บนลานจอดรถชั้น 7B อาคารรสา ถนนพหลโยธิน…18.00 น. ของเย็นวันอังคารที่ 24 มกราคม 2012
หลังจากคืนกุญแจของ Chevrolet Colorado 2.8 4×4 Flex Cab Z71 ให้กับน้องนัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คนใหม่อีกหนึ่งคนของ GM / Chevrolet และพูดคุยกับชาว ตึกรสาอีก 3 คน ผมก็เดินถือกุญแจของ
Chevrolet Captiva คันสีดำ เดินลงลิฟต์มายังลานจอดรถ…
บรรยากาศยามเย็นเริ่มมาเยือน แสงตะวันค่อยๆลาลับยอดตึก ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาเมื่อ 4 – 5 ปีก่อน
เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาส ทำรีวิวของ Captiva รุ่นแรก….
ยังจำได้ว่า ในครั้งนั้น แม้ผมจะไม่ประทับใจกับเครื่องยนต์ ทั้งรุ่นเบนซิน และ Diesel Turbo ของเขา
เท่าใดนัก รวมทั้ง พนักศีรษะ ที่ดันต้นคอผมมากเกินไป และยังมีอีกหลายประเด็น ที่ควรปรับปรุงเพิ่ม
แต่ก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า นี่แหละ คือรถยนต์ Chevrolet รุ่นใหม่ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันจาก
General Motors และ GM Daewoo แห่งเกาหลีใต้ (ในขณะนั้น) รุ่นแรก ที่สามารถต่อกรกับเจ้าตลาด
อย่าง Honda CR-V ได้สมน้ำสมเนื้อ เคียงบ่าเคียงไหล่ แบบสมศักดิ์ศรี ทั้งความอเนกประสงค์ของรถ
ในภาพรวม และการขับขี่ ที่ถือว่าทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว
แล้วชีวิตผม ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยว หรือแตะต้องสัมผัสใดๆ กับ Chevrolet Captiva อีกเลย นับตั้งแต่นั้นมา
วันเวลาที่เปลี่ยนไป ประชากร Captiva บนถนนเมืองไทย ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง
ต่างๆมากมาย มีให้กับความคุ้มค่าของ SUV รุ่นนี้ กันเป็นปากต่อปาก ขณะเดียวกัน เวลาก็เริ่มพราก
ความสดใหม่ไปจาก Captiva ตามเข็มนาฬิกาที่ไม่หยุดหมุน มิใยที่ GM Thailand พยายามที่จะออก
รุ่นย่อยพิเศษ ในโอกาสต่างๆ เพิ่มรุ่นตกแต่งเต็มพิกัดบ้างละ เพิ่มรุ่น สีขาวบ้างละ เยอะแยะจนผมเริ่ม
ขี้เกียจจำ ยอดขายก็ยังอยู่ในเกณฑ์รักษาระดับได้ดีต่อเนื่อง อาจมีชะงักไปบ้าง ในช่วงที่ GM กำลัง
เข้าสู่การฟื้นฟู Chapter 11 เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 แต่ หลังจากที่ GM ฟื้นกลับมาได้ Captiva ก็ยัง
เป็น SUV ที่สร้างรายได้ให้กับ GM Thailand อย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นสำคัญ ที่ช่วย
ให้ GM รอดพ้นปากเหวจากการล้มละลายมาได้ด้วยเช่นกัน
เมื่ออยู่ในตลาดมานานถึง 4 ปี แต่ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ทางเดียวที่ทำได้คือ ต้องเพิ่ม
ความสดใหม่ให้กับตัวรถ ด้วยวิธีการดั้งเดิม ที่พวกเราในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์คุ้นเคยกันดี….
การปรับโฉมใหญ่แบบ Minorchange ก็เวียนมาถึง
วันที่ GM ส่ง Chevrolet Captiva ใหม่ รุ่นปรับโฉม Minorcahnge ออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ผมอึ้ง
ไปสักหน่อย ว่า เส้นสายภายหน้า ที่เคยลงตัวดีอยู่แล้ว ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ ให้ใหญ่โตเบ้อเร่อเบ้อร่า
กระจังหน้า คล้ายกับ กรงหมาหิ้วได้ของเจ้าตูบอยู่บ้างเหมือนกันเนี่ย ขระที่หลายเสียงอึงคะนึงว่า
ใบยหน้าจะคล้ายกับ Mitsubishi Lancer EX ใหม่ กันไปถึงไหน?
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้หน้าตาภายนอก คือความเปลี่ยนแปลงด้านงานวิศวกรรม เพราะคราวนี้
GM สั่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด ทั้งรุ่น เบนซิน และ Diesel Turbo ได้ยินดังนี้ ก็ชวนให้นึกอยาก
ขอยืมรถมาทำรีวิวเป็นยิ่งนัก
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาระกิจต่างๆมากมาย แถมเป็นจังหวะเวลาที่น้ำท่วมภาคกลางอีกด้วย ทำให้ผมพลาด
โอกาสในการทดลองขับรุ่นเครื่องยนต์ เบนซิน 2.4 ลิตร ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะฝ่าย ประชาสัมพันธ์
แจ้งข่าวร้ายกับผมว่า ได้คืนรถให้กับทางโรงงานที่ระยองไปแล้ว
เซ็งเป็ดกันเลยทีเดียว
แต่ยังดีที่ รุ่น Diesel Turbo 2.0 VCDi ยังมีให้ยืมทดลองขับกันอยู่ และคราวนี้ ผมก็เลยต้องรีบล็อกคิว
ของรถคันนี้กันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเป็นอันขาด
ยิ่งในช่วง 1 เดือนมานี้ สิ่งที่ผมเริ่มพบเจอขณะกำลังเดินทางบ่อยขึ้นก็คือ Chevrolet Captiva ใหม่ๆ
ทั้งก่อน และหลัง Minorchange จะชอบมุดๆๆ บนทางด่วน มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมอยากรู้มากขึ้น
ว่า ขุมพลังใหม่บของ Captiva มันแรงขนาดนั้นเลยเหรอ? สมัยที่ฉันเคยเอามาทำรีวิว มันก็ไม่ได้
แรงขนาดนั้นเลยนี่หว่า?
คราวนี้แหละ เราจะได้รู้กันว่า ขุมพลังใหม่ เกียร์ลูกใหม่ และหน้าตาใหม่ๆ จะมีอะไรดึงดูดใจ
มากพอให้ผมยอมตกหลุมรักรถรุ่นนี้ ได้เสียที หรือไม่?
Chevrolet Captiva นั้น เป็นผลผลิต อันเกิดจากความร่วมมือกันของ General Motors แห่งสหรัฐอเมริกา
และบริษัทลูกของพวกเขา GM Daewoo Auto Technology อันเกิดจาการที่ GM เข้าไปซื้อกิจการของ
บริษัทรถยนต์ Daewoo แห่งเกาหลีใต้ เมื่อปี 2002 อย่างเต็มตัว และเริ่มใช้ฐานการพัฒนาแห่งนี้ เพื่อ
สร้างรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สำหรับการบุกตลาดโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังชื่อ
Theta Platform ภายใต้รหัสโครงการ C100
GM เผยโฉม เวอร์ชันต้นแบบของ Captiva ออกสู่สาวตาชาวโลกครั้งแรก ในชื่อ Chevrolet S3X ในงาน
Paris Auto Salon เดือนกันยายน ปี 2004 ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้ ในเวอร์ชันจำหน่าย
จริง ครั้งแรก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในชื่อ Daewoo Winstorm (และใช้ชื่อนี้จนกระทั่งปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่
GM ตัดสินใจยุติแบรนด์ Daewoo ในเกาหลีใต้ เปลี่ยนมาเป็น Chevrolet เหมือนสากลโลก)
หลังจากหยั่งกระแส ให้ลูกค้ารอคอยมานานพอสมควร GM จึงส่ง Captiva เวอร์ชันจำหน่ายจริง บินไป
เปิดตัวครั้งแรกในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ เดือนมีนาคม 2007 และเริ่มทะยอยเปิดตัวในประเทศต่างๆ
ทั่วโลก
ปัจจุบัน โรงงานที่ผลิต Captiva นั้น มีด้วยกัน 6 โรงงาน ทั้งในโรงงาน Bupyeong-gu เมือง Incheon
เกาหลีใต้ โรงงาน Ust-Kamenogorsk ใน คาซัคสถาน โรงงาน Saint Petersburg ในรัสเซีย โรงงาน
Asaka ที่ Uzbekistan และโรงงาน Hanoi ใน Vietnam และโรงงานที่ระยอง ในประเทศไทย
เหตุที่ Captiva ถูกสั่งเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ก็เพราะว่า เมื่อ Chevrolt Zafira Minivan 7 ที่นั่ง ซึ่ง
ก็คือ Opel / Vauxhall Zafira หรือ Subaru Traviq หมดสิ้นอายุตลาดไปในเดือนมีนาคม 2005 GM จึง
จำเป็นจะต้องหารถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่งรุ่นใหม่ มาต่อยอดความสำเร็จเดิม และต้องตอบโจทย์
ความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มลดความต้องการรถยนต์ Minivan แต่อยากได้ รถยนต์อเนกประสงค์
Crossover SUV จากพื้นตัวถังของรถเก๋ง ที่สามารถขับท่องเที่ยวต่างจังหวัดได้ แต่ต้องใช้งานในเมือง
ได้สบายพอๆกันด้วย ตลาดกลุ่มนี้ เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย และภูมิภาค Asean และใน
บรรดาตัวเลือกทั้งหมด Captiva คือทางออกที่ดีที่สุด ในเวลาที่ GM ยังไม่มี SUV ใดๆสักรุ่น ที่จะ
ปะทะกับคู่แข่งในเมืองไทยเลย
เป้าหมายของ GM คือ การนำ Captiva มาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับตลาด ประกบกับ Honda CR-V
Nissan X-Trail , Ford Escape , Mazda Tribute หรือรถยนต์ Crossover SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้น
ตัวถังของรถเก๋ง แต่เนื่องจากในบ้านเรา มีกลุ่มตลาด SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถกระบะ หรือ
PPV (Pick up Based Passenger Vehicles) ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่ คนไทยเรียกกันมาเอง แต่กลุ่มนี้
ก็มีอยู่มานานแล้วในตลาดโลก (Toyota Hilux Surf / 4 Runner และ Nissan Terrano / Pathfinder
คือรถยนต์รุ่นแรกๆในกลุ่มตลาดนี้ ช่วงทศวรรษ 1980) ซึ่งในเมืองไทย ก็มีทั้ง Toyota Fortuner
Mitsubishi Strada G-Wagon (ต่อมาเป็น Pajero Sport ) และ Ford Everest ซึ่งมีระดับราคา และ
กลุ่มลูกค้าก้ำกึ่งกันอยู่ เลยกลายเป็นว่า เมือ่มาถึงเมืองไทย Captiva ก็ต้องฟาดฟันลูกค้าจากกลุ่ม
PPV นี้กับเขาด้วย ไปพลางๆ ระหว่างรอการมาถึงของ Chevrolet Trailblazer ในอีกไม่กี่เดือน
