เพลง Fairground ของ Simply Red ในเวอร์ชันแสดงสดครั้งสุดท้าย ที่ Opera House ใน Sydney
บรรเลงอยู่ในหูฟัง ภาพบรรยากาศคอนเสิร์ต ครั้งนั้น อยู่บนหน้าจอ ในห้องผู้โดยสารของเที่ยวบิน การบินไทย
TG 415 จาก กรุงเทพมหานคร สู่กรุง Kuala Lumper ประเทศ Malaysia

เพลงโปรดเพลงนี้ ผมหามานาน ว่าใครร้อง แล้วก็มาเจอนี่ละว่าเป็น Simply Red จะว่าไปแล้ว การที่เพลงนี้
โผล่เข้ามาในจังหวะนี้พอดี มันเหมือนบอกกับผมว่า สิ่งที่ผมจะได้เจอในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า มันชวนให้
รู้สึกถึงบรรยากาศที่ไม่ได้ต่างอะไรกับการไปยืนอยู่กลาง Fairground เท่าไหร่เลย

ปกติ ผมไม่ค่อยไปร่วมงานกิจกรรมอื่นใด ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์หรอกครับ ต่อให้เป็นงาน
ของยางรถยนต์ยี่ห้อไหน น้ำมันยี่ห้อใด แบ็ตเตอรีค่ายไหน ก็ไม่เคยไป เพราะรู้สึกว่า ไม่อยากไป
แค่ในแต่ละวัน เวลาที่ผมต้องใช้ทำงาน มันก็น้อยมากแล้ว อยากขอใช้เวลาทำงานให้เต็มที่จะดีกว่า

ขนาดพักหลังมานี้ งานเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ผมยังเริ่มจะปล่อยน้องๆ The Coup Team ให้ไป
ร่วมงานแทนเลย ด้วยเหตุผลเดียวคือ ขอใช้เวลาขลุกกับรถที่นำมาทดลองขับ ให้เยอะขึ้น และใช้
เวลาในการเขียนงาน ย่อรูป มากขึ้นแทน จะดีกว่า

แต่ Michelin เขาเองก็ไม่เคยลดละความพยายามในการ ส่งเทียบเชิญให้ไปร่วมงานต่างๆหลายครั้ง
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมเองก็ได้แต่บ่ายเบี่ยง ทั้งเพราะงานยุ่ง เหมือนยุงตีกัน หรืออาจจะอยากส่ง
น้องๆในกลุ่ม The Coup Team ของเรา ไปสัมผัสประสบการณ์ ในการร่วมกิจกรรมออกทริปแบบนี้
กับเขาบ้าง

ซึ่งก็รวมทั้งกิจกรรม Michelin Pilot Experience นี้ด้วย

อันที่จริง ปีที่แล้ว ผมเคยส่ง คุณเนย ธนพล รัตนบูรณ์ (Nuay_pds) สมาชิก The Coup Team
ของเรา บินไปร่วมกิจกรรมนี้มาแล้ว และคุณเนย ก็เคยได้เขียนเล่าประสบการณ์แสนสนาน
ตื่นเต้น มาให้พวกเราได้อ่านกัน ในบทความนี้  (คลิกที่นี่)

ปีนี้ Michelin โทรมาอีกครั้ง พร้อมกับล็อกตัวผมไว้เนิ่นๆ ตั้งหลายเดือน ว่าทำตัวให้ว่าง เพราะจะ
พาไปร่วมงานเดียวกัน ที่จัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ณ สถานที่เดิม

มานั่งนึกไปนึกมา ถ้าคราวนี้ เราไม่ไปอีก เขาจะคิดว่า เราผิดใจอะไรกับเขาหรือเปล่า ทั้งที่จริงๆแล้ว
ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น กับ Michelin เอาละ เพื่อตอบรับไมตรีอันดี และไม่ให้เขางุนงง ว่า
เชิญมากี่งานต่อกี่งาน ยังไม่เห็นคุณ J!MMY มาร่วมงานกับ Michelin สักที หลายต่อหลาย Website
และ Car Club ทั้งหลาย เขาก็มาร่วมงานนี้กันหมดแล้ว มีแต่ตา J!MMY นี่แหละที่ยังไม่โผล่มาร่วม
สักทีนั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ ผมต้องมานั่งจุ้มปุ๊ก อยู่ในเที่ยวบิน TG 415 จนถึง กรุง Kuala Lumper
ช่วงเที่ยงวันที่ 10 สิงหาคม 2012 นั่นเอง

ที่พักในปีนี้ Michelin จัดให้สื่อมวลชน จากทั้ง ไทย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย พักโรงแรม
เดียวกัน คือ Intercontinental Kuala Lumper ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว ที่มีเตียงนุ่มๆ หมอนนุ่มๆ
ห้องพักนอนสบาย ห้องน้ำ ไม่มีสายฉีดล้างก้น แต่มีระบบฝารองนั่ง ฉีดน้ำแบบส้วมในญี่ปุ่น และ
มี Staff ในส่วน Bussiness Center ดูแลให้บริการดีใช้ได้ แต่ ก็มี Staff ชายที่ Lobby อยู่ 1 คน ซึ่ง
ทั้งสาว ทั้งอ้วน ทั้งดำ ทั้งดุ และดู “เยอะ” ไปในเวลาเดียวกัน (-_-‘) แถมยังมีบริการ Call Center
ที่ ไม่ค่อยจะเท่าเทียมในบริการกันเท่าไหร่ เพราะโทรปลุกทีมไทย ตอน 6.40 น. ทั้งที่บอกให้
ปลุกตอน 5.30 น. แต่ ดันโทรปลุกทีม สิงค์โปร์ ถึง 3 รอบ! อะไรกันหนอ?

มีห้องอาหาร Serena ที่ไว้พึ่งพาในมื้อเช้า รสชาติ ถือว่าใช้ได้ครับ ราคา เฉลี่ย จานละ 30 – 50 RM
ขึ้นไป จนถึง 165 RM (แต่มื้อเช้ามีอาหารให้เลือก ไม่เยอะนัก รสชาติ ยังไม่อาจปลุกให้เราตื่นจาก
ค่ำคืนอันยาวนานได้เลย)

และมีห้องอาหารญี่ปุ่น ชื่อ TATSU ราคาพอกันกับ อาหารญี่ปุ่น ในโรงแรมหรู ที่บ้านเรา รสชาติ
ภาพรวม จัดอยู่ในเกณฑ์ดี เลี้ยงรับรองแขกได้ไม่อายใคร ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย Cozy ไม่รู้ว่า
แสงจะสลัวกันไปถึงไหน

วันแรก รายการพาเที่ยว เท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย ก็คือการมาดูจุดสำคัญของเมืองอย่าง อาคาร Petronas
Twin Tower ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเอาเรื่องอยู่ ก่อนจะผ่านขึ้นตึกไป ต้องมีรายการ
X-Ray และ Scan ราวกับอยู่ในสนามบิน ทางเข้าอาคาร ต้องเดินผ่าน ม่านลมเย็นไอน้ำ ที่มีการยิงภาพ
Video Presentation จากเครื่อง Projector ให้ชมกัน ก่อนจะเดินทะลุเข้าไปยังประตูหนีไฟ แล้วค่อยขึ้น
ลิฟต์ ไปยังชั้น 86 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่เปิดให้เข้าชมได้ผนังของลิฟท์ จะมีจอ LED เลื่อนเป็นภาพถ่าย
Video ของวิวจากอาคารข้างนอก ขึ้นไปถึงชั้น 83 แล้วค่อยเดินออกมาขึ้นลิฟต์ อีกตัวหนึ่ง ต่อขึ้นไป
ถึงชั้น 86

บรรยากาศข้างบน? ก็คล้ายๆกับที่ผมเคยเจอมาแล้ว ทั้งบน หอคอยที่กรุง Seoul เกาหลีใต้
Tokyo Tower ที่ ญี่ปุ่น เพียงแต่ว่า อยู่สูงกว่า กันชัดเจน และทำเอาภาพเมืองเบื้องล่างที่
เห็นอยู่ กลายเป็นเมืองจำลองเด็กเล่นไปเลย

นอกจากนี้ ยังมีแบบจำลอง ของอาคารแฝด และโครงการพัฒนาเมือง Kuala Lumper ให้
นักท่องเที่ยว ได้ชมกันอีกด้วย

จังหวะนั้น ข้าศึกเริ่มโจมตี ยังดีที่ข้างบนนี้ มีห้องน้ำ ไว้ให้ผู้เข้าชม ได้ปลดทุกข์กันด้วย
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยืนฉี่ จากที่สูงขนาดนี้อีกแล้ว

จากนั้น เราลงลิฟต์ ไปยังชั้น 41 ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน 170 เมตร เพื่อไปเดินเล่น บนทางเชื่อม
ขนาดยาว ระหว่างทั้ง 2 อาคาร ถูกก่อสร้างไว้ให้มีความยืดหยุ่น และรองรับกับแผ่นดินไหว และ
การสั่นไหวอื่นๆ ตามธรรมชาติ ได้อย่างดี

นี่ถ้าปีที่แล้ว ผมมาแทน คุณเนย ผมคงไม่ได้ขึ้นมาดูจุดสูงสุดของเอเซีย ในคราวนี้แน่ๆ

หากคุณอยากอ่านเรื่องราวต่างๆ ของ Malaysia ทั้งที่มาของ เมือง Putrajaya นโยบายต่างๆของ
รัฐบาลประเทศนี้ ซึ่งมีรายละเอียดของเมือง KL และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย คุณเนย เขียนสรุปไว้
ในบทความ เยือน Malaysia กับทริป Michelin Pilot Experience เมื่อปี 2011 รวมอยู่ในนั้นแล้ว
อย่างครบถ้วน (คลิกอ่านได้ ที่นี่)

พอลงมาถึงชั้นล่าง ก็ได้เวลาซื้อของ Shopping เล็กๆน้อยๆ ราวๆ 1 ชั่วโมง ก่อนรับประทานอาหาร
มื้อเย็นห้างสรรพสินค้า Suria ใน KLCC นั้น ก็มีบรรยากาศ ไม่ต่างไปจาก ห้างสรรพสินค้า Siam
Paragon ผสม กับ Seacon Square ในบ้านเราเท่าใดนัก มี Food Court ขนาดปานกลาง ไม่ใหญ่โต
มีร้านค้ามากมาย แต่มีร้านขาย CD เพลง แค่เพียงร้านเดียวจากทั้งห้าง! สิ่งเดียวที่ล้วงเงินออกจาก
กระเป๋าสตางค์ของผมได้ ก็คือ ร้านหนังสือ Kinokuniya ขนาดใหญ่โต ผมไปขุดค้นหาหนังสือรถ
Motor Fan ฉบับ New Model (เล่มละราวๆ 22 – 28 RM โดยประมาณ และหนังสือรถภาษาญี่ปุ่นอีก
2 – 3 เล่ม ได้ ที่ Malaysia !!! งงตัวเองดีแท้เลย!

มื้อค่ำวันแรก จบลงที่ร้าน Spring Garden บนชั้น 4 ของ Suria KLCC เป็นร้านอาหารจีน ที่มีกลิ่น
ในห้องแอร์ อับเล็กๆ เสิร์ฟชาจีนร้อนๆ ผิดกับบ้านเรา ที่มักเสิร์ฟในแก้วพร้อมน้ำแข็ง ผมเลยต้องขอให้
คุณป้าบริการเขาทำแบบเดียวกับบ้านเราแทน และถ้าคุณต้องการ เก๊กฮวย ก็บอกบริกรเขาไปได้เลย
ว่า “เก็กหัว” ส่วนเมนูอาหารนั้น รสชาติใช้ได้ ยกเว้นปลา ซี่งมาในรูปแบบที่แปลกไปสักหน่อย เพราะ
เนื้อเหมือนปลาเก๋า แต่หนังหนาพอกับไขมันของหมูสามชั้นเลยทีเดียว ควรสั่ง เป็ดย่าง ไก่ทอด ผัดผัก
เนื้อนกกระจอกเทศ ผัดน้ำมันหอย กุ้งผัดไข่เค็ม รสชาติแปลกนิดๆ แต่คนไทยเรา ซัดหมดเกลี้ยงจาน

3 ทุ่มครึ่ง ขึ้นรถบัส กลับโรงแรม แยกย้าย ห้องใครห้องมัน หลับกันแต่หัวค่ำ เพื่อเตรียมแรง
ให้พร้อมกับประสบการณ์สนุกๆ ที่รออยู่

ลุง Frank มัคคุเทศน์ของเรา บอกคนขับรถบัส จอดแวะให้เราบันทึกภาพตึกแฝดยามค่ำคืน ก่อนลาจาก

ในที่สุด ตอนเช้า ก็มาถึงเวลานัด ด้วยความที่ Morning Call ของโรงแรม พากันปลุกทีมคนไทย
เวลา 6.40 น. จึงมีเวลากระวีกระวาด อาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเช้า ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 นาที !!!
สุดท้าย ผมและคนไทย ก็ทำสำเร็จ ทันเวลา 7.00 น. พอดี ยกเว้นนักข่าวต่างชาติ 1 ราย ที่ตื่นสาย
และทำให้ขบวนพวกเรา (สื่อมวลชนทุกชาติ ต้องขึ้นรถบัส คันเดียวกัน) สายไป 15 นาที แต่นั่น
ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต เพราะเช้าวันเาร์ การจราจร ไม่ติดขัด ทำให้เราเดินทางไปถึงสนามแข่ง
Sepang Circuit ได้ในเวลา 1 ชั่วโมง โดยประมาณ

เมื่อมาถึง สนาม Sepang Circuit ผมก็ได้พบกับ พี่ชายผู้พัดพรากจากกันมาแสนนาน ตั้งแต่
ชาติปางไหนก็ไม่รู้ จนต้องขอถ่ายรูปคู่ เพื่อยืนยันว่า ขณะนี้ สรีระร่างของข้าพเจ้า มิได้
อ้วนพีมากมายอย่างที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจกัน

ไม่เชื่อ ก็เทียบดูสิครับ ผมยังห่างไกลเจ้า Bibendum อีกตั้งเยอะ!

Mr. Regis JEANDENAND (รีจิส ชองเดอน็องด์ ) ผู้จัดการฝ่าย Motor Sport ภูมิภาค Asia – Pacific
ผู้ที่ใช้เวลากว่า 40 ปี  ร่วมงานกับ Michelin ในฐานะนักแข่ง หรือไม่ก็เป็น co-driver เข้าร่วมแข่งขัน
Rally มากกว่า 150 สนามใน Europe  ซึ่งรวมถึง 10 สนามใน Monte Carlo Rally ก่อนจะผันตัวเอง
มาเป็นนักขับทดสอบในฝรั่งเศส สวีเดน ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น เริ่มต้นแนะนำทีมงานและ Instructor
ในวันนี้ ทั้งหมด ดังนี้

จินดาพร พฤกษะวัน  (คุณเป๋า) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย Motor Sport ภูมิภาค Asia – Pacific เป็นคนไทย
ที่ร่วมงานกับ Michelin มากว่า 15 ปี มีประสบการณ์มากมายจากการทำหน้าที่ Instructor  ในแทบทุก
กิจกรรมการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และ การทดสอบขับขี่ของ Michelin ทั้งในภูมิภาค Asia – Pacific
เช่น ทะเลทรายโกบิ, ทะเลน้ำแข็ง ฮาบิน, และรวมถึงงาน Michelin Pilot Experience 2 ปีที่ผ่านมา

Alexandre IMPERATORI (อเล็กซานเดร อิมเพอราโตรี) นักแข่งมืออาชีพ อายุยังไม่เยอะนัก แค่
มากประสบการณ์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำตัวจริงจากการแข่งขัน Porsche Carrera Cup
Asia รวมทั้งยังเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการ เช่น Formula Nippon GT300 กับ Formula 3 และ
ยังรวมถึง การแข่งในรายการ Endurance กับ Audi อีกด้วย!

Benjamin ROUGET (เบนจามิน โคเกท์) นักแข่งมืออาชีพจากประเทศฝรั่งเศส นอกจากจะเป็น
แชมป์จากรายการ Porsche Challenge แล้ว ยังเคยร่วมลงแข่งในรายการ Formula Renault ใน
Asia รายการ GT 300 และเป็นหนึ่งในนักแข่งที่ดีที่สุดในรายการ Porsche Carrera Cup Asia
2012

Philippe DESCOMBES (ฟิลิปเป เดอคอมเบ) นักแข่งชาวฝรั่งเศส ที่คว้าแชมป์มาหลายรายการใน
ทั้ง Europe และ Asia ด้วยรถแข่ง Formula Renault แถมเป็นแชมป์ถึง 2 สมัย ในรายการโด่งดัง
อย่าง Macau Grand Prix ปัจจุบัน เป็นผู้จัดการทีม และหัวหน้าผู้ควบคุมการขับขี่ในสถาบันฝึก
สอนขับรถแข่ง ART Racing School ที่ซูไห่ ประเทศจีน

Rodolfo AVILA (โรโดลโฟ อะวีลล่า) นักแข่งมืออาชีพชาว Portugese ที่มาใช้ชีวิตใน Macau
สั่งสมประสบการณ์มากมายจาก Formula 3 ทั้งใน Europe กับ Macau รายการ Formular Renault
ใน Asia คว้าแชมป์ จากรายการ Asia Super car ปี 2008 และเป็นแชมป์ในรายการ Porsche
Carrera Cup Asia ในปีที่ 3 รวมทั้งทำคะแนนรวมเป็นอันดับ 4 ในปี 2009 และ 2010

Aaron LIM (แอรอน ลิม) นักแข่งชาวมาเลเซียที่เข้าสู่วงการด้วยการแข่ง Go-Kart ในระดับนานาชาติ
และก้าวเข้ามาสู่การแข่งรถยนต์ จากการเข้าร่วมรายการ Formula BMW , Merdeca Endurance &
Audi R8 LMS Cup

Hong Heng Soon (ฮง เฮง ซุน) ผู้อำนวยการ ฝ่ายมอเตอร์สปอร์ตแห่ง EKS เคยผ่านการร่วมงานใน
การแข่งขันที่โด่งดังอย่าง GT Championship และ Merdeca (ทีม Lamborghini และ Honda)
ปัจจุบัน ดูแลด้านเทคนิคทั้งหมดในการจัดแข่งขันรายการ Porsche Carrera Cup Asia

Mr. REGIS เล่าว่า “แนวคิดของกิจกรรม Michelin Pilot Experience เกิดขึ้นจากการที่เราอยากจะให้
ผู้คนภายนอกบริษัทของเรา ได้มีส่วนร่วมรับรู้ถึงนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในสนามแข่งขัน ที่ซึ่ง
ยางรถยนต์จะต้องถูกใช้งานอย่างหนัก นำไปเก็บข้อมูล และนำมาปรับปรุงสู่การใช้งานจริงบนถนน
กิจกรรมนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ลูกค้าของ Michelin และ สื่อมวลชน ได้สัมผัสกับนวัตกรรมทางวิศวกรรม
ของเรา กันแบบถึงขีดสุด แต่อยู่ภายใต้บรรยากาศการขับขี่ที่ปลอดภัย”

งาน Michelin Pilot Experience เริ่มขึ้นครั้งแรกใน Europe ก่อนที่จะมาเปิดตัวใน Asia ที่สนามแข่ง
รถยนต์ Sepang Circuit ในปี 2006 จนถึงปัจจุบันนี้ งาน MPE ได้สร้างสถิติเอาไว้ในฐานะ กิจกรรม
เพื่อสร้าง Brand Impage ที่ใช้เวลาดำเนินงาน และงบประมาณ มากเป็นอันดับต้นๆ มีผู้ร่วมกิจกรรม
มาแล้วกว่า 2,000 คน (ลูกค้า Michelin, สื่อมวลชน, Blogger ใน Internet ฯลฯ) จาก 17 ประเทศ ที่มา
เข้าร่วม ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน อินเดีย ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนิเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย
ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน เวียดนาม และฮ่องกง)

โดยงานนี้ ใช้รถยนต์สมรรถนะสูง ในกิจกรรมกว่า 20 คัน  ตั้งแต่ Fomula Renault 21 รถต้นแบบของ
Renault รุ่น Clio Renault GT5 และ Porche 911 GT3 Cup รหัสรุ่น 996 รถทุกคันแล่นด้วยระยะทาง
รวมกันแล้ว มากกว่า 30,000 รอบ ของสนาม Sepang และต้องมีทีม instructor /หรือ นักแข่งมืออาชีพ
มาร่วมงานด้วย มากถึง 20 คน

Michelin ลงทุนอย่างมากในการจัดกิจกรรม MPE และในปี 2011 ได้ปรับปรุงรถยนต์ที่ใช้ในกิจกรรม
ใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนรถต้นแบบ GT5 แล้วแทนที่ด้วย รถยนต์ Renault Clio CUP ใหม่ 4 คัน ปรับโฉม
รถ Formular Renault ด้วยชุด Aero Parts ใหม่รอบคัน และ Porsche 911 GT3 Cup ที่ปรับปรุงใหม่
ทั้งหมดอีก 2 คัน

และในปีนี้ Michelin เอง ก็กลับเข้าสู่การแข่งขัน WRC (World Rally Cross) งาน Michelin Pilot
Experience ในปีนี้ จึงมีกิจกรรม “นอกสนามแข่ง” เป็นครั้งแรก โดยนำ รถยนต์ Citroen C2 Rally
อีก 3 คัน มาวิ่งในสนามดินที่ถูกออกแบบและสร้างสรรมาเพื่อกิจกรรมครั้งนี้โดยเฉพาะ

ตลอด 18 วันในการจัดงานของปีนี้ (2012) Michelin ตั้งใจจะให้งาน Pilot Experience สร้างสถิติ
ยอดรวมผู้เข้าร่วมกิจกรรม มากกว่า 500 คน และแขกผู้เข้าร่วมจะไม่ใช่แค่ชาว Asia เท่านั้น เพราะ
จะมี ลูกค้าชาว South Africa จะมาร่วมเข้ากิจกรรมเป็นครั้งแรกอีกด้วย

พอนั่งรับฟังการบรรยายเบื้องต้นเสร็จจาก Mr.Regis เสร็จแล้ว Cynthia ก็พาพวกเราไปยังห้องโถง
ซึ่งเป็นทั้ง สถานที่รับประทานอาหารกลางวัน และนั่งพัก ผ่านไปยังมุมซ้ายสุด เพื่อเข้าสู่ห้องเปลี่ยน
เสื้อผ้า

เหมือนเช่นปีที่แล้ว ทาง Michelin จัดเตรียมตู้ล็อกเกอร์ พร้อมป้ายชื่อของแต่ละคน เอาไว้ ข้างใน
จะมีกระเป๋าเป้ ผ้าเช็ดเหงื่อ รองเท้าใส่ขับรถ ของ Sodalto หันกลับมาด้านหลัง จะมีชุดนักแข่ง
หลายขนาดรอบริการเสร็จสรรพ

ชุดนักแข่ง ไซส์ 62 ผลิตโดย Sparco ที่เตรียมไว้ให้ผมนั้น สงสัยจะใหญ่ไม่พอ เลยต้องเปลี่ยนเป็น
ไซส์ 64 ซึ่งใส่ได้กำลังดี เข้ามาแทน ถ้าสวมใส่ ชุดที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็จะกลายเป็นว่า หลวมโพรก
จนไม่พอดีตัว และหลวมเกินไป

เมื่อต้องรีบเร่งเปี่ยนเสื้อผ้า ให้เรียบร้อย กอปรกับ นอนน้อยต่เนื่องติดกันมาเป็นเวลานาน ก็มีส่วน
ทำให้ผลการวัดความดันโลหิตของผม โดยแพทย์ของทาง Malaysia ออกมาครั้งแรกสูงมากๆ ถึง
170 / 111 จากเครื่องวัดแบบ Digital !!

ตกใจสิครับ! ปกติ ความดันของผมจะอยู่ที่ 130/90 มานานแล้ว แต่ผมไม่แปลกใจเรื่องความดันสูง
เท่าไหร่ เพราะการนอนน้อยต่อเนื่องมาหลายปี มันส่งผลกระทบระยะยาว ถึงตอนนี้นั่นเอง

ผมต้องใช้เวลา วัดความดัน ถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้ตัวเลข 160 / 90 จากเครื่องวัดแบบดั้งเดิม พร้อมกับ
คำกำชับของหมอ ว่า กลับถึง กรุงเทพฯ ควรตรวจวัดความดัน และสุขภาพสักหน่อยก็จะดี

ผมก็คงได้แต่เออ ออ ห่อหมกไปตามนั้น เพราะรู้ดีว่า สุขภาพของผมนั้น มันก็ไม่ค่อยจะดีนัก
มาเรื่อยๆอยู่แล้ว แหงละ ไม่ได้ออกกำลังกายมาเลย 3 ปี ตั้งแต่ทำเว็บนี้มา ถ้าตัวเลขจะออกมา
แย่กว่านี้ ก็ยิ่งไม่แปลกใจละ!

ในเมื่อ ผลตรวจความดันออกมาแบบนี้ ต่อให้ผมมั่นใจว่า สุขภาพยังอยู่ในระดับ 90% แต่เพื่อ
ความไม่ประมาท ผมจึงตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมในบางกิจกรรมเท่านั้น คงไม่ได้เข้าร่วมเต็มที่
เหมือนอย่างที่คุณเนย ได้เคยมีโอกาสเมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดความเสี่ยง ในเหตุไม่คาดฝันใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจก่อความลำบากลำบนให้ผู้คนรอบข้าง และทาง Michelin
เขาก็เป็นได้

เอาละ เมื่อเซ็นเอกสารต่างๆ ทุกอย่างเรียบร้อยด้วยดี คราวนี้ ได้เวลาที่เราจะมาพบกับทีมนักแข่ง
และผู้ฝึกสอนของทาง Michelin ที่รอเราอยู่แล้ว ข้างล่าง….

ในปีก่อนๆ Michelin พยายามสลับเปลี่ยนหมุนเวียนรูปแบบของรถยนต์ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ให้มี
ความหลากหลายกันไป บางปี ก็เน้นแต่รถ Super Car สมรรถนะสูง บางปี ก็มีรถแข่งสลับมาแจมบ้าง
แต่ในรอบปี 2011 และ 2012 ที่เรา Headlightmag.com ไปร่วมงานมานั้น มีแต่รถแข่งล้วนๆเลยครับ!
และในครั้งนี้ ไม่มีรถ Go-Kart อย่างเช่นปีที่แล้ว โปรแกรมนี้ ถูกถอดออก เพื่อปรับให้เหมาะกับ
ประสบการณ์ของนักขับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชน ในย่าน ASEAN

ที่สำคัญ วันนี้ถือเป็นโชคดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีฝนตกลงมาเลยสักหยดเดียว ตลอดวัน
และอากาสในสนาม Sepang ยามบ่าย ถึงจะร้อน แต่ก็ยังไม่มากมายอย่างที่คาดการณ์กันไว้

เมื่อพิธีการเสร็จสิ้น เราเริ่มถูกเคลื่อนย้าย ไปนั่งรถตู้ Hyundai H-1 บ้าง Toyota Commuter บ้าง
เพื่อเดินทางไปยังสถานีเริ่มต้น ที่ถูกกำหนดไว้แตกต่างกัน ตามแต่ละทีมสีแดง เหลือง เขียว และน้ำเงิน

ปีนี้ ทีม Thai กลุ่มสีแดง ถูกกำหนดให้เริ่มจากสถานีแรก อันตรงกับ รถที่ผมตั้งใจว่าอยากจะลองขับ
ให้ได้ในงานนี้ (เพราะมั่นใจว่า น่าจะง่ายพอให้ขับได้ เอาอยู่ที่สุดแล้ว)

นั่นคือ Renault Clio Sport Cup นั่นเอง

รถคันนี้ ถูกดัดแปลงจาก Renault Clio Hatchback ในพิกัด B-Segment Sub-Compact Class รุ่น
มาตรฐาน ซึ่งทำตลาดอยู่ในตอนนี้ (แม้ว่ารุ่นใหม่จะเพิ่ง เผยโฉมไปก่อนหน้างานนี้ ไม่กี่สัปดาห์
ก็ตาม) ตัวรถ ยาว 4,017 มิลลิเมตร กว้าง 1,768 มิลลิเมตร สูง 1,484 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,585
มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร หัวฉีด อีเล็กโทรนิกส์ ปรับปรุงสมรรถนะ
ให้แรงขึ้นจาก 200 แรงม้า เป็น 220 แรงม้า (BHP) ความเร็วสูงสุด 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่ง
จาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 4 วินาที ใช้ยาง Michelin Pilot Sport ขนาด 20/62 – 18 ทั้ง 4 ล้อ

รถแข่งคันนี้ เสริมโครงสร้าง Roll Bar รอบคัน จากโรงงานของ Renault Sport และเดิมที มันคือ
ตัวแข่ง Renault Clio Cup ที่ผลิตออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ ปี 2005 และมีการปรับปรุงเล็กน้อยมาเรื่อยๆ
โดยถอดอุปกรณ์ไม่จำเป็นในรถทั้งหลายแหล่ ออกให้หมด เปลี่ยนพวงมาลัยเป็นของ Spargo
และมาตรวัดของ Magneti Marelli จากอิตาลี เข็มขัดนิรภัยของ Sabelt

ก่อนเริ่มลงสนาม เราต้องทำความรู้จักกับรถคันนี้ก่อน Benjamine ROUGET ครูฝึกประจำสถานีนี้
อธิบายถึงวิธีการใช้งาน บังคับควบคุมรถคันนี้ว่า

– การเข้า ไปนั่งในรถ ใช้ขาขวา แหย่เข้าไปบนพื้นที่วางเท้าก่อน แล้วค่อยหย่อนก้นลงไป พร้อมกับ
ยกเท้าซ้าย คร่อมผ่าน Roll-Bar เข้าไป รถรุ่นนี้ ปรับตำแหน่งเบาะนั่งในระยะใกล้ – ไกล ได้ แต่ปรับ
ระดับสูง – ต่ำ ไมได้

– การติดเครื่องยนต์ ให้ใช้นิ้วยกสวิชต์ On ขึ้น จากนั้น กดปุ่ม Start เครื่องยนต์จะเริ่มทำงาน ทุกครั้ง
ที่ติดเครื่อง จะอยู่ที่เกียร์ว่าง N เสมอ เช่นเดียวกัน เมื่อดับเครื่อง ทันทีที่ติดเครื่องยนต์ใหม่เกียร์ ก็จะ
อยู่ที่ N นั่นละ

– การเข้าเกียร์ ใช้วิธี โยกคันเกียร์จนดัง “แกร็ก” ซึ่งอาจต้องออกแรงนิดนึง เพราะมันเข้ายาก ถ้าคิด
จะเปลี่ยนเกียร์ 1 เพื่อออกรถ ต้องเหยียบคลัชต์ ถอน แล้วปล่อยแบบเกียร์ธรรมดา แต่หลังจากนั้น
ช่วงไต่ความเร็ว จากเกียร์ 2 – 3 – 4 – 5 – 6 สามารถ ดึงกระตุกคันเกียร์ ลงมาได้เลย ทันที โดยไม่ต้อง
เหยียบคลัชต์ แต่ถ้าจะเปลี่ยน ตำแหน่งเกียร์ ลงต่ำ จาก 6 – 5 – 4 – 3 -2 -1 ต้องเหยียบคลัชต์ ทุกครั้ง

– ถ้าจะดับเครื่อง เข้าเกียร์ N ก่อน ดับเครื่องทุกครั้ง แต่ถ้าไม่ ก็ค้างไว้ที่เกียร์ 1 แล้วดับเครื่องก็ได้

หลังจาก นั่งรถตู้ ดูสภาพแทร็คสนามแล้ว ก็ได้เวลาลองของจริง Benjamin และ Alex ครูฝึกทั้ง 2
จะขับรถ Porsche New Boxster และ Lotus Elise นำเราอยู่ และจะพิจารณาจากการขับขี่ ถ้ามี
แนวโน้มจะขับซิ่งมาก ใกล้ชิดบั้นท้ายรถครูฝึกมาก ทั้งคู่จะลดความเร็วลงมา เพื่อให้เว้นระยะ
ห่างเผื่อระยะเบรกกันไว้ หากมีปัญหาเกิดขึ้นในสนาม นั่งอยู่ในรถ หน่วยกู้ภัย จะวิ่งตรงเข้า
ไปช่วยเหลือเอง

รอบแรก คนไทยคนแรก ก็พาเจ้าเปี๊ยกสีน้ำเงิน ไปหมุนอยู่บน แทร็กสนามเรียบร้อยแล้ว แต่
หลังจากนั้น เหตุการณ์ทุกอย่าง ก็ปกติดี แล้วก็ถึงตาผม ที่จะต้องเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัยบ้างแล้ว

ตอนออกรถ ผมยังกะระยะแป้นคลัชต์ไม่ถูก ลองปล่อยช้าๆ รถก็กระตุกแล้วดับไป แอบหันไปมอง
ชาวคณะคนไทย ที่นั่งอยู่ในเต๊นท์ ก็ฮาไปลุ้นไป ว่าจะรอดหรือเปล่า ครั้งที่ 2 ก็ยังกระตุกดับอีก…
ครั้งที่ 3 เร่งส่งขึ้นไปกว่าปกติอีกสักหน่อย โอเค คราวนี้ไม่ดับละ รถค่อยๆเคลื่อนตัวออกไปอย่า
งต่อเนื่อง และรอบเครื่องก็เริ่มปาเข้าไป 5,000 รอบ/นาที สับเกียร์ 2 โดยไม่ต้องเหยียบคลัชต์…
โอย คันเกียร์ แข็งขนาดนี้ก ต้องเข้าแบบกระชากคันเกียร์ สถานเดียว

พอถึงโค้งแรก ก็เลี้ยวเขาไปด้วยเกียร์ 2 นั่นละครับ ยังไม่คุ้นเคยกับรถเลย ก็ต้องค่อยๆลองขับกันไป
แบบนี้นั่นละ เริ่มเข้าเกียร์ 3 ลากรอบขึ้นไป แถวๆ 6,000 รอบ/นาที แล้วถอนคันเร่ง ให้รอบลดลง
สักหน่อย เหยียบคัลชต์ ดันคันเกียร์ขึ้น เข้าเกียร์ 2 ผ่านโค้งซ้าย แล้วค่อยสับเกียร์ 3 ลงมา เร่งความเร็ว
ขึ้นอีกนิด เข้าเกียร์ 4 ในโค้งขวายาวๆ แล้วค่อยผ่อนเข้าเกียร์ 3 ก่อนจะเร่งส่งเข้าเกียร์ 4 อีกครั้ง พุ่ง
ไปเข้าโค้งซ้าย ด้วยเกียร์ 3 ลากต่อเข้าโค้งขวาอีกพักเดียว แล้วค่อยเข้าเกียร์ 2 เข้าโค้งขวา ลากยาว
ผ่านหน้าอัฒจรรย์ เร่งส่งต่อเนื่องไป

ผมยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับรถมากนัก  Benjamine เลยขับ Lotus Elise ทิ้งระยะให้ผมไว้ในระดับพอ
ประมาณ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

พอเริ่มคุ้นเคยกับรถ Benjamine ก็เริ่มทิ้งช่วงให้ผมเร่งตามมากขึ้น ไปๆมาๆ คนอื่นเขาขับกัน 3 รอบ
Benjamine พาผมวนรอบสนาม Sepang ฝั่งใต้ ทั้งหมดถึง 5 รอบ! สงสัยพี่แกคงเพลินไปหน่อย เลย
ปล่อยแถมให้ผมอีก 1 รอบ

พอเลี้ยวเข้าไปจอดรถยังลานหน้าเต๊นท์ Benjamine ลงมาแล้วคุยกับทุกคน บอกว่า คราวนี้ จะเพิ่ม
ความเร็วมากขึ้น เพราะคิดว่า ทุกคน น่าจะคุ้นเคยกับรถแล้ว

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ออกรถกันได้นี่ แต่ละท่าน ก็พุ่งออกไปรวดเร็วเหลือเกิน พอถึงตาผม คราวนี้
Benjamine ก็ขับรถ Lotus นำให้ อีกเช่นเคย คราวนี้ ปล่อยผมขับ 3 รอบ และใช้ความเร็วได้มากขึ้น
ผมพบว่า รถคันนี้ มีพวงมาลัยที่กระชับ ต้องออกแรงดึงอยู่พอสมควร อัตราเร่ง ใช้ได้ดี ขับสนุก
ถ้าไม่ติดว่า ไม่ค่อยจะมีอากาศหายใจสักเท่าไหร่ เพราะไม่มีรถแข่งคันไหนเลยในงานนี้ ที่ติดตั้ง
เครื่องปรับอากาศ

ช่วงรอบหลังๆ ผมเริ่มทำความเร็วได้สูงขึ้น ใช้ความเร็วในช่วงทางตรงราวๆ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ที่เกียร์ 6 พอถึงทางโค้งข้างหน้า ก็เริ่มสับเกียร์อย่างต่อเนื่อง เป็นจังหวะ 6 5 4 3 2 แล้วเข้าผ่านโค้ง
ไปอย่างเรียบร้อย เบรกตอบสนอง เหมืนๆกับรถเก๋งธรรมดาทั่วไป ที่จะมีช่วงระยะแป้นเบรกราวๆ
10% แรก มีลักษณะ หยุ่นเท้า Sponge ไปนิด หลังจากนั้น จะตอบสนองตามเท้าสั่ง เบรกแค่ไหน
ก็ชะลอรถลงได้แค่นั้น ต้องระวังนิดนึง

มันเป็น Hatchback ขนาดเล็ก ที่แรงที่สุดคันหนึ่งที่ผมขับ และพอใช้เวลาอยู่ด้วยกัน หลายรอบ
ผมเริ่มเห็นว่า มันขับไม่ยากอย่างที่คิดเลย สนุกใช้ได้ทีเดียว!

พอหมดเวลาแล้ว รถตู้ Toyota Commuter ก็พาพวกเราทั้งหมด เคลื่อนย้ายไปยัง ฐานกิจกรรมต่อไป
ซึ่งต้องวนรถอ้อมออกมายังพื้นที่ดิน ซึ่งถางไว้เป็นเส้นทางรอบเล็กๆสำหรับการฝึกขับรถ Rally
ค่อนข้างไกลจนเกือบจะถึงถนนใหญ่ ถ้าเดินมาเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

Citroen C2 Rally 3 คัน จอดรอเราอยู่แล้ว

Citroen C2 Rally รุ่นนี้ เป็นรถยนต์ประเภท Sub-Compact Hactchback พิกัด Sub-B Segment หรือ
เล็กพอกันกับ ECO Car บ้านเรา นั่นเอง ดัดแปลงมาจาก รุ่นมาตรฐานที่ทำตลาดอยู่ในยุโรป ถูกถอด
ชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออก เสริม Roll-Bar เอาไว้ให้แข็งแรงและ ทนต่อการพลิกคว่ำ ไม่ให้เสียรูปมากนัก

รายละเอียด เครื่องยนต์ เป็นบล็อก 4 สูบ 16 วาล์ว ไม่มีข้อมูลอื่นใดมาให้ บอกเพียงแต่ว่า มีกำลังสูงสุด
150 แรงม้า (PS) น้ำหนักตัวเบาแค่ 650 กิโลกรัม และใช้ยางสำหรับแข่งรถบนทางวิบาก

ในสถานีนี้ จะเป็นการฝึกให้ลองควบคุมรถแข่ง Rally แบบขับเคลื่อนล้อหน้า บนทางฝุ่น โดยเส้นทาง
จะออกจากเต๊นท์ จุด Start ด้วยเกียร์ 1 ลากรอบเครื่องยนต์จนได้ที่ ค่อยเข้าเกียร์ 2 จากนั้น คงไว้ที่เกียร์
2 ตลอด ม้วนเดียวจบ เพราะเส้นทางนั้น ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้เกียร์ที่สูงกว่านี้เลย พอถึงทางโค้งแรกเป็น
U-Trun ซ้าย พุ่งเข้า U-Turn ขวา แล้วเลาะลงไปตามพื้นที่สะพานเล็กๆ ข้ามลำธารระบายน้ำ โผล่ขึ้นมา
ตรงไปเข้าโค้งซ้ายขนาดกว้างๆ พอให้ทำความเร็วได้ระดับหนึ่ง แล้วหักซ้ายมากขึ้น เพื่อลงไปข้าม
สะพานเล็กๆเชื่อมลำธาร อีกฝั่งหนึ่ง ก่อนจะปีนขึ้นไป เลี้ยวขวา แล้วค่อย เลี้ยวซ้ายผ่าจุด Start อีกครั้ง
และถ้าครบ 5 รอบ ก็จะมีสัญญาณจากผุ้ช่วยครูฝึก ที่นั่งข้างๆ บอกว่า กลับเข้าเต๊นท์ ได้แล้ว ค่อยเลี้ยวขวา
กลับเข้าไปนั่งพัก

การลุกเข้า – ออกจากรถ ก็พอกันกับ Renault Clio Cup นั่นแหละ คุณต้องก้าวเท้าขวาเข้าไปถึงพื้นรถ
แล้วค่อยสอดตัวลงไปนั่ง ในเบาะนักแข่ง ที่เตี้ยกว่าเบาะธรรมดาของ C2 รุ่นมาตรฐานอยู่พอสมควร ทาง
เจ้าหน้าที่ดำทมึฬ ก็มาช่วยรัดเข็มขัดนิรภัยแบบ 4 จุดของ SaBelt ให้อีกครั้ง เพื่อความแน่นหนา

แล้วก็ได้เวลาออกรถ ดูเหมือนว่า C2 จะเป็นรถที่ขับง่ายที่สุดในบรรดารถทุกคันที่เข้าร่วมในงานครั้งนี้
เพราะการขับขี่ มันไม่ีต่างไปจากรถเกียร์ธรรมดา ขับล้อหน้าทั่วไป แม้กระทั่ง การติดเครื่องยนต์ ที่ยัง
ต้องใช้กุญแจ และเหยียบคลัชต์ เพื่อเปลี่ยนเกียร์ เหมือนรถปกติทั่วไป

การสูบลมยางด้านหลังให้แข็งขึ้นกว่าปกติที่ควรเป็นเล็กน้อย ช่วยให้สามารถควบคุมบั้นท้ายให้แอบ
เหวี่ยงออกนิดหน่อย เพื่อให้สามารถควบคุมรถได้จากบรรยากาศจริง อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ยังไม่
ถึงกับจี๊ดจ๊าดนัก แต่พอให้ผู้คนที่เพิ่งจะทำความรู้จัก หรือหัดขับรถแข่ง Rally ครั้งแรก คุ้นเคยได้
ไม่ยาก

ผมเข้าใจแล้วละว่า ทำไมเราถึงต้องใส่หมวกกันน็อกตลอดเวลาที่อยู่ในรถ เหตุผลหนะ มันไม่เพียงแค่
จะช่วยป้องกันกาารบาดเจ็บของศีรษะ กรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่ยังรวมถึงป้องกันการบาดเจ็บจากการนั่งอยู่
บนรถที่มีการสั่นสะเทือนอย่างหนักหน่วง ตลอดเวลา ในสภาพที่ไม่แตกต่างจาก การนั่งอยู่บนลังใส่
นมข้นหวานตราหมี สัก 1 คอนเทนเนอร์ส่งออก เท่าไหร่นัก มันสะเทือนเลื่อนลั่นมาก จนหมวกกันน็อก
ของผม โขกกับ Roll-Bar ดัง “โป๊กๆๆๆ” ไปหลายรอบอยู่

ช่วงล่าง แข็ง และต้องทนต่อการกระแทกกระเทือนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาให้ได้ การบังคับเลี้ยวถือว่า
เป็นไปเกือบจะตามสั่ง 100% พอเบรกลึกนิดๆ ในขณะอยู่ในโค้ง รถก็พร้อมจะมีอาการท้ายกวาดแบบ
Oversteer มาให้ได้สัมผัสกันนิดๆ กำลังสนุกเลยทีเดียว สมรรถนะ ถือว่า เพียงพอกับการฝึกหัดขับขี่
รถแข่ง Rally เลยทีเดียว อาจมีช่วงเกียร์ 2 ที่ต้องเหยียบกันลึกสักหน่อย เพราะมีอาการห้อย เร่งไม่ขึ้น
ในช่วงต้นของเกียร์ 2 ถ้าไม่ได้เลี้ยงรอบค้างไว้ตั้งแต่อยู่ในโค้ง

กลายเป็นว่า รถคันนี้ ดูเหมือนขับง่ายสุดในบรรดารถทุกคันที่ Michelin จัดให้เราได้ลองขับกันใน
ทริปนี้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังได้ยินว่า มีนักข่าวต่างประเทศบางราย พลาด ไปสะดุดหลุมบ่อเข้า ก็มี
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ พอดีว่า นักข่าวคนนั้น อายุ เข้าสู่ช่วง เบญจเพศพอดี…เรื่องแบบนี้สำหรับ
คนไทย ถือว่า ไม่แปลก และอาจเกิดขึ้นได้

เบญจเพศ นี่ ถ้าจะพูดให้ชาวต่างชาติเข้าใจ จะใช้คำว่าอะไรดี?

Quarter Life Crisis พอไหวไหมครับ? แหะๆๆๆๆๆ

ขับกันคนละ 2 รอบใหญ่ รวม 10 รอบย่อย ได้เวลา ที่อาหารมื้อเช้าย่อยหมดแล้ว และควรแก่การไป
รับประทานอาหารกลางวัน เติมเข้าไปเสียที ลุงคนขับรถตู้ ผู้เคยมาเมืองไทยบ่อยครั้ง ก็ขับรถพา
พวกเรากลับไปยัง อาคาร Perdana Suite

อาหารที่ แผนก Catering ของ โรงแรม Pan Pacific เตรียมไว้ให้พวกเรานั้น…สีสรรดูดี แต่รสชาตินี่
อีกเรื่องหนึ่ง พอกินได้ แต่ ไม่ถูกปากคนไทยนัก กระนั้น Hidden Item ของโรงแรมนี้ ที่ซ่อนอยู่
ด้านนอกระเบียง (เพราะต้องย่าง และทำให้เกิดควัน ไม่ควรปรุงในห้องแอร์แน่ๆ คือ  Hamburger
มีให้เลือกทั้งเนื้อและไก่ รสชาติ อร่อยใช้ได้เลยทีเดียว แถมขนาดของมัน ใหญ่เท่าไซส์ที่คนอเมริกัน
เขากินเลยนั่นแหละ ดังนั้น มันจะทั้งอิ่ม และอยู่ท้องดีนักแล

รายการต่อไปในช่วงบ่าย เป็นรายการที่ผมจำใจต้องขอเป็นผู้ชมนั่งดูอยู่ข้างสนาม ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน
แถมเป็น ไฮไลต์สำคัญของรายการนี้ นั่นคือ การทดลองขับ รถ Formula Renault เวอร์ชันย่อมเยา ซึ่ง
ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 1.6 ลิตร 196 แรงม้า (BHP) ด้วยน้ำหนักที่เบาเพียง 480 กิโลกรัม ทำให้สามารถ
ออกตัวจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลาเพียง 3.5 วินาที ใช้ยาง Michelin แบบ Racing ทั้งแบบ
ยาง Slick ไร้ดอกยาง หรือแบบ Wet (มีดอกยาง) ยางหน้า ขนาด 20/54 – 13 ยางหลังขนาด 23/57 – 13

เพื่อให้ผุ้เข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ เข้าใจว่าจะต้องขับรถคันนี้อย่างไร Michelin จึงเตรียมเครื่องจำลอง
ตั้งรถไว้บนแท่นหมุนล้อ เพื่อให้ Rodolpho AVILA นักแข่งร่างเล็กของ Michelin อธิบายถึงวิธีการ
ขับรถคันนี้ ดูเหมือนจะยาก แต่จริงๆแล้ว ง่ายเหมือนกันนะ

– ข้อแรก ปีนขึ้นรถก่อน ไปยืนบนเบาะรองนั่ง ที่คุณจะนั่งนั่นแหละครับ แล้วค่อยย่อตัว ยืดขาสอด
เข้าไปในช่องทางจนสุด เพื่อจะเจอกับแป้นคันเร่ง เบรก คลัชต์

– ต่อมา เสียบพวงมาลัยกลับเข้าที่ ถ้าจะติดเครื่อง ยกสวิชต์ On ขึ้น แล้วกดปุ่ม ติดเครื่องยนต์

– ถ้าจะออกรถ ต้องเหยียบแป้นคลัชต์ช่วยด้วย เลี้ยงรอบเครื่องไว้อย่างแผ่วเบา  แต่หลังจากนั้น ไม่ว่า
จะเปลี่ยนเกียร์ขึ้น หรือ ลง ก็ไม่ต้องเหยียบคลัชต์อีก ตลอดจนกว่าจะดับเครื่องยนต์

– ปีนออกจากรถด้วยความระมัดระวัง เป็นอันเสร็จพิธี

อันที่จริง รถแค่นี้ ผมมั่นใจว่า ขับได้สบายบรื๋อ ปลอดภัยไร้กังวล ถ้าไม่ติดปัญหาเดียว อันเป็นปัญหา
ใหญ่สำหรับผมเสียด้วย

ไม่ใช่ว่า อ้วนเกินไปนะครับ แต่เพราะว่า ต้นขา 2 ข้างรวมกัน สอดใส่เข้าไปในช่องทะลุไปยังแป้น
เหยียบคันเร่ง เบรก และคลัชต์ ได้แบบ ชิด อึดอัดมาก จนไม่อาจขยับได้เลยต่างหาก! เลยชวดโอกาส
ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าประสบการณ์หลังพวงมาลัยรถค้นนี้เป็นอย่างไร อ่านได้จากบทความของคุณเนยครับ (คลิกที่นี่)

ระหว่างที่นั่งรอดู ก็มีทั้งบริการนวดแผนโบราณ (ซึ่งนวดดีมาก! เบามือมาก! และหายเมื่อยได้เลย)
หรือจะลองซิ่งในเกม Simulator ก็ได้อีกเช่นกัน เรื่องน่าแปลกนิดหน่อยคือ พี่แอม ปรม จาก A-Car
ปกติ เป็นนักแข่งในสนามอยู้แล้ว ฝีมือ ถือว่าดีมากๆ แต่พอมาเจอเกม Simulator แบบนี้ แรกๆนี่
แทบจะ “ไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว”

ผมว่า ไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะถ้าจะให้ บรรดาเกมเมอร์ เจนสนามหน้าจอ มาขับรถแข่งจริงๆ
อย่างที่ BBC Top Gear เคยลองทำมาแล้ว ก็เรียกได้ว่า คนละเรื่องเลยทีเดียว ความถัดในสถานการณ์
หนึ่งๆ อาจจะใช้ไม่ได้ผล กับสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน แม้จะเป็นสถานการณ์คล้ายคลึงกันก็ตาม

อีกไฮไลต์สำคัญคือ รอบ Hot Lap นักแข่ง ของทาง Michelin จะพาคุณไปนั่งสัมผัสความแรง ด้วย
Porsche 911 GT3 Cup รุ่นตัวถัง 996 เครื่องยนต์ 6 สูบ วางหลัง (Rear Engine – Rear Wheel Drive)
380 แรงม้า (BHP) อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 4.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 280 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ใช้ยางแข่งของ Michelin Racing ทั้งแบบ Slick และ Wet ยางหน้า ขนาด 24/64 – 18 ยาง
ด้านหลัง ขนาด 27/68 – 18 น้ำหนักตัว 1,300 กิโลกรม

อีกคันหนึ่ง เป็นรถ Formula Renault แบบ 2 Seater ออกแบบมาเพื่อให้สามารถนั่งขับ และมี
ผู้โดยสารซ้อนอยู่ด้านหลังได้ รายละเอียดวิศวกรรม เหมือนกับ Formula Renault 1.6 ลิตร แบบ
ที่นั่งเดียว ทุกประการ

