“จิมมี่ เมื่อไหร่ รีวิว Lancer EX จะคลอดเสียที ? “
 

ประโยคคำถามนี้ เริ่มหลุดรอดเข้ามาให้ผมได้ยินเป็นครั้งแรก ก็เมื่อครั้งที่ บทความ Exclusive First Impression
Mitsubishi Lancer EX รายแรกในเมืองไทย ถูกนำเสนอผ่าน Headlightmag.com ของเราไปได้ไม่กี่วัน และนั่น
ก็เมื่อ 5 ตุลาคม 2009…
 

จากนั้น เข็มนาฬิกาก็ทำหน้าที่ไปตามปกติประสาของมัน ตอนนี้ก็ ครบ 1 ปีแล้ว ที่รถรุ่นนี้
ออกสู่ตลาดในเมืองไทย ผมก็ยังคงได้ยินคำถามนี้ อยู่เรื่อยๆ เหมือนเดิม

และเสียงเรียกร้องนี้ ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ และเรื่อยๆ

ไม่ใช่แค่คุณผู้อ่าน หากแต่ยังรวมถึง คนของ Mitsubishi เอเจนซีที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่ค่ายรถยี่ห้ออื่นก็ถามมาด้วย!!
 

ถ้าจะบอกว่า ผมนิ่งเฉย ไม่ทำงาน อู้ ก็คงจะไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านี้ Full Review ของ Lancer EX
ที่คุณกำลังนั่งอ่านกันอยู่ตอนนี้ ก็ถูกเตรียมการไปจนครบกระบวนการ หมดสิ้นแล้ว

อันที่จริง เรื่องการติดต่อยืมรถมาทดลองขับกันนั้น เกิดขึ้นในช่วง ราวๆ เดือนมกราคม ที่เราจะจัดทริป
Headlightmag Trip ในวาระ ครบรอบ 1 ปี ของ Headlightmag.com เรานั่นแหละ

ด้วยเหตุที่ ตอนนั้น Headlightmag.com ของเรา กำลังจะครบรอบ 1 ขวบปี
เราก็อยากมีกิจกรรม ร่วมกันกับคุณผู้อ่านสักหน่อย เพื่อเป็นการขอบคุณ
ที่อุตส่าห์หลงกล มาเป็นเหยื่อ เอ้ย…เป็นคุณผู้อ่านที่แสนดีของเว็บเรา
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

มองหน้าไปหาใคร ก็ยังนึกไม่ออก ว่าจะเริ่มอย่างไรดี มองไปมองมา
สายตาก็มาโป๊ะเข้าให้กับพี่แตน พีอาร์สาว พราวเสน่ห์ (ลูกสอง) ของ
Mitsubishi นี่แหละ เล่าให้ฟังคร่าวๆ พี่แตนก็บอกว่า “มาเลย มาเลย
ชวนคุณผู้อ่านมาลองขับ Lancer EX ของพี่เลยสิ มากันเยอะๆเลย”

ก็เลยได้คุยกันมาเรื่อยๆ จนวางแผน และ นัดประชุมกัน ในบ่ายวันหนึ่ง ที่สำนักงานใหญ่ทุ่งรังสิต
โดยไม่ได้คาดคิดว่า เย็นวันนั้น ทาง พี่แตน จะยื่นกุญแจรถรุ่น 2.0 GT ให้ผมขับ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ในเมื่อ J!MMY จะพาคนอ่าน มาลองขับรถของเรา ดังนั้น J!MMY ก็ควรจะรู้จัก บุคลิกของรถ
กันให้มากกว่าที่เคยลองขับในสนามบินดอนเมือง ช่วงเปิดตัวตอนนั้น แล้วเสียก่อน”

ถูกของพี่แตนแหะ ไหนๆก็ไหนๆ ก็รีบเอามาทดลอง และเก็บข้อมูล เตรียมไว้ทำ Full Review
ด้วยเลยแล้วกัน ยิงนกนัดเดียว ได้นกกลับมาเป็นฝูงเลย แถมยังได้ไข้หวัดนกติดกลับมาอีก
ต่างหาก…ฮ้าดดด เช้ยยยย!

เย็นวันนั้น ผมก็เลยทิ้ง Honda City ของตัวเอง เอาไว้ข้างป้อมยาม ในรั้วของ Mitsubishi
สำนักงานใหญ่ทุ่งรังสิต นั่นแหละ ขับ รถรุ่น 2.0 GT กลับบ้าน เอาไปวิ่งเล่นอยู่ 3 วัน 2 คืน
ก่อนจะกลับมาแลกเปลี่ยนรถในวันถัดไป…

แล้ว เรื่องฮาๆ ที่ไม่น่าให้อภัยก็เกิดขึ้น เมื่ออุตส่าห์ ขับรถมาคืนถึงรังสิต แต่ดันลืมหยิบ
กุญแจรถตัวเอง เพื่อจะขับกลับ….สรุปว่า แล้วฉันจะมาทำไมวะเนี่ย? สุดท้าย เลยต้อง
ขับรถคันเดิม กลับบ้านไปอีกวัน เพื่อที่จะเอามาคืนในวันรุ่งขึ้น (คราวนี้ ไม่ลืมกุญแจ
รถตัวเองอีกแล้ว)

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ประมาณ บ่าย 4 โมงกว่าๆ ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2010 ผมก็กลับมายัง
สำนักงานใหญ่ทุ่งรังสิต อีกครั้ง ยืนอยู่ที่ โกดัง ซึ่งดูเหมือนจะร้างแห่งหนึ่ง เพื่อจะถ่ายรูป
รถคันสีขาว 2.0GT White Pearl Edition คัน Pre-Production คันที่เห็นอยู่นี้

ถ่ายจนเสร็จนั่นละ พี่จิม พีอาร์ สาวคนเก่งของ Mitsubishi  ถึงจะเอ่ยปากบอกกับผมว่า
 “ที่โกดังนี้ บางที ก็มีงู เข้ามานอนขดตัว หนีอากาศหนาว อยู่ในนั้น…”

อ้าวววว!! เฮ้ยย พี่จิม! ทำไมพี่ไม่บอกผมแต่แรก!!

พี่จิมสวนกลับมาทันที “ถ้าบอกแล้ว จิมมี่ จะกล้าถ่ายรูปจนจบไหมละ?”

ขอบคุณนะครับเพ่! ไม่บอกสัก วันพรุ่งนี้ไปเลยละคร้าบ

ขนาดนั่งเขียนอยู่นี่ ยังขนลุกไม่หาย ถ้าเกิดจู่ๆ กำลังถ่ายรูป แล้วมีงูเห่าสักตัว เลื้อยออกมา
ประจันหน้ากับผม แผ่แม่เบี้ยหรา ผมควรจะทำหน้าอย่างไรดีละนั่น?….

(ยังมีเวลาคิดจะทำหน้าใส่งูยังไงอีกเหรอ ไม่คิดจะใส่เกียร์หมาโกยอ้าวเลยหรือยังไง? ไอ้บ้าจิมมี่!)
 
(—-_____—-‘)   

เอาวะ อย่างน้อย เราก็ยังมี “เจ้า ฉลามขาว” คันนี้ จอดอยู่ ความไวของงู หรือจะสู้ ฉลามน้อย
154 แรงม้า กับความ กลัวงูเข้ากระดูกดำของผม? แค่ถอยรถทับ เจ้างูชะตาขาดนั่น ก็แบนแต๊ดแต๋แล้วละ!

หลังจากทริป ทั้ง 2 ครั้ง เสร็จสิ้นลงไป พร้อมกับการที่ ผมและ The Coup Team เก็บข้อมูล
จดตัวเลข บันทึกภาพนิ่ง ถ่าย Clip Video (อย่างที่เพิ่งโดนเอาไปปล่อยในพันทิบ เมื่อไม่นานนี้)
ของรถทั้ง รุ่น 2.0 GT และ 1.8 GT กันเรียบร้อยเสร็จสิ้นแล้ว ว่ากันตามจริง รีวิวนี้ ก็ควรจะถูก
เอาขึ้นให้อ่านกันตั้งแต่ ช่วงก่อนงาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคมแล้ว
อย่างไรก็ตาม เหตุไม่คาดคิด ก็ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกเมื่อเชื่อวัน

จู่ๆ ในงาน Bangkok International Motor Show ที่ผ่านมา พี่แตน พีอาร์สาว ลูกสอง สุดแสนจะหลั่นล้า
ของ Mitsubishi ก็ถามผมว่า “จิมมี่จะเอา Lancer EX รุ่น Ralli Art ตัวนี้ ไปถ่ายรูปด้วย เอาไหม?”

มีหรือที่ผมจะปฏิเสธ?

นั่นจึงทำให้ ผมตัดสินใจ เลื่อน ชะลอรีวิวนี้ ออกไป จนกว่าจะรถคันแดง จะมาอยู่กับผม

เมื่อได้รับรถคันสีแดงนี้มา ก็เที่ยวตระเวณหา โลเกชัน อยู่ตั้งนาน ถ่ายไปเรื่อยๆ ก็ไม่โดนใจผมเลยสักที
จนกระทั่ง อีก 2 ชั่วโมง จะต้องส่งคืนรถ กันนั่นละ ผมถึงเพิ่งมาค้นพบ โลเกชันที่เห็นอยู่นี้ ใต้ทางด่วน
ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นั่นแหละ ดีใจจนอกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก เพราะได้บรรยากาศ
อย่างที่ต้องการกันจริงๆ พอดีจังหวะเหมาะเหม็งเป็นที่สุด

และเมื่อ บันทึกภาพเรียบร้อย ส่งรถคันสีแดงคืนไปแล้ว อุตส่าห์คิดเอาไว้ว่า รีวิว นี้ ควรจะเสร็จได้สักที
ราวๆ เดือนพฤษภาคม…แต่ก็เปล่า สารพัดรีวิว ที่เข้ามาแทรกคิว ไปก่อนหน้า มากมายหลายคัน ทำให้
Lancer EX ถูกจอดดองเอาไว้ในขวดโหล อยู่พักใหญ่

เพราะว่า รีวิวอื่นๆ นั้น ใช้เวลาเตรียมการไม่นานนัก รถที่จะปรากฎบนรีวิว มีแค่ คันเดียว อย่างมากสุดก็ 2 คัน
การเลือกรูป เตรียมรูป เลยไม่นานนัก ผิดกับ Lancer EX เบ็ดเสร็จแล้ว มีจำนวนรถที่จะต้องเข้าฉากในคราวนี้
มากถึง 4 คันรวด! เยอะมากพอกับ Full Review Subaru Impreza รุ่น อิมแมวเหมียว Modern Dog กับ Volvo S80
ครั้งนั้น ดองกันนานเอาเรื่องเลยทีเดียว ไม่แพ้กัน การเลือกรูป นึกถึง เขียนถึง ใช้เวลานานกว่าพอสมควร

ทั้งหมดที่ ร่ายมา คือสาเหตุที่ทำให้ Fll Review Lancer EX ครั้งนี้ ถูกเลื่อนการนำเสนอครั้งแล้ว ครั้งเล่า
เฝ้าแต่เลื่อน จนกระทั่ง ผู้คนรอบๆตัว เริ่มส่งคำเตือนมาว่า “จิมมี่เอ้ย เอาขึ้นได้แล้วนะเว้ย”

รีวิว นี้ จึงถูกนำขึ้นมาเขียนไป แก้ไป กันอีกพักใหญ่ เสร็จออกมาให้อ่านกันได้เสียทีอยู่นี่เอง

แต่…จะว่าไป นี่ก็ 1 ปีแล้วสินะ ที่ Mitsubishi Motors Thailand เปิดตัว Lancer EX ออกสู่ตลาดเมืองไทย
เป็น 1 ปีที่ผ่านไป พร้อมด้วยเรื่องราวอะไรต่อมิอะไร เกิดขึ้นมากมาย ทั้งกับตัวผมเอง กับสังคมไทย
และกับ Mitsubishi Motors เอง ก็เถอะ

แต่สิ่งหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าใดนัก ก็คือ ปริมาณของ สปอร์ตซีดาน สุดเฉี่ยวรุ่นนี้
บนถนนเมืองไทย ที่น้อย อย่างไร ก็ยังคงน้อยอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดเลย…

สิ่งที่ชวนให้ผมแปลกจิต สุดตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งยวด คือ
ทำไมมันขายได้น้อยจังเลยวะ!!??

เมื่อใดที่มีการจัดงาน MotorShow MotorExpo หรือ Motor Coyoty Ayoyoyo Show อะไรก็ตามแต่
ลองเดินไปถาม ผู้บริหาร Mitsubishi Motors Thailand แต่ละครั้ง ก็จะได้รับคำตอบเหมือนๆกัน คือ
Pajero Sport หนะ ขายดี๊ขายดี Triton ก็พอถูไถ แต่ Lancer EX เนี่ยแหละ ที่ทำยังไง๊ยังไง ก็ได้แค่
เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ มิหนำซ้ำ พอกลับไปดู Lancer JT รุ่นแซยิด ที่น้องๆ คุณผู้อ่านในเว็บของเรา
เรียกได้หน้าตาเฉยมาก ยอดขายกลับวิ่งฉิ๋วเลย ยิ่งหลังเปิดตัว Lancer EX ด้วยแล้ว ยอดขายของ
Lancer เดิม ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน และ CNG ก็ยังไปได้เรื่อยๆ สบายๆ Chil ทุกวันนี้ ยังขายได้
เดือนละ 200 – 300 คัน ด้วยซ้ำ แหนะ! ยังไม่นับยอดจอง Back Order ด้วยนะ เอากับเขาสิ!

Chil มากเสียจน เจ้า Lancer เดิม หันมายักคิ้วลิ่วตา ใส่ Lancer EX ขณะจอดรอการขนส่งไปยังดีลเลอร์
ด้วยกันเอง แถมยังสบถข่มทับเสียอีกแหนะ ว่า  “โธ่เอ้ย ไอ้กระจอก ข้าก็นึกว่าเอ็งจะแน่มาจากไหน
ที่แท้ รุ่นใหม่ หน้าตาดีอย่างเอ็ง ก็ขายสู้รุ่นเก่าหงำเหงือกอย่างข้าไม่ได้หรอกเว้ย ไอ้หนุ่มกระจอก!
hahahahaha”

ฝูงเจ้า EX นี่ฟังปุ๊บ ก็พากันก็เดือดแค้น เสียจนอยากจะเอาล้อทั้ง 4 ที่มีอยู่ในแต่ละคัน รุมประชาฑัณฑ์
ทุบอีรถรุ่นเก่า ป้าบๆๆ บ้างเตรียมจะกระโดนทับใส่ รถรุ่นเก่า ให้บี้แบนแต๊ดแต๋คา Yard จอดรถ หลัง
โรงงานที่แหลมฉบัง ตรงนั้นกันเลยทีเดียวเชียวแหละ…

เอ่อ ข้างบนนี้ก็เวอร์ ไปหน่อย เนาะ…

การเขม้นหมั่นไส้กันเอง ใน Yard นั้น ไม่ได้รอดพ้นสายตาของผู้บริหาร ทั้งคนไทย และคนญี่ปุ่น 
ณ สำนักงานใหญ่ แห่งทุ่งรังสิตไปได้หรอก…แน่ละ มีคนมาคอยรายงานยอดขายให้กุมขมับเล่น
ทุกเดือนแบบนี้ ก็พอรู้ได้อยู่

และนั่นละ คือที่มาของ การกระตุ้นตลาด ด้วยสารพัดรุ่นพิเศษ 3 ครั้งเข้าไปแล้ว แต่ จะกระตุ้นกัน
เท่าไหร่ ยอดขายก็ยังคงที่…เหมือนเดิม เคยเห็นโฆษณา น้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีตัวเชื้อโรค หน้าตา
เหมือน ET นอนเหนียวติดแน่นเป็นยางยืดที่ถูกขึงพืด ใครจะมาฉุดกระชากลากถูออกไป ก็ไม่ยอม
หลุด ยังคงนอนแพ่หราติดแน่นอยู่อย่างนั้น กันไหมครับ

ยอดขาย Lancer EX ก็มีสภาพไม่ต่างกันหรอก!!

เฮ้ย Lancer EX มันแย่ มันห่วย มันเลวร้าย ขนาดนั้นเลยเชียวเหรอยังไง??
ใครๆ ถึงไม่รัก ไม่เหลียวแล ทำเป็นเมิน ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเย็นชาใส่
แล้วก็สะบัดบ๊อบเดินจ้ำๆ ออกจากบูธ Mitsubishi ไปแบบไม่ใยดี

คำถามก็คือ
มันเกิดอะไรขึ้น กับ รถรุ่นนี้
ทำไม Lancer EX ถึงขายไม่ค่อยดีเท่าใดเลย ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นรถรุ่นนี้ ออกแล่นบนถนน
ทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกันเท่าใดนัก ทำไม หลายๆคน จึง ไม่กล้าจะลองซื้อมาขับกัน?

บางคนก็บอกว่า เพราะ ชื่อชั้นของ Mitsubishi มันด้อยกว่าชาวบ้านเขาอยู่แล้ว?…อืมม เกิดจากอะไรละ?
บางคนก็บอกว่า เพราะ ศูนย์บริการของ Mitsubishi ห่วย!…อ้าว เหรอ ไม่ทุกศูนย์ฯ หรอก ศูนย์ฯ ดีๆ ก็มี
บางคนก็บอกว่า เพราะ ราคาขายแพงไป เมื่อเทียบกับ อุปกรณ์ที่ให้มา….เอ่อ…ก็ว่าอยู่
บางคนก็บอกว่า เพราะ เปิดตัวผิดจังหวะ ช้ากว่าคู่แข่งเขาเพียบเลย…..หืม?
บางคนก็บอกว่า เพราะ ไม่มีอะไรไปสู้คู่แข่งเขาได้เลย…เฮ้ย ไม่ใช่ละมั้งงงงง
บางคนก็บอกว่า เพราะ ทีมการตลาด ฝีมือ ห่วย….จริงเหรอ?
บางคนก็บอกว่า เพราะ โฆษณา ไม่น่าดึงดูด…..เง้ออออ เห็นด้วยๆ
บางคนก็บอกว่า เพราะ พวกญี่ปุ่น งี่เง่า? ไม่เข้าใจคนไทย?…จริงเหรอ?

เอ้า! มันชักไปกันใหญ่โตซะแล้ว

เพื่อที่คุณๆ จะได้ หายสงสัยกันเสียที กระผม J!MMY ก็เลยต้องขอรับอาสา ค้นหาความจริง
ผ่าน Full Review ฉบับ ยาวเฟื้อย ครั้งนี้ บอกกล่าวกันไว้ก่อนว่า สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้
เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ของผม และผู้คนที่เคยทดองขับรถรุ่นนี้มาแล้ว ล้วนๆ ไม่จำเป็น
ที่ใครจะต้องมาเห็นพ้องด้วย ไม่จำเป็นที่ใครจะต้องมาเชื่อตาม เพราะข้าพเจ้า มิใช่ศาสดา
ไม่ชอบจูงจมูกใคร แค่คิด มองเห็น และเขียน อย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เพื่อประโยชน์
ของทุกๆคน และ แค่นั้น อย่าถึงขั้นต้องหาธูป 3 ดอกมาจุดไหว้ แล้วขูดขอหวยกันเลย ขูดไป
ก็เจอแต่ไขมัน ไม่เจอหรอก เลขเด็ดหนะ!

แต่ก่อนที่เราจะค้นหาคำตอบกัน ธรรมเนียมปฏิบัติ ดั้งเดิมแต่ช้านาน ในการอ่านรีวิวของ J!MMY
เมื่อผ่านพ้น อารัมภบทยาวเฟื้อย น้ำท่วมทุ่งหาผักบุ้งโหรงเหรง เป็นที่สุดแห่งปฐพี ก็ถึงกาลแก่ควรจะ
มาเรียนรู้กันเสียที ว่า เรื่องราวแรกเริ่ม ก่อนที่รถคันนี้จะเสร็จสิ้นออกขาย เป็นมากันอย่างไร

สำหรับ Mitsubishi Motors แล้วรถยนต์ Sedan ขนาด C-Segment กลายเป็น รถยนต์ที่มีความสำคัญมากๆ
อีกรุ่นหนึ่ง ต่อความอยู่รอดของแบรนด์นี้ ในระดับสากล หลังจากที่เผชิญมรสุม Recall ครั้งมโหฬาร เมื่อ
เดือนสิงหาคม 2000 เป็นต้นมา Mitsubishi Motors ก็อยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลาน พอประมาณ และต้อง
เร่งทำรถยนต์ที่ขายได้ พวกเขาก็เลยมุ่งเดินหน้าทำรถกระบะ Triton พ่วงด้วย SUV ทั้ง Pajero Sport หรือ
Montero Sport/ NATIVA ไปจนถึง รถตู้ Delica D:5 กับ Pajero เจเนอเรชัน 4  และที่โดดเด่นไปมากก็คือ
การพัฒนารถเล็ก K-Car 660 ซีซี ดีไซน์ล้ำโลก Mitsubishi “i” ซึ่งสามารถต่อยอดมาใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ
มอเตอร์ไฟฟ้า ทำขายเป็น i-MIEV แถมยังไปร่วมดีลกับ PSA Peugeot Citroen Group ทำ i-MIEV
ขาย ร่วมกัน และยังนำ Crossover SUV รุ่น Outlander เจเนอเรชัน 2 ไปขายกันในชื่อ Citroen C-Crosser
และ Peugeot 4007 ขายดิบขายดีในยุโรปไม่เลวเลยทีเดียว

แต่แทบทั้งหมดที่ว่านั้น จะสังเกตว่า บรรดารถยนต์แต่ละรุ่นเหล่านี้ ไม่ยักจะมี รถยนต์นั่ง Sedan พิกัดใด
เหลืออยู่เลย หลังจากที่ Mitsubishi ตัดสินใจ ถอด Galant ออกจากตลาดญี่ปุ่น ไปเมื่อราวๆ ปี 2004 ให้
เหลือทำตลาดไว้แต่เฉพาะ เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ (และกำลังจะเลิกขายใน
ปีหน้าเป็นต้นไป) แถมยังถอด Diamante ออกจากสายการผลิตไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้ง ยังระงับ
โครงการพัฒนารถยนต์ ซีดาน ระดับ D-Segment คันต่อไป ซึ่งอุตส่าห์ทำรถต้นแบบมาอวดโฉม ในงาน
Tokyo Motor Show 2007 กันแล้ว (ขอบอกว่า คันจริง โคตรสวย!) แต่โครงการก็ต้องแท้งก่อนคลอด
อย่างน่าเสียดาย

เหตุผลก็คือ ตลาดรถยนต์ Sedan ขนาดใหญ่นั้น ไม่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว
และแทบผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่ อย่าง Toyota กับ Nissan ยากที่รายอื่นจะแทรกตัวได้เหมือนใน
ยุค 1990 ขณะเดียวกัน ตลาดรถยนต์ Sedan พิกัด D-Segment (2,000 – 3,500 ซีซี) หรือใหญ่กว่านั้น
อยู่ในช่วง “ขาลง” พร้อมกันทั่วโลก ในออสเตรเลีย ที่เคยมี Mitsubishi Diamante (และฝาแฝด ออพชัน
น้อยกว่า อย่าง Verada) ขายอยู่ ก็ทนทำตลาดต่อไม่ไหว แถมยังไม่มีเงินทำรถรุ่นใหม่มาแทน พอจะ
ทำ D-Segment คันใหม่ โครงการก็แท้งไป ในย่อหน้าข้างบน แรงกดดันถาโถมจนทนไม่ไหว ต้อง
ปิดโรงงานกันไป ขณะที่ตลาดในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะยังมีลู่ทางอยู่ แต่ไม่ถึงกับดีนัก  เพราะตลาด
กลุ่มนี้ โดนครองโดย Toyota Camry Honda Accord Nissan Altima Hyundai Sonata และ Chevloet
Malibu กับ Ford Taurus ไปเรียยร้อย รายอื่น แทรกตัวยาก ถ้าไม่เจ๋งจริง

ไม่ต้องไปนับตลาดยุโรปเลย หลายประเทศ กำหนดพิกัดภาษีรถกลุ่มนี้ไว้สูงมาก คนมีเงินส่วนใหญ่
ไม่ค่อยจะเล่นรถ Sedan หรูจากญี่ปุ่นกันนัก เขาหนีไปเล่นรถยนต์กลุ่ม Premium Brand อย่าง
Mercedes-Benz BMW Audi กันไปเลย ฉะนั้น โอกาสเกิดหนะ ยาก…จึงไม่น่าแปลกใจที่ ค่าย
3 เพชร ต้องตัดสินใจ ถอดโครงการ รถยนต์นั่งขนาดกลาง D-Segment เก็บเข้าลิ้นชักไปอย่าง
น่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็กลงมา ในกลุ่ม C-Segment หรือ
Compact พิกัด 1,500 – 2,000 ซีซี ที่ยังมีช่องว่าง เปิดกว้างให้ผู้ผลิตทุกราย ได้แย่งชิงส่วนแบ่งก้อนเค้ก
เพราะนี่คือ ตลาดกลุ่มหลักที่มีความสำคัญ ต่อตลาดรถยนต์ทุกประเทศในโลก คนส่วนใหญ่ มักจะ
ซื้อรถยนต์กลุ่มนี้กัน ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และวันนี้ รถยนต์กลุ่มนี้ จะยิ่งยกระดับตัวเอง
ให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น ขับดีขึ้น บ่งบอกความเป็นตัวตนของคนซื้อ มากขึ้น และนี่แหละ คือ
ช่องทางที่ Mitsubishi Motors เห็นว่าจะต้องสานต่อไป ในฐานะ ที่รถยนต์รุ่น Lancer เป็นผู้เล่น
ตัวสำคัญรายหนึ่ง ในตลาดกลุ่มนี้ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในรถรุ่นทำเงินของบริษัท

ในฐานะที่ Lancer เป็นรถยนต์นั่งครอบครัว แนว Sport Sedan ที่อยู่ยงคงกระพัน มาตั้งแต่เปิดตัว
ครั้งแรก เมื่อปี 1973 จนถึงวันนี้ ก็ปาเข้าไป 37 ปี เข้าให้แล้ว ที่รถรุ่นนี้ ยังคงยืนหยัดอยู่ในตลาด
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆนาๆ การที่รถสักรุ่น จะทำตลาดต่อเนื่องได้ยาวขนาดนี้ แสดงว่า
รถรุ่นนั้น ต้องได้รับความนิยมจากมหาชน ในระดับสูงใช่เล่นเลยทีเดียว

คุณค่าหลักของ Lancer ในสายตาคนทั่วไปนั้น อยู่ที่ การเป็น Sport Compact Sedan ราคาไม่สูงนัก
แต่ให้อุปกรณ์มาครบครัน พร้อมกันขับขี่ที่สนุกพอประมาณ ช่วงล่างมั่นใจ พวงมาลัยเป๊ะ ทนทาน
เครื่องยนต์ แรงกำลังดี กินน้ำมันในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยทั่วไป ดีไซน์ โดนใจลูกค้าทั่วโลก

ยิ่งตั้งแต่ปี 1991 Mitsubishi Motors เริ่มพา Lancer กลับเข้าสู่ การแข่งขันแรลลีโลก WRC อีกครั้ง
จนต้องพัฒนาตัวแข่งอย่าง ตระกูล Lancer Evolution ออกมาขาย ตามกฎ Homologation ที่สมาพันธ์
แข่งรถสากล FIA กำหนด ทำให้ กิติศัพท์ของ Lancer Evolution เริ่มกระจายจากสมรภูมิแข่งแรลลี
สู่ถนนสาธารณะมากขึ้น Mitsubishi เอง ก็เริ่มทะยอยพัฒนา Evolution รุ่นต่างๆ บนพื้นฐานของ
Lancer มากมาย นับไม่หวาดไหว กลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีเงินมากพอจะซื้อรุ่ Evolution ต่างก็พากัน ซื้อ
Lancer รุ่นมาตรฐาน ไปแต่ง โมดิฟาย เพื่อให้เป็น Evolution ในสไตล์ของตนเองมากขึ้น นั่นจึง
ทำให้ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของ Lancer ยิ่งแกร่ง และตอกตะปูแน่นหนา ในใจวัยรุ่น อย่างน้อย
แม้วัยรุ่นคนนั้นจะไม่ชอบรถ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อ Lancer Evolution ออกมาจากปาก เพื่อนฝูงรอบตัว
อย่างน้อย ก็ครั้งนึงแหละน่า!