ข้างหน้านี้
และนับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2007 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาที่อยู่
ในตลาดบ้านเรา Captiva ก็สามารถแย่งชิงลูกค้า มาจาก รถยนต์ทั้งหมดที่เอ่ยชื่อไปข้างต้นได้
เป็นอย่างดี จากความคุ้มค่า และสมรรถนะ รวมทั้งการยึดเกาะถนนที่เด่นโดดเด้งนั่นเอง
เพียงแต่ หลังจากอยู่ในตลาดมานานถึง 4 ปี วันนี้ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะต้องปรับโฉมครั้งใหญ่ แบบ
Minorchange ให้กับ Captiva กันเสียที โครงการนี้ จะว่าไป ก้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2008 แต่เนื่องจาก
ในช่วงที่ GM กำลังวุ่นวายอยู่กับการฟื้นฟูกิจการตัวเอง ทำให้โครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ทั่วโลก
รวมทั้งในเมืองไทย หยุดชะงักไปพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้น ราวๆ ปลายปี 2009 โครงการพัฒนา รุ่น
ปรับโฉม ของ Captiva ในรหัสพัฒนา C140 ก็กลับมาเดินหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง ควบคู่ไปกับ โครงการ
Chevrolet Cruze (J300) , Chevrolet Colorado ใหม่ (GMI 700) รวมทั้ง Chevrolet New Aveo
หรือ Sonic (T 300)
Captiva Minorchange รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ออกสู่ตลาด ก่อน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2011
ฝ่ายการตลาด สร้างสีสัน ด้วยการเลือกให้ คุณมอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และภรรยา หรือคุณเกม เป็น
คู่พรีเซ็นเตอร์ ก่อนที่รุ่นเครื่องยนต์ Diesel Turbo จะตามออกมาอย่างเงียบๆ โผล่ขึ้นโชว์รูมในช่วง
เดือนตุลาคม แต่มีการปรากฎโฉมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน Motor Expo เดือนธันวาคม 2011
นั่นเอง
และคราวนี้ เพื่อเอาใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ GM / Chevrolet จึงเพิ่มทางเลือกรุ่นบ่อย
ไว้มากถึง 5 รุ่น ทั้งรุ่นเบนซิน ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า (รุ่นย่อย LS กับ LSX มีเฉพาะขุมพลังเบนซิน)
รุ่นเบนซิน ขับเคลื่อน 4 ล้อ (LT กับ LTZ) ส่วนขุมพลัง Diesel จะให้เลือกกันได้ 3 รุ่นย่อย ทั้งรุ่น
LSX Diesel ขับล้อหน้าเพียงรุ่นเดียว ที่เหลือจะเป็นรุ่ยขับเคลื่อน 4 ล้อ ทั้งรุ่น LT กับ LTZ
บนเรือนร่างที่มีขนาดตัวรถยาว 4,673 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,756 มิลลิเมตร และมีระยะ
ฐานล้อ 2,707 มิลลิเมตร การปรับโฉมครั้งนี้ มุ่งสร้างความแตกต่างจาก Captiva รุ่นเดิมให้ได้มากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ยังต้องใช้ชิ้นส่วนร่วมกับรุ่นเดิมให้ได้มากที่สุดอีกเช่นเดียวกัน ฟังแล้วน่าปวดหัว
แต่สุดท้าย ทีมออกแบบ ก็พยายามทำงานของพวกเขา สำเร็จออกมาจนได้
เส้นสายด้านหน้า ถูกปรับปรุงใหกม่ทั้งหมด ชุดไฟหน้า เปลี่ยนมาเป็นแบบที่ดูคล้ายกับ Mitsubishi
Lancer EX มากยิ่งขึ้น ในรุ่น LTZ นั้น ไฟหน้าจะเป็นแบบโคม Projector พร้อมระบบเปิดไฟหน้า
เองอัตโนมัติ หากมีแสงแดด ไม่เพียงพอจนเซ็นเซอร์หน้ารถจับได้ แถมยังปรับระดับสูง – ต่ำ ได้จาก
ตำแหน่งคนขับ อีกถึง 4 ระดับ และยังมีระบบ Automatic Parking Lamp เปิดไฟหน้าค้างไว้ 30 วินาที
หลังจากดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถเรียบร้อยแล้ว
กระจังหน้าแบบโครเมียม 2 ชั้น Dual Port Grilled ตามรูปแบบเอกลักษณ์ของ Chevrolet รุ่นใหม่ๆ
หลังจากปี 2005 เป็นต้นมา ด้านล่าง มีไฟตัดหมอกหน้า พร้อมกรอบแบบโครเมียมรายล้อมรอบ
เพื่อให้ดูหรูหราขึ้น
กระจกมองข้าง มีไฟเลี้ยวมาให้ในตัว ปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า รวมทั้งยังมีฮีตเตอร์ ละลายฝ้า
บนกระจกมองข้างมาให้อีกต่างหาก
ส่วนด้านหลังของตัวรถ มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งการเพิ่มท่อไอเสียคู่ ด้านหลัง เพิ่มบุคลิก
สปอร์ตให้กับตัวรถ รวมทั้งมีการออกแบบ เปลือกกันชนหลัง ให้มีแผ่นพลาสติกสีเงินกันกระแทก ซึ่งก็
เน้นความสวยงาม มากกว่าการใช้งานจริง และมีสปอยเลอร์หลัง สีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3
และเพิ่มเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลังมาให้ในทุกรุ่น (ยกเว้นรุ่นพื้นฐาน LS) ซึ่งก็ทำงานได้เพียง
แค่ในระดับหนึ่ง ยังไม่ถึงกับไวมากนัก ขณะถอยหลังเข้าจอด ขอแนะนำว่า อย่าเชื่อเซ็นเซอร์ถอยหลัง
มากจนเกินไปนะครับ สำหรับ Captiva ใหม่นี้
รุ่น LS กับ LSX ใช้ล้ออัลลอย ลาย 9 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว สวมเข้ากับยางขนาด 235/60 R17 ส่วนรุ่น LT
เป็นล้ออัลลอย 7 ก้าน 18 นิ้ว สวมเข้ากับยางขนาด 235/55R18 แต่ในรุ่น LTZ ที่เห็นอยู่นี้ GM ใจป้ำ
ใส่ล้ออัลลอย ลาย 5 ก้าน ขนาดใหญ่โตถึง 19 นิ้วมาให้เต็มซุ้มล้อกันไปเลย พร้อมยาง Hangook รุ่น
Optimo ขนาด 235/50 R19 คาดว่า เปลี่ยนยางทีนึง คงมีกระเป๋าสตางค์ฉีกไปบ้างเหมือนกันแน่ๆ
สีตัวถังจะมีให้เลือกทั้งหมด 5 สีเท่านั้น ได้แก่ สีขาว Alpine White สีดำ Black Sapphire สีเทา Royal
Gray และสีเงิน Sterling Silver พร้อมกับ มีสีสุดพิเศษสำหรับแคปติวาใหม่โดยเฉพาะ คือสีน้ำตาล
Auburn Brown อันเป็นสีโปรโมท ในงานโฆษณาของ Captiva Minorchange
ทุกรุ่น ตั้งแต่ LS LSX LT และ LTZ จะใช้กุญแจรีโมท พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer แถมมาให้
จากโรงงาน สวิชต์บนกุญแจอาจมีหน้าตาประหลาดนิดนึง เป็นเส้นขีด 2 เส้น ถ้าขนานกัน คือสั่งให้
ระบบล็อกประตู แต่ถ้า ขีดบน เผยอกว่า แสดงว่า ปุ่มนั้นคือ ปลดล็อกประตู และยังมีปุ่มสำหรับปลด
ล็อก ฝากระจกบังลมหลังแยกออกมาต่างหากอีกด้วย
อยากจะขอเตือนกันสักเล็กน้อยว่า คุณไม่ควรทิ้งกุญแจเสียบคาเอาไว้ในรูกุญแจบิดสตาร์ต หรือทิ้ง
เอาไว้บนเบาะนั่งภายในรถยนต์ Chevrolet รุ่นใหม่ๆ แทบจะทุกรุ่น เพราะโอกาสที่ระบบไฟฟ้า
จะล็อกเองขึ้นมาดื้อๆนั้น เป็นไปได้สูงเหมือนกันครับ มีลูกค้าร้านล้างรถของน้องๆ พวกเราทีม
The Coup ( Wash Planet พระราม 4 ปั้ม LPG เลยตึกช่อง 3) โดนมาสดๆร้อนๆ ใน Aveo ส่วนผม
ก็ขึ้นไปนั่งอยู่บน Colorado ใหม่ ติดเครื่องยนตืไว้ จู่ๆ รถก็ล็อกประตูเองหน้าตาเฉย ดีที่ผมยังนั่ง
อยู่ในรถนะนั่น ไม่เช่นนั้น คงจะยุ่งวุ่นวาย เหมือนสุภาพสตรีเจ้าของรถ Aveo คันสีดำคันนั้นแน่ๆ
เมื่อเปิดประตูคู่หน้าออกมา Captiva ก็ยังคงมีตำแหน่งเบาะนั่งที่สูงอยู่ในระดับพอดี การก้าวเข้าออก
จากตัวรถ ทำได้ง่ายดาย สะดวกสบาย และไม่มีปัญหาใดๆ ในประเด็นนี้เลย แผงประตูคู่หน้า มีการ
ออกแบบให้มีพื้นที่วางแขน พร้อมพื้นผิวสัมผัสแบบหนังสังเคราะห์ ที่นุ่มนวลใช้ได้ พอประมาณ
แต่ยังถือว่า บุฟองน้ำซ่อนไว้ใต้พื้นผิว บางไปสักหน่อย ช่องใส่ของที่แผงประตูคู่หน้า ใส่หนังสือ
พ็อกเก็ตบุ๊คได้ 1 เล่ม และขวดน้ำดื่มราคา 7-8 บาท ได้อีก 1 ขวดพอดีๆ
ภายในห้องโดยสารของรุ่น LTZ ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และ Diesel Turbo จะตกแต่ง ไม่ผิดเพี้ยน
ไปจากภาพที่คุณเห็นอยู่นี้ คือ ใช้หนังสีเทา ติดสีเบจนิดๆ จางๆ เป็นหลัก เป็นวัสดุหุ้มเบาะ และ
พื้นผิวที่ผู้โดยสารต้องสัมผัสตลอดการเดินทาง พื้นที่เหนือศีรษะ ว่าง โล่ง โปร่ง สบาย ไม่ก่อให้เกิด
ความอึดอัดใดๆ ในการโดยสาร
ในรุ่น LT และ LTZ เบาะคนขับ จะปรับระดับและตำแหน่งได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า รวม 8 ทิศทาง แต่
ไม่มีระบบจำตำแหน่งเบาะมาให้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ยังไม่ใช่ของเล่นที่จำเป็นมากนัก
ในบทความทดลองขับ Captiva เมื่อปี 2007 ในเว็บอื่น ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า เบาะนั่งคู่หน้า ไม่สบายตัว
ผมคาดว่าน่าจะได้รับการปรับปรุงแล้วในรถรุ่นใหม่ แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น บางประเด็นอาจถูก
แก้ไขไปแล้ว เช่นความแข็งกระด้างของเบาะนั่งในภาพรวม ซึ่งถูกปรับปรุง ให้มีฟองน้ำที่นุ่มลง และ
รองรับสรีระด้านหลังได้ดี แต่ในสิ่งที่ยังไม่ได้แก้ไข ปัญหาเดิม มันก็ยังคงอยู่ ณ ตรงที่เดิมเป๊ะ
พนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ที่เคยยื่นส่วนขอบด้านล่าง ล้ำเข้ามาใกล้ต้นคอผม มันก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม
ต่อให้ปรับระดับสูงต่ำ อย่างไร ผมก็จะมีอาการปวดต้นคอ และหัวไหล่ ตามมาอยู่ดี เพราะพนักพิงนั้น
ค่อนข้างแข็ง และดันศีรษะผมอยู่ตลอดเวลา ถึงจะไม่เลวร้ายเท่ากับ Hyundai Tucson แต่ก็ชวนให้ผม
สงสัยจนต้องถามว่า ตกลงนี่เรากำลังขับ Volvo รุ่นเก่าบางรุ่นอยู่หรือเปล่า?
