ดูเหมือนเป็นเรื่อง น่าหนักใจไม่น้อยสำหรับหลายๆคนที่ยังไม่คุ้นชินกับการดูแลรักษารถยนต์ด้วยตัวเอง
บางคนอาจคิดว่า มันยุ่งยาก หรือเปล่า แล้วจะดูอย่างไร ศึกษาอย่างไร สิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อเปิดฝากระโปรงหน้ารถขึ้นมา
มันเรียกว่าอะไร ต้องเช็คตรงไหนบ้าง ฯลฯ

 

ผมอยากบอกว่า การดูแลรักษารถยนต์ด้วยตนเองนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยแต่อย่างใด
แค่เพียงเปิดอ่านศึกษาในคู่มือผู้ใช้รถ ซึ่งติดมากับรถยนต์ทุกคัน หมั่นตรวจสอบ
อุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงตอนเช้า ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน สัปดาห์ละครั้ง สำหรับรถใหม่
และ 1-2 วัน / ครั้ง ในกรณีที่คณเป็นคนใส่ใจกับการดูแลเป็นพิเศษ เพียงเท่านี้ คุณก็จะมีรถยนต์
สภาพเหมือนออกใหม่จะห้าง ไว้ขับใช้งานไปนานๆ

แต่ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มตรงไหนจริงๆ ติดตามบทความที่นี่ต่อไปเรื่อยๆครับ
เราจะค่อยๆพาคุณไปรู้จักกับชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์กัน อย่างช้าๆ
และไม่รวดเร็วว่องไว จนเกินกว่าคุณจะใช้เวลาทำความเข้าใจได้ ไม่ยากเย็นครับ

เชื่อว่า หลายๆคน คงอาจจะสงสัยบ้างว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าแบ็ตเตอรีที่ติดตั้งมากับรถของเรานั้น
ใกล้จะหมดอายุการใช้งานแล้ว ไม่ใช่ว่า มารู้ตัวอีกที รถของท่านผู้อ่าน ก็ไปดับไปเสียไปจอดตายกลางทางเข้าให้แล้ว

วิธีการตรวจสอบแบ็ตเตอรี  ตามมาตรฐานอเมริกัน ที่ผมอ้างอิงมาจาก “American Standard Automotive Encyclopedia”
นั้น เขาแบ่งเอาไว้เป็น 2 แบบ ให้ได้เลือกใช้กัน ดังนี้

1. เทสต์ด้วยมือเปล่า Load Test (Testerless Load Test Perform)

วิธีนี้ ง่ายมากๆจนคุณสุภาพสตรี ก็สามารถทดลองทำเองได้เลยครับ! วิธีการก็คือ หลังจากใช้รถในชีวิตประจำวัน
จนเสร็จสิ้นภาระกิจ จอดรถเข้าบ้านเรียบร้อยแล้ว ให้จอดรถของคุณ ในตำแหน่งที่เหมาะสม แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำ
ตามลำดับ และปิดท้ายการทดสอบด้วยการตั้งใจสังเกต ตามที่จะแนะนำต่อไปนี้ครับ

1.1 บิดสวิชต์กุญแจ ไปที่ตำแหน่ง ON ให้ไฟบนชุดมาตรวัด แสดงขึ้นมา (ไม่ต้องติดเครื่องยนต์!)
1.2 เปิดใช้งานอุปกรณ์ต่างๆภายในรถ คือ ไฟหน้า (เปิดไฟสูงไปเลย) ไฟตัดหมอก ไฟฉุกเฉิน
เหยียบเบรก แล้วเข้าเกียร์ไปยังตำแหน่ง R หรือ ถอยหลัง (เข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าไม่ต้องติดเครื่องยนต์
มิเช่นนั้น อาจเกิดอันตรายจากรถไหลหรือพุ่งถอยหลังได้) เปิด วิทยุ และโทรทัศน์ในรถ (ถ้ามี)
โดยไม่ต้องเปิดชุดใบปัดน้ำฝนแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อสร้างภาระโหลด ของระบบไฟในรถพอสมควร

1.3 เปิดอุปกรณ์ดังกล่าวทั้งหมดนั่น ทิ้งเอาไว้เลย 10 นาที โดยไม่ต้องกังวล หรือนึกสงสารแบ็ตเตอรีแต่อย่างใดทั้งสิ้น

1.4 เมื่อครบหรือเกิน 10 นาทีไปสักหน่อยนึงแล้ว ให้ปิดสวิชต์อุปกรณ์ต่างๆ ในทันใด
แล้วลองบิดกุญแจสตาร์ท เพื่อติดเครื่องยนต์”ต่อเนื่องกันไปในทันที” อย่าปล่อยเวลาทิ้งไว้นาน

จากนั้น เรามาสังเกตอาการของรถกันครับ

– ถ้า ยังคงติดเครื่องยนต์ได้ใน 1-2 แชะ แสดงว่า แบ็ตเตอรี ยังมีสภาพดี 75-100%
– ถ้าเสียงของมอเตอร์สตาร์ทอ่อนแรง ลากยาวพอสมควร กว่าจะติดได้ แสดงว่า แบ็ตเตอรีเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว
น่าจะมีอายุประมาณ 50% หากคิดจะเปลี่ยนก็ได้อยู่ หรือจะใช้ต่ออีกนิดก็พอไหว
– ถ้าต้องใช้เวลาในการติดเครื่องยนต์นานมากเกินไป นั่นคือ สภาพแบ็ตเตอรี ต่ำกว่า 25% แล้วละครับ
ได้เวลาต้องทำอะไรสักอย่างกันเสียทีแล้วละ!