เวลาผ่านไป Lancer Cedia รุ่นล่าสุด ที่เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2000 (เปิดตัว
ในเมืองไทย 13 ตุลาคม 2001) ก็เริ่มเก่าไปตามเวลา คู่แข่งรุ่นใหม่ๆ ทะยอยเปิดตัวแซงหน้า กอบโกย
ยอดขาย และรายได้ ไปเยอะแล้ว Mitsubishi Motors ได้แต่มองตาปริบๆ ทะยอยปรับโฉม เปลี่ยน
กระจังหน้า กับกันชนหน้า และไฟท้าย กับฝากระโปรงท้าย กลายเป็น New Lancer ไปเรื่อยๆ
แถมยังกระตุ้นตลาดด้วยรุ่นเติม E20 ได้ รุ่นติดก๊าซ CNG ฯลฯ อีกมากมาย คุณค่าของ Lancer
อีกด้าน นั่นคือ การเป็นรถยนต์ที่คุ้มค่า ซึ่งเคยมีมาตลอดตั้งแต่ Lancer กล่องไม้ขีด Lancer Champ
Lancer E-Car และ Lancer ไฟท้ายเบนซ์ ก็เริ่มกลับมาฉายแววเด่นเด้งอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม รถแต่ละรุ่น ก็ต้องมีอายุตลาดของมัน ฝืนความจริงไปไม่พ้น ต่อให้ขายดีตอนเปิดตัว
มากแค่ไหน เมือถึงช่วงกลางอายุ ยอดขายก็จะเริ่มลดลง อาจจะพอระตุ้นยอดขายด้วยรุ่น Minorchange
และสักพัก ก็จะค่อยๆ ขายได้น้อยลงต่อเนื่องไปอีก เป็นวงจรตลาดปกติของรถยนต์ทุกรุ่น ซึ่งเรื่องนี้
Mitsubishi Motors เอง ก็รู้ดี จึงได้เปิดไฟเขียว ให้เริ่มต้นโครงการพัฒนา Lancer รุ่นต่อไป เมื่อปี 2004
โดยมี Hiroyuki Kagawa : Project Manager / C-seg Product Development Project /Product
Development Group Headquarters รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนา รถรุ่นใหม่นี้ ซึ่งถือได้ว่า
พวกเขาใช้เวลาทำงานกันไม่นานนัก เพราะรถรุ่นใหม่ เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อ 23 สิงหาคม 2007
หลังจากเผยโฉมไปแล้ว บนเวทีในงานแสดงรถยนต์ฝั่งอเมริกาเหนือ กันจนผู้คนทั่วโลกเริ่มคุ้นหน้า

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ  Lancer รุ่นนี้ จะมีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้นจากรุ่นเดิม มากพอสมควร เทียบชั้นกับ
คู่แข่งในระดับเดียวกันได้เลย แต่ถือว่าใหญ่โต อยู่ในระดับ คร่อมกลาง ระหว่าง Galant รุ่นสุดท้าย
ในญี่ปุ่น (Galant / Legnum 1996 – 2005) กับ Diamante รุ่นสุดท้าย อีกทั้ง Mitsubishi Motors เอง
ก็ยังคิดว่า ควรจะลากขาย Lancer รุ่นเดิม ในตลาดญี่ปุ่น และหลายๆตลาดกันต่อไป ในฐานะรถยนต์
ราคาประหยัด ดังนั้น การใช้ชื่อ Lancer กับรถยนต์ Sedan คันนี้ในญี่ปุ่น จึงกลายเป็นเรื่องที่ พวก
ผู้บริหาร มองว่า ไม่เหมาะสม พวกเขาจึงตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ Mitsubishi Galant Fortis ในการ
ทำตลาดที่แอนอาทิตย์อุทัย ไปในที่สุด

ส่วนในตลาดประเทศอื่นๆนั้น ประเทศไหน ที่จะเลิกขาย Lancer รุ่นเดิมไปแล้ว ก็จะใช้ชื่อ Lancer
ต่อเนื่องไปเลย เพื่อให้สอดคล้องกับ Lancer Evolution X ซึ่งเปิดตัวออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่
สำหรับบางประเทศ ซึ่งยังต้องทำตลาด Lancer รุ่นเดิมต่อไป เพื่ออุดช่องว่างทางการตลาด ในระดับล่าง
ก็จำเป็นต้องใช้ชื่อ Lancer EX กันไป และ ประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในประเทศ ซึ่งเข้าข่ายที่ว่านี้

สำหรับเมืองไทย Mitsubishi Motors พร้อมเปิดตัว รถรุ่นนี้ สู่ตลาดบ้านเรา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2009
ณ โรงแรม พลาซา แอทเธนี ถนนวิทยุ จากนั้น ก็เช่าสนามบินดอนเมือง บางส่วน ปิดเป็นลานทดสอบ
สมรรถนะของรถ ให้ทั้ง สื่อมวลชน และลูกค้าที่ได้รับเชิญ เข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา
ประมาณ 1 สัปดาห์

แต่หลังจากนั้น ดูเหมือนยอดขายจะมีเข้ามาในระดับเรื่อยๆ เหมือนสายธาร ในแหล่งน้ำทางภาคอีสาน
ช่วงฤดูแล้ง…คือ แทบจะไม่ค่อยมียอดขายกันเท่าใดเลย  แม้กระทั่งงาน Motor Expo 2009 ยอดสั่งจอง
ก็มีเข้ามาไม่เยอะนัก จนทำให้ Mitsubishi ตัดสินใจส่ง รุ่น White Pearl Edition สีขาว ออกสู่ตลาด
เป็นอีก 1 เฉดสีใหม่ให้เลือก ทั้งรุ่น 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 และหลังจากนั้น
ก็ตามติดด้วยรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept และ รุ่น 1.8 GLS Smart Concept เมื่อ 10 มีนาคม 2010
แต่…หลังงาน Bangkok Ingternational Motor Show ผ่านพ้นไป ยอดขายก็ยังไม่ถึงกับเยอะมากมาย
ขายได้ในระดับประมาณ 150 – 200 คัน/เดือน ซึ่งถือว่า ค่อนข้างน้อย และไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่
เคยเป็น เล่นเอาคนทั้งวงการรถยนต์ พากันสงสัย ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นเช่นนี้….

เรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ!

มิติตัวถังของ Lancer EX ใหม่ จะมีขนาดเท่ากันทุกรุ่น ด้วยความยาว 4,570 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,760 มิลลิเมตร
ซึ่ง เรียกได้ว่า กว้างเกินหน้าเกินตา เพื่อนพ้องในกลุ่ม Compact Sedan C-Segment ไปไม่น้อย เพราะ Civic FD
ก็ยังกว้างแค่ 1,750 มิลลิเมตร ว่ากันตามตรงก็คือ มีความกว้างมากกว่า Nissan Skyline V35 รุ่นที่แล้ว กันเลยเชียว!!

ส่วนความสูงนั้น อยู่ที่ 1,490 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,635 มิลลิเมตร สั้นกว่า Civic FD และอีกหลายคันในตลาด
แค่ลำพัง Civic FD อย่างเดียว รายนั้น ระยะฐานล้อของเขาก็ยาวตั้ง 2,700 มิลลิเมตร เข้าไปแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่า
จะยาวไปแข่งกับ มินิแวนกันหรืออย่างไร แต่ที่แน่ๆ ระยะฐานล้อ ของ Lancer EX ก็ยังยาวกว่า Civic Dimension
(2,620 มิลลิเมตร) อย่างแน่นอน

ตัวรถลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.29 โดยรุ่น 2.0 GT รุ่น 1.8 GLS-Ltd. และ
1.8 GLS จะให้กระจังหน้าโครเมียม ไฟตัดหมอกหน้า และปลายท่อสเตนเลส  โดยรุ่น 2.0 GT
จะมาพร้อมชุด Aero Part รอบคัน ทั้งสเกิร์ตหน้า สเกิร์ตข้าง สอยเลอร์หลังขนาดใหญ่โต เอาไว้
วางรองเท้าตากแดด ได้อีกต่างหาก ใหญ่โตสะใจ เห็นลูกค้าบ่นกันดีนักว่า แถมสปอยเลอร์ทั้งที
ทำไมไม่แถมชิ้นใหญ่ๆมาให้เลย คราวนี้ Mitsubishi เขารู้ใจ เลยจัดมาให้เต็มที่

ชุดไฟหน้าในรุ่น 1.8 ลิตร จะเป็นแบบ ฮาโลเจน มัลติรีเฟล็กเตอร์ ส่วนรุ่น 2.0 GT จะเป็นไฟหน้า
โปรเจ็คเตอร์ แบบ ไบซีนอน (Bi-Xenon) พร้อมระบบปรับระดับลำแสงไฟหน้า และระบบเพิ่ม
ความส่องสว่างด้านข้างขณะเข้าโค้ง (AFS) ไม่ใช่ว่ามีจานฉายปรับองศาได้แต่อย่างใด ก็คือว่า
พอเลี้ยวซ้าย ไฟตัดหมอกซ้าย ก็สว่างวาบขึ้นมาให้ พอเลี้ยวขวา ไฟตัดหมอกขวา ก็สว่าง วาบขึ้นมา
แค่นั้น! ส่วนชุดไฟท้าย ออกแบบให้กว้างขึ้น จัดวางในแนวเฉียง ดูคล้าย Alfa Romeo 156 และ 159

ส่วน ล้ออัลลอย ในรุ่น 1.8 ลิตร ทุกรุ่น ใช้ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ในขณะที่รุ่น 2.0 GT จะให้ล้ออัลลอย
18 นิ้ว ใหญ่ที่สุดในรถระดับเดียวกัน งานนี้ถือว่าค่อนข้างใจป้ำใช้ได้ แต่ดูเหมือนว่า เราจะลืมกันไป
หรือเปล่าว่า ยางเส้นนึง สำหรับล้อ 18 นิ้วเนี่ย..ราคาก็ไม่เบาเท่าไหร่เลยนะ…!

คนที่รังสรรค์ เส้นสายตัวถัง จนดูโฉบเฉี่ยว เป็นฉลามหนุ่ม ในคราวนี้ มีชื่อว่า Kenichi Noda ตำแหน่งของเขาคือ
Exterior Designer /Design Promotion Department /Design Office ผู้ออกแบบ เส้นสายภายนอกของ 
รถรุ่นนี้ นั่นเอง

Noda-san กล่าวว่า “งานออกแบบ Lancer รุ่นใหม่ เริ่มต้นขึ้นในปี 2004 หลังจากที่เราได้ หารือกันมาหลายต่อหลายครั้ง
เราได้ข้อสรุปว่า เราต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Mitsubishi Motors Brand DNA) ซึ่งมีด้วยกัน 2 ประการ
คือ Sport DNA และ SUV ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ ก็จะมีส่วนเชื่อมโยงกันคือเรื่องของ ความเป็นเจ้าสนามแข่งแรลลีโลก
มาโดยตลอด แน่นอนว่า Lancer Evolution คือตัวแทนภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของ Mitsubishi Motors ในประเด็นนี้
ดังนั้น ทำอย่างไร จึงจะพัฒนา Lancer รุ่นใหม่ ให้เชื่อมโยงเข้ากันกับ Lancer Evolution X รุ่นใหม่ ที่เริ่มต้น
ออกแบบและพัฒนาไปพร้อมกัน”

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ คิดทำ Lancer Evolution เป็นประเดิม แล้วค่อย Tone down ลงมาเป็น Lancer EX นั่นเอง!

Noda เล่าว่า “ตั้งแต่เริ่มต้นขั้นตอนการพัฒนา ทีมออกแบบของเรา ยึดถือแนวคิดเดียวกันที่ว่า “จะต้องนำเสนอ
งานออกแบบคุณภาพสูง สำหรับรถยนต์แนว Sport Sedan ระดับโลก เราค้นพบว่า ความสูงของตัวรถที่เหมาะสม
ลงตัว และจะทำให้เส้นสายตัวถังในแบบ Sedan เร้าอารมณ์ของผู้คน อยู่ที่ระดับ 1,490 มิลลิเมตร ขณะเดียวกัน
เส้นสายภายในห้องโดยสาร ซึ่งโอบล้อมรอบพื้นที่ทั้งหมด จะให้ความรู้สึก Sport อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ
แบรนด์ Mitsubishi Motors”

ส่วนเรื่องงานออกแบบด้านหน้ารถ ที่ดูคล้าย หน้าฉลาม นั้น Noda บอกว่า “ถือเป็นเอกลักษณ์
ใหม่ ในงานออกแบบรถยนต์ Mitsubishi โดยเป็นการผสมผสานกัน ระหว่าง กระจังหน้าแบบ
trapezoidal single frame grille เข้ากับแนวเส้นแบบ Slant-Nose หรือ แบบหน้าเฉียงเข้า อันเป็น
เอกลักษณ์ ดั้งเดิม ที่มีใน รถยนต์ Mitsubishi Sedan 4 ประตู หลายๆรุ่น ตั้งแต่ Colt Galant ปี 1969
Colt Galant GTO ปี 1970 จนถึง Galant VR-4 ในปี 1987 Diamante รุ่นแรก และ Sigma ในปี 1990
เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน การเลือกใช้ล้ออัลลอย 18 นิ้วตั้งแต่แรก เป็นการกำหนดมาจากทีมออกแบบของ Noda
ในญี่ปุ่นเอง “ขนาดของล้ออัลอย ก็เป็นอีกประเด็นในการพิจารณาของเรา ในเวลานั้น รถยนต์
C-Segment ส่วนใหญ้ ให้ล้อัลลอย 16 นิ้ว เป็นมาตรฐาน ขณะที่รถยนต์ระดับใหญ่กว่านั้น มักจะ
ติดตั้งล้ออัลลอย 18 นิ้ว มาให้ อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นแล้วว่า เทรนด์ของล้อที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
กำลังจะมาถึง เราจึงเลือกติดตั้งล้อ 18 นิ้วให้ตั้งแต่แรก เพื่อให้นำหน้าเหนือกว่า รถยนต์ C-Segment
รุ่นอื่นๆ ในตลาด”

Noda เชื่อว่า เขาและทีมออกแบบ ได้สร้างสรรค์ งานออกแบบ อันสะดุดตา ต้องใจ ให้กับ
Sedan คันนี้ จนเพียบพร้อมไปด้วย คุณภาพในการออกแบบขั้นสูง อันเป็นผลลัพธ์ที่ได้จาก
ความพยายามอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียด ซึ่งเมื่อรวมกับคุณลักษณะด้านต่างๆของตัวรถแล้ว
จะช่วยให้ผู้ขับขี่ enjoy ไปกับสมรรถนะของตัวรถ ด้วยความมั่นใจ

ต่อให้ผม และผู้ชายจำนวนมาก เห็นด้วยกับ Noda ว่า เส้นสายของ Lancer EX นั้น ลงตัว สวยเฉี่ยว
เร้าใจ และชวนให้เหลียวมองตามในครั้งแรกที่พบเห็น จนถึงขั้นอยากเป็นเจ้าของ เพราะงานออกแบบ
ของรถรุ่นนี้ มีความเป็น ผู้ชาย สูงมาก เพียงใด ผมก็ยังเชื่อว่า มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองเห็นแตกต่างจากผม

คนกลุ่มนั้น เป็นสุภาพสตรี หรือไม่ก็เป็น เกย์ควีน…อย่างน้อย ก็เพื่อนสจ๊วต รอบตัวผมนี่ละ คนหนึ่ง
ชื่อว่า โบ็ต พี่ท่าน ก่นด่างานออกแบบรถรุ่นนี้อย่างสาดเสียเทเสียว่า อุบาทว์ สิ้นคิด ออกแบบมาได้อย่างไร
แถมในฐานะ ที่เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่ไปพำนักยังญี่ปุ่นมาก่อน เจ้าตัวยังฝากด่า เป็นภาษาญี่ปุ่น
มาด้วย ซึ่งผมก็ลืมไปแล้วละว่า เขียนอย่างไร

กระนั้น ผมไม่ค่อยแปลกใจที่จะมีปฏิกิริยาแบบนี้ ออกมา เพราะ ตาโบ็ตเอง บอกผมว่า รถที่เขาหลงไหล
ได้ปลื้ม คือ Volkswagen Beetle ใหม่ ซึ่งเป็นรถที่มีเส้นสายโค้งมน และมีความสมดุลย์ในตัว….และเมื่อ
ลองถามไปยังบรรดาสาวๆ รอบตัว ผมพบความจริงอันน่าประหลาดว่า ถ้าเป็นคนที่ความคิดในแนวผู้ชายๆ
หน่อย จะชอบ Lancer EX มาก แต่ถ้าเป็นคนซึ่งมีความคิดเป็นผู้หญิงมากหน่อย กลับจะเกลียดงานออกแบบ
ของ Lancer EX

ซึ่ง นั่นก็ทำให้ผม ไม่แปลกใจอีกเช่นกันว่า ทำไม ความพยายามที่จะมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าสุภาพสตรี
วัยทำงาน หรือ สาวออฟฟิศ ทั้งหลาย ของรถรุ่นนี้ จึงไม่ประสบความสำเร็จเลย เหตุผล ที่น่าจะพออธิบาย
ได้เข้าท่าหน่อย คือ ประเด็นเรื่องรูปทรงนั้นเอง ผู้หญิง โดยส่วนใหญ่ มักจะซื้อสินค้า ที่ตัวเองจะต้อง
ชอบใน Design มันต้องเป็นสินค้า ซึ่งบ่งบอกบุคลิกความเป็นตัวตน ในแบบของเขา และถ้าจะให้มอง
ในมุมของผู้หญิงแล้ว เส้นสายของ Lancer EX ค่อนข้างจะแข็ง โฉบเฉี่ยว และไม่โค้งมนมากเท่าใดนัก

จะอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า Mitsubishi Motors ออกแบบรถมาถูกทางแล้ว คือมีความชัดเจน เป็นตัวของตัวเอง
(แม้ว่า บั้นท้ายของรถ จะชวนให้นึกถึง Alfa Romeo 156 และ 159 ใหม่ ก็ตามเถอะ) จะว่าไปแล้ว เป็น
แนวทางการออกแบบรถยนต์ในสไตล์ยุโรป มากว่าจะออกแบบกันด้วยวิธีคิดในแบบญี่ปุ่น เดิมๆ ซึ่ง
เน้นความเรียบง่าย สง่างาม แต่ไม่เร้าใจ เป็นหลัก

กุญแจของ Lancer EX ทุกรุ่น เป็นแบบมีรีโมทคอนโทรล ซึ่งมีสวิชต์สั่งปลด และ ล็อก ประตูได้ ในตัว
แถมยังมีสวิชต์ สั่งปลดล็อกฝากระโปรงท้ายมาให้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีระบบกันขโมย Immobilizer มาให้
ทุกรุ่น ยกเว้น รุ่นล่างสุด 1.8 GLX เท่านั้น ที่จะไม่มีสัญญาณกันขโมยมาให้ 

เมื่อเปิดประตูเข้ามา สัมผัสแรกที่พบได้คือ บรรยากาศที่เปลี่ยนไปจาก Lancer Cedia หรือ Lancer
รุ่นที่แล้ว โดยสิ้นเชิง และความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นอย่างจงใจ

Mikael Cazzato : Manager ของ Mitsubishi Motors R&D Europe มองว่า “Evolution นั้น 
ถือเป็นรถยนต์ประเภท Sports Car ได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่ Lancer ไม่ได้เป็นรถ Sports แท้ๆ ทว่าภาพรวม
ถือเป็นรถยนต์ที่มีบุคลิกผสมผสานกัน ระหว่าง รถ Sports กับรถยนต์นั่งแบบมาตรฐาน Passenger Car

ดังนั้น ในการออกแบบห้องโดยสาร เรามีข้อสรุปว่า ทุกสิ่งจะต้องออกมา ในแนว Sporty but Clear
ต้องสะดวกต่อการใช้งาน และที่สำคัญ ต้องดูมีพลัง อีกทั้งยังต้องสร้างความรู้สึก ให้กับผู้โดยสาร
ว่ากำลังจะเข้าไปนั่งอยู่ในรถแข่ง ผมมองว่า งานออกแบบภายในของ Lancer ใหม่นั้น แสดงออก
ถึงความเป็น Mitsubishi’s Sporty DNA ไปพร้อมๆกับ มอบความสะดวกสบาย บนพื้นฐานที่รถยนต์
นั่งในกลุ่ม C-Segment ทุกคัน ควรจะมี”

สิ่งแรกที่เห็นในทันทีที่เปิดประตูรถกางออกมานั้น บางคนอาจมองว่า วัสดุทำไมก๊องแก๊งจัง?
ซึ่งในมุมมองของผม มันไม่ได้ก๊องแก๊ง อะไรขนาดนั้น เมื่อเทียบกับรถญี่ปุ่น ในพิกัดเดียวกัน
คันอื่นๆ ที่ใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิล คุณภาพแย่กว่านี้เสียด้วยซ้ำ และต่อให้คุณยังคงยืนกราน
เช่นนั้น ผมก็คงต้องบอกว่า พื้นผิวของวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งห้องโดยสาร Lancer EX แทบจะ
เรียกได้ว่า ยกมาจาก Galant Fortis เวอร์ชันญี่ปุ่น เกือบจะทั้งดุ้น แทบทุกชิ้น เลยทีเดียว!! ซึ่ง
นั่นหมายความว่า คนญี่ปุ่น ก็ใช้รถที่ติดตั้งวัสดุตกแต่งภายใน แบบเดียวกัน ใกล้เคียงกัน พอๆ กัน
กับคนไทย เลยในคราวนี้!

การตกแต่งภายในของรุ่น 2.0 GT จะเป็นรุ่นมาตรฐาน หรือรุ่นย่อยพิเศษใดๆ ก็ตาม
รวมทั้งรุ่น 1.8 GLS-Ltd จะใช้สีดำ และหุ้มเบาะนั่งทั้งหมด ด้วยหนัง ซึ่งมีคุณภาพ
ดีพอประมาณ ไม่ถึงกับวิเศษเลิศเลอนัก เป็นหนังเกรดเดียวกับเบาะนั่งของ SUV
รุ่นขายดี เพื่อนร่วมค่ายเดียวกันอย่าง Mitsubishi Pajero Sport นั่นละครับ

แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 GLS และ 1.8 GLX อันเป็นรุ่นถูกสุด จะตกแต่งด้วยโทนสีเบจ
และใช้ผ้าหุ้มเบาะ ซึ่งมีผิวสัมผัสค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน

เบาะนั่งคู่หน้านั้น นั่งสบาย กำลังดี สำหรับผมแล้ว ไม่ปวดหลัง หากเดินทางไกลๆ แต่ถ้านั่งนานๆ
อาจมีอาการเมื่อยบ้างเล็กๆน้อย ไม่เยอะนัก ตัวเบาะรองนั่ง และ พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำค่อนข้าง
นุ่มกำลังดี ไม่นุ่มนิ่มเกินเหตุ และก็ไม่แข็งโป๊ก เป็นเสาบ้าน และมีแนวโอบลำตัวให้กระชับขึ้นนิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งเบาะนั่งนั้น ติดตั้งไว้ สูง มาแนวเดียวกันกับ Lancer Cedia หรือ Lancr CNG
รุ่นปัจจุบันกันเลย เพียงแต่ ตำแหน่งแผงหน้าปัด ถูกปรับให้สูงขึ้น ทำให้ ตำแหน่งนั่ง ค่อนข้างเหมาะสม
และถูกหลักสรีรศาสตร์ ข้อดีก็คือ การลุกเข้า – ออก จากเบาะนั่ง ทำได้อย่างง่ายดาย และไม่ต้องออกแรง
ยกตัวขึ้นจากเบาะ มากมายนัก ส่วนข้อเสียก็ตือ สำหรับคนที่ชอบเบาะเตี้ยๆ ตำแหน่งเบาะแบบนี้
อาจทำให้คนกลุ่มดังกล่าว ไม่คุ้นชิน ในการขับรถ ไปพักใหญ่ โดยเฉพาะตอนสาดโค้ง ซึ่งหลายคน
อาจจะไม่แน่ใจนัก ทั้งที่จริงๆแล้ว รถคันนี้ ยังไงๆ ก็เข้าโค้งได้สบายอยู่

ข้อที่ควรต้องปรับปรุง มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
เรื่องแรก อยู่ที่ตำแหน่งการวางแขน บนแผงประตูนั้น ต่ำเกินไป ควรจะออกแบบให้มีความสูง
เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกสักเล็กน้อย เช่นเดียวกับ ฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง หุ้มหนัง ซึ่งควรจะเป็นที่วางแขน
ได้เต็มรูปแบบกว่านี้ ใช้งานได้จริงกว่านี้ ไม่ใช่มีเอาไว้ปิดกล่องใส่ CD กันอย่างเดียว เหมือนที่เป็นอยู่

อีกประการหนึ่งก็คือ พวงมาลัยนั้น แม้จะปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ แต่กลับไม่สามารถ ปรับระยะใกล้ – ไกล
เข้าหา – ออกห่าง จากตัวผู้ขับขี่ ในแบบ Telescopic ได้ ซึ่งอันที่จริง พวงมาลัยที่ปรับระดับได้มากกว่า
จะยิ่งช่วยให้ การปรับตำแหน่งนั่งขับ สำหรับเจ้าของรถแต่ละราย สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น และลดความ
เมื่อยล้าจากการปรับท่านั่ง ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ ลงไปได้เยอะ รถระดับนี้ น่าจะมีมาให้ได้แล้ว!

และที่เห็นอยู่นี้ คือเบาะนั่งของรุ่น 1.8 GLS-Ltd ซึ่ง แทบจะหาความแตกต่างจากรุ่น 2.0 GT ไม่เจอ
ถึงขนาดที่ว่า ตอนใส่รูป ทำบทความรีวิวนี้ ผมยังใส่ผิดตำแหน่งมาแล้วเลย เอารูปเบาะคู่หน้าของรุ่น
2.0 GT ไปใส่ไว้ด้านล่าง แล้วเอารูปของ เบาะนั่ง 1.8 GLS-Ltd ไปใส่ไว้ข้างบนแทน….(-_-‘)

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า Mitsubishi มีการปรับปรุง กลไกการปรับเลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง
จากเดิม ที่มักทำเป็นมือจับเล็กๆ ข้างฐานเบาะรองนั่ง มาแทบจะทุกยุคทุกสมัย คราวนี้ พวกเขา
เลือกใช้ กลไกเหล็กตัว U เหมือนเช่นชาวบ้านชาวช่องเขาแล้วเสียที

แต่จะว่าไป ถ้าให้สมบูรณ์แบบยิ่งกว่านี้ การปรับปรุงครั้งต่อไป ขอเบาะนั่งฝั่งคนขับปรับด้วย
สวิชต์ไฟฟ้า มาให้ จะเป็นการดียิ่ง และจะดีสุดติ่ง ขึ้นไปอีก หากเบาะฝั่งผู้โดยสาร ด้านหน้า
จะมีสวิชต์ ปรับไฟฟ้า มาให้ด้วยเหมือนกัน! เอาเฉพาะรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS-Ltd เลยนะ
พ่อคุณ!

ก็ ขนาด Mitsubishi Triton รุ่นท็อป 3.2 GLS กับ Mitsubishi Pajero Sport เขายังมีมาให้เลย
แล้วทำไม Lancer EX ถึงจะมีกับเขาด้วยบ้างไม่ได้ละ? หืม?

การเข้าออกจากประตูคู่หลังนั้น ถือว่า ทำได้พอกัน กับรถยนต์ในระดับ Compact
(C-Segment) ทั่วไปที่ควรจะเป็น ตอนก้าวเข้าไปนั่ง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแค่ว่า
ตอนลุกออกจากรถ อาจจะต้องเหวี่ยงเท้าหลบ เสาหลังคากลาง B-Pillar กันสักหน่อย

ซึ่งอันที่จริง ปัญหานี้ ก็พบได้ในรถหลายๆ รุ่น ในพิกัดเดียวกันนี้ จะให้ทำอย่างไรได้
ในเมื่อ ระยะฐานล้อ ถูกกำหนดมาเท่านี้ และ ตำแหน่งเบาะนั่ง กับตำแหน่งของ เสา
หลังคา B-Pillar ก็จะต้องอยู่ในสัดส่วนประมาณนี้อยู่แล้ว

ในรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า มี Scrub plate
ลาย สัญลักษณ์ RalliArt ติดมาให้ด้วย ทั้ง 4 ตำแหน่ง ครบถ้วน ในขณะที่
รุ่นอื่นๆ เช่น 1.8 ลิตร ข้างล้างนี้ จะไม่มีมาให้

สิ่งที่หลายคนยังสงสัยคือ เสียงปิดประตู ที่เบาบางเฉียบ เสียจนชวนให้ประหวั่นพรั่นพรึง
ว่าทำไมเสียงมันช่างฟังแล้ว บางได้ขนาดนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผมเคยตำหนิไปก่อนหน้านี้
ได้รับการแก้ไขไปแล้วหรือยัง?

คำตอบที่ผมพบเจอ ในรถรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept ก็คือ เสียงปิดประตูนั้น ถูกปรับปรุง
ให้ดีขึ้นจาก รถรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS-Ltd คันสีเงิน ที่ปรากฎร่วมกันในรีวิวนี้ แล้ว
พูดง่ายๆก็คือ เสียงปิดประตู มีการแก้ไขให้ดีกว่าเดิม เล็กน้อย คือเสียงไม่กลวง จนแทบ
จะเป็นเสียง เนื้อเหล็กปะทะเนื้อเหล็ก อย่างที่เคยได้ยินในรถล็อตแรกๆ แต่ เสียงก็ยัง
ไม่ถึงกับดีเทียบเท่ากับ เสียงปิดประตู ของ Galant Fortis เวอร์ชันญี่ปุ่น แท้ๆ แต่อย่างใด

จุดเด่นหนึ่งในหลายๆประการ ของห้องโดยสาร Lancer EX นั้น อยู่ที่การออกแบบ
พื้นที่โดยสาร ด้านหลัง ซึ่งต้องขอบอกว่า “ประเสริฐที่สุด ในบรรดารถยนต์นั่งกลุ่ม
C-Segment ทุกคันในตลาดเมืองไทย ตอนนี้ เลยทีเดียว”

เริ่มจาก เบาะนั่งด้านหลังนั้น มีพื้นที่เหนือศีรษะ เยอะกำลังดี แต่นั่งสบายกว่ารถยนต์คอมแพกต์
ทุกรุ่นในตลาด เนื่องจาก ทั้งเบาะรองนั่ง และพนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำ ที่ค่อนข้างนุ่มกำลังดี ไม่นุ่ม
จนนิ่มเกินไป เรียกว่า นุ่มสบายสำหรับการเดินทางไกลกันได้เลย มีพนักวางแขน พับเก็บได้
ซ่อนอยู่ตรงกลาง และมีช่องวางแก้วน้ำในตัว 2 ตำแหน่ง อยู่ตรงนั้นด้วย ถ้าคิดจะวางขวดน้ำขนาด
7 บาท หรือข้าวของที่เล็ก และพอดีกับพื้นที่ตรงนี้ ละก็ โอเค วางได้สบายแน่ๆ แต่ถ้าใหญ่เกินนี้
ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

ที่สำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว โครงสร้างเบาะทั้งหน้า และ หลัง ของ Lancer EX
เวอร์ชันไทย เรียกได้ว่า เหมือนกันกับ Galant Fortis เวอร์ชันญี่ปุ่น แทบจะทุกประการ
กันเลยทีเดียว ทั้งความนุ่ม และความสบาย รูปแบบ แนวตะเข็บ การตัดเย็บขึ้นรูป
ถ้าจะแตกต่าง ก็มีเพียงแค่ ในเวอร์ชันญี่ปุ่นนั้น จะมีรุ่นหรู Super EXCEED ที่ใช้
ผ้าหุ้มเบาะ เป็นหนังสังเคราะห์ GlanLuxe จากบริษัท Seiren เท่านั้นเลย

ที่น่าชมเชยมากๆ คือ ตำแหน่งที่วางแขนทั้งบนแผงประตู และที่วางแขนแบบพับเก็บได้
ซึ่งนอกจากจะมีมาให้ “ครบทุกรุ่น” ตั้งแต่ 1.8 GLX กันแล้ว คุณยังสามารถวางแขน
ได้อย่างสบาย วางได้จริง วางได้พอดีกับช่วงแขนของทุกๆคน ลงตัวพอดี แบบไม่จำเป็น
ต้องแก้ไขอะไรอีกต่อไป!!

อยากบอกว่า รถรุ่นหลังจากนี้ โปรดอย่าได้แก้ไขอะไรจากที่เป็นอยู่ใน รถรุ่นปัจจุบันนี้แล้วเชียวนะ!!

