โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานหรือ Ecocar เป็นโครงการที่หลายคนรอคอยมากที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ ดำริเริ่มแรกเกิดจากยุครัฐบาลทักษิณในปี 2004 ที่ต้องการให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถราคาประหยัดผ่อนแค่เดือนละ 4-5 พันบาทเท่านั้น จุดประสงค์หลักคือต้องการขยายขีดความสามารถอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่ระดับโลกไกลกว่านี้

การริเริ่มครั้งนั้นจะมีอุปสรรคยากลำบากเรื่อยมาตลอดจนกล่าวขานกันว่าผู้ที่เสียประโยชน์จากโครงการนี้คือผู้ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมกับการผลิตรถเล็กในไทยเลย จนกระทั่งมิถุนายน 2007 โครงการอีโคคาร์ภายใต้รัฐบาลชั่วคราวก็สำเร็จลุล่วงอย่างดีแม้จะมีรายการจูนไม่ตรงกันระหว่าง BOI และกระทรวงการคลังที่ยังตกลงเรื่องอัตราภาษีไม่ลงตัวนักแต่สุดท้ายก็สรุปที่ 17% เริ่มใช้ตั้งแต่ตุลาคม 2009

กฏเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้ที่สนใจมากทั้งละเอียดและลงทุนสูงได้แก่
-ขนาดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
-ปริมาณการผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันในปีที่ 5 (ปีที่ 1-4 ผลิตจำนวนที่เท่าไรก็ได้)
-บังคับผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์หลัก จาก 4 ใน 5 ชิ้นที่กำหนดคือ ฝาสูบ,เสื้อสูบ,เพลาข้อเหวี่ยง,เพลาลูกเบี้ยว และก้านสูบ
-อัตราสิ้นเปลืองไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร และผ่านค่าไอเสีย Euro 4
-ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากการทดสอบการชนตามมาตรฐาน UNECE Reg.94 และ Reg.95

ข้อบังคับตกลงเหล่านี้แม้ส่วนใหญ่จะพอยอมรับกันได้ แต่บางค่ายแสดงเจตนารมย์ชัดเจนว่าข้อกำหนดเหล่านี้ไม่อาจจะมีใครทำได้นั่นคือ Toyota ที่ยังคงยืนยันว่ารถขนาดเล็กกว่า Vios และ Yaris ลูกค้าคนไทยไม่อาจยอมรับกันได้นอกจากราคาจะต้องจูงใจพอสมควร อีกทั้งจำนวนการผลิต 1 แสนคันต่อปีในปีที่ 5 นั้นมากเกินไปตลาดส่งออกรถเล็กเหล่านี้ไม่น่าจะมีมากนัก เพราะเจ้าถิ่นแถบนั้นก็มีโรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดโดยไม่ต้องนำเข้าจากไทย ขนาดรถเล็กของตนเองยอดผลิตต่อปีรวมกันยังไม่ถึง 1 แสนคันต่อปีเลย

สวนทางกับฮอนด้าที่หมายมั่นปั้นมือให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถเล็กในภูมิภาคนี้(เสียที)หลังจากพยายามตะล่อมรัฐบาลให้ตกลงปลงใจตัดสายสะดือรถเล็กอีโคคาร์เสียที จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมฮอนด้าถึงยื่นขอรับการลงทุนจาก BOI เป็นรายแรกก่อนทุกค่ายจนเป็นที่วิตกว่า ฮอนด้าไม่คิดจะแบ่งให้คนอื่นกินเค้กก้อนนี้บ้างแน่ ๆ

จากนั้นไม่นาน นิสสันและซูซูกิ เป็นผู้ได้รับอนุมัติตามฮอนด้าติด ๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2007 ตามมาด้วย ทาทา,มิตซูบิชิและโตโยต้าถูกอนุมัติในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 น่าสังเกตว่าโฟล์คสวาเก้นที่ดูจะจริงจังอยากเข้าร่วมโครงการนี้กลับไม่ถูกพิจารณาอนุมัติพร้อม ๆ กับค่ายอื่น ๆ เพราะความไม่แน่นอนของตลาดอีโคคาร์และความไม่พร้อมเป็นหลัก

เหตุการณ์เหล่านั้นผ่านมาเกือบ 2 ปี ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่แปรปรวนช่วงปลายปี 2008 ย่อมส่งผลกระทบกับวงการรถยนต์ประเทศไทยไม่มากก็น้อยทำให้โครงการรถใหม่ต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไปเพื่อตรวจสอบความแน่ใจว่า เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่

อีโคคาร์ก็เช่นกันย่อมไม่พ้นอิทธิพลพายุเศรษฐกิจโลกพัดพาให้ซวนเซอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งรถเล็กราคาถูกมากเท่าไร กำไรต่อคันก็ยิ่งน้อย เพราะต้นทุนการพัฒนาไม่แตกต่างจากรถที่ใหญ่กว่ามากนัก ไม่ใช่ยิ่งเล็กยิ่งถูกแบบที่หลายคนเข้าใจผิด พร้อมทั้งเหตุผลใหญ่ ๆ หลายข้อที่ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เลื่อนแผนการณ์ผลิตออกไปก่อนจนกว่าจะแน่ใจว่าเปิดตัวได้ถูกเวลาจริง ๆ

