จำเด็กคนนี้ได้ไหมครับ?….

2004_Toyota_Kijang_Innova_Presenter_Thailand

“ความสุขขนาดใหญ่แค่ไหน?
คุณเคยวัดไหม? หนูเคยวัด!
บางครั้ง ความสุขขนาดก็ใหญ่ม๊ากกกก
ใหญ่ จนวัดไม่ได้!

ความสุขของคุณ ใหญ่แค่ไหน?
ความสุขของหนู ขนาดใหญ่เท่า (จ้าว) โลกกกก”

น้องคนนี้ เคยปรากฎตัวในภาพยนตร์โฆษณา Toyota Innova ในบ้านเรา
เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2004

ตอนนั้น เคยคิดอยากตอบเด็กน้อยไปว่า
“ความสุขของพี่หนะ ใหญ่ราวๆ 7 นิ้วครึ่ง เห็นจะได้อะน้อง!”

(แต่ก็เกรงว่า ถ้าตอบไปแบบนั้นจริงๆ ก็ดูจะเป็นแนว Dark Side ไปหน่อย)

วันนี 12 ปีผ่านไป น้องเขาคงโตเป็นสาวใหญ่ เข้ามหาวิทยาลัยไปเรียบร้อย
ส่วน Innova เอง ก็เติบโตขึ้นตามกาลเวลา กลายมาเป็น Minivan คันใหญ่
ยิ่งกว่ารุ่นเดิม

คนไทยจำนวนมาก รู้ว่า Innova เป็นรถยนต์นั่ง Minivan 7 ที่นั่ง ซึ่งทาง
Toyota Motor (Thailand) สั่งนำเข้าสำเร็จรูป จาก โรงงาน Toyota ใน
Indonesia มาขายในบ้านเรา…และ แค่นั้น…ไม่ค่อยมีใครสนใจหรือรับรู้
เรื่องราวเบื้องลึกอื่นใดมากไปกว่านี้

ทว่า สำหรับชาวอินโดนีเซีย แล้ว Innova ไม่ได้เป็นเพียงแค่ Minivan
ขนาดกลาง ทั่วๆไป เฉกเช่น MPV รุ่นอื่นๆ ที่พวกเขาคุ้นเคยกัน หากแต่
ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
ในประเทศของตน ที่เด่นชัดมากสุด จากตลอด 5 ทศวรรษ ที่ผ่านมา

เพียงแต่ว่า ในขณะที่ชาวโลก รู้จัก Minivan รุ่นนี้ ในชื่อ Innova แต่ชาว
อินโดฯ เขาคุ้นเคยกับชื่อรุ่นดั้งเดิมของรถคันนี้…นั่นคือ…

Kijang (กิ-จัง)!!

2008_Toyota_Innova_Dawn

คนไทยอาจคิดว่า ชื่อรุ่น KIJANG ฟังดูแล้วแปลกๆ ตลกๆ ไม่คุ้นหู ไม่น่า
นำมาตั้งเป็นชื่อรถยนต์ได้ แต่ความจริงแล้ว “Kijang” ในภาษาอินโดนีเซีย
แปลว่า “Deer” หรือ “กวาง” ไม่เพียงเท่านั้น Kijang ยังเป็นชื่อที่ถูกย่อมา
จาก “Kerjasama Indonesia-Jepang” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า
Indonesian-Japan Cooperation หรือ ความร่วมมือระห่างอินโดนีเซีย
กับประเทศญี่ปุ่น นั่นเอง!

ผมก็เพิ่งรู้ไปพร้อมๆกับคุณผู้อ่านนั่นละครับว่า เขาคิดตั้งชื่อรถกันแบบนี้
เลยทีเดียว!

จะมีคนไทยสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะกลายมาเป็น Innova ในทุกวันนี้ พวกเขา
ต้องผ่านการเดินทางอันยาวไกลโข และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ชาวอินโดฯ
จะก้าวมาได้ไกลจนถึงวันนี้ เรื่องราวของพวกเขา น่าสนใจมากจนผมต้องขอ
พาคุณผู้อ่านยอนอดีตกลับไปยังจุดกำเนิดของ Kijang กันสักหน่อย

ย้อนไปไม่ไกลมากครับ แค่ 40 ปีที่แล้วเอง…!

PT_Toyota_Astra_Motor

ช่วงทศวรรษ 1950 – 1970 Toyota เริ่มขยายลู่ทางการลงทุน และทำตลาด
ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น North America,Europe, South Africa
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกกลุ่มตลาดแห่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่น ให้
ความสนใจ พวกเขาเริ่มต้นโดยใช้วิธีเข้าไปร่วมลงทุนกับ นักธุรกิจท้องถิ่น
เพื่อจัดตั้งบริษัทของตนในประเทศนั้นๆ

ไทย เป็นประเทศที่ 2 ใน ASEAN ที่ Toyota เลือกเข้ามาเปิดสำนักงานใน
เดือน ตุลาคม 1962 และดำเนินกิจการจนเจริญเติบโตงอกงาม และกลาย
เป็นหนึ่งในฐานการผลิต และตลาดหลักอันสำคัญของ Toyota ในปัจจุบัน

แต่นอกเหนือจากไทยเราแล้ว ประเทศแรกใน ASEAN ที่ Toyota เข้าไป
กรุยทางเปิดตลาด คือ Philipines พวกเขาทำข้อตกลงกับนักธุรกิจท้องถิ่น
Ricardo Silverio ร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ Delta Motor Corporation เมื่อ
เดือนมิถุนายน 1962 เพื่อเป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Toyota ใน
ฟิลิปปินส์

ไม่เพียงเท่านั้น Toyota ยังเข้าไปที่ Indonesia จับมือกับกลุ่มนักธุรกิจใน
ท้องถิ่นอย่าง P.T. Astra International Tbk (ซึ่งเปิดกิจการบริษัทค้าขาย
Trading Company จำพวกพืชผัก ผลไม้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ก่อนมา
เปิดบริษัทในปี 1957 และเป็นผู้จำหน่ายจักรยานยนต์ Honda ที่นั่นอีกด้วย)
ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท P.T. Toyota-Astra Motor จำกัด (TAM) เมื่อวันที่
2 เมษายน 1971 เพื่อทำตลาด รถยนต์ Toyota ในดินแดนอิเหนา โดยกลุ่ม
PT.Astra ถือหุ้น 51% และ Toyota Motor Corporation ถือหุ้น 49%

1977_Toyota_President_Soeharto

นายพล ซูฮาร์โต (Soeharto) ประธานาธิปดี Indonesia ปี 1977

ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากพอๆกับ
หมู่เกาะในดินแดนของพวกเขา ด้วยสภาพภูมิประเทศ และถนนในยุคนั้น
ที่ยังไม่ดีพอ ทำให้ลูกค้าใน 2 ประเทศนี้ ต้องการรถยนต์ที่แตกต่างจาก
รถยนต์มาตรฐานในยุคนั้นอยู่มาก พวกเขามองหาความทนทรหดต่อการ
ใช้งานในชีวิตประจำวัน ลุยได้ทุกสภาพถนน มีความสูงเพียงพอ บรรทุก
ได้ทั้งสรรพสิ่งพรรค์สรรพางค์ต่างๆ รวมทั้งผู้คนได้มาก ซ่อมบำรุงง่ายๆ
ไม่ต้องตกแต่งวิลิศมาหรา ราคาต้องไม่เกินเอื้อม

จากโจทย์ที่ให้มา หากพวกเขาจะซื้อรถเก๋ง Sedan 4 ประตู ราคาก็แพง
แถมยังไม่อเนกประสงค์เพียงพอ ต่อให้หันไปอุดหนุนรถกระบะแท้ๆ ก็ยัง
ใช้งานได้ไม่ตรงใจลูกค้าในย่านนั้น

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์ เอง กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่
สหรัฐเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพ พวกเขามาพร้อมกับ รถ Jeep Willys ซึ่ง
มีความอเนกประสงค์ต่อการใช้งานมาก เมื่อรถเหล่านี้ ถูกปลดประจำการ
ชาวปินอย ก็ไปสอยมาทำรถรับจ้างสาธารณะ จนกลายเป็นรถ Jeepney
ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองหลวงอย่าง Manila มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1970 ความเข้มงวดในการนำเข้ารถยนต์
สู่ฟิลิปปินส์ เพิ่มมากขึ้น รัฐบาล ยุค Ferdinand Marcos จึงมีนโยบาย
สร้างโครงการ Progessive Car Manufacturing Program (PCMP)
เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศของตน โดย
ส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ มาลงทุน สร้างรถยนต์อเนกประสงค์ในราคา
ประหยัด ที่ประชาชนชาวปินอย จะซื้อหามาใช้งานกันได้

AUV_Asean_Utility_Vehicles

ขณะเดียวกัน  รัฐบาลของนายพลซูฮาร์โต (Soeharto ดำรงตำแหน่ง
ระหว่าง 12 มีนาคม 1967 – 21 พฤษภาคม 1998
) แห่งอินโดนีเซีย ก็มี
แนวคิด ให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ ทำโครงการรถยนต์อเนกประสงค์ราคา
ประหยัด Kendaraan Bermotor Niaga Sederhana (KBNS) หรือ
‘Simple Commercial Vehicle’ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ไม่เน้นรูปร่างหน้าตา
ขอแค่ว่ารองรับการใช้งานขั้นพื้นฐาน ของชาวอินโดฯ ในแบบ BUV
(Basic Utility Vehicles) คือต้องบรรทุกของ หรือบรรทุกคนได้บ้าง
ทนต่อสภาพถนนหนทางที่ย่ำแย่ และซ่อมบำรุงง่าย ราคาถูก ที่สำคัญ
ก็คือ ต้องถูกสร้างขึ้นในอินโดนีเซีย โดยคนอินโดฯ และเพื่อคนอินโดฯ

