ถ้าเราจะเรียกร้านอาหารสักร้าน โดยมีนิยามว่า ”เจ้าเก่า” พ่วงท้าย นั่นหมายความว่าเรา ต้องมั่นใจ
ในรสชาติอาหาร ที่ผ่านการยอมรับมาช้านาน มีลูกค้าอุดหนุนต่อเนื่อง และ บอกกันไปแบบปากต่อปาก
ถึงความอร่อย จนเราสัญญากับตัวเองว่า ต้องหาโอกาสไปลิ้มลองให้ได้สักครั้งอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามคำว่า ”เจ้าเก่า” ในระยะหลัง มักถูกนำมาเสริมให้ร้านอาหารต่างๆ ทุกตรอกซอกซอย
ทรงคุณค่า หรือเพิ่มมูลค่า หวังเรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาอุดหนุน ซึ่งเอาเข้าจริงๆถ้าวัดจากตัวผมเองนั้น
มีไม่ถึง 10% ที่ดุ่มๆเดินเข้าไปกิน ตามป้ายที่ห้อยท้ายว่า ”เจ้าเก่า”แล้วไม่ผิดหวัง แต่ร้านที่ผมกำลัง
พูดถึงในนี้ ไม่มีคำว่าเจ้าเก่ามาการันตีใดใดทั้งสิ้น เปิดร้านขายมายาวนานเกิน 60ปี จนเดี๋ยวนี้ก็ยัง
ขายอยู่ เอาล่ะครับเดี๋ยวจะค่อยๆบรรจงคลุกเคล้า เรื่องราวเพิ่มเติมในบรรทัดล่างถัดไป

TCH_002

ก่อนอื่นขออนุญาต เล่าถึงที่มาของคอลัมน์ DR!VE THRU กันก่อน คุณผู้อ่านที่ติดตามฟังรายการวิทยุ
DR!VE By J!MMY FM 93.5 ทุกวันเสาร์ บ่ายสี่ถึงหกโมงเย็น จะคุ้นเคยกับช่วงแนะนำอาหารการกิน
ที่ชื่อ DR!VE THRU ซึ่งสารภาพตามตรงว่า มีมาคุยมั่ง ไม่มีมั่ง เพราะข่าวคราวเรื่องรถยนต์ ทั้งใน และ
ต่างประเทศ มีให้นำเสนอกันแน่นขนัดเต็มพื้นที่รายการ จนแทบล้นชามออกมา ไหนจะต้องตอบคำถาม
ที่ถาโถมเข้ามา ราวกับพายุเฮอริเคนอีก

พี่จิมมี่จึงมีไอเดียที่คิดตรงกันกับผมว่า เราน่าจะนำDR!VE THRU ออกมาเขียนลงเว็บ ให้ผู้อ่านเสพกัน
อย่างอร่อยเหาะ ซึ่งส่วนมากก็เคลื่อนขบวนตามไปฟังรายการ DR!VE By J!MMY ด้วยเช่นกัน นั่นล่ะฮ่ะ
ท่านผู้ชม…ที่ไปที่มาขอคอลัมน์นี้ที่ทุกท่านได้อ่านประเดิมเป็นครั้งแรกที่นี่

กลับมาที่ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ”เต็งใช้ฮวด” อีกครั้ง ต้องเล่าย้อนกลับไปวัยเด็กที่ผมโต และ เรียนหนังสือ
ย่านบางจาก พระโขนง พอครบอายุที่จะมีบัตรประชาชนขึ้นต้นชื่อด้วยคำว่า ”นาย” แทน ”เด็กชาย” ก็ต้องพา
หัวเหม่งเหม็นเขียววัยมัธยมต้นไปถ่ายรูปทำบัตรที่สำนักงานเขตพระโขนง ปากซอยสุขุมวิท 54 นั่นคือ ครั้งแรก
ที่ผมได้ชิมลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ”เต็งใช้ฮวด”

หลังจากนั้นก็มีโอกาสแวะไปกินบ้าง บางครั้ง นานๆที และ เมื่อชีวิตเคลื่อนย้ายออกจากย่านพระโขนงมานาน
ก็แทบไม่มีโอกาสแวะไปกินอีกเลย จนกระทั่งขับรถผ่านสุขุมวิท 54 เมื่อหลายปีก่อน จึงสังเกตเห็นว่าร้าน
”เต็งใช้ฮวด” และ ร้านค้าตึกแถวทั้งแผง ที่ติดหน้าถนนสุขุมวิท ถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อนำไปสร้างศูนย์การค้า
และ ภาพจำในอดีตพาให้ย้อนกลับไป ก็จำได้ว่าเขาขยายสาขาอีกแห่ง ถัดจาก่สุขุมวิท 62ไปนิดเดียว
เป็นห้องแถว 2 ห้อง ติดภัตตาคารกวางเจา (ที่จำชื่อภัตตาคารนี้ได้เพราะตอนเด็กต้องขึ้นรถสองแถวขนาดเล็ก
ทุกเช้า เข้าไปเรียนหนังสือโรงเรียนสยามวิทยา) ใช้ชื่อ ”เต็งไต๋ใช้ฮวด”

