คล้อยหลังการเปิดแผนธุรกิจระยะกลางใหม่ Nissan Power 88 สำหรับแบรนด์ Nissan ระดับโลกในวันที่ 27 มิถุนายน 2011 คล้อยหลังจากนั้นอีกเกือบ 1 เดือน Nissan ประจำภูมิภาคอาเซียนก็ประกาศแผนธุรกิจระยะกลางในวันที่ 25 กรกฎาคม 2011 อันเป็นการประกาศให้รู้กันว่านับต่อจากนี้ไป Nissan ในเขตอาเซียน 5 ได้แก่ ประเทศไทย, อินโดนีเซีย มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะเติบโตพร้อมกัน
แผนธุรกิจระยะกลาง Nissan Power 88 คือการมุ่งเป้าหมายสู่การสร้างประสบการณ์ใหม่ของลูกค้าโดยรวมที่มีผลต่อพลังของแบรนด์และพลัง ยอดขาย จนทำให้ปีงบประมาณ 2016 (สิ้นเดือนมีนาคม 2017) บรรลุส่วนแบ่งการตลาดในระดับโลก 8% (จากปีที่แล้ว 5.8%) และเพิ่มผลกำไรขององค์กรอย่างยั่งยืน 8%
Nissan Power 88 ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพลังของแบรนด์ (Brand Power) ด้วยวิธีการเพิ่มปริมาณผู้แทนจำหน่ายให้ครอบคลุมภูมิภาค, ศักยภาพในการให้บริการ เน้นคุณภาพเครือข่ายเพื่อเพิ่มความจงรักภักดีในตราสินค้าและประสิทธิภาพของผู้จำหน่าย จนกลายเป็นการเพิ่มพลังแห่งการขายซึ่ง Nissan จะเจาะจงการเพิ่มพลังของแบรนด์จนเพิ่มพลังแห่งการขายใน ญี่ปุ่น, อเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 5
และหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้แผนธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จก็คือการมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อาทิ รัสเซีย, จีน, อินเดีย, บราซิล และกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 5 ประเทศ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยคาดหวังยอดขายกลุ่มตลาดเกิดใหม่มากถึง 60% เลยทีเดียว
กลุ่มตลาดอาเซียนทั้ง 5 หรือ Asean 5 จัดเป็นกลุ่มตลาดประเทศเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ Nissan มีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอัตราการเติบโตตลาดรถยนต์อินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้นมากจากประชากรมหาศาลถึง 200 ล้านคน รวมไปถึงประเทศไทยที่มีโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ครบถ้วนภายใต้เงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจ
ปัจจุบันยอดขาย Nissan ในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือ Asean 5 มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 6% ประเทศไทยเป็นฐานอุตสาหกรรมหลักประจำภูมิภาค ประเทศอินโดนีเซียก็มีการขยายกำลังการผลิตจาก 5 หมื่นคันเป็น 1 แสนคัน และ Nissan ก็ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดภายในปีงบประมาณ 2016 ถึง 15% หรือมียอดขายถึง 5 แสนคัน จากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่มากกว่า 10 รุ่น
มร.โทรุ ฮาเซกาว่า ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และรองผู้จัดการใหญ่ส่วนภูมิภาคของทวีปเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด กล่าวและเสริมว่า “แผนธุรกิจอาเซียนเปรียบเสมือนแผนที่เส้นทางที่จะช่วยให้เห็นวิสัยทัศน์ของนิสสันอย่างชัดเจนรวมทั้งทิศทางกลยุทธ์ของทั้งภูมิภาค”
แผนธุรกิจระดับภูมิภาคอาเซียแบ่งออกเป็นใจความหลักสำคัญ 4 ประการ
กลยุทธ์ 1.สนับสนุนโครงการรถยนต์ต้นทุนต่ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซีย เป็นโครงการที่รัฐบาลอินโดนีเซียริเริ่มการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับอาเซียนแข่งขันกับโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ของเมืองไทยโดยตรง ความชัดเจนของโครงการรถยนต์ดังกล่าวขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการนัก แต่ PT Nissan Motor Indonesia ก็เดินหน้าก่อสร้างศูนยวิจัยและพัฒนาตามแผนการของ Nissan Motor เมื่อเดือนเมษายน 2011 เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว
ความชัดเจนของรถยนต์ที่จะเข้าโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากผู้บริหาร Nissan Motor อย่างใด แต่หากใครติดตามข่าวสารรถยนต์เป็นประจำก็จะทราบว่า Nissan Motor คาดหวังการพัฒนารถยนต์ “สำหรับทุกคน” บนโลกใบนี้อย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะต้องเป็นรถยนต์ที่พัฒนาใหม่หรืออาจจะใช้พื้นแพลทฟอร์มจากรถยนต์รุ่นเก่าเพื่อลดต้นทุนการพัฒนา
รถยนต์ภายใต้โครงการดังกล่าวถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มยอดขายในอินโดนีเซียและภูมิภาค ถ้า Nissan Motor ประกาศเช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้ระดับหนึ่งว่ารถยนต์ต้นทุนต่ำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากฐานการผลิตจากอินโดนีเซียน่าจะเป็นรถยนต์ที่มีระดับ A-Segment เล็กกว่า Nissan March รุ่นปัจจุบัน
กลยุทธ์ 2. ส่งเสริมจัดตั้งงานวิจัยและพัฒนา และการผลิตเครื่องยนต์ภายในประเทศ ขยายจำนวนพนักงานหรือเจ้าหน้าที่วิศวกรบริษัท NTCSEA (รวมเข้ากับบริษัท Nissan Motor Asia Pacific จำกัด) จาก 120 คนในปีงบประมาณ 2010 กลายเป็น 370 คนในปีงบประมาณ 2016 เพื่อตอบสนองความต้องการตลาด, เพิ่มการผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคและควบคุมคุณภาพชิ้นส่วน
และเพื่อให้บรรลุยอดผลิตสูงในอาเซียนขนาดนั้น JATCO (อ่านว่า จาโตโก) ผู้ผลิตชำนาญเกียร์ CVT ชั้นนำจากญี่ปุ่นก็ต้องตั้งโรงงานผลิตเกียร์ CVT แห่งที่ 4 ในประเทศไทยด้วยเงินลงทุน 20 พันล้านเยน เริ่มก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม อมตะนคร พฤศจิกายน 2011 เริ่มการผลิตกลางปี 2013 ด้วยกำลังการผลิตมากถึง 5 แสนชุดต่อปี
นั่นแสดงว่านับต่อจากนี้ไปรถยนต์นั่งแบรนด์ Nissan ทุกรุ่นจะใช้เกียร์ CVT กันถ้วนหน้าแล้ว
กลยุทธ์ 3. การเพิ่มกำลังการผลิตในภูมิภาคเป็นสองเท่าจาก 370,000 คันในปีงบประมาณ 2010 เป็น 700,000 คันในปีงบประมาณ 2016 ส่วนหนึ่งของแผนการนี้ก็คือการย้ายไลน์ผลิต Nissan Navara ไปยังโรงงาน Mitsubishi แหลมฉบังแห่งที่ 1 ด้วยยอดการผลิตแจ้งไว้ที่ปีละ 60,000 คัน แต่ในงานแถลงไม่ระบุรายละเอียดถึงความคืบหน้าความร่วมมือดังกล่าว
กลยุทธ์ 4. การก่อตั้ง Nissan Motor Asia Pacific (NMAP) เป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อช่วยควบคุมแผนธุรกิจให้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย ได้แก่ การค้นคว้าวิจัย, วางแผนผลิตภัณฑ์. การบริหารแผนงาน, กลยุทธ์การผลิต, กลยุทธ์การจัดซื้อ, กลยุทธ์การจัดการซัพพลายเชน, การบริหารธุรกิจในภูมิภาค (รวมถึงการส่งออก), การควบคุมตรวจสอบ
การปรับโครงสร้างสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคครั้งนี้ Nissan จึงเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ก่อตั้งภายใต้ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศใหม่ของรัฐบาล
สำหรับแผนงานธุรกิจ Nissan ประเทศไทยเริ่มแนะนำแผนปฏิรูป 2012 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2009 เป็นต้น ก็เป็นไปตามที่บริษัทวางแผนไว้ถึง 2 ปีซ้อนจากเดิมที่มีส่วนแบ่งการตลาด 5.7% ในปีงบประมาณ 2009 สามารถขยับมาที่ 7.4% ในปีงบประมาณ 2010 สำเร็จ
Nissan ตั้งเป้าปีงบประมาณ 2011 ต้องมีส่วนแบ่งการตลาด 9% และปีงบประมาณ 2012 จะต้องมีส่วนแบ่งการตลาด 10% ขึ้นไป
Nissan Power Up 2016 คือแผนธุรกิจใหม่สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะที่จะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดในปีงบประมาณข้างหน้าถึงเป้าหมายที่กำหนดจากปีงบประมาณ 2011 – 2016 ใช้เวลารวม 6 ปี
เป้าหมายของ Nissan Power Up 2016 ในประเทศไทยหวังผลมากกว่าเดิมอีกจากเดิมที่ Nissan มีส่วนแบ่งการตลาดปีงบประมาณ 2010 ที่ 7.4% ยอดขาย 65,000 คัน ก็จะขยับขึ้นไปอีก “2 เท่าตัวอีกครั้งหนึ่ง” ในปีงบประมาณ 2016 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2017) ด้วยยอดขายประมาณ 135,000 คัน ส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 15% !!!!!