มากไปกว่านั้น พนักศีรษะของรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS-Ltd  ยัง มีมาให้ 3 ชิ้น หนาๆ นุ่มๆ
ราวกับรถยุโรป ระดับหรู เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 GLS และ 1.8 GLX จะมี
พนักศีรษะเบาะหลังมาให้แค่ 2 ตำแหน่ง

เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหลัง ถ้าเป็นรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS-Ltd คันที่เห็นอยู่นี้
จะเป็นแบบ ELR 3 จุด ให้มาครบทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 GLS และ 1.8 GLX เข็มขัด
นิรภัยแบบ ELR 3 จุด จะมีมาให้เพียง 2 ตำแหน่ง คือฝั่งซ้าย และขวา ส่วน ตรงกลางจะเป็นแบบ
ELR 2 จุด คาดเอว 1 ตำแหน่งมาให้

นอกจากนี้ เบาะนั่งแถวหลัง ยังสามารถแบ่งพับแยกฝั่ง ซ้าย -ขวา ได้
ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับห้องเก็บของด้านหลังได้อีกด้วย
อย่างที่เห็นอยู่นี้

และไม่ใช่เพียงแค่รุ่น 2.0 GT กับ 2.0 GT RalliArt Concept เท่านั้น
ที่มีเบาะหลังแบ่งพับได้ติดตั้งมาให้

ในรุ่น 1.8 ลิตร ทุกรุ่น ตั้งแต่ 1.8 GLX รุ่นถูกสุด 1.8 GLS และ
1.8 GLS-Ltd ก็มีมาให้ด้วย เช่นเดียวกัน

ฝากระโปรงหลัง เปิดได้จากทั้ง ก้านโยก แถวๆ ใต้เบาะคนขับ ไปจนถึงสวิชต์ไฟฟ้า
บนกุญแจรีโมทคอนโทรล ในเมื่อ ทั้ง 4 คันที่ผมนำมาทดลองขับ ฟังก์ชันนี้ เหมือนกันหมด
จึงขอเลือกเอาแค่ภาพจากรุ่น 1.8 GLS-Ltd ให้ชมกันเพียงรุ่นเดียวก็พอ

ฝากระโปรงหลังของ Lancer EX นั้น มีลักษณะการเปิดนั้น คล้ายกับ Mazda 3
รุ่น Sedan 4 ประตู เอามากๆ ใช้ ช็อกอัพ ค้ำยัน ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งช่วยให้การเปิด-ปิด
นุ่มนวลขึ้นเยอะ ผิดกับ รถยุโรปสมัยนี้หลายๆรุ่น ที่เน้นลดต้นทุน แล้วปล่อยให้
ฝากระโปรงหลัง ดีดใส่หน้า เจ้าของรถกันง่ายๆ แบบนั้น

ผิดกันตรงที่ว่า พื้นที่ในห้องเก็บของด้านหลังของ Lancer EX นั้น ออกจะพอกันกับ
Mazda 3 Sedan แต่ ถ้าถามว่าใหญ่ขนาดไหน คงต้องไปวัดกันเอาเองนะครับ
เพราะผมคงจะไม่นอนลงไปในห้องเก็บของด้านหลังของ รถรุ่นนี้ให้ดูกันแน่ๆ

ถ้าอยากรู้เป็นตัวเลข เท่าที่พอหาเทียบตัวเลขได้ จะอยู่ที่ 12.3 ลูกบาศก์นิ้ว แต่ถ้า
วัดตามมาตรฐษนของ VDA เยอรมันแล้ว จะได้อยู่ในช่วง 377 – 400 ลิตร (VDA)
ไม่เกินนี้

มาดูรายละเอียดการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องโดยสารกันบ้าง

Hiroyuki Abe  : Interior Designer ของ Lancer EX เล่าว่า “เราออกแบบ Lancer ใหม่ โดยคิด
คำนึงตลอดเวลา ถึงประเด็นด้านความสบาย และการใช้งาน ที่ต้องลงตัว เราไม่ได้สนใจว่ามันจะออกมา
ด้วยหน้าตาอย่างไร แต่เราต้องการให้ทุกชิ้นส่วนที่ประกอบรวมกัน มีความหมายในตัวของมันเอง”

“แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้สึก กว้างขวาง ของตัวรถ ไปพร้อมกับการปรับปรุงตำแหน่ง
นั่งขับดังนั้น แนวเส้นโค้ง จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับบริเวณ พื้นที่ส่วนกลาง ของแผงหน้าปัด โดยใช้สีเงิน
Silver ซึ่งเดิม จะใช้เพียงแค่ประดับบริเวณแผงประตู ถูกนำมาประดับ ลงบนแนวโค้งยาว นี้ด้วย เราลอง
ปรับตำแหน่งความสูง ปรับมุมองศา ต่างๆ แม้แต่ ขนาดความยาว และ ความสูงของพื้นที่บนแผงสีเงิน
จนกว่าจะได้มาซึ่งมุม และระดับที่เราต้องการ”

เท่ากับว่า เหตุผลที่ แผงหน้าปัด ออกแบบมาในสไตล์เรียบง่าย อีกทั้ง มีแนวเส้นโค้งคาดกลาง
แบ่งครึ่งระหว่าง แผงหน้าปัดส่วนบน กับส่วนล่าง แบบนี้ นั่นเพราะว่า แผงพลาสติกยาวๆนั้น
จะเพิ่มความรู้สึกของผู้โดยสาร ว่า ภายในรถ กว้างขึ้น ขณะที่แผงควบคุมตรงกลาง ถูกดึงเข้ามา
ให้ใกล้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้าอีกนิด เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานเป็นหลัก
ในรุ่น 2.0 GT ที่เห็นอยู่นี้ จะมีแป้นคันเร่ง และแป้นเบรก แบบสปอร์ต มาให้เป็นพิเศษ

แผงควบคุมวิทยุ นั้น ถูกออกแบบให้รวบเข้าไปกับ ช่องแอร์ กลาง ทั้ง ซ้าย – ขวา หมายความว่า
หากคิดจะเปลี่ยนเครื่องเสียง หรือติดตั้งระบบนำทาง อย่างเช่นในรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept
ก็จะต้องเปลี่ยนแผงหน้ากากช่องแอร์ ไปด้วยพร้อมกัน

แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า ทั้งซ้าย – ขวา พร้อมฝาปิดพับเก็บ มาให้ครบทุกรุ่น เช่นเดียวกับ
ไฟอ่านแผนที่ และไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร ถูกจับรวบเป็นชุดเดียวกัน ติดตั้งไว้ ใกล้กับ
กระจกมองหลังแบบตัดแสงด้วยมือ ทั้งหมดนี้ เหมือนกันทุกรุ่นย่อย ตั้งแต่ ถูกสด ยันแพงสุด

ส่วนในรุ่น 1.8 ลิตรนั้น คันที่เห็นอยู่นี้ อย่างที่บอกไปในช่วงแรกแล้วว่า เป็นรุ่น 1.8 GLS-Ltd.
ซึ่งจะตกแต่งภายในด้วยสีดำ ดังนั้น เมื่อดูเผินๆ อาจจะไม่ค่อยแตกต่างจากรุ่น 2.0 GT เท่าใดนัก

แต่ ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่า รุ่น 1.8 ลิตร จะไม่มี สวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง และสวิชต์ระบบควบคุม
ความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control บนพวงมาลัย มีแค่ แผ่นพลาสติกสีเงิน แปะอยู่ ทั้ง 2 ฝั่ง
แค่นั้น (ในรุ่น 1.8 GLX แผ่นพลาสติกประดับที่ว่า ยังจะถูกยกออกไปอีกต่างหาก) และไม่มี
แป้น Paddle Shift ทำจาก แม็กนีเซียม ติดตั้งที่คอพวงมาลัย แต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยใดก็ตาม ชุดมาตรวัดความเร็ว มาตรวัดรอบ จะเหมือนกันทั้งหมด
เป็นแบบ 2 วงกลม แยกฝั่งชัดเจน จะว่าไปแล้ว ก็เป็นเอกลักษณ์ในการออกแบบของ
Mitsubishi หลายๆรุ่น ในอดีตที่่ผ่านมา เพียงแต่ว่า มันเป็นเอกลักษณ์ที่เคยอยู่ใน
Mitsubishi Pajero มาก่อน ที่จะขยายมายังรถรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน อย่างเช่น SUV
ทั้ง  Mitsubishi Outlander ใหม่ และ Mitsubihi RVR/ASX ใหม่ล่าสุด

font ตัวอักษรที่ใช้นั้น เป็นแบบแบน ซึ่ง มีข้อเสียคือ หากกำลังขับรถในความเร็วปานกลาง
เมื่อจะละสายตาจากถนนลงมาดูว่า ใช้ความเร็วเท่าใดอยู่ จะเริ่ม อ่านตัวเลขค่อนข้างยาก
เพราะมันจะดูลายตา กลืนกันไปหมด ต้องใช้เวลาเพ่งกันนานกว่ารถทั่วไป 1-2 วินาที
จะว่าไป หากมองในแง่ การออกแบบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
font แบบนี้ ไม่ได้ช่วยลดทอนปัญหาดังกล่าวลงไปเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
หากแต่เป็นเพียงแค่ ประเด็นเสริมเท่านั้นเอง

ยังมีมาตรวัด Trip Meter สำหรับการวัดระยะทาง ของคนขับ แยกต่างหาก ทั้ง Trip A และ Trip B
มาตรวัด อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ไปด้วยในตัว เป็นหน้าจอสำหรับตั้งค่า Setting ระบบไฟฟ้าในรถต่างๆ
และการแจ้งเตือนเมื่อถึงระยะนำรถเข้าศูนย์บริการ

นอกจากนี้ ยังมีหน้าจอ วัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ถัดลงมาเป็นแถบแสดงอัตราสิ้นเปลืองแบบ
Real-Time เหมือนใน Honda หลายๆรุ่น และยังมี Mode สำหรับแจ้งเตือนว่า ปริมาณน้ำมันในถัง
ยังเหลือเพียงพอให้คุณขับรถไปได้อีกกี่กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องดีที่ Mitsubishi ใส่ของเล่น แบบนี้มาให้ทุกรุ่น

หันเหลียวมามองฝั่งขวากันบ้าง ในรุ่น 2.0 GT จะพบกับ สวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง
บนฝั่งซ้ายของพวงมาลัย และสวิชต์ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control
มาให้บนฝั่งขวาของพวงมาลัย และมี แป้น Paddle Shift ทำจาก แม็กนีเซียม ติดตั้งที่คอพวงมาลัย

และถ้ามองลงมายัง ช่องใส่สวิชต์ 3 ช่องที่เห็น จะพบว่า รุ่น 2.0 GT จะมีสวิชต์ สำหรับปรับ
ระดับสูง-ต่ำของไฟหน้า มาให้ เพียงรุ่นเดียว (ไม่มีในรุ่น 1.8 ลิตร)

เช่นเดียวกัน การไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกชั้นวรรณะ ของ Mitsubishi นั้น ยังรวมไปถึง
เรื่องเล็กๆ ที่พวกเขาดันพลาด และมองข้ามไป อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ พับเผื่อยสิเอ้า!

กระจกมองข้างนั้น ปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นล่างสุด 1.8 GLX ยัน 2.0 GT
แต่ สิ่งที่เราไม่คาดคิดว่ามันจะต้องมาเหมือนกันด้วย ก็คือ กระจกมองข้างนั้น ปรับด้วยไฟฟ้า
ได้อย่างเดียว แต่ พับเก็บด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ไม่ได้ ต้องพับเก็บด้วยมือ…

เรื่อง กระจกมองข้าง พับด้วยไฟฟ้า ตอนแรก ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่หรอกครับ
จนกระทั่ง ต้องถอยหลังเข้าจอดในบ้านเรียบร้อยแล้ว คิดจะพับกระจกมองข้าง เหมือนอย่างที่
เคยทำกับ Honda City ที่ผมใช้อยู่นั่นแหละ…

เมื่อนั้นละครับ ผมก็เริ่มรู้แล้วละว่า สำหรับบางคนแล้ว ของเล็กๆน้อยๆแบบนี้
มันกลายเป็นของจำเป็นไปแล้ว และผู้ผลิตก็ไม่ควรจะงก หรือกั๊ก ของแบบนี้เอาไว้
ให้ลูกค้าด่าเละเทะ กันตั้งแต่รถเปิดตัวอย่างนี้เลย…

กระจกหน้าต่างฝั่งคนขับแบบ One-Touch นี่ก็เหมือนกัน ทำตัวเป็น Chevrolet ไปได้
แบบที่กดลงได้ครั้งเดียว แต่พอเวลาเอาขึ้น ต้องใช้นิ้วง้างขึ้นมากันเอาเอง โดยตอนนั้น
คนของ Chevrolet อ้างเหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัย…พูดตรงๆนะ ฟังไม่ขึ้น!
แต่ก็ไม่นึกว่าจะมาเจอใน Lancer EX ด้วยเช่นเดียวกัน

ตอนจ่ายตังค์ค่าทางด่วนบ่อยๆ ผมสุดแสนจะเซ็ง ที่จะต้องดึงกระจกขึ้น ด้วยนิ้ว
ของตัวเอง แทนที่จะมีระบบ ดึงขึ้น One-Touch มาให้เหมือนตอนกดกระจกลง

จริงๆแล้ว มันไม่ใช่เรื่องเหตุผลด้านความปลอดภัยหรอกครับ เพราะถ้าอ้างเช่นนั้นจริง
ก็ใส่ระบบ Jam-Protection ดีดกลับ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง ไปเสียเลย ก็สิ้นเรื่อง ไม่ต้องมานั่ง
อ้างโน่นอ้างนี่กันให้เสียเวลา

ในรุ่น 1.8 GLS , 1.8 GLS-Ltd. และ 2.0 GT มาตรฐาน จะมีเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ มาให้
แม้จะดู พอเพียง และสะดวกต่อการใช้งาน แต่มันดูเรียบง่ายไปหน่อย ไม่มีหน้าจอแสดงข้อมูล
ดิจิตอล บอกอุณหภูมิ และแรงลมที่ใช้งานอยู่ ให้ดูแล้ว เข้าใจว่า ตัวรถน่าจะดูมีราคาแพง เท่าใดเลย
แถมในรุ่น 1.8 GLX สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ก็ยังเป็นแบบมือหมุนเหมือนกัน ต่างกันแค่ว่า ไม่ใช่
ระบบปรับอุณหภูมิอัตโนมัติ และสวิชต์วงกลม ไม่มีวงกลมโครเมียมพลาสติกล้อมรอบ เท่ากับว่า
ดูจากภายนอก สวิชต์เครื่องปรับอากาศรุ่นล่างสุด กับรุ่นแพงสุด แทบจะไม่ต่างกันเลย

อันที่จริง ในรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS-Ltd ควรจะมีหน้าจอที่ดูอลังการงานสร้างกว่านี้มาให้สักหน่อย
แต่ในเมื่อ เวอร์ชันตลาดโลก ก็ยังไม่เห็น ว่ามีประเทศไหน เขาทำออกมาขายกันเลย ผมจึงยังเรียกร้อง
ไม่ได้เต็มปากนัก

แต่ที่พูดได้อย่างแน่นอนก็คือ ตำแหน่งของสวิชต์เครื่องปรับอากาศนั้น ผมว่าอยู่ต่ำเกินไป เข้าใจดีว่า
จะต้องออกแบบให้แนวเส้นแผงพาสติกคั่นกลางระหว่าง ครึ่งล่าง กับครึ่งบนของ แผงหน้าปัด จะต้อง
ต่อเนื่องกัน เพื่อช่วยเพิ่มความรู้สึกว่า ห้องโดยสาร กว้างในแนวขวาง แต่ว่า การเลือกมองความสวยงาม
มากกว่าจะเลือกเลื่อนตำแหน่งสวิชต์เครื่องรับอากาศ ขึ้นมาให้สูงขึ้นกว่านี้สักหน่อย ก็ช่วยลดการก้มมอง
ลงไปในขณะขับขี่ ได้มากอยู่เหมือนกัน

ชุดเครื่องเสียง ของรุ่น 1.8 GLS , 1.8 GLS-Ltd และ 2.0 GT เป็นวิทยุ พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 6 แผ่น
มี CD-Changer ในตัว มาให้เหมือนกันหมด อยากขอชมเชยว่า คุณภาพเสียงนั้น ค่อนข้างดีมาก จนน่า
ประหลาดใจ ถ้าเทียบในบรรดาเครื่องเสียงติดรถยนต์ จากโรงงาน ของรถในระดับราคา ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท
แล้วละก็ เครื่องเสียงชุดนี้ของ Lancer EX จะปีนขึ้นไปอยู่ในอันดับต้นๆ ได้แน่นอน!! เสียงที่ออกมา
ปรับให้ลงตัวกับความชอบของแต่ละหู ไม่ยาก เสียงเบส โอเค เสียงใส กำลังดี แต่ก็ยังถือว่าไม่ใช่ดีที่สุด
เพียงแค่ ฟังเพลงได้ ไม่หงุดหงิดหูแน่ๆ ถ้าไม่ใช่นักฟังเพงขั้น หูเทพทอง แล้วละก็

แล้วชุดเครื่องเสียงของรุ่น 1.8 GLX ละ เป็นอย่างไร?
ก็แค่ วิทยุพร้อมเครื่องเล่น CD แบบ 1 DIN จาก SONY Xplode หน้าตาทึ่มๆ 1 เครื่อง นั่นละครับ
คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร ผมไม่เคยลองฟังครับ แต่ดูโหงวเฮ้งแล้ว ไม่น่าคาดหวังคุณภาพเสียง
จากวิทยุ 4 ลำโพง แบบนั้นได้เท่าใดนัก

ส่วนในรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept จะมีการประดับประดาด้วย อุปกรณ์ตกแต่ง ให้ดูแตกต่าง
จากรุ่น 2.0 GT มาตรฐาน ที่เห็นอยู่ข้างบนนี้นิดหน่อย

ไม่ว่าจะเป็น คันเกียร์ และมือจับเบรกมือ (ซึ่งอยากรู้นักว่าใครคิด งานออกแบบ มันช่างดู ราวกับว่า
หลุดมาจาก สำนักแต่งรถ “คลองถม สะพานเหล็ก Racing Amazing” กันจังเลย)

แต่ที่เหลือทั้ง ฐานรองแป้นเกียร์ พร้อมฝาปิดช่องเขี่ยบุหรี่ เป็นพลาสติกสีเงิน ” Cool Silver”
รวมทั้ง ชุดวงแหวนครอบสวิตซ์เครื่องปรับอากาศ 3 วงกลม ของแท้จาก RalliArt ดูดี และ
ควรมีมาให้เป็น อุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น 2.0 GT ปกติ ทั่วไป ด้วยซ้ำ  

แต่ที่ถือว่า เด็ดกว่ารุ่นอื่นๆ นั้น อยู่ที่ หน้าจอมอนิเตอร์ สี ขนาด 7 นิ้ว แบบ Touch Screen นี่ละครับ
ที่มีมาให้ทั้งรุ่น 2.0 GT RalliArt Concept และ 1.8 GLS Limited Smart Concept (ณ เบื้องต้น มีมาให้
แค่ 2 รุ่นนี้เท่านั้น)

ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นหน้าจอ แสดงผล ให้กับ ระบบนำทางผ่านดาวเทียม
Navigation System ซึ่งมีหน้าจอแสดงแผนที่ สวยงาม ดูง่าย เข้าใจง่าย ไม่ยากเย็น
(อย่างที่เห็นในรูปข้างบน เป็น Mode หน้าจอ กลางคืน) แล้ว…

ยังสามารถเลือกการทำงาน ใน Mode อื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงจาก
USB Handydrive เสียบต่อเชื่อมกับเครื่องเล่นเพลง iPod หรือเสียบต่อสัญญาณอุปกรณ์
ความบันเทิงต่างๆ เข้ากับช่อง AUX อีกทั้งยังดูโทรทัศน์ ได้อีกด้วยแล้ว ยังสามารถปิดหน้าจอ
หรือ ตั้งค่าต่างๆ ได้ ตามต้องการ

จุดที่ผมขอชมเชยเป็นพิเศษ คือการออกแบบ หน้าจอของแต่ละเมนู ที่ช่วยทำให้ ชุดแผงหน้าปัด
ซึ่งดูโเตียนโล่ง ไม่ค่อยจะมีอะไร ขอ Lancer EX ให้ดูมีรายละเอียด น่าสนใจขึ้นมาได้อย่าง
น่าประหลาด ไม่ว่าจะเป็น เมนู วิทยุ ที่เห็นอยู่นี้ ใช้งานได้ไม่ยาก บันทึกสถานีที่ต้องการได้
ตามมาตรฐาน เครื่องเล่นวิทยุสมัยนี้ทั่วไป เขาเป็นกันมาตั้งนานแล้ว อีกทั้งยังฟังคลื่นวิทยุชุมชนได้
ซึ่งวิทยุของรถสมัยนี้บางรุ่น ทำเช่นนั้นไม่ได้

ส่วนเมนู เครื่องเล่น CD และ ต่อเชื่อมกับ โทรศัพท์มือถือ Bluetooth นั้น ก็ยังใช้งานง่ายกว่าที่คิด
คนออกแบบหน้าจอ นี่ถือว่า เข้าใจทำมากๆ อย่างไรก็ตาม คุณภาพเสียง ที่ออกมา ใน Mode CD นั้น
จะด้อยกว่าชุดเครื่องเสียงของรุ่นมาตรฐาน ใน 2.0 GT ไปสักเล็กน้อย เสียงเบสไม่หนาเท่า และเสียงใส
ก็ใส แปลกๆ ซึ่ง ใครที่อยากจะต่อยอด ให้มีคุณภาพเสียงดีกว่านี้ ก็คงต้องไปหาสายสัญญาณ ลำโพง และ
ชุดแอมปรีฟายเออร์ มาติดตั้งเพิ่มกันเอาเอง ข้างนอกศูนย์ฯ

อย่างไรก็ตาม ผมว่า ถึงเวลาแล้วละที่ Mitsubishi ควรจะมีรุ่น 2.0 GT Navi Package ติดตั้งจอมอนิเตอร์นี้
ให้เลือกเป็นรุ่นย่อยหลักได้แล้ว ถือว่าเป็นจุดขายใหม่ ที่เรียกลูกค้าเข้าโชว์รูมได้อีกต่างหาก เพราะหน้าจอ
และความง่ายในการใช้งานนั้น ถือว่า ดีพอสมควรอยู่เหมือนกัน ยกเว้นจะเซ็ตระบบให้นำทางไปยังตำแหน่ง
ที่ต้องการ อาจจะยังยากไปนิดนึง ซึ่งก็ต้องปรับแก้เมนูกันอีก ถ้าเป็นไปได้

 ทุกรุ่นจะให้กล่องเก็บของ แบบ 2 ชั้น พร้อมฝาปิด เป็นที่วางแขนหุ้มหนังในตัว กล่องใส่ CD มีขนาดใหญ่
ในระดับที่พอดีกับกล่อง CD ได้ราวๆ ไม่น่าเกิน 10 กล่อง มีช่องวางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง ข้างเบรกมือ

แต่ในรุ่น 1.8 ลิตร เมื่อไม่ต้องมี ช่องสำหรับติดตั้ง สวิชต์ ปิด-เปิด การทำงานของชุดโคมไฟหน้า AFS
บริเวณนี้จึงสามารถทำเป็นช่องวางโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่น iPos / MP3 ได้ ไปในตัว

ทัศนวิสัยด้านหน้าของ Lancer EX นั้น มองเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าจะปรับตำแหน่งเบาะนั่งให้ต่ำสุด
เท่าที่คุณจะดันก้านโยกข้างลำตัว กดลงไปได้ เพราะว่าตำแหน่งเบาะก็ยังถือว่าสูงพอสมควร ในเมื่อ
เป็นเช่นนี้ ทำให้การมองเห็นถนนข้างหน้า และเพื่อนร่วมสัญจร ยังคงชัดเจน ไม่มีปัญหาอะไร

มองมาทางฝั่งขวา เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar อาจดูเหมือนมีการบดบังทัศนวิสัยบ้าง ในขณะเข้าโค้ง
ทางขวา บนถนนที่มีเพียงแค่ 2 เลยสวนกัน  แต่ไม่มากอย่างที่เห็นในรูป กระจกมองข้าง ขนาดใหญ่
มองได้ครบ และชัดเจนดี แถมขอบล่าง ก็ยังไม่โดนภายในกรอบพลาสติกบดบัง เมื่อปรับตำแหน่ง
ให้ออกห่างจากตัวรถมากที่สุด แต่ยังต้องเห็นมือจับประตูด้านข้าง

มองมาทางฝั่งซ้าย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ค่อนข้างหนา แต่ไม่ได้บดบังทัศนวิสัย ขณะ
เลี้ยวกลับรถมากเท่า Toyota Camry รุ่นปัจจุบัน แต่ว่า ความหนาของมัน เลยมีบางส่วน แอบไปบดบัง
การมองเห็นขอบมุมด้านบนฝั่งขวา ของกระจกมองข้างฝั่งซ้าย อย่างที่เห็นในรูป ซึ่งอันที่จริง
ก็เป็นพื้นที่ ที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับจุดสำคัญที่ต้องมองเห็นในกระจกมองข้างอยู่แล้ว เลยยัง
ไม่ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใด

ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ในรุ่น 1.8 ลิตร จะเห็นความโปร่งตา ในระดับกำลังดี รอบคัน ถึงเสาหลังคา
คู่หลัง C-Pillar จะหนาพอประมาณ แต่ก็ไม่ได้ก่อปัญหาการบดบังรถจักรยานยนต์ มากมายนัก
แต่ถ้าเป็นรุ่น 2.0 ลิตร สปอยเลอร์ด้านหลัง มีขนาดใหญ่ จะมีพื้นที่ปีกข้าง บดบังทัศนวิสัยบน
กระจกบังลมหลัง ไปเกือบหมด พอจะเหลือ พื้นที่พอให้มองลอดไปเห็นรถคันที่แล่นตามมา
นิดหน่อย ดังนั้น ในช่วงแรกที่คุณขับรถออกจากโชว์รูม อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นจาก
ความเคยชินในรถคันเก่าของคุณสักหน่อย

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

Lancer EX ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในการผลิตเครื่องยนต์ ของ Mitsubishi Motors
เพราะเป็นรถยนต์รุ่นแรก ที่ถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ตระกูลใหม่ล่าสุด นั่นคือ
4B ซึ่งถูกนำมาใช้ทดแทนเครื่องยนต์ 4G63 อันอยู่ยั้งยืนยงคงกระพันกับตระกูล ซีดานของ Mitsubishi
มานานเกือบ 30 ปี เข้าไปแล้ว 

ทั้งคู่จะมีระบบการทำงานเหมือนกันทุกประการ โดยกลไกการขับเพลาลูกเบี้ยวของทั้ง 2 รุ่นใช้โซ่ Timing
ที่ได้มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบใหม่เพื่อลดเสียงดังและลดการสึกหรอในระยะยาวของการทำงาน

นอกจากนี้ ยังโละเสื้อสูบแบบเหล็กหล่อ จากตระกูล 4G ที่ใช้กันมานานมากแล้ว เปลี่ยนมาใช้
เสื้อสูบและฝาสูบเป็นอลูมิเนียม (ซะที) ฝาครอบวาล์ว และท่อร่วมไอดีแบบใหม่ที่ทำจากพลาสติก 
แบบพิเศษ ไนลอนเรซิ่น จึงให้น้ำหนักเบาพร้อมการระบายความร้อนที่ดี

ที่สำคัญ ยังติดตั้ง ระบบแปรผันวาล์ว MIVEC-II นั้น ควบคุมการเปิด-ปิด วาล์วทั้งฝั่งวาล์วไอดี
และไอเสีย ที่หัวแคมชาฟท์ ในรูปแบบ DVVT (Dual Variable Valve Timing) หรือที่ เรารู้จักดี
ในชื่อ DUAL VVT-i นั่นเอง..

เท่ากับว่า Mitsubishi ใส่ระบบ DUAL VVT-i มาให้ Lancer EX ตั้งแต่ ปีที่แล้ว นะนั่น!

ระบบ MIVEC-II นั้น สามารถปรับและควบคุมการปิดเปิดของวาล์วทั้งด้านไอดีและไอเสียโดยอิสระ
ต่อกัน โดยควบคุมการแปรผันระยะยกวาล์ว ที่หัวแคมชาฟท์ เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงจังหวะการทำงาน
ของเครื่องยนต์ในแต่ละสภาพการขับขี่

โดยปกติแล้ว การควบคุม จังหวะการเปิด-ปิด ของวาล์ว ไอดี และไอเสีย จะปิดและเปิดได้จากกลไกล
การกดของลูกเบี้ยวใน เพลาราวลิ้น (เพลาลูกเบี้ยว) คือลูกเบี้ยว จะไปกดสปริงวาล์ว ให้ดันวาล์วไอดี
หรือไอเสีย เปิดตามจังหวะรอบที่กำหนดไว้

แต่ระบบ MIVEC II ในเครื่องยนต์ ตระกูล 4B นี้มีระบบควบคุมที่สามารถปรับให้เพลาลูกเบี้ยว หมุนเยื้องศูนย์
ไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้ ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย ซึ่งแยกการควบคุมออกจากกัน (จากภาพประกอบ Intake
MIVEC Actuator และ Exhaust MIVEC Actuator) เพื่อไปกดวาล์วให้เปิดเร็วขึ้นหรือหมุนย้อนกลับ
เพื่อกดวาล์วให้ปิดช้าลงเป็นต้น เมื่อส่วนผสมไอดีที่เข้าไปในห้องเผาไหม้และไอเสียที่ออกมาจาก
ห้องเผาไหม้ เหมาะสมตามสภาวะของเครื่องยนต์แต่ละช่วงไม่ว่าจะเป็นช่วงรอบเดินเบา ช่วงที่ต้องการ
อัตราเร่งอย่างฉับพลัน จนต้องกดคันเร่งกันหนักกว่าปกติ หรือในช่วงการขับขี่เดินทางเรื่อยๆ

โดย Lancer EX เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือก 2 ขนาด เหมือนเช่นหลายๆตลาดในโลก 

ได้แก่ เครื่องยนต์ รหัส 4B10 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 77.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด ECI-MULTI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC-II
(ซึ่งในที่สุด มิตซูบิชิ บ้านเรา ก็เอามาลงใน ตระกูลแลนเซอร์ ได้ซะที หลังจากต้องให้รอนาน
เป็น 10 ปี) ตัวเลขแรงม้า จากในสเป็ก ก็ไม่ธรรมดาแหะ 139 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 172 นิวตันเมตร หรือ 17.52 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ 4B10 นี้ ถูกปรับปรุงให้สามารถเติมน้ำมันเบนซินได้ “ทุกชนิดที่ได้รับ การรับรองจาก
กรมธุรกิจพลังงาน ให้สามารถจำหน่ายได้ในประเทศไทย” ทั้งเบนซิน 95 และ 91 แก็สโซฮอลล์ 95
แก็สโซฮอลล์ 91 E10 E20 จนถึง E85 !!