ต่อให้นั่งขับจนคุ้นชิน แต่อาการปวดต้นคอมันไม่ปราณีผมเลยแหะ ชวนให้คิดอยากกลับไป นั่งขับ
Chevrolet Colorado ใหม่ อย่างเดิม ยังจะมีความสุขกว่าเลย
เบาะรองนั่ง มีขนาดกำลังดีสำหรับคนตัวไม่สูงนัก และมีช่วงขา (สะโพกจนถึงขาพับ) สั้น แต่สำหรับ
คนขายาว อย่าง เจ้ากล้่วย แห่ง The Coup Channel แล้ว เจ้าตัวบอกว่า อยากให้เบาะรองนั่ง ยาวกว่านี้
อีกนิดนึง ก็จะลงตัวพอดี
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดี ไม่มีปัญหาติดขัดอะไรทั้งสิ้น ผมยังคงเข้า – ออกจากตัวรถ
ได้ง่ายดาย สะดวกสบาย เหมือนเดิม แถมศีรษะของผม ไม่ต้องไปโขกเข้ากับ ขอบด้านบนของทาง
เข้า – ออก อีกด้วย แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งในลักษณะใกล้เคียงกับแผงประตูคู่หน้่า มีช่องใส่ของ
จุกจิกที่ด้านล่าง มาให้เล็กน้อย นอกจากนี้ ด้านหลังของชุดเบาะนั่งคู่หน้า จะเห็นว่า ยังคงมีตาข่าย
สำหรับใส่หนังสือ หรือนิตยสาร ได้ทั้ง 2 ฝั่ง การวางแขน สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ก็ทำได้ดีดังเดิม
พื้นห้องโดยสาร เป็นแบบ เรียบ ฉะนั้น การโดยสารทางไกล สำหรับใครที่ต้องมานั่งตรงกลางเบาะ
ก็จะไม่น่ามีเสียงบ่นที่จะต้องนั่งถ่างขาตรงกลางระหว่าง อุโมงค์เพลากลาง กันแน่ๆ
เบาะนั่งแถวกลาง หรือแถวที่ 2 แบ่งพนักพิงออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งเพื่อรองรับกันพับเบาะในอัตราส่วน
60 : 40 ได้เหมือนเดิม แถมยังปรับระดับเอนลงนอนได้ 3 ตำแหน่ง ทั้ง 2 ฝั่ง มีพนักวางแขน ซึ่ง
พับเก็บได้ และมีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่งในตัว ตำแหน่งนั่ง และการวางแขนในภาพรวม ถือว่า
ยังทำได้ดี ไม่แตกต่างจากรุ่นก่อน
พนักพิงศีรษะ ก็ยังคงแข็งและถูกออกแบบมาเพื่อเน้นประโยชน์ใช้สอยจากการพับเบาะเป็นหลัก
มากกว่าจะเอาไว้รองรับศีรษะและกระดูกต้นคอ ขณะที่พนักพิงหลัง มีการปรับปรุงให้นุ่มกว่าเดิม
เพียงแค่นิดเดียว และนั่งยังไม่ถึงกับสบายตัวนัก พอจะใช้โดยสารได้อยู่ ส่วนเบาะรองนั่ง สั้นไป
นิดหน่อย แต่ด้วยเหตุที่มีฟองน้ำเสริมไว้กำลังดี เลยทำให้เบาหลังของ Captiva ยังพอจะโดยสาร
เดินทางไกล ได้สบายกว่า Honda CR-V รุ่นเดิม (แต่ พอกันกับ CR-V รุ่นใหม่ล่าสุด เวอร์ชันญี่ปุ่น)
พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่มีปัญหา เหมือนกับเช่นพื้นที่โดยสารตอนหน้าของรถ ต่อให้คุณจะสูงระดับ
180 เซ็นติเมตร ก็ยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ในเมื่อ Captiva มีเบาะนั่งทั้งหมด 3 แถว ดังนั้น เบาะแถวกลาง หรือแถวที่ 2 จึงจำเป็นต้องถูกออกแบบ
ให้สามารถพับเก็บและยกตัวขึ้นได้ เพื่อความสะดวกในการเข้า – ออก จากพื้นที่เบาะแถว 3 โดยใช้วิธี
ดึงคันโยกข้างลำตัวเบาะ โน้มพนักพิงมาข้างหน้า แล้วชุดเบาะจะยกตัวขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เบาะนั่ง
แบบยกตัวได้นี้ เคยมีใช้มาก่อนแล้วใน SUV ที่ขายในบ้านเราบางรุ่น
หรือถ้าจะต้องการแค่พับเบาะลงเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ ก็ให้ดึงมือโยกบริเวณบ่าของพนักพิงหลัง
ทั้งฝั่งซ้าย หรือ ขวา ตามแต่ว่า คุณจะต้องการพับเบาะฝั่งไหนลงมา
การปีนเข้าไปนั่งเบาะแถว 3 อาจเป็นเรื่องสนุกของบุตรหลานที่บ้านคุณ แต่มันจะไม่สนุกเลย ถ้าคนที่
ต้องปีนเข้าไปนั่ง ดันเป็นตัวคุณเอง
พื้นที่โดยสารบริเวณแถว 3 นั้น ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะเบาะแถวหลัง ถูกออกแบบมาให้
รองรับการโดยสารของผู้ใหญ่ หุ่นมาตรฐานทั่วไปได้ด้วย แม้ว่าจะนั่งไม่ถึงกับสบายนัก หากต้องนั่ง
ในเบาะแถวหลังสุดนี้ ยาวๆ เพื่อเดินทางไกลๆ และถึงแม้จะยังมีพื้นที่วางขา เยอะกว่าที่คาดคิดไว้
เล็กน้อยก็ตาม แต่ผู้โดยสาร ระดับผู้ใหญ่ ก็ต้องนั่งชันขาอยู่ดี ยังไม่ถึงกับนั่งสบายนัก กระนั้นต้อง
ถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับ SUV 7 ที่นั่ง หรือ SUV/PPV คันอื่นๆ
ที่สำคัญคือ มีเครื่องปรับอากาศ สำหรับผุ้โดยสาร แถว 3 มาให้อีกด้วย สวิชต์ และช่องกระจายความเย็น
จะติดตั้งอยู่ทั่งฝั่งซ้ายมือของตัวรถ (ดูได้จากภาพข้างล่างๆ)
พนักศีรษะที่เห็นในภาพนั้น ปรับตำแหน่งเอาไว้ทั้งต่ำสุด และยกสูงขึ้นได้มากที่สุดเพียงเท่าที่เห็น
และมันก็ยังเป็นพนักศีรษะ ที่คอยก่อความรำคาญต้นคอของผม หากไม่ได้ยกขึ้นมาใช้งาน ไม่ต่าง
ไปจากเบาะนั่ง 2 แถวข้างหน้าเอาเสียเลย ส่วนพื้นที่วางแขน ที่เป็นแผงพลาสติก ตีตู้ขึ้นมา ปิด
ซุ้มล้อคู่หลังเอาไว้นั้น ใช้งานได้โอเค และมีช่องวางขวดน้ำสำหรับผู้โดยสารฝั่งซ้ายอีกด้วย
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะนั้น สำหรับคนตัวสูงราวๆ 170 เซ็นติเมตรแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ศีรษะ
ของคุณจะไม่ติดเพดานด้านหลังของ Captiva แน่ๆ แต่ถ้าตัวสูงเกินกว่านี้ แนะนำว่า ไปทดลอง
นั่งในโชว์รูมกันให้ดีเสียก่อนนะครับ ถ้าจำเป็นต้องนั่งในเบาะแถวหลังสุดกันจริงๆขึ้นมา จะได้
ไม่ต้องมานั่งบ่นในภายหลัง
เข็มขัดนิรภัยมีมาให้เป็นแบบ ELR 3 จุด เช่นเดียวกับเบาะนั่ง 2 แถวข้างหน้า รวมทั้งยังมีไฟ
อ่านหนังสือ ซึ่งส่องสว่างให้่เห็นพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ (ยามที่ต้องพับเบาะ) สว่างใช้ได้
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยกขุึ้นในแนวดิ่ง มีช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้นบางๆ ยันเอาไว้ ใช้ระบบกลอน
ไฟฟ้า แบบเดียวกับรถรุ่นก่อนหน้านี้ มีแผ่นโลหะ ติดไว้บริเวณขอบกันชน กับช่องทางเข้าห้องเก็บของ
เพื่อกันรอยขีดข่วน ขณะยกย้ายสัมภาระ เข้า – ออก จากห้องเก็บของด้านหลัง บานประตู สามารถแบ่ง
เปิดได้ 2 แบบ คือ เปิดยกขึ้นทั้งบานตามปกติ อย่างที่คุณผู้อ่านเห็นอยู่นี้…
หรือว่าเลือกเปิดได้เฉพาะบานกระจกบังลมหลังพร้อมไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝนหลัง เป็นพิเศษ
สวิชต์สั่งล็อกหนะไม่มี แต่ว่า มีสวิชต์ปลดล็อกด้วยไฟฟ้า ที่แผงประตูฝั่งคนขับ มองถัดลงไป
ในตำแหน่งล่างสุด ฝั่งซ้ายมือ มาให้ลองเล่นกัน
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หากพับเบาะแถว 3 ราบลงจะมีปริมาตรในการขนสัมภาระ
อยู่ที่ 465 ลิตร และยิ่งถ้าปรับเบาะแถวที่ 2 ลงทั้งหมดจะเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้อย่างอเนกประสงค์ถึง
930 ลิตร ใหญ่พอจะบรรทุกจักรยาน Mountain Bike ได้ราวๆ 2-3 คัน โดยไม่ต้องถอดล้อ! เพียงแต่ว่า อาจ
ต้องวางในแนวนอน ไม่ใช่แนวตั้ง ซึ่งนั่นจะทำให้ยังเหลือพื้นที่วางเกระเปาสัมภาระได้อีกพอสมควร
และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบถาดใส่ของอเนกประสงค์ ซึ่งจะมีเครื่องมือประจำรถ กับแม่แรง
มาให้ใช้งานกันในกรณีที่จะต้องเปลี่ยนยางชุดใหม่ กันกลางทาง หากเจอของมีคมทิ่มหรือบาดยางรถ
นอกจากนี้ ข้อดีของถาดอเนกประสงค์นี้คือ หากซื้ออาหารสด พวก กุ้ง หอย เนื้อหมู เนื้อไก่ ต่างๆ ถ้าคุณ
กลัวว่า ข้าวของที่ซื้อมา จะสร้างปัญหาเรื่องกลิ่นในรถ คุณก็เดินมาเปิดฝาประตูห้องเก็บของ แล้วยกพื้น
ห้องเก็บของขึ้น อย่างที่เห็นในรูป จากนั้น จับทุกสิ่งที่คุณซื้อมา ยัดลงไปในช่องว่างนั่นละครับ แล้วก็
ปิดฝา แค่นี้ เป็นอันเรียบร้อย
แผงหน้าปัดตกแต่งด้วยโทนสีดำ Jet Black ตัดกับ วัสดุประดับตกแต่งบนแผงหน้าปัด และแผงประตู
ด้านข้าง Light Titanium ที่ดูคล้ายๆ ลาย Carbon Fiber ทั้งที่มันก็มิได้เป็นเช่นนั้น ความแปลกตาอยู่ที่
บริเวณคอนโซลกลาง ซึ่งมีการปรับปรุงงานออกแบบริเวณนั้นขึ้นมาใหม่ และมีมือจับเปิดประตู ใช้
โครเมียม ประดับตกแต่งให้หรูขึ้น
รวมทั้งการ เปลี่ยนระบบเบรกมือแบบกลไก มาใช้ เบรกมือแบบสวิชต์ไฟฟ้า เหมือนกับรถยนต์ชั้นดี
อย่างตระกูล Range Rover , Lexus ฯลฯ การทำงาน ก็ไม่ยาก ถ้าต้องการใช้งาน ให้ใช้นิ้วชี้ เกี่ยวสวิชต์
บริวเณแป้นฐานคันเกียร์ ดึงขึ้นมา และถ้าต้องการปลดระบบออก ก็ให้เหยียบเบรก แล้วกดสวิชต์เดิม
ลงไป เท่านั้นเอง
มองขึ้นไปข้างบนเพดานหลังคา แผงบังแดด ทั้งฝั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า จะมีกระจกแต่งหน้า
พร้อมไฟส่องสว่างมาให้ครบถ้วน รวมทั้งยังมีไฟอ่านแผนที่ และกล่องใส่แว่นตากันแดด ซ่อนเอาไว้
มีกระจกมองหลัง ตัดแสงอัตโนมัติยามค่ำคืนมาให้อีกด้วย เพดานหลังคาบุด้วยผ้า ให้ความหรูหราดุจ
รถยนต์นั่งชั้นดี แต่อย่าได้เอามือเปื้อนๆไปเผลอสัมผัสเชียวละ เป็นรอยสกปรกได้ทันทีไม่รู้ด้วยนะ!
วงพวงมาลัยยังคงมีหน้าตาเป็นแบบ 4 ก้านเหมือนเดิม ขนาดเส้นรอบวง ของพวงมาลัย Captiva ณ วันนี้
ดูมีขนาดใหญ่กว่า วงพวงมาลัยของ Chevrolet Colorado ใหม่แล้วด้วยซ้ำ! ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของ เจ้า
SUV พันธุ์ยักษ์ อย่าง Chevrolet Tahoe / Suburban และรถกระบะรุ่น Silverado ในรุ่น LTZ คันนี้ ติดตั้ง
สวิชต์ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียงไว้ที่ฝั่งซ้าย แถมมีแป้นสวิชต์ แบบตบเข้าหาตัว เร่งหรือลดระดับ
เสียงซ่อนอยู่ด้านหลังสวิชต์ Power และ เปลี่ยนคลื่น หรือเปลี่ยน Mode วิทยุ เครื่องเล่นเพลง ฯลฯ ซึ่งอยู่
ในตำแหน่งที่เตี้ยไปหน่อยในการใช้งาน และผมต้องคลำหาอยู่ตั้งนานในความมืด กว่าจะเจอแป้นสวิชต์
ปรับระดับเสียง
ส่วนแผงสวิชต์ฝั่งขวาของพวงมาลัย ด้านหน้าจะเห็นเป็นสวิชต์ เครืองปรับอากาศ เร่ง หรือลดความแรง
ของพัดลม รวมทั้งสวิชต์ เลือกปรับช่องทางกระจายความเย็น ทั้งเข้าสู่ตัวผู้โดยสาร หรือเป่าลงเท้า แถม
ยังมีสวิชต์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control อยู่ติดกัน และแป้นสวิชต์ กระดิกนิ้ว
เพิ่มหรือลดความเร็วของรถขณะเปิดใช้ระบบ ซ่อนอยุ่ในตำแหน่งที่ใช้งานยาก เช่นเดียวกับสวิชต์เพิ่ม
หรือลดความดังของเครื่องเสียง
ฝั่งขวาสุดของแผงหน้าปัด ใต้ช่องแอร์ เป็นสวิชต์ปรับกระจกมองข้าง และพับเก็บด้วยไฟฟ้า ส่วนวงกลม
ฝั่งขวา ที่มีเลข 0 1 2 3 เป็นสวิชต์ปรับระดับสูงต่ำของโคมไฟหน้า และถ้ากดปุ่มตรงกลางออกมา หมุน
ซ้าย – ขวาได้ เพื่อปรับความสว่างของแผงมาตรวัดถัดลงไป เป็นช่องเสียบบัตร และช่องเก็บของพร้อม
ฝาปิด ข้างในบุด้วยผ้ากำมะหยี่
มองไปทางฝั่งซ้ายมือ ครึ่งท่อนบนของแผงควบคุมคอนโซลกลาง ด้านบนสุด จะมีช่องเก็บของขนาดเล็ก
พร้อมฝาปิด ที่คุณจะใช้วิธีกดแบบนุ่มนวล อย่างทะนุถนอมไม่ได้ เพราะมันจะไม่เปิดออกมาให้ ต้องใช้
วิธี จิ้มนิ้วปักลงไปแรงและเร็วพอประมาณ มันถึงจะยอมเปิดให้คุณ พื้นที่ช่องเก็บของพร้อมฝาปิดตรงนี้
ผมอยากจเรียกว่า “ช่องใส่พระเครื่อง” เพราะเห็นผู้บริดภคชาวไทย นิยมนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประดับไว้
บนแผงหน้าปัดรถยนต์ของตน เพื่อความเป็นสิริมงคลกัน แต่หารู้ไม่ว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา พระเครื่อง
หรือองค์พระ ที่ติดอยู่กับแผงหน้าปัด อาจกระเด็นหลุดออกมาทิ่มแทง ก่ออันตรายให้กับคุณได้ ดังนั้น
การออกแบบช่องเก็บของด้านบน พร้อมฝาปิดแบบนี้ จึงเป็นทางออกที่สวยงามมาก สำหรับผู้ที่ต้องการ
อันเชิญ พระสงฆ์องค์เจ้า เทพยาดาฟ้าดิน มาสถิตอยู่ในรถของคุณ ใส่พระเครื่องไว้ในนั้น แล้วปิดฝา
ไปเลย สะดวก ง่ายดี สวยงาม ปลอดภัย แถมยังอุ่นใจอีกต่างหาก!
ตำแหน่งของสวิชต์ไฟฉุกเฉินนั้น จากเดิม ที่เคยอยู่ใกล้มือผู้ขับขี่ ถูกย้ายเลื่อนไปอยู่ไกลตัว ถ้าหากจะต้อง
รีบกดใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะต้องชะงักไปสักเล็กน้อย เพื่อจะพบว่า มันย้ายตำแหน่งจากเดิมในแถว
เดียวกัน ไปอยู่ฝั่งซ้ายมือ ใกล้ผู้โดยสารฝั่งซ้ายมากขึ้น ซึ่งไม่สะดวกในการใช้งานเอาเสียเลย แบบเดิมดีกว่า
ก็ไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ตำแหน่งใหม่นั่นทำไมกัน?
