ถ้าใครไปเยือนงาน B.O.I. Fair ที่ลาน P9 เมืองทองธานี ช่วงต้นเดือนมกราคม 2012 ที่ผ่านมา
และได้มีโอกาส เข้าเยี่ยมชม Chevrolet Pavillion คงจะพอจำได้ว่า นอกเหนือจากภาพยนตร์
Animation 3D ที่ยกมาจากงาน EXPO ที่เมืองจีน มาแปลเป็นภาษาไทย กับรถต้นแบบพลัง
ไฟฟ้า EN-V ที่มาจอดบนแท่นหมุนอยู่ 2 คันแล้ว
ยังมีรถยนต์ Sedan สีแดงแจ๋ จอดเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในห้องปรับอากาศ อย่างสงบๆ 1 คัน หน้าตา
ของมัน จะล้ำยุคไปเลยก็ไม่ใช่ จะเฉิ่มเชยก็ไม่เชิง และมีหลายคนที่หยุดยืนดูรถคันนี้กัน
เป็นจำนวนไม่น้อย
ในรอบสื่อมวลชน ผม และ The Coup Team ของ Headlightmag.com ต่างพากันผุดลุกผุดนั่ง
รถคันสีแดง อย่างสนุกสนาน และได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆมากมาย จนได้แต่หวังเอาไว้ว่า สักวัน คงจะได้
มีโอกาส ลองขับกันบนถนนเมืองไทย จริงๆ เสียที ไม่ว่ามันจะเป็นพวงมาลัยซ้ายหรือขวาก็ตาม
เวลาผ่านไป 8 เดือน กำลังจะล่วงเข้าสู่เดือน 9 รถคันสีแดง จอดเก็บตัวอยู่เงียบๆ ในพื้นที่
เฉพาะของ General Motors Thailand มานาน จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน พี่น้องร่วม
สายพันธุ์ คันสีขาว รุ่นปี 2012 ถูกสั่งนำเข้ามา เพื่อร่วมทีมกับรถคันสีแดง ในการเตรียม
โปรโมท เทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบ Plug-in HYBRID ที่ GM กล้ายืนยันว่า มันเหนือชั้น
กว่ารถยนต์ HYBRID ทั้งของ Toyota และ Honda ที่เพิ่งจะมีการผลิตในประเทศไทย และ
ออกขายในบ้านเรากันเอง ณ ช่วงนี้
มาวันนี้ GM Thailand พร้อมแล้ว ที่จะเปิดโอกาสให้ สื่อมวลชนชาวไทย ได้ลองขับรถยนต์
Sedan คันที่ว่านี้ ในแบบ Touch & Feel กันก่อน บนพื้นที่อันร้อนระอุ แสงแดดแผดเผา
ใจกางกรุงเทพมหานคร ฝั่งตรงข้ามของ อาคารรสา สำนักงานใหญ่ของ GM Thailand
เองนั่นแหละ
ครับ….เรากำลังพูดถึง Chevrolet VOLT ผลผลิตสำคัญที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง ในรอบ 100 ปี
ของ GM และ Chevrolet ที่มาจอดท้าทายแสงแดดด้วยสีขาวโพลนอย่างนี้
เชื่อว่า หลายคน คงอยากรู้ ว่ามันต่างจากรถยนต์ HYBRID หรือ รถยนต์ประหยัดพลังงาน
แบบอื่นๆ ที่เราเคยขับกันมาอย่างไร ต่างจากรถไฟฟ้าทั้งคันอย่าง Nissan LEAF และเจ้า
Mitsubishi i-MIEV แค่ไหน แล้วจะเป็นไปได้ไหม สำหรับการนำมาขายในเมืองไทยจริงๆ?
สัมผัสเบื้องต้น ในเวลาครึ่งชั่วโมง ก็น่าจะพอบอกเล่าให้คุณได้อ่านไว้ประดับความรู้บ้าง
ไม่มาก ไม่น้อย แต่พออร่อย หอมปากหอมคอ
Chevrolet Volt เป็นรถยนต์ 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า แบบ Extended-Range Electric
Vehicle ซึ่งถือเป็นรถยนต์นั่งรุ่นสำคัญที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ GM และแบรนด์
Chevrolet และวงการรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นรถยนต์อเมริกันแท้ๆ ที่พัฒนา
ขึ้นมาจากบทเรียนของการสร้างรถยนต EV1 ในปี 1996 จนได้รู้ข้อดีข้อด้อยต่างๆมากมาย
และทำให้ GM เลือกพัฒนา Volt ขึ้นมา ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากรถยนต์คันอื่นๆ ที่มีขาย
อยู่ในท้องตลาด แทบจะเกือบสิ้นเชิง
Volt เผยโฉมครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบ Chevrolet Volt ในงาน 2007 North American
International Auto Show หรือ Detroit Auto Show เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2007 พร้อมกันนี้ GM
ประกาศว่า จะสร้างเวอร์ชันผลิตจำหน่ายจริงของ Volt ออกสู่ตลาดในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น
เวลาผ่านไป 1 ปี กับ 9 เดือน หลังการพัฒนาอย่างคร่ำเคร่ง GM ก็เปิดตัว Volt เวอร์ชันขายจริง
ในรูปลักษณ์ตัวถังภายนอก ที่แตกต่างไปจากเวอร์ชันต้นแบบโดยสิ้นเชิง (สวยกว่ากันมาก)
กลางงานฉลองครบ 100 ปี GM Centenial Celebration เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2008 งานนี้
GM บอกว่า มีการปรับรูปลักษณ์และระบบขับเคลื่อนของตัวรถให้เข้ากับการใช้งานในชีวิต
ประจำวันจริงของผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น
แต่ GM ไม่ได้คิดแค่จะทำ Volt ขายแค่ในสหรัฐอเมริกา เพราะเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2009 คู่แฝด
สำหรับตลาดยุโรปในชื่อ Opel/Vauxhall Ampera ถูกเปิดตัวในงาน Geneva Motor Show 2009
ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อยืนยันว่า GM ต้องการจะทำตลาด Volt ในยุโรปอย่างจริงจัง โดย
ใช้ชื่อยี่ห้อที่ชาวยุโรป คุ้นเคยกันดีว่านี่คือรถของ GM
อย่างไรก็ตาม กว่าจะพร้อมวางขายจริงได้ GM ก็ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ตามกำหนดการเดิม
จะต้องถูกนำไปเริ่มสายทดลองการผลิต Pre-Production เพื่อทดสอบก่อนวางจำหน่ายจริงในเดือน
มิถุนายน 2009 อย่างไรก็ตาม ในเดือนนั้น GM ประกาศว่าตนเอง เข้าสู่ภาวะล้มละลาย และต้อง
เข้าสู่ข้อกฎหมายที่เรียกว่า Chapter 11 เพื่อฟื้นฟูกิจการ ทำให้โครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่
หลายรุ่น รวมทั้ง Volt ต้องชะงักไปหลายเดือน เพื่อสะสางปัญหาให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเริ่มต้น