ในเมื่อใกล้เวลาที่ภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์ 17% จะเริ่มถูกบังคับใช้อีกไม่นาน Headlightmag.com จึงเจาะลึกแผนการเปิดตัวของค่ายรถอีโคคาร์ทั้ง 6 รายว่าเตรียมความพร้อมกันแค่ไหน

TOYOTA

ยักษ์ใหญ่ร่างใหญ่สุดที่ต่อต้านกระแสอีโคคาร์มาตลอดก็เข้าร่วมโครงการแบบรถด่วนขบวนสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการนี้คือกลัวเสียส่วนแบ่งทางการตลาด การถือสิทธิ์นี้มีอายุถึง 8 ปีหากไม่สามารถผลิตได้ทันเวลาตามที่แจ้ง BOI  สิทธิ์ผู้ผลิตอีโคคาร์ก็ยังไม่ขาด หรือหากไม่ทำจริง ๆ จะไม่สูญเงินค่าปรับโครงการมาก

สิ่งที่ทำให้ยักษ์ใหญ่หนักใจถึงขั้นคิดหนักคือ Toyota ไม่สามารถผลิตอีโคคาร์ 1 แสนคันในปีที่ 5 ตามที่รัฐกำหนดเพราะหาตลาดส่งออกในปริมาณมากไม่ได้  แม้กระทั่ง Vios และ Yaris ยอดผลิตรวมกันต่อปียังไม่ถึง 1 แสนคัน เมื่อทำผิดกฏการลงทุน Toyota จะต้องเสียค่าปรับตามข้อตกลง

ขนาดของตัวถังเป็นปัจจัยหลักที่น่ากังวล มันจะต้องเล็กกว่า Yaris และ Vios พอสมควรแต่ราคาขายไม่แตกต่างเกิน 1.5 แสนบาททำให้ลูกค้านำไปเปรียบเทียบกับรถที่ขนาดใหญ่กว่า เครื่องยนต์ใหญ่กว่า เหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า ไม่น่าจะดึงดูดให้ลูกค้าหันมาซื้อใช้

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ทำให้การลงทุนต่าง ๆ บริษัทแม่ต้องมั่นใจว่าได้กำไรและมีตลาดรองรับแน่นอน โตโยต้าจะไม่ทุ่มงบลงทุนเพื่อให้เป็นที่ 1 ในทุกตลาดเหมือนในอดีต แต่กำไรและการอยู่รอดกับสภาวะแบบนี้คือทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อนั้นจะลงทุนโครงการใหญ่ก็ยังไม่สาย

ดังนั้น ใครที่คาดหวังว่าโตโยต้าจะนำอีโคคาร์เข้าสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้ ผมคงต้องบอกว่างานนี้รอยาวมากจนไม่อยากรอเลยทีเดียว เร็วสุดคือปี 2013 แต่ถ้าช้าสุดคือปี 2015 เพื่อหลีกทางให้โครงการ IMV2 เปิดตัวปี 2014 อย่างยิ่งใหญ่ไปก่อน หรือหากไม่พร้อมจริงมีความเป็นไปได้ว่าจะยกเลิกสิทธิ์ผลิตอีโคคาร์

HONDA

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อันดับ 2 แสดงเจตจำนงชัดเจนมากว่าสนับสนุนการเกิดของอีโคคาร์เต็มลำ ด้วยความพร้อมของการพัฒนารถยนต์ที่รวดเร็ว วางยุทธศาสตร์รถเล็กระดับ A-segment หมายมั่นปั้นมือให้ไทยและอินเดียเป็นฐานผลิตหลัก

ความเคลื่อนไหวที่สร้างกระแสได้ดีที่สุดคือ ฮอนด้าประกาศข่าวข้ามปีว่าเป็นรายแรกที่สามารถเปิดตัวอีโคคาร์รายแรกภายในปลายปี 2009 ผู้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนคือ เอเชียนฮอนด้า ไม่ใช่ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทยซึ่งเกี่ยวพันกับโครงการนี้ลึกซึ้งกว่า

กาลเวลาผ่านทำให้พบว่าฮอนด้ายังไม่พร้อมที่จะเปิดตัวปลายปี 2009 ตามที่เป็นข่าว ด้วยสาเหตุที่ว่ารถยังไม่พร้อม ทั้งในเรื่องเทคนิค และการผลิต

จากการสืบข่าวทั้งหมดระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมปีนี้ ทำให้ปริศนาอีโคคาร์ของฮอนด้ากระจ่างทั้งหมด

