“ขอให้มีความสุขกับรถสปอร์ต 2 ประตู คันใหม่ นะครับ”

พี่เล็ก และคุณเก่ง สองในทีม Staff ของ ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ กล่าวไว้ ขณะตรวจเช็ค
เพื่อเตรียมส่งมอบ รถคันสีขาวนี้ ให้ผม เมื่อบ่ายวันที่ 9 มิถุนายน 2016

ฟังแล้วก็นึกขำ เออ ก็จริงของเขานะ มันมีอยู่แค่ 2 ประตู นั่งได้ 2 คน เบียดๆ
อีกสักหน่อยก็ 3 คน แถมมีกระบะหลังใหญ่เบ้อเร่อไว้บรรทุกของอีกด้วย

ชวนให้นึกถึงสโลแกน “รถสปอร์ตพันธุ์ใหม่” ของ Nissan NV B กระบะพิกัด
500 กิโลกรัม ที่เคยมีขายในบ้านเราช่วงปี 1996 เสียอย่างนั้น

ถึงแม้ผมกับคุณเล็ก จะมองรถคันนี้แบบขำๆว่าเป็นรถสปอร์ต แต่ในความเป็นจริง
มีลูกค้าอีกมากที่ซื้อรถกระบะตอนเดียวแบบนี้ ไปตกแต่งและโมดิฟาย จนกลายเป็น
รถสปอร์ตในแบบของพวกเขา เพื่อเที่ยวไล่พิฆาตรถสปอร์ตระดับ Supercar ตัวจริง
กันอย่างภาคภูมิใจ (ทั้งทีนั่นมันเป็นเรื่องอันตรายบนท้องถนนมากๆ)

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_01

แล้วผมกับรถคันนี้โคจรมาพบกันได้อย่างไร?

เปล่านะ ผมไม่ได้ซื้อรถคันนี้มาเพื่อแต่งซิ่งไว้ไล่ล่าใครต่อใครเขา หากแต่รถคันนี้
คุณพ่อของผมเขาซื้อเพื่อทดแทนรถกระบะคันเดิม ที่อยู่รับใช้กันมากว่า 10 ปี
จนพังพินาศคามือและตีน (ของคนขับรถที่ office คุณพ่อ) ไปเรียบร้อยแล้ว

ไหนๆก็ไหนๆ พ่อเราออกรถกระบะใหม่ทั้งที อีลูกทรพีคนนี้ก็ขอเอามาใช้ประโยชน์
ให้คุ้มเลยก็แล้วกัน ด้วยการนำมาทำบทความรีวิวให้คุณๆได้อ่านอยู่นี่ไงครับ

เรียกว่าเป็นการลงทุนซื้อรถเพื่อนำมาทำรีวิวอย่างแท้จริง ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
เพียงแต่ว่ารถคันนี้ เป็นรถของคุณพ่อ ไม่ใช่ของผม และคนออกเงิน ก็แน่นอนว่าเป็น
คุณพ่อ ไม่ใช่ผมอีกนั่นแหละ

ถือว่าเป็นภาคต่อเนื่องของบทความ รีวิว ที่เกี่ยวข้องกับ ขุมพลังใหม่ จาก Isuzu ที่ชื่อว่า
1.9 Ddi Blue Power ซึ่งจะมีทั้งหมดรวม 3 ตอน ก่อนหน้านี้ บทความแรก เป็นข้อมูล
ของ รุ่น 4 ประตู Cab 4 Hi-Lander 4×2 เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ อันเป็นรุ่นที่คาดว่าน่าจะ
ขายดีเป็นอันดับต้นๆ บทความที่ 2 คือ รีวิวที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ จะพูดถึงการนำขุมพลัง
บล็อกนี้ มาวางลงในรถกระบะส่งของ ซึ่งมีน้ำหนักตัวเปล่าเบากว่า เรียกสมรรถนะที่
แท้จริงออกมาได้มากกว่า และตอนสุดท้าย จะคลายข้อสงสัยว่า ถ้านำขุมพลังบล็อกนี้
ไปวางลงใน SUV น้ำหนักมาก แถมยังต้องพ่วงเกียร์อัตโนมัติอีก สมรรถนะจะ Drop
ลงไปมากน้อยแค่ไหน ยังอยู่ในระดับยอมรับได้หรือไม่

นั่นคือสิ่งที่ ผมและ The Coup Team จาก Headlightmag กำลังเตรียมนำเสนอให้
คุณๆ ได้อ่านกัน ในโอกาสถัดไป

เรื่องราวที่มาของบทความรีวิวนี้ มันก็มีอยู่เพียงเท่านี้ ส่วนเรื่องราวของตัวรถหนะ
รอให้คุณอ่านอยู่ข้างล่างอย่างครบถ้วน เหมือนเช่นเคย

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_08

คงไม่ต้องสาธยายรายละเอียดความเป็นมาของ Isuzu D-Max รุ่นปัจจุบัน
ให้เสียเวลากันอีก เพราะเราได้นำเสนอไปแล้ว ในบทความทดลองขับรุ่น
Cab 4 Hi-Lander ซึ่งถ้าคุณอยากอ่าน ก็สามารถคลิกได้ ที่นี่ (Click Here)

สำหรับรุ่นกระบะตอนเดียว เพื่อการพาณิชย์ หรือ Single Cab นั้น Isuzu
ใช้ชื่อ Spark ทำตลาด มาตั้งแต่ ปี 1990 ในรถกระบะรุ่น TFR 90 แรงม้า (PS)
หรือ มังกรทอง Minorchange ครั้งที่ 2 ชื่อนี้ ยังคงถูกใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับยาฆ่าหญ้า Spark ของบริษัทขายเคมีภัณฑ์
และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรอย่าง Monsanto ใดๆทั้งสิ้น

D-Max Spark มีความยาวตัวถัง 5,215 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง
1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,095 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้าและ
หลัง เท่ากันที่ 1,510 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ หรือ
(Ground Clearance) 195 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 1,635 กิโลกรัม

อุปกรณ์มาตรฐาน ของรุ่น B อันเป็นรุ่นพื้นฐานนั้น ให้มาในระดับพอเพียง
ทั้งชุดไฟหน้า Multi-Reflector กระจังหน้าพลาสติกสีเทาดำแบบมันเงา
แถมเปลือกกันชนหน้า กรอบกระจกมองข้าง และมือจับเปิดประตูภายนอก
ตัวรถเป็นพลาสติก สีดำ (แต่เนื้อวัสดุถือว่า พอใช้ได้ ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด)
ส่วนเสาอากาศ ติดตั้งที่เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา เป็นแบบชักขึ้น-ลง

ถ้าอยากได้ เปลือกกันชนหน้าสีเดียวกับตัวรถ อาจต้องยอมเพิ่มเงินขึ้นไป
เล่นรุ่น S ทั้ง 1.9 ลิตร และ 3.0 ลิตร (4×2 & 4×4) แทน

กระทะล้อ สำหรับรุ่นตัวเตี้ย 4×2 ทกรุ่น รวมทั้งล้อสำหรับยางอะไหล่ เป็น
ล้อเหล็ก ขนาด 6.0J x 15 สวมยาง Bridgestone Duravis ขนาด 195R15C
แต่ในรุ่น 3.0 ลิตร 4×4 จะใช้ล้อเหล็กขนาด 7.0J x 16 สวมยาง 245/70R16
รุ่น S ทั้ง 1.9 และ 3.0 ลิตร ขึ้นไป จะได้ฝาครอบดุมล้อ แถมมาให้ ส่วนรุ่น
B และ Cab-Chassis ต้องสั่งซื้อเพิ่ม เอาเอง

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Interior_01

ระบบกลอนประตูของ D-Max Spark B อันเป็นรุ่นพื้นฐาน ชวนให้คุณนึก
ย้อนกลับไปถึงรถยนต์ประกอบในประเทศ ยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งยังคงต้อง
พึ่งพากุญแจแบบธรรมดาๆ บ้านๆ รวม 2 ดอก หากอยากได้ Central Lock
ก็คงต้องเพิ่มเงินขึ้นไปเล่นรุ่น 1.9 S กับ 3.0 S ทั้ง 4×2 และ 4×4