กลับมาเดินหน้าโครงการต่อไปอีกครั้ง
ผ่านไปอีก 2 ปีเต็ม GM ก็พร้อมเริ่มแคมเปญโฆษณาทั่วประเทศ และเปิดรับจอง จากลูกค้าใน
สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2011 ก่อนจะเริ่มต้นส่งมอบ Volt ให้ลูกค้าได้ทั้งในทวีป
อเมริกาเหนือ รวมทั้งแคนาดา ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2011 ที่ผ่านมา
รูปลักษณ์ภายนอก บนตัวถังที่มีความยาว 4,498 มิลลิเมตร กว้าง 1,788 มิลลิเมตร สูง 1,430
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,685 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,556 มิลลิเมตร ส่วน
ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง 1,578 มิลลิเมตร ระยะโอเวอร์แฮงก์ด้านหน้า 993 มิลลิเมตร และ
ระยะโอเวอร์แฮงก์ด้านหลัง 820 มิลลิเมตร
หากเปรียบตัวเลขต่างๆเหล่านี้จะพบว่า Volt มีขนาดตัวถัง ที่ควรถูกจัดอยู่ในพิกัดเดียวกับ
รถยนต์นั่งขนาดมาตรฐานคือ C-Segment Compact หรือ CD-Segment อธิบายให้เข้าใจ
ง่ายขึ้นก็คือ มันคร่อมและคาบเกี่ยวกันกับรถยนต์ อย่าง Toyota Corolla และ Toyota Camry
หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายยิ่งกว่านี้ อีก ก็ต้องบอกว่า มันคือตัวรถในพิกัดเดียวกับ Toyota Corona
หรือ Nissan Bluebird ในยุคก่อนๆ นั่นแหละ เพียงแต่ว่า สมัยนี้ มันควรถูกเปรียบเทียบกับ
Toyota Prius , Volkswagen Golf, Opel/Vauxhall Astra ฯลฯ นั่นละครับ
ทีมออกแบบของ GM พยายามออกแบบเส้นสายของ Volt ให้ลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีการทุ่มเททดสอบอย่างหนักภายในอุโมงค์ลมครั้งแล้วครั้งเล่า
ทั้งตัวรถทั้งคันหรือชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งการปะทะลมที่ด้านหน้าตัวรถ ด้านท้ายรถ สปอยเลอร์หลัง
ส่วนโค้งของหลังคา และกระจกมองข้าง ผลลัพธ์ที่ได้ คือ Volt กลายเป็นรถยนต์ที่ ลู่ลมที่สุด
ในประวัติศาสตร์ของ แบรนด์ Chevrolet ที่เคยมีการผลิตออกขายจริง ด้วยสัมประสิทธิ์แรง
เสียดทานอากาศ Cd 0.287
การเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก ทำได้ในระดับที่พอจะให้ความสะดวก
กับคนที่มีสรีระร่างใหญ่นิดๆอย่างผม และฝรั่งตัวใหญ่ อย่างคุณโลรองต์ ก็ยังสบายอยู่ แต่ต้อง
ระวังนิดนึง ถ้าเบาะนั่งคนขับ ปรับยกไว้สูง โอกาสที่หัวจะชนขอบหลังคา ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน
ส่วนการเข้า – ออกจากประตูคู่หลัง ยังถือว่า ค่อนข้างเล็ก และต้องก้มหัวลงมาเยอะกว่าปกติ เพื่อ
ไม่ให้ศีรษะของคุณ ไปโขกกับขอบหลังคาด้านบน ครั้นจะเหวี่ยงขา เพื่อก้าวเท้าออกจากรถ ก็
ยังต้องอาศัยความระมัดระวังอยู่ เพื่อไม่ให้ขอบรองเท้าไปปาดถูถูกขอบล่างของแผงประตูคู่หลัง
ชวนให้นึกถึงรถยุโรปยุคก่อนๆ อย่างพวก Audi A4 รุ่นแรก หรือ BMW หลายๆรุ่น ที่ผ่านมา
ตำแหน่งการวางแขน ทั้งบนแผงประตู และบนฝากล่องเก็บของบนคอนโซลกลาง ซึ่งออกแบบมา
ให้เป็นที่วางแขนในตัว วางได้อย่างสบาย พอดี เป็นเช่นนี้ทั้งแผงประตูคู่หน้า หรือแผงประตูคู่หลัง
เบาะนั่งคู่หน้า ให้สัมผัสที่ใกล้เคียงกับ รถเก๋ง Chevrolet รุ่นใหม่ๆ ทั้ง Cruze และ Sonic นั่นคือ
ถ้าคุณปรับเบาะนั่งลงต่ำสุด ขอบเบาะจะเงยขึ้นมารับกับต้นขาของผมมากไปสักนิด ดังนั้นต้อง
ปรับเบาะรองนั่งให้สูงขึ้นมาอีก 1-2 จังหวะ จะรองรับกับสรีระของผมได้พอดี โดยที่ตำแหน่ง
ของเบาะรองนั่ง ก็ยังเตี้ยอยู่ ในระดับที่พอยอมรับได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ยังมีอยู่ ไม่ถึงกับ
โปร่ง แต่ก็พอให้สอดฝ่ามือเข้าไปได้ 1 ฝ่ามือนิดๆ แน่นอน ถ้าคุณสูงประมาณ 170 เซ็นติเมตร
แต่ต่อให้สูงกว่านี้ ระดับคุณ โลรองต์ ซึ่งจากที่เก็งๆไว้ น่าจะมี เกิน 180 เซ็นติเมตรขึ้นไปนิดๆ
ก็ยังนั่งได้สบาย หัวไม่ติด ไม่มีปัญหาแน่นอน
เข็มขัดนิรภัยปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้ แต่ต้องใขช้วิธีการปรับเบาะให้เข้าหาตำแหน่งที่ถูกต้องเอง
มามุขเดียวกับ BMW รุ่นก่อนๆ เลยคราวนี้ พนักศีรษะ มีปุ่มกด สำหรับรองรับการดันศีรษะว่าอยาก
จะให้ดันมาก หรือดันมากที่สุด หรือจะดันในระดับดันทุรังจนคอจะยื่นล้ำมาข้างหน้าเป็น E.T
ในรถคันที่นำเข้ามาจัดแสดงในเมืองไทย ทั้ง 3 คัน เบาะนั่งจะปรับระดับสูง-ต่ำ และปรับเอน
รวมทั้ง เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ด้วยกลไกระบบอัตโนมือเท่านั้น
เบาะหลัง แม้ว่าจะนั่งได้ดี และรองรับสรีระได้พอเหมาะ แต่ยังมีเบาะรองนั่งที่ ยังไม่ถึงกับนั่งได้
เต็มขานัก แถมการตกแต่งด้านหลังค่อนข้างแน่นไปด้วยวัสดุ กับแผงประตูที่มีความหนาเอาเรื่อง
กอปรกับมีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่ราวๆ 1-2 นิ้ว ก็จริง แต่ขอบหลังคาด้านบน มิได้กินพื้นที่มา
คลุมถึงศีรษะของผู้โดยสาร นั่นเท่ากับว่า ต่อให้จะมีการติดตั้งฟิล์ม ลายจุด บริเวณด้านบนของ
กระจกบังลมหลัง กันความร้อนให้ส่วนหนึ่งแล้วก็ตามที คนนั่งด้านหลัง อาจต้องทนให้แสงแดด
แผดเผาหนังศีรษะอยู่บ้าง ในวันที่แดดร้อนจัดๆ
นี่ถ้าเป็นคนหัวล้าน นั่งอยู่ ใครที่ขับรถตามหลัง Volt มา คงตกใจ นึกว่ามีพระอาทิตย์ดวงใหญ่
นั่งเป็นคันฉ่องส่องสะท้อนจากภายในรถแหงๆ!