โดยกล่อง ECU ขนาด 32 Bit จะรับข้อมูล และสั่งปรับ รวมทั้งกำหนด รูปแบบการฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ให้เหมาะสมตามชนิดของน้ำมันที่คุณเติมเข้าไป นั่นหมายความว่า เพื่อจะปรับแต่งให้ Lancer EX 1.8 ลิตร
เติม แก็สโซฮอลล์ E85 ได้นั้น นอกจากจะต้อง เขียนโปรแกรม ECU ขึ้นใหม่แล้ว ยังต้องมีการปรับปรุงชิ้นส่วน
บางรายการให้แตกต่างจากเครื่องยนต์รุ่น 2.0 ลิตร ได้แก่…

1. ถังน้ำมันเชื้อเพลิง (ภายในเคลือบสารป้องกันเอทานอล)
2. ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ท่อทางเดินน้ำมันเชื้อเพลิง
4. หัวฉีดและท่อร่วมน้ำมันเชื้อเพลิง
5. ลูกสูบและแหวนลูกสูบชุบผิว
6. วาล์วไอเสียและบ่าวาล์ว
7. หัวเทียน

ส่วนรุ่น 2.0 GT อันเป็นรุ่นท็อป ไม่ว่าจะเป็น White Pearl หรือ RalliArt อะไรก็ตามแต่
จะวางเครื่องยนต์ รหัส 4B11 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร หรือห้องเผาไหม้แบบ Square กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีด ECI-MULTI
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC-II เช่นเดียวกัน

พละกำลังสูงสุด 154 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 198 นิวตันเมตร หรือ
20.17 กก.-ม.ที่ 4,250 รอบ/นาที ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี คุณจะเห็นว่า Mitsubishi แอบใส่เหล็กค้ำโช้ค
ติดตั้งมาให้ด้วย เป็นพิเศษเฉพาะรุ่น!

แต่ Lancer EX 2.0 GT ไม่สามารถ เติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ E85 ได้  ที่เหลือนอกนั้น สามารถเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 กับ 91 และ แก็สโซฮอลล์ 95 กับ 91 ที่มีส่วนผสมของเอทานอลตั้งแต่ E0 ถึง E20 ได้ตามปกติ

ทั้ง 2 ขุมพลัง จะเชื่อมเข้ากับ เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT พร้อมระบบสมองกล
INVECS-III ที่มีอัตราทดเกียร์ตั้งแต่ 2.349 – 0.394 : 1 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 1.750 : 1
และอัตราทดเฟืองท้าย สูงปรี๊ด ถึง 6.120 : 1

อย่างที่เคยได้บอกไปแล้วใน บทความ Exclusive First Impression ว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า
อัตราทดเกียร์ เหมือนกับ เกียร์ CVT ของ Nissan Teana ใหม่ J32 แบบไม่ผิดเพี้ยน…

นั่นหมายความว่า Lancer EX ใหม่ ใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT รุ่นเดียวกัน และลูกเดียวกันกับทั้ง
Nissan TEANA J32 ใหม่ และ Nissan X-Trail 4×2 รุ่นล่าสุด ที่ขายได้กระปริบกระปรอยอยู่ตอนนี้
นั่นเองครับ เพียงแต่ ใน Lancer EX จะมีโหมด บวก/ลบ ให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง ตามใจ
และในรุ่น 2.0 GT จะมีแป้น Paddle Shift ทำจาก แม็กนีเซียม มาให้ ด้านหลังพวงมาลัย ทั้ง 2 ฝั่ง อีกด้วย
ซึ่ง ประเด็นนี้ Nissan ทั้ง 2 รุ่น ไม่มีมาให้

นั่นแค่ความแตกต่างภายนอก ส่วนความแตกต่างภายในนั้น Mitsubihi มีการปรับแต่งสมองกลเกียร์
ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ของตนเอง อย่างไรก็ตาม เกียร์ลูกนี้ มีแนวโน้ม อยู่เหมือนกันว่า ถ้า
ค่ายใดค่ายหนึ่ง เกิดมีปัญหาประการใด อันเป็นเรื่องที่เกิดจากการออกแบบ ภายในชุดเกียร์ โอกาสที่
อีกค่ายหนึ่ง จะเกิดปัญหาเดียวกัน ก็พอจะมีอยู่บ้างเช่นเดียวกัน…แต่..ในทางกลับกัน หากเกียร์ของ
Teana มีปัญหาในอนาคต บางที ม้นก็ไม่ได้หมายความว่า เกียร์ ของ Lancer EX ต้องมีปัญหา
ไปด้วยแต่อย่างใด (ว่าไปนั่น…….)

เราทำการจับเวลาหาอัตราเร่ง ของ Lancer EX ทั้ง 3 คัน ที่อยู่ในมือเรา ต่างกรรม ต่างวาระ
โดยใช้มาตรฐษนดั้งเดิมคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน (คนขับ = ผม 95 กิโลกรัม
และน้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา 48 กิโลกรัม) ตัวเลขที่ออกมา
เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน คือกลุ่ม Compact (C-Segment) มีดังนี้

เป็นไงครับ ตัวเลขออกมา เห็นแล้ว ประหลาดใจไหมครับ?

ดูผิวเผิน ตัวเลขที่ออกมา ก็อยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่ง ทั้งหลายนั่นแหละ แต่ถ้าสังเกตให้ดี
จะพบว่า มีบางประเด็น ซึ่งน่าสนใจ…

ประการแรก ถ้าเราเทียบอัตราเร่งกันในกลุ่มพิกัด เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรแล้ว ตัวเลขในคันสีแดง หรือ
รุ่น RalliArt Concept นั้น อาจจะยังไม่ค่อยเข้าที่นัก เพราะรถค่อนข้างสดใหม่มากๆ ถ้าจะเทียบตัวเลข
ก็คงต้องดูควบคู่กันไป ทั้ง 2 คัน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับรถคันสีเงินแล้ว Lancer EX 2.0 GT
ทำตัวเลขออกมาได้ ไม่ขี้เหร่เลย เพราะอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้อยกว่า Toyota Coroola
ALTIS 2.0 เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่นปี 2009 อยู่เพียงแค่ 0.1 วินาที (แต่ถ้าเป็นรุ่นเกียร์ CVT
ตัวล่าสุด Lancer EX 2.0 GT อาจโดน Altis ทิ้งห่างกว่านี้อีกนิดนึง) และจะว่าไปแล้ว ตัวเลขดังกล่าว
ก็ด้อยกว่า Civic FD 2.0 เพียง 0.3 วินาที เท่านั้น

แต่พอเป็นอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว กลับมีเรื่องประหลาดว่า Lancer EX 2.0 GT
คันสีเงิน ทำตัวเลขออกมาได้ชนะ ทั้ง Civic FD 2.0 และ Corolla Altis 2.0 4AT (รุ่นเดิม) ได้ทั้งหมด!
ขนาดเราจับเวลาเอง เรายังงงกันเองเลย ว่าเป็นไปได้ด้วยหรือนี่! และที่บ้าบอที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือ
ยังชนะ Focus 2.0 TDCi 6AT ไปเพียงแค่เส้นยาแดงผ่าแปด คือ 0.03 วินาที เท่านั้น!!!

ขณะเดียวกัน ในรุ่น 1.8 ลิตร CVT ก็คงต้องทำใจว่า ตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
เป็นรอง คู่แข่งอยู่หลายคัน และเอาชนะได้แค่ Focus 1.8 ลิตร เกียร์ 4AT เท่านั้น

แต่เรื่องที่แอบแปลกใจเล็กน้อยก็คือ ถ้าเทียบตัวเลขดีๆ จะเห็นว่า อัตราเร่งแซง ในช่วง
80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่น 1.8 ลิตร ดันเร็วกว่า Honda Civic FD 1.8 5AT ไป ราวๆ
0.9 วินาที !  

การนำ Lancer EX มาทดลองขับอยู่กับบ้าน คราวนี้ ผมออกจะโชคดีนิดหน่อย ที่ได้รับความอนุเคราะห์
จากน้อง นิก Lecter The Ripper สมาชิกอีกคนในเว็บ Headlightmag.com ของเรา ซึ่งเคยช่วยเหลือในการ
ทดลองรถของผมมาเรื่อยๆ เจ้าตัวอยากลองขับ ผมก็เลย สนองให้ แถมงานนี้ มีแลกกันขับกับ Mazda 3
2.0 ลิตร 5 ประตู เกียร์อัตโนมัติ ของเจ้าตัว ด้วยเลย

และนั่น ก็ทำให้ผมได้พบความจริง อยู่หลายประการ รวมทั้ง คุณงามความดีของ Lancer EX ที่มีเหนือกว่า
Mazda 3 , Honda CIVIC FD , Ford Focus TDCi และ Toyota Corolla ALTIS 2.0 CVT ใหม่ ในบางประเด็น

ประเด็นแรก อัตราเร่งของรุ่น 2.0 GT นั้น มีแรงดึงที่สมดังใจต้องการ คือ พุ่งทะยาน แล่นปรู๊ด อย่างต่อเนื่อง
ถึงตัวเลขอาจจะด้อยกว่าคู่แข่งหลัก อย่าง Honda Civic 2.0 Ford Focus TDCi และ ดูมีแนวโน้มว่า
อาจจะด้อยกว่า Toyota Corolla ALTIS 2.0 CVT รุ่นล่าสุดด้วย แต่ก็ไม่ถือว่าด้อยไปกว่ากันมากนัก
ถ้ายังอยู่ที่ระดับ 10 วินาทีปลายๆ แบบที่เป็นอยู่นี้ ถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ถ้าต่ำกว่า 11 วินาที
ลงไป อันนี้คงไม่ไหวแล้ว ไปสู้กับ Mazda 3 รุ่น 2.0 ที่อืดกว่านี้นิดนึง ก็แล้วกัน

จากจุดหยุดนิ่ง รถพุ่งออกตัวไปพร้อมๆกับเข็มวัดรอบที่กวาดขึ้นไปยังขีดสูงสุดที่ระดับ 6,200 รอบ/นาที
อย่างต่อเนื่อง  และจะเป็นเช่นนี้ เรื่อยไปจนกว่า เข็มความเร็วจะแตะผ่านหลัก 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หลังจากนั้น ความเร็วของรถจะค่อยๆเพิ่มขึ้นช้าลง จนถึงระดับท็อปสปีด 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนอัตราเร่งแซงนั้น ภาพรวมถือว่า ดีใช้ได้เลยทีเดียว อย่าไปมองว่า CVT มันจะไม่เร้าใจ
เพราะแรงดึงที่เกิดขึ้นนั้น ก็ถือว่า แอบมีหลังติดเบาะนิดๆ ไม่ชัดเจนโจ่งแจ้ง เท่า Civic 2.0
หรือ Focus 2.0 TDCi แต่ ก็ไม่น้อยหน้า Altis 2.0 CVT ใหม่ไปมากมายนักหรอก

แต่รุ่น 1.8 ลิตร นั้น การที่ตัวเลขออกมายังไม่ถึงกับดีนัก ผมมองว่า น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะคันด้วยส่วนหนึ่ง
เนื่องจากรถคันที่เรานำมาลองขับนั้น เป็นรถเดโม และผ่านการใช้งานมาหลายมือหลายเท้ากันมากอยู่
ความทรุดโทรมแอบแฝง แบบที่พวกเรามองไม่เห็นกัน ถ้าไม่รื้อรถออกมา ก็น่าจะมีอยู่บ้างหรือเปล่า?

เพราะสังเกตได้ว่า ทันทีที่ออกตัวจากจุดยุดนิ่ง รอบเครื่องยนต์ เหมือนจะไปชะงักอยู่ 2 จังหวะ
ครั้งแรกคือที่ระดับ 1,900 รอบ/นาที ครั้งที่ 2 อยู่ที่ 4,000 รอบ/นาที ซึ่งถ้ารอบเครื่องยนต์ ไม่ไปชะงัก
ที่ 2 จุดดังกล่าว เชื่อได้เลยว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะดียิ่งกว่าตัวเลขที่คุณเห็น แรงดึง
ที่เกิดขึ้น น้อยกว่า 2.0 GT ชัดเจนก็จริง

แต่ผมเริ่มสงสัยแล้วว่า สมมติกันเล่นๆ ว่าถ้าเราเอารถ รุ่น 1.8 ไป reset สมองกลเกียร์ โดยให้ยังจำ
ค่าความเสื่อมของน้ำมันเกียร์ CVT อยู่ อยากจะรู้เหลือเกินกว่า การตอบสนองของเกียร์ จะดีขึ้น
จนทำให้อัตราเร่งออกมาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้หรือเปล่า? ชักอยากจะลองจังเลยแหะ

ถึงตัวเลขจะออกมาไม่ถึงกับดีนัก แต่ในการใช้งานอย่างจริงจัง…บนถนนกาญจนาภิเษก
บนทางด่วนสายเชียงราก ซึ่งเราขับรถรุ่นนี้วนกัน 3 รอบ ผมได้พบว่า รุ่น 1.8 ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก

ความสนุกของการขับรถรุ่นนี้ นอกจากจะอยู่ที่พละกำลังของเครื่องยนต์แล้ว
เกียร์ อัตโนมัติ CVT ก็มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการพาเอาพละกำลังเครื่องยนต์
ออกมาพบผู้ขับขี่ โดยเฉพาะ คนที่เท้าขวาค่อนข้างจะชอบเหยียบคันเร่งมากกว่าเบรก

แม้ว่า เกียร์อัตโนมัติ CVT ของ Lancer EX จะผลิตโดย JATCO และเป็นเกียร์ลูกเดียวกับ
ทั้งใน Nissan Teana และ Nissan X-Trail แต่ความสนุกในการขับขี่นั้น มันช่างต่างกันคนละเรื่อง!

เมื่อเกียร์ลูกนี้ อยู่ใน Teana บุคลิกของมัน เน้นความนุ่มนวล แต่เร่งเมื่อไหร่ พละกำลัง
ก็มารออยู่ที่เท้าขวาให้เราเรียกใช้งานได้ทันที แต่ด้วยเหตุที่ ไม่มีโหมด บวก-ลบ ให้เล่นสนุก
ดังนั้น ความเร้าใจในการขับขี่ จึงเกิดขึ้นจากเพียงแค่แรงดึงมหาศาล ที่ฉุดลากตัวรถ ให้พุ่งออกไป
โดยเฉพาะรุ่น 2.5 ลิตร ที่สร้างความสาแก่ใจในอารมณ์ ได้เยอะ จนกลายเป็น D-Segment Sedan
ที่แรงที่สุดในกลุ่มไม่เกิน 2.5 ลิตร (หากไม่นับรวม Toyota Camry HYBRID ที่แรงกว่า เพราะมี
มอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยอกแรง)

พอเกียร์ลูกนี้ ไปอยู่ใน X-Trail กับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร สิ่งที่เกิดขึ้น ราวกับหนังม้วนเดียวกัน
แต่ฉายผ่าน เครื่องฉายหนังยุคโบราณ กระทืบคันเร่งเข้าไปสิ เหยียบจนตีนนี่แทบจะทะลุพื้นรถเข้าไป
รถก็จะยังคงเร่งออกตัวไปเรื่อยเปื่อย เหมือนว่า มันเพิ่งตื่นนอน และยังไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน
ต่อให้เหยียบคันเร่ง ล่อเข้าไป 3 ใน 4 ก็ยังขี้เกียจ รถมันก็ไม่ค่อยอยากจะเร่งให้ผมให้เท่าใดเลย
(แต่ดันทำตัวเลขอัตราเร่งออกมา เร็วกว่า Honda CR-V ที่ยังมีแรงดึงตอนออกตัวให้สัมผัสกันมากกว่า
X-Trail นิดหน่อย และแน่นอน ตัวเลขออกมา ไวที่สุดในกลุ่ม Urban SUV ด้วยกัน!! งงไปเลย)

แต่…พอเกียร์ลูกนี้ มาอยู่ใน Lancer EX พร้อมสมองกลเกียร์ ที่ดูเหมือนจะได้รับการใส่โปรแกรมเข้าไป
อย่างดี โอ้โห คุณผู้อ่านเอ้ยยย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 1.8 GLS หรือ 2.0 ลิตร ถ้าคุณต้องการพละกำลังเร่งแซง
อย่างฉับพลันทันด่วน เหยียบคันเร่งเท่าเดิม แต่ผลักเกียร์ เข้าไปในโหมด บวก-ลบ เท่านั้นละครับ
พละกำลังที่คุณต้องการ จะรีบผองถ่ายจากเครื่องยนต์ ส่งตรงถึงล้อ ได้ทันท่วงที เท่าที่คุณต้องการ
แถมการเร่งแซง ยังเป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่ต้องรอการตัดเปลี่ยนเกียร์ เหมือนอย่างที่เกียร์อัตโนมัติ
แบบทั่วไป เป็นกันมา

เพียงแต่ว่า ทั้งรุ่น 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร นั้น ก็ยังพอมีอาการให้พบบ้างเล็กน้อยว่า เหยียบคันเร่งลงไป แล้ว
บางที รถยังจะไม่มีการตอบสนอง ถ้าเจอเหตุการณ์นี้ อย่าตกใจ เช็คบนหน้าปัดว่า เกียร์ยังอยู่ในตำแหน่ง
บวกลบ หรือเปล่า ถ้ายังขึ้นค้างที่เล็ก 6 (อันหมายถึงว่า เกียร์ลูกนี้ มีการล็อกอัตราทด โดยล็อกตำแหน่งพูเลย์
เอาไว้ 6 จังหวะ) แสดงว่ายังค้างอยู่ในโหมด บวก-ลบ แค่ผลักคันเกียร์ กลับมาอยู่ในโหมด D ปกติ ก็จบเรื่อง
ยกเว้นในรุ่น 2.0 ลิตร ที่ยังสามารถ กระดิกแป้น Paddle Shift ฝั่งขวา อันเป็นฝั่งบวก เพิ่มตำแหน่งเกียร์
ให้ค้างไว้ 1-2 วินาที เกียร์จะตัดเข้าโหมด D ตามเดิมให้เอง ที่สำคัญ แป้น Paddle Shift ติดตั้งที่คอพวงมาลัย
ตายตัว เวลาเลี้ยวโค้ง ก็ไม่ต้องกังวลว่า จะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ผิดหรือไม่

เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในรถยนต์ ที่ติดตั้งเกียร์ แบบมีโหมด บวก-ลบ มา แล้วมันช่วยก่อประโยชน์
ให้กับผู้ขับขี่ ได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ติดตั้งมาให้ เพื่อหวังผลเอาใจลูกค้า แต่ทว่า ใช้งานจริงกลับไม่ได้ความ
เหมือนอย่างที่รถหลายๆรุ่นเคยเป็นกันมา

สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นอันโดดเด้งกว่าชาวบ้านชาวช่อง ของ Lancer EX ในความเห็นของผมนั้น มีอยู่ 2 อย่าง

ประการแรก คือ ระบบบังคับเลี้ยว พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
ยังคงเป็นแบบไฮโดรลิก ไม่มีระบบไฟฟ้ามาควบคุมแต่อย่างใด ซึ่งผมดีใจที่ยังไม่มีการนำ
ระบบบังคับเลี้ยวแบบไฟฟ้า มาใช้กับรถรุ่นนี้

การบังคับเลี้ยวของทั้งรุ่น 2.0 และ 1.8 เหมือนกันแทบไม่ผิดเพี้ยน น้ำหนักพวงมาลัยหนืดดีมาก
เซ็ตมาเอาใจคนชอบขับรถมากๆ แต่สำหรับคุณสุภาพสตรี ส่วนใหญ่ อาจจะไม่ชอบพวงมาลัยที่
มีความหนืด มากขนาดนี้ เว้นแต่จะเป็นผู้หญิงชอบขับรถ ซึ่งจะว่าไป ก็เริ่มมีจำนวนเยอะขึ้น

การบังคับเลี้ยว เฉียบคมในความเร็วต่ำ ฉับไว ระยะฟรีน้อยมากๆ สั่งให้เลี้ยวไปทางไหน
ก็ไปตามนั้นในทันที แต่ยังพอมีอิดเอื้อนบ้างนิดๆ ถ้าต้องหัก ซ้าย-ขวา กระทันหัน
ในความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พวงมาลัยนิ่งมากในย่านความเร็วสูง ถ้าคุณมั่นใจว่า ปรับตั้งศูนย์ถ่วงล้อมาเรียบร้อยแล้ว
คุณก็สามารถปล่อยพวงมาลัยของ Lancer EX ได้ ที่ความเร็วสูงๆ ยืนยันว่า มันนิ่งจริงๆ

นิ่งขนาดว่า ในตอนบันทึกภาพถ่ายความเร็วสูงสุด ที่เห็นกันข้างบนนี้
ผมปล่อยมือจากพวงมาลัย แล้วหยิบกล้อง Canon SX10-IS ตัวที่ผมใช้อยู่
จากมือของน้องนิก ผู้ร่วมทดลองไปกับผมในคราวนี้ ด้วยได้อย่างสบายแฮ
เปิดฝาหน้ากล้อง แล้วก็ ถ่ายออกมาอย่างที่เห็นกันง่ายดาย อย่างที่เห็น

โดยไม่ได้น่าหวาดเสียวอะไรเลย! โอเค อาจมีกินซ้ายนิดๆ แต่ก็รับมือได้สบายๆ

และคุณนิก ก็ร้องซะลั่นรถเลยว่า..“เฮ้ย มันเป็นไปได้อย่างไรกันเนี่ย!!!
อะไรมันจะนิ่งได้ขนาดนี้!! รถญี่ปุ่นอะไรกันวะเนี่ย!!

ไม่กี่ครั้งในชีวิตหรอกครับ ที่ผมจะกล้าทำอะไรที่น่าหวาดเสียวแบบนี้
กับรถญี่ปุ่น ระดับบ้านๆ ตลาดๆ แบบนี้…แต่เพราะมั่นใจว่า ทำได้แน่
เลยลองดู…ก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น

หมดซึ่งข้อกังขา!

ถ้าจะมีสัมผัสต่างกันนิดหน่อย มันก็จะมาจาก ยางของรุ่น 1.8 ที่มีแก้มหนากว่า
และช่วยให้การขับขี่ แบบเรื่อยๆ สบายๆ ทางไกล เพลิดเพลินกว่านิดหน่อย

และถ้าคุณรู้สึกว่าบนถนนบางสาย พวงมาลัยของรถมันออกอาการดีดดิ้นๆ ก็ไม่ต้องตกใจ
มาจากสภาพพื้นผิวถนนนั่นละครับ ไม่ต้องไปโทษใครอื่นเขา เพราะถ้าผิวถนนเป็นเนินเว้า
บุคลิกการตอบสนอง ของ Lancer EX จะพอมีอาการดิดดิ้นให้สัมผัสได้ เช่นเดียวกับที่คุณจะพบได้
จากพวงมาลัย Servotronic ใน BMW 325 i Coupe E92 ใหม่ นั่นละครับ ดิ้นใกล้เคียงกัน
แต่ Lancer EX อาการน้อยกว่า และ ยังควบคุมรถได้ไม่เหนื่อยเท่า

รัศมีวงเลี้ยว 5.0 เมตร ทำให้การเลี้่ยวกลับรถ เป็นไปได้ในระดับดี แต่ ถ้าแคบกว่านี้ได้อีกนิด ก็จะดียิ่งกว่า
กระนั้น เชื่อว่า ไม่น่าจะทำได้แคบกว่านี้อีกแล้ว  เพราะแค่ 5.0 เมตร นี่ก็ ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว

ประการ ที่สอง อยู่ที่ระบบกันสะเทือน ซึ่งแน่นอนเช่นกันว่า มีความเกี่ยวพันกับ เหตุผลประการแรก
อย่างมาก เพราะถ้า  เซ็ตระบบกันสะเทือนมาไม่ดี นุ่มเกินไป หรือแข็งเกินไป อย่าหวังเลยครับ ว่า
รถจะนิ่งที่ความเร็วสูงๆ ได้ดีขนาดนี้

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า
โดยในรุ่น 2.0 GT จะมีเหล็กค้ำช็อกอัพคู่หน้า มาให้เป็นพิเศษ (ไม่มีในรุ่น 1.8 ลิตร) ส่วน
ระบบกันสะเทือนด้านหลัง เป็นแบบ Multi-Link คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงหลัง

Akira Sano คนออกแบบช่วงล่างของ Lancer EX หรือตำแหน่งอย่างเป็นทางการในนามบัตรก็คือ
B- C-seg Chassis Designer /Chassis Design Dept. /Development Engineering Office เล่าว่า
Lancer EX นั้น ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต คอยล์สปริง
พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า โดยในรุ่น 2.0 GT จะมีเหล็กค้ำช็อกอัพคู่หน้า มาให้เป็นพิเศษ
(ไม่มีในรุ่น 1.8 ลิตร) ส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลัง เป็นแบบ Multi-Link พร้อม Trailing-Arm
คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลงหลัง  

ซึ่งระบบกันสะเทือน ทั้ง 2 แบบ นั้น ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพมาแล้ว ในรถยนต์ซีดาน
ของ Mitsubishi หลายๆรุ่น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รูปแบบของ คาน แขนปีกนก
ของระบบกันสะเทือน จุดยึดต่างๆ ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อช่วยยกระดับสมรรถนะ
การเกาะถนน และการตอบสนองในการขับขี่ โครงสร้างระบบกันสะเทือน ถูกปรับปรุงให้
แน่นหนาขึ้น แต่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม ซึ่งมีผลต่อการปรับปรุงการทรงตัว และการเกาะถนน
อย่างมีนัยสำคัญ

ผมพบมาตั้งแต่ตอนขับเล่นวนรอบๆ พื้นที่ในสนามบินดอนเมืองแล้วว่า วิศวกร น่าจะจงใจ เพิ่มความ
หนักแน่นขึ้นในทุกจุดของระบบกันสะเทือน อีกทั้ง ยังน่าจะปรับปรุงโครงสร้างตัวถังมาเป็นอย่างดี
ถึงสัมผัสได้ว่า ให้ความหนักแน่น กว่ารถรุ่นเดิม อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และให้บุคลิกการขับขี่
ที่พอกันกับรถยุโรปดีๆ หลายรุ่น เลยด้วยซ้ำ นี่ไม่ได้พูด โอเวอร์เกินจริงนะ ต้องลองไปขับเอาเอง

แต่ถ้าจะถามผมว่า บุคลิกของช่วงล่าง Lancer EX เป็นอย่างไร ผมก็คงจะแยกออกมาได้ดังนี้

ในช่วงความเร็วต่ำนั้น น่าแปลกใจมากๆว่า ทุกหลุมบ่อ ลูกระนาด ที่ขับผ่าน ลัดเลาะ ไปตามซอยอารีย์
หรือซอยเล็กๆ ที่เชื่อมระหว่างถนนบางนา-ตราด กับซอย ลาซาล ก็ตาม ผมแทบไม่พบอาการกระด้างตึงตัง
ขึ้นมาจากล้อเลย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 1.8 ลิตร ที่ใช้ล้อ 16 นิ้ว หรือ…โดยเฉพาะรุ่น 2.0 GT ซึ่งใช้ล้อใหญ่ 18 นิ้ว
แต่กลับไม่พบความแข็งกระด้างเลยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันตอบสนองได้นุ่ม แต่หนักแน่น ให้สัมผัส
ที่ใกล้เคียงกับรถยุโรปมากๆ ชนิดที่ว่า Ford Focus มีมองค้อนแน่ๆ  

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ทางด่วนเส้นเชียงราก  หลังผ่านช่วงศรีสมาน เข้าสู่ทางราบที่จะมุ่งหน้าไปยัง ม.ธรรมศาสตร์
วิทยาเขต รังสิต จะมีสะพานข้ามคลองเล็กๆ อยู่ โดยปกติ รถทั่วๆไปนั้น เราข้ามเนินดังกล่าว ด้วยความเร็ว
ประมาณ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง บางรุ่นก็เริ่มจะออกอาการให้เสียวกันเล็กๆ แล้ว

แต่ Lancer EX พาเราข้ามสะพานข้ามคลองเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายเนินกระโดดนั้น ด้วยความเร็ว
180 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่รถก็ยังนิ่งอยู่ คุมอาการของตัวถังได้ดีมากๆ!! ไม่มีรายการส่ายบั้นท้าย
เต้นเป็นระบำเปลื้องผ้าบราซิลให้หนาวจิตเล่นๆแต่อย่างใด!!

ถ้าไม่นับ Lexus LS460 L และ BMW 730Ld รุ่นล่าสุด เราไม่เคยเอารถญี่ปุ่นคันไหน ขึ้นจัมพ์
คอสะพานดังกล่าว ที่ความเร็ว ระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงมาก่อน!!! (ส่วน 2 คันที่เอ่ยมา ปล่อยเขา
ไปเถอะ ผมพา LS จัมพ์คอสะพานที่ความเร็วประมาณนี้ ส่วน 730Ld จัมพ์กันที่ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รถหนะนิ่ง แต่หัวของ ตาแพน กับเจ้ากล้วยหนะ โขกกับเพดานหลังคาไปแล้ว ในตอนนั้น และถ้าเป็น
รถยนต์ทั่วไป ผมว่า คงมีเสียการทรงตัว หลุด และอาจเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว ณ จุดนั้น ก็เป็นได้

แต่ Lancer EX ก็ยังคงวิ่งต่อไปข้างหน้า อย่าง นิ่งงงงง สนิท….!!!!  เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มาก่อน!! และ…บอกตรงๆนะ ผมยังไม่กล้าทำความเร็วระดับนี้ จัมพ์ ผ่านคอสะพานเดียวกันนี้
กับ Ford Focus TDCi เลย (หวะ) ครับ!

อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกต นิดหน่อยว่า อากัปกิริยาของ รถ ขณะเข้าโค้งหนักๆ เมื่อเทียบกับ
Lancer Cedia รุ่นเดิมนั้น Lancer EX ใหม่ มีบุคลิกการตอบสนอง ที่แตกต่างกันชัดเจนมากอยู่

ถ้าเป็น Lancer Cedia หรือ รถในตัวถังเดียวกันนี้ หากคุณเข้าโค้งมาหนักๆ หน้ารถจะจิกโค้งอย่างดี
จิกดีจริงๆครับ ดีเสียจนกระทั่งว่า เมื่อถึงจุดที่รถต้านกฎทางฟิสิกส์ ไม่ไหว บั้นท้าย ก็จะหลุดกวาด
ออกไปจากการควบคุมในทันที โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ไม่บอกกล้าวกันล่วงหน้า ซึ่งสำหรับหลายๆคน
ก็คงสนุก กับการแก้พวงมาลัย และดึงรถกลับมาบนถนนตามเดิม แต่สำหรับคนขับรถทั่วๆไป ที่ไม่รู้ว่า
Oversteer และ Understeer คืออะไร ผมว่าพวกเขาไม่สนุกด้วยแน่ๆ

แต่ใน Lancer EX นั้น เมื่อต้องสาดเข้าโค้งหนักๆนั้น ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวรถจะมีอาการหน้าจิกโค้ง
ลดลงจาก Lancer รุ่นก่อนหน้านี้ อย่างเห็นได้ชัด มีอาการดื้อโค้งเล็กๆ ปรากฎออกมา อย่างเป็น
ธรรมชาติมากขึ้น และไม่ได้ฝืนมากจนเกินไป กระนั้น ในช่วงโค้งบนทางด่วน คุณยังสามารถ
สาดเข้า-ออกจากโค้ง ด้วย ความเร็ว ระดับ 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง (หมายถึง โค้งในช่วงต่างระดับ
พระราม 9 ที่ไขว้ไปมา จนน่าเวียนหัว นั่น ได้อย่างสบายๆ แค่ถือพวงมาลัยนิ่งๆ ประคองเอาไว้
แค่นั้นเลย ไม่ต้องไปเพิ่มการเลี้ยวให้มากกว่านั้น ถ้าไม่จำเป็น

และยิ่งในการเปลี่ยนเลนกระทันหัน ตัวถัง ก็ไม่ได้ปรากฎอาการวูบวาบ มากมายนัก บั้นท้ายก็ยังคง
เปลี่ยนทิศทาง พร้อมๆกับส่วนอื่นๆของตัวรถ ได้เหมาะสมราวกับเป็นก้อนเหล็กก้อนเดียวกันทั่วทั้งคัน
เพียงแต่ในรุ่น 1.8 ลิตร อาจมีอาการบิดตัวของโครงสร้างยาง ที่ทำให้ บั้นท้ายพอจะออกอาการส่ายนิดเดียว
แล้วก็หยุด ถ้าเป็นรุ่น 2.0 GT ก็จะมีอาการดังกล่าวน้อยลง แต่ที่แน่ๆ อาการตูดส่ายของทั้ง 2 รุ่น น้อยกว่า
อาการเดียวกันที่เกิดขึ้นกับบั้นท้ายของ Honda Civic FD ชัดเจนมาก

และการตอบสนอง ในลักษณะนี้เอง ที่มีส่วนทำให้ หลายๆคน บ่นว่า พยายามจะทำให้ Lancer EX
ท้ายปัด แทบไม่ง่ายเลย ถ้าไม่ได้ดึงเบรกมือเข้าช่วย ซึ่งผิดจาก Lancer รุ่นก่อนมากๆ

ในด้านระบบบังคับเลี้ยว และระบบกันสะเทือนนั้น เท่ากับว่า ตอนนี้ Lancer EX เหนือกว่ารถรุ่นอื่นๆ
ในพิกัดเดียวกัน “ทุกรุ่น” อย่างชัดเจน ไปเรียบร้อยแล้ว หากมองในภาพรวม ทุกด้านเข้าด้วยกัน

ระบบห้ามล้อ ในทุกรุ่น เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีช่องระบายความร้อน มาพร้อมระบบป้องกัน
ล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist

การทำงานในภาพรวมแล้ว ถือว่า หน่วงความเร็วได้ดี ไม่ว่าจะเป็นในช่วงความเร็วต่ำๆ ระดับเต่าคลาน
ไปตามสภาพการจราจรใน กรุงเทพฯ หรือ จะต้องลดความเร็วอย่างเร่งด่วน ไม่ถึงกับกระทันหันนัก
จากระดับ 180 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือความเร็วระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ทำได้ดีเลยทีเดียว
แป้นเบรก ตอบสนองแนวนุ่มนวลหน่อย อาจต้องเหยียบลงไป ปานกลาง จึงจะตอบสนองมากขึ้นชัดเจน
ไม่หนืดเกินไป ไม่ไวเกินไป กำลังดี แบบที่ ผมคิดว่า ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรอีก ถ้าคุณไม่ใช่พวกเท้าหนัก
มากมายนัก

เหนือสิ่งอื่นใด ต่อให้รถคันใด จะมีเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน ระบบห้ามล้อ ที่ดี
แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างตัวถัง ดีพอให้ชิ้นส่วนทั้งหลายติดตั้งอยู่อาศัยร่วมด้วยแล้ว คุณงามความดีด้านอื่น
ที่พยายามสร้างสรรค์ันมาแทบตาย ก็จะกลายเป็นความสูญเปล่า

Mitsubishi Motors มองเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เลยพยายามพัฒนาโครงสร้างตัวถังของ Lancer EX
โดยใช้พื้นฐานของเทคโนโลยี การปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อรับ และกระจายแรงปะทะจากการชน RISE
(Reinforced Impact Safety Evolution) ซึ่งก็เป็นลักษณะของการออกแบบโครงสร้าง แนว Crumple Zone
นั่นเอง

โดย โครงสร้างคานเหล็ก ที่เชื่อมติดกับ คานกันชนหน้าแบบยุบตัวได้ ถูกออกแบบให้ช่วยลดความเสียหาย
จากการชนปะทะที่ความเร็วต่ำ และในการชนที่ความเร็วสูงขึ้น แรงปะทะ จะถูกส่งต่อจาก โครงสร้างคาน
กันชนหน้า มายัง โครงสร้าง 3 Legs บริเวณผนังห้องเครื่องยนต์ เพื่อส่งต่อไปยังโครงสร้างเสาหลังคา
คู่หน้า A-Pillar และอีกส่วนหนึ่ง จะกระจายลงไปยังโครงสร้างพื้นตัวถัง เพื่อจะรักษาสภาพห้องโดยสาร
ให้คงรูปเอาไว้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในบริเวณ คานโครงสร้างที่จะต้องทำหน้าที่ รับและกระจายแรงปะทะ มีการนำเหล็กรีดเรียบ แบบเหนียว
พิเศษ Ultra High-Tensile มาใช้ร่วมกับเหล็กแบบ High-Tensile ในบริเวณชิ้นส่วนตัวถังด้านหลังรถ
โครงสร้างตัวถัง ยังแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น จากการออกแบบในลักษณะ Occupant cell ring reinforcement structure
ซึ่งจะถูกเสริมความแน่นหนา รอบคัน ตั้งแต่ โครงสร้างเสากรอบประตู คานขวางบนแนวหลังคาทั้ง หน้า
กลาง และหลัง ฯลฯ เพื่อช่วยเสริมให้ระบบกันสะเทือน ตอบสนองได้อย่างถูกต้อง แม่นยำกับสภาพการณ์
ที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น ช่วยให้การควบคุมรถของผู้ขับขี่ ทั้งการตอบสนอง และการเกาะถนนเป็นไปตามต้องการ

การปรับปรุงทั้งหมดนี้ ทำให้โครงสร้างตัวถังของ Lancer EX มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจาก Lancer รุ่นเดิม
โดยสามารถทนต่อการบิดตัว ได้มากถึง 49 % !! ทนต่อการโค้งงอ ได้เพิ่มขึ้น 9 % ซึ่ง Mitsubishi Motors
เคลมเอาไว้ว่า โครงสร้างตัวถังของ Lancer EX นั้น แข็งแกร่งยิ่งกว่า Mitsubishi Lancer Evolution IX เสียอีก!!!
นอกจากนี้ ยังมีคามพยายามในการลดเสียงรบกวนที่จะเล็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสาร จำพวก NVH (Noise
Vibeation & Harshness) ให้ดียิ่งขึ้น ตามพื้นที่แหล่งกำเนิดเสียง ทั้งจากบริเวณโดยรอบห้องเครื่องยนต์
และซุ้มล้อ

แต่… สำหรับเวอร์ชันไทย ของ Lancer EX แล้ว เสียงที่เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร จะเป็นเสียงกระแสลม
ที่ไหลผ่านตัวรถ ขณะแล่นด้วยความเร็ว ตั้งแต่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ยังพอมีเสียงลมเล็ดนอดเข้ามาตาม
ยางขอบประตูให้ได้ยินอยู่พอสมควร ในรุ่น 1.8 ลิตร ยางแก้มหนา ช่วยลดเสียงที่เล็ดรอดเข้ามาลงได้จริง แม้
จะมีเสียงเข้ามาบ้าง แต่ก็อยู่ในข่ายปกติยังไม่ถึงกับน่ารำคาญนัก แต่หากเป็นรุ่น 2.0 ลิตร ซึ่งใส่ยาง YOKOHAMA
เหมือนกัน ทว่าเป็นรุ่น ADVAN A-10 แม้จะให้การยืดเกาะถนนที่ดี แต่คุณก็คงต้องทำใจ แลกกับเสียงยางบดถนน
ที่ดังมากๆ ดังเสียจนต้องถามว่า นี่เรานั่งอยู่ในรถเปิดประทุน หลังคาผ้าใบรุ่นเก่าๆ หรือเปล่าวะ?

เสียงพี่จะดังไปถึงหนายยยยยยยยยยย

ถ้าอยากจะให้เสียงเบาลงกว่านี้ ไม่ต้องแก้ที่ไหนครับ เปลี่ยนยางอย่างเดียว ช่วยได้เยอะ ถ้ายังคิดจะ
คบหากับ YOKOHAMA ก็คงต้องเป็นพวกตระกูล เดซิเบล ซึ่ง แน่นอน นุ่มเงียบลงแน่ แต่ก็ต้องแลกกับ
การเข้าโค้งที่อาจไม่ได้เกาะโค้งหนึบดีอย่างกับตีนตุ๊กแกอย่างที่เคยเป็น

ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า ในรุ่น RalliArt ซึ่งถือเป็นรถที่ผลิตออกมาในระยะหลังๆ (ก่อนรีวิวนี้จะคลอด)
การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ทำได้ดีขึ้นกว่ารถล็อตแรกๆ เล็กน้อย พอจะจับสัมผัสได้ว่า เสียงลมปะทะ
จะเริ่มดัง เป็นปกติ หลังความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งที่ในรุ่นก่อนๆ แค่100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็เริ่มมเสียงลมปะทะ ดังให้ได้ยินแล้ว แต่เสียงยาง ก็ยังดัง อยู่ เหมือนเดิมเป๊ะ ถือเป็นความพยายาม ที่จะ
แก้ปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ในด้านการประกอบวัสดุซับเสียงที่เกี่ยวข้อง

********** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย **********

การทดลองในคราวนี้ จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมานิดหน่อย เพราะนอกจากเราจะทำการทดลองกัน
ในแบบมาตรฐานแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้ คุณผู้อ่านของ Headlightmag.com มาร่วมทดลองขับ
ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วยตัวเองอีกต่างหาก!!

แต่ในเบื้องต้น ทันทีที่รับรถมา เราคงต้องทำการทดลอง ไปตามวิธีการมาตรฐานของเรา
“วิ่ง 110 เปิดแอร์ นั่ง 2 คน” กันตามปกติ ก่อน เพื่อจะดูว่า Lancer EX กินน้ำมันอย่างไรกันบ้าง

เริ่มกันที่รุ่น 2.0 GT เราตรงดิ่งออกจากสำนักงานใหญ่ Mitsubishi Motors Thailand ที่รังสิต
มุ่งหน้ามายังสถานีบริการน้ำมัน Shell ปากซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์

เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 V-Power เข้าไปจนเต็มถัง แล้วก็เขย่ารถ อัดน้ำมันเข้าไป
จนล้นออกมาถึงปาก่องเติมน้ำมัน อย่างที่เห็น เพื่อให้แน่ใจว่า จะมีปริมาณฟองอากาศในระบบน้อยที่สุด
และมีปริมาณน้ำมันไหลเข้าไปอัดแน่นในระบบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บันทึกรูปไว้เป็นหลักฐาน

หมายเหตุเอาไว้สักหน่อย ป้องกันคุณผู้อ่านเข้าใจผิดไปไกลโข (เชื่อแน่ๆ ว่ามีชัวร์ๆ ดังนั้น อ่านให้ดีๆ
ในท่อนนี้ นะครับ)

เนื่องจากในวันที่เราทดลอง Shell ยังขายน้ำมันเบนซิน V-Power 95 แบบปกติ ไม่ได้ใส่เอทานอล
ดังนั้น อย่าแปลกใจ ที่คุณจะเห็นเราเติมน้ำมัน Shell ในบทความนี้ ทั้งที่ ทุกวันนี้ Shell เลิกขาย
V-Power 95 แบบมาตรฐานไปแล้ว และทดแทนด้วย V-Power 95 แก็สโซฮออล์ แทน

เรายังคงรักษามาตรฐานเดิม ที่จะต้องใช้แต่น้ำมันเบนซิน 95 ในการทดลองของเรา กันอยู่ครับ

จากนั้น Set 0 บน Trip Meter (กดปุ่ม INFO แช่ไว้ ที่หน้าจอ Trip Meter A) ติดเครื่องยนต์
เปิดแอร์ นั่งในรถกัน 2 คน น้ำหนักผม 95 กิโลกรัม น้องกล้วย 48 กิโลกรัม ขับรถออกไป ลัดเลาะ
ออกไปทางซอยอารีย์ ขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 ขาออก มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก
เปิดระบบ Cruise Control ตั้งความเร็วเอาไว้ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ขากลับ ถนนค่อนข้างโล่ง เราสามารถทำความเร็วได้ตามเป้าหมาย 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
มุ่งหน้ามาลงทางด่วน ที่ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน แล้วขับมุ่งหน้า
กลับไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 V-Power ณ ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิมเป๊ะ

หลังเขย่ารถจนเมื่อยแฮก น้ำมันก็ล้นขึ้นมายังปากรู ได้เวลายุติการเติมน้ำมัน แล้วมาคำนวนตัวเลขกัน

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด ปรากฎบน Trip Meter ด้วยตัวเลข 93.3 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ รวมเขย่ารถอีกครั้ง จนเอ่อขึ้นมาถึงคอถังเช่นกัน อยู่ที่ 7.87 ลิตร

อัตราสิ้นเปลองเชื้อเพลิงเฉลี่ย…11.85 กิโลเมตร/ลิตร

เฮ้ยยยยย มันกินน้ำมันไปหน่อยหรือเปล่า? ผมว่า ตัวเลขมันชักจะเพี้ยนๆแปลกไปหน่อยแล้วแหะ
ขนาด Mazda 3 รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ยังทำตัวเลขออกมา ได้ 13.7 – 14.5 กิโลเมตร/ลิตรเลย

แบบนี้ สงสัยต้องมีรายการทดลองซ้ำ รอบสองแน่ๆ

ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ผมไม่อาจนำรถคันสีเงิน ทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงซ้ำได้เต็มที่นัก
ทางเดียวที่เป็นไปได้ คือ คงต้องมองหา Lancer EX 2.0 GT คันอื่น ที่มีสภาพดีกว่า รถในล็อต DEMO
ซึ่งผ่านมือผ่านเท้า ทั้งลูกค้า และสื่อมวลชน (ในช่วงที่ทดลองขับ ณ สนามบินดอนเมือง) รวมทั้ง
การจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆ กันอย่างโชกโชน และสภาพก็เริ่มไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ดังนั้น การที่พี่แตน ส่งรถรุ่น RalliArt ตกแต่งพิเศษ คันสีแดง มาให้เราอีกครั้งนั้น
ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอีกครั้ง ด้วยรถที่มีสภาพ
สดๆซิงๆ ออกจากโรงงาน แล่นมาได้แค่ 100 กิโลเมตร เศษๆ เท่านั้น เพื่อจะดูว่า
ผลที่ได้ แตกต่างไปจากเดิม มากน้อยแค่ไหน

เราใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ เติมน้ำมัน เบนซิน 95 V-Power จนเต็มถัง เขย่ารถ
อัดน้ำมันเข้าไปจนแน่น ล้นขึ้นมาถึงคอถังอย่างที่เห็นนี้ Set 0 บน Trip Meter
แล้วขับลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ขึ้นทางด่วนเช่นเดิม พร้อมกับผู้ร่วมทดลองคนเดิม
ก็คือน้องกล้วย The Coup Team ของเรา

มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วน พระราม 6 ขับยาวๆ สบายๆ เปิด Cruise Control ไปด้วย
ตัวเลขความเร็ว ที่ระบบนำทาง GPS ในรถ แสดงขึ้นมาให้ดู ณ มุมซ้ายล่างของจอ
อยู่ที่ 106 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีค่าความผิดเพี้ยนของมาตรวัดไป ในระดับปกติ ที่พอยอมรับได้

ในช่วงใกล้ถึงด่านประชานุกูล เราเจอกับสภาพการจราจรติดขัดตรงหน้าด่านเก็บเงิน ที่เลยเถิดขึ้นมา
จนถึง แถวๆ โรงงาน เครื่องปรับอากาศ Saijo Denki แต่รถก็ยังคงเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ

พอพ้นด่านมาแล้ว เราใช้ความเร็ว 100 – 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อีกครั้ง จนถึงช่วงทางลง
อนุเสาวรีย์ชันสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน ตรงไปยังปั้มน้ำมัน Shell เพื่อกลับเข้าไป
เติมน้ำมันเบนซิน V-Power เบนซิน 95 อีกครั้ง และเพื่อให้แม่นยำ ก็ยังคงต้องเขย่ารถกัน ตามเดิม
เหมือนทั้งขาไป และขากลับ

และแน่นอน เราเติมน้ำมันไปด้วย เขย่ารถไปด้วย จนน้ำมันเอ่อล้นขึ้นมาอย่างที่เห็น
ใช้เวลาเกือบ 15 นาทีเหมือนกัน แม้จะนาน แต่ก็ต้องทำ เพื่อควบคุมตัวแปรในการทดลอง
ให้มผลน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อเรียบร้อยแล้ว มาดูตัวเลขที่ รถคันสีแดง ทำได้กัน
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter 92.0 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.43 ลิตร

ตัวเลขที่รุ่น 2.0 GT RalliArt ทำได้ อยู่ที่ 12.38 กิโลเมตร/ลิตร
โอเค ดีกว่า คันสีเงิน ประมาณ 0.5 กิโลเมตร/ลิตร แต่ อยากจะบอกว่า
ถ้าสมมติ ในวันนั้น เราไม่เจอรถติดเล็กน้อยนั้นเลย ตัวเลขที่รถคันสีแดง
ทำได้ น่าจะอยู่ในช่วง 12.5 – 13 กิโลเมตร/ลิตร ได้แน่ๆ แต่เอาละ ในเมื่อ
ตัวเลขมันออกมาแบบนี้ เราก็คงต้องให้มันเป็นไปตามนั้น

ส่วนตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในรุ่น 1.8 GLS-Ltd. นั้น เราก็ยังคงต้องใช้มาตรฐานเดิม
เพียงแต่ในเมื่อ การจราจรในช่วงเย็นวันศุกร์ มันติดขัดกันดีนัก และเวลาของเราที่จะอยู่กับ
รถคันนี้ มันจำกัด เราก็เลยทำการทดลอง ในช่วงกลางคืน แทน

เริ่มกันที่ ปั้ม Shell แห่งเดิม เติมน้ำมัน เบนซิน V-Power 95 เหมือนเดิม ณ หัวจ่ายเดิม
เขย่ารถเหมือนเดิม จนล้นขึ้นมาถึงคอถังอย่างที่เห็นอยู่นี้ พอเรียบร้อย ก็ Set Trip Meter
ไว้ที่ 0 จับระยะทาง กัน ด้วยเส้นทางเดียวกันกับรุ่น 2.0 GT ทั้ง 2 คันก่อนหน้านี้ เป๊ะ
ไม่มีออกนอกเส้นทางใดๆ ทั้งสิ้น

ขับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน  ตามมาตรฐานเดียวกัน ขึ้นทางด่วน ไปจนสุดทาง
สายอุดรรัถยา แล้วเลี้ยวกลับ มุ่งหน้ามาลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน..

แล้วก็เลี้ยวกลับมาเติมน้ำมัน Shell V-Power 95 เบนซิน เหมือนเดิม
เขย่ารถจนน้ำมันเอ่อล้น ขึ้นมาถึงคอถัง เหมือนกันเป๊ะ

ทีนี้มาดูตัวเลขที่รถรุ่น 1.8 ลิตร ทำได้กัน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 94.0 กิโลเมตร (ไหงมันงอกออกมา 2 กิโลเมตร หว่า)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.27 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ของรุ่น 1.8 ลิตร อยู่ที่ 12.92 กิโลเมตร/ลิตร…
เหย มันดูเหมือนจะกินน้ำมันอยู่พอสมควรนะ ถ้าเทียบกับตัวเลขคู่แข่งทั้งหมด
ที่เราเคยทำข้อมูลเก็บมาเรื่อยๆ อย่างที่เห็นอยู่นี้

ถ้าดูกันจริงๆแล้ว เท่ากับว่า ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของ Lancer 1.8 ดูเหมือนจะ
ชนะแค่เพียง Ford Focus 2.0 เบนซิน กับ Mazda 3 รุ่น 1.6 ลิตร เท่านั้นเลย

คำถามคือ แล้วถ้าไม่ใช่ผมขับ หากแต่เป็นคนทั่วไป ขับใช้งานธรรมดาๆ ละ
ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรกัน?

เมื่อใดที่สงสัย หากเป็นไปได้ ก็ควรหาคำตอบจนกระจ่าง ว่าแล้ว Headlightmag.com
ของเรา ก็เลยร่วมมือกับทาง Mitsubishi Motors Thailand จัดทริปทดลองขับประหยัด
Headlightmag Trip 02 : ขับประหยัดกับ Lancer EX กันขึ้น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2010
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทริปนี้ มีสมาชิก มาร่วมด้วย น้อยลงกว่าทริปแรกนิดหน่อย เพราะรู้ว่าเป็นการขับประหยัดน้ำมัน
หลายๆคนก็เลยเข้าใจว่า ไม่ได้ทดลองประสิทธิภาพของรถยนต์กัน (แต่ความจริงแล้ว เรามีให้
ผู้เข้าร่วมทริป ได้ลองกันนอกรอบ หลังเสร็จสิ้นการทดลอง ในช่วงเช้า ดังนั้น ใครที่ไม่ได้มาร่วม
ในทริปนี้ เลยพลาดไปอย่างน่าเสียดาย ฮ่าๆ)

ทริปนี้เกิดขึ้นมา เพราะเราอยากให้สมาชิกของ Headlightmag.com ได้สัมผัสประสบการณ์
แบบ “คร่าวๆ” ว่า การทดลอง จับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง นั้น  ใครๆก็ทำได้ ไม่ยากเท่าไหร่
แต่ ต้องมีข้อกำหนด เอาไว้ นิดหน่อย ซึ่งก็สามารถนำไป ประยุกต์ ใช้กับรถคันที่บ้านของตน
กันได้เองเช่นเดียวกัน

เรานัดเวลากันตอน 8.30 น. มาฟังบรรยาย และกลายเป็นว่า ข้าพเจ้า คนจัดทริป ดันมาสายซะเอง
เพราะตื่นสาย ก็เลยกระวีกระวาด พุ่งพรวด ออกจากบ้านมารับสมาชิก ตามเบี้ยบ้ายร่ายทาง แล้วก็
พุ่งมาที่สำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi Motors Thailand ที่ทุ่งรังสิต

ประมาณ 9.30 น. ล้อเริ่มหมุน เราทั้งหมด ขับรถ Lancer EX  ทั้ง 5 คัน เลี้ยวออกมาจากสำนักงานใหญ่
ของ Mitsubishi Motors Thailand มุ่งหน้ามาถึง ห้าง Big C รังสิต นวนคร แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าไป
อีก ประมาณ ไม่กี่ร้อยเมตร ไปเติมน้ำมันที่ สถานีบริการน้ำมันของบางจาก ซึ่งดูจะเป็นปั้มแห่งเดียว
ที่อยู่ใกล้ละแวกนั้นที่สุด

เราเลือกเติม “แก็สโซฮอลล์ 95 ของ บางจาก” กัน ก็เพราะว่า มีเหตุผลอยู่ 4 ข้อ

ประการแรก ทริปนี้ เราตั้งใจเพียงแค่อยากให้คุณผู้อ่านได้มีกิจกรรมร่วมกับพวกเรา The Coup Team
ดังนั้น ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่เกิดขึ้น จึงเป็น “ผลพลอยได้” มากกว่า

ประการที่ 2 เราอยากให้คุณู้อ่าน ได้มีโอกาสร่วมทดลองขับ Lancer EX และทดลองหาอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง ที่เกิดขึ้น ด้วยตัวเอง จะได้เข้าใจว่า ขั้นตอนการวัดการกินน้ำมัน แบบง่ายๆ ที่นำไปใช้กัน
กับรถคันที่บ้านได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

ประการที่ 3 เราแค่อยากรู้ว่า ตัวเลขผลลัพธ์ ที่ออกมา จะแตกต่าง หรือเหมือนกับตัวเลข ที่เราทำเอาไว้
ก่อนหน้านี้ กับน้ำมันเบนซิน 95 อย่างไร

ประการที่ 4 ในเมื่อทริปนี้ Mitsubishi จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด และทาง Mitsubishi เอง
ไม่ได้ มี Fleet Card เติมน้ำมันของ Shell หรือ Caltex หากแต่มี Fleet Card ของ ปตท. ซึ่งสามารถใช้บริการ
ร่วมรูดค่าน้ำมัน กับ ปั้มของ บางจาก ได้ ทำให้เรา ตัดสินใจว่า แทนที่เราจะเติมน้ำมันเบนซิน 95 กันให้
เหมือนกับการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แบบมาตรฐานของเรา ก็เลยต้องมีการประยุกต์ กันเกิดขึ้น
โดยเราจะเปลี่ยนมาเติม บางจาก แก็สโซฮอลล์ 95 แทน ครั้งนี้ ครั้งเดียว

เราจับเติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ 95 เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เพราะว่า ถ้าเขย่ารถ จะต้องใช้เวลาเติมน้ำมัน
ในแต่ละคัน นานเกินไป และปริมาณรถที่เข้ามาใช้บริการ ปั้มบางจากแห่งนี้ ค่อนข้าง หนาแน่น เราอาจจะ
โดนด่าบุพการีกันถ้วนหน้า ก็ว่าได้ อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ เราก็ทำการทดลองแบบมาตรฐาน เขย่ารถ และเติม
น้ำมันเบนซิน 95 ไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องเขย่าซ้ำให้เสียเวลา

อีกทั้งในชีวิตจริง คงไม่มีใครบ้า มานั่งเขย่ารถตัวเอง โขยกๆ อัดน้ำมันเข้าไปจนเต็ม เหมือนที่เราทำแน่ๆ
ดังนั้น ครั้งนี้ เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ ทั้งในช่วงเติมเข้าครั้งแรก และ เติมกลับเมื่อเสร็จสิ้นการขับขี่

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว ผู้เข้าร่วมทริป ประจำรถแต่ละคน จะ Set 0 บน Trip Meter เราจะบันทึก
เลขกิโลเมตร ของรถยนต์ ทั้ง 5 คัน ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเช็คสอบทานให้ตัวเลขระยะทางที่แล่นไป
ทั้งหมด ตรงกัน

จากนั้น เราก็ออกเดินทางกัน ไปตามเส้นทางที่กำหนดขึ้นมาใหม่ และใช้ในทริปนี้ โดยเฉพาะ

ถ้าเป็นทริปปกติ เราจะพาขึ้นทางด่วนพระราม 6 มุ่งไปยังปลายสุดทางด่วน สายอุดรรัถยา ที่เชียงราก
แล้วย้อนกลับมา ขึ้นทางด่วนฝั่งตรงข้าม มุ่งหน้ากลับมาที่ด่านประชาชื่น และไปลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์
ชัยสมรภูมิ เข้าสู่ถนนพหลโยธิน แล้วเลี้ยวเข้าปั้มน้ำมัน ที่ตั้งใจ

แต่…ในเมื่อ น้ำมันยังต่างชนิดกัน แถมตำแหน่งที่ตั้ง ปั้มน้ำมัน ยังแตกต่างจาก ทุกๆครั้ง ที่เราทดลองกัน
ดังนั้น เพื่อให้สะดวก ต่อการขับขี่ ของผู้เข้าร่วมทริป อีกทั้งลดค่าใช้จ่าย เรื่องค่าผ่านทางด่วน จากที่
ต้องจ่ายมากถึง 5-6 ด่าน (หากต้องออกจากระบบทางด่วน ตามแผนเดิม) ก็ลดเหลือเพียง 4 ด่าน

ผมก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง โดยเริ่มต้นจากปั้มน้ำมันบางจากนี่ละ เลี้ยวออกมายังถนนวิภาวดีรังสิต
มุ่งหน้าไปจนถึง ทางแยกขนาดใหญ่ ปลายสุดถนน เราเลี้ยวซ้าย ไปทางอยุธยา เพื่อไปขึ้นทางด่วนอุดรรัถยา
แล้วใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง มุ่งหน้าผ่านด่านประชาชื่น จ่ายเงิน 10 บาท แล้วเดินทางต่อ

มาถึง ทางแยก ต่างระดับ บางโคล่ (ถ้าไปทางขวา ก็ขึ้นสะพานพระราม 9) เราเลี้ยวซ้ายมายังคลองเตย
แล้วชิดขวา เข้าช่องทางไปยัง ดินแดง – วิภาวดีรังสิต มายัง ทางราบบ่อนไก่  ผ่านเพลินจิต ชิดซ้าย
เข้าช่องพระราม 9 ลัดเลาะตามโค้ง เลี้ยวซ้าย มาทาง แจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าผ่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
แล้วชิดเข้าช่องทางขวา ไปแจ้งวัฒนะ ช่วงนี้ การจราจร หนาแน่น แต่เคลื่อนตัวได้ ด้วยความเร็ว
ประมาณ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เราจดบันทึก ระยะทางทั้งบน Trip Meter และ บน ODO Meter เพื่อใช้อ้างอิงกัน แต่ตัวเลขที่จะ
นำมาเป็นตัวตั้งในการคำนวน เราจะใช้ตัวเลขจาก Trip Meter เป็นหลัก จากนั้น ทุกคัน ต้องเติมน้ำมัน
แก็สโซฮอลล์ 95 ที่หัวจ่ายเดิม เดียวกัน ทุกคัน เหมือนเช่นในช่วงออกจากจุดเริ่มต้น เอาแค่เต็มถัง
หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนกัน

เมื่อเคลียร์ค่าใช้จ่ายกันเสร็จเรียบร้อย คำนวนตัวเลขกันออกมาเสร็จ ก็ได้เวลามาประกาศผลแล้วละ
สีหน้าของคุณผู้อ่านหลายๆคน ก็แอบลุ้นกันอยู่ ว่าตนจะขับกันไปได้เท่าใด และตัวเลขข้างล่างนี้
คือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ผู้ข้าร่วมทริปทุกคัน ทำออกมาได้ครับ

ผลที่ได้คือ วันนั้น รถรุ่น 2.0 GT ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.8 กิโลเมตร/ลิตร และมีเพียง
คันเดียวที่ทำตัวเลขได้ 14.45 กิโลเมตร/ลิตร ขณะที่รถรุ่น 1.8 GLS มีคนทำตัวเลขออกมาได้ถึง
16.24 กิโลเมตร/ลิตร ขณะที่ อีกคันหนึ่ง ทำตัวเลขได้ 15.7 กิโลเมตร/ลิตร

ทำไมตัวเลขมันช่างออกมาดูดีกว่า ตัวเลขที่ ผมกับ กล้วย ทำได้ เมื่อใช้น้ำมันเบนซิน 95 ของ Shell ละ?
หรือว่า ถ้าเป็น Lancer EX แล้ว แก็สโซฮอลล์ 95 จะประหยัดกว่า หรือ?