ช่องทางเข้า – ออกจากห้องโดยสารนั้น มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถ
เข้า – ออก จากตัวรถ ได้สะดวกสบายดี แต่ ดัวยความสูงจากพื้นถนนถึง
195 มิลลิเมตร ดังนั้น คุณอาจต้องยกขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อก้าวเข้าไป
นั่งบนเบาะ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลักษณะการเข้า – ออกจากหัวเก๋งแบบนี้ มัก
พบได้ในรถกระบะส่งของ Single Cab รุ่นใหม่ๆ แทบทุกคันในบ้านเรา

แผงประตูด้านข้าง ไม่ได้บุวัสดุนุ่มใดๆมาให้ทั้งสิ้น พนักวางแขนพร้อม
มือจับดึงประตูเข้าหาตัว ที่ยื่นออกมา สามารถวางท่อนแขน ในตำแหน่ง
ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์ ได้พอดีๆ ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด
ใหญ่พอประมาณ ใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ไปจนถึง 14 บาท สบายๆ

รุ่น 1.9 S และ 3.0 S ทั้ง 4×2 กับ 4×4 จะติดตั้งกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ซึ่ง
มีสวิตช์ One Touch กดเลื่อนหรือยกขึ้น จนสุดเพียงครั้งเดียว เพื่อให้
หน้าต่างฝั่งคนขับ เลื่อนขึ้น – ลงเองโดยอัตโนมัติ

ทว่า รุ่น B ที่เห็นอยู่นี้ และ Cab-Chassis จะติดตั้งกระจกหน้าต่างแบบ
มือหมุนมาให้ ในสไตล์ย้อนยุค ซึ่งอันที่จริง ก็เพียงพอต่อการใช้งาน
แค่อาจน่ารำคาญเวลาจ่ายค่าทางด่วน หรือลดกระจกเมื่อเจอด่านตำรวจ
ก็เท่านั้น

เบาะนั่งเป็นแบบบาง หุ้มด้วยไวนีล แยกฝั่งซ้าย – ขวา  ฝั่งคนขับสามารถ
ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอนได้เล็กน้อย ส่วนฝั่งผู้โดยสาร
ปรับเลื่อนไม่ได้ ล็อกตายตัว แต่มีคันโยก เพื่อปรับพนักพิงหลัง เอนหรือ
โน้มมาข้างหน้า เปิดทางไปยังพื้นที่ขนาดเล็กด้านหลังเบาะ สำหรับเก็บ
สิ่งของต่างๆ รวมทั้ง แม่แรงและเครื่องมือประจำรถ

พนักพิงหลัง มาในสไตล์รถกระบะยุคเก่า คือนั่งได้ พิงหลังได้ แต่อาจ
ไม่มีปีกข้างใดๆมาเหนี่ยวรั้งตัวผู้ขับขี่ขณะเข้าโค้งเลย แผ่นหลังจะรู้สึก
ราวกับเอนกายไปพักบนพนักพิงหลังที่มีพื้นผิวค่อนข้างเรียบ ซึ่งพอจะ
หลงเหลือความนุ่มไว้ให้นิดนึง จากฟองน้ำหุ้มโครงเบาะ ไว้แบบบาง

พนักศีรษะ ยังคงใช้โครงสร้างเดียวกับ D-Max รุ่นพี่ๆที่แพงกว่านี้ ทว่า
หนังไวนิล ถูกเย็บเชื่อมเข้าติดกัน ด้วยตะเข็บแบบหยาบๆ การรองรับ
ศีรษะยังทำได้สบายตามสมควร ไม่ดันกบาลผม นิ่มพอเป็นพิธี ไม่น้อย
และไม่มากจนเกินไป สามารถยกถอดออกได้ทั้ง 2 ฝั่ง

เบาะรองนั่ง มีมุมเงยไม่มากนัก แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ความยาว
ของตัวเบาะ อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ทั้งสำหรับคนเอเซียที่มีช่วงขาสั้น
หรือชาวยุโรป ที่มีความสูงระดับปานกลาง

ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยของรถกระบะส่งของสมัยนี้ ก็ถูกอัพเกรดจน
ใกล้เคียงกับรถเก๋งกันแล้ว Isuzu ติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า รวม 2 ใบ มา
ให้กับ D-Max ทุกคัน นับตั้งแต่รุ่น 1.9 Ddi ออกสู่ตลาด เป็นต้นไป ดังนั้น
ในรุ่นกระบะส่งของพื้นฐาน 1.9 B คันนี้ จึงได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมาด้วย
พอเข้ามานั่งในรถ เห็นโลโก้ SRS แปะอยู่บนพวงมาลัย กับแผงหน้าปัด
ฝั่งซ้ายแล้ว ชวนให้คิดว่า พัฒนาการของตลาดรถกระบะบ้านเราจากอดีต
จนถึงวันนี้ มันมาไกลมากเลยนะ

เท่าที่นั่งไล่เช็คข้อมูลมา ตอนนี้ นอกเหนือจาก Isuzu แล้ว แทบทุกค่าย
ต่างก็ติดตั้งถุงลมนิรภัย SRS มาให้รถกระบะตั้งแต่รุ่นพื้นฐานกันหมดแล้ว
มีทั้ง Toyota , Nissan , Mitsubishi Motors และ Ford นี่แหละ ที่ยอม
ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ แม้กระทั่งรุ่นกระบะส่งของ ขณะที่ Mazda
เป็นค่ายเดียวที่มีเฉพาะ ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถือว่า
ยังดีกว่า Tata Xenon ที่ไม่มีถุงลมนิรภัย มาให้เลยแม้เพียงใบเดียว !

ข่าวร้ายของชาว Isuzu ก็คือ ขณะที่ D-Max มีถุงลมนิรภัยมาให้ 2 ใบ ทว่า
Toyota Hilux Revo เขาให้ถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าคนขับ เพิ่มอีก 1 ใบ
รวมเป็น 3 ใบ ใช่ครับ มันดูดีมากเวลาอยู่บนโบรชัวร์ หากมองในมุมของ
ผู้ขับรถ มันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเมื่อเกิดการชนลงได้ แต่
ในอีกมุมมองของเจ้าของกิจการผู้ครอบครองรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คุณก็
ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใบใหม่ จาก 2 ลูก เป็น 3 ลูก
ในกรณีที่ต้องซ่อมรถหลังเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่มีใครเสียอะไรเลย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมมองว่า ทีมวิศวกร Isuzu ทำการบ้านได้ดี คือการติดตั้ง
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบ ELR 3 จุด แบบ Pre-tensioner & Load Limiter
ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ แถมยังสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้
ทั้ง 2 ฝั่ง คิดดูว่า ขนาด BMW รุ่นใหม่ๆ หรือรถเก๋ง Toyota กับ Honda
รุ่นที่มีค่าตัวต่ำกว่า 750,000 บาท ลงไป หลายรุ่น ยังไม่มีติดตั้งมาให้เลย!
ส่วนตรงกลาง เป็นแบบ 2 จุด คาดเอว 1 ตำแหน่ง

ขอให้ Isuzu รักษาข้อดีพื้นฐานในเรื่องนี้กันต่อไป อย่าได้คิดตัด Option
หรือลดต้นทุนในรถรุ่นใหม่ ที่จะต้องคลอดตามมาหลังจากนี้เด็ดขาด!