2 แนวทาง ของ 2 ประเทศ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนี่แหละครับ
คือจุดเริ่มต้นของรถยนต์ AUV (ASEAN Utility Vehicles)

เวลานั้น มีผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ และท้องถิ่น สนใจเข้าร่วมโครงการ
กันพอสมควร และต่างผลิตรถยนต์แบบนี้ออกมาหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น
Datsun Sena (คนละคันกับ รถ “พยัคฆ์สยาม” ในไทย) , Ford Fiera,
Volkswagen Mitra (แปลว่า Partner หรือ มิตร) ที่ดัดแปลงมาจาก
Volkswagen EA489 กับ GM Morina พวกเขามองว่า นอกจากจะทำ
รถยนต์แบบนี้ ขายที่ ASEAN แล้ว ยังสามารถผลิตขายในประเทศกำลัง
พัฒนาอื่นๆ เช่น South Africa,Brazil , Peru ฯลฯ แม้กระทั่ง Australia
ได้อีกด้วย

1977_Toyota_Kijang_Launching_Ceremony

สำหรับ Toyota แล้ว พวกเขาตัดสินใจเริ่มต้นพัฒนา รถยนต์ AUV ราคา
ประหยัดตามแนวคิดดังกล่าวในช่วงปี 1974-1975 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะ
เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิพิเศษ ส่งเสริมการลงทุน ตามนโยบาย
ของทั้ง 2 ประเทศ ดังกล่าว

รถต้นแบบคันแรก ถูกนำไปจัดแสดงในงาน Jarkata Expo ปี 1975 แต่
กว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมผลิตขายได้ ต้องรออีกประมาณ 1 ปีให้หลัง

เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Kijang ถูกเปิดตัวครั้งแรก ที่ประเทศ ฟิลิปปินส์
ในเดือนธันวาคม 1976 จากนั้น จึงตามมาด้วย การเปิดตัวในอินโดนีเซีย
เป็นครั้งแรก อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 9 มิถุนายน 1977

งานใหญ่ขนาดไหน? เอาเป็นว่า มีรูป ประธานาธิปดี ซูฮาร์โต้ ในสมัยนั้น
มาทดลองนั่ง เป็นเกียรติเป็นศรีแก่บริษัทเขาเนี่ย (รูปข้างบนนี้)

คิดว่า งานใหญ่พอไหมละ?

1977_Toyota_Kijang_04

1st Generation
Kijang Buaya / Tamarraw
KF10
Philipines : 2 ธันวาคม 1976
Indonesia : 9 มิถุนายน 1977 – กันยายน 1981

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศแรกที่รถรุ่นนี้ ถูกนำไปผลิตและเปิดตัวออกสู่ตลาด
เมื่อ 2 ธันวาคม 1976 ในชื่อ “Tamarraw Revo”

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งอินโดนีเซีย Toyota กับกลุ่ม Astra เพิ่งร่วมกันก่อตั้ง
โรงงานในแดนอิเหนา ชื่อ PT. Toyota Mobilindo (หรือ TMMIN) ใน
เดือนธันวาคม 1976 เช่นกัน กว่าจะเตรียมสายการผลิตจนเสร็จเรียบร้อย
ต้องรอจนถึงเดือนพฤษภาคม 1977 รถคันแรกจึงจะคลอดออกจากไลน์
การผลิต

Kijang ถูกเปิดตัวครั้งแรกในอินโดนีเซีย เมื่อ 9 มิถุนายน 1977 โดยใช้
ชิ้นส่วนที่ผลิตในอินโดนีเซียเอง (Local Content) 19%

Kijang รุ่นแรก มีชื่อเรียกเล่นๆในหมู่คนเล่นรถชาวอินโด ว่า Buaya
แปลว่า จระเข้ มาจากงานออกแบบฝากระโปรงหน้า ที่เปิดยกขึ้นมา
แล้วดูเหมือน ปากของจระเข้

“Surat untuk Ibu” : Presentation Video of P.T. Toyota Astra in 1980
Include 1st Generation of Kijang Production line & Introducing to
Indonesia (Japanesse language , 35 Minutes)

ตัวถังของ Kijang รุ่นแรกมีความยาว 3,940 มิลลิเมตร กว้าง 1,620
มิลลิเมตร สูง 1,765 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร และ
แทบไม่มีอะไรใกล้เคียงกับรถยนต์ในยุคสมัยปัจจุบันเอาเสียเลย

ดูตัวรถสิครับ กระจกหน้าต่าง มีแค่ด้านหน้า กับด้านหลัง ส่วนด้านข้าง
เป็นผ้าใบและพลาสติกใส ม้วนพับเก็บได้ บานประตู และชิ้นส่วนตัวถัง
ก็ถูกออกแบบให้ปั้มขึ้นรูปมาอย่างง่ายๆ และมีราคาไม่แพง ภายในรถ
ยิ่งแทบไม่มีสิ่งใดเกินความจำเป็นเลย เครื่องปรับอากาศก็ไม่มี วิทยุ
ไม่ต้องพูดถึง มีแค่ชุดมาตรวัดความเร็ว และไฟเตือนอุปกรณ์ต่างๆใน
ระบบเครื่องยนต์ ก็ดีถมถืดแล้ว อย่าหวังจะหาความสบายจากภายใน
ห้องโดยสารของ Kijang รุ่นแรก เพราะมันถูกออกแบบมาให้ใช้งาน
อย่างสมบุกสมบัน รองรับสภาพถนนของทั้ง 2 ประเทศ ที่ยังไม่เจริญ
เท่ากับในปัจจุบัน ภายใต้ต้นทุนที่ต้องถูกสุดๆ

วางเครื่องยนต์ ซึ่งยกมาจาก Toyota Corolla KE20 ปี 1970 เป็น
รหัส 3K บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 1,166 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
75 x 66 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยว กำลังสูงสุด 55 แรงม้า (HP) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
93 นิวตันเมตร (9.47 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง
ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ เพียงแบบเดียว

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน อัตราทด 18.18 : 1
รัศมีวงเลี้ยว 5.1 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ ปีกนกคู่ เสริมแหนบ
และช็อกอัพ ด้านหลังเป็นแหนบพร้อมช็อกอัพ ระบบเบรกด้านหน้าเป็น
แบบ Leading ด้านหลังเป็นแบบ Duo-Servo Drum brake

ช่วงปีแรกที่ออกจำหน่าย Kijang มียอดผลิตตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม ถึง
31 ธันวาคม 1977 เพียงแค่ 1,168 คัน แต่หลังจากรุ่น Minibus ทั้งแบบ
มีบานประตู และไม่มีประตู ตามออกมาในปี 1978 ยอดขายก็พุ่งสูงขึ้น
ได้รับความนิยม ทั้งใน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย อย่างแพร่หลายมาก
ลูกค้าส่วนใหญ่ จะซื้อรุ่นฐานล้อยาว ไปทำ รถรับจ้างสาธารณะ แบบมี
เบาะนั่งบนกระบะหลัง (คล้ายกับ รถ 2 แถว ในบ้านเรา) นอกจากจะช่วย
เพิ่มรายได้ให้เจ้าของรถแล้ว ยังช่วยให้การเดินทางไปมาหาสู่กัน หรือ
ติดต่อกิจธุระต่างๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ตลอดปี 1978 Kijang มียอด
ผลิตรวม 4,624 คัน และหลังจากนั้น ก็เพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ

Kijang รุ่นแรก ยุติบทบาทไปในปี 1981 ด้วยยอดผลิตทั้งหมดเฉพาะ
ในอินโดนีเซีย 26,806 คัน เป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเลยทีเดียว

————————————————————

1981_Toyota_Kijang_02

2nd Generation
Kijang Doyok
KF20 (Short Wheelbase) / KF30 (Long Wheelbase)
กันยายน 1981 – 23 พฤศจิกายน 1986

รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ครั้งแรก เปิดตัวในอินโดนีเซีย เมื่อ
เดือนกันยายน 1981 Kijang รุ่นที่ 2 นี้ ถูกขนานนามว่า “Kijang Doyok”
เพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับตัวการ์ตูนชื่อ Doyok ในหนังสือพิมพ์
ท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงมาก ในเวลานั้น

ตัวถังมีให้เลือกทั้งแบบ กระบะ และ Minibus 5 ประตู ซึ่งใช้วิธีขึ้นรูป
ตัวถังแบบรถยนต์ดัดแปลง รวมทั้งแบบ กระบะช่วงยาว ต่อหลังคาเป็น
รถสองแถว Jeepney สำหรับทำตลาดรถรับจ้างสาธารณะในฟิลิปปินส์
ทั้งแบบ มีและไม่มีบานประตู