ทุกครั้งที่ขับรถกลับไปเยี่ยมพ่อกับแม่ ที่บ้านย่านสุขุมวิท 101/1 ผมจะแวะซื้อก๋วยเตี๋ยว จากเต็งไต๋ใช้ฮวด
กลับไปฝากพ่อกับแม่อยู่เป็นประจำ จนคิดเอาเองว่าเขาคงเหลือเพียงสาขาเดียวเท่านั้น แต่เมื่อลงมือนั่งเขียน
คอลัมน์นี้ ก็หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับร้าน จึงได้ทราบว่าร้านที่เคยตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 54 ใกล้สำนักงาน
เขตพระโขนง ย้ายเข้าไปที่สุขุมวิท 62 แยก 1 เส้นทางที่สามารถทะลุออกไปยังทางรถไปสายเก่าปากน้ำได้นั่นเอง

สรุปว่า เขามีสองสาขานะครับ คือ เต็งใช้ฮวด สุขุมวิท 62 แยก 1 และ เต็งไต๋ใช้ฮวด ใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
บางจาก หน้าลิฟท์คนพิการ (ซึ่งผมเห็นคนไม่พิการ แอบมาใช้บ่อยๆ)

TCH_004

หลังจากที่เข้าใจผิด คิดว่าเขาเหลือแค่สาขาเดียว คือ ใต้บีทีเอสบางจาก จนเขียนคอลัมน์เกือบใกล้เสร็จ
เลยต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยการขับรถลัดเลาะ เข้าซอยสุขุมวิท 62 แยก 1 เพื่อตามไปชิมเปรียบเทียบ
ว่าเหมือน หรือ ต่างกันหรือไม่อย่างไร คุณอาจจะคิดว่าเวอร์ แต่เห็นมาเยอะแล้วนะครับ ขยายสาขา
ขายแฟรนไชส์ออกไป ควบคุมรสชาติไม่ได้ กลายเป็นชื่อเสียงเสียหาย คนเลิกอุดหนุนเพราะคิดว่ารสห่วย
ไม่อร่อยเหมือนเดิม  งานนี้เลยต้องดั้นด้น เข้าไปกินอีกครั้งตามลายแทงที่ได้ข้อมูลเพิ่มเข้ามา

TCH_003

ถ้าคุณคุ้นเคย กับก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ละแวกเยาวราช ที่ส่วนใหญ่พิถีพิถันใส่ใจที่ความอร่อยที่ตัวลูกชิ้นเป็นหลัก
คุณจะโปรดปราน มีความสุขกับการเสพย์โปรตีนชิ้นกลมๆ ดีดดิ้นเข้าไปในปาก  โปรตีนในรูปลูกชิ้นรักบี้ที่อร่อย
เต็มคำ โปรตีนหลอมรวมเป็นเส้น โดยผ่านการทอดเรียกกันว่าปลาเส้น หรือฮื่อก้วย และ ลูกชิ้นกุ้งสำหรับผมแล้ว
ถือว่าเป็นที่สุดของความอร่อยของที่นี่ มันคือลูกชิ้นกุ้งระดับทีมฟุตบอลท๊อปทรีบนพรีเมียร์ลีก ถ้ากุ้งสักตัว
อยากตายบนสมรภูมิลูกชิ้น และ ต้องการเป็นที่จดจำครั้งสุดท้ายก่อนจะละลายในปาก  กุ้งตัวนั้นต้องร้องขอ
พลีชีพบนเครื่องทำลูกชิ้นกุ้งที่เต็งใช้ฮวดเท่านั้น