ส่วนพื้้นที่วางขาของผู้โดยสารด้านหลังนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คนขับ และผุ้โดยสารด้านหน้า จะปรับ
เบาะนั่ง ถอยร่นลงมาด้านหลังมากน้อยแค่ไหน ถ้าถอยจนสุด บอกได้เลยว่า ไม่เหลือพื้นที่ให้
ผู้โดยสารบนเบาะหลังได้วางขาแน่นอน แต่ถ้าปรับอย่างเหมาะสม ก็จะมีพื้นที่เหลือให้อย่าง
เหมาะสม นี่เป็นปัญหาเดียวกับที่พบได้ใน BMW 5-Series ใหม่ รหัสรุ่น F10 และบรรดา
รถยนต์ยุโรป ที่ชอบทำภายในห้องโดยสารแน่นๆ อย่าง Ford Focus ใหม่ นั่นเอง
ส่วนเหตุผลที่เขาจัดวางเบาะนั่งไว้เพียงแค่ 4 ตำแหน่งนั้น เป็นเพราะขนาดของแบ็ตเตอรี
มันใหญ่โตและกินพื้นที่ไปมาก(ใหญ่แค่ไหน ค่อยๆอ่านไปเดี๋ยวก็รู้ครับ) ดังนั้น พื้นที่
ตรงกลาง เขาเลยจับทำเป็นช่องวางแก้ว และช่องใส่ของจุกจิก เป็นการทดแทนไปเลย
เบาะหลังสามารถพับได้ในอัตราส่วน 40/40 เพื่อให้เปิดทะลุต่อเนื่องกับพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ
ด้านหลัง (แหงละ ไม่มีเบาะอีก 20% ตรงกลางนี่หว่า) มีขนาดใหญ่พอจะจุถุงกอล์ฟขนาดใหญ่
ได้อย่างแน่นอน 1 ถุง ด้านข้าง มีช่องเก็บอุปกรณ์ประจำรถ และชุดปะยางมาให้
แผงหน้าปัดมาในรูปแบบล้ำสมัย แค่เพียงพกรีโมทกุญแจไว้กับคัว การติดเครื่องยนต์ ซึ่งควรจะ
เปลี่ยนเป็นประโยคที่ว่า “เปิดการทำงานของระบบขับเคลื่อน” จะเหมาะสมกว่านั้น ใช้วิธีกดปุ่ม
สีน้ำเงินเรืองแสงบริเวณ ล่างขวาของแผงควบคุมกลาง ส่วนสวิชต์เบรกมือไฟฟ้า ติดตั้งอยู่ใน
ตำแหน่งดียวกัน แต่อยู่ที่ฝั่งซ้ายมือ
มาตรวัด ถูกแทนที่ด้วยจอ LCD ขนาด 7 นิ้ว แสดงข้อมูลการทำงานของระบบต่างๆในรถอย่าง
ละเอียดมากกกกกกก แต่ดูเหมือนจะยังมีการจัดวางเลย์เอาท์หน้าจอในบาง Mode ไม่ค่อยเป็น
ระเบียบมากนัก จึงอาจทำให้ต้องใช้เวลาคุ้นเคย ในการอ่านข้อมูล จากตัวรถกันสักพักใหญ่ๆ
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หน้าตาคล้ายพวงมาลัยใน Cruze ฝั่งซ้าย เป็นสวิชต์ระบบควบคุม
ความเร็วคงที่ Cruise Control ฝั่งขวา เป็นสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบตอบรับของ
โทรศัพท์ Bluetooth ในรถ
มองไปทางฝั่งซ้าย ยังมีจอ Touch Scrren กลางคอนโซล ที่ติดตั้งในตำแหน่งเหมาะสม แสดง
ข้อมูลการทำงานของรถโดยละเอียด ตามแต่เราจะเลือกดู ทั้งการทำงานของระบบขับเคลื่อน
การคำนวนการใช้พลังงานไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงน้ำมันของรถ เป็นหน้าจอของเครื่อง
ปรับอากาศ จนถึงชุดเครื่องเสียง ต่างๆนาๆ
แผงควบคุมตรงกลาง ติดตั้งได้ทั้ง ระบบเครื่องเสียง Bose ความจุฮาร์ดไดรฟ์ 60 กิกะไบต์ รองรับ
AM/FM/DVD-ROM/CD/MP3 พร้อมลำโพง 6 ตัว และสามารถเชื่อมต่อเครื่องเล่นเพลงด้วยระบบ
Bluetooth หรือเลือกติดตั้ง วิทยุผ่านดาวเทียม XM Satellite พร้อมระบบนำทาง Navigation System
/Traffic/Weather ซึ่งล้ำสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์เวลานี้ หรือจะเลือกชุดเครื่องเสียงแบบ
ประหยัดพลังงานของ Bose พร้อมลำโพง 6 ตัวและซับวูฟเฟอร์ ก็ย่อมได้ แต่ต้องเลือกเพียงแบบใด
แบบหนึ่งเท่านั้น
คันเกียร์ ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของแผงควบคุมตรงกลาง ซ่อนเก็บไว้ใต้แผงควบคุม และเมื่อ
จะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ก็ดึงลากลงมายังตำแหน่ง P R N D เหมือนรถยนต์เกียร์อัตโนมัติทั่วๆไป
สิ่งที่อยากจะออกความเห็นเอาไว้สักหน่อยคือ แผงสวิชต์แบบนี้ดูสวยมาก เมื่อถ่ายภาพทำแค็ตตาล็อก
แต่ในแง่การใช้งานจริง ด้วยเหตุที่ เป็นสวิชต์ระบบสัมผัส คือ แทบจะไม่ค่อยมีปุ่มใดที่กดลงไปได้
ดังนั้น แม้จะทำเป็นปุ่มนูนขึ้นมา แต่ในการใช้งานจริง สวิชต์แบบนี้ อาจมีส่วนดึงความสนใจของ
ผู้ขับขี่ให้ละสายตาออกจากถนนได้มาก เพราะสวิชต์มีขนาดเล็ก และถ้าจะคลำหาขณะขับรถ
จะกลายเป็นว่า เผลอไปเปิดอุปกรณ์อย่างอื่น หรือฟังก์ชันอื่นที่ไม่ต้องการใช้งานเข้า ก็เป็นไปได้
ปัญหานี้ คล้ายคลึงกับแผงควบคุมกลางของ Ford Focus ใหม่ เพียงแต่รายนั้น สวิชต์ปุ่มนูนที่กด
ลงไปได้ มีขนาดเล็กเกินไป แต่ Volt นั้น สวิชต์ กดลงไปแล้ว ฟังก์ชันที่ต้องการ ทำงาน แต่ปุ่ม
มันไม่ได้ ยุบตัวลงไปพร้อมกับนิ้วมือเราด้วยเนี่ยสิ!