ถ้าพบว่า รถของคุณ ตกอยู่ในสภาพ เดียวกับข้อสุดท้าย ไม่ต้องตกใจครับ เพราะอย่างที่ผมแนะนำไปว่า
ควรจะทดลองเมื่อใช้รถในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่คุณผู้อ่านจอดรถทิ้งไว้ 8 ชั่วโมง โดยประมาณ

ภายในแบ็ตเตอรี จะมีการทำปฏิกิริยา เชิงเคมี ระหว่างน้ำกรด (ที่มีความถ่วงจำเพาะต่ำ แต่ยังไม่ตายสนิท)
กับแผ่นธาตุ เพิ่มกำลังไฟขึ้นมาเพียงพอให้คุณติดเครื่องยนต์ เพื่อนำรถไปจัดการเปลี่ยนแบ็ตเตอรีลูกใหม่ ณ ร้านใกล้ๆบ้าน ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม วิธีการ เทสต์ด้วยมือเปล่า แบบนี้ ไม่ขอแนะนำให้นำไปใช้กับแบ็ตเตอรี ที่อ่อน ออกอากาศว่าไม่ไหวแล้วในขณะจะติดเครื่องยนต์
เพราะหลังการทดลองแล้ว การจะกู้แบ็ตเตอรี ให้ฟื้นกลับมานั้น ยากเย็นมาก บางราย ถึงขั้นกู่ไม่กลับ คือ ความถ่วงจำเพาะของน้ำกรดนั้น
ตายสนิท ไปพร้อมกับการทดลองเลย ต่อให้ค้างคืนเกิน 24 ชั่วโมงไป น้ำกรดที่ตายไปแล้ว ก็จะกลายสภาพเป็นน้ำธรรมดา เลิกทำปฏิกิริยา
แถมยังไม่เปลี่ยนสีแผ่นธาตุ ซึ่งหากมองผ่านลงไปแต่ละช่อง จะเห็นแผ่นธาตุสีดำๆ อยู่ในน้ำกรด

แล้วถ้าแผ่นธาตุในสภาพยังดี ที่ยังใช้ได้ละ มันควรเป็นสีอะไรกันแน่
คำตอบก็คือ สีส้ม แก่ๆ หรือสีขาว ก็ยังดี ครับ แต่หากเปลี่ยนสีไปเป็น ดำ แล้ว
ถึงไปถ่ายน้ำกรดทิ้ง เปลี่ยนเติมใหม่ ก็เสียตังค์เปล่าครับ

ส่วนน้ำกรดสีชมพูอ่อน ที่คุณอาจเคยเห็นขายอยู่ตามปั้มน้ำมันนั้น
มีความถ่วงจำเพาะสูงขึ้นและเข้มข้นขึ้นนิดนึง พอช่วยจะทำให้แผ่นธาตุ ได้ฟื้นขึ้นมาทำปฏิกิริยา
กับแผ่นธาตุ ให้ฟื้นขึ้นมา ตามสภาพสุดท้ายของแบ็ตเตอรีแต่ละลูก

อย่าไปคาดหวังยังยืนกับการใช้งานของแบ็ตเตอรีลูกนั้น
ซึ่งอาจพาเราไปเดินท่อมๆ อยู่ข้างถนนเปลี่ยวๆ ท่ามกลางความมืดมิดแห่งรัตติกาล ได้
ด้วยอาการ ไฟหน้า ค่อยๆหรี่ลง หรี่ลง จนเครื่องยนต์ดับลงสนิทไปเลยในที่สุด
ซึ่งโอกาสที่จะเกิดอาการที่ว่านี้ เป็นไปได้สูง ในกรณีที่ อัลเตอร์เนเตอร์ ชาร์จไฟเข้าระบบน้อย
เช่นรถที่ใช้งานผ่านไปแล้ว 200,000 กิโลเมตร แล้วแปรงถ่านของอัลเตอร์เนเตอร์ สั้นกุด หมดสภาพไปแล้ว เป็นต้น
ไฟชาร์จน้อยแบบนี้ ในรถบางรุ่น อาจจะยังไม่ขึ้นสัญญาณไฟโชว์เตือน ภายในชุดมาตรวัด

ดังนั้น หากจะเดินทางไหล ควรตรวจสอบสภาพแบ็ตเตอรี ด้วยตนเองเบื้องต้นก่อน ก็จะดีครับ

(สัปดาห์หน้า เราจะมาดูวิธีที่ 2 กันต่อครับ)

 

———————————///—————————————

 

ชาญ เจียรประดิษฐ์

อู่กรุงเทพ

www.bkg-garage.com 

ลิขสิทธิ์ของบทความนี้ เป็นของผู้เขียน

เผยแพร่ครั้งแรก 23 มีนาคม 2009 ใน www.Headlightmag.com