รูปลักษณ์ภายนอกถูกปรับปรุงให้เรียบเนียนขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะชุด
ฝากระโปรงหน้า และบานประตูด้านข้าง อีกทั้งยังเพิ่มมือจับเปิดประตูให้
เหมือนกับรถยนต์ในยุคสมัยเดียวกันด้วย ไม่เพียงเท่านั้น Kijang รุ่นที่ 2
ยังมีกระจกหน้าต่างบานประตูจริงๆ เพิ่มเข้ามาให้ในทุกรุ่น อีกทั้งยังเป็น
ครั้งแรกที่มีตัวถัง Minibus 5 ประตู ที่ Toyota ทำออกมาขายเอง แต่
ยังคงให้ซัพพลายเออร์ภายนอก ทำตัวถังมาให้ตนไปก่อน

รูปลักษณ์ภายนอก ในรุ่นกระบะนั้น ยังพอดูได้ แต่สำหรับรุ่น Minibus
5 ประตูนั้น ผมมองว่า นี่คือรถยนต์ ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์มากสุดรุ่นหนึ่ง
เท่าที่ผมเคยเห็นมา

กระนั้น พัฒนาการที่สำคัญของรถรุ่นนี้ คือการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วน
ที่ผลิตในอินโดนีเซีย (Local Content) เป็น 30%

ตัวถังของรุ่น กระบะสองแถว มีความยาว 4,100 มิลลิเมตร กว้าง 1,600
มิลลิเมตร สูง 1,955 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,500 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,310 และ 1,265
มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance)
160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 1,070 กิโลกรัม รวมน้ำหนักบรรทุกได้ 1,870
กิโลกรัม ถังน้ำมัน ความจุ 55 ลิตร

ขุมพลังถูกยกระดับขึ้นจากรุ่น 3K เป็นรหัส 4K บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว
1,290 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75 x 73 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 จ่าย
เชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว กำลังสูงสุด 60 แรงม้า (PS) ที่ 5,600
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.5 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อ
คู่หลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ

ระบบบังคับเลี้ยวยังคงเป็นพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน อัตราทด 18.18 : 1
รัศมีวงเลี้ยว 5.1 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ ปีกนกคู่ เสริมแหนบ
และช็อกอัพ ด้านหลังเป็นแหนบพร้อมช็อกอัพ ระบบเบรกหน้าเป็นแบบ
Leading ด้านหลังเป็นแบบ Duo-Servo Drum brake

หลังทำตลาดมาได้ 4 ปี ลูกค้าแดนอิเหนา และชาวตากาล็อก ต่างพร้อมใจ
เรียกร้องให้ Toyota เพิ่มพละกำลังให้กับ Kijang และ Tamarraw มากขึ้น
กว่าเดิม ดังนั้น ในปี 1984 Toyota จึงปรับโฉมหน้าตาใหม่ จากไฟหน้าแบบ
กลม มาเป็นสี่เหลี่ยม และ Upgrade ขุมพลังใหม่ เป็นรหัส 5K บล็อก 4 สูบ
OHV 1,486 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 73.0 มิลลิเมตร กำลังอัด
9.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว กำลังสูงสุด 63 แรงม้า (PS)
ที่ 5,600 รอบ/นาที แรบิดสูงสุด 11.3 กก.-ม.ที่ /2,800 รอบ/นาที เชื่อม
กับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ เช่นเดิม

Kijang Doyok รุ่นที่ 2 ยุติบาทบาทลงไปในปี 1985 ด้วยยอดผลิตรวม
61,449 คัน

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งฟิลิปปินส์ เกิดความผันผวนภายในประเทศขึ้น ช่วงปี
1983 พลังอำนาจทางการเมืองของ Ricardo Silverano สั่นคลอนลงไป
เยอะมาก Delta Motor ต้องยุติการผลิตรถยนต์  Toyota ที่นั่น ในเดือน
ธันวาคม 1983 และยุติบทบาทไปในเดือนมีนาคม 1984

นั่นแปลว่า Kijang รุ่นที่ 2 ซึ่งทำตลาดในฟิลิปปินส์ ด้วยชื่อ Tamarraw
นั้น อยูในตลาดได้ไม่ครบอายุของมัน

ตอนนั้น Toyota ได้แต่เข้าไปจัดตั้งสำนักงานประจำกรุง Manila เพื่อช่วย
ดูแลเรื่องบริการหลังการขายให้กับลูกค้าที่อุดหนุน Toyota ในช่วงก่อนนั้น
กว่าที่พวกเขาจะพร้อมกลับเข้ามายังฟิลิปปินส์อีกครั้ง ก็ต้องรอจนกระทั่ง
ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะจัดตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ Toyota Motor Philipines
ในเดือนสิงหาคม 1988 จากนั้น โชว์รูมแห่งแรกภายใต้การดูแลของบริษัท
แม่ ก็เริ่มเปิดกิจการในเดือนมีนาคม 1989 กระนั้น รถยนต์รุ่นที้่ขายดีสุดของ
Toyota ใน Philipines อย่าง Tamarraw ก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับมาเปิด
ตลาดใหม่ และต้องรอจนกระทั่งถึงปี 1991….จึงเปิดตัว Kijang รุ่นที่ 3 ใน
ชื่อ Tamarraw FX ปล่อยให้ อินโดนีเซีย ต้องทำตลาด Kijang รุ่นถัดจากนี้
ล่วงหน้าไปก่อน นานถึง 5 ปี

————————————————————

Toyota Kijang 3rd Generation : Product Video (Indonesia Language)

Toyota Kijang 3rd Generation : TV Commercial 1986

Toyota ZACE (Taiwan Version) Product Video 1988

 3rd Genertion
Super Kijang
KF40 (Short Wheelbase) / KF50 (Long Wheelbase)
Indonesia : November 24th, 1986 – December 1996

รุ่นที่ 3 ของ Kijang เปิดตัวครั้งแรกใน อินโดนีเซีย เมื่อ 24 พฤศจิกายน 1986
จุดเด่นสำคัญอยู่ที่การยกระดับความร่วมมือระหว่าง P.T.Toyota Astra กับทาง
Toyota Motor Corporation สำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

คราวนี้ ทีมงานฝั่งอินโดนีเซีย เก็บสำรวจความต้องการของลูกค้า แล้วส่งต่อให้
ทางญี่ปุ่น ไปออกแบบมาจนกลายเป็น Kijang รุ่นใหม่ ที่มีรูปทรงตัวถังสไตล์
กล่องแบบ Boxy ซึ่งดูสวยและเข้ากับรถยนต์ Toyota ในยุคสมัยเดียวกัน มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น Kijang รุ่นที่ 3 ยังถือเป็นรุ่นแรก ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างตัวถัง
บริเวณครึ่งคันหลังของ ของรุ่น Minibus / Wagon ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีปั้มชิ้นส่วน
ขึ้นรูปจากเหล็กรีดร้อน (Full Press Body) เพื่อให้โครงสร้างตัวถังเชื่อมต่อเป็น
อันหนึ่งอันเดียวกัน แตกต่างจากรถรุ่นก่อนที่ใช้วิธีต่อตัวถังด้านหลังแบบเดียวกับ
รถยนต์ดัดแปลงของ Thai Tung Union Car ในบ้านเรา เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยให้
บริษัทในเครือของ Toyota เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนตัวถังดังกล่าว

1986_Toyota_Kijang_04_EDIT

Kijang รุ่นนี้ มีแชสซีส์ให้เลือก 2 ความยาว ทั้งรุ่นช่วงสั้น KF40 ซึ่ง
ยาว 2,300 มิลลิเมตร และรุ่นช่วงยาว KF50 ที่ยาว 2,500 มิลลิเมตร

มิติตัวถัง รุ่น Minibus ช่วงสั้น ยาว 4,090 มิลลิเมตร รุ่นช่วงยาว อยู่ที่
4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,620 มิลลิเมตร สูง 1,775 มิลลิเมตร ส่วนระยะ
ฐานล้อ รุ่นช่วงสั้น 2,300 มิลลิเมตร รุ่นช่วงยาว 2,500 มิลลิเมตร และ
มีน้ำหนักตัวรถเปล่า 1,155 – 1,165 กิโลกรัม

ส่วนรุ่นกระบะ ยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,740
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,500 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าๆ นั้นอยู่ที่
900 – 1,000 กิโลกรัม ถังน้ำมันของทั้ง 2 รุ่น มีขนาด 55 ลิตร

วางขุมพลังรหัส 5K แบบ 4 สูบ OHV 1,486 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
80.5 x 73.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.3 :1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง กำลังสูงสุด 63 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 11.3 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วย
เกียร์ธรรมดา 4 และ 5 จังหวะ

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบลูกปืนหมุนวน ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ
ปีกนกคู่ Double Wishbone พ่วงคอยล์สปริง เฉพาะรุ่น Super Kijang
ทุกตัวถัง จะเสริมเหล็กกันโคลงด้านหน้ามาให้เป็นพิเศษ ด้านหลังเป็น
แหนบ ส่วนระบบห้ามล้อ เปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อน
ที่ล้อคู่หน้า ขณะที่ด้านหลัง ยังคงเป็นดรัมเบรกแบบไฮโดรลิค พร้อมกับ
Vacuume Booster และเฉพาะรุ่น Super Kijang ทุกตัวถังจะ เสริมด้วย
วาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรก LSPV

การปรับปรุงครั้งแรกมีขึ้นในเดือน พฤศจิกายน 1989 โดยเปลี่ยนมาใช้
พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion ให้ทันตามยุคสมัยของโลกเสียที ก่อน
เพิ่มรุ่นพวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฮโดรลิค ในปี 1991