ก่อนจะคว้าตะเกียบคีบเส้นเข้าปาก ผมขออนุญาตพูดถึง มาตรฐานส่วนตัวสักนิดหน่อยให้หมั่นไส้เล่นๆ หลายท่าน
เวลากินก๋วยตี๋ยว ทันทีที่ชามวางตรงหน้าปั๊บ ปฎิกิริยาแรกที่ผมมักสังเกตเห็นคือ ขยับพวงเครื่องปรุง จากนั้นจัดการ
ตักพริกป่น น้ำตาล พริกดอง น้ำปลา สาดใส่เข้าไปก่อน จากนั้นค่อยเริ่มกิน ขอบอกว่านั่นเป็นวิธีการกินที่เสื่อม และ
คุณจะไม่ได้รับรสชาติที่แท้จริงจากฝีมือปรุงรสในครัวของร้าน วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่าคือ ขอให้ชิมก่อนปรุง อย่าลืมว่า
วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารไม่ว่าจะ เส้น ลูกชิ้น ตังฉ่าย ล้วนมีรสมีชาติในตัวมันอยู่แล้ว เราจึงมิควรให้พวงพริก
มาบดบังรัศมีรสชาติ จากวัตถุดิบนานาชนิดในชาม

คำถามต่อมา แล้วก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาเต็งใช้ฮวด (และเต็งไต๋ใช้ฮวด) ต้องปรุงหรือไม่ คำตอบคือ ต้องปรุงครับ
แต่ปรุงนิดหน่อยพอ ถ้าเป็นน้ำปลาก็แค่เหยาะสองหยด ถ้าเป็นพริกป่นก็เศษหนึ่งส่วนสี่ช้อนชา ถ้าเป็นพริกดอง
ก็ราวๆหนึ่งในสามช้อนชา โดยตักเฉพาะพริก ไม่เอาตัวน้ำสายสายชู เหตุผลที่แนะนำให้ปรุง เพราะก๋วยเตี๋ยวที่นี่
จะมาในทรงเดียวกับก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาย่านเยาวราช คือ เน้นอร่อยที่ลูกชิ้น เส้นบะหมี่ ส่วนซุปจืด เรื่องของมึง

หลังจากที่ดั้นด้น ลิ้มรสทั้งสองเต็ง (ใช้ฮวด และเต็งไต๋ใช้ฮวด) ได้ข้อสรุปที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ บะหมี่แห้ง
คือ เมนูที่ประเสริฐสุดของร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่คู่นี้  เส้นสายสีเหลืองที่ทอดยาวทับซ้อนกันไปมา ถ้าคุณมีชั่วโมงบิน
การกินก๋วยเตี๋ยวมามากพอ จะรู้สึกได้ทันทีว่าบอดี้ของเส้น จะแตกต่างจากเส้นบะหมี่ทั่วไป ที่รับมาจากโรงงาน
อุตสาหกรรม เส้นมีความนุ่มเหนียวที่รู้รสได้ว่าผลิตโดยมีส่วนผสมของ ไข่มากกว่าแป้ง มีความเค็มไม่มาก
ส่วนพระเอกของร้าน คือบรรดาลูกชิ้นสารพัดรูปทรงที่โรยแปะหน้าบะหมี่ มารอบชาม ลูกชิ้นกลม ลูกชิ้นรักบี้
ฮื่อก้วย และ ลูกชิ้นกุ้ง อันนี้แอบรู้สึกว่าของเต็งใช้ฮวดอร่อยกว่าเต็งไต๋ใช้ฮวด ชนะไปแบบปลายขนจมูกจริงๆ

ความรู้สึกนี้อาจจะสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับมาคือ ทั้งสองร้านถึงแม้จะเป็นญาติกัน แต่แยกกันทำลูกชิ้น!!!!!
ส่วนประกอบอีกอย่างที่เป็นไอเท่มมาตรฐานทุกชาม ไม่ว่าจะสั่งธรรมดาหรือพิเศษ คือ เกี๊ยวทอด เกี๊ยวทอดที่นี่
ไม่ได้เป็นแค่ไอเท่ม ไม้ประดับเหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไป ที่แผ่นบางๆป้ายวิญญาณหมูมาแบบเสียมิได้
แต่เกี๊ยวทอดกรอบของที่นี่ แผ่นเท่าฝ่ามือ ตรงกลางแผ่นมียัดไส้หมูที่กินแล้วรู้สึกได้ว่า มีหมูมาสถิตย์
ตรงกลางใจเกี๊ยวจริงๆ

เมนูอื่น ของทั้งสองร้านพี่น้องนี้ ผมเฉยๆเข้าขั้นไม่แนะนำ หลังจากได้ลองพยายามสั่งไขว้เส้นมากิน เช่น
บะหมี่เย็นตาโฟ เส้นเล็กเย็นตาโฟ แต่แอบรู้สึกว่าเต็งใช้ฯ ใส่ซอสแดงมากกว่าเต็งไต๋ฯครับ แต่ก็ไม่ช่วยอะไร
ยอมรับเถอะว่าเธอไม่เก่งเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก็ไม่อร่อย เป็นไปได้ว่าทางร้าน ก็แค่ต้องการเพิ่มทางเลือก
แก่ลูกค้า ไม่ให้เบื่อหน่ายซ้ำซากกับเมนูก๋วยเตี๋ยวน้ำ-แห้ง เหมือนร้านข้าวมันไก่ ที่มีทั้งข้าวมันไก่ต้ม ข้าวมันไก่ทอด