ตรงกลาง ระหว่างสวิชต์ของระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน HDC (Hill Descent Control) และสวิชต์
เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Control) และสวิชต์ เปิด – ปิด การทำงานของ
เครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารแถวหลังสุด คุณจะพบเห็นนาฬิกา Digital ซึ่งมีงานออกแบบที่ชวนให้
สงสัยอย่างยิ่ง ว่าทำไมต้องทำรูปทรงเป็นวงรี เยี่ยงนั้น ทำให้ดูคล้ายกับ สินค้าจีนราคาถูกไปเลย
ย้อนมาดูฝั่งขวามือกันบ้าง กระจกหน้าต่างปรับเลื่อนขึ้น – ลงด้วยสวิชต์ไฟฟ้า จะมีระบบป้องกันการหนีบ
Jam – Protection มาให้เฉพาะฝั่งคนขับ มีสวิชต์ปลดและสั่งล็อกประตูติดตั้งอยู่เหนือขึ้นไป
ถัดลงมา มีสวิชต์ล็อกป้องกันการเปิดกระจกหน้าต่าง สำหรับผู้โดยสาร ซึ่งใน Captiva แล้ว ผมมักจะเผลอกด
เลื่อนสวิชต์กระจกหน้าต่างตอนจ่ายค่าทางด่วน ผิดบาน ไปเลื่อนเปิดหน้าต่างของบานประตูหลังขวา ประจำ
แป้นพักเท้าซ้าย ทำขึ้นรูปไว้เฉยๆ แต่เมื่อใช้งานจริง จะนุ่มและสัมผัสได้ว่า ไม่มีวัสดุอะไรรองรับข้างใต้
เป็นเพียง วัสดุ Recycle นุ่มๆ ตามปกติของผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายในปัจจุบันนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว แป้นบริเวณ
พักเท้านี้ ควรจะแข็งกว่าส่วนอื่นสักหน่อย
ชุดมาตรวัด เปลี่ยนงานออกแบบใหม่ และเปลี่ยนมาใช้โทนสี Ice Blue ในการแสดงผล แม้จะดูง่ายขึ้น
และร่วมสมัยขึ้นเล็กน้อย แถมยังเรืองแสง แม้ในช่วงกลางวัน แต่พอบิดสวิชต์กุญแจ เท่านั้นแหละครับ
สารพัดไฟเตือนมากมาย ก็ปรากฎขึ้น พร้อมกัน สว่างโล่ พราวไปทั้งแผง อย่างกับแผงไฟสป็อตไลต์
บนเวทีคอนเสิร์ต คุณปอยฝ้าย มาลัยพร เสียอย่างนั้นแหละ! จะพราวพร่างเต็มนภาไปถึง โลกพระจันทร์
กันเลยมั้งเนี่ย?
มาดูแผงควบคุมบนคอนโซลกลางกันบ้าง โดยปกติ ผมจะไล่เรียงลำดับจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง แต่
คราวนี้ คงต้องขอไล่ระดับจากด้านล่าง และฝั่งซ้าย ขึ้นสู่ด้านบนแทน เพราะประเด็นที่เราจะต้อง
พูดถึงกันนั้น มันเยอะและต้องการความต่อเนื่อง มากกว่าครั้งอื่นๆนิดหน่อย
เริ่มจากฐานรอบเกียร์อัตโนมัติ จะเห็นว่า มีช่องสำหรับเสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์ และเครื่องใช้
ไฟฟ้าขนาดพกพาในรถ ติดตั้งในฝั่งขวา อันที่จริง ตำแหน่งนี้ก็สะดวกในการใช้งานดีอยู่ แต่ถ้าจะ
ช่วยออกแบบให้มันเป็นส่วนหนึ่ง ที่กลมกลืนไปกับฐานรอบคันเกียร์มากกว่านี้จะได้ไหม เพราะ
สิ่งที่เห็นอยุ่ในตอนนี้ มันเหมือนการนำช่องเสียบจ่ายไฟดังกล่าว มาแปะเอาไว้ ด้วยความจำใจ
อย่างเสียมิได้ มากกว่าจะตั้งใจออกแบบให้มีความสวยงามลงตัวควบคู่กัน
ช่องใส่เศษเหรียญ มีถาดยางขนาดเล็ก ใช้งานได้ดีขณะขับรถ แต่ถ้าคุณต้องการจะหยิบเศษสตางค์
หลังจากจอดรถ เข้าเกียร์ P เรียบร้อยแล้ว ม้ันใช้งานไม่สะดวกเท่าไหร่ ต้องล้วงนิ้วเข้าไปควานหา
เศษเหรียญที่ต้องการ แต่จะว่าไป นี่ก็เป็นงานออกแบบซึ่งใช้งานต่อเนื่องมาจากรถรุ่นแรก ก่อนการ
ปรับโฉม Minorchange แล้ว
เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ไม่มีระบบปรับอุณหภูมิแยกฝั่งความเย็นมาให้ก็จริง แต่มีการแสดงผล
ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ 7 นิ้ว และมีการแจ้งอุณหภูมิภายนอกรถให้ด้วย ซึ่งอันที่จริง ทุกอย่างก็ดูลงตัวดี
เพียงแต่ว่า สวิชต์เครื่องปรับอากาศ มาแนวแปลก ปกติตาม Logic แล้ว ถ้าคุณหมุนสวิชต์ไปทางซ้าย มัน
ควรจะหมายถึงการลดอุณหภูมิลง แต่ใน Captiva VCDi กลับหมายถึงการเพิ่มอุณหภูมิ ให้สูงขึ้น!?
แปลกดีแหะ?
ก็มีบางเสียงที่สะท้อนกลับมาว่า ในรถยนต์บางรุ่น การบิดสวิชต์ไปทางขวา หมายถึงอุณหภูมิที่เย็นลง
เช่น Toyota หรือ Nissan บางรุ่น โอเค ผมไม่เถียงละ ว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่นั่นอาจเหมาะกับการใช้
สวิชต์ แบบไม่บอกตัวเลข หากมีการแจ้งตัวเลขอุณหภูมิบนหน้าจอ ผมว่า ควรจะใช้ตรรกะสากล นั่นคือ
หมุนไปทางซ้าย แสดงถึงอุณหภูมิที่ลดลง หมุนไปทางขวา คือปรับให้อุ่นขึ้น ซึ่งจะลดความสับสนของ
ผู้ใช้รถได้ดีกว่าหรือไม่? ฝากลองไปพิจารณากันดูครับ
ช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า พร้อมฝาปิด อันที่จริง ก็มีขนาดใหญ่โตใช้การได้ แถมแบ่งฟาก เป็น
2 ช่อง ช่องให่ ไว้เก็บคู่มือผู้ใช้รถ รวมทั้งเอกสารทะเบียนและประกันภัยประจำรถ แต่แค่นั้น ก็เล่นเอา
เนื้อที่หดหายไป 80 % แล้ว ช่องว่างฝั่งขวา ที่กั้้นมาให้ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจะใส่อะไรได้บ้าง หาก
ไม่ใช่ กระป๋องน้ำอัดลม ที่สามารถต่อท่อแอร์ลงมาเป่าให้เย็นได้
ส่วนชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมากับ Captiva นั้น ไม่ว่าจะซื้อรุ่นถูกสุด หรือแพงสุด คุณจะได้รับ วิทยุ AM / FM
พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 แบบ 1 แผ่น พร้อมระบบเสียง 3 มิติ 3 Dimension Sound Staging จากประเทศ
ฝรั่งเศส ที่ผ่านการคำนวณอย่างละเอียด เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดของขนาดห้องโดยสารรถ ซึ่งมีระบบประมวลผล
ที่ช่วยปรับคุณภาพของเสียงให้มีมิติ ความละเอียด และคมชัด สมจริงที่สุด รวมทั้งเน้นให้เสียงโอบล้อมทั้ง
ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ช่วยปรับ Sound Stage ให้อยู่ในระดับหูของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งยังจัดทิศทาง
ของเสียง ให้อยู่ในบริเวณด้านหน้าของแผงหน้าปัด ผ่านมายังผู้ฟัง จนแยกชิ้นเครื่องดนตรีได้ละเอียดขึ้น
ซึ่งทุกรุ่นจะได้ใช้เครื่องเสียงชุดนี้ เท่าเทียมกันทั้งหมด แตกต่างกันที่จำนวนลำโพง เพราะในรุ่น LS กับ
LSX จะมีลำโพงมาให้ 6 ชิ้น ขณะที่รุ่น LT และ LTZ จะมีลำโพงมาให้ 8 ชิ้น
คุณภาพเสียง ถือว่าทำได้ดีมาก และให้ความบันเทิงกำลังดี ให้มิติเสียงที่ดีใช้ได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องปรับ
เสียงเบสไว้ในระดับ +5 และเสียงใสไว้ในระดับ +5 หรือ +6 ไปเลย ส่วนเสียงกลาง และ Balance ฝั่ง
ซ้าย – ขวา ให้คงเอาไว้ที่ค่ากลาง หรือ 0 เหมือนเดิม เท่านี้ ก็ฟัง CD ทุกแผ่นได้ไพเราะแล้ว แต่ถ้าเทียบ
กับคู่แข่งรายอื่นๆ ผมยังยืนยันว่า คุณภาพเสียงจากชุดเครื่องเสียง Alpine ใน Pajero Sport ยังเหนือกว่า
ในระดับดีที่สุดในกลุ่ม SUV / PPV ทั้งหมด เพียงแต่ว่า ปรับใช้งานยากกว่า Captiva ซึ่งมีคุณภาพเสียง
เป็นรอง Pajero Sport เท่านั้น
สิ่งที่ผมว่าควรจะปรับปรุงก็คือ หน้าจอของชุดเครื่องเสียงนั้น จากเดิมที่เคยเป็นสีเขียว ซึ่งอ่านยาก
อยู่แล้ว คราวนี้ เปลี่ยนมาเป็นสีฟ้า Mint เรืองแสง ปรากฎว่า นอกจากจะอยู่ในตำแหน่งที่เตี้ย และ
ไม่สะดวกต่อการลดสายตาลงมามองของผู้ขับขี่อย่างมากเหมือนเดิมแล้ว ตัวอักษร Dot Matrix ซึ่ง
แสดงผลอยู่ ก็จางเหลือเกิน อ่านยาก จากตำแหน่งสายตาของผู้ขับขี่ ต้องก้มลงไปมอง หรือไม่ก็ต้อง
นั่งอยู่บนเบาะหลัง จึงจะเห็นตัวอักษรชัดเจน เลยไม่เข้าใจว่า ทำไมหน้าจอ มอนิเตอร์ 7 นิ้ว ถึงไม่
แสดงการทำงานของชุดเครื่องเสียง แต่เพียงอย่างเดียวเลย เพราะแสดงแค่การทำงานของเครื่องเล่น
MP3 กับเครื่องเล่น DVD ผมว่า มันไม่เพียงพอในการใช้งานจริง
ในรุ่น LTZ จะมีหน้าจอมอนิเตอร์ ขนาด 7 นิ้ว แบบ Touch Screen มาให้ใช้งานกันด้วย โดยที่
หน้าจอชุดนี้ จะแสดงผลทั้ง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ของ Garmin
เครื่องเล่น MP3 เครื่องเล่น DVD สำหรับดูภาพยนตร์ในรถ ระบบหน้าจอ Trip Computer สำหรับ
แสดงข้อมูลของระบบต่างๆภายในตัวรถ รวมทั้ง แจ้งข้อมูลด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ความเร็ว
เฉลี่ย ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด แสดงการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และตั้งค่าระบบต่างๆของ
ทั้งตัวรถ กับตัวหน้าจอมอนิเตอร์เอง พร้อมกับมีระบบเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ Bluetooth มาให้
เรื่องที่ผมออกจะงุนงงนิดหน่อยก็คือ ถ้าต้องการจะเปิดแต่ระบบนำทาง โดยไม่ฟังวิทยุ ระบบจะ
ไม่ยอมแสดงแผนที่ขึ้นมา มันจะสั่งวิทยุ ให้ปิดทิ้งปเลย และปรับกลับมาเป็นหน้าจอของเครื่อง
ปรับอากาศแทน ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่สามารถจะแยกฟังก์ชันวิทยุ กับระบบนำทางออกจากกัน
กลายเป็นว่า มีทางเดียวหากเราไม่อยากฟังวิทยุ ขณะให้ระบบนำทางกำลังพา (หลง) กันอยู่ ก็คือ
ต้องปิด Volume ของชุดวิทยุ กันไปเลย
นอกจากนี้ บริเวณกล่องเก็บของ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ คั่นกลางระหว่างผู้ขับขี่กับผู้โดยสารฝั่งซ้าย
ก็ยังถูกปรับปรุงใหม่ คราวนี้ ช่องเก็บของพร้อมฝาปิดขนาดใหญ่ สามารถใช้พื้นที่ด้านบนฝา ไว้
วางแขนได้ แม้จะยังทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีนัก เพราะขาดฝาปิดที่สามารถเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง
ได้ เพื่อช่วยให้วางแขนได้สะดวกขึ้น พอเอาเข้าจริง การวางแขน ก็ทำได้พอๆกับรุ่นเดิมเลย ส่วน
การวางแก้ว หรือขวดน้ำ หากเป็นแก้วกาแฟ Starbuck จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นขวดน้ำดื่ม 7 บาท
แล้วละก็ โอกาสจะสั่นคลอนไปมา ยังมีอยู่อย่างชัดเจน น่าจะมีตัวล็อกตำแหน่งแก้ว หรือ
แต่ที่เด็ดมันอยู่ตรงนี้ ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นถาดพลาสติก Recycle ทำเป็น
หลุมวางแก้ว แต่เมื่อกดสลักล็อกด้านข้าง แล้วเลื่อนถาดหลุมวางแก้วน้ำออกไป จะพบว่า ยังมีพื้นที่
ชองใส่ของด้านล่างนั้น ใหญ่โตมากมาย ถึงขนาดว่า ถ้าใส่ สุนัขพันธุ์ ชิสุ ลงไป มันก็จะนอนได้
สบายๆ แถมยังเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งช่องเสียบ USB ได้ทั้งเครื่องเล่นที่มีหัวเสียบต่อ หรือจะเป็น
USB Handy Drive ธรรมดาๆ ก็ตาม เสียบเข้าไปแล้ว อย่าลืมกดช่อง AUX ที่ชุดเครื่องเสียง ผ่านปุ่ม
Mode ด้วยนะครับ จะได้ฟังเพลงที่คุณอุตส่าห์บันทึกมาจากเครื่องเสียงในบ้านได้
ทัศนวิสัย เมื่อมองจากตำแหน่งผู้ขับขี่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น
ฝากระโปรงหน้า ชัดเจนดี แต่ช่วยในการกะระยะ ขณะที่คุณกำลังเลี้ยวรถ ทิ่มเข้าจอดในช่องจอด
เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาพรวม ถือว่า ไม่มีอะไรเกะกะหรือรบกวนสายตา
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar จะมีขนาดค่อนข้างหนา และอาจมีผลต่อการขับขี่บ้าง ในบางรูปแบบ