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Interior_03_EDIT

กระบะหลัง มีความยาว 2,305 มิลลิเมตร กว้าง 1,570 มิลลิเมตร สูง 440
มิลลิเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับกระบะหลังของรุ่น 4 ประตู (Cab 4) ที่ยาว
1,485 มิลลิเมตร กว้าง 1,530 มิลลิเมตร สูง 465 มิลลิเมตร จะพบว่ากระบะ
ด้านหลังในรุ่น Single Cab Spark ยาวกว่ารุ่น Cab 4 ถึง 820 มิลลิเมตร
กว้างกว่า 40 มิลลิเมตร แต่มีขอบกระบะเตี้ยลง 25 มิลลิเมตร

ถ้าอยากรู้ว่า เปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว เป็นอย่างไร ตารางข้างบนนี้ แสดง
ตัวเลขเกือบทั้งหมดเอาไว้ให้แล้ว คงต้องยอมรับกันว่า แม้ความกว้างของ
กระบะหลัง ใน D-Max จะ กว้างกว่าชาวบ้านเขาทั้งหมด ด้อยกว่าแค่เพียง
Hilux Revo เพียง 5 มิลลิเมตร เท่านั้น ทว่า หากพินิจดูกันดีๆแล้ว กระบะ
แบบ Flat Deck ของ Tata Xenon ยาวและกว้างที่สุด แต่ก็มีขอบกระบะ
เตี้ยสุด ไปพร้อมๆกัน (ส่วนตัวเลข 1,980 มิลลิเมตร ของ Hilux Revo นั้น
เป็นของรุ่น ช่วงสั้น Short WheelBase)

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Interior_04

แผงหน้าปัด ก็เหมือนกันกับ D-Max รุ่นอื่นๆ นั่นละครับ จะแตกต่างกัน
แค่เพียงรายละเอียดปลีกย่อย บางจุด ซึ่งต้องถูกลดทอนลงมา เพื่อความ
เหมาะสมต่อการใช้งานจริงของกลุ่มลูกค้าภาคขนส่ง ที่มักไม่ต้องการ
ลูกเล่นเยอะแยะมากมายนัก

– ช่องแอร์ ด้านข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง ยังคงมี ช่องวางแก้ว แบบลิ้นชักพับเก็บได้มาให้
ขณะที่ ช่องใส่ของฝั่งผู้โดยสาร Glove Compartment มี 2 ชั้น ใส่เอกสาร
ประจำรถ รวมทั้งข้าวของต่างๆได้เยอะมาก ตามใจเจ้าของรถ
– ช่องเก็บของเหนือช่องแอร์คู่กลาง เปลี่ยนเป็นแบบไม่มีฝาปิด กลายร่าง
เป็น “ช่องวางพระเครื่อง” ไปโดยปริยาย
– แถมสีเงิน ประดับข้างช่องแอร์ และลากยาวลงมาถึงด้านข่าง เปลี่ยนกลับ
มาเป็นพลาสติกสีดำด้าน ตามปกติ
– ชุดมาตรวัด แบบพื้นฐาน คุณจะเห็นการเรืองแสงได้เฉพาะตอนกลางคืน
มีจอแสดงข้อมูลพื้นฐาน ทั้งระยะทางรวม Odometer กับ Trip Meter
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบ Real Time และ เฉลี่ย รวมทั้งหน้าจอ
บอก วัน/เดือน/ปี มาให้ แสดงผลด้วยสีแดง
– กระจกมองข้าง ต้องเปิดประตูลงไปปรับด้วยมือคุณเอง จากนอกรถ ไม่มี
ก้านปรับใดๆมาให้เลย ใช้งานไม่สะดวกอย่างแรง
– แผงบังแดด มีขนาดใหญ่โตดี แต่ไม่มีกระจกแต่งหน้าใดๆมาให้เลย
– ไฟส่องสว่างในเก๋ง มีแค่ จุดเดียว มีขนาดเล็ก ติดตั้งเหนือกระจกมองหลัง
– ทุกรุ่น มีสัญญาณเตือนลืมเปิดไฟหน้าทิ้งไว้มาให้
– ทุกรุ่น มีช่องใส่ของพร้อมฝาปิดใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา ด้านคนขับมาให้

ก้านสวิตช์ ที่คอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ควบคุมชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยว และไฟสูง
ส่วนฝั่งขวา ควบคุมใบปัดน้ำฝน และที่ฉีดน้ำล้างกระจก ตามมาตรฐาน
แต่ในรุ่น S ขึ้นไป จะมีระบบหน่วงเวลามาให้ ซึ่งในรถคันนี้ ไม่มีครับ

พวงมาลัยของทุกรุ่น เหมือนกันหมด เป็นแบบ 3 ก้าน ยูรีเธน ยกมาจาก
D-Max รุ่นอื่นๆ ไม่มีสวิตช์ควบคุมใดๆทั้งสิ้น ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่
ปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) ไม่ได้ แกนพวงมาลัยยุบตัวได้ เมื่อ
เกิดอุบัติเหตุ

อุปกรณ์ที่พบได้ในรุ่น 1.9 S 4×2 , 3.0 S (4×2 & 4×4) ทว่า ไม่มีมาให้ใน
รุ่น B คันที่เห็นอยู่ในรีวิว มีดังนี้

– กระจกหน้าต่างไฟฟ้า พร้อมระบบ One-Touch เลื่อนขึ้น – ลง ครั้งเดียว
ด้วยการกดปุ่ม เฉพาะฝั่งคนขับ
– Central Lock
– ช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า เสริม 12 V
– มือจับ (ศาสดา ยึดเหนี่ยวจิตใจ) ณ เสาหลังคาคู่หน้า (มีเฉพาะ 3.0 ลิตร 4×4)
– สัญญาณเสียงเตือน ลืมกุญแจรถ
– ระบบปัดน้ำฝนแบบหน่วงเวลาได้ (รุ่น B และ Cab-Chassis ปรับหน่วงไม่ได้)

ส่วนรุ่น Cab Chassis ก็จะถูกหั่น Option ออกจากรุ่น B ลงไปอีก ดังนี้

– ไม่มีวิทยุมาให้เลยแม้แต่เครื่องเดียว
– ไม่มีช่องเสียบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆมาให้เลย
– ไม่มีมือจับเหนือศีรษะด้านผู้โดยสาร
– ไม่มีสัญญาณเตือน ลืมกุญแจไว้ที่ช่องเสียบ

สิ่งที่ผมออกจะประหลาดใจคือ คุณภาพเสียง จากวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD / MP3 1 แผ่น ที่มีช่องเสียบ AUX และ USB มาให้ในตัว เป็นแบบ 1 DIN ซึ่ง
มาพร้อมลำโพง 2 ชิ้น บอกได้เลยว่า เสียงดีเกินคาดครับ! ฟังเพลง Jazz ได้ไพเราะ
ไม่แพ้ดนตรี อีเล็กโทรนิคส์ ด้วยซ้ำ ดังนั้น เพลงไทย ไม่ต้องพูดถึง เสียงดีกว่าที่คิด
นิดหน่อย แม้จะยังไม่ถึงขั้นเทียบเท่ากับ รุ่นพี่ๆ เขาก็ตาม

ต้องขอชมเชยซัพพลายเออร์ และผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุติดรถคันนี้ ที่นำความสุนทรีย์
มาให้ผมสัมผัส ระหว่างการขับรถกระบะส่งของจนได้!

เครื่องปรับอากาศ เป็นสวิตช์มือบิดแบบพื้นฐาน ไม่สามารถเลือกปรับทิศทางลมให้
ออกมาที่เท้าได้เลย เย็นเร็วพอประมาณ พอให้ใช้งานขั้นพื้นฐาน

ถัดลงไป เป็น ช่องวางของขนาดเล็ก และที่จดบุหรี่ ฐานคันเกียร์ถูกปล่อยให้โล่ง
แบบเดียวกับรถกระบะส่งของในยุคก่อนๆ เบรกมือ ติดตั้งอยู่ข้างลำตัว ไม่ได้เป็น
แบบดึงเข้าหาตัว เหมือนยุคสมัยรถกระบะรุ่นมังกรทองแล้ว

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ขุมพลังที่ติดตั้งมาในรถคันนี้ เป็นเครื่องยนต์ รหัส RZ4E-TC บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,898 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80 x 94.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ Common-Rail ตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection
พ่วงด้วยระบบอัดอากาศ Turbochager แบบแปรผันครีบ VGS และ Intercooler

กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงขึ้นกว่าขุมพลัง 4JK1-TCK
(2.5 ลิตร Ddi) รุ่นเดิม ถึง 10% ส่วน แรงบิดสูงสุด ก็เพิ่มขึ้น 9% เป็น 35.66 กก.-ม.
(350 นิวตัน-เมตร) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800-2,600 รอบ/นาที

ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 161 กรัม/กิโลเมตร (ในรุ่นกระบะตอนเดียว
Spark) ลดลงจากเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร Ddi VGS Turbo เดิม ถึง 21% พร้อมรองรับ
มาตรฐานไอเสีย Euro 6 อันเข้มงวดในอนาคต

รายละเอียดของเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ลูกนี้ สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ ในบทความ
ทดลองขับ รุ่น Cab 4 Hi-Lander ที่นี่ (CLICK HERE)