กลยุทธ์หลัก Nissan Power Up 2016 จะเพิ่มเติมจากอีก 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์, กลยุทธ์ขยายเครือข่าย, กลยุทธ์ผู้นำอีโคคาร์ ต่อเติมจากแผนปฏิรูป 2012 ที่มีกลยุทธ์ความสำเร็จรถอีโคคาร์, กลยุทธ์พัฒนาคุณภาพ และกลยุทธ์ยกระดับวัฒนธรรมองค์กรซึ่ง 3 กลยุทธ์ดั้งเดิมจะหลอมรวมอยู่ในวิถีวัฒนธรรม Nissan Way
กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2011 จะเปิดตัวอีโคคาร์รูปแบบตัวถังซีดานครั้งแรกในเมืองไทย โดยสร้างความตกตะลึงให้แก่สื่อมวลชนชาวไทยด้วยการเปิดเผยรูปปั้นดินเหนียวรถอีโคคาร์ซีดานครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ทาง Nissan Motor จะไม่แถลงชื่อรถยนต์รุ่นดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ Headlightmag.com สืบทราบมาว่ารถคันนี้จะสวมชื่อว่า Nissan Almera ค่อนข้างแน่นอน
ข้อมูลเบื้องต้นของอีโคคาร์ซีดานคันดังกล่าวมีรูปลักษณ์แบบเดียวกับ Nissan Sunny ที่วางจำหน่ายในจีนทุกประการ แต่สำหรับเวอร์ชันไทยจะติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายเพื่อให้รถดูสมดุลมากยิ่งขึ้น ตัวรถมีขนาดตัวถัง B+ Segment คือมีขนาดใหญ่กว่ารถระดับ B Segment ทั่วไประดับหนึ่ง มีขนาดห้องโดยสารเทียบเท่ารถระดับ C Segment โดยเฉพาะเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหลัง ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยวัสดุอุปกรณ์ดูมีคุณภาพกว่า Nissan March อย่างรู้สึกได้
เครื่องยนต์กลไกและระบบส่งกำลังจะยกมาจาก Nissan March ทั้งชุด ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ซูเปอร์ชาร์จตามข่าวลืออย่างใด พร้อมทั้งเซ็ตช่วงล่างและเพิ่มวัสดุซับเสียงตัวถังให้ดีกว่า Nissan March จนเห็นความแตกต่าง พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพหลาย ๆ จุดให้ดีกว่า Nissan March พอสมควร
กลุ่มเป้าหมายของรถคันนี้คือต้องการรถยนต์นั่งประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาพอซื้อหาได้ แต่มีขนาดตัวถังใหญ่ ห้องโดยสารกว้างขวาง ดีไซน์ดูไม่แตกต่างจากรถราคา 6-8 แสนบาท และช่วยยกสถานะในสังคมให้ดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามอย่าคาดหวังราคาอีโคคาร์ซีดานจะมีราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับ Nissan March นัก
นอกจากนี้ Nissan ยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มากกว่า 10 รุ่น (รวมรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดและโฉมใหม่ที่มาทดแทนโฉมเก่า) ระหว่างปีงบประมาณ 2012-2016 ซึ่งเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ Nissan เมืองไทยมากถึง 2 เท่าอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้ Nissan ในประเทศไทยมีสินค้าที่ครอบคลุมเซกเมนต์รถยนต์มากกว่า 90% จากปัจจุบันที่ครอบคลุมเซ็กเมนต์แค่เพียง 65%
กลยุทธ์การขยายเครือข่าย จากเดิม 160 แห่งในปีงบประมาณ 2010 เป็น 210 แห่งระหว่างปีงบประมาณ 2013-2016 ในปีงบประมาณ 2011 นี้ จะมีการขยายโชว์รูมมากกว่า 10 แห่ง
กลยุทธ์ผู้นำตลาดอีโคคาร์ Nissan March เปิดตัวฐานะรถอีโคคาร์คันแรกของเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคมปี 2010 ผลก็คือมันสามารถกวาดยอดขายถึง 28,000 คันในปีงบประมาณ 2010 จากเป้าที่ตั้งไว้ 20,000 คัน จนทำให้ Nissan March ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ตลาดรถยนต์นั่งตัวถังแฮทช์แบคของเมืองไทยโดยปริยาย
เร็ว ๆ นี้ Nissan พร้อมจะเปิดตัวอีโคคาร์ซีดานเป็นแบรนด์แรกของเมืองไทยเช่นเคย โดยจะเริ่มผลิต (SOP) ในเดือนกันยายนพร้อมเปิดตัวแน่นอนภายในเดือนกันยายน-ต้นตุลาคมนี้