เช่น หากคุณกำลังขับรถอยู่บน ทางโค้งเลี้ยวขวา เลนถนน สวนกันได้แค่ 2 เลน และคุณต้องการ
จะมองเห็นรถคันที่แล่นสวนมา บอกได้เลยว่า อาจจะยากนิดนึงนะครับ สำหรับ Captiva ใหม่
เพราะเสาหลังคาด้านหน้าฝั่งขวา หนากว่าที่คิด และแอบบดบังเราเวลาเข้าโค้งขวา บนถนนแบบ
สวนกันสองเลน ไปหลายครั้ง
ส่วนกระจกมองข้างมีขนาดใหญ่โต และมีมุมมองที่เหมาะสมดีแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้อง
แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ เสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็จะมีการบดบังรถคันที่แล่นสวนมา ขณะกำลังเตรียม
จะเลี้ยวกลับรถอยู่บ้างเหมือนกัน ในรูปแบบถนนทั่วๆไป ดังนั้น ถ้าจะพา Captiva เลี้ยวกลับรถ
คุณอาจต้องชะเง้อมองไปข้างหน้าไกลๆสักหน่อย จะช่วยได้ ขณะเดียวกัน กระจกมองข้างฝั่ง
ซ้ายมือ ก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรอีกแล้วเช่นเดียวกัน การมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาชัดเจนดี
อาจมีหลอกตาบ้างนิดๆหน่อย แต่ถ้าอาศัยความคุ้นเคยเข้าช่วย ก็จะไม่มีปัญหาอะไรนัก
ทัศนวิสัยด้านหลัง แม้ว่าเสาหลังคาแต่ละต้นจะหนาเอาเรื่อง จนอาจส่งผลต่อมุมมองบางมุม
ที่จะมองไม่เห็น แต่โชคดีว่า พื้นที่กระจกหน้าต่างของ Captiva เอง มีเยอะพอประมาณอยู่แล้ว
ดังนั้น จึงพอจะช่วยลดปัยหาการบดบังทัศนวิสัยของตัวเสาหลังคาเอง ลงไปได้บ้าง กระนั้น
ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนจากเลนทางด่วน บนถนนบางนา – ตราด หรือ วิภาวิดีรังสิต ไปยังเลนคู่ขนาน
ขอให้ใช้ความระมัดระวัง และอย่าหวังพึ่งพากระจกมองข้างเพียงอย่างเดียว อยากให้หันศีรษะ
แว๊บไปดูรถที่แล่นมาจากทางด้านข้างฝั่งซ้าย ให้ดีๆ
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
เครื่องยนต์ของ Chevrolet Captiva Minorchange นั้น ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากรุ่นเดิม
เพราะคราวนี้ ทีมวิศวกรของ GM ตัดสินใจ โละขุมพลังชุดเดิม ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 2,405 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 87.5 x 100 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.6 : 1 หัวฉีด
อีเล็กโทรนิคส์ 136 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที
รวมทั้งเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 92 มิลลิเมตร
กำลังอัด 17.5 : 1 Common Rail Direct-Injection Turbo แปรผันครีบได้ ใช้หัวฉีดแรงดันสูง ควบคุม
ด้วยอีเล็กโทรนิกส์ 150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที
ปลดประจำการออกไปทั้งหมด แล้วนำเครื่องยนต์ใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากเดิมให้ดีขึ้น
แรงขึ้น มาประจำการ ทั้ง 2 ขนาด
โดยในรุ่น เบนซิน (ซึ่งไม่มีในรีวิวนี้) จะวางเครื่องยนต์ใหม่ บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,384 ซีซี
ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 x 98 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.4 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด
Multi-Point พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟท์ ทั้ง ฝั่งไอดี กับไอเสีย Double CVC (Continous
Variable Camshaft) กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 168 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด สูงขึ้น
เป็น 22.3 กก.-ม.ที่ 4,600 รอบ/นาที
เครื่องยนต์เบนซินใหม่นี้ เป็นขุมพลังแบบ Flex Fuel รองรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน Gasohol
ได้ถึงระดับ E85 ซึ่งมี Ethanol ผสมอยู่ถึง 85% และใช้น้ำมันเบนซินเพียง 15% เท่านั้นได้อีกด้วย รวมทั้ง
ยังสามารถเติมน้ำมันเบนซินมาตรฐาน เบนซิน Gasohol E10 และ E20 ได้อีกเช่นกัน Captiva ใหม่ ถือเป็น
รถยนต์ SUV รุ่นแรกในเมืองไทยที่ใช้เชื้อเพลิง Flex Fuel E85 นอกจากนี้ Captiva ใหม่ ยังมีสวิทช์ปรับ
สู่โหมดการขับขี่แบบประหยัด (ECO) ช่วยให้ผู้ขับขี่รู้ถึงรูปแบบการขับขี่ให้ประหยัดได้อีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนรุ่น Diesel VCDi ที่เห็นอยู่ในบทความรีวิวนี้ จะวางเครื่องยนต์ใหม่เช่นกัน เป็นบล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,998 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 86 x 86 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้ทรงสี่เหลี่ยมสตุรัส
หรือแบบ Square) กำลังอัด 16.3 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดระบบ Common Rail โดนยมีแรงดันใน
ระบบสูงสุดที่ระดับ 1,800 บาร์ พละกำลังแรงขึ้นจากเดิม เป็น 163 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที ส่วน
แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 2,750 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ Diesel รุ่นนี้ ถือเป็นเครื่องยนต์ พิเศษ ที่มีจำหน่ายเฉพาะ ในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจาก
ข้อจำกัดด้านพิกัดภาษีสรรพสามิต และข้อจำกัดอื่นๆ บางประการ ทำให้ GM ต้องนำเครื่องยนต์ Diesel
2.2 ลิตร ใน Captiva ใหม่ เวอร์ชันตลาดโลก มาลดความจุกระบอกสูบลง (และเครื่องยนต์บล็อกนี้ละ ที่
จะตามไปประกบวางลงในห้องเครื่องยนต์ของ Chevrolet Cruze 2.0 Diesel VCDi เวอร์ชันไทย เร็วๆนี้)
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เครื่องยนต์ใหม่นี้ผ่านการทดสอบอย่างหนักตามมาตรฐานของ GM และ Chevrolet
ที่เรียกว่า Global Engine Durability TEST (GED) โดยถูกติดตั้งอยู่ใน Captiva Prototype แล้ววิ่งทดสอบใน
สภาพอากาศและสภาพถนนที่แตกต่างกันทั่วโลก ตั้งแต่ร้อนจัดจนถึงหนาวจัด เพื่อให้แน่ใจว่า Captiva ที่ใช้
ขุมพลังขับเคลื่อนใหม่นี้จะสามารถรองรับกับการใช้งานทุกรูปแบบเท่าที่จะเกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้
ทั้ง 2 เครื่องยนต์ จะถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นแบบ ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือว่าจะ
เป็นระบบ ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (AWD – All Wheel Drive) ด้วยเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่ 6 จังหวะ
ที่มาพร้อมระบบ DSC – Driver Shift Control ซึ่งจะช่วยในการคำนวนความเร็วของรถยนต์ ความเร็ว
รอบเครื่องยนต์ และ แรงบิดของเครื่องยนต์ กับตำแหน่งเกียร์ปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับการใช้งาน
เช่นถ้ากำลังถอนคันเร่ง ผ่อนความเร็วของรถ เกียร์จะค่อยๆ เปลี่ยนตำแหน่งลงสู่เกียร์ต่ำสุด ไล่ตาม
ความเร็วรถที่ลดลงกันเลยทีเดียวนั่นเอง
อัตราทดเกียร์ เปรียบเทียบกันระหว่าง เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ ลูกใหม่ มีดังนี้
………………………………………6AT…………………… 5AT……….
เกียร์ 1 4.584 4.575
เกียร์ 2 2.964 2.979
เกียร์ 3 1.912 1.947
เกียร์ 4 1.446 1.318
เกียร์ 5 1.000 1.000
เกียร์ 6 0.746 –
เกียร์ R 2.943 5.024
อัตราทดเฟืองท้าย
รุ่นใหม่ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เบนซิน 3.530 ดีเซล 3.230
รุ่นเดิม เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ เบนซิน 2.606 ดีเซล 2.397
ไม่ว่าคุณจะเลือกเครื่องยนต์แบบใด Captiva ใหม่ยังคงมีระบบขับเคลื่อนให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า
และขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (All-Wheel Drive) พร้อมระบบเสริมแรงบิด Active Torque On Demand ช่วย
เสริมพละกำลังให้แก่ระบบขับเคลื่อนแบบ AWD จากการทำงานของคลัตช์แม่เหล็กไฟฟ้ากับคลัตช์แบบเปียก
ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งกำลังสู่ระบบเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า เพื่อกระจายแรงบิดที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับเพลาล้อ
คู่หน้าและคู่หลัง ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลและเสริมกำลังให้เหมาะกับสภาพการขับที่ที่แตกต่างกันออกไป
รวมทั้งยังมีระบบควบคุมความเร็วขณะลงที่ลาดชัน HDC (Hill Descent Control) ช่วยควบคุมความเร็วของรถ
ให้ลงทางลาดชันได้อย่างปลอดภัย เพียงกดปุ่ม HDC บนคอนโซล ระบบจะควบคุมความเร็วให้เหมาะสม
โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องเหยียบแป้นเบรก ตัวรถจะไหลลงทางลาดชันด้วยความเร็วคงที่ สม่ำเสมอ ไม่พุ่งพรวด
ลงไปเร็วเกินเหตุจนตกใจ
เรายังคงทำการทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งของรถยนต์ กันเหมือนเดิม โดยเราเลือกใช้ช่วงเวลากลางดึก
ปลอดภัย รถราและผู้คนน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า
และนั่ง 2 คน ผู้ช่วย และผู้จับเวลา ในรีวิวนี้ ยังคงเป็นน้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา
นั่นเอง น้ำหนักของทั้งผู้จับเวลา และผู้ขับขี่ จะมีแตะอยู่ที่ราวๆ 150 กิโลกรัม และใช้วิธีการออกรถด้วย
เกียร์ D ล้วนๆ ตามมาตรฐานอย่างเดียว ให้รอบเครื่องยนต์ลากขึ้นไปตัดที่ระดับ 4,200 – 4,300 รอบ/นาที
ไม่มีการเข้าเกียร์ บวก ลบ ช่วย แม้จะมีมาให้ และรู้ว่าจะทำให้ตัวเลขเร็วขึ้นอีกเพียงนิดเดียว จาการลาก
รอบเครื่องยนต์ให้ไปแตะที่ระดับ 4,700 รอบ/นาทีในช่วง Red Line บนมาตรวัดรอบ ก็ตาม
ผลลัพธ์ จากการจับเวลา จะเป็นอย่างไร ลองดูได้จากตารางข้างล่างนี้ครับ
เรื่องตลกมันมีอยู่ว่า นี่ขนาดเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่กันแล้ว เปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่กันแล้ว ตัวเลขอัตราเร่ง
ของ Captiva กลับดีขึ้น เพียงเศษเสี้ยววินาที เมื่อเทียบกับรุ่น 2.0 VCDi เดิม ในช่วงอัตราเร่ง 0 – 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ดีกว่าเดิมเพียงแค่ ราวๆ 0.2 – 0.4 วินาที ยิ่งอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็ยิ่งชวนให้มึนงง คือทำตัวเลขออกมาได้ดีขึ้นเพียงแค่ ราวๆ 0.5 – 0.6 วินาที เท่านั้นเอง กลับกลายเป็นว่า
งานนี้ Nissan X-Trail ยังคงครองแชมป์ Compact SUV ที่ทำตัวเลขได้ดีที่สุดในกลุ่มอยู่ต่อไป ทั้งที่แทบจะ
ปราศจากแรงดึงใดๆ จนง่วงนอนกันเลย ผิดกับ Captiva ที่ออกอาการ ลื่นปรื๊ดๆ ออกตัวฉับไว ไหลขึ้น
อย่างต่อเนื่อง แถมมีแรงดึงให้รู้ว่า “ฉันก็แรงเหมือนกันนะเธอ” แต่กลับทำตัวเลขออกมาได้ตรงกันข้าม
กับ X-Trail ไปเลย! เห็นแล้วปวดตับชะมัด!