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Engine_02_6MT

ส่งกำลังสู่ระบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ รุ่นใหม่ ลูกเดียวกับ
ในรุ่น Cab 4 Hi-Lander ที่เราเคยทดลองขับไปช่วงต้นปีที่ผ่านมา ย้ำกันอีกที
ว่าเป็นเกียร์ คนละลูกกับ Chevrolet Colorado สังเกตได้จากการออกแบบให้
ตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง (R) เพราะใน Colorado หากคุณจะเข้าเกียร์ถอยหลัง
ต้องผลักคันเกียร์มาทางขวาสุด จนเข้าสู่จุดล็อก จึงจะตบเกียร์ลงมาข้างล่าง
แต่เกียร์ถอยหลังของ D-Max 6 จังหวะ จะย้ายไปอยู่ฝั่งซ้ายสุดด้านบนแทน
ซึ่งต้องผลักคันเกียร์ไปทางซ้ายจนเข้าสู่จุดล็อก ก่อนดันคันเกียร์ขึ้นไปบนสุด

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1              4.942
เกียร์ 2              2.430
เกียร์ 3              1.428
เกียร์ 4              1.000
เกียร์ 5              0.749
เกียร์ 6              0.634
เกียร์ถอยหลัง   4.597

แม้ว่า อัตราทดเกียร์จะเหมือนกับรุ่น 4 ประตู Hi-Lander เป๊ะ แต่ถ้าดูดีๆ จะ
พบว่าอัตราทดเฟืองท้ายนั้น แตกต่างกัน รุ่นตัวเตี้ย กระบะตอนเดียว จะทดไว้
ที่ 3.583 : 1 ขณะที่รุ่น Hi-Lander ทดไว้ที่ 3.909 : 1

ข้อดีของ D-Max ใหม่ ก็คือ ต่อให้เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็จะมี ไฟบอกตำแหน่ง
เกียร์ GSI (Genius Sport Shift) บนหน้าจอแสดงข้อมูลกลางมาตรวัด แถมยัง
แจ้งเตือนให้เปลี่ยนเกียร์ขึ้นไป เมื่อถึงจังหวะและรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสม
อีกด้วย

สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลา ช่วง กลางคืน เปิดแอร์
และ นั่ง 2 คนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บไซต์ Headlightmag
ผลลัพธ์ที่ออกมา  เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น Hi-Lander และคู่แข่ง มีดังนี้

dmax_01 dmax_03

ตัวเลขที่ออกมา แสดงให้เราเห็นถึงสมรรถนะที่แท้จริงของขุมพลัง 1.9 Ddi
Blue Power อย่างชัดเจน เมื่อถอดน้ำหนักส่วนเกินที่ไม่จำเป็น ออกจากรุ่น
Cab 4 Hi-Lander เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่
12.16 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.36 วินาที) ให้เหลือเพียงแค่
กระบะส่งของบ้านๆ ธรรมดาๆ จะพบว่า อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ช่วงออกตัว
เร็วขึ้นถึง 1 วินาที ขณะที่ช่วงเร่งแซง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ที่เกียร์ 4)
เร็วขึ้นถึง 1.49 วินาที เลยทีเดียว !

เรายังคงใช้เกียร์ 4 ในการทดลองกับ D-Max ทั้ง 2 คัน เพราะเราลองปรับ
ไปเปลี่ยนเกียร์เอง จาก 3 ขึ้น 4 พบว่า เวลาออกมา ช้ากว่าปล่อยลากทิ้งไว้
ที่เกียร์ 4 ตามเดิม นั่นเอง

เนื่องจาก นี่คือ รีวิวแรกสำหรับรถกระบะ Single Cab เพื่อการพาณิชย์ ทำให้
ยังไม่มีตัวเปรียบเทียบ ตรงพิกัดมากนัก ถ้าจะพอเทียบกันได้ เห็นจะมีเพียง
Mitsubishi Triton MY 2005 – 2007 รุ่น Mega Cab 116 แรงม้า (PS) และ
เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ซึ่งก็ทำตัวเลขอัตราเร่งไว้ด้อยกว่า D-Max 1.9
Ddi เยอะอยู่ ตามตารางข้างบนนี้ ดังนั้น ผมคงยังไม่อาจบอกได้ว่า รถรุ่นนี้
ถือว่าเป็น กระบะส่งของที่แรงสุด (เมื่อวิ่งตัวเปล่าๆ) อย่างเต็มปากนัก คงต้อง
รอจังหวะ ให้ค่ายไหนก็ตาม มีรถกระบะ Single Cab ตอนเดียวแบบนี้ ส่งมา
ให้เราทำรีวิวกัน ถึงตอนนั้น เมื่อข้อมูลเยอะกว่านี้ ก็คงจะสามารถตัดสินได้
ง่ายดายกว่านี้

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น บุคลิกแทบไม่ต่างจากรุ่น Cab 4 Hi-Lander
มากนัก ช่วงเกียร์ 1 มีไว้เพื่อการออกตัวจริงๆ ต้องรอจนเข้าเกียร์ 2 ให้รอบ
เครื่องยนต์ กวาดขึ้นไปเกินกว่า 1,800 รอบ/นาที นั่นละ เราถึงจะสัมผัสได้
ถึงเรี่ยวแรงที่หลั่งไหลออกมาจนต้องถามว่า “นี่เครื่องยนต์ 1.9 ลิตร แน่นะ?”

แต่ช่วงความเร็วปลาย หลังจากสุดเกียร์ 4 ตบขึ้นเกียร์ 5 แม้การไต่ขึ้นไป
จนถึง Top Speed จะเริ่มช้าลง ตามบุคลิกของเครื่องยนต์ และเกียร์ชุดนี้
แต่ ช่วงจาก สุดเกียร์ 4 ณ 155 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง สุดเกียร์ 5 ณ 185
กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังแอบขึ้นไวกว่ารุ่น Cab 4 Hi-Lander นิดหน่อย
แถมพอเข้าเกียร์ 6 ความเร็สูงสุดยังไหลต่อเนื่องขึ้นไปได้ถึงระดับ 190
กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,200 รอบ/นาที ซึ่งถือว่า เกินความคาดหมายไป
เล็กน้อย

ย้ำกันตรงนี้เหมือนเช่นเคยว่า เราทำการทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูกัน ด้วย
เหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาว หรือมุดกันจน
เสี่ยงอันตรายต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะ
เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง ดังนั้น จง
อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะถ้าหากพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิต
คุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ
แต่อย่างใดทั้งสิ้น! อีกทั้งเราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด แบบนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Engine_03_Top_Speed

ในการใช้งานจริง เรี่ยวแรงที่ออกมาจากขุมพลัง 1.9 Ddi สามารถสร้าง
ความประหลาดใจให้กับคนที่ไม่เคยลองนั่งหรือลองขับมาก่อนได้ มัน
แรงกว่าที่คาดคิดไว้จริงๆ เพียงแต่ว่า ในบางจังหวะของการขับขี่ และ
การบรรทุก อาจต้องเล่นเกียร์ เพื่อให้เจอรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสม
และเรียกแรงบิดในช่วงที่ต้องการ ออกมาใช้ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แน่นอนว่า ยังมีอาการรอรอบเครื่องยนต์อยู่ ในช่วงไม่เกิน 1,800 รอบ
จากนั้น เมื่อ Turbo เริ่ม Boost เต็มที่ แรงบิดสูงสุดจึงจะเริ่มโผล่ออกมา
ทักทายให้คุณได้เรียกใช้งาน ในระดับไหลมาเทมา จนถึงช่วง 2,600 –
3,000 รอบ/นาที

พอพ้นช่วงดังกล่าว ไม่ต้องลากรอบขึ้นไปให้สูงกว่านั้นหรอกครับ เพราะ
แรงบิดจะหมดลง เริ่มเหี่ยวปลายนับตั้งแต่หลัง 3,200 รอบ/นาที ไปแล้ว
ผมยังยืนยันความเห็นเดิมว่า ถ้าสามารถลดอาการรอรอบ โดยให้ Turbo
เริ่ม Boost กันตั้งแต่ 1,500 รอบ/นาทีได้ ก็คงจะดี แต่มันก็จะไปขัดกับ
แนวทางการพัฒนาเครื่องยนต์ของ Isuzu ที่เน้นความประหยัดน้ำมัน
มาเป็นอันดับ 1 เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าของเขา ส่วนความแรงนั้น ถือเป็น
ผลพลอยได้ติดปลายนวมมาให้ จึงเลือกเซ็ตเครื่องยนต์ มาในแนวทางนี้
ผมเห็นว่า เหมาะสมดีอยู่แล้ว กับกลุ่มลูกค้าของเขา