ล่าสุดนี่มีกระทั่งข้าวมันไก่ย่าง อีกหน่อยคงมีข้าวมันไก่แจ้ แต่บะหมี่แห้งเองก็เถอะ พอเปลี่ยนให้บะหมี่กระโจน
ลงน้ำเดือดๆ เป็นบะหมี่น้ำ ก็ไม่เหลือรอดความอร่อยที่เคยทำคะแนนได้ดีจากบะหมี่แห้งแม้แต่นิดเดียว
ส่วนเกี๊ยวกุ้งลูกโตๆที่มาในรูปแบบของเกี๊ยวกุ้งน้ำ อร่อยตรงกุ้งที่คลุกเคล้ากับหมูมาแบบเต็มคำ อย่างที่เรา
คาดหวังได้จากลูกชิ้นสารพัดทรง  สั่งแบบลวกใส่จานแยกมาดีกว่าอยู่ในรูปของเกี๊ยวกุ้งน้ำจะอร่อยกว่า

 

TCH_001

ขอย้ำ..โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง…ที่เต็งใช้ฮวด หรือเต็งไต๋ใช้ฮวด บะหมี่แห้งเท่านั้นที่คุณควรสั่งมากิน
อ่อ…อย่าลืมสั่งน้ำซุปมากลั้วคอด้วยล่ะ ถ้าต้องการทรงเครื่อง เต็มปากเต็มคำมากขึ้น ก็สั่งพวกลูกชิ้นลวก
มาแกล้มอีกสักจานสองจาน ซึ่งผมลองแล้ว คือ บะหมี่แห้งพิเศษ ลูกชิ้นกุ้งลวก น้ำซุป จ่ายไปใน ราคา
180 บาท ไม่มีเซอร์วิสชาร์จ

สำหรับใครก็ตามที่อยากพาคุณแม่คุณพ่อ อาม่า อากง ที่ต้องนั่งวีลแชร์เมื่อเดินทางออกนอกบ้าน
เราขอแนะนำให้ไปเต็งใช้ฮวด สุขุมวิท 62 แยก 1 เพราะมีทางขึ้นร้านสำหรับรถเข็นผุ้พิการ ส่วนเต็งไต๋ใช้ฮวดนั้น
ทางเดินขึ้นร้านเป็นขั้นบันไดสามขั้น ค่อนข้างชันสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาการก้าวขาขึ้นทางต่างระดับ
(เช่นเดียวกับคุณแม่ผม ซึ่งเคยพยายามพาแกเดินขึ้นร้าน สุดท้ายพ่ายแพ้ความชัน ต้องสั่งใส่ถุงกลับไปกินบ้านแทน)

อีกสาเหตุที่แนะนำให้ไปที่นี่ เพราะเขามีที่จอดรถพอสมควร คะเนด้วยสายตา น่าจะราวๆ 15 คัน ถ้ารวมพื้นที่หน้าร้าน
บวกกับริมกำแพงบ้านเรือนในซอยในรัศมีไม่เกิน 200 เมตร ก็ราวๆ 30 คัน ส่วนเต็งไต๋ใช้ฮวดนั้น คนที่เดินทาง
มาด้วยบีทีเอส ลงสถานีบางจากจะสะดวกโยธินที่สุด แต่ที่จอดรถนี่นรกมาก เดิมเคยจอดได้ที่ปั๊มเชลล์ข้างร้าน
เดี๋ยวนี้เก็บค่าจอด 50 บาท ต้องขับเข้าไปจอดในซอยถัดจากร้านไปนิดเดียว ซึ่งบรรดาห้องแถวทั้งแถบต่างพร้อมใจ
กันติดป้ายหน้าบ้านว่า ”ห้ามจอดรถหน้าบ้าน มีรถเข้าออกตลอดเวลา” แต่ก็มีร้านเสริมสวยร้านหนึ่งบริเวณกลางซอย
ที่ใจดีอนุญาตให้เราจอดได้

 


 

ขอย้ำอีกครั้งว่านี่คือหนึ่งในร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่ไม่ต้องมีคำว่า ”เจ้าเก่า” หรือ ”ลูกชิ้นทำเอง” มากำกับให้รุงรัง
อย่าลืมว่า บะหมี่แห้งเท่านั้น จะพิเศษหรือธรรมดา ตามใจคุณ

 

เมธี เตชะชัยวงศ์