อยากรู้ไหมครับ ทำไม ตัวเลขอัตราเร่งของ Captiva 2.0 VCDi ถึงได้ออกมาเป็นอย่างที่เห็น?
สาเหตุก็คือ ขุมพลังบล็อกนี้ กับคันเร่งไฟฟ้า ที่ใช้อยู่นั้น มีนิสัยประหลาด คาดเดาอาการได้ยาก หากไม่คิด
จะทำความคุ้นเคยกับนิสัยของรถกันเสียก่อน ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เหมือนคุณมีเจ้านายคนอารมณ์
ค่อนข้างร้าย คุณเดาแทบไม่ถูกเลยละว่า แต่ละวัน เธอจะมาใน Mode ไหน บทจะร้าย ก็เหวี่ยง วีน อาละวาด
ข้าวของกระจัดกระจายกระเด็นเป็นพัง ห้องทำงานเละเทะไปหมด แต่พอวันไหนที่คุณเตรียมตัวไปแล้วว่า
คุณคงเจอสวดยับแน่ๆ คุณอาจเจอเจ้านายคุณในภาวะ อารมณ์ดี ยิ้มแฉ่ง เข้าใจ ช่วยเหลือคุณเต็มที่ เล่นเอา
ไปไม่ถูก กลับบ้านไม่เป็น กันเลยทีเดียว
นี่ละครับ บุคลิกของ เครื่องยนต์ กับคันเร่งของ Captiva ใหม่ หากคุณพยายามจะเฆี่ยนให้รถพุ่งออกไป
อย่างรวดเร็ว ด้วยการเหยียบคันเร่งจนจมมิดทันที ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง หรือช่วงที่ใช้
ความเร็วเดินทาง คันเร่งก็จะขอเวลาอีกราวๆ 1- 2 วินาที ไม่ใช่แค่ขอเวลาคิดสักนิดนึง แต่นี่ถึงขั้นขอเวลา
หาวยาวๆ จนหนำใจแล้ว จึงค่อย ปล่อยพละกำลังที่ตนกั๊กไว้ ให้ส่งไปหมุนล้อขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ จน
ทำให้รถพุ่งพรวด! แว๊ดออกไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงเกียร์ 1 มันทำงานได้ช้ามาก คิดช้ามากๆ จนทำให้ผม
นึกถึงคันเร่งไฟฟ้าของ Volvo S80 ตัวถังปัจจุบัน รุ่นแรกๆ ล็อตแรกๆ (ล็อตหลังๆ มานี้ คันเร่งของ S80
ตอบสนองดีกว่าเดิมนิดนึง)
แต่ถ้าในขณะลอยตัว ใช้ความเร็วเดินทาง หากต้องการเร่งแซงแบบ ละมุนละไม คันเร่ง ก็จะเรียนรู้ว่า
คุณต้องการเร่งแซง คราวนี้ละ สั่งการให้คันเร่งไฟฟ้า ทำงานซะไวจนผิดหูผิดตา! แตะเบาๆ รถก็พุ่งนิดๆ
กันแล้ว ซึ่งในบางครั้ง คุณแค่ต้องการแซงรถคันที่อยู่เลนกลางขึ้นมาอย่างช้าๆ คันเร่งไฟฟ้าของ Captiva
2.0 VCDi ใหม่ ก็จะตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทันใจ ฉับไวกว่าความต้องการ! เลยไม่รู้ว่า ตกลงแล้ว คันเร่ง
ไฟฟ้า ผู้น่าปวดกบาล ต้องการจะเป็นคันเร่งแบบไหน ในชีวิตของมันกันแน่?
ถ้าจะบอกว่า ส่วนหนึ่ง มันมาจากบุคลิกของรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ Diesel พ่วง Turbo ซึ่งอาจต้องรอให้
ปริมาณไอเสียมันมากพอจะเข้าไปปั่นแกน Turbine กันเสียก่อน จึงจะอัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้
เต็มที่ เมื่อถึงรอบการทำงานของมัน ก็อาจจะใช่ แต่ผมเชื่อว่า นั่นไม่น่าใช่ทั้งหมดของปัญหา
อีกประการหนึ่งก็คือ ลักษณะการเซ็ตโปรแกรมให้กับสมองกลของเครื่องยนต์ กับเกียร์ เรื่องน่าแปลกก็คือ
ถ้าคุณเหยียบคันเร่ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง หรือกำลังเดินทางอย่างสบายๆ รอบเครื่องยนต์
ที่กำลังกวาดขึ้นไป จะถูกยั้ง เอาไว้ เมื่อถึงระดับ 3,200 รอบ/นาที นิดนึงก่อน จึงจะค่อยๆ ปล่อยเรี่ยวแรง
พาให้รถพุ่งทะยานไปข้างหน้า และเข็มวัดรอบ ก็จะกวาดขึ้นไปต่อเนื่องจนถึง 4,300 รอบ/นาที ก่อนจะตัด
เปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า คอมพิวเตอร์ จะสั่งให้มีการ หรี่ลิ้นคันเร่งไฟฟ้า
เพื่อให้เกิดความรนุ่มนวล ในการไต่รอบเครื่องยนต์ขึ้นไป แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้ว
ทำไมในช่วงเกียร์ 1 รอบเครื่องยนต์ถึงกวาดพรวดขึ้นไปแตะยังระดับ 4,300 รอบ/นาที ได้ทันทีเลยละ?
ขณะเดียวกัน ในช่วงออกตัว จนถึงขับคลานๆในเมือง ไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกียร์จะไล่ขึ้นไป
ให้คุณ เพียงแค่ เกียร์ 3 เท่านั้น และรอบเครื่องยนต์ ก็จะคาอยู่ที่ระดับประมาณ 2,000 รอบ/นาที ดังนั้น
การขับ Captiva Diesel Turbo ในเมือง จึงอาจต้องทำใจในเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันอยู่บ้าง
ว่ามีแนวโน้มที่จะกินน้ำมันในการขับขี่ ท่ามกลางสภาพการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นนิดนึง
ดังนั้น อัตราเร่งของ Captiva Diesel Turbo นั้น ผมยืนยันให้ว่า มันไม่ได้อืดอาด ตรงกันข้าม มันมีเรี่ยว
มีแรงใช้ได้เลยทีเดียว พละกำลังตอนนี้ เหมาะสมกับตัวรถ ที่มีน้ำหนักตัว 1.986 กิโลกรัม (ถ้ารวมน้ำหนัก
บรรทุกทั้งผู้โดยสาร สัมภาระ และของเหลวในระบบทั้งหมดเข้าไปด้วยแล้ว จะหนัก 2,540 กิโลกรัม)
เพียงแต่ว่า คุณควรจะทำความคุ้นเคยกับนิสัยของเครื่องยนต์ กับคันเร่งไฟฟ้า ในลักษณะเดียวกับที่คุณ
พยายามจะเรียนรู้นิสัย เจ้านายอารมณ์ร้ายของคุณ นั่นแหละครับ
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ทำได้ค่อนข้างดีมากๆ บรรยากาศในห้องโดยสาร จะเงียบในระดับกำลังดี
คุยกันได้สบายๆ ไม่ต้องเพิ่มเสียงพูดของคุณ นั่นเป็นผลมาจาการปรับปรุงวัสดุซับเสียงในห้องโดยสาร
เพื่อช่วยให้การเดินทาง เงียบสงบ ลดเสียงรบกวนลง ในช่วงความเร็วต่ำ จนถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่
หากเกินจากนี้ไป เสียงกระแสลม จากกระจกมองข้าง จะเป็นเสียงแรกที่เล็ดนอดเข้ามาให้ได้ยิน และ
ตามด้วยเสียงลมที่ไหลผ่านตัวถัง ซึ่งจะดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้น
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ถูกปรับตั้งใหม่ จากเดิมที่เคย
มีน้ำหนักเบาหวิวเกินไปในรุ่นเบนซิน และหนืดมือ กำลังดีในรุ่น Diesel Turbo คราวนี้ รถรุ่นใหม่
ทำเอาผมนึกถึงพวงมาลัยของทั้ง Honda Accord G7 ( 2002 – 2007 ) และ Toyota บางรุ่น ขึ้นมาทันที
จนบางจังหวะ ต้องถามตัวเองให้ดีว่า ตกลงแล้ว ไอ้เจ้ารถที่กำลังขับอยู่เนี่ย แน่ใจนะว่ามันคือรถยนต์
Chevrolet?
เพราะคราวนี้ พวงมาลัย ให้การตอบสนองกำลังดีในย่านความเร็วต่ำ ขับในเมือง วนหาที่จอด ใช้มือ
ข้างเดียวหมุนพวงมาลัยได้สบายๆ เหมือนรถญี่ปุ่น ทั้ง 2 รุ่นที่เอ่ยถึงทิ้งไว้ในย่อหน้าข้างบน เป๊ะ!
เพราะน้ำหนักพวงมาลัย เบาสบาย คล่องแคล่ว เรียกว่า น่าจะปรับแต่งอัตราทด กับความหนืดมาน้อยๆ
เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มสุภาพสตรี ที่มักไม่ค่อยชอบพวงมาลัยในแนวหนืดและหนัก
ขณะเดินทางไกล บนทางด่วน หรือถนนวงแหวน ที่ใช้ความเร็วสูงได้ พวงมาลัยค่อนข้างนิ่ง และ
พารถมุ่งหน้าไปตรงๆ ไม่มีอาการอะไรชวนให้หวาดเสียว On Center Feeling ดี ไม่วอกแวกไป
ตามสภาพพื้นผิวถนนเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ระยะฟรีในช่วงความเร็วสูงยังมีให้สัมผัสชัดเจน อยู่ในระยะที่ใกล้เคียงกับ Chevrolet
Colorado อยู่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าสามารถปรับให้พวงมาลัย หนืดกว่านี้ อีกเพียงนิ้ดดด เดียว และถ้า
จะลดระยะฟรีในช่วงความเร็วสูงของพวงมาลัยลงอีกนิด ทุกอย่างจะ Perfect สำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป
ที่เท้าขวาจะหนักกว่าปกติ (เพราะชอบเหยียบคันเร่งจมมิดติดพื้นรถ)
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลัง เป็นแบบอิสระ Multi-Link 4 จุดยึด
ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งการเปลี่ยนมาใช้เหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ขึ้น ปรับตั้งช็อกอัพและเปลี่ยน
มาใช้สปริงชุดใหม่ รวมถึงการติดตั้งระบบลิงค์ไฮโดรลิกที่ช่วงล่างด้านหลังเพื่อลดแรงสั่นสะเทือน
นอกจากนี้ยังมี ระบบช่วงล่างยกตัวอัตโนมัติ (Self-Levelizer) ที่จะช่วยปรับระดับของช่วงล่างให้อยู่ใน
ระนาบเดียวกัน เช่น เมื่อมีการบรรทุกสัมภาระที่ด้านท้ายรถ น้ำหนักที่ถ่วงท้ายก็จะทำให้หน้ารถเชิดขึ้น
แต่กลไกของระบบ Self-Levelizer จะปรับระดับของช่วงล่างด้านหลังให้ยกสูงขึ้น เพื่อให้ระดับของ
ด้านหน้ารถกับด้านหลังอยู่ในแนวขนานกับพื้นถนนเท่ากัน ซึ่งทำให้ไม่เกิดอาการหน้าเชิด ช่วยให้
ควบคุมรถได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น
การปรับปรุงทั้งหมด ส่งผลให้บุคลิกของระบบกันสะเทือนใน Captiva Minorchange เปลี่ยนไปในทาง
ที่ดีขึ้น เพราะมาคราวนี้ อาการกระด้างที่มากกว่า Honda CR-V รุ่นปัจจุบัน (ขายถึงปี 2012) มันหายไป
เรียบร้อยแล้ว แถมคราวนี้ บุคลิกของช่วงล่าง มาแปลกครับคุณผู้อ่าน มันให้สัมผัสที่คล้ายคลึงกับช่วงล่าง
ของ Toyota Camry คือ ถ้าคุณขับคลานๆในตรอกซอกซอย จะพบความนุ่มแน่นกำลังดี อันส่งผลมาจาก
น้ำหนักของตัวถังที่ค่อนข้างหนัก กดทับลงไปบนระบบกันสะเทือนที่แน่นหนา กระนั้นถ้าต้องรีบทำเวลา
หากคิดจะขับผ่านเนินกระโดด หรือลูกระนาดเตี้ยๆ ด้วยความเร็ว 20 – 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณก็สามารถ
ขับรูดไปได้เลย โดยระบบกันสะเทือน ก็อาจจะทำงานไม่ถึงกับครบวงจรของมันเต็มที่ และเมื่อผสานกับ
น้ำหนักพวงมาลัยที่ปรับแต่งมาใหม่แบบนี้ ก็ยิ่งทำให้การควบคุมรถในเมือง คล่องตัวกว่าที่เคยเป็น ทั้งที่
ตัวรถก็หนัก แต่พวงมาลัยเบากำลังดี บวกกับช่วงล่างพร้อมรองรับการรูดปรื๊ดๆ ก็ยิ่งกลายเป็นบุคลิกที่ผม
เชื่อว่า ใครที่คุ้นเคยกับการขับรถยนต์ Toyota หลายๆรุ่นในเมืองไทย น่าจะชื่นชอบช่วงล่างปรับเซ็ตใหม่
ของ Captiva Minorchange อยู่ไม่น้อย
แถมการทรงตัวในย่านความเร็วสูงก็ถือว่าใช้การได้ดี นอกจากได้ตัวถังที่ค่อนข้างหนักมาช่วยแล้ว การ
ออกแบบกระจังหน้าในลักษณะที่ Captiva ใหม่เป็นอยู่นั้น จะช่วยในเรื่องของแรงกด หรือ Down Force
อันเป็นแรงกดของกระแสลมขณะไหลผ่านด้านหน้าของรถไปด้วย ซึ่งแม้ดูเหมือนว่าจะทำให้รถต้านลม
แต่ในขณะเดียวกัน กลับช่วยให้ด้านหน้าของรถ ยังคงถูกกระแสลมช่วยกดอยู่ อย่างดี ซึ่งประเด็นนี้ คุณ
จะเห็นผลได้ ขณะขับรถยนต์ บนทางยกระดับ บูรพาวิถี ยามบ่าย ซึ่งมีลมแรง โดยง่ายดาย ผมยังคงใช้
ความเร็วระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในบางช่วงเสียด้วยซ้ำ
ส่วนการเข้าโค้งนั้น อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป ที่ถือว่าทำได้ดี ช่วงทางโค้งบนทางด่วน หลายๆโค้ง ผมพารถ
พุ่งเข้าโค้งไปนิ่งๆ ด้วยความเร็ว 80 -90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ถ้าคุณมุ่งหน้ามาจาก
