
ประกาศ เปิดตัวบริษัทแห่งใหม่ (หรือ ชื่อในตอนนี้คือ นิว จีเอ็ม) ราวๆ เดือนกันยายนที่จะถึงนี้
แต่อีกประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ
– จีเอ็ม จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ได้มากแค่ไหน ว่า ตนเองจะยังอยู่ทำธุรกิจในไทยต่อไป
ผมมองดู ก็รู้ว่า ยังไงๆ จีเอ็มยังยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดรถยนต์เมืองไทย ช่วงเวลาตั้งแต่ปีนี้ ถึง ปี 2011
แต่หลังจากนั้นละ? จะเป็นอย่างไร?
การออกมาแถลงยืนยันว่า หลังจากนี้ จะมีการ เปิดตัวแคมเปญพิเศษเพื่อกระตุ้นการจำหน่าย
การบริการหลังการขาย และความเชื่อมั่นของลูกค้า คือสิ่งที่พวกเขา กำลังจะทำต่อไป
เราได้แต่หวังว่า ถ้ามีการจัดการ ด้าน Crisis Management ที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นกรณีศึกษา
สำหรับองค์กรอื่นๆต่อไป แต่ถ้าไม่อาจทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ละ? ผลลัพธ์ตรงกันข้ามก็คงจะเกิดขึ้น
และมันอาจจะกลายเป็นจุดจบของ จีเอ็มในไทย อย่างถาวร ซึ่งเป็นภาพที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะผู้บริโภค ที่เคยไว้เนื้อเชื่อใจ และซื้อรถยนต์เชฟโรเลตไป ด้วยความเข้าใจว่าเป็นภาพลักษณ์
ของรถอเมริกัน (ทั้งที่จริงแล้ว เป็นผลจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรที่ตนมี ในเกาหลีใต้
(GMDAT) พัฒนารถยนต์ขึ้นมาให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และสอดค้องกับรสนิยมของ
ลูกค้าในเอเซีย)
ในเมื่อ จีเอ็ม ในอเมริกา ยังทำในสิ่งที่ ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำ อย่างการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายได้
แล้ว นับประสาอะไรกับอนาคต ที่ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย?
——————————-///———————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์โดยผู้เขียน
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
3 มิถุนายน 2009
รายละเอียด เรื่องการปรับโครงสร้างต่างๆ ของ จีเอ็ม สามารถเข้าไปชมได้ที่