1987_Toyota_Kijang_First_Export_from_Indonesia

Kijang รุ่นที่ 3 ถือเป็นรุ่นแรกที่ P.T.Toyota Astra เริ่มการส่งออกไปยัง
ตลาดต่างๆนอก อินโดนีเซีย เมื่อปี 1987 โดยมีลูกค้าสั่งซื้อ รวมทั้งหมด
9 ประเทศ

Kijang จึงต้องมีชื่อรุ่นใหม่ๆ แตกต่างกันไปตามแต่ละตลาดที่เข้าไปขาย
เช่น Toyota ZACE สำหรับ Taiwan (ส่งชิ้นส่วน CKD เข้าไปประกอบใน
ไต้หวัน รถคันแรกออกจากสายการผลิต โรงงาน Kuozui Motors, Ltd.,
ในเดือนมกราคม 1988) หรือ Toyota Stallion รวมทั้ง Toyota Venture
ในตลาด South Africa

ขณะเดียวกัน ด้วยความพยายามของ P.T.Toyota Astra ที่จะยกระดับ
อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ พวกเขาสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้
ชิ้นส่วนภายในอินโดนีเซีย ขึ้นมาเป็น 44% และด้วยเหตุที่สามารถใช้
อะไหล่จากรถยนต์หลายๆรุ่นๆในเครือของ Toyota ได้ ทำให้ต้นทุน
ในการผลิตและจำหน่ายของ Kijang รุ่นที่ 3 ต่อคัน คิดเป็นแค่ 42%
ของต้นทุนในการประกอบ Toyota Corolla AE80 Sedan 4 ประตู

1995_Toyota_Kijang_01

ปี 1992 Kijang ถูกปรับโฉม Minorchange การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
คือการออกแบบชิ้นส่วนตัวถังของรุ่น Minibus ครึ่งคันด้านหลัง ตั้งแต่
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ไปจนถึงบั้นท้ายขึ้นใหม่ และเพิ่มบานประตู
ด้านหลัง ฝั่งขวา มาให้ (ก่อนหน้านี้ ไม่มี)

ในเมื่อคราวนี้ ทาง P.T.Toyota-Astra เป็นผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วน
ตัวถังเอง ดังนั้นพวกเขาจึงทำโฆษณา เน้นย้ำจนเป็นจุดขายสำคัญ ว่า
Kijang รุ่น Minorchange ใช้ตัวถัง “Toyota Original Body” หรือโครง
ตัวถังที่ Toyota ปั้มขึ้นรูปชิ้นส่วนเอง ไม่ได้จ้างซัพพลายเออร์ข้างนอก
โรงงาน มาผลิตอีกต่อไป

นอกจากนี้มีการเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ ให้ดูหรูหรา คล้ายกับ Toyota
Crown รุ่น Sedan Super Saloon ปี 1983 – 1987 แต่เปลี่ยน Logo
มาเป็นแบบ 3 ห่วง ตามยุคสมัยแล้ว ชุดไฟหน้าของรุ่นหรู จะเป็นแบบ
เต็มพื้นที่ด้านหน้า แต่รุ่นกระบะ และรุ่นมาตรฐาน จะเป็นไฟหน้าแบบ
เบ้าลึก ไม่เพียงเท่านั้น ยังเปลี่ยนแผงหน้าปัด ใหม่ยกชุด Upgrade
เบาะนั่งด้วยวัสดุผ้าแบบใหม่ทังหมด และเพิ่มฝาครอบล้อให้กับรุ่น
Super Kijang อีกด้วย

1994_Toyota_Kijang_1800

จากนั้น Toyota เพิ่มทางเลือกใหม่ ให้ Kijang ในปี 1994 ด้วยขุมพลัง
รหัส 7K บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 1,781 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
80.5 x 87.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง กำลังสูงสุดแค่ 72 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.3 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
เข้ามาให้เลือกอีกด้วย โดยเพิ่มความแตกต่าง ให้ลูกค้ามองเห็น ด้วยชุด
กระจังหน้าแบบใหม่ ซี่ตั้ง (รุ่นเดิม เป็นแบบซี่นอน) และเพิ่มล้ออัลลอย
ลาย 5 ก้าน ตกแต่งให้ดูหรูขึ้น นิดๆ

1995_Toyota_Kijang_Lintas_Nusa

ปี 1995 อินโดนีเซีย ฉลองเอกราชครบรอบ 50 ปี และ Toyota ก็ร่วมฉลอง
ด้วยการ จัดขบวน Kijang เดินทางไปทั่วประเทศอินโดนีเซีย ไม่เพียงเท่านั้น
พวกเขายังออก Kijang รุ่นพิเศษ ชื่อ Toyota Kijang Soeharto Series เมื่อ
17 สิงหาคม 1995 ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เป็นครั้งแรก และถูกจับจอง
หมดในเวลารวดเร็ว ก่อนที่จะมีรุ่นพิเศษ Kijang Soeharto Series II ตามมา
หลังจากนั้นไม่นานนัก

Kijang รุ่นที่ 3 เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดอายุตลาด สำหรับอินโดนีเซีย ในช่วง
ปี 1996 ด้วยยอดผลิตรวมทั้งหมด 525,615 คัน ถือว่า ประสบความสำเร็จมาก
อย่างใหญ่หลวง เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านั้นทั้งหมด

1997_Toyota_Venture_Stallion

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดโลก Toyota ยังคง ทำตลาด Kijang รุ่นที่ 3
ต่อไปในหลายประเทศ โดยในตลาด ส่งออก เช่น South Africa จะยัง
จำหน่ายต่อเนื่องมาจนถึงปี 2003 ด้วยชื่อ Toyota Stallion (รุ่นกระบะ)
และ Toyota Ventures (Minibus) มีเครื่องยนต์ให้เลือกดังนี้

เบนซิน รหัส 2Y บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 1,812 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 78.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง
88.4 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.7 กก.-ม.ที่ 2,400
รอบ/นาที

เบนซิน รหัส 4Y บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 2,237 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
91.0 x 86.0 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อค่ดูดลงล่าง
102 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.5 กก.-ม.ที่ 2,400
รอบ/นาที

Diesel รหัส 2L-II บล็อก 4 สูบ OHC 8 วาล์ว 2,446 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92.0 x 92.0 มิลลิเมตร 82.9 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
16.5 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที

ทุกรุ่น ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (ยกเว้น 2Y ที่มีเกียร์ธรรมดา
4 จังหวะ ให้เลือกด้วยในรุ่นล่าง) งานวิศวกรรมนอกนั้น เหมือนกับ Kijang รุ่น 3
ทำตลาดต่อเนื่องจนถึงราวๆ ปี 2000 จึงมีรุ่นใหม่มาเปลี่ยนโฉม ทำตลาดแทน

1999_Toyota_Qualis_India

เดือนธันวาคม 1999 Toyota นำรถรุ่นนี้ไปประกอบขาย ในอินเดีย ภายใต้
การดูแลของ Toyota Kirloskar Motor Ltd (TKML) ซึ่งเป็นบริษัทใหม่
ที่ Toyota ร่วมลงทุนกับกลุ่ม Kirloskar (6 ตุลาคม 1997) เปิดตัว
ในชื่อว่า Toyota Qualis ในฐานะรถยนต์รุ่นแรกที่จะสร้าง แบรนด์ Toyota
ให้ลูกค้าชาวอินเดียรับรู้ว่า Toyota เข้ามาประกอบรถขายในอินเดีย แล้ว

รูปลักษณ์โดยรวม ก็คือการนำ Kijang มาปรับโฉมใหม่ ให้ดูทันสมัยขึ้น
เช่นเปลี่ยนกระจังหน้า ให้ดูคล้ายกับ Toyota Hilux Surf รุ่นก่อนๆ เพิ่ม
กาบข้างเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 เพิ่มล้ออัลลอยลายใหม่ เปลี่ยนแผงหน้าปัด
มาใช้ของ Kijang รุ่นที่ 4 โฉม Minorchange ส่วนเครื่องยนต์ ก็ยังคง
ยกขุมพลัง Diesel 2L บล็อก 4 สูบ OHC 2,446 ซีซี 75 แรงม้า (PS)
ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.4 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที
พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มาวางลงไป มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ทั้งรุ่น
FS (Family Saloon) , GS (Grand Saloon) และ GS-T (Grand
Saloon – Touring)

กระนั้น ปฏิกิริยาของชาวอินเดียส่วนใหญ่ ค่อนข้างผิดหวัง โดยเฉพาะกลุ่ม
ลูกค้าเป้าหมาย ที่คาดหวังว่า Toyota จะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ไปเปิดตลาด
กลับกลายเป็นการนำรถยนต์ตกรุ่นจาก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไปขาย
พวกเขา ขณะเดียวกัน บรรดาคู่แข่งทั้งหลาย ต่างพากันโล่งอก เพราะว่า
คู่แข่งทั้ง “Tata Motors และ “Mahindra & Mahindra” ต่างพากันมอง
ว่า Qualis มีคุณสมบัติ ไม่โดดเด่นพอเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่พวกเขาขาย

อีกทั้งอัตราเร่งก็อืดอาดเกินกว่าจะยอมรับไหว หลายๆเว็บไซต์ในอินเดีย
เคยทำบทความรีวิ แล้วพบว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องใช้
เวลารอนานถึง 25 วินาที!!!