ทางด่วนแจ้งวัฒนะ จะไปดินแดง แค่พารถพุ่งมายังโค้งขวา ซึ่งมีทางลาดลงต่อเนื่อง โค้งนั้น ผมพา เจ้า
Captiva ใส่เข้าไปในความเร็ว 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อยู่ พอถึงสุดทางโค้ง ก็จะเป็นทางเชื่อมไปบรรจบ
กับทางแยกตัว Y ซ้ายไปบางนา (โค้งนี้ เข้าต่อเนื่องเต็มที่สุด อย่าเกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ส่วนโค้งขวา
ไปดินแดง (โค้งนี้ เข้าที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เร่งส่งในโค้งจนถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้) ตัวรถก็ยัง
แสดงออกถึงบุคลิกเป็นกลาง เพียงแต่ถ้าเพิ่มคันเร่งส่งมากขึ้นอีกนิด ท้ายจะเริ่มออกนิดๆ แต่ว่าเข้าโค้ง
ได้หนึบแน่น มั่นใจใช้ได้ (ถ้าไม่ลืมว่านี่คือรถยนต์ SUV ที่มีจุดศูนย์ถ่วงค่อนข้างสูงกว่ารถทั่วไป คุณจะ
พบว่า ตัวถังจะเอียงมากกว่ารถเก๋งทั่วไป และอาการเอียงที่ว่า ผมว่า มากกว่า Chevrolet Colorado ใหม่
ที่ความเร็วเดียวกันตอนเข้าโค้งทั้ง 3 แห่งดังกล่าว นิดนึง )
ระบบห้ามล้อยังคงเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อแบบมีครีบระบายความร้อนที่เบรกคู่หน้า พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก
(ABS – Anti Lock Brake System) ระบบเสริมแรงเบรกแบบไฮโดรลิก HBA (Hydraulic Brake Assist)
ระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ EBD (Electronics Brake Force Distributor) รวมทั้ง ยังมีระบบป้องกัน
ล้อหมุนฟรี (Traction Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program)
ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ หากเข้าโค้งมากไป จนตัวรถเอียงมากเกินเหตุ (ARP – Anti-Roll Protection)
การตอบสนองของแป้นเบรก หน่วงความเร็วได้ดี อาจต้องเหยียบแป้นเบรก (ซึ่งจะตอบสนองในช่วงสัมผัสแรก
ค่อนข้างหยุ่นๆเท้าสักหน่อย) ลงไปให้ลึกพอประมาณ จึงจะเริ่มสัมผัสได้ถึงการหน่วงความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น
เหยียบเบรกให้ชะลอรถอย่างนุ่มนวล ทำได้สบายๆ ไม่ยากเย็น พูดกันตรงๆก็คือ ผมกลับมองว่าการตอบสนอง
ของแป้นเบรกใน Chevrolet Colorado (ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม แบบรถกระบะ) ดีกว่า Captiva นิดหน่อย
ตรงที่แป้นเบรกแข็งกว่านิดนึง และตอบสนองได้ Linear ต่อเนื่องกว่ากันชัดเจน ในทุกจังหวะที่เหยียบเบรก
ที่สำคัญ อยากบอกว่า ระบบ ABS ทำงาน “ไวมาก” มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมเห็นรถคันข้างหน้าเบรกชะลอรถจนหยุดนิ่ง
เร็วกว่าปกติ ผมแค่แตะแป้นเบรกลงไปไวกว่าปกติ ตามสัญชาตญาณ เท่านั้นละครับ ระบบตัวช่วยทั้ง ABS HBA
และ EBD ก็ทำงานอย่างรวดเร็ว จนแป้นเบรกสัมผัสได้ถึงอาการ “ตรึกๆๆๆๆ” อันเป็นปกติวิสัยของรถยนต์ที่
ติดตั้งระบบ ABS โชคดีที่รถคันข้างหน้า เคลื่อนตัวออกไปแล้ว ผมจึงถอนเท้า และระบบก็ยกเลิกการทำงานได้
ค่อนข้างเร็วดี
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เรายังคงทำการทดลองกันด้วยวิธีการเดิม เพียงแต่ตัดสินใจเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ เพื่อความสะดวก โดยคราวนี้
เรา นำรถมาเติมน้ำมัน Diesel ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ขาเข้า ฝั่งตรงข้ามและเยื้อง
ซอยอารีย์ ไปนิดหน่อย บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์
ในรถยนต์ปรเะเภท SUV นั้น แม้ว่าลูกค้าจะเป็นห่วงเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ความกังวลนั้น จะยัง
ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กกว่า หรือกลุ่มรถกระบะ ดังนั้น เราจึงทดลองอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงกัน โดยไม่เขย่ารถ ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานเดิม ที่เราเคยทำมา กับรถยนต์ประเภทนี้ทุกคัน
เติมน้ำมันกันแค่ หัวจ่ายตัด แล้วไม่ต้องเติมเพิ่ม
สักขีพยานของเรา ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD แห่ง The Coup Team เจ้าเก่า ที่มาช่วยผมทำการทดลอง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ตลอดมาในระยะหลังๆนี้ นั่นเอง
จากนั้น เราเซ็ต 0 บน Trip Meter รวมทั้ง Trip Information ของตัวรถจากหน้าจอมอนิเตอร์ใหญ่ คาดเข็มขัด
นิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ แล้วออกรถจากสถานีบริการน้ำมัน มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับยังบริเวณ
ปากซอยอารีสัมพันธ์ มุ่งหน้าไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปตามตรอกเล็กซอยน้อย มายังโรงเรียนเรวดี
เลี้ยวลัดเลาะมายังถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยังปลายสุดสายทางด่วนอุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน
แล้วเลี้ยวกลับมาย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม ตามมาตรฐานเดิม คือใช้ความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
เราลองใช้ Application GPS บนโทรศัพท์มือถือของ น้องโจ๊ก วัดความเร็วกันเล่นๆ ปรากฎว่า Captiva 2.0 VCDi
ใหม่ กลายเป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง ที่เข็มความเร็วไม่เพี้ยนเลย เข็มชี้ที่ 110กิดลเมตร/ชั่วโมง GPS ก็แสดงความเร็ว
ออกมาเท่ากันพอดีเป๊ะ!
เราลงทางด่วนกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน มุ่งหน้ามาเลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู ตรงสถานีรภไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายกลับเข้าไปยังสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติม
น้ำมัน Diesel ให้เต็มถังอีกครั้งหนึ่ง และแค่เพียงหัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนเดิม
มาดูตัวเลขกันดีกว่า มาตรวัดระยะทางบอกตัวเลขที่แล่นไปทั้งหมด 92.5 กิโลเมตร
ตัวเลขใน ชุดหน้าจอ Trip Information แสดงตัวเลขออกมาอย่างที่เห็น คือใช้ความเร็วเแลี่ย 79 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(เมื่อวัดรวมเวลาที่เราใช้ในการเดินทางทั้งหมด 1 ชั่วโมง 10 นาที) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ระบบคอมพิวเตอร์
ในรถวัดได้คือ 8.2 ลิตร / 100 กิโลเมตร และเหลือระยะทางให้น้ำมันในถัง พารถแล่นต่อไปได้อีก 560 กิโลเมตร
และเมื่อเติมน้ำมันกลับเข้าไปในถังจนหัวจ่ายตัด ตัวเลขขึ้นมาที่ 7.43 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.44 กิโลเมตร/ลิตร
ผมกับโจ๊ก มองหน้ากันว่า ตัวเลขนี้ มันใช่แน่แล้วหรือ? ที่เราลองขับกันอยู่นี่ เครื่องยนต์ Diesel Turbo
แล้วใช่ไหมเนี่ย? ทำไมตัวเลขมันช่างไม่ได้แตกต่างอะไรจาก SUV เครื่องยนต์ เบนซิน คันอื่นๆ ใน
ท้องตลาดเขาเลยละเนี่ย
แต่พอมาดูตัวเลขเปรียบเทียบ ที่ผมเคยทำการทดลองเอาไว้ ก็พอจะเข้าใจแล้วละ สรุปได้ว่า เครื่องยนต์
และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหว ลูกใหม่ จะช่วยเพิ่มความประหยัดจาก Captiva รุ่นเดิม ประมาณ 1.3 – 1.4
กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งแม้จะถือว่า เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่เรียนตามตรงว่า ผมยังไม่พอใจเท่าไหร่ หาก
มองเทียบกับขุมพลัง Diesel Turbo จากฝั่งยุโรป รายอื่นๆ ที่ทำตัวเลขความประหยัดแซงหน้าไปได้
ดีกว่านี้อีกมากโขแล้ว
อีกทั้งเมื่อลองจับตัวเลข ในรูปแบบที่ผมขับใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ค่อยเจอรถติด และ
ใช้งานบนทางด่วนเป็นหลัก ใช้ความเร็วตั้งแต่ 80 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามแต่จังหวะ ผลก็คือ
น้ำมัน 1 ถัง แล่นมาจะครบ 500 กิโลเมตรแล้ว เข็มน้ำมันเริ่มเข้าเขตขีดแดงบ้างแล้ว แต่ยังไม่มี
การส่งสัญญาณไฟเตือนให้เติมน้ำมันให้สว่างติดขึ้นมาบนมาตรวัดความเร็วแต่อย่างใด นั่นน่าจะ
หมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง สามารถพาคุณแล่นไปได้ราวๆ 560 กิโลเมตร โดยประมาณ
สรุปว่า ประหยัดขึ้นกว่ารุ่นเดิม “จริง” (แต่ควรจะทำได้ดีกว่านี้)
********** สรุป **********
แก้คันเร่ง แก้พนักศีรษะ แก้บริการหลังการขาย แก้ 3 อย่างนี้ได้ จะยิ่งขายดีกว่านี้อีก
ผมคืนกุญแจกับทาง น้องนัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ GM / Chevrolet ไปอย่างเรียบง่าย
ไม่มีอะไรวุ่นวาย และไม่ได้รู้สึกติดใจกับ Captiva VCDi เป็นพิเศษเกินกว่ารถยนต์คันอื่นๆในค่ายนี้
หรือค่ายไหน แต่อย่างใด ทั้งสิ้น
เปล่าเลย ไม่ใช่ว่ารถเขาจะไม่ดี ตรงกันข้าม วันนี้ GM พยายามปรับปรุง Captiva Minorchange ให้
ออกมาดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำกันได้แล้ว รถรุ่นใหม่ นอกจากจะขับได้คล่องแคล่วขึ้น และมีระบบ
กันสะเทือน ที่น่าจะถูกใจ คนที่ชื่นชอบ Toyota รุ่นกลางๆ แล้ว ยังมีสารพัดอุปกรณ์ประจำรถมาให้
ชนิดที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกันเสียอีก
นอกจากนี้แล้ว Captiva ใหม่ ยังประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่าเดิม ราวๆ 1.5 กิโลเมตร/ลิตร และนั่นก็
หมายความว่า ถ้าคุณไม่ได้เหยียบคันเร่งตะบี้ตะบันห้อตะบึง ยังไงๆ น้ำมัน 1 ถัง ก็พาคุณแล่นไปได้
ราวๆ 550 กิโลเมตรอย่างสบายๆ แน่นอน ยิ่งถ้ามองว่า ถังน้ำมันของรถมีขนาด 65 ลิตร ผมก็มองว่า
ได้แค่นี้ ก็ดีเหลือแหล่แล้วละครับ สำหรับเครื่องยนต์จาก Chevrolet ที่ยังต้องมีพัฒนาการกันต่อไป
มากกว่านี้อีก หากคิดจะเทียบกับเครื่องยนต์ 4 สูบ ของยุโรป อย่าง VW Mercedes-Benz PSA Group
ฉะนั้นแล้ว เราก็จะเหลืออยู่เพียง ไม่กี่ประเด็นเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้ Captiva สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ประการแรก : แก้เสียทีเถอะครับ คันเร่งไฟฟ้า อารมณ์ติสต์แตก เนี่ย! รุ่นที่แล้วก็เป็นแบบนี้ รุ่นนี้
ก็ยังคงมาในสไตล์เดียวกันเลยเถอะ!
เพราะผมยังมองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย หากการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ ซึ่งมีเรี่ยวแรงเพิ่มมากขึ้น
กว่าเดิมอย่างชัดเจนขนาดนี้ กลับจะต้องมาถูกกักกันสมรรถนะเอาไว้ในบางช่วงขณะ เพียงแค่ว่า
ตัวเครื่องยนต์เอง กับคันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองตามใจตัวเองมากไปหน่อย นึกอยากจะอยู่นิ่งๆ ก็ดัน
ทิ้งช่วงไว้ถึงเกือบ 1.5 วินาที จึงจะยอมปล่อยให้มีการสั่งจ่ายเชื้อเพลิงเข้าไปในเครื่องยนต์ ซึ่งอาจ
ทำให้จังหวะเวลาที่จะต้องออกรถ ให้รอดพ้นจากสถานการณ์คับขัน กลับต้องมามีความเสี่ยงใน
เรื่องไม่เป็นเรื่อง เยี่ยงนี้
แต่ถ้าคุณใช้ความเร็วในรอบเครื่องยนต์ ที่เป็นช่วงซึ่งแรงบิดสูงสุด กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่พอดี
เช่นกำลังแล่นอยู่ที่ความเร็ว 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่จะเร่งแซง เจ้าคันเร่งไฟฟ้า ก็จะใจดี
เอาใจ ฉอเลาะคุณ ด้วยการยอมปล่อยให้เชื้อเพลิงไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ในทันที เพียงไม่ถึงชั่ว
เสี้ยววินาที ที่แตะคันเร่งอย่างแผ่วเบา
สรุปแล้ว Captiva Diesel เอ๋ย เจ๊จะทำตัวแบบไหน เจ๊ก็ช่วยเลือกมาสักอย่างทีเถอะ !!
ประการต่อมา ก็คงจะเป็นพนักศีรษะ ที่ยังคงจะดันต้นคอกันต่อไปอย่างไม่ลดละ เล่นเอาปวดช่วง
ต้นคอ กับหัวไหล่ในแทบทุกวันที่ขับกันเลยทีเดียว ขนาดว่า ปรับตำแหน่งเบาะให้อยู่ในระดับ
ที่ผมกับพนักพิงเวรตะไลนี่ พอจะอยู่ร่วมโลกกันได้แล้วนะเนี่ย ก็ยังอุตส่าห์ มิวาย เกิดอาการ
ปวดอีกจนได้ เฮ้อ…ตกลงว่า ฉันแก่เกินไปจะขับรถคันนี้หรือเปล่าหว่า?
จากนั้น ก็ช่วยปรับความหนืดของพวงมาลัย ขณะขับขี่ในย่านความเร็วสูงอีกนิด ก็จะช่วยให้สาวๆ
นักมุดประจำทางด่วนทั้งหลาย คงจะมีความสุขยิ่งขึ้น ในการขับ Captiva
นอกนั้น ก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ จิ๊บจ๊อย ต้อยตีวิด ที่พอจะคิดหาหนทางปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ
กันได้อยู่ อย่างไม่ถึงกับต้องรีบร้อนนัก ไว้รอปรับโฉมงวดหน้า ค่อยแก้ไขก็ยังได้ ไม่สายเกินไป
คู่แข่งในกลุ่มเดียวกันกับ Captiva เป็นอย่างไรบ้าง?
มองกันที่คู่ปรับโดยตรง ตามตำราการตลาดของรถยนต์ประเภทเดียวกันนี้ก่อน นั่นคือกลุ่มที่เรียกว่า
Crossover SUV
Honda CR-V ตอนนี้ ทำใจได้เลยว่า คงต้องรอรุ่นใหม่ เปลี่ยนโฉม Full Model Change สถานเดียว
เพราะถ้าจะรอรุ่นปัจจุบัน สงสัยว่า เมื่อโรงงาน Honda ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา
ฟื้นกลับมาได้ ผมว่า พวกเขาคงจะต้องเตรียมสายการผลิตของรถรุ่นใหม่กันทันที แต่ไม่ต้องเป็นห่วง
เท่าที่ไปลองนั่งเล่นๆ มาแล้วใน Tokyo Motor Show สิ่งที่ผมมองว่า รุ่นใหม่ ต่างจากรุ่นเก่า ก็เพียงแค่
รูปลักษณ์ทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลือ แม้แต่ตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ กับคนนั่ง ยังเหมือนกันเปี๊ยบ ราวกับ
แกะจากแม่พิมพ์เดียวกันเลยเถอะ!
Nissan X-Trail ต่อให้เพิ่มออพชันมาจนเริ่มดูคุ้มค่าในสายตาของผู้บริโภค แค่ก็ยังไม่ถึงที่สุด จริงอยู่ว่า
ยังไงๆ อัตราเร่งก็ไวกว่า Captiva VCDi แน่นอน แต่อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น ก็ด้อยกว่า Captiva เห็นๆ
หรือถ้าจะรอรุ่นใหม่ กว่าจะมาถึงบ้านเรา ก็อาจมีปี 2014 กันเป็นอย่างเร็วที่สุด
Ford Escape นี่ก็ใกล้ตกรุ่นแล้ว รุ่นเดิม ไม่เหลือความน่าซื้ออีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่ใช่คนที่รัก และฝัน
อยากได้จริงๆ มองข้ามไปหารุ่นอื่นจะดีกว่า หรือไม่ก็รอรุ่นใหม่ ซึ่งกว่าจะมาถึงเมืงไทยเร็วสุด ก็
คงจะราวๆ ปี 2013 -2014
Mazda CX-5 จับตามองน้องนุชสุดท้องของ Mazda คันนี้ให้ดีๆ ขุมพลัง SkyActive จะมาพบปะกับ
พ่อแม่พี่น้องชาวไทยกันในปี 2013 เป็นอย่างเร็วที่สุด ตามด้วยรุ่น Diesel ซึ่งงานนี้ Captiva เอง ก็ต้อง
ระวังตัวไว้ด้วยเหมือนกัน
Skoda Yeti ไม่อยากให้พลาดรถคันนี้ด้วยประการทั้งปวง เครื่อง 1.2 ลิตร Turbo แต่พุ่งแรง เท่ากับ
รถเก๋งเครื่อง 1.6 – 1.8 ลิตร เพียงแต่ว่า นั่งได้แค่ 5 คน ขณะที่ Captiva นั่งได้ 7 คน แถมชื่อชั้นใน
ตลาดตอนนี้ ยังไม่แกร่งพอเมื่อเทียบกับ Chevrolet ซึ่งคงต้องใช้เวลากันอีกสักพัก
แต่ ถ้าต้องนับรวมคู่แข้่งในกลุ่ม SUV ที่ใช้พื้นฐานจากรถกระบะ หรือ SUV / PPV ด้วยแล้ว งานนี้
Captiva เอง ก็มีทั้งได้เปรียบ เสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ยังพอฟัดเหวี่ยงกับพวกพี่ๆรุ่นถึก เขาได้อยู่
Toyota Fortuner คงไม่ต้องให้บรรยายสรรพคุณกันอีก รุ่นปรับโฉม Minorchange มา แก้ไขเรื่อง
เบรกจนดีขึ้น แต่การตอบสนองของพวงมาลัย ก็ยังไม่ถึงกับดีไปกว่ารุ่นเดิมเลย แล่นในความเร็วสูง
ยังถือว่า แอบน่ากลัว แต่ถ้าสนใจแต่ความแรง ก็คงต้องเป็นเจ้าหมอนี่ละครับ มิเช่นนั้นคงไม่ได้รับ
สมญานาม Fortuner บ้าพลัง จากบรรดาเพื่อนผู้ร่วมใช้เส้นทางกันเป็นแน่แท้
Mitsubishi Pajero Sport คราวนี้ แรงกว่า และขับดีกว่า Fortuner ในภาพรวมแล้ว เสียอย่างเดียว
กินน้ำมันกว่า Captiva VCDi อยู่นิดหน่อย ถือว่าเป็น SUV / PPV ที่ดีที่สุดในตลาด หากนับแค่
ก่อนการมาถึงของ Chevrolet Trailblazer
Ford Everest เชย และล้าสมัยไปแล้ว เตรียมพบรุ่นใหม่ได้ในปีสองปีนี้ แต่คุณงามความดีที่ยัง
ทำให้ผมนึกถึงได้อยู่คือ ความคล่องตัวขณะมุดในเมือง มันอาจไม่เท่า Captiva แต่ แรงบิดใน
ช่วงกลางๆ ก็ช่วยคุณให้สนุกในการมุดแทรกตัวไปตามการจราจรติดขัดในเมืองได้แล้วกัน
กระนั้น คุณงามความดีข้อนี้ Captiva ก็ยังมีให้คุณได้มากกว่า ถ้าไม่ติดตรงที่คันเร่งไฟฟ้า นิสัย
ติสต์แตกจะทำให้คุณปวดกบาลละก็…
Isuzu MU-7 ขอไม่วิจารณ์ เพราะไม่เคยสัมผัสอย่างจริงจัง เสียดายเหมือนกัน แต่ถ้าจะซื้อ
สบายใจได้ เพราะกว่าจะตกรุ่น โน่นครับ 2014 แน่ๆ
ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าอยากเดินเข้าโชว์รูม Chevrolet แล้ว Captiva รุ่นไหนจึงถือว่า คุ้มค่าที่สุด?
การเลือกซื้อ Captiva อาจยากต่อการตัดสินใจ เพราะรุ่นย่อยที่มีมาให้เลือกนั้น มากถึง 7 รุ่นย่อย
ขนาดผมเอง ยังนั่งกางโบรชัวร์แล้ว ต้องถามกันดีๆว่า ความแตกต่างของแต่ละรุ่นย่อย มันก็ไมได้
มากมายนัก แต่ค่าตัวที่ต่างกัน นั่นก็ทำให้หลายๆคนคิดหนักได้
2.4 LS 1,198,000 บาท
2.4 LSX 1,282,000 บาท
2.4 LT 1,507,000 บาท
2.4 LTZ 1,595,000 บาท
2.0 VCDi LSX 1,395,000 บาท
2.0 VCDi LT 1,620,000 บาท
2.0 VCDi LTZ 1,699,000 บาท
แต่เมื่อมานั่งพิจารณาค่าตัวแล้ว คุณจำเป็นต้องตอบคำถามเพิ่มเติมว่า รถคันใหม่คันนี้ คุณจะ
เอาไปใช้งานแบบไหน และอย่างไร? เพราะนั่นละ คือตัวตัดสินที่ดีที่สุด ว่า รุ่นย่อยไหน จะ
เหมาะกับการใช้งานของคุณ
ถ้าคิดว่า อนาคต อยากจะนำไปติดตั้งระบบก๊าซ หรือเน้นความประหยัดในชีวิตเป็นหลัก แต่
ยังยืนยันว่าอยากได้ Captiva จริงๆ และต้องการอุปกรณ์ที่ไม่น้อยหน้าใครเขา ดูรุ่นเครื่องยนต์
เบนซิน 2.4 ลิตร ขับเคลื่อนล้อหน้า LSX เอาไว้ได้เลย เพราะอุปกรณ์ที่ให้มา ก็ไม่ด้อยไปกว่า
รุ่น LT มากมายนัก
ขณะเดียวกัน ถ้าอยากได้เครื่องยนต์ Diesel Turbo และคิดว่า ขับใช้งานในเมืองเป็นหลัก วิ่งออก
ต่างจังหวัดบ้างนิดหน่อย ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเลย ดูรุ่น Diesel Turbo LSX
ขับเคลื่อนล้อหน้า 1,395,000 บาท ก็เพียงพอแล้ว
แต่ถ้าใครอยากได้รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เผื่อไว้ลุยทางลูกรังบ้างนิดๆหน่อย ในเรือกสวนไร่นาที่
ปากช่อง เขาใหญ่ หรือไว้รับแขกเหรื่อ VIP มองรุ่น 2.0 VCDi LT เอาไว้ก็เพียงพอแล้ว ถ้ายัง
ตัดใจจากระบบนำทางไม่ลง ก็คงต้องบอกว่า ไปหาเครื่องนำทาง Garmin หรือ Nuvi ราคาราวๆ
ไม่กี่พันบาท มาใช้งานควบคู่กันไปด้วย ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่น LTZ แต่อย่างใด
รุ่น 2.0 VCDi LT นี้แหละ ที่ผมมองว่า คุ้มค่าที่สุด ในบรรดา Captiva Minorchange ทุกรุ่น
เว้นเสียแต่ว่า เงินเหลือ หรือคิดว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ส่วนต่างค่าตัวเพียงแค่ 70,000 บาท ไม่ใช่
ปัญหาใหญ่นัก รุ่น 2.0 VCDi LTZ ก็เป็นอีกคำตอบที่พอจะยอมรับได้
ไม่ว่าคุณจะมีคำตอบให้กับตัวเองอย่างไร ก็คงต้องทำใจกันเอาไว้ว่า คุณอาจต้องเจอเรื่องศูนย์บริการ
หรือพนักงานขาย ในบางโชว์รูม ที่ทำตัวชนิดที่ว่า น่าจะมอบเปลือกทุเรียนหมอนทองไปแปะไว้บน
ใบหน้ากันจริงๆ ไม่เช่นนั้น ก็อาจเป็น Call Center และ ลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งขึ้นชื่อ มาพอสมควรในอดีต
ว่าบริการหรือดูแลลูกค้าได้ น่าปวดตับ ขั้นเทพ แต่หลังๆมานี้ คิดว่า พวกเขาน่าจะอยู่ในระหว่างปรับปรุง
ให้ดีขึ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นได้จริงหรือไม่
คงต้องให้คุณผู้อ่านนั่นละครับ มาช่วยผมตัดสิน….
——————————-///——————————–
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทยทั้งหมด เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
30 มกราคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 30rd,2012
Comments are Welcome! Click here / แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่