แต่ยังดีที่มีการออกแบบ ปุ่มหมุนเปิดปิด เครื่องเสียง และเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเปลี่ยนโหมด
การทำงาน อยู่ตรงกลา มาให้ 2 วงกลม ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาความปวดเศียรเวียนเกล้าในการ
ขับขี่ใช้งานจริงลงไปได้บ้าง
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
จุดเด่นที่ทำให้ Volt แตกต่างจากชาวบ้านเขา ก็คือ
– ในขณะที่รถยนต์ Hybrid ของ Toyota จะ ใช้เครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยกันหมุน
ล้อขับเคลื่อน ช่วยกันทำมาหากิน เป็นพระเอกคู่
– ส่วนรถยนต์ Hybrid ของ Honda ใช้เครื่องยนต์ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อนหลัก คือ
เป็นพระเอก และ ให้มอเตอรืไฟฟ้า ช่วยเสริม เป็นพระรอง ในบางโอกาส
– หรือ ในกรณีรถยนต์ ไฟฟ้า EV ล้วนๆ อย่าง Nissan LEAF และ Mitsubishi i-MIEV จะใช้
มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นพระเอกอย่างเดียว ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปเลย ซึ่งยังหาสถานีชาร์จไฟ
ยากอยู่ในปัจจุบัน
แต่ Volt….ไม่!
– เพราะ Volt ใช้วิธีประหลาด กลับกันกับชาวบ้านเขา คือ มอเตอร์จะทำหน้าที่พระเอกหลัก
ส่วนเครื่องยนต์ จะรับบทเป็นพระรอง ทำงานเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า ส่งให้ทั้ง มอเตอร์ และ
แบ็ตเตอรีของรถ เท่ากับว่า เครื่องยนต์ จะต้องทำตัวเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรี คอยทำงานเสริม
หรือออกงานการกุศล สมาคมแม่บ้านเจ็ดย่านน้ำแทน ในยามจำเป็น
ระบบขับเคลื่อนของ Volt ประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง?
– เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1,398 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.4 x 82.6 มิลลิเมตร
กำลังอัด 10.5 : 1 เสื้อสูบเป็นเหล็กหล่อ ฝาสูบทำจากอะลูมีเนียม มีระบบแปรผันวาล์วไอเสีย และ
แปรผันท่อร่วมทางเดินไอดี ลิ้นปีกผีเสื้ออิเลกโทรนิกสื หัวฉีดต่อเนื่องทำงานอิสระ (Sequential
Multi-point) มาพร้อมกับระบบ ฟอกไอเสีย Dual Catalytic Converter ระบบรักษาการจุดระเบิด
58x (58x ignition system) รางหัวฉีดมีระบบควบคุมรอบการหมุนของปั๊มเชื้อเพลิง (Returnless
Fuel Rail) และเซ็นเซอร์ควบคุมการผสมอากาศและเชื้อเพลิง (Fast light-off O2 sensor)
ให้กำลังสูงสุด 84 แรงม้าที่ 4,800 รอบ/นาที (รอบเครื่องยนต์สูงสุด 4,800 รอบ/นาที)
หน้าที่หลักของมัน คือ เอาไว้ปั่นไฟ เข้าแบ็ตเตอรี และถ้าไฟในแบ็ตเตอรีหมดเกลี้ยง มันจะต้อง
เข้ามาช่วยขับเคลื่อนรถ โดยส่งกำลังไปหมุนมอเตอร์ไฟฟ้าโดยตรง
– มอเตอร์ไฟฟ้าระบบขับเคลือนรถ ขนาด 111 กิโลวัตต์ และมอเตอร์กำเนิดไฟฟ้า 54 กิโลวัตต์
ถ้ารวมพละกำลังในระบบขับเคลื่อนทั้งระบบ (เครื่องยนต์ + มอเตอร์) แล้วจะอยู่ที่ 149 แรงม้า
(BHP) แรงบิดสูงสุด 368 นิวตันเมตร GM เคลมว่า ให้อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
เวลาเพียง 9 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– แบตเตอรี่เป็นแบบ Lithium-ion รูปตัว T ขนาดใหญ่ ยักษ์ และยาวสะใจถึง 1.6 เมตร มีน้ำหนักรวม
ถึง 198.1 กิโลกรัม ควบคุมอุณหภูมิด้วยของเหลว มีเซลส์ทั้งหมด 288 ปริซึม ติดตั้งตรงกลางลำตัวรถ
ต่อเนื่องไปจนถึงใต้เบาะหลัง แบตเตอรี่ลูกนี้ให้พลังงานไฟฟ้า 16 kWh เพื่อส่งต่อไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า
ของระบบขับเคลื่อน
จากการคำนวน ของ GM แบตเตอรี่ 16 กิโลวัตต์ ชั่วโมงของ Volt สามารถป้อนกำลังไฟให้ Tablet
อย่าง iPad ใช้งานได้นานต่อกันถึง 266 วัน และถ้าเป็น iPod Nano อาจจะใช้งานได้ยาวสุดถึง 112 ปี
หรือมากกว่าหนึ่งศตวรรษ! ก็ดูขนาดของมันสิครับ ทีนี้เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ทำไมจึงจัดเบาะนั่งได้แค่ 4 ที่?
GM รับประกันแบตเตอรี่ของ Volt นานถึง 8 ปี หรือ 160,000 กม. เพื่อเรียกความมั่นใจในหมู่ผู้บริโภค
พร้อมทั้งติดตั้งระบบระบายความร้อนให้แก่แบตเตอรี่ ให้ใช้ได้ทั้งในเมืองร้อนและเมืองหนาว และในปี
2013 ที่จะถึงนี้ Chevrolet Volt จะมาพร้อมกับปุ่มเข้าโหมด ‘Hold Drive’ ซึ่งจะเก็บพลังงานแบตเตอรี่เอาไว้
และใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเข้าสู่มอเตอร์ไฟฟ้าโดยตรง เพื่อเอาพลังงานที่เก็บไว้ ไปใช้ในถนนบางเขตที่มีการ
ควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง จนไม่สามารถติดเครื่องยนต์มาปั่นไฟได้ในช่วงที่ขับรถแล่นผ่านเขตนั้นๆ
หลักการทำงาน เป็นอย่างไร?
ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องปั่นไฟ จะถูกเชื่อมต่อผ่าน Planetary Gear และคลัทช์
อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้าง Mode การขับเคลื่อนให้ Volt 4 รูปแบบ ใน 4 ข้อนี้ (ถ้าอ่านตรงไหนไม่เข้าใจ
อ่านข้ามวงเล็บไปได้เลยครับ อ่านเฉพาะข้อความที่ผม ไฮไลต์สีน้ำเงินก็พอ เพราะข้อความที่อยู่ในวงเล็บ
เหมาะสำหรับคนที่สนใจในเชิงลึกเท่านั้น)
1. Mode มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว : มอเตอร์ไฟฟ้าลูกหลัก (111 kW แรงบิด 368 นิวตันเมตร) ดึงไฟในแบ็ตเตอรี
มาขับเคลื่อนตัวรถ ทั้งช่วงความเร็วต่ำ และสูง (เฟืองวงแหวนถูกล็อกและเครื่องสร้างกำลังไฟ/มอเตอร์จะ
แยกส่วนจากเครื่องยนต์และระบบเกียร์)
2. Mode มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ : ในความเร็วสูง เครื่องปั่นไฟฟ้าจะเปลี่ยนหน้าที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 54 kW เพื่อ
ช่วยมอเตอร์ไฟฟ้าหลักหมุนล้อ (เฟืองวงแหวนถูกปลดล็อกและเชื่อมต่อกับเครื่องสร้างกำลังไฟ/มอเตอร์ เพื่อ
ลดรอบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าหลัก ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอีกราว 3.2 กิโลเมตรในการขับขี่
บนไฮเวย์ )
3. Mode มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว ขยายระยะทาง (Extended Range) : พอไฟในแบตเตอรี่ขับเคลื่อนใกล้หมด เจ้า
เครื่องยนต์เบนซิน 1.4 ลิตร จะถูกสตาร์ทด้วยคลัตช์ตัวที่สาม เพื่อเข้ามาช่วยปั่นกระแสไฟให้มอเตอร์ไฟฟ้าหลัก
ขับเคลื่อนตัวรถ (เครื่องสร้างกำลังไฟฟ้าและแบตเตอรี่จะป้อนกำลังไฟให้แก่มอเตอร์ลากจูงด้วยตัวอินเวอร์เตอร์
และจะป้อนกำลังไฟให้แบตเตอรี่คงพลังไฟไว้ในระดับต่ำเท่านั้น)
4. มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ และเครื่องยนต์เบนซิน : เมื่อใช้ความเร็วสูง มอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 จะช่วยขับเคลื่อนตัวรถ
โดยมีเครื่องยนต์เบนซินปั่นไฟให้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการเค้นอัตราเร่งสูงสุด มอเตอร์ทั้ง 2 และเครื่องยนต์
จะช่วยสร้างกำลังขับเคลื่อน Volt
(คลัตช์จะทำหน้าที่เชื่อมต่อเครื่องสร้างกำลังไฟฟ้า/มอเตอร์ เข้ากับเครื่องยนต์และแหวนฟันเฟือง ผสมผสาน
เครื่องยนต์และมอเตอร์สองตัวด้วยชุดเฟือง Planetary ก่อนส่งไปยังเฟืองท้าย เพื่อขับเคลื่อน Volt ให้เคลื่อนที่
แม้แต่ในโหมดขยายระยะทาง Volt ก็จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ส่งกำลังโดยมอเตอร์ลากจูง เครื่องยนต์
จะไม่สามารถขับเคลื่อนตัวรถจนกว่ามอเตอร์ลากจูงจะได้รับพลังงาน นั่นเป็นเพราะว่าชุดเฟือง Planetary ถูก
ปรับเซ็ทมาสำหรับการส่งต่อแรงบิด โดยชิ้นส่วนหลักสองในสาม (แหวนฟันเฟือง เฟืองกลาง และเฟือง
Planet Carrier) จะต้องถูกขับเคลื่อน (หรือมีชิ้นส่วนหนึ่งถูกล็อก) โดยชิ้นส่วนที่สามจะทำหน้าที่ส่งถ่ายพละกำลัง
ในกรณีของ Volt มอเตอร์ลากจูงจะทำงานในโหมดนี้เพื่อส่งแรงบิดไปยังเฟืองกลาง ช่วยขับเคลื่อนตัวรถ)
เนื่องจากการชาร์จไฟแบตเตอรี่ของ Volt ที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ดังนั้น เครื่องยนต์
ที่จะสร้างกำลังไฟฟ้าจึงทำหน้าที่เพียงแค่ป้อนกำลังไฟเพื่อคงไว้ในแบตเตอรี่ในระดับต่ำเท่านั้น โดยจะเริ่มสร้าง
กำลังไฟเมื่อแบตเตอรี่มีพลังไฟเหลือน้อยกว่าระดับต่ำสุด หรือเมื่อมีพลังไฟเหลือน้อยกว่า 45 เปอร์เซนต์ในการ
ขับขี่ Mode Mountain (สำหรับการลัดเลาะขึ้นเขา) และจะทำงานอย่างนี้ไปจนกว่าผู้ขับจะเสียบปลั๊กชาร์จไฟ
แล้วการเติมเชื้อเพลิงละ จะชาร์จไฟยังไง? ต้องเติมน้ำมันหรือเปล่า?
เชื้อเพลิงที่จะใช้กับ Volt มี 2 รูปแบบหลักๆ คือ ไฟฟ้าจาก ปลั๊กไฟตามบ้าน และน้ำมันเชื้อเพลิง โดยลูกค้า
ของ Volt ทุกคัน จะได้รับ ชุดชาร์จไฟ แบบกระเป๋าหิ้ว น้ำหนักเบาหวิว หน้าตาอย่างนี้ การเสียบปลั๊กชาร์จ
กับไฟบ้าน ในเมืองไทย ทำได้อย่างง่ายดาย
แค่เพียงเสียบปลั๊กของชุดชาร์จ เข้ากับไฟบ้าน แล้วกดรีโมทของรถ เพื่อเปิดช่องเสียบชาร์จบริเวณเหนือ
ซุ้มล้อหน้าฝั่งซ้าย อย่างที่เห็นในรูป บีบหัวชาร์จ ให้มีไฟนำร่อง LED สีขาวนวล ส่องสว่างก่อนที่คุณจะ
เสียบหัวชาร์จเข้ากับเต้ารับที่ตัวรถ
จากนั้น มองไปยังไฟสีส้มอำพัน บนแผงหน้าปัด แถวกระจกบังลมหน้า ถ้าเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อไหร่
แสดงว่า กำลังชาร์จไฟเข้าแล้ว และถ้าชาร์จจนเต็มแบ็ตเตอรี ไฟสีเขียวจะกระพริบๆ ก่อนจะดับลง
เพื่อให้คุณรู้ว่า ตอนนี้ ชาร์จไฟเข้ารถจนเต็มแล้ว
Chevrolet Volt ใช้วิธีการชาร์จแบตเตอรี่กับไฟบ้านได้ทั้งแบบ 120 และ 240 V หากเป็นไฟในบ้านเรือน
เขตอเมริกาเหนือ ใช้ไฟ 120 V จะใช้เวลาชาร์จไฟ นาน 10 ชั่วโมง แต่ ถ้าเป็นไฟบ้านในเมืองไทย ซึ่ง
เป็นระบบ 220 V จะใช้เวลาชาร์จ ราวๆ 4 ชั่วโมง เท่านั้น
สำหรับค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟเข้าไปในแบ็ตเตอรีของ Volt นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 45 บาท ต่อ 1 การ
ชาร์จไฟ 1 ครั้ง (หรือราว 1.50 เหรียญสหรัฐฯ คำนวณจากค่าไฟของสหรัฐฯเฉลี่ยที่ 12.9 กิโลวัตต์/
ชั่วโมง ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง GM คาดว่าการชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้แก่ Volt จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า
การซื้อกาแฟดื่มต่อถ้วยด้วยซ้ำ และการชาร์จไฟฟ้าให้กับเชฟโรเลต โวลต์ 1 ครั้งต่อวันในทุกวันตลอดปี
จะใช้ปริมาณไฟฟ้าที่น้อยกว่าการใช้ไฟของตู้เย็นหรือตู้แช่หนึ่งตู้เสียอีก!!
ชาร์จไฟครั้งหนึ่ง แล่นได้ไกลแค่ไหน?