2002_Toyota_Qualis

รุ่นปรับโฉม Minorchange (คันสีเขียวข้างบนนี้) ตามออกมา เมื่อวันที่
4 กันยายน 2002 โดยมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ทั้งหมด 44 ชิ้น รวมทั้ง
กระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า ล้ออัลลอยลายใหม่ เพิ่มขุมพลังเบนซิน
รหัส 1RZ-E  4 สูบ OHC 2.0 ลิตร ทำตลาดควบคู่กับเครื่องยนต์ Diesel
2L เดิม ตั้งเป้ายอดขาย 29,000 คัน/ปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ใน อินเดีย ไม่ค่อยดีนัก ด้วยรูปลักษณ์ที่เชย
และตกยุคสมัยไปแล้ว แม้แต่ลูกค้าชาวอินเดียยังไม่ค่อยจะมองมันเลย
ทำให้ ยอดขายของ Kijang ที่ดูเหมือนว่าอยู่ในอันดับต้นๆของตลาด
กลับกลายเป็นตัวเลขที่มาจาก กลุ่มลูกค้าภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมองหา
รถยนต์อเนกประสงค์ ไว้รับลูกค้าทัวร์ เป็นหลัก มากกว่ากลุ่มลูกค้าแบบ
ครอบครัวทั่วไป Qualis จึงต้องยุติการผลิตไปในปี 2004 ในทันทีที่
Innova มาถึงอินเดีย

————————————————————

1997_Toyota_Kijang_Lineup

4th Generation
Kijang Kapsul (Capsule)
F60 / F70 / F80

Indonesia : January 1997 – September 22nd 2004

พัฒนาการครั้งสำคัญ เวียนมาบรรจบอีกครั้งในปี 1997 เมื่อ Toyota
เปลี่ยนโฉมใหม่ ให้ตระกูล Kijang คราวนี้ ทีทมออกแบบทั้งญี่ปุ่นและ
อินโดนีเซีย ลงความเห็นตรงกันว่า ควรปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกให้
ดูโค้งมนยิ่งขึ้น เหมือน แค็พซูลยา นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเล่นประจำรุ่น
ว่า Kijang Kapsul (Capsule) นั่นเอง

Kijang รุ่นที่ 4 ยังคงมีตัวถังให้เลือก ทั้งแบบ Station Wagon 5 ประตู
ทั้งช่วงสั้น SGX , SSX , SX กับช่วงยาว LGX , LSX , LX ซึ่งจะกลาย
มาเป็นตัวถังหลักในการทำตลาด ตั้งแต่รุ่นนี้เป็นต้นไป และรุ่นกระบะ
ซึ่งมีทั้งแบบ Standard กับรุ่น Flat Deck (กระบะพื้นเรียบ)

ตัวถังของรุ่น Wagon ช่วงสั้น SGX , SSX , SX ยาว 4,155 มิลลิเมตร รุ่น
ช่วงยาว LGX , LSX , LX ยาว 4,405 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร
สูง 1,790 มิลลิเมตร เท่ากัน ส่วนระยะฐานล้อรุ่นช่วงสั้น SGX , SSX , SX
ยาว 2,400 มิลลิเมตร ขณะที่รุ่น ช่วงยาว LGX , LSX , LX อยู่ที่ 2,650
มิลลิเมตร รวมทั้งยังมีรุ่นตกแต่งหรูพิเศษ KRISTA ซึ่งมีกระจังหน้าแบบ
ตะแกรงโครเมียม สวยหรู พร้อมสีตัวถัง Two-Tone ที่ขายดีมากเกินคาด
และรุ่น RANGGA ตกแต่งแนว Mini-Off-Road แต่ทำยอดขายได้ไม่ดี
เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับ Kijang รุ่นปกติ

ส่วนรุ่นกระบะ Standard ตัวถังยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร
สูง 1,760 มิลลิเมตร ขณะที่รุ่นกระบะพื้นเรียบ Flat Deck จะยาวขึ้นอีกเป็น
4,625 มิลลิเมตร กว้างขึ้นเป็น 1,715 มิลลิเมตร สูง 1,820 มิลลิเมตร กระนั้น
ระยะฐานล้อ ของรุ่นกระบะทั้ง 2 แบบ ยาวเท่ากันที่ 2,650 มิลลิเมตร

เครื่องยนต์ มีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่รหัส 7K เบนซิน 4 สูบ OHV 8 วาล์ว
1,781 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 87.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง กำลังสูงสุดแค่เพียง
80 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.3 กก.-ม.ที่ 2,800
รอบ/นาที

ส่วนรุ่น Diesel ถูกเพิ่มเข้ามาครั้งแรก เป็นเครื่องยนต์รหัส 2L บล็อก 4 สูบ
OHC 8 วาล์ว 2,446 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 92.0 มิลลิเมตร (ห้อง
เผาไหม้แบบสี่เหลี่ยมจตุรัส Square) กำลังอัด 22.2 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วย
ระบบหัวฉีด ที่ลูกค้าชาวไทยต่างพากันคุ้นเคยมาแล้วเป็นอย่างดี เพราะเป็น
ขุมพลังที่วางอยู่ในรถกระบะ Toyota Hilux ในบ้านเรา มาตั้งแต่ยุค Herculus ,
Hero , Mighty-X และ Tiger รุ่นแรกๆ กำลังสูงสุด 83 แรงม้า (PS) ที่ 4,200
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที

ทุกรุ่นใช้ระบบ ขับเคลื่อนล้อหลัง โดยรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน จะมีระบบส่งกำลัง
ให้เลือกได้ ทั้งเกียร์ธรรมดา 4 หรือ 5 จังหวะ และ อัตโนมัติ 4 จังหวะ ส่วนรุ่น
Diesel มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 4 หรือ 5 จังหวะ เท่านั้น

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบไฮโดรลิคใน
หลายๆรุ่นย่อย ระบบกันสะเทือนหน้า แบบอิสระ ปีกนกคู่ Double Wishbone
ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแหนบ ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์เบรกมีรูระบายความร้อน
ด้านหลังเป็นดรัมเบรก

Kijang Capsule ยังคงสานต่อความสำเร็จด้วยยอดผลิตและจำหน่ายที่สูงอย่าง
ต่อเนื่อง ตลอดปี 1997 Kijang มียอดผลิต 94,572 คัน อย่างไรก็ตาม ปี 1998
วิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้งที่ลุกลามไปทั่ว ASEAN ส่งผลให้ยอดผลิตของ Kijang
ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หล่นฮวบลงมาเหลือเพียง 14,831 คัน ก่อนจะกระเตื้อง
ขึ้นมาในปี 1999 ด้วยตัวเลข 22,943 คัน

1999_Toyota_Kijang_01

เดือนกุมภาพันธ์ 2000 Toyota ปรับโฉม Kijang ใหม่ ให้มีรูปลักษณ์ร่วมสมัย
มากยิ่งขึ้น พร้อมกับเพิ่มเครื่องยนต์ 1RZ-E เบนซิน 4 สูบ SOHC 1,998 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86 x 86 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 หัวฉีด EFI กำลัง
สูงสุด 102 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิด 17.01 กก.-ม.ที่ 2,800
รอบ/นาที

อย่างไรก็ตาม Kijang รุ่นนี้ มีการปรับปรุงความหนาของชิ้นส่วนตัวถังให้บาง
ลงยิ่งกว่าเดิม เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต ให้สามารถผลิตออกจำหน่ายได้ใน
ราคาเดิม กระนั้น Kijang ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยยอดผลิต
ตลอดปี 2000 อยู่ที่ 71,492 คัน ปี 2001 อยู่ที่ 61,734 คัน

สิงหาคม 2002 การปรับโฉมครั้งสุดท้ายก็เกิดขึ้น คราวนี้ เน้นหนักไปที่การ
ปรับเปลี่ยนงานออกแบบกระจังหน้าใหม่ เพิ่มการตกแต่งแผงประตูด้วยผ้า
Suede และเปลี่ยนโทนสีภายในห้องโดยสาร จากสีเทา มาเป็นสีเบจ ก่อนจะ
ยุติบทบาทไปในเดือนกันยายน 2004

Kijang รุ่นที่ 4 ถือเป็นอีกก้าวในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์
ของอินโดนีเซีย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content)
เพิ่มเป็น 53% แต่ลดการส่งออกจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูป CBU เหลือเพียงแค่
3 ประเทศ (ไม่นับรวมการส่งออกชิ้นส่วน CKD ให้โรงงานอื่นๆ ประกอบขาย)

2002_Toyota_ZACE_Surf_Taiwan

ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ นั้น ในรุ่นที่ 4 ถือว่าลดน้อยลงไปจากเดิมมาก เพราะ
หลายประเทศ ยังคงทำตลาด Kijang รุ่นที่ 3 ในชื่อของตนกันต่อเนื่องไป
ดังนั้น จึงมีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศ ที่สั่ง Kijang รุ่นนี้เข้าไปขาย เช่น Philipines
Malaysia Brunai South Africa ฯลฯ รวมทั้ง Taiwan ที่จำหน่ายในชื่อว่า
Toyota ZACE Surf

Zace ถือเป็น Kijang รุ่นที่ 2 ซึ่งได้มีโอกาสนำไปประกอบขายในไต้หวัน มี
เครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ

– 7K-E เบนซิน 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 1,781 ซีซี ยกชุดมาจาก 7K ใน Kijang
แต่ เปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิง จากคาร์บิวเรเตอร์ มาเป็นหัวฉีดไฟฟ้า กำลัง
สูงสุด 83 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม. ที่
3,200 รอบ/นาที

– 2RZ-E เบนซิน 4 สูบ SOHC 2,436 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95 x 86
มิลลิเมตร กำลังอัด 8.8 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ กำลังสูงสุด 116 แรงม้า
(PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.1 กก.-ม.ที่ 2,600 รอบ/นาที
ทั้ง 2 เครื่องยนต์ ส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา ทัง 5 จังหวะ
หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ

1997_2004_Toyota_Condor_Unser

นอกจากนี้ Kijang รุ่นที่ 4 ยังมีจำหน่ายในฟิลิปปินส์ ภายใต้ชื่อ Toyota
Revo เปิดตัวในปี 1998 พอข้ามทะเลไปขึ้นสายการผลิตยังโรงงานเมือง
Shah Alam รัฐ Selangor ใน Malaysia ทาง UMW Toyota ตัวแทน
จำหน่ายที่นั่นก็จับเปลี่ยนชื่อเป็น Toyota Unser ทั้ง 2 ประเทศนี้ จะวาง
เครื่องยนต์ 7K-E และ 1RZ-E (โดยฟิลิปปินส์ จะเพิ่มเครื่องยนต์ Diesel
2L เข้ามาด้วย) เปิดตัวในช่วงกลางปี 1998 และปรับโฉม Minorchange
(ตามภาพข้างบน) เมื่อ 28 ธันวาคม 2002 (ตัวเลขยอดขายของ Unser
ในมาเลเซีย เฉพาะช่วง 10 เดือนแรก ในปี 2002 อยู่ที่ราวๆ 22,000 คัน)
ทั้ง 2 ประเทศ ปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้ายให้ Revo และ Unser
ในปี 2002 เพื่อทำตลาดจนถึงปี 2004

แต่ถ้าส่งไปขายยังตลาด Africa ก็จะขายในชื่อ Toyota Condor โดยใช้
เครื่องยนต์และงานวิศวกรรมพื้นฐาน ร่วมกันกับ Kijang รุ่นที่ 4 ทั้งหมด

Generation ที่ 4 ของ Kijang ปิดฉากการทำตลาดอย่างเป็นทางการ
ในอินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ ช่วงกลางปี 2005 ด้วยยอดผลิต
รวมทั้งหมด 452,017 คัน

————————————————————

2004_Toyota_Innova_Export

5th Generation
Kijang INNOVA / INNOVA
AN40
Indonesia : 2 กันยายน 2004 – 24 พฤศจิกายน 2015
Thailand : 2 พฤศจิกายน 2004 – 29 กันยายน 2016

การเปลี่ยนแปลงของ Kijang ในรุ่นที่ 5 นี้ ถือได้ว่า เป็นการพลิกโฉม และ
ยกระดับ Kijang สู่คุณค่าใหม่ ในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเป็นไปได้

จากผลวิจัยตลาด พบว่า ยอดขายรถยนต์ 7 ที่นั่ง ใน อินโดนีเซีย จะสูงขึ้น
ไปเรื่อยๆ จากสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขา หุบเขาค่อนข้างเยอะ ถนนหนทาง
ก็ยังคงเล็ก แคบ สวนกันไปมา สองเลน การจราจรในกรุง Jakarta เข้าขั้น
ติดหนักสาหัสกว่ากรุงเทพมหานครของเราแล้ว ต่อให้มีทางด่วน ก็ยังสร้าง
ให้กระจายไปทั่วทั้งประเทศไม่ได้ ลูกค้าที่นั่น นิยมมีลูกเยอะ เพราะหวังให้
ลูกหลานมาเลี้ยงดูยามแก่ ทำให้เวลาไปไหนมาไหน จึงต้องยกโขยงกัน
เดินทางไปทั้งครัวเรือน อีกทั้งสภาพถนนเองก็ไม่ดีเท่าที่ควร จำเป็นต้อง
ให้พื้นใต้ท้องรถ อยู่สูงกว่ารถยนต์ Minivan แบบอื่นๆ ในโลก เพื่อไม่ให้
เกิดปัญหาใต้ท้องครูดกับถนน

ขณะเดียวกัน Toyota เองก็มองว่า ตลาดรถกระบะ กับ SUV รวมทั้งกลุ่ม
รถยนต์อเนกปะสงค์ 7 ที่นั่ง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ กำลังทำยอดขายได้ดีใน ASEAN
น่าจะจับมารวบรวบ ทำเป็นโครงการเดียวกัน

ดังนั้น Toyota มองการณ์ไกล ด้วยการนำเอาทุกความต้องการของลูกค้า
ชาวอินโดนีเซีย มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยยกระดับ Kijang ให้เป็น Minivan
สำหรับครอบครัว ขนาดกลาง ขึ้นไป โดยดึง Kijang เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของโครงการพัฒนารถยนต์อเนกประสงค์ระดับสากล ภายใต้ชื่อโครงการ
ว่า IMV (International Multi-Purposed Vehicles) โดยนอกจากให้
ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตหลักของ Hilux และ Fortuner แล้ว ยัง
ให้ อินโดนีเซีย เป็นฐานผลิตหลักของ Kijang ใหม่ เพื่อจำหน่ายทั้งใน
ประเทศตนเอง และส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยมีรหัสเรียกกัน
เป็นการภายในของ Toyota ว่า “IMV5” หรือ รถยนต์ในโครงการ IMV
แบบที่ 5 อันเป็นแบบท้ายสุด

อย่างไรก็ตาม ไหนๆ จะยกระดับ Kijang ทั้งที ก็จำเป็นต้องออกแบบให้
มีขนาดใหญ่โตขึ้น รองรับการใช้งานที่หลากหลายขึ้น และมีเส้นสายที่ดู
เป็น Minivan ระดับสากล มากกว่าที่เคยเป็นมา ไม่เพียงเท่านั้น Toyota
ยังอัดฉีดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมยานยนต์
ของอินโดนีเซีย ด้วยการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ในประเทศ (Local
Content) เป็น 80% และเน้นการส่งออกไปยัง 22 ประเทศ ทั่วโลก

ส่วนลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก ที่ Kijang เคยรับใช้ตลาดกลุ่มนี้อยู่
Toyota จับมือกับ Daihatsu ร่วมกันพัฒนา Minivan 7 ที่นั่งคันเล็ก บน
พื้นฐานของ Daihatsu Terios ออกมาทำตลาดแทน Kijang เดิม ภายใต้
ชื่อโครงการ U-IMV (Under – IMV) จำหน่ายในชื่อ Toyota Avanza /
Daihatsu Xenia โดยเปิดตัวก่อน Innova ประมาณ 9 เดือน นั่นคือ วันที่
11 ธันวาคม 2003 (รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ คลิกที่นี่ Click Here)

ในอินโดนีเซีย โรงงาน Kawarang ทำพิธีปล่อยรถออกจากสายการผลิต
เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2004 ก่อนจะจัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2004 ตามหลังงานเปิดตัว Hilux Vigo ที่เมืองไทย
เพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยในตลาดอินโดนีเซีย จะเพิ่มชื่อรุ่นย่อย Subname
เข้าไปต่อท้ายชื่อรุ่นเดิม กลายเป็น Toyota Kijang Innova ส่วนประเทศ
อื่นๆ ที่จะสั่งซื้อ Minivan รุ่นนี้ไปทำตลาด จะใช้ชื่อว่า Toyota Innova
โดยคำว่า Innova นั้น มาจากคำในภาษาอังกฤษ “Innovative” นั่นเอง
สื่อให้เห็นถึงพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นรถคนละคันเมื่อ
จอดเทียบกับ Kijang รุ่นก่อนๆ

สำหรับประเทศไทย Innova รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นแรกที่ถูกนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน
แบบ CBU (Complete Built Unit) จากโรงงานในอินโดนีเซีย มาเปิดตัว
เป็นครั้งแรกในบ้านเรา พร้อมกับ Toyota Fortuner (ประกอบในไทย) เมื่อ
วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2004 ที่ BEC Tero Hall สวนลุมไนท์บาร์ซาร์
ถนนพระราม 4 (ถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว)

Innova รุ่นนี้ มีตัวถังยาว 4,555 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,745
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ถูกปรับปรุงเส้นสายให้มาใน
รูปแบบของ Minivan เต็มตัว ทว่า ยังคงสร้างขึ้นบนเฟรมแชสซีส์รถกระบะ
Hilux เช่นเคย เพียงแต่ว่า การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ IMV จึง
ทำให้ Innova ได้ฤกษ์ เปลี่ยนมาใช้ เฟรมแชสซีส์ใหม่ พื้นฐาน Platform
เดียวกับ Hilux Vigo และ Fortuner รุ่นแรก แต่มีการออกแบบ ปรับแต่ง
ให้เอาใจลูกค้าชาวอินโดนีเซีย และในภูมิภาค ASEAN ที่ชอบเดินทาง
ไปไหนมาไหนกันแบบยกโขยงทั้งบ้าน หรือจะใช้เป็นรถประจำตำแหน่ง
รถรับส่งแขกเหรื่อไปจนถึง Taxi ทั้งใน ASEAN หรือ Airport Taxi
ในบ้านเรา พร้อมความสบาย ด้วยการติดตั้ง แอร์แถว 2 และ 3 (Blower)
ช่วยกระจายความเย็นสู้กับสภาพอากาศในเขตร้อนชื้น อย่าง ASEAN