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ อธิบายได้ง่ายครับ เพราะว่า…

1. การทดลองในครั้งนี้ มีการดัดแปลงเส้นทาง เพื่อความเหมาะสม ซึ่งในระหว่างทาง รถทุกคัน นอกจาก
จะใช้ความเร็วกันไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว บางคัน ยังใช้ความเร็วน้อยกว่านั้นด้วย ในหลายๆช่วง
ทั้ง ในช่วงทางราบบ่อนไก่ ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่น บางช่วง อาจต้องมีการขับรอรถในขบวนคันหลังๆ
และบางช่วง รถบางคัน ก็ต้องไล่ขึ้นมาเข้าร่วมขบวนให้ได้ ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมา จึงแปรผันไปไม่น้อย
เมื่อเทียบกับมาตรฐานดั้งเดิม ที่เราทำกันตามปกติ

2. การเติมน้ำมันครั้งนี้ เราไม่ได้เขย่ารถ ซึ่งถ้าเขย่า ก็บอกได้เลยว่า บวกเพิ่มเข้าไปอีกคันละ 4-5 ลิตร
เป็นอย่างน้อย และอาจถึง 8-9 ลิตร เป็นอย่างสูง แน่นอน ตัวเลขอาจเพี้ยนไปมากกว่านี้ ดังนั้น ในตอน
เติมน้ำมันกลับ เราจึง ใช้นโยบาย ไม่ต้องเขย่ารถ ให้เหมือนกันหมด ทั้งขาไป และ ขากลับ จะได้
ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทำทั้งที ถ้าเริ่มต้น เขย่ารถ ตอนเติมลับ ต้องเขย่ารถ แต่ถ้าเริ่มต้น ไม่เขย่ารถ
ตอนเติมกลับ ก็ต้องไม่เขย่ารถ เหมือนกัน จะได้เสมอเหมือนเท่าเทียมกัน

3. ผู้อ่านของเราแต่ละคน ต่างล้วนมีลักษณะการขับขี่ที่แตกต่างกัน บ้างเหยียบคันเร่งลึก บ้างก็ขับเรื่อยๆ ชิลๆ
ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมา จึงอาจแตกต่างกันได้ อย่างที่เห็นอยู่นี้ และมิใช่เรื่องน่าแปลกใจใดๆนัก

4. ที่แน่ๆ ผู้อ่านของเราหลายๆคน ก็คงได้รู้แล้วว่า ถ้าจะขับ Lancer EX ให้มันได้ 14 – 15 กิโลเมตร/ลิตรหนะ
ไม่ยากหรอก แต่มันมีวิธีนิดหน่อย คือ ออกตัวไม่ต้องรีบนัก ขับช้าๆ กำลังดี หรือ ออกตัวให้ไว ให้ความเร็วขึ้นไป
ถึงระดับที่ต้องการให้เร็วที่สุด โดยมีข้อแม้ว่า เหยียบคันเร่ง แค่พอประมาณ ไม่ต้องเหยียบลึกมาก จากนั้น  
เมื่อความเร็ว ถึงระดับที่ต้องการแล้ว ถอนเท้าจากคันเร่ง  แล้วค่อยๆละเลียดฝ่าเท้าลงไปบนคันเร่ง อย่าง
แผ่วเบา เลี้ยงไว้ให้นิ่ง แค่นี้ก็เรียบร้อย

ผมคงจะไม่ข้อสรุปอะไรในเรื่องการกินน้ำมัน ครับ ปล่อยเอาไว้ให้คุณผู้อ่าน คิด และใช้วิจารณญาณเอาเอง
ว่า Lancer EX ตกลงแล้ว มันกินน้ำมันโหด ดุเดือด อย่างที่หลายๆคนเข้าใจกัน จริงหรือไม่?

********** ความคิดเห็นของผู้ที่เคยทดลองขับ **********

บางครั้ง การมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ย่อมน่าจะช่วยให้คุณผู้อ่าน มองเห็นภาพความเป็นจริง ได้ชัดเจนขึ้น
ดังนั้น ถ้าคุณคิดว่า เสียงของผมคนเดียว ไม่เพียงพอ หรือไม่เป็นกลางพอ งั้นลองมาฟัง สมาชิกของ Headlightmag.com
ที่มีโอกาสร่วมทริป ทดลองขับ Lancer EX กับทาง Mitsubishi Motors และ Headlightmag.com ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
และมีนาคม ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ทริป รวด เลยดีกว่า ผมขอเลือกความคิดเห็นของคุณผู้อ่าน จำนวน 5 คน ที่มองเห็นแล้วว่า
น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุด ในการบอกเล่าระสบการณ์ และความคิดเห็นที่มีต่อรถรุ่นนี้ ในฐานะ ทั้งคนที่เคยได้ลองขับ
และอีก 2 ราย ก็เป็นคนที่ตัดสินใจซื้อรถรุ่นนี้มาใช้งานแล้วด้วย ณ ตอนนี้ แถม 1 ในนั้น ยังตัดสินใจซื้อ หลังจาก
มาร่วมทริป กับเรา ด้วยอีกต่างหากแหนะ!

เริ่มจากคนแรกกันก่อนครับ คุณ ณธัญ ตู้จินดา (อาร์ต) อายุ 31 ปั
ใช้ชื่อในเว็บบอร์ดว่า Signifer อาชีพ เจ้าของกิจการหอพัก ปัจจุบัน

ใช้ Subaru Impreza 1.5 ลิตร 5MT Nissan TIIDA ฯลฯ และ
เพิ่งขาย Honda Civic FD 1.8 ลิตร ทิ้งไป
“สำหรับรถที่ผมได้ทดลองขับและนั่งในช่วงแรก (ขาไป) คือ เจ้าตัว Lancer EX 2.0GT รุ่นท๊อปสุดของเขาหล่ะ
อารมณ์คนนั่ง ทีแรกคิดว่าจะกระด้าง แต่ไม่นะ ล้อ 18 ยาง 45 กลับไม่ได้กระด้างอย่างที่คิดเลย นั่งสบายกำลังดี 
โดยส่วนตัวผมอาจจะขับรถล้อใหญ่ โหลดมาอยู่แล้ว แต่พอลองเจ้า 2.0 GT ลักษณะช่วงล่างไม่ได้แตกต่างจาก
รถบ้านทั่วไป และไม่ได้กระด้างเหมือนรถโหลดครับ 
พอเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นขับ การออกตัวนุ่มนวล(เกินไปหน่อย) สำหรับคนที่ชอบฟิลลิ่งกระชากออกอาจจะ
ผิดหวังนิดนึง ผลอาจจะมาจากล้อที่โตด้วยส่วนหนึ่ง และการเซ็ทอัพคันเร่งไว้ด้วยครับ แต่ถ้าคุณอยากได้อารมณ์
ดิบๆ มันส์ๆ ให้ดันคันเกียร์มาที่โหมดแมนนวล และใช้แพทเดิล ชิพ ที่คอพวงมาลัย อาการของรถจากที่นุ่มนวล 
เรียบร้อย จะกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที รถจะไม่ตัดรอบ ไม่ว่าจะลากไปกี่นาทีก็ตาม คาไว้งั้น และแรงบิด 
จะมาแบบเร้าอารมณ์พอประมาณ สำหรับการต่อเกียร์ ในโหมดแมนนวล ค่อนข้างนุ่มนวล(จนผมรู้สึกว่ามัน
ผู้ดีโคตรๆๆๆ……..คือ ถ้ามันไม่กระชาก มารอบกับความเร็วขึ้น “เร็วใจหาย” ดังนั้นสำหรับสปอร์ตโหมด ในตัว 
2.0GT ผมถือว่าผ่านครับ สามารถขับขี่ได้ค่อนข้างดุดันแบบผู้ดี
ช่วงล่าง ในส่วนของเจ้าตัว 2.0GT แม้จะมีล้อโตๆ ขอบ 18″ มาให้ ผมกลับรู้สึกว่าไม่ได้กระด้างอย่างที่คิดไว้
ในตอนแรก (แม้จะเทียบกับ Civic FD+16″ ของผม หรือแม้กระทั่ง Saab 900Draken+17″ อีกคัน) ตอบง่ายๆ 
ว่าช่วงล่างของ แลนเซอร์ “กำลังดีทีเดียว” ช่วงล่างไว้ใจได้ ไม่กระด้างในความเร็วต่ำ และนิ่งโคตรๆ ในย่าน
ความเร็วสูง 140 km/hr ยังนิ่งครับ การเปลี่ยนเลนท์ที่ความเร็วสูง รถไม่มีเทคแอคชั่นใดๆ ที่ส่ออาการเสียการ
ควบคุมเลย ในใจผมคาดว่าและคิดไปเองว่า เจ้า แลนเซอร์ ตัวนี้ ยืมแนวไอเดีย แชทซีด้านข้าง จากรุ่นพี่ของมัน
มาใช้ (Evolotion) เพราะเท่าที่ผม เจ้าอีโว จะมีพื้นแชทซีด้านล่าง หนากว่า แลนเซอร์ตัวที่ ทำตลาดทั่วไปนิดหน่อย 
ตีต่างง่ายๆ ถ้าแลนเซอร์หนา 2 มิล อีโวจะหนา 3 มิล อันนี้ได้ความรู้มาจาก พี่ๆที่ทำอีโวครับ 
ดังนั้นแล้วในการย้ายเลน หรือหลบสิ่งกีดขวางกระทันหัน…ซึ่งในทริปนี้ มีให้ทดสอบบนถนนจริง จาก…ขาไป 
ปี๊บ….หลายคนบอกอยากเตะปี๊บให้ดัง สำหรับผม ขอแค่หลบให้พ้นน่าจะเข้าท่ากว่า มีปี๊บ สองใบ หล่นใน
มอเตอร์เวย์ครับ…..ดังนั้นก็เป็นบททดสอบของจริงบนถนน เจ้า 2.0GT ทำได้ดีมากๆ ทีเดียวครับ ฟิลลิ่งของ
ช่วงล่าง แน่น หนึบ ไม่ออกอาการน่ากลัว ไปแบบแน่นๆ ทั้งคัน คงต้องยกความดีความชอบให้กับชุดช่วงล่าง
ที่เสริมความแข็งแกร่งกันพอสมควร และล้อโตๆที่ให้
ส่วนรูปลักษณ์ภายนอก และอุปกรณ์ภายใน ผมว่าค่อนข้างจะตอบง่ายด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ที่ชอบ
เห็นจะเป็นระบบแอร์ที่ค่อนข้างเย็นทันใจและทั่วถึงครับ (เย็นโคตร….ถ้าไม่เย็นนี่คงแปลกเพราะมิตซู..
ทำแอร์บ้าน กับตู้เย็นด้วย จริงปะ อิอิ) การใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ในแดชบอร์ดง่ายดาย เห็นชัดเจน โดดเด่น
ด้วย จออินโฟเมชั่น ดิสเพลย์ ที่อยู่กลางเรือนไมล์ เบาะนั่งสบายตลอดการเดินทาง กลับมาไม่รู้สึกปวดหลัง
ครับผม ตินิดนึง นิ่มไปหน่อยครับ ถ้าแข็งกว่านี่ส่วนที่ลองก้นแจ่มภายนอกโดนเต็มๆ กระจกมองข้างดี
ทัศวิสัยชัดเจนครับ 
สำหรับส่วนที่จะตินะครับ สำหรับ 2.0GT เป็นอะไรที่ค่อนข้างเล็กน้อย นั่นคือน่าจะมีชุดเซ็นทรัลล๊อค
เพิ่มมาให้นอกจากที่ล๊อกประตู และกระจกอัตโมมัติขาขึ้น….
สำหรับสิ่งที่ควรจะปรับปรุงสำหรับรุ่น 2.0GT เพื่อให้ตอบโจทย์ของลูกค้าเซกชั่นนี้นะครับ….อันนี้จาก
ความรู้สึกส่วนตัวครับ เอาฟิลลิ่งเป็นหลักนะ เซ็ทอัพขาคันเร่งไฟฟ้าให้ไวกว่านี้อีก 30% เซ็ทอัพระบบ
พวงมาลัยให้คมกว่านี้อีกนิด เพราะมันเกี่ยวกับฟิลลิ่งการโยกย้ายรถในย่านความเร็วสูง ส่วนความหนืด
ของพวงมาลัยกำลังดี เพิ่มชุดท่อไอเสียสปอร์ตของแรลลี่อาร์ต……อันนี้คุณแม่ขอร้อง รับรองว่าเจ้า 2.0GT 
จะหาตัวจับยากโคตรๆ เลยหล่ะทีนี้”

ต่อมา เป็นความเห็นจาก คุณ เอกพงษ์ สุขโพธิ์เพ็ชร หรือคุณเอก
สมาชิกที่ใช้ล็อกอินในเว็บของเราว่า pkdiamonds เป็นวิศวกรด้านไฟฟ้า
ทำงานอยู่แถวภาคตะวันออก ปัจจุบันเป็นเจ้าของรถ Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร

“เริ่มจาก Lancer EX รุ่น 2.0 GT

จุดเด่น ถือว่าเป็นรถที่ทำออกมาเพื่อต่อกรกับเจ้า Civic2.0 เลยครับ เพราะว่าอัตราเร่งดีมาก
และเกียร์ CVT ที่ข้อนข้างฉลาด รวมไปถึง Paddle Shift ที่มันส์มากๆ เหมือนกับว่ากำลังขับ
Super Cars ยังงั้นแหละ (หมายถึงฟิลลิงค์นะครับ) ถือว่าเป็นสิ่งนึงที่ผมชอบมากมายอีกเช่นกัน

ในส่วนของเรื่องช่วงล่างนั้น ถ้าแม่ผมลองนั่ง ผมว่าเค้าชอบแน่ เพราะ เซ็ตออกมาได้ค่อนข้าง
นุ่มกำลังดีครับ ทั้งๆที่ ยางที่ใช้ 215/45 R18 ซึ่งพอวิ่งที่ความเร็วสูงนั้น กลับนิ่ง ซึ่งถือว่าดีมากๆ
แต่อาจจะมีช่วงจัมป์คอสะพานที่มีการรีบาวนด์บ้างเล็กน้อย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ครับ
เบรคดีครับ นุ่มเท้าเวลากด และหัวไม่ทิ่มด้วย

พวงมาลัยมีระยะฟรีน้อยครับซึ่งเหมาะกับบุคลิกของตัวรถอยู่แล้ว แต่..(ดูที่จุดที่ต้องปรับปรุงครับ)
เปิดฝากระโปรงท้ายโดยใช้รีโมท ชอบครับตรงส่วนนี้

ภายในนั้น ส่วนแล้วค่อนข้างชอบเบาะหลังจังเลยครับเพราะว่าความรู้สึกเหมือนกับนั่งโซฟาเลย
คือ นั่งสบายครับ นั่งทางไกลนี่หายห่วง ส่วนเรื่อง ของเครื่องเสียงนั้น ผมว่าเสียงดีนะครับ คือมี
เสียงเบสนุ่มๆลอยออกมาชัดเจน เมื่อเทียบกับรถของผมแล้ว ของผมนี่กระป๋องไปเลย (Mazda3)

และในเรื่องของไฟหน้า Bi-xenon แบบ AFS นั้น ยังไม่เห็นประสิทธิภาพครับ เพราะว่าช่วงที่
ลองขับเป็นช่วงกลางวัน สิ่งชอบอีกอย่างนึงคือเรื่อง จอแสดงผลครับที่ บอกรายละเอียดได้ทุกอย่าง
ในจอเดียว ถือว่าเหนือกว่าครับ ในรถระดับเดียวกับ ( C-sagment ญี่ปุ่นที่จำหน่ายในไทยเท่านั้นนะ)

จุดที่ต้องปรับปรุง มาเริ่มจากการจัดตำแหน่งเบาะนั่งกับที่พักแขนก่อนเลยครับ ที่พักแขนฝั่งประดู
อยู่ต่ำมาก ทั้งๆที่ตัวผม ปรับตำแหน่งเบาะนั่งลงต่ำสุดแล้วนะ แต่ก็ไม่สามารถที่จะวางแขนขณะขับได้
ถ้าขับระยะทางไม่ไกลน่ะได้อยู่ แต่ถ้าขับ ทางไกลล่ะ เรื่องต่อมาครับ การปรับกระจกขึ้นแบบ AUTO UP
ในส่วนนี้มันหายไปไหน เชื่อว่าหลายคนที่ลองขับคงบ่นเหมือนกัน เวลาปรับกระจกขึ้นต้องกดค้าง
เรื่องนี้ทำใจลำบากจริงๆครับ คือถ้าเราอยู่ในที่คับขัน เช่น รับบัตรขึ้นลานจอดรถ หรือ จ่ายเงินค่าทางด่วน
เท่ากับว่ามือซ้ายประคองพวงมาลัยมือเดียว และอีกมือต้องคอยกดสวิตซ์กระจกให้ค้างขึ้นจนสุด..เฮ้อ

เรื่องกระจกมองข้างพับไฟฟ้า รุ่น 2.0 GTกับ 1.8 GLS ควรมีมาให้นะ เรื่องต่อมานะครับ (เรื่องเยอะนะเรา)
แอร์ AUTO แต่มีพื้นฐานคล้ายแอร์แบบมือบิดซะอย่างนั้น โดยมีคำว่า Auto เพิ่มมา แต่ในความคิดผมผมว่า
ควรจะแสดงผลเป็นตัวเลขสักนิดที่ จอแสดงผลของ เครื่องเสียงนะครับ ถ้าได้ตรงส่วนนี้มันจะเป็นรถที่ดูดี
มากเลย เรื่องของพวงมาลัยครับ คมจึง แต่ว่าเบายัง ในความเร็วสูงนั้น น่าจะหน่วงสักนิดนะครับ วัสดุที่ใช้
ภายในนั้นดูดีกว่า TOYOTA นิดนึงครับ และเนื้อของโฟมอัดขึ้นรูป คล้าย Civic พอสมควรครับ เรื่องการ
บริโภคน้ำมัน รู้สึกว่าจะกินจุนะครับ วิ่งจาก นวนคร ถึงแหลมฉบัง น้ำมันหายไปครึ่งถึง ที่ความเร็ว 120-140
และมีซัดบ้างบางช่วง แต่อย่าลืมว่า ถังน้ำมันที่ใหญ่กว่าชาวบ้านนะครับ 59 ลิตรแหนะ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะ
น้ำมันก็ได้มั๊ง เพราะว่าถามพี่ที่เป็น Product Planning แล้ว ว่าน้ำมันที่เติมในวันนั้นคือ Gassohal 91 ครับ
ซึ่งก็อาจจะมีส่วนบ้างเล็กน้อย แต่ข้อมูลเรื่องการบริโภคน้ำมันยังมาใช้อ้างอิงไม่ได้นะครับ
อ้อ ถ้า เพิ่มม่านนิรภัยอีก 2 ลูกน่าจะดีนะ

 มากันที่รุ่น 1.8 GLS ในรุ่นนี้ ไม่ขอ Comment มากนะครับ เพราะว่ามีหลายส่วนที่คล้าย 2.0

– จุดเด่น ตามรุ่น 2.0 GT เลยครับ แต่ตัดรายละเอียดบางส่วนออกไปในส่วนที่ 1.8 ไม่มี แต่เครื่อง 1.8 4B10
ถือว่าจัดจ้านพอตัวนะครับ อย่าได้ไปท้าทีเดียว เรื่องรัศมีวงเลี้ยว ลืมบอกในรุ่น 2.0 ว่า น้อยมากครับ แค่ 5.0
มีประโยชน์มากในการถอยเข้าซอง ไม่ต้องหมุนหลายรอบให้เปลืองน้ำมั้น โยกเข้าทีเดียวจบ

– จุดที่ต้องปรับปรุง ในรุ่น 1.8 GLS ซิ่งถือว่าเป็น ตัว TOP ของ 1.8 พวงมาลัย โล้นมาก น่าจะมีในส่วน
มัลติฟังก์ชั่นควบคุมเครื่องเสียงมาให้สักนิดก็ยังดี เพราะถ้าเปรียบเทียบกับรถที่เครื่อง 1.8 ในตลาดเมืองไทย
ถือว่าคุณตกม้าตายแล้วล่ะครับ นอกนั้นเหมือนกับรุ่น 2.0 แต่รู้สึกว่า 1.8 กินน้ำมันกว่านะ ไม่รู้สิ”

ความเห็นถัดมาเป็นของ คุณ วรปรัชญ์  ธารานุรักษ์ หรือคุณตู้  
เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ สมาชิกที่ใช้ล็อกอินชื่อ Totu  อายุ 23 ปี 
เล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้ลองขับ Lancer EX ทั้ง 2 รุ่น เอาไว้ ดังนี้

รุ่น 1.8

โดยรวมชอบรูปทรงของเจ้า ex อยู่แล้ว ภายนอกสำหรับผมว่าลงตัวเลยดูโหด แทบไม่มีมุมน่ารักเลย
ภายในที่ตกแต่งด้วยสีดำนั้นถูกใจมาก พวงมาลัยหุ้มหนังมาให้แต่คันนี้เริ่มลื่นแล้ว พลาสติกสีเทา
ก็เริ่มมีการลอกบ้าง ทั้งที่วิ่งมาแค่ 5 พันกว่าเองแต่พี่ทีมงาน บอกว่าเป็นรถเทสต์ก็พอเข้าใจ ตอนสตาร์ท
เสียงเครื่องเงียบมากๆ ต้องมองดูรอบถึงรู้ว่าเครื่องติดแล้วหรือว่าผมอยู่กับรถเก่าๆ ที่เสียงตอนสตาร์ท
ค่อนข้างดังเลยไม่ชิน เข้าไปนั่งพวงมาลัยยังปรับใกล้-ไกล ไม่ได้อย่างเคย ซึ่งจุดนี้ควรจะมีให้มาได้แล้ว
เบาะนั่งยังสูงไปสำหรับผม แม้ว่าจะปรับต่ำสุดแล้ว

เริ่มออกตัวเสียงเครื่องเงียบดี การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลดี ติดใจCVTเลย  แผงคอนโซลกลางดูเรียบๆดี
ชอบครับ ส่วนจอแสดงผมข้อมูลต่างๆ ก็ใหญ่และเห็นชัดเจนดี แอร์ปรับไปที่ 25 องศาเซลเซียส
ปรับพัดลมเป็น auto ยังไม่เย็นเท่าไรเลย เลยต้องปรับความแรงพัดลมเอง ผมขับในช่วงแรกถนนเรียบ
เลยไม่ค่อยไม่ลองช่วงล่างซักเท่าไร แต่เพื่อนร่วมเดินทางลงความเห็นว่าช่วงล่างเก็บอาการดีใช้ได้เลย  
ช่วงเดินทางใช้ความเร็วประมาณ 110-130 รอบไม่สูงมากด้วย แต่เสียงลมที่กระจกมองข้างมีเข้ามาให้
ได้ยินบ้าง พวงมาลัยมั่นคงดีนะ ลองเบรกการจับก็เร็วดีเหยียบทั้งที่เหยียบไปนิดเดียว ช่วงถนนว่าง
เลยลองเล่นกียร์เองก็เหมือนจะสนุกนะ แก้เบื่อได้บ้าง  ช่วงถนนว่างเลยลองเหยียบซักหน่อยความเร็ว
ที่ทำได้ก็ประมาณ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ครับ

รุ่น 2.0

ภายนอกจี๊ดเลยอ่ะ ล้อ18 นิ้ว(คงหนักพอควร) ถ้าผมซื้อตัวนี้จะไปเปลี่ยนใส่ล้อเบาๆทันที ช่วงล่างคง
ตอบสนองดีขึ้นเยอะ  ของเล่นภายในเพิ่มปุ่มและก้านต่างๆบนพวงมาลัยดูเต็มๆดี  เจ้า 2.0 คันนี้วิ่งไป
เกือบ 8000 กม. เสียงจากยางดังดีจริงๆ  เพื่อนร่วมเดินทาง(พี่แบด,พี่หลุยส์)ถึงกับบ่นพรึม ลงมาดูยาง
พบว่ายางเจ้าคันนี้ใช้งานมาหนักเลยที่เดียว สังเกตจากบริเวณไหล่ยางนี่สึกไปเยอะแล้ว แต่เมื่อผ่านทาง
ไม่เรียบ ตัวรถไม่เด้ง ไม่กระด้าง ผมว่าปิดตาแล้วเข้าไปขับหรือนั่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าใช้ยางแก้มเตี้ย
ลองคิกดาวน์เสียงเครื่องดังเข้ามาให้ได้ยินมากกว่าตัว 1.8 ได้อารมณ์เหมือนจะแรงเลยทีเดียว ความเร็ว
ช่วง 120-140 นี้ ตัวรถนิ่งใช้ได้ ผมไม่เครียดในการควบคุมรถเลย ลองใช้แพทดิลชิฟก็สนุกสนานดี แต่ถ้า
ใช้อยู่แล้วต้องการเร่งแซงกะทันหัน ต้องชิฟเกียร์ลงเอง ลองใช้ Cruise Control ไปบ้างผมว่าก็สะดวกดี
ช่วงถนนว่างลองเล่นๆได้ 200 นิดๆ ครับ รุ่น 2.0 ไฟสวยมากเวลาเปิดกลางวัน 55+

สิ่งที่อยากเสนอแนะ (ความเห็นส่วนตัว)

-พวงมาลัยให้ปรับใกล้-ไกล
-เบาะดีไซน์สปอร์ทนั่งยังไม่โอบช่วงไหล่ ขอตำแหน่งต่ำลงอีกนิด
-สปอยร์เลอร์หลังบังทัศนิสัยไปนิด
-ราคาลงอีกหน่อย 55

ส่วนความคิดเห็น นี้ เป็นของคุณ พิพัฒน์  อังศุภมงคล นี่ก็ทำงานแล้ว
หรือสมาชิกที่ใช้ล็อกอินว่า Patzahut ซึ่งนอกจากจะไปร่วมทริปกับเราแล้ว
ท้ายสุด ยังตัดสินใจ ซื้อ Mitsubishi Lancer EX 1.8 GLS มาใช้อีก 1 คัน ด้วย
หลังจากร่วมทริปกับเรา ผ่านไปแล้ว 5 เดือน
มาลองอ่านดูกันว่า น้องพัฒน์
จะให้ความเห็นรถที่เขาซื้อ ไว้อย่างไรบ้าง

“ผมเคยไป test drive มาก่อนแล้วหละ แต่แค่สั้นๆนะ ซึ่ง ก็ ok  รถก็สวยดี ใหญ่ดี ขับแล้วรู้สึกว่ารถหนึบดี
แต่สำหรับตัว 1.8 ขับในเมืองอืดไปนิด แต่ก็ยังสงสัยว่าเมื่อใช้ในการเดินทางไกลจะเป็นอย่างไร จึงได้
เข้าร่วมในการ test drive อีกครั้ง ในกิจกรรม วันดีเดย์กับ lancer ex ซึ่ง Headlightmag เป็นผู้จัดขึ้น โดย
ได้ขับในรุ่น 1.8 โดยใช้ความเร็วสูงพอสมควร ก็รู้สึกว่า ควบคุมรถได้ง่ายไม่รู้สึกว่ารถลอยหรือร่อนแต่อย่างใด
สามารถหักหลบเศษวัสดุได้ในขณะที่ใช้ความเร็วสูงได้  และเมื่อพี่จิมมี่ปล่อยให้ Free RUN ก็ได้เห็นฉลาม
ฝูงนี้วิ่งล่าเหยื่อกัน ซึ่งรถทุกๆคัน ใช้ความเร็วสูง และทุกๆ ท่านสามารถควบคุมรถได้ จึงเป็นบททดสอบ
ช่วงล่างที่ดีกับรถคันนี้ไปแล้วหละ  ต่อมาก็ได้สอบถามเพื่อนๆที่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมด้วยกัน ถึงรถรุ่นนี้
เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับรถยี่ห้ออื่นๆที่ผู้เข้าร่วมมีกัน โดยได้ข้อสรุปประมาณนี้…

ข้อดี         
1. ช่วงล่างที่ดีที่สุดในกลุ่ม c-secment ใกล้เคียงกับ Ford Focus
2. เกียร์ที่มีอัตราทดที่กว้าง เมื่อใช้ความเร็วสูงจะประหยัดน้ำมันได้ดี
3. ความสวยของตัวรถภายนอก
4. ห้องโดยสารที่ใหญ่ไม่แพ้ใคร
5. เครื่องเสียง เสียงใช้ได้เลยทีเดียว
6. ความสดใหม่ของรุ่น

ข้อเสีย     
1. การใช้เกียร์ CVT อาจจะเป็นข้อดีในแง่ความนิ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ แต่ก็มีบุคคลจำนวนมาก
    ที่ไม่ชอบอัตราเร่งในลักษณะนี้
2. ตัวรถกินน้ำมันมากกว่าคู่แข่ง อาจจะเป็นเพราะน้ำหนักตัวเป็นเหตุผลหลัก
3. กระจกไฟฟ้าปรับขึ้น AUTO และ กระจกมองข้างพับไฟฟ้า ไม่มีในรุ่นนี้  ในขณะที่ รุ่น New Lancer มีให้
4. วัสดุภายใน เช่นที่ตั้งแขนบริเวณประตู ควรหุ่มวัสดุมาให้เหมือน ใน NISSAN TIDA และบริเวณคอนโซลหน้า
    ควรมีฟองน้ำด้วย เพื่อให้รู้สึกน่าสัมผัสมากยิ่งขึ้น

สรุป เหตุผลหลักในการเลือกรถคันนี้  คงเป็นความรู้สึกของช่วงล่างและพวงมลัย เมื่อขับในขณะที่ใช้ความเร็วสูง
ยังคงมั่นใจอยู่ ซึ่งอาจหาได้ยากในรุ่นอื่นสำหรับรถราคาประมาณนี้ โดยทำให้สามารถมองข้ามข้อเสียที่หลายๆท่าน
ติ ไปได้ ทั้งเรื่อง กระจกมองข้างพับไฟฟ้าไม่ได้และกระจกไฟฟ้าด้านคนขับปรับขึ้น AUTO ไม่ได้”

—————————

ส่วนความเห็นสุดท้าย เป็นของ สมาชิกเว็บที่ใช้ชื่อว่า joufo ซึ่งเป็นคุณผู้อ่าน ที่ขาย Subaru Impreza 2.0 ลิตร ใหม่
ทิ้ง เพื่อหันมาซื้อ Lancer EX 2.0 GT มเรื่องราว ประสบการณ์มากมาย ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง ความผิดปกติของ
เกียร์อัตโนมัติ CVT  แต่ในที่สุด ก็ด้รับการดูแล แก้ไขปัญหาจากทาง Mitsubishi Motors Thailand ด้วยการ
เปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่ให้ 1 ลูก
เรื่องราวต่างๆ สามารถ คลิกเข้าไปอ่านได้ในกระทู้ ที่ห้อง User’s VOICE
ตามนี้ครับ “คลิกตรงนี้”

********** สรุป **********
ตัวรถหนะดี แถมบางด้าน ดีที่สุดในกลุ่มด้วยซ้ำ แต่ขอแผนการตลาดที่ดีกว่านี้
ออพชันที่ครบกว่านี้ กับศูนย์ฯ ที่รักลูกค้ามากกว่านี้ เยอะๆ แค่นั้นเลย!!
9 วันกับ 8 คืน ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Lancer EX ทั้ง 2 รุ่น 3 คัน ในตอนนั้น ผมกลับไม่รู้สึกเบื่อหน่าย
ที่จะขับรถรุ่นนี้ แม้ว่ารถจะมีบุคลิกเป็นผู้ใหญ่ มากขึ้นกว่า Lancer รุ่นอื่นๆ ในอดีตอย่างชัดเจน
และทั้งที่ผมจะต้องขับรถรุ่นนี้ติดกันๆ ต่อเนื่อง ในหลายๆครั้ง จนทำเอาผมแทบจะลืมไปแล้วว่า
รถตัวเอง ขับยังไง เพราะ พอกระโดดกลับขึ้นไปขับรถตัวเองอีกครั้ง ก็เริ่มเกิดคำถามในใจ..