คำตอบก็คือ 60-80 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเดินทางในแบบปกติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพถนน เทคนิคการขับขี่
อุณหภูมิ และอายุใช้งานของแบตเตอรี่ แต่ถ้าไฟในแบ็ตเตอรี แสดงบนหน้าปัด ว่าต่ำกว่า 1 ขีด ก็ไม่ต้องห่วง
เพราะเครื่องยนต์จะติดขึ้นมา ปั่นไฟส่งเข้าไปมอเตอร์ ต่อ ช่วยจนแล่นได้อีกรวมแล้ว ไกลถึง 570 กิโลเมตร
แล้วถ้าเติมน้ำมันปกติละ ใช้น้ำมันอะไรได้บ้าง?
อะไรก็ตามที่เป็นเบนซิน ครับ ตั้งแต่ เบนซิน 95 ขึ้นไป แก็สโซฮอลล์ 95 E10 E20 เติมได้สูงสุดถึง E85
กันเลยทีเดียว แต่ ใครอย่าได้ผ่าไปเติม Diesel หมุนเร็ว หรือหมุนช้า หรือหมุนไปตามเรื่องตามราวตาม
ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์เชียวละ..แล่นออกจากปั้มได้ ไม่กี่อึดใจ สะดุดกึก ล้างถังชัวร์ๆ
รายละเอียดเชิงลึกมีอีกมาก แต่ในเมื่อนี่เป็นรีวิวฉบับ First Impression ซึ่งมักสรุปรวบรัดตัดความ
กระชับพื้นที่ ดังนั้น ขอเก็บไว้บอกเล่าเก้าสิบกันอีกที หากได้มีโอกาสยืมรถคันนี้มาขับเล่นกันอีก
แต่คราวนี้ เรามาลองขับกันสั้นๆ ก่อนดีกว่า ว่าสัมผัสจากรถนั้น จะเป็นเช่นไร
ด้วยรูปแบบเส้นทาง ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำความเร็ว ได้เกินกว่าระดับ 50 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่แล้ว
จึงทำให้เราได้ลองขับกันในโหมดของ ระบบไฟฟ้ากันเป็นหลัก ดังนั้น สิ่งที่จะได้พบก็คือ ความเงียบ
สงบ ปราศจากเสียงเครื่องยนต์สันดาป มาก่อกวนให้ระคายเคืองหู จากการที่ปล่อยให้ มอเตอร์ไฟฟ้า
หมุนล้อคู่หน้าตามลำพัง อย่างที่ผมเคยสัมผัสมาแล้วกับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง Mitsubishi i-MIEV และ
Nissa LEAF นั่นละครับ แรงบิดที่ปล่อยลงสู่ล้อขับเคลื่อนนั้น ไม่ต้องห่วง แค่เหยียบคันเร่งครึ่งเดียว
รถก็พร้อมจะพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างว่องไวแล้ว แหงละ มีแรงบิดรออยู่แล้วตั้ง 368 นิวตันเมตร
นี่มันตัวเลขแรงบิดระดับเดียวกับ บรรดารถกระบะบ้าพลังมหากาฬในบ้านเราเกือบทุกยี่ห้อในตอนนี้
เลยนะนั่น! แต่จะถึงขั้นฉับไวหรือไม่ อาจยังตอบได้ ไม่เต็มปากนัก อย่างว่าครับ ลองได้แค่เพียง
ไม่กี่รอบสนามสั้นๆ เท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ Mode การขับขี่ ที่มีให้ลองเลือกใช้นั้น ถ้าเมื่อไหร่ ที่คุณกดปุ่ม เลื่อนลงมา
เลือก Mode Hold นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ เครื่องยนต์ ทำหน้าที่หมุนส่งกำลังสู่ล้อได้โดยตรง
พร้อมๆกับ แบ่งกำลังไปปั่นไฟ ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี ใน Mode นี้ เป็นเพียง Mode เดียวที่ทำให้
Volt มีความคล้ายคลึงกับบรรดารถยนต์ Hybrid ที่วางขายกันในเมืองไทยตอนนี้ มากที่สุด
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบ อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมสตรัทรับน้ำหนักด้านข้าง
มีคอยล์สปริง เหล็กกันโคลง และบุชยางไฮโดรลิก ส่วนด้านหลัง เป็นแบบคานแข็ง U-Shaped
พร้อมคอยล์ปสริง และบุชยางไฮโดรลิก ทำงานได้อย่างนุ่ม แน่น หนึบ ตามบุคลิกของรถยนต์
ที่มีน้ำหนักตัวเปล่าค่อนข้างมาก การเข้าโค้งที่ใช้ความเร็วสูงกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้ Volt เริ่ม
มีอาการ UnderSteer หรือหน้าดื้อนิดๆ แต่พองาม ขณะแล่นไปบนพื้นผิวถนนขรุขระ รถจะ
เคลื่อนที่ไปยังมั่นคง หนักแน่น และไม่มีความรู้สึกว่ารถมันเบาๆลอยๆ แต่อย่างใด แน่ละ
ดูน้ำหนักตัวรถเข้าเสียก่อนสิ หนักตั้ง 1.7 ตันเข้าไป แถมแบ็ตเตอรี ยังติดตั้งรูปตัว T กลางลำ
เสียอีก นั่นละ คือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่า ทำไม รถถึงให้สัมผัสที่หนักแน่นไปทั้งคันเกิน
ไปกว่ารถยุโรประดับ Premium รุ่นก่อนหน้านี้สัก 2-3 ปี ด้วยซ้ำ
เมื่อผสมผสานเข้ากับ การทำงานของพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบ
ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) ที่เบา และคล่องตัว กำลังดี มีน้ำหนักพวงมาลัยช่วง
ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในแบบที่ สุภาพสตรีจะชอบแน่ๆ เพราะมันเบาจนทำให้
นึกถึง พวงมาลัยของ BMW X3 รุ่นตัวถัง F25 ใหม่ มันก็ยังเบาและคล่องมือกว่าพวงมาลัยของทั้ง
Chevrolet Cruze และ Sonic อย่างชัดเจน แต่ยังหนืดกว่า Mazda 3 ใหม่ รุ่น 2.0 ลิตร อยู่นิดนึง
ครับ บุคลิกการขับขี่ในภาพรวม จะมาในสไตล์ รถหนัก ช่วงล่างแน่น แต่พวงมาลัยเบา และทุก
การควบคุม จะใช้ระบบไฟฟ้าเกือบจะ 100 % อยู่แล้วนั่นแหละครับ จนกระทั่งไฟในแบ็ตเตอรี
เริ่มลงต่ำเหลือขีดล่างสุด และเครื่องยนต์ต้องเริ่มทำงานอีกครั้งนั่นละ คุณจึงจะเริ่มรู้สึกตัวได้ว่า
Volt ก็ยังมีความเป็นรถยนต์ธรรมดาหลงเหลือให้สัมผัสกันได้อยู่นั่นเอง
ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมรูระบายความร้อน เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Brake System) และระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force
Distribution) รวมทั้งยังมีการติดตั้งระบบชาร์จกำลังไฟกลับคืนขณะเบรก (Re-Generative Brake
System) เราไม่ได้ลองมากนัก เพียงแต่ว่า การหน่วงความเร็ว ถือว่าทำได้ดีค่อนข้างมาก แต่ว่า
ABS นั้น ทำงานไวไปนิดนึง โดยไม่จำเป็น เพราะเพียงแค่เบรกบนพื้นแห้งในบางครั้ง ที่ยัง
ไม่ได้เหยียบเบรกลงไปจนเต็มเหนี่ยว ABS ก็ทำงานจนเกิดอาการกระตุกๆ บนแป้นเบรก
ส่งสัมผัสขึ้นมายังคนขับ ไวไปหน่อย
ส่วนยางติดรถนั้น เป็น Michelin ENERGY ที่ผมไม่ได้ดูให้แน่ชัดว่า เป็นแบบไหน แต่เท่าที่
ลองเข้าโค้งขวาดู ก็พอจับสัมผัสได้ว่า พอเข้าโค้งด้วยความเร็วแถวๆ 30 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ยางก็เริ่มส่งเสียงเอี๊ยดเล็กๆ มาให้ได้ยินโดยถ้วนหน้า ซึ่งก็ต้องบอกว่า ยางที่เน้นการขับนุ่มๆ
และมีแรงเสียดทานขณะหมุนน้อย (Low Rolling Resistance) มันก็มีนิสัยถาวรแบบนี้ละครับ
อาจจะดีกว่า เวอร์ชันที่ผลิตในประเทศนิดนึง แต่ไม่ถึงกับต่างกันมากมายนัก อย่างที่เข้าใจกัน
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
เหลือคำถามแค่ว่า จะมาขายเมืองไทยหรือไม่ และถ้ามา ราคาเท่าไหร่กันดีละเนี่ย?