ด้านระบบส่งกำลัง ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นเดิม ที่เคยระบุไว้ในบทความ
ทดลองขับ D-Max 1.9 Ddi Hi-Lander ว่า อัตราทดเกียร์นั้น เซ็ตมาเพื่อ
เน้นความประหยัดน้ำมัน ดังนั้น เกียร์ 1 จึงมีไว้เพียงให้พอออกตัวได้ แต่
เกียร์ที่จะช่วยเรียกอัตราเร่งอย่างจริงจัง คือเกียร์ 2 ส่วนเกียร์ 3 อาจต้อง
ลากรอบเครื่องยนต์ ให้เกิน 2,000 รอบ ขึ้นไป จึงจะช่วยเรียกแรงบิดมา
ใช้งานได้ตามประสงค์

สิ่งที่ควรปรับปรุง ยังคงเป็นคันเกียร์ ซึ่งมีระยะเข้าเกียร์ค่อนข้างยาว จึง
ทำให้ขาดความแม่นยำในการเข้าเกียร์ ยิ่งในช่วงที่ต้องเปลี่ยนจากเกียร์
2 ไปเกียร์ 3 และ 4 ไป 5 นั้น ยังต้องปรับปรุงให้ตอบสนองแม่นยำกว่านี้

ด้านเสียงรบกวน ยืนยันซ้ำอีกรอบว่า เงียบและเบาลงกว่า ขุมพลัง 4JA1
อันเลื่องชื่อในการป่วนประสาทผู้คนในซอยหมู่บ้านต่างๆยามค่ำคืนมา
ตลอด 30 ปี คราวนี้ แม้ผมจะกลับบ้านดึกหลังการจับเวลา ราวๆ 3.30 น.
คุณพ่อ ออกมาเปิดไฟหน้าบ้านให้ ก็ยังยืนยันกับผมว่า “เสียงไม่ดังนะ”

ส่วนเสียงรบกวนในห้องโดยสารหนะหรือ? ถ้าในช่วงไม่เกิน 60 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ก็ยังขับใช้งานได้ปกติ ฟังเพลงได้ แต่ถ้าหลังจากนั้น เร่งเสียงวิทยุ
รอได้เลยครับ เสียงลมจะเริ่มดังกระหึ่มเข้ามาตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง
ต้องทำใจครับ รถกระบะส่งของ ใครเขาจะบุวัสดุเก็บเสียงมาให้เยอะเท่า
พวกรถเก๋งกันละนั่น?

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Engine_04_JIMMY_Drive

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก
แกนพวงมาลัย สามารถยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับ
ระยะใกล้ – ห่างจากคนขับไม่ได้ อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 37.4 : 1 รัศมีวงเลี้ยว
อยู่ที่ 6.0 เมตร

ถึงจะมีระบบผ่อนแรงเพาเวอร์แบบไฮโดรลิค มาให้ แต่ในความเป็นจริง น้ำหนัก
ของพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ ก็ยังถือว่าค่อนข้าง หนืดและหนักเมื่อเทียบกับ
D-Max รุ่น Hi-Lander ที่เราเคยลองขับก่อนหน้านั้น (รุ่น Hi-Lander และ 4×4
จะถูกเซ็ตอัตราทดเฟืองพวงมาลัยไว้ที่ 41.1 : 1 ระยะฟรีพอมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ถือว่า แม่นยำพอประมาณ ใช้การได้ ไม่เลวร้าย
อยู่ในระดับกลางๆของตลาด หน่วงมือกำลังดี On Center Feeling นิ่งในระดับ
พอยอมรับได้ เพียงแต่คุณอาจต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยขณะเข้าจอด เยอะ
กว่ารุ่น Cab 4 อยู่นิดนึง ต้องสังเกตดีๆ จึงจะรู้สึกว่าต่าง

ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงนั้น ถึงแม้ว่าพวงมาลัยจะตึงมือ บังคับ
ตัวรถให้ตั้งตรงๆได้ ต่อให้คุณใช้ความเร็ว 170 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถจะ
ยังคงนิ่ง และมีอาการดิ้นไปตามพื้นถนนนิดๆ พุ่งไปข้างหน้า ก็จริงอยู่ แต่น้ำหนัก
พวงมาลัย ในช่วงความเร็วสูง ยังอยู่ตรงกลาง ไม่เบาและไม่หนักจนเกินไป

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ อิสระ ปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง
ช็อกอัพแก็ส ส่วนด้านหลัง ก็ยังคงเป็นแหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี พร้อมช็อกอัพแก็ส
(แหนบเหนือเพลา)

อย่าคาดหวังความนุ่มนวลจากรถกระบะส่งของ Single Cab เพราะผู้ผลิตแทบ
ทุกราย จะต้องเซ็ตช่วงล่างของรถแบบนี้ ให้แข็งกว่า พี่น้องร่วมตระกูลรุ่นและ
ตัวถังแบบอื่นๆ เพื่อรองรับงานบรรทุกหนักเป็นหลัก

Isuzu เอง ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเซ็ตช่วงล่างในแนวทางเดียวกันนี้ ยอมรับครับ
ว่า ช่วงล่างด้านหน้า แข็งขึ้นกว่ารุ่น Cab 4 Hi-Lander ชัดเจน แต่เมื่อลองขับ
ในระยะทางยาวๆแล้ว สังเกตว่า ทีมวิศวกรของ Isuzu พยายามเซ็ตให้ช่วงล่าง
ด้านหน้า มีความแข็งขึ้น และหนึบขึ้นในระดับใกล้เคียงกับความแข็งของแหนบ
ด้านหลังรถ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ ขณะแล่นตัวเปล่า ไร้น้ำหนักบรรทุกด้วย

ผมมองว่า ช่วงล่างของรุ่น Single Cab นั้น แม้จะส่งแรงสะเทือนจากพื้นถนน
เข้ามาในช่วงความเร็วต่ำ อยู่มาก และการทรงตัวในย่านความเร็วสูง อาจยัง
มีความน่าหวั่นใจนิดๆ อันเป็นผลมาจากความยาวระยะฐานล้อ Wheelbase
และความกว้างของหน้ายาง ที่อาจแคบไปหน่อย ทำให้ตัวรถยังไม่นิ่งเท่าที่ควร

ทว่า การเข้าโค้งบนทางด่วน กลับทำได้ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็น ทาง
โค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้าทางด่วนขั้นที่ 1
ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้าม โรงแรม Eastin ผมพา D-Max 1.9 Ddi Single Cab
เข้าโค้งด้วยความเร็วบนมาตรวัด ประมาณ 90 และ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งก็
ถึงจุด Limit ของตัวรถและยางติดรถกันแล้ว

ขณะเดียวกัน บนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง ขึ้นจากทางด่วน
ขั้นที่ 1 เชื่อมขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา D-Max 1.9 Ddi เข้าไปด้วย
ความเร็ว 90, 100 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถเอียงข้างเยอะอยู่ คุณอาจ
หวั่นใจขณะอยู่ในโค้ง แต่ D-Max ก็เอาตัวรอดจากการเข้าโค้งเหล่านี้มาได้

ระบบห้ามล้อ ยังคงเป็นแบบ หน้าดิสก์ – หลังดรัม ตามมาตรฐานของรถกระบะใน
เมืองไทย หม้อลมเบรก ขนาด 10.5 นิ้ว ไร้ซึ่งตัวช่วยจำพวก ABS EBD ใดๆทั้งสิ้น!