ทำไมรถตู ขับแล้วมันโหวงๆ ซะงั้น?

เอ๋า ก็แน่ละ จะให้ไปเปรียบเทียบ Honda City กับ Mitsubishi Lancer EX ได้อย่างไรกันละ
ในเมื่อ มันเป็นรถคนละประเภท คนละกลุ่มตลาดชัดเจนเลย ถึงแม้ City จะยังคงเป็น
Sub-Compact Sedan 1.5 ลิตร ที่ดีที่สุดในตลาด แต่สำหรับ Lancer EX แล้ว ผมเอง
ก็แทบอยากจะยกตำแหน่ง Compact Sedan 1.6 – 2.0 ลิตร (เขียนไม่ผิดครับ ว่ากันตามพิกัดรถ)
ที่ดีที่สุดในตลาด ไปเลยจริงๆ

เพราะทันทีที่ขึ้นไปนั่งขับครั้งแรก เมื่อครั้งลองขับที่สนามบินดอนเมือง ก็รู้แจ้งได้ในทันที
ว่า นี่แหละ Mitsubishi Sedan ยุคใหม่ ต่อไปนับจากนี้ ควรเป็นละ พวกเขาพัฒนารถจน
ให้การตอบสนองได้ ใกล้เคียงรถยุโรปมากขึ้น หนักแน่น แต่ยังคงความนุ่มนวล ผ่อนคลาย
ในการเดินทางไกล เป็นรถยนต์ประเภท GT Cruiser ในระดับราคาที่ไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับ
สมรรถนะที่รถในระดับสูงกว่านี้ หลายๆคัน จะมีมาให้ ทัดเทียมเท่า

ช่วงล่าง และโครงสร้างตัวถัง คือสิ่งที่ผมต้องขอชมเชย เป็นอันดับแรก ตามด้วยเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
เป็นลำดับถัดมา ยังนึกอยู่ว่า ถ้าได้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ จะมันส์ขนาดไหน นี่แหละ คือรถยนต์
Sedan ในแบบที่ผมอยากได้ ในพิกัดกลุ่ม C-Segment

แล้วข้อเสียละ?
มีสิครับ! อย่านึกว่า Lancer EX จะดีไปหมดทุกอย่าง!

เหมือนเช่นเคย ที่ผมคงต้องเกริ่นกันก่อนว่า รถอะไรก็ตามในโลกนี้ มันมีทั้งข้อดีและข้อด้อย
ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อคุณได้ทดลองขับแล้ว คุณจะยอมรับในทั้งข้อดี และข้อด้อย ของรถรุ่นนั้นๆ ได้
มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับได้ ก็ค่อยคุยเรื่องราคา และการจัดไฟแนนซ์ ต่อเลย แต่ถ้ารับไม่ได้
ก็แค่เดินออกจากโชว์รูม แล้วจบ

Lancer EX ก็หนีความจริงเรื่องนี้ไม่พ้นเช่นกัน

ประเด็นแรก อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้งหมดแล้ว แม้ว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย
ที่เราถือว่ายังประหยัดน้ำมันอยู่ คือ ไม่ต่ำกว่า 12 กิโลเมตร/ลิตร แต่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้งหมดแล้ว
Lancer EX ถือเป็นรถที่ออกจะกินจุกว่าเพื่อนนิดหน่อย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจะมีโอกาสตีตื้น
คืนความประหยัดขึ้นมาได้ ก็ด้วยการปรับพฤติกรรมการหยียบคันเร่งของคนขับทั่วๆไป นี่ละ
รถเกียร์ CVT มีวิธีทำให้ขับประหยัดคือ ขับเรื่อยๆ ช้าๆ อย่ากระแทกกระทันกับคันเร่งมากไป

ต่อมา คือเรื่องของ อัตราเร่งของรุ่น 1.8 ลิตร ที่ผมว่า อืดไปนิดนึง ในช่วงออกตัว ผมไม่แน่ใจว่า
เป็นปัญหาเฉพาะคันหรือเปล่า เพราะในรุ่น 2.0 GT ไม่มีปัญหาอะไรเลย

ถ้าในเมื่อ เกียร์ลูกนี้ เป็นเกียร์ รุ่นเดียวกับ Nissan Teana ซึ่ง ถ้าเกียร์ มันทำงานติงต๊องมากนัก ก็แค่
เสียบเข้าเครื่อง OBD แล้ว Set ค่าทุกอย่างให้เป็น Default เริ่มนับหนึ่งใหม่ บุคลิกการตอบสนอง
ของเกียร์ ที่ฉับไว อย่างที่ควรจะเป็น ก็กลับมาได้แล้ว ผมก็เลยเกิดความสงสัยว่า เอ แล้วถ้าเราจะทำ
แบบเดียวกันนี้ กับ Lancer EX 1.8 ลิตร จะทำได้หรือเปล่าหว่า? เผื่อว่าตัวเลขอัตราเร่ง จะดีกว่า
ที่เป็นอยู่?

ประเด็นที่ 3 เป็นปัญหาเรื่องเสียงตามจุดต่างๆ ดูเหมือนว่า เสียงปิดประตู ที่เคย บาง และฟังดู
ไม่หนักแน่นเลย เมื่อเทียบกับเสียงปิดประตูของเวอร์ชันญี่ปุ่นอย่าง Galant Fortis นุ่มนวล
เสนาะหูกว่านี้ ดังนั้น อย่างก กับแค่ยางขอบประตูที่ควรจะหนาแน่นกว่านี้

เพราะการเก็บเสียงรบกวนจากภายนอก เป็นเรื่องสำคัญมากๆ  เสียงรบกวนจากยางและลม
ที่ดังพอกับเสียงแม่ยายผายลมโดยเฉพาะ รุ่น 2.0 GT ซึ่ง เสียงรบกวนส่วนใหญ่จะมาจาก ยาง
ติดรถทั้ง 4 ล้อ

4. เรื่องของตำแหน่งเบาะนั่ง ถ้าสามารถปรับให้เบาะคนขับ ลงต่ำได้มากกว่านี้อีกนิดนึง
แต่ยังต้องช่วยให้ผู้ขับขี่ ลุกเข้าออก จากตัวรถได้ง่าย อีกทั้งยังต้องมีพื้นที่วางแขน ซึ่งต้อง
สบายกว่านี้ มาให้ด้วย ขณะที่เบาะนั่งด้านหลัง ดีอยู่แล้ว โปรดอย่าแก้ไขใดๆ ถ้าไม่จำเป็น

5..ประเด็นส่วนใหญ่ ที่เหลือ ในคราวนี้ มันกลับไม่ได้อยู่ที่คุณภาพการขับขี่ เพราะนั่นคือ
สิ่งที่พวกเขาทำออกมาได้ค่อนข้างจะลงตัวมากพอสมควรแล้ว ดังนั้น จำเลยสำคัญ ดันไปอยู่ที่
อุปกรณ์มาตรฐานติดรถ และ ราคา…ซึ่งถ้าให้พูดกันตรงๆคือ มันไม่สอดคล้องซึ่งกันและกัน
เช่น กระจกมองข้าง ที่กดลง แบบ One Touch ได้ แต่ไม่สามารถดึงขึ้นแบบ One Touch ได้
รวมทั้งกระจกมองข้างแบบพับเก็บด้วยมือ ซึ่งอันที่จริง ก็ไม่มีมาให้เลยสักรุ่นเดียวนั่นแหละ!

ซึ่งตอนนี้ ทราบมาว่า ทาง มิตซูบิชิ เอง ก็กำลังเร่งแก้ไขเรื่องนี้อยู่ และกว่าที่เราจะได้เห็น
การปรับปรุงที่ว่านั้น คงต้องรอกันอีกสักพัก ซึ่งก็ไม่นานเกินรอหรอก

เอาละ พูดตรงๆเลยนะ
6. เรื่องที่เราพูดมา มันคือข้อเสีย ที่ผมคิดว่า มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในรถที่มีราคาในระดับนี้

แต่ ถ้า ข้อเสียที่เราค้นหามา มันมีอยู่แค่ 4 เรื่องนี้ เทียบกับรถทั้งคัน ที่มีข้อดี เยอะกว่ามากมาย
แถม ผู้ผลิตเอง ก็กำลังหาทางปรับปรุงและแก้ไขมันอยู่

คุณจะไม่คิดเปิดโอกาส เอามันมาอยู่ในตัวเลือก ประกอบการตัดสินใจ สักหน่อยเลยเชียวเหรอ?

ถ้ายังตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะซื้อรถรุ่นใด ในกลุ่ม Compact C-Segment ระดับราคา 7 แสน – 1 ล้านบาท
ก็ควรจะตั้งคำถาม ให้ตัวเอง และครอบครัวกันก่อนว่า สิ่งที่คุณอยากได้จากรถคันใหม่นั้น มีอะไรบ้าง

รถที่ขายดีที่สุดในกลุ่มนี้ หากไม่นับกลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการ Taxi ก็จะยังคงเป็น Honda Civic แม้ว่า
จะขายดี เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แรงกว่า Lancer EX นิดนึง มาพร้อมอุปกรณ์ครบครันกว่า ในราคาที่ไม่หนีกัน
เรื่องแอร์เหม็น กับกระจกหน้าต่างไฟฟ้าติดขัด ก็แก้ปัญหาได้แล้ว แต่คุณอาจต้องทำใจกับ คุณภาพของ
ชิ้นส่วน จากซัพพลายเออร์ และการประกอบในบางคัน รวมทั้ง การทำสีตัวถัง ซึ่งผมว่า บางไปหน่อย
ศูนย์บริการ ดีๆ ที่น่ารักจนไม่ค่อยมีเสียงลูกค้าบ่นหรือก่นด่า เริ่มมีจำนวนลดลง (คือจำนวนศูนย์บริการ
หนะเท่าเดิม แต่ศูนย์ฯ ที่ดูแลลูกค้าดีๆ นั้น น้อยลงจริงๆนะ) แล้วก็ปัญหาเสียงเครื่องแต๊กๆ ในรุ่น 1.8 ลิตร
ที่ไม่รู้ว่าแก้หายแล้วหรือยัง (แต่รุ่น 2.0 ลิตร หนะ ถ้าอยากได้ ก็ซื้อได้เลย)

ถ้าอยากได้ความคุ้มค่า ไม่อยากเสี่ยงกับแบรนด์รอง ศูนย์บริการมีทั่วไทย (แต่เคยใช้บริการกันครบทุกที่
หรือเปล่าหว่า?) ก็คงต้องมองไปที่ Toyota Corolla ALTIS Minorchange ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยี เกียร์
อัตโนมัติ CVT เหมือนกันกับ Lancer EX แต่ช่วงล่างด้อยกว่านิดนึง เครื่องยนต์ กับช่วงล่างไม่ใช่ปัญหา  
พวงมาลัย แม้จะเบาอยู่ แต่ก็แก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว กระนั้น ต้องยอมรับนะครับว่า การตอบสนองของระบบ 
กันสะเทือนกับพวงมาลัย แม้จะดีกว่า Civic แต่ก็ยังเป็นรอง Lancer EX อยู่ดี แถมเบาะนั่ง ก็ยังก่อความ 
ปวดหลังให้กับคนอีกไม่น้อยได้ในทันทีที่ขึ้นขับครั้งแรก คุณภาพชิ้นส่วนในห้องโดยสารก็ยังถือว่า เป็นรอง
ค่ายอื่นอยู่

Mazda 3 ? ตอนนี้ ยังพอซื้อหามาใช้งานได้ แต่ตอนนี้ ความสดใหม่ ถือว่า น้อยสุดในกลุ่ม รุ่นใหม่ ใกล้เปิดตัว
ในช่วงต้นปี 2011 ศูนย์บริการ เยอะขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาคุณภาพ การซ่อมบำรุงกันอีกสักหน่อย
ตัวรถ เอง มีเพียงรุ่น 2.0 ลิตรเท่านั้นที่น่าเล่น เพราะทั้งแรงกว่า และประหยัดกว่า เครื่อง 1.6 ลิตร ซึ่งอืดไป
และกินน้ำมันมากไป แต่การขับขี่ก็ถือว่า ดีเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มอยู่

Nissan TIIDA ? “ไอ้ติ๋ม” รุ่นปรับช่วงล่าง ให้ใกล้รถยุโรปขึ้นอีกนิด ยังไงๆ ก็มีคุณงามความดีซ่อนอยู่ที่
เครื่องยนต์ และเกียร์ กับ ห้องโดยสารที่ยาวเกินคาด แต่นอกนั้น ถ้าอยากได้รถขับสนุกๆ ก็ต้องถามกันละ
ว่า ความสนุกในการขับรถของคุณอยู่ที่ไหน เพราะ TIIDA แม้ว่า เครื่องแรง แต่ก็ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็น
รถขับสนุก ศูนย์บริการ มีเยอะ แต่ หาช่างเก่งๆ ดูแลลูกค้าได้ดี ไม่มากนัก

Ford Focus? รถดีนะ แต่รุ่น 1.8 ลิตร ก็อืดพอกันกับ Lancer EX 1.8 นั่นแหละ ห้องโดยสาร อาจจะมีปัญหา
กับบางคน พื้นที่นั่งด้านหลัง ยังไงๆ Lancer EX ก็เหนือกว่า แต่ถ้าว่ากันที่เครื่องยนต์แล้ว 2.0 TDCi ดีเซล
คอมมอนเรล เทอร์โบ คือสุดยอดเครื่องยนต์ในฝัน ที่เป็นความจริง ในพิกัดรถยนต์ระดับนี้ แต่ก็มาติดตรงที่
ศูนย์บริการ คือเรื่องน่าหนักอกของ Ford อยู่ ถ้ายังคิดจะทำตลาดในไทยกันต่อไป เพราะนอกจากจะน้อยแล้ว
การซ่อมบำรุง ก็ยังทำได้ไม่ถึงกับดีนักในสายตาของลูกค้า ในภาพรวม

Chevrolet Optra? ผมว่า รอ Cruze ปลายปีนี้ ไปเลยเถอะ…แต่ก็อย่าเพิ่งคาดหวังกับ Chevrolet ยุคหลัง
ปี 2010 เป็นต้นมามากนักนะครับ ศูนย์บริการเยอะ แต่ การบริการ ก็ยังถือว่า อยู่ในระดับปานกลาง

สำหรับใครที่คิดแล้วละว่า จะออก Lancer EX แน่นอน คำถามต่อมาก็คือ จะเลือกรุ่นไหนดี?

จากเท่าที่มองพฤติกรรมของลูกค้าเป้าหมายทั้งหลายนั้น ประเด็นนี้ แทบไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว ตัวรถเอง ก็ดูชัดเจนเอามากๆแล้วว่า อยากได้ใครมาเป็นเจ้าของ และ
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ซื้อไปส่วนใหญ่ เพียงแค่ แว่บแรก ก็มักจะรู้ความต้องการของตนเองดีว่า
มีกำลังทรัพย์ ประมาณไหน และอยากได้รถรุ่นย่อยใด

รุ่น 2.0 GT ถือเป็นรุ่นท็อป ที่เรียกได้ว่า น่าสนใจมากที่สุด ในทางเลือกรุ่นย่อยทั้งหมดที่มีอยู่
เพราะนอกจากจะได้เครื่องยนต์ ซึ่งแรงขึ้นกว่ากันชัดเจน มีอัตราเร่งที่ดีกว่ารุ่น 1.8 ลิตร ชัดเจน
ยังได้ชุดแอโรพาร์ตรอบคัน สปอยเลอร์หลัง และล้อ 18 นิ้ว จากโรงงาน เอาใจชายโสด ที่อยากได้
รถซึ่งมีภาพลักษณ์ดูดี เสร็จสรรพมาจากโรงงาน สมรรถนะไม่ขี้เหร่เลย แถมช่วงล่างก็ดีที่สุดในกลุ่ม
เอาไปแต่งเล่นต่อยอดได้อีกมากมาย หรือจะทำเพื่อให้ดูใกล้เคียงกับ Galant Fortis RalliArt หรือ
ยกระดับไปเป็น Lancer Evolution X ในอนาคต ก็ยังได้อีก ค่าตัวก็ 1,034,000 บาท

ส่วนรุ่น RalliArt นั้น ควรค่าแก่การที่จะเพิ่มเงินอีกหน่อย เพื่อถอยออกมาขับ หรือเปล่า?

ต้องถามก่อนว่า อยากได้อุปกรณ์ตกแต่งที่เพิ่มเติมเข้ามามากน้อยแค่ไหน ถ้าอยากได้มาก
เงินเหลือ และคิดว่าไม่ลำบากอะไรมากมาย ก็ซื้อได้เลยครับ แต่ ถ้าไม่ได้เกิดกิเลส มากมาย
ขนาดนั้น ขอแนะนำว่า ซื้อรุ่น 2.0 GT แล้วไปหาระบบนำทาง GPS มาติดตั้งเองเพิ่มเติม
ในราคาถูกกว่านี้ น่าจะดีกว่า  แถมคุณจะยังมีเครื่องเสียง ที่ให้คุณภาพเสียงที่เต็มอิ่มกว่าที่
ชุดเครื่องเสียงแบบหน้าจอสัมผัส Touch Screen จะให้คุณได้ เว้นแต่ว่า อยากได้ ล้ออัลลอย
รมดำใจจะขาด ก็ยังสามารถไปหาร้านทำสีล้ออัลลอย เอาเอง ข้างนอกได้อีก

อย่างไรก็ตาม รุ่น 1.8 GLS-Ltd ก็ยังถือว่า เป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว ซึ่งอยากได้
รถยนต์นั่งเอาไว้ขับไปไหนมาไหนสักคัน อยากได้ออพชันเยอะ พอกันกับรุ่น 2.0 GT แต่งบไม่ถึง
เพราะเมื่อดูรายการ ข้าวของที่ให้มา ก็ยังไม่ถึงกับแตกต่างจากรุ่น 2.0 GT มากนัก กระนั้น ค่าตัว
ก็ถือว่าสูงเหมือนกัน อยู่ที่ 899,000 บาท
ขณะเดียวกัน รุ่น 1.8 GLS จะเหมาะกับคนที่อยากได้ภายในรถสีสว่างๆ แต่อาจต้องทำใจว่า คุณจะ
ไม่ได้เบาะหนัง (ซึ่งเดี๋ยวดีลเลอร์ เขาก็คงจะหาทางจัดการให้ได้ ถ้าต้องการจริงๆ) อีกทั้ง ข้าวของ
ที่ให้มา จะน้อยกว่ารุ่น 1.8 GLS-Ltd ลงไปอีกหน่อย งานนี้ ต้องคำนวนดูดอกเบี้ย และจำนวนเงิน
ที่คุณจะต้องผ่อนแต่ละเดือน ว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้น คุณรับได้ไหม? ถ้าได้ เล่นรุ่น GLS-Ltd
ไปเลยจะดีกว่า แต่ถ้าไม่ไหว รุ่น GLS ก็ยังเป็นทางเลือกที่ใช้การได้ ไม่น่าเกลียดนัก แต่ราคาก็
อยู่ที่ 886,000 บาท
แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 GLX แล้วละก็ ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ เพียงใบเดียว และวิทยุ SONY หน้าตาเหมือน
ที่แถมให้กับรถกระบะ ผมว่า ไม่ค่อยคุ้มค่าที่จะซื้อหามาใช้ เพราะค่าตัว 831,000 บาท  ที่ต้องแลกมา
ต่อให้มีส่วนลดต่างๆ จากป้ายราคามากมายหลายหมื่นบาท จนค่าตัว ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 7 แสนกว่าบาท
เงินจำนวนนี้ ก็ยังมีทางเลือกจากรถรุ่นอื่นๆ ที่มากมาย รอคุณอยู่ ซึ่งคุณก็สามารถหาอ่านข้อสรุปได้
จากย่อหน้าข้างบนที่ผ่านมาเมื่อสักครู่นี้

ทีนี้ ก็มาถึงอีกคำถามหนึ่งที่หลายคนสนใจ ว่า แล้วควรจะออก Lancer EX ช่วงนี้หรือไม่?
หรือว่าจะรอให้ถึง Motor Expo กันดี เพราะได้ยินข่าวแว่วๆ ว่า อาจจะมีรุ่นเพิ่มอุปกรณ์
ออกสู่ตลาด?

เอาอย่างนี้ สรุปสันๆ เลยแล้วกันว่า จนถึงตอนนี้ สิ่งเดียวที่พอจะบอกได้ก็คือ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
แบบ One-Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง กับ กระจกมองข้าง พับได้ด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็น 2 อุปกรณ์ ที่เรา
เขียนตำหนิเอาไว้ ในช่วงต้นๆของบทความนี้ มีแนวโน้มสูงมากๆว่าจะถูกติดตั้งมาให้ อย่างไรก็ตาม
ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ข้าวของที่จะให้มาเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้นั้น คืออะไร เพียงแต่พอจะเดาทาง
จากประสบการณ์ที่ผ่านๆมา ได้ว่า ไม่น่าจะเพิ่มมากมายอย่างที่คิด เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับโฉม
แบบ Minorchange กันแต่อย่างใด

ดังนั้น ถ้าคิดว่ารอได้ อยากจะรอ ไม่รีบร้อน ก็รอไปเรื่อยๆเลยครับ รอกันจนถึงปีหน้าเลย เพราะที่แน่ๆ
Motor Expo หนะ ไม่มีให้เห็นกันแน่ๆ แต่ ถ้าคิดว่ารอไม่ไหว ก็เดินเข้าโชว์รูม Mitsubishi กันได้เลย
ซื้อรถคันที่คุณชอบออกมาก่อน ส่วนอุปกรณ์ ต่างๆ ที่เฝ้ารอกันนั้น เอาไว้ให้รุ่นปรับอุปกรณ์ที่ว่า
เปิดตัวออกมาเมื่อไหร่ ค่อยไปเบิกอะไหล่ชิ้นใหม่เหล่านั้น ให้ช่างในศูนย์บริการ เขาติดตั้งกันให้เอง
ผมว่า นั่นก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า สำหรับคนที่ไม่อาจรอได้ และต้องรีบใช้รถกันจริงๆ

ท้ายสุด มีคนอยู่ 3 กลุ่ม จะเป็นใครก็ตามที่กำลังนั่งอ่านบทความรีวิวนี้อยู่ ผมมีข้อความอยากจะฝากถึงคุณครับ

ข้อแรก ถ้าคุณเป็นใครก็ตาม ที่ทำงานอยู่ใน ฝ่ายการตลาดของ Mitsubishi Motors Thailand 
และกำลัง นั่งกุมขมับอยู่กับ ยอดขายของ Lancer EX ที่…พูดกันตรงๆนะ เห็นกันอยู่ จากรายงานยอดขายรถยนต์
ในแต่ละเดือน โดยคู่แข่งอย่าง Honda ที่ส่งมาให้เรื่อยๆ ว่า Lancer ในภาพรวม ขายไม่ถึงกับดีนัก

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ทั้งที่รถก็เปิดตัวออกมาใหม่ คุณงามความดี ก็มีมากมาย เกินกว่าที่ เคยมีมาในรถรุ่นก่อนๆ

ถ้านึกไม่ออก จะเฉลยให้อ่าน เพราะ

1. ความไม่สัมพันธ์กันของราคารถ กับอุปกรณ์ติดรถที่มีมาให้ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แน่นอน อย่างที่เขียนร่ายยาว
มาตลอดตั้งแต่ต้น ชาว Mitsubishi เองจะรู้ดีอยู่เต็มอกเลยแหละว่า อุปกรณ์ติดรถบางอย่าง อาจจะด้อยกว่า คู่แข่ง
อย่าง Civic FD และ Altis (ไม่ต้องเอารุ่นใหม่ล่าสุดหรอก เอาแค่รุ่น 2.0 ก่อนปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ นี่ ก็ยังได้)
ปัญหาคือ ในอดีต Mitsubishi นั้นเคยได้ชื่อว่า ข้าวของครบพอใช้ได้  ในราคาที่สมเหตุสมผล แต่กับ Lancer EX
ราคาเปิดตัวมาค่อนข้างสูง แต่รุ่นถูกสุด 1.8 GLX ที่คนอยากได้ กลับตกแต่งเสียจนดูเหมือนรถราคาถูกไปเลย
ถ้าอยากได้รุ่นที่ตกแต่งดีหน่อย คุณต้องเอื้อมขึ้นไปเล่นรุ่น GLS ซึ่งราคา ก็ขยับขึ้นไปอีก พอสมควร เมื่อถึง
จุดนั้น ลูกค้าจำนวนไม่น้อย เลยยอมถอดใจ หันไปซื้อรถจากคู่แข่งแทน

ส่วนหนึ่ง ก็มาจาก การใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น ค่อนข้างเยอะมากในรุ่นแรกๆ ทำให้ต้นทุนสูงกว่าที่คิดไว้
นิดหน่อย

จะว่าไปแล้ว ราคาขายที่สูงขนาดนี้ มันก็มาจาก ความล่าช้าในการตัดสินใจนำรถรุ่นนี้เข้ามาทำตลาด ค่อนข้างช้า
เมื่อเทียบกับระยะเวลาการเตรียมผลิตรถรุ่นใหม่ โดยทั่วๆไปที่ชาวบ้านชาวช่องเขาเป็นกัน ดังนั้น ถ้าจะติดต่อ
ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ให้ทำชิ้นส่วนรถรุ่นนี้ แทนการนำเข้า ก็คาดว่า กว่าที่ Lancer EX จะเปิดตัวในไทยกันได้
คงมี ปี 2011 แทนที่จะเป็นปี 2009 ซึ่งก็ยิ่งเสียโอกาสในการทำตลาดไปเยอะ ก็เลยต้องยอมตัดสินใจสั่งนำเข้า
ช้นส่วนจากญี่ปุ่น มาใช้ในช่วงแรกๆนี้ ค่อนข้างเยอะมาก จนทำให้ต้นทุนต่อคัน สูงขึ้น และกำไรต่อคันก็ลดลง
ส่งผลให้ต้องตั้งราคาขาย แพงกว่าที่ควรเป็นไปหน่อย อย่างที่เห็นกันอยู่นี้

2. ถ้ามองในมุมผู้บริโภค เมื่อใดที่คุณเปิดตัวรถใหม่ สิ่งแรกที่ผู้บริโภค จะรับรู้ว่า คุณเปิดตัวรถใหม่แล้ว
ก็คือ ภาพยนตร์โฆษณา และ Print Ad. ในหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าที่ของมัน สำคัญมาก คือต้องดึงบุคลิก
ของตัวรถที่ชัดเจน ออกมา

ปฏิเสธยากมากว่า บุคลิกของ Mitsubishi Motors ที่ผ่านมาคือ “เป็นสุภาพบุรุษ” ไม่ค่อยโจมตีใคร ไม่ค่อย
ให้ร้ายกับใคร ดังนั้น การทำตลาด แต่ละครั้ง จึงมักจะทำออกมาแบบ “ไม่เต็มที่” “กล้าๆกลัวๆ” “มีของดี
แต่สื่อสารกันไม่ตรงใจลูกค้าสมัยใหม่ ซึ่งเบื่อแล้วกับการโฆษณาแบบ Conventional Conservative style”

กรณีของ Pajero Sport นั้น ถือว่ามีความพยายามในการต่อยอดทำตลาดได้ดี ซึ่งน่าชมเชย แต่นั่นก็ต้อง
บอกว่า ส่วนหนึ่ง มาจากตัวรถ้วย และการพูดกันปากต่อปาก ถึงความประทับใจหลังจากที่ซื้อไปใช้งานแล้ว
แม้ว่าตอนนี้ จะมีปัญหาเกิดขึ้นกับ รถรุ่นนี้อยู่ใน Pajero Sport Club ก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ สำนักงานใหญ่
“ต้องแก้ไขกันอย่างเต็มที่กว่านี้ ต่อไป”

แต่กับกรณีของ Lancer EX นั้น ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องแรกที่ออกมา มันอะไรกันเนี่ย? ตึกเต้นขึ้นๆ ลงๆ
เนี่ยนะ? ภาพในหนังเรื่องนั้น ถูกทำออกมา ให้ดู Cool แต่มันไม่ Cool อย่างที่ควรเป็น แล้วพอเป็นหนัง
โฆษณารุ่น 1.8 ลิตร ก็ให้ นางแบบสีหน้าเรียบเฉยสุดๆ มาขับรถไปตามแมกไม้และสายธาร เรื่อยเปื่อย
ทั้งที่ ตัวรถมันมั่นคง และมั่นใจ เข้าโค้งได้ดีมากๆ ทำไมไม่ทำงานโฆษณาออกมา ให้เป็นอย่างเวอร์ชัน
ญี่ปุ่น ที่เจ้าสาว ขับรถมาให้ทันงานแต่ง ลัดเลาะมาตามโค้ง จนเพลิน ขับเลยงานแต่งงานตัวเองไป
แบบนั้น ยังเข้าท่ากว่าเลย

Lancer EX คันนี้ มันไม่ใช่ Sensational Intelligence หากแต่มันเป็น Fantastics Sports Sedan เลยต่างหาก!
แค่เห็นรูปทรง คุณพ่อบ้าน ก็จะชื่นชอบมันเลย แม้ว่า คุณแม่บ้าน จะด่าเปิง เพราะมองว่ามันไม่สวย ไม่ถูกกับ
รสนิยมผู้หญิงที่ชอบอะไรสวยๆงามๆ ไม่ชอบงานออกแบบที่แข็งทื่อ (นี่ก็อีกประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้า
ผู้หญิง ไม่ค่อยสนใจ Lancer EX กันมากนัก เว้นแต่ เป็นลูกค้าผู้หญิง ที่มี mind perspective เป็นผู้ชาย
มากกว่าผู้หญิงปกติ ซึ่จะชอบรถคันนี้มากขึ้นมาเลย) และทันทีที่ขึ้นขับ คุณจะพบได้เลยว่า มันต่างจาก
Mitsubishi Sedan รุ่นเดิมๆ ที่คุณเคยเจอ มันขับดีกว่ากัน ชัดเจน ใกล้เคียงรถยุโรปมาก

รุ่น 2.0 GT หนะ มันให้ความตื่นเต้นเล็กๆ ตั้งแต่เห็นรูปโฉม จนขึ้นขับ และจนถึงวินาทีที่ต้องเดินลงมาจากรถ
ส่วนรุ่น 1.8 ลิตรหนะ มันให้ความมั่นใจ กับคนที่ต้องขับรถเดินทางไกล ได้ดี กับทุกเพศทุกวัย แต่ความพยายาม
ที่จะทำการตลาดกับผู้หญิง ให้มากขึ้น ทั้งที่ งานออกแบบตัวรถมันไม่ได้โดนใจผู้หญิงส่วนใหญ่มากขนาดนั้น
มันก็ไม่ต่างกับ การยัดเยียด ขาย รองเท้าสีส้มแปร๊ด ให้กับสาวออฟิศที่แต่งตัวเรียบง่าย นั่นแหละ!

ดังนั้น แนวทางการสื่อสารบุคลิกที่แท้จริงของรถ จึงกลายเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน คุณต้องหา identity
ที่ชัดเจนของรถ แล้วสื่อสารมันออกมา อย่างตรงไปตรงมา ให้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ และอย่าเน้นความพยายาม
เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิง มากไปกว่านี้ เพราะสาวออฟฟิศรอบๆข้างคุณ ที่เคยเจอมาแล้ว ก็คงจะบอกคุณได้ดีว่า
พวกเธอคิดยังไง กับรูปทรงของรถ…ซึ่งแน่นอน มันตรงกันข้ามกับผม ที่ชอบงานออกแบบของ Lancer EX มากๆ

3. เรื่องสี หรือ Colors Communication นี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เคยสังเกตกันไหมว่า สมัยก่อนปี 2001 Mitsubishi
แทบไม่เคยใช้สีน้ำเงิน ในการโฆษณาเลย แต่ระยะหลังๆมานี้ ทำไมถึงใช้สีน้ำเงิน มาเป็นสีที่ใช้กับสื่อ
โฆษณาประชาสัมพันธ์ เยอะขึ้น ทั้งที่ “สีน้ำเงิน ไม่ใช่สีของ Mitsubihi Motors เลย” และคนจะจำได้แต่
สีแดง เป็นหลัก ไปดูได้เลย Lancer EX ใช้สีน้ำเงินในการโฆษณาค่อนข้างเยอะกว่า Mitsubishi รุ่นอื่นๆ
ในเมืองไทย แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานทางการวิจัยตลาดชิ้นใดยืนยันในเรื่องนี้ แต่ถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมา
ลองสำรวจศึกษาในเรื่องนี้ดู เชื่อว่า น่าจะมีส่วนในเชิงลึกมากๆ

แม้ปากลูกค้าจะตอบว่า มันไม่เกี่ยวกันหรอก และคุณอาจจะมีคำถามกลับว่า Civic FD ตอนเปิดตัว เขาใช้
สีน้ำเงิน กับสื่อโฆษณาของเขาเช่นกัน แล้วทำไมรถขายดี ผมจะตอบให้เลยว่า ก็ลองดูโทนสีน้ำเงินที่
Honda เขาใช้สิ! มันเข้มกว่าที่ใช้ใน Lancer EX ใช่ไหม? แล้วดูการออกแบบ สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์
อื่นๆสิ ทุกอย่างมันดูเข้าท่า และลงตัวกว่าอย่างเห็นได้ชัดถูกไหม?

นี่ยังไม่นับเรื่อง สีตัวรถ ซึ่ง ก็มีโผล่มาอีก 2 ประเด็น ข้อแรก ทำไม สีแดง ที่ให้มาเป็น Colors Variation
ของ Lancer EX บ้านเรา จึงเป็นสีแดง แนว “ช้ำเลือดช้ำหนอง”? อย่างที่เห็นอยู่บนตัวถังของ รุ่นพิเศษ
RalliArt Concept คันนี้ อย่ามาอ้างว่า ตอนเปิดตัว กระแสการเมืองบ้านเรามันรุนแรง จนไม่อยากถูก
ผูกโยงเข้ากับ ความขัดแย้งด้านการเมืองของไทย รู้ว่า อาจจะกลัวประเด็นนี้กัน แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้าง
ขนาด Honda ยังเคยเปิดตัว Jazz Minorchange ด้วยสีเหลือง ในช่วงที่กำลังมีการประท้วงโดยกลุ่ม
พันธมิตร พอดี ก็ไม่เห็นเป็นไร แถมคนยังจดจำได้ดีอีก จนถึงทุกวันนี้ ว่า Honda Jazz เคยมีสีเหลือง
แสดงว่า แม้ยอดขาย รถสีเหลืองของ Jazz จะไม่ดีนัก แต่มันนำพาให้คนจำได้ และเดินเข้าโชว์รูม
ไปเลือกซื้อ Jazz สีอื่นได้อีกในที่สุด กรณีศึกษาพวกนี้ เคยถูกนำมาพูดถึงในที่ประชุมกันบ้างไหม?

อีกประเด็นในเรื่องเดียวกัน คือ อยากจะถามจริงๆว่า ใครวะ สั่งให้กั๊กสีขาว White Pearl เอาไว้เนี่ย?
ไม่เปิดตัวแล้วขายพร้อมกันไปเลย? กั๊กไว้ทำไม ชอบสวมเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ (กั๊ก) กันจริงๆ
พอสุดท้าย เป็นไงละ ยอดขายตอนแรก มันไม่เดินเลย แล้วถึงจะปล่อย สีขาวออกมา กระตุ้นตลาด
สุดท้ายเป็นไง คนส่วนใหญ่ ก็ออกสีขาว กับสีดำ แล้วก็สีเงิน คุณจะเห็น Lancer EX แค่ 3 สีนี้
บนถนน

4. ประเด็นเรื่อง การขาย และบริการหลังการขาย….เดี๋ยวจะพูดต่อไปในหัวข้อข้างล่าง

5.นอกนั้น ก็จะเป็นเรื่องยิบย่อย เช่น การโปรโมทว่า Lancer EX 1.8 ลิตร สามารถเติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์
ได้มากสุดถึง E85 กัน แต่ก็ไม่อาจทุ่มโปรโมทได้เต็มที่ เพราะจะโดนผู้บริโภค ด่ากลับมาว่า ใช่ รถหนะ
เติมได้ แต่ไหนละ ปั้มน้ำมันที่จะให้เติม ในวันเปิดตัว EX มันมีแค่ 3 ปั้ม เท่านั้น ที่เติมได้ (ตอนนี้ น่าจะ
เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกนิดหน่อย ไม่มากนักหรอก) ดังนั้น ประเด็นนี้ ยิ่งโปรโมทไป ก็ไม่ได้ยิ่งช่วยสร้าง
ยอดขายเลย เพราะแม้ว่าลูกค้าจะตัดสินใจซื้อรถสักคัน เพราะว่ามันเติมน้ำมันได้หลายชนิด แต่ลูกค้า
ไม่ได้สนใจว่า มันจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มาก เลย เขาสนใจแค่ว่ามันประหยัดเงินในกระเป๋า
ของเขาต่างหาก และในความเป็นจริง E85 มันก็ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ออกมา ด้อยกว่าน้ำมันเบนซิน
ตัวอื่นๆ ที่มีขายในบ้านเรา หรือเอาง่ายๆ ว่า แล่นได้ระยะทางน้อยกว่า เบนซินแก็สโซฮอลล์ อื่นๆ ที่มี
ส่วนผสม เอทานอล น้อยกว่านี้ เพียงแค่มีราคาน้ำมันขายปลีก ถูกกว่า ด้วยความจงใจของภาครัฐ
ที่ไปกดราคาขายปลีกเอาไว้ โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะว่าไป ภาครัฐก็ทำถูกแล้ว
ไม่เช่นนั้น E85 ก็จะไม่เกิดในเมืองไทยเลยจริงๆ

สรุปว่า ถ้าจะแก้ไขกัน ก็คงต้องปรับภาพลักษณ์ในการโฆษณา รถรุ่นนี้กันใหม่ทั้งหมด กล้าเล่นกับ
มุขการตลาดที่ แรงขึ้น ตรงมากขึ้น แบบที่ Mitsubishi ไม่เคยทำมาก่อน สื่อสารกันแบบ ชัดเจน
ตรงไปตรงมา กล้าเล่นกับความคิดของผู้บริโภค มากขึ้น อีกทั้ง ต้องพยายาม ส่งเสริมในเรื่องการ
ดูแลบริการหลังการขาย ให้เจ๋งกว่าที่เป็นอยู่ ลำพังสำนักงานใหญ่ทำกันเอง คงจะเหนื่อย เพราะ
เห็นว่าพยายามทำกันมาตั้งนานแล้ว ก็ยังไม่เห็นจะดีขึ้นอย่างชัดเจนสักที ต้องพึ่งพาความร่วมมือ
จากดีลเลอร์ด้วย…แต่อย่างน้อย สถานการณ์ ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับ Ford และรถอีกหลายยี่ห้อ
ก็แล้วกัน

เวลานี้ ผมเชื่อว่า ที่ตึกใหญ่แห่งทุ่งรังสิต คงกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องที่ผมพูดไปนี้อยู่แล้ว
เพื่อจะเตรียมแก้ปัญหาทั้งหมด เท่าที่พวกเขาพอจะทำได้ ซึ่งเท่าที่ดูอยู่นี้ พวกเขากำลัง
พยายามกันอย่างเต็มที่ แล้ว ดังนั้น เราได้แต่รอดู สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากนี้ ว่าจะช่วยให้มี
ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไปมากกว่านี้ได้หรือไม่

ข้อต่อมาถ้าคุณเป็นใครก็ตาม เป็นเจ้าของ หรือพนักงาน ในโชว์รูม ศูนย์บริการ หรือผู้จำหน่าย
ของ Mitsubishi Motors ทั่วประเทศไทย…

คุณอาจจะบ่นว่า “ทำไมลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมน้อยจัง ทำไม ยอดรถมาใช้บริการในศูนย์ฯ น้อยจัง
แล้วแบบนี้ ฉันจะอยู่ได้ไหมวะเนี่ย กำไรจากการขายรถคันนึง ก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่ กำไร
จากศูนย์บริการ ก็แค่พอเลี้ยงลูกน้องให้อยู่รอดได้ไปเดือนนึงๆ แค่นั้น แล้วแบบนี้ อนาคตฉัน
จะเป็นอย่างไร” ครับ บ่นก็บ่นไปเถอะ ไม่ว่าหรอก แต่ ได้ลองหาสาเหตุแล้วหรือยังละ?

เคยลองเดินออกมาจากห้องทำงาน ลงมาดูลูกน้องคุณบ้างไหม ว่าเขาทำงานกันอย่างไร?

พูดตรงๆนะ มีลูกค้าหลายคน ที่อยากได้รถยนต์ Mitsubishi แต่พอพวกเขาเดินเข้าโชว์รูมมา ก็เจอ
พนักงานขาย ทำตัวไม่ดีบ้างละ พูดจาไม่ดีบ้างละ ตอนจอง สัญญาอย่างหนึ่ง แต่พอวันรับรถกลับเป็น
อีกอย่างหนึ่ง บ้างละ ศูนย์บริการ ก็วิเคราะห์ปัญหาไม่เก่งบ้างละ พูดจาฟังแล้ว หมายังเกาหูบ้างละ
ก็ทั้งหมดนี้นั่นแหละที่ทำให้ลูกค้าเขาถึงบ่นกลัวกันตามเว็บไซต์ต่างๆ พอลูกค้ากลัว ก็ไม่กล้าเดินเข้า
โชว์รูม ยอดขายรถใหม่ ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สุดท้าย คุณเองนั่นละ ก็จะยืนต่อไปไม่ไหว ต้องเลิก
ขายรถ Mitsubishi กันไป

ปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ Mitsubishi หรอก แต่บริษัทรถยนต์ทุกค่ายต่างก็เจอ ดีลเลอร์ในลักษณะนี้
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ด้วยนโยบายของแต่ละค่าย เขาก็จะทำให้คุณ ต้องถอนตัวจากธุรกิจนี้ไปในที่สุด
ถ้ายังคงทำตัวกันแบบย่อหน้าข้างบนนี้

ดังนั้น ก่อนจะบ่นอะไรมากไปกว่านี้ อยากจะขอให้คุณ เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ ไม่ต้องไปเรียกร้อง
ให้บริษัทแม่ เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้คุณหรอก เริ่มจากตัวเราเองนี่แหละ ดูแลพนักงานทุกคนให้ใกล้ชิด
มีน้ำจิตน้ำใจให้เขาสักหน่อย ปิดช่องคอรัปชัน ในดีลเลอร์ของคุณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ ก็ต้องใช้
พระเดช พระคุณ ให้ลูกน้องรักคุณให้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เดินไปด้วยกัน เหมือนทีมเดียวกัน ไม่ใช่มานั่งแยก
ว่า ลูกน้องต้องทำตามเจ้าของดีลเลอร์สั่งอย่างเดียว เขาเป็นแค่ลูกน้อยครับ ไม่ใช่ทาส! และหมั่นใส่ใจ เรื่อง
การให้บริการหลังการขาย มากๆ ดูแลกันดีๆ ยิ่งถ้าเน้นให้ศูนย์บริการของคุณ สามารถเป็นที่ไว้ใจของลูกค้าได้
จะยิ่งดี ลูกค้าจะบอกต่อๆกันไป และจะพากันมาหาคุณเองนั่นแหละ เมื่อถึงเวลาที่ ลูกค้ามีมากแล้ว ก็อย่าได้
ลดคุณภาพงานซ่อมบำรุง และการบริการลูกค้าลงเด็ดขาด ชื่อเสียงจะเสียทันที เวลามีปัญหา ถูกด่าลงใน
เว็บไซต์ อย่าได้โต้ตอบ แต่จงเร่งแก้ไข ไม่ต้องขอให้ลูกค้าเขาลบกระทู้ให้หรอก แต่จงรีบแก้ปัญหา
อย่างเร่งด่วน ใจเขาใจเรา เดี๋ยวลูกค้า ก็จะไปโพสต์ขอบคุณให้เองในท้ายที่สุดนั่นแหละ!

พนักงานขายเองก็ต้องเชื่อมั่นในแบรนด์ ว่ารถของคุณ ก็มีดีไม่แพ้ใคร (ซึ่งก็โชคดี ที่มีจุดดีเด่นเด้งกว่าชาวบ้าน
หลายจุดอยู่จริง) ดูแลลูกค้าให้ดี เอาคอมมิชชัน แค่เพียงเท่าที่คุณพอจะอยู่รอดได้ อย่าละโมบ อย่าหลอกลูกค้า
จงพูดแต่ความจริง มีปัญหาอะไร แจ้งลูกค้าทราบโดยเร็วทันที ให้ลูกค้าเป็นคนตัดสินใจเอง ของแถมให้ลูกค้า
เลือกแต่ของที่ดี และจำเป็นจริงๆ พวกกันสาด คิ้ว กันสนิม ข้าวของจุกจิก อย่าไปแถมให้มันดูเยอะเลย
ที่สำคัญ เมื่อลูกค้าซื้อรถไปแล้ว หมั่นโทรไปสอบถามเรื่อยๆว่า รถเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีปัญหา ก็ต้องช่วย
ประสานงานให้ดีๆ ช่วยไฟท์ ให้กับลูกค้าด้วยในบางครั้ง ถ้าจำเป็น เพียงเท่านี้ ก็ได้ใจลูกค้าไปมากโข
และลูกค้า ก็พร้อมจะแนะนำลูกค้า คนอื่นๆ มาให้คุณอีก (พนักงานขาย ที่ทำยอดขายได้เยอะๆ หนะ
ส่วนใหญ่ ลองถามเขาสิ เขาก็ใช้วิธีการ เหมือนที่คุณได้อ่านมาในย่อหน้านี้ ทั้งนั้นแหละ!)

เจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการเช่นกัน ลูกค้าระบุความต้องการมาอย่างไร ให้ทำตามนั้น อย่าทำเกินกว่าที่สั่ง
ยกเว้นบริการเล็กๆน้อยๆ เป็นน้ำจิตน้ำใจ ให้ ก็ควรทำ ใส่ใจในทุกคำพูดของลูกค้า คิดในใจตลอดว่า
เขาเดือดร้อน เขาทุกข์ ถึงมาหาเรา เราต้อง เป็นผู้ทำให้เขาหายทุกข์ หายเดือดร้อน และการจะทำให้
ลูกค้าสบายใจได้ เราก็ต้องหมั่นขยัน ฝึกฝนตนเอง ให้เก่งพอ ที่จะดูแลลูกค้าได้ดี เป็นช่างที่ “ซ่อมเป็น”
ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าเปลี่ยนชิ้นส่วนให้ หมั่นสำรวจงานซ่อมบำรุง ว่า ขันน็อตเข้าที่ ตามค่า ทอร์ค ที่กำหนด
ครบถ้วนหรือไม่ สายยางต่างๆ ถอดออกมาแล้ว เสียบใส่ กลับเข้าที่เรียบร้อยแน่นหนาดีหรือไม่ ย้ำเลย
ห้ามสะเพร่า อย่าเลินเล่อ หมั่นฝึกตนให้ละเอียดรอบคอบ ทุกชิ้นงาน อย่าอายที่จะเปิดคู่มือซ่อม เพราะ
นั่นจะยิ่งทำให้ลูกค้าไว้ใจคุณมากขึ้น ต่างหากละ! อย่าคิดแทนลูกค้า ในเรื่องคอขาดบาดตาย ให้ลูกค้า
เป็นคนตัดสินใจ อย่ามัดมือชกลูกค้า ถ้าลูกค้ามีปัญหาด้านใด และช่างในศูนย์ฯ ของเราไม่เก่ง อย่ารีรอ
ที่จะแนะนำศูนย์บริการ ที่ชำนาญเฉพาะทาง ในด้านนั้นๆ ให้ลูกค้า แม้จะเสียรายได้บ้าง แต่ลูกค้า
จะให้ใจกับคุณ ในความซื่อสัตย์ และเชื่อเถอะ เขาจะกลับมาใช้บริการกับคุณอีกแน่นอน ไม่วันใด
ก็วันหนึ่ง

ถ้าทั้ง ผู้บริหารเจ้าของดีลเลอร์ พนักงานขาย เจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการ ต่างคนต่าง รู้หน้าที่ และร่วมกัน
ทำงาน ประสานกันอย่างต่อเนื่องได้ ตามที่เขียนมา 3 ย่อหน้านี้ ยอดขายจะดีขึ้นใน 6 เดือน ลูกค้าจะ
มาใช้บริการเยอะขึ้น ภายใน 6 เดือน ผมกล้าท้าพิสูจน์ เลยเอ้า!

ตัวอย่างก็มีมาแล้ว ขนาด Mazda เมื่อก่อน ภาพลักษณ์เรื่องศูนย์บริการ แย่กว่า Mitsubishi แต่ทุกวันนี้
ก็เพิ่มจำนวนศูนย์บริการมากขึ้น และพยายามปรับปรุงเรื่องบริการหลังการขายให้ดีขึ้น จริงอยู่ว่า
ยังไม่ดีขึ้นได้ทั้งหมดอย่างที่ตั้งใจหรอก แต่เขาก็พยายามกันอยู่ และทุกวันนี้ เสียงบ่นเรื่องศูนย์บริการ
Mazda นั้น มีประเด็นให้บ่น ลดน้อยลงจากสมัยกมลสุโกศล ช่วงท้ายๆ อย่างชัดเจน (แต่เสียงบ่น
ยังคงที่ เมื่อคิดเทียบกับ ปริมาณรถที่เขาขายออกไปเพิ่มมากขึ้น เป็นธรรมดา)

ถ้าในเมื่อ Mazda ทำได้แล้ว ทำไม Mitsubishi จะทำไม่ได้ละ? ถ้าดีลเลอร์ รวมแรงร่วมใจกันโหมเต็มที่
แบรนด์ Mitsubishi ก็จะพลิกกลับมาได้ ในเวลาไม่นานนัก ขอ 2 ปี ก็พอจะเห็นความแตกต่างได้แน่ๆ

และข้อสุดท้าย…ถ้าคุณ คือลูกค้า ซึ่งกำลังตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ Compact (C-Segment) สักคัน ในช่วงนี้
อยากจะบอกว่า Lancer EX คือตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งผมไม่อยากให้คุณ ตัดมันทิ้งไปแต่แรกเลย แต่คุณควร
เก็บไว้พิจารณาร่วมกับตัวเลือกอื่นๆของคุณด้วย…อย่างยิ่ง!

ผมรู้ดีว่า หลายๆบ้าน เข็ดขยาดกับแบรนด์ Mitsubishi ไปก่อนหน้านี้ เพราะโชคร้าย เจอพนักงานขายที่ไม่ดี
ช่างในศูนย์บริการ ที่พูดจาอาจจะไม่เข้าหู หรือแก้ปัญหาไม่จบ เจอรถมี defect บ้าง (อันนี้ก็เจอกันทุกยี่ห้อ
นั่นแหละ เป็นเรื่องปกติ) อยู่ที่ว่า จะแก้ปัญหากันอย่างไร บางราย จบไม่สวย เป็นแผลกันไปทั้งในใจของ
ผู้บริโภค และกับ Mitsubishi เอง

แต่…ก็มีบางบ้าน บางครอบครัว ที่ Mitsubishi แก้ปัญหาให้จบ บางราย ถึงขั้นเจอรถมีปัญหา และ ในเมื่อ
พยายามแก้ไขกันตาม Policy ของบริษัทแล้ว ก็ยังไม่จบ บริษัทก็ยอมซื้อรถคืน…แทบไม่น่าเชื่อว่า ลูกค้า
หลายรายเหล่านั้น ตัดสินใจ ซื้อ Mitsubishi คันใหม่กันอีกครั้ง! คือยอมเสี่ยงกันอีกครั้ง เพราะเขาประทับใจ
ในการบริการ และทำตามหน้าที่ อย่างเต็มที่ เมื่อรู้ว่า รถคันนั้น มันมี defect จริงๆ และแก้ไม่หายกันหลายครา
แถมยังเชียร์ให้คนรอบข้าง ซื้อ Mitsubishi เหมือนตนไปได้อีกตั้งหลายคัน

ฟังดูไม่น่าเชื่อนะครับ แต่เรื่องนี้ ก็มีเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ว่า เรื่องพวกนี้ Mitsubishi Motors เขาไม่มานั่งบอกเล่า
ป่าวประกาศให้คุณรู้กันหรอก ก็อย่างที่บอกไง นโยบายของเขา Conservative Gentleman เกินเหตุ!

ในเมื่อ คุณผู้อ่าน Headlightmag.com ส่วนใหญ่ มองหา “ความจริง” ซึ่งไม่อาจจะหาได้จากสื่อมวลชนสายรถยนต์
ทั่วๆไป และผมเองก็ได้พูดความจริง ในมุมที่ บริษัทนี้ และ ดีลเลอร์ของพวกเขาควรปรับปรุงไปแล้ว ทีนี้ ผมก็จะ
ขอพูดถึงความจริง ในสิ่งที่ผมเจอมา ให้คุณฟังบ้างละ!

ว่า ถ้าคุณเลือกจะ ตัด Lancer EX ทิ้งไปจากการตัดสินใจ นั่นคือความผิดพลาดอย่างแรง ของคุณเลยทีเดียว
เพราะคุณ ได้พลาด รถที่มีช่วงล่าง ดีที่สุดในกลุ่ม คุณพลาดรถยนต์ ซีดาน ที่ Mitsubishi ตั้งใจ Set มากที่สุด
รุ่นหนึ่ง เท่าที่พวกเขาเคยทำขายในเมืองไทยมาเลย  รถที่จะให้ความสบาย รื่นรมณ์ แต่มั่นใจมาก ในการ
ขับขี่ทางไกลข้ามจังหวัด จะไปทำงานหรือไปพักผ่อนก็เถอะ

ถ้าคุณกลัวว่าเกียร์ CVT จะมีปัญหา อย่างน้อยๆ กรณีของคุณ joufo (ขออนุญาตอ้างถึงหน่อยนะครับ)
ที่ซื้อ Lancer EX ไปแล้ว บังเอิญ เจอปัญหาที่แก้ไม่ตรง Mitsubishi Motors เขาก็ยอมเปลี่ยนเกียร์ให้ใหม่เลย
1 ลูก ส่วนเกียร์ลูกเดิม ก็ถูกส่งกลับไปญี่ปุ่น เพื่อศึกษาหาสาเหตุต่อไป

ถ้า Mitsubishi Motors รับผิดชอบกับ กรณีของคุณ joufo สมาชิกของเว็บเรา กันขนาดนี้ แล้วจะกลัวอะไร
กับเกียร์ CVT กันอีกละครับ?

ออพชัน เทียบกับ Civic และ Altis แน่นอน Lancer EX ให้มาน้อยไปหน่อย แต่ก็มีความพยายามแก้ปัญหานี้อยู่
แต่รถรุ่นที่จะปรับอุปกรณ์นั้น เราจะไม่ได้เห็นใน Motor Expo 2010 ปลายปีนี้ กันหรอกครับ กว่าจะได้เห็น ก็คงเป็น
ปีหน้า

ถ้าไม่รีบใช้รถ อยากจะรอ ก็รอไปครับ แต่ถ้ารีบใช้รถ และยังเสียดายโอกาสที่จะได้อุปกรณ์เพิ่มเติมนิดๆหน่อยๆ
เหล่านั้นขึ้นมา ก็ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ออกรถรุ่นปัจจุบันนี้ มาก่อนนั่นแหละ พอรุ่นใหม่ออก ก็ไปเลือก
เบิกชิ้นส่วนที่เพิ่มมาใหม่เหล่านั้น ให้ศูนย์บริการเขาติดตั้งให้คุณ ในภายหลัง ก็ได้อีก ไม่ยากสักหน่อย
เท่าที่ดูแล้ว คิดว่าคงเพิ่มมาไม่เยอะนัก

ถ้ากลัวจะเจอศูนย์บริการ เฮงซวย อย่างที่คนอื่นเขาเจอกันมาแล้วละก็ ผมไม่แปลกใจครับ และยืนยันว่า
มีศูนย์บริการ แย่ๆ แบบนั้นจริง แต่ ก็มีกันทุกยี่ห้อนั่นแหละ อีกทั้ง สำหรับ Mitsubishi ในตอนนี้แล้ว
อย่างน้อย เราเจอศูนย์บริการที่ดีมากพอจะเป็นมาตรฐานให้กับศูนย์บริการของ Mitsubishi Motors
แห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ ราวๆ 1-2 แห่งแล้ว ซึ่งสำหรับผม นั่นก็เป็นเรื่องน่าดีใจหายแล้วละ (จะเป็นที่ไหน
ขอให้ลองหาอ่านต่อในคอลัมน์ “แฉให้ฟัง หลังเข้าศูนย์ฯ” ของ Headlightmag.com เรานี่แหละครับ)
อีกทั้งหลังจากนี้ นอกจากปริมาณศูนย์บริการจะเพิ่มขึ้นแล้ว Mitsubishi ก็ยังพยายามจะพัฒนาให้มี
บริการที่ดีขึ้น แต่..มันต้องใช้เวลาหน่อย

ถ้าคุณยังกลัว ราคาขายต่อ? ยืนยันครับ ราคาขายต่อ ตกแน่นอน ถ้าคุณคิดจะซื้อรถ โดยเอาราคาขายต่อ
เป็นหัวข้อประกอบการตัดสินใจที่สำคัญๆ ลำดับต้นๆแล้ว พูดเลยนะครับ รถยี่ห้ออะไร ต่อให้เป็นรถหรู
จากยุโรป อย่าง Mercedes-Benz BMW หรือแม้แต่รถตลาดอย่าง Toyota Honda Isuzu ทันทีที่ออกจาก
โชว์รูม ราคาขายต่อ ตกฮวบทันที หายไปทันที อย่างน้อยๆ ก็ 20 เปอร์เซนต์ ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ
เพียงแต่ ราคาขายต่อจะตกมาก ตกน้อย ก็ว่ากันตามแต่ความนิยมของรถรุ่นนั้นๆ ในตลาดรถมือสอง
และถ้าคุณกังวลเรื่องราคาขายต่อมากนักละก็ ซื้อ Toyota หรือ Honda ไปเลยครับ ผมคงไม่แนะนำ
อะไรเพิ่มเติมต่อให้แล้วละ สภาพความเป็นจริงก็บอกให้เราเห็นชัดเจนอยู่แล้ว

สำหรับ Lancer EX ราคาขายต่อ แน่นอนว่า จะตกลงมากว่าเจ้าตลาดอย่าง Civic และ Altis แต่ผมเชื่อว่า
มันจะหล่นลงมาในระดับพอกันกับ TIIDA หรือ Mazda 3 และไม่น่าจะหล่นลงไปเยอะ แบบ Proton
แน่ๆ

อ่านมาถึงตรงนี้..ยังกลัวอะไรอีกบ้างครับ? ผมว่าไม่น่าจะมีแล้วนะ

ดังนั้น อย่าเชื่อทั้งหมดที่ผมเขียนมาข้างบนนี้ แต่คุณ ควรจะปิดคอมพิวเตอร์ แล้วออกไปลองขับ ด้วยตัวเอง!
ส่วนจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ นั่นแล้วแต่การตัดสินใจของคุณล้วนๆครับ! ถ้าชอบ ก็ซื้อ ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่ต้องซื้อ

ถ้า Corolla ALTIS บอกว่า “ต้องลอง”
กับ Lancer EX ผมจะใช้คำว่า “ยิ่งกว่าต้องลอง ถึงขั้นห้ามพลาดลองขับ…เด็ดขาด!” 

——————————————///——————————————-

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด ฝ่าย Product Planing ฝ่ายเทคนิค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

—————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน และ Noi MXPhone
ลิขสิทธิ์ภาพวาดต่างๆ เป็นของ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
27 กันยายน 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 27th,2009 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่