รถรุ่นดังกล่าวใช้รหัสพัฒนาว่า 2CV อันเป็นธรรมเนียมของฮอนด้าที่จะต้องตั้งรหัสขึ้นต้นด้วยเลข 2 ตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัว แต่แผนการผลิตกลับไม่ใช่ปลายปี 2009 – ต้นปี 2010 อย่างที่เป็นข่าวกลับผลิตเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2011 ตามกำหนดคร่าว ๆ  ที่แจ้งให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายเท่านั้น

แต่โครงการ 2CV ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะผลิตออกมาช่วงมีนาคม 2011 ได้หรือไม่ เพราะบัดนี้ฮอนด้ายังไม่ตกลงว่าจะใช้โรงงานเก่า หรือโรงงานใหม่เป็นฐานประกอบในปีแรก อันเป็นปัญหาปวดหัวหลังสร้างโรงงานใหม่เสร็จในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาพอดี

อีกทั้งยังเลื่อนโครงการ Honda Civic โฉมใหม่รหัสพัฒนา 2HC จากปลายปี 2010 เป็นปลายปี 2011 ด้วยเหตุผลที่ว่ารถมันยังขายดีอยู่ การลากขายอีก 1 ปีให้คุ้มทุนไม่ใช่เรื่องเสียหายดีกว่าต้องลงทุนบนสภาวะความเสี่ยง

ยิ่งรถอีโคคาร์กำไรน้อยเช่นนี้หากเปิดขายออกตลาดโลกในช่วงที่ไม่เหมาะสมจำนวนการผลิตปีแรกไม่ถึงเป้า ปีถัดไปก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ฮอนด้าจึงรอโอกาสให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นมาสักหน่อยจึงพร้อมส่งคำสั่งชิ้นส่วนได้

ดังนั้น อีโคคาร์ของฮอนด้ามีแนวโน้มว่าจะเปิดตัวปี 2011 เป็นอย่างเร็ว – ต้นปี 2012 เป็นอย่างช้า ซึ่งน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่าเพราะไม่อยากให้ Civic ใหม่รหัส 2HC กลบกระแสอีโคคาร์

NISSAN

 

Nissan อดีตมีภาพลักษณ์ที่เชื่องช้าเนื่องจากส่งสินค้าไม่ทันกับความต้องการ เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5 ปีก็พอจะทำให้นิสสันตามตลาดโลกได้ทันกับเขาบ้างโดยเริ่มจาก Teana โฉมใหม่ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดคงจะหนีไม้พ้นการเป็นว่าที่ผู้นำอีโคคาร์รายแรกโดยมิได้นัดหมาย

มิใช่เพราะนิสสันเร่งตนเองให้เร็วขนาดนั้นแต่เป็นเพราะวางแผนเตรียมการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถเล็กของโลกร่วมกับ อินเดีย จีน รวมทั้งเมกซิโกและประเทศที่ไม่เอ่ยนามอีก 1 แห่ง มานาน 4 ปีแล้วภายใต้โปรเจคท์ A-platform 

จุดเด่นและโอกาสทางธุรกิจคือการลดต้นทุนลงได้มากถึง 30% เพราะ 5 ประเทศเหล่านี้ค่าแรงต่ำ,การขนส่งสะดวก นิสสันต้องย้ายฐานการผลิตจากประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ ญี่ปุ่น และอังกฤษมายังประเทศเหล่านั้นทั้งกระบิ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อรถยอดนิยมเหล่านั้นกลับต้องนำเข้าจากประเทศต้นทุนต่ำแทน

Nissan March Modelchange โฉมที่ 4 รหัสพัฒนา X02A เป็นโมเดลแรกในตระกูล A-platform ตามแผนธุรกิจ GT2012 เปิดตัวที่ไทยที่แรกในโลก หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ จะเปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน จุดเด่นของ A-platform คือใช้เนื้อที่น้อย น้ำหนักเบา และต้นทุนต่ำ

ตลาดส่งออก X02A ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะงานนี้จะใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกที่ญี่ปุ่น (โมเดลปัจจุบันญี่ปุ่นจะประกอบป้อนตลาดในประเทศและส่งออกบ้างเล็กน้อย) จำนวนราว 4,000-5,000 คันต่อเดือน เมื่อรวมกับยอดผลิตทั้งไทย,อาเซียนและโอเชียเนีย จึงไม่ยากเลยที่จะทำยอดผลิตเฉียดหรือทะลุ 1 แสนคันในปีสองปีแรก

กำหนดเปิดตัว Nissan March Generation ที่ 4 คือเดือนมีนาคม 2010 ทำให้นิสสันพลิกบทบาทเป็นผู้นำตลาดรถเล็ก Segment  Ecocar ทันที ส่วนรายละเอียดเจาะลึกเป็นอย่างไร Headlightmag ขอนำเสนอความเคลื่อนไหวล่าสุด ด้วยภาพสเก็ตช์ ที่นิสสันญี่ปุ่นปล่อยออกมาแล้ว เมื่อ 1 ตุลาคม ข้างล่างนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม เชิญคลิกอ่านต่อได้ที่นี่