การเซ็ตระยะเหยียบและน้ำหนักของแป้นเบรก แอบต่างจากรุ่น Cab 4 ทั้งหลาย
อยู่บ้างเล็กน้อย ตรงที่ แป้นเบรกแอบมีน้ำหนักเบากว่า ระยะเหยียบไม่ต้องลึกมาก
และไม่ตื้นมาก อยู่ในระดับกลางๆ ต้องเหยียบลงไปราวๆ 25% จึงจะเริ่มทำงานกัน
ช่วยหน่วงความเร็วของรถลงมาอย่างนุ่มนวล ไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่าซ่าส์
กันแบบระห่ำไมู่ตาม้าตาเรือเชียวละ โอกาส Fade หนะ ง่ายเอาเรื่องเลยทีเดียว
ขอย้ำว่า นี่ขนาดยังเป็นรถเปล่าๆ ไม่ได้บรรทุกข้าวของใดๆเลยนะครับ

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Fuel_Consumption_01_EDIT

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้ว่าเราจะเคยทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยของ ขุมพลัง 1.9 Ddi
มาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2016 ใน D-Max Cab 4 Hi-Lander มาแล้ว แต่คราวนี้
ในเมื่อเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังชุดเดียวกัน ถูกติดตั้งลงในตัวถังที่เบากว่า
คำถามก็คือ ตัวเลขความประหยัดน้ำมันที่ทำได้ดีสุดในกลุ่มรถกระบะด้วยกัน
จะดีขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน?

เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา D-Max 1.9 Ddi คันนี้ ไป
เติมน้ำมัน Diesel Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ
ริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์

ในเมื่อ D-Max เป็นรถกระบะ เช่นเดียวกับ รถยนต์นั่งผลิตในไทยเครื่องยนต์
ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งคุณผู้อ่าน มักซีเรียสกับ
ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากๆ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันแบบเขย่ารถ จน
กระทั่งน้ำมัน เอ่อขึ้นมาถึงปากคอถัง อย่างที่เห็น ใช้เวลาสั้นกว่าที่คิดไว้เพราะ
คอถังไม่ยาวจนเกินไป

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยาน คราวนี้ มากันเยอะครับ มีทั้งน้อง Pao Dominic
กับน้อง Joke V10ThLnD สมาชิกกลุ่ม The Coup Team ของเรา และ สักขี
พยานจากเว็บ Carside.in.th ทั้งน้องหนาว และน้องนัท ซึ่งมาช่วยเราเขย่ารถ
กันในครั้งนี้

คนที่จะนั่งไปกับผมในรถทดลองขับ มีเพียงแค่ น้องหนาว เพียงคนเดียว เพื่อ
ให้ยังสามารถรักษามาตรฐานการทดลอง “ขับ 110 เปิดแอร์ นั่ง 2 คน” ต่อไป
ตามปกติไว้ได้

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Fuel_Consumption_02_EDIT

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 76 ลิตร  (ไม่รวมคอถัง อีกพอสมควร)
เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ
ที่ระดับพัดลมแอร์ เบอร์ 1 อุณหภูมิปานกลาง

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนน
พระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง
ปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ
รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่อง
ปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อ
เติมน้ำมัน Techron Diesel ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วง การเติมครั้งแรกทุกประการ

และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เรา ก็ต้องมาช่วยกันเขย่า โขยก ขย่มรถ
กันอีกจนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้นเอ่อแน่นขึ้นมาถึงปากคอถังเช่นนี้ ตามมาตรฐานเดิม
แต่คราวนี้ เราใช้เวลาในการเติม และเขย่ารถสั้นกว่าเดิมมาก

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_Fuel_Consumption_03

ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมาย

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.94 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.57 กิโลเมตร/ลิตร 

dmax_02 dmax_03

จริงอยู่ว่า หากดูแค่ตัวเลข D-Max 1.9 Ddi Blue Power Single Cab จะ
ก้าวขึ้นครองบรรลังก์แชมป์รถกระบะประหยัดน้ำมันที่สุดในประเทศไทย
ตอนนี้! แต่ถ้าดูดีๆ จะพบว่า ความประหยัดที่เพิ่มจากรุ่น Hi-Lander นั้น
กลับไม่มากอย่างที่คิดไว้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ตัวรถที่เราทดลองกัน อยู่ในสภาพสดใหม่มากๆ ยัง
ไม่พ้น ช่วง Run-in 1,500 กิโลเมตร แรก ด้วยซ้ำ อีกทั้ง เราเองก็จับมา
ทดลองขับกันทันที ในวันเดียวกันที่รับรถออกจากโชว์รูมตรีเพชรอีซูซุ
กันมาเลย ดังนั้น หากใช้งานไปสักระยะ และลองนำมาทำการทดลองอีก
ในภายหลัง ตัวเลขอาจจะดีขึ้นกว่านี้อีกนิดหน่อย แต่คงไม่มากนัก

แล้วน้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ไกลแค่ไหน ? คราวนี้ เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด
เราจึงไม่ได้ทำการจับตัวเลขจากการใช้งานจริงมาให้ แต่พอจะอนุมานจาก
รุ่น Cab 4 Hi-Lander ได้ว่า น่าจะอยู่ที่ราวๆ 600 -650 กิโลเมตร สำหรับ
การขับขี่แบบปกติทั่วๆไป แต่ถ้าเน้นขับประหยัดกันสุดๆ อาจทำได้ ประมาณ
700 – 750 กิโลเมตร

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_02_EDIT

********** สรุป **********
เครื่องแรงจริง ประหยัดจริง แต่ยังต้องรอดูกันยาวๆ

จากประสบการณ์ในช่วงที่ลองขับ D-Max 1.9 Ddi Blue Power รุ่น Cab 4
Hi-Lander (ชื่อรุ่นจะยาวไปหนายยยยยย รถกระบะทุกค่ายจ๋าาาา) เมื่อตอน
ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผมพอจะเดาได้ว่า เรี่ยวแรงของขุมพลังบล็อกใหม่นี้หนะ
ยังไงๆ ก็คงจะแรงไม่ธรรมดา เกินคาดไปอย่างแน่นอน

แต่เมื่อมาลองขับจริง รุ่นกระบะส่งของ Single Cab ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากัน
ราวๆ 165 กิโลกรัม กลับทำตัวเลขออกมาได้ ไวกว่าที่ผมคาดคิดไว้นิดหน่อย
เสียด้วยซ้ำ ทำให้ได้เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริง ว่า เรี่ยวแรงหนะ มีเหลือเฟือ
เพียงพอสำหรับงานบรรทุกทั่วๆไปแน่ๆ เพียงแต่ว่า ถ้าคุณต้องพามันขึ้นเขา
หรือทางลาดชัน อาจต้องเล่นเกียร์เพื่อช่วยดึงรอบเครื่องยนต์ มาอยู่ในจุดที่
เหมาะสม ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณเรียกแรงบิดออกมาใช้ได้ดังใจปอง

ถ้าสามารถปรับให้ Turbo เริ่มทำงานเอื่อยๆ แถวๆ 1,500 รอบ/นาทีขึ้นไป
รอไว้สักนิด ก่อนจะแตะ 1,800 รอบ/นาที อันเป็นช่วงที่แรงบิดเริ่มไหลมา
เทมา น่าจะช่วยให้มีเรี่ยวแรงในช่วงคลานด้วยความเร็วต่ำมากกว่านี้นิดนึง
แต่ก็เข้าใจดีว่า อาจต้องแลกกับความประหยัดน้ำมันในช่วงความเร็วต่ำที่
อาจหดหายไป แล้วแต่จะพิจารณาก็แล้วกันครับ

ความเห็นของผมต่อระบบส่งกำลังยังคงเหมือนเดิมครับ ไปปรับปรุง Shift
Feeling กันหน่อยเถิด ความแม่นยำในการเข้าเกียร์ จะช่วยลดความผิดพลาด
ในการเข้าเกียร์ผิดลงได้ โดยเฉพาะในจังหวะคับขัน ทั้งช่วงเร่งแซง หรือช่วง
ขึ้นเนินลาดชัน ขณะกำลังจะหนีห่างจากรถพ่วงที่ตามมาด้านหลัง พละกำลัง
ของเครื่อยนต์หนะ หนีได้แน่ แต่ ถ้าเข้าเกียร์พลาด เวลาเพียงเสี่้ยววินาที ก็
อาจจะสายเกินไปนะครับ นอกนั้น อัตราทดเกียร์ กับเฟืองท้าย ไม่ต้องแก้ไข

ความประหยัดน้ำมัน ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป แม้ว่า D-Max Spark B
คันนี้ จะทำตัวเลขออกมาได้ดีที่สุด ในบรรดารถกระบะที่ขายกันอยู่ในปี 2016
แต่มันยังแอบด้อยกว่า Mitsubihi Triton Mega Cab 116 แรงม้า MY 2005
อยู่ 0.2 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งอันที่จริง ผมไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเลย เพราะ
เมื่อแลกับพละกำลังขนาดนี้ ถือว่า คุ้มมากๆ แต่สำหรับคนของ Isuzu อาจจะ
ตะหงิดๆตะขิดตะขวงใจ และเกิดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้ขุมพลังบล็อก
ใหม่ล่าสุดนี้ ยิ่งประหยัดให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และปล่อยมลพิษน้อยกว่านี้
ลงได้อีก นั่นจะเป็นเรื่องดีกับผู้บริโภคครับ

นอกนั้น สำหรับกระบะส่งของ 1 คัน รุ่นพื้นฐาน Option โล้นๆ โล่งๆ ให้ข้าวของ
มาแค่นี้ ก็ดีถมถืดแล้ว แต่จะดีกว่านี้ ถ้าติดตั้ง ก้านปรับกระจกมองข้างจากในรถ
มาให้สักหน่อย ตอนเดินลงไปปรับเองนี่ รู้สึกอับอายประชาชีเขามากๆเลยนะนั่น!

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_03_EDIT

ตัวเลือกในตลาดรถกระบะ Single Cab ตอนนี้ละ?

ในปี 2016 นี้ ผู้ผลิตทุกค่าย ต่างยังจำเป็นต้องมีรถกระบะตอนเดียว Single Cab ไว้
ให้ลูกค้า แม้จะรู้ว่ายอดขายไม่ได้เยอะมากเท่ากับเจ้าตลาดอย่าง Isuzu และ Toyota
ก็ตาม เรามาดูกันดีกว่าว่า หากคุณคิดจะซื้อรถกระบะตอนเดียว เพื่อใช้งานในกิจการ
เชิงพาณิชย์ แต่ละค่าย จะมีทางเลือกให้คุณมากน้อยแค่ไหน

(ข้อมูล เรียงรายชื่อตามอักษรนำหน้าชื่อบริษัทผู้ผลิต Update เมื่อ 12 มิถุนายน 2016
หลังจากนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อโปรดตรวจสอบกับผู้ผลิตและผู้จำหน่าย
แต่ละรายกันเอาเอง อีกครั้ง)

** คำอธิบาย **
4×2 = ขับเคลื่อน 2 ล้อ
4×4 = ขับเคลื่อน 4 ล้อ
5MT = เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
6MT = เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
6AT =  เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
SWB = Short WheelBase รถกระบะช่วงสั้น / ฐานล้อสั้น
Flat Deck = กระบะพื้นเรียบ ไม่โดนซุ้มล้อคู่หลังเบียดบังพื้นที่ ทำให้บรรทุกได้
เต็มพื้นที่ แต่ต้องทำใจว่า เมื่อต้องยกพื้นกระบะให้สูงเสมอซุ้มล้อคู่หลัง ดังนั้น
ขอบกระบะจะเตี้ยกว่า รถกระบะทั่วไปในบ้านเรา นิยมในประเทศเขต Oceania
(Australia และ New Zealand) เพื่อขนฟาง หญ้า ใช้งานในไร่ปศุสัตว์ เป็นหลัก

Chevrolet Colorado
มี 1 รุ่นย่อย (ไม่มีรุ่นกระบะมาตรฐาน อีกต่อไป มีแต่กระบะพื้นเรียบ Flat Deck )
– LS 4×2 SWB Diesel 2.5 Turbo 163 แรงม้า (PS) 6MT 495,000 บาท

Ford Ranger
มี 3 รุ่นย่อย (สเป็กประหลาดกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อย อ่านดีๆ)
– XL 4×2 Diesel 2.2 Turbo 125 แรงม้า (PS) 6MT 549,000 บาท
– Hi-Rider 4×2 SWB Diesel 2.2 Turbo 160 แรงม้า (PS) 6MT ดิสก์เบรก 4 ล้อ
กระบะ Flat Deck 575,000 บาท
– Hi-Rider 4×4 SWB Diesel 3.2 Turbo 200 แรงม้า (PS) 6AT ดิสก์เบรก 4 ล้อ
กระบะ Flat Deck 749,000 บาท

Mazda BT-50 PRO Single Cab
มี 2 รุ่นย่อย
– STD S 4×2 Diesel 2.2 ลิตร Turbo 125 แรงม้า (PS) 6MT
– STD S 4×2 เบนซิน 2.5 ลิตร 166 แรงม้า (PS) 5MT
ราคา 554,000 บาท เท่ากันทั้งคู่!

Mitsubishi Triton Single Cab
มี 4 รุ่นย่อย
– GL 4×2 Diesel 2.5 ลิตร Turbo 128 แรงม้า (PS) 5MT 513,000 บาท
– GL 4×2 เบนซิน 2.4 ลิตร 128 แรงม้า (PS) 5MT 485,000 บาท
– GL 4×4 Diesel 2.5 ลิตร Turbo 178 แรงม้า (PS) 5MT 613,000 บาท
– GL 4×4 SWB Diesel 2.5 ลิตร Turbo 178 แรงม้า (PS) 5AT 664,000 บาท

Nissan Navara Single Cab
มี 3 รุ่นย่อย  ขุมพลังเดียวกันทั้งหมด Diesel Turbo 2.5 ลิตร 163 แรงม้า (PS) 6MT
– 4×2 รุ่น S ราคา 529,000 บาท
– 4×2 รุ่น SL ราคา 537,000 บาท
– 4×2 รุ่น SL เบาะนั่ง แยกชิ้น ราคา 537,000 บาท เท่ารุ่น SL ปกติ

Tata Xenon Single Cab  
มี 4 รุ่นย่อย
– 4×2 Diesel 2.2 ลิตร Turbo 140 แรงม้า (PS) 5MT 499,000 บาท
– 4×4 Diesel 2.2 ลิตร Turbo 140 แรงม้า (PS) 5MT 524,000 บาท
– 4×2 Diesel /CNG 2.1 ลิตร 101 แรงม้า (PS) 5MT 569,000 บาท
– 4×4 Diesel 2.2 ลิตร Turbo 150 แรงม้า (PS) 5MT 599,900 บาท

Toyota Hilux Revo Single Cab
มี 5 รุ่นย่อย
– 2.4 J 4×2 Diesel 2.4 ลิตร Turbo 5MT 569,000 บาท
– 2.7 J 4×2 เบนซิน 2.7 ลิตร 5MT 569,000 บาท เท่ากัน
– 2.4 J PLUS 4×2 Diesel 2.4 ลิตร Turbo 5MT SWB 585,000 บาท
– 2.8 J PLUS 4×2 Diesel 2.8 ลิตร Turbo 5MT 605,000 บาท
– 2.8 J PLUS 4×4 Diesel 2.8 ลิตร Turbo 6MT 675,000 บาท

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_03

แล้ว Isuzu D-Max Single Cab Spark มีทางเลือกรุ่นย่อยอย่างไรบ้าง

– Cab-Chassis 4×2 Diesel 1.9 ลิตร Turbo 6MT 490,000 บาท
– 1.9 Ddi B 4×2 Diesel 1.9 ลิตร Turbo 6MT 526,000 บาท
– 1.9 Ddi S 4×2 Diesel 1.9 ลิตร Turbo 6MT 553,000 บาท
– 3.0 Ddi S 4×2 Diesel 3.0 ลิตร Turbo 5MT 573,000 บาท
– 3.0 Ddi S 4×4 Diesel 3.0 ลิตร Turbo 5MT 648,000 บาท

ในความเห็นของผม ถ้าแค่ต้องการซื้อรถกระบะไว้ใช้งานเชิงพาณิชย์ ไว้ให้
คนงานที่บ้าน หรือกิจการ SME (Single Mother Elephant..คืออยากเขียน
เป็น E อื่นมากๆ แต่เกรงว่า มุขจะหยาบคาย เกินหนะฮะ) ขับไปส่งของ วางบิล
เก็บเช็ค รุ่น B คันที่เห็นในรีวิวนี้ ถือว่าเพียงพอแล้วต่อการใช้งานขั้นพื้นฐาน
แทบไม่จำเป็นต้องขยับขึ้นมาเล่นรุ่น S เลย