จนถึงตอนนี้ หลายๆคนที่ยังสับสนอยู่นิดหน่อย ว่า เราควรเรียกรถคันนี้ เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า
หรือรถยนต์ Plug-in Hybrid กันถึงจะตรงกับความเป็นจริง? ผมว่าผมเจอคำตอบแล้วละ!
ต่อให้ GM ย้ำนักย้ำหนา ว่า มันไม่ใช่รถยนต์ Hybrid แต่ ด้วยรูปแบบการทำงานของมัน เมื่ออธิบาย
ลงไปในเชิงลึก มันก็ชวนให้เข้าใจว่า นี่คือ รถยนต์ Hybrid แบบเสียบปลั๊กชาร์จกับไฟบ้าน นั่นละ
เพราะตราบใดที่คุณยังต้องมีเครื่องยนต์ ติดตั้งลงไปในรถยนต์ ไม่ว่ามันจะทำงานยังไง จะส่งกำลัง
สู่ล้อโดยตรงเลย หรือว่าจะทำอย่าง Volt คือ สร้างกระแสไฟไปปั่นมอเตอร์หมุนล้อคู่หน้า
สุดท้าย ความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับคือ มันมีเครื่องยนต์ดังนั้น เราไม่อาจเรียกรถคันนี้ได้ว่า เป็น
รถยนต์ พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ 100% ได้เต็มปาก หากมองในองค์รวม เว้นเสียแต่ว่า จะมองเฉพาะ
การใช้พลังงานในขณะขับเคลื่อนเพียงประเด็นเดียว Volt จึงจะพอเรียกอย่าง “กล้อมแกล้ม” ว่า
เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า กับเขาได้
นั่นคงเป็นประเด็นเดียวที่ผมอยากจะแย้ง GM ด้วยเหตุ และผล
แล้วนอกเหนือจากนั้นละ ในแง่ของการใช้งาน และการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก Volt
ได้ทำหน้าที่ของมัน ไม่เลวเลยทีเดียว เราไม่ต้องไปเทียบกับรถยนต์ Hybrid ของทั้ง Toyota
และ Honda ซึ่งยังคงต้องมีเครื่องยนต์มาช่วยทำงานเยอะอยู่อย่างนี้หรอกครับ ยังไง Volt
ก็จะเหนือกว่า ทั้งในแง่เทคนิค และการประหยัดน้ำมันที่จะเกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่า ถ้าเทียบกับ รถยนต์ไฟฟ้า อย่าง Nissan LEAF และ Mitsubishi i-MIEV แถมมี
Chevrolet Equinox Fuel Cell ที่ผมเคยลองขับมาแล้วละ? มันจะเป็นอย่างไร?
แน่นอนครับ ถ้าในเรื่องการปล่อยมลพิษสู่โลก ยังไงๆ Volt เอง ก็ยังสู้ รถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ ทั้ง
LEAF และ i_MIEV ในเรื่องการปล่อยกีาซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ขณะขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่นัก
เพราะเมื่อไฟในแบ็ตเตอรีหมดลงแล้ว เท่ากับว่า เครื่องยนต์จะต้องเริ่มทำงาน เพื่อสร้างกระแสไฟ
ไปให้มอเตอร์ขับเคลื่อนอยู่ดี
แต่ถ้าในแง่ความสะดวกสบายในการใช้งานแล้วละก็ Volt จะพลิกกลับมาเป็นผู้ได้เปรียบในเวทีนี้
ทันที เพราะ นอกจากจะเติมน้ำมันได้ ตั้งแต่ เบนซิน ยันแก็สโซฮอลล์ E85 แล้วยังเสียบปลั๊กชาร์จ
เข้ากับปลั๊กไฟที่บ้านของคุณได้เลย
เพียงแต่ว่า การจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการให้ความรู้กับบรรดา
ประชาชน ลูกค้า ผู้บริโภค และหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องกันเสียก่อน
สำหรับ GM และ Chevrolet แล้ว Volt นั้น คือพัฒนาการก้าวแรก ที่ พวกเขาจะใช้มันพาพวกเรา
เราเข้าสู่ยุคของการใช้ พลังงานไฟฟ้ากันอย่างเต็มตัวในช่วง 10 – 20 ปีข้างหน้า เพียงแต่ใน
ช่วงเวลาแห่งการเตรียมพร้อม หลายสิ่งหลายอย่าง ยังคงตะกุกตะกัก อยู่บ้าง เป็นธรรมดา
มันก็เหมือนกับโลกในวันที่ Internet เพิ่งเริ่มแพร่หลายจากวงการทหาร มายังประชาชนทั่วไป
นั่นละครับ สมัยก่อน เราต่อ Internet กันด้วย Modem แบบไหน วันนี้ เราก็ยังจำเป็นต้องใช้
เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ ด้วยการผสมปนเปเข้ากับของเก่าๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วไปก่อน
เหมือนคุณกำลังจะหัดให้ลูกคุณกินผักนั่นแหละ มาถึง ชี้นิ้วสั่ง “ลูก มึง แดกผักซะ” คงไม่ต้อง
นึกภาพต่อเลยว่า ลูกของคุณ จะเกลียดขี้หน้าคุณไปอีกนานกี่เดือน ขณะที่ต้องกินบร็อกโคลี
กร้วมๆ ทั้งน้ำตาที่อาบนองแก้มขนาดนั้น หรือถ้าโชคร้าย ชามข้าวก็จะกระเด็นหล่นกระจาย
ลงบนพื้น ให้คุณเสียใจและเสียดายเล่นๆ ระหว่างเก็บกวาด
วิธีการที่ดีกว่า คือ ค่อยๆ ทำผัก มาในรูปของสิ่งที่เด็กชอบกิน เช่น เอาไปชุบแป้งโกกิแล้วทอด
หรือไม่ก็ ผสมลงไปในข้าว ในไข่เจียว หรือในอาหารที่เขาชอบ เช่นไก่ทอด ไส้กรอก ก็ว่าไป
เหมือนกันครับ ขืนคุณจะหยิบกุญแจรถยนต์ไฟฟ้าล้วนๆ ยื่นให้ผู้บริโภค แล้วบอกว่า “เอ้า! มึง!
นี่รถไฟฟ้า รถ Fuel Cell กูทำมาแล้ว มึงรีบๆ ซื้อไปใช้ซะ!” มีหวังคงได้โดนด่าตายห่า ดราม่า
ลงเว็บจ่า กันสนุกสนาน และอาจลามไปถึงคณะรัฐมนตรี ต้องออกมาเบรกกันตัวโก่งให้ดูยุ่ง
วุ่นวายกันอีก
อ้าว! แล้วทำไม Nissan ทำได้ Mitsubishi ทำได้ แล้ว GM ทำไมไม่สานต่อรถไฟฟ้า EV1
เสียละ? เออ นั่นสิ!
มุมมองของบริษัทรถยนต์ ต่อเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนนั้นต่างกันครับ Renault Nissan กับ
Mitsubishi มีเทคโนโลยีและพันธมิตร ที่ดี อีกทั้ง สังคมญี่ปุ่นเอง ก็สนับสนุนในเรื่องการลด
มลภาวะ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว การใช้รถไฟฟ้านั้น คือสิ่งที่คนญี่ปุ่นเห็นเป็นเทรนด์ใหม่
และพร้อมจะยอมรับเทคโนโลยีแปลกใหม่เหล่านี้ จนมีการขยายสถานีชาร์จไฟไปทั่วประเทศ
มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่น เร่งทำรถยนต์พลังไฟฟ้าแท้ๆ ออกมาขายได้ ฉับไว
กว่าใครเขา ต้องยอมรับในจุดนี้กันด้วย เพราะการผลักดันเรื่องรถไฟฟ้านั้น มันต้องอาศัย
ความร่วมมือของภาครัฐบาลในแต่ละประเทศด้วยนะ เอกชนทำกันเอง หมดตังค์เหนื่อยฟรี
ไม่มีทางรอดหรอก!
แต่กับชาวอเมริกัน และผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ในอีกหลายประเทศ มันไม่ใช่! พวกเขา
ยังรักสบาย ยังไม่แคร์ เรืองน้ำมันหมดโลก ดังนั้น การเริ่มปลูกฝังความคิดกับชาวอเมริกัน
และคนทั้งโลก ให้เริ่มตื่นตัวในเรื่องพวกนี้ มันอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย
Volt ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะต้องสร้างการยอมรับ ในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ต่อ
บรรดาผู้คนทั่วโลก เพื่อสร้างความคุ้นเคยต่อเทคโนโลยี และหันมายกระดับรูปแบบของ
รถยนต์ที่ตนใช้ในชีวิตประจำวันกันได้บ้างแล้ว เหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ Toyota เคยประสบ
ความสำเร็จมาแล้วในการเปิดตัรถยนต์ Hybrid อย่าง Prius เมื่อปี 1997
และการนำ Volt เข้ามาให้คนไทย ได้ลองขับกัน มันก็คือวิธีที่ดีเพือสร้างการรับรู้ และสร้าง
ประสบการณ์ เพื่อให้คนไทย เริ่มคุ้นเคยกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการหยั่งเชิง
ถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้ามาเปิดตัว และขายในเมืองไทยอย่างจริงจัง
ก่อนที่เราจะถาม GM ว่า เมื่อไหร่จะเอาเข้ามา ราคาเท่าไหร่ จะขายแพงไหม ซ่อมไหวไหม
ผมว่า เรามาดูสิ่งที่น่าคำนึงถึง และเป็นประเด็นหลักสำหรับรถยนต์เหล่านี้กันก่อนไหมครับ?
ผมเชื่อ เช่นเดียวกับคนที่ทำงานในบริษัทรถยนต์ทั้งหลาย ซึ่งมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหล่านี้
อยู่ในมือ และพร้อมจะสั่งเข้ามาขาย หรือผลิตขายในบ้านเรา ทั้ง GM Toyota Nissan Honda
Mitsubishi Ford ฯลฯ ว่า ทุกคน อยากจะรีบเอารถพวกนี้ เข้ามาขายในบ้านเรา วันพรุ่งนี้กัน
เลยแหละ ชนิดที่ว่า ตื่นเช้ามา ออกจากบ้าน ทุกคนจะได้เห็นรถไฟฟ้า จอดเรียงขายกันสลอน!
แต่ รถเหล่านี้ จำเป็นต้องชาร์จไฟ ลำพังแค่ชาร์จจากในปลั๊กไฟบ้าน นั่นไม่เท่าไหร่ ปัญหา
มันจะบังเกิด ก็อีตอนที่จะขับไปทำงาน หรือไปช้อปปิง แล้วต้องจอดรถทิ้งไว้ คุณจะชาร์จไฟ
จากไหนกันละ? สถานีบริการชาร์จไฟ ยังหาแทบไม่ได้ เพิ่งจะมีการไฟฟ้านครหลวงนี่แหละ
ที่เริ่มตั้งสถานีชาร์จในหน่วยงานของตนบ้างแล้ว
โชคดีสำหรับ Chevrolet Volt ที่ยังมีเครื่องยนต์ให้คุณเติมน้ำมัน เพื่อให้รถยังแล่นต่อไปได้
แต่สำหรับรถไฟฟ้าคันอื่นๆละ? อีกทั้ง GM เองก็แนะนำอยู่ทนโท่ว่า การชาร์จไฟ คือวิธี
เติมพลังงานให้รถอย่าง Volt ที่ดีที่สุด ด้วยเนี่ยสิ
คำถามคือ เมื่อไหร่ เราจะได้เห็นภาครัฐ กับเอกชน ร่วมมือกัน เตรียมความพร้อมในการสร้าง
สาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือ Infrastructire เพื่อรองรับการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้
แล้วถ้ารถไฟฟ้ามันเกิดฮิตขึ้นมาจริงๆ แล้วเราจะเอาไฟฟ้าจากไหน มาชาร์จใส่เข้าไปในรถ?
เราอาจต้องการโรงไฟฟ้าอีกสักแห่ง แต่ ชุมชนใกล้เคียงของโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง
ต่างก็กังวลถึงผลกระทบด้านมลภาวะตามมาอีกมาก เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้กันอย่างไร
นั่นเป็นแค่บางคำถาม เป็นส่วนหนึ่ง ที่อยากจะฝากไว้ ให้ทุกท่านไปขบคิดกันต่อ!
——————————–///——————————–
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks
Mr. Laurent Berthet
Director of Communication , Southeast Asia
คุณพันธมาศ กรีกุล
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
และคุณ Vijo Varghese
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ : สื่อสารผลิตภัณฑ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
สำหรับการประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง ในครั้งนี้
ขอขอบคุณ น้องพล กองบรรณาธิการ เว็บไซต์ Autospinn.com ที่ช่วยบันทึกภาพตอนขับรถให้
—————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
29 สิงหาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 29th,2012
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome,Click Here!