2004_Toyota_Innova_Engine2

ขุมพลังของ Innova ในตลาดโลกนั้น ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่อาจ
ใช้ข้าวของร่วมกับรุ่นเก่าได้เลย มีรายละเอียดดังนี้

– 1TR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 หัวฉีด EFI เพิ่มระบบแปรผันวาล์ว
VVT-i 136 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.6 กก.-ม. ที่
4,000 รอบ/นาที

– 2TR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,693 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
95.0 x 95.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 หัวฉีด EFI เพิ่มระบบแปรผันวาล์ว
VVT-i 160 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.5 กก.-ม. ที่
3,800 รอบ/นาที

– 2KD-FTV Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,494 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92 x 93.8 มิลลิเมตร กำลังอัด 18.5 : 1 หัวฉีด Direct Injection จ่ายเชื้อเพลิง
ตามราง Common-rail D-4D พ่วง Turbo 102 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/
นาที แรงบิดสูงสุด มี 2 เวอร์ชัน หากเป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ จะอยู่ที่
26.5 กก.-ม.ที่ 1,600 – 2,400 รอบ/นาที แต่ถ้าเป็นรุ่นเกยร์ธรรมดา 5 จังหวะ
แรงบิดจะถูกลดทอนลงมาเหลือ 20.5 กก.-ม.ที่ 1,400 – 3,200 รอบ/นาที

ทั้ง 3 เครื่องยนต์ ส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ
อัตโนมัติ 4 จังหวะ

2004_Toyota_Innova_Structure

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค
รัศมีวงเลี้ยว 5.4 เมตร

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อม คอยล์สปริง
และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เปลี่ยนจากแหนบ มาเป็น 4-Link พร้อม
คอยล์สปริง ติดตั้งอยู่กับ Frame Chassis

ระบบห้ามล้อ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็น
แบบดรัมเบรก Leading Trailing System (LTS) เสริมระบบป้องกันล้อล็อก
ABS (Anti-Lock Braking System) ทำงานร่วมกับวาล์วปรับแรงดันน้ำมัน
เบรก LSPV เสริมความปลอดภัยด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัย ELR
3 จุด 6 ตำแหน่ง และ NR คาดเอว 2 จุด 2 ตำแหน่ง (คู่หน้า ปรับสูง-ต่ำได้)

ตลาดอินโดนีเซีย ช่วงแรกมีเครื่องยนต์ให้เลือกครบครัน ทว่า หลังจากนั้น
ขุมพลัง 2TR-FE เบนซิน 2.7 ลิตร ถูกถอดออกจาก Catalog ไป เนื่องจาก
ลูกค้าชาวอินโดฯ ไม่นิยมเครื่องยนต์ความจุเยอะๆ

เวอร์ชันไทย เปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ 2KD-FTV (2.5 ลิตร D-4D) และ
1TR-FE (เบนซิน 2.0 ลิตร VVT-i) ทั้งคู่ มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ให้เลือก เท่านั้น

2008_Toyota_Innova

26 สิงหาคม 2008 การปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก เกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย
จากนั้น จึงตามมาเปิดตัวที่ ฟิลิปปินส์ กับอินเดีย พร้อมกันเมื่อ 28 มกราคม 2009

ความเปลี่ยนแปลง อยู่ที่กระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า และล้ออัลลอยลายใหม่
รวมทั้งชุดไฟท้ายลายใหม่ กันชนหลังใหม่ พร้อมแผงทับทิมที่ชายล่าง อีกทั้ง
ยังมีการปรับปรุงรายละเอียดการตกแต่ง ต่างๆนาๆ อีกพอสมควร ทั้งภายนอก
และภายในตัวรถ เช่นแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง
บนพวงมาลัย ผ้าหุ้มเบาะลายใหม่ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดด้านวิศวกรรมนั้น
ยังคงเหมือนกันกับรุ่นเดิม

2011_Toyota_Innova

22 กรกฎาคม 2011 รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 2 พร้อมกับ
ชื่อรุ่นใหม่ Toyota Grand New Kijang Innova ก็ได้ฤกษ์คลอด
ออกสู่ตลาดอินโดนีเซีย เป็นแห่งแรก

จุดเด่นอยู่ที่ การปรับรูปโฉมให้ดูเข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ภายนอก
มีการเปลี่ยนมาใช้ ชุดไฟหน้า ไฟท้าย ไฟตัดหมอก กระจังหน้า ชุด
ฝากระโปรงหน้า เปลือกกันชนหน้า – หลัง  เพิ่มชุดแต่งสเกิร์ตรอบคัน
พร้อมสปอยเลอร์หลัง ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด รวมทั้งยังมี
กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ แบบมีไฟเลี้ยวในตัว

ภายใน เปลี่ยนมาใช้พวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 4 ก้าน ยกมาจาก Camry
รุ่นปี 2006 – 2012 ด้วยลายไม้และเมทัลลิก พร้อมสวิตช์ควบคุมชุด
เครื่องเสียง ชุดมาตรวัด ดีไซน์ใหม่ ให้รายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

แผงควบคุมกลาง ด้านหน้า ออกแบบใหม่ ให้ผสมผสานลายไม้ กับ
สีเงินเมทัลลิก ไว้ด้วยกัน แผงประตู และหัวกียร์ ตกแต่งด้วยลายไม้
สวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศ แบบใหม่ ใหญ่กว่าเดิม แต่เรืองแสง
ด้วยสีเขียว ตัวเลขดำ เพิ่มช่องต่อ USB/AUX ช่องเก็บแว่นตา พร้อม
ไฟส่องแผนที่ ดีไซน์ใหม่ แนบเรียบกับฝ้าเพดาน

เพื่อสร้างความแตกต่างจากรุ่นเดิม P.T.Toyota-Astra จะเรียกรุ่นนี้
ว่า Grand New Kijang Innova

เวอร์ชันไทย ปรับโฉม Minochange ครั้งที่ 2 ตามตลาด ASEAN เมื่อ
7 กันยายน 2011 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยอดขายของรุ่นเครื่องยนต์
Diesel ทำได้ไม่ดีนัก Toyota จึงยกเลิกรุ่นเครื่องยนต์ 2KD-FTV ใน
บ้านเราไปเลย ณ ตอนนี้ เหลือไว้แต่เครื่องยนต์ 1TR-FE เบนซิน ขาย
เพียงแบบเดียว แต่มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย ตามระดับการตกแต่งและราคา
ดังนี้

ราคาขายปลีกในเมืองไทย (รวมเครื่องปรับอากาศและภาษีมูลค่าเพิ่ม)
– 2.0 E    5MT              ราคา     844,000 บาท
– 2.0 G    4AT               ราคา     939,000 บาท
– 2.0 G Option 4AT    ราคา     984,000 บาท
– 2.0 V    4AT               ราคา   1,079,000 บาท

รายละเอียดของเวอร์ชันไทย รุ่น Minorchange รอบ 2 คลิกอ่านต่อ
ได้ที่นี่ (CLICK HERE)

จากนั้น 11 กันยายน 2012 มีการปรับอุปกรณ์เพิ่มเล็กน้อย โดยไม่ได้
แตะต้องกับงานวิศวกรรมหลักของตัวรถใดๆทั้งสิ้น มีทั้งการ เปลี่ยน
ชุดเครื่องเสียง พร้อม ระบบนำทาง GPS Navigation System แสดง
ข้อมูลผ่านจอ LCD ขนาด 6.1 นิ้ว ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล

สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และแถว 3 ที่อาจจะอยู่ไกลจนมองหน้าจอบน
คอนโซลไม่เห็น Toyota Thailand ได้เพิ่มจอ LCD ขนาด 10.2 นิ้ว
นอกจากนี้ยังมีการปรับการตกแต่งภายในเล็กน้อย เช่น พวงมาลัยแบบ
หุ้มหนัง 4 ก้าน หัวเกียร์หุ้มหนัง และแผงคอนโซลกลางพร้อมตกแต่ง
สีเมทัลลิกและลายไม้ตามสมัยนิยม พร้อมด้วยเครื่องปรับอากาศแบบ
Digital อัตโนมัติพร้อมช่องปรับอากาศแถว 2 และ 3 อีกทั้งยังสั่งเพิ่ม
กล้องมองหลังพร้อมเซนเซอร์ช่วยกะระยะด้านท้ายเพื่อช่วยขณะถอย
จอดรถมาให้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น สีตัวถังมีการเพิ่มสีใหม่ Grey Mica Metallic เข้ามา
เสริมทัพสีตัวถัง White Solid, Silver Metallic และ Black Mica
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ (Click Here)

2013_Toyota_Innova

19 กันยายน 2013 Kijang Innova ถูกปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 3
ถือเป็นครั้งสุดท้าย ของรุ่นที่ 4 คราวนี้ P.T.Toyota-Astra ตัดสินใจปรับ
เปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าให้ใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเพิ่มความหรูหราและดู
อลังการมากกว่าเดิม ส่วนบั้นท้าย เพิ่มแผงทับทิมกรุขอบโครเมี่ยมเสริม
ความหรูหรา ขณะที่ภายในห้องโดยสาร จะประดับขอบลายไม้บริเวณ
แผงควบคุมตรงกลาง และเปลี่ยนมาใช้ชุดเครื่องเสียงแบบหน้าจอสัมผัส
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดด้านวิศวกรรมต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม

ส่วนรุ่นสีน้ำตาลในภาพข้างบนนี้ เป็นเวอร์ชันพิเศษ กระตุ้นตลาดในชื่อ
Toyota Innova Special Edition มีเฉพาะสีน้ำตาล และคาดด้วย Strip
ด้านข้างตัวรถสีเหลือง ออกขายเฉพาะในอินเดีย เมื่อ 12 เมษายน 2014

อย่างไรก็ตาม Kijang Innova Last Minorchange นั้น ไม่ได้ถูกนำเข้ามา
จำหน่ายในประเทศไทย เพราะสำหรับตลาดบ้านเรา ยังคงลากทำตลาดรุ่น
ก่อนหน้านี้ ต่อเนื่องมาจนถึงปลายอายุตลาด ในปี 2016

Kijang รุ่นนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ด้วยยอดส่งออก ทั้งรูปแบบของ
รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน CBU และชิ้นส่วน CKD ไปยังโรงงานในต่างแดน
ประกอบขายกันอย่างสนุกสนาน นับกันจนถึงแค่สิ้น ปี 2013 โรงงานของ
P.T.Toyota-Astra ในเมือง Karawang ทำยอดผลิต Innova รุ่นแรกไป
ได้สูงถึง 492,369 คัน

————————————————————

2016_Toyota_Innova_Export

5th Generation
Kijang Innova / Innova CRYSTA
AN140

Indonesia : November 23rd, 2015 –
Thai : September 30th,  2016 –

ความสำเร็จของ Innova รุ่นเดิม ทำให้ Toyota ยังคงเลือกที่จะให้ Kijang
Innova รุ่นล่าสุด สร้างขึ้นบนโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับ รถกระบะ Hilux
Revo และ Fortuner ใหม่ 2 สมาชิกสำคัญในโครงการ IMV ภาค 2 โดย
ยังคงให้ อินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตหลักเพียงแห่งเดียว ซึ่งนั่นยิ่งช่วย
ให้ P.T.Toyota-Astra Motor เพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศอินโดนีเซีย
(Local Content) ขึ้นเป็น 85% ได้สำเร็จ

Kijang Innova รุ่นนี้ เปิดตัวครั้งแรกในอินโดนีเซีย เมื่อ 23 พฤศจิกายน
2015 ตามด้วยฟิลิปปินส์ (26 กุมภาพันธ์ 2016) UAE (ุ6 เมษายน 2016)
อินเดีย (อวดโฉมงาน Auto Expo กุมภาพันธ์ 2016 ก่อนจะเริ่มทำตลาด
จริงจัง เดือน พฤษภาคม 2016)

ส่วนประเทศไทยของเรา Toyota Motor Thailand สั่งนำเข้า Innova
แบบรถยนต์ประกอบสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) จากอินโดนีเซีย มาทำตลาด
ในบ้านเรา เหมือนรุ่นก่อน โดยอาศัยสิทธิพิเศษจากข้อตกลงการค้าเสรี
AFTA ตามเคย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อ 30 กันยายน 2016 และ
มีลูกค้าชาวไทย ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นพอสมควรเนื่องจาก ตัวรถได้ถูก
ปรับปรุงยกระดับความหรูหราให้มากยิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม

Innova รุ่นที่ 5 มีขนาดตัวถังยาว 4,735 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร
สูง 1,795 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อ
คู่หน้า/หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,540 มิลลิเมตร เท่ากัน ส่วน
ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) อยู่ที่ 178
มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร

ขุมพลังมีให้เลือกทั้งหมด 4 แบบ ยกชุดมาจาก Hilux Revo กับ Fortuner
ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละตลาด แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด
ทางเทคนิคของเครื่องยนต์เบนซิน ตระกูล TR ในขณะที่เครื่องยนต์ Diesel
ถูกเปลี่ยนใหม่ มาเป็นตระกูล GD ซึ่งเป็นพัฒนาการต่อยอดจากตระกูล KD
มีรายละเอียดดังนี้

– 1TR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ  Square) กำลังอัด 10.4 : 1 จ่าย
เชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI แตมีการ Upgrade ระบบแปรผันวาล์วจากเดิม แค่
แปรผันเฉพาะหัวแคมชาฟต์ฝั่งไอดี (VVT-i) มาเป็น Dual VVT-i แปรผันที่
หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย แรงขึ้นจาก 136 เป็น 139 แรงม้า (PS) ที่
5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เพิ่มจาก 182 นิวตันเมตร (18.5 กก.-ม.) มา
เป็น 183 นิวตันเมตร (18.6 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ปล่อยไอเสียออกมา
ผ่านมาตรฐานมลพิษระดับ Euro 4 รองรับน้ำมันเบนซินแก็สโซฮอลล์ได้ถึง
ระดับ E20 (ค่าออกเทนต้องสูงกว่า 91 ขึ้นไป)

– 2TR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,694 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก
95.0 x 95.0  มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 10.2 : 1 จ่าย
เชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EFI เปลี่ยนระบบแปรผันวาล์ว จาก VVT-i แบบเดิมเป็น
Dual VVT-i กำลังสูงสด 166 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
25.0 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 6
จังหวะ

– 2GD-FTV Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,393 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92.0 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.6 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดตรง
สู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางร่วมในระบบ Common-Rail พ่วง
ระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) และเพิ่มชุด
Intercooler กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
35.0 กก.-ม.ที่ 1,400 – 2,800 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ
อัตโนมัติ 6 จังหวะ

– 1GD-FTV Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,756 ซีซี.กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92.0 x 103.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.6 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดตรง
สู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางร่วม Common-Rail พร้อมระบบอัด
อากาศเป็น Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) พ่วง Intercooler
174 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 360 นิวตันเมตร (36.6
กก.-ม.) ที่ 1,200 – 3,400 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานมลพิษ Euro 4 รองรับ
น้ำมัน Diesel ที่มีค่าซีเทน สูงกว่า 48 ขึ้นไป

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์แบบ
ไฮโดรลิก ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ อิสระ ปีกนกคู่ คอยล์สปริง แหละ
เหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็น 4-Link พร้อมคอยล์สปริง ระบบห้ามล้อ
ของทุกรุ่นย่อย ยังคงเป็นแบบพื้นฐาน ด้านหน้าเป็น ดิสก์เบรก ด้านหลังเป็น
ดรัมเบรก พร้อมสารพัดตัวช่วย อัดแน่นครบ ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก
EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงดันน้ำมัน
เบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle
Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัวบนพื้นถนนลิ่น TRC
(Traction Control) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist
Control)

Innova ใหม่ ถูกผลิตขึ้นจากโรงงาน Karawang Plant 1 ใน อินโดนเีเซีย
ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ ไปยัง 22 ประเทศ ทั่วโลก

———————————————-

2016_Toyota_Innova_Factory_1

จากจุดเริ่มต้นในฐานะ BUV (Basic Utility Vehicles) รถยนต์อเนกประสงค์
หน้าตาบ้านๆ ไม่มีแม้แต่กระจกหน้าต่างด้านข้าง มาจนถึง Innova รุ่นล่าสุด
ในทุกวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอันยาวไกลของทั้งลูกค้าชาว ASEAN
โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่มีรสนิยมเปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
รวมทั้ง Toyota ในความพยายามทำรถเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่ม
ลูกค้าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้าจะพูดว่า Innova คือภาพสะท้อนแห่งความเปลี่ยนแปลงของชาวอินโดฯ
ก็คงจะไม่ผิดนัก มาวันนี้ รสนิยมและการใช้ชีวิตของลูกค้าที่นั่น เริ่มเข้าสู่
มาตรฐานเวทีสากลแล้ว และนั่นยิ่งทำให้ Toyota ต้องยกระดับมาตรฐาน
รถยนต์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวอินโดฯ เพื่อให้
ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ เฉกเช่นทุกวันนี้

จาก 40 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พวกเขาต้องฝ่าฟันสารพัด
เรื่องราวมากมาย และท้ายที่สุด Innova ใหม่ คือรถยนต์ที่สามารถกล่าวได้
อย่างเต็มปากว่า

นี่แหละ ผลผลิตที่เชิดหน้าชูตาให้กับ วงการอุตสาหกรรมยานยนต์
ของอินโดนีเซีย
ในสายตาชาวโลก ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

————————–///————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
คุณ Charin Siriananchai ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ 
(Product Planning Dept.)
คุณ Am Petwilai ฝ่ายประชาสัมพันธ์
(Public Relation Dept.)
Toyota Motor (Thailand) Co.,ltd
และคุณ Naoki Sumino
Global Communications Dept.
Public Affairs Division
Toyota Motor Corporation
สำหรับความช่วยเหลือในด้านข้อมูลเพิ่มเติมอย่างดียิ่ง

“J!MMY”
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ รวมทั้ง Clip Video ภาษาไทย
เป็นของ Toyota Motor (Thailand) Co.,ltd.
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายจากต่างประเทศ รวมทั้ง Clip Video ภาษา Indonesia
เป็นของ Toyota Motor Corporation และ P.T. Toyota-Astra

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
21 ธันวาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text 
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 21 st,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE