ช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังจากญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคประชายนต์นิยม (MOTORIZATION) เต็มตัว
ความต้องการรถยนต์ในแนวสปอร์ต หรือรถยนต์แบบ SPECIALTY COUPE เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกเหนือจากผู้ผลิตรายหลักๆ เช่นโตโยต้า นิสสัน มิตซูบิชิ จะสนองตอบความต้องการของลูกค้า
ด้วยรถสปอร์ตคูเป้ ทั้ง เซลิกา ซีลเวีย รวมทั้งโคลต์ กาแลนท์ จีทีโอ และ เอฟทีโอ แล้ว ซูซูกิ ในฐานะ
ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก (Kei-Jidosha หรือ K-Car) รายใหญ่ที่สุดจากเมืองฮามามัตสึ ก็เริ่มชิมบางตลาดกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก
ด้วยการเปิดตัว ซูซูกิ ฟรอนเต้ คูเป้ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1971 เพื่อออกมาต่อกรกับ
มิตซูบิชิ มินิกา สกิปเปอร์ (MINICA SKIPPER) ฮอนด้า Z และไดฮัทสุ เฟลโล แม็กซ์ ฮาร์ดท็อป (FELLO MAX Hardtop)
FRONTE COUPE
LC10W
กันยายน 1971 – 1976
ชื่อรุ่นก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้สายพันธุ์ ฟรอนเต้ อันถือเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก
ที่เก่าแก่ที่สุด ของซูซูกินั่นเอง จุดเด่นอยู่ที่เส้นสายตัวถังอันเป็นผลงานของ Giorgetto Giugiaro
นักออกแบบรถยนต์ชื่อดังจากสำนักอีตัลดีไซน์ แห่งอิตาลี ที่เคยร่วมงานกับ ซูซูกิ มาตั้งแต่ปี 1970
มิติตัวถังยาว 2,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,295 มิลลิเมตร สูง 1,190 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,010 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ 3 สูบ 2 จังหวะ 356 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 37 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ไว้ด้านหลัง เชื่อมกับขับเคลื่อนล้อหลัง
(RR : REAR ENGINE , REAR WHEEL DRIVE)
การปรับทัพบุกตลาด มีเพียงไม่กี่ครั้ง เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 1972 เพิ่มรุ่นเบาะนั่งแบบ 2+2 ที่นั่ง
ชื่อ GXF 37 แรงม้า (PS) รวมทั้งรุ่น GXPF ที่ลดความแรงลงเหลือ 34 แรงม้า (PS)
จากนั้น มิถุนายน 1972 เพิ่มรุ่นท็อป GXCF 37 แรงม้า (PS) เพิ่มดิสก์เบรกคู่หน้า และเพิ่มเบาะนั่ง
เป็นแบบ 2+2 ที่นั่ง ส่วนรุ่น GAF ลดกำลังลงเหลือ 31 แรงม้า (PS) และ GXF-T พ่นสีทูโทน
ส่วนเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ยกเลิกรุ่น 2 ที่นั่งธรรมดา จากนั้น พฤษภาคม 1974 ปรับปรุงขุมพลังอีกรอบ
ให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมลพิษต่ำลง ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ส่งผลให้สมรรถนะลดลงเหลือ 35 แรงม้า (PS)
ฟรอนเต้ คูเป้ อยู่ในตลาดจนถึงปี 1976 จึงยุติการผลิตไป แต่เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในตลาดกลุ่ม
SPECIALTY K-CAR นี้นานนัก ซูซูกิ จึงนำ ฟรอนเต คูเป้ มาปรับปรุงรายละเอียดทางเทคนิค
และการตกแต่งเสียใหม่ ให้เอาใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอันเป็นสุภาพสตรี และออกขายในชื่อ ซูซูกิ เซอร์โวนั่นเอง
———————————–
1st GENERATION
SS20
ตุลาคม 1977 – 9 มิถุนายน 1982
ประเด็นสำคัญในการปรับปรุงฟรอนเต้ คูเป้ ให้กลายมาเป็นเซอร์โว
อยู่ที่การเพิ่มความกว้างตัวถังจากเดิม 1,295 เป็น 1,395 มิลลิเมตร โดยยังคงรูปแบบตัวถังเดิม
ที่ออกแบบโดย จูเจียโร รวมทั้งยังคงวางเครื่องยนต์ด้านหลัง ขับเคลื่อนล้อหลัง (RR : REAR ENGINE ,
REAR WHEEL DRIVE) และยกระดับเครื่องยนต์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 356 ซีซี เป็น 539 ซีซี
ตามความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายการแบ่งจำแนกประเภทภาษีรถยนต์ K-CAR ในยุคนั้น
(ก่อนมาเป็นขนาดไม่เกิน 660 ซีซี 64 แรงม้า ในปัจจุบัน)
มิติตัวถังยาว 3,190 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,210 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,030 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์รหัส T5A 3 สูบ 2 จังหวะ 539 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 28 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 5.3 กก.-ม. ที่ 5,000 รอบ/นาที ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกเดี่ยว คอยล์สปริง
หลังแบบเซมิเทรลลิงอาร์ม คอยล์สปริง ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
ในตลาดส่งออก ซูซูกิ จะเปลี่ยนชื่อ เซอร์โว ให้เป็น SC100 และเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ใหญ่ขึ้น
เป็นแบบ 4 สูบ SOHC 970 ซีซี ขณะที่ในอังกฤษจะเรียกรุ่นนี้ว่า WHIZZKID
กันยายน 1978 เพิ่มรุ่น CX-L เอาใจสุภาพสตรีด้วยกระจกแต่งหน้า ในแผงบังแดด
ปรับเปลี่ยนให้พนักศีรษะกับเบาะนั่ง แยกชิ้นกัน
นิตยสาร CAR GRAPHIC ของญี่ปุ่น เคยทำบทความทดสอบเซอร์โวรุ่นแรกไว้ และให้ข้อมูลว่า
เครื่องยนต์ดูเหมือนจะกวาดขึ้นไปยังรอบสูงสุดที่ 7,000 รอบ/นาที แต่กลับปรากฎอาการเครื่องยนต์
เดินไม่เรียบ มีอาการสะดุดในรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ ทำให้ตัวรถสั่นสะท้านไปทั้งคัน และก่อให้เกิด
ความไม่สบายในการขับขี่ ความเร็วสูงสุดที่ทำได้คือ 111.80 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่ง 0-400 เมตร
หรือควอเตอร์ไมล์ ใช้เวลานานถึง 23 วินาที กระนั่น ด้วยการวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลัง
ทำให้เซอร์โวถือเป็นรถขับสนุก และเดาได้ไม่ยากว่าการควบคุมจะเบา และคล่องตัวเพียงใด
ขณะเดียวกัน การทรงตัวถือว่าทำได้ดีเกินคาด
2nd GENERATION
SS40
9 มิถุนายน 1982 – มีนาคม 1988
การเปลี่ยนโฉมครั้งแรก ถือเป็นการพลิกโฉมใหม่ทั้งคัน เพราะถือเป็นเซอร์โวรุ่นแรก
ที่ย้ายตำแหน่งติดตั้งเครื่องยนต์จากด้านหลังมาไว้ด้านหน้า และเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
(FF ; FRONT ENGINE, FRONT WHEEL DRIVE) ตามเพื่อนพ้องร่วมยุคสมัย
อีกทั้งยังเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ และเริ่มเปลี่ยนมาใช้พื้นตัวถังร่วมกับรถเล็กขายดีที่สุด
ในญี่ปุ่นร่วมยุคอย่าง อัลโต้/ฟรอนเต (ALTO/FRONTE)
มิติตัวถังยาว 3,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,290-1,295 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,150 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์รหัสเดียว F5A 3 สูบ 543 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 31 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะหรือเกียร์อัตโนมัติ 2 จังหวะ
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียนระบบกันสะเทือนหน้าสตรัต คอยล์สปริง หลังคานแข็งพร้อมแหนบ
ระบบเบรกเป็นแบบดรัม 4 ล้อ สวมยางขนาด 5.20-10-4PR ดูสเป็กแล้ว ลูกค้าที่เคยชื่นชอบ
ในความแรงสมตัวของรุ่นเดิมแทบร้องไห้ เพราะรุ่นนี้ เปิดตัวออกมาในช่วงแรกด้วยสเป็กที่ต่ำเอามากๆ
แม้เครื่องยนต์จะแรงขึ้น 2 แรงม้า แต่โปรดสังเกตว่าช่วงล่างด้านหลัง กลับหันไปหาคานแข็งและแหนบ
ขณะที่ระบบดรัมเบรก 4 ล้อ ยังอุตส่าห์หลุดรอดหลงเหลือมาจนถึงทศวรรษ 1980 ได้อีกด้วย!!
การปรับปรุงรายละเอียดมีขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งการเพิ่มเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ให้กับรุ่น 31 แรงม้า (PS)
เมื่อ 20 กันยายน 1982 และการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ย้ายตำแหน่งกระจกมองข้าง จากบนตัวถัง
มาไว้ที่กรอบประตูรถทั้งสองฝั่งเมื่อ 11 พฤษภาคม 1983
แต่หลังทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว 11 พฤศจิกายน 1983 ซูซูกิจึงเพิ่มรุ่น CT-G นำขุมพลังเดิม มาพ่วงเทอร์โบ
แรงขึ้นเป็น 40 แรงม้า (PS) 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 5.54 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะ
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ระบบเบรกเปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกเฉพาะคู่หน้า สวมยางขนาด 145/70SR 12
เพิ่มสกู๊ปดักอากาศบนฝากระโปรงหน้า เปลี่ยนกระจังหน้าลายตาข่าย และเพิ่มสติ๊กเกอร์คาดตัวถัง
บริเวณเสาหลังคากลาง B-PILLAR และนั่นเป็นเพียงครั้งเดียวที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว
ให้กับเซอร์โวรุ่นนี้
***รุ่นพิเศษ MIGHTY BOY (SS40T) ***
1983 – 1987
เป็นการนำเซอร์โว มาปรับปรุงตัวถังด้านหลัง ให้กลายเป็นรถกระบะขนาดเล็ก เอาใจวัยรุ่นที่อยากได้
รถเล็กไว้ขับใช้งาน ได้รับความนิยมตามสมควร ทั้งในญี่ปุ่น และตลาดส่งออก คือ ออสเตรเลีย
โดยวางเครื่องยนต์ F5A 3 สูบ SOHC 543 ซีซี 28 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และอัตโนมัติ 2 จังหวะ
รายละเอียดพื้นฐานใช้ร่วมกันกับเซอร์โวได้แทบทั้งหมด มีให้เลือกทั้งรุ่นล่างสุด PS-A
ใส่กระทะล้อเหล็กขนาดแค่ 10 นิ้วมาให้ ไปจนถึงรุ่นกลางและรุ่นแพง PS-L และ PS-QL ที่ใส่ล้อ 12 นิ้วมาให้
———————————–
3rd GENERATION
CERVO F
CG72V CH72V
มีนาคม 1988 – 18 กรกฎาคม 1990
จริงอยู่ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่จากรุ่นเดิมทั้งคัน ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว เซอร์โวรุ่นที่ 3
เป็นการนำอัลโต รุ่นที่ 2 มาผ่าครึ่งคัน แล้วออกแบบบั้นท้ายสไตล์ใหม่ ในแบบคูเป้แวกอน 3 ประตูนั่นเอง
ตัวถังมีความยาว 3,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,330 – 1,350 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,175 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ F5B 3 สูบ SOHC 12 วาล์ว 547 ซีซี 40 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
หลังแบบ I.T.L ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม ภายในติดตั้งวิทยุ AM ของ DIATONE (จก Mitsubishi)
จุดเด่นในงานออกแบบคือ ในบางรุ่น จะมีหลังคากระจกแบบ PANORAMIC GLASS ROOF
ที่ติดตั้งต่อเนื่องจากกระจกบังลมหน้า ถือได้ว่าเป็นรถญี่ปุ่นสำหรับทำตลาดจริงรุ่นแรกสุด
ที่มีหลังคากระจกแบบต่อเนื่องจากกระจกบังลมหน้าเช่นนี้
และถือว่า มีมาก่อน เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส รุ่นปัจจุบัน ถึง 15 ปี
สถานการณ์ยอดขายในขณะนั้น ไม่ถือว่าดีนัก เพราะว่าคู่แข่งอย่าง Daihatsu Leeza
คลอดออกมาใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามกว่า อีกทั้ง เซอร์โวรุ่นนี้ เป็นเพียงตัวถัง
อัลโต้ มาเปลี่ยนบั้นท้ายใหม่ จึงทำให้รุ่นนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร
———————————–
4th GENERATION
CERVO MODE
CN31S CP31S CN21S CP21S
CN32S CP32S CN22S CP22S
19 กรกฎาคม 1990 – ตุลาคม 1998
เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันบนพื้นตัวถังใหม่ร่วมกับอัลโตเช่นเดิม คราวนี้ เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ชายและผู้หญิงโสดเป็นหลัก
เส้นสายที่โค้งมน เรียบง่าย และร่วมยุคสมัยบนตัวถังที่มีความยาว 3,295 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร
สูง 1,370 – 1,400 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,335 มิลลิเมตร
ช่วงแรก วางขุมพลัง 2 ความแรง
ทั้งรหัส F6A 3 สูบ SOHC 6 วาล์ว 657 ซีซี เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 61 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.2 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที และรหัส F6B 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 658 ซีซี เทอรโบ
64 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ทั้งคู่เชื่อมได้ทั้ง
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ ระบบกันสะเทือน หน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
พร้อมเหล็กกันโคลง หลังแบบ I.T.L ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
การปรับปรุงสายพันธุ์รุ่นนี้ มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเพิ่มตัวถัง 5 ประตูแฮตช์แบ็ก L-TYPE
และรุ่นโลว์ออพชัน S-TYPE เมื่อ 2 พฤศจิกายน 1990 โดยขุมพลัง F6A 3 สูบ 657 ซีซี มีให้เลือกถึง 3 เวอร์ชัน
เริ่มจากรุ่นพื้นฐาน SOHC 6 วาล์ว คาร์บิวเรเตอร์ 42 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 5.6 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที
ตามด้วยเวอร์ชัน SOHC 12 วาล์ว 657 ซีซี มี 2 เวอร์ชัน ทั้งรุ่นคาร์บิวเรเตอร์ 52 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 5.7 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที และรุ่นจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI 55 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 6.1 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่วนรุ่น 61 แรงม้า (PS) ถูกยกระดับสมรรถนะขึ้นเป็น
64 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
ทุกรุ่นเลือกได้ทั้งรุ่นขับล้อหน้าหรือสี่ล้อ และเลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 3 จังหวะ
ส่วนรหัส F6B ถูกลดทอนให้ใช้ได้แค่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเท่านั้น ทั้งรุ่นขับล้อหน้าและสี่ล้อ
จากนั้นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เล็กน้อยเมื่อ 2 กันยายน 1991 และเพิ่มรุ่น L S M และ MC
ตามด้วยการเพิ่มรุ่น M SELECTION มอบแอร์เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และลายผ้าเบาะใหม่
เมื่อ 19 ตุลาคม 1993 คล้อยหลังไปไม่นานนัก 13 เมษายน 1994 เพิ่มรุ่นล่างพื้นฐาน A
ตามด้วย 6 มิถุนายน 1994 เพิ่มรุ่นตกแต่งพิเศษในชื่อ Loft (จับมือกับร้านขายของ GIFT SHOP ชื่อดังของญี่ปุ่น
ซึ่งมีสาขาในไทยที่สยามดิสคัฟเวอรี และพารากอน) เพิ่มมาตรวัดรอบ กระจกไฟฟ้า ลายผ้าเบาะพิเศษ ฯลฯ
9 ตุลาคม 1995 เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ กันชนหน้าใหม่ และเปลี่ยนชุดไฟท้ายใหม่เป็นแบบเต็ม
จากเดิม แบบ 2 ช่องแถว ให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น เปลี่ยนดีไซน์แผงควบคุมช่องแอร์บนคอนโซลกลาง
ของแผงหน้าปัดใหม่ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ B C E และ X
2 สิงหาคม 1996 กระแสการนำรถยนต์ขนาดเล็ก มาตกแต่งในสไตล์คลาสสิกย้อนยุค กำลังฮิตในญี่ปุ่น
ยิ่งเมื่อ ซูบารุ เปิดตัว วิวีโอ บริสโต อันเป็นเวอร์ชันตกแต่งด้วยโครเมียมสไตล์คลาสสิค
ซูซูกิ จึงรีบเกาะกระแส ด้วยการเปิดตัว เซอร์โว-ซี (CERVO-C) ตกแต่งในสไตล์คลาสสิก ด้วย
กระจังหน้า คิ้วกันกระแทก ฯลฯ ด้วยโครเมียม ตกแต่งภายในด้วยพลาสติกขึ้นรูปลายไม้ ฯลฯ
วางเครื่องยนต์ F6A SOHC 12 วาล์ว 657 ซีซี มี 2 เวอร์ชัน ทั้งรุ่นคาร์บิวเรเตอร์ 52 แรงม้า (PS)
มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และรุ่นจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI 55 แรงม้า (PS) มีเฉพาะรุ่นขับสี่ล้อ
เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ จากนั้น 16 มกราคม 1997 จึงปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อยให้กับ เซอร์โว-ซี อีกครั้ง
9 พฤษภาคม 1997 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนกระจังหน้าและกันชนหน้า และเพิ่มรุ่นให้กับเซอร์โว โหมด
เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยรุ่น S-LIMITED ทั้งขับล้อหน้าและสี่ล้อ ทำตลาดร่วมกับเซอร์โว-ซี และรุ่น M-SELECTION
และในที่สุด หลังจากอยู่ในตลาดมานาน 21 ปี ซูซูกิ ตัดสินใจปลดเซอร์โว ออกจากสายการผลิตไปในเดือนตุลาคม 1998
ก่อนจะนำชื่อเซอร์โวมาปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่หายตัวไปจากญี่ป่น ในตลาดนอกบ้าน ซูซูกิ ยังคงส่งออกเซอร์โว
ไปทำรายได้ในยุโรปต่อไป แต่กลับเปลี่ยนไปสวมชื่อ อัลโต้ แทน
———————————————————————-
5th Generation
7 พฤศจิกายน 2006
ซูซูกิ ตัดสินใจนำชื่อเซอร์โว กลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ กับรถเล็ก 5 ประตูคันใหม่ เปิดตัวอีกครั้ง เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006
HASUIKE TOSHIAKI ; CHIEF ENGINEER ของโครงการพัฒนาเซอร์โว กล่าวในงานเปิดตัวรถเล็กรุ่นใหม่นี้ว่า
ตลาดรถยนต์ขนาดจิ๋ว K-CAR (ขนาดเครื่องยนต์ ไม่เกิน 660 ซีซี ไม่เกิน 64 แรงม้า) เริ่มมีแนวโน้มความต้องการ
ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิม ลูกค้าสุภาพสตรี เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของรถยนต์ประเภทนี้มาโดยตลอด
ทว่าหลายปีมานี้ สัดส่วนของลูกค้าสุภาพบุรุษ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มอายุของลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ K-CAR ก็มีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือ
จากเดิมที่มีแต่คนรุ่นหนุ่มสาวเป็นลูกค้าหลัก แต่ในวันนี้ ลูกค้าวัยทำงานระดับผู้ใหญ่ ต่างพากัน
หันมาอุดหนุนรถเล็กประเภทนี้มากขึ้น ดังนั้น ซูซูกิ จึงเลือกจะพัฒนาให้เซอร์โวใหม่
ยังคงความเป็นรถยนต์ขนาดจิ๋ว ที่มีบุคลิกสปอร์ต เหมือนเช่นเดิมที่เคยเป็นมา
ก่อนยุติสายการผลิตไปในปี 1998 แต่จะเพิ่มคุณค่าใหม่ๆในด้านต่างๆ เพื่อตอบสนอง
ความต้องการของลูกค้าสุภาพสตรีมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มผู้หญิงที่มีรสนิยมในแนวน่ารัก คิกขุ
หรือแนวอบอุ่น สุขุม นั่นคือที่มาของการกำหนดแนวคิดในการพัฒนาเซอร์โวใหม่ที่ว่า
FIT ON MY STYLE หรือการสร้างความลงตัวสอดคล้องกับบุคลิกของ
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ที่มีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และพิถีพิถันในการใช้ชีวิต
ถึงจะสาธยายมายืดยาวขนาดนี้ แต่ลึกๆแล้ว จุดประสงค์ของการนำชื่อเซอร์โว กลับมาใช้อีกครั้ง
ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความพยายามของซูซูกิในการสร้างรถยนต์ K-CAR รุ่นใหม่ เพื่อจะต่อกรกับ
Daihatsu Sonica และ Subaru R1 รวมทั้ง R2 นั่นเอง เพราะตลาดของรถยนต์ K-Car
ในแบบซีดาน หรือ Personal Car ดูเหมือนถูกละเลยไป หลังจากกระแสรถเล็กแบบ TALL BOY
ที่เริ่มปูพื้นจาก Mitsubishi Minica Toppo ตามด้วย Suzuki Wagon-R และ Daihatsu MOVE
จะพุ่งสู่ความนิยมอย่างสูงในช่วงปี 1993 เป็นต้นมา
โครงสร้างตัวถังที่มีความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,535 – 1,545 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาว 2,360 มิลลิเมตร (เท่ากับ โตโยต้า โซลูนา รุ่นแรก) ถูกออกแบบให้มีเส้นสาย
ที่เฉียมคม ผสานความโค้งมนในเวลาเดียวกัน ไฟหน้ามาในสไตล์เรียวแหลม
แต่บั้นท้าย ยังคงเน้นการใช้เส้นสาย J-LINE มาตัดเชื่อมกันกับประตูห้องเก็บของด้านหลัง
แผงหน้าปัดมาในสไตล์เรียบง่าย แต่ออกแบบและวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ชวนให้นึกถึง
แผงหน้าปัดของพี่ใหญ่รุ่น สวิฟต์ ได้อย่างสนิทใจ เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบบักเก็ตซีต
มาในสไตล์สปอร์ต โอบกระชับลำตัว พร้อมคันโยกปรับระดับสูง-ต่ำของชุดเบาะ ขณะที่เบาะหลัง กลับ
ออกแบบให้ดูเรียบง่ายจนต่างกันอย่างเด่นชัด และแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ตามมาตรฐานรถเล็กท้ายตัดของญี่ปุ่น
จุดเด่นอยู่ที่การติดตั้งระบบเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ไร้สายแบบ Bluetooth ระบบรีโมทคีย์การ์ด
สั่งล็อกและปลดล็อกประตูรถ และติดเครื่องยนต์ได้โดยไม่ต้องใช้ลูกกุญแจ แบบเดียวกับนิสสัน เทียนา
และโตโยต้า ยาริส/คัมรี ในบ้านเรา ส่วนชุดเครื่องเสียงติดรถ สามารถต่อเชื่อม
กับเครื่องเล่น iPod จากค่ายแอปเปิลได้
ขุมพลังมีรหัสเดียว ยกมาจากสหกรณ์เครื่องยนต์ของซูซูกินั่นเอง
เป็นแบบ K6A DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี แต่มีให้เลือก 2 ระดับความแรง
ทั้งเวอร์ชันธรรมดา ที่มาพร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 54 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที และเวอร์ชันแรงสุด พ่วงเทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์
60 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที ทั้งคู่เลือกได้
ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือสี่ล้อตลอดเวลา แต่ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
แบบขั้นบันได พร้อมโหมด บวกลบให้เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง เพียงแบบเดียวเหมือนกัน
ระบบกันสะเทือน หน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต หลังแบบ I.T.L (ISOLATED TRAILING LINK)
อันเป็นรูปแบบที่ซูซูกินิยมใช้กับรถเล็กของตนมาแต่ไหนแต่ไรหลายสิบปีแล้ว ถูกปรับเซ็ตให้
เอาใจลูกค้าที่ชอบความมั่นคงในการขับขี่ยิ่งขึ้น พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ถูกปรับเซ็ตอัตราทดเฟืองเกียร์ให้กระชับขึ้น รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 4.1 เมตร ระบบเบรกแบบ
หน้าดิสก์-หลังดรัม เสริมด้วยเอบีเอส และระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี โดยมีเฉพาะรุ่นท็อป TX
ที่ได้ใช้จานเบรกหน้าพร้อมรูระบายความร้อน
ด้านความปลอดภัย ยังคงยืนหยัดอยู่กับโครงสร้างตัวถังนิรภัย TECT ประกอบด้วยถุงลมนิรภัย
ที่มีมาให้เพียงแค่คู่หน้า เข็มขัดนิรภัยพร้อมระบบรั่งและดึงกลับอัตโนมัติ ฝากระโปงหน้า
กันชนหน้า ออกแบบให้ลดการกระเทือนต่อการชนผู้สัญจรข้ามถนนในกรณีฉุกเฉิน และการบุ
เสาขอบเพดานหลังคา ด้วยวัสดุที่ลดการบาดเจ็บของศีรษะ เมื่อเกิดการกระแทก
ด้วยค่าตัวที่ต่ำกว่าคู่แข่งในท้องตลาดที่ระดับ 331,968 – 440,160 บาท ทำให้ซูซูกิ
มั่นใจจะตั้งเป้ายอดจำหน่ายของเซอร์โว ผ่านเครือข่ายจำหน่าย ARENA
และผู้จำหน่ายรายย่อยของตนไว้ที่ 5,000 คัน/เดือน
———————————————–///————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก ในนิตยสาร THAIDRiVER ฉบับที่ 89
ดัดแปงเพื่อเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
8 เมษายน 2009