รายการนี้ ผมขอปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า ปกติ ไม่ค่อยชอบไปนั่ง Hot Lap เท่าไหร่ และผมเอง
มีนิสัยที่ว่า ไม่ชอบนั่งรถที่คนอื่นขับ ถ้าไม่ได้สนิทกันจริงๆ ไม่ได้เป็นคนที่เรารู้ฝีมือกันจริงๆ
ต่อให้ปลอดภัยแค่ไหน ผมก็จะขอปฏิเสธไว้ก่อน

หลายคนอาจบอกว่า ลองนั่ง เพื่อดูไลน์ในการเข้าโค้งของนักแข่ง อันที่จริง ก็เห็นด้วยครับ แต่
พื้นฐานพวกนี้  คนทำงานด้านนี้ ก็ต้องรู้อยู่แล้ว และต้องฝึก ศึกษากันอยู่แล้วว่า การเข้าโค้งให้
เร็วสุด ใช้เวลาน้อยสุดนั้น ต้องเข้าโค้งจากวงนอก แล้วขับชิดในโค้ง ตรงมุม Apex ก่อนจะ
เร่งส่งเพื่อออกจากโค้งไป

อีกทั้ง ความเร็วที่นักแข่งใช้นั้น แน่นอนครับ มันเร็วมาก และผมไม่ชอบให้ใครขับรถเร็วแบบนั้น
ให้ผมนั่งไปด้วยเท่าไหร่ เพราะลำพังตัวเอง ก้ต้องสัมผัสกับความเร็วสูงๆ อยู่แทบจะทุกสัปดาห์
ละ อย่างน้อย 1 ครั้ง จากรถทดลองขับที่เรานำมาทำรีวิวกันอยู่แล้ว แถม ความดันในเลือดก็สูงกว่า
ที่ควรเป็น ดังนั้น งานนี้จึงขอปฏิเสธไปเลยจะเป็นการดีกว่า เพราะรู้ดีว่า โอกาสหน้า ยังมีมาเรื่อยๆ



ในช่วงหมดสิ้นกิจกรรมของวันนี้ จะมีรางวัลพิเศษ มอบให้กับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่บรรดา Instructor
ลงคะแนนร่วมกันว่า ขับรถได้ปลอดภัยที่สุด และมีพัฒนาการที่ดีที่สุด

อันดับ 3 เป็นของ Jehan Kamaludin จาก Website “wemotor.com” Indonesia ซึ่งงานนี้ ถือเป็นงาน
ที่เติมความฝันของเขา ให้กลายเป็นจริง เพราะเขาฝันว่าอยากขับรถแข่งในสนามอย่างนี้ มานานแล้ว
ก็ต้องบอกว่า ดีใจด้วยครับ

อันดับ 2 ได้แก่ทีมไทยเรา คุณ ปรม พวงงาม หรือ พี่แอม จากนิตยสาร A-Car ซึ่งปกติ ก็เป็นนักแข่งรถ
อยู่แล้ว

ส่วนอันดับ 1 เป็นของ สื่อมวลชนชาวฟิลลิปปินส์ ที่ผมไม่รู้จักชื่อ รู้แต่ว่า หน้าตาดี แค่นั้น!

หลังจบสิ้นกิจกรรมทั้งหมด ทางทีมงาน ก็มี แบบสอบถามให้กรอก ผมนั่งเขียนไปไม่เท่าไหร่ เพราะ
งานนี้ ไม่ค่อยมีอะไรให้ต้องตำหนิติติงกันมากนัก เป็นการจัด Event ที่ดีมากงานหนึ่ง ทุกอย่างลงตัว
สมบูรณ์ มีความเป็นมืออาชีพเต็มเปี่ยม ทั้ง Instructor ทั้งทีม Organizer ต่างๆ อาจมีขลุกขลักบ้างใน
บางเรื่อง ที่ผมไม่รู้ แต่งานทั้งหมด เสร็จสิ้นลงได้ด้วยดี และสร้างความประทับใจให้กับแทบทุกคน
ที่ได้มีโอกาสร่วมสนุกกับ Michelin ในครั้งนี้

แ่สิ่งที่ผมไม่ได้เขียนลงไปในแบบสอบถาม แต่อยากบอกให้คุณรู้ก่อนจากกันไว้ สักหน่อย ก็คือ…

สำหรับผมแล้ว Michelin Pilot Experience เปรียบเสมือน สวนสนุก  และคนที่รักในรถยนต์ รักในกีฬา
MotorSport มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่คุณจะได้มีโอกาสสัมผัสกับรถแข่ง”จริงๆ” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการ
แข่งขันในสนาม”จริงๆ” บนสนามแข่ง”จริงๆ” พร้อมทั้งมีนักแข่ง”จริงๆ” เป็นวิทยากร ครูฝึกและช่วย
ดูแลความปลอดภัยของคุณ จนมั่นใจได้ว่า คุณจะสนุกสนานกับประสบการณ์ใหม่ๆ บนพื้นฐานของ
ความปลอดภัยที่เข้มงวด แค่ทำตามคำแนะนำต่างๆ ของพวกเขา เท่านั้นเอง

แต่แน่นอน เหมือนกับทุกสวนสนุก ที่มีเครื่องเล่นบางอย่าง ซึ่งอาจไม่เหมาะกับทุกคนเสมอไป งานนี้
ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมั่นใจว่า สุขภาพของคุณ ไม่ค่อยแข็งแรงนัก การเข้าร่วมกิจกรรมที่พอจะทำได้ คือ
การขับ หรือลองนั่งรถอะไรก็ตาม ที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ ที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ถูกปรับแต่งให้เป็น
เวอร์ชันสำหรับพร้อมลงแข่งในรูปแบบสนามที่แตกต่างกัน นั่นก็ช่วยให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์ และ
เพิ่มพูนทักษะในการขับรถได้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็เอาไปคุยโม้กับใครเขาก็ได้ว่า ชีวิตนี้ คุณก็เคยขับ รถแข่ง
ในสนามแข่ง (แต่ยังไม่ถึงขั้นลงแข่ง) มาแล้ว!

ผมยืนยันให้คุณได้เลยว่า ปีหน้า Michelin ก็จะ เนรมิต สนามแข่ง Sepang Circuit ให้กลายเป็น สวนสนุก
สำหรับคนรักรถ และความแรง แบบนี้กันอีก และเมื่อถึงปีหน้า เราค่อยมาดูกันว่า ใครจะได้รับประสบการณ์
แบบนี้บ้าง

ไม่แน่นะ…อาจเป็นคุณก็ได้..มั้ง!?

————————-///————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :

คุณชาลิน นานา หรือ พี่แป๋ว (Chalin Nana)
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร (Country Communication Manager)

คุณ ภัทรานิษฐ์ กนิษฐพรพัตร์ หรือ พี่แพร (Patranit Kanitthapornpat)
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Media Relation Manager)

บริษัท สยามมิชลิน จำกัด
Michelin Siam Co.,Ltd.
เอื้อเฟื้อการเดินทาง และการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อย่างดียิ่งในครั้งนี้

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
MICHELIN Pilot Experience 2011 : โดยคุณ เนย ธนพล รัตนบูรณ์ (คลิกที่นี่)

J!MMY Thanesniratsai
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นผลงานของผู้เขียน และช่างภาพจากทาง Michelin Asia PTY
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 สิงหาคม 2012

Copyright (c) 2012 Text and Pictures  
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 16th,2012

แสดงความเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!