เว้นเสียแต่ว่า เถ้าแก่จะขับเองด้วย ในกรณีที่คนงานไม่พอ การเลือกรุ่น S ให้
มีความสบายในชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีกนิด ก็น่าจะดีกว่า เพราะกระจกมองข้างของ
รุ่น B ที่ต้องลงจากรถไปปรับเองด้วยระบบอัตโนมือ นั้น ผมว่า ไม่โอเคเลย
อย่างน้อยน่าจะให้ก้านปรับเล็กๆจากในรถมาสักหน่อยก็ยังดี

ส่วนรุ่น 3.0 S นั้น อาจจำเป็นสำหรับลูกค้าที่ต้องการบรรทุกของหนัก เช่น
ผักสดผลไม้ ซึ่งพ่อค้าแม่ขาย มักพยายามหารายได้เพิ่มต่อเที่ยวขนส่งด้วย
วิธีบรรทุกจนเกินพิกัดรถ แบกกันที ล่อเข้าไป 3 – 4 ตัน กองพะเนินเทินทึก
เท่าภูเขาเลากา จนลูกแตงโม เกือบจะสูงไปแตะคานสะพานลอยข้ามแยก
ถนนสายเอเชียกันแล้ว นั่นละครับ รุ่น 3.0 ลิตร จึงจะจำเป็นสำหรับคุณ

ท้ายสุด รุ่น 3.0 ลิตร 4×4 ออกแบบมาเอาใจกลุ่มลูกค้าทางภาคใต้ ซึ่งจู่ๆ
ก็เกิดกระแสความต้องการรถกระบะประเภทนี้ขึ้นมา Mitsubishi Triton
เขาทำออกมาขายก่อน ขายดิบขายดี จน Toyota Hilux Revo ต้องมี
ออกขายตามมา และ Isuzu ก็ไม่ยอมพลาดตกขบวน ร่วมทำขายแย่งชิง
ลูกค้ากลุ่มนี้กับเขาด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณสงสัยไหมครับว่า ทำไมคุณ J!MMY ถึงต้องซื้อ
รถระบะส่งของ ตอนเดียว?

ว่าจะไม่พูดแล้ว แต่ ขอเล่าให้ฟังสักหน่อยดีกว่า ว่าบ้านเรา จำเป็นต้องใช้
รถกระบะกันมาหลายปีแล้ว

ครอบครัวผม มีกิจการค้าขายเล็กๆ ของคุณพ่อผม ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่
ราวๆ ปี 1991 ทำกันแบบพอมีพอกิน ไม่ได้หวังจะขยายตัวจนร่ำรวยเหมือน
คนอื่นเขา เราใช้รถกระบะมาแล้ว 3 คัน เจอปัญหากับเรื่องราวมากมายปะปน
กันไป

ไม่ว่าจะเป็น Toyota Hilux Mighty X สีขาว (ซึ่งก็เจอปัญหา Overheat ไปถึง
2 รอบ จากความไม่รอบคอบและไม่ใส่ใจของพนักงานขับรถคนเก่า รอบแรก
เปลี่ยนแค่ฝาสูบ เบิกอะไหล่จาก Toyotaโดยตรง แพงราวๆ หลายหมื่นบาท
พอรอบ 2 เราจึง เปลี่ยนเครื่องยนต์ 5L จากญี่ปุ่น ที่ตัดมาเป็นอะไหล่เซียงกง
เพื่อตัดปัญหา ฝาสูบโก่งง่าย ของขุมพลัง 2L 89 แรงม้า (PS) นั่นไปซะ เรา
ใช้รถคันนี้กันจนกระทั่งมันพัง ตัวถังและแฟรมแชสซีบิดเบี้ยว ในช่วงปลายๆ
อายุของมัน และต้องขายทิ้งเป็นซาก รวมเวลานานราวๆ 15 ปี เต็มๆ

อีก 2 คันต่อมา เป็น Nissan Frontier ต่างรุ่นปี ต่างกรรมต่างวาระ เริ่มซื้อเข้ามา
คันแรก ราวๆ ปี 2008 และต้องซื้อเพิ่มอีก 1 คัน หลังจากนั้น 1-2 ปี ในแง่การ
บรรทุกหนัก ภาพรวมก็ถือว่าทำได้ดี แต่…เช่นเดียวกับ Mighty X การไม่ใส่ใจ
ละเลยการดูแลรักษาเบื้องต้น ทั้งที่เราย้ำกำชับว่าต้องทำทุกวัน ของคนขับรถ
ทำให้อายุการใช้งาน ของ Frontier ไม่ยืนยาวอย่างที่ควรเป็น มีปัญหาต้อง
เปลี่ยนอะไหล่อยู่เนืองๆ บางคราว คนขับรถ ก็ไปก่ออุบัติเหตุ ชนกับคนอื่น
พอหมดระยะรับประกัน เราก็เข้าซ่อมอู่ข้างนอก จนตัวรถไม่อยู่ในสภาพ
ดีเท่าที่ควร เรียกได้ว่า ซื้อรถกระบะมาใช้งานกันจริงๆเลยละ

เมื่อ Frontier ทั้ง 2 คันเริ่มมีสภาพย่ำแย่ และเริ่มชำรุดถี่ขึ้น การส่งของถึง
ลูกค้าในแต่ละวัน ก็เริ่มสะดุด เราจึงต้องมองหารถกระบะคันใหม่ เพื่อ
เข้ามา เสริมหน้าที่ของ Frontier ทั้ง 2 คัน

คราวนี้ ผมลองตัดสินใจ เปลี่ยนยี่ห้ออีกครั้ง จะลองหันมาใช้ Isuzu เป็น
ครั้งแรก และเป็นคันแรกของครอบครัว

ทำไมคุณ JIMMY ถึงตัดสินใจเลือกซื้อ Isuzu?

เหตผลง่ายๆ เลยครับ “อยากลอง”…

– อยากลองเป็นลูกค้า Isuzu สักครั้งในชีวิต เพื่อพิสูจน์ว่า บริการหลังการขาย
ที่ได้รับการยกย่องว่า เทพสุดในแดนสยาม ระบือนามยิ่งกว่า Mercedes-Benz,
BMW, Toyota และ Honda รวมกันนั้น มันเป็นอย่างไร? จริงอย่างที่เขาว่าไหม?

– อยากลองเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ ที่เราเฝ้ารอดูมาตลอด 5 ปี ว่ามันดีเด่น
สมกับการรอคอยหรือไม่ และในระยะยาว เราจะพบเจอปัญหาอะไรกันบ้าง?
Isuzu ควรปรับปรุงในจุดไหนบ้าง?

– อยากลองดูว่าในการใช้งานจริง รถกระบะ Isuzu จะทนไม้ทนมือ บรรดา
ลูกน้องคุณพ่อ และรวมทั้งผู้ที่มีงานอดิเรกคือการเขวี้ยงไอโฟนเล่น พัง
กล้องถ่ายรูปตัวเองเล่น และอื่นๆ อย่างผม (ในบางครั้ง) ได้ดีแค่ไหน

ผมคงยังตอบคำถามทั้ง 3 ข้อ นี้ให้คุณผู้อ่านไม่ได้ แหงสิครับ เพิ่งรับรถมา
สดๆร้อนๆ ยังไม่ถึง 5 วันเลย Max Liner ก็ยังไม่ติดตั้ง หลังคาอะลูมีเนียม
ก็ยังไม่ได้เอามาต่อเชื่อม รถยังไม่ได้ใช้งานเลย แค่นำมาทดลองจับเวลา
ถลุงกันตั้งแต่คืนแรกที่รับรถมา แค่นั้นเลยจริงๆ

คงต้องรอเวลาให้ผ่านไปนานกว่านี้สัก 3 ปี ตอนหมดระยะรับประกันคุณภาพ
3 ปี 100,000 กิโลเมตร ก่อน เมื่อถึงตอนนั้น เราถึงจะมานั่งคุยกันอีกครั้งว่า
ประสบการณ์ของผมกับการเป็นลูกค้า Isuzu จะเป็นอย่างไร…?

มารอดูไปพร้อมๆกันนะครับ…!

—————————–///—————————–

2016_06_09_Isuzu_D_Max_1900_Single_Cab_06

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ทีมงานฝ่ายการตลาด และฝ่าย ประชาสัมพันธ์
บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ (เซลส์) จำกัด
สำหรับการเตรียมการ และอำนวยความสะดวก
ในด้านต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง ก่อนที่รถคันนี้
จะถูกส่งถึงมือของผม

—————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ
ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
13 มิุนายน